[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 พฤศจิกายน 2557 15:15:32



หัวข้อ: 'พระธาตุบังพวน' วัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 พฤศจิกายน 2557 15:15:32
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/37413575831386_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69365625869896_2.JPG)

วัดพระธาตุบังพวน
บ้านดอนหมู  ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย

พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากอำเภอเมืองหนองคาย ประมาณ ๒๑ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒ (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๑ (หนองคาย-ท่าบ่อ) ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๐ วัดจะอยู่ด้านขวามือริมทาง

พระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมสร้างด้วยอิฐเผา ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เป็นสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื่องจากฐานทรุด  เจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆัง มีฐานทักษิณ ๕ ชั้น กว้าง ๑๗.๒๐ เมตร  ชั้นที่ ๖ เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ ๗ เป็นรูปดาวปลี เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งฉัตร สูงจากพื้นดิน ๓๔.๒๕ เมตร

ชาวหนองคายจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ของทุกปี  ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ สัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ ๗ แห่งในพุทธประวัติ หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้วและได้เสด็จประทับเสวยวิมุติสุขแห่งละ ๗ วัน และสระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล.... ข้อมูลมัตติมีเดีย

เจดีย์พระธาตุบังพวน เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม สร้างด้วยอิฐเผา และศิลาแลง ฐานสูงจากผิวดิน ๑ เมตร มีฐานทักษิณ ๓ ชั้น รูปบัวคว่ำ ๒ ชั้น ต่อด้วยรูปปรางค์ ๔ เหลี่ยม บัวปากระฆังคว่ำ บัวสายรัด๓ ชั้น รับดวงปลี บัวตูม และตั้งฉัตร ๕ ชั้น เนื้อทองแดงปิดทองคำ ส่วนฐานล่างแต่ละด้านกว้าง ๑๗.๒๐เมตร ขนาดสูงสุดถึงยอดฉัตร ๓๔.๒๕ เมตร รูปทรงศิลปะท้องถิ่น ลักษณะจากเชิงบัวคว่ำรับองค์ปรางค์ซุ้ม ขึ้นบน เหมือนกับองค์พระธาตุพนม จากบัวคว่ำลงมาถึงฐาน มีลักษณะเหมือนพระธาตุหลวง ที่นครเวียงจันทร์ประเทศสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว



ประวัติความเป็นมาของพระธาตุบังพวน
มีหลักฐานปรากฎในคัมภีร์ใบลาน ชื่ออุรังค์ธาตุ หรืออุรังคนิทานว่าพระยาสุวรรณพิงคาร เจ้าเมืองหนองหารสกลนคร พระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหารน้อยอุดรธานี พระยาจุลนิพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนี (ลาวเหนือ) พระยาอินทรปัตถนคร เจ้าเมืองอินทปัตถนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองนครพนมได้ทรงอุปถัมภ์พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์อีก ๕๐๐ รูป ทำการก่อสร้างพระธาตุพนมจนแล้วเสร็จ และได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์ ทั้ง ๕ รูป ในกาลต่อมาได้เดินทางไปประเทศอินเดียกับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ทั้ง ๓ รูป คือ พระพุทธรักขิตเถระ พระธรรมรักขิตเถระ และพระสังฆรักขิตเถระ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหากัสสปเถระ เพื่อไปอัญเชิญ ”พระบรมสารีริกธาตุ” ของพระพุทธเจ้า จำนวน ๔๕ องค์ มาประดิษฐ์ฐานไว้ ๔ แห่ง ดังนี้
๑. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ เจดีย์พระธาตุบังพวน ๒๙ องค์
๒. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ เจดีย์พระธาตุกลางน้ำ ณ เมืองหล้า หนองคาย ๙ องค์
๓. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ เจดีย์พระธาตุโพนจิกเวียงงัว (บุ๋) ๓ องค์
๔. อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ เจดีย์พระธาตุหอผ้าหอแพ ๔ องค์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33817315391368_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96951669537358_4.JPG)

ในขณะเดินทางกลับจากประเทศอินเดีย ได้แวะพัก ณ เมืองโคราช (คอนราช) คืนหนึ่ง และพักที่ถ้ำแก้ววชิรปราการ (ถ้ำกำแพงเพชร) ซึ่งอยู่ระหว่างภูเขา ๕ ลูก ถัดจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ พระอรหันต์ทั้ง ๘ รูป จึงได้จารึกตำนานบ้านเมือง อุปเท่ห์นิทานทั้งเมืองไว้ในแผ่นหิน รวมทั้งเรื่องราวพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และเรื่องราวรอยพระบาทลักษณ์ พร้อมทั้งศาสนา และนครนิทานไว้พร้อมสรรพ ณ ถ้ำแก้ววชิรปราการ แล้วจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุ ไว้ยังสถานที่ทั้ง ๔ แห่ง ดังกล่าว จากนั้น พระพุทธรักขิตเถระธรรมรักขิตเถระและพระสังฆรักขิตเถระ จึงได้เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย

ฝ่ายพระอรหันต์ ทั้ง ๕ รูป ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาพักอยู่ที่ร่มไม้ป่าแป้ง(ไม้โพธิ์) ณ ภูเขาลวง ( คำไทยเดิมแปลว่า นาค ) ซึ่งเป็นที่ตั้งเจดีย์พระธาตุบังพวนปัจจุบัน

ครั้นพระยาจันทบุรีประสิทธิสักกเทวะเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ทรงทราบข่าวจากหมื่นกลางโฮง เรื่องพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้า ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปรับ นางอินทสว่างรัตนเกศีราชกุมารี จากเมืองเวียงจันทน์ มาที่หอผ้าหอแพ และได้แจ้งเรื่องราวการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้พระนางทรงทราบ พระราชเทวีก็ทรงเลื่อมใสศรัทธา บริจาคมหัคฆภัณฑ์ของมีค่าต่างๆ เป็นจำนวนมากร่วมในการบรรจุพระบรมธาตุทั้ง๔ แห่ง ตามกำลังอันสมควร

เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว พระอรหันต์ ทั้ง ๕ ได้แยกย้ายกันไปอบรมสั่งสอนประชาชน และเผยแพร่พุทธศาสนา ตามที่อยู่ของตนจนนิพพาน

ในปี พุทธศักราช ๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาตั้งที่เมืองเวียงจันทน์ ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยสร้างเสริมพระธาตุบังพวนให้ใหญ่โต และสูงขึ้นกว่าองค์เดิม โดยก่ออิฐโลมต่อออกไปอีก และได้ก่อสร้างกำแพงรอบวัดซุ้มประตูไว้ทั้ง ๔ ทิศ ในลานพระธาตุสร้างอุโบสถวิหาร ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๓ เวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา เจดีย์พระธาตุบังพวนได้พังทลายลงเนื่องจากเกิดพายุ และฝนตกหนัก

รัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากร ได้ดำเนินการก่อสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์ใหม่ในเวลาต่อมา สิ้นงบประมาณก่อสร้าง ทั้งสิ้น ๑,๕๐๐,๐๐๐บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ควบคุมการก่อสร้างโดยนายช่างของกรมศิลปากร เพื่อรักษารูปทรงของพระธาตุองค์เดิมไว้ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์องค์ใหม่เมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เวลา ๐๙.๓๙ นาฬิกา โดยสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาส มหาเถระ) เสด็จเป็นองค์ประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ในการยกฉัตรขึ้นสู่ยอดองค์พระธาตุบังพวน เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ เวลา ๑๕.๓๙ นาฬิกา (แก้วอุทุมมาลา.๒๕๓๖)

ในปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น ได้มาทำการขุดแต่งโบราณสถานภายในบริเวณวัดพระธาตุบังพวน พบว่ามีสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “สัตตมหาสถาน” หมายถึง สถานที่มีความสำคัญ ๗ แห่ง ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์ เพื่อเสวยวิมุตติสุข คือ ความสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส ๗ แห่งๆ ละวัน ๗ วัน ซึ่งจำลองมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดียสถานที่ดังกล่าวนี้พบในประเทศไทยเพียง ๒ แห่ง คือที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ และที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย แห่งนี้ มีสัตตมหาสถาน ครบทั้ง ๗ แห่ง ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือ

๑. โพธิบัลลังก์ หมายถึง สถานที่พระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ตรงกลางหมู่เจดีย์ก่อด้วยอิฐเป็นทรงกลม เหมือนรูปโอคว่ำ สูง ๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร
๒. อชปาลนิโครชเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ของโพธิบัลลังค์ เป็นเจดีย์รูป ๔ เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ตอนบนเจดีย์มีซุ้ม พระพุทธรูปปางสมาธราบ ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลังค์
๓. มุจจลินทเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของโพธิบัลลังก์ เป็นวิหารมุงหลังคาไม่มีฝากั้น ภายในมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ๙ เศียร ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลัวก์
๔. ราชายตนเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม เช่นเดียวกับ อชปาลนิโครธเจดีย์ ตอนบนมีซุ้ม พระพุทธรูปปางสมาธิราบ ผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลลงก์
๕. รัตนเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐสอปูน มีขนาดใหญ่เท่าเจดีย์องค์อื่น ตอนบนมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิราบผินพระพักตร์เข้าหาโพธิบัลัลงก์
๖. อนิมิสเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์องค์อื่นๆ
๗. รัตนจงกรมเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์เป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม ก่อด้วยอิฐสอปูน ทางด้านทิศศตะวันออก ของเจดีย์ก่อด้วยอิฐกว้าง ๑ เมตร ทอดยาวไปทางทิศตะวันออก เกือบจดกับอนิมิสเจดีย์ ซึ่งหมายถึงทางเสด็จจงกรมของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้อมูลจาก เว็บไซต์วัดพระธาตุบังพวน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72150214678711_9.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18612072740991_10.JPG)
หลวงพ่อทันใจ พระศรีอริยะเมตตรัย วัดพระธาตุบังพวน

สระมุจลินท์ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประจำจังหวัด)


สระมุจลินท์ หรือ สระพญานาค ในหนังสือใบลาน ที่เขียนเป็นภาษามคธ เรียกชื่อว่า “สระมังคละน้ำเที่ยงหมัน”  เมื่อครั้งสถาปนาพระธาตุบังพวนไว้ที่ภูลวงแห่งนี้ แล้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุไว้ในองค์พระธาตุ

พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุนามว่า พระมหาเทพหลวง และพระมหาเทพพล ได้สังเกตเห็นน้ำพวยพุ่งออกมาเป็นสายตลอดเวลา จากปากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุบังพวน จึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้

ครั้นถึงสมัยพระเจ้าวิชุลราช (พ.ศ. ๒๐๔๓-๒๐๖๓) กษัตริย์ล้านช้างได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุ โปรดให้มีการปรับปรุงตกแต่งสระน้ำแห่งนี้ และนิมนต์พระคุณเจ้าจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/90750758267111_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23374256243308_2.JPG)
สมเด็จพระไชยเชษฐา (พ.ศ. ๒๐๙๓-๒๑๑๕) กษัตริย์ล้านช้างโบราณ
โปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก ๙ เศียรไว้ในบริเวณใกล้เคียงสระมุจลินท์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63833133421010_6.JPG)
พญานาคเจ็ดเศียรในสระน้ำมุจลินทร์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/65594763350155_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/90081525966525_8.JPG)
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้ว
น้ำจากสระมุจลินท์แห่งนี้ ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
เคยถูกนำเข้าพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
และพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบันเป็นประจำ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58763566902942_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66726567099491_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68195619227157_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44228313780493_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63740384702881_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/44354571857386_8.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26439326960179_7.JPG)

* ภาพประกอบ ถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗