[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 มิถุนายน 2558 13:00:06



หัวข้อ: วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี : กราบอัฐธาตุหลวงปู่ชา สุภัทโท
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 มิถุนายน 2558 13:00:06
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81455694428748_1.jpg)
กราบอัฐธาตุ พระโพธิญาณเถระ
(หลวงปู่ชา  สุภทฺโท)

วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

วัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ ๑๐ ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ห่างจากตัวจังหวัดไปทางอำเภอกันทรลักษณ์ ประมาณ ๘ กิโลเมตร  มีพื้นที่ป่าภายในเขตกำแพง ๑๘๖ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๗

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้เดินธุดงค์มาถึง “ดงป่าพง” พร้อมด้วยลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึง ก็ได้ทำการปักกลดเรียงรายอยู่ตามชายป่าประมาณ ๕-๖ แห่ง  ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าดงใหญ่ สภาพรกทึบ ชุกชุมด้วยไข้ป่า ในกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นหนาแน่น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ชาวบ้านเรียกดงดิบนี้ว่า “หนองป่าพง”  ต่อมาบริเวณผืนป่าส่วนใหญ่ถูกทำลาย ยังคงเหลือเพียงส่วนที่เป็นของวัดในปัจจุบันเท่านั้น  สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ไม่ถูกบุกรุกเนื่องจากเชื่อถือกันว่า มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏเสมอว่า คนที่เข้าไปทำไร่ตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกมามักมีอันต้องล้มตายไปทุกราย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้  ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น ไม่มีใครกล้าเข้าไปทำลาย หรืออาศัยทำกินในป่านี้เลย ดงป่าพงจึงดำรงความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์  

ชื่อ “วัดหนองป่าพง” นี้ เป็นชื่อที่หลวงพ่อคิดตั้งขึ้นเอง โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “วัดป่าพง”  

ในระยะแรก หลวงปู่ชา  สุภทฺโท และลูกศิษย์ต้องต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกับไข้ป่าซึ่งขณะนั้นชุกชุมมากเพราะเป็นป่ารกทึบ ยามพระเณรป่วยหายารักษายาก ต้องต้มบอระเพ็ดฉันพอประทังไปตามมีตามเกิด โดยที่ท่านไม่ยอมขอความช่วยเหลือเลย เพราะว่า ท่านต้องการให้ผู้ที่มาพบเห็นด้วยตาแล้วเกิดความเลื่อมใสเอง หลวงพ่อสอนอยู่เสมอว่า พระไปยุ่งกับการหาเงินก่อสร้างวัด เป็นสิ่งน่าเกลียด แต่ให้พระสร้างคน คนจะสร้างวัดเอง

จากวัดเล็กๆ ที่มีบรรณศาลา (กระท่อม) ไม่กี่หลัง จึงได้มีสิ่งก่อสร้างอันควรแก่สมณวิสัยเพิ่มเติม จนพอแก่ความต้องการในปัจจุบัน ทั้งที่พักอาศัยของภิกษุ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาที่มาค้างแรมเพื่อปฏิบัติธรรม กระท่อมชั่วคราวได้กลายมาเป็นกุฏิถาวรจำนวนมาก ศาลามุงหญ้าซึ่งเคยใช้เป็นที่แสดงธรรม ได้เปลี่ยนมาเป็นศาลาและวัด หอระฆังเสนาสนะอื่นๆ ได้เพิ่มมากขึ้นจากแรงศรัทธาความเลื่อมใสนั่นเอง

วัดหนองป่าพงเป็นวัดป่าอรัญวาสี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่แวดล้อมอันสงัด มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การพำนักอาศัยเพื่อบำเพ็ญสมณะธรรม  ชีวิตพระในวัดหนองป่าพง มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยพระยุคลบาทพระบรมศาสดา ที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบเงียบและเรียบง่ายภายในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้นมาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มวลมหาชนทั่วไป
.... ที่มา เว็บไซท์วัดหนองป่าพง
 

พระโพธิญาณเถระ
(หลวงปู่ชา  สุภทฺโท)

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) หรือ หลวงพ่อชา หรือ พระอาจารย์ชา กำเนิดชีวิตในครอบครัวกสิกรผู้มีฐานะมั่นคงหรือมีฐานะดีครอบครัวหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวน ๑๐ คน ของนายมา - นางพิมพ์ ช่วงโชติ  บิดามารดาและญาติของท่านล้วนเป็นผู้มีสัมมาอาชีโว ตั้งมั่นอยู่ในพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวชนบทภาคอีสาน จึงจัดว่าชีวิตมีความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควรครอบครัวหนึ่งในสมัยนั้น

ในวัยเด็ก เด็กชายชา ช่วงโชติ มีลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ น่ารักน่าเอ็นดู ปากของท่านค่อนข้างกว้างและเชิดเล็กน้อย เพื่อนฝูงในวัยเดียวกันเรียกท่านตามรูปลักษณ์ที่เห็นว่า “อึ่ง”   ท่านเป็นคนพูดเก่ง อารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน ชอบนำเรื่องตลกมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้หัวเราะครื้นเครงอยู่เสมอ ลักษณะโดดเด่นของท่านอีกประการหนึ่งคือ ท่านมีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก ตอนที่เล่นกับมิตรสหาย ท่านจะเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ฝักใฝ่ธรรมาธิปไตย มีความเยือกเย็น เสียสละ รักความยุติธรรม รักสันติ ไม่นิยมความรุนแรง เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งก็มักจะเป็นคนกลางเข้าไปแก้ไข ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งให้ยุติลงได้อย่างสงบ

ข้อที่สังเกตอีกประการหนึ่ง เด็กชายชา มีจิตใจใฝ่ธรรมมาแต่วัยเยาว์ ชอบเล่นเป็นพระภิกษุ ท่านเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ตอนเด็กๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภารขึ้นมา เอาผ้าขาวมาห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพลก็ตีระฆังเก๊กๆ ให้เพื่อนๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ฉัน แล้วรับศีลรับพร”

หลวงพ่อชาได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี  เรียนหนังสือจบชั้นประถมปีที่ ๑ แล้วได้ลาออกจากโรงเรียน รบเร้าให้มารดาพาไปฝากเป็นลูกศิษย์วัด เพื่อจะได้ใกล้ชิดสิ่งที่ตนเองปรารถนา พ่อแม่ก็ดีใจที่ลูกชายใฝ่ใจในทางบวชเรียน จึงนำตัวลูกชายไปฝากฝังกับพระอาจารย์ลี ที่วัดก่อนอก

เมื่อได้มาอยู่ในวัดแล้ว เด็กชายชาก็เอาใจใส่เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของวัด ฝึกหัดไหว้พระสวดมนต์ คอยดูแลรับใช้ครูบาอาจารย์และพระเณรในวัด   พระอาจารย์ลี เห็นความอดทน ขยันหมั่นเพียร และความมีระเบียบวินัยของเด็กชายชา จึงจัดการให้บวชเณรพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคน โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ อายุขณะนั้น ๑๓ ปี

เมื่อบวชเรียนแล้วได้เรียนหนังสือธรรมเรียนบาลีไวยากรณ์ เรียนมูลกัจจายน์ จนสอบได้ชั้นสูงสุดสายนักธรรม คือ สอบได้นักธรรมชั้นเอก และพร้อมกับได้ศึกษาหนังสือพื้นเมืองที่เรียกว่า “หนังสือตัวธรรม” จนมีความชำนิชำนาญ เป็นการเริ่มต้นก้าวสู่วิถีชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์
 
สามเณรชา ช่วงโชติ ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์ เป็นเวลา ๓ ปี จึงได้ลาสิกขาบทกลับไปใช้ชีวิตในทางโลกมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนาอีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป

แปดปีที่กลับมาใช้ชีวิตในโลกคฤหัสถ์ ทำให้พระอาจารย์ชาได้สะสมประสบการณ์ธรรมชาติแห่งโลกียวิสัยของปุถุชน เป็นกำไรของชีวิตที่ท่านนำไปพิจารณาอย่างมีคุณค่าในทางธรรม   การบวชเป็นสามเณรมานานถึง ๓ ปี ทำให้จิตใจของท่านเกิดความซาบซึ้งในสิ่งที่เรียกว่า คุณธรรม  ระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา จึงได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของบุตรที่พึงให้ความสุขทางกายและทางใจแก่ท่านอยู่เป็นนิจ

แต่ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียนที่มีอยู่ตลอดเวลาและไม่อาจยอมรับชีวิตที่แปรปรวน เลื่อนไหลไร้แก่นสาร ที่คนอื่นๆ สนุกสนานและหลงโลกกันทั้งนั้น แม้จะเบื่อหน่ายทางโลก แต่ท่านก็ยังไม่อาจจะทำตามที่ใจคิดได้ ท่านปรารภในเรื่องนี้แก่ศิษย์ฟังภายหลังว่า  “ตอนนั้นอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี เบื่อ  ไม่อยากอยู่กับครอบครัว คิดอยากไปอยู่คนเดียวเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมถึงคิดอย่างนี้ เป็นอยู่หลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไร มันอยากไปไหนๆ คนเดียวอย่างนั้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็มาบวช อันนี้มันเป็นนิสัยหรือบารมี แต่เราไม่รู้จักมัน แต่ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ตลอด”  

เมื่อ นายชา ช่วงโชติ โตเป็นหนุ่ม มีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งชื่อ นายพุฒ ทุมมากรณ์ ทั้งสองรักใคร่สนิทสนมกันมาก  ในวัยหนุ่มวัยสาว เรื่องคนหนุ่มกับสตรีเพศหนีกันไม่พ้น  นายชาก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ว่านี้  ใจของหนุ่มชาไปผูกสมัครรักใคร่หญิงสาวที่ชื่อว่า นางสาวจ่าย  ผู้ซึ่งเป็นลูกติดแม่เลี้ยงของนายพุฒ เพื่อนรักของเขานั่นเอง  นายชา เป็นคนดีมีฐานะครอบครัวมั่นคง พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจึงหมายมั่นว่าอยากให้หนุ่มชามาเป็นลูกเขย ถึงกับกีดกันหนุ่มคนอื่นไม่ให้เข้ามาใกล้ชิดติดพัน นางสาวจ่าย  หวังให้ลูกสาวได้นายชาเป็นคู่ครองเท่านั้น    

ขณะนั้นหนุ่มชามีอายุ ๑๙ ปี  ส่วน นางสาวจ่าย อายุ ๑๗ ปี ทั้งสองสัญญากันว่า เมื่อนายชาผ่านพ้นการเกณฑ์ทหารและขอเวลาบวชเป็นพระภิกษุทดแทนคุณพ่อแม่สัก ๑ พรรษา แล้วจึงจะแต่งงานกันตามประเพณี  แต่ว่าฝ่ายหญิงอยากให้แต่งกันเสียเร็วๆ เพราะนานไป คนหนุ่มอย่างนายชาอาจเปลี่ยนใจได้  เมื่อฝ่ายชายยืนยันขอเวลาอย่างนั้น  เหมือนโชคชะตาฟ้าดินกำหนด พ่อของนายพุฒเพื่อนของนายชา ปรารภกับภรรยาว่า การรอคอยให้นางสาวจ่ายได้แต่งงานกับนายชานั้นนานเกินไป ควรจะให้ลูกสาวแต่งงานกับนายพุฒเสียเลยจะดีกว่า เข้าตำราเรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย ลูกตัวกับลูกเลี้ยงแต่งงานกันจะได้หมดห่วง อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้าให้เสียกาล

นายชา ช่วงโชติ รู้เรื่องการตกลงแต่งงานของเกลอเพื่อนรักกับสาวคนรักด้วยความรู้สึกงุนงง และเสียใจสุดแรงที่สาวคนรักจะต้องกลายเป็นเมียของเพื่อนรัก แต่เมื่อข่มใจพิจารณาในเหตุผลว่าสาวจ่ายต้องทำตามคำของพ่อแม่ นายชาก็ต้องตัดใจ  ความผิดหวังในครั้งนั้น มิได้ทำให้คนที่เคยบวชเรียนเสียหลัก ใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงช่วยให้มองเห็นว่าชีวิตทั้งหลายต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  อย่างไรก็ตาม นายชา ยังคงรักษาความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนกับนายพุฒดังเดิม ไม่มีความโกรธเคืองผูกพยาบาท แต่อำนาจความผูกพันทางใจที่มีต่อนางสาวจ่าย ยังฝังลึกคุกคามอยู่ในใจ กระตุ้นให้เกิดความหวั่นไหว ผัสสะแห่งจิตยังถูกครอบงำเหมือนก้อนหินหล่นในน้ำ

พระอาจารย์ชา ปรารภให้ลูกศิษย์ฟังเป็นข้อคิดว่า ท่านบวชแล้วก็ยังต้องระวังใจตนเองมากทีเดียว ตอนที่เป็นพระเห็นสาวจ่ายเดินสวนทางมาก็ต้องรีบหลบเข้าป่าเสีย เจ็ดปีแรกที่บวช  ยอมรับว่า ใจยังตัดขาดจากความอาลัยในความรักนั้นไม่ได้ ต่อเมื่อท่านมีอินทรีย์แก่กล้า ออกป่าเดินธุดงค์ เจริญกรรมฐานภาวนาอย่างเฉียบขาด ความรู้สึกที่ค้างคาใจจึงค่อยลบเลือนไปได้สำเร็จ    ดังนั้น ความผิดหวังในความรักครั้งแรกจึงเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์ชาต้องคอยระมัดระวังในเรื่องของสตรีเพศ...ภัยจากมาตุคามที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นอันตรายแก่นักปฏิบัติธรรมหรือเพศพรหมจรรย์เป็นที่สุด   ภายหลังต่อมาพระอาจารย์ชาได้แสดงธรรมสอนพระเณรในวัดหนองป่าพง เรื่อง “กาม” ท่านได้นำเรื่องของนายพุฒผัวของนางจ่าย มายกอุปมาเป็นตัวอย่างกับพระเณรว่า ถ้านางจ่ายไม่แต่งงานกับนายพุฒ ตัวท่านคงจะไม่ได้บวชเรียน  นายพุฒจึงเปรียบเสมือนเพื่อนเกลอที่มาช่วยส่งให้ท่านเดินเข้าสู่เส้นทางธรรม นายพุฒจึงมีบุญคุณกับท่านด้วยโดยปริยาย

อำลาชีวิตทางโลก เดินสู่ทางธรรม
จากประสบการณ์ชีวิตทางโลก ท่านพระอาจารย์ชาได้สัมผัสความทุกข์ จนสามารถควบคุมอินทรีย์ ข่มใจตนเอง ให้หลุดพ้นบ่วงกามราคะซึ่งเป็นอำนาจฝ่ายต่ำได้สำเร็จในที่สุด

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะนั้น ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียนและสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องอุปสมบทเป็นพระให้ได้ จึงตัดสินใจบอกบิดามารดาว่าจะขอบวชกลับไปครองผ้ากาสาวพัสตร์อีกครั้งหนึ่ง พ่อและแม่เมื่อได้ยินว่าลูกชายจะบวชก็ดีใจ อนุญาตให้บวชแล้วได้พาไปฝากตัวที่วัดก่อใน ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน โดยให้มีพิธีอุปสมบทในตอนเวลาตะวันบ่าย เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี  มีพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุภัทโท” แปลว่า ผู้เจริญดี

พระภิกษุชา สุภทฺโท อยู่จำพรรษา ณ วัดก่อนอก มอบชีวิตให้กับพระศาสนาตั้งแต่บัดนั้น  ได้ศึกษาปริยัติธรรม ทั้งจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์ เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตในเพศสมณะ ท่านจำพรรษาอยู่วัดก่อนอกได้ ๒ พรรษา ได้พิจารณาถึงความรู้ที่ร่ำเรียนมา รู้ดีว่ายังไม่เพียงพอจะต้องเรียนรู้พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้ให้แตกฉานเพื่อวางรากฐานในทางธรรมให้มั่นคงแก่ตนเอง ประกอบกับคราวโยมบิดาเสียชีวิตเกิดธรรมสังเวช จึงหยุดการศึกษาปริยัติหันมามุ่งสู่ด้านการปฏิบัติ ก็จะต้องไปแสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือในสมัยนั้นฝากตัวเป็นศิษย์ให้ช่วยอบรมสั่งสอนภูมิธรรมในระดับสูงต่อไป  ดังนั้น พระอาจารย์ชาจึงตัดสินใจจาริกธุดงค์จากจังหวัดอุบลราชธานีมาสู่ภาคกลาง ซึ่งต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์พระผู้เลิศทางธุดงควัตรและจริยวัตรปฏิปทางดงาม อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่กินรี จนฺทิโย รวมทั้งพระอาจารย์นิรนามจากเขมร ที่พระอาจารย์ชา สุภัทโท ธุดงค์มาอยู่ที่เขาวงกฎ จังหวัดลพบุรี และได้พบพระเขมรองค์นี้  “ท่านผู้นี้เป็นพระภิกษุชาวเขมร เดินทางมาเพื่อสอบทานพระไตรปิฎก มีความรู้ด้านปริยัติและปฏิบัติพร้อมทั้งสองประการ  จากการสนทนากับพระเขมรองค์นี้ ทำให้ได้มีความรู้อะไรดีๆ เพิ่มขึ้น ท่านพูดให้ฟังในเรื่องการแปลคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกว่า แม้แต่พระพุทธพจน์ในตำราก็ไม่อาจเชื่อได้ทั้งหมด อาจมีที่แปลไม่ตรงความหมายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้”  ท่านกล่าวกับพระอาจารย์ชา สุภัทโทว่า “อย่าเชื่อว่าเพราะมีอยู่ในตำรา” กาลามสูตรกล่าวไว้เช่นนั้น

พระภิกษุชาวเขมรองค์นี้ได้บอกวินัยแก่พระอาจารย์ชา เพื่อให้นำไปรักษาให้ถึงความบริสุทธิ์แห่งสมณะ ให้บำเพ็ญเพียรธรรมอย่างจริงจัง พระอาจารย์ชามีความพึงพอใจในปฏิปทาของพระอาจารย์ชาวเขมรมาก ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน  แม้เวลาล่วงเลยมานานเท่าใด ก็ไม่เคยลืมการปฏิบัติธรรมที่เขาวงกฎ ลพบุรี  

สู่สำนักวัดหนองป่าพง
ชีวิตของพระอาจารย์ชา สุภัทโท เริ่มเข้าสู่เส้นทางของสมณะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านมุ่งมั่นบำเพ็ญจิตของตนให้หลุดพ้นจากวัฏสงสารอยู่อย่างต่อเนื่อง จวบจนเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงเดินทางมาปักธงธรรมจักรที่ริมหนองน้ำชายป่าพง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  ตามที่โยมมารดานิมนต์ให้กลับไปโปรดที่บ้านเกิด และได้ดำเนินการสร้างวัดป่าขึ้น ซึ่งเรารู้จักในปัจจุบัน คือ "วัดหนองป่าพง"  และท่านได้พำนักอยู่ ณ ที่นี้ตลอดมาจนถึงแก่กาลมรณภาพเมื่อเวลา ๐๕.๒๐ นาฬิกา ของเช้าวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕

ณ วันนั้น สรรพสิ่งในวัดหนองป่าพงนิ่งสนิทพร้อมๆ กับลมหายใจของพระอาจารย์ชา สุภัทโท  

ไม่มีรูปนามใดๆ ให้ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป สังขารทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยแห่งอิทัปปัจจยตา... เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น.


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71995698950356_2.JPG)
เจดีย์อัฐธาตุ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99988118062416_3.JPG)
หุ่นขี้ผึ้ง พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร
สิ่งที่น่าสังเกต ชาวอุบลราชธานี เป็นผู้ยึดมั่นในพุทธศาสนา พระเถรชั้นผู้ใหญ่ผู้เลิศทางธุดงควัตร
หลายรูปล้วนถือกำเนิดจากอุบลราชธานี เช่น หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล  หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันทโท) พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ฯลฯ รวมถึง หลวงปู่ชา สุภทฺโท
นับเป็นเกียรติประวัติของจังหวัดอุบลราชธานีอีกประการหนึ่ง
 
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72336256172921_3_1.JPG)
รอยมือรอยเท้า พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๔

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48899648752477_4.JPG)
เหล่าพุทธศาสนิกชนไปทำบุญที่วัดหนองป่าพง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64126026630401_5.JPG)
ประชาชนนับพันร่วมทำบุญที่วัดหนองป่าพงจนแน่นล้นออกนอกศาลา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47918186916245_6.JPG)
ที่นี่เงียบสนิทปรารศจากเสียงพูดคุยใดๆ หากมีเรื่องต้องพูด ต่างพูดคุยกันด้วยเสียงเบาๆ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58743137617905_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54662592129574_8.JPG)
ต้นไม้ต้นน้อยที่เคยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เจริญเติบโตสูงใหญ่ใบหนา
ให้ร่มเงาร่มรื่น กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณวัดหนองป่าพง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/67133502703573_a.JPG)
กุฏิสงฆ์สร้างห่างกันในป่าวัดหนองป่าพง ช่วยเกื้อกูลสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/48862028867006_9.JPG)
ที่ปักกรดครั้งแรกหลวงปู่ชา ในวัดหนองป่าพง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95817416575219_10.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86624791762895_14.JPG)
"ท่านผู้เจริญ สถานที่นี้เป็นปูชนียสถานที่เคารพ
ห้ามใส่รองเท้าเข้าไปในบริเวณหอระฆัง
ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ควรทำอัญชุลีกรรม
กระพุ่มมือไหว้เสียก่อน จึงเข้าไปในบริเวณเทอญ
พระโพธิญาณเถร"
หอระฆังวัดหนองป่าพง มีแผ่นป้ายจารึกข้อความข้างต้น แขวนไว้ผนังหอระฆังทั้งสี่ทิศ
(แผ่นป้ายสีแดงที่ปรากฎในภาพ)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61722064680523_11.JPG)
ภิกษุวัดหนองป่าพง กลับจากบิณฑบาต โปรดพุทธศาสนิกชน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35531197819444_12.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69500487877262_15.JPG)
แม่ชีวัดหนองป่าพง กำลังให้ขนมเค็กแก่นกยูงที่อาศัยอยู่ในวัด
ท่านเล่าให้ฟังว่า "นกยูงมีคู่ครองเพียงตัวเดียว คู่ของเขาตายไปแล้ว"

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32317031754387_17.JPG)
ช่วยพระสงฆ์ปัดกวาดลานวัด

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47687397028009_16.JPG)
อุบาสกมาปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพง ปูที่นั่งเตรียมถือศีลภาวนาข้างศาลาบำเพ็ญบุญแต่เช้าตรู่

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54051165986392_13.JPG)
ผู้โพสท์ ในพิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60228613515694__3627_3609_3633_3591_3626_3639.gif)
พระธรรมคำสอน เรื่อง ความสงบ เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
ของ ท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง
เป็นหนังสือเล่มบางๆ มีประมาณ 20 หน้าเศษ ราคาเล่มละ 15 บาท

หนังสือเหล่านี้ ผู้โพสท์เก็บสตางค์ซื้อ พกติดตัวอ่านตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน
มีจำนวนหลายสิบเล่ม หากมีเวลาจะพิมพ์เผยแพร่ในบอร์ด "พุทธประวัติ-ประวัติพระสาวก"
พร้อมประวัติของท่านเจ้าคุณฯ ต่อไป