[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 มีนาคม 2558 09:48:22



หัวข้อ: กามิกาเซ่ - เที่ยวบินนี้ไม่มีกลับ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 มีนาคม 2558 09:48:22
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30186727229091_1.jpg)

กามิกาเซ่ (Kamikaze)

กามิกาเซ่ หรือคะมิกะเซะ (Kamikaze) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังจู่โจมพิเศษ เป็นฝูงบินพลีชีพของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภิยะพรรณี วัฒนายากร เขียนบทความไว้ในนาวิกศาสตร์ของกองทัพเรือ ว่า กามิกาเซ่มาจากคำ ๒ คำต่อกัน คือ kami หมายถึง พระเจ้า (god) และ kaze หมายถึงลม (wind) รวมกันมีความหมายว่าลมแห่งเทวะ หรือลมแห่งสวรรค์ และยังหมายถึงลมสลาตันหรือพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.๑๒๗๔ ช่วยให้ญี่ปุ่นรอดพ้นจากการรุกรานของกองทัพเรือ ๔,๕๐๐ ลำ ของมองโกล นำโดยจักรพรรดิกุบไลข่าน ชาวญี่ปุ่นรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพายุไต้ฝุ่นลูกนี้ จึงตั้งชื่อว่า กามิกาเซ่ แปลว่าพายุเทพเจ้า เป็นที่มาของชื่อกองบินอากาศยานพลีชีพของญี่ปุ่นที่บรรทุกระเบิดแล้วพุ่งเข้าชนเรือ และคำนี้ยังหมายถึงนักบินผู้บังคับอากาศยานด้วย

ปฏิบัติการของฝูงบินกามิกาเซ่นับได้ว่าเป็นการรบทางอากาศที่มีอิทธิพลและเป็นที่รู้จักมากกว่ารูปแบบอื่นๆ ของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หน่วยทหารที่รับผิดชอบมีชื่อว่า "โทคูเบตสุ โคกิคิไท" แปลว่ากองกำลังจู่โจมพิเศษ ญี่ปุ่นใช้ยุทธวิธีพลีชีพด้วยฝูงบินกามิกาเซ่ในช่วงบุกฟิลิปปินส์ในปี ๑๙๔๔และเพื่อหยุดยั้งการบุกของกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตร และที่เมืองโอกินาวา ในช่วงปี ๑๙๔๖ ไปกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ การพลีชีพของนักบินกามิกาเซ่ถือเป็นการตายอย่างมีเกียรติเพื่อองค์จักรพรรดิและประเทศของพวกเขา



 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/83454114322861_2.jpg)    กำเนิดของหน่วย กามิกาเซ่เริ่มต้นเมื่อ น.ท.อะไซกิ ทาไม อาจารย์สอนการบินทหารเรือ สอบถามนักเรียนการบิน ๒๓ คน ว่ามีใครสนใจจะเข้าร่วมในกองกำลังโจมตีพิเศษบ้าง นักเรียนทั้งหมดตกลงเข้าร่วมปฏิบัติการ โดยมี ร.ท.เซกิ ยูคิโอะ เป็น ผู้บังคับการ รวมเป็นนักบิน ๒๔ คนในหน่วยโจมตีพิเศษที่ประกอบด้วย ๔ หน่วยย่อย ได้แก่ หน่วยชิคิชิมา (Shikishima), หน่วย ยามาโตะ (Yamato), หน่วยอาซาฮี (Asahi) และ หน่วยยามาซากุระ (Yamaza kura) ชื่อของหน่วยย่อยเหล่านี้นำมาจากบทกวี เกี่ยวกับความรักชาติ ประพันธ์ โดยนักปราชญ์ยุคคลาสสิคของญี่ปุ่น ชื่อ โมโตริ โนรินากะ

หลักฐานเกี่ยวกับการโจมตีครั้งแรกของกามิกาเซ่ที่เชื่อถือได้จากรายงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นที่ยอมรับของหลายๆ ฝ่าย คือการโจมตีเรือลาดตระเวนหนักของออสเตรเลีย ชื่อ HMAS Australia เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๑๙๔๔ เรือลำดังกล่าวถูกเครื่องบินญี่ปุ่นที่บรรทุกระเบิดหนัก ๒๐๐ กิโลกรัม (๔๔๑ ปอนด์) พุ่งเข้าชนกลางทะเลนอกเกาะเลเต เครื่องบินปะทะเข้ากับส่วนโครงสร้างเหนือดาดฟ้าใหญ่ของเรือ เหนือสะพานเดินเรือ เกิดการระเบิด น้ำมันลุกไหม้ พบซากปรักหักพังกระจัดกระจายเป็นวงกว้าง แต่ระเบิดหนัก ๒๐๐ กิโลกรัมที่ติดมากับเครื่องบินไม่เกิดการระเบิด มีคนเสียชีวิตบนเรืออย่างน้อย ๓๐ นาย อย่างไรก็ตาม การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มาจากเครื่องบินของหน่วยโจมตีพิเศษของ น.ท.ทาไม แต่เป็นปฏิบัติการของนักบินญี่ปุ่นไม่ทราบนาม

๔ วันต่อมา ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ฝูงบินกามิกาเซ่ ประกอบด้วย เครื่องบินซีโร่ จำนวน ๕ ลำ นำโดย ร.ท.ยูคิโอะ เข้าโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกันของสหรัฐอเมริกา ชื่อ USS St.Lo ซึ่งแม้ว่าจะมีเครื่องบินซีโร่เพียงลำเดียวที่พุ่งเข้าชนเรือได้สำเร็จ แต่ก็ส่งผลรุนแรง ระเบิดที่ติดมากับเครื่องบินระเบิดขึ้น เกิดไฟไหม้ลุกลามต่อไปยังคลังระเบิดของเรือ เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงจนเรือจม

นอกจากนี้เครื่องบินกามิกาเซ่ลำอื่นๆ ได้สร้างความเสียหายให้เรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรอีกมากมายนับไม่ถ้วน เนื่องจากเรือรบของสัมพันธมิตรจำนวนมากในยุคนั้นดาดฟ้าเรือทำด้วยไม้ เป็นเชื้อเพลิงของไฟจากระเบิดเป็นอย่างดี  กล่าวได้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐในช่วงนั้นตกเป็นเป้าการโจมตีของกามิกาเซ่ได้ง่ายกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษที่มีดาดฟ้าทำด้วยเหล็ก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74419708384407_3.jpg)   หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด รายงานของญี่ปุ่นระบุว่า นักบินทหารเรือสังเวยชีวิตในภารกิจพลีชีพ จำนวน ๒,๕๒๕นาย กองทัพบก ๑,๓๘๗ นาย โดยเหล่านักบินที่ห้าวหาญจมเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตร ๘๑ ลำ และทำความเสียหายให้เรือรบ ๑๙๕ ลำ และระบุว่า กามิกาเซ่ได้สร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพเรือสหรัฐ ในการรบทางทะเลฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุความสูญเสียทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลของฝ่ายสัมพันธมิตรว่า มีเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรจมเพราะการโจมตีของกามิกาเซ่ ๓๔ ลำ และ ๒๘๘ ลำได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าปฏิบัติการของฝูงบินกามิกาเซ่สร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก แม้ไม่ได้รุนแรงมากจนกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดในการแพ้หรือชนะสงคราม แต่ผลกระทบในทางจิตวิทยาที่มีต่อทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรกลับลึกซึ้ง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36016455913583_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/21956957214408_5.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96572086753116_6.jpg)

ปฏิบัติการกามิกาเซ่ดูบ้าบิ่นเกินมนุษย์ในสายตาตะวันตก แต่กองทัพญี่ปุ่นไม่เคยขาดแคลนอาสาสมัครนักบินที่จะมาทำงานนี้ ทั้งมีมากกว่าจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ถึง ๓ เท่า ในการคัดเลือกตัวนักบิน พวกนักบินมากประสบการณ์ เสืออากาศ จะถูกกันออกไป เนื่องจากนักบินเหล่านี้มีคุณค่าในการรบเชิงป้องกันและในการฝึกสอนนักบินรุ่นใหม่ นักบินพลีชีพกามิกาเซ่ส่วนใหญ่จึงมีอายุอยู่ในช่วง ๒๐ ปี เป็นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แรงจูงใจมาจากความรักชาติ ความปรารถนาที่จะนำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูลของตนด้วยการสละชีพเป็นชาติพลี และเพื่อพิสูจน์คุณค่าความเป็นลูกผู้ชาย ซึ่งเป็นค่านิยมร้อนแรงในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนั้น

ก่อนนักบินกามิกาเซ่จะออกปฏิบัติการ หน่วยจะจัดพิธีพิเศษให้แก่นักบินเหล่านั้น มีการสวดมนต์ให้พรนักบินและญาติมิตรของนักบินที่มาร่วมในงาน และเหล่านักบินจะได้รับเครื่องยศทางทหาร พิธีดังกล่าวมีผลต่อขวัญและกำลังใจ ทำให้เกิดภาพพจน์และแรงจูงใจต่ออาสาสมัครที่ต้องการจะมาเป็นนักบินกามิกาเซ่รุ่นต่อๆ ไป

เที่ยวบินนี้ไม่มีกลับ จากเรื่องเล่าขานกันมา เมื่อนักบินหนุ่มผู้รักชาติออกปฏิบัติการพลีชีพ พวกเขาจะบินย้อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ข้ามผ่านภูเขา เมาน์ ไคมอน ซึ่งมีความสูง ๙๒๒ เมตร ภูเขาลูกนี้ รู้จักกันดีในชื่อ เซตซูมา ฟูจิ (คนละลูกกับภูเขาฟูจิที่มีชื่อเสียง แต่มีสวยงามและรูปร่างคล้ายกัน จึงได้ชื่อว่า เซตซูมา ฟูจิ) อยู่ในจังหวัดเซตซูมา นักบินพลีชีพจะมองข้ามหัวไหล่ของตนเองย้อนกลับไปดูภูเขาลูกนี้ ซึ่งเป็นภูเขาที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น พร้อมกล่าวคำอำลาแผ่นดินแม่ และแสดงความเคารพเซตซูมา ฟูจิ

และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านบนเกาะคิไคจิมา ทางตะวันออกของอะมามิโอชิมา เมื่อนักบินพลีชีพกามิกาเซ่บินผ่านเกาะแห่งนี้ พวกเขาจะโปรยดอกไม้ลงมาจากอากาศ ก่อนบินผ่านไปปฏิบัติหน้าที่สำคัญครั้งสุดท้ายในชีวิต ทำให้คิดกันว่าทุ่งดอกคอร์นฟลาวเวอร์ ที่บานสะพรั่งบนเนินเขาเหนือสนามบินคิไคจิมา ในทุกเดือนมีนาคม แพร่พันธุ์มาจากดอกไม้ของเหล่านักบินกามิกาเซ่.



ที่มา(ข้อมูล-ภาพ) : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด ฉบับประจำวันที่ ๒ และ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘