หัวข้อ: อรรถาธิบาย Dreams 2 Day - เที่ยวเขมรไปกับน้าแม๊ค เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 พฤษภาคม 2558 12:48:19 .
(http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;attach=11675;type=avatar) อ้างถึง Dreams 2 Day - เที่ยวเขมรไปกับน้าแม๊ค ep.5 ไนท์บาร์ซ่าในต่างแดน นาทีแรก เป็นการแสดงนาฏศิลป์เขมร ที่ผู้บรรยายกล่าวโดยสรุป นัยว่า ถอดแบบการแต่งกายและการร่ายรำมาจากนาฏศิลป์ไทย นั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว...เรื่องนี้มีความเป็นมาพิสดารพันลึกอย่างไร...โปรดติดตาม (http://www.sookjaipic.com/images_upload/43373869938982__3621_3632_3588_3619_.gif) ตำนานโขนละครในเมืองเขมร มีที่มาจากเจ้านายไทย (หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด) นำไปเผยแพร่ในราชสำนักเขมรขณะลี้ราชภัย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” งานเขียนของ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อให้ลูกหลานอ่าน จะได้ทราบว่าใครเป็นใครในวงศ์ตระกูลของท่าน ในทางทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งบวกและทั้งลบ ตามที่บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่เคยเล่าให้ท่านฟัง เพื่อจะได้นำส่วนที่เป็นความดีนั้นเป็นเยี่ยงอย่างและกำลังใจให้ถือปฏิบัติต่อไปในชีวิต ส่วนที่เป็นความผิดพลาด ความทุกข์ยากลำบากใจ ความผิดหวัง หรือความตกต่ำของบรรพบุรุษอันมีมาแล้วในอดีต ก็น่าจะเป็นบทเรียนของอนุชนในยุคต่อไป พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ตำบลบ้านม้า อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้อง ในบรรดาโอรส-ธิดา รวม ๖ คน ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) โดยชื่อ "คึกฤทธิ์" นั้น มาจากการชอบร้องไห้เสียงดังในวัยทารก จึงได้รับพระราชทานนามนี้จาก สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ท่านได้เล่าถึงสาเหตุที่การละครของไทยถูกนำไปแพร่หลายในเมืองเขมร และสืบทอดจนปัจจุบัน ซึ่งต่อไปนี้จะได้คัด (โดยสรุป) จากหนังสือเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” ดังนี้ ในกระบวนท่านลุงท่านป้าบุตรคุณย่านี้ มีท่านป้าฉวีวาดเป็นโครงกระดูกในตู้โดยแท้ เพราะเรื่องราวของท่านถูกปิดบังซุบซิบกันมานานไม่ให้ลูกหลานรู้ ที่ผู้เขียน (หมายถึง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช...ผู้โพสท์) เรื่องนี้บังเอิญรู้โดยละเอียด ก็เพราะสมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว ท่านเกิดโปรดหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป “เลี้ยง” ไว้กับท่าน การเลี้ยงหลานของท่านก็ออกจะแปลก เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืนเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง ท่านเสวยข้าวเย็นหรือข้าวเช้าก็ไม่แน่นักตอนราวๆ ตีสองของวัน และเสวยอะไรแปลกๆ เช่น เปลือกส้มเขียวหวานจิ้มกับน้ำพริก เป็นต้น ท่านปลุกหลานที่ท่าน “เลี้ยง” ให้ลุกขึ้นกินข้าวด้วยในยามวิกาลเช่นนั้นทุกคืนไป ท่านป้าฉวีวาดท่านมีผิวขาวผ่องสมชื่อ และแม้แต่เมื่ออายุท่าน ๗๐ กว่าแล้ว ท่านก็ยังมีรูปร่างหน้าตาและท่าทางซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนสวยมากเมื่อยังสาวๆ และนอกจากสวยแล้วยังเป็นคนใจแข็งเก่งกาจมากอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและมีพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ต่อวงศ์ตระกูลของผู้เขียนเรื่องนี้ ทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา ตัวผู้เขียนเองที่ยังเป็นคนและมีวิชาความรู้หากินโดยสุจริตได้นั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อวงศ์ตระกูลของตนนั้นแต่อย่างเดียว แต่ก็ยังมีป้าอยู่สามคน คือทางบิดาหนึ่ง ทางมารดาอีกสองที่ได้ประพฤติการก่อกรรมทำเข็ญให้ระคายเคืองพระยุคลบาทมากบ้างน้อยบ้าง ท่านป้าฉวีวาดก็เป็นป้าคนหนึ่งที่ก่อกรรมทำเข็ญเช่นนี้ เรื่องของท่านที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ส่งเสริมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่โกรธ ไม่พยาบาท ท่านป้าฉวีวาดท่านเล่าว่า เมื่อท่านยังเล็กนั้น เสด็จพ่อของท่านได้นำตัวท่านไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเลี้ยงไว้ในวัง ท่านเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดปรานท่านมาก เพราะท่านเป็นเด็กสวยน่าเอ็นดู โปรดให้เลี้ยงท่านอย่างพระเจ้าลูกเธอ และคนในวังก็เรียกท่านว่า “ลูกเธอปลอม” ท่านเล่าว่าท่านเคยวิ่งเล่นมากับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๕) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออื่นๆ เมื่อยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์จนเป็นที่คุ้นเคย ผู้ที่ท่านป้าฉวีวาดคอยหาทางเล่นรังแกอยู่เสมอก็หาใช่ใครที่ไหนไม่ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อยังทรงพระเยาว์นั่นเอง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระดำรัสใช้ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปทรงหยิบของบนหอพระ ท่านป้าฉวีวาดก็แอบไปนั่งอยู่ข้างพระทวาร พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับลงมาท่านก็ยื่นขาออกไปขัดพระชงฆ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงล้มลงและตกอัฒจันทร์บนพระที่นั่งลงมาหลายขั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กริ้วว่างุ่มง่ามเซ่อซ่า แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงนิ่งเสีย มิได้กราบบังคมทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุทำให้ทรงตกอัฒจันทร์ แทนที่ท่านป้าฉวีวาดจะระลึกถึงพระเดชพระคุณท่านกลับเห็นว่าตัวท่านเก่ง เล่นรังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ได้ ท่านป้าฉวีวาดท่านเติบโตมาในสภาพจิตใจเช่นนี้ พอท่านเป็นสาวขึ้นก็มีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ มาสู่ขอ คือพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล ภายหลังได้เลื่อนกรมเป็นกรมหมื่น และกรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์ และเมื่อได้สู่ขอทางผู้ใหญ่ตกลงยกให้แล้ว “พระองค์คัคณางค์” เรียกตามคำท่านป้าฉวีวาด ก็ส่งของหมั้นเป็นเครื่องเพชรเครื่องทองมาประทานเป็นอันมาก ท่านป้าฉวีวาดท่านเล่าว่าเมื่อรับของหมั้นไว้แล้ว ท่านจึงทราบว่า กรมหลวงพิชิตฯ มีหม่อมอยู่ที่วังแล้วหนึ่งคนคือหม่อมสุ่น คัคณางค์ พอท่านรู้เข้าก็โกรธตีโพยตีพาย ยื่นคำขาดให้กรมหลวงพิชิตฯ ทรงเลิกกับหม่อมสุ่นเป็นเด็ดขาด มิฉะนั้นท่านจะไม่แต่งงานด้วย กรมหลวงพิชิตฯ ก็ไม่ทรงยอม รับสั่งว่าถึงจะมีหม่อมสุ่นอยู่แล้วก็จะทรงเลี้ยงท่านป้าฉวีวาดเป็นเมียแต่ง ยกย่องให้เป็นใหญ่ในวัง ซึ่งก็เป็นพระกรุณามากอยู่แล้ว แต่ท่านป้าฉวีวาดท่านไม่ยอม วันดีคืนดีท่านก็เอาของหมั้นที่กรมหลวงพิชิตฯ ประทานมาโยนโครมๆ ออกทางหน้าต่างตำหนักมาตกเรี่ยราดอยู่กับพื้นดิน กรมหลวงพิชิตฯ ก็ให้มหาดเล็กมาเก็บคืนไป เรื่องก็จบลงแค่นั้น หรือน่าจะจบลงแค่นั้น แต่ท่านป้าฉวีวาดท่านยังไม่ยอมจบเรื่อง เมื่อท่านโกรธกับกรมหลวงพิชิตฯ แล้ว ท่านก็เลยถือว่าท่านโกรธกับวังหลวงทั้งวัง วิธีที่จะแสดงให้คนเห็นว่าท่านโกรธกับวังหลวงก็คือ ไปเข้านอกออกในทางวังหน้า ในสมัยนั้นเจ้านายวังหลวงกับวังหน้ามิได้ลงรอยสมานสามัคคีกัน มีความระแวงกันอยู่ เพราะถือว่ากรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เป็นวังหน้าที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคนแต่งตั้งสนับสนุน มิใช่วังหน้าที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นั้นเป็นปฐมเหตุ เจ้านายวังหลวงตลอดจนคนวังหลวงก็มักจะดูถูกเจ้านายและขุนนางวังหน้าว่าต่ำต้อยกว่าตน และเร่อร่ารุ่มร่ามหรือดังที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า “เชย” เพราะฉะนั้น การที่ท่านป้าฉวีวาดซึ่งเป็นเจ้านายวังหลวงไปคบหาเข้านอกออกในกับวังหน้า ทางวังหลวงจึงถือว่าเป็นเรื่องเสียหายมาก เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ผู้เป็นพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านป้าฉวีวาดก็ยังสมรสกับ เจ้านายวังหน้าให้ขายพระพักตร์วังหลวงเสียอีก เพราะเจ้านายฝ่ายในวังหลวงที่ไปสมรสกับเจ้านายวังหน้านั้นไม่เคยมี เจ้านายวังหน้าที่ท่านป้าท่านสมรสด้วยคือ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ (ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นวรวัฒนสุภากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีศักดิ์ทางพระราชวงศ์สูงกว่าท่านป้าฉวีวาดเป็นไหนๆ แต่เจ้าพี่เจ้าน้องท่านป้าฉวีวาด รวมทั้งตัวท่านป้าฉวีวาดเองกลับดูถูกท่าน ว่าเป็น “เจ้าวังหน้า” เสด็จลุงเฉลิมฯ ท่านทรงเป็นคนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย รักพระชายาด้วยน้ำพระทัยจริง มิได้เคยขัดพระทัยท่านป้าฉวีวาดแต่อย่างไรเลย เวลาจะรับสั่งกับท่านป้าฉวีวาดก็รับสั่งด้วยถ้อยคำอ่อนหวานเรียบร้อย เรียกท่านป้าฉวีวาดว่า “เจ้าน้อง” เรียกพระองค์ท่านเองว่า “พี่” มิได้เคยรับสั่งขึ้นเสียงกับท่านป้าฉวีวาดเลย ตรงกันข้ามกับท่านป้าฉวีวาดซึ่งมักจะรับสั่งก้าวร้าวเอากับพระสามี ซึ่งท่านเรียก “องค์เหลิม” เฉยๆ และไม่ถูกพระทัยขึ้นมาก็เอ็ดอึงเอาง่ายๆ หัวข้อ: อรรถาธิบาย Dreams 2 Day - เที่ยวเขมรไปกับน้าแม๊ค เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 พฤษภาคม 2558 13:04:54 .
สมัยนั้น เป็นสมัยที่ประเทศมหาอำนาจในยุโรปคือ อังกฤษและฝรั่งเศส ออกแข่งกันหาอาณานิคมในโลกภาคนี้ นโยบายของอังกฤษในการแสวงหาและปกครองอาณานิคมนั้นก็เป็นดังที่ทราบกันอยู่แล้วในภาษาอังกฤษว่า Divide and Rule คือแบ่งแยกแล้วเข้าครอบ นายโรเบิร์ต น็อกส์ กงสุลใหญ่ของอังกฤษที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้นก็กำลังใช้นโยบายนี้อยู่อย่างขะมักเขม้น คือ กระทำการต่างๆ ให้วังหลวงและวังหน้าแตกกัน จนในที่สุดอังกฤษจะเข้าครองเมืองไทยได้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นายน็อกส์มีอำนาจวาสนามาก เคยขู่รัฐบาลไทยบ่อยๆ ว่า จะเรียกเรือรบอังกฤษมาปิดปากน้ำ หรือมาระดมยิงกรุงเทพฯ ในเมื่อรัฐบาลไทยทำอะไรไม่ถูกใจ นายน็อกส์เป็นคนที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เคยทรงชุบเลี้ยงมา จึงสนิทสนมกับทางวังหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ผู้เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นอกจากนี้ยังใกล้ชิดกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกด้วย (ในขณะรัชกาลที่ ๕ ยังทรงพระเยาว์...ผู้โพสท์) ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นคนอย่างไรก็ได้กล่าวถึงมาแล้ว เมื่อท่านมาเข้าวังหน้าเพราะโกรธกับวังหลวงทั้งวัง ท่านก็ต้องเข้าร่วมในความตึงเครียดนี้เป็นธรรมดา ท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนเรื่องนี้ฟังว่า ท่านรู้จักกับปรางภรรยานายน็อกส์กับลูกสาวคนรองสนิทสนมกันมาก กับนายน็อกส์เองท่านก็ชอบพอกันดี วันหนึ่งตึกดินในวังหลวงก็เกิดระเบิดขึ้น และไปติดลุกลามไหม้ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง พระบัณฑูร (กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ...ผู้โพสท์) เสด็จออกจากวังหน้าไปประทับอยู่ในกงสุลอังกฤษ และประกาศว่าพระองค์ทรงอยู่ใต้บังคับรัฐบาลอังกฤษ สุดแล้วแต่อังกฤษจะบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไร เหตุที่เกิดนั้นร้ายแรงมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กลับเข้ามาจากเมืองราชบุรีที่ท่านไปตั้งบ้านเรือนอยู่นั้นโดยด่วน และมีพระราชกระแสเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมด สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านก็ออกจากที่เฝ้าแล้วตรงไปยังสถานกงสุลอังกฤษ จะเข้าไปเจรจาว่ากล่าวอย่างไรก็ไม่ทราบได้ แต่ท่านสามารถนำพระองค์พระบัณฑูรกลับคืนมายังพระราชวังบวรได้ เหตุการณ์ที่คาดกันว่าจะรุนแรงต่อไปนั้นก็สงบลง (http://www.limtaishi.com/admin/images/1512255612090-%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%A0%E0%B8%B2.jpg) เจ้าจอมมารดาอำภา ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำขนทรัพย์สมบัติลงเรือ แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภา (เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๒ ผู้เป็น “ย่า” ของหม่อมเจ้าฉวีวาด...ผู้โพสท์) ซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรงพร้อมด้วยเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์ รวมเป็นคนหลายสิบคน ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆ วังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืนพอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือเห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนีจึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ ท่านเล่าว่าท่านยกมือขึ้นนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว ก็ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จเรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นคนขนาดนั้น ผู้เขียนเองได้รู้เรื่องที่ท่านเล่าให้ฟังเมื่อยังเป็นเด็ก ไม่มีสติปัญญาความคิดเท่าไรนัก ก็ยังอ่อนใจเมื่อได้ยิน ในสมัยนั้น กรุงเทพฯ ยังมีเสาหินปักเป็นอาณาเขตอยู่ทั้งสี่ทิศ ผู้เขียนยังเคยเห็นเสาหินที่ปักอยู่ริมแม่น้ำทางทิศเหนือนั้นปักอยู่ใต้ตลาดขวัญลงมา ส่วนทางทิศใต้นั้นปักอยู่ก่อนถึงพระประแดง พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จจากพระนครเกินเสาหินเหล่านั้นออกไปโดยไม่ได้กราบถวายบังคมลาและได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่ได้ ถ้าขืนเสด็จออกไปโดยพลการถือว่าเป็นโทษกบฏ ท่านป้าฉวีวาดท่านเป็นเจ้านายข้างใน มีจารีตคุ้มครองหนักหนากว่าเจ้านายฝ่ายหน้า เมื่อท่านมิได้ไปเพียงนอกเสาหินโดยมิได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แต่ล่วงเลยออกนอกพระราชอาณาจักรไปถึงเมืองเขมร โทษของท่านก็เป็นอุกฤษฏ์โทษโดยมิต้องพิจารณาแต่อย่างใดเลย ตามกฎหมายสมัยนั้น หากทางราชการเอาตัวผู้กระทำผิดมิได้ ก็ให้เกาะเอาตัวผู้ที่เป็นญาติสนิท เช่น บิดามารดาหรือญาติพี่น้องมาลงโทษแทน เมื่อท่านป้าฉวีวาดหนีรอดไปได้แล้ว ทางราชการก็มาเกาะเอาตัว ม.ร.ว.ดวงใจ ผู้เป็นมารดาไปลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลัง ๓๐ ที และให้จำสนมไว้ทั้งให้ริบราชบาตรอีกด้วย (http://www.sookjaipic.com/images_upload/43217993403474_4kr1.gif) สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองด้วง ซึ่งประสูติและเติบโตที่กรุงเทพฯ) ได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด เป็นพระราชเทวี เมื่อท่านป้าฉวีวาดไปถึงเมืองเขมรนั้น สมเด็จพระนโรดมครองเมืองเขมรอยู่ สมเด็จพระนโรดมและสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทั้งสององค์นั้นได้เข้ามาเติบโตอยู่เมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ และที่ ๔ มีรั้ววังในกรุงเทพฯ และมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้านายไทย จึงทรงคุ้นเคยกับเจ้านายไทยเป็นอย่างดี เมื่อท่านป้าฉวีวาดไปถึงเมืองเขมร ท่านจึงตรงเข้าไปในวังของสมเด็จพระนโรดมได้ในฐานะคนคุ้นเคย ฝ่ายสมเด็จพระนโรดมเห็นว่าท่านป้าฉวีวาดเป็นเจ้านายไทยที่ไปพึ่งพระบารมีก็ย่อมจะยินดีต้อนรับยกย่อง เพราะเป็นการส่งเสริมพระบารมีกรุงกัมพูชาเอาการอยู่ นอกจากนั้นท่านป้าฉวีวาดยังฉลาดพอที่จะเอาละครของเจ้าจอมมารดาอำภา ซึ่งเป็นครูละครในผู้มีชื่อเสียงติดไปด้วยทั้งโรง ละครโรงนี้เป็นกุญแจไขประตูเมืองเขมรให้เปิดรับท่านอย่างกว้างขวาง ในสมัยนั้น เรื่องละเม็งละครถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว เพราะประเทศต่างๆ แถวนี้ถือว่าโขนละครและหนังนั้นเป็นสมบัติที่ส่งเสริมเกียรติยศของบ้านเมือง และโขนละครและหนังใหญ่เมืองไทยนั้นถือกันว่าประเสริฐสุด ทุกประเทศก็อยากได้ไปไว้เป็นของตนหรือเป็นแบบฉบับ เมื่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เข้ามากรุงเทพฯ ในตอนต้นรัชกาลที่ ๓ เพื่อช่วยงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น เมื่อก่อนจะกลับได้เข้าไปกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วถือโอกาสขอพระราชทานตัวละครในไปไว้ที่เวียงจันทน์เพื่อจะได้ฝึกหัดละครในที่เวียงจันทน์ต่อไป เนื่องด้วยเมืองเวียงจันทน์ในขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราช ชะรอยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะทรงพระราชดำริว่าเจ้าอนุฯ อาจเอื้อมตีเสมอ ถึงกับจะมีละครในเป็นของตนจึงไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ เจ้าอนุฯ ก็โทมนัสน้อยใจและผูกใจเจ็บ เริ่มเอาใจออกห่างและในที่สุดก็ถึงกับเป็นกบฏยกทัพเข้ามารุกรานพระราชอาณาจักรจนถึงเมืองนครราชสีมา เป็นเหตุให้ต้องปราบปรามกันเป็นการใหญ่ เมื่อท่านป้าฉวีวาดเอาละครเจ้าจอมมารดาอำภา ซึ่งเล่นแบบละครในไปด้วยทั้งโรงเช่นนี้ สมเด็จพระนโรดมย่อมจะต้องเห็นว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่ต้องการมานานแล้ว สมเด็จพระนโรดมจึงได้รับท่านป้าฉวีวาดและละครของท่านทั้งโรงเข้าไปอยู่ในพระราชวังในฐานะละครในเมืองเขมรและให้หัดละครเมืองเขมรสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อท่านป้าฉวีวาดได้เข้าไปอยู่ในวังกับสมเด็จพระนโรดมแล้ว ความสนิทสนมระหว่างท่านกับสมเด็จพระนโรดมก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าสมเด็จพระนโรดมตั้งท่านป้าฉวีวาดเป็นถึงพระราชเทวี ท่านประสูติพระองค์เจ้าเขมรกับสมเด็จพระนโรดมองค์หนึ่งเป็นพระองค์เจ้าชาย มีพระนามว่า พระองค์เจ้าพานคุลี หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด กลับจากเขมรเข้ามาพำนักในเมืองไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ท่านกลับมาแล้วก็บวชเป็นชี อยู่มาจนถึงอายุ ๘๐” กว่าจึงสิ้นชีพิตักษัย (http://www.sookjaipic.com/images_upload/65728699415922_c.jpg) ข้อมูล : ย่อสรุปจาก หนังสือ “โครงกระดูกในตู้” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หน้า ๕๐-๗๑ |