[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เอกสารธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 21 ตุลาคม 2557 19:17:51



หัวข้อ: อังคุลิมาลปริตรบรรยาย : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 21 ตุลาคม 2557 19:17:51
.

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQVwv9CynxlE_LUF65DtX6XR4cliNnuUKegxY3giTFqjOxGNnli)

อังคุลิมาลปริตรบรรยาย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑

จะเล่าตำนานที่ ๗ ประกอบด้วยอังคลิมาลปริตร และโพชฌังคปริตร ๒ พระปริตร และอันที่จริงก็ ๒ ตำนาน แต่ว่าเพราะบทสวดเป็นบทสวดสั้นไม่ยาว จึงใช้สวดรวมกันคือต่อกันไป และก็นับเป็นตำนานเดียว เพื่อให้ตัวเลขเป็นเลข ๗ หรือ ๗ ตำนาน

สำหรับอังคุลิมาลปริตร คือพระปริตรชื่อว่าอังคุลิมาล หรือ องคุลิมาล ได้มาจากอังคุลิมาลสูตร พระสูตรเกี่ยวแก่เรื่องพระองคุลิมาล อันมีมาในพระสุตตันตปิฎกในพระไตรปิฎกมัชฌิมนิกาย คือเป็นพระสูตรขนาดปานกลาง มีความว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในอารามของอนาถปิณฑิกคหบดี อันชื่อว่าเชตวัน ในกรุงสาวัตถี สมัยนั้นได้มีโจรชื่อว่าองคุลิมาล ในแว่นแคว้นโกศลของพระเจ้าโกศล เป็นโจรที่ดุร้าย มือเปื้อนเลือดฆ่าฟันประหัตประหารมนุษย์ทั้งหลาย โดยที่ไม่มีความเอ็นดูในหมูมนุษย์ทั้งหลาย เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ชาวอำเภอ ชาวชนบทต้องพากันอพยพทิ้งถิ่นที่อยู่ ไปอาศัยอยู่ในที่อื่น องคุลิมาลโจรนั้นฆ่ามนุษย์ทั้งหลาย แล้วก็ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวง เรียกว่าพวงแห่งนิ้วมือ สวมคอ จึงเรียกว่าองคุลิมาล ผู้แปลว่ามีพวงของนิ้วมือ ยังไม่มีใครปราบได้

สมัยนั้น วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเข้าไปบิณฑบาตในเวลาเช้า กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต คือเสวยเสร็จแล้ว ก็ทรงเก็บเสนาสนะ เก็บบาตรจีวร เสด็จเดินทางออกไปพระองค์เดียว ยังถิ่นที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ พวกคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวนาและคนที่ทำงานในทางที่เสด็จผ่านไป ได้เห็นพระองค์เสด็จผ่านไปสู่ทิศทางขององคุลิมาล ก็ได้กราบทูลห้าม ขอมิให้เสด็จไปในทางนั้น เพราะองคุลิมาลนั้นจะฆ่ามนุษย์ทั้งหลายไม่เลือก ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลาดังกล่าว แม้ว่าจะชักชวนกันเดินทางไปสัก ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ก็ยังต้องตกอยู่ในเงื้อมมือขององคุลิมาลโจร พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่งแล้วก็เสด็จต่อไป ผู้คนทั้งหลายก็ได้กล่าวห้ามพระองค์อีกเป็นครั้งที่สอง ทรงนิ่งแล้วก็เสด็จต่อไปอีก เป็นครั้งที่สาม พระองค์นิ่งแล้วก็เสด็จต่อไป

ครั้นเสด็จเข้าไปถึงถิ่นองคุลิมาลโจร องคุลิมาลโจรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล จึงคิดว่า อัศจรรย์หนอที่สมณะนี้ เดินมาผู้เดียวไม่มีเพื่อน ชะรอยว่าจะมาข่มเรากระมัง คนทั้งหลายแม้ตั้งหลายๆ สิบคนชวนกันเดินทางมาทางนี้ ก็ยังตกอยู่ในเงื้อมมือของเรา ไฉนเราจะต้องปลงชีวิตของสมณะนี้ องคุลิมาลโจรจึงได้ผูกสอดธนูศรถือเอาแผ่นหนังติดตามไปเบื้องหลังพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้เสด็จดำเนินไปตามปกติ

ส่วนองคุลิมาลโจรนั้นได้รีบเร่งไปด้วยกำลังทั้งสิ้น คือว่าวิ่งกวดเพื่อที่จะให้ทันพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็ไม่อาจที่จะทันได้ องคุลิมาลโจรจึงคิดว่า น่าอัศจรรย์ที่เมื่อก่อนนี้ เราติดตามช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้างที่วิ่งไป เราติดตามแม้เนื้อบ้าง ที่วิ่งไป เราก็ยังวิ่งตามทัน จับช้าง จับม้า จับเนื้อ จับรถเหล่านั้นได้ แต่ว่าสมณะนี้ก็เดินไปโดยปกติ เราตามไปด้วยกำลังทั้งสิ้น คือวิ่งกวดจี๋ไปด้วยกำลังทั้งหมดก็ไม่อาจที่จะทันได้ จึงได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า หยุดสมณะ หยุดสมณะ

พระองค์ก็ตรัสตอบว่า เราหยุดแล้วองคุลิมาล ท่านจงหยุด

ฝ่ายองคุลิมาลโจร เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น จึงคิดว่า สมณะศากยบุตรเหล่านี้เป็นผู้มีสัจวาจา มีสัจปฏิญญาณ แต่ว่าสมณะนี้กำลังเดินไปอยู่กลับกล่าวว่า เราหยุดแล้วองคุลิมาล แต่ว่าท่านจงหยุด เราจะต้องถามสมณะนี้ องคุลิมาลโจรจึงได้ถามขึ้นว่า ท่านเดินไปอยู่ กล่าวว่าเราหยุดแล้ว และกล่าวแก่เราซึ่งยังไม่หยุด ให้หยุด เราขอถามเนื้อความนี้กับท่าน ท่านหยุดแล้วอย่างไร เราไม่หยุดแล้วอย่างไร

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสตอบว่า ดูก่อนองคุลิมาล เราหยุดแล้วในกาลทุกเมื่อ คือเราวางอาชญาท่อนไม้ ศาสตราวุธ ในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ส่วนท่านยังไม่สำรวมแล้วในสัตว์ทั้งหลาย คือยังฆ่าสัตว์ ยังทำร้ายทำอันตรายหมู่สัตว์ หมู่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นผู้หยุดแล้วแต่ว่าท่านยังไม่หยุด

องคุลิมาลโจรได้กล่าวว่า ท่านสมณะ ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ต้องการจะเกื้อกูลแก่เราตลอดกาลนานจึงได้มาปรากฏในป่าใหญ่ เรานั้นจะละบาป ประพฤติเพราะได้ฟังถ้อยคำของท่านอันประกอบด้วยธรรม องคุลิมาลโจรจึงได้ทิ้งแผ่นหนังอาวุธลงในเหว และก็ได้เข้าไปกราบพระบาทพระสุคตพุทธเจ้าได้กราบทูลขอบรรพชากับพระองค์ในที่นั้นนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าผู้ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นพระศาสดาของโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้ตรัสในกาลนั้นแก่องคุลิมาลว่า เอหิภิกขุ เธอจงเป็นภิกขุมาเถิด

องคุลิมาลโจรนั้นจึงได้เป็นภิกขุภาวะขึ้น ทรงภิกขุภาวะขึ้น คือเป็นภิกษุขึ้นแล้วด้วยพระวาจานั้น ในขณะนั้นทีเดียว พระผู้มีพระภาคได้ทรงมีท่านพระองคุลิมาลซึ่งได้มาเป็นภิกษุแล้ว เป็นปัจฉาสมณะ คือเป็นผู้ตามหลัง เสด็จกลับไปสู่กรุงสาวัตถี

ในครั้งนั้นหมู่แห่งมหาชนได้พากันมาประชุมที่บริเวณทวารพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พากันส่งเสียงร้องอื้ออึงกราบทูลว่า โจรชื่อองคุลิมาลได้บังเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพระองค์ เป็นโจรที่ดุร้ายฆ่าฟันมนุษย์ปราศจากความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องพากันทิ้งบ้านทิ้งนิคมชนบท ไปอยู่ในที่อันปลอดภัย องคุลิมาลโจรนั้นฆ่ามนุษย์แล้วก็ตัดนิ้วมาร้อยเป็นพวง ขอพระองค์จงทรงกำจัดองคุลิมาลนั้น

ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้เสด็จออกจากกรุงสาวัตถีพร้อมด้วยพลม้าประมาณ ๕๐๐ แต่เวลายังวัน จึงได้เสด็จไปสู่พระอารามคือ พระเชตวันอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ได้เสด็จลงจากพระราชยานเสด็จด้วยพระบาทไปสู่ที่ประทับของพระพุทธเจ้า

พระบรมศาสดาพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระเจ้ากรุงมคธทรงทำให้พระองค์ขัดเคืองพระทัยหรือ เจ้าลิจฉวลี เมืองเวสาลีทั้งหลาย หรือว่าพระราชาที่เป็นปฏิปักษ์องค์อื่นได้ทำให้พระองค์ทรงขัดเคืองจึงได้เสด็จยกพลม้าไปจำนวนมากดั่งนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชาจอมทัพแห่งมคธคือพระเจ้าพิมพิสารเป็นต้น หาได้ทำให้ทรงขุ่นเคืองพระทัยไม่ แต่ว่าได้มีโจรบังเกิดขึ้นในแว่นแคว้น ชื่อว่าองคุลิมาล ประชาชนก็พากันมาร้องขอให้พระองค์เสด็จไปทรงปราบปราม พระองค์จึงได้ทรงยกพลม้าจำนวนมากเสด็จออกไป

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าหากว่าพระองค์พึงทอดพระเนตรเห็นองคุลิมาลปลงผมหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือนจากเรือน เว้นขาดแล้วจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากมุสาวาท ฉันภัตตาหารหนเดียว เป็นพรหมจารี เป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีกัลยาณธรรมคือธรรมอันงาม พระองค์จะพึงทำอย่างไร

พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ตรัสว่า ข้าพเจ้าก็จะพึงอภิวาท พึงต้อนรับ พึงเชื้อเชิญนิมนต์ พึงบำรุงด้วยปัจจัยทั้งหลาย และพึงจัดแจงอารักขาคุ้มครองอันประกอบด้วยธรรม แต่ว่าความสำรวมด้วยศีลเห็นปานนั้นจะมีแก่คนทุศีลมีบาปเช่นนั้นได้จากไหน

ในขณะนั้นท่านพระองคุลิมาลได้นั่งอยู่ที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกพระพาหาเบื้องขวาตรัสชี้ไปว่า ดูก่อนมหาบพิตรนั่นแหละองคุลิมาล

ความกลัวความหวาดเสียว ความขนพองได้บังเกิดแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลในขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสว่าขอพระองค์อย่าได้ทรงกลัว ไม่มีภัยจากบุคคลผู้นี้แล้ว ในขณะนั้นความกลัวของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้สงบไป

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เสด็จไปยังพระองคุลิมาลตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าคือองคุลิมาลหรือ ท่านก็ทูลว่า ขอถวายพระพรจึงตรัสถามว่า ท่านบิดาของท่านมารดาของท่านมีโคตรว่าอย่างไร

ท่านก็ทูลว่าบิดาชื่อคัคคะ มารดาชื่อมันตานี

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าคัคคะมันตานีบุตรจงอภิรมย์เบาใจเถิด พระองค์จะทรงเป็นโยมอุปัฏฐากถวายปัจจัยทั้งหลาย  ในสมัยนั้นท่านพระองคุลิมาลได้ปฏิบัติในธุดงควัตรคืออยู่ป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุลและถือจีวร ๓ ผืน จึงได้ทูลว่า ไตรจีวรของท่านบริบูรณ์แล้ว  พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ได้ตรัสว่า เป็นอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงฝึกบุคคลที่มิได้ฝึกแล้ว ได้ทรงทำให้สงบซึ่งบุคคลที่ยังไม่สงบ ได้ทรงทำให้ดับกิเลสแก่บุคคลที่ยังมีกิเลสไม่ดับหรือยังมิได้ดับกิเลส แต่ว่าข้าพเจ้านั้นไม่อาจแม้เพื่อจะฝึกด้วยท่อนไม้หรืออาชญาบ้าง ด้วยศาสตราบ้าง ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงฝึกแล้วโดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศาสตราวุธ แล้วก็ได้ทราบทูลลาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับออกไป

ในสมัยนั้นพระองคุลิมาลได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งมีครรภ์แก่เดินไปอยู่ จึงคิดว่าสัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหนอ สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหนอ ครั้นท่านกลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัตแล้ว จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสว่า ดูก่อนองคุลิมาล เธอจงเข้าไปส่งที่ ๆ หญิงนั้นอยู่ ดังกล่าวอย่างนี้แก่หญิงนั้นว่า ยโตหํ ภคินิ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ เป็นต้น ที่แปลความว่า ดูก่อนน้องหญิง เราเกิดแล้ว จำเดิมแต่เราเกิดแล้วเราย่อมไม่รู้จงใจปลงชีวิตสัตว์ ด้วยสัจจะนั้น ความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์คือแก่สัตว์ผู้เกิดในครรภ์

ท่านพระองคุลิมาลจึงกราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จะกล่าวอย่างนั้นว่าจำเดิมแต่ข้าพระองค์เกิดแล้ว ไม่รู้จงใจปลงชีวิตสัตว์มีชีวิต ก็จะเป็นการกล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะว่าข้าพระองค์ได้จงใจปลงชีวิตสัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็จงกล่าวอย่างนี้ว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต ดูก่อนน้องหญิง จำเดิมแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติหรือโดยอริยชาติ เราไม่รู้จงใจปลงชีวิตสัตว์ ด้วยสัจจะนั้น ความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ความสวัสดีคงมีแก่ครรภ์คือแก่สัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ท่านพระองคุลิมาลได้กราบทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้าดั่งนี้ และก็ได้เข้าไปสู่ยังที่ๆ หญิงนั้นอยู่ และก็ได้กล่าวพระพุทธพจน์ที่ทรงสอนให้กล่าวนั้นว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส ดูก่อนน้องหญิงจำเดิมแต่เราเกิดแล้วโดยอริยชาติ เราไม่รู้จงใจปลงชีวิตสัตว์ ด้วยสัจจะนี้ ความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์คือสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ครั้งนั้นความสวัสดีก็ได้มีแล้วแก่หญิงนั้น ความสวัสดีก็ได้มีแล้วแก่ครรภ์คือสัตว์ผู้เกิดในครรภ์

ท่านพระองคุลิมาก็ได้เป็นผู้หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว มีความไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส ส่งตนไปด้วยความปฏิบัติเพื่อสิ้นกิเลสอยู่ในอิริยาบถทั้ง๔ ก็ได้บรรลุถึงที่สุดพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือนพึงเข้าถึง โดยกระทำให้แจ้ง ก็ได้รู้ว่าชาติพ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงกระทำได้กระทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อความเป็นดั่งนี้อีก

ท่านพระองคุลิมาลได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว แต่ท่านพระองคุลิมาลท่านยังต้องรับผลของกรรมที่ท่านได้กระทำไว้ เพราะการที่ได้ฆ่ามนุษย์เป็นอันมาก คือเมื่อท่านออกบิณฑบาตในเวลาเช้าในกรุงสาวัตถี ก้อนดินท่อนไม้ ก้อนหิน ที่ใครคนใดคนหนึ่งขว้างปาก็ไปตกที่กายของท่าน ทำให้ท่านศีรษะแตกเลือดไหล บาตรแตก ผ้าสังฆาฏิจีวรขาดเป็นริ้วรอย ท่านจึงได้เข้าเฝ้ากราบทูลพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เธอจงอดกลั้น เพราะว่าเธอได้ทำบาปที่จะส่งผลให้ไปหมกไหม้ในนิรยะนรก นานปีมากปีนักหนา แต่ว่าเธอเป็นผู้ที่สิ้นชาติคือไม่เกิดอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีชาติคือความเกิดแม้ในนิรยะคือนรกอีกต่อไปเพราะฉะนั้นจะต้องรับกรรมคือผลกรรมที่เธอได้กระทำไว้ในอัตภาพนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องอดทน

ท่านพระองคุลิมาลท่านได้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เสวยวิมุตติสุข คือความสุขที่เกิดจากวิมุตติ คือความหลุดพ้น จึงได้เปล่งอุทานนี้ขึ้นในเวลานั้น แปลความว่า บุคคลใดเคยประมาทมาก่อน บุคคลนั้นกลับไม่ประมาทในภายหลัง บุคคลนั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง เหมือนดวงจันทร์ที่พ้นแล้วจากหมอกเมฆ  บุคคลใดทำกรรมที่เป็นบาปไว้ แต่ว่าละเสียได้ด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่างเหมือนดวงจันทร์ที่พ้นแล้วจากหมอกเมฆ  ภิกษุใดแลยังเป็นหนุ่ม ย่อมประกอบปฏิบัติในพุทธศาสนา ภิกษุนั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง เหมือนดวงจันทร์ที่พ้นแล้วจากหมอกเมฆ  ขอให้บรรดาหัวโจกศัตรูทั้งหลายจงฟังถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรมของข้าพเจ้า  ขอให้หัวโจกศัตรูทั้งหลายของข้าพเจ้าจงพากันประกอบปฏิบัติในพุทธศาสนา  ขอให้หัวโจกศัตรูทั้งหลายของข้าพเจ้าเหล่านั้นที่เป็นมนุษย์ด้วยกันจงคบหาบุคคลทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้สงบระงับที่จะกล่าวสั่งสอนให้ถือเอาธรรม คือสิ่งที่ถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น ?ขอให้หัวโจกศัตรูทั้งหลายจงฟังธรรมซึ่งแสดงขันติคือความอดทนมาเป็นเครื่องทำให้ผ่องแผ้ว ซึ่งแสดงสรรเสริญความปฏิบัติการกระทำที่ไม่ผิด โดยกาลคือโดยเวลาอันสมควร และจงพากันประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น


ขอให้บุคคลนั้นๆ ไม่พึงเบียดเบียนข้าพเจ้าหรือใครๆ อื่นนั้นโดยแท้ จงบรรลุถึงสันติ คือความสงบเป็นอย่างยิ่ง คือรักษาบรรดาสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์บุคคลทั้งหลาย ทั้งที่เคลื่อนที่ได้ ทั้งที่อยู่กับที่เคลื่อนที่ไม่ได้  บุคคลทั้งหลายผู้มีหน้าที่ไขน้ำก็ย่อมไขน้ำเข้ามา คนทั้งหลายที่เป็นช่างศรก็ย่อมดัดลูกศร คนทั้งหลายที่เป็นช่างไม้ก็ย่อมถากไม้ คนทั้งหลายที่เป็นบัณฑิตย่อมฝึกตน

บุคคลบางจำพวกย่อมฝึกทรมานด้วยขอบ้าง ด้วยแส้บ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง แต่ว่าข้าพเจ้าย่อมเป็นผู้ฝึกมิใช่ด้วยท่อนไม้ มิใช่ด้วยศาสตรา แต่ว่าด้วยพระพุทธพระธรรมที่คงที่

ข้าพเจ้ามีนามว่าอหิงสกะที่แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใครมาก่อน แต่ว่าก็หาได้ปฏิบัติตามที่ชื่อนั้นไม่ คือยังเบียดเบียนเขาด้วยการฆ่ามนุษย์ทั้งหลายมาก่อนแต่ว่าบัดนี้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้สมชื่อจริงตามชื่อ ข้าพเจ้าไม่เบียดเบียนใครทั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นโจรมาก่อน ปรากฏชื่อว่าองคุลิมาล เป็นผู้ที่ถูกห้วงกิเลสใหญ่พัดไปแล้ว แต่ว่าบัดนี้ได้มาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง ข้าพเจ้าได้เคยเป็นผู้มีมือเปื้อนเลือด ปรากฏเป็นชื่อองคุลิมาล มาก่อนแต่ว่าบัดนี้ได้มาถึงสรณะ เป็นผู้ถอนตัณหาเป็นเครื่องนำไปสู่ภพชาติได้แล้ว

ข้าพเจ้าได้เคยกระทำกรรมเช่นนั้นมันจะนำไปสู่ทุคติไว้มากมาย ก็ต้องเป็นผู้อันวิบากคือผลของกรรมมาถูกต้องเข้าแล้วข้าพเจ้าเป็นผู้บริโภคไม่มีหนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีหนี้ คนทั้งหลายผู้เป็นคนพาลมีปัญญาทราม ย่อมตามประกอบซึ่งความประมาท แต่บุคคลซึ่งมีปัญญาย่อมรักษาความไม่ประมาท เหมือนดังที่รักษาทรัพย์อันประเสริฐ ท่านทั้งหลายจงพากันอย่าตามประกอบซึ่งความประมาท อย่าตามประกอบซึ่งความยินดีชื่นชมในกาม เพราะว่าบุคคลผู้ไม่ประมาทเพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์

ให้เป็นผู้ที่มาดีแล้ว อย่าเป็นผู้ที่มาไปไร้ประโยชน์ อย่าให้มีความคิดผิดปฏิบัติผิดในธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ก็ได้บรรลุธรรมเข้าถึงธรรมที่ประเสริฐสุดแล้ว

ให้มาดีแล้ว อย่ามาหรือไปโดยอาการที่เปล่าปราศจากประโยชน์เลย ให้มีความคิดเห็นถูกต้อง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้มีความเห็นถูกต้องมาดี ไม่ปราศจากประโยชน์ ไม่มีความเห็นผิด บรรลุวิชชา ๓ แล้วได้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาแล้วดั่งนี้


หัวข้อ: Re: อังคุลิมาลปริตรบรรยาย : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 21 ตุลาคม 2557 19:20:05
.

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQtgnkw413OUgGDhZJg0lS8rlEs4WMDXPVBW6AdvnrEqusMMpaK_A)
อังคุลิมาลปริตรบรรยาย (ต่อ)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑

ก็จบพระอังคุลิมาลสูตรเพียงเท่านั้นและในพระสูตรนี้ก็มีเกล็ดธรรมและเรื่องที่ควรจะแสดงกล่าวคือ  ที่ท่านได้เปล่งอุทานขึ้นดังที่ได้แปลมาแล้วนั้น ท่านเปล่งขึ้นจากจิตใจที่มีความสำนึก ในข้อที่ท่านได้นั่งเสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเกิดจากวิมุตติ คือความหลุดพ้น โดยที่ท่านได้มองเห็นผลที่เปรียบเทียบกัน ว่าในระหว่างที่ท่านได้เป็นโจรดุร้าย ฆ่ามนุษย์ มีเลือดเปื้อนมืออยู่นั้น ชื่อว่าอยู่ในสมัยที่มีความประมาท ประกอบกรรมที่เป็นบาปอกุศลอย่างเต็มที่ เหมือนอย่างดวงจันทร์ที่อยู่ในหมอกเมฆมืดมิดไม่ปรากฏความสว่าง จิตใจก็ถูกห้วงกิเลสพัดไป คือมุ่งที่จะฆ่าเขาเท่านั้น เพื่อที่จะตัดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงรวมเอาไว้ แต่ว่าบัดนี้ท่านได้เข้ามาบวชแล้ว เป็นผู้ที่เว้นขาดจากบาปกรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท จึงเหมือนอย่างดวงจันทร์ที่พ้นจากหมอกเมฆแล้ว ส่องสว่างแล้ว และได้มีความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้นอยู่ดั่งนี้

ตรงกันข้ามกับในเวลาที่เป็นโจรนั้นต้องเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา จิตใจเองก็แข็งกระด้าง มุ่งที่จะฆ่าเขาเท่านั้น ไม่มีที่จะอ่อนโยน จึงไม่มีความสุขแม้แต่น้อย แต่ว่าบัดนี้ก็ตรงกันข้าม  แต่แม้เช่นนั้นก็ยังต้องรับผลของกรรมคือการที่เที่ยวฆ่าเขานั้น และก็ได้มีศัตรูอยู่เป็นอันมาก เป็นศัตรูที่เกิดขึ้นเพราะกรรมของท่านเอง เมื่อไปเบียดเบียนเขาเขาก็ต้องโกรธ ต้องพยาบาท ต้องจองเวร พ่อแม่พี่น้องของผู้ที่ถูกท่านฆ่า ก็จะต้องโกรธ ต้องพยาบาท ต้องจองเวร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านไปทำร้ายใครเข้าคนหนึ่ง ไปฆ่าใครเข้าคนหนึ่ง คนที่ถูกฆ่านั้นเองก็กลายเป็นศัตรูขึ้นมา ในเมื่อมีความโกรธจองเวรบรรดาญาติพี่น้องพ่อแม่ของคนนั้นก็เป็นศัตรูขึ้นมา เมื่อไปทำร้ายไปฆ่าใครเขามากขึ้น ก็เพิ่มศัตรูมากขึ้น  และนอกจากนี้กรรมที่ทำนั้นเองเป็นศัตรู เมื่อท่านเดินไปบิณฑบาต เมื่อเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว ใครเขาโยนท่อนไม้ไปที่ไหน โยนก้อนหินก้อนดินไปที่ไหน สิ่งที่เขาโยนไปนั้น ก็ให้มาตกต้องกายของท่าน ทำให้ท่านต้องศีรษะแตกเลือดไหล บาตรแตก ผ้าสังฆาฏิจีวรก็ขาดกะรุ่งกะริ่ง เหล่านี้ก็คือว่ากรรมนั้นเองเป็นศัตรู ต้องมาตามสนอง  แต่แม้เช่นนั้นท่านก็เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว จิตใจมีความสุขเต็มที่แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่งแล้ว ท่านมีสรณะแล้วและท่านก็ได้เป็นผู้ที่มาดีแล้ว คือมาสู่ที่  ดี คือมาสู่พระพุทธเจ้าเท่ากับมาสู่ที่ดีๆ และก็เป็นการมาการไปที่ไม่เปล่าปราศจากประโยชน์  

เพราะท่านก็ได้มาถึงเอาประโยชน์ของการมาไว้ได้ด้วยการที่ปฏิบัติในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ท่านได้มีความเห็นอันถูกต้อง ได้มีการปฏิบัติอันถูกต้อง ได้บรรลุถึงวิชชาทั้ง ๓ โดยลำดับแล้ว ได้ปฏิบัติกระทำพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วดั่งนี้ ท่านได้เห็นผลที่เทียบเคียงกันดังนี้ ท่านจึงได้เปล่งอุทานตามที่แปลนั้นขึ้น เพราะฉะนั้น คำอุทานที่แปลของท่านนั้น จึงเป็นข้อธรรมที่เป็นประโยชน์ และข้อหนึ่งที่น่าจะอธิบายเพิ่มอีกเล็กน้อยก็คือว่า ท่านบริโภคโภชนะไม่มีหนี้ ก็โดยที่การบริโภคปัจจัย ๔ มีบิณฑบาตเป็นต้นนั้น ท่านแสดงไว้ว่า มี ๔ อย่าง คือ

๑. เถยยบริโภค บริโภคอย่างขโมยมาบริโภคก็ได้แก่การบริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ทุศีลทั้งหลาย ซึ่งรับบริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ที่เขามีศรัทธาถวายเพราะว่าเขามุ่งถวายแก่ผู้มีศีล ไม่ใช่เขามุ่งถวายแก่ผู้ที่ทุศีล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นผู้ทุศีลบริโภคปัจจัย ๔ จึงชื่อว่าเถยยบริโภคที่บริโภคโดยความเป็นขโมย

๒. อิณบริโภค บริโภคเป็นหนี้ คือเหมือนอย่างกู้หนี้เขามาบริโภคใช้สอย ก็ได้แก่การบริโภคของผู้มีศีลนั่นแหละ แต่ว่ามิได้พิจารณา คือมิได้พิจารณาในขณะรับโดยความเป็นธาตุ หรือโดยความเป็นของปฏิกูล มิได้พิจารณาในขณะบริโภคตามบทพิจารณาที่สวดกัน คือ ปฏิสังขาโยทั้ง ๔ บท และมิได้พิจารณาในขณะที่บริโภคแล้ว ด้วยบท อชฺชมยา ทั้ง ๔ บท ถ้าในขณะที่กำลังบริโภคนั้นมิได้พิจารณา เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่า อิณบริโภค บริโภคเป็นหนี้

๓. ทายัชบริโภค
คือบริโภคโดยความเป็นทายาท ก็ได้แก่การบริโภคของเสขบุคคลทั้งหลาย เพราะว่าเสขบุคคลทั้งหลายนั้น ได้นับเนื่องเข้าในสังฆคุณโดยตรง ก็นับว่าเป็นทายาทโดยตรงในพุทธศาสนาแล้ว เหมือนอย่างจะพูดได้ว่า เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยะแล้ว

๔. สามิบริโภค
บริโภคโดยความเป็นเจ้าของก็ได้แก่การบริโภคของพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระองคุลิมาลท่านกล่าวว่า ท่านบริโภคโภชนะทั้งหลายไม่มีหนี้ ก็หมายความว่าในขณะที่ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านเข้ามาบวชแล้วท่านก็เป็นผู้มีศีลพิจารณาบริโภค และเมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็บริโภคในลักษณะที่เป็นสามิบริโภคนั้นจึงเป็นผู้ที่บริโภคโภชนะไม่มีหนี้จะแสดงตำนานแห่งอังคุลิมาลปริตร คือพระปริตรเกี่ยวแก่เรื่องพระองคุลิมาลต่อ ได้แปลความในอังคุลิมาลสูตรไปตามพระบาลีตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว จะได้อธิบายความเกี่ยวแก่ที่ท่านพระองคุลิมาก็ได้กล่าวอุทานในขณะที่ท่านนั่งเสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเกิดจากวิมุตติ ความหลุดพ้น และได้แสดงความบางข้อในคาถาอุทานของท่าน เกี่ยวแก่ที่ว่าบริโภคโภชนะไม่มีหนี้ จะได้แสดงเรื่องของท่านต่อ คือเรื่องของท่านนี้ ก็น่าคิดว่าท่านเมื่อเป็นโจรได้ฆ่าคนเป็นอันมาก แต่ทำไมจึงได้มาบวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  คนที่ทำกรรมบาปหยาบช้ามากฆ่าคนเป็นอันมาก ไม่น่าที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ในข้อนี้ก็จะต้องกล่าวถึงหลักทางพุทธศาสนาที่ท่านแสดงไว้ว่า บุคคลเช่นไรสำเร็จได้ บุคคลเช่นไรสำเร็จไม่ได้ บุคคลที่สำเร็จได้นั้นต้องเป็นจำพวกที่เรียกว่า เวเนยยะ อันแปลว่าผู้ที่พึงแนะนำได้ ดังที่ไทยเราเรียกกันว่า เวไนย หมู่แห่งบุคคลที่พึงแนะนำได้ เรียกว่า เวไนยนิกร ก็ได้แก่บุคคลที่เป็นผู้มีสติปัญญาอยู่ในระดับต่างกัน ๓ จำพวก คือผู้ที่มีสติปัญญาไว ฟังแต่เพียงหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นแสดงได้ทันที เป็นจำพวกที่หนึ่ง บุคคลจำพวกที่เมื่อยกหัวข้อขึ้นแสดงแล้วต้องอธิบายถึงจะเข้าใจได้ ก็เป็นจำพวกที่สอง บุคคลจำพวกที่เมื่อยกหัวข้อขึ้นแสดงแล้วต้องอธิบาย และอธิบายหลาย ๆ หนดังทีเรียกว่าพร่ำสอนบ่อยๆ จึงจะเข้าใจได้ ก็เป็นจำพวกที่สาม สามจำพวกนี้สำเร็จได้ ส่วนอีกจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่มีสติปัญญาทึบมาก แนะนำเท่าใดก็รู้ไม่ได้ นี่เป็นจำพวกที่สี่ ที่แปลว่าสอนให้สำเร็จไม่ได้ ท่านแสดงบุคคลไว้ ๔ จำพวกดังนั้น ก็มุ่งทางปัญญาที่จะรู้ธรรมได้หรือไม่ได้เป็นที่ตั้ง สามจำพวกข้างต้นนั้นมีปัญญาที่จะรู้ธรรมได้ก็เรียกว่าสำเร็จได้   อนึ่ง บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งลงก็สอนไม่ได้เหมือนกัน ก็สำเร็จไม่ได้ แต่บุคคลที่ไม่ใช่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลง คือเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ตาม แต่ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งลง ยังพอสอนให้กลับความเห็นได้ดั่งนี้ ก็สอนให้สำเร็จได้ แต่ว่าถ้ามีมิจฉาทิฏฐิ ดิ่งลงคือกลับความเห็นไม่ได้ก็สำเร็จไม่ได้

อนึ่ง บุคคลที่มีมานะคือความถือตัวจัด ไม่ยอมรับคำสั่งสอน ก็สอนให้รู้ธรรมไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีมานะแรงดังเช่นท่านอาจารย์สญชัยของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เมื่อก่อนที่ท่านมาพบพระพุทธศาสนา เมื่อท่านทั้งสองมาพบพระอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ได้มาชักชวนอาจารย์ให้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ท่านอาจารย์มีมานะแรงถือตัวแรง ว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ จะกลับมาเป็นลูกศิษย์อีกนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่ยอม จนถึงที่มีแสดงไว้ว่า บรรดาคนฉลาดก็ให้ไปหาพระพุทธเจ้า แต่คนโง่ก็ให้ไปหาท่านก็แล้วกัน เพราะว่าคนโง่นั้นก็มากกว่าคนฉลาด ท่านก็ย่อมมีลูกศิษย์มาก ก็เป็นอันว่าสำเร็จไม่ได้ คือมีมานะแรง

อนึ่ง จำพวกที่ทำบาปจนถึงอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ก็เข้าถึงธรรมสำเร็จไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทำบาปแม้จะฆ่ามนุษย์จำนวนมาก แต่มิใช่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ มิใช่ฆ่าพระอรหันต์ มิได้ทำโลหิตุปบาทแก่พระพุทธเจ้า คือไม่ได้กระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ก็ยังมีโอกาสสำเร็จได้ แต่ถ้าทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ แล้วเข้าถึงธรรมสำเร็จไม่ได้ หลักทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ดั่งนี้

ท่านพระองคุลิมาลนั้นไม่ได้เข้าในลักษณะต้องห้ามดั่งนี้ คือว่าท่านเป็นบุคคลที่มีพื้นทางปัญญาอยู่ใน ๓ จำพวกข้างต้นนั้น จึงมีสติปัญญาพอที่จะรู้ธรรมเข้าถึงธรรมสำเร็จได้ และท่านก็มิได้มีมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ดิ่งลง ยังกลับตัวได้ดังเช่นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า พระองค์หยุดแล้วแต่ท่านองคุลิมายังไม่หยุด ก็เป็นข้อที่สะกิดใจท่านเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านได้ถามว่าหมายความว่าอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงบอกว่า ได้หยุดการฆ่าการทำร้ายต่าง ๆ แต่องคุลิมาลนั้นยังไม่หยุด ยังฆ่ายังทำร้าย องคุลิมานี่เองก็ได้สติ ก็เลยทิ้งอาวุธทั้งปวงลงเหว ก็เข้าขอบวชกับพระพุทธเจ้า ก็แสดงว่าในขณะที่ท่านเที่ยวฆ่าคนนั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดแต่ไม่ใช่ดิ่งลง เมื่อพระพุทธเจ้ามาตรัสสะกิดใจก็ได้คิด ได้ละความเห็นผิด สำนึกตนว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงหยุดแล้วจริง ๆ แต่ว่าองคุลิมาลนั้นยังไม่หยุด จึงได้ตัดสินใจหยุด ก็หยุดได้ทันที ก็แสดงว่ากลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิได้ และก็ไม่มีมานะที่ถือตัวว่าเป็นผู้วิเศษเหมือนอย่างอาจารย์สญชัยของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะที่ยังไม่ได้บวชนั้น ยอมตนมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และแม้ท่านจะทำบาปกรรมเป็นอันมาก บาปกรรมที่ทำนั้นก็ยังไม่เป็นอนันตริยกรรม ยังมิได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่

ในตอนนี้ก็ควรจะเล่าเรื่องที่แสดงไว้ในอรรถกถาขยายความจากพระสูตรที่มีความย่อว่า ท่านพระองคุลิมาลนั้นก็เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตในกรุงสาวัตถีนั่นแหละ ซึ่งมีบิดาชื่อว่าคัคคะ มารดาชื่อว่ามันตานี เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสถาม และท่านได้ตอบให้ทราบชื่อของบิดามารดาของท่าน พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งเรียกท่านว่า ท่านพระคัคคมันตานีบุตร ที่แปลว่าท่านผู้เป็นบุตรของคัคคพราหมณ์และมันตานีพราหมณ์ เอาชื่อของพ่อแม่มาเป็นชื่อของลูก เหมือนอย่างพระสารีบุตร ที่จริงก็เป็นชื่อของแม่ คือลูกของนางสารี ก็มาเป็นพระสารีบุตร พระเจ้าแผ่นดินก็เรียกพระองคุลิมาลว่าคัคคมันตานีบุตร แต่ว่าโหรดูฤกษ์เกิดของท่านว่าเกิดในโจรฤกษ์ เด็กคนนี้ต่อไปจะต้องเป็นโจร  ทีแรกบิดามารดาคิดจะไม่เลี้ยง แต่ความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน ก็ถามว่า เป็นโจรแก่ราชอาณาจักร หรือว่าเป็นโจรของชาวบ้านชาวเมืองธรรมดา โหรก็ตอบว่าเป็นโจรของชาวบ้านชาวเมืองธรรมดาเท่านั้น ไม่เป็นโจรทำลายราชอาณาจักร พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งให้เลี้ยงไว้เถิด บิดามารดาจึงเลี้ยงไว้ แล้วก็ตั้งชื่อว่าอหิงสกะ ที่แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใคร ก็จะตั้งชื่อให้ดีนั่นเอง และเมื่อเติบโตขึ้น บิดามารดาก็ส่งท่านไปเรียนที่สำนักทิศาปาโมกข์ ท่านก็ได้เข้าไปเรียนในสำนักมีชื่อเสียงที่หนึ่ง ท่านได้ตั้งใจเรียนดีด้วย ปฏิบัติอาจารย์ดีด้วย เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ ลูกศิษย์อื่นๆ ก็ริษยา จึงไปยุอาจารย์ว่า อหิงสกมาณพนี้คิดทำลายอาจารย์อย่างนั้น ๆ ถือตัวว่าอาจารย์รัก ถือตัวว่าเรียนเก่ง

ทีแรกอาจารย์ก็ไม่เชื่อ เมื่อลูกศิษย์ที่ริษยาไปยุบ่อยเข้า อาจารย์ก็ชักจะคล้อยตามว่าอหิงสกมาณพคิดจะทำร้ายอาจารย์จริง ฉะนั้น เมื่อสอนๆ ไปจนใกล้จะจบ อาจารย์ก็บอกว่าจะศึกษาให้จบศิลปศาสตร์นั้นจำจะต้องไปประกอบกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง คือจะต้องไปฆ่าคน เมื่อฆ่าคนหนึ่งแล้วก็ตัดนิ้วร้อยเป็นพวงไว้นับให้ได้พันหนึ่ง เมื่อฆ่าคนได้พันคนแล้วก็ให้นำนิ้วมือมาให้อาจารย์ อาจารย์ก็จะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ในที่สุด เป็นอันจบวิชาสูงสุด  อหิงสกมาณพอยากจะได้วิชาที่สูงสุดเชื่ออาจารย์ ก็ออกไปเป็นโจรฆ่ามนุษย์ เก็บนิ้วมือมาร้อยไว้ ๆ ในเรื่องก็เล่าว่า ในบางคราวนิ้วมือก็หายไป เน่าไปบ้าง หายไปบ้าง จำนวนก็หายไป ก็ต้องไปฆ่าคนใหม่เพื่อจะให้ได้นิ้วมือที่ตัดมาครบถึงพัน และที่อาจารย์ทำอย่างนั้นก็ด้วยคิดว่า ถ้าลูกศิษย์คนนี้ไปทำอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องพบคนที่มีฝีมือดีฆ่าตาย หรือไม่เช่นนั้นทางบ้านเมืองก็จะต้องปราบปรามฆ่าให้ตาย เป็นอันว่าอาจารย์ก็ไม่ต้องไปกำจัดลูกศิษย์ ลูกศิษย์ไปทำกรรมอย่างนี้ก็ถูกเขากำจัดเอง แต่ในเรื่องนี้นั้นบางท่านก็สันนิษฐานว่าได้มีลัทธิบางลัทธิในขณะนั้นสอนอย่างนั้น คือสอนให้ฆ่าคนเท่านั้นเท่านี้ แล้วจึงจะสำเร็จวิชา เพราะฉะนั้น ถ้าลัทธิของอาจารย์เป็นอย่างนั้น อาจารย์ก็คงจะบอกไปตามลัทธิ ไม่ใช่เป็นอย่างที่พระอรรถกถาจารย์เล่าก็ได้

อย่างไรก็ตามเมื่ออหิงสกมาณพได้ไปฆ่าคนมากมายเข้าๆ แล้วก็ตัดนิ้วมาร้อยเป็นพวงก็เลยได้ชื่อว่าองคุลิมาล มีมาลาคือระเบียบแห่งนิ้ว เหมือนอย่างพวงดอกไม้ ก็คือมาลาแห่งดอกไม้ เรียกว่าเป็นพวงนิ้วมือ องคุลิมาลก็แปลว่าพวงนิ้วมือ และตามเรื่องก็เล่าว่า บิดามารดาขององคุลิมาลก็เดือดร้อนเป็นอันมาก ที่ลูกไปเป็นโจรเช่นนั้น จนถึงกับมารดาตัดสินใจว่าจะออกไปพบบุตร และแนะนำบุตรให้กลับตัว และถ้ามารดาขององคุลิมาลออกไปพบก็เกรงว่าองคุลิมาลจะต้องฆ่าแม่ เพราะได้นิ้วมือยังไม่ครบพันและใกล้จะครบพัน และในตอนหลังๆ องคุลิมาลก็ได้นิ้วมือยากเข้า เพราะคนพากันเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะเดินทางออกไปในถิ่นที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ คนในถิ่นที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ ก็พากันอพยพหนี องคุลิมาลเองก็คงไม่กล้าเข้าบ้านเข้าเมืองโดยตรง เพราะกลัวจะถูกทหารทำลาย ก็ต้องหลบอยู่ในป่า ก็เป็นอันว่าได้นิ้วมือยังไม่พอหรือใกล้จะพอ จนถึงกับที่พระอาจารย์เขียนไว้ว่า ขาดอีกนิ้วเดียวก็จะได้ครบพัน  ทีนี้ถ้ามารดาเดินออกไป องคุลิมาลก็คงจะต้องฆ่าแม่เพื่อให้ได้นิ้วมือครบพัน และถ้าฆ่าแม่แล้วก็เป็นอันว่าได้ทำอนันตริยกรรม เมื่อทำอนันตริยกรรมแล้วก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้ เพราะเป็นมหันตกรรมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรอุปนิสัยขององคุลิมาลว่า อุปนิสัยของมรรคและผลมีอยู่ และพระองค์ไปโปรดทันเวลา คือออกไปก่อนที่แม่จะไป และเมื่อโปรดพระองคุลิมาก็ได้แล้ว ก็เป็นอันว่าจะได้ช่วยองคุลิมาลไม่ให้ทำอนันตริยกรรม และได้ช่วยให้ละอกุศลธรรมได้ด้วย กลับตัวได้มาเป็นคนดีต่อไป จึงเสด็จออกไปโปรดพระองคุลิมาลได้สำเร็จ

ท่านเล่าไว้อย่างนี้ และในบทที่สวดนั้น ก็สวดบทที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พระองคุลิมาลไปแสดงแก่หญิงมีครรภ์ คือแต่บทที่ว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส พระก็สวดเท่านี้ ดังที่ได้แสดงคำแปลไปแล้ว