[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2557 17:54:44



หัวข้อ: วัวอินเดีย ในคัมภีร์ฮินดูโบราณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2557 17:54:44
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/12/you02091257p1.jpg&width=360&height=360)

วัวอินเดีย
ในคัมภีร์ฮินดูโบราณ

ดร.สกุล อ้นมา ภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายเกี่ยวกับวัวและอินเดียไว้ว่า ในคัมภีร์ฮินดูโบราณ เช่น อาถรรพเวท และในเทพปกรณัมของอินเดีย มักกล่าวถึงวัวอยู่เสมอ

พระกฤษณะที่ชาวฮินดูนับถือว่าเป็นองค์อวตารของพระวิษณุผู้ปกปักรักษาสรรพสิ่งก็เป็นคนเลี้ยงวัว พาหนะของพระศิวะก็เป็นวัวตัวผู้ชื่อนันทิ และวัวนันทิก็เป็นผู้รักษาประตูวิมานของพระศิวะกับพระนางปารวตี

รูปปั้นวัวที่บรรยายถึงความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ปรากฏดาษดื่นในวัดฮินดูอายุเก่าแก่กว่าพันปี บางวัดมีรูปปั้นวัวนันทิใหญ่มาก เช่นเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในบ้านเรา

ชาวฮินดูนับถือวัวเป็นผู้ให้อย่างไม่ท้อถอย นับจากเป็นแหล่งแห่งโปรตีน ไม่มีกับข้าวมื้อไหนจะสมบูรณ์ได้โดยไม่มีนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น เนยใส เนยข้น นมจึงกลายเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย และทดแทนนมแม่ได้

ส่วนมูลวัวก็ใช้เป็นปุ๋ยคอกและเชื้อเพลิงชีวภาพมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว ทั้งเมื่อเอามูลวัวมาละลายทาพื้นก็ป้องกันแมลงและไล่หนู ฉี่วัวก็มีแร่ธาตุ วิตามินและฮอร์โมนหลายชนิด เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ และเป็นยาฆ่าแมลงที่ไม่ก่อมลพิษ

ในคัมภีร์พระเวท วัวได้รับยกย่องเป็น ๑ ในมารดา ๗ ประเภทที่ชาวฮินดูเคารพ คือ
   ๑.อะทิมาตา มารดาผู้ให้กำเนิด
   ๒.คุรุ ปัตนี ภรรยาของอาจารย์
   ๓.พราหมณี ภรรยาของพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม
   ๔.ราชา ปะทริกา มเหสีของพระราชาคือพระราชินี
   ๕.เธนุ วัว
   ๖.ธาตรี นางพยาบาล และ
   ๗.ตะถา ปะฐะวี แม่พระธรณี

มีบทสวดอยู่บทหนึ่งว่า "สรฺเว เทวาหฺ สะถิตา เทเห สรฺวา เทวะมะยีหิ เคา" แปลว่า เทพเจ้าทั้งหลายอาศัยอยู่ในร่างกายของวัว ดังนั้น ร่างกายของวัวจึงบริสุทธิ์เหมือนเทพเจ้า ในวัวต้นกำเนิดที่ชื่อว่า "กามเธนุ" จะมีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ทั่วร่างกาย


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/12/you02091257p3.jpg&width=360&height=360)  

ตามตำนานเทพปกรณัมของฮินดู กามเธนุคือวัวเทพที่เชื่อกันว่าเป็นมารดาของวัวทั้งหมด กามเธนุให้พรแก่ผู้ขอได้จริง คำว่า กามเธนุ มาจากคำ ๒ คำ คือ กามะ ความปรารถนา และ เธนุ ผู้ให้ ทุกส่วนในร่างของวัวกามเธนุล้วนมีความสำคัญทางศาสนา เขาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า หน้าเป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ไหล่ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์ของพระอัคนีเทพเจ้าแห่งไฟ เท้าทั้งสี่เป็นสัญลักษณ์ของพระเวททั้ง ๔

ตำนานเล่าว่า พระพรหมสร้างพราหมณ์และวัวพร้อมกัน เพื่อทำหน้าที่ต่างกัน ให้พราหมณ์สวดคัมภีร์พระเวท ส่วนวัวให้เนยใสเพื่อบูชา หากต้องการจะทำให้สถานที่สกปรกสะอาดบริสุทธิ์ก็ต้องใช้มูลวัวมาทาพื้น ปัจจุบันตามที่ชนบท ตอนเช้าจะเห็นชาวบ้านปัดกวาดบ้านก่อนนำมูลวัวสดมาทาบริเวณประตูเข้าบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล

ชาวฮินดูถือว่าใครก็ตามที่ฆ่าวัว หรืออนุญาตให้ฆ่าวัว จะตกนรกนานเท่ากับเส้นผมในตัวเขาเลยทีเดียว ส่วนเด็กที่เกิดมาในช่วงฤกษ์ยามที่ไม่ดีเป็นอัปมงคลก็กลับร้ายให้กลายเป็นดีได้โดยการไปลอดใต้ท้องวัวเพื่อช่วยปัดเป่าเคราะห์ทั้งหลายให้หมดไป

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าวัวเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพีลักษมีตัวแทนแห่งความโชคดี ในพิธีกรรมทางศาสนา ชาวฮินดูจะบูชาวัวด้วยการอาบน้ำให้แล้วประดับตกแต่งทาสีเหลืองหรือสีส้มที่เขาและกีบเท้า ให้อาหารแก่วัวก่อนแล้วจึงจะให้คนที่มาร่วมในพิธีรับประทานกัน

ตำนานของฮินดูยังกล่าวว่า วัวเป็นผลผลิตจากการกวนเกษียรสมุทร เป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งที่บริสุทธิ์และมีค่าที่สุด ร่วมกับคัมภีร์พระเวท พราหมณ์ เทพีลักษมี เทพีสรัสวดี เป็นต้น ที่ปรากฏรูปร่างออกมาจากการกวนครั้งนั้นด้วยเช่นกัน

วัวจึงเป็นของขวัญให้แก่มนุษย์ เป็นผู้ให้น้ำนมเป็นหลัก เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความสงบร่มเย็น ชาวฮินดูจึงบูชาและเรียกว่า "โคมาตา" หรือแม่วัว


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด