[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 12:44:03



หัวข้อ: การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ (สุวรรณลิงคํ) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 12:44:03
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/19223974148432_l1.gif)

การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ
สุวรรณลิงคํ : หลักฐานโบราณคดีและจารึกวิทยา
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

-----------------------------------------

การค้นพบศิวลึงค์ทองคำ (สุวรรณลิงคํ) ขนาดจิ๋วโดยชาวท้องถิ่นในถ้ำเขาพลีเมือง ตำบลสิชล อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ทำให้ผู้เขียนดำเนินการสืบค้นเรื่องราวของศิวลึงค์ทองคำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมจากหลักฐานโบราณคดีและศิลาจารึก เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ที่จะอธิบายปรากฏการณ์ขนบประเพณีในการบูชาศิวลึงค์ทองคำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวม ดังต่อไปนี้

ในบรรดาศิลาจารึกรุ่นแรกๆ ซึ่งพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศิลาจารึกจากวัดหลวงเก่า แขวงจำปาสัก ทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ นับเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงการประดิษฐานและบูชาศิวลึงค์ โดยกล่าวว่า ได้ประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขาและเรียกภูเขาว่า “ศรี ลิงคปรฺวตะ” (ศรีลิงคบรรพต) ทำให้เข้าใจได้ว่า กลุ่มชนที่ประดิษฐานศิวลึงค์บนยอดเขานี้เชื่อว่าภูเขาเป็นศิวลึงค์ธรรมชาติที่แทนองค์พระศิวะ นอกจากนี้ยังพบชฎาลิงคํ หรือมุขลึงค์รูปแบบหนึ่งที่โบราณสถานโต๊ะโม๊ะ เมืองปะทุมพร แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

มุขลึงค์ หรือ ศิวลึงค์ที่มีรูปพระพักตร์พระศิวะที่เก่าแก่ที่สุดพบที่แหล่งออกแอวในเมืองอานซาง ภาคใต้ของประเทศเวียดนาม มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ต่อมาในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ปรากฏมุขลึงค์และศิวลึงค์ทั่วไปในศาสนสถานหลายแห่งของรัฐโบราณในภูมิภาคนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อความที่กล่าวถึงการประดิษฐานและการบูชาศิวลึงค์ในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคติการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายที่แพร่หลายกว้างขวางในช่วงเวลาดังกล่าว

การใช้คำ “สิวลิงคํ” แทนนามพระศิวะปรากฏเก่าแก่ที่สุดในจารึกกะไดอัง ของอาณาจักรเขมรโบราณ อายุพุทธศักราช ๑๒๑๑ และในจารึกภาษาสันสกฤตพุทธศักราช ๑๒๓๐ พบที่โบราณสถานหมีเซิน บี ๖ (Myson B ๖) จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นเทวาลัยของอาณาจักรจัมปา กล่าวถึงการอุทิศถวายศิวลึงค์แด่พระ “อิศเนศวร” (หมายถึงพระศิวะ) และสร้าง “โกษะ” หรือสิ่งหุ้มหรือครอบองค์ศิวลึงค์และถวายมงกุฎแด่พระ “ภัทเรศวร”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/33339858427643_l2.gif)
ซ้าย : มุขลึงค์ (Mukhalinํga) ในรูปแบบที่อาจเรียกว่าเป็น ชฎาลิงคํ
พบที่โบราณสถานโต๊ะโม๊ะ เมืองปะทุมพร แขวงจำปาสัก ลาว พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
ขวา : ศิวลึงค์ทองคำ [The Gold Sivalinํga (Suvarnฺalinํgam)] หรือ สุวรรณลิงคํ
บนฐานเงิน พบในถ้ำเขาพลีเมือง นครศรีธรรมราช


จารึกพุทธศักราช ๑๓๒๖ ของพระเจ้าศรี สัตยวรมัน ในราชอาณาจักรจัมปา พบที่วัดหว่าลาย กล่าวถึงการสร้างวัดแห่งนี้เพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะและถวาย “โกษะ” (หรือ โกศะ) ที่ทำด้วยทองและเงิน ขนบประเพณีการถวาย “โกษะ” ทำด้วยทองหรือเงินให้สวมครอบศิวลึงค์เช่นนี้ สืบทอดต่อมาในกลุ่มชนของอาณาจักรจัมปาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ ตามประจักษ์พยานที่พบคือ “ลิงคโกษะ” หรือสิ่งที่สวมครอบศิวลึงค์เป็นรูปพระพักตร์ของพระศิวะทำด้วยกะไหล่ทองและเงิน ๒ ชิ้น พบที่จังหวัดด่าหนัง (ดานัง) ประเทศเวียดนาม มีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษนี้

นอกจากนี้ยังพบศิวลึงค์ที่ติดกับฐานทำด้วยแก้วผลึก (rock crystal) ในภาคใต้ของเวียดนาม ภาคใต้ของลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ศิวลึงค์พร้อมฐานหรือ “ลิงค-โยนิ” ขนาดจิ๋วเช่นนี้ จัดว่าเป็น “จรลิงคํ” หรือ ศิวลึงค์ ที่เคลื่อนที่ได้ พกพาไปประดิษฐานที่ใดก็ได้ อย่างไรก็ดีศิวลึงค์ทองคำประดิษฐานบนฐานทองคำ ซึ่งพบที่เมืองมาลัง ภาคกลางของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ แม้มีขนาดเล็ก ไม่ถือเป็น “จรลิงคํ” แต่ถือว่าเป็นศิวลึงค์ที่ประดิษฐานบูชาประจำที่มากกว่า


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85697557984126_l3.gif)
ซ้าย : มุขลิงคํ (Mukhalinํga) ในรูปแบบชฎาลิงคํ พบที่อู่ทอง อ.อูทอง จ.สุพรรณบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๒
ขวา : ลิคโกษะ (Lingakosฺa) ทำด้วยทองและเงิน ของอาณาจักรจัมปา
พบในเวียดนาม พุทธศตวรรษที่ ๑๖ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานอารยธรรมโบราณ ประเทศสิงคโปร์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82938221138384_l4.gif)
บน : ศิวลึงค์ทำด้วยแก้วผลึก ฐานทำด้วยสำริด พบที่ปราสาทบ้านปราสาท
อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔
ล่าง : ศิวลึงค์ทองคำขนาดจิ๋วบนฐานเงิน บรรจุในผอบเงิน พบที่ถ้ำเขาพลีเมือง
อ.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒

ศิวลึงค์ทองคำ ๔ องค์ซึ่งพบในถ้ำเขาพลีเมือง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคใต้ของไทย มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ แต่ละองค์ใส่ไว้ในผอบเงิน ผอบเงินที่บรรจุศิวลึงค์ทองคำ ๒ ผอบ มีหูสำหรับห้อยแขวนพกพาไปได้ จึงสันนิษฐานว่า โยคีผู้พกพาศิวลึงค์เหล่านี้นำศิวลึงค์ทองคำใส่ผอบมาประดิษฐานในถ้ำหรือนำมาฝังไว้ในถ้ำเพื่อประกอบพิธีบูชา เป็นโยคีในศาสนาฮินดูไศวนิกายลัทธิปาศุปตะ ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตพุทธศักราช ๑๔๑๑ คือจารึกบ่ออีกา จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏการใช้คำว่า “สุวรรณลิงคํ” เรียกศิวลึงค์ทองคำ อย่างไรก็ดีในสมัยต่อมา ผู้ที่นับถือลัทธิปาศุปตะได้นำคำว่า “สุวรรณลิงเคคํ” (แปลว่า ลึงค์ทองคำของพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) มาใช้เรียกแทนคำว่า “สุวรรณลิงคํ” (แปลว่า ลึงค์ทองคำ) เพื่อแสดงความศรัทธาสูงสุด โดยใช้กับศิวลึงค์ทองคำที่นำไปประดิษฐานบนยอดเขา ตามปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้ง หมายเลข ๗ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ณ ที่นี้ คือเทวาลัยศาสนาฮินดูไศวนิกายที่ยิ่งใหญ่ และเป็นสมัยแห่งความเจริญสูงสุดของลัทธิปาศุปตะ ผู้นิยมบูชาศิวลึงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิวลึงค์ทองคำ


ที่มา (เรื่อง/ภาพ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร - พิมพ์เผยแพร่