หัวข้อ: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 มกราคม 2559 15:22:39 .
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQUkCsLceOr0X1HtDvvd_lrgJqdLnvTGqtJP3yThAJPoAvlW54H) สมุนไพรเพื่อสุขภาพ คณะรัฐมนตรีมีมติและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ ถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” แด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และกำหนดให้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ปวงชนชาวไทยนานัปการ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือการรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย ตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ครั้งรัชกาลที่ ๓ จ.ศ.๑๑๙๓ ตรงกับวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมัลคลารามราชวรมหาวิหาร และได้ทอดพระเนตรเห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่างๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์ ขยายพื้นที่ให้มากกว่าเดิม เพื่อก่อเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ และโปรดเกล้าให้จารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ตามศาลาราย เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ เช่น แผนฝีดาษ ฝียอดเดียว แผนชัลลุกะ แผนลำบองราหู แผนกุมาร และแม่ซื้อ อีกทั้ง มีการจัดสร้างรูปฤๅษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ ๔-๕ รูป รวม ๑๖ หลัง และยังมีจารึกตำรายาต่างๆ ติดประดับไว้ในศาลาทั้ง ๑๖ หลัง ความรู้ชั้นครูที่จารึกไว้กว่า ๑๘๐ ปี ที่เสาพระระเบียงที่ ๘ แผ่นที่ ๑ บริเวณพระเจดีย์ เป็นตำรา “ยาทิพย์สำราญ” เอาเทียนทั้ง ๕ สิ่งละส่วน ผิวส้ม ๘ ประการ ตรีผลา, เกสรบุนนาค สิ่งละ ๒ ส่วน, ดอกพิกุล, ชะลูด สิ่งละ ๓ ส่วน, กฤษณา, อบเชยเทศ, เกสรสาระภี, โกฐสอ, ดอกพริกไทย, จันทร์ชะมด, การบูร, กระแจตะนาว สิ่งละ ๔ ส่วน เปราะหอม, จันทร์ทั้ง ๒, พิมเสน สิ่งละ ๖ ส่วน, ผลสะเดาอ่อน ๘ ส่วน, ชะเอมเทศ ๑๒ ส่วน ดอกมะลิสด ๓๕ ส่วน ทำเป็นจุณน้ำดอกไม้เทศเป็นกระสาย บดทำเป็นแท่งไว้ละลายน้ำดอกไม้ แทรกน้ำตาลกรวด ให้กินแก้ลมสวิงสวาย และตรีโทษอันบังเกิดในทหัยวาต และแก้น้ำเลี้ยงดวงใจที่ขุ่นมัวนั้นหายดีนักฯ ยาขนานนี้พระบำเรอราช ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แม้ว่าจะเป็นตำรับยาที่ใช้ตัวยามากมายแต่น่าจะดีกับสังคมสูงวัย เกี่ยวกับเลือดลม ที่มา (โดยสรุป) : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ . (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ7O1Mp7fHZhaGwTiAdH75RC9AnsLRzaXQ6M75nqZeOAPmPPMZZ) "แก้ว" ไม้ดอกหอม ยาสามัญประจำบ้าน แก้ว เป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกประดับรั้วบ้านคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ เสน่ห์ของไม้แก้ว คือ กลิ่นหอมสะอาดสดชื่น จากดอกสีขาวบริสุทธิ์เหมือนมะลิที่มีฟอร์มดอกคล้ายดอกส้ม อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Orange Jasmine หรือ ต้นมะลิส้ม สำหรับคนไทยเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “แก้ว” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Murraya paniculata เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งไม้มงคลชั้นสูงนั่นเอง แก้วเป็นสมุนไพรรสร้อน ที่คนรุ่นปู่ย่ารู้กันดี ตามหลักการแพทย์แผนไทย รสสมุนไพรเป็นตัวบอกสรรพคุณยา สำหรับต้นแก้วนั้น ส่วนที่นิยมใช้ทำยาคือ “ใบ” รสชาติของใบแก้วมีรสขม มีสรรพคุณเย็น เช่นเดียวกับ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด เป็นต้น ซึ่งมีสรรพคุณลดไข้ แต่ใบแก้วขมปี๋กลับถูกจัดอยู่ในจำพวกสมุนไพรรสร้อนเหมือนรากเจตมูลเพลิงแดง ซึ่งมีสรรพคุณขับโลหิตระดู สตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยผายลม และยังแก้โรคบิด ท้องเสียและขับพยาธิตัวตืดได้ ปัจจุบันค้นพบว่า น้ำมันหอมระเหยในใบแก้วสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารหลายชนิดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องร่วงท้องเสีย ที่สำคัญช่วยกำจัดเชื้ออหิวาต์ อีโคไล (E.coli) เชื้อไมโครคอคคัส (Micrococcus) ที่ทำให้อาหารจำพวกนม เนื้อ อาหารทะเลบูดเสียง่าย เพราะเป็นเชื้อที่ทนเกลือ คือดองเกลือไม่ตาย และยังทนต่อการฉายรังสีอีกด้วย แต่น้ำมันหอมระเหยจากใบแก้วและเชื้อสแตปไพโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งทำให้อาหารเป็นพิษ น้ำมันหอมระเหยของใบแก้วก็ต้านเชื้อจำพวกนี้ได้ด้วย แต่ปัญหาของยาสมุนไพรใบแก้วคือ กินยาก นอกจากรสขมเผ็ดร้อนปร่าๆ แล้ว ยังขื่นเอียนชวนอาเจียนอีกด้วย ทั้งที่ไม่มีความเป็นพิษใดๆ หากกินในขนาดที่เป็นยา คือ เอาใบแก้วเพสลาดเขียวสดไม่อ่อนไม่แก่มา ๑ กำมือ หรือประมาณ ๑๐ กรัม ใส่น้ำท่วมยาประมาณ ๖๐๐ ซีซี ต้มเคี่ยวไฟอ่อนๆ ให้เหลือ ๒๐๐ ซีซี เติมน้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลไม่ฟอกสีเพื่อเจือหวานให้พอกินได้ แบ่งดื่ม ๒ เวลา เช้า-เย็น ใบแก้วไม่เพียงเป็นยากินแก้โรคและอาการเท่านั้น แต่หมอแผนไทยยังใช้เป็นยาบำรุงธาตุหรือคุมธาตุทั้งสี่ให้เป็นปกติด้วย (http://i00.i.aliimg.com/img/pb/745/891/609/609891745_188.jpg) "ฝอยทอง" สมุนไพรกาฝาก ตัวยามากสรรพคุณ ฝอยทอง สมุนไพรชนิดนี้เป็นไม้ประเภทกาฝากที่อาศัยอยู่ได้ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม ในบางประเทศจัดว่าฝอยทองเป็นพืชรุกราน เพราะเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะปกคลุมจนทำให้ไม้หลักล้มตายลงได้ นักพฤกษศาสตร์จัดให้ฝอยทองอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง Convolvulaceae เป็นต้นที่ชอบกระจายตัวอยู่ในเขตกึ่งอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชกลุ่มนี้ ๔ ชนิด คือ เขาคำ (Cuscuta campestris Yunck.) ฝอยทอง (Cuscuta chinensis Lam.) เครือเขาคำ (Cuscuta reflexa Roxb.) และ (Cuscuta japonica choisy) (ยังไม่ตั้งชื่อเฉพาะจึงเรียกชื่อฝอยทองเหมือนกัน) ฝอยทองที่พบมากในประเทศคือ ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่าฝอยทอง มีชื่อพื้นเมืองตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ฝอยไหม (นครราชสีมา), ผักไหม (อุดรธานี), ชิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เครือคำ (ไทใหญ่,ขมุ), บ่ะเครือคำ (ลั้วะ), กิมชีเช่า โท้วชี (จีนแต้จิ๋ว), ทู่ชือ ทู่ชือจื่อ (จีนกลาง) ชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Dodder ฝอยทองมีอายุประมาณ ๑ ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการความชื้นมาก มักพบขึ้นตามบริเวณพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไป ใบฝอยทอง เป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก ดอกฝอยทอง ออกดอกเป็นช่อ ไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก รูกลมรี ดอกเป็นสีขาว ส่วนปลายกลีบดอกมน แยกออกเป็น ๕ แฉก ผลฝอยทองเป็นรูปกลมแบน เป็นสีเทา ภายในผลมีเมล็ดประมาณ ๒-๔ เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ผิวเมล็ดหยาบ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/99743208413322__3648_3586_3634_3588_3635_.gif) ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. มีรสหวาน ที่แนะนำลักษณะต้นให้ละเอียดเพื่อบอกว่าส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือลำต้นและเมล็ด ในส่วนของลำต้น ใช้เป็นได้ทั้งอาหารและยา นิยมนำมาทำยำหรือลวกจิ้มน้ำพริก คนเมืองเหนือจะใช้ลำต้นต้มกับน้ำอาบรักษาอาการตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน หากเป็นโรคตาแดงหรือเจ็บตาก็จะใช้ลำต้นสด ตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำ ใช้เป็นยาทารอบๆ ขอบตา และใช้ลำต้นแห้งประมาณ ๑๐-๑๕ กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ตกเลือด ลำต้นนำมาต้มกับน้ำยังเป็นยาสามัญประจำบ้านที่น่าสนใจอีกดังนี้ กินเป็นยาแก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ และกินเป็นยาถ่ายพยาธิได้ หรือมีการใช้ต้นฝอยทองแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริบกะปรอย แก้นิ่ว โดยนำล้ำต้นสดประมาณ ๑ กำมือ ใส่น้ำท่วมยาต้มกับน้ำสะอาด กินครั้งละ ๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา ควรดื่มขณะอุ่นๆ บางตำราแนะนำให้ต้มผสมกับน้ำตาลทรายแดง บางตำราให้ใช้ส่วนเมล็ดแทนลำต้นต้มน้ำกินก็ได้เพื่อแก้ปัสสาวะขัดและนิ่ว ฝอยทองกาฝากต้นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในตำรายาจีน มีการแนะนำว่า ฝอยทองหรือภาษาจีนว่าโทวชีจี้ มีสรรพคุณบำรุงไต รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง คือ มีอาการปวดเอว ตกขาว ปัสสาวะบ่อย อวัยวะเพศไม่แข็งตัว และฝันเปียก อีกทั้งกล่าวว่าช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ และช่วยบำรุงตับ บำรุงมดลูก ป้องกันการแท้งลูก มีการแนะนำอาหารจีนว่า ถ้าเอาฝอยทองผัดกับน้ำเกลือ กินแล้วช่วยเพิ่มฤทธิ์บำรุงไตและบำรุงครรภ์ เมนูฝอยทองผัดยังเหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเอว เนื่องจากไตพร่องด้วย ในตำราจีนแนะนำเพิ่มว่า ถ้านำลำต้นฝอยทองผสมกับเหล้าแล้วเอาไปอัดให้เป็นแผ่น คล้ายแผ่นกอเอี๊ยะปิดแผล ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยเอวและเข่าได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้กับสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีกำลังหรืออ่อนแอ ใช้ลำต้นฝอยทอง โกฏเขมา และรากขี้ครอก ในปริมาณเท่ากัน อย่างละประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ กรัม และเปลือกส้มแห้งประมาณ ๓๐ กรัม นำมาต้มกับน้ำ แล้วผสมเหล้าที่หมักด้วยข้าวเหนียวและน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วเอามาให้สัตว์เลี้ยงกินให้มีกำลังวังชาด้วย อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังถ้าฝอยทองขึ้นกับต้นไม้ที่มีพิษ เช่น ต้นลำโพง ฯลฯ ฝอยทองจะไปดูดเอาสารพิษของต้นไม้ที่เกาะมาอยู่ในตัวเอง การนำมาใช้อาจได้พิษไปด้วยจึงควรระวัง ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีรายงานจากต่างประเทศว่า พบสารใหม่ในฝอยทองชื่อว่า ไดร์นอล ไชโบตินีส (drynolcibotinis) จากฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis ที่ใช้เป็นยาในการรักษาโรคกระดูกพรุน ซึ่งตรงกับในตำรับยาจีนที่เคยกล่าวไว้ จากการทดลองพบว่าสารชนิดนี้ช่วยเพิ่มการสร้างเซลล์กระดูกและช่วยเพิ่มการสะสมแคลเซียม สำหรับฝอยทองอีก ๓ ชนิด คือ Cuscuta campestris Yunck. มีชื่ออื่นๆ เช่น เขาคำ(เชียงใหม่) ฝอยทอง(ภาคกลาง) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษมากมาย เช่น wizards net, devil’s guts, devil’s hair, devil’s ringlet, goldthread, hailweed, hairweed, love vine, angel hair, witch’s hair และ golden dodder ฝอยทองชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาตอนเหนือ ในอเมริกาและออสเตรเลีย จัดว่าฝอยทองชนิดนี้เป็นศัตรูตัวร้ายของพืชในกลุ่มตะกูลถั่ว พืชในกลุ่มฝอยทองอีกชนิดหนึ่งคือ เครือเขาคำ น่าจะพบมากในทางภาคเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta reflexa Roxb. (ภาคเหนือ) มีงานวิจัยที่ทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากเครือเขาคำช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมขนหรือผม ทำให้ขนหรือผมงอกออกมาได้ และฝอยทองชนิดสุดท้ายมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta japonica Choisy มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Japanese Dodder มีงานวิจัยสนับสนุนว่าสามารถช่วยทำให้น้ำเชื้อของผู้ชายมีคุณภาพมากขึ้น ฝอยทองคือวัชพืช บางท่านจึงรังเกียจคิดว่าไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะคนในแถบตะวันตก แต่ฝอยทองกลับมีการใช้ประโยชน์มากของคนทางตะวันออก ย่อมแสดงว่ามุมมองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกันมาก ขาวเอเชียรู้จักต้นนี้ จึงขอแนะนำให้ทุกท่านเรียนรู้ไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป ที่มา (โดยสรุป) : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ . (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ3pdI0paquvPyZwNluSN_JcJYsMXSovewkduqZrF6vkxp7aUus) ต้อยติ่งฝรั่ง ต้อยติ่งฝรั่ง เป็นพืชล้มลุก ต้นเพรียวสูงได้ตั้งแต่ ๔๐-๘๐ เซนติเมตร ลำต้นและใบสีเขียวอมม่วง ลำต้นเป็นข้อ ใบออกเป็นคู่ตามข้อต้น ซึ่งมีขนบางๆ สีขาว ออกดอกเป็นช่อสั้นตามข้อใบ รูปดอกทรงระฆังสีม่วงสด ในกระพุ้งดอกสีม่วงเข้ม มีเกสรในโพรงดอก ดอกตูมกลีบพนม แล้วบานทยอยกัน ดอกแก่จะโรยแล้วค่อยๆ ร่วง หลังจากนั้นก็ติดผลเป็นฝักเล็กๆ เช่นเดียวกับต้อยติ่งไทย ฝักแก่สีน้ำตาลมีเมล็ดภายใน เมื่อถูกน้ำ เมล็ดจะดีดออกเสียงดังเป๊าะแป๊ะ เมล็ดตกที่ใด ก็ขึ้นที่นั้น ต้อยติ่งฝรั่งขึ้นง่าย ต้อยติ่งฝรั่งมีลำต้นสวย ใบสวย ดอกสวย เหมาะที่จะปลูกประดับตามสวนสาธารณะ ตามบ้านเรือน ด้วยลักษณะดอกที่มีขนาดใหญ่ ๑-๒ นิ้ว ทรงระฆังปากผาย มีกลีบ ๕ กลีบ แต่ละกลีบบางพลิ้ว แต่ละช่อมีเพียง ๒-๓ ดอก แต่เมื่อดอกใหญ่ เวลาบานจึงเห็นเป็นดวงเด่น สีสวยสด ช่วยให้บรรยากาศของที่นั้นสดชื่น สบายตา ต้อยติ่งฝรั่งสูงเพียงเอว ต้นและใบเจริญได้จังหวะ ใบสีเขียวปนม่วง มีลักษณะเรียวแคบ ยาวประมาณ ๑x๖ นิ้ว ทรวดทรงต้นใบโปร่งสวย ดอกดก เมื่อปลูกรวมกันจำนวนมาก ตาม ๒ ข้างทาง หรือเกาะกลางถนน จึงเห็นเป็นกำแพงต้นไม้ ดอกไม้ สวยงามลิบลิ่ว สะดุดตา สะดุดใจ เป็นที่ชื่นชมของผู้พบเห็น ต้อยติ่งฝรั่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ruellia Squarrosa (Fenzi) Cufod. ชื่อสามัญว่า ruellias, Wild Petunias. ชื่อทั่วไปเรียกต้อยติ่งเทศ ต้อยติ่งน้ำ อังกาบฝรั่ง เป๊าะแป๊ะ อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE บางต้นบางสีที่สวยงามมากๆ มักจะได้รับคำเรียกขานอย่างไพเราะว่า ฟ้าประทานพร ประโยชน์ทางยาของต้อยติ่งฝรั่ง คล้ายต้อยติ่งไทย คือ รากใช้รักษาโรคไอกรน ขับเลือด ดับพิษร้อน ใบ ใช้ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ เมล็ด ผสมน้ำพอกแผลฝี ดูดหนอง และแก้อักเสบ ต้อยติ่งฝรั่งปลูกง่าย ขึ้นง่าย โดยใช้เมล็ดหรือกิ่ง ชำให้งอกราก ธรรมชาติจะชอบดินร่วน ชื้น ใกล้น้ำ แดดจัด และทนแล้งได้ดี เมื่อต้อยติ่งฝรั่งฝักแก่เต็มที่ ฝักจะแตกอ้าคล้ายปากเป็ด เมล็ดภายในกระเด็นออก ไม่ช้าพื้นที่ใกล้ๆ ก็จะมีต้อยติ่งฝรั่งต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่เต็ม แล้วเจริญเติบโต ทยอยความสวยงามต่อไป (http://i579.photobucket.com/albums/ss239/hindumeeting/288303291_c6e11580e1.jpg) "น้ำตาพระศิวะ" ต้นไม้ในกลุ่มไคร้ย้อยหรือมะกอกน้ำ น้ำตาพระศิวะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elaeocarpus ganitrus Roxb. ex G.Don ในเมืองไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้ ๑๘ ชนิด ในอดีตเคยมีรายงานว่าพบต้นน้ำตาพระศิวะในเมืองไทย แต่ในปัจจุบันมีการจัดจำแนกพืชใหม่ ดังนั้น ที่เคยรายงานว่าในเมืองไทยเป็นน้ำตาพระศิวะชนิด Elaeocarpus ganitrus Roxb. ex G.Don นั้นไม่ถูกต้อง ในทางวิชาการจำแนกใหม่ว่าในเมืองไทยคือชนิด Elaeocarpus serratus L. เนื่องจากทั้ง ๒ ชนิดมีความคล้ายคลึงกันมาก ขนาดชื่อสามัญในภาษาอังกฤษยังใช้เหมือนกันคือ Bead tree ซึ่งมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย เช่น มะมุ่นดง (เพชรบุรี) มุ่นโคม (ภาคเหนือ) มุ่นดง (สุโขทัย) น้ำตาพระศิวะมีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยมาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเนปาล อินโดนีเซีย นิวกินีไปจนถึงออสเตรเลีย กวมและฮาวาย ผลสุกมีเปลือกหุ้มเป็นสีฟ้าอมเทา จึงมีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่าลูกปัดบลูเบอร์รี่ (blueberry beads) ต้นน้ำตาพระศิวะเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ จัดเป็นไม้โตเร็ว สูง ๑๕-๖๐ เมตร เมื่องอกออกมาจากเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ ๓-๔ วันจึงนำไปปลูก ต้นน้ำตาพระศิวะจัดได้ว่าเป็นกษัตริย์แห่งสมุนไพร ใช้กันมากในการแพทย์ของอินเดีย ทั้งอายุรเวท สิทธา อูนานิ และทางการแพทย์พื้นบ้านในอินเดียก็ใช้กันทั่วไป ใช้รักษาความดันโลหิตสูง อาการทางระบบประสาท โรคลมชัก ไมเกรน ซึมเศร้า ใจสั่น ปวดระบบประสาท หอบหืด ข้ออักเสบ และโรคตับ สำหรับแพทย์อายุรเวทเชื่อว่าถ้าได้ใส่สร้อยที่ร้อยมาจากเมล็ดของน้ำตาพระศิวะ จะให้ผลดีต่อหัวใจและระบบประสาท ซึ่งทางประเทศอินเดียกล่าวว่าได้พิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า เมล็ดของน้ำตาพระศิวะมีประจุไฟค่อนข้างสูง ซึ่งน่าจะมีผลต่อหัวใจและประสาท แต่ในเมืองไทยเรายังไม่เคยศึกษาในเรื่องนี้ ในทางการแพทย์พื้นบ้านอินเดียยังมีการแบ่งประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเมล็ดน้ำตาพระศิวะตามโครงสร้างของเมล็ด โดยใช้ร่องและความขรุขระบนผิวของเมล็ดซึ่งเรียกว่า “มูคิชส์” (mukhis) เป็นตัวจัดจำแนก พบว่าเมล็ดน้ำตาพระศิวะมีรูปร่างแตกต่างกันได้ถึง ๓๘ แบบ หรือมีตั้งแต่ ๑-๓๘ มูคิชส์ เมล็ดที่มีจำนวน ๑ มูคิชส์ พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่มี ๕ มูคิชส์ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของอินเดียเชื่อว่าเมล็ดน้ำตาพระศิวะ ที่มีมูคิชส์แตกต่างกันมีประสิทธิผลในการรักษาโรคแตกต่างกัน เช่น ๑.มูคิชส์ ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับ ตา กระดูก หัวใจ และลดอาการวิตกกังวล ๒.มูคิชส์ ใช้รักษาอาการหอบหืด ไตพิการ ภาวะซึมเศร้า ๓.มูคิชส์ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ถุงน้ำดีไม่ปกติ ไข้ อ่อนเพลีย ประจำเดือนไม่ปกติ ๔.มูคิชส์ ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น รักษาโรคหลงลืม/ความจำเสื่อม ไอ/ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ๕.มูคิชส์ ใช้ควบคุมความดันโลหิต เบาหวาน ลดความเครียด เป็นต้น (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRCXd9MZxvtvefa4qplyypn-7Uz4UV8IsikMro-blIer2j1OC1niw) เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่สำคัญของอินเดีย จึงได้มีการศึกษาในเชิงลึกของการใช้สมุนไพรนี้ในรูปแบบการใช้ยา ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากเมล็ดน้ำตาพระศิวะไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกาย แม้ว่าจะได้รับสารสกัดสูงถึง ๕ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม ส่วนสารสกัดจากใบ ๑,๐๐๐ ไมโครกรัม ไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อเม็ดเลือดแดง ผลการศึกษาของอินเดียพบว่าสารสกัดจากเมล็ดให้ผลต้านการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดอาการหอบหืด ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากเมล็ดและใบของน้ำตาพระศิวะมีแอลคาลอยด์หลายชนิด เช่น elaeocarpidine, (+) – elaeocarpine, isoelaeocarpine, rudrakine, pseudoepiisoelaeocarpiline และ flavonoids เช่น quercetin. ในประเทศไทยของเราก็มีน้ำตาพระศิวะ มีรายงานว่ามีพืชท้องถิ่นที่มีความคล้ายคลึงกับน้ำตาพระศิวะหรืออยู่ในสกุลเดียวกันถึง ๑๗ ชนิด แม้ว่าทางวิชาการจำแนกน้ำตาพระศิวะในไทยคือ Elaeocarpus serratus L. แต่ก็น่าจะเป็นพืชที่ใกล้เคียงกันมาก เราชาวไทยจึงควรเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในกลุ่มนี้มากขึ้นและเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธ์พืชซึ่งขณะนี้จำนวนประชากรของน้ำตาพระศิวะเหลือน้อยมาก (http://cz.lnwfile.com/2rtm7i.jpg) ตะไคร้หอม สรรพคุณไล่ยุง นับว่าโชคดีที่ทุกสรรพสิ่งมีของคู่ไว้แก้กัน เขตร้อนเป็นแหล่งยุงชุม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดแมลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) แน่นอนสารป้องกันยุงจากธรรมชาติย่อมปลอดภัยกว่าสารเคมีสังเคราะห์เมื่อต้อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ทาผิวกันยุงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลมากที่สุดในเวลานี้คือ พืชพันธุ์กลุ่มตะไคร้ ในสกุล Cymbopogon ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญได้นานกว่า ๓ ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและสูตรตำรับ เช่น ตะไคร้บ้าน (cymbopogon citratus (DC.) Stapf) ที่ใช้ทำต้มยำ เมื่อใช้น้ำมัน (Lemongrass oil) เข้มข้น ๒๐-๒๕% ในพาราฟินเหลว (Liquid paraffin) มีฤทธิ์ป้องกันยุงลายกัดได้ผล ๑๐๐% ใน ๑ ชั่วโมงแรก และได้ผล ๙๕% ภายใน ๓ ชั่วโมงต่อมา แต่ถ้าทำผลิตภัณฑ์น้ำมันตะไคร้ ๑๕% ในรูปขี้ผึ้งพบว่ามีประสิทธิผลเท่ากัน ถ้าใช้ต้นตะไคร้หอม (cymbopogon nardus (L.) Rendle) ก็จะมีประสิทธิภาพไล่ยุงได้ดีกว่า พบว่าเพียงใช้สารสกัดแอลกอฮอล์ของต้นตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอกก็สามารถไล่ยุงลายได้นาน ๒ ชั่วโมง แต่ถ้าต้องการให้มีฤทธิ์ยาวนานกว่านั้น ก็ต้องเตรียมสูตรตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) ๑๗% ในรูปแบบครีม สามารถป้องกันยุงลายนานกว่า ๓ ชั่วโมง แถมเคล็ดลับคือถ้าเติมสารวานิลินลงในครีมนิดหน่อยก็จะเพิ่มความคงตัวของน้ำมันตะไคร้หอม เสริมให้ผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ป้องกันยุงลายได้นานกว่า ๔ ชั่วโมง มีการทดลองเตรียมสบู่เหลวอาบน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำมันตะไคร้หอมเพียง ๐.๑% น้ำมันตะไคร้ ๐.๕% และน้ำมันสะเดา (neem oil) ๑% สามารถไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้นานถึง ๘ ชั่วโมง ขณะนี้มีการทำผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากน้ำมันสมุนไพรดังกล่าวออกสู่ตลาด แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย เพราะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์เคมี ๒-๓ เท่า แต่ถ้าหน่วยงานรัฐอุดหนุนส่งเสริมเกษตรกรและสนับสนุนเทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมให้แพร่หลาย อาจทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ถูกลงแข่งกับผลิตภัณฑ์เคมีได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าด้วย (http://medplant.mahidol.ac.th/tpex/pic_toxic/0252.jpg) ตาตุ่มทะเล Excocecaria agallocha L. EUPHORBIACEAE ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๑๕ เมตร มียางสีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี รูปใบหอก แกมขอบขนาน ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ดอกย่อยแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบหางกระรอก ช่อดอกเพศเมียเป็นช่อเชิงลด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลแห้งแล้วแตก มี ๓ พู เว้าชัดเจน ลำต้นตาตุ่มเมื่อแก่จัดจะแห้งตาย เป็นเนื้อไม้ แห้งแข็ง สีน้ำตาลแก่ ถ้าเผาไฟจะมีกลิ่นหอม รสขม เรียกว่า กะลำพักตาตุ่ม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกะลำภักสลัดได ใช้แก้ไข้ ขับลม ขับโลหิต ขับเสมหะ ถ่ายหนองและลม ใช้ในยาขับน้ำคาวปลา ส่วนใหญ่ใช้ในยาต้ม ราก ฝน ทาแก้บวมและแก้คัน ใบ แก้ลมบ้าหมู ยาง ตาตุ่มมีฤทธิ์กัด เมื่อรับประทานจะทำให้ท้องเสีย ถูกตาตาจะบอด จึงเรียกว่าตังตาบอด ดังนั้น ยางตาตุ่มจึงจัดอยู่ในรายการยาห้ามใช้. . (http://www.thaihof.org/sites/default/files/users/user-4/original/cchanthnhimaalay-rwm.jpg) จันทน์หิมาลัย หรือ จันทน์เทศ Santalum album L. SANTALACEAE ไม้ต้นขนาดเล็ก ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม เนื้อใบเหนียวคล้ายแผ่นหนัง รูปรี หรือรูปไข่ ดอก เป็นช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ซอกใบ หรือตามลำต้น ดอกมีขนาดเล็ก โคนกลีบรวม เชื่อมติดกันเป็นหลอด สีขาวครีมเมื่อแก่ เปลี่ยนเป็นสีแดงแกมม่วง ผล สด กลม มีเมล็ดเดียว แก่น รสขมหอมร้อน บำรุงกำลัง และลมกองละเอียด แก้ไข้ดีเดือด ดีพลุ่ง แก้กระสับกระส่าย ตาลาย บำรุงตับ ปอด หัวใจ น้ำดี เป็นแก่นจันทน์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาแพง น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จากแก่น เรียกว่า sandal wood oil มีราคาแพงเช่นกัน ในทางการแพทย์แผนไทย แก่นจันทน์ชนิดนี้ เรียกว่า จันทน์เทศ ซึ่งเป็นคนละต้นกับจันทน์เทศ (Myristica fragrance) ที่ใช้รกหุ้มเมล็ด (Mace) และเมล็ด (Nutmeg seed) เป็นยาขับลม แก่นจันทน์เทศนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในพิกัดจันทน์ทั้ง ๕ ที่ใช้แก้ไข้ และมีแพทย์แผนไทยบางท่านนำแก่นจันทน์เทศนี้มาใช้เป็นเครื่องยาจันทน์ขาว ในตำรับยา . (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS7stHU2AXfH1u9fyRTmGnhjd2Xtrg4oh-WaydPJbmx_0QVV7E0) ชบา China rose Hibiscus rosa-sinensis L. MALVACEAE ไม้พุ่มขนาดย่อม ใบเดี่ยว เรียงสลับ มีหูใบเห็นได้ชัดเจน ใบรูปไข่กว้าง ปลายเรียวแหลม ขอบหยัก ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกยาว มีกลีบรองดอก และกลีบเลี้ยง กลีบดอกมีทั้งชนิดกลีบชั้นเดียว ๕ กลีบ และกลีบซ้อน มีหลายสี เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูติดกันเป็นท่อยาวยื่นมาพ้นปลายกลีบ หุ้มก้านชูเกสรเพศเมียไว้ด้านใน และชูยอดเกสรเพศเมียที่แยกเป็น ๕ แฉก สีแดง เกสรตัวผู้ติดรอบๆ ดอกเป็นสีเหลือง ออกดอกตลอดปี รากสด แก้พิษฝีและฟกบวม อักเสบ โดยตำให้ละเอียด พอก และมีบันทึกการใช้รากเป็นยาขับน้ำย่อย ช่วยย่อยอาหาร และมีรายงานวิจัยว่าสารสกัดจากดอก ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร แต่ต้องรอผลการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป บางประเทศมีการใช้ดอกชบา เป็นสมุนไพรป้องกันผมร่วง และช่วยให้ทำให้ผมงอก (http://frynn.com/wp-content/uploads/2014/10/สันพร้าหอม.jpg) สันพร้าหอม Ayapana Ayapana triplinervis (Vahl) R.M.King & H.Rob. COMPOSITAE (Asteraceae) ไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวเรียบมัน แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านล่างมีเส้นใบตรงโคน ๓ เส้น เห็นชัดเจน ดอกช่อ แบบกระจุกแน่น ดอกย่อยสีชมพู ใบและยอดอ่อนมีกลิ่นหอม ใช้เป็นผัก ต้นและใบ เป็นยาสุขุม สรรพคุณแก้ไข้ และเป็นยาหอมชูกำลัง ใบสด ขยี้ คั้นเอาเฉพาะน้ำ หรือต้มน้ำ ชุบผ้าก๊อช ปิดสมานแผล ทำให้เลือดหยุด สันพร้าหอมชนิดนี้ เคยใช้เป็นเครื่องยา ชื่อสันพร้าหอมในโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) เป็นสันพร้าหอมคนละต้นกับที่ใช้ทางยาในปัจจุบันซึ่งเป็นชนิดใบหยัก (http://2.bp.blogspot.com/-U-GvhOOq-7s/VYapLcEZwOI/AAAAAAAAABg/gdtmqpaURcE/s320/wrightia_02.jpg) โมกบ้าน Sacred Buddhist, Water Jasmine Wrightia religiosa (Teijsm.&Binn) Kurz APOCYNACEAE ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๕ เมตร แขนงมีขนละเอียดเปลี่ยนเป็นเกลี้ยง มีช่องอากาศประปราย ทุกส่วนมีน้ำยางขาว ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบบาง รูปรี ปลายใบเรียวแหลม พบน้อยมากที่กลม โคนใบรูปลิ่ม เส้นแขนงใบ ๓-๘ คู่ ก้านใบคล้ายกระดาษ มีขนละเอียดที่แกนกลางไกลแกน และเกลี้ยงที่ใกล้แกน ดอก ช่อแบบช่อกระจุก เกลี้ยงหรือมีขนละเอียดประปราย ดอกห้อย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายกลีบมนถึงแหลม เกลี้ยง เป็นครุย รอยต่อโคนกลีบมีขนาดเล็กและแคบ กลีบดอก ๕ กลีบ หรือหลายกลีบซ้อนกันในพันธุ์ที่ปลูกเป็นไม้ประดับ กลีบดอกสีขาว กลีบดอกคล้ายรูปกงล้อ หลอดกลีบดอกพูกลีบดอกรูปไข่กลับ กลม มีขนละเอียดและปุ่มเล็กที่พูทั้งสองด้าน หลอดกลีบดอกเกลี้ยงทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีกระบัง ผล เป็นฝักคู่แยกกัน รูปกระสวย เกลี้ยง ไร้ช่องอากาศ เมล็ดรูปแถบ โมกบ้าน เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันทั่วไป ยาพื้นบ้านใช้ ราก รักษาโรคผิวหนัง จำพวกโรคเรื้อน แต่ไม่พบการใช้เป็นตำรับในตำราการแพทย์แผนไทย ดอกโมกมีกลิ่นหอมมาก ทำให้น่าสนใจนำมาเป็นสารแต่งกลิ่น แต่กลิ่นดอกโมกที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันเป็นกลิ่นจากการสังเคราะห์เนื่องจากกลิ่นดอกโมกสดที่สกัดด้วยน้ำมันไม่คงตัว กลิ่นหอมหลังสกัดใหม่ แล้วเปลี่ยนเป็นแก๊สไข่เน่าในเวลาเพียง ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีสารจำพวกกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มีนาคม 2559 13:56:16 .
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT87kH7xuZRU196WA6I5GUlhJ7F-uj7tEYq64nXBcxHeQ9Rh0Hfpg) เทียนตาตั๊กแตน ปวดประจำเดือนครั้งใด สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน เอาอยู่ การมีประจำเดือนเป็นภาวะธรรมชาติของสตรีทุกคนในวัยเจริญพันธุ์ (ระหว่างอายุ ๑๕-๒๕ ปี) ซึ่งเกิดจากการลอกหลุดของชั้นผิวด้านในของมดลูกเมื่อไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัว จึงย่อยสลายตัวเองเกิดเป็นเลือดไหลออกมาจากช่องคลอดทุกรอบเดือน ส่วนใหญ่รอบประจำเดือนจะมาตามนัด ๒๘ วัน บางคนอาจมา ๓๐ วันหรือ ๔๕ วันก็ได้ แต่ถ้าไม่มาตามนัดถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ และสิ่งที่ผู้หญิงกลัวมากที่สุดไม่ใช่หลับแล้วเลอะ แต่คืออาการปวดประจำเดือน ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเป็นอาการปกติไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกแต่อย่างใด เพราะประมาณว่าผู้หญิงร้อยละ ๗๐ จากผู้หญิงทุกคน ล้วนเคยทุกข์ทรมานกับอาการปวดประจำเดือนกันมาทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง บางคนปวดพอทนใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติ แต่บางคนเวลาปวดแต่ละทีก็แทบจะทำงานทำการอะไรไม่ได้เลย การปวดประจำเดือนมี ๒ ชนิดคือ ๑.ปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea) พบว่าราวร้อยละ ๗๐-๘๐ ของผู้ปวดประจำเดือนจะมีอาการปวดแบบนี้ ซึ่งเมื่อได้พักผ่อนหรือดูแลตัวเองอย่างพอเพียง หรือรับประทานยารักษาตามอาการก็สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ การปวดชนิดนี้มักมีอาการตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาว และอาจปวดประจำเดือนแทบทุกครั้งไปจนอายุ ๒๕ ปี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นอาการจะเบาลงเรื่อยๆ บางคนมักจะหายไปเมื่อแต่งงานหรือมีบุตร ๒.ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea) การปวดชนิดนี้รุนแรงถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ จะใช้ยาอะไรก็ไม่ค่อยได้ผลมักเริ่มมีอาการปวดชนิดนี้ตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี มีสาเหตุมาจากอวัยวะภายในมดลูกผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกผิดปกติ เกิดเนื้องอกที่มดลูก หรือความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น การปวดชนิดนี้พบได้ประมาณร้อย ๒๐-๓๐ ของผู้หญิงทั้งหมดที่มีอาการปวดประจำเดือน ในกรณีที่รุนแรงต้องปรึกษาสูติ-นารีแพทย์ เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ การรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิโดยใช้สมุนไพรตัวเดี่ยว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้ยาโดยมีงานศึกษาวิจัยทางคลินิกรับรองประสิทธิผลและความปลอดภัย สมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดประจำเดือนไม่แพ้ยาเคมีในที่นี้คือ “เทียนตาตั๊กแตน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anethum graveolens Linn. และมีชื่อฝรั่งสามัญว่า “Dill” “เทียนตาตั๊กแตน” ที่ใช้เป็นเครื่องยานี้ได้มาจากผลแก่แห้งของผักชีลาว ซึ่งเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เดียวกับพืชจำพวกผักชีทั้งหลายและผักขึ้นฉ่ายรวมทั้งผักชีฝรั่ง (Parsley) ในเทียนตาตั๊กแตนมีน้ำมันระเหยง่าย (Dill Seed Oil) ร้อยละ ๑.๒-๗.๗ ซึ่งมีสารสำคัญหลักคือคาร์โวน (carvone) จึงทำให้เทียนตาตั๊กแตนมีกลิ่นเฉพาะ มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย แพทย์แผนไทยใช้เทียนตาตั๊กแตนบดผง ๑ ช้อนชา ละลายน้ำสุกรับประทานบำรุงธาตุ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะพิการ แก้โรคกำเดา และแก้เส้นท้องพิการ สำหรับการศึกษาทางคลินิกเป็นการยืนยันสรรพคุณแก้อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่ท้องน้อยอันเกิดจากอาการปวดประจำเดือน ในอาสาสมัครเพศหญิงอายุระหว่าง ๑๘-๒๘ ปี จำนวน ๗๕ คน มีการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น ๓ กลุ่ม เพื่อเปรียบเทียบฤทธิ์ของเทียนตาตั๊กแตนกับยาเคมีเภสัชแผนปัจจุบันและยาหลอก กลุ่มที่ ๑ ให้อาสาสมัครกินยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนขนาด ๑๐๐๐ มิลลิกรัม (แคปซูลละ ๕๐๐ ม.ก. กินครั้งละ ๒ แคปซูล) กินวันละ ๒ ครั้ง ห่างกัน ๑๒ ชั่วโมง โดยต้องกิน ๒ วันติดต่อกันก่อนมีประจำเดือน จากนั้นกินติดต่อกันรวม ๕ วัน ทำเช่นนี้ ๒ รอบประจำเดือน ส่วนกลุ่มที่ ๒ และ ๓ ให้รับประทานยาแก้ปวดเมเฟนามิกแอซิด (mefenamicacid) ขนาด ๒๕๐ ม.ก.และยาหลอกขนาด ๕๐๐ ม.ก.ตามลำดับ โดยมีกระบวนการให้ยาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ ๑ ทำการวัดระดับความปวดประจำเดือนด้วยวิธีให้คะแนนความรู้สึกปวดเป็น ๓ ระดับ คือปวดน้อย : ๑-๓ ปวดปานกลาง : ๔-๗ ปวดมาก : ๘-๑๐ ผลการศึกษาพบว่า อาการปวดประจำเดือนของกลุ่มที่ ๑ (รับประทานยาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตน) และกลุ่มที่ ๒ (รับประทานยาเคมีแผนปัจจุบัน) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเดือนที่ ๑ และเดือนที่ ๒ ของการทดลอง ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกมีอาการปวดประจำเดือนลดลงในเดือนที่ ๒ เท่านั้น ที่สำคัญคือ ไม่พบความแตกต่างระหว่างการรับประทานยาแคปซูลผงจากผลเทียนตาตั๊กแตนกับยาเมเฟนามิกแอซิด การศึกษานี้แสดงว่ายาแคปซูลเทียนตาตั๊กแตนสามารถช่วยระงับอาการปวดประจำเดือนของสาวๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลทัดเทียมกับยาแผนปัจจุบัน ในเมื่อมีงานวิจัยฤทธิ์ระงับปวดประจำเดือนของเทียนตาตั๊กแตนชัดเจนขนาดนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้เอกชนสามารถอ้างอิงนำไปผลิตสู่ท้องตลาด อันเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงยาสมุนไพรตัวนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ในระหว่างที่ยังหาซื้อยาสำเร็จรูปในร้านขายยาไม่ได้ ใช้ยาเทียนตาตั๊กแตนบดผงละลายน้ำสุกรับประทานไปพลางก่อนก็ได้ นับเป็นการพึ่งตัวเองที่ไม่ยุ่งยากอะไร ดังนั้น สุภาพสตรีท่านใดหากปวดประจำเดือนครั้งต่อไป ใช้สมุนไพรเทียนตาตั๊กแตน ตัวเดียว รับรองเอาอยู่ (http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-122556-1.jpg) จามจุรี Rain tree,East Indian walnut Albizia saman (Jacq.) Merr. FABACEAE ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๐ เมตร กิ่งก้านแผ่โค้งคล้ายร่ม ใบ ประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๐.๖-๔ เซนติเมตร ยาว ๑.๕-๖ เซนติเมตร รูปรี รูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเบี้ยว โคนใบกลมหรือตัดเฉียง ผิวมัน ดอก ออกแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีชมพู เกสรเพศผู้จำนวนมาก ฝัก รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย เมื่อแก่มีสีน้ำตาลดำ คอดเล็กน้อยตามรอยของเมล็ด มีเนื้อแฉะๆ หุ้มเมล็ด เมล็ด แบนรูปรี สีน้ำตาล ลำต้นใช้เพาะพันธุ์ครั่ง ยางเหนียว ใช้เป็นกาว เปลือกต้น มีรสฝาด แก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย เหงือกบวมและปวดฟัน แก้ริดสีดวงทวารหนัก แก้ท้องร่วง ใบเป็นยาเย็น ใช้สำหรับดับพิษ เมล็ด แก้กลากเกลื้อน และโรคเรื้อน (http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-185435-2.jpg) หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) Beauv. GRAMINEAE ไม้ล้มลุก สูงถึง ๙๐ เซนติเมตร มีเหง้าใต้ดิน รูปร่างยาวเป็นเส้นแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ แทงออกจากเหง้า แผ่นใบรูปแถบเหมือนริบบิ้น กว้าง ๑-๒ เซนติเมตร ยาวได้ถึง ๑ เมตร ขอบใบคม ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าเช่นเดียวกัน ดอกย่อยอยู่รวมกันแน่น สีเงินอมเทาจาง ผล แห้งไม่แตก ราก เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต แก้น้ำดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัจจุบัน มีเทคนิคการทำให้หญ้าคาเป็นพืชที่ให้น้ำตาล โดยในฤดูหนาวขุดพื้นดินใต้กอหญ้าคาให้เป็นโพรงซอยลึกๆ ตัดรากออกบางส่วน แล้วเอาแกลบใส่ในโพรง รดน้ำที่โคนต้นทุกวัน เมื่อรากงอกยาว ให้เอาแกลบออก จับมัดรากรวมกัน เอามีดคมปาดราก คล้ายปาดจั่นตาลโตนด ทิ้งไว้ ๓ วัน วันที่ ๓ ตอนเย็นให้นำภาชนะรองที่ปลายรากที่ตัดไว้ เก็บน้ำตาลในวันรุ่งขึ้น แล้วปาดรากให้ลึกขึ้นอีกและรองรับน้ำตาลได้ทุกวันจนกว่าจะหมด เป็นที่น่าสนใจศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำตาลในหญ้าคา (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTdHeqlyBUh5_WZIjn4p5Lm13Pe68CbXrkuz-Uc5oqjtpDXxbhWdg) มะเขือเปราะ มะเขือเปราะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solonum Virginianum L. อยู่ในวงศ์ SOLONACECE ชื่อสามัญเรียก Eggplant ชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกัน เช่น มะเขือคางกบ มะเขือชัยคำ มะเขือจาน มะเขือแจ้ดิน มะเขือสวย ฯลฯ มะเขือปลูกง่าย โดยนำเมล็ดที่แก่จัดเป็นสีน้ำตาลเข้ม โรยลงในแปลงเพาะ แล้วนำดินเถ้าแกลบกลบ ไม่ช้าก็งอก พอสูงสัก ๑ คืบ ก็นำลงปลูกในไร่ที่เตรียมดินไว้ คอยให้น้ำบ้าง ๔๕ วันเห็นผล เก็บขายได้ ประโยชน์ของมะเขือ นอกใช้เป็นผักแล้ว ยังเป็นยาสามัญประจำบ้านได้ด้วย เช่น แก้โรคเบาหวาน ลดไข้ ขับพยาธิ แก้ไอ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ใบตำพอกแก้พิษตามผิวหนัง (http://www.sookjaipic.com/images_upload/55601034230656__3604_1.gif) ดาวเรืองกาญจน์ Gynura calciphila Kerr var. dissecta F.G. Davies ASTERACEAE ไม้ล้มลุก สูง ๖๐-๑๒๐ เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำ ตั้งตรง มีหัวขนาดเล็ก ขนาด ๑-๒ เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย ใบ เดี่ยว เรียบสลับ รูปไข่ มีขนสั้นนุ่มประปราย โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักซี่ฟัน ดอก ช่อกระจุกแน่น ออกที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น ดอกสีเหลือง มีขนสั้นนุ่มประปราย ผล แห้งแตก สีน้ำตาล เกลี้ยง ปลายยอดรูปทรงกระบอก สีแกมเหลืองแพปพัส สีขาว ประโยชน์: หัว ยาฝนทาแก้ริดสีดวงทวาร (http://frynn.com/wp-content/uploads/2014/01/%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87.jpg) กินอะราง (นนทรีป่า) คลายร้อน ในหลักการใช้ชีวิตตามภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาดั้งเดิมนั้น ให้ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เพราะถ้ารู้จักเลือกกินจะส่งเสริมสุขภาพ แต่ถ้ากินอาหารไม่เหมาะก็จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ ในวิถีภูมิปัญญาอีสาน ผู้เฒ่าผู้แก่มักแนะนำไว้ว่า ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดๆ ควรกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวผสมรสฝาด รสอาหารที่มากับรสของพืชสมุนไพรในอาหารนั้นเป็นโอสถในตัวเอง เพราะรสเปรี้ยวจะทำให้ร่างกายสดชื่น ช่วยผ่อนคลายความร้อนได้บ้าง ส่วนรสฝาดเป็นตัวช่วยให้ไม่เกิดอาการท้องเสียที่มักมากับหน้าร้อน และการกินแต่รสเปรี้ยวโดดๆ จะทำให้ระบายท้องมากเกินไป รสฝาดผสมเปรี้ยวจึงจะช่วยคุมการขับถ่ายนั่นเอง อาหารตามภูมิปัญญาที่ราบสูงของไทยอย่างหนึ่ง ที่อยากแนะนำให้บริโภคในช่วงที่อากาศร้อนจัดๆ ได้แก่ ตำส้มเปลือกอะราง (เรียกตามภาษาถิ่นอีสาน) โดยนำเปลือกอะรางมาขูดเอาผิวด้านใน แล้วนำมาปรุงเหมือนตำส้มตำ ถ้าว่าตามตำรับดั้งเดิมจะนิยมใส่มดแดงหรือสับปะรดเพื่อให้รสเปรี้ยว ส่วนเปลือกอะรางมีรสฝาดทำให้ได้อาหารที่มีรสเปรี้ยวและฝาดผสมกัน ในบางพื้นที่ของจังหวัดอำนาจเจริญ จะเรียกต้นอะรางว่า ต้น “ตำแตง” เพราะเปลือกด้านในที่ขูดออกมาได้มีลักษณะคล้ายแตงสับ การเรียกชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าเอารูปแบบการใช้ประโยชน์มาเป็นการตั้งชื่อด้วย อะรางจัดว่าเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง ๓๐ เมตร มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Copper pod มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peltophorum dasyrrhachis (Mig.) Kurz มีชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ หลายชื่อ เช่น ช้าขม จ๊าขม (เลย) ร้าง อะล้าง (นครราชสีมา อุดรธานี) อินทรี (จันทบุรี) คางรุ้ง คางฮุ่ง (พิษณุโลก) กว่าแซกหรือกร่าเซก (เขมร-กาญจนบุรี) ตาแซก (เขมร-บุรีรัมย์) ราง (ส่วย-สุรินทร์) นนทรี (ภาคกลาง) นนทรีป่า (ฉะเชิงเทรา) สรรพคุณทางยา พบว่าส่วนของเปลือกต้นมีรสฝาดใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต เป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ ช่วยขับลม แก้อาการท้องร่วง ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมที่ให้สีน้ำตาลแดง คนทั่วไปมักจะสับสนระหว่างต้นอะราง หรือนนทรีป่ากับต้นนนทรี เพราะแม้แต่ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษก็ยังเรียกคล้ายกันกับต้นอะราง (นนทรีป่า) คือ Copper pod, Yellow flame หรือ Yellow Poinciana แต่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ต่างกัน คือ สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน และแน่นอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ต่างกันเรียกว่า Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Huyne เหตุที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นพืชชนิดเดียวกัน เพราะอะรางและนนทรีเป็นไม้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ผู้ที่ไม่คุ้นเคยเมื่อเห็นเฉพาะใบจะคิดว่าเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน แต่เมื่อออกดอก ออกผล จะเห็นชัดเจนว่าไม้ทั้ง ๒ ชนิดแตกต่างกัน ลักษณะของอะราง ช่อกห้อย ส่วนนทรีมีช่อดอกตั้ง ดอกของนนทรีมีสีเข้มกว่าดอกของอะราง แต่ทั้งอะรางและนนทรีมีถิ่นกำเนิดเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงออสเตรเลีย จากการเดินป่าสำรวจพบประชากรของอะรางเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภาคอีสานไม่พบนนทรีในธรรมชาติเลย ยกเว้นที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการ เนื่องจากนนทรีเป็นพืชในสกุลเดียวกับ อะราง สรรพคุณทางยาจึงมีความคล้ายคลึงกัน คือเปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต ช่วยปิดธาตุ ใช้เป็นยาขับผายลม ส่วนเปลือกต้นมีสารเทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ ช่วยแก้บิด ใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของสตรี ใช้เป็นยาสมานแผลสด นอกจากนี้ เปลือกต้นยังนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ ทางภาคใต้มีการใช้ประโยชน์จากต้นนทรีมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น นำยอดมาใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ยอดและฝักอ่อน ใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าบาเต๊ะ และยังใช้ย้อมแหและอวนด้วย เนื้อไม้นนทรีมีสีน้ำตาลแต่ออกไปทางสีชมพูสวยงามดี และมีลักษณะมันเลื่อม เนื้อไม้มีความหยาบแต่ไม่มาก หากนำมาเลื่อยหรือผ่า ทำการไสกบตบแต่งได้ไม่ยาก ที่สำคัญมอดปลวกไม่มารบกวน จึงมีการนำมาใช้ก่อสร้างบ้านเรือน อาจนำมาทำพื้น เพดาน ฝา ฯลฯ และยังนำมาทำเครื่องเรือนเครื่องใช้ด้วย หรือใช้เผาทำถ่าน นนทรียังถือเป็นไม้มงคล ปลูกง่ายโตเร็ว ลักษณะของต้นสวยงาม และยังมีดอกสวยกลิ่นหอมด้วย จึงไม่แปลกที่ในอดีตมีการปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ สวนสาธารณะ ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถกันมาก (แต่ในปัจจุบันคนไทยหันไปปลูกไม้นำเข้าเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นหูกระจง) ทั้งๆ ที่นนทรีปลูกให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี และยังปลูกให้ร่มเงากับพืชเศรษฐกิจบางชนิดที่ไม่ต้องการแดดจัดได้ดี ยิ่งกว่านั้น นนทรีเป็นพืชตระกูลถั่วจึงช่วยบำรุงดินให้พืชอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบันทึกใดที่กล่าวถึงการนำเอาเปลือกด้านในของนนทรีมาประกอบอาหารประเภทส้มตำเหมือนกับต้นอะราง (นนทรีป่า) และอาจเป็นเพราะไม่พบนนทรีในป่าธรรมชาติของอีสานก็เป็นได้ (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRW8RFfF9fwEQT0Pu6GrHBPAhRcraYOqUuC8DnybOgXH-sYi70o) จำปา คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักดอกจำปา เพราะเข้าใจว่าเป็นดอกจำปี เนื่องจากนิยมเรียกต่อกันว่า จำปีจำปา และอาจเพราะจำปาเป็นชื่อเรียกที่รู้สึกไม่เป็นมงคล จึงไม่นิยมนำเอาจำปามาปลูกในบ้าน จำนวนประชากรของจำปาในเมืองจึงมีน้อยกว่าจำปี จำปาและจำปีต่างกันที่สีของดอก จำปีมีมีดอกสีขาว ส่วนจำปามีดอกสีเหลืองอมส้ม แต่ในปัจจุบันมีการนำเอาจำปีและจำปามาผสมข้ามพันธุ์เรียกว่า จำปีสีนวล มีดอกสีเหลืองอ่อน ตามหลักวิชาการ จำปา มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Champak มาจากภาษาฮินดู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca (L.) Bail.ex Pierre ชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น จำปากอ (มลายู-ใต้) จำปาเขา จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี) จำปามีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของจีน ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงมีความสูงประมาณ ๑๕-๓๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ สำหรับต้นที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับกันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติจากต้นที่มีขนาดเล็ก แต่มีดอกดก ดอกมีขนาดใหญ่และออกดอกได้ตลอดปี ดอกสีเหลืองส้ม ออกตามซอกใบ ผลเป็นแบบผลกลุ่ม มีช่อยาว เปลือกหนาแข็ง มีช่องอากาศเป็นจุดเล็กสีขาวอยู่ทั่วไป ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อนประจุดสีขาว ผลแก่แห้งแตกแนวเดียว เมล็ด มีเนื้อหุ้ม รูปเสี้ยววงกลม เมล็ดอ่อนมีเนื้อหุ้มสีขาว เมล็ดแก่เนื้อหุ้มสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ คือ ใบ ดอก เปลือกต้น เปลือกราก กระพี้ เนื้อไม้ เมล็ด ราก น้ำมันกลั่นจากดอก พูดได้ว่าใช้ประโยชน์ทุกส่วน ซึ่งสรรพคุณของจำปาในส่วนต่างๆ มีดังนี้ ใบ แก้โรคเส้นประสาทพิการ แก้ป่วงของทารก ช่วยระงับอาการไอขับเสมหะ ตำคั้นเอาแต่น้ำ ใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้ ดอก แก้วิงเวียนอ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย บำรุงน้ำดี บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท กระจายโลหิต ทำให้เลือดเย็น น้ำกลั่นจากดอกแก้อาการปวดศีรษะ แก้โรคไต ระงับอาการเกร็ง และสามารถนำดอกมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารด้วย เปลือกต้น ใช้เป็นยาฝาดสมาน ช่วยในการสมานแผล แก้ไข แก้อาการคอแห้ง บำรุงหัวใจ เปลือกราก ใช้เป็นยาถ่าย ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาโรคปวดตามข้อ ราก ใช้ขับโลหิตสตรี ใช้เป็นยาระบาย กระพี้ ใช้ถอนพิษผิดสำแดง เนื้อไม้ ใช้บำรุงโลหิต บำรุงโลหิตระดู เมล็ด ช่วยแก้อาการเท้าแตก แผลที่เท้า น้ำมันของเมล็ด ใช้ทาหน้าท้อง ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ น้ำมันกลั่นจากดอก ใช้ทาแก้ปวดศีรษะ แก้บวม แก้ปวดข้อ และแก้ตาบวม ยังนำมาใช้แต่งกลิ่นต่างๆ และแต่งเครื่องสำอางได้ จำปายังมีประโยชน์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น นิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความหอมและความสวยงาม เป็นต้นไม้ให้ร่มเงาในสนามได้ดีมากชนิดหนึ่งด้วย (เป็นไม้โตง่าย) เนื้อไม้จากต้นจำปามีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้ละเอียดมีความเหนียว เป็นมัน เป็นลวดลายสวยงาม และทนปลวกได้ดี เลื่อยไสตกแต่งได้ง่าย จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น การสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องมือ เครื่องกลึง หีบใส่ของ เครื่องแกะสลักต่างๆ รวมไปถึงของเล่นเด็ก ฯลฯ ยังมีการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ในแถบเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย นิยมนำเอาดอกจำปามาใช้เพื่อการบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ ผู้หญิงนิยมนำมามัดกับเส้นผมเป็นเครื่องประดับที่มีความหมายว่า “สวยและหอมอย่าธรรมชาติ” ดอกนำมาลอยน้ำวางไว้ตามห้องต่างๆ เพื่อให้มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องหอมโรยบนเตียง ให้คู่บ่าวสาวและใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย และพบว่าในหลายประเทศมีการสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปามาใช้ในการนวด ที่น่าแปลกแต่จริงในธรรมชาติ คือ พบตัวอีเห็นชนิดหนึ่ง (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paradoxurus montanus) ในประเทศศรีลังกา อีเห็นจะปล่อยไขที่มีกลิ่นเหมือนกลิ่นของดอกจำปาด้วย ใครอยากได้กลิ่นหอมจากดอกจำปาใช้วิธีปลูก ง่ายกว่าเลี้ยงตัวอีเห็นแน่ แต่ทุกวันนี้จำนวนต้นจำปาลดลงอย่างมาก ในบางจังหวัดของประเทศอินเดียทำการรณรงค์แข็งขัน จึงเกิดการอนุรักษ์โดยเชื่อมโยงมิติทางพุทธศาสนาและทางฮินดูด้วย ในต่างประเทศให้ความหมายของคำว่า จำปา คือเรื่องดี ถือเป็นไม้ที่ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ น่าเสียดายที่เมืองไทยกังวลเรื่องชื่อที่ฟังแล้วไม่ค่อยเป็นมงคลนาม คล้าย “ปา” สิ่งดีออกไป ประกอบกับมีการนำเอาเนื้อไม้มาทำโลงศพ แต่หากพินิจด้วยปัญญา ภูมิปัญญาของจำปามีมากมายที่เราควรนำมาส่งเสริมปลูกใช้กันให้กว้างขวาง ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2559 16:20:39 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/80824541590279__3613_3634_3591_3648_3626_3609.gif) น้ำฝางเสน แก้โรคฮีตสโตรก ยามนี้ อากาศของเมืองไทยบางวันความร้อนพุ่งสูงกว่า ๔๐ องศาเซลเซียส จนติดอันดับเมืองร้อนระดับโลก ชื่อโรคฝรั่งแปลกๆ ที่คนไทยไม่เคยได้ยิน อย่าง “ฮีตสโตรก” (Heat Stroke) ก็เริ่มได้ยินกันจนชินหู ทั้งที่ความจริงก็คือ “โรคลมแดด” ที่คนไทยเคยรู้จักกันดี เพียงแต่มักไม่รุนแรงถึงตายดังที่เป็นข่าวให้หวาดวิตกกันอยู่ในเวลานี้ จนคนไทยกลายเป็นโรคกลัวแดดไปแล้ว นับวันปัญหาโลกร้อนยิ่งทำให้โรคร้อนรุนแรงเป็นฮีตสโตรกถึงขั้นเสียชีวิตกันมากยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย มีธาตุไฟตัวหนึ่ง ชื่อ สันตัปปัคคี ทำหน้าที่ควบคุมความร้อนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติประมาณ ๓๖.๕-๓๗ องศาเซลเซียส แต่เมื่อภายในร่างกายมีความร้อนสูงขึ้นผิดปกติไม่ว่าจะเกิดจากไข้หรือจากความร้อนของภูมิอากาศภายนอก ร่างกายจะมีธาตุไฟอีกตัวหนึ่งชื่อ ปริทัยหัคคี ที่คอยเตือนภัยเหมือนเข็มบอกความร้อนในรถยนต์ ซึ่งถ้าไม่รีบบรรเทาความร้อนให้ทันท่วงทีก็จะเกิดอาการโรคลมแดดหรือฮีตสโตรกนั่นเอง ตามปกติเมื่อร่างกายได้รับความร้อนจากแดด ก็จะขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ซึ่งเราอาจจะรู้สึกอ่อนเพลียหรือหน้ามืดวิงเวียนบ้าง เรียกว่าอาการเพลียแดด แต่ก็ไม่อันตรายเท่ากับที่รู้สึกร้อนจัดภายในร่างกาย แต่ผิวแห้งผากไม่มีเหงื่อออกเลยสักหยด ซึ่งภาษาแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า ภาวะเหงื่อไม่ออก (anhydrosis) ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบไหลเวียนโลหิตไม่สามารถระบายความร้อนออกทางเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังได้ เพราะนำเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญได้แก่ สมอง หัวใจ ไต ตับ เป็นต้น ถ้าขจัดความร้อนออกไปไม่ทันจนอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นทะลุ ๔๐ องศา กลายเป็นโรคฮีตสโตรก ก็จะทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ เกิดอาการปวดหัว มึนงง หายใจถี่ คลื่นไส้ อาเจียน และหนักขึ้นถึงขั้นเกร็ง ชัก หมดสติ จนอาจเกิดภาวะสมองขาดเลือด หัวใจวาย ตับวาย หรือไตวายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ในหน้าร้อนเช่นนี้ จึงควรป้องกันไว้ดีกว่า จึงขอแนะนำให้ดื่มน้ำต้มแก่นฝางเสนเพื่อป้องกันโรคลมแดดและฮีตสโตรกในช่วงนี้ รัฐไทยรู้จักฝางเสนมาแต่ครั้งโบราณ เพราะเป็นไม้ส่งออกมีค่าสูงและใช้เป็นเครื่องบรรณาการมาตั้งแต่สมัยอยุธยา นอกจากใช้ทำเครื่องเรือนสวยงามแล้ว คุณค่าของฝางเสนยังอยู่ที่สารสีแดง ที่หลายชนชาติโดยเฉพาะชาวอินเดียนำผงสีแดงของแก่นฝางไปใช้ในการประกอบพิธีศักดิ์สิทธ์ สีแดงของแก่นฝางมาจากสาร “แซพปานิน” (sappanin) ซึ่งเรียกว่าสีแดงแซพปาน (sappan red) อันเป็นที่มาของชื่อสามัญว่าต้นแซพปาน (Sappan Tree) และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia sappan L. นอกจากสารแซพปานินซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รักษาอาการอักเสบและแก้ท้องร่วงแล้ว ฝางยังมีสารสีชมพูอมส้มถึงแดงอีกชนิดหนึ่งชื่อสาร “บราซิลิน” ซึ่งมีสรรพคุณโบราณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเย็น กระจายโลหิต ขับระดู แก้เลือดกำเดา แก้ไข้ แก้ร้อนใน ระงับอาการหอบหืด ซึ่งตรงกับผลวิจัยทางเภสัชวิทยาที่พบว่า สารสำคัญชนิดนี้เป็นสารต้านฮีสตามีน (antihistamin) ช่วยแก้ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ และแก้อาการหัวใจขาดเลือด ในสมัยโบราณจะให้สตรีหลังคลอดบุตรดื่มน้ำฝางเพื่อขับน้ำคาวปลาและบำรุงโลหิตไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังมีกรรมวิธีผสมน้ำฝางกับปูนขาวทาหน้าผากสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยให้ศีรษะเย็น รู้สึกผ่อนคลาย ระงับความเจ็บปวดหลังคลอดได้ แต่เนื่องจากน้ำฝางมีฤทธิ์ขับระดูอย่างแรง จึงมีข้อห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ ด้วยฤทธิ์เย็นและกระจายโลหิตของแก่นฝางเสนนี้เอง จึงเหมาะสำหรับนำมาต้มดื่มพิชิตโรคร้อนในยามโลกร้อนนี้ วิธีต้มง่ายๆ คือ นำแก่นฝางเสนมาล้างน้ำ ตอกเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ครั้งละ ๑๐๐ กรัมก็พอต่อน้ำ ๑ ลิตรครึ่ง จะดื่มอุ่นหรือเย็นก็ได้ ควรดื่มสลับกับน้ำเปล่า เพราะยามร้อนนี้ต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ ๒ ลิตร ในปริมาณนี้ ควรดื่มน้ำฝางวันละ ๕๐๐ ซีซี แบ่งดื่ม ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑ แก้ว เช้า-บ่าย จึงจะสามารถควบคุมความร้อนในร่างกายให้พ้นภัยแดดได้ ข้อดีของฝางคือช่วยแก้และป้องกันโรคบิด ท้องร่วง ท้องเสียในหน้าร้อนได้ ฝางเป็นยาดีที่ใช้กันมาในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ใช้คู่กับเปลือกต้นมะขามป้อมอย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำ ๔ เอา ๑ ท่านว่า “กินแก้ตกมูกตกหนัก หยุดเป็นอันเที่ยงแท้ ได้รอดจากความตายเป็นหลายคนมาแล้ว” แต่ถ้าหาเปลือกต้นมะขามป้อมไม่ได้ จะใช้แก่นฝางอย่างเดียวก็เอาอยู่ ลองไปหาซื้อแก่นฝางเสนจากร้านขายยาไทยหรือร้านยาจีนมาต้มดื่มเอง แทนการซื้อเครื่องดื่มดับกระหายสำเร็จรูป แล้วจะรู้ว่าเย็นกว่ากันเยอะเลย. (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRwIJa48IwaX3pCSGR4mtUiVxWQ8UPPYpSeyY7eWI1crSY-ubZE07FEP20) (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcShvT99uxiMQZDM4tLg3Rdg2CU0SjXnTyJiCzPO2dreU4TrInbuNJjQuqRx) มณฑา ดอกม้หอมแห่งสรวงสวรรค์ มณฑา มีความหมายว่าเป็นดอกไม้จากสรวงสวรรค์ ดอก “มณฑา” หรือ “มณฑารพ” ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติหลายตอน เช่น ดอกมณฑาจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจารุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นต้น มณฑามีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Egg Magnolia ดอกมีรูปร่างเหมือนไข่ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆในประเทศไทยว่า จอมปูน จำปูนช้าง (สุราษฎร์ธานี) มณฑา (สตูล) ยี่หุบ (ภาคกลาง ภาคเหนือ) ชื่อบาลีเรียกว่า มณฺฑารวะ (มัน-ทา-ระ-วะ) หรือมนฺทารโว (มัน-ทา-ระ-โว) ชื่อวิทยาศาสตร์ Magnolia liliifera (L.) Baill. อยู่ในวงศ์เดียวกับจำปีและจำปา มณฑาเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านไม่มาก ต้นสูง ๔-๑๐ เมตร ทรงพุ่มกว้าง ๒-๓ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับรอบกิ่ง รูปหอก โคนดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง รูปร่างป้อม ปลายดอกห้อยลง มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ หนาแข็ง สีเขียวอมเหลือง กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบสีเหลืองรูปไข่กลับ ดอกมณฑามีกลิ่นหอม จะหอมแรงช่วงเช้าตรู่ ออกดอกได้ตลอดปี ดอกบานในตอนเช้า แต่บานอยู่แค่วันเดียวดอกก็จะร่วงโรย มีความเชื่อกันอีกว่าบ้านไหนปลูกต้นมณฑาทิพย์แล้วบ้านนั้นหลังนั้นก็จะเป็นที่ชื่นชอบชื่นชมของคนทั่วไป ที่เราควรรู้คือมณฑาพืชพื้นบ้านดั้งเดิมมีถิ่นกำเนิดในป่าของไทยนี่เอง พบมากในป่าทางภาคใต้ เพราะธรรมชาติของมณฑาชอบที่ร่มรำไรและความชื้นสูง มีดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายดอกมณฑา นั่นคือ “ดอกยี่หุบ” Magnolia coco (Lour.) DC. ฝรั่งรู้จักในชื่อ Dwarf Magnolia หรือ Coconut Magnolia ยี่หุบนี้มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมณฑลยูนนานของจีน ชาวตะวันตกที่บันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ของยี่หุบเป็นคนแรกคือ Juan de Loureiro มิชชันนารีชาวโปรตุเกสและนักพฤกษศาสตร์ที่เข้ามาในเวียดนามในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘ ยี่หุบเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงราว ๒-๔ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปหอก หน้าใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวอ่อน ดอกขนาดย่อมสีขาวนวล กาบหุ้มดอกสีเขียว เมื่อยังตูมมีรูปทรงกลมรีน่ารัก คล้ายลูกมะพร้าวอ่อน จึงได้ชื่อว่า Coconut Magnolia มีกลิ่นหอมฉุนแรงคล้ายกลิ่นกล้วยหอมปนกลิ่นระกำ มักแย้มกลีบและส่งกลิ่นฟุ้งขจรในยามค่ำ จากนั้นจะโรยไปในเช้าวันต่อมา ยี่หุบนิยมปลูกเป็นไม้ประดับบ้านเช่นกัน เพราะมีขนาดเล็กสามารถเลี้ยงในกระถางได้ ทั้งยังไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงปลูกในที่ร่มรำไรได้ ถือเป็นไม้ที่ไม่หวงดอก เพราะระยะเวลาออกดอกนานถึง ๙ เดือน มีความพิเศษตรงที่มีของเหลวเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานอยู่ข้างในดอก เป็นลักษณะที่ไม่พบในแม็กโนเลียชนิดอื่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าก้านยี่หุบนี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant อีกด้วย ยี่หุบเป็นพรรณไม้ที่มีมากในประเทศอินเดีย มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน บ้างว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย และในหมู่เกาะสุมาตรา มีรายงานว่าพืชชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า “ยี่หุบหนู” หรือ “ยี่หุบน้อย” ทั้งมณฑาและยี่หุบ สามารถนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเข้มข้น ปัจจุบันในบ้านเราก็มีผู้ริเริ่มทำน้ำหอมกลิ่นมณฑา ยี่หุบ ออกขายแล้วด้วย มักเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยหรือสปาต่างๆ ที่หันมาใช้กลิ่นหอมจากดอกไม้ ‘ไทย’ ในการบำบัดมากขึ้น แต่ก็มีข้อมูลผู้ใช้ที่บอกว่าดอกไม้ไทยมีกลิ่นฉุนแรงเกินไปไม่สามารถทนกลิ่นของดอกไม้ ๒ ชนิดนี้ได้ แต่ยี่หุบเป็นไม้ที่รู้จักแพร่หลายในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากกว่ามณฑา นิยมปลูกในรัฐฟลอริด้าของอเมริกาซึ่งมีภูมิอากาศใกล้เคียงกับบ้านเราด้วย ส่วนในประเทศจีนนั้นมีการใช้ทั้งยี่หุบและมณฑาในการผลิตน้ำหอมเช่นเดียวกัน ในต่างประเทศมีรายงานว่ามีการใช้เปลือกและตาดอกของพืชในกลุ่มนี้เป็นยาสมุนไพรเพื่อช่วยการลดน้ำหนัก แก้ปัญหาในระบบย่อยอาหาร แก้อาการท้องผูก รักษาอาการอักเสบ ลดความเครียด แก้ไข้ แก้ปวดหัว และแก้อาการหอบหืด โดยเฉพาะส่วนของตาดอกใช้ลดน้ำมูก แก้ไข้หวัดธรรมดา ลดความเจ็บปวดจากไซนัส ลดอาการปวดหัวและลดจุดดำบนใบหน้า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้ตาดอกเป็นส่วนผสมในยาสีฟัน และสกัดนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำให้ผิวขาวขึ้นและลดอาการคันเนื่องมาจากการแพ้ ในตำราพื้นบ้านจีนและญี่ปุ่น ใช้สารสกัดจากเปลือกยี่หุบเป็นส่วนผสมในการรักษาอาการนอนไม่หลับและทำให้ระบบประสาททำงานได้ดี สำหรับในประเทศพบว่ามีการใช้มณฑาและยี่หุบเป็นสมุนไพรน้อยมาก มณฑาและยี่หุบจึงเป็นไม้ประดับไม้ให้กลิ่นหอม ต้องมาช่วยกันส่งเสริมให้มีการปลูกเพราะในปัจจุบันหาได้ค่อนข้างยาก ในขณะที่เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสปา และใช้ประโยชน์ทางยาอื่นๆ มากมาย (http://www.sookjaipic.com/images_upload/84373607445094__3609_3641_3604_3614_3619_3632.gif) นูดพระ Flemingia stobilifera (L.) W.T.Aiton var.stobilifera FABACEAE ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง ๑.๕-๓ เมตร ลำต้นรูปทรงกระบอก ลำต้นและกิ่งก้านมีขน ใบประกอบมีหนึ่งใบ เรียงสลับ รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งหนาม ขอบใบเรียบมีขนละเอียดหนาแน่น เส้นแขนงใบ ๑๐ คู่ หูใบรูปใบหอก เรียวแหลม มีริ้ว ยาว ๑๓ มิลลิเมตร ดอกช่อแบบกระจุกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมาก ใบประดับยาวได้ถึง ๒ เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีขาวนวลแกมเหลืองอ่อน รูปไข่กลับ มีลายเส้นมาก มีติ่งใบ ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน มีสองเมล็ด ใบ ตำพอกแก้ฝีหนอง ใช้ร่วมกับปูนแดง ยาพื้นบ้านล้านนาใช้ ราก ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้ปวดเมื่อย (http://www.sookjaipic.com/images_upload/18150939875178__3612_3637_3648_3626_3639_3657.gif) ผีเสื้อนวล Gagnepainia thoreliana (Baill.) K.Schum. ZINGIBERACEAE ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นเทียมสูง ๑๐-๑๕ เซนติเมตร เหง้ารูปทรงกระบอก รากสะสมอาหาร อวบน้ำ ขณะออกดอกไม่พบลำต้นเทียมและแผ่นใบ แตกใบในฤดูฝน ลำต้นเทียมสูง ๓๐ เซนติเมตร ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอก ช่อเชิงลด ออกจากเหง้าใต้ดิน ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ แฉก มีขนสั้นนุ่มปกคลุม หลอดกลีบโผล่พ้นกลีบเลี้ยง สีขาวอมเหลือง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปแถบหรือรูปขอบขนาน มักม้วนเป็นวงกลีบข้างขนาดใหญ่ รูปไข่กลับแผ่กางออกเป็นปีก สีขาวอมเหลือง กลีบปากรูปไข่กว้างมีปลายเว้ากว้างแยกเป็น ๒ แฉก ก้านชูเกสรเพศผู้ เรียวยาว ปลายโค้งลง มีขนขึ้น อันเรณูรูปรี ตรงปลายมีรยางค์สั้น เกสรเพศเมียรูปกรวยแคบ สีขาวหรือใส ปลายมีขนครุย รังไข่กลม สีเขียวอ่อน มีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ผล แห้งแตก รูปกระสวย อวบน้ำ เมล็ดเล็ก มีริ้วสีขาวนวล เหง้า ทั้งต้นสด ทุบให้ละเอียด ทารักษาแผลสด ห้ามเลือดสำหรับแผลสด ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/26258171142803__3652_3586_3657_1.gif) ยาจันทน์ลีลา แก้ไข้เปลี่ยนฤดู ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีตำรับยาอยู่ตำรับหนึ่งเป็นมรดกสืบทอดมา ให้นำมาใช้เกี่ยวกับอาการไข้เปลี่ยนฤดู คือ ยาจันทน์ลีลา ยาตำรับนี้ ตั้งชื่อโดยยกย่องพืชสมุนไพรจันทน์ขาวและจันทน์แดงเป็นฮีโร่ เพื่อใช้ลดไข้ แต่ในความเป็นจริง ตำรับยามีพลพรรคช่วยกันแก้ไข้ชนิดต่างๆ ทั้งหมด ๙ ชนิด ตัวยาทั้ง ๙ ชนิด ประกอบด้วย ๑.แก่นจันทน์ขาว รสขมหวานเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ไขกำเดา แก้เหงื่อตก บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้ร้อนในกระหายน้ำ ๒.แก่นจันทน์แดง รสขมเย็น ฝาดเล็กน้อย สรรพคุณ แก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทุกชนิด แก้ไอ แก้ซาง แก้เลือดออกตามไรฟัน บำรุงหัวใจ ๓.โกฐสอ หรือโกฐจีน เป็นรากสมุนไพรจำพวกโสม มีลักษณะกลมยาวคล้ายหัวผักกาด ผิวสีน้ำตาล เนื้อสีขาว จึงชื่อว่าโกฐสอ มีรสขมมัน กลิ่นหอม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ช่วยให้หัวใจชุ่มชื่น ๔.โกฐเขมา เป็นเหง้าแห้ง เนื้อมีสีน้ำตาลแกมดำ จึงได้ชื่อว่าโกฐเขมา มีรสร้อน กลิ่นหอม จึงมีอีกชื่อว่าโกฐหอม สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หวัดคัดจมูก แก้เหงื่อออกมาก ระงับอาการหอบ แก้ไขรากสาดเรื้อรัง เป็นยาขับปัสสาวะ ๕.โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรชนิดนี้กำลังได้รับความสนใจ เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ชาวจีนเรียกว่า “ชิงฮาว” มีฤทธิ์ต้านเชื้อไข้มาลาเรีย โกฐชนิดนี้หมอไทยใช้ทั้งต้น มีรสขม กลิ่นหอม สรรพคุณ แก้ไข้เจลียง ซึ่งมีอาการไข้จับวันเว้นวันอาการอย่างเดียวกับไข้มาลาเรีย และยังแก้ไข้กาฬ จำพวก หัด อีสุกอีใส อีดำอีแดง ฝีดาษ นอกจากนี้ยังแก้อาการ หืด ไอ ลดเสมหะ ๖.ลูกกระดอม เป็นผลของไม้เถา รสขม สรรพคุณ ลดไข้ ทำให้โลหิตเย็น บำรุงน้ำดี แก้อาการคลั่งเพ้อ โบราณใช้เมล็ดต้มน้ำดื่ม ถอนพิษเบื่อเมา ลดไข้ รากแห้งบดแช่น้ำร้อน ใช้ทาถูนวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย อ่อนเปลี้ย ๗.บอระเพ็ด รู้จักกันดีว่า มีรสขมจัด สรรพคุณ แก้ไข้ทุกชนิด แก้โลหิตเป็นพิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ที่สำคัญช่วยบำรุงกำลัง ๘.รากปลาไหลเผือก มีรสขมจัด สรรพคุณ ตัดไข้ได้ทุกชนิด ช่วยถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ โบราณใช้เป็นยารักษาวัณโรค ๙.เกล็ดพิมเสน รสหอมเย็น สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ กระตุ้นการหายใจ ช่วยระงับความกระวนกระวาย ในการปรุงยา ตัวยาสมุนไพร ๑-๘ หนักสิ่งละ ๔ ส่วน แทรกพิมเสน (ยาลำดับที่ ๙) อีก ๑ ส่วน ถ้าว่าตามสูตรตำรับที่ทางการประกาศใช้ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุว่า ในผงยา ๙๙ กรัม ประกอบด้วยโกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนังสิ่งละ ๑๒ กรัม พิมเสน หนัก ๓ กรัม นั่นเอง ขนาดการนำมาใช้ ปัจจุบัน มีการบรรจุในแคปซูล ถ้าเป็นผู้ใหญ่ กินแคปซูลขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม ครั้งละ ๒-๔ แคปซูล (จะได้ตัวยา ๑-๒ กรัม) ทุก ๓-๔ ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นเด็ก อายุ ๖-๑๒ ปี ให้กินปริมาณลดลงครึ่งหนึ่ง คือกินครั้งละ ๑-๒ แคปซูล ทุก ๓-๔ ชั่วโมงเช่นกัน ตำรับยาจันทน์ลีลามีการศึกษาวิจัยโดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าในสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาที่มีมาแต่เดิม คือ มีฤทธิ์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ที่น่าสนใจที่สุดคือการค้นพบสรรพคุณตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่ช่วยลดความร้อนจากไข้ได้อย่างดี ดังนั้น ไข้เปลี่ยนฤดูในช่วงนี้จึงควรหายาจันทน์ลีลามาเก็บไว้ในตู้ยาประจำบ้านกันทุกครัวเรือน (http://www.sookjaipic.com/images_upload/76227569828430__3652_3586_3657_2.gif) ชะงดเขา Aglaonema nitidum (Jack) kunth LAMIACEAE ไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๒๕-๒๗ เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลม ก้านใบยาวหุ้มที่ใกล้ปลายยอด กาบรูปขอบขนานเป็นติ่งแหลมคล้ายกระดาษ สีเขียวเข้ม หุ้ม ดอกช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ซอกใบ หาบหุ้มช่อดอกสีเขียว ก้านช่อดอก กาบสีเขียว ขอบสีขาวช่อเชิงลดมีกาบอ้วนสั้น ขนาดเกือบเท่ากับกาบ ดอกเพศผู้เกือบแหลม รังไข่มีช่องเดียว ยอดเกสรเพศเมียแบน มักกว้างกว่ารังไข่ ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปกระจุก มี ๑ เมล็ด ทรงรี ทั้งต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงกำลัง ผลสุกเป็นยาอายุวัฒนะ ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 มิถุนายน 2559 15:57:20 .
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRRCFEU17z9FHcZH8LxKQqL_rImPL4TvUwc-QD3djPw0iqY8GDZew) มะก่องข้าว กับสูตรแก้ปวดกระดูก วิธีดังกล่าว ให้เอา “มะก่องข้าว” ทั้งต้นรวมรากแบบแห้ง ๑ กำมือต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดแล้วเอาเนื้อห่อผ้าขาวบางประคบจุดที่ปวดกระดูกและดื่มน้ำที่ต้มครั้งละครึ่งแก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือ จะเอาทั้งต้นแบบแห้งต้มน้ำอาบ จะช่วยให้อาการปวดกระดูกและอาการไข้ที่เกิดจากการปวดกระดูกที่อักเสบให้หายได้ มะก่องข้าว หรือ CHINESE BELL FLOWER, COUNTRY MALLOW ABUTILON INDICUM SWEET. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีขึ้นเองตามที่รกร้างทั่วไป และมีชื่อเรียกอีกเยอะ ทั้งต้น เป็นยาบำรุงโลหิตขับลมช่วยให้เจริญอาหาร รากบำรุงธาตุแก้มุตกิด (อาการปัสสาวะขุ่น เสียวมดลูก ตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปวดชายกระเบนเหน็บในสตรี) แก้ไอบำรุงกำลัง ใบหรือทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวานดีมาก ใบตำพอกบ่มหนองให้สุกและแตกเร็ว ขยี้อุดฟันแก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQm47jPL88m0Xpe9PKDLl3dDazxtcG1fwefs8JenhVrGNR94cDT2A) โคกกระออม ยาดีข้างถนน ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นรวมราก ของ “โคกกระออม” จำนวนพอประมาณตัดเป็นท่อนเล็กๆต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นยา แก้ไขข้ออักเสบได้ดีระดับหนึ่ง สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งต้นยังนำ ไปผสมตัวยาอื่น เป็นยาแก้หอบหืดได้อีกด้วย ปัจจุบันยังนิยมใช้กันอยู่ ใบสด กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มแก้ไอ ตำพอกฝีให้แตกเร็วและหายได้ ต้นหรือเถาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ดอก ขับโลหิต ผลตำ พอกดับพิษไฟลวกไม่ให้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ด สด กินแก้ไอ ขับเหงื่อ รากตำ คั้นเอาเฉพาะน้ำหยอดตาแก้ตาต้อ รากตำ เอากากพอกแก้พิษ แมลงพิษต่อยหรือถูกงูพิษกัดก่อนพาส่งโรงพยาบาลให้แพทย์รักษา ยอดอ่อน สดกินขับปัสสาวะ กินเป็นผักสดได้ แต่รสชาติจะขมมาก แพทย์จีน ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขับน้ำนมทำให้เกิดน้ำนมในสตรี ท้องระบายเป็นยาแก้ไข้ น้ำคั้นจากใบสดหยอดตาแก้ตาเจ็บได้ โคกกระออม BALLOON-VINE, HEARTPEA หรือ CARDIOS PERMUM HALICACABUM LINN. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ขึ้นตามที่รกร้างข้างถนนทั่วไป ต้นเป็นเหลี่ยมสีเขียว มีมือเกาะคล้ายตำลึง ใบประกอบมีใบย่อย ๓ ใบ ขอบใบหยักลึก ๓ แฉก ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกขนาดเล็กคล้ายดอกมะระ ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกย่อย ๘-๑๐ ดอก มีกลีบดอก ๔ กลีบ มีเกสรเป็นกระจุก “ผล” ทรงกลม โตประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ พองลมเป็นสามเหลี่ยมสีเขียวอ่อนใส ห้อยลงคล้ายโคมไฟสวยงามมาก หากเอาผลบีบให้แตกจะมีเสียงดัง ภายในมีเมล็ดสีดำ ดอกออกช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงปลายฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือต้นต้อก, ลุมลับเครือ, เครือผักไล่น้ำ, โพออม, ติ๊นไข่และไหน มีปลูกเฉพาะตามสวนยาเท่านั้น หากต้องการต้นจะต้องเสาะหากันเองไม่มีวางขายครับ. นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQLv52uA1hNHpyde6FIXAgCWuwqG1vZnn3hRR9_zLJoxhBu40k4) ระย่อม ยาดีพื้นบ้าน ระย่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า RAUVOLFIA SERPENTINA (L.) BENTH. EX KURZ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดลงรากใต้ดิน รากขนาดใหญ่และยาวมาก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๓-๕ เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวเปลือกต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกหรือรูปรี ปลายและโคนใบแหลม ใบดกและหนาแน่นในช่วงปลายยอด ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกคล้ายดอกเข็มแดง ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีแดงอมม่วง ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีขาว ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักคู่ แบนและยาว มีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นอยู่ตามริมห้วยริมลำธารทั่วไป พบมากที่สุดทางภาคเหนือ รากจะมีขนาดใหญ่และยาวตามที่กล่าวข้างต้น มีชื่อเรียกอีกคือ กะย่อม, ย่อม, ย่อมตีนหมา, เข็ม และตูมคลาน รากรสขม รากสดต้มน้ำดื่มแก้โรคเลือด แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร แต่รับประทานมากจะทำให้เมาได้ รากสดต้มน้ำดื่มช่วยย่อยอาหารและจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยหรือกินจุ อาจทำให้เกียจคร้านคล้ายกับคนสูบกัญชา แต่ไม่ใช่ยาเสพติด หากกินแบบพอดีจะมีประโยชน์มาก ในอดีตทหารญี่ปุ่นเอารากของ “ระย่อม” สดตำละเอียดกรอกปากม้ากินเพื่อถ่ายพยาธิด้วย เด็กที่มีพยาธิในตัวใช้รากดังกล่าวกินขับออกจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งในรากของ “ระย่อม” มีสาร “อัลคาลอยด์” ชนิดหนึ่งสามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้ สมัยก่อน นิยมปลูกตามหมู่บ้านอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นยากลางบ้านหรือยาพื้นบ้านตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันบางพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ครับ นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTw7tpPMsysZIAJjGEPD7qcEAhMRMmo0doMJpoNBgQFPchzeihn) สาบแร้งสาบกา ยาดีข้างทาง ไม้ต้นนี้ พบมีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างข้างทางทั่วไป มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยคือ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่) ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียนแม่ฮาง (เลย) และ หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี) ซึ่งต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า AGERATUM CONY-ZOIDES LINN. อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มักงอกรากที่โคนต้น ต้นสูง ๑๕-๑๐๐ ซม. กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะมีขนปกคลุม ต้นและใบสดเด็ดขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาบแร้งสาบกา” ใบเดี่ยว ออกสลับหรือตรงกันข้าม รูปไข่ ขอบใบหยัก โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ทั้ง ๒ ด้านมีขนละเอียด ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก ๓-๕ ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงอ่อน “ผล” รูปทรงกลม เมื่อแก่ไม่แตก ภายในมีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สรรพคุณทางยา ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ ใช้รากและใบสดเคี้ยวกินหรือต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ รากและใบสดตำพอกหรือคั้นน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษแมลงกัดต่อย เช่น พิษตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น ยาพื้นบ้าน ใช้ทั้งต้นรวมรากต้มน้ำดื่มแก้ไข้ทับระดู ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด ใบสดตำคั้นน้ำดื่มช่วยให้อาเจียนและตำพอกแก้คันตามผิวหนังร่างกาย การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นรวมราก หรือเฉพาะรากเพียงอย่างเดียวมีฤทธิ์ระงับความปวดมีความแรงเท่ากับ “มอร์ฟีน” ต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นยาดีข้างทางที่พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่มีต้นวางขายที่ไหน ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะตามสวนยาสมุนไพรไทยและสวนยาจีนเท่านั้น จึงแนะนำเพื่อเป็นความรู้ครับ. นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/91639399238758_EyWwB5WU57MYnKOuX7Eo04Mqo9ayAw.jpg) มะพลับไทย แก้กามตายด้าน สถิติ ผู้ชายเป็นโรคกามตายด้าน หรือ “ลึงค์ตาย” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหนุ่มและแก่ ซึ่งทางสมุนไพร ให้เอา เปลือกต้น “มะพลับไทย” แห้งหรือสดจำนวนตามต้องการ ปิ้งไฟให้กรอบหัก ห่อผ้าขาวบางต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ สามารถแก้กามตายด้านหรือ “ลึงค์ตาย” ได้ และช่วยบำรุงให้เกิดกำหนัดดีมาก น้ำต้มดังกล่าวยังอมกลั้วในปาก ๕ นาทีหลังอาหาร ๓ เวลาบ้วนทิ้ง รักษาแผลในช่องปาก ทำให้เหงือกและฟันทนแข็งแรง เปลือกต้นและเนื้อไม้ของ “มะพลับไทย” แห้งหรือสดยังต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหารแก้ท้องร่วงด้วย มะพลับไทย หรือ มะพลับป่า DIDSPYROS EMBRYOPTERIS SIAMENSIS อยู่ในวงศ์ EBENACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ดอกสีขาว “ผล” กลม เมื่อสุกเป็นสีแดง เนื้อรสหวานกินได้ ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/40109385301669_EyWwB5WU57MYnKOuX7JBnq9BZWfZva.jpg) เกสรบัวหลวง แก้ขี้หลังขี้ลืม ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรเป็นทางเลือกที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และ “เกสรบัวหลวง” เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยแก้อาการขี้หลงขี้ลืม แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นอัลไซเมอร์ได้ คือให้เอา “เกสรบัวหลวง” แห้ง ๑ หยิบมือ กับ มะตูม แห้ง ๓ แว่น และ ตะไคร้แกง สด ๓ ต้นไม่เอาใบ ต้มกับน้ำ ๑ ลิตร ดื่มวันละ ๑ แก้ว ก่อนอาหารเช้า ประมาณ ๑ อาทิตย์จะดีขึ้นและเห็นผลอย่างชัดเจน สามารถต้มดื่มเรื่อยๆ ได้ ไม่อันตรายอะไร คนอายุ ๗๐ ปี ต้มดื่มได้ บัวหลวง หรือ NELUMBO NUCIFERA GAERTN. อยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เหง้าเป็นยาเย็น “ดีบัว” หรือต้นอ่อนในเมล็ดสีเขียวออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ เกสรเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในเกสรทั้ง ๕ ทั้ง ๗ และทั้ง ๙ ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUz2jDvb5OVYVeZWH5PNv6mRP1XCniMY6oBpacR7Z9fjUzE1bykA) งิ้ว เกสรอร่อย สรรพคุณดี งิ้ว พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไปในประเทศไทย พบมากที่สุดทางภาคเหนือ ชาวเหนือรู้จัก “งิ้ว” เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะมีขึ้นเองตามป่าธรรมชาติแล้วยังนิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้านกันอย่างแพร่หลายมาแต่โบราณเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหาร คือ เกสรตัวผู้จากดอกของ “งิ้ว” นำไปตากแห้งโรยในขนมจีนนํ้าเงี้ยวหรือปรุงเป็นแกงแครับประทานอร่อยมาก ซึ่งอาหารทั้ง ๒ อย่างจะขาดเกสรของดอก “งิ้ว” ไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด ในทางสมุนไพรและการใช้ประโยชน์อื่นๆ ราก นำไปต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มเป็นยาทำให้อาเจียนเพื่อขับและถอนพิษต่างๆออกจากร่างกาย เปลือกต้นใช้ทำเชือก ยาง จากต้นแก้ท้องร่วงได้ เนื้อไม้ทำฟืน ทำฝาบ้าน หีบใส่ของ ผลิตเป็นของเล่นเด็กๆ แบบยุคโบราณหลายอย่าง ซึ่งในยุคปัจจุบันไม่พบเห็นอีกแล้ว ทำก้านไม้ขีด กล่องไม้ขีด ไม้จิ้มฟัน ทำไม้อัด เยื่อกระดาษใบแห้งหรือสด ตำทาแก้บวมชํ้าดีมาก ดอกแห้ง ปรุงเป็นยาทาระงับปวดและแก้พิษได้ งิ้ว หรือ BOMBAX CEIBA LINN อยู่ในวงศ์ BOMBACA CEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม กิ่งแขนงแผ่กางออกเกือบตั้งฉากกับลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรี ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๓-๕ ดอกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ๓-๔ แฉกไม่เท่ากัน กลีบดอก ๕ กลีบเป็นสีแดง ปลายกลีบม้วนออก ซึ่งอีกชนิดดอกเป็นสีเหลือง แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกติดกันเป็นกลุ่ม และเกสรดังกล่าวนำไปตากแห้งเป็นอาหารตามที่กล่าวข้างต้น “ผล” รูปรี หรือรูปขอบขนานคล้ายผลนุ่น มีเมล็ดสีดำจำนวนมากหุ้มด้วยปุยนุ่นสีขาว ดอกออกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทุกปี และจะทิ้งใบก่อนจะมีดอกทุกครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกคือ นุ่นนาง งิ้วแดง ปักมี้ (จีน) งิ้วป่า งิ้วปงแดง และ งิ้วบ้าน มีดอกแห้งขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔ ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/45820263276497_EyWwB5WU57MYnKOuYBjl4SKaaIjSO0.jpg) ชุมแสง ความเชื่อดีมีสรรพคุณ สมัยก่อน ตามชนบทนิยมปลูกต้น “ชุมแสง” อย่างแพร่หลาย เนื่องจาก ในยุคนั้นเวลาจะสร้างหลังคาโบสถ์ของวัด คาน ขื่อ และ แป จะต้องใช้เนื้อไม้จากต้น “ชุมแสง” เท่านั้น จึงจะเป็นมงคล และนอกจากจะมีความเชื่อดีๆ ตามที่กล่าวแล้ว ต้น “ชุมแสง” ยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย คือ ราก เปลือกต้น และใบ เอาไปผสมกับเนื้อไม้ต้นสะแกแสง เนื้อไม้ต้นสะแบงและเนื้อไม้ต้นสังวาลย์–พระอินทร์จำนวนพอประมาณ หรือใกล้เคียงกัน นำทั้งหมดไปแช่ในน้ำต้มจนเนื้อยาออก แล้วตักอาบ เช้าเย็นแก้โรคผิวหนังผื่นคันพุพองได้ดีมาก ชุมแสง หรือ XANTHO PHYLLUM LAN CEATUM (MIQ) อยู่ในวงศ์ XANTHOPHYLLACEAE เป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ เมตร ใบเดี่ยวออกสลับรูปขอบขนาน ดอกออกตามซอกใบสีม่วงอ่อนแกมสีเหลืองอมน้ำตาล “ผล” กลม มีเมล็ด พบขึ้นทุกภาคของประเทศไทย มีชื่ออีกคือ กันแสง ไม้แสง และประดงทอง ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/36083505882157_EyWwB5WU57MYnKOuYBnzSsrXv7Dc0v.jpg) สาบแร้งสาบกา ยาดีข้างทาง ไม้ต้นนี้พบมีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างข้างทางทั่วไป มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยคือ หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่) ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี) เทียนแม่ฮาง (เลย) และ หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี) ซึ่งต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า AGERATUM CONY-ZOIDES LINN. อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง มักงอกรากที่โคนต้น ต้นสูง ๑๕-๑๐๐ ซม. กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะมีขนปกคลุม ต้นและใบสดเด็ดขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาบแร้งสาบกา” ใบเดี่ยว ออกสลับหรือตรงกันข้าม รูปไข่ ขอบใบหยัก โคนใบป้าน ปลายใบแหลม ทั้ง ๒ ด้านมีขนละเอียด ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็ก ๓-๕ ดอก ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วงอ่อน “ผล” รูปทรงกลม เมื่อแก่ไม่แตก ภายในมีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สรรพคุณทางยา ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว มูเซอ ใช้รากและใบสดเคี้ยวกินหรือต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แก้ไข้ ปวดศีรษะ รากและใบสดตำพอกหรือคั้นน้ำทารักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด แก้อาการอักเสบจากพิษแมลงกัดต่อย เช่น พิษตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น ยาพื้นบ้าน ใช้ทั้งต้นรวมรากต้มน้ำดื่มแก้ไข้ทับระดู ขับเสมหะ ขับลม แก้บิด ใบสดตำคั้นน้ำดื่มช่วยให้อาเจียนและตำพอกแก้คันตามผิวหนังร่างกาย การทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำต้มจากทั้งต้นรวมราก หรือเฉพาะรากเพียงอย่างเดียวมีฤทธิ์ระงับความปวดมีความแรงเท่ากับ “มอร์ฟีน” ต้น “สาบแร้งสาบกา” เป็นยาดีข้างทางที่พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่มีต้นวางขายที่ไหน ส่วนใหญ่นิยมปลูกเฉพาะตามสวนยาสมุนไพรไทยและสวนยาจีนเท่านั้น จึงแนะนำเพื่อเป็นความรู้ครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/79852661242087_EyWwB5WU57MYnKOuXogiAizDf6Um25.jpg) ก้ามปูหลุด แก้ข้อบวมปวด ตำรายาจีน ระบุว่า ใบสด ของต้น “ก้ามปูหลุด” จำนวนตามต้องการใช้แต่ละครั้งตำพอละเอียด เอาเนื้อพอกจุดที่ข้อบวมและปวดวันละครั้งตอนไหนก็ได้ ตำพอกทุกวัน ๑-๒ อาทิตย์จะดีขึ้นและหายได้ ยาแผนไทย เอาทั้งต้นรวมรากแบบสดจำนวนพอประมาณ ตำละเอียดผสมเหล้าขาว ๒๘ หรือ ๔๐ ดีกรีเล็กน้อย แล้วเอาทั้งน้ำและเนื้อพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น จะช่วยให้ไม่ปวดแสบปวดร้อนและแผลค่อยๆ ดีขึ้น ทั้ง ๒ วิธีทดลองดูไม่มีอันตรายอะไร ก้ามปูหลุด หรือ TRADESCANTIA ZEBRINA HORT. EX BOSSE ชื่อพ้อง ZEBRINA PENDULA SCHNIZL. ชื่อสามัญ WAN DERING JEW อยู่ในวงศ์ COMME-LINACEAE เป็นไม้คลุมดินลำต้นทอดเลื้อย ใบสองสีสวยงามมาก มีต้นขายทั่วไป นิยมปลูกประดับแพร่หลาย. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/90224910693036_EyWwB5WU57MYnKOuX7GJrSM0C22GQq.jpg) ไม้เท้าเฒ่าอารี สรรพคุณดีมีต้นขาย ในประเทศไทย รู้จักต้น “ไม้เท้าเฒ่าอาลี” มาช้านานแล้ว และรู้จักนำเอาบางส่วนของต้นไปใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพรมาแต่โบราณเช่นกัน โดยเฉพาะในแถบ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ด้วยการนำเอากิ่งก้านและเนื้อไม้หรือลำต้นจะแก่หรืออ่อน สดหรือตากแห้งก็ได้ กะจำนวนตามต้องการ ต้มกับน้ำจนเดือดดื่มวันละ ๔ เวลาก่อนอาหารและก่อนนอนครั้งละ ๑ แก้วประจำ จะช่วยเพิ่มพลังทางเพศให้บุรุษได้ดีมาก จึงทำให้มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า ต้น “ตุกะอาลี” แต่เป็นไม้ที่พบขึ้นทั่วไปบนเขาสูงและป่าดิบชื้นใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีชื่อเรียกตามสรรพคุณอีกว่า “เจ้าคุณกวนเมีย” ในประเทศมาเลเซีย เรียกไม้ต้นนี้ว่า “สตรองกัสอาลี” และได้นำเอาเนื้อไม้ไปทำเป็นผงบรรจุใส่แคปซูลออกวางขาย โดยได้จดทะเบียนยาเป็นลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศมาเลเซีย ซึ่งชาวมาเลเซียถือเป็นยาไวอากร้าของประเทศเขาเลยทีเดียว ไม้เท้าเฒ่าอาลี หรือ “สตรองกัสอาลี” ยังมีสรรพคุณดีอีกหลายอย่าง คือ สามารถรักษาโรคผิวหนังด้วยการต้มอาบ โรคร้ายแรงเช่นเอดส์และมะเร็งผิวหนังได้ระดับหนึ่ง และยังนำไปเข้ายา เช่น ต้นแกแล ที่มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ต้นไกรทอง และอื่นๆอีกมากกว่า ๑๐ ชนิด จำนวนแตกต่างกันตามตำรับยาโบราณและพิกัดยาแผนไทย ทำเป็นห่อๆต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ กินจนยาจืดช่วยคลายเส้นคลายกล้ามเนื้อแก้เกาต์ ลดอาการบวมที่เกิดจากเกาต์ และลดน้ำตาลในเลือดหรือโรคเบาหวานได้ระดับหนึ่ง ส่วนคนไม่เป็นเบาหวาน สามารถนำไปดองกับเหล้าขาว ๔๐ ดีกรี ดื่มครั้งละ ๑ แก้วตะไลก่อนอาหารและก่อนนอนได้ ไม้เท้าเฒ่าอาลี เป็นไม้พุ่ม สูง ๔-๕ เมตร ผ่าหรือตัดเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบประกอบออกเรียงสลับ ใบย่อยออกตรงกันข้ามรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯบริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเองครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSSZadJjey542XArLK33PXW7dBOhNIPTRGR7Pz6jt7M_SbieRA2) กระทกรก ฆ่าตัวหิด โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ ๑ อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น ๓ แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ ๑ กำมือต้มกับน้ำ ๔ แก้ว เคี้ยวจนเหลือ ๒ แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/66712617791361_EyWwB5WU57MYnKOuX2BKZcTOV7RKMJ.jpg) เพชรสังฆาต กับวิธีแก้่กระดูกเสื่อม ผู้สูงอายุไม่น้อยเพิ่งเริ่มมีอาการปวดกระดูกตามข้อต่างๆ ของร่างกาย แต่ยังไม่รุนแรง อยากทราบว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ซึ่งก็เคยแนะนำไปแล้วคือให้เอาต้น “เพชรสังฆาต” กับหัวจุกมะพร้าวน้ำหอม แก่นต้นเถาวัลย์เปรียง และว่านหางจระเข้ไม่ปอกเปลือกแบบสด ทั้งหมดเท่ากันกะตามต้องการต้มกับน้ำ ๒ ลิตร จนเดือดดื่มครั้งละ ๓ ส่วน ๔ แก้ว เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ถ้าดื่มแล้วอาการดีขึ้นต้มดื่มจนยาจืดและต้มดื่มต่อเนื่องจะหายได้ หลังจากนั้นต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์เฉพาะทางให้รักษาประจำจะไม่เกิดอาการปวดขึ้นอีก เพชรสังฆาต หรือ CISSUS QUADRANGULALIS LINN. อยู่ในวงศ์ VITACEAE เถาสดกินแก้ริดสีดวงทวาร วันละ ๑ ข้อจนครบ ๓ วัน โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียกหรือกล้วยสุกหุ้มกลืนทั้งหมด เพราะเถาอาจจะทำให้คันคอได้ ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSi6jB7a-Ib4xSlIRxbQScG_uQuX0e3RmjMXHRT9Ptqme6pdobPAg) ตะลิงปลิง กับวิธีรักษาโรคคางทูม ในยุคสมัยก่อน คนเป็นโรคคางทูมกันเยอะ เป็นแล้วบริเวณลำคอใต้คางจะนูนขึ้นมองเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งในยุคนั้น คนที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางลำบากมาก เนื่องจากบ้านอยู่ห่างไกลโรงหมอหรือสุขศาลา ส่วนใหญ่จึงอาศัยหมอพื้นบ้านให้เจียดสมุนไพรรักษาให้ โดยเอาใบสดของ “ตะลิงปลิง” ประมาณ ๑ กำมือล้างนํ้าให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียดใส่นํ้าลงไปเล็กน้อย จากนั้นเอาทั้งนํ้าและเนื้อพอกบริเวณที่เป็นคางทูม ๒ เวลา เช้าเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆ ทุกวัน ประมาณ ๑ อาทิตย์จะหายได้ ปัจจุบันโรคคางทูมแทบไม่พบอีกแล้ว แนะนำให้เป็นความรู้ ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. ชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๒ เมตร ใบประกอบ ออกสลับ มีใบย่อย ๒๕-๓๕ ใบ เป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบและมีขนนุ่มทั้งใบ ดอก ออกเป็นช่อตามโคนต้นและกิ่งแก่ มีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีแดงอมม่วง ใจกลางดอกเป็นสีนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน สั้นยาวอย่างละ ๕ อัน “ผล” รูปกลมรีกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. ผลแบ่งเป็นพูตื้นๆ ๕ พู เนื้อผลฉ่ำนํ้า รสเปรี้ยวจัด ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ด มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย อเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือปลีมิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) และ หลิงปลิง (ภาคใต้) ทางอาหาร ผลสดปรุงอาหารที่ต้องการให้มีรสเปรี้ยว แปรรูปเป็นผลไม้แห้ง แช่อิ่ม ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพร ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQdKLz6zIMFtAk8QuxpMM-oTEM3uEOOI923Yggl18iLKJLoanBcQg) จาวตาล ละลายนิ่วถุงน้ำดี จาวตาล คือเนื้อในของลูกตาล ที่ได้จากการเอาผลตาลสุกไปเพาะเป็นต้นกล้า เมื่อมีต้นแทงขึ้นจากหัวผลตาลยาวประมาณ ๔-๕ นิ้วฟุต ให้รีบปอกเปลือกแล้วผ่าเอาเนื้อในจะเป็นจาวเหมือนจาวมะพร้าวรับประทานหวานหอมอร่อยมาก เรียกว่า “จาวตาล” ซึ่งจาวตาลดังกล่าวจำนวน ๑ จาว แบ่งกิน ๓ ครั้ง คือ เที่ยง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ บ่ายสามโมงและสามทุ่ม กินติดต่อกัน ๗ วัน จะละลายนิ่วในถุงน้ำดีสำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าเพิ่งเป็นใหม่ๆ ได้ สามารถกินได้ต่อเนื่องไม่อันตรายอะไร ตาล หรือ BORASSUS FLABELLIFER LINN. อยู่ในวงศ์ ARECACEAE ใบสดหรือแห้งคั่วไฟอ่อนๆ พอกรอบแล้วบดเป็นผงสูบหรือเป่า ลดความดันโลหิต รากสดต้มน้ำดื่มครั้งละ ๑ แก้ว แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ กาบหรือก้านใบสด อังไฟให้ร้อนแล้วบีบเอาน้ำกินแก้ท้องร่วมหรืออมบ้วนทิ้งแก้ปากเปื่อยได้ ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/44061984494328_EyWwB5WU57MYnKOuYNtq26c1gBM1cj.jpg) สะบ้ามอญ สรรพคุณดี ในยุคสมัยก่อน ผู้เฒ่าผู้แก่มีวิธีรักษาเส้นผมให้แข็งแรงและดกดำเป็นเงางามอยู่เสมอด้วยธรรมชาติ คือ เอาใบกิ่งก้านที่ยังไม่แก่ของ “สะบ้ามอญ” มากน้อยตามต้องการใช้ในแต่ละครั้ง ทุบพอชํ้าแล้วผึ่งลมให้หมาดนำไปตีกับนํ้าในกะละมังจะเกิดฟองลื่นเหมือนฟองสบู่ จากนั้นเอานํ้าดังกล่าวชโลมเส้นผมให้ทั่ว ขยี้เกาเหมือนการสระผมจนพอใจแล้วล้างนํ้าออก จะทำกี่ครั้งได้ตามใจชอบ เมื่อใช้ผ้าเช็ดเส้นผมจะพบว่ามีกลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ เส้นผมแข็งแรงดกดำเป็นเงางามไม่แตกปลายและไม่เป็นรังแคทำให้คันหนังศีรษะ ลำต้นกิ่งก้านยังใช้เป็นยาขับพยาธิผิวหนังโดยใช้ภายนอกได้อีก เมล็ดสุมไฟจนเป็นเถ้ากินแก้พิษไข้ดีระดับหนึ่ง สะบ้ามอญ หรือ ENTADA SCANDENS, CENTH. อยู่ในวงศ์ MIMOSEAE เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นแบนและมักบิดเป็นเกลียว ดอกเป็นช่อกระจุกสีขาวอมเหลือง “ผล” เป็นฝักยาว มีเมล็ด ๕-๗ เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดสีแดงเข้ม รูปทรงคล้ายสะบ้าหัวเข่า ในเทศกาลสงกรานต์ชาวมอญนิยมเอาเมล็ดไปทอยเรียกว่าเล่น “สะบ้า” จึงถูกเรียกชื่อว่า “สะบ้ามอญ” พบขึ้นตามป่าราบทุกภาคของประเทศไทย สะบ้ามีอีก ๓ ชนิด แต่ละชนิดเป็นไม้เถาเลื้อยเหมือนกัน แตกต่างเพียงเมล็ดและฝักคือ “สะบ้าลาย” มีเมล็ด ๒-๓ เมล็ด ไม่นิยมใช้เป็นสมุนไพร ชนิดที่ ๒ คือ “สะบ้าดำ” มี ๗-๘ เมล็ด ขนาดของเมล็ดและฝักเล็กกว่า “สะบ้ามอญ” นิยมเอาเมล็ดเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน หิดเหา ผื่นคัน โรคผิวหนังต่างๆ และสุดท้ายได้แก่ “สะบ้าเลือด” เปลือกเมล็ดจะแข็งมาก นิยมเอาไปหุงเป็นนํ้ามันทาแก้กลากเกลื้อนดีมาก ปัจจุบันต้น “สะบ้ามอญ” หายากแล้ว ใครต้องการต้นไปปลูกต้องเดินสอบถามตามแผงขายไม้ไทยโบราณ ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ให้ผู้ขายช่วยจัดหาให้ ส่วนเมล็ดของ “สะบ้ามอญ” ตามภาพประกอบคอลัมน์ มีขายที่บริเวณโครงการ ๒๔ สามารถนำเมล็ดไปเพาะเป็นต้นได้ ราคาสอบถามกันเองครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/48732832115557_EyWwB5WU57MYnKOuYLY7ArndBmnbc0.jpg) ดีปลี กับวิธีแก้โรคภูมิแพ้ สมุนไพรแก้โรคภูมิแพ้ มีหลายอย่าง แต่ “ดีปลี” ที่แนะนำในวันนี้ ใช้ได้ผลดีระดับหนึ่งกับคนทุกธาตุ โดยให้เอาดอก “ดีปลี” ๓๐ กรัม หัวตะไคร้แกง ยาว ๒ นิ้วฟุต ๓๐ กรัม ขิง แก่หรืออ่อนก็ได้ ๓๐ กรัม ทั้งหมดแบบแห้ง และใบต้นหนุมานประสานกาย จำนวน ๔๐ ใบย่อยแบบสด นำทั้งหมดต้มรวมกันในน้ำมากหน่อยจนเดือดดื่มก่อนอาหารครึ่งแก้วเช้าเย็น ดื่มไปเรื่อยๆ อาการโรคภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ มีเสมหะเยอะจะดีขึ้นให้ต้มดื่มจนกว่าจะหาย ดีปลี หรือ LONG PEPPER, PIPER RETROFLACTUM VAHL. อยู่ในวงศ์ PIPERA-CEAE สรรพคุณเฉพาะ ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกตากแห้งใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับรกหลังคลอด โดยให้ใช้ผล ๑๐-๑๕ ผล ต้มน้ำดื่มเป็นยา ช่วยแก้ไอด้วย ผลแห้งครึ่งผลฝนกับน้ำมะนาวเกลือป่นเล็กน้อยกวาดคอ หรือจิบบ่อยๆ มีฤทธิ์ขับลม แก้ไอได้ดีมาก ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQsPCzFsMKarCwL_s7fxDVsXVL7em04-TyqFF6jMQ-gQ5ufa5gtQw) แปะก๊วย กับสรรพคุณน่ารู้ สตรีหลังคลอดจะมีอาการปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกจะหย่อน เป็นแล้วบางครั้งไอหรือจามจะกลั้นไม่อยู่ ปัสสาวะไหลหรือเล็ดได้ ทำให้รู้สึกรำคาญมาก สามารถแก้ได้คือ ให้เอา “แปะก๊วย”๗ เม็ด หรือ ๑๐ เม็ด เผื่อเสีย เอาทั้งเปลือกคั่วไฟให้เปลือกเกรียมเกือบดำ จากนั้นกะเทาะเปลือกออกเอาเนื้อในที่ยังคงมีเยื่อหุ้มอยู่กินก่อนอาหารทุกวัน วันละครั้งจนครบ ๑๐ วัน ทำกินต่ออีกแบบเดิม แต่ครั้งนี้ให้เอาเยื่อหุ้มออกกินจนครบ ๑๐ วันเช่นกัน และ ที่สำคัญก่อนนอนจะต้องขมิบช่องคลอดช่วยด้วย ครั้งละไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ครั้ง อาการปัสสาวะบ่อยจะหายได้ ยังทำให้มดลูกกระชับดีด้วย แปะก๊วย หรือ GINKGO BILOBA เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๕-๒๐ เมตร ใบคล้ายใบขึ้นฉ่าย ดอกเป็นสีขาวนวล “ผล” รูปกลมรีคล้ายลูกรักบี้ เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีดอกและผลปีละ ๒ ครั้ง มีผลแห้งขายทั่วไป ส่วนต้นมีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป สรรพคุณเฉพาะ ใบของ “แปะก๊วย” ช่วยให้โลหิตหัวใจสมองไหลเวียนดี บำรุงร่างกาย แก้อาการหูอื้อ ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท ความจำ เสื่อมขี้หลงขี้ลืมยังไม่ถึงขั้นเป็นอัลไซเมอร์ ชะลอความแก่ เสริมภูมิต้านทานในร่างกาย โดยให้เอาใบแห้งหรือสดต้มกับนํ้า ครั้งละ ๓-๑๒ กรัม ดื่มวันละ ๒ เวลา เช้ดาเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ครั้งละ ๑ แก้ว ถ้าเป็นแบบบรรจุห่อสำเร็จ ๑ ซอง ต้มได้ ๕ ครั้ง สัดส่วน ๑ ครั้งต่อนํ้า ๓ แก้ว ดื่มประจำจะดีมาก ผลทั้งเปลือก ๑๐ ผล ต้มนํ้าผสมนํ้าตาลทรายแดงเล็กน้อย ดื่มแก้โรคฉี่บ่อยและไตไม่ปกติได้ ดังนั้น ต้น “แปะก๊วย” จึงเหมาะจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นทั้งอาหารและประโยชน์ทางยาตามที่กล่าวข้างต้นได้คุ้มค่าครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ fu หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 มิถุนายน 2559 15:59:39 .
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRl7jki7gEvpNDm-LQvQ3Gi0PL8QJrcqo5AGYryzlXBHrZRVlgs) ตำลึงตัวผู้ กับวิธีบรรเทาปวดหัวข้างเดียว ปวดหัวข้างเดียวแต่ไม่ใช่เกิดจากการเป็นไมเกรน หากเริ่มมีอาการใหม่ๆ เป็นๆ หายๆ บรรเทาได้โดยให้เอาใบสดของ “ตำลึง” กับใบสดของต้นข่อย กะจำนวนเท่ากันตามที่ต้องการใช้ในแต่ละครั้ง และข้าวสารเหนียวหรือข้าวสารเจ้า ๑ ขยุ้มมือตำรวมกันทั้ง ๓ อย่างจนละเอียดใส่น้ำพอเปียกคั้นเอาเฉพาะน้ำทาบริเวณศีรษะข้างที่ปวดพอน้ำแห้งให้ทาใหม่เรื่อยๆ ประมาณครึ่งชั่วโมงอาการปวดจะหายได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ใช่การรักษาให้หายขาดเป็นการบรรเทาเวลาเกิดอาการขึ้นเท่านั้น ตำลึง หรือ COCCINIA GRANDIS LINN. VOIGT. อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE รากและใบขยี้ทาแก้คันถอนพิษปวด ใบแห้งและผลดิบ ลดน้ำตาลในเลือดได้ ข่อย หรือ STREBLUS ASPEP LOUR. เปลือกต้นดับพิษในกระดูกและเส้นเอ็น ใบสดปิ้งไฟชงน้ำดื่มเป็นยาระบายอ่อนๆ ดีมาก ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/58098411849803_EyWwB5WU57MYnKOuiJve7DyLDpwcvX.jpg) ผีพวนน้อย รากแก้ไตพิการใหม่ๆ ได้ อาการของโรคไตพิการใหม่ๆ เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีแดง และมักจะมีอาการแน่นท้องจุกขึ้นไปถึงยอดอกกินอะไรไม่ได้มันแน่นไปหมด หากมีอาการตามที่กล่าวใหม่ๆ พอช่วยได้คือให้เอารากสดของต้น “พีพวนน้อย” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มขณะอุ่นครั้งละ ๑ แก้ว ๒ เวลา ตอนไหนก็ได้ จะช่วยรักษาโรคไตพิการเป็นใหม่ๆให้หายได้ รากสดของ “พีพวนน้อย” ยังนำไปผสมกับรากสดหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนาและลำต้นอ้อยแดงจำนวนเท่ากันกะตามเหมาะสมต้มกับน้ำมากหน่อย ให้สตรีที่มีรูปร่างผอม แห้งแรงน้อยดื่มต่างน้ำเรื่อยๆ ช่วยบำรุงเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลขึ้นอย่างเหลือเชื่อ พีพวนน้อย หรือ UVARIA RUTABLUME ชื่อพ้อง UVARIA RIDLEYI KING อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า ๑๐ เมตร ลำต้นหรือเถาใหญ่ประมาณลำแขนผู้ใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบออกสลับรูปรี ปลายแหลม โคนเว้าเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง กลีบดอกมี ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น “ผล” เป็นช่อห้อยลง ประกอบด้วยผลย่อยหลายผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองหรือสีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดเยอะ รับประทานได้ รสชาติหวานปนเปรี้ยว มีดอกและติดผลเดือนเมษายน-มิถุนายนทุกปี ติดผลแก่หรือสุกหลังจากมีดอก ๔ เดือน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะขึ้นตามริมห้วยริมลำธาร คนที่ชอบขึ้นเขาเข้าป่าจะรู้จัก “พีพวนน้อย” เป็นอย่างดี และมักจะเก็บผลสุกลงไปวางขายมัดเป็นช่อละหลายบาท มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆเยอะ เช่น นมแมว (ภาคกลาง) บุหงาใหญ่ (เหนือ) นมควาย (ใต้) นมแมวป่า (เชียงใหม่) หำลิง (อีสาน) ติงตัง (โคราช) ติงตังเครือ (ศรีสะเกษ-อุบลฯ) พีพวนน้อย (อุดรฯ) ไม่มีวางขายที่ไหน แนะนำให้รู้จักประดับความรู้ครับ. ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQT9Tzp2VkSMmR2clEmYtTCBAVz5aZzCS0_P7CvXgUgANPGu_Zu) หูเสือ แก้เจ็บคอทอนซิลอักเสบ ในช่วงฤดูร้อน หากกินน้ำน้อยจะทำให้รู้สึกเจ็บคอเป็นประจำ หรือ บางครั้งอาจทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบได้ ในทางสมุนไพรมีวิธีช่วยหรือแก้ได้คือ ให้เอาใบสดของต้น “หูเสือ” จะเป็นใบใหญ่หรือเล็กก็ได้ตามแต่จะหาได้ จำนวน ๕ ใบ ล้างน้ำให้สะอาด สับรวมกับเนื้อหมูไม่ติดมันกะจำนวนตามต้องการ ไม่ต้องปรุงแต่งรสชาติหรือใส่อะไรลงไปอีก จากนั้นปั้นเป็นก้อนๆโตพอประมาณต้มกับน้ำไม่ต้องมากนักจนเดือด หรือจนเนื้อหมูสุก กินทั้งน้ำและเนื้อเช้า–เย็น ไม่ต้องกินกับข้าวสวย ทำกินติดต่อกันทุกวัน ๔-๕ วัน อาการเจ็บคอและอาการต่อมทอนซิลอักเสบจะบรรเทาขึ้นและหายได้ในที่สุด หากยังไม่หายต้มกินจนกว่าอาการจะหายไม่มีอันตรายอะไร เมื่อหายแล้วหยุดกินได้ สูตรดังกล่าวนิยมใช้กันมาแต่โบราณแล้ว หูเสือ หรือ COLEUS AMBOINICUS LOUR อยู่ในวงศ์ LABIATEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี แตกกิ่งก้านเยอะ ใบหนาแข็งและมีขนกระจายทั่ว ขอบใบจักคล้ายใบพิมเสน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ใบหนาแน่นคลุมดิน เป็นไม้ที่สามารถเก็บน้ำไว้เลี้ยงลำต้นและใบตัวเองได้เป็นเวลานานแม้จะขาดน้ำหลายๆ วัน ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น มีชื่อเรียกอีกคือ ผักหูเสือ หูเสือไทย อีไหลหลึง หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) และ หูเสือ (อีสาน) สมัยก่อนนิยมปลูกตามบ้านกันเยอะเพื่อเก็บใบสดกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ลาบ ก้อย ชาวอีสานและชาวเหนือชอบรับประทานอย่างกว้างขวาง ประโยชน์ทางยา น้ำคั้นจากใบสดของต้น “หูเสือ” หยอดหูแก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูเป็นน้ำหนวกดีมาก อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “หูเสือจีน” มีความแตกต่างกันเพียงใบจะบางกว่าใบของต้นหูเสือไทย และใบจะกลมกว่าด้วย อย่างอื่นคล้ายกันหมด หากไม่สังเกตให้ดีจะดูไม่ออกว่าเป็นหูเสือไทยหรือหูเสือจีน ประโยชน์ทางยาใช้เหมือนกันทุกอย่าง มีชื่ออีกคือ โฮทิเช้า และ หูเสือจีน ครับ ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSSZadJjey542XArLK33PXW7dBOhNIPTRGR7Pz6jt7M_SbieRA2) กะทกรก ฆ่าตัวหิด โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ ๑ อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น ๓ แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ ๑ กำมือต้มกับน้ำ ๔ แก้ว เคี้ยวจนเหลือ ๒ แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้ นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQDPSAWj9nXJ40II_7I29yweR1_ffcGa0Nwu3vHl_dtXmh_PI_f) ผักคราดหัวแหวน กับวิธีแก้ปวดฟัน การปวดฟัน ที่เกิดจากฟันเป็นรูเพราะถูกแมงกินฟัน เป็นแล้วทรมานมาก กินอะไรไม่ได้ มันปวดร้าวไปหมดถึงน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ในทางสมุนไพรช่วยได้คือให้เอาต้นสดของ “ผักคราด หัวแหวน” ๒ ต้นไม่รวมรากตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นลงไป ๑ ช้อนชา ใช้ผ้าขาวบางห่อบีบคั้นเอาน้ำแล้วใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันจุ่มกับน้ำดังกล่าวให้เปียก นำไปอุดรูฟันที่ปวดจะหายปวดทันที ทำวันละ ๒-๓ ครั้ง อาการปวดจะดีขึ้นและอาจหายได้ ผักคราดหัวแหวน หรือ PARA CRESS SPILANTHES ACMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAI ต้นสดตำผสมเหล้าขาวหรือผสมกับน้ำสมสายชูเล็กน้อย อมแก้ฝีในลำคอ ใช้อุดรูฟันที่ถูกแมงกินฟัน แก้ปวดฟันได้ ช่อดอก ก้านช่อดอกมีสาร SPILANTHOL มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสกัดจากต้นสดด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา LIDOCAINE ได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะออกฤทธิ์สั้นกว่า นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSfWmuYnA8S3FVXk1FvHpSmmja9ld5DikOA007CGwXwpf885gSTbA) แห้วหมู แก้โรคไข้เลือดออก สมัยก่อน คนเป็นไข้เลือดออกเยอะ เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่มักจะใช้สมุนไพรรักษาแบบง่ายๆ ซึ่งสมุนไพรที่มีสรรพคุณรักษาไข้เลือดออกมีหลายชนิด และ “แห้วหมู” จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย โดย ให้เอาหัว “แห้วหมู” แบบสดใช้ได้ทั้งหัว แห้วหมูใหญ่ หรือ แห้วหมูเล็ก จำนวน ๑ ขยุ้มมือผู้ใหญ่ ล้างน้ำให้สะอาดตำละเอียดผสมเหล้าขาว ๒๘ หรือ ๔๐ ดีกรี ก็ได้ ๑ แก้ว ใช้ผ้าขาวบางกรองบีบเอาน้ำดื่มให้หมด จะทำให้อาเจียน เมื่อหยุดอาเจียนแล้วอาการของไข้เลือดออกจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้ในที่สุด แห้วหมู หรือ NUTGRASS CYPERUS ROTUNDUS LINN. อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE มี ๒ ชนิด จะต่างกันทั้งขนาดของต้นและรูปทรงของดอก หัว เป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ การทดลองในสัตว์พบฤทธิ์ลดไข้ลดความดันโลหิต นอกจากนั้นยังพบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด พันซิพารัม ด้วย นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRUfkrEvSDDF-RDcDctJBXRGSpOfh79dQFM2trn_5NX2zl01qB5EQ) คำแสด กับสรรพคุณน่ารู้ ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากอยากทราบว่า “คำแสด” มีประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งในตำรายาแผนไทยระบุสรรพคุณว่า เปลือกของราก ต้น “คำแสด” กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดดื่มขณะอุ่นวันละ ๒ เวลา ก่อนหรือหลังอาหารเช้าเย็น เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ใบ ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ แก้บิด ขับปัสสาวะ ผล ใช้เป็นยาฝาดสมาน เปลือกช่องเมล็ดมีสาร BIXIN ให้สีแดงใช้แต่งสีอาหารได้ เนื้อเมล็ด นำไปเข้ายาหอม ยาฝาดสมานแก้ไข้ แก้โรคหนองใน ได้ทั้งบุรุษและสตรี แก้ไข้มาลาเรีย ใช้ถอนพิษที่เกิดจากพิษมันสำปะหลังและต้นสบู่แดง คำแสด หรือ BIXA ORELLANA LINN. ชื่อสามัญ ANNATO, ARNATTO, ROUCOU อยู่ในวงศ์ BIXACEAE มีถิ่นกำเนิดอเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกแพร่หลายทั่วไป เคยพบมากที่สุดในแถบจังหวัดสิงห์บุรี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงสามเหลี่ยมหรือทรงฉัตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนเว้า สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นกระจุกจำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะงดงามยิ่ง “ผล” เป็นรูปไข่หรือรูปทรงกลม มีขนสีแดงคล้ายผลเงาะ เวลาติดผลทั้งต้นจะดูแปลกตามาก ผลแก่แตกได้ ภายในมีเมล็ดเยอะ มีเปลือกหุ้มสีแดง ดอกและผลออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยคือ คำเงาะ, คำแงะ, คำไท, คำแฝด (กรุงเทพฯ) ชาด (ภาคใต้) ซิติหมัก (เลย) มะกายหยุม และ แสด (ภาคเหนือ) คำแสด มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาไม่เท่ากันอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกเป็นทั้งไม้ประดับและใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นคุ้มค่ามากครับ. นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQLv52uA1hNHpyde6FIXAgCWuwqG1vZnn3hRR9_zLJoxhBu40k4) ระย่อม ยาดีพื้นบ้าน ระย่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า RAUVOLFIA SERPENTINA (L.) BENTH. EX KURZ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดลงรากใต้ดิน รากขนาดใหญ่และยาวมาก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๓-๕ เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวเปลือกต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลเทา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอกหรือรูปรี ปลายและโคนใบแหลม ใบดกและหนาแน่นในช่วงปลายยอด ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ลักษณะดอกคล้ายดอกเข็มแดง ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีแดงอมม่วง ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ ปลายกลีบดอกแหลมเป็นสีขาว ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ ซม. เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักคู่ แบนและยาว มีเมล็ดหลายเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นอยู่ตามริมห้วยริมลำธารทั่วไป พบมากที่สุดทางภาคเหนือ รากจะมีขนาดใหญ่และยาวตามที่กล่าวข้างต้น มีชื่อเรียกอีกคือ กะย่อม, ย่อม, ย่อมตีนหมา, เข็ม และตูมคลาน รากรสขม รากสดต้มน้ำดื่มแก้โรคเลือด แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร แต่รับประทานมากจะทำให้เมาได้ รากสดต้มน้ำดื่มช่วยย่อยอาหารและจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยหรือกินจุ อาจทำให้เกียจคร้านคล้ายกับคนสูบกัญชา แต่ไม่ใช่ยาเสพติด หากกินแบบพอดีจะมีประโยชน์มาก ในอดีตทหารญี่ปุ่นเอารากของ “ระย่อม” สดตำละเอียดกรอกปากม้ากินเพื่อถ่ายพยาธิด้วย เด็กที่มีพยาธิในตัวใช้รากดังกล่าวกินขับออกจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งในรากของ “ระย่อม” มีสาร “อัลคาลอยด์” ชนิดหนึ่งสามารถรักษาอาการเหล่านี้ได้ สมัยก่อน นิยมปลูกตามหมู่บ้านอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เป็นยากลางบ้านหรือยาพื้นบ้านตามสรรพคุณที่กล่าวข้างต้นอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันบางพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ครับ นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRRCFEU17z9FHcZH8LxKQqL_rImPL4TvUwc-QD3djPw0iqY8GDZew) มะก่องข้าว กับสูตรแก้ปวดกระดูก วิธีดังกล่าว ให้เอา “มะก่องข้าว” ทั้งต้นรวมรากแบบแห้ง ๑ กำมือต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดแล้วเอาเนื้อห่อผ้าขาวบางประคบจุดที่ปวดกระดูกและดื่มน้ำที่ต้มครั้งละครึ่งแก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หรือ จะเอาทั้งต้นแบบแห้งต้มน้ำอาบ จะช่วยให้อาการปวดกระดูกและอาการไข้ที่เกิดจากการปวดกระดูกที่อักเสบให้หายได้ มะก่องข้าว หรือ CHINESE BELL FLOWER, COUNTRY MALLOW ABUTILON INDICUM SWEET. อยู่ในวงศ์ MALVACEAE มีขึ้นเองตามที่รกร้างทั่วไป และมีชื่อเรียกอีกเยอะ ทั้งต้น เป็นยาบำรุงโลหิตขับลมช่วยให้เจริญอาหาร รากบำรุงธาตุแก้มุตกิด (อาการปัสสาวะขุ่น เสียวมดลูก ตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปวดชายกระเบนเหน็บในสตรี) แก้ไอบำรุงกำลัง ใบหรือทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้โรคเบาหวานดีมาก ใบตำพอกบ่มหนองให้สุกและแตกเร็ว ขยี้อุดฟันแก้ปวดฟัน แก้เหงือกอักเสบ นสพ.ไทยรัฐ (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQm47jPL88m0Xpe9PKDLl3dDazxtcG1fwefs8JenhVrGNR94cDT2A) โคกกระออม ยาดีข้างถนน ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นรวมราก ของ “โคกกระออม” จำนวนพอประมาณตัดเป็นท่อนเล็กๆต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือด ดื่มครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เป็นยา แก้ไขข้ออักเสบได้ดีระดับหนึ่ง สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งต้นยังนำ ไปผสมตัวยาอื่น เป็นยาแก้หอบหืดได้อีกด้วย ปัจจุบันยังนิยมใช้กันอยู่ ใบสด กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มแก้ไอ ตำพอกฝีให้แตกเร็วและหายได้ ต้นหรือเถาต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ดอก ขับโลหิต ผลตำ พอกดับพิษไฟลวกไม่ให้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ด สด กินแก้ไอ ขับเหงื่อ รากตำ คั้นเอาเฉพาะน้ำหยอดตาแก้ตาต้อ รากตำ เอากากพอกแก้พิษ แมลงพิษต่อยหรือถูกงูพิษกัดก่อนพาส่งโรงพยาบาลให้แพทย์รักษา ยอดอ่อน สดกินขับปัสสาวะ กินเป็นผักสดได้ แต่รสชาติจะขมมาก แพทย์จีน ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่มขับน้ำนมทำให้เกิดน้ำนมในสตรี ท้องระบายเป็นยาแก้ไข้ น้ำคั้นจากใบสดหยอดตาแก้ตาเจ็บได้ โคกกระออม BALLOON-VINE, HEARTPEA หรือ CARDIOS PERMUM HALICACABUM LINN. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ขึ้นตามที่รกร้างข้างถนนทั่วไป ต้นเป็นเหลี่ยมสีเขียว มีมือเกาะคล้ายตำลึง ใบประกอบมีใบย่อย ๓ ใบ ขอบใบหยักลึก ๓ แฉก ดอกสีเหลืองอ่อน ดอกขนาดเล็กคล้ายดอกมะระ ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีดอกย่อย ๘-๑๐ ดอก มีกลีบดอก ๔ กลีบ มีเกสรเป็นกระจุก “ผล” ทรงกลม โตประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ พองลมเป็นสามเหลี่ยมสีเขียวอ่อนใส ห้อยลงคล้ายโคมไฟสวยงามมาก หากเอาผลบีบให้แตกจะมีเสียงดัง ภายในมีเมล็ดสีดำ ดอกออกช่วงปลายฤดูร้อนไปจนถึงปลายฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือต้นต้อก, ลุมลับเครือ, เครือผักไล่น้ำ, โพออม, ติ๊นไข่และไหน มีปลูกเฉพาะตามสวนยาเท่านั้น หากต้องการต้นจะต้องเสาะหากันเองไม่มีวางขายครับ. นสพ.ไทยรัฐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/45316733585463__3585_1.gif) มะลิวัลย์เถา Jasminum siamense Craib OLEACEAE ไม้เลื้อยเป็นพุ่มกึ่งล้มลุก แตกกิ่งก้านน้อย โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีกว้างถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือมีขนละเอียดที่โคนใบของเส้นกลางใบเมื่อยังอ่อนอยู่ ไม่มีตุ่มใบ ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย ๑-๓ ดอกเกลี้ยง วงกลีบเลี้ยงเหมือนใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอก สีขาว กลิ่นหอม หลอดดอกยาว ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปคล้ายทรงกลม เมื่อสุกสีส้มถึงแดง ดอก บำรุงหัวใจ (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRFc-4aZ7aNUqqvtlYYB34TxTcehv9YAY2AlOvhRRgZkQ2Rrojs) คนทีสอต้น Vitex trifolia L. Lamiaceae (VERBENACEAE) ไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๔ เมตร กิ่งก้านมีขน ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบเรียบ ปลายแหลม โคนสอบ ท้องใบสีนวลขาว มีขน ดอก ออกเป็นช่อ แยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ สีฟ้าอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ปาก ผล สด ทรงกลม มีเมล็ดเดียว ใบ บำรุงน้ำดี ขับลม ใบ ใช้แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เคี้ยวอมตอนเช้าทุกวันทำให้ฟันแข็งแรง ดอก แก้ไข้ แก้พิษ และหืดไอ และใช้หั่นผสมเป็นยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก ลูก แก้มองคร่อ และหืดไอ ริดสีดวง ท้องมาน ราก ใช้แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ชาวบ้านใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำขนมคนทีโดยผสมแป้งและน้ำตาล นึ่งจนสุก (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTrjKvZ_Twi3yEggE_wFOLNo624Bkn5QjeSlvtGUikSLRxT6Q7Jzg) คนทีเขมา Vitex negundo L. Lamiaceae (VERBENACEAE) ไม้พุ่ม สูง ๑-๕ เมตร ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๕ ใบ อาจมี ๓ ใบย่อย หรือ ๗ ใบย่อย รูปใบหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยัก ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อย สีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน ผล รูปทรงกลม ขนาดเล็ก เปลือก แก้ไข้ และฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้พยาธิ ใบ แก้เสมหะ ยาง ขับเลือดและลมให้กระจาย ฆ่าแม่พยาธิ และคุดทะราด บำรุงกำลัง น้ำคั้นจากใบสด รับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ ใบสด ขยี้ ทาถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบปวดร้อน ราก แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง รากและใบ รับประทานหรือประคบแก้ปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ (http://www.sookjaipic.com/images_upload/69030707991785__3585_2.gif) ต้นกำเนิด “ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย” หลายคนอาจเคยได้ยิน ‘ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย’ แต่ก็มีอีกหลายคนเคยกินเคยใช้ ย่อมรู้ดีถึงสรรพคุณโดดเด่นช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อที่ได้ผลดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน บางท่านบอกว่าใช้แล้วรู้สึกดีกว่า และกินง่ายอร่อยกว่าด้วยซ้ำ ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการบัญชียาหลักแห่งชาติในส่วนที่เป็นยาจากสมุนไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ เรียกได้ว่ายกชั้นจากตำรับยาที่ใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไปสู่ระดับชาติ และถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการนำเอาตำรับยาพื้นบ้านสู่การยอมรับของประเทศ แต่หลายคนอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของตำรับยานี้ จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ขอย้อนหลังกลับไป พ.ศ.๒๕๒๒ ปีก่อตั้งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ก่อนจะกลายมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งพื้นที่แรกในการทำงานอยู่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รู้จักกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถอยห่างจากระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแต่สร้างหนี้สินและบั่นทอนสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต การทำงานของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองสมัยนั้น เก็บรวบรวมตำรายาพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ตำรายาของหมอจันดี เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.สนามชัยเขต และคือคุณพ่อของผู้ใหญ่วิบูลย์ นั่นเอง หมอจันดี เป็นหมอยาไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต ในตำรายาดังกล่าว มีตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยอยู่ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์นำมาต้มเผยแพร่ และทางโครงการสมุนไพรฯ ก็นำมาขยายผลต่อเมื่อเริ่มไปทำงานในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ผลปรากฏว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘ นิยมชมชอบตำรับยานี้มาก มีการขยายตัวผ่านโรงพยาบาลชุมชุนหลายแห่ง สรรพคุณยา แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหารอย่างดี ยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีอาการกินอาหารแล้วย่อยยาก พอจิบยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยสัก ๑-๒ ช้อน สบายท้องไปตามๆ กัน ฯ มาถึงตรงนี้ ขอแนะนำตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยให้รู้จัก ดังนี้คือ เปลือกอบเชย เปลือกสมุนแว้ง ชะเอมเทศ ดอกกานพลู น้ำหนักสิ่งละ ๕๐ กรัม การบูร ๑ ช้อนชา เมนทอล ๑ ช้อนชา น้ำ ๗,๐๐๐ ซีซี (สูตรนี้จะได้ยาปริมาณมาก หากต้มกินเองลดลงตามส่วนได้) วิธีเตรียม นำสมุนไพรทั้ง ๔ อย่างต้มน้ำประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล แล้วหาขวดยามาบรรจุเก็บไว้ (ขวดยาควรนำไปนึ่งทำความสะอาดก่อน) วิธีใช้ ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหารหรือทุก ๒-๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ยาธาตุเปลือกอบเชยนี้รสชาติอร่อยมาก ทำนองเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี หากใครสนใจตำรับยานี้ สามารถติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทยได้ แต่ถ้าใครอยากทำเองแต่ไม่สามารถหาตัวยาได้ครบ แนะนำให้ใช้เปลือกอบเชยเทศเท่านั้น น้ำหนัก ๑๕ กรัม ต้มในน้ำ ๑ ลิตร ให้เดือดนาน ๕-๑๐ นาที กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยได้ผลดีเช่นกัน อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ชาวอียิปต์รู้จักใช้มาตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีแล้ว และในปัจจุบันก็ค้นพบและยอมรับในสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น ในอบเชยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งในทางยาไทยถือว่า มีรสเผ็ด หวาน สุขุม กินแล้วช่วยทั้งขับลม ช่วยย่อย และยังบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจด้วย ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, หนังสือมติชนรายสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 สิงหาคม 2559 17:48:48 .
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRD1-ZvcBP1ENwhlGeXl0889uND_BzBrJFWuRvjyiZhnURjPyibgA) “เหง้ากะทือ” ดูดพิษเข่าเสื่อม ทุกอย่าง แบบแห้งน้ำหนักอย่างละ 30 กรัมเท่ากันดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ปิดฝาทิ้งไว้ 3 เดือน จากนั้นกรองเอาน้ำใช้สำลีชุบพอเปียก พอกหัวเข่าที่เพิ่งจะมีอาการใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นมานานแล้ว โปะไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำทุกวัน วันละครั้ง เวลาไหนก็ได้ตามสะดวกจนกว่าจะหาย นอกจากดูดพิษเข่าเสื่อมแล้วยังแก้ช้ำในอักเสบ ลดบวมได้ด้วย กะทือ หรือ ZINGIBER ZERUMBET ขิง หรือ ZINGIBER OFFICINALE ROSC ผักเสี้ยนผี หรือ PLANISIA VICOSA ว่านน้ำ หรือ ACORUS CALAMUS, L., ไพล หรือ ZINGIBER CASSUMUNAR เปราะหอม หรือ KAEMPFERIA GALANGA แต่ละอย่างมีสรรพคุณเฉพาะต่างกัน เมื่อนำทั้งหมดดองเหล้าเอาน้ำปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น จะมีสรรพคุณดูดพิษเข่าเสื่อมได้ (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRm_VFdQaPw-d7NxBsreROum3lxj_BcDwZEPuccgbXgCiUpyxAlRA) “รากยอป่า” แก้ผื่นคันผิวพรรณดี โรคผิวหนัง เป็นแล้วจะทำให้ผิวพรรณดูไม่ดี โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะเป็นปมด้อยไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทางสมุนไพรให้เอา “รากยอป่า” แบบแห้งหั่นบางๆประมาณหยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่นวันละครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ต้มดื่มเรื่อยๆ จะทำให้เม็ดผื่นคันตามตัวค่อยๆ ยุบและหายได้ เมื่อหายแล้วผิวพรรณจะเปล่งปลั่งเองเป็นธรรมชาติ ยอป่า หรือ MORINDA ELLIPTICA RIDL. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ดอกสีขาว “ผล” ค่อนข้างกลม มีชื่อเรียกอีกคือ “ยอเถื่อน” รากแก้เบาหวาน แก่นต้มน้ำดื่มบำรุงเลือด ผลสุกขับระดู ขับลม ใบอังไฟพอสลบปิดหน้าอกหน้าท้องแก้ไอแก้จุกเสียด หรือตำพอกศีรษะฆ่าเหา มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ (http://www.bloggang.com/data/f/fasaiwonmai/picture/1303461013.jpg) “สเปียร์มิ้นท์” ประโยชน์สรรพคุณดี สเปียร์มิ้นท์ เป็นพืชตระกูลมิ้นท์คล้ายๆ สะระแหน่ทั่วไป มีถิ่นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา มีชื่อเฉพาะคือ SPEARMINT หรือ MENTHA SPICATA เป็นพืชล้มลุก สูง 1 ฟุต ใบตรงกันข้าม ปลายแหลม โคนมน ผิวใบคล้ายสะระแหน่ ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด “ผล” กลม มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น ทางอาหาร ใบสดใช้โรยหน้าอาหารดับกลิ่นคาว มีกลิ่นหอมเย็นเหมือนใบสะระแหน่ ทางยา ใบสดจำนวนเล็กน้อยต้มน้ำพอประมาณจนเดือด จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยโชยขึ้นจมูก สูดดมเป็นยาแก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด วิงเวียน ท้องอืดได้ หรือใบสดขยี้ดมทำให้รู้สึกสดชื่นดีมาก แต่ไม่เหมาะที่จะขยี้ทาผิวเพราะจะทำให้ระคายเคือง สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมลูกควรหลีกเลี่ยง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 ราคาสอบถามกันเอง (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR09tmUfnHZ0OS8r2EgKWBTQlb2uMGNP9m58w2tRpt_mQF6AUdbaA) บัวหลวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ สูตรดังกล่าว เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณและได้ผลดีมาก โดยให้เอา เหง้า ของ “บัวหลวง” แบบสดจำนวนตามต้องการ ฝานเป็นแว่นบางๆ ต้มกับน้ำให้ท่วมเนื้อจนเดือดแล้วใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปเล็กน้อยไม่ต้อง หวานนัก กินทั้งน้ำและเนื้อวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยทำให้อาการร้อนในกระหายน้ำ ปากแห้ง ริมฝีปากแตกประจำหายได้ สามารถต้มกินได้เรื่อยๆ ไม่มีอันตรายอะไร บัวหลวง หรือ NELUMBO NUCIFERA GAERTN. อยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE เหง้า ไหล ใบอ่อน และเมล็ดเป็นอาหาร ใบใช้ห่อของ ดอกใช้ในพิธีทางศาสนา กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เหง้าเป็นยาเย็น “ดีบัว” ต้นอ่อนในเมล็ดออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ เกสรใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในเกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 และทั้ง 9 (http://frynn.com/wp-content/uploads/2014/11/%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%A1.jpg) บวบขม กับสรรพคุณน่ารู้ สมัยก่อน ใครมีรังแคและคันหนังศีรษะ หมอยาแผนไทยจะใช้รังสดของ “บวบขม” ไปฟอกหรือขยี้เส้นผมบนศีรษะครั้งละ 1 รัง 2–3 วันติดต่อกัน รังแคจะไม่มีและหายคันศีรษะ ส่วนรัง “บวบขม” แบบแห้ง หั่นเป็นฝอยๆ ผสมยาเส้นมวนด้วยใบตองแห้งจุดสูบ เป็นยาฆ่าเชื้อริดสีดวงจมูกน้ำมูกมีกลิ่นเหม็นดีมาก ผลสดตำพอละเอียด พอกฆ่าตัวโลนในที่ลับ เมล็ดสดกินเล็กน้อยขับเสมหะแก้หืด แก้ไอ ใบสดขยี้ทาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน รากสด 1 กิโลกรัม ต้มน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นเรื่อยๆ แก้ไมเกรนได้ บวบขม หรือ LUFFA ACUTANGULA อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE เป็นไม้เถาล้มลุกพบขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่นิยมปลูกและนิยมรับประทาน เพราะมีรสขมมาก ส่วนใหญ่มีปลูกเฉพาะชาวเขาบนดอยสูงและสวนสมุนไพรบางแห่งเท่านั้น เพื่อใช้เป็นยาตามที่กล่าวข้างต้น (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRp1rzT6GT6cCeCnOuGwWMkQITaBL8zgumNSATf7ix0cAT1MpHs-A) ตะลิงปลิง กับวิธีรักษาโรคคางทูม ในยุคสมัยก่อน คนเป็นโรคคางทูมกันเยอะ เป็นแล้วบริเวณลำคอใต้คางจะนูนขึ้นมองเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งในยุคนั้น คนที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางลำบากมาก เนื่องจากบ้านอยู่ห่างไกลโรงหมอหรือสุขศาลา ส่วนใหญ่จึงอาศัยหมอพื้นบ้านให้เจียดสมุนไพรรักษาให้ โดยเอาใบสดของ “ตะลิงปลิง” ประมาณ 1 กำมือล้างนํ้าให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียดใส่นํ้าลงไปเล็กน้อย จากนั้นเอาทั้งนํ้าและเนื้อพอกบริเวณที่เป็นคางทูม 2 เวลา เช้าเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆทุกวัน ประมาณ 1 อาทิตย์จะหายได้ ปัจจุบันโรคคางทูมแทบไม่พบอีกแล้ว แนะนำให้เป็นความรู้ ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. ชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 12 เมตร ใบประกอบ ออกสลับ มีใบย่อย 25-35 ใบ เป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบและมีขนนุ่มทั้งใบ ดอก ออกเป็นช่อตามโคนต้นและกิ่งแก่ มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีแดงอมม่วง ใจกลางดอกเป็นสีนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน สั้นยาวอย่างละ 5 อัน “ผล” รูปกลมรีกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. ผลแบ่งเป็นพูตื้นๆ 5 พู เนื้อผลฉ่ำนํ้า รสเปรี้ยวจัด ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ด มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย อเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือปลีมิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) และหลิงปลิง (ภาคใต้) ทางอาหาร ผลสดปรุงอาหารที่ต้องการให้มีรสเปรี้ยว แปรรูปเป็นผลไม้แห้ง แช่อิ่ม ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพร ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะครับ. (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR-ui_dh2fuqMFqDw1nBC16o_yqnVFy16U0WO4Zc7PjSAAQkxZsKA) กะทกรก ฆ่าตัวหิด โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 1 อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น 3 แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ 1 กำมือต้มกับน้ำ 4 แก้ว เคี้ยวจนเหลือ 2 แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้ (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRQi-njzqeoptP9MAMGL77rU8pGXiEtKmuvw7BP2pHrtRzjCVvq) ผักคราดหัวแหวน กับวิธีแก้ปวดฟัน การปวดฟัน ที่เกิดจากฟันเป็นรูเพราะถูกแมงกินฟัน เป็นแล้วทรมานมาก กินอะไรไม่ได้ มันปวดร้าวไปหมดถึงน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ในทางสมุนไพรช่วยได้คือให้เอาต้นสดของ “ผักคราด หัวแหวน” 2 ต้นไม่รวมรากตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นลงไป 1 ช้อนชา ใช้ผ้าขาวบางห่อบีบคั้นเอาน้ำแล้วใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันจุ่มกับน้ำดังกล่าวให้เปียก นำไปอุดรูฟันที่ปวดจะหายปวดทันที ทำวันละ 2–3 ครั้ง อาการปวดจะดีขึ้นและอาจหายได้ ผักคราดหัวแหวน หรือ PARA CRESS SPILANTHES ACMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAI ต้นสดตำผสมเหล้าขาวหรือผสมกับน้ำสมสายชูเล็กน้อย อมแก้ฝีในลำคอ ใช้อุดรูฟันที่ถูกแมงกินฟัน แก้ปวดฟันได้ ช่อดอก ก้านช่อดอกมีสาร SPILANTHOL มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสกัดจากต้นสดด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา LIDOCAINE ได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะออกฤทธิ์สั้นกว่า (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR1_FiHNhbq3jQ7alkPoj_3U8mIq1lBkdRo6qBw_6M10o_ujOrO) พีพวนน้อย ผลอร่อย สรรพคุณดี ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ระบุว่า รากของต้น “พีพวนน้อย” เอาไปผสมกับรากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนา และลำต้นของอ้อยแดงจำนวนเท่ากันตามต้องการต้มกับนํ้ามากหน่อยจนเดือดดื่ม สำหรับสตรีที่ผอมแห้งแรงน้อย เป็นยาบำรุงเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีนํ้ามีนวล รากของต้น “พีพวนน้อย” สดหรือแห้งก็ได้จำนวนตามต้องการต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน 2 เวลา ครั้งละ 1 แก้ว รักษาโรคไตพิการที่เพิ่งจะเป็นใหม่ๆดีมาก โรคดังกล่าวเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นเหลืองหรือแดง และมีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้ ต้มดื่มแล้วอาการจะค่อยๆกระเตื้องและดีขึ้นเรื่อยๆ พีพวนน้อย หรือ UVARIA RUTA BLUME ชื่อพ้อง UVARIA RIDLEYI KING อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถาใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบเดี่ยวออกสลับรูปรี ปลายแหลมโคนเว้าเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบ มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง “ผล” เป็นกลุ่มและเป็นช่อห้อยลง แต่ละช่อประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก ผลรูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง สุกเป็นสีแดงอมส้ม เปลือกผลมีขนละเอียดทั่ว เนื้อหุ้มเมล็ดนํ้า รสหวานปนเปรี้ยว รับประทานได้ สมัยก่อนนิยมกันอย่างกว้างขวาง มีเมล็ดเยอะ ดอกออกเดือนเมษายน-มิถุนายน ทุกปี และจะติดผลแก่หรือสุกหลังจากนั้น 4 เดือน คนหาของป่าจะรู้เวลาดีและจะเข้าไปเก็บผลออกมาวางขายตามตลาดสดในชนบททั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกเยอะคือ นมแมว, บุหงาใหญ่, นมควาย, นมแมวป่า, หำลิง, ติงตัง, ตีนตั่งเครือ, พีพวนน้อย และ สีม่วน ปัจจุบัน “พีพวนน้อย” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 18 ในชื่ออื่นคือ นมวัว นมควาย ราคาสอบถามกันเองครับ ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 กันยายน 2559 15:56:25 .
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQCzI3FPCKo640TNcS60Bo3VideHnBjFFaPTJsiAAlMctF2yZb1eg&reload=on) มะลิวัลย์เถา Jasminum siamense Craib OLEACEAE ไม้เลื้อยเป็นพุ่มกึ่งล้มลุก แตกกิ่งก้านน้อย โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนมีขนละเอียด ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีกว้างถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลมมีติ่งขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้านหรือมีขนละเอียดที่โคนใบของเส้นกลางใบเมื่อยังอ่อนอยู่ ไม่มีตุ่มใบ ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกย่อย ๑-๓ ดอกเกลี้ยง วงกลีบเลี้ยงเหมือนใบเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบดอก สีขาว กลิ่นหอม หลอดดอกยาว ผลสด มีเนื้อหลายเมล็ด รูปคล้ายทรงกลม เมื่อสุกสีส้มถึงแดง ดอก บำรุงหัวใจ (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQVx-HboR6eBVvQIDKLUPLTEQUexH5GpBF9LUDxViVnhHQH69MSXA) คนทีสอต้น Vitex trifolia L. Lamiaceae (VERBENACEAE) ไม้พุ่ม สูงประมาณ ๑-๔ เมตร กิ่งก้านมีขน ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ ใบ รูปขอบขนานแกมใบหอก ขอบเรียบ ปลายแหลม โคนสอบ ท้องใบสีนวลขาว มีขน ดอก ออกเป็นช่อ แยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ สีฟ้าอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๒ ปาก ผล สด ทรงกลม มีเมล็ดเดียว ใบ บำรุงน้ำดี ขับลม ใบ ใช้แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เคี้ยวอมตอนเช้าทุกวันทำให้ฟันแข็งแรง ดอก แก้ไข้ แก้พิษ และหืดไอ และใช้หั่นผสมเป็นยาสูบแก้ริดสีดวงจมูก ลูก แก้มองคร่อ และหืดไอ ริดสีดวง ท้องมาน ราก ใช้แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ชาวบ้านใช้ใบแห้งบดเป็นผง ทำขนมคนทีโดยผสมแป้งและน้ำตาล นึ่งจนสุก (https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTNdAg5GofGHlB-TfjiOnD4DuD1KtiiXTzLZoqWVyK6Rp1yaHyvRA) คนทีเขมา Vitex negundo L. Lamiaceae (VERBENACEAE) ไม้พุ่ม สูง ๑-๕ เมตร ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๕ ใบ อาจมี ๓ ใบย่อย หรือ ๗ ใบย่อย รูปใบหอกแคบ ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยัก ดอกช่อ แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกย่อย สีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบรองดอกเชื่อมติดกัน เป็นถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน ผล รูปทรงกลม ขนาดเล็ก เปลือก แก้ไข้ และฟกบวม แก้ริดสีดวง แก้ลมเสียดแทง แก้พยาธิ ใบ แก้เสมหะ ยาง ขับเลือดและลมให้กระจาย ฆ่าแม่พยาธิ และคุดทะราด บำรุงกำลัง น้ำคั้นจากใบสด รับประทานแก้ปวดศีรษะ แก้เยื่อจมูกอักเสบ ใบสด ขยี้ ทาถอนพิษสาหร่ายทะเล ปวดแสบปวดร้อน ราก แก้ลม ขับเหงื่อ แก้ริดสีดวงแห้ง รากและใบ รับประทานหรือประคบแก้ปวดตามข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ (http://www.biogang.net/upload_img/biodiversity/biodiversity-152177-3.jpg) หวายลิง Flagellaria indica L. FLAGELLARIACEAE ไม้เลื้อยอายุหลายปี ลำต้นโคนแข็ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ คล้ายแผ่นหนัง รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม ดอก ช่อแบบช่อแยกแขนง มักแยกเป็นสองแขนง ดอกย่อยไร้ก้าน ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกสั้น กลีบรวม ๖ กลีบ สีขาวครีม กลีบนอกขนาดใหญ่กว่ากลีบในเล็กน้อย ผล เมล็ดเดียวแข็ง ทรงกลม ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ บีบมดลูก (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2016/08/4%E0%B8%82%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B2-3-150x150.jpg) (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2016/08/4-%E0%B8%82%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B21-150x150.jpg) ขิงสนธยา Zingiber idae P.Triboun & K.Larsen ZINGIBERACEAE ไม้ล้มลุกหลายปีมีเหง้า ลำต้นเทียมคล้ายใบ สูง ๑.๓-๑.๘ เมตร ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบถึงรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือรูปยาวคล้ายหาง ท้องใบและเส้นกลางใบมีขน โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบสั้นมาก มีขนอุย ก้านช่อดอกออกจากราก ตั้ง เรียวยาว ยาว ๑๕-๓๐ เซนติเมตร กาบใบ ๕-๗ ใบ มีขนอุย ดอก ช่อ สีขาวครีม รูปกระสวยแคบ ปลายกลีบเรียวแหลม ใบประดับ ๒๕-๔๐ ใบ รูปใบหอก สีเขียวเข้มเปลี่ยนเป็นสีแดงส้มเมื่อเป็นผล ผล แห้งแตก รูปกระสวย มีขน ช่องละ ๔-๖ เม็ด เมล็ดดำมีริ้วสีขาว ทรงกลม เหง้า ขับลม (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRKLL0P8xx0D-B5HCMzgnMxG8flfy_uNynRupILLvu321xs9Py3) หญ้าเกล็ดหอย Desmodium triflorum (L.) DC. FABACEAE ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ใบ ประกอบแบบขนนก ใบย่อย ๓ ใบ หูใบรูปไข่ ขนาดไม่สม่ำเสมอ ปลายใบรูปไข่กลับ ดอก ช่อแยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบดอกสีม่วงเข้ม ผล เป็นฝักมีก้านชู รูปกลมรี เมล็ดรูปขอบขนาน ยาพื้นบ้านภาคใต้ ใช้ ทั้งต้นผสมหญ้าใต้ใบหรือลูกใต้ใบทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคไตพิการ (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRNVYjIysMyz3aRm-ssBU0-nH2yomE5wSOkF8bgRfkOpy1BeLLrpg) กัญชา เป็นยาเสพติดหรือยารักษาโรค? กัญชา ยังถูกแขวนป้ายว่าเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ แม้จะเป็นยาเสพติดประเภทที่ ๕ ซึ่งให้โทษต่อร่างกายน้อยกว่าประเภทอื่น แต่ก็ยังมีบทลงโทษไม่เบา คือผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งกัญชาต้องระวางโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยจำคุกตั้งแต่ ๒ ปี ถึง ๑๕ ปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือถ้าหากขายกัญชาด้วยก็อาจมีโทษสูงสุดเท่ากับโทษฐานการผลิต ด้วยเหตุนี้ “กัญชา” จึงถูกตีตรวนไว้ด้วยกฎหมายที่ขาดการพัฒนา เป็นเหตุให้ประเทศไทยและคนไทยขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อันมหาศาลจากกัญชาอย่างน่าเสียดาย ในเวลานี้โลกสากลได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์การมองกัญชาจาก “ยาเสพติดให้โทษ” มาเป็น “ยารักษาโรค” อย่างน้อยใน ๑๒ รัฐของสหรัฐอเมริกา การจำหน่ายและเสพยากัญชา ไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และอีก ๑๕ รัฐ กำลังพิจารณาให้กัญชาเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ก่อนหน้านี้มีบันทึกในปี ค.ศ.๑๘๗๖ (พ.ศ.๒๔๑๙ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ของไทย) ซึ่งเป็นวาระเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการได้รับเอกราชและการก่อตั้งประเทศอิสระขึ้นบนผืนทวีปอเมริกา ทางการสหรัฐได้ต้อนรับแขกผู้ทรงเกียรติด้วยการเสิร์ฟ “แฮ็ชชีช” (Hashish)! ขอใส่เชิงอรรถเพิ่มเติมตรงนี้ว่า “แฮ็ชชีช” คือยางของกัญชา ซึ่งเตรียมได้ด้วยการนำเอา “กะหรี่กัญชา” (curry) หรือส่วนช่อดอกตัวเมียของกัญชามาใส่ในถุงผ้า ใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมาแล้วจึงขูดยางออกจากถุงผ้า เท่านี้แหละก็ได้ “แฮ็ชชีช” ผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพสูงราคาแพงที่เอาไว้เสิร์ฟเฉพาะพวกผู้ดีฝรั่ง กล่าวกันว่าประธานาธิบดี จอร์จ วอชิงตัน ก็ยังชื่นชอบสมุนไพรใบแฉกชนิดนี้เป็นพิเศษ ท่านนำกัญชาไปปลูกไว้ที่บ้านพักบนภูเขาเมาท์เวอร์นอน (Mount Vernon) ด้วยตระหนักในสรรพคุณเภสัชอันล้ำค่าของมันนั่นเอง ในช่วงที่เริ่มมีการต่อต้านการเสพกัญชาในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เคยปราศรัยปกป้องการใช้กัญชาของประชาชนว่า “การสั่งห้ามเสพกัญชาดำเนินการเลยขอบเขตของเหตุผล เป็นความพยายามควบคุมความต้องการของมนุษย์โดยใช้กฎหมาย ทำให้สิ่งที่มิได้เป็นอาชญากรรมกลายเป็นอาชญากรรม การห้ามเสพกัญชาเป็นการทำลายหลักการที่รัฐบาลของเรากำหนดขึ้น” เช่นกัน ในยุควิกตอเรียของอังกฤษ (ค.ศ.๑๘๓๗-๑๙๐๑) กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทางเภสัชกรรม เพื่อรักษาโรคภัยหลายอย่าง อาทิ อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดประจำเดือน โรครูมาติซั่ม และลมบ้าหมู เซอร์รัสเซลล์ โรโนลด์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียกล่าวไว้ในบันทึกปี ค.ศ.๑๘๙๐ ว่า เขาใช้กัญชาเป็นพระโอสถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนให้กับสมเด็จพระราชินีองค์นี้ ทั้งยังระบุว่า “เมื่อทำการสกัดให้บริสุทธิ์ กัญชาเป็นหนึ่งในยาทรงคุณค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์มีอยู่” (https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR7EbHACi_gny0wUDqhR9xJvAPlVmOW-UXtOolguAjF82zvGd6C) เท้ายายม่อม ยาแก้ไข้ เท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกซ้ำกันในพืช ๒ ชนิด เท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อม ชนิดแรกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum indicum (L.) Kuntze เป็นไม้พุ่ม ข้อมูลจาก website บางแห่ง กล่าวว่า รากของไม้เท้ายายม่อมชนิดนี้ใช้ทำแป้งได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะรากของไม้เท้ายายม่อมซึ่งเป็นไม้พุ่มนี้ ไม่มีแป้งมากพอที่จะนำไปผลิตเป็นผงแป้งเพื่อใช้เป็นอาหารได้ ที่ทำเป็นแป้งนั้น คือ เท้ายายม่อมที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze ซึ่งเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีประเภทเดียวกับบุก จึงเป็นพืชลงหัวมีการสะสมแป้งที่สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งได้ ในตอนนี้จะกล่าวถึงเท้ายายม่อมหรือไม้เท้ายายม่อมที่เป็นไม้พุ่ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ Tubeower, Turk’s-Turban, Sky Rocket, Bowing Lady คำว่าไม้เท้ายายม่อมเป็นการบ่งบอกลักษณะที่สำคัญคือ ลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน รวมทั้งรากก็มีลักษณะเป็นลำตรงแทงลงในดิน หมอยาพื้นบ้านจึงนิยมเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า พญารากเดียว ไม้เท้ายายม่อมยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายมาก เช่น พญาเลงจ้อน พญาเล็งจ้อน เล็งจ้อนใต้ (เชียงใหม่) พินพี (เลย) ท้ายายม่อมป่า (อุบลราชธานี) พมพี (อุดรธานี) โพพิ่ง (ราชบุรี) ว่านพญาหอกหล่อ (สระบุรี) หญ้าลิ้นจ้อน (ประจวบคีรีขันธ์) กาซะลอง จรดพระธรณี ดอกคาน (ยะลา) ฯลฯ เท้ายายม่อมจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกิน ๓ เมตร เป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียว ลึกพุ่งตรง รากกลม ดำ โต ลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขา จะแตกกิ่งบริเวณใกล้ยอด บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกเป็นช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง เป็นพุ่มกระจาย คล้ายฉัตรเป็นช่อชั้นๆ ตั้งขึ้น กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือแดง มี ๕ แฉก ผลสดรูปกลมแป้น เมื่อสุกมีสีน้ำเงินแกมสีดำหรือสีดำแดง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ดอกออกช่วงเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน หลายท่านนึกว่าเท้ายายม่อมเป็นแค่ยาสมุนไพรเท่านั้น แต่ในวิถีชาวบ้านยอดอ่อนและดอกอ่อนนำมาลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกกินได้ และยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามหน้าบ้านด้วย ส่วนรากของไม้เท้ายายม่อมเป็นเครื่องยาที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง นำไปเข้าตำรับยาไทยพิกัดยาเบญจโลกวิเชียรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ายาห้าราก ใช้ลดไข้ รักษาหวัดต่างๆ รากไม้เท้ายายม่อม มีรสจืดขื่น ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้หวัด แก้ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ตัดไข้จับ แก้ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ลดความร้อนในร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยังแก้พิษสัตว์กัดต่อย ดับพิษฝี ขับเสมหะลงสู่เบื้องต่ำ แก้หืดไอ แก้อาเจียน ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้รากผสมใบพิมเสน ต้น เหง้าว่านกีบแรด เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าวและน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน กินถอนพิษไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่ผิวหนัง ตุ่มอาจมีสีดำ ไม้เท้ายายม่อมยังเป็นสมุนไพรที่สำคัญชนิดหนึ่งของกลุ่มชนเชื้อสายอินเดียและจีน มีการใช้ส่วนต่างๆ เช่น ใบ ที่มีรสขมใช้เป็นยาบำรุงกำลังและขับพยาธิ ใบแห้ง นำมามวนเป็นยาสูบช่วยลดอาการหอบหืด ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ใช้สูบเพื่อลดการสูบฝิ่น น้ำสกัดจากส่วนของลำต้น ใช้ทาผิวทำให้ผิวพรรณดีขึ้น ราก นำมาทุบผสมกับขิง ต้มดื่มแก้หอบหืด ไอ และความผิดปกติอื่นภายในปอด ยางจากลำต้น ใช้รักษาโรคไขข้อที่เกิดจากการติดเชื้อซิฟิลิสหรือโรคไขข้ออื่นๆ ในประเทศอินเดียจัดว่าเป็นสมุนไพรที่สำคัญมาก มักนำมาใช้ในการลดไข้ ลดอาการฝ่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือโรคผอมแห้ง ในบังคลาเทศมีการศึกษาอย่างละเอียดและนำมาใช้อย่างเป็นทางการในการรักษาโรคหอบหืดและระบบทางเดินหายใจผิดปกติ โดยใช้ส่วนของรากบดให้เป็นผง ใช้ผงยาขนาด ๕๐ กรัม ผสมกับน้ำผึ้งกินก่อนนอน ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากความหนาวเย็น ให้ใช้เปลือกรากสด ๓ กรัม หรือเปลือกรากแห้ง ๒ กรัม ชงกับน้ำอุ่นดื่ม สำหรับตำรับใช้ขับพยาธิให้นำเอารากสด ๒ กรัม มาหมักกับใบ ๓-๔ ใบ เมื่อสมุนไพรเปื่อยยุ่ยดีแล้ว ปั้นให้เป็นก้อน นำมาทำให้แห้ง กินครั้งละ ๑.๓ เม็ด มีรายงานว่า ยาเม็ดนี้สามารถใช้รักษาหอบหืดได้ด้วย เท้ายายม่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ควรส่งเสริมให้ปลูกกันมากๆ และสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดภูมิปัญหาดั้งเดิมอย่างครบวงจร เนื่องจากสรรพคุณแก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย แก้หวัด แก้หอบหืด เป็นอาการโรคที่เป็นกันบ่อย หากส่งเสริมกันมากขึ้นและต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทันสมัย เชื่อมั่นว่าเท้ายายม่อมหรือพญารากเดียว จะเป็นที่พึ่งด้านยาที่สำคัญทางหนึ่งของประชาชนแน่นอน ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 กันยายน 2559 16:05:43 .
(http://frynn.com/wp-content/uploads/2013/10/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B5.jpg) ผักเสี้ยนผี ต้นไม้ล้มลุกเล็ก ขึ้นแทรกอยู่กับวัชพืช แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเขียวดก มีลักษณะเป็นใบรวม ใบหนึ่งมี ๓-๕ ใบ ใบย่อยรูปไข่ จัดเป็นใบไม้ที่สวยงามอีกชนิดหนึ่ง ออกดอกตามซอกใบใกล้ยอด ดอกสีเหลืองเหมือนมี ๕ กลีบ แต่กลีบหนึ่งหายไปอย่างเจาะจง ขณะยังตูมดอกพนมยาว เวลาบานกลีบกลมปลายมน๔ กลีบ สีเหลืองสด มีเกสรกลางดอกสีเหลืองและเขียว แต่ละดอกสมควรมี ๕ กลีบ แต่ดอกหายไป ๑ คือกลีบที่ควรจะเป็นที่ ๕ นั้น เว้นไว้ เป็นที่สังเกตว่า ต้นไม้นี้คือผักเสี้ยนผี ผักเสี้ยนผีมีประโยชน์สำหรับเป็นยา รักษาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคอักเสบ ทั้งภายในภายนอก เช่น ทั้งอักเสบในท้อง ภายนอกก็ปวดข้อปวดเข่า และอักเสบภายใน เช่น หญิงอยู่ไฟ กินยารุ ส่วนภายนอก เช่น แก้ปวดข้อที่อักเสบ ว่ากันว่าชะงัดนัก ตลอดจนแก้แผลอักเสบด้วย คุณค่าของผักเสี้ยนผี ที่ชาวบ้านนิยม และต้องการมากที่สุดคือ ผักเสี้ยนผีทั้ง ๕ (ต้น ราก ใบ ดอก ผล) นำมาตำละเอียดผสมเหล้าโรงห่อผ้าขาวบางพันตามข้อที่ปวด ไม่ช้าก็หาย ส่วนสตรีคลอดบุตรอยู่ไฟให้กินเยื่ออวัยภายในหายแห้งสนิทได้ นอกจากนี้ แม้โรคบุรุษ หมอยาบางท่านก็นิยมนำมารักษา และหายได้อย่างรวดเร็ว การขยายพันธุ์ ผักเสี้ยนผีนั้น เมื่อออกดอกจนแก่ร่วง ก็แตกหล่นลงดิน พบดินชื้นก็ขึ้นต้นใหม่ เกิดต้นเกิดผลต่อไป ปัจจุบัน ผักเสี้ยนผีหายาก เพราะถูกถากถาง ขุดทิ้ง หายไปจนแทบไม่เหลือ ต้องนำฝักแก่มาปลูกไว้ในบ้านเฉพาะ จึงจะรักษาพันธุ์ไว้ได้ต่อไป ผักเสี้ยนผี มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cleome Viscosa.Linn. อยู่ในวงศ์ CAPPARIDACEAE ชื่อสามัญเรียก Polanisia Viscosa ชื่อท้องถิ่น แตกต่างกันไป เช่น ส้มเสี้ยนผี ส้มเสี้ยนตัวเมีย วันหนึ่งเดินเล่นตอนเช้า เดินผ่าน พบผักเสี้ยนผี ก็ดีใจว่า จะยังมีสมุนไพรพื้นบ้านดีๆ หลงเหลืออยู่ แต่เพียงวันรุ่งขึ้นต้นไม้นี้หายไปแล้วพร้อมๆ กับวัชพืชอื่น ยังจะรออีกหรือไม่ที่จะขึ้นมาอีก ที่จริงต้นผักเสี้ยนผีก็เป็นต้นไม้สวย มีสง่าราศี มองธรรมดาก็รู้ว่าน่าจะมีคุณค่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักคนจึงผ่านเลยไป หรือตัดทิ้งไป ต้นยาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีหลายชนิด สำหรับข้อสังเกตของผักเสี้ยนผี คือต้องมีดอกสีเหลืองเป็นช่อ แต่ละดอกมีจังหวะกลีบ ๕ กลีบ และหายไป ๑ กลีบ เหมือนกันทุกต้น ดังเป็นสัญลักษณ์ ใบเขียวทั้งต้นเป็นยาง แตะถูกหนึบหนับ นั่นล่ะ ผักเสี้ยนผี คุณประโยชน์ของผักเสี้ยนผี มีคุณค่าดังกล่าวมา ซึ่งก็เทียบกับคุณค่าทุกสิ่งที่มองเห็นรอบๆ ตัว ถ้าสังเกต และศึกษาก็น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ให้สังคม เพียงแต่จะรู้ว่านำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร และเลือกนำมาให้ตรงความต้องการ อันเป็นประโยชน์ที่สูงสุด (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcShJR1kLCG2favTn3bCmvmW6QUAk9kbYocrUA8wKR8c4xHa578b) มะขวิด ไม้ดีหวิดสูญพันธุ์ มะขวิด มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Burmese thanaka (นักวิชาการฝรั่งคงไปพบแถวพม่าจึงเรียกแบบนั้น), แต่ก็เรียกชื่ออื่นอีก เช่น Elephant’s apple, Gelingga,kavath, Wood apple มะขวิดเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Feronia limonia (L.) Swing. แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Limonia acidissima L. มะขวิดมี ๒ สายพันธุ์ พันธุ์ที่มีผลใหญ่เนื้อหวาน และพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กเนื้อมีรสเปรี้ยว (อมหวานนิดๆ) มะขวิดถือเป็นไม้มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ชาวอินเดียจึงใช้ประโยชน์กันมาก ถึงกับขนานนามมะขวิดว่า เป็นอาหารคนยาก (poor man’s food) ซึ่งเป็นที่พึ่งของคนยากจนจำนวนมากในอินเดีย ในภาคอีสานบ้านเมืองไทยเรียกมะขวิดว่า มะยม (จึงอย่าสับสนเวลาคุยกับคนอีสาน) ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า มะฟิด มะขวิดเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางอยู่ในกลุ่มไม้ผลัดใบ สูงถึง ๑๒ เมตร กิ่งแขนงมีหนามเรียวแหลมตรง ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ใบ ประกอบแบบขนนก ใบออกตรงข้าม มี ๒-๓ คู่ รูปไข่กลับ มีจุดต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้ มีกลิ่นอ่อนๆ ช่อดอกออกปลายยอดหรือซอกใบ มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ผล เปลือกแข็งรูปกลม ผิวมีลักษณะเป็นขุยสีออกขาวปนสีชมพู ภายในผลมีเนื้อมาก มีกลิ่นหอม เปลือกหนาและมีขน มะขวิดพบได้ในป่าธรรมชาติไปจนถึงประเทศมาเลเซียและเกาะชวากับเกาะบาหลีประเทศอินโดนีเซีย และพบว่ามีการนำไปปลูกเพื่อศึกษาในแคลิฟอร์เนียและฟลอริดาด้วย เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพดินและภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี และยังเติบโตได้ในเขตมรสุมหรือในเขตร้อนที่มีอากาศแห้งแล้งเป็นบางช่วงได้อีกด้วย มะขวิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรค ทุกส่วนของมะขวิดสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น กินเนื้อสดๆ หรือนำไปปรุงเป็นน้ำมะขวิด กินแล้วช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น เจริญอาหาร ในมะขวิดมีกากใยอาหารช่วยขับถ่ายสะดวกและมีวิตามินซีสูงด้วย หรือใช้ผลดิบมาหั่นบางๆ นำไปตากแห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อน กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ทำให้สดชื่น ได้เช่นกัน ใบมีสรรพคุณช่วยห้ามโลหิตระดูของสตรี และใช้ใบเป็นยาฝาดสมาน นำมาล้างน้ำตำพอกหรือทาแก้อาการฟกบวม ปวดบวม ช่วยรักษาฝี และโรคผิวหนังบางชนิด ในเวลานี้มีการค้นพบว่าในมะขวิดมีต่อมน้ำมัน เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์กำจัดเชื้อโรคจึงช่วยแก้อาการโรคผิวหนังได้ และสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรคในหลอดทดลองได้ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยในใบหากนำมาต้มดื่มน้ำจะมีสรรพคุณช่วยขับลมในท้อง และแก้ท้องเสีย ยางจากลำต้นมะขวิดเป็นยาฝาดสมานจึงช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงและห้ามเลือดได้ และด้วยความเหนียวของยางหรือมีกัม (gum) จำนวนมาก จึงนำมาใช้ประโยชน์ติดหรือเชื่อมต่อสิ่งของแบบเป็นกาวยาง และใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาหรือสีในงานจิตรกรรมไทย ส่วนของเปลือก ใช้แก้ฝีเปื่อย แก้บวม แก้อาการลงท้อง ตกโลหิต และแก้พยาธิ ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของมะขวิด ได้นำมะขวิดมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ใช้ผลดิบต้มน้ำกับดีปลีและผสมน้ำผึ้งนำมาจิบบ่อยๆ ช่วยลดอาการสะอึก หรือผลดิบอย่างเดียวใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ไอและเจ็บคอได้ ใบอ่อนคั้นเอาน้ำมาผสมนมและน้ำตาลทำเป็นลูกอมช่วยให้ระบบน้ำดีในร่างกายทำงานเป็นปกติ เพื่อรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากลำไส้ น้ำคั้นจากใบอ่อนให้เด็กกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้เช่นกัน ยางเหนียวของผลมะขวิดเมื่อตากแห้งแล้วป่นเป็นผงผสมน้ำผึ้ง ใช้กินรักษาโรคบิดและอาการท้องเสียในเด็ก หนามตามลำต้นนำมาบดเข้ายารักษาการตกเลือดขณะมีประจำเดือน เปลือกนำมาเคี่ยวรวมกับเปลือกต้นจิกใช้รักษาแผล และพบว่าในบางท้องถิ่นนำเปลือกต้นมะขวิดมาบดละเอียดทำเป็นแป้งทาหน้า นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังใช้มะขวิดเป็นยาบำรุงตับและหัวใจด้วย ในฤดูฝนจะมีน้ำยางจากลำต้นเป็นยางเหนียว ใส ออกมามาก ชาวอินเดียนิยมนำยางมาใช้ติดวัสดุ และใช้เป็นส่วนผสมของสีน้ำสำหรับวาดรูป ใช้ทำหมึกและสีย้อมต่างๆ เปลือกผลมีความแข็งสามารถนำมาทำเป็นภาชนะใส่ของ เนื้อไม้จากลำต้นมีสีเหลืองอมเทา เนื้อแข็งและหนัก นิยมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ และนำมาแกะสลักเป็นงานศิลปะให้สีเนื้อไม้สวยงาม นอกจากนี้ ในเนื้อมะขวิดมีน้ำตาลหลายชนิดที่ร่างกายต้องการ เช่น อะราไบโนส (arabinose) ไซโลส (xylose) ดี-กลูโคลส (d-galactose) แรมโนส (rhamnose) และกรดกลูคิวโลนิต (glucuronic acid) จึงมีการนำมากินสดๆ หรือนำไปทำน้ำผลไม้ ทำแยมทาขนมปังกินกันรสอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในประเทศไทยจำนวนประชากรมะขวิดลดลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะพบเห็นการปลูกตามหมู่บ้านและในสวนบางแห่งแต่ก็มีไม่มากนัก ในวงการเกษตรกรรมปัจจุบันใช้มะขวิดเป็นต้นตอของมะนาว เพราะมะขวิดทนแล้งทนการระบาดของแมลงได้ดี แต่ก็แค่เอาต้นมาใช้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของมะขวิดแท้ๆ ซึ่งน่าเสียดายยิ่ง ผู้รักสมุนไพรจึงควรหันมาช่วยกันปลูกและขยายพันธุ์มะขวิดกันมากๆ จะได้ไม้ใหญ่ยืนต้น ทรงพุ่มสวยงาม และได้ใช้ประโยชน์ทางอาหารและยาด้วย (http://www.thaihof.org/sites/default/files/users/user-4/original/yaabechy.jpg) ต้นกำเนิด “ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย” หลายคนอาจเคยได้ยิน ‘ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชย’ แต่ก็มีอีกหลายคนเคยกินเคยใช้ ย่อมรู้ดีถึงสรรพคุณโดดเด่นช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดเฟ้อที่ได้ผลดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน บางท่านบอกว่าใช้แล้วรู้สึกดีกว่า และกินง่ายอร่อยกว่าด้วยซ้ำ ยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยนี้ได้รับการประกาศให้เป็นรายการบัญชียาหลักแห่งชาติในส่วนที่เป็นยาจากสมุนไพร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ เรียกได้ว่ายกชั้นจากตำรับยาที่ใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไปสู่ระดับชาติ และถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการนำเอาตำรับยาพื้นบ้านสู่การยอมรับของประเทศ แต่หลายคนอาจไม่รู้ประวัติความเป็นมาของตำรับยานี้ จึงขอนำมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ขอย้อนหลังกลับไป พ.ศ.๒๕๒๒ ปีก่อตั้งโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ก่อนจะกลายมาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งพื้นที่แรกในการทำงานอยู่ในอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รู้จักกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่ถอยห่างจากระบบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีแต่สร้างหนี้สินและบั่นทอนสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต การทำงานของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองสมัยนั้น เก็บรวบรวมตำรายาพื้นบ้านมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ตำรายาของหมอจันดี เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบลเกาะขนุน อ.สนามชัยเขต และคือคุณพ่อของผู้ใหญ่วิบูลย์ นั่นเอง หมอจันดี เป็นหมอยาไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต ในตำรายาดังกล่าว มีตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยอยู่ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่วิบูลย์นำมาต้มเผยแพร่ และทางโครงการสมุนไพรฯ ก็นำมาขยายผลต่อเมื่อเริ่มไปทำงานในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ผลปรากฏว่า ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๘ นิยมชมชอบตำรับยานี้มาก มีการขยายตัวผ่านโรงพยาบาลชุมชุนหลายแห่ง สรรพคุณยา แก้อาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยย่อยอาหารอย่างดี ยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีอาการกินอาหารแล้วย่อยยาก พอจิบยาธาตุน้ำเปลือกอบเชยสัก ๑-๒ ช้อน สบายท้องไปตามๆ กัน ฯ มาถึงตรงนี้ ขอแนะนำตำรับยาน้ำเปลือกอบเชยให้รู้จัก ดังนี้คือ เปลือกอบเชย เปลือกสมุนแว้ง ชะเอมเทศ ดอกกานพลู น้ำหนักสิ่งละ ๕๐ กรัม การบูร ๑ ช้อนชา เมนทอล ๑ ช้อนชา น้ำ ๗,๐๐๐ ซีซี (สูตรนี้จะได้ยาปริมาณมาก หากต้มกินเองลดลงตามส่วนได้) วิธีเตรียม นำสมุนไพรทั้ง ๔ อย่างต้มน้ำประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นตั้งทิ้งไว้พออุ่น จึงเติมการบูรและเมนทอล แล้วหาขวดยามาบรรจุเก็บไว้ (ขวดยาควรนำไปนึ่งทำความสะอาดก่อน) วิธีใช้ ผู้ใหญ่ ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะ เด็กลดลงตามส่วน รับประทานหลังอาหารหรือทุก ๒-๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ ยาธาตุเปลือกอบเชยนี้รสชาติอร่อยมาก ทำนองเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี หากใครสนใจตำรับยานี้ สามารถติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทยได้ แต่ถ้าใครอยากทำเองแต่ไม่สามารถหาตัวยาได้ครบ แนะนำให้ใช้เปลือกอบเชยเทศเท่านั้น น้ำหนัก ๑๕ กรัม ต้มในน้ำ ๑ ลิตร ให้เดือดนาน ๕-๑๐ นาที กินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยได้ผลดีเช่นกัน อบเชยเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม ชาวอียิปต์รู้จักใช้มาตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีแล้ว และในปัจจุบันก็ค้นพบและยอมรับในสรรพคุณทางยาเพิ่มมากขึ้น ในอบเชยมีส่วนประกอบสำคัญ คือ น้ำมันหอมระเหย ซึ่งในทางยาไทยถือว่า มีรสเผ็ด หวาน สุขุม กินแล้วช่วยทั้งขับลม ช่วยย่อย และยังบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจด้วย (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRmpOyQKXuICGI9_WCnuPFeB3sOpa-99OOBMNtrCSfIJHw5_oKq) ยอป่า Morinda coreia Buch-Ham. RUBIACEAE ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรี ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กตามยาวลำต้น ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบคอดและสอบไปสู่ก้านใบหรือบิดเบี้ยว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนา ขอบใบเป็นคลื่น ดอก ช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม แน่นติดกันเป็นก้อนกลม ตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแจกันทรงสูง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ผล รวมสีเขียว ทรงบิดเบี้ยวหรือกลม ผิวนอกผลเป็นปุ่มปมมีขน เนื้อเยื่อข้างในสีขาวมีน้ำมาก ก้านผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดบิดเบี้ยว ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม บำรุงน้ำนม ผล ตากแห้ง ต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียน แพ้ท้อง (https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRTImjFsURPnupZ2dIOV3xfGTWSdO2z_Cp55i630aEl38mwTQLo) (http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/image/1811.jpg) ตับเต่าน้อย ตำรับยาพื้นบ้าน ตับเต่า คือชื่อพืชสมุนไพร ไม่ใช่สมุนไพรที่มาจากสัตว์ ใครที่ชอบค้นคว้าอ่านตำราแพทย์แผนไทย หรือเคยคุยกับหมอพื้นบ้านจะได้ยินชื่อพืชสมุนไพรนี้ และจะได้ยินคำว่า “ตับเต่าทั้งสอง” ในตำรับยาไทยจึงมีตัวยาสมุนไพรที่กล่าวถึงตับเต่าทั้งสองอยู่ในตำรับยามากพอสมควร ตับเต่าทั้งสองเป็นเครื่องยาอะไรกันแน่ เมื่อสอบถามหมอยาไทยหลายท่านได้คำอธิบายว่า ตับเต่าทั้งสองหมายถึง ตับเต่าต้นและตับเต่าน้อย จากหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์” ให้ข้อมูลในส่วนของตับเต่าต้น บอกว่ามีเพียงชนิดเดียว คือ ต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyrosehretioides Wall.exG.Don แต่เมื่อพลิกตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ พบว่า ตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดคือ ตับเต่าน้อย (สุพรรณบุรี) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่าเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nymphoidescristata (Roxb.) Kuntze เป็นพืชน้ำ อยู่ในสกุลเดียวกับบัวสาย ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า ตับเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trivalvariacostata (Hook.f. & Thomson) I.M.Turner อยู่ในวงกระดังงา แต่เป็นต้นไม้ที่หายากมากๆ ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) มีชื่อสามัญว่า กล้วยเต่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. อยู่ในวงกระดังงาเช่นกัน แต่พืชชนิดนี้พบเห็นได้ทั่วไป เมื่อตับเต่าน้อย มีถึง ๓ ชนิดนั้น จึงเป็นที่มาของการค้นหาพืชสมุนไพรให้ถูกต้น เมื่อใช้จะได้ปลอดภัยและได้สรรพคุณตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ในการประชุมหารือกันระหว่างแพทย์แผนไทยและหมอยาพื้นบ้าน ได้ข้อสรุปว่า ตับเต่าน้อยที่มีอยู่ในตำรายาไทยน่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านเรียกว่า กล้วยน้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthiadebilis (Pierre) Finet & Gagnep. หรือมีชื่อสามัญว่า “กล้วยเต่า” ตับเต่าน้อยนี้จึงเป็นชนิดที่ ๓ ตามตำราของอาจารย์เต็ม สมิตินันท์ ตับเต่าที่นำมาปรุงยาชนิดนี้จะมีชื่อพื้นเมืองต่างกันเช่น ไข่เต่า (เชียงใหม่) ก้นครก (มหาสารคาม ยโสธร) กล้วยตับเต่า กล้วยเต่า (ราชบุรี) ไข่เต่า ตับเต่า ตับเต่าน้อย (ภาคเหนือ) รกคก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ตับเต่าน้อย เป็นพืชในวงศ์กระดังงา มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ขนาดเล็ก สูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร มีใบเป็นแบบใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน ออกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเล็ก มี ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยมกลายๆ กลีบดอกเรียงสลับกัน ๒ ชั้น เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่เป็นกลุ่มบนแกนกลางดอก เกสรเพศเมีย ๔ อัน อยู่ที่ปลายของแกนกลางดอก ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม แต่ละผลรูปทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลอมเหลือง แต่บางพื้นที่พบว่ามีผลสีแดง ข้างในมีเมล็ดเดียว ตับเต่าน้อยหรือกล้วยเต่า เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายทั่วไปในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั้งในประเทศพม่า ไทย ลาว จีนตอนใต้ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค พบมากในภาคเหนือและภาคอีสาน คนอีสานที่เกิดและเติบโตมาแบบคนรุ่นก่อนต้องเคยได้กินผลตับเต่าน้อยแน่ๆ เพราะเมื่อผลที่สุกเป็นสีเหลืองหรือแดงจัดนำมากินเล่น รสอร่อยดี รสออกรสหวาน บางลูกอาจจะหวานปนฝาดเล็กน้อย ใครที่ชอบอาหารพื้นบ้านต้องลองกินผลตับเต่าน้อยสักครั้งในชีวิต นอกจากกินเล่นแล้ว บางแห่งก็นำมาให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย กินเป็นอาหารสัตว์ด้วย ในส่วนของสรรพคุณสมุนไพร ตำรับยาอีสาน ใช้ตับเต่าน้อยเข้ายาแก้เลือดไม่ปกติและแก้มะเฮ็ง ในตำรายาไทยใช้เข้ายาแก้สรรพไข้ทั้งปวง ถ้าแยกตามส่วนของสมุนไพร พบว่า รากมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ตัวร้อน ดับพิษไข้ทั้งปวง ดับพิษตานซาง ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้วัณโรค และใช้บำรุงน้ำนมด้วย ส่วน รากและลำต้น นำมาบดใช้ทาแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ผล นำมารับประทานช่วยบำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม ภูมิปัญญาของภาคอีสานจะใช้ เหง้า เปลือก และ เนื้อไม้ นำมาใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายกะปริดกระปรอย และท้องเสียในเด็ก และต้น ต้มกับน้ำกิน แก้ปวดท้อง บางพื้นที่อาจใช้ส่วนของรากต้มน้ำกินได้เช่นกัน นอกจากแก้ปวดท้องแล้วยังกินน้ำต้มรากตับเต่าน้อยแก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะด้วย จากการรวบรวมเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีการศึกษาตับเต่าน้อยอยู่บ้าง สาระสำคัญที่มีอยู่ในราก ได้แก่ 3-o-acetyl aleuritolic acid,Suberosol, stigmasterol, β-sitosterol, 1-methyl-4-azafluoren-9-one (onychine), 7-megthoxy-1-methyl-4-azafluoren-9-one,triterpenes และจากการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดจากตับเต่าน้อยมีฤทธิ์ในการต่อต้านและทำลายเชื้อมาลาเรียได้ ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 ธันวาคม 2559 14:50:17 (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcT9OfJun-BPmMR7VzuQWH7pdHrEnP4j_mrUtBEYRlNvm5D16zsELg)
หอมแดง - หอมแดง ในตำรายาไทยมักมีตำรับที่ใช้สมุนไพรที่มีชื่อว่า หอม หอมแดง ว่านหอมแดง และหอมแกง ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสับสนว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดกันแน่ เนื่องจากมีสมุนไพร ๒ ชนิดที่มีชื่อว่าหอมในกลุ่มนี้ มูลนิธิสุขภาพไทยได้สอบถามหมอยาได้ความรู้ว่า ถ้าในตำรับใช้คำว่า “หอม” หรือ “หอมแกง” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นหอมที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หอมชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. ซึ่งทางวิชาการจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นหรือเป็นพืชของต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ส่วนชื่อ “หอมแดง” หรือ “ว่านหอมแดง” ที่ปรากฏในตำรับยาหมายถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. เดิมใช้ชื่อว่า Eleutherine Americana (Aubl.) Merr.ex K. Heyne จัดเป็นพืชสมุนไพรต่างถิ่นเช่นกัน แต่น่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วจึงมีชื่อท้องถิ่น เช่น ว่านไก่แดง ว่านข้าวว่านหมาก (ภาคเหนือ) ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) หอมแดง (ภาคกลาง ภาคใต้) บ่อเจอ เพาะปีบ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หอมแดงคาดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในป่าอะเมซอน แต่มีรายงานพบหอมแดงเป็นพืชในธรรมชาติของอินเดีย กัมพูชา และเวียดนามด้วย หอมแดงเป็นพืชล้มลุก หัวใต้ดินรูปไข่ยาว เปลือกหุ้มหัวสีแดง ทรงกระสวย มีลักษณะคล้ายหัวหอม แต่ใบเกล็ดที่หุ้มหัวหนา แข็งกว่า มีสีแดงเข้มอมม่วง ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้ง หรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น ใบ แทงขึ้นมาจากพื้นดิน รูปหอก จีบซ้อนกันคล้ายพัด ปลายใบแหลม โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ กลีบสีขาวรูปช้อน แทงออกเป็นช่อบริเวณตรงกลางของลำต้น ๔-๑๐ ดอกต่อก้านดอก กลีบดอกสีขาวซ้อนกัน ๒ ชั้น จำนวน ๖ กลีบ แบ่งเป็นวงนอก ๓ กลีบ และวงใน ๓ กลีบ แต่ละกลีบอยู่ไม่ตรงกัน กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าวงนอก กลีบดอกมีลักษณะรี ปลายกลีบโค้งเข้าด้านใน ผลมีลักษณะค่อนข้างรี ปลายหัวตัด ภายในแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ภายในมีเมล็ดรูปรี อัดกันแน่น ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการนำเอาหอมแดงเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พบว่าในสังคมไทยมีการใช้หอมแดงเป็นยาในหลายตำรับ เช่น ใช้หัวเป็นยาภายนอก ตัวอย่างเช่น ใช้เผารมควันร่วมกับเปราะหอมสำหรับแก้อาการเป็นหวัด แก้ลมชัก และแก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย นำมาทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน นำมาบดใช้ทาประคบแผลบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวดบวม ใช้ทารักษาแผล ทำให้แผลแห้ง ป้องกันการติดเชื้อ ใช้ประคบแผลสด สำหรับช่วยห้ามเลือด ใช้ส่วนหัวเป็นยากิน สามารถกินได้ทั้งสดและแห้ง หรืออยู่ในรูปที่เป็นผง โดยนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการเป็นหวัด คัดจมูก แก้อาการไอ แก้อาการคันคอ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปวดท้อง แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้ แก้อาการท้องเสีย รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ตำรายาไทยใช้ หัว มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือตำผสมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ทำให้อาเจียน แก้บิด และอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร น้ำยาที่ได้จากหัวใต้ดิน ใช้ทาบาดแผล แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้อง มีรายงานว่าแม้ว่าหอมแดงจะเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาใต้ แต่กลับมีการปลูกและนำใช้เป็นสมุนไพรมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้กันมากในหลายประเทศคือรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชพบว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียและต้านการอักเสบ นอกจากนี้ ยังพบสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (a-glucosidase) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ในลำไส้เล็ก เช่น แอลฟา-แอลกลูโคซิเดส (Alfa-alglucocidase) ไม่ให้เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ถูกดูดซึมได้น้อยและช้าลง เกิดผลต่อเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา มีฤทธิ์ในการป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี (HIV replication) และกระบวนการเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม (topoisomerase ll) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกหลายชนิดที่สามารถรักษามะเร็งได้ ประเทศอินโดนีเซียจึงให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสมุนไพรหอมแดง ทำให้มีงานวิจัยออกมาจำนวนหลายชิ้น ในประเทศต้นกำเนิดของหอมแดงมีรายงานว่ามีการใช้ส่วนหัวต้มน้ำดื่มรักษาอาการเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ รักษาอาการปวดหัว รักษาโรคโลหิตจาง รักษาไอกรน รักษาอาการไอเป็นเลือด ไอที่เกิดจากการเป็นหวัดธรรมดา ใช้รักษาแผลพุพอง ฝีหนอง และรักษามะเร็งในลำไส้ใหญ่ ในประเทศอินเดียใช้หัวบดกับน้ำดื่มขับพยาธิ น้ำคั้นจากหัวผสมกับเกลือใช้แก้อาการชักหรือใช้น้ำคั้นจากหัวผสมกับเหล้าลูบตามลำตัวเพื่อลดอาการชักได้เช่นกัน หอมแดงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง สามารถปลูกร่วมกันกับการปลูกป่าได้เป็นอย่างดี ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ น.๑๐๒ (http://www.thaihealth.or.th/data/content/2013/06/14282/resize/14282_thaihealth_ceimopqrtu14.jpg) สตรีกับโลหิตฤดู ว่ากันตามหลักภูมิปัญญาดั้งเดิม การดูแลสุขภาพของสตรีนั้น เขาจะคอยดูแลเลือดลมหมุนเวียนที่มากับประจำเดือนของผู้หญิงไม่ให้มีปัญหา หรือแก้อาการที่มาพร้อมประจำเดือนนั่นเอง ในคัมภีร์โบราณที่ชื่อว่า “พระคัมภีร์มหาโชตรัต ที่ถือว่ากล่าวถึงเรื่องราวโรคเกี่ยวกับสตรีไว้เป็นการเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของสตรีและบุรุษไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑.ถันประโยธรหรือมีเต้านมที่แตกต่างจากบุรุษ ๒.จริตกิริยา ข้อนี้ก็เห็นได้ง่ายว่ากิริยาอาการของผู้หญิงต่างกันอย่างไร ๓.ที่ประเวณี คำคำนี้หมายถึงช่องคลอด และ ๔.ต่อมโลหิตฤดู (ระดู) หมายถึงมดลูกนั่นเอง ซึ่งต่อมโลหิตฤดูนี้มีความสำคัญต่อสุขภาพสตรีอย่างมาก เทียบเคียงความรู้ปัจจุบันก็คืออวัยวะสำคัญในเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงและเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย โบราณท่านบรรยายประมาณนี้ว่า สตรีเมื่อพ้นกำหนดแห่งตานทรางแล้ว (เปลี่ยนจากวัยเด็ก) อายุ ๑๔-๑๕ ปี ต่อมโลหิตก็ตั้งขึ้นมาตามประเพณี แล้วมีฤดูมา ถันประโยธรก็วัฒนาเจริญขึ้น พูดง่ายๆ ว่า จากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มสาวเต็มตัว ในอดีตเด็กโตช้า แต่ปัจจุบันเหมือนว่าอายุ ๑๒ – ๑๓ ปีก็มีประจำเดือนกันแล้ว นี่เป็นปัญหาทางสังคม ท้องก่อนวัยอันควรจำนวนไม่น้อยด้วย หากพิจารณาตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง การเริ่มมีฤดูหรือระดูเป็นจุดเปลี่ยนของวัยและเป็นตัวชี้วัดสำคัญข้อหนึ่งว่า สตรีผู้นั้นจะมีสุขภาพดีหรือไม่ สตรีบางคนผิวพรรณหน้าตาผ่องใส ประจำเดือนมาตรงเวลา ระดูออกมาดี อาการปวดท้องและอ่อนเพลียก็ไม่มากนัก แต่มีสตรีอีกมากเรียกว่าเตรียมลาป่วยล่วงหน้าเพราะอาการปวดท้องอย่างมาก แถมยังมีอาการไม่สบายต่างๆ มารุมเร้าร่างกายและจิตใจด้วย ในหนังสือโบราณตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่มที่ ๒ กล่าวถึงกลุ่มโรคของสตรีไว้มากมาย มีคำอยู่คำหนึ่งกล่าวว่า โรค “โลหิตปรกติโทษ” ความหมายของคำนี้คืออะไรกันแน่ ในคัมภีร์กล่าวไว้แบบนี้ “(โลหิตัง) นหารู ชาโต อันว่าโลหิต (ปรกติโทษ) อันบังเกิดมาแต่เส้นเอ็นทั้งปวงนั้น เมื่อจะใกล้มีระดูมา ให้เป็นประดุจดังไข้จับ ให้สะบัดร้อน สะบัดหนาว ปวดศีรษะ เป็นกำลัง ครั้นมีระดูออกมาแล้วก็หายไปแล” บางคนคิดว่า อ๋อ... เป็นปรกติพอระดูออกมาแล้วก็หายไป ไม่ต้องรักษาอะไรทั้งนั้น แต่ครูบาอาจารย์หลายท่านได้อธิบายความว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก็หาย แต่คำว่า โลหิตปรกติโทษ หมายถึง โทษหรือความไม่สบายที่มาเป็นประจำทุกครั้งเมื่อมีระดู พูดง่ายๆ โทษมารายเดือนซึ่งต้องแก้ไข ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยเรามีคำตอบและมีศักยภาพในการบำบัดโรคและอาการของสตรีเหล่านี้ ใครที่เป็นมากเป็นมานานจะต้องปรึกษากับแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้านที่ชำนาญ แต่สตรีใดที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือนและอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่เป็นตำรับได้รับการรับรองขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งแล้ว แนะนำไว้ ๒ ขนานคือ ๑.ยาประสะไพล ส่วนประกอบ : ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ ๘ กรัม การบูร ๑ กรัม และไพล ๘๑ กรัม วิธีใช้ที่แนะนำคือให้กินก่อนประจำเดือนจะมา ๒-๓ วัน และให้กินวันที่ ๑ และ ๒ ของประจำเดือนมาแล้ว สรรพคุณ ใช้แก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอ และที่มาน้อย ช่วยแก้ปวดประจำเดือน นอกจากนี้ในตำรับยานี้ยังใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยขับน้ำคาวปลา หรือขับโลหิตเน่าร้ายหลังคลอดลูกด้วย ๒.ยาเลือดงาม ตำรับนี้ต้องถือเป็นตำรับพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ จำได้ว่าเมื่อครั้งมูลนิธิสุขภาพไทยทำงานในพื้นที่ อ.กุชุม จ.ยโสธร เมื่อ ๒๕ ปีก่อน ยาเลือดงามเป็นที่นิยมชมชอบของสตรีจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิด้วย กินก่อนมีประจำเดือนก็ช่วยให้ลดอาการปวดท้องและประจำเดือนมางามตามชื่อเลย ส่วนประกอบได้แก่ ขิงแห้ง ตะไคร้ สะระแหน่ กระชาย กระทือ ผิวมะกรูด ใบมะนาว กระเพรา กระเทียม เปลือกเพกา โกศจุฬาลัมพา ช้าพลู ลูกเร่ว ลูกจันทน์ กานพลู ดีปลี ไพล พริกไทยล่อน เจตมูลเพลิงแดง ชะเอมเทศ หนักสิ่งละ ๕ กรัม พิมเสน การบูร หนักสิ่งละ ๑ กรัม ให้กินครั้งละ ๑-๒ กรัม วันละ ๓ ครั้น ก่อนอาหาร สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิดด้วย แม้ว่าโลหิตระดูจะมีวัยที่หมดไปตามธรรมชาติ แต่ช่วงที่ยังมีประจำเดือนหากได้ดูแลและปรับสมดุลเลือดลมไว้ให้ดี รากฐานสุขภาพในวัยหนุ่มสาวจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใสในช่วงสูงวัยด้วย ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69099292573001_Fd.gif) สหัสธารา ยาไทยตำรับใหญ่ แก้อาการปวดหลัง ปวดเอวได้ชะงัด ขึ้นชื่อว่า “สหัสธารา” แล้ว หมอไทยทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นยาหลักตำรับหนึ่งที่ใช้รักษาอัมพฤกษ์ แก้ปวดเมื่อยเรื้อรังได้ผลดีกว่ายาตัวอื่น ทั้งนี้เพราะสหัสธาราเป็นยาตำรับใหญ่ ประกอบด้วยสมุนไพรมากชนิดถึง ๒๑ ตัวได้แก่ ๑.พริกไทยล่อน ๒.รากเจตมูลเพลิงแดง ๓.ดอกดีปลี ๔.หัสคุณเทศ ๕.เนื้อสมอไทย ๖.รากตองแตก ๗.เหง้าว่านน้ำ ๘.การบูร ๙.ดอกจันทน์ ๑๐.เทียนแดง ๑๑.ลูกจันทน์ ๑๒.เทียนตาตั๊กแตน ๑๓.มหาหิงคุ์ ๑๔.เทียนสัตตบุษย์ ๑๕.เทียนขาว ๑๖.จิงจ้อ ๑๗.เทียนดำ ๑๘.โกฐกักกรา ๑๙.โกฐเขมา ๒๐.โกฐก้านพร้าว ๒๑.โกฐพุงปลา ในตำรับยานี้จึงมีตัวยาออกฤทธิ์แรง แต่ในขณะเดียวกันตำรับจากภูมิปัญญานี้ก็มีสมุนไพรหลายตัวที่ช่วยคุมการออกฤทธิ์ไม่ให้เกิดโทษ เนื่องจากกลุ่มสมุนไพรที่ออกฤทธิ์หลักเป็นยารสร้อนมาก ได้แก่ พริกไทยล่อน รากเจตมูลเพลิงแดง ผลดีปลี หัสคุณเทศ มหาหิงคุ์ ยิ่งกว่านั้น ยังเสริมฤทธิ์กระจายลมด้วยยารสสุขุมร้อนเล็กน้อยของกลุ่มสมุนไพรเหง้าว่านน้ำ ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ รากจิงจ้อ การบูร รวมทั้งเทียน ๕ ได้แก่ เทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ เทียนตาตั๊กแตน และเทียนสัตตบุษย์ เฉพาะกลุ่มสมุนไพรรสเผ็ดร้อนกลุ่มแรก ก็มีปริมาณเกินร้อยละ ๖๐ ของตำรับแล้ว สมุนไพรกลุ่มนี้แหละที่ออกฤทธิ์ขับลมในเส้นทั่วสรรพางค์กาย จึงช่วยคลายความปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความตึงของเส้นเอ็น แก้ตะคริว และรักษาอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า อันเกิดจากร่างกายเย็นและธาตุลมหย่อน อย่างไรก็ตาม ในตำรับนี้ก็มีกลุ่มสมุนไพรจำพวกโกฐ ที่ช่วยคุมฤทธิ์ร้อนของยาสหัสธารา อันได้แก่ โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐกักกรา และโกศ เขมา แม้บางตัวจะมีรสร้อนเล็กน้อยแต่โดยรวมแล้วโกฐกลุ่มนี้มีรสเย็น ฝาด ขม มีสรรพคุณโบราณประการหนึ่งของยาสหัสธารา คือ เพิ่มกองลมแล่นลงล่างให้ไหลสะดวก ซึ่งช่วยให้บริเวณหลัง เอว และส่วนล่างของร่างกายผ่อนคลายหายปวดเมื่อย สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ดุจดั่งได้รับละอองน้ำสหัสธารา อันเป็นละอองน้ำสรงของพระราชาเลยทีเดียว สรรพคุณข้อนี้แหละที่สอดคล้องกับรายงานวิจัยทางการแพทย์ของศิริราชเมื่อปี ๒๕๕๙ เรื่อง “ผลลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันของตำรับยาสหัสธารา” งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยาสหัสธาราในการลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ตั้งแต่ ๑-๓ วัน จำนวน ๒๙ ราย อายุ ๑๘-๖๕ ปี แบ่งผู้ป่วยเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจำนวน ๑๔ ราย ได้รับยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร และกลุ่มหลังจำนวน ๑๕ ราย ได้รับยาสหัสธารา ขนาด ๑,๓๕๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร ทั้งสองกลุ่มรับยาเป็นเวลา ๗ วัน พบว่ายาไทยสหัสธาราในขนาดที่ใช้ในการวิจัย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันได้เท่ากับยาไอบูโปรเฟน ด้วยความเป็นยาสรรพคุณดีมีความปลอดภัยสูงนี่เอง ยาสหัสธาราจึงได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติและบัญชีเภสัชตำรับโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งยาสหัสธาราได้รับการประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติในบัญชียาจากสมุนไพรไว้ว่า ประกอบด้วย พริกไทยล่อน หนัก ๒๔๐ กรัม รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก ๒๒๔ กรัม ดอกดีปลีหนัก ๙๖ กรัม หัศคุณเทศ หนัก ๔๘ กรัม เนื้อลูกสมอไทย หนัก ๑๐๔ กรัม รากตองแตก หนัก ๘๐ กรัม เหง้าว่านน้ำ หนัก ๘๘ กรัม การบูร หนัก ๑๔ กรัม ดอกจันทน์หนัก ๑๓ กรัม เทียนแดง หนัก ๑๑ กรัม ลูกจันทน์ หนัก ๑๒ กรัม เทียนตาตั๊กแตน มหาหิงคุ์ หนักสิ่งละ ๑๐ กรัม เทียนสัตตบุษย์ หนัก ๙ กรัม เทียนขาว รากจิงจ้อ หนักสิ่งละ ๘ กรัม เทียนดำ หนัก ๗ กรัม โกฐกักกรา หนัก ๖ กรัม โกฐเขมาหนัก ๕ กรัม โกฐก้านพร้าว หนัก ๔ กรัม โกฐพุงปลา หนัก ๓ กรัม ขนาดและวิธีใช้ กินครั้งละ ๑-๑.๕ กรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร แต่มีข้อห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และผู้มีไข้ สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อนพึงใช้ยาด้วยความระมัดระวังตามคำสั่งแพทย์ ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้แล้วเกิดปวดหลังปวดเอว สมุนไพรตำรับสหัสธาราเป็นทางเลือกที่ดีในยุคสมุนไพร ๔.๐ แน่นอน. ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒ (http://www.med.cmu.ac.th/research/lanna-medstudies/images/herb/herb2.jpg) มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก ในช่วง ๒-๓ ปีมานี้ชื่อของ “มะแข่น” (เรียกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) หรือ “มะแขว่น” (ชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้าน) โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วแคว้นแดนไทย ด้วยมะแขว่นเป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มรสชาติชวนชิมให้แก่หลากหลายเมนูอาหารพื้นเมือง ทำให้แหล่งกำเนิด “มะแข่น” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของเมืองน่าน โดยมี “มะแข่น” เป็นศูนย์กลางถึงขนาดจัดสร้างอีเวนต์เทศกาล “วันมะแข่น” ในช่วงฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน จนทำให้ “มะแข่น” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจขายดีของท้องถิ่นน่านและล้านนา และมี “โครงการวิจัยฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) จากพืชท้องถิ่นบนพื้นที่ราบสูง” ของ “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง” ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ช่วยสนับสนุนส่งเสริมอย่างแข็งขัน เมนูอาหารล้านนาประเภทลาบ หลู่ ยำ ย่าง ทอดต่างๆ ที่ปรุงด้วยเครื่องเทศรสดีมีเอกลักษณ์ของ “มะแข่น” ลำขนาด (อร่อยมั่กๆ) แค่ไหนใครๆ ก็พอทราบดีกันอยู่แล้ว และควรแสวงหามารับประทานเป็นอาหารอุ่นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสหวัดที่กำลังระบาดในหน้าฝนอันเย็นชื้นยาวนานไปอีกหลายเดือน ในที่นี้จะกล่าวถึงสรรพคุณทางยาและตำรับยาที่มีส่วนประกอบของ “มะแข่น” ซึ่งยังไม่รู้จักเป็นที่แพร่หลายนัก นอกจากพอรู้ว่าเปลือกผลของเม็ดมะแข่นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน ใบนำมาเคี้ยวทำให้รู้สึกชาแก้ปวดฟันได้ และเม็ดนำมาตำร่วมกับพริกไทยล่อน ดีปลี แล้วหุงกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทานวดคลายเส้นตึง แก้ฟกบวม และถอนพิษฝีได้ชะงัด เนื่องจากเปลือกผลและเม็ดของ “มะแข่น” มีรสเผ็ดหอม หมอยาไทยจึงเรียก “มะแข่น” อีกชื่อหนึ่งว่า “พริกหอม” ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับยาหลวงหลายขนานใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” และใน “พระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” จึงมีปัญหาว่า “มะแข่น” หรือ “มะแขว่น” ในภาษาพื้นเมืองเป็นตัวเดียวกับ “พริกหอม” ในตำรับยาตำราหลวงหรือไม่ ในตำราวิชาการของกรมป่าไม้ “มะแข่น” และ “พริกหอม” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันว่า Zanthoxylum Limonella Alston แต่ใน “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ของ ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ระบุต่างกันว่า “มะแข่น” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zanthoxylum Budrunga Wall แต่ “พริกหอม” ในตำรับยาโอสถพระนารายณ์ มีชื่อสามัญว่า Zanthoxylum Piperatum DC. มีชื่อสามัญว่า Japanese Pepper ซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาในประเทศญี่ปุ่นและเป็นสมุนไพรนำเข้ามาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม พืชสมุนไพรเครื่องเทศป่าจำพวก “มะแข่น” “มะข่วง” “กำจัดต้น” หรือ “พริกหอม” หรือพริกไทยญี่ปุ่น ล้วนเป็นพืชในสกุล (Genus) เดียวกัน แม้ต่างชนิด (Species) กันก็ตาม แต่ก็มีรสยาและสรรพคุณยาไม่แตกต่างกันสามารถนำมาแทนกันได้ ในที่นี้ขอนำเสนอตำรับยาในคัมภีร์ดั้งเดิมของไทยชื่อว่า “พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์” ชื่อตำรับยา ยาพรหมภักตร์น้อย หรือยาประสะพริกหอม ซึ่งมีส่วนประกอบของ “พริกหอม” เป็นตัวยาหลัก มีสรรพคุณบำรุงกระดูกและไขข้อในกระดูก ส่วนประกอบในตำรับยามีดังนี้ ดอกจันทน์ ผลจันทน์ กานพลู สิ่งละ ๑ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๑๐ กรัม) มหาหิงคุ์ ยาดำ และการบูร สิ่งละ ๔ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๔๐ กรัม) ใส่พริกหอมเท่ายาทั้งหลาย คือ ๑๕ ส่วน (หรือ ๑๕๐ กรัม) นำมาบดผง ปั้นกับน้ำกระสายจากน้ำต้มเปลือกมะรุม ปั้นเป็นเม็ดเท่าผลมะแว้งเครือ (หนักประมาณเม็ดละ ๒๕๐-๓๐๐ มิลลิกรัม) กินเพียงวันละ ๑ เม็ด ก่อนอาหารเช้า เป็นเวลา ๑๕ วัน กระดูกจะแข็งแรงขึ้นและข้อกระดูกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะกระชับจนรู้สึกได้ ขอหมายเหตุว่า ถ้าจะใช้เปลือกผลหรือเม็ด “มะแข่น” แทน “พริกหอม” ในตำรับยาดังกล่าวก็ย่อมได้ หรือแม้แต่ไม่มีพริกหอม ท่านก็ให้ใช้พริกไทยล่อน (พริกไทยขาว) แทนก็ยังได้ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะบาง หรือมวลกระดูกลดลงหรือรู้สึกหนาวเย็นในกระดูก จะไหว้วานหมอยาไทยช่วยปรุงตำรับยาพรหมภักตร์น้อย หรือ “ยาประสะมะแข่น” ให้รับประทานตามขนาดที่ระบุไว้ รับรองไม่มีอันตรายใดๆ และในภูมิปัญญาของชาวล้านนายังพบบันทึกเรื่องราวทางการแพทย์ว่า หมอพื้นบ้านใช้เมล็ดสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต ชาวจีนก็มีตำรายาคล้ายภูมิปัญญาบ้านเรา ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย รายการอาหารดังแนะนำไปกินมะแข่นที่เมืองน่านนั้น แท้จริงยังมีแหล่งอาหารสุดอร่อยอื่นอีกมากทั้งเหนือและอีสาน อาหารที่ปรุงด้วยมะแข่นจะอร่อยต้องมาจากแหล่งมะแข่นคุณภาพ ซึ่งพบว่าหากช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติให้มะแข่นธรรมชาติได้อยู่อาศัยจะให้รสชาติดีมาก และหากจะปลูกเสริมก็ต้องรักษาป่าไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตดี มีราคาสูง บางท้องถิ่นที่มะแข่นคุณภาพดีๆ ราคาหลายร้อยจนถึงหลักพันบาทต่อกิโลเลยทีเดียว ที่มา : "มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97216178145673_123.gif) อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว ระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านได้รับการฟื้นฟูกลับสู่สังคมไทย การอยู่ไฟหลังคลอดได้รับการยอมรับให้บริการอยู่ไฟในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ อาจพูดได้ว่าเป็นการปรับประยุกต์การอยู่ไฟให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน การอยู่ไฟยุคปัจจุบันได้ถอดองค์ความรู้ดั้งเดิมเพื่อนำมาจัดบริการให้คุณแม่รุ่นใหม่อย่างน้อย ๔ ขั้นตอน คือ เช่น ๑) ทำการนวดไทย และประคบร่างกาย ๒) ให้เข้ากระโจมหรือตู้อบด้วยสมุนไพร ๓) นาบหม้อเกลือ หรือบางที่ก็เรียกว่า ทับหม้อเกลือ ๔) การนั่งถ่าน แต่ใครจะนึกว่า วิถีอยู่ไฟแบบบ้านๆ ยังมีให้เห็น เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยไปเยี่ยมเยือนมิตรสหายในแหล่งท่องเที่ยวสุดฮอตแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ที่แห่งนี้เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเคยมาอาศัยและทำงานในพื้นที่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ปัจจุบันชุมชนเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจท่องเที่ยวมายึดครองพื้นที่ไปทั่ว แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อได้ไปเยี่ยมครอบครัวที่เคยได้พักอาศัยหลับนอนเมื่อ ๒๐ ที่แล้ว เด็กหญิงอ้อยที่รู้จักนั้น ตอนนี้เป็นสาวหรือแม่คนแล้ว เพิ่งคลอดลูกคนที่ ๒ และกำลังนอนอยู่ไฟที่บ้าน ซึ่งชุมชนคนเกาะยาวยังสืบสานวิถีวัฒนธรรมนี้ไว้มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งนิยมให้ลูกหลานทำการอยู่ไฟ แบบฉบับดั้งเดิมนั้นจะอยู่ไฟ ๔๔ วัน แต่ในปัจจุบันนี้ลดลงเหลือประมาณ ๒ สัปดาห์เต็ม หรือแล้วแต่ใครจะมีเวลามากน้อยแค่ไหน คุณแม่น้องอ้อยคนนี้นอนอยู่บนแคร่ ซึ่งแคร่ไม่ใช่ของส่วนตัว แต่เพราะสังคมของที่นี่ยังหลงเหลือวัฒนธรรมแบ่งปันกัน แคร่อยู่ไฟตัวนี้จึงใช้วิธีหยิบยืมกันในชุมชน สำหรับฟืนก่อไฟก็หาได้ทั่วไปในป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งสภาพแวดล้อมของเกาะยาวอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงนำไม้แสม ไม้พังกา ไม้แต้ว มาใช้อยู่ไฟได้ แต่ก็มีไม้ต้องห้าม ไม่นำมาใช้คือ ไม้ลูกเลือด เพราะจะทำให้คัน ตอนที่นอนบนแคร่นั้น ข้างกองฟืนก็จะมีกาน้ำร้อนต้มน้ำวางไว้ให้แม่หลังคลอดกินน้ำอุ่นตลอดเวลา น้ำต้มก็มักจะใส่สมุนไพร พริกไทยดำหรือขิง เพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาสมุนไพร ช่วยให้น้ำนมออกดี แม่ก็จะกินน้ำสมุนไพรร้อนนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ กินน้ำสมุนไพรร้อนๆ แล้วก็ต้องอาบน้ำอุ่นด้วย โดยจะอาบน้ำอุ่นเช่นนี้ตลอดการอยู่ไฟประมาณ ๒ สัปดาห์ น้ำที่ใช้อาบจะใส่สมุนไพรหลักๆ ได้แก่ ใบมะขาม ใบหนาด ใบนุ้ย และอาจมีสมุนไพรอื่นที่หาได้ในชุมชน อยู่ไฟแบบเกาะยาวไม่มีการนั่งถ่าน แต่มีสิ่งที่แตกต่าง คือ มีการใช้ก้อนเส้ามากดนวดไปตามท้อง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ก้อนเส้าที่ว่านี้ คือก้อนหินขนาดใหญ่ที่ไปหามาจากชายทะเล แล้วนำมาเผาให้แดง จนร้อนจัด แล้วเอาน้ำราดเรียกว่าล้างหัวก้อนเส้า ซึ่งคงเป็นการลดความร้อนไม่ให้ร้อนเกินไป จากนั้นใช้ใบยอรองที่หัวก้อนเส้า เอาผ้าห่ออีกหนึ่งชั้นหรือหลายชั้นเพื่อไม่ให้ก้อนเส้าร้อนเกินไป แล้วนำก้อนเส้ามากดประคบให้ทั่วหน้าท้อง เพื่อให้ท้องยุบและช่วยมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น อาหารสำหรับแม่หลังคลอดที่ชาวเกาะยาวสืบทอดมานั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารที่เรียกน้ำนม มีรสเผ็ดร้อน เช่น แกงเคี่ยวพริกหัวปลี แก่งเคี่ยวพริกใบบัวบก เคี่ยวพริกหัวข่า เป็นต้น แม่ครัวที่ทำจะใส่พริกไทยมากๆ เครื่องแกงก็ประกอบด้วยพริกแห้งและใส่ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม หัวหอม แต่เน้นใส่พริกไทยให้มาก ถ้าทำเป็นแกงกะทิจะเคี่ยวให้เหลือน้ำน้อยๆ ถ้าทำแกงกับปลาย่าง ข้อห้ามหรือของแสลงคือ ไม่ปรุงด้วยปลาที่ไม่มีเกล็ด (กินเฉพาะปลามีเกล็ด) สำหรับการดูแลเด็กนั้น รอจนสายสะดือหลุดก็จะโกนผมไฟให้ ถ้าเด็กมีอาการปวดท้อง ร้องไห้โยเยก็ใช้ไพลฝนกับหินแล้วเอาน้ำมาทาท้อง หรือใช้น้ำมันมะพร้าวมาทาที่ฝ่ามือแม่ แล้วถูฝ่ามือให้เกิดความร้อน น้ำฝ่ามือประคบ นวดเบาๆ ที่ท้องเด็ก เป็นการแก้ท้องอืด ภูมิปัญญาพื้นถิ่นยังใช้ใบกระเพราตำผสมยาแสงหมึก นำไปกวาดแก้ซาง ลูกชาวเกาะยาวเชื่อมั่นนมแม่ เพราะแม่ทั้งกินอาหารสมุนไพรและได้อยู่ไฟทำให้มีน้ำนมมากพอเลี้ยงลูก และการกินน้ำนมแม่ซึ่งได้รับไออุ่นจากอกแม่นี้ เด็กๆ มักไม่ท้องอืด ทั้งยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ค่อยงอแง ส่วนแม่เองก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันเมื่อได้อยู่ไฟว่าทำให้มดลูกแห้งเร็ว เข้าอู่เร็ว ไม่ปวดหลัง ไม่ปวดเมื่อย รู้สึกร่างกายกระชับ หน้าท้องไม่หย่อนยาน เลือดลมดูจะหมุนเวียนดี ผิวพรรณก็สดใสแม้จะมีลูกมาหลายคน ที่พิเศษกว่าอยู่ไฟที่โรงพยาบาลคือ สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และได้รับความเอื้ออาทรของเพื่อนบ้านช่วยสร้างขวัญกำลังใจ เรียกว่าสุขภาพองค์รวมต้อนรับชีวิตใหม่อย่างดีเยี่ยม ที่มา : "อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 สิงหาคม 2560 16:23:53 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88528413863645_123.gif)
ปวดเข่า บรรเทาด้วยยาไทย ไม่อยากได้แต่ก็กำลังมา นั่นคือ อาการปวดเข่า ปวดแข้งปวดขา ท่านลองทบทวนตัวเองว่ามีพฤติกรรมส่วนใดที่มีความเสี่ยงต่ออาการปวดเข่าหรือไม่ เช่นยืนนาน น้ำหนักตัวมากหรืออ้วน ไม่บริหารร่างกาย หรือออกกำลังกายกันเลย มูลเหตุมากมายเหล่านี้คอยกัดกร่อนให้ข้อเข่าของเราเสื่อมถอยได้ก่อนวัย ในมุมมองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย อธิบายว่า อาการปวดเข่ามาจากการติดขัดของลมในร่างกาย และตามหลักทฤษฎีเส้นของการนวดไทยที่เส้นอาจเกิดการติดขัด ดังนั้น ในมุมมองศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมของไทย เห็นว่าทั้งลมและเส้นเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน สัมพันธ์กัน การแก้ไขอาการปวดเข่าก็ต้องแก้ที่ลมและเส้นนั่นเอง ย้อนไปในคัมภีร์เก่าสมัยอยุธยา ตำรับพระโอสถพระนารายณ์ ได้บันทึกยาอยู่ ๒ ตำรับ คือ “ยาพระอังคบพระเส้น” และ “ยาทาพระเส้น” ตำรับยาแรก เป็นตำรับลูกประคบ ช่วยเส้นที่ตึงให้หย่อน ประกอบตัวยา เทียนดำ เกลือ อย่างละ ๑ ส่วน อบเชย ๒ ส่วน ใบพลับพลึง ๘ ส่วน ใบมะขาม ๑๖ ส่วน ตำพอละเอียด คลุกให้เข้ากัน ห่อผ้า นำไปนึ่งให้ร้อน แล้วประคบตามเส้นที่ตึง “ยาทาพระเส้น” เป็นยาทา แก้เส้นที่ผิดปกติ รวมไปถึงแก้ลมอัมพาต แก้ลมปัตคาด แก้ตะคริว แก้จับโปง แก้เมื่อยขบ ประกอบด้วย พริกไทย กระชาย ข่า หอม กระเทียม มหาหิงคุ์ ยาดำ อย่างละ ๑ ส่วน ตะไคร้หอม ใบขี้เหล็ก ใบตองแตก ใบมะขาม ใบเลี่ยน อย่างละ ๔ ส่วน ใบมะคำไก่ ๑๖ ส่วน โดยใช้เหล้าขาวหรือน้ำส้มสายชู เป็นกระสายยา ใช้ทาบริเวณที่เป็น ตำรับยาทั้ง ๒ ตำรับ ใครจะนำไปใช้ก็ได้เลย แต่ให้เข้าใจเพิ่มอีกนิดว่า การใช้ลูกประคบสมุนไพรซึ่งมีความร้อนนั้น ไม่ควรใช้ในกรณีที่ข้อเข่าหรือบริเวณนั้นกำลังอักเสบ ซึ่งมักจะมีอาการบวม แดง และร้อน เพราะถ้าใช้ลูกประคบร้อนจะยิ่งทำให้การอักเสบเพิ่มขึ้น อาการปวดบวมก็มากขึ้นด้วย ถ้าใครกำลังมีอาการปวดบวมแดงต้องใช้วิธีประคบเย็น เช่น ใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบ บรรเทาอาการบวมแดง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้หน่วยบริการสาธารณสุขหลายแห่ง จัดบริการยากพอกบรรเทาอาการปวดเข่าด้วยสมุนไพร ที่มีบริการทั้ง ๒ รูปแบบ ขอยกตัวอย่างสูตรยาบางขนาน ซึ่งแต่ละที่อาจจะใช้ส่วนประกอบแตกต่างกันไปบ้าง ดังนี้ สูตรยาที่เรียกว่า ยาพอกเย็น คือเพื่อแก้อาการที่กำลังปวด แดง ร้อน และอาจบวมด้วย ส่วนประกอบ ใบย่านาง ๑๐ ใบ ใบรางจืด ๑๐ ใบ ใบตำลึง ๑๐ ใบ ใบฟ้าทะลายโจร ๑๐ และใช้ดินสอพอพอประมาณพอให้ยาข้น ให้เอาสมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาตำผสมกับดินสอพอง คลุกเคล้าให้ดีแล้วใส่น้ำสะอาดสักครึ่งแก้ว ถ้าผู้ป่วยต้องการยาพอกทันทีก็นำน้ำยาข้นๆ มาพอกที่หัวเข่าได้เลย แต่ถ้าพอรอได้ ก็มีเทคนิคให้นำยานี้ไปแช่ตู้เย็นให้ตัวยาเย็นๆ แล้วจึงเอามาพอกที่เข่า แล้วปล่อยไว้ ๒๐-๓๐ นาที หรือรอจนตัวยาแห้ง ควรพอกวันละ ๑-๒ ครั้ง (เช้า-เย็น) จะช่วยลดอาการปวดเข่า เข่าบวม ตำรับยานี้สมุนไพรทุกชนิดมีคุณสมบัติเย็นทั้งนั้น ตั้งแต่ตำลึง ย่านาง รางจืด และดินสอพองก็เป็นยาเย็นด้วย แต่ถ้ามีอาการเจ็บเข่าที่ไม่มีอาการบวม แดง และพอเอามือไปสัมผัสไม่ร้อนนั้น ก็ลองใช้สูตรตัวยาสมุนไพรรสร้อน ทำพอกหรือประคบเข่าได้ ประกอบด้วย เหง้าขิงสดและเหง้าไพรสด นำมาล้างน้ำสะอาด นำมาฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตำให้ละเอียด คะเนปริมาณว่าพอเพียงในการนำมาพอกที่เข่า สมุนไพรที่เตรียมไว้ให้ผสมกับน้ำมันงาหรือน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้ โดยคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วเอาไปพอที่เข่า แล้วหาผ้าพันไว้ แต่อย่าใช้ผ้าหนาเกินไป ให้เลือกผ้าบางๆ พอให้ระบายอากาศได้ พอกทิ้งไว้สัก ๓๐-๔๕ นาที ทำเช้าเย็น ตำรับนี้จะเลือกใช้เพียงขิงอย่างเดียวหรือไพลอย่างเดียวก็ได้ สมุนไพรทั้งสองนี้มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดและแก้อักเสบได้ นอกจากพอกยาสมุนไพรแล้ว หากได้กินน้ำต้มเถาโคคลานอุ่นๆ วันละ ๓ เวลา ครั้งละแก้ว ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วย และยิ่งได้นวดคลายเส้น อาจทำการนวดตนเองหรือไปพบหมอนวดไทยช่วยจับเส้นคลายเส้น ก็ยิ่งช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเมื่อยแข้งขาได้ดีขึ้น และถ้าได้ออกกำลังกายฝึกท่าบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง ก็จะเป็นการเสริมให้อาการปวดเข่าทุเลาเบาบางลงด้วยเช่นกัน ที่มา : "ปวดเข่า บรรเทาด้วยยาไทย" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๘ ประจำวันที่ ๒๘ กรกฎาคม - ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19515596081813__3586_3637_3657_3629_3657_3609.gif) ในพระไตรปิฎกที่เป็นเหตุการณ์ในประเทศอินเดียนั้น ขี้อ้นก็น่าเป็นพันธุ์อินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia odorata Willd. แต่พืชในสกุลนี้ก็มีรายงานในประเทศไทยอยู่ ๒ ชนิด คือ เทียนบราซิเลี่ยน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia multiora A.St.-Hill ซึ่งเป็นไม้พุ่ม และจริงๆ แล้วเป็นไม้ของต่างประเทศมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย อีกชนิดคือ ขี้อ้นฝอย ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavonia zeylanica (L.) Cav. ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ถ้าเป็นในอดีตคงต้องนับพืชอีก ๓ ชนิด เพราะเคยจัดอยู่ในสกุลนี้ แต่ต่อมาทางวิชาการย้ายไปอยู่สกุลอื่น ได้แก่ ขี้อ้นใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urena repanda Roxb.ex Sm. และขี้อ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urenarigida Wall.ex Mast เป็นไม้พุ่ม และขี้ครอก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Urenalobata L. ไม้ในกลุ่มนี้ทั้งหมดหมอพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “ขี้อ้น” และงานวิชาการต่างชาติก็พูดไว้ตรงกัน เนื่องจากผลของขี้อ้นมีลักษณะคล้ายกับขี้หรือมูลของตัวอ้นนั่นเอง (hoary bamboo rat; Rhizomys pruinosus Blyth,1851) มาดูการใช้ประโยชน์แยกชนิดกัน ต้นขี้อ้นอินเดีย (Pavonia odorata Willd.) ในวิชาอายุรเวทมีการใช้เป็นยากันมาก โดยนำส่วนของรากมาทำให้แห้ง บดให้เป็นผง ซึ่งจะมีกลิ่นหอมมาก ใช้เป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง ในปัจจุบันมีการนำเอาส่วนรากมาสกัดให้ได้น้ำมันใช้เป็นยาทาผิวหนังด้วย ขี้อ้นฝอย (Pavonia zeylanica (L.) Cav.) มีชื่อสามัญว่า Yellow ticky mallon เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กใช้เป็นยาสมุนไพรทั้งในอายุรเวทสิทธาและยาพื้นเมืองอื่นของประเทศอินเดีย ส่วนของใบและรากมีรสฝาด ใช้เป็นยาลดการอักเสบ อาการตกเลือดหรือเลือดไหลไม่หยุดและบิดมีตัว สูตรยานี้ให้นำส่วนของรากต้มกับผลมะตูมในการรักษาบิดมีตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนของต้นอ่อนนำมาทำให้ผิวนุ่มนวล ทำให้เย็นสบาย และใช้เป็นยากินแก้ลมในท้องหรือกระเพาะอาหาร ขี้อ้นใหญ่ (Urena repanda Roxb.ex Sm.) ในประเทศอินเดียใช้รากและเปลือกรักษาโรคกลัวน้ำ ขี้อ้นหรือขี้อ้นแดง (Urena rigida Wall.ex Mast) เป็นไม้พุ่ม ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ชูยอดตั้งขึ้น ดอกบานในหน้าแล้ง สีแดงอมชมพู ขึ้นกระจายเป็นวงกว้างตามท้องนาหรือตามชายป่า หมอยาพื้นบ้านอีสานใช้ราก ต้มน้ำให้สตรีระหว่างอยู่ไฟหลังคลอดกิน และใช้บำรุงโลหิต ในประเทศลาวใช้รากรักษานิ่วในถุงน้ำดี โดยใช้ราก ๑๐๐ กรัม ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นอีก ๔ ชนิด อย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำดื่ม ขี้ครอก (Urenalobata L.) มีชื่อสามัญว่า Bur Mallow เป็นพืชที่มีหลักฐานการใช้มากที่สุดของพืชในกลุ่มนี้ แบ่งกลุ่มการใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้ การใช้ประโยชน์ทางอาหาร ส่วนของเมล็ดใช้ใส่ลงในสตูหรือโจ๊ก จะทำให้อาหารมีลักษณะเป็นเมือก ส่วนของใบใช้ผัดหรือต้มเป็นอาหาร การใช้ประโยชน์ทางยาก รากใช้รับประทานเป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ทั้งปวง รากใช้เป็นยาพอก แก้โรคปวดข้อ ต้นราก ใบ ใช้เป็นยาแก้มุตกิดตกขาวของสตรี เป็นยาแก้นิ้ว ยาขับลมชื้นในร่างกาย แก้ปวดเมื่อยตามร่างกายเพราะลมในร่างกายเข้าแทรก เป็นยากระจายเลือดลม ต้นและใบใช้ต้มกับน้ำกินแก้ไตพิการ แก้พิษน้ำเหลืองเสีย ใช้เป็นยาภายนอก ใช้ต้นตำพอกเป็นยาห้ามเลือด ช่วยสมานแผลสด ในต่างประเทศใช้น้ำคั้นจากใบรักษาอาการผิดปกติในช่องท้อง เช่น อาการปวดแบบฉันพลันของลำไส้ใหญ่ ปวดกระเพาะ ท้องเสียและบิดมีตัว นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคหนองในและลดอาการไข้จากการติดเชื้อมาลาเรีย ใบและรากนำมาต้มดื่มเพื่อลดอาการเมาและช่วยลดความปวดเมื่อยตามร่างกาย ส่วนของรากนำมาทำเป็นโลชั่นทาแก้โรคคุดทะราด (เนื่องจากเชื้อ Treponema pertenue) และแก้อาการปวดหัว ทุกส่วนของพืชนำมาหมักด้วยน้ำใช้แก้กระดูกแตกหรือกระดูกหัก ใส่แผล การอักเสบของหัวนมและเต้านมและงูกัด ส่วนของใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใช้ทำยาทาผิวทำให้ผิวนุ่มนวล ช่วยลดไข้ ห้ามเลือด ใช้เป็นยารักษาบาดแผล ใช้เป็นยาลดอาการอักเสบในส่วนของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ ส่วนของใบยังใช้เป็นยาชงแบบเข้มข้นดื่มในกรณีที่คลอดบุตรยาก ส่วนของรากใช้แก้อาการไขข้ออักเสบและลดอาการปวดเอว และต้มดื่มแก้หวัด อาหารไม่ย่อย ระดูขาวและมุตกิด มาลาเรีย กิ่งขนาดเล็กนำมาเคี้ยวแก้ปวดฟัน ส่วนของเปลือกใช้ห้ามเลือด ส่วนของดอกนำมาต้มดื่มแก้ไอแบบแห้ง ส่วนของเมล็ดต้มดื่มขับพยาธิ การใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ เช่น เส้นใยจากลำต้นมีคุณภาพดีมาก ขาว เหนียวและนุ่ม นิยมนำมาทอเป็นผ้า กระดาษหรือทำวัสดุอื่นๆ ทนต่อการกัดกินของปลวกและกันน้ำ ส่วนของเมล็ดนำมาทำสบู่ หรือทั้งต้นนำมาเผาให้เป็นถ่านใช้ทำเป็นยาสีฟัน มีคุณสมบัติในการขัดฟัน การศึกษาพันธุ์ไม้ในพระไตรปิฎก นอกจากหลักธรรมะและยังเห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สามารถพัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันด้วย ขี้อ้นชื่อไม่เพราะแต่ประโยชน์มากจริงๆ ที่มา : "ขี้อ้น ประโยชน์สมุนไพรมากจริงๆ" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๓ ประจำวันที่ ๑-๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15987571039133__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) กลอนดู่ Gomphostemma javanicum (Blume) Benth. LABIATAE (LAMIACEAE) ไม้ล้มลุกหลายปี ผิวหยาบ ลำต้นตั้ง สี่มุม เนื้อแข็ง มีขนสั้นหนานุ่มหนาแน่น ไม่มีเนื้อไม้ ใบ เดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปไข่ หรือไข่กลับ โคนใบรูปลิ่มแคบหรือรูปเกือบตัด ขอบใบหยักมนหรือจักฟันเลื่อยแกมหยักมน ปลายใบแหลม ผิวบนมีขนสาก ท้องใบมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีขนสั้นหนานุ่มหนาแน่น ดอก ช่อแบบช่อฉัตร ออกเป็นช่อแน่นที่ซอกใบ ใบประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ วงกลีบเลี้ยงมีสันที่ยื่นขึ้นมา มีขนหยาบแข็งด้านใน รูปใบหอกหยักแหลม ปลายกลีบแหลมถึงเรียวแหลม สั้นกว่าพูกลีบ วงกลีบดอกสีขาวถึงสีขาวครีมแกมเหลืองอ่อน โค้งขึ้นแยกกัน มีขนสั้นหนานุ่มด้านนอก ก้านชูอับเรณู มีขนหยาบแข็งประปรายเมื่อยังอ่อนอยู่เปลี่ยนเป็นเกลี้ยง รังไข่มีขนอุย ผล มี ๑-๔ ผลย่อย เมล็ดเดียวแข็ง เรียบ มีขนสากที่ปลายยอด สีนวลใส ใบ รักษาแผลเปิด ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๒-๒๘กันยายน ๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76058575469586_images9SDDXEJB.jpg) ต้นชะโนด ในป่าคำชะโนด ช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับคำว่า “ชะโนด” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาหลายสิบปี ชื่อเสียงนั้นเป็นทั้งพื้นที่เร้นลับและเป็นที่ศรัทธาของคนมากมาย แต่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดน้ำท่วมทำให้เป็นที่กล่าวถึงโด่งดังมากขึ้นไปอีก พื้นที่นี้คือ “ป่าคำชะโนด” ตั้งอยู่ที่บ้านโนนเมือง ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีผู้กล่าวถึงตำนานป่าคำชะโนดไปต่างๆ นานา แต่ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์บอกได้ว่า ป่าคะชะโนดนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณะ มีเอกสารสิทธิ์เป็นหนังสือสำคัญที่หลวง (นสล.) จำนวน ๔๑๗ ไร่ คำว่า “ป่าคำชะโนด” นี้ได้นำเอาศัพท์ ๒ คำมารวมกัน คือคำว่า “คำ” หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซับหรือมีน้ำซึมจากใต้ดินขึ้นมาขังบนผิวดิน คนอีสานเรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า “น้ำคำ” ส่วนคำว่าชะโนด เป็นพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ปาล์ม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Taraw palm หรือ Ceylon oak มีชื่อวิทยาศาสตร์ Livistona saribus (Lour.) Merr. ex Cheval. เป็นพืชที่พบอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกในท้องถิ่นต่างๆ หลากหลายได้ เช่น ค้อพรุ จะทัง (สุราษฎร์ธานี) ค้อสร้อย (กรุงเทพฯ) ซือแด (มาเลย์-นราธิวาส) ร็อก (ตรัง) ซึ่งชื่อเรียกว่า ร็อก เป็นคำเรียกอย่างเป็นทางการของไทยของพืชชนิดนี้ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักเพราะมักเรียกว่าชะโนดกันทั่วไป ในภาคอีสานยังจะพบต้นชะโนดได้ที่บริเวณสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ด้วย และในต่างประเทศพบต้นชะโนดได้ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม บอร์เนียว ชวา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ไปถึงออสเตรเลียและแหลมปลายสุดของทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบตามหมู่เกาะโพลิเนเชียน มณฑลกวางดงและยูนนานของประเทศจีนด้วย ชะโนด เป็นไม้ที่มีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนต้นมะพร้าว ลูกเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายหมาก สูงเต็มที่ประมาณ ๓๐ เมตร ส่วนของตายอดนำมาใช้ประกอบอาหาร การเก็บตายอดมาเป็นอาหารทำให้ลำต้นตายได้ ส่วนของเยื่อหุ้มรอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดเมื่อนำมาแช่ในน้ำส้มสายชูหรือน้ำเกลือนำมากินได้ หรือส่วนของผลนำไปหมักดองทำเป็นเครื่องดื่ม ส่วนของช่อดอกคั้นน้ำไปทำน้ำตาลก็ได้ ส่วนของใบใช้ทำเสื่อและหมวก ใบอ่อนมีเส้นใยยาวใช้ทำไม้กวาด ส่วนกลางของใบใช้เป่าเป็นเพลงได้ ส่วนยอดที่อ่อนอยู่ใช้ทำเบาะรองนั่ง ทำความสะอาดภาชนะ ส่วนของหนามนั้นภูมิปัญญาพื้นบ้านใช้ทำกับดักสัตว์ เอกสาร CRC World Dictionary of Palms ได้กล่าวไว้ว่า ชะโนด สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาเพิ่มพลังทางเพศ ยาระบาย ยาถ่ายและแก้หวัด ส่วนของผลใช้เป็นยาถ่าย ใช้แก้อาการระบบประสาทผิดปกติ หอบหืดและทอนซิลอักเสบ และยังมีวิธีรมควันใช้แก้โรคผิวหนังบางประเภท ส่วนของเกสรตัวผู้นำมาผสมกับน้ำผึ้งและขิง เป็นยาแก้อาการเป็นหมันของผู้ชายได้ และหนามที่อยู่ใบต่ำสุดให้นำมาบดแล้วนำไปต้ม ใช้อมแก้เจ็บในช่องปาก พอรู้จักต้นชะโนดแล้ว น่าจะรู้จักพืชอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกับชะโนดมาก คือ ค้อ มีชื่อสามัญว่า Mountain serdang มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Livistona speciosa Kurz ในประเทศไทยพบได้ทั้งทางภาคเหนือ อีสานและใต้ โดยมีชื่อท้องถิ่น ดังนี้ ก๊อแล่ (เชียงใหม่) ค้อ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ประจวบคีรีขันธ์) ทอ หลู่หล่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) สิเหรง (ปัตตานี) ในอดีตพบมากที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกสถานที่นั่นเอง ค้อเป็นปาล์มต้นเดี่ยว ชอบขึ้นอยู่บนภูเขา ขนาดของลำต้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สูงได้ถึง ๒๕ เมตร ใบเป็นรูปพัด จักเว้าลึกไม่ถึงครึ่งตัวใบ จีบเวียนรอบใบสวยงาม ใบอ่อนสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกเป็นช่อออกระหว่างกาบใบ ช่อยาว ๑.๕๐ เมตร ผลกลมรี ขนาด ๒ เซนติเมตร ผลแก่สีเขียวคล้ำ ผลสุกรับประทานได้ ผลแก่มีสีน้ำเงินอมเทา เป็นสีธรรมชาติที่ค่อนข้างแปลกเหมือนไม่ใช่สีธรรมชาติ ค้อต่างจากชะโนดตรงที่ค้อมีผลขนาดใหญ่กว่าชะโนด คนอีสานตอนบนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งโขงและประชาชนในประเทศลาวนิยมนำผลมรับประทาน โดยนำผลมาล้างให้สะอาด ขัดเอาผิวที่เป็นสีน้ำเงินอมเทาออกให้หมด ถ้าไม่ขัดผิวออกจะทำให้มีรสฝาดมาก จากนั้นนำไปดองในน้ำเกลือประมาณ ๕-๗ วัน นำมารับประทานกับข้าว ส่วนการใช้ประโยชน์ทางยาคล้ายกับชะโนด ในประเทศลาวเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการซื้อขายในตลาดทั่วไปและส่งออกไปยังประเทศจีน ใบตากแห้งใช้มุงหลังคา ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าค้อเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เป็นเครื่องดื่มหรือผลไม้ที่ใช้ลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ดี ที่นำเอา ชะโนดและค้อ มาเสนอเพื่อให้เห็นประโยชน์มากกว่าความเชื่อศรัทธา หากช่วยกันส่งเสริมการศึกษาวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกไม่นานเราอาจได้อาหารและเครื่องดื่มบำรุงขวัญ บำรุงจิตใจและบำรุงร่างกายจากต้นชะโนด มีค่าเท่าทองคำก็ได้ ใครจะรู้ ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๙ วันที่ ๒๙ กันยายน - ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ (http://oknation.nationtv.tv/blog/home/blog_data/401/6401/blog_entry1/blog/2009-03-07/comment/408190_images/20_1236515830.jpg) ลิ้นมังกร ลิ้นมังกรเป็นไม้ล้มลุก อายุยืน มีเหง้าเป็นปล้องอยู่ใต้ดิน เมื่อแตกใบขึ้นจากข้อปล้อง จะออกใบเดี่ยวตามข้อ เวียนสลับกัน ลักษณะต้น – ใบอวบน้ำ ใบเดี่ยวยาวเรียวรูปหอกยาวชูขึ้นพลิ้วสะบัดปลายอ่อนไหว ทั้งๆ ที่เป็นไม้เนื้อแข็งอวบน้ำ จึงน่าจะได้ชื่อว่า ลิ้นมังกร ลิ้นมังกรออกดอกเป็นช่อ โดยแยกออกจากกาบใบ แล้วชูช่อตรงยาวขึ้น แล้วแยกดอกจากช่อกลางเป็นแขนงสีขาว ดอกเป็นหลอด ปลายหลอดแยก ๖ กลีบ ภายในเป็นเส้นเกสรสีขาวจำนวนมาก ดอกจะค่อยบานจากโคนช่อไปปลายช่อ คล้ายดอกซ่อนกลิ่นซ้อน ครั้นเมื่อดอกโรยก็สามารถติดเมล็ดได้ เวลาบานหมอตอนค่ำเรื่อยไปจนรุ่งเช้า ลิ้นมังกรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus changiana s.y.Hu ชื่อสามัญ Dragon’s Tongue อยู่ในวงศ์ EUPHOR-BIACEAE ภาษาอื่นเรียกไปต่างๆ เช่น ลิ้นแม่ยาย ส่วนจีนเรียก เหล่งหลีเฮียะ ลิ้นมังกรมีหลายพันธุ์ แต่สีสันยังคงคล้ายกัน รวมทั้งคุณสมบัติยังคล้ายกันอยู่ เช่น ดูดสารพิษ ทำลายเชื้อแบคทีเรีย แก้ไอเป็นเลือด ไอแห้งๆ ดอกสดนำมาแกงจืดกับหมู แก้พิษต่างๆ ใบแก่ ต้มกินแก้ไอ หอบ บำรุงปอด และบดใบสดแก่จัดพอกผิวอักเสบ พิษร้อน ก็จะบรรเทาได้ การขยายพันธุ์ ทำได้โดยวิธีชำใบ (ตัดใบเป็นท่อนๆ เสียบดินชื้น) ชำหน่อ ผู้นิยมต้นลิ้นมังกร นอกจากเห็นใบสด สวยแปลกและดอกหอมแล้วยังถือว่าเป็นไม้ดูดสารพิษ ปลูกในบ้านช่วยให้ออกซิเจน ทำให้ห้องสดชื่น สุขภาพดี บางท่านเห็นว่าเป็นใบไม้ที่สวย เคยเห็นปลูกลงกระถางเล็กๆ ตั้งบนโต๊ะหนังสือ เจ้าของคอยใช้ผ้านุ่มสะอาด หมั่นเช็ดใบ ทำให้ใบสวยสดชื่น เขียว รูปทรงทั้งต้นทั้งใบก็เรียวยาวชะลูดพลิ้วสะบัดปลาย พร้อมทั้งสีเหลือง เขียว-เหลือง อมเทา ยิ่งดูสวยแปลกยิ่งขึ้น ที่นิยมก็คือ ช่วยดูดซับสารพิษในอากาศให้ห้องมีอากาศสะอาดสดชื่นตลอดเวลา พร้อมทั้งฟอกอากาศให้สะอาด ทำให้ห้องพักเย็นสบาย นอกจากปลูกในที่ร่ม-ในห้องได้ประโยชน์แล้ว ลิ้นมังกรยังปลูกนอกบ้านเป็นแถวแสดงอาณาเขต เป็นรั้วเตี้ยๆ ที่สวยงาม ถ้ามีดอกยิ่งสวยพิเศษ และคุณสมบัติสำคัญอีกประการคือทนความแห้งแล้งได้ ค่อนข้างจะประหลาดใจ ที่มีผู้ซื้อขายต้นลิ้นมังกรในราคาค่อนข้างแพงมาก ราคาเป็นพันเป็นหมื่นก็มี แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ประโยชน์ของผู้รู้ ที่จะเข้าใจในคุณค่านั้นเอง ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๖ วันที่ ๒๒-๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/44016065655483__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) โทงเทง มีควันหลงจากงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือทำให้บรรดามนุษย์เพศชายต่างพากันแสวงหา “ยาเสาเรือนคลอน” สำหรับแก้นกเขาไม่ขันกันจ้าละหวั่น ซึ่งตรงนี้มีมุขขันเล็กๆ ของท่านประธานรองนายกรัฐมนตรีที่หยอดไว้ในคำกล่าวพิธีเปิดงานว่า “ยาเสาเรือนคลอน ไปเกี่ยวอะไรกับนกเขาด้วย” เรียกเสียงฮาตรึมจากที่ประชุม ยังดีที่ท่านไม่หยอดมุขต่อว่า “แล้วยานี้ไปเกี่ยวอะไรกับเสาเรือน” (ฮา) อันที่จริง ยาชูโรงตัวนี้เป็นแค่ไวอากร้าไทยตัวหนึ่งใน ๒๐ ตำรับที่ชายชาตรีชาวปักษ์ใต้ได้พึ่งพาอาศัยมาช้านานแล้ว ยาเสาเรือนคลอน ประกอบด้วยพืชสมุนไพร ๕ ชนิด ได้แก่ (๑) ม้าถอนหลักทั้งต้น (คนนครศรีธรรมราชเรียกว่า “ว่านนางครวญ” ชื่อนี้สาวๆ ฟังแล้วสะดุ้ง) หรือ ว่านค้างคาวดำ (เพราะมีดอกรูปคล้ายคางคาว) (๒) ผักโขม (๓) แก่นลั่นทมเป็นต้นเดียวกับลีลาวดี (๔) สังวาลย์พระอินทร์ และ (๕) เหง้าว่านน้ำ เคล็ดลับของสูตรยาตำรับนี้คือ ต้องใช้สมุนไพรแต่ละตัวหนักเท่ากัน ยกเว้น “ม้าถอนหลัก” ต้องใช้มากกว่าสมุนไพรตัวอื่นราว ๒-๔ เท่า ต้มน้ำ ๓ เอา ๑ ดื่มครั้งละ ๑ ถ้วยกาแฟ วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร สรรพคุณโดดเด่นของยาไวอากร้าไทยขนานนี้คือ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกาย รวมทั้งไปเลี้ยงอวัยวะเพศของท่านชายให้แข็งแรงด้วย นี่คือจุดแข็งของ “ยาเสาเรือนคลอน” แต่จุดอ่อนคือ ยาตำรับนี้ต้องเสาะหาสมุนไพรถึง ๕ ตัว ซึ่งในอดีตอาจหาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นภาคใต้ แต่เดี๋ยวนี้แหล่งธรรมชาติของสมุนไพรเหล่านี้สูญสิ้นไปเกือบหมดแล้ว การใช้ยาตำรับนี้จึงไม่ใคร่สะดวกนัก ในที่นี่จึงขอแนะนำยาไวอากร้าไทยใกล้มือ เป็นผลไม้ของวัชพืชชนิดหนึ่งซึ่งพบเห็นได้ตามที่รกร้างทั่วไปหรือตามข้างถนน สมัยเด็กของใครบางคนอาจเคยชอบเด็ดผลที่ห้อยโทงเทงของมันมากินเล่น รสชาติหวานอมเปรี้ยวคล้ายลูกมะเขือเทศ เพราะเป็นพืชอยู่ในวงศ์เดียวกัน ทายซิว่าเป็นต้นอะไรเอ่ย แม้ “โทงเทง” ชื่อพฤกษศาสตร์ Physalis angulata L. จะเป็นเพียงวัชพืชข้างถนน แต่ด้วยรสชาติดี แคลอรี่ต่ำ สูงล้ำด้วยวิตามินเอ (๒๐%) วิตามินซี (๒๖%) มีไฟเบอร์สูง แถมเป็นหนึ่งในผลไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่อุดมด้วยโปรตีนและธาตุเหล็ก กล่าวคือ ในผลโทงเทง ๑๔๐ กรัม มีโปรตีนถึง ๒.๖๖ กรัม (หรือ ๒%) และธาตุเหล็กถึง ๘% ดังนั้น โทงเทงจึงเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาด มีการปลูกเพื่อการพาณิชย์ในภาคเหนือ แต่ใช้โทงเทงพันธุ์ฝรั่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเปรู จึงมีชื่อพฤกษศาสตร์ Physalis peruviana L. หรือไฟซัลลิส เปรูเวียน่า มีชื่อสามัญว่า เคพกูสเบอร์รี่ (Cape gooseberry) หรือโกลเดนเบอร์รี่ (Goldenberry) เพราะมีลูกสีทองสดใสน่ากิน ซึ่งพ้องกับชื่อไทยว่า “ระฆังทอง” เพราะกาบผลหุ้มผลสีทองห้อยโทงเทงดูเหมือนระฆัง โทงเทงไทยกับโทงเทงฝรั่งเป็นพืชพี่น้องในสกุลเดียวกันแต่คนละชื่อเท่านั้น คุณค่าทางยาและโภชนาการไม่ต่างกัน แต่โทงเทงฝรั่งลูกใหญ่กว่า คุ้มค่ากว่าในการขยายพันธุ์ปลูกเพื่อการตลาด ปัจจุบันมีการเผยแพร่สรรพคุณต่างๆ มากมายของโทงเทง แต่มีสรรพคุณหนึ่งซึ่งยังไม่มีการพูดถึงกันทางสื่อสาธารณะคือ ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งมีงานวิจัยทางเภสัชวิทยารองรับอย่างชัดเจน มีการวิจัยทดสอบฤทธิ์ของผลโทงเทงฝรั่งในการป้องกันความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูทดลองตัวผู้ โดยป้อนน้ำคั้นผลโทงเทงสดเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ พบว่าน้ำผลโทงเทงช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในเพศชาย ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในพัฒนาการของเนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์หลักของเพศชาย คือ ลูกอัณฑะและต่อมลูกหมาก และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ช่วยให้ร่างกายชายชาตรีฟิตแอนด์เฟิร์ม เพราะฮอร์โมนตัวนี้จำเป็นมากสำหรับการเจริญของกล้ามเนื้อกับกระดูกของผู้ชาย ถ้าขาดหายไปจะทำให้กล้ามเนื้อลีบ กระดูกพรุน ในทางวิชาการเขาบอกว่า ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน เป็นฮอร์โมนหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับสุขภาพที่ดีและความอยู่เป็นสุขของบรรดากระทาชายทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้นการทดลองนี้ยังพบว่า น้ำคั้นผลโทงเทงช่วยเพิ่มปริมาณกลูตาธัยโอน (Glutathione) หรือสาร GSH (Glutathione SulphaHydryl) ในลูกอัณฑะโดยตรง ซึ่งนอกจากจะปกป้องเซลล์สืบพันธุ์ (Germ Cell) ในอัณฑะแล้ว ยังลดอัตราการตายของเซลล์สืบพันธุ์ ทำให้ชายสูงอายุยังสามารถผลิตทายาทที่แข็งแรงได้ว่างั้นเถอะ ยังไม่จบ เพราะยังพบว่านอกจากโทงเทงจะเพียบด้วยวิตามินเอแอนด์ซีแล้ว ยังอุดมด้วยวิตามินอี ในรูปของแอลฟ่าและเบต้า โทโคฟีรอล (Tocophyrol) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ (biological activity) สูงที่สุด เพื่อเน้นความสำคัญของวิตามินอี ฝรั่งจึงเรียกโทงเทงอีกชื่อหนึ่งว่า ลูกโทโคโทโป (Tocotopo) อย่างที่รู้กันวิตามินอีมีสาร Anti-Aging ช่วยชะลอวัยไม่ให้แก่เร็วด้วย เดี๋ยวนี้ ลูกโทงเทงเป็นที่นิยมแพร่หลายในต่างประเทศในชื่อเท่ๆ ว่า ลูกเคพกูสเบอร์รี่ ซึ่งมาในลักษณะของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและขนม เช่น พาย พุดดิ้ง ไอศกรีม น้ำผลไม้เข้มข้น แยม เยลลี่ กินกับขนมปัง เป็นต้น สำหรับไทยเรา นอกจากกินเป็นผลไม้สดหรือปั่นเป็นน้ำผลไม้แล้ว ควรศึกษาด้านการแปรรูปเป็นอาหารและขนมให้หลากหลาย เพื่อให้ท่านชายในวัยเจริญพันธุ์สามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพและเพื่อผู้สูงอายุจะได้มีสุขภาพดี ในยุคสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๖ วันที่ ๒๒-๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 ตุลาคม 2560 14:26:27 (https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/600x315/dc/ee/9e/dcee9ed0127d74b47547c979246b4856.jpg)
ต้นงวงช้าง ต้นงวงช้าง เป็นพืชล้มลุก จะขึ้นในฤดูฝน หมดฤดูแล้วก็ตาย ทิ้งเมล็ดร่วงลงดิน ขยายพันธุ์ต่อไป งวงช้างมีต้นสูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร เป็นต้นแตกกิ่งเล็กๆ ใบเห็นรูปใบโพธิ์ ผิวใบขรุขระ และมีขนอ่อนปกคลุมทั้งต้น เวลาถูกใบหรือจับดูจะรู้สึกสากและเหนียวมือคล้ายยาง งวงช้างชอบขึ้นในที่ชื้น ใกล้ทางน้ำ เช่น ริมน้ำ ริมคลองหรือที่ว่าง ข้างถนนหนทาง ขึ้นง่าย คนที่รู้จักจึงนำเมล็ดมาปลูกเพื่อขยายพันธุ์ งวงช้างหรือหญ้างวงช้าง เมื่อโตเต็มที่ก็จะออกดอก เป็นช่อชูสูง ปลายช่อม้วนโค้งลงเหมือนเหมือนงวงช้าง จึงเรียกว่าหญ้างวงช้าง ช่อดอกงวงช้าง มีดอกเรียงเป็นแถวตามช่ออย่างมีระบบ ดอกเล็กๆ เวลาบานมี ๕ กลีบ สีขาวปนฟ้า เกสรสีเหลืองอยู่กลางดอก ดอกในช่อนั้นเรียงเกาะกันตั้งแต่โคนถึงปลายช่อ โคนช่อดอกร่วงก็ติดเมล็ด ที่เหลือก็บานต่อกันไปเรื่อยๆ จนสุดงวง ซึ่งเป็นช่องอโค้งอย่างนุ่มนวล สวยดังลายก้านขด งวงช้างเมื่ออยู่รวมกันจำนวนมาก เวลาออกดอก ชูงวงสลอนน่าชม ทั้งดอกสีฟ้าและขาว เกสรเหลือง ทำให้ยิ่งพิศยิ่งประหลาดในธรรมชาติของดอกไม้ที่สวยงาม รวมทั้งมีประโยชน์ในการรักษาโรคด้วย ทำให้ผู้รู้เห็นว่าเป็นต้นไม้มีค่า ชื่อทั้งสวยงามและทำยารักษาโรคได้ หมอยาพื้นบ้านต้องแสวงหาหญ้าชนิดนี้เพื่อนำมารักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน แก้เด็กลมชัก หอบหืด ปวดท้อง และเป็นโรคกระเพาะ โรคผิวหนัง แผลฝี โดยนำต้นสดทั้ง ๕ ต้นมาตำให้ละเอียด พอกและต้มกินรักษาโรค แต่ห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์ ปัจจุบันมีผู้นำต้นงวงช้างทั้ง ๕, ๑ กำมือ กิ่งลั่นทมประมาณ ๑ ศอก ล้างสะอาดสับรวมกัน ผสมน้ำตาลทรายแดงต้มเคี่ยวด้วยกันจนงวด กินเวลาท้องร่วง รักษาโรคดีซ่านชะงัดนัก ต้นงวงช้างมีชื่อสามัญว่า Alacransillo eye bright Indian Turnsole ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Heliotropium indicum.L. อยู่ในวงศ์ BORAGINACEAE ชื่อท้องถิ่นเรียกกันต่างๆ เช่น หญ้างวงช้าง หวายงวงช้าง หญ้างวงช้างน้อย คนจีนเรียก ไต่บ๋วยเอี้ยว ขณะนี้ต้นงวงช้างกลายเป็นต้นไม้หายาก ที่เคยเห็นดาษดื่นอยู่ในอดีตนั้นหายไปแล้ว เพราะการขุดหน้าดินนำไปทำธุระอื่นหรือถมทับพื้นดินจนพืชพันธุ์เล็กๆ หายไป จะหลงเหลือให้เห็นในที่บางแห่ง และคนทั่วไปก็แทบไม่รู้จักแล้ว เคยเห็นร้านยาจีนมีสมุนไพรตากแห้งส่งมาจากเมืองจีน ผู้คนก็ซื้อมาเป็นเทียบๆ เพื่อรักษาโรค อยากให้สมุนไพรไทยนำมารวบรวมจำหน่ายหรือส่งออกนอกประเทศบ้าง อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์พืชพันธุ์สมุนไพรไทย ก่อนที่จะสูญหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๘ วันที่ ๖-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51300146265162__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) สมุนไพร (ยาหอม) กับไซเตส ข่าวดังไม่นานมานี้ ทำเอาคนในวงนิยมสมุนไพรมึนงงไปตามๆ กัน เมื่อประเทศเนเธอร์แลนด์ห้ามนำยาหอมยี่ห้อหนึ่งของไทยเข้าประเทศ เพราะตรวจพบว่ามีส่วนผสมสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ ๑ ตามอนุสัญญาไซเตส! ถ้าตามข่าวอย่างละเอียด ไม่ดราม่าใส่ไข่ปรุงแต่งก็จะพบว่ายาหอมของไทยไม่มีอันตรายใดๆ เป็นเพราะในการจะเคลื่อนย้ายพืชอนุรักษ์ในบัญชีไซเตสนั้น ต้องขออนุญาตนำออกและนำเข้าไปยังประเทศปลายทางตามข้อตกลงของไซเตส กรณีนี้คงมีความคลาดเคลื่อนในเอกสารกำกับ ไม่ใช่เพราะยาหอมของไทยมีปัญหาด้านคุณภาพ ในทางกลับกันอาจพูดได้ว่ายาหอมของไทยคือ หนึ่งในโปรดักต์แชมเปี้ยนของไทย ชาติไหนๆ มากินต่างชอบอกชอบใจทั้งน้าน ที่ผ่านมาเรามักคุ้นเคยกับข่าว ไซเตสกับการลักลอบค้าขายงาช้าง เสือโคร่ง หรือสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่ชื่อไซเตส มาจากชื่อย่อของ “อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora-CITES)” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมไม่ให้การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ พูดง่ายๆ ไซเตสดูแลทั้งสัตว์และพืชที่เสี่ยงการสูญพันธุ์นั่นเอง สมุนไพรที่อยู่ในตำรับยาหอมที่เป็นข่าวนั้น คือ ต้นโกฐกระดูก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea lappa C.B. Clarke อยู่ในวงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE) ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ลำต้นและใบมีขนปกคลุม ขอบใบหยัก ดอกออกเป็นกระจุก ไม่มีก้าน ออกด้านข้างหรือที่ปลาย ผลเป็นรูปโค้ง มีขนปกคลุมเช่นกัน ส่วนที่นำมาทำยาให้สรรพคุณดีนั้น จะใช้ส่วนราก ซึ่งจะขุดในฤดูใบไม้ร่วง (ไม่ใช่พืชในประเทศไทยแน่นอน) หลังจากล้างน้ำแล้วจะตัดรากฝอยออก แล้วก็หั่นเป็นชิ้นๆ ถ้าชิ้นไหนใหญ่ก็มักจะผ่าครึ่งก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง ตัวยารากแห้งนี่แหละที่นำมาปรุงยาในตำรับยาดีๆ มากมาย โกฐกระดูก หรือเรียกว่า บักเฮียง (จีนแต้จิ๋ว) หรือ มู่เชียง (จีนกลาง) เป็นพืชถิ่นดั้งเดิมที่ขึ้นตามหุบเขาชื้น พบทางตะวันออกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ระดับความสูง ๒,๕๐๐-๓,๖๐๐ เมตร แต่ปัจจุบันทราบมาว่ามีการปลูกกันในประเทศจีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน ญี่ปุ่น เกาหลี และน่าจะตอนเหนือของเวียดนามด้วย แม้ว่าจะเริ่มมีการปลูกกันเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังติดอยู่ในบัญชีพืชใกล้สูญพันธุ์ของไซเตส จึงเป็นอุปสรรคในด้านการนำมาค้าขายที่ต้องทำการขออนุญาตให้ถูกต้อง สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีวัตถุดิบโกฐกระดูกเลยจึงสั่งนำเข้าจากจีน แต่ในอนาคตอาจมีการพยายามปลูกทางเหนือของไทยก็เป็นได้ สรรพคุณตามภูมิปัญญา ในตำราสรรพคุณยาไทย ใช้แก้เสมหะและลม แก้หืด หอบ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกระดูก สำหรับแพทย์แผนไทยถือว่าโกฐกระดูกเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัด โกฐทั้ง ๗ และพิกัดโกฐทั้ง ๙ในประเทศจีนและอินเดีย ใช้เป็นเครื่องเทศ ยาฆ่าเชื้อ ยาฝาดสมาน ใช้เป็นยาชูกำลัง แก้ไอ แก้ท้องเสีย และใช้เป็นยาภายนอกกับโรคผิวหนังด้วย โกฐกระดูกนี้ยังมักเป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมของไทยอีกหลายตำรับ ขอแนะนำ ๑ ตำรับ ซึ่งปัจจุบันประกาศให้เป็นรายการสมุนไพรในบัญชียาหลักของประเทศ คือ ยาหอมนวโกฐ ที่ประกาศไว้อย่างเป็นทางการบอกว่า ใน สูตรตำรับ ในผงยา ๒๑๒ กรัม ประกอบด้วย ๑.โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๒.เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๓.เปลือกสมุลแว้ง หญ้าตีนนก รากแฝกหอม เปลือกชะลูด หัวเปราะหอม กระลำพัก ขอนดอก เนื้อไม้กฤษณา หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๔.เหง้าขิงแห้ง ดอกดีปลี รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู หนักสิ่งละ ๓ กรัม ๕.หัวแห้วหมู ลูกกระวาน ดอกกานพลู ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ เปลือกอบเชยญวน ลูกผักชีลา แก่นสน หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๖.แก่นสักขี ลูกราชดัด ลูกสารพัดพิษ แก่นจันทน์เทศ แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๗.เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๘.เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก รากชะเอมเทศ หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๙.พิมเสน หนัก ๑ กรัม ข้อบ่งใช้ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการเช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง ครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา ละลายน้ำกระสาย ๒-๔ ช้อนโต๊ะ ทุก ๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน ๓ ครั้ง ชนิดเม็ด ครั้งละ ๕-๑๐ เม็ด ละลายน้ำกระสาย ๒-๔ ช้อนโต๊ะ ทุก ๓ ชั่วโมง เมื่อมีอาการ วันละไม่เกิน ๓ ครั้ง ข้อควรระวัง ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ และการใช้ในหญิงมีครรภ์ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน ๕ วัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์ผลของยาหอมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ยาหอมมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลาง ที่สามารถใช้บำบัดอาการเป็นลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ท้องอืด แก้ลมจุกเสียด ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยที่สืบทอดมานานกว่า ๑๐๐ ปี สรรพคุณยาหอมไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไป แต่วัตถุดิบยาสมุนไพรคือสิ่งท้าทายให้เราต้องช่วยกันปลูก และจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่เพียงรอดพ้นอนุสัญญาไซเตส แต่เพื่อให้สมุนไพรดูแลสุขภาพแก่มวลมนุษยชาติ สืบไป ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๓๘ วันที่ ๖-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ (http://prayod.com/wp-content/uploads/2016/06/%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%87.jpg) กำลังเสือโคร่ง พันธุ์ไม้พระราชทานเมืองน่าน เพื่อปลูกเป็นมงคล ผศ. วรรณา กัลยาณะวงศ์ ณ อยุธยา ชื่ออื่น : กำลังพญาเสือโคร่ง ชื่อสามัญ : Birch ชื่อวิทยาศาสตร์ : BetulaalnoidesBuch.-Ham. exG. Don ชื่อวงศ์ : Betulaceae ข้อมูลทั่วไป เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๕๕ สื่อหลายแขนงรวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับได้รายงานการพบต้นกำลังเสือโคร่งขนาดใหญ่ ดังนี้ พบต้น "พญาเสือโคร่ง" อายุกว่า ๒๐๐ ปี กลางหุบเขาภูลมโล อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย คาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือ พบต้นพญาเสือโคร่งที่มีอายุมากกว่า ๒๐๐ ปี มีขนาด ๑๐ คนโอบ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า คาดว่าเป็นต้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือ ตะลึงพบต้นกำลังเสือโคร่ง ขนาด ๑๐ คนโอบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ เมตร สูง ๔๐ เมตร อายุกว่า ๒๐๐ ปี อยู่กลางป่าทึบกลางหุบเขาภูลมโล ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย บนความสูง ๑,๘๕๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล จากรายงานดังกล่าวทำให้มีความสับสนเรื่องชื่อ เพราะมีทั้งเรียกต้นกำลังเสือโคร่ง และต้นพญาเสือโคร่ง แม้ไม่มีรายงานว่าต้นนางพญาเสือโคร่ง แต่หลายคนที่รับข่าวอาจจะนึกไปถึงต้นนางพญาเสือโคร่ง เพราะบริเวณภูลมโลนี้เป็นแหล่งที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งมากที่สุดบริเวณหนึ่งของเมืองไทยด้วย มีการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยามที่นางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยพากันเบ่งบานชมพูไปทั่วทั้งภู และหลายคนอาจจะดูคลิปนี้จากยูทูป หัวหน้าอุทยานภูหินร่องกล้า ยืนยันว่า ต้นที่พบนี้เป็นต้นตัวผู้เพราะไม่ออกดอก ต้นตัวเมียจะมีดอกสีชมพู ซึ่งอาจจะว่าเป็นต้นนางพญาเสือโคร่งก็เป็นได้ เพราะบริเวณนี้มีต้นนางพญาเสือโคร่งจำนวนมาก แต่ต้นนางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงเพียง ๑๐-๑๕ เมตร เท่านั้น ดังนั้น ต้นนี้จึงเป็นต้นกำลังเสือโคร่ง แต่อาจเรียกเป็นอื่นๆ ตามแต่จะเรียกขานกัน (กำลังเสือโคร่งมีดอกสีขาวอมเหลือง และไม่แยกต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย) แต่ที่เรียกกำลังเสือโคร่งนั้นก็มีหลายต้นนอกเหนือจากต้นที่เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นต้นที่เรากำลังทำความรู้จักกันอยู่นี้ ต้นกำลังเสือโคร่งอีก ๒ ต้น มีรายละเอียดดังนี้ กำลังเสือโคร่งต้นที่ ๒ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ziziphusattopensis Pierre อยู่ในวงศ์ Rhamnaceae เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ทนแล้งและเจริญเติบโตเร็ว เหมาะจะปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรตามสรรพคุณตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ใช้เนื้อไม้ของกำลังเสือโคร่งผสมกับต้นม้าโรงแตก หรือม้ากระทืบโรงตัวผู้ ลำต้นข้าวหลามแก่น หรือรากเจ็ดช้างสารใหญ่ ลำต้นกำลังช้างสาร จำนวนเท่ากัน ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลังทางเพศ หรือใช้เนื้อไม้กำลังเสือโคร่งผสมกับแก่นของต้นหางรอก รากเจ็ดช้างสารใหญ่ เนื้อไม้ต้นกำลังช้างสาร จำนวนเท่ากัน ต้มน้ำดื่มเช่นกัน เป็นยาบำรุงร่างกาย และบำรุงกำลังทางเพศได้เหมือนกัน กำลังเสือโคร่งต้นที่ ๓ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnosaxillaris Colebr. อยู่ในวงศ์ Strychnaceae มีชื่ออื่นๆ คือ ขวากไก่ หนามเข็ม (ชัยภูมิ) ขอเบ็ด (หนองคาย) ขี้แรด (ปราจีนบุรี) เขี้ยวงู (ชุมพร) ตึ่ง เครือดำตัวแม่ (ลำปาง) เบน เบนขอ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) เล็บครุฑ (จันทบุรี) เล็บรอก (พัทลุง) หมากตาไก้ (เลย) เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาขนาดใหญ่ พบขึ้นได้ในป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ และป่าโปร่งทั่วไป สรรพคุณยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ แก่น ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย ตำรายาไทย ใช้ ราก ตำพอกแก้ฝี แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้น แก้โลหิตเป็นพิษในการคลอดบุตร บาดทะยักปากมดลูก และสันนิบาตหน้าเพลิง แก้ปอดพิการ แก้ไอ ดับพิษในข้อในกระดูก เส้นเอ็น แก้พิษตานซาง ขับพยาธิในท้อง แก้กามโรค แก้เถาดานในท้อง แก่น บำรุงโลหิต ดับพิษไข้ แก้กระษัย ไตพิการ ปัสสาวะพิการ ใบ แก้โรคผิวหนัง ใช้อาบลูกดอก และแก้อัมพาตเปลือกต้น แก่น และใบ รสเฝื่อน ต้มดื่มแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้เข้าข้อ กำลังเสือโคร่ง ไม้ต้นนี้มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น โดยจะมีขึ้นทั่วไปตามริมห้วยในป่าดิบที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นไป ส่วนในต่างประเทศมีมากที่สุดคือที่ประเทศลาว ในอดีตต้นไม้ต้นนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนพื้นเมืองและชาวเขาที่เข้าไปเก็บของป่ามาขาย โดยจะใช้มีดคมๆ ฟันหรือถากเอาเปลือกซึ่งมีกลิ่นหอมคล้ายการบูรนำไปต้มน้ำดื่มเป็นยาสมุนไพร หรือไปขายตามตลาดนัดในชุมชนเมือง เป็นมัดเล็กๆ ประกอบด้วย แก่น เปลือกและใบ ซึ่งตากแห้งก่อนนำมาขายเพื่อไม่ให้ขึ้นรา สามารถเก็บไว้ได้นานและมีขายตลอดทั้งปี หรือขายให้ร้านยาไทย ซึ่งมีขายทั้งในรูปยาน้ำสมุนไพรกำลังเสือโคร่ง ประกอบไปด้วยตัวยาที่เป็นสมุนไพรมากมายหลายชนิด เช่น อาจมีกำลังทั้ง ๗ได้แก่ กำลังเสือโคร่ง กำลังช้างสาร กำลังวัวเถลิง กำลังหนุมาน ม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม กำแพงเจ็ดชั้น และอาจมีพืชสมุนไพรต้นอื่นๆ อีกนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ที่มีสรรพคุณบำรุงกำลังเช่นเดียวกัน เช่น กำลังเลือดม้า กำลังช้างเผือก กำลังช้างสาร ปลาไหลเผือก ฯลฯ สรุปว่า ต้นกำลังเสือโคร่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดน่านและอีก ๒ ต้น ที่กล่าวมา ล้วนเป็นต้นไม้คนละต้น ต่างสกุล ต่างวงศ์ แต่สรรพคุณที่สำคัญคือช่วยบำรุงกำลัง และบางคนถึงกับให้สมญาว่า กำลังเสือโคร่ง เป็นสมุนไพรบำรุงกำหนัด สมุนไพรให้เรี่ยวแรง สมุนไพรผู้ชาย สมญานี้อาจไม่จริงทั้งหมด เพราะยังมีสรรพคุณด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกำลัง และมีผลกับทุกเพศ ทุกวัย ให้สรรพคุณสมกับชื่อคือ กำลังเสือโคร่ง (นั่นซิ ทำไมต้องกำลังของเสือโคร่ง จะเป็นกำลังเสือปลา เสือดาว ไม่ได้หรือ คงไม่ได้ เพราะเสือโคร่ง เป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รูปร่างสง่างาม ใหญ่โตกำยำ เรื่องเล่าขานในด้านความแข็งแรง น่าเกรงขามของเสือโคร่งมากมาย) ที่มาของชื่อกำลังเสือโคร่งก็คงสืบเนื่องมาจากเหตุดังกล่าวนี้เอง ก็ได้แต่หวังว่าพวกเราคงช่วยกันปลูก ช่วยกันอนุรักษ์ ให้เจริญเติบโต เพื่อชนรุ่นหลังจะได้ใช้ประโยชน์สืบต่อไป ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้น เป็นไม้ยืนต้น สูง ๒๐-๓๕ เมตร วัดรอบลำต้น ประมาณ ๑-๒ เมตร เปลือก มีสีน้ำตาล เทา หรือเกือบดำ มีรูระบายอากาศเป็นจุดขาวเล็กๆ กลม บ้างรีบางปะปนอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายการบูร เวลาแก่จะลอกออกเป็นชั้นๆ คล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน ก้านใบและช่อดอก มีขนสีเหลือง หรือสีน้ำตาลปกคลุม ใบ เป็นรูปไข่หรือรูปหอก เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ หรือหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น ซี่หยักแหลม ปลายใบเรียวแหลม ดอก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบแยกเพศคนละช่อ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากคล้ายหางกระรอกออกตามง่ามใบ ๓-๕ ช่อ เป็นพวงยาว มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ผล มีลักษณะแบน มีปีก ๒ ข้าง ปีกบางและโปร่งแสง ผลแก่ร่วงง่าย การขยายพันธุ์ ทำโดยการเพาะเมล็ด สรรพคุณทางสมุนไพร เปลือกต้น มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นฉุนแรงคล้ายน้ำมันระกำ แต่ถ้าทิ้งไว้จนเปลือกแห้ง กลิ่นจะทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง ช่วยชำระล้างไตให้สะอาด บำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ ขับลมในลำไส้ ใช้บำบัดอาการผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของผู้หญิงไม่สมบูรณ์ มดลูกชอกช้ำ อักเสบเนื่องจากการกระทบกระเทือน แท้งบุตร ราก ต้มน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล่ม ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ดมแก้อาการหน้ามืดตาลาย หรือนำไปตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพ่ายควาย ม้ากระทืบโรง จะค่าน ตาลเหลือง มะตันขอ ข้ามหลามดง หัวยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูกและโด่ไม่รู้ล่ม ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย ชาวเขาเผ่าลัวะ ถากลำต้นออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ นำผงถ่านที่ได้ทาบริเวณฟันผุ แก้อาการปวดฟัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89419450652268_12.png) เถาประสงค์ ให้สมประสงค์ ยังพอมีกลิ่นอายปีใหม่ เทศกาลส่งความสุขและปรารถนาดีต่อกัน บรรยากาศเช่นนี้ทั้งคำอวยพร สิ่งของที่มอบให้แก่กันจะถูกจะแพงไม่สำคัญเท่าให้ได้ใช้ประโยชน์ และดูเป็นสิริมงคลหรือมีความหมายดีๆ ให้เริ่มต้นปีด้วยกำลังใจเต็มร้อย ขอมอบด้วยการแนะนำพืชสมุนไพรที่เรียกกันว่า เถาประสงค์ ให้ทุกท่านได้สมประสงค์กันถ้วนหน้า เถาประสงค์ ต้นนี้เป็นไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่เหนือจรดใต้ จึงมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ กันไป เช่น เถาประสงค์ เขาขน (คนเมือง) เครือประสงค์ เครือไทสง เถาไพสง (ภาคอีสาน) แต่ได้จำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ไว้แล้วว่า Streptocaulon juventas (Lour.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE) ชื่อทางราชการเรียกว่า “เถาประสงค์” เรียกตามลักษณะพืชที่เป็นไม้เลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น หรือเห็นเป็นไม้เถานั้นเอง แนะนำให้รู้จักต้นกันเพราะเป็นไม้ที่น่าสนใจแต่คนทั่วไปไม่รู้จักจึงมักตัดทิ้ง เถาประสงค์มีลำต้นขนาดเล็ก แต่สูงตั้งแต่ ๑-๗ เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ตามกิ่งก้านและปลายยอดมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มีน้ำยางมากสีขาวข้น ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปไข่ หรือรูปใบหอกกลับ ปลายแหลมหรือมนและเป็นติ่งแหลม โคนมนหรือรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป ก้านใบมีขนค่อนข้างสาก ยาวและหนาแน่น ดอกเล็กสีม่วง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ใบประดับอย่างละ ๒ อัน รองรับดอกและช่อดอก กลีบดอกมักมีขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง รยางค์รูปมงกุฎ ๕ อัน หลอดกลีบรูปจานแบน ส่วนด้านในสีแดง มักหลุดร่วงง่าย ผล เป็นฝักคู่ แต่ละผลมี ๓๐-๙๐ เมล็ด มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เมล็ด รูปรี รูปไข่กลับ หรือค่อนข้างเบี้ยว โคนมน อาจพบโคนเบี้ยว ปลายตัด มีขนปุยแบบเส้นไหมสีขาว ที่อยากให้รู้จักคือ เถาประสงค์กระจายตัวเกิดขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติทั้งในป่าเต็งรัง อาจพบในป่าดิบแล้งได้บ้าง แม้ในที่ป่าชุมชน ที่รกร้างในหมู่บ้านก็พบเห็นได้ จะออกดอกราวเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีทั้งในประเทศจีน อินเดีย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย ชื่อสมประสงค์แล้ว การใช้ประโยชน์ก็มีหลากหลาย ในตำรายาไทย แนะนำให้ใช้ทั้งต้น ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียในสตรี ราก รสสุขุม แก้ไข้ แก้ลมปลายไข้ สำหรับในตำรายาพื้นบ้าน จะใช้ ต้นหรือราก ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้หอบหืดได้ แต่ที่เป็นเรื่องฮือฮาและมีการพูดถึงมากอยู่ที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง จะใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าอีก้อและกะเหรี่ยงนิยมนำเถาประสงค์ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย หรือบางครั้งก็ใช้ส่วนของราก นำมาตากแห้งแล้วดองกับเหล้าหรือบดให้เป็นผงทำเป็นยาลูกกลอนกินบำรุงกำลัง บำรุงเลือด ทำให้ร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีตำรับยาบำรุงร่างกายขนานหนึ่ง จะใช้รากเถาประสงค์และรากตำยาน อย่างละ ๑ กำมือเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำพอท่วมยา แต่ห้ามต้มเคี่ยว คือต้มพอเดือด นำมาดื่มกินได้ตลอดวันเป็นยาบำรุงร่างกาย และยังมีความรู้ของหมอยาพื้นบ้านอีกจำนวนมาก ที่ยังใช้รากเถาประสงค์เป็นยารักษาคนผอมเหลือง ซีดเซียวไม่มีกำลัง โดยใช้วิธีปรุงยาทั้งการนำรากมาต้มน้ำดื่ม หรือนำรากไปดองสุรากินได้ด้วย ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ต้นหรือรากเถาประสงค์ ผสมกับต้นโมกหลวง เถาย่านาง และรากส้มลม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืดอย่างแรง หมอยาที่เมืองเลยจะใช้รากเป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ ปอดไม่ดี รวมทั้งฝีในปอด ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย ใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลาและโลหิตเสียของสตรี หมอยาพื้นบ้านชื่อ ตาบุญ สุขบัว ซึ่งเป็นหมอยาเมืองเลย ใช้รากเถาประสงค์แทนการใช้รากตำยาน (Atherolepis pierrei Costantin) หรือนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อใช้เป็นยาบำรุงสมรรถภาพของเพศชาย หรือภาษาชาวบ้านเรียกโรคไม่สู้เมีย ทั้งเถาประสงค์และตำยานเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน รากมีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางครั้งก็จะเรียกเถาประสงค์อีกชื่อหนึ่งว่า “ตำยานฮากหอม” ความรู้ของหมอพื้นบ้านจึงมีการใช้สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้แทนกัน และมักใช้ในการบำรุงกำลัง ในภาคอีสาน ชาวบ้านที่ยังไม่ได้ละทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น จะนำเอายางสีขาวขุ่นจากเถาประสงค์เป็นยาสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่ง นำมาใช้เป็นยารักษาแผล เช่น ปากนกกระจอก (แผลบริเวณมุมปาก) หรือแผลอื่นๆ ในเวลานี้เริ่มมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า สารสกัดจากรากเถาประสงค์มีสรรพคุณในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาให้ลงลึกแน่ชัดต่อไป ประโยชน์ของเถาประสงค์นอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว เครือสดของเถาประสงค์ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชือกมัดสิ่งของได้ นับเป็นพืชสมุนไพรที่หลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่มีให้เห็นขึ้นได้ทั่วไป บางคนไม่รู้จักก็ถางตัดทำลายทิ้ง แต่ถ้ามองให้เห็นคุณค่า เชื่อว่า เถาประสงค์ จะทำให้เราสมประสงค์แน่ ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๕๒ วันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม ๒๕๖๑ p.11/9 หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2561 16:25:37 (https://f.ptcdn.info/913/044/000/obbtg9aa2SP5SHibgwm-o.jpg)
กระเฉดเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา พูดถึงกระเฉด น้อยคนที่ไม่รู้จักเพราะจัดเป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานกันทั่วไป หากินกันได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ผักกระเฉดจัดเป็นไม้น้ำชนิดหนึ่ง มีชื่อสามัญว่า Water mimosa ใครที่สนใจพฤกษศาสตร์ก็จะพบคำว่า มิโมซา (mimosa) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของต้นไมยราบ (Mimosa pudica L.) เนื่องจากลักษณะของกระเฉดคล้ายกับไมยราบมาก แต่เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่าไมยราบน้ำ (Water mimosa) นั่นเอง ในความเป็นจริงแล้วกระเฉดเป็นพืชคนละสกุลกับไมยราบ กระเฉด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neptunia oleracea Lour. มีชื่อท้องถิ่นว่า ผักกระเฉด (ทั่วไป) ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหนอง (ภาคเหนือ) ผักกระเฉด ผักรู้นอน (ภาคกลาง) ผักหละหนอง (แม่ฮ่องสอน) ผักฉีด (ใต้) ผักกระเสดน้ำ (อีสาน-อุดรธานี-ยโสธร) ลักษณะการเติบโตนั้นผักกระเฉดจะขึ้นและเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำขัง หลายคนอาจไม่เคยเห็นต้นจริงๆ เห็นแต่ตอนผัดผักกระเฉดน้ำมันหอยใส่จานมากิน มารู้จักธรรมชาติกระเฉดกันนิด เป็นพืชเติบโตเลื้อยยาวลอยบนน้ำ ลำต้นมีลักษณะกลม และเรียวยาว เป็นปล้อง ภายในตัน ไม่เป็นรูกลวง แต่ละปล้องมีนวมหุ้มสีขาว ที่เรียกว่า “นม” โดยหุ้มส่วนที่เป็นปล้องเว้นช่วงที่เป็นข้อของปล้อง นมสีขาวนี้ทำหน้าที่ช่วยพยุงลำต้นผักกระเฉดให้ลอยน้ำได้นั่นเอง กระเฉดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขตร้อนในทวีปแอฟริกา ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ พบขึ้นอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย มีทั้งที่ปลูกเพื่อขายและขึ้นเป็นวัชพืชอยู่ในน้ำ สามารถขึ้นได้ในน้ำหรือบนดินที่ชุ่มน้ำก็ขึ้นได้ ใครที่ชอบกินผักหรือนักเลงผักจะสังเกตได้ว่าผักกระเฉดจะมีกลิ่นเฉพาะตัว หลายคนชอบมากเพราะเวลาเคี้ยวกินแล้วได้กลิ่นผักเพิ่มความโอชะในอาหารด้วย กระเฉดมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ลำต้น ใบ และยอดอ่อน นำมาประกอบอาหารเมนูต่างๆ หรือรับประทานเป็นผักสด ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินซีและไนอะซิน สรรพคุณทางยา กระเฉดมีรสจืดเย็น เป็นผักที่เหมาะรับประทานหน้าร้อน เพราะช่วยบรรเทาความร้อน ในช่วงนี้ที่อากาศหนาวมาๆ หายๆ วันละ ๓ ฤดู ใครจะกินผัดผักกระเฉดก็ไม่เสียหายอะไร ได้วิตามิน กากใยอาหารดีแน่ สำหรับสรรพคุณยาไทย ใบ ใช้แก้ไข้ ดับพิษปวดแสบปวดร้อน ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน ด้วยการนำผักกระเฉดมาตำผสมกับเหล้า แล้วหยอดในบริเวณฟันที่มีอาการปวด ส่วนของรากใช้เป็นยาทาภายนอกบริเวณที่มีอาการเนื้อตาย นอกจากนี้ ยังใช้รักษาแผล น้ำคั้นจากลำต้นหยอดใส่หูแก้อาการปวดหู ใช้เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือดได้อีกด้วย ในต่างประเทศมีรายงานการใช้ประโยชน์ทางยาจากผักกระเฉด เช่น น้ำคั้นจากผักกระเฉดใช้รักษาดีซ่าน รักษาการเจ็บปวดที่ลิ้น รักษาอาการท้องเสียแบบติดเชื้อที่ถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด รักษาโรคลมชัก ใช้ลดไข้ โดยเอาส่วนรากของผักกระเฉดไปแช่น้ำนำมาละลายกับแป้งข้าวเจ้า แล้วทาลงบนลำตัวจะช่วยลดอาการไข้ได้ ส่วนของรากใช้เป็นยาสมานแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่อยู่ในระยะรุนแรง รากแห้งที่นำมาบดให้เป็นผง นำไปโรยแผลที่เกิดจากเชื้อซิฟิลิสที่จมูก เมื่อหลายสิบปีก่อน นักวิชาการที่ทางมูลนิธิสุขภาพไทยคุ้นเคยได้ลงชุมชน ในโอกาสไปสำรวจผักพื้นบ้านที่จังหวัดเลย พบว่าในสวนครัวบางบ้านมีการปลูกพืชชนิดหนึ่งเพื่อรับประทานเป็นผักพื้นบ้านที่หน้าตาเหมือนกระเฉด แต่มีลำต้นชูตั้งเหมือนพืชบกทั่วไป ชาวบ้านเรียกว่ากระเฉดต้น มีการนำมารับประทานเหมือนผักกระเฉด แต่มีลักษณะเหนียวกว่าผักกระเฉดทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจริญเติบโตในที่แห้งกว่ากระเฉดน้ำ แต่ราว ๑๐ กว่าปีผ่านมา พบว่าพืชชนิดนี้กลายเป็นวัชพืชที่ขึ้นตามที่รกร้างไปทั่วภาคอีสาน จึงได้ทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า สกุลผักกระเฉด มีสมาชิกประมาณ ๑๐ ชนิด เขตการกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน ในไทยพบ ๒ ชนิด คือ ผักกระเฉด (ที่เรากินกันทั่วไป) ชื่อวิทยาศาสตร์ Neptunia oleracea Lour. และ กระเฉดโคก Neptunia javanica Miq. ซึ่งกระเฉดโคกมีถิ่นกำเนิดในพม่า ภูมิภาคอินโดจีน ชวา และติมอร์ ในไทยก็พบได้ทุกภาค ขึ้นได้ทั้งตามที่โล่ง แห้งแล้งหรือชื้นแฉะ ความสูงไม่เกิน ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล กระเฉดโคกนี้บางที่ก็เรียกผักกระเฉดบก และยังมีชื่อเรียกตามพื้นเมืองอีกหลายชื่อ เช่น ผักกระฉูด (ภาคกลาง) กาเสดโคก (อุดรธานี) แห้วระบาด (ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี) เป็นต้น ดูจากชื่อวิทยาศาสตร์แล้ว ผักกระเฉดโคก (Neptunia javanica Miq.) และกระเฉด (Neptunia oleracea Lour.) เห็นว่ากระเฉดน้ำและกระเฉดบกเป็นสายญาติเครือเดียวกัน เพราะอยู่ในสกุล Neptunia เดียวกัน กระเฉดบกเป็นไม้ทอดเลื้อยยาวได้ ๑ เมตร ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเป็นดอกสมบูรณ์ มีสีเหลืองลักษณะเหมือนดอกกระเฉดน้ำ แม้ว่านักพฤกษศาสตร์จะอธิบายว่ากระเฉดบกมีลักษณะทอดเลื้อย แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นในธรรมชาติมีลักษณะตั้งตรง ในงานวิจัยต่างๆ พบว่ากระเฉดบกสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ถั่วจึงเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ปัจจุบันเริ่มมีผู้นิยมกินกระเฉดโคกหรือกระเฉดบกกันมากขึ้น สังเกตจากมีผู้นำมาจำหน่ายตามตลาดสดในจังหวัดต่างๆ แทนที่จะแสวงหาอาหารราคาแพง ลองเมนูกระเฉดน้ำประชันกระเฉดบกดีไหม? ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๔๗ วันที่ ๘-๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ (https://esan108.com/main/wp-content/uploads/2017/01/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B5.jpg) ภาพจาก : esan108.com ผักหอมน้อย (โรยหน้า) ผักหอมน้อย หรือ ผักหอมผอม คือชื่อเรียกพืชชนิดหนึ่งของคนภาคอีสานและภาคเหนือ แล้วคนภาคกลางรู้จักหรือไม่ว่าพืชชนิดนี้เรียกว่าอะไร? ขอใบ้คำตามสำนวนที่ว่า ทำอะไรดีๆ ให้พอเป็นพิธีแบบ “โรยหน้า” นั้นคือ ผักชี ผักหอมน้อยหรือผักหอมผอม ก็คือต้นผักชีที่เรารู้จักกันทั่วไป สัก ๑-๒ ปีที่ผ่านมาคนไทยเห่อผักชีตามคนญี่ปุ่น เพราะสำนักข่าวใหญ่ NHK ของญี่ปุ่นรายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของผักชี และยังเชิญชวนให้คนญี่ปุ่นกินกันเป็นประจำด้วย คนไทยก็เลยมาสนใจกับเขาบ้าง แต่พอเวลาผ่านไปก็เหมือนการนิยมชมชอบอาหารสมุนไพรแบบ “ผักชีโรยหน้า” ทำตัวตามแฟชั่นว่าสนใจสมุนไพรแบบให้ดูดีแต่อาจไม่ได้ใช้ต่อเนื่องจริงจัง ผักชีมีอะไรดีๆ มากกว่าเด็ดมาโรยแต่งหน้าอาหาร แต่งกลิ่น หรือกลบกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร ย้อนไปดูบันทึกที่มีการกล่าวไว้พบว่ามนุษย์รู้จักใช้ผักชีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์นั้น ก็มีหลักฐานการปลูกตั้งแต่เมื่อ ๓,๕๐๐ ปีที่แล้ว ผักชีน่าจะมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในชนพื้นเมืองในยุโรปประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนและทางเอเชียตะวันตก (ติดๆ กับทางยุโรป) แล้วน่าจะค่อยๆ นำไปปลูกในประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย มีเรื่องเล่ากันว่าคนทางตะวันตกของจีน (น่าจะคนต่างชาติ) นำผักชีเข้าไปปลูกในสมัยราชวงศ์ฮั่น หรือประมาณ ๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว ผักชีจึงไม่ใช่ผักพื้นถิ่นของไทย แต่คนไทยก็นำผักชีมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน จนอยู่ในวัฒนธรรมของไทย ทั้งการกินเป็นอาหารและนำมาปรุงยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะความรู้ยากลางบ้านแต่ดั้งเดิมนั้นแทบจะทุกครอบครัวรู้จักดีว่า ถ้าเด็กหรือผู้ใหญ่ออกหัดต้องใช้ผักชีช่วย เช่น ถ้า เด็กออกหัด จะกระทุ้งให้หัดออกเร็วขึ้นไม่หลบใน ก็นำผักชีสดๆ ล้างน้ำ แล้วหั่นซอย จากนั้นอาจทำได้๒ วิธี คือ นำไปผสมกับสุราแช่ปิดฝาไว้ หรือบางคนนำไปต้มกับน้ำให้เดือด แล้วปิดฝาหม้อรอจนน้ำยาเย็น ทั้งแช่สุราหรือต้มน้ำ ให้เอากากออก แล้วใช้น้ำยามาทาให้ทั่วร่างกาย แผ่นหลัง หน้าอก ท้อง ขา ยกเว้นไม่ต้องทาใบหน้า บางคนที่อาการ หัดแดงยังออกไม่หมด ก็ใช้ยาพื้นบ้านนำผลผักชีแห้งมาสัก ๑ กำมือ ใส่หม้อ (ควรใช้หม้อเคลือบ) แล้วเติมน้ำท่วมยา ต้มให้เดือด แล้วเอาหม้อยาไปวางไว้ในห้องคนไข้ เป็นห้องเล็กไม่มีลมโกรก แล้วเปิดฝาหม้อให้ไอยาจากผักชีค่อยรมให้ทั่วห้อง ไอจากยาจะค่อยๆ กระทุ้งให้ผื่นออกให้หมด นอกจากนี้หาก เด็กคนไหนมีอาการผื่นแดงไฟลามทุ่ง ก็จะใช้ผักชีมาตำพอกแผลรักษาได้ ถ้ากล่าวตามสรรพคุณยาไทย พูดได้ว่าทุกส่วนของผักชีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ทั้งต้น ผล หรือราก ต้นผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย รสเผ็ด มีสรรพคุณขับเหงื่อ ทำให้ผื่นหัดออกมากขึ้น ขับลม เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ดับกลิ่นคาวปลา ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น แก้ผื่นแดง แก้ไฟลามทุ่ง ผลผักชี มีคุณสมบัติร้อนเล็กน้อยเช่นกัน รสเผ็ด ทำให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้นก็ได้ กินช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยละลายเสมหะ ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร กระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ช่วยแก้อาการบิด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ส่วนใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ แก้อาการไอ แก้หวัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการอาหารเป็นพิษ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนราก ใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว ไข้อีดำอีแดง ไข้เหือด ไข้หัด อีสุกอีใส ยกตัวอย่างตำรับยาแก้ปวดท้อง และช่วยย่อยอาหาร ให้นำเมล็ดผักชีพอประมาณมาดองกับสุราก็ได้ทิ้งไว้ประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วกินเป็นยาวันละ ๑-๒ แก้ว (เป๊ก) กินสัก ๓-๔ วันติดต่อกัน (ไม่แนะนำกินยาดองสุรานานๆ กินเท่าที่จำเป็น) ตำรับยาบำรุงน้ำนมให้สตรีหลังคลอด ให้ต้มผักชีสดหรือตากแห้งก็ได้ นำมาสัก ๕-๑๐ ต้น ต้มน้ำกินเป็นประจำ บางคนต้มน้ำขิงและผสมผักชี เป็นยาช่วยให้มีน้ำนมได้ด้วย ในเวลานี้มีการศึกษาผลทางเภสัชวิทยาของผักชีในระดับสัตว์ทดลองและหลอดทดลอง ที่พอจะบอกได้ว่า ใบและทั้งต้นผักชี ถ้าได้กินประจำก็จะได้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารกลุ่มแทนนิน (tannins) สารกลุ่มคาโรทีนอยด์ (carotenoids) น้ำมันหอมระเหย วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งทั้งใบและลำต้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการชักและต้านการถูกทำลายของเซลล์สมอง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และมีฤทธิ์ช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร ผลและเมล็ด มีงานวิจัยพอสมควร พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านปรสิต ต้านการอักเสบ ต้านการก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด ลดไขมันในเลือด ลดความวิตกกังวล แก้ปวด สามารถจับและกำจัดโลหะหนัก ปกป้องตับและไต ข้อควรระวังหากใคร “อิน” และกินผักชีมากเกินไปย่อมไม่ดี เพราะลูกผักชีและต้นผักชีมีน้ำมันหอมระเหย ถ้ากินมากไปจะเสพติดได้และมีผลต่อเซลล์ตับ และบางคนกินแล้วอาจแพ้มีผื่นคัน จึงควรกินในขนาดพอเหมาะ ผักชี หรือผักหอมน้อย ผักหอมผอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coriandrum sativum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี หรือเทียน (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE) เป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศปรุงอาหารที่มีคุณต่อสุขภาพมาแต่อดีต ตั้งแต่ น้ำแกงต้มรากผักชีบรรเทาไข้ ดีต่อการย่อยอาหาร มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเป็นอาหารสมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด และลดไขมันในเลือด ผักชี คืออาหารสมุนไพร ไม่ใช่สำนวน “ผักชีโรยหน้า” แน่นอน ที่มา : ผักหอมน้อย (โรยหน้า) สมุนไพรเพื่อสุขภาพ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๕๘ วันที่ ๒๓ ก.พ.- ๑ มี.ค.๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98632839529050_1_3648_3627_3655_3604_3585_361.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31284712296393_2_3648_3627_3655_3604_3585_361.jpg) เรียนรู้เห็ดกระถินพิมาน ฝนมาแล้ววงจรเห็ดตามธรรมชาติก็กำลังมาให้เป็นอาหารอันโอชะ แล้วยังช่วยสร้างรายได้เสริมของคนเก็บเห็ดด้วย แต่ก็มักจะมีข่าวกันทุกปีว่ามีคนกินเห็ดมีพิษจนต้องส่งโรงพยาบาล วันนี้ขอมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องเห็ดกันสักนิดว่า เห็ดมีประเภทกินได้และเห็ดมีพิษ (ห้ามกิน) หากใครไม่คุ้นเคยดูเห็ดหรือไม่มีความรู้พอจำแนกเห็ดมีพิษกับไม่มีพิษล่ะก็ แนะนำให้กินเห็ดที่ขายตามตลาด อย่าไปเก็บเห็ดกินเอง แต่แม้ว่าเลือกกินเห็ดไม่มีพิษแล้ว ขอให้จำขึ้นใจว่า การกินเห็ดทุกชนิดต้องทำให้สุกก่อน ห้ามกินเห็ดดิบสดๆ เด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยแนะนำว่า การนำเห็ดมาต้มปรุงในอาหารให้สุกแล้วก็มักจะใส่ใบย่านางลงไปด้วย เพื่อให้สรรพคุณใบย่านางลดพิษหรืออันตรายจากเห็ดนั่นเอง เห็ดที่นำมากินเป็นอาหารมีข้อมูลกล่าวถึงมากพอสมควร แต่เห็ดที่เป็นยา ซึ่งในระยะหลังๆ มีการพูดในสื่อมวลชน สื่อโซเชียลกันมากขึ้นนั้น ยังมีคนจำนวนมากสงสัยและต้องการเรียนรู้ให้กระจ่างชัดขึ้น จึงขอนำมาบอกเล่าให้ได้รู้จักกัน โดยเฉพาะ เห็ดกระถินพิมาน เห็ดกระถินพิมานเป็นกลุ่มเห็ดหิ้ง คำเรียกเห็ดหิ้งให้นึกภาพตาม คือเห็ดที่ขึ้นอยู่บนต้นไม้ โดยเกาะติดบนลำต้นคล้ายเป็นหิ้งติดอยู่กับต้นไม้นั่นเอง และมีข้อควรรู้อีกว่า เห็ดกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่ในตำแหน่งของต้นไม้ที่อยู่สูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า ๒ เมตร ทีนี้เห็ดกลุ่มเห็ดหิ้งนี้ ทำไมเรียกชื่อว่าเห็ดกระถินพิมาน ก็เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมหมอยาพื้นบ้านเชื่อว่าถ้าเห็ดหิ้งขึ้นบนต้นกระถินพิมาน จะให้ตัวยาที่ดีกว่าการเจริญบนต้นไม้อื่นๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดในกลุ่มนี้นั่นเอง และขอบอกไว้ด้วยว่า เห็ดกระถินพิมานนั้นแม้มีชื่อเรียกแบบไทยๆ แต่เป็นกลุ่มเห็ดที่มีในหลายประเทศ ดังเช่น ประเทศจีนที่มีบันทึกมาแต่อดีตก็นำเห็ดนี้มาใช้ประโยชน์ ซึ่งในตำรายาโบราณของจีนเคยจัดเห็ดในกลุ่มนี้ว่าเป็นเห็ดหลินจือประเภทหนึ่ง แต่เมื่อการศึกษาความรู้เรื่องเห็ดมีมากขึ้นและมีเทคโนโลยีในการจัดจำแนกชนิดพันธุ์ดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงจัดเห็ดกระถินพิมานไปอยู่ในสกุล Phellinus แต่หลินจือ คือ Ganoderma ในทางวิชาการ เห็ดกระถินพิมานในสกุล Phellinus ทั่วโลกมีถึง ๑๕๔ ชนิด แต่ที่มีการบันทึกว่านำมาใช้เป็นยารักษาโรคนั้น เช่น ชนิด P. linteus, ชนิด P. baumii, ชนิด P. igniarus และชนิด P. pini ฯลฯ ในเมืองไทยก็พบการนำเห็ดกระถินพิมานมาใช้เช่นกัน โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านซึ่งมีรายงานว่าการใช้เห็ดส่วนใหญ่ของตำราพื้นบ้านจะเป็นชนิด P. rimosus ซึ่งใช้เข้ายาในตำรับยารักษาฝีเป็นส่วนใหญ่ เห็ดในสกุล Phellinus เป็นที่รู้จักและใช้เป็นยากันอย่างกว้างขวาง ที่ใช้กันมาก เช่น ในประเทศเกาหลี เรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดซางฮวง” (Sang-Hwang) ในประเทศจีนเรียกว่า “เจ็น หรือ ซางหวง” (Gen or sanghuang) ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า “มิชิมาโกบุ” (Meshimakobu) และในอินเดียซึ่งหลายคนนึกไม่ถึงว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของแขกจะใช้เห็ดด้วยเหมือนกัน ซึ่งเรียกว่า “พานนาซอมบา” โดยเฉพาะในเขตตะวันตกของเทือกเขากัตส์ นิยมนำเห็ดในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยาในการรักษาอาการปวดฟัน โรคที่เกี่ยวข้องกับลิ้นและคอ โรคที่มีน้ำลายไหลมากเกินไปในเด็ก โรคท้องร่วง เป็นต้น ขณะนี้ทั่วโลกมีการนำเห็ดกลุ่มกระถินพิมานหรือในสกุล Phellinus มาใช้เป็นยารักษาโรคกันมากมาย แต่ต้องบอกด้วยว่าที่มีการนำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่เขาใช้กัน คือ ชนิด Phellinus linteus (ภาพ ก.) และชนิด Phellinus igniarius (ภาพ ข.) ส่วนในตำรายาไทยส่วนใหญ่พบว่ามีการใช้ Phellinus rimosus (ภาพ ค.) ซึ่งชนิดที่คนไทยใช้กันมาก ในต่างประเทศก็พบการใช้ชนิด Phellinus rimosus ของชนเผ่าต่างๆ ในการรักษาคางทูม และมีการศึกษาพบว่า Phellinus rimosus มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านเนื้องอก ต่อต้านการอักเสบ รักษาความผิดปกติของตับ แต่ในประเทศไทยเองยังมีการศึกษาเห็ดชนิดนี้น้อยมาก น่าจะต้องลงทุนด้านวิจัยให้มากขึ้น สําหรับชนิด P. igniarius มีการใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก ในส่วนที่เป็นยาภายใน ใช้เป็นยาบำรุงและเป็นยาระบาย ส่วนการใช้ภายนอกใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ ถ้าพูดในภาพรวมบอกได้ว่ามีงานวิจัยหลายรายการที่แสดงให้เห็นว่า เห็ดในสกุล Phellinus มีสารสำคัญที่ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และสารสำคัญหลายชนิดที่สกัดได้ โดยเฉพาะสารในกลุ่ม พอลิแซ็กคาร์ไรด์ มีคุณสมบัติไปกระตุ้นการทำงานของระบบฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบและกดการเจริญและการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกได้ การศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเห็ดกระถินพิมานที่ได้มาจากธรรมชาติมีศักยภาพในการใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ จากการศึกษาพบว่าวิธีใช้ประโยชน์จากเห็ดนั้น ต้องทำการสกัดเอาสาระสำคัญมาใช้ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการสกัดด้วยน้ำหรือการต้มน้ำดื่มและกินนั้นเอง อีกวิธีคือการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ซึ่งต้องพึ่งเทคโนโลยี และล่าสุดมีการศึกษาการสกัดสาระสำคัญด้วยการหมักซึ่งเป็นการสกัดอีกแบบหนึ่ง ง่ายที่สุด ดีที่สุด คือ ใช้เห็ดให้ถูกชนิดและนำมาต้มให้สุกหรือปรุงกินเป็นประจำช่วยบำรุงร่างกาย ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย มติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉ.๑๙๗๐ ลง ๑๘-๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 กรกฎาคม 2561 16:06:37 (http://www.vichakaset.com/wp-content/uploads/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1-300x225.jpg)
มะขามป้อม สมุนไพรบำรุงผิวและเส้นผมขนานแท้ ข่าวเจ้าหน้าที่ อย. สนธิกำลังกับตำรวจบุกทลายแหล่งผลิตและร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกับอาหารเสริม ไม่เพียงสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ผู้บริโภคก็พลอยแตกตื่นไปด้วยว่าผลิตภัณฑ์ราคาแพงที่ตนเองกำลังใช้อยู่ปลอดภัยหรือเปล่า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทาน ซึ่งมีข่าวว่าสินค้าบำรุงผิวบางยี่ห้อทำให้ลูกค้าถึงกับเสียชีวิตหลายราย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องเปลี่ยนความแตกตื่นเป็นความตื่นตัวแสวงหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าปลอมซึ่งนอกจากต้องสูญเสียเงินทองมากมายแล้ว อาจจะเป็นภัยต่อสุขภาพหรืออาจจะสูญเสียชีวิตได้ กล่าวเฉพาะเรื่องเครื่องสำอาง ในปัจจุบันผู้บริโภคหันมานิยมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่ามีความปลอดภัยมากกว่าเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของสารเคมีล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรสำเร็จรูปที่วางขายในท้องตลาดยี่ห้อใดที่ปราศจากส่วนประกอบของสารเคมีโดยสิ้นเชิง ทั้งส่วนประกอบที่เป็นสมุนไพรเองก็ต้องมีสรรพคุณน่าเชื่อถือจริงๆ และมีงานวิจัยรองรับอย่างเพียงพอ ในที่นี้ขอนำเสนอ มะขามป้อม (ชื่อพฤกษศาสตร์ : Phyllanthus emblica L.) สมุนไพรในพุทธประวัติ ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์จากมะขามป้อมมักจะอยู่ในรูปแบบยาและอาหาร-เครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันเริ่มมีการนำมะขามป้อมมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดูแลผิวพรรณและเส้นผมที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมะขามป้อมอุดมด้วยวิตามินซี และสารกลุ่มแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชเครื่องสำอางมากมาย จึงทำให้มีการนำสารสกัดจากผลมะขามป้อมมาทดลองทางคลินิก เพื่อศึกษาฤทธิ์บำรุงผิวและเส้นผม ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาฤทธิ์ช่วยให้ผิวขาวและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหน้าโดยใช้ตำรับเครื่องสำอางทั้งในรูปแบบครีมและเจล ที่ประกอบด้วยสารสกัดเนื้อผลมะขามป้อม ๐.๕% นำมาทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนอย่างละ ๓๐ คน โดยทาครีมและเจลบนบริเวณใบหน้า วันละ ๒ ครั้งเช้า-เย็น เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ใช้ครีมเบสและเจลเบส พบว่าค่าความดำของสีผิวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์แรกที่ใช้ โดยที่ความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิวจะเพิ่มขึ้นอย่างสัมผัสได้ชัดเจน ยิ่งกว่านั้นเจลมะขามป้อมยังสามารถทำความสะอาดผิวหน้าได้อย่างหมดจดโดยไม่มีคราบสิ่งสกปรกติดค้างอยู่ในรูขุมขนบนใบหน้าเลย ที่น่ายินดีสำหรับคนใบหน้าติดฝ้าทั้งหลายก็คือ ผลมะขามป้อมใช้รักษาฝ้าบนใบหน้าได้ผลดีไม่มีผลข้างเคียงใดๆ มีการศึกษาวิจัยทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของครีมรักษาฝ้าที่มีส่วนผสมสำคัญของสารสกัดผลมะขามป้อม และสมุนไพรประกอบอีก ๒ ชนิด รวม ๗% ในอาสาสมัครหญิงที่เป็นฝ้าทั้งชนิดฝ้าตื้นและฝ้าลึก จำนวน ๕๐ คน อายุระหว่าง ๑๘-๖๐ ปี แบ่งกลุ่มทดลองเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับครีมไฮโดรควิโนน ใช้เวลา ๖๐ วัน พบว่าครีมทั้ง ๒ ชนิดให้ผลลดฝ้าได้ดีไม่แตกต่างกัน คือทำให้ค่าความขาวกระจ่างใสของผิวและค่าความสว่างของผิว (lightness value) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพผิวก่อนใช้ แม้วัดประสิทธิภาพได้เท่ากัน แต่ครีมมะขามป้อมก็มีความเหนือกว่าในด้านความปลอดภัย โดยพบว่าครีมไฮโดรควิโนนทำให้ผิวหน้าไหม้เป็นผื่นแดง เกิดตุ่มคันสีแดงรอบปาก และทำให้จำนวนรอยของแผลสิวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ครีมรักษาฝ้ามะขามป้อมไม่มีพิษข้างเคียงใดๆ แถมยังมีข้อดีตรงที่ทำให้สีขี้แมลงวันจางลง และมะขามป้อมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินอันเกิดจากแสงยูวี ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและต้านการเกิดสิวได้ด้วย นอกจากมีฤทธิ์บำรุงผิวหน้า ช่วยเพิ่มออร่าให้หน้าขาวใสไร้สิวฝ้าใบหน้าเต่งตึงแล้ว ยังมีงานศึกษาฤทธิ์สารสกัดจากผลมะขามป้อมในการกระตุ้นการงอกของเส้นผม ฤทธิ์ขจัดรังแค และบำรุงเส้นผมให้นุ่มสลวยเป็นเงางาม พบว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ปัจจุบันยังไม่ปรากฏงานวิจัยด้านพิษวิทยาฉบับใดที่ฟ้องว่าผลมะขามป้อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น มะขามป้อมจึงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพสูงในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในระดับอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสรรพคุณและรูปแบบผลิตภัณฑ์ น่าเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนอันหนึ่งที่ทะลุทะลวงตลาดยุค ๔.๐ ได้สบายๆ ยิ่งผลิตด้วยมาตรฐานและคุณภาพรับรองว่าไม่ต้องมีใครมารีวิวเชียร์ก็นิยมแพร่หลายแน่ และอย่าได้แอบอ้างติดฉลากมะขามป้อมแต่ข้างในกระปุกกลายเป็น “มะมั่ว” หลอกผู้บริโภคทำลายภาพลักษณ์สมุนไพรก็แล้วกัน แต่ในระหว่างที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมะขามป้อมยังไม่แพร่หลาย ผู้บริโภคที่นิยมสมุนไพรสามารถทำเองใช้เองได้หลายสูตรหลายแนว เช่น นำเนื้อผลมะขามป้อมสดๆ มาบดตำนำมาประยุกต์ใช้มาสก์หน้า ขัดผิว อาจใช้น้ำมะขามป้อมทา หรือน้ำและเนื้อมาพอกหน้าก็ได้ และจะนำมาหมักผมหรือขยี้หนังศีรษะบำรุงเส้นผมก็ได้อย่างมั่นใจว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้บริโภคท่านใดต้องการเพิ่มพลังกำลังสองก็แนะนำให้กินมะขามป้อมสดๆ หรือคั้นน้ำมะขามป้อมดื่มด้วย สรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย ชะลอวัย ห่างไกลโรคเรื้อรังด้วยเรียกได้ว่าสวยแข็งแรงมาจากภายในสู่ภายนอก มะขามป้อมจึงเป็นทั้งอาหาร ยา และเครื่องสำอางที่ไม่ควรพลาด ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๖๙ ประจำวันที่ ๑๑-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88288137026958_2.jpg) หญ้าคา หญ้าคา (Imperata cylindrica (Linn.) Beauv. ) เป็นไม้ล้มลุกจำพวกเดียวกับหญ้า มีเหง้าอยู่ใต้ดิน แต่ด้วยธรรมชาติของเขาที่แพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดแล้ว ลำต้นใต้ดินนั้นมีความสามารถพิเศษที่งอกและเจริญเป็นต้นใหม่ได้อีก จึงลุกลามแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง เป็นพืชที่ทนทาน ยิ่งเอาไฟไปเผาเหมือนจะไปกระตุ้นให้งอกต้นใหม่ขึ้นทวีคูณ คิดจะปราบก็ยากเย็นแสนเข็ญ ในวงการเกษตรจึงมอบตำแหน่งหญ้าคา คือ “วัชพืช” ไปเสียเลย นักวิทยาศาสตร์การเกษตรก็คิดค้นสารเคมีมาปราบบรรดาวัชพืช ซึ่งนิยามความหมายไว้อย่างหนึ่งว่า พืชที่ขึ้นผิดที่ หรือพืชที่ขึ้นในที่ที่ไม่ต้องการให้ขึ้น (ดันมาขึ้น) และมีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในด้านที่เป็นโทษ ถ้าดูจากนิยามนี้ ตัวตนของหญ้าคาไม่ได้ผิดอะไร เขาแพร่ไปขึ้นในที่ที่ไม่อยากให้ขึ้น และก็ไม่ได้หมายความว่า พอเรียก “วัชพืช” แล้วคือพืชไร้คุณค่าและประโยชน์ใดๆ ในความเป็นจริงมีวัชพืชหลายชนิดมีประโยชน์ เช่น ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ รักษาความชุ่มชื้นของดิน ใช้เป็นอาหารสัตว์ ช่วยดูดซับสารพิษจากแหล่งน้ำ ทำเป็นวัสดุจักสาน หัตถกรรม และใช้เป็นพืชสมุนไพร เช่น หญ้าคา กล่าวตามสรรพคุณยาไทยดั้งเดิมระบุว่า ราก หญ้าคาต้มกิน เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงไต แก้ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ทั้งลำต้น สดหรือแห้งก็ได้ นำมาปรุงเป็นยาแก้โรคไต แก้โรคมะเร็งคอ และแก้ฝีประคำร้อย ดอก ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะแดง แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้มะเร็งในลำไส้ แก้ริดสีดวงต่างๆ สูตรยาที่นิยม คือการใช้รากสดล้างสะอาดสัก ๑ กำมือ (ถ้าเป็นแห้งก็ลดใส่สัก ๑ หยิบมือ) หั่นเป็นฝอยๆ ต้มกับน้ำให้เดือด ดื่มกินช่วยขับปัสสาวะ ปัจุบันมีการศึกษาวิจัยหญ้าคามากพอสมควร พบสารสำคัญหลายชนิด เช่น สารประกอบฟินอลิก ((phenolic compounds), โครโมน ((chrmones), ไตรเตอร์ปินอยด์ ((triterpenoid), เซสควิทเตอร์ปินอยด์ ((sesquiterpenoids), โพลีแซคคาไรด์ โดยสารสำคัญเหล่านี้ มีคุณสมบัติ เช่น ต้านอักเสบ รากหญ้าคามีคุณสมบัติในการยับยั้งการเกาะตัวกันของเกร็ดเลือด ช่วยขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ปกป้องเซลล์สมองถูกทำลายจากสารเคมีที่เป็นพิษ ฯลฯ นอกจากนี้ หญ้าคายังคงมีประโยชน์หรือคุณค่าทางวัฒนธรรมอีกมาก ดังตำนานหญ้าคาที่มีหลายตำนาน เช่น ระหว่างที่เทพกวนน้ำอมฤตแล้วเส้นผมของบรรดาเทวดาที่ช่วยกันกวนนั้นหลุดร่วงลงในเกษียรสมุทร ต่อมาถูกคลื่นซัดไปติดฝั่งแล้วงอกรากกลายเป็นต้นหญ้าคา บางตำนานว่าเมื่อได้น้ำอมฤตจากกวนเกษียรสมุทรแล้ว พระนารายณ์แปลงกายเป็นนางอัปสรถือหม้อน้ำอมฤตแจกให้เทวดาดื่ม หม้อนั้นไปขูดผิวที่เอวของพระนารายณ์ถลอก เศษหนังเมื่อตกสู่พื้นดินก็งอกเป็นหญ้าคา อีกตำนานเมื่อพญาครุฑนำหม้อน้ำอมฤตลงมาจากสวรรค์ พระอินทร์ตามมาขอคืน พญาครุฑบอกว่าจะต้องนำไปให้เหล่านาคเพื่อไถ่มารดาให้พ้นจากการเป็นทาส และให้พระอินทร์ตามไปเอาคืนเอง จากนั้นครุฑได้เอาน้ำอมฤตไปให้นาคโดยวางไว้บนหญ้าคา และได้ทำน้ำอมฤตหยดบนหญ้าคา ๒-๓ หยด หญ้าคายังเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หากจำประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ช่วงที่พระองค์เสด็จระหว่างทางก่อนถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ได้พบคนตัดหญ้าชื่อ โสตถิยะ ได้ถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (หญ้าคา) ๘ ฟ่อนเล็กๆ พระองค์นำมาปูเพื่อประทับนั่งบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จนตรัสรู้ในคืนเพ็ญเดือนหกนั่นเอง ยุคสมัยปัจจุบันยังมีผู้ปั้นพระพุทธรูปปางทรงรับหญ้าคาก็มี หญ้าคาจึงมีความสัมพันธ์ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ตามตำนานข้างต้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็นพระสงฆ์พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา และพราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็พรมน้ำมนต์ด้วยฟ่อนหญ้าคา เพราะต่างก็ถือว่า หญ้าคา เป็นสิ่งมงคลในทางพิธีกรรมต่างๆ ใช้เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ และยังพบเห็นการนำหญ้าคามาพันรอบนิ้วนางข้างขวาแทนแหวน เชื่อกันว่าทำให้นิ้วนั้นบริสุทธิ์ และยังเห็นหญ้าคาพันสายสิญจน์ในพิธีแต่งงานด้วย หญ้าคาจึงไม่ “วัชพืช” หากเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเลยทีเดียว แต่ในเวลานี้วิชาการเกษตรที่นำเอาสารเคมีรุนแรงมากำจัดวัชพืช โดยเฉพาะกำจัดหญ้าคานั้น มักใช้สารเคมีที่เรียกว่า ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่พบว่ามีอันตรายมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ โรคเบาหวานและโรคไต และยังตกค้างในอาหาร ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่า ไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนของลูกน้อยได้ มีการตรวจพบการตกค้างของไกลโฟเซตในซีรั่มของทารกแรกเกิดและแม่ ระหว่าง ๔๙-๕๔% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป ๑๒ เท่า ยังมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก ๒ ชนิด ที่อันตรายคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส รวมกัน ๓ ชนิด ที่หลายสิบประเทศทั่วโลกเขาประกาศยกเลิกกันแล้ว ไทยแลนด์แดนสยามควรประกาศ “แบน” หรือยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายนี้ได้แล้ว หากหญ้าคาในฐานะสมุนไพรพูดได้ จะยกมือและส่งเสียงนับพันล้านเสียง (ต้น) ว่า “จะควบคุมการแพร่พันธุ์ฉัน ขอให้เลือกใช้สารสมุนไพรธรรมชาติ ไม่เอาสารเคมียาฆ่าหญ้าทั้ง ๓ ชนิด ฉันเป็นพืชมงคล ไม้ศักดิ์สิทธิ์นะ ไม่ต้องการสารอันตรายปนเปื้อนไปสู่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากฉัน” ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๒ ประจำวันที่ ๑-๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97339893173840_3.jpg) เพิ่มคุณค่าน้ำนมแม่ ด้วยยาประสะน้ำนมพื้นบ้านจากดงเค็ง วันน้ำนมโลก (World Milk Day) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเพิ่งผ่านไปหยกๆ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายนนี้เอง แต่อีเวนต์ส่วนใหญ่เป็นการโปรโมตให้ดื่มนมวัวของค่ายบริษัทนมต่างๆ จึงเกิดความคิดว่าน่าจะเสนอให้มี “วันน้ำนมแม่โลก” หรือ “วันบูชาค่าน้ำนมโลก” มั่ง น่าจะดีกว่าค่าน้ำนมวัวเยอะเลย เมื่อก่อนที่จะมีนมผงสำเร็จรูปเลี้ยงทารกก็มีแต่นมแม่นี่แหละที่ช่วยให้มวลมนุษยชาติรอดชีวิตสืบเผ่าพันธุ์มาได้ ในสมัยโบราณท่านจะจัดสรรแม่นมเกรดเบญจกัลยาณีเอาไว้ถวายน้ำนมแด่พระมหาบุรุษราชเจ้าโดยเฉพาะ และยกย่องนมแม่ว่าเป็น “ทิพโอสถปโยธร” หรือน้ำโอสถทิพย์ของเทวดาเลยทีเดียว ดูอย่างละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาสสิ กล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตผู้เป็นแม่นมเอกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อัจฉริยกษัตริย์แห่งกรุงสยาม และเจ้าแม่นมเบญจกัลยาณีท่านนี้เองคือมารดาของพระยาโกษาธิบดี (พี่น้องเหล็กและปาน) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์จักรี ในโลกยุคใหม่นี้ แม้จะมีนมผงเลี้ยงทารกนับยี่ห้อไม่ถ้วน แต่ค่าน้ำนมแม่ก็ยังมีความสำคัญต่อทั้งมารดาและทารก เดี๋ยวนี้มีการพบแล้วว่า คุณแม่ที่ไม่หวงเต้า ยอมให้ลูกดูดนมจากอก นอกจากจะห่างไกลจากมะเร็งเต้านมแล้ว ยังช่วยให้มดลูกกระชับขยับเข้าอู่เร็ว พุงไม่ย้วยเป็นพะโล้หลังคลอดอีกต่างหาก ส่วนเจ้าตัวเล็กนั้นได้ประโยชน์เต็มๆ จากนมแม่แน่นอน แต่ศาสตร์การแพทย์แผนไทยกลับบอกว่า น้ำนมแม่นั้นมีทั้งดีและร้าย อันน้ำนมดีนั้นท่านว่ามีแค่ ๒ เกรดคือน้ำนมอย่างเอกและน้ำนมอย่างโท ถ้าสตรีใดมีน้ำนมขาวดังสีสังข์ เมื่อทดลองหยดลงในน้ำแล้วยังเป็นเม็ดกลมจมลงไปถึงก้นแก้วนั่นแหละคือน้ำนมเอกเช่นกัน ถ้าหยดน้ำนมลงไปแล้ว น้ำนมแตกกระจายแต่ก็ยังมีน้ำหนักจมลงไปถึงก้นภาชนะได้เรียกว่าน้ำนมโท เกรดน้ำนมแม่นอกนั้นจัดว่าเป็นน้ำนมโทษทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะมีรสเปรี้ยว ขม ฝาด จืด จาง มีกลิ่นคาว แต่หมอไทยก็มียาหลายขนานสำหรับแปรน้ำนมร้ายให้กลายเป็นดี รู้จักกันในชื่อยาแปรน้ำนมและยาประสะน้ำนม มีสรรพคุณ ๓ อย่างคือ ช่วยฟอกน้ำนมให้สะอาดปราศจากพิษ ช่วยอัพเกรดคุณภาพน้ำนมและเพิ่มปริมาณน้ำนมเลี้ยงทารกอย่างเพียงพอ พูดอย่างรวบยอดก็คือ ยาประสะน้ำนมช่วยเพิ่มค่าน้ำนมทั้งปริมาณและคุณภาพคับเต้า ตามกรรมวิธีการรักษาของแพทย์แผนไทย ก่อนจะใช้ยาประสะน้ำนม ท่านต้องให้ยาขับโลหิตร้าย แล้วตามด้วยยาบำรุงโลหิต เพื่อให้สตรีหลังคลอดบุตรมีเลือดอันงามบริบูรณ์เสียก่อน เพราะนมดีย่อมมาจากเลือดดี จากนั้นจึงให้ยาต้มประสะน้ำนม ซึ่งมีทั้งยารสร้อนและยารสเย็นแต่ส่วนใหญ่มักเป็นยารสร้อนที่เข้าพิกัดยาตรีกุฏ (ตัวยารสเผ็ดร้อน ๓ อย่างคือพริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง) เจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู แห้วหมู เป็นต้น แต่ยาประสะน้ำนมที่ขอนำเสนอในที่นี้ไม่ใช่ยาตำรับหลวง หากเป็นยาต้มพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรรสเย็นที่สามารถหาได้ในป่าชุมชน ยาประสะน้ำนมตำรับนี้เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษของพ่อใหญ่ขาว เฉียบแหลม แพทย์พื้นบ้านแห่งตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้อง ขอนแก่น ความพิเศษของยาตำรับนี้ก็คือ นอกจากไม่มีสมุนไพรรสเผ็ดร้อนแล้ว ยังมีสรรพคุณตรีคูณ คือ เป็นทั้งยาแก้นมคัด ช่วยบำรุงน้ำนมและเพิ่มปริมาณน้ำนมไปในตัว ส่วนประกอบสมุนไพรพื้นบ้านมี ๙ ชนิด ดังนี้ (๑) เครือ (เถา) หมากแตก (๒) รากรุ่นไร่ (๓) รากเล็บเหยี่ยว (๔) รากตับเต่า (๕) แก่นฝางแดง (๖) แก่นนมวัว (๗) แก่นสีหวด (๘) ไผ่จืด (๙) แก่นต้นช้างน้าว วิธีต้ม นำสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิด กะเอาอย่างละครึ่งกำมือ นำไปต้มในหม้อดิน เติมน้ำท่วมยา ๓ ส่วนต้มให้เหลือ ๑ ส่วน ขนาดและวิธีรับประทาน ดื่มน้ำสมุนไพรครั้งละ ๑ แก้ว ประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร ดื่มติดต่อกันนาน ๑ สัปดาห์ อาหารแสลงที่ห้ามรับประทาน ผักกลิ่นฉุน อาทิ ชะอม หรือเนื้อสัตว์รสร้อน อาทิ เนื้อหมู อาจทำให้เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะและน้ำนมแห้งได้ ยาต้มตำรับนี้ปลอดภัย สามารถดื่มได้เรื่อยๆ เกินกว่า ๗ วัน จนน้ำนมมาแล้วจึงหยุดรับประทาน จากประสบการณ์การใช้ในหญิงหลังคลอดได้ผลดีทุกราย กรณีที่กล่าวขานกันมากคือ เรื่องราวของแพทย์หญิง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งเป็นทุกข์มากที่ไม่มีน้ำนมจากเต้าให้ลูกกินหลังคลอด กระทั่งได้มาดื่มยาต้มประสะน้ำนมของพ่อหมอขาวเพียงแก้วเดียว ผลปรากฏว่าน้ำนมไหลออกมาทันที เธอดีใจทั้งน้ำตาที่ได้เลี้ยงลูกน้อยด้วยน้ำนมจากอกของตนเอง ชื่อสมุนไพรพื้นบ้านเหล่านี้ อาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับคนเมือง แต่สำหรับชาวบ้านอีสานใกล้ป่าดงเค็งแม้กระทั่งเด็กนักเรียนในละแวกนั้นล้วนรู้จักพืชสมุนไพรดังกล่าวเป็นอย่างดี ปัจจุบันยาประสะน้ำนมตำรับพ่อหมอขาว เฉียบแหลม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนไทยพร้อมเลข ๒๔ หลักของโรงพยาบาลหนองสองห้อง สำหรับไว้ใช้บริการหญิงหลังคลอดในโรงพยาบาล รวมทั้งหญิงหลังคลอดทั่วไปในพื้นที่อำเภอหนองสองห้องและอำเภอใกล้เคียง ที่มีปัญหาน้ำนมไม่มา หรือมาน้อย คุณแม่หลังคลอดท่านใดมีปัญหาน้ำนมไม่มา อย่ารอช้า ลองติดต่อไปที่โรงพยาบาลชุมชนของอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เพื่อขอคำแนะนำจากคุณหมอที่นั่น เพราะปัญหาน้ำนมไม่มา ยังไม่มียาแผนปัจจุบันขนานใดช่วยได้ นอกจากต้องพึ่งพาอาศัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่กำลังจะสูญหายไปนี่แหละ ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๓ ประจำวันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/25803642223278_4.jpg) นมน้อย ไม้ยาให้นมมาก นอกจากวิกฤตเด็กไทยเกิดน้อย ทำให้ประชากรไทยในอนาคตจะมีสัดส่วนคนวัยหนุ่มสาวต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้สูงวัยแล้ว ในบรรดาคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ พอคลอดบุตรก็มักประสบปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไหลน้อยมากจนไม่พอให้ทารกตัวน้อยกินนมแม่ ใครได้สัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน จะพบว่ามีตำรับยาสมุนไพรหลากหลายขนานที่เกี่ยวกับยาเรียกน้ำนม ซึ่งในฉบับที่แล้วได้มีการนำเสนอ ยาประสะน้ำนมของพ่อใหญ่ขาว เฉียบแหลม จ.ขอนแก่น ไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันมีการนำเอาตำรับยาเรียกน้ำนมหลายขนานเข้าไปใช้ในโรงพยาบาลหรือในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งแล้ว และน่าสนใจตรงที่ในตำรับเกือบทุกตำรับจะมีสมุนไพรชนิดหนึ่งเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ นั่นคือ ต้นนมน้อย ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนตั้งไว้ แต่สามารถสื่อความหมายได้เป็นอย่างดีว่า เป็นต้นไม้ที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องการมีนมน้อย มารู้จักต้นนมน้อยกันจะได้ใช้กันถูกต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้อีกว่า นมน้อย (เพชรบูรณ์) น้ำเต้าแล้ง (นครราชสีมา) น้ำน้อย (เลย) ต้องแล่ง (มหาสารคาม อุบลราชธานี) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา นมน้อยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลดำ กิ่งก้านเล็ก เปลือกต้นมีช่องแลกเปลี่ยนอากาศจำนวนมาก ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปวงรี ฐานใบรูปลิ่ม ผิวใบเรียบ ใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านหลังมีขนสั้น ประปราย ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ บริเวณกิ่งอ่อน ตรงรอยร่วงของใบ ระหว่างข้อหรือใต้ข้อ กลีบดอกสีเหลือง เนื้อหนา มี ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แบ่งเป็นกลีบดอกชั้นนอก คล้ายกลีบเลี้ยง สีเขียวอมเหลือง รูปสามเหลี่ยม แยกกัน กลีบดอกชั้นในหนาอวบ มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก สีเหลืองนวล กลีบเลี้ยง บางคล้ายกระดาษ รูปสามเหลี่ยม ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม นมน้อยมีผล ซึ่งผลเป็นผลกลุ่ม มีหลายผลย่อยรวมเป็นช่อ ผลย่อยรูปทรงกลม ผลแก่สีน้ำตาลปนแดง เมื่อสุกสีแดง ผลกินได้ พบตามป่าละเมาะ ชายทะเล ที่ทิ้งร้าง ชายป่า ข้อควรระวังตามพุ่มต้นต้องแล่ง มักมีรังแตน เช่น แตนขี้หมา และแตนราม เป็นต้น ดังนั้น ใครคิดจะไปเก็บต้นนมน้อยมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรใช้ลำไม้ยาวๆ แหวกดูก่อน มิเช่นนั้นอาจถูกแตนต่อยได้ นมน้อยนอกจากจะเป็นยาเข้าตำรับที่มีสรรพคุณน้ำนมแล้ว ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานยังเป็นพืชสมุนไพรที่ประกอบในตำรับยาอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ รากนมน้อย เข้ายากับเครือไส้ไก่ (Jasminum elongatum (P.J.Bergius) Willd.) และตะไคร้ป่า (Litsea cubeba (Lour.) Pers.) ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะอาหาร และการเข้ายาผสมกับรากลกคก (Polyalthia debilis Finet & Gagnep.) และรากหุ่นไห้ (Erythroxylum cuneatum (Miq.) Kurz) ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงน้ำนมหญิงหลังคลอด หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมุกดาหาร ใช้รากนมน้อยแก้ฝีภายใน หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอำนาจเจริญ ใช้รากนมน้อยแก้ร้อนใน ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดเมื่อย ต้มรากดื่มขณะอยู่ไฟหลังคลอดบุตรและการใช้ยาของหมอยาพื้นบ้านอีสานทั่วไป ใช้รากนมน้อย ต้มน้ำดื่ม แก้กล้ามเนื้อท้องเกร็ง บำรุงน้ำนม แก้ปวดเมื่อย แม้ว่านมน้อยจะมีสรรพคุณในการเรียกน้ำนมได้ดี แต่ขอให้เข้าใจว่าตามภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ใช้นมน้อยเป็นสมุนไพรเดี่ยว เพราะการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดจะดูแลแบบองค์รวม เนื่องจากร่างกายของหญิงหลังคลอดจะมีระดับฮอร์โมนต่างๆ ไม่เข้าสู่ภาวะปกติ อาจเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะอ่อนไหวต่อการได้กลิ่นต่างๆ หรือการกินอาหารที่อาจก่อให้เกิดการผิดสำแดงได้ ดังนั้น ยาบำรุงหลังคลอดจึงมักใช้สมุนไพรหลายชนิดร่วมกันทำเป็นตำรับยา เช่น มีแก่นนมสาว (Scleropyrum pentandrum (Dennst.) Mabb.) นมวัว (Anomianthus dulcis (Dunal) James Sinclair) นมน้อย (Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.) ต้มกินต่างน้ำ ปัจจุบันมีงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า สารสกัดจากรากนมน้อยที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการต้านการเป็นมะเร็งในระดับดีมาก (Sasipawan Machana et al. Asian Pacific Journal of Tropical iomedicine Volume 2, Issue 5, May 2012, Pages 368-374) และมีข้อสังเกตสำหรับผู้สนใจสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย คือ ในตำรายาที่แพทย์แผนไทยใช้ มียาตำรับหนึ่งเรียกว่า ยาประสะน้ำนม กินเพื่อบำรุงน้ำนมประกอบด้วย โกศทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ รากไทรย้อย ๑ เปลือกพิกุล ๑ แห้วหมู ๑ งาช้าง ๑ เขากวางอ่อน ๑ รากเสนียด ๑ โคกกระออม ๑ รวมยา ๑๗ สิ่งนี้ เอาส่วนละเท่าๆ กัน ต้ม ๓ เอา ๑ กิน เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าตัวยาเกือบทั้งหมดของตำรับนี้มีรสร้อน ในขณะที่ยาพื้นบ้านที่กล่าวไว้ข้างต้นมักมีแต่สมุนไพรที่มีรสเย็น นี่อาจแสดงให้เห็นว่าหลักในการวางยาสมุนไพรหรือการตั้งยาระหว่างแผนไทยและพื้นบ้านมีความแตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องศึกษากันต่อไปอีก รวมทั้งศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ของต้นนมน้อยให้ชัดแจ้ง เนื่องจากขณะนี้ในฐานข้อมูลของ The Plant List ปรากฏชื่อวิทยาศาสตร์ของนมน้อยเป็นชื่อที่ระบุว่ายังมีปัญหา (Unresolved name) ทั้งนี้เนื่องจากในแต่ละท้องถิ่นพบลักษณะของต้นนมน้อยมีความแตกต่างกันมาก เช่น บริเวณเขาหินซ้อน นมน้อยมีลำต้นค่อนข้างสูง ทรงพุ่มโปร่งกว่าทางภาคอีสาน นักพฤกษศาสตร์จึงจัดแยกเป็นชนิดย่อย คือ นมน้อยที่เขาหินซ้อนใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep. var. evecta ระหว่างนี้นักพฤกษศาสตร์ประเทศไทยกำลังศึกษาเพื่อทบทวนและการจัดจำแนกทางพฤกษศาสตร์กันใหม่ ใครเคยเห็นรากของนมน้อยที่มีเปลือกสีน้ำตาลแดงเข้ม หรือถ้ามองผ่านๆ อาจจะเห็นเป็นสีดำนั้น ถ้าได้ดมกลิ่นจะรู้ว่ารากนมน้อยนี้มีกลิ่นหอมมาก จึงเป็นตำรับยาที่กินง่าย กินดี เพื่อคุณแม่ให้นมลูก ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๔ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 กรกฎาคม 2561 16:05:25 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49748036058412__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg)
เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง พืชสมุนไพรสู่ไม้ประดับ คําว่าผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นสำนวนไทยๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร ภายนอกดูไม่มีคุณค่าความหมายอะไร แต่ภายในกลับมากด้วยคุณประโยชน์หรือคุณค่า ในมุมสมุนไพร ชื่อเรียกผ้าขี้ริ้วห่อทองที่จะกล่าวถึงวันนี้ ไม่ใช่ชื่อเรียกต้นสมุนไพรที่ในตำรายาไทยกล่าวไว้ทั่วไป อันหมายถึงต้นกะทกรก ที่บางครั้งก็เรียกว่า ผ้าขี้ริ้วห่อทอง แต่ผ้าขี้ริ้วห่อทองในที่นี้เป็นพืชเครือ จึงเรียกให้แตกต่างว่า เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่คนอีสานเรียกว่า ผ้าห้ายห่อคำ หรือ ผ้าขี้ริ้วห่อคำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Callicarpa candicans (Burm. f.) Hochr. และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น เช่น กะเตาะ (สุราษฎร์ธานี) ขาเปียผ้าห้าย ผ้าขี้ริ้วห่อคำ ผ้าห้ายห่อคำ (เลย) ขี้อ้นดอน (พิษณุโลก) จับแปงเล็ก (ชัยนาท) ตอกดำ (ปัตตานี) มะตือเครื่องสะพานกน (เชียงใหม่) รำหนาด (ยะลา) เสียบไส้ (นครศรีธรรมราช) สมุนไพรชนิดนี้มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Great Woolly Malayan Lilac และที่น่าสนใจอย่างยิ่งขณะนี้มีการเพาะพืชนี้จำหน่าย ซึ่งเรียกขานในวงการคนขายไม้ดอกไม้ประดับอย่างเท่ว่า Lovely berry เครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นพืชที่มีการกระจายในแถบเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ จีนตอนใต้ อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี ออสเตรเลีย หมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก ในด้านการใช้ประโยชน์ มีชื่อเสียงในการนำเอาใบมาใช้ในการเบื่อปลา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งบางครั้งใช้เทคนิคเอากิ่งนำมาทำลูกศรยิงปลา ทำให้ปลาอยู่ในภาวะกึ่งสลบ ในแง่สมุนไพรก็มีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของรัฐเบงกอล สรรพคุณที่พอรวบรวมได้ คือส่วนของใบ เปลือกและราก นำไปใช้เป็นยาห้ามเลือดหรือรักษาบาดแผลสด และใช้แก้ท้องเสีย ส่วนของใบยังใช้เป็นยาฟอกเลือด ขับระดู ถ้าเป็นใบอ่อนนำมาต้มดื่มแก้ปวดมวนในท้อง และแก้ภาวะขาดระดูหรือประจำเดือนไม่มา ใบยังใช้เป็นยาทาภายนอกแก้บาดแผลสดและฝีหนอง ทำให้ลดอาการบวมได้เป็นอย่างดี นำมามวนสูบแก้หืดหอบ ใบแก่ใช้พอกภายนอก แก้ปวดกระเพาะอาหาร ส่วนของรากนิยมนำมาต้มดื่ม บำรุงร่างกาย และสำหรับผู้หญิงหลังคลอดให้นำรากและใบต้มดื่มจะทำให้เจริญอาหาร นอกจากนี้น้ำต้มจากใบและรากยังใช้อาบ รักษาโรคผิวหนัง เช่น ผิวแห้งเนื่องมาจากภูมิแพ้ โรคหิด สะเก็ดเงิน หรือล้างแผลเปื่อยหรือเป็นหนอง รากนำไปต้มดื่มลดไข้ บำรุงตับ ล้างแผลร้อนในในปาก ในบางพื้นที่มีรายงานว่าผลดิบกินได้ ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้แตกต่างกันออกไป เช่น ในฟิลิปปินส์ใช้ใบมาสูบแก้อาการหอบหืด ใช้ใบสดมาพอกแก้ปวดกระเพาะ ในประเทศอินเดียใช้รากต้มดื่มแก้ไข้ รักษาโรคผิวหนังและรักษาแผลในปาก มาเลเซียใช้ใบต้มดื่มแก้อาการปวดท้อง ในอินโดนีเซียใช้ใบต้มดื่มแก้อาการระดูมาไม่ปกติและใช้เป็นน้ำยาล้างแผล ใช้รักษาอาการอักเสบที่ผิวหนังเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ใบใช้ทำเป็นยาชงดื่ม เพื่อฟอกเลือด เปลือกรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนของผลและรากใช้เป็นยาต้มแก้ลำไส้อักเสบหรือปวดแบบเฉียบพลัน และเปลือกนำมาเคี้ยวคล้ายการเคี้ยวกินแทนหมากได้ การใช้ประโยชน์อื่นๆ ของเครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง ได้แก่ ใช้เป็นยาไล่แมลง โดยนำส่วนของใบมาลูบ ทาที่ผิว จะช่วยไล่เห็บ มดและยุงได้เป็นอย่างดี ทุกส่วนเมื่อทำให้แห้งใช้เป็นเหยื่อล่อกุ้งน้ำจืดได้ แต่มีรายงานว่าผลของเครือผ้าขี้ริ้วห่อทองเป็นพิษต่อไก่ ในประเทศไทยเมื่อค้นคว้าในตำรายาพื้นบ้านอีสาน พบว่ามีการใช้เข้ายาแก้สะดวงเปื่อย (แผลที่เกิดจากริดสีดวงทวาร) โดยนำรากผ้าขี้ริ้วห่อทองมาต้มกับรากพันงูขาว ต้มดื่ม งานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่า สาระสำคัญที่สกัดได้จากส่วนของใบ คือ สารแคลลิคาร์โปน (Callicarpone) เป็นสารที่เป็นพิษต่อปลา มีความเป็นพิษพอๆ กับโรทีโนน (rotenone) และมีความเป็นพิษมากกว่าโซเดียมเพนตะคลอโรฟีนออกไซด์ (sodium pentachlorophenoxide) ถึง ๑๐ เท่า สารสกัดจากใบต่อต้านแบคทีเรีย Bacillus sp., Escherichia coli, Serratiamarcescens, and Staphylococcus aureus. ถึงตรงนี้คนจำนวนมากคงสงสัยว่าในใบมีความเป็นพิษ และภูมิปัญญาดั้งเดิมนำมาใช้เบื่อปลา แล้วถ้าคนกินเข้าไปไม่เกิดพิษหรือ ขอบอกไว้ตรงนี้ว่า ปลากินเข้าไปในท้อง กับคนเรากินลงไปนั้น เอ็นไซม์ย่อยของปลากับคนต่างกัน ใบเครือผ้าขี้ริ้วห่อทองเป็นพิษต่อปลา แต่คนกินเข้าไปไม่ได้เป็นพิษนะ ในบางท้องถิ่น เช่น ในแถบจังหวัดชลบุรีเรียกต้นผ้าขี้ริ้วห่อทอง หมายถึงต้นกะทกรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflorafoetida L. ทั้งนี้ น่าจะมาจากลักษณะของผลที่มีเมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลืองทองและมีเยื่อเป็นเส้นฝอยๆ ห่อไว้ จึงเรียกว่าต้นผ้าขี้ริ้วห่อทอง ซึ่งเป็นคนละต้นกับเครือผ้าขี้ริ้วห่อทอง ต้นกะทกรก มีสรรพคุณคือ เถา-ใบ รสชุ่มเย็นเอียน ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะทรวงอก แก้ไอ แก้บวม ผลสุก รสหวานเปรี้ยว สรรพคุณ บำรุงปอด แก้ปอดอักเสบ ขับเสมหะ ผ้าขี้ริ้วห่อทองชนิด Callicarpa candicans (Burm. f.) Hochr. เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพทั้งในการใช้เป็นสมุนไพรและยาไล่แมลง รวมทั้งขณะนี้มีการปลูกให้เป็นไม้ประดับ ใครที่เห็นโอกาสก็มาช่วยกันส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งได้สบายๆ ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๔ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57025291191206__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) ส้มผ่อหลวง ไม้ยาพื้นบ้านต่างชาติกว้านหา ส้มผ่อหลวง คือชื่อเรียกสมุนไพรตามภาษาของชาวอีสาน ที่มีการใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านมากมายหลายตำรับ และเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่คนไทยอาจมองข้าม แต่ชาวต่างชาติกำลังมากว้านหาซื้อ เพราะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้น มีการนำมาใช้บำบัดโรคและอาการได้หลายอย่าง และหากหันไปมองการใช้ประโยชน์ของเพื่อนบ้านก็พบว่าส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพดีต้นหนึ่ง ว่ากันที่ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ใช้สมุนไพรส้มผ่อหลวงเข้ายาหลายตำรับ เช่น ยาแก้ไข้หมากไม้ ซึ่งมีอาการคล้ายเป็นไข้พิษชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรียที่ทำให้ใบไม้และผลไม้เน่าเปื่อย พอช่วงผลไม้ในป่าร่วงหล่นตามพื้นดิน ก็มักเป็นช่วงระบาดของการไม่สบาย คนอีสานจึงเรียกไข้ชนิดนี้ตามที่มาของชื่อว่าไข้หมากไม้นั่นเอง ตํารับยาของอีสานตำรับหนึ่งที่ใช้ แก้ไข้หมากไม้ คือ ให้เอาเหมือดคน เครือน้ำแนมอกน้อย มอกหลวง ตีนจำน้อย ตีนจำหลวง เหมือดแอ่ ยางโบง โกน้อย โกหลวง หูลิง บ้งมั่ง ฮากหมากเข้า ฮากแลงส่อน ยาหัว อ้อยดำ ยานาง ฮากเอี่ยนด่อน นองา ฮากนมผา ไม้เท้าสาร ดูกแฮ้งดูกกา ดูกปลาฝา ดูกแข้ ดูกเป็ด ดูกลิงลม ดูกกระท้าง ดูกงูเหลือม แพงคำฮ้อย ฮากตูมตัง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากน้ำนมราชสีห์ ฝนน้ำให้กิน แก้หมากสุก (ตุ่มที่เกิดจากไข้หมากไม้) ดีแล ยาแก้ฝี ฮากส้มผ่อหลวง ฮากปลาดุก ฝนทา ยาแก้ทำมะลา (อาการที่มีเสมหะหรือเมือกอุดตันที่ลำคอ) ให้นำเอาไลปลาฝา ฮากส้มผ่อหลวง นำมาฝนน้ำกิน เจ็บคัดหน้าคัดหลัง สามพันฮู ส้มผ่อหลวง สามสิบบี บีงูเหลือม ไลปลาฝา งาช้าง แข้วแข้ เขากวางชี เอาทั้งหมดฝนกิน เจ็บท้องจุก ฮากชะมัด ฮากพังคีฮากตูม ฮากชมชื่น ฮากส้มผ่อหลวง ฝนกิน ไข้เจ็บท้อง ฮากส้มผ่อหลวง ฮากส้มผ่อน้อย ฮากกำน้อย ฮากกำหลวง ฝนกิน ในวงการหมอพื้นบ้านอีสานจะเห็นว่ามีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่ง มาทำความรู้จักสมุนไพรส้มผ่อหลวงกันสักนิด ในการค้นหาเพื่อแยกแยะพืชตามหลักพฤกษศาสตร์นั้น ได้ตามหาและจำแนกกันอยู่นาน ไปชัดแจ้งก็ตรงที่ลงไปทำงานกับหมอพื้นบ้านที่ จ.สกลนคร จึงสามารถระบุต้นได้ชัดเจนขึ้น ส้มผ่อหลวงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia stipulacea Roxb. มีชื่อท้องถิ่นว่า ขามเครือ ขี้มอด เถาปี้ดำ ปี้อัม (เชียงใหม่) คมแมบ (ปราจีนบุรี) เครือกระพี้เขาควาย ขามเครือ (หนองคาย) แตงเม (จันทบุรี) มักแฝ้น (เย้า-เชียงใหม่) เวือรอัมปืล (เขมร-สุรินทร์) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์นั้น หากได้ค้นเอกสารวิชาการก็จะพบว่ามีการระบุไว้หลากหลาย เช่น เอกสารพรรณไม้จากจีน (Flora of China) กล่าวไว้ว่า ส้มผ่อหลวงเป็นไม้เถาที่มีเนื้อไม้ มีขนาดใหญ่ ในบางพื้นที่พบว่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แต่เอกสารจากหอพรรณไม้ของประเทศไทย รายงานว่าเป็นไม้รอเลื้อย ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๑๗-๒๑ ใบ เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ แบบแยกแขนง ออกที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกรูปถั่วสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พบได้ตามป่าเปิด ริมฝั่งน้ำจนถึงภูเขา และพบได้ไปถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง ๑,๗๐๐ เมตร การกระจายตัวพบได้ตั้งแต่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน บังกลาเทศ ภูฏาน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ไล่เรียงลงมาถึงกัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย เท่าที่พอมีข้อมูลพบว่าหมอพื้นบ้านในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรของประเทศไทย มีการใช้ส้มผ่อหลวงเป็นยาในตำรับแก้อาการประดงเส้น ซึ่งน่าจะหมายถึงอาการที่มีไข้และอาการปวดเมื่อยตามเส้นด้วย ในประเทศอินเดียมีการนำมาใช้มากพอสมควร โดยใช้เป็นยาขับระดู ให้นำเนื้อไม้จากรากและแก่นมาแช่น้ำดื่ม ในบังกลาเทศใช้ส่วนของรากและใบเป็นยารักษาโกโนเรีย และแผลร้อนในที่เกิดในกระพุ้งแก้มในปาก ปัจจุบันมีการศึกษาอยู่บ้าง พบว่าพืชชนิดนี้มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง และเชื่อว่าในต่างประเทศน่าจะมีการศึกษาพืชพื้นบ้านชนิดนี้มากอยู่พอควรถึงสรรพคุณบำรุงร่างกาย หรือน่าจะมีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ เพราะเท่าที่มีข้อมูลจากชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ประเทศหนึ่งในยุโรปทำการสั่งซื้อหรือกว้านหาส้มผ่อหลวง ส่งออกนอกจำนวนมาก สรรพคุณส้มผ่อหลวงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมบอกไว้เพียงเท่านี้ว่า เนื้อไม้ รสเปรี้ยวเฝื่อน ขับเสมหะ ฟอกระดู เป็นยาถ่าย แก้ไข้ ชงน้ำร้อนดื่มบำรุงร่างกาย แต่นักวิจัยฝรั่งอาจเห็นอะไรมากกว่านั้นแน่ แม้ว่าส้มผ่อหลวงไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม แต่ขอบอกดังๆ ว่าจำนวนประชากรของพืชนี้มีไม่มากนัก เข้าข่ายหายากอาจสูญพันธุ์ได้ ยิ่งต่างชาติมาสนใจจ้างให้เก็บขายด้วยแล้วก็อยู่ในภาวะเสี่ยงมาก จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมกันปลูกอนุรักษ์พันธุ์ไว้ให้กับลูกหลาน และส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยกันมากๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ที่มา : โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๖ ประจำวันที่ ๒๙ มิถุนายน – ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 ตุลาคม 2561 16:08:12 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13554027428229__3626_3617_3640_3609_4_1_1_.jpg) ‘ป่าเฮ่วหมอง’ สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้ ข้อความ สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้ คือคำขวัญของโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง ที่ตั้งใจสื่อสารสาธารณะมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กรเมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว ยุคนั้นผู้คนยังไม่ตื่นตัวสนใจการใช้สมุนไพรเท่ากับยุคนี้ ในเวลานั้นอาจพูดได้ว่าเป็นยุคการฟื้นฟูสมุนไพรให้กลับมามีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนไทย จึงจำเป็นต้องสะกิดเตือนการใช้สมุนไพรไว้ แต่ก็น่าแปลกใจมาก ที่คำขวัญเก่าเกือบสี่ทศวรรษ ยังคงร่วมสมัยและต้องหยิบมาใช้ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ นี้ด้วย ทุกวันนี้คนนิยมสมุนไพรกันมากมาย จนคิดไปว่าสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติจะปลอดภัยเสมอ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด และเมื่อบวกกับกลไกการตลาดในการขายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่างๆ นานา ก็อาจทำให้ผู้บริโภคใช้สมุนไพรเกินความพอดี และควรระมัดระวังอย่างยิ่งก็ตรงช่องทางสื่อสารผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้ความรู้ที่ไม่ชัวร์ แต่เข้าข่ายมั่วๆ มัวๆ เบลอๆ แชร์กันจัง จึงขอนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรทั่วๆ ไปมาย้ำเตือนกันไว้ว่า ๑.ถ้ายาใดไม่เคยกินมาก่อน ควรเริ่มกินในปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น กินเพียงครึ่งหนึ่งของที่กำหนด รอดูว่ามีสิ่งผิดปกติในร่างกายหรือไม่ ถ้าไม่มีค่อยกินต่อไป เช่น ตำราบอกไว้ให้กินครั้งละ ๑ แก้ว ให้ลองกินสักครึ่งแก้วก่อน เป็นต้น ๒. อย่าใช้ยาเข้มข้นเกินไป ข้อนี้สำคัญ เช่น ตำรับยาบอกว่ายาขนานนี้ให้ต้มกินธรรมดา ไม่ควรใช้ต้มเคี่ยวกิน เพราะตัวยาจะเข้มข้นเกินไปจนทำให้เกิดโทษได้ ๓. ควรรู้ผลข้างเคียงหรือพิษของยาก่อนใช้ เพราะไม่มียาอะไรไม่มีพิษ หรือควรรู้จักข้อห้ามใช้ เพราะยาบางชนิดมีข้อห้ามใช้กับคนบางคน การได้รู้จักข้อห้ามใช้ ทำให้มีความปลอดภัยในการใช้มากขึ้น เช่น ห้ามใช้กับเด็ก ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือในระดับให้ระมัดระวัง เช่น ยาบางชนิดมีผลต่อการรักษาโรคบางอย่าง แต่ก็มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตด้วย การกินยาชนิดนั้นก็จะส่งผลต่อระดับความดันเลือดด้วยนั่นเอง ๔. คนที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน และคนชรา ห้ามใช้ยามากเพราะคนเหล่านี้มีกำลังต้านทานยาน้อย จะทำให้เกิดพิษหรือผลข้างเคียงได้ง่าย ข้อนี้ก็คือ คนกลุ่มนี้ถ้าจะกินยาสมุนไพรให้กินตามที่กำหนด อย่ากินมากโดยคิดเองว่ายิ่งมากยิ่งดี ไม่ได้เลย ๕. โดยทั่วๆ ไป เมื่อกินยาสมุนไพร ๑ วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคกระเพาะ หืด ท้องผูกเรื้อรัง เมื่อใช้ยาสมุนไพร ๑ สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องเปลี่ยนยา อธิบายขยายความได้ว่า เช่น หากมีอาการไอ เจ็บคอ คุณเลือกใช้สมุนไพรตำรับหนึ่งบรรเทาอาการ แต่เมื่อใช้ยาไปแล้ว ๑ วัน อาการไม่ดีขึ้นเลย (ไม่ได้หมายถึงว่าวันเดียวหายนะ แค่อาการดีขึ้น) ถ้าอาการโรคทั่วๆ ไป กินแล้ว ๑ วันไม่ดีขึ้น แสดงว่ายาไม่ถูกกับโรค ต้องเปลี่ยนยา แต่ถ้ารู้สึกเริ่มดีขึ้นก็ใช้ยาต่อไป สำหรับอาการโรคที่เรียกว่าเรื้อรังทั้งหลายตามตัวอย่างข้างต้นนั้น ให้รวมถึงโรคที่เป็นกันมากๆ เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคเหล่านี้กว่าจะรู้ผลก็ต้องกินนานสัก ๑ สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นก็แสดงว่าสมุนไพรนั้นไม่ถูกกับโรค ๖. ไม่ควรพลิกแพลง คิดตั้งตำรับยาเอง หรือคิดปรุงยาเองโดยขาดความรู้ ห้ามใช้จินตนาการคิดเอาเองว่าผสมสมุนไพรชนิดนี้กับชนิดโน้น ดังนั้น ต้องเคร่งครัดกับตำรับยา วิธีการปรุง การใช้ เช่น ตำรับยามีส่วนประกอบ ๕ ชนิด ใช้การต้มน้ำ กินครั้งละ ๑ แก้ว ๓ มื้อ (เช้ากลางวันเย็น) ห้ามคิดเองว่า เพิ่มส่วนประกอบชนิดนี้ไปอีก ๒ ชนิด ต้มน้ำให้เข้มข้นเพราะคิดว่ายาแรงดี แล้วกินต่างน้ำตลอดทั้งวัน โดยคิดว่ายาจะได้ออกฤทธิ์ช่วยบำบัดโรคได้ดียิ่งขึ้น ทำเช่นนี้จะเกิดพิษหรืออันตรายต่อร่างกายได้ และถ้าใช้หลักการ ๖ ข้อข้างต้น ควรกินแค่วันละ ๑ ใบพอ เพื่อดูสภาพร่างกายของเรา และไม่ต้องกินทุกวัน ให้เว้นไป ๒-๓ วันจึงกินครั้งหนึ่ง บางรายอาจกินวันเว้นวันเพราะเขากินปริมาณน้อย ซึ่งไม่ควรกินทุกวัน และไม่กินต่อเนื่องนานๆ ควรหยุดพักบ้าง ป่าเฮ่วหมอง เป็นสมุนไพรที่มีรสขมจัด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นมากๆ ความรู้ดั้งเดิมไม่แนะนำให้กินจำนวนมากและต่อเนื่องนานๆ จะทำให้ร่างกายเย็น มือ-เท้าเย็น ระบบย่อยอาหารไม่ดีท้องอืดง่าย อ่อนเพลีย ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และในผู้ป่วยที่มีปัญหาตับและไต ในโลกโซเชียลมีการเผยแพร่กว้างขวางทำนองกินสมุนไพรแล้วเบาหวานหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะการดูแลผู้ป่วยเบาหวานไม่ใช่กินแต่ยา แต่ต้องฝึกการกินอาหารที่เหมาะสม และหมั่นออกกำลังกาย ยามีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยาวิเศษแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติการณ์การบริโภคและใช้ชีวิต และการกินแต่ยาปริมาณมากๆ นานๆ ยังจะมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ตับและไตทำงานหนัก การรู้จักกินและออกกำลังกายจะช่วยให้การบริโภคยาน้อยลง ส่งผลดีต่อสุขภาพแน่นอน ย้ำเตือนไว้กับการใช้สมุนไพรทุกชนิด ทั้งสมุนไพรเดี่ยวและตำรับว่า สมุนไพรให้คุณมาก หากใช้พลาดเกิดโทษได้ มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๘๙ ประจำวันที่ ๒๘ ก.ย. – ๔ ต.ค.๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31944740522238__3626_1_1_.jpg) หญ้าคา วัชพืชแห่งตำนาน มีความหวานเป็นยา ในที่สุดน้าหว่อง-มงคล อุทก ก็ได้คืนสู่โลกแห่งตำนานเพลงเพื่อชีวิตให้ผู้คนได้ทรงจำ และหนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับขุนพลพิณ พนมไพรแห่งลุ่มน้ำชีคนนี้ก็คือ “หัวหญ้า” สมุนไพรในเพลง “คิดฮอดบ้านเกิด” ของเขา น้าหว่องมีความสุขฝังใจเมื่อเล่าถึงชีวิตเด็กชนบทอีสาน ที่ชวนกันเอาเสียมน้อยไปขุด “หัวหญ้า” นำมาแอบเคี้ยวกินเล่นในห้องเรียนอย่างเอร็ดอร่อยแทนทอฟฟี่ น้าหว่องเล่าแบบไม่อายใครว่า “บ่มีขนมกิน ก็กินอันนี้แหละ หวานคือกัน…อยู่หลังโรงเรียนมีเยอะ พอมีชั่วโมงว่างจากการเรียน ก็ไปหาหัวหญ้ากิน อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่ากินหญ้านะ” (ฮา) วัชพืชอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี้ไม่ใช่เพียงสิ่งแทนขนมหวานของลูกอีสานยากไร้ไกลปืนเที่ยงเท่านั้น แต่ยังเป็นสายใยแห่งมิตรภาพในวัยเด็กของพวกเขาด้วย “หัวหญ้า” ของน้าหว่องในที่นี้ก็คือ “รากเหง้าหญ้าคา” อันไร้ค่าที่มีอยู่ดาษดื่น แต่สำหรับคนที่พอรู้เรื่องเทพปกรณัมของฮินดูอยู่บ้าง ย่อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หญ้าคานั้นไซร้ไม่ใช่วัชพืชธรรมดา แต่เป็นพืชพันธุ์อันศักดิ์สิทธิ์ในตำนานชักเย่อพญานาคกวนเกษียรสมุทรแย่งน้ำอมฤตของทวยเทพกับเหล่ายักษา ความเชื่อนี้ตกทอดมาถึงชาวพุทธ ที่นิยมใช้กำหญ้าคาเป็นเครื่องมือประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และถ้าใครยังจำพุทธประวัติได้ โพธิบัลลังก์ที่พระสิทธัตถะประทับในวันตรัสรู้นั้นก็ปูลาดด้วยหญ้ากุศะหรือหญ้าคาอินเดีย ดังนั้น “หัวหญ้า” ในตำนานเพลงของน้าหว่องก็คือวัชพืชตัวเดียวกับ “หญ้าคา” ในตำนานศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ทั้งยังเป็นความศักดิ์สิทธิ์มีมากด้วยคุณประโยชน์ด้านปัจจัย ๔ กล่าวคือ นับแต่โบราณกาลที่มนุษย์เริ่มรู้จักปลูกเพิงพัก วัสดุแรกที่คนนำมามุงกันแดดกันฝนก็คือหญ้าคานี่แหละ คำเรียกขานว่า “หลัง (หญ้า) คา” ก็เป็นประจักษ์พยานอยู่ แม้แต่ฝรั่งยังเรียกหญ้าคาว่า “thatch grass” หรือหญ้ามุงบ้าน ส่วนในด้านเครื่องนุ่งห่ม คนยุคโบราณโดยเฉพาะพวกฤๅษีชีไพร มักนำหญ้าคามาทำผ้านุ่งเรียกว่า “คากรอง” ยิ่งกว่านั้นดงหญ้าคายังเป็น “พืชเบิกไพร” ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้สมดุล เพราะถ้าไม่มีรากหญ้าคาที่ลึกเป็นศอกช่วยยึดหน้าดินไว้หลังจากป่าไม้ถูกถางโล่งเตียนแล้ว ป่าผืนใหม่จะไม่มีวันฟื้นกลับคืนมาได้อีกเลย ด้วยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ดังกล่าว วัชพืชชนิดนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “หญ้าหลวง” ซ้ำยังเป็นสมุนไพรใกล้ตัวแบบหญ้าปากคอกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง เรามาทำความรู้จักกับสรรพคุณความหวานเป็นยาของรากหญ้าคาที่เป็นขนมขบเคี้ยวของเด็กอีสานกันเถอะ “หญ้าคา” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Imperata cylindrica Beauv. จุดเด่นของหญ้าคาคือมีเหง้าใต้ดินเป็นหลอดทรงกลม (cylinder) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ แตกต่างจากเหง้าหญ้าแฝกที่มีทรงแบน สรรพคุณของหญ้าคาที่รู้จักกันดีคือ บำรุงไตและรักษาทางเดินปัสสาวะ ดังในคัมภีร์แพทย์ฉันทศาสตร์กล่าวไว้แต่โบราณว่า “ปิดเบาไซร้น้ำหญ้าคา ปิดหนักมาน้ำลูกสมอ” ส่วนของหญ้าคาที่ใช้ทำยาไทย มักใช้ส่วนรากหรือเหง้าเช่นในคัมภีร์วรโยคสาร กล่าวถึงการใช้รสหวานของรากหญ้าคาเป็นตัวยาหลักในตำรับยาขับนิ่วหิน นิ่วกรวด นิ่วเบาเป็นเส้นในน้ำปัสสาวะ (หมายถึงสายละอองขาวขุ่นที่ลอยอยู่ในน้ำปัสสาวะนั่นเอง) ทั้งยังขับมุตกิดตกขาว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบในท่านหญิง และแก้ปัสสาวะขัดลำกล้องในท่านชาย พบว่าฤทธิ์ขับปัสสาวะของเกลือโพแทสเซียม ในรากหญ้าคายังช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างปลอดภัย ยิ่งถ้าได้รากหญ้าทั้ง ๕ (แห้ง) คือ หญ้าคา หญ้าแพรก อ้อยดำ อ้อยแดง และรากไผ่รวก นำมาห่อผ้าขาวบางต้มดื่มต่างน้ำ นอกจากจะช่วยแก้โรคตกขาวได้ชะงัดแล้ว ยังชำระสิ่งหมักหมมในลำไส้ช่วยให้เบาเนื้อสบายตัว สรรพคุณหญ้าคามีมากกว่าที่คิด ยังช่วยพิชิตอาการอักเสบรุนแรงในช่องปากและลำคอ ที่แพทย์แผนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อริศดวงมหากาฬ คือมีอาการปากคอเปื่อย มีกลุ่มเม็ดริดสีดวงขึ้นในลำคอ อักเสบเป็นหนอง แสบร้อนคอกลืนกินอาหารไม่ได้ ท่านให้ใช้พืชสมุนไพรสด ๔ ตัว คือ รากหญ้าคา ใบผักหนอก ใบว่านมหากาฬ ใบแพงพวยเทศ และเกลือแกง เอามาอย่างละเท่าๆ กัน ตำให้แหลก ห่อผ้าแพร (ผ้าไหม) เป็นก้อนกลม พออมในช่องปากได้ ท่านว่า “อมหายมามากแล้ว” คนทั่วไปรู้ดีว่าความหวานของรากหญ้าคาเป็นยาเย็น ใช้เข้าตำรับยาแก้ร้อนใน แก้ธาตุไฟกำเริบ แต่มักไม่รู้ว่ารากหญ้าคาเป็นยาขับลมร้ายด้วย ในตำรับยาแก้ลมจุกเป็นก้อน เป็นเถาดาน ในทรวงอก ในช่องท้องที่เรียกว่าคุลมโรค ก็มีรากหญ้าคาเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย เสียดายจัง ถ้าหากน้าหว่องยังขบเคี้ยวหัวหญ้าเป็นสแน็กประจำวันแล้ว ก็อาจจะช่วยให้เลือดลมหล่อเลี้ยงหัวใจให้แข็งแรงกว่านี้ คนโบราณรู้ดีว่ารสหวานของรากหญ้าคาเป็นยาดีสำหรับเด็กเล็ก เพราะช่วยแก้โรคตานขโมย พุงโรก้นปอด ผอมแห้งแรงน้อย อันเป็นการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น การที่อดีตเด็กด้อยโอกาสอย่าง ด.ช.มงคล อุทก ได้ขุดดินกินหัวหญ้าเป็นภักษาหารจึงนับว่าเป็นโชคชะตาที่ดี เนื่องจากรสหวานของหญ้าคามีคุณค่าทางยาสูง นอกเหนือไปจากมีสารน้ำตาลคุณภาพ อาทิ ซูโครส กลูโคสและฟรุกโตส คนโบราณจึงมีกรรมวิธีเก็บน้ำหวานจากรากหญ้าคาไว้ใช้ประโยชน์ทางยา ดังนี้ ช่วงเวลาหน้าหนาว อากาศแห้ง แล้งฝนแล้ว เป็นช่วงที่รากหญ้าคาอวบอ้วนสมบูรณ์เต็มที่หลังจากซึมซับธาตุอาหารผ่านฤดูฝนมายาวนานถึง ๔ เดือน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บน้ำหวานใต้ดินจากรากหญ้าคา ขั้นแรกใช้เสียมขุดดินลึกลงไปให้เป็นโพรงใต้กอหญ้าคาสักหนึ่งศอกตัดส่วนที่เป็นรากยาวๆ ออกไป แล้วเอาแกลบใส่ให้เต็มโพรง จากนั้นหมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนรากงอกใหม่ยาวงามขาวอวบดี จึงโกยเอาแกลบออกให้หมด รวบรากหญ้าคามัดรวมกันให้แน่น ใช้มีดคมบางปาดรากทั้งมัดครั้งละ ๑-๒ มิลลิเมตร นำกระบอกแก้วหรือกระเบื้องเคลือบมารองรับหยาดน้ำหวาน ซึ่งจะไหลออกมาหลังจากปาดรากแล้วราว ๓ วัน เมื่อน้ำหวานหยุดไหลแล้ว จึงปาดมัดรากลึกเข้าไปอีกทีละน้อยๆ เหมือนปาดจั่นดอกมะพร้าว ก็จะได้น้ำหวานรากหญ้าคาเก็บไว้เป็นยาบำรุงไตอย่างดีสำหรับผู้ใหญ่ หรือจะใช้สำหรับบำรุงร่างกายเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่วัยทารกก็ได้ ท่านบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวโศลกไว้ว่า ไม่มีอักขระตัวใดเป็นคำมนตร์ไม่ได้ ไม่มีพืชชนิดใดใช้ทำยาไม่ได้ และไม่มีมนุษย์คนใดเป็นคนดีไม่ได้ วัชพืชที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ เช่น หญ้าคา ได้พิสูจน์แล้วว่าวาทะของท่านบรมครูเป็นสัจพจน์อย่างแน่แท้ มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๙๐ ประจำวันที่ ๕-๑๑ ต.ค.๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57763884630468__3626_3617_3640_3609_4_1_.jpg) กาแฟชุมเห็ดไทย ยอมรับกันว่าทุกซอกทุกมุมของทุกเมืองในประเทศไทยตอนนี้มีร้านกาแฟมากมายนับไม่ถ้วน ถ้าสังเกตกันดีๆ ก็มีทั้งร้านเปิดใหม่และที่ปิดกิจการ เห็นแต่ยี่ห้อใหญ่ๆ รุกหนักเปิดขายจากนอกห้างตอนนี้เข้ามาชิงพื้นที่ในห้างด้วย ถ้านับกันจริงๆ ก็ถือว่ากาแฟเป็นพืชสมุนไพร มีสรรพคุณบรรเทาหรือใช้ประโยชน์ได้ เช่น ช่วยขับปัสสาวะ และกาเฟอีนในกาแฟก็ช่วยให้สดชื่น แก้อาการง่วงได้ วันนี้จะชวนมาชิมกาแฟชุมเห็ดไทย ซึ่งเป็นความรู้มาจากคนทวีปอเมริกานะจะบอกให้ แต่ก่อนจะชงชิม อยากให้รู้จักชุมเห็ดไทย แต่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ สามารถขึ้นกระจายทั่วไป แล้วนับเป็นวัชพืชในเขตร้อนชื้น เพราะถ้าไม่รู้จักการใช้ประโยชน์ ต้นชุมเห็ดไทยก็แพร่ไปมากมายได้ทั่วทุกภาค แต่ก็เป็นที่น่าฉงนว่าทำไมจึงมีชื่อไทยว่าชุมเห็ดไทย ทั้งๆ ที่ชุมเห็ดไทยมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Foetid cassia และ Sickle senna มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna tora (L.) Roxb. โดยมีชื่อ Cassia tora L. เป็นชื่อพ้องที่ต้องกล่าวถึงชื่อพ้องเพราะว่าเดิมใช้ชื่อ Cassia tora L. มาเป็นเวลานาน แต่นักอนุกรมวิธานได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น Senna tora (L.) Roxb. เมื่อไม่นานมานี้เอง จึงต้องกล่าวไว้ไม่ให้สับสน ชุมเห็ดไทยเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE ชุมเห็ดไทยยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า พรมดาน พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี) เล็นเค็ด (มหาสารคาม) เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ) ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง) กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน) เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น ชุมเห็ดไทยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว ๑ ปี สูงประมาณ ๑ เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป ใบชุมเห็ดไทยเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๓ คู่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่จะทำให้เราจำพืชชนิดนี้ได้ดีคือ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ ๑ คู่ และลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว ๒ อัน ดอกชุมเห็ดไทยจะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ ๒-๔ ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสดสวยงามดีและมีกลีบดอก ๕ ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอีก ๕ กลีบ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน และผลชุมเห็ดไทยจะออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักแบนทั้งสองด้าน ปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้นๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ ๒๐-๓๐ เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด บรรยายลักษณะเมล็ดให้ชัดเพราะเมล็ดนี่แหละที่มีดี แต่ขอพูดถึงประโยชน์จากใบก่อน ใบอ่อนกินเป็นผักได้ ในศรีลังกาใช้ดอกเป็นอาหารได้ด้วย และมีการใช้เป็นยาควบคุมแมลงในฟาร์มแบบออร์แกนิก และมีการใช้ชุมเห็ดไทยทั้งต้นนำมาบดให้เป็นผงใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ด้วย ที่ประเทศเกาหลีเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่กินแล้วจะทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับไปเป็นหนุ่มสาวได้อีก ในส่วนความรู้ของไทย ใบ แก้อาการนอนไม่หลับ เมล็ด มีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย นำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น แต่ช่วยแก้กระษัย และแก้เด็กเป็นตานขโมยก็ได้ ให้ใช้เมล็ดแห้ง ๑๐กรัม ตับไก่ ๑ คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้กิน หรือเมล็ดคั่วให้เกรียม นำมาบดให้เป็นผงชงน้ำดื่มเป็นยาลดความดันได้ชั่วคราว รักษาอาการตาบวมแดง ฝ้ามัว ตาฟาง ดอก ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับพยาธิในท้องเด็ก กินเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ แก้เสมหะ แก้หืด ผล ใช้แก้ฟกบวม ในต่างประเทศใช้ทั้งต้นเป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง แก้คัน แก้โรคเรื้อน แก้โรคสะเก็ดเงิน หรือแม้แต่แก้พิษงู ใบนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของบาล์มหรือยาหม่อง และใช้ทาภายนอกแก้โรคผิวหนัง ซึ่งใช้กันมากในตำรับยาของจีนและอายุรเวท นอกจากนี้ ในชุมเห็ดไทยมีสารสำคัญคือ แอนทราควินโนน (anthraquinone) เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาระบาย และมีการนำเอาสารที่ทำให้เกิดเจล (gelling agent) ที่สกัดได้จากเมล็ดมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย สำหรับเมล็ดชุมเห็ดไทยมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย เมล็ดนำมาคั่วชงเป็นกาแฟ คนพื้นเมืองในอเมริกาใต้นำเมล็ดไปคั่ว นำมาชงดื่ม มีกลิ่นหอมเหมือนกาแฟ กลิ่นธรรมชาติไม่มีการแต่งเติมสีและกลิ่นใดๆ จึงมีความน่าสนใจทีเดียว ในสังคมที่นิยมดื่มกาแฟกันมากขึ้น กาแฟจากเมล็ดชุมเห็ดไทยน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี สามารถปรุงแต่งสร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ลองชิมกันดูนะ มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๘๙๒ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ ต.ค.๖๑ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 ตุลาคม 2561 16:18:32 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21097145105401__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg)
ข้าวยาคู เภสัชอาหาร เพาเวอร์เจลของพระพุทธเจ้า ในภูมิปัญญาอาหารสุขภาพของไทยที่ถ่ายทอดมาจากพุทธศาสนา มีเภสัชอาหารหรืออาหารเป็นยาอยู่เมนูหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ ข้าวยาคู ใช้สำหรับบริโภคเพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล จะเรียกว่าเป็นเพาเวอร์เจลของพระพุทธเจ้าก็ย่อมได้ พระพุทธองค์เองก็ทรงเคยเสวยเภสัชอาหารตำรับนี้ เมื่อทรงพระประชวรด้วยโรคลมจุกเสียดในพระนาภี ในพระสูตรกล่าวถึงธัญพืชหลักของตำรับข้าวยาคู ๓ อย่าง คือ ข้าวสาร งา ถั่วเขียว ซึ่งแต่ละสิ่งมีสรรพคุณวิเศษ ดังนี้ ข้าวเจ้า : แป้งจากข้าวเจ้าเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดอะไมโลส (amylose) ที่ย่อยง่ายให้พลังงานสูงโดยไม่สร้างปัญหาเกิดลมท้องอืดท้องเฟ้อ ถ้าพูดอย่างภูมิปัญญาแผนจีน ก็ต้องบอกว่าแป้งข้าวทุกชนิดมีสมดุลหยิน-หยาง ซึ่งช่วยประสานธาตุ ๔ ให้สมดุลด้วย สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนแรง เพียงได้ดื่มน้ำข้าวอุ่นๆ ก็จะมีกำลังกระปรี้กระเปร่าขึ้นทันที ถั่วเขียว : นับเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ย่อยง่าย อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินสำคัญที่ช่วยซ่อมแซมความสึกหรอของร่ายกายได้ดีไม่แพ้ถั่วเหลือง แต่ถั่วเขียวเหนือชั้นกว่าถั่วเหลืองตรงที่มีเมล็ดเล็กต้มเปื่อยเร็วกินได้ทั้งเนื้อทั้งน้ำ ห้ผลบำรุงกำลังได้ทันใจ และไฟเบอร์ของถั่วเขียวยังช่วยระบายอุจจาระที่หมักหมม ล้างลำไส้ให้สะอาดหมดจด ช่วยให้การดูดซึมสารอาหารใหม่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สรรพคุณทางยาของถั่วเขียวที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด งา : เป็นธัญพืชอุดมด้วยโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง ชาวจีนเชื่อว่ากินงามีค่าเหมือนกินหยก แพทย์แผนจีนจึงใช้งาดำบำรุงตับให้แข็งแรง ซึ่งส่งผลให้สุขภาพดวงตาใสปิ๊ง นอกจากแคลเซียมและธาตุสังกะสีในงาสามารถเพิ่มมวลกระดูก แก้โรคกระดูกพรุนในคนวัยทองแล้ว แร่ธาตุทองแดงในงายังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยสร้างคอลลาเจนซ่อมเนื้อเยื่อของข้อต่อ กระดูกอ่อนและหลอดเลือดให้แข็งแรง มีผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ ข้าวยาคูจึงเป็นส่วนผสมของธัญพืช ๓ สหายที่ลงตัวด้วยสรรพคุณทรีอินวันและวัตถุดิบที่หาได้ง่ายใกล้มือ การปรุงคือนำธัญพืชสามสหายมาสิ่งละเท่าๆ กัน แช่น้ำให้พองตัว จากนั้นเติมน้ำ ๘ เท่าตัว ต้มเดือดจนธัญพืชเปื่อย เคี่ยวต่อไปจนเละเป็นโจ๊ก จึงปลงลงโดยไม่ต้องเติมน้ำตาล ในพระสูตรกล่าวถึงข้าวยาคูในลักษณะของเครื่องดื่มรสจืด รับประทานคู่กับขนมปรุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย สรรพคุณและอานิสงส์ : พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณประโยชน์และอานิสงส์ของข้าวยาคูไว้ ๑๐ ประการคือ (๑) ช่วยให้อายุยืน (๒) ผิวพรรณวรรณะผ่องใส (๓) มีความสุขสบาย (๔) มีกำลังวังชา (๕) สติปัญญาดี (๖) ระงับความหิว (๗) ดับกระหาย ที่สำคัญคือ (๘) ช่วยให้ลมในร่างกายเดินคล่อง (๙) ล้างลำไส้ และ (๑๐) ช่วยให้การย่อยอาหารสมบูรณ์ ด้วยสรรพคุณยาของข้าวยาคูนี้เอง พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุฉันข้าวยาคูและขนมปรุงด้วยน้ำหวาน หลังเพลได้เหมือนฉันยาโดยไม่อาบัติหรือความผิดใดๆ และยิ่งไปกว่านั้นยังตรัสสรรเสริญว่าข้าวยาคูกับขนมปรุงด้วยน้ำหวานเป็น “เภสัช” เพราะเหตุนั้นแล มนุษยชนที่ต้องการความสุขยั่งยืน ปรารถนาสุขที่เลิศ หรืออยากได้ความงามอันเพริศพริ้งในมนุษย์ จึงควรแท้เพื่อถวายข้าวยาคู พระพุทธพจน์ที่สรรเสริญคุณของการถวายข้าวยาคูแก่สงฆ์ดังกล่าว จึงเป็นต้นกำเนิดของประเพณีการถวายข้าวยาคูในวัฒนธรรมชาวพุทธเถรวาททั่วภาคพื้นอุษาคเนย์ ในประเทศไทยเอง เช่น พิธีกวนข้าวยาโค (สำเนียงใต้แผลงจากคำว่า ยาคู) ที่วัดชายคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศคือเทศกาลกวนข้าวหย่ากู๊ (ยาคู) ของชาวพุทธเชื้อสายไทยใหญ่ที่บ้านแพมบก อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งจัดอย่างยิ่งใหญ่หลังฤดูเก็บเกี่ยวราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี แต่การหุงข้าวยาคูตามตำนานพุทธพื้นเมืองนั้นมีการนำไปปะปนกับการกวนข้าวมธุปายาส กล่าวคือ ไม่ใช่มีเพียงธัญพืช ๓ อย่างเท่านั้น แต่ยังเติมรสหวานมันด้วยน้ำตาลอ้อย และเนื้อมะพร้าว ส่วนข้าวสารก็เปลี่ยนเป็นน้ำนมข้าวจากข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มสรรพคุณบำรุงกำลัง ที่สำคัญมีการเพิ่มส่วนประกอบของสมุนไพรรสร้อน เช่น กานพลู พริกไทย เป็นต้น เพื่อเพิ่มฤทธิ์ช่วยย่อย ขับลม ให้แรงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สารอาหารซาบซึมไปบำรุงร่างกายได้รวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดโทษ เช่น อาการท้องอึดท้องเฟ้อ เสียดแน่นท้อง เป็นต้น ว่ากันว่าเพาเวอร์เจลอาหารวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มพลังงานได้รวดเร็วก็จริง แต่ผู้บริโภคก็ยังรู้สึกหิว ในขณะที่ข้าวยาคู เพาเวอร์เจลยุคโบราณที่เป็นทั้งอาหารและยา ที่กินอิ่ม และฟื้นฟูเรี่ยวแรงในผู้ป่วยที่ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ลองต้มข้าวยาคูสูตรธัญพืชสามอย่างเป็นอาหารยาบำรุง รับรองเห็นผลแน่นอน มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๗๘ ประจำวันที่ ๑๓-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96169711525241__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) หมู เห็ด เป็ด ไก่ คิดถึงอาหารจีนหรือไม่ เมื่อกล่าวถึงหมู เห็ด เป็ด ไก่ ซึ่งชาวจีนมีธรรมเนียมอย่างหนึ่งในการเลี้ยงต้อนรับแขก ต้องมีอาหารที่ปรุงหรือประกอบด้วยหมู เห็ด เป็ด ไก่ ให้ครบทั้ง ๔ อย่างจึงจะเป็นเมนูชั้นยอด เข้าทำนองคำกล่าวด้วยว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ในงานเลี้ยงรับรอง แต่หมู เห็ด เป็ด ไก่ ในวันนี้ไม่ใช่อาหารอุดมด้วยโปรตีน แต่เป็นปริศนาคำทายของตำรับยาสมุนไพรไทย คล้ายกับปริศนาตำรับยาอายุวัฒนะของคนอีสานที่หลายท่านเคยได้ยินบ่อยๆ คือ บินกลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ในวันนี้ขอเสนอปริศนาคำทายของหมู เห็ด เป็ด ไก่ ดังนี้ หมู คือ หัวหญ้าแห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. หมอยาพื้นบ้านได้นำเอาหัวแห้วหมูมาใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายรูปแบบ เช่น หัวมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย ใช้ขับลม ส่วนสารสกัดจากรากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นยารักษาไข้เลือดออกเบื้องต้น ใช้ขับพิษไข้ให้อาเจียนออกจนหมด โดยตำให้ละเอียดผสมเหล้าขาว ๓๕ หรือ ๔๐ ดีกรี ๑ ขวด แช่ประมาณครึ่งชั่วโมง กรองเอาเฉพาะเหล้าดื่ม ๑ แก้ว หากไข้ยังสูงอยู่ดื่มได้อีก ๑ แก้ว แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจริงๆ จากไข้สูงควรไปพบแพทย์ หัวหญ้าแห้วหมู ยังใช้ในตำรับยาอายุรเวทของอินเดียหลายขนาน เช่น แก้ไข้ แก้ความผิดปกติในทางเดินอาหาร ชาวอาหรับในบริเวณเลอวานต์นำหัวไปอบให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่บวม ส่วนตำรายาจีนเรียกเซียวฟู่ (ภาษาจีนกลาง) หรือเฮียวหู้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) รากใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ แม้ว่าหัวจะมีรสขมแต่ก็มีคุณค่าทางอาหาร ในทวีปแอฟริกาใช้เป็นอาหารเวลาขาดแคลน และเป็นอาหารนกในเวลาอพยพ ในอดีตหญ้าแห้วหมูจัดว่าเป็นวัชพืชที่กำจัดได้ยาก แต่ในปัจจุบันพื้นที่ธรรมชาติถูกทำลายไปมาก อีกทั้งหัวแห้วหมูได้รับสารพิษจากยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก ดังนั้น คุณภาพของวัตถุดิบจึงเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่เป็นตัวยาที่สำคัญของวงการสมุนไพรเลย เห็ด คือ ใบชุมเห็ดเทศ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Senna alata (L.) Roxb. บางชุมชนเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าต้นขี้กลาก เนื่องจากนำมาใช้ในการรักษากลากเกลื้อนได้เป็นอย่างดี ตำรายาไทยใช้ใบเป็นยาถ่าย (ใช้ใบสดหรือแห้งจำนวน ๑๒ ใบ ต้มน้ำดื่ม) ใช้ภายนอกรักษากลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนังอื่นๆ ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด (ใบสด ๑ กำมือ หรือประมาณ ๒๐ กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม) ใบสด ใช้รักษากลากเกลื้อน (ใช้ใบสดขยี้ถูนานๆ และบ่อยครั้ง) ตำพอก เร่งหัวฝี ใบและดอก ทำยาต้มรับประทาน เป็นยาระบายแก้ท้องผูก (ใช้ดอกสด ๓ ช่อ ลวกรับประทาน) ขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ และแก้หืด เมล็ด มีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อย ใช้ขับพยาธิ แก้ตานซาง แก้ท้องขึ้น แก้นอนไม่หลับ ฝัก มีรสเอียนเบื่อ แก้พยาธิ เป็นยาระบาย ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ต้นและราก แก้กระษัยเส้น แก้ท้องผูก บำรุงหัวใจ เป็ด คือ รากของต้นตีนเป็ดหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ พญาสัตบรรณ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. ในตำรายาไทยใช้เปลือกต้น แก้ไข้มาลาเรีย ขับน้ำนม ช่วยขับพยาธิไส้เดือน ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย ช่วยขับระดูของสตรี ใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน รากเป็นยาขับลมในลำไส้ ใบใช้พอกเพื่อดับพิษต่างๆ ได้ เมล็ดเป็นพิษ ดอกช่วยแก้โลหิตพิการ ยางใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว เนื่องจากเป็นไม้โตเร็วในช่วงประมาณ ๒๐ ปี ที่ผ่านมาจึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับโดยเฉพาะตามบ้านจัดสรร ตามภูมิปัญญาอีสานจัดว่าเป็นไม้คลำหรือไม้ต้องห้ามชนิดหนึ่งที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน เนื่องจากบางท่านไม่ถูกกับกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่ออกมาจากดอก จะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือถ้าได้กลิ่นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ ชื่อว่าต้นตีนเป็ดเนื่องมาจากลักษณะของใบที่คล้ายกับตีนเป็ด แต่คำว่าพญาสัตบรรณ อาจเป็นชื่อที่ตั้งภายหลัง เพื่อเรียกให้เป็นมงคลนาม ไก่ คือ ต้นประคำไก่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Putranjiva roxburghii Wall. ชื่อวิทยาศาสตร์นี้ได้เปลี่ยนแปลงใหม่ ชื่อเดิมซึ่งกลายเป็นชื่อพ้องแต่เราจะเห็นได้บ่อยตาม website ต่าง ๆ คือ Drypetes roxburghii (Wall.) Hurusawa ต้นประคำไก่ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น มะองนก มักค้อ (ขอนแก่น) มะคำดีไก่ ประคำไก่ ลักษณะเด่นของต้นประคำไก่ คือ ใบเมื่อขยี้ดมมีกลิ่นหอม แบบหวานๆ มีความจำเพาะคล้ายๆ กับกากชานอ้อย ในทางสมุนไพรใช้ใบ ตำพอกฝี ปรุงยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกระษัย ราก เปลือกราก แก้กระษัย แก้เส้นเอ็น ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายฝีภายใน เช่น แก้วัณโรค ฝีหรือมะเร็งในตับ จำนวนประชากรของต้นประคำไก่ลดลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักไม้ยืนต้นชนิดนี้ ประคำไก่จึงเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าจะได้มีการส่งเสริมให้ปลูกและใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของไม้ชนิดนี้ หมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่กล่าวถึงนี้ คือตำรับยาแก้คนที่เป็นโรคกษัย คือ มีอาการผอมแห้ง ตัวเหลือง เท้าเย็น ร่างกายทรุดโทรม แพทย์แผนดั้งเดิมของไทยจะจัดยาสมุนไพรทั้ง ๔ ชนิดข้างต้นนำมาต้มให้กิน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือช่วยบำรุงร่างกายนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเรียกตำรับยานี้กันสั้นๆ ว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ นั่นเอง มติชนสุดสัปดาห์ น.๑๐๒ ฉบับที่ ประจำวันที่ ๒๗ ก.ค.- ๒ ส.ค.๖๑ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤศจิกายน 2561 15:52:32 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54299971295727__3626_3617_3609_3652_3614_3619.jpg)
ยาหอมนวโกฐ สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ยาหอมเป็นยาอายุวัฒนะคู่สุขภาพผู้สูงอายุไทยมาแต่โบราณกาล ใช้เป็นทั้งยานัตถุ์เข้าจมูก ชงน้ำอุ่นดื่ม หรือจะใช้ช้อนเล็กๆ ตักผงดิบๆ เข้าปาก ก็สดชื่นชุ่มใจไปอีกแบบ ยาหอมไทยเฉพาะยาตำรับหลวงเองก็มีไม่น้อยกว่า ๓๐ ตำรับ แต่ตำรับเด่นที่มีงานวิจัยค่อนข้างชัดเจนยืนยันว่ามีสรรพคุณบำรุงหัวใจ คือ ยาหอมนวโกฐ ซึ่งเป็นยาสูตรใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องยาถึง ๕๔ ชนิด เป็นพืชวัตถุ ๕๓ ชนิด (ตัดรากไคร้เครือออกไปแล้ว) และธาตุวัตถุอีก ๑ ตัวคือพิมเสน ในสูตรยาหอมนี้นอกจากมีโกฐครบทั้ง ๙ ตัว สมชื่อนวโกฐแล้ว ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เป็นกลุ่มยาหลัก สำหรับบำรุงหัวใจ คู่กับเทียนทั้ง ๙ ที่เสริมสรรพคุณบำรุงกำลัง ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ ยังมีกลุ่มสมุนไพรรสหอมเย็นชุ่มชื่นใจ เช่น กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก และ กลุ่มเกสรทั้ง 5 ได้แก่ เกสรบัวหลวง ดอกบุนนาค ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกมะลิ รวมทั้งกลุ่มสมุนไพรรสร้อนช่วยสร้างสมดุลธาตุทั้ง ๕ ได้แก่ ดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง เป็นต้น มีงานวิจัยสารสกัดยาหอมนวโกฐทั้งตำรับ พบว่ามีฤทธิ์เพิ่มความความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic pressure) ช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยยิ่งขึ้น และในรายที่เป็นลมหน้ามืด วิงเวียนเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ สารสำคัญในตำรับยาหอมจะค่อยๆ เพิ่มความดันโลหิตตามขนาดยาที่เพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวโดยไม่มีอันตรายเนื่องจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น ที่สำคัญยังพบว่าสารสกัดยาหอมตำรับนี้มีฤทธิ์เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง ช่วยให้ความจำดี ห่างไกลอัลไซเมอร์ ทั้งยังเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย ป้องกันอาการเหน็บชา อาการสั่น อัมพฤกษ์ อัมพาตตามปลายมือปลายเท้า และยังออกฤทธิ์เพิ่มการแบ่งตัวของเม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคในผู้สูงอายุ ไม่ให้เจ็บป่วยง่าย ยาหอมนวโกฐเป็นยาสามัญคู่บ้านคู่เรือนไทยมาช้านาน ทั้งยังได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติมาเป็นเวลา ๑๒ ปีมาแล้ว กระทรวงสาธารณสุขน่าจะผลักดันให้โรงพยาบาลของรัฐนำร่องใช้ยาหอมตำรับนี้กับกลุ่มผู้สูงอายุอย่างแพร่หลายโดยสามารถเบิกจ่ายได้ด้วย และเมื่อนั้นยาหอมก็จะมีส่วนช่วยให้สังคมผู้สูงอายุของไทยมีหัวใจและสมองแข็งแรง สามารถพึ่งตัวเองในวัยหลังเกษียณได้อีกหลายปี โดยไม่กลายเป็นผู้ป่วยชรานอนติดเตียงเป็นภาระแก่ลูกหลาน ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39492049978838__3626_3617_3640_3609_3_1_.jpg) มะแว้ง ผักยาหน้าฝน ฝนปีนี้หนักมากกว่าทุกปี แม้ใกล้ปลายฤดูฝนแล้ว ทั้งลมพายุและสายฝนก็ยังซัดกระหน่ำแทบทุกวัน ทำให้เกิดวาตภัย และอุทกภัยไปทั่วแผ่นดิน เขื่อนแทบทุกเขื่อนปริ่มน้ำจนต้องระบายน้ำออกกันจ้าละหวั่น เรียกว่าโลกธาตุปั่นป่วนเพราะธาตุลม ธาตุน้ำกำเริบ ส่งผลให้ธาตุดินถล่มทลายในหลายพื้นที่ โลกธาตุอันกว้างใหญ่ไพศาลยังอาการหนักถึงเพียงนี้ แล้วกายธาตุขนาดยาววาหนาคืบของมนุษย์ตัวกระจ้อยอย่างเราๆ ย่อมไม่พ้นโดนหางเลขจากสภาพฝนฟ้าอากาศแปรปรวนไปด้วย ทั้งภัยพิบัติต่อชีวิตทรัพย์สิน บรรดาสัตว์สารพัดพิษต่างๆ และโรคภัยไข้เจ็บที่มากับความเย็นชื้นของหน้าฝน ได้แก่ โรคภูมิแพ้ ไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ น่ารำคาญ ไปจนถึงอาการหอบหืด ปอดบวม ฯลฯ หน้าฝนอย่างนี้ทำให้คิดถึง คำร้องสมัยเด็กๆ อันเจื้อยแจ้วว่า “ฝนตกจักๆ มือซ้ายถือปลามือขวาถือผัก มาถึงที่พักวางผักวางปลา” ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยใหญ่อุดมในเขตร้อนชื้นซึ่งมีผักและปลาเป็นกับข้าวหลัก ในสมัยที่ยังไม่มีผักจีนแพร่หลายคนไทยก็หาเก็บผักพื้นบ้านที่มีขึ้นตามธรรมชาติอยู่ดาษดื่น เอามาจิ้มน้ำพริกกินอย่างปลอดภัยไร้สารพิษทั้งปวง มื้ออาหารหลักของชาวบ้านที่ง่ายที่สุดคือ น้ำพริกหนึ่งถ้วย เคียงด้วยผักสดๆ นานาชนิดที่เก็บมาจากริมรั้วหรือตามละแวกบ้าน และปลาย่างสัก ๑-๒ ตัว นับเป็นอาหารสุขภาพในวิถีชีวิตภูมิปัญญาไทยอันเก่าแก่ อาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพของคนไทยก็อยู่ที่จานผักพื้นบ้านนี่แหละที่เป็นทั้งอาหารสุขภาพและยารักษาโรคตามตามฤดูกาล ในหน้าฝนที่ผู้คนยุคใหม่เป็นหวัด ไอ เจ็บคอกันงอมแงม แต่คนไทยในวิถีพื้นบ้านกลับแข็งแรงสบายดี ในที่นี้ขอแนะนำผักยาพื้นบ้านตัวหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในเมนูน้ำพริกผักไทย คือมะแว้ง นั่นเอง มะแว้งมี ๒ ชนิด คือมะแว้งต้นกับมะแว้งเครือ ที่หมอแผนไทยใช้เป็นจุลพิกัดปรุงยา มะแว้งทั้ง ๒ มีชื่อพฤกษศาสตร์เดียวกันว่า Solanum trilobatum Linn. และมีสรรพคุณเหมือนกันคือ ผลและรากมะแว้ง แก้ไอ แก้หืดหอบ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว เป็นยาขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่ว รักษาเบาหวานได้ดี ทั้งยังช่วยบำรุงโลหิตให้ผิวพรรณมีเลือดฝาด เปล่งปลั่ง ปัจจุบันพบว่าผลและรากมะแว้งมีอัลคาลอยด์ชื่อ โซลานีน (Solanine) และโซลานิดีน (Solanidine) ที่ช่วยให้มีสรรพคุณดังกล่าวและยังมีสารขมชื่อโทมาติด (Tomatid) ช่วยเจริญอาหาร หมอแผนไทยใช้มะแว้งเข้ายาตำรับหลวงมาช้านานได้แก่ยาประสะมะแว้ง ซึ่งใช้ผลมะแว้งเป็นตัวยาหลัก ซึ่งพัฒนามาเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณให้ผู้คนสามารถใช้ได้แพร่หลายหาซื้อได้ทั่วไปอย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องอาศัยเภสัชกรจ่ายยาในร้านขายยาด้วยซ้ำ ทางองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตออกมาเป็นยาเม็ดอม สำหรับแก้ไอ ขับเสมหะโดยเฉพาะ แต่คนไทยรู้จักใช้มะแว้งเป็นอาหารและยากลางบ้านมาแต่โบราณกาล โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองของมูลนิธิสุขภาพไทย เคยรวบรวมความรู้เรื่องการใช้ มะแว้งของชาวบ้าน พบว่า เมื่อเกิดอาการไอ เสลดเหนียวพันคอ ที่เรียกว่าเสลดหางวัว ชาวบ้านจะใช้ผลมะแว้ง ๒-๓ ช่อ (ราว ๑๒-๑๖ ผล) จิ้มน้ำพริกเป็นกับข้าวเพียง ๑-๓ มื้อ อาการไอ เสมหะเหนียวจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง บางคนมีสูตรเด็ดง่ายๆ ให้กินรสชาติดียิ่งขึ้นก็เอาผลประมาณ ๑๐-๑๕ ผล บรรจงเสียบไม้เล็กๆ ย่างไฟพอดิบๆ สุกๆ เสียก่อนนำมาใช้เป็นเมนูอาหารยารสเด็ด ต่อไปนี้ขอสาธยายการใช้ผลมะแว้งเป็นยาตามภูมิปัญญาชาวบ้านสัก ๔ สูตร ๑)ใช้ผลมะแว้งดิบแก่ที่ยังมีสีเขียวออกลายอยู่ ยิ่งลูกสดเท่าไรยิ่งดี เอามาล้างให้สะอาดแล้วอมทีละลูก ขบพอให้ลูกแตกค่อยซับกลืนน้ำที่ออกจากผลมะแว้งทีละนิด เมื่อหมดน้ำยาแล้วจึงคายกากทิ้งแล้วอมลูกใหม่ อมทีละลูกติดต่อกันคราวละ ๕-๑๐ ลูก วันละ ๓-๔ ครั้งหรือทุกครั้งที่ไอ รับรองแก้ไอเจ็บคอชะงัด ผลมะแว้งรสขมในตอนแรก แต่สักพักจะให้รสหวานชุ่มคอ ไม่ลองไม่รู้ ๒) นำผลมะแว้ง ๕-๑๐ ลูก ตำละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย บีบมะนาวใส่ลงไปพอออกรสเปรี้ยวๆ เค็มๆ ตามชอบ บางคนใส่พริกขี้หนูตำลงไปด้วยพอให้รสเผ็ดนิดหนึ่ง เติมน้ำลงไปกะพอประมาณ คนให้เข้ากันแล้วนำไปคั้นกรองเอาน้ำ จะได้ยาน้ำแก้ไอสูตรเข้มข้น ใช้จิบทีละนิดเวลาไอได้ผลแน่นอน ๓) บางรายใช้สูตรผลมะแว้งแห้งบดละเอียด ผสมน้ำผึ้งแท้มีรสชาติดีกว่ามะแว้งสด ได้ผลดีเช่นกัน ๔) สูตรยามะแว้งสำหรับเด็กเล็ก นำผลมะแว้งเผาไฟพอเกรียม บดละเอียดกับเกลือเล็กน้อย เจือมะนาว น้ำผึ้ง ใช้กวาดคอเด็กที่ไอเรื้อรังเป็นเดือน ไม่หายด้วยยาอื่น แต่มาหายด้วยยากวาดคอเด็กสูตรนี้ ยังมียามะแว้งสูตรเด็ดแบบทำเองใช้เองอีกหลายสูตร แต่สูตรที่กล่าวมารับรองได้ผลแน่ มะแว้งเป็นพืชพันธุ์บ้านที่ปลูกง่ายทนทานลองหาลูกสุกมาปลูกดู เป็นมะแว้งเครือยิ่งดี มีสรรพคุณสูงกว่ามะแว้งต้น แถมมีหนามใช้ปลูกเป็นรั้วบ้าน ให้ดอกสวย ลูกสุกสีแดงก่ำใช้เป็นไม้ประดับได้ และยังเป็นยาแก้ไอขับเสมหะดีกว่ายาสำเร็จรูปเสียอีก ถ้ายังปลูกไม่ได้ ก็หาช่อลูกมะแว้งได้ตามตลาดผักสด เพราะยังมีคนนิยมกินมะแว้งจิ้มน้ำพริกหรือแนมกับปลาร้ากันอยู่มาก อยากรู้ว่ารสเด็ดแค่ไหนก็ลองกินดู แล้วจะติดใจแก้ไอในหน้าฝนอีกต่างหากนะจะบอกให้ ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84486342221498__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93272928355468__3611_3619_3632_3650_3618_3594.jpg) ยาอายุวัฒนะแห่งที่ราบสูง เคยเล่าไว้ในที่นี้ถึงปริศนาตำรับยาดั้งเดิมว่า “หมูเห็ดเป็ดไก่” (ค้นอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ที่ตีพิมพ์แล้ว) และได้กล่าวถึงว่ามีตำรับยาอายุวัฒนะที่พูดถึงบ่อยๆ ในวงหมอพื้นบ้านอีสาน คือ ตำรับที่เป็นปริศนาคำทายที่ว่า “กลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ” หลายคนคงเคยได้ยินและเคยรู้มาบ้าง แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากไม่รู้จัก ภูมิปัญญาไทยซ่อนปริศนาไว้ได้สนุก เขียนเป็นคำพ้องจองได้ไพเราะด้วย คำทายนี้คือ กลางอากาศ หรือบางตำรากล่าวเรียกว่า บินกลางอากาศ อันนี้ใช้จินตนาการสักนิดย่อมคิดถึง “ผึ้ง” ซึ่งส่วนที่นำมาปรุงยาไทย แต่โบราณมาเราใช้น้ำผึ้งแท้ที่เป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ซึ่งตามธรรมชาติรวงผึ้งจะห้อยลงอยู่กลางอากาศ จึงเรียกว่า กลางอากาศ แล้วทีนี้คงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ใช้น้ำผึ้งเดือนอื่นๆ ได้หรือไม่ ในความเป็นจริงจะใช้น้ำผึ้งเดือนไหนก็เป็นน้ำผึ้งเหมือนกัน แต่การสะสมน้ำผึ้งจำเป็นต้องใช้น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ทำให้มีเกสรดอกไม้ติดเข้ามาปนอยู่ในน้ำผึ้งด้วย ในช่วงเดือน ๕ เป็นเดือนที่ดอกไม้มากมายออกดอก ดังนั้น น้ำผึ้งเดือน ๕ จึงเป็นน้ำผึ้งที่ประกอบด้วยเกสรดอกไม้นานาชนิด ซึ่งเท่ากับมีพืชพรรณดอกไม้หรือสมุนไพรมากมายช่วยในการบำรุงร่างกาย ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน * เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในการปรุงยา และน้ำผึ้งที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius) เป็นผึ้งที่มีการสร้างรังขนาดใหญ่ อยู่ตามผาหินในป่าหรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นเซียงหรือต้นผึ้ง (Koompassia excelsa (Becc.) Taub.) ผึ้งหลวงมักสร้างรังอยู่ในที่มองเห็นง่าย คนจึงเก็บหามาได้ง่ายด้วย ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius) ชอบสร้างรังอยู่ในโพรงหรือตามหลืบต่างๆ มองเห็นได้ยาก เก็บหาก็ยากด้วย แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสร้างรังเทียม เพื่อเลี้ยงผึ้งเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น ส่วนผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius) เป็นผึ้งที่มีรังขนาดเล็ก สร้างรังตามป่าละเมาะ เก็บหาได้ง่าย แต่มีปริมาณน้ำผึ้งน้อย ในปัจจุบันมีผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มมีการเพาะเลี้ยงเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ คือ ชันโรง เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ชนิด ชนิดที่คนอีสานคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigona apicalis Smith ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แมงขี้สูด” เพราะมีการเอาขี้ผึ้งมาใช้เป็นวัสดุเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โหวต แคนฯ กลางอากาศ หรือบางตำรากล่าวเรียกว่า บินกลางอากาศ อันนี้ใช้จินตนาการสักนิดย่อมคิดถึง “ผึ้ง” ซึ่งส่วนที่นำมาปรุงยาไทย แต่โบราณมาเราใช้น้ำผึ้งแท้ที่เป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ซึ่งตามธรรมชาติรวงผึ้งจะห้อยลงอยู่กลางอากาศ จึงเรียกว่า กลางอากาศ แล้วทีนี้คงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ใช้น้ำผึ้งเดือนอื่นๆ ได้หรือไม่ ในความเป็นจริงจะใช้น้ำผึ้งเดือนไหนก็เป็นน้ำผึ้งเหมือนกัน แต่การสะสมน้ำผึ้งจำเป็นต้องใช้น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ทำให้มีเกสรดอกไม้ติดเข้ามาปนอยู่ในน้ำผึ้งด้วย ในช่วงเดือน ๕ เป็นเดือนที่ดอกไม้มากมายออกดอก ดังนั้น น้ำผึ้งเดือน ๕ จึงเป็นน้ำผึ้งที่ประกอบด้วยเกสรดอกไม้นานาชนิด ซึ่งเท่ากับมีพืชพรรณดอกไม้หรือสมุนไพรมากมายช่วยในการบำรุงร่างกาย ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน ๕ เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในการปรุงยา และน้ำผึ้งที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius) เป็นผึ้งที่มีการสร้างรังขนาดใหญ่ อยู่ตามผาหินในป่าหรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นเซียงหรือต้นผึ้ง (Koompassia excelsa (Becc.) Taub. ) ผึ้งหลวงมักสร้างรังอยู่ในที่มองเห็นง่าย คนจึงเก็บหามาได้ง่ายด้วย ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius) ชอบสร้างรังอยู่ในโพรงหรือตามหลืบต่างๆ มองเห็นได้ยาก เก็บหาก็ยากด้วย แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสร้างรังเทียม เพื่อเลี้ยงผึ้งเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น ส่วนผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius) เป็นผึ้งที่มีรังขนาดเล็ก สร้างรังตามป่าละเมาะ เก็บหาได้ง่าย แต่มีปริมาณน้ำผึ้งน้อย ในปัจจุบันมีผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มมีการเพาะเลี้ยงเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ คือ ชันโรง เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง ๓๒ ชนิด ชนิดที่คนอีสานคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigona apicalis Smith ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แมงขี้สูด” เพราะมีการเอาขี้ผึ้งมาใช้เป็นวัสดุเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โหวต แคนฯ ไปนิพพานบ่กลับ หมายถึง ขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe เหง้าขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง หรือเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเลือดในท้องอุดตัน คำว่าขมิ้นขึ้นนั้นจะมีลักษณะพิเศษจะมีแง่งหรือหัวขึ้นมาเรียงรายอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เหมือนกับว่าไม่กลับลงไปอยู่ดินอีก คนอีสานจึงเรียกไปนิพพานบ่กลับ การปรุงยา ให้เอาตัวยาทั้ง ๕ ชนิด เถาบอระเพ็ด เครือง้วนหมู หัวแห้วหมู และขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อยมาล้างให้สะอาด หั่นแล้วผึ่งแดดให้แห้ง บดให้ละเอียดผสมกันแล้วใช้น้ำผึ้งเดือน ๕ ผสมให้เหนียว ปั้นเป็นลูกกลอน ผึ่งแดดหรืออบให้พอแห้ง เก็บไว้รับประทานก่อนนอน จะทำให้อายุยืนนาน ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84708405948347__3626_3_1_.jpg) สามร้อยยอด สุดยอดที่คุณไม่เคยรู้? เอ่ยชื่อ สามร้อยยอด คนทั่วไปต้องนึกถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เพิ่งมีใครคนหนึ่งไปทำกิจกรรมล้อเลียนไม่งามนัก จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวถึงพื้นที่เขาสามร้อยยอดนั้นเป็นภูมินิเวศที่มีความหลากหลายทั้งป่า เขา และมีบึงขนาดใหญ่ที่จัดว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของชาติเลยทีเดียว คำว่าเขาสามร้อยยอด หากไปดูข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ ก็พบว่าชื่อน่าจะมาจากภูมิประเทศมีภูเขาจำนวนมากถึง ๓๐๐ ยอด และตำนานเล่าว่า แถบนี้เคยเป็นทะเลมีหมู่เกาะน้อยใหญ่ เคยมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมาประสบลมพายุรุนแรงจนเรือชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายจำนวนมาก ที่เหลือรอดตายขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ ๓๐๐ คน จึงตั้งชื่อว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาน้ำทะเลลดลงเกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เขาสามร้อยยอด” นั่นเอง แต่ที่ผู้คนมักไม่ค่อยได้กล่าวถึงคือ ชื่ออุทยานแห่งนี้ก็มาจากชื่อพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ขึ้นบริเวณนี้มากด้วย คือ ต้นสามร้อยยอด ซึ่งจัดเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มสน เดิมนักวิทยาศาสตร์เคยจัดให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm. แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น Lycopodiella cernua (L.) Pic. Serm. มีชื่อท้องถิ่นว่า กูดขน (ภาคเหนือ) สามร้อยยอด (นครศรีธรรมราช) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Staghorn clubmoss สามร้อยยอดเป็นพืชไร้ดอกขนาดเล็ก ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นทอดเลื้อยสีเขียวอ่อนอมเหลือง ขนาดผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ ม.ม. แตกสาขาแบบหนึ่งแตกสอง ใบมีขนาดเล็กแคบ กว้าง ๑ ม.ม. ยาว ๔-๖ ม.ม. เรียงเวียนรอบต้นค่อนข้างแน่น ขอบใบเรียบ เส้นใบไม่เด่นชัด เนื้อใบคล้ายแผ่นหนัง ไม่มีก้านใบ อวัยวะสืบพันธุ์เป็นโคนรูปทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ ม.ม. ยาว ๓-๕ ซ.ม. มีก้านชูขึ้นจากลำต้น ยาว ๗-๑๕ ซ.ม. สปอร์โรฟิลด์รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม เรียงซ้อนกันแน่น ขยายพันธุ์โดยใช้สปอร์ ในประเทศไทยพบต้นสามร้อยยอดบริเวณพื้นที่เปิดและชื้น บนเขาสูง จึงพบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ และยังพบการกระจายพันธุ์ทั่วโลกด้วย ถือเป็นไม้เบิกนำในพื้นที่ลาดชันและที่โล่งชื้นตามเขาสูง การใช้ประโยชน์ ในต่างประเทศนิยมใช้มากกว่าบ้านเรา โดยใช้ทั้งต้นเป็นส่วนผสมในการผลิตดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ยังนำมาจัดช่อดอกไม้ซึ่งมักจะกำรวมกับดอกไม้สด นับเป็นพืชที่ต้องการในตลาดยุโรปเลยทีเดียว ยัง สามารถทำเป็นต้นแห้งและย้อมสีได้ตามที่ต้องการเพื่อนำไปจัดรวมกับดอกไม้แห้ง ในการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมีการนำมาเป็นยาหลายอย่าง เช่น ในจีนใช้รักษาโรคเก๊าต์ หรือใช้ทั้งต้นนำมาต้มน้ำอาบรักษาอาการมือเท้าชา หรือใช้ต้มน้ำร่วมกับใบช่านโฟว (ว่านน้ำเล็ก) และสมุนไพรอีกหลายชนิดเพื่อให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟนำไปอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย มีการนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านหลายรูปแบบ นำมาใช้แก้ไอ แก้หืดหอบ เป็นต้น จากการวิจัยพบว่าต้นสามร้อยยอดมีแลคาลอยด์ เช่น cernuine และ lycocernuine เป็นองค์ประกอบ ในส่วนประกอบที่เป็นกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น flavonoids apigenin and apigenin-7-glucoside และส่วนที่เป็นไตรเตอพีนส์ เช่น triterpene serratenediol และพบว่ามีอะลูมิเนียมเป็นองค์ประกอบสูงมาก (๑๒.๕% ของเถ้า) จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากต้นสามร้อยยอด เมื่อนำไปผสมกับยาจีนแผนโบราณจะช่วยในการรักษาโรคปอดที่เกิดจากฝุ่น (silicosis) นอกจากรักษาแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ด้วย ทั้งต้นเมื่อนำมาต้มดื่มจะช่วยในการขับปัสสาวะและเป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยรักษาแผลในกระเพาะ ไขข้ออักเสบ ตับอักเสบและอาการท้องร่วง นอกจากนี้ยังช่วยรักษาโรคปวดประสาทตามใบหน้า (neuralgia) และช่วยลดความดันโลหิต สำหรับการใช้เป็นยาภายนอก ทั้งต้นนำมาตำพอกแผล ทั้งต้นนำมาต้มใช้เป็นยาทาแก้เหน็บชา ใช้เป็นยาทาแก้เคล็ด บวม ผิวหนังถลอก ช้ำ ฝีหนอง แผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ในกรณีที่จะใช้ทาแก้อาการเคล็ดบวม ให้เอาทั้งต้นมาเผา แล้วเอาเถ้าที่ได้มาผสมกับน้ำส้มสายชู ทาบริเวณที่ต้องการ นอกจากนี้ ในแอฟริกา เช่น ประเทศรวันดา ก็ใช้ต้นสามร้อยยอดทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็นแผล ในคองโกใช้กำจัดเห็บ ในมาดากัสกาใช้ทั้งต้นต้มรวมกับ Tristemma mauritianum J.F. Gmel. (ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มต้นโคลงเคลง แต่พืชชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย) เพื่อควบคุมความดันโลหิตและฟื้นฟูระบบประสาท นอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นทำเป็นชาชงแก้โรคกระเพาะ ในอเมริกาใต้ก็มีการนำต้นสามร้อยยอดมาใช้เป็นยาพื้นบ้านเช่นกัน โดยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาเก๊าต์ พอกบริเวณที่บวมอักเสบเนื่องมาจากโรคไขข้ออักเสบ รักษาโรคผิวหนัง รักษาโกโนเรีย รักษาอาการตกขาวและท้องร่วง ในประเทศไมโครนีเซีย (Micronesia : เป็นเกาะเล็กอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้กับปาปัวนิวกินี) ใช้เป็นยากำจัดแมลงสาบ และใช้แทนนุ่นในการยัดใส่สิ่งของต่างๆ ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับในอินโดนีเซียและโคลอมเบีย ส่วนที่สาธารณรัฐกาบอง (Gabon) ประเทศในทวีปแอฟริกา นำต้นสามร้อยยอดใช้เป็นวัสดุกรองไวน์ สามร้อยยอดยังใช้เป็นไม้ประดับทั้งภายในและภายนอกอาคารอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังใช้ทำพวงหรีด เป็นไม้ตกแต่งในตะกร้าหรือแจกัน หรือตกแต่งบ้านเรือน และที่ไม่ค่อยมีใครรู้ก็ตรงที่ในโรงละครวิกตอเรีย (Victorian theater) จะใช้ผงแห้งของต้นสามร้อยยอดประกอบการแสดง เนื่องจากผงแห้งประกอบด้วยสปอร์มากมายที่ก่อให้เกิดเปลวไฟได้ (flame-effects) สปอร์ของต้นสามร้อยยอดจะเผาไหม้อย่างรวดเร็วซึ่งให้แสงสว่างในการแสดงละคร แต่มีความร้อนน้อย และการใช้เอฟเฟ็กต์แบบนี้เป็นที่ยอมรับและมีการรับรองความปลอดภัย ต้นสามร้อยยอดเป็นไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ในบ้านเรากลับรู้จักกันน้อยมาก มาช่วยกันศึกษาและส่งเสริมสนับสนุนการนำมาใช้ประโยชน์ดีไหม? ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15952844586637__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) สมุนไพร ๓ ชนิด เก็บไว้ใช้ในช่วงลมเปลี่ยนฤดู ฤดูกาลที่กำลังเปลี่ยนนี้อยากเชิญชวนให้จัดหาสมุนไพร ๓ ชนิดไว้ประจำตู้เย็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ให้ใกล้มือหยิบมาใช้ได้ทันใจ คุณคิดว่าคือสมุนไพรชนิดใดดี? ในมุมมองของมูลนิธิสุขภาพไทย แนะนำง่ายๆ คือ ตะไคร้ ขิง และ พริกไทยดำ ทั้ง ๓ ชนิดเดินไปตลาดที่ไหนในเมืองไทยก็หาได้แน่นอน แม้ว่าจะดูเหมือนสมุนไพรพื้นๆ ไม่ใช่พืชในป่าลึกหรือสมุนไพรแปลกๆ แต่ขอบอกตามคำเปรียบเปรยว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ตะไคร้ ที่เป็นพืชสวนครัวและเป็นพืชปรุงอาหารรสเด็ดนี้ มีบันทึกการใช้ประโยชน์ไว้มากมายหลายอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับอากาศเปลี่ยนที่น่าจดจำไว้คือ เวลาเป็นไข้หวัด ตัวร้อน ปากแห้ง เพลีย ให้กินน้ำต้มตะไคร้จะช่วยให้รู้สึกโล่งคอไปถึงท้อง รู้สึกสบาย ไข้ลด ตะไคร้ยังช่วยถ่ายเทความร้อน ขับเหงื่อออก และช่วยขับปัสสาวะได้อย่างดีด้วย หลายคนอาจไม่รู้ว่าวิธีใช้ตะไคร้แบบโบราณที่เวิร์ก ยังใช้การแช่น้ำกินได้ คือ เวลาเป็นไข้หวัด ไข้เปลี่ยนฤดู เช่น จากฤดูฝนเข้าฤดูหนาว จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นต้น หากรู้สึกหน้าแดงๆ หน้าร้อนๆ รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ เวลาหายใจเอามืออังแล้วรู้สึกลมหายใจร้อนกว่าปกติ จามบ่อยๆ ให้เอาตะไคร้ ๒ ต้น ไปเผาไฟพอสุก แล้วเอามาตัดหัวตัดท้าย แล้วทุบให้พอแตก นำไปแช่ในน้ำร้อนสัก ๑๐ นาที แล้วนำมากินครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๔-๕ ครั้ง แก้อาการไข้เปลี่ยนฤดูได้ดีด้วย ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่อินเดียนิยมใช้ยาชงจากใบหรือหัวตะไคร้กันมาก โดยนำมากินขณะอุ่นๆ ใช้ขับเหงื่อในคนที่มีไข้ได้ผลดีมาก โดยเฉพาะไข้ที่อ่อนเพลียยิ่งควรใช้ยาชงตะไคร้เลย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีการใช้รากตะไคร้ นำมาต้มกินแบบยาชงรากตะไคร้ ช่วยขับเหงื่อลดไข้ดีเป็นพิเศษ ถ้านำตะไคร้มาผสมสมุนไพรที่แนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นชนิดที่สองคือ ขิง จะยิ่งช่วยเพิ่มสรรพคุณ หรือแต่งรสยาให้กลมกล่อมเสริมการออกฤทธิ์ ดังความรู้ดูแลสุขภาพในครัวเรือนแนะนำสืบต่อมาว่า ถ้าจะแก้หนาว เวลาอากาศหนาว จะต้มน้ำตะไคร้ใส่ขิง กินตอนเช้า กินแล้วรู้สึกตัวอุ่นๆ และทำให้เหงื่อออกเล็กน้อย ใช้ตะไคร้ ๑ ต้น ขิงแก่หรือขิงอ่อนก็ได้ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ ๑ ขวด แต่งน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแทนน้ำชา กาแฟ ช่วยระบายลมได้ด้วย สูตรน้ำสมุนไพรนี้ แม้ว่าอากาศยังไม่หนาวนัก แค่ช่วงเปลี่ยนฤดูปรุงยามาดื่มทั้งที่บ้านหรือที่ทำงานก็ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ได้ดี ถ้าไปโดนหรือตากฝนแล้วเป็นไข้ ตัวร้อนเล็กน้อย มึนหัว คัดจมูก ก็ใช้ได้ และมีอีกวิธีให้ลองใช้คือ เอาตะไคร้ ๑ ต้น หั่นเป็นแว่นๆ ขิงสด หั่น ๕-๖ แว่น ใส่น้ำ ๓-๔ แก้ว ต้มจนเดือด แล้วทิ้งไว้ให้อุ่นๆ กินครั้งละ ½ -๑ แก้ว วันละ ๓ เวลา หลังอาหาร กินแล้วไข้ลด จมูกโล่ง หายใจคล่องขึ้น คราวนี้มาถึงสูตรที่ใช้สมุนไพร ๓ ชนิด คือ ตะไคร้ ขิง พริกไทยดำ ตำรับนี้กินแก้ไข้หวัดทั่วๆ ไปได้เลย และยังแก้อาการเจ็บคอได้ดีเช่นกัน ปรุงยาง่ายๆ ใช้หัวตะไคร้สัก ๑ หัวนำมาซอยหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขิงสดหั่นเป็นแว่นสัก ๓-๔ ชิ้น พริกไทยดำสัก ๒-๓ เม็ด นำไปต้มกับน้ำสัก ๒ แก้ว ต้มให้เดือด นำมากินครั้งละ ครึ่งแก้ว กิน ๓ มื้อ รสยาเผ็ดร้อนช่วยขับเหงื่อ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ลดไข้หวัด แก้เจ็บคอได้ด้วย นอกจากยาชงสมุนไพรรับมืออากาศเปลี่ยนแล้ว วิถีชีวิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อยากแนะนำเพิ่มเติม ปัจจุบันนำมาทำเป็นธุรกิจของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นทั้งป้องกันและรักษาโรคในเวลาเดียวกัน นั่นคือการอบสมุนไพร ซึ่งช่วยการไหลเวียนเลือด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น สดชื่น และที่โดดเด่นมากคือ ช่วยให้ทางเดินหายใจโปร่งสบาย ปอดขยายตัวดี การอบสมุนไพรจึงช่วยป้องกันและลดการเป็นไข้หวัด ลดน้ำมูกด้วย และการอบสมุนไพรคือยาบรรเทาอาการหอบหืดภูมิแพ้ที่มักจะกำเริบในช่วงอากาศเปลี่ยนและช่วงอากาศหนาวๆ การอบสมุนไพรจึงเหมาะกับ “ปลายฝนต้นหนาว” อย่างมาก ข้อควรระวังที่ต้องกล่าวไว้คือ ท่านใดที่มีไข้สูง ความดันโลหิตสูง ห้ามอบสมุนไพรเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไข้ยิ่งสูงความดันสูงขึ้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สูตรยาอบสมุนไพร ตำรับที่ทำง่ายที่สุด ใช้สมุนไพร ๓ ชนิด หาซื้อได้ทั่วไปคือ เหง้าไพล ใบมะขาม และตะไคร้ วิธีทำง่ายมาก นำสมุนไพรทั้งหมดมาล้างน้ำ หั่นไพลเป็นแว่นๆ ใบมะขามจะตัดกิ่งมาหั่นเป็นท่อนๆ หรือจะลิดแต่ใบก็ได้ ตะไคร้ให้หั่นเป็นท่อนๆ และทุบให้พอแตก สมุนไพรทั้ง ๓ ชนิดใช้จำนวนเท่าๆ กัน นำไปต้ม แล้วจัดทำกระโจมสำหรับอบ หรือจะทำแบบที่กำลังฮิตฮอต ทำเป็นสุ่มไก่ไว้ใช้อบสมุนไพร หรือสปาแบบบ้านๆ ก็ได้ เพียงแค่สมุนไพร ๓ ชนิดนี้ก็พอเพียงแล้วในระดับครัวเรือน แต่ถ้าต้องการเสริมฤทธิ์สมุนไพรและแต่งกลิ่นให้หอมสดชื่น แนะนำให้เพิ่มใบมะกรูดหรือผิวมะกรูด ถ้าอยากได้บำรุงผิวพรรณให้เพิ่มเหง้าข่าแก่และขมิ้นชันฝานแล้วทุบให้แตก และใส่การบูรบดละเอียดลงไปเล็กน้อยด้วย และถ้าให้เหมาะกับอาการและโรคที่มากับช่วงเปลี่ยนฤดู ก็แนะนำให้เพิ่มหอมแดงสมุนไพรกลิ่นแรง เพราะเหมาะกับการแก้อาการน้ำมูกไหล หรือช่วยให้การหายใจโล่ง หอมแดงก่อนใส่ลงไปควรทุบให้พอแตกๆ จะได้ออกฤทธิ์ดี บางครั้งเราเที่ยวเสาะหาสมุนไพรชื่อแปลกๆ สมุนไพรหายาก โดยลืมสมุนไพรใกล้ตัวที่มีสรรพคุณดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ณ ปลายฝนต้นหนาวนี้ ท่านจะไปเที่ยวไกลแค่ไหน ก็อย่าลืมสมุนไพรใกล้ตัวสรรพคุณดีๆ เหล่านี้นะ ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 พฤศจิกายน 2561 16:13:04 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82514689490199__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) คำเตี้ย สรรพคุณไม่ต่ำต้อย คําเตี้ย เป็นสมุนไพรที่อาจไม่คุ้นกันในหมู่คนทั่วไป แต่ถ้าไปสอบถามหมอพื้นบ้านหรือปราชญ์ชุมชนจะพบว่ามีการนำมาใช้มากมาย โดยเฉพาะในตำรายาพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยาบำรุงกำลังที่ดีขนานหนึ่ง วิธีใช้ก็ง่ายๆ ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม กินเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ร่างกายทรุดโทรม วิธีโบราณอีกขนานหนึ่งก็คือนำรากมาต้มน้ำก็ได้ หรือนำรากมาดองกับเหล้ากิน ซึ่งรินน้ำยาดองมาผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อทำให้กินได้ง่ายขึ้น เทคนิคการปรุงยาเขาจะใช้รากแห้งไปดองสุราไม่ใช้รากสด ขอแนะนำ คำเตี้ย ให้รู้จัก กล่าวคือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polygala chinensis L. จัดอยู่ในวงศ์ต่างไก่ป่า (POLYGALACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มักกำ (เชียงใหม่) ม้าอีก่ำ ม้าอีก่ำแดง (อุบลราชธานี) ถั่วสลัม ปีกไก่ดำ ม้าแม่ก่ำ หญ้ารากหอม เนียมนกเขา เตอะสิต่อสู่ คำเตี้ย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุเพียงฤดูเดียว มีความสูงของต้นประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะต้นตรงหรือทอดเลื้อยและชูยอดขึ้น ตรงปลายกิ่งเป็นเหลี่ยม ลำต้นกลมและมีขนขึ้นปกคลุม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๗-๒.๕ เซนติเมตร รากมีกลิ่นหอม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าสน และบริเวณที่โล่งในป่าดิบแล้ง ลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้คือมีรากหอมมาก เป็นกลิ่นเฉพาะตัว ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำ จัดว่าเป็น “ยาม้า” หรือยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่ (ภาคเหนือ) เลยก็ว่าได้ โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ดังนั้น ในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่นๆ ด้วยก็ได้ กล่าวได้ว่าทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือและอีสานต่างใช้สมุนไพรชนิดนี้กันมาก ยกตัวอย่างความรู้จากหมอพื้นบ้านอีสานท่านหนึ่งจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการใช้ทั้งวิธีต้มและดองกับเหล้ากิน ซึ่งมีการตั้งชื่อ “ตำรับยากำลังม้า” กันเลยทีเดียว ประกอบไปด้วยตัวยา คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด ถ้านำราก หรือใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาบำรุงโลหิตและใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณของคำเตี้ยว่า ใช้รากและทั้งต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะแนะนำให้ใช้รากคำเตี้ย และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน ตำรับยาแก้ฝีในท้องก็จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน ยาขับปัสสาวะจะใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มกิน รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี` ภูมิปัญญาดั้งเดิมถือว่าคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำ จัดว่าเป็น “ยาม้า” หรือยาเพิ่มกำลังของคนไทยใหญ่ (ภาคเหนือ) เลยก็ว่าได้ โดยเชื่อว่าถ้าถอนรากมาต้มกินติดต่อกันอย่างน้อย ๑๐ วัน จะช่วยบำรุงร่างกายได้ดีมาก เดินขึ้นเขาได้สบาย ไม่เหน็ดเหนื่อย หมอยาไทใหญ่ยังบอกว่า กินยานี้แล้วจะช่วยทำให้หลับสบาย คลายเครียด เพิ่มกำลัง แก้อ่อนเพลีย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ดังนั้น ในตำรับยาบำรุงกำลังของหมอยาไทใหญ่จึงมักมีม้าแม่ก่ำหรือคำเตี้ยอยู่ด้วยเสมอ โดยจะใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ผสมกับยาบำรุงกำลังอื่นๆ ด้วยก็ได้ กล่าวได้ว่าทั้งหมอพื้นบ้านภาคเหนือและอีสานต่างใช้สมุนไพรชนิดนี้กันมาก ยกตัวอย่างความรู้จากหมอพื้นบ้านอีสานท่านหนึ่งจากการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่ามีการใช้ทั้งวิธีต้มและดองกับเหล้ากิน ซึ่งมีการตั้งชื่อ “ตำรับยากำลังม้า” กันเลยทีเดียว ประกอบไปด้วยตัวยา คำเตี้ย ม้าสามต๋อน และตานคอม้า ใช้ต้มกินเป็นประจำเพื่อบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อย ร่างกายทรุดโทรม และช่วยกำจัดโรคภัยทุกชนิด ถ้านำราก หรือใช้ทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาบำรุงโลหิตและใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ไอ ช่วยขับเสมหะได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกไว้ถึงสรรพคุณของคำเตี้ยว่า ใช้รากและทั้งต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาอาการหอบหืด ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอ่อน ท้อแท้ และหมดเรี่ยวแรง ภูมิปัญญาพื้นบ้านจะแนะนำให้ใช้รากคำเตี้ย และรากพวงพี (พนมสวรรค์) นำมาต้มกับน้ำกิน ตำรับยาแก้ฝีในท้องก็จะใช้รากคำเตี้ย (ม้าแม่ก่ำ) รากเข็มขาว และรากเข็มแดง นำมาต้มกับน้ำกิน ยาขับปัสสาวะจะใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่มกิน รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงน้ำนมของสตรี ต้นคำเตี้ยยังเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาเดี่ยว และใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นช่วยกันรวมพลัง เช่น นำไปผสมกับต้นม้ากระทืบโรงนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ คำเตี้ยทั้งต้นใช้ผสมกับน้ำมันงา นำมานวดเส้น ถ้าใครเคยติดตามข่าวตำรับยาแก้มะเร็งที่เผยแพร่ทางสื่อสารมวลชน จะพบตำรับยาชนิดหนึ่งที่มีส่วนผสมคำเตี้ยด้วย แต่ในตำรับยานั้นจะเรียกชื่อว่า หญ้าปีกไก่ดำหรือม้าอีก่ำ โดยส่วนประกอบทั้งหมดของยาตำรับนี้ ได้แก่ คำเตี้ยหรือปีกไก่ดำ (Polygala chinensis L. ), เหง้าพุทธรักษา (Canna indica Linn), ไฟเดือนห้า (Ludwigia hyssopifolia (G.Don) well), พญายอ (Clinacanthus nutan Lindl. ), เหงือกปลาหมอ (Acanthus ebracteatus), แพงพวยฝรั่ง (Catharanthus roseus CL. ), ข้าวเย็นเหนือ (Smilax corbularia Kunth C) และข้าวเย็นใต้ (Smilax glabra) จึงเห็นได้ว่า ต้นคำเตี้ยเป็นสมุนไพรที่มีความน่าสนใจนำไปศึกษาพัฒนามาก ในต่างประเทศก็มีการใช้และการศึกษาวิจัยสมุนไพรคำเตี้ยหรือม้าแม่ก่ำกันมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Indian Senega ก็มีการระบุสมุนไพรนี้ไว้ในเภสัชตำรับของชาติเลย และในจีนเรียกชื่อว่า Yuan Zhi ได้จัดคำเตี้ยเป็นหนึ่งใน ๕๐ สมุนไพรที่จีนใช้มากที่สุด มีสรรพคุณเด่นคล้ายไทยคือ เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง ใช้รักษาความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น หลงลืมง่าย อารมณ์แปรปรวน เครียด กังวล นอนไม่หลับ หวัดไอที่มีเสมหะเหนียวข้น หอบหืด แผล ฝี หนอง น้ำร้อนลวก ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังใช้รากตำใส่ผสมขมิ้นสด ใช้ทาตัวให้ตัวมีกลิ่นหอม และใช้ป้องกันยุงด้วย ในปัจจุบันทราบว่ามีการซื้อขายสมุนไพรชนิดนี้ในตลาดโลกกันมากเพื่อใช้ในการผลิตยาสมุนไพร เช่น ในไต้หวันและอินเดียจะมีบริษัทที่ทำการส่งออกม้าแม่ก่ำเป็นวัตถุดิบ ในขณะที่ออสเตรเลียมีการกำหนดมาตรฐานการนำเข้าสมุนไพรชนิดนี้เลยทีเดียว แสดงว่า คำเตี้ย ไม่ได้ต่ำเตี้ย แต่เป็นที่สนใจและต้องการของชาวโลกเลยทีเดียว (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88318860655029__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) การะเกด ต้นการะเกดต้นนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus tectorius Parkinson ex Du Roi อยู่ในวงศ์ Pandanaceae มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Screwpine มีถิ่นกำเนิดที่พบเขตการกระจายพันธุ์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน เป็นพืชชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ลำห้วย ริมลำธาร สามารถพบขึ้นได้ตามชายหาดและพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลและนำไปปลูกกันทั่วไปได้ ขออธิบายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ให้ละเอียดลออให้ซาบซึ้ง การะเกด เป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ ๓-๗ เมตร มีรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็น ๓ เกลียวที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ แผ่นใบด้านล่างมีนวลดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกจะออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก ติดอยู่บนแกนช่อ ดอกจะไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยช่อดอกเพศผู้จะมีลักษณะตั้งตรงมีกาบสีนวลหุ้ม มีกลิ่นหอม ส่วนช่อดอกเพศเมียนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลมประกอบไปด้วยเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ๓-๕ อัน เป็นกลุ่มประมาณ ๕-๑๒ กลุ่ม ผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก ชื่อการะเกดนั้นมักเป็นชื่อเรียกของสตรี การใช้ประโยชน์แต่โบราณก็อาจพูดได้ว่าเป็นต้นไม้ของผู้หญิง ซึ่งรักสวยรักงามชอบความหอม จึงมีการนำเอาดอกการะเกดมาใส่หีบผ้าหรือตู้เสื้อผ้า เพื่ออบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม ใครอยากย้อนยุคหญิงโบราณขนานแท้จะทดลองใช้ดอกอบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอมก็ได้ แม้ไม่หอมฟุ้งแบบปรุงแบบน้ำหอมสกัดแต่ก็หอมได้ใจผู้ใกล้ชิดแน่นอน เข้าใจว่าทุกวันนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรยังใช้การะเกดในการอบผ้าอยู่เช่นกัน ในด้านการใช้สมุนไพร ด้วยดอกการะเกดมีกลิ่นหอมจึงนำมาปรุงเป็นยาหอม กินแล้วทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ กินเป็นยาบำรุงธาตุก็ได้ และมีการปรุงใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้เสมหะด้วย แล้วก็ตามที่บอกว่าการะเกดนั้นเป็นพืชของผู้หญิงจริงๆ เพราะยอดใบนำมาต้มกับน้ำเพื่อเป็นสมุนไพรให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่ๆ ผลแก่จัดจะมีผิวผลเป็นสีแดง นำผลแก่มากินได้มีรสชาติคล้ายสับปะรด ดอกหอมก็กินได้มีรสขมเล็กน้อย ในอดีตนำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันพืชอื่น น้ำมันหมูก็ได้ แล้วปรุงเป็นน้ำมันใส่ผมด้วย คงจะเอากลิ่นหอมจากดอกมาแต่งกลิ่นน้ำมันใส่ผม หากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางก็น่าจะคิดถึงดอกการะเกด นำไปพัฒนาน่าจะขายดีแน่ นอกจากนี้ ใบการะเกดเป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่ายจึงนำมาใช้ในงานจักสาน เช่น เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ กระแสละครย้อนยุคทำให้คนไทยนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้น ก็ขอชวนย้อนไปในครั้งพุทธกาลเลย หากได้ไปอ่านพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เล่มที่ ๕ หน้า ๖๙ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า…สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ โรคลมสงบลง…และเมื่อดูในเชิงอรรถในหน้าดังกล่าว ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภกธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้งน้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยานี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) โรคริดสีดวง เป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้ จึงเห็นได้ว่า การะเกดเป็นเครื่องยาสมุนไพรแต่โบราณ ที่เราน่าศึกษาและนำมาใช้กันในยุคปัจจุบันด้วย การะเกดเป็นไม้ที่มีรูปทรงเฉพาะตัวที่สวยงามแปลกตา ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเลี้ยงดูแลง่าย มีความทนทาน อายุยืนยาว หาพันธุ์ปลูกได้ง่าย จึงน่านำมาปลูกเป็นไม้ประดับ แต่เหมาะกับการปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55381153110000__3626_3617_3640_3609_3652_3614.jpg) กาแฟ ดื่มกาแฟดริปวันละถ้วย ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ใครๆ ก็รู้ว่ากาแฟมีกาเฟอีน (caffeine) แต่ควรรู้อีกนิดว่า เมล็ดกาแฟเป็นแหล่งกาเฟอีนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ทั่วโลกมีกาแฟกว่า ๕๐ สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกมี ๒ สายพันธุ์ คือ พันธุ์อราบิก้า (Coffea arabica L.) และพันธุ์โรบัสต้า (Coffearobusta L.) สายพันธุ์แรกมีแหล่งปลูกตามเทือกเขาสูงมีอากาศหนาวเย็น เช่นทางภาคเหนือสุดของไทย จุดเด่นของกาแฟอราบิก้าคือ มีกลิ่นหอม มีความเป็นกรดสูง แต่มีกาเฟอีนต่ำ ส่วนสายพันธุ์หลังชอบอากาศอบอุ่นชื้นในพื้นที่ราบอย่างภาคใต้ของไทย จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้าคือ รสชาติที่เข้มข้นเหมือนคนใต้ และมีกาเฟอีนสูงเป็นสองเท่าของอราบิก้า เมล็ดกาแฟที่คั่วนานจนเป็นสีเข้มจะมีปริมาณกาเฟอีนน้อยกว่าที่คั่วไม่นาน และกาแฟต้มหรือกาแฟจากเครื่องทำกาแฟแบบไม่ผ่านกระดาษกรองจะมีกาเฟอีนออกมามากกว่ากาแฟดริปหรือกาแฟจากเครื่องที่มีกระดาษกรองเกือบสองเท่า กาเฟอีนเป็นสารหลักในเมล็ดกาแฟที่ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งสื่อประสาทโดปามีน (dopamine) ออกมามากขึ้น ช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว กระฉับกระเฉง และยังช่วยเพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (serotonine) ซึ่งช่วยให้เกิดอารมณ์ผ่อนคลาย กลไกในสมองที่เกิดจากการกระตุ้นของกาเฟอีนนี่เองที่ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรยอดนิยม แต่ข้อเสียของกาเฟอีนก็มีมากเช่นกัน เพราะเมื่อสมองมีการตอบสนองต่อกาเฟอีนในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิด “ภาวะดื้อกาเฟอีน” (caffeine tolerance) ทำให้ต้องดื่มกาแฟในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าหากหยุดดื่มกาแฟทันทีก็จะทำให้เกิดอาการน้องๆ การลงแดงเมื่อหยุดเสพยาเสพติด คือ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม อ่อนเพลีย หรือใจสั่น ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นราว ๑๒-๒๔ ชั่วโมงหลังหยุดกาแฟ ดังนั้น การชงกาแฟแบบกรองจะช่วยลดปริมาณกาเฟอีนและลดผลข้างเคียงจากกาเฟอีนลงได้มาก ในเมล็ดกาแฟมิใช่มีแต่กาเฟอีนเท่านั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงสารสำคัญอีก ๒ กลุ่มคือ (๑) สารคาเฟสตอล (cafestol) และคาวีออล (kahweol) และ (๒) กรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) หรือกรดฟีนอลิก (phenolic acid) มีข้อมูลบางสำนักที่เผยแพร่ว่าสารคาเฟสตอลและคาวีออลช่วยกำจัดสารก่อมะเร็งในตับ แต่ปัจจุบันมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าสารกลุ่มนี้มีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก จึงควรกำจัดออกไปในกรรมวิธีชงกาแฟ เนื่องจากทั้งคาเฟสตอลและคาวีออลเป็นสารที่ถูกสกัดด้วยน้ำร้อนจัด ดังนั้น การชงกาแฟแบบใช้หม้อต้มกาแฟ หรือชงแบบให้น้ำเดือดซึมผ่านผงกาแฟ หรือชงแบบเอสเปรสโซ่คือให้ไอน้ำอัดผ่านผงกาแฟสด สารทั้งสองจะถูกสกัดออกมาเป็นจำนวนมากคือประมาณ ๖-๑๒ มิลลิกรัมต่อถ้วย (๒๐๐ มิลลิลิตรต่อผงกาแฟราว ๑๒ กรัม) ในขณะที่กาแฟกรองจะมีสารทั้งสองสกัดออกมาเพียง ๐.๒-๐.๖ มิลลิกรัมต่อถ้วยเท่านั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงกรดคลอโรจีนิกซึ่งเป็นสารสำคัญด้านบวกของกาแฟ อันที่จริงกรดคลอโรจีนิกก็คือสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compound) นั่นเอง เป็นสารที่ทำให้กาแฟมีรสขม ในเมล็ดกาแฟจะมีสารประกอบฟีนอลิกมากกว่ากาเฟอีนถึง ๕ เท่า และกาแฟพันธุ์โรบัสต้ามีกรดฟีนอลิกมากกว่าพันธุ์อราบิก้า สารประกอบฟีนอลิกในกาแฟนี้เองมีคุณประโยชน์หลักอย่างน้อย ๒ ประการ คือช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ซึ่งเป็นเบาหวานชนิดที่ร่างกายยังสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เบาหวานชนิดที่ ๒ พบมากที่สุดถึง ๙๐% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด คุณประโยชน์นี้เป็นผลสรุปจากงานวิจัยขนาดใหญ่หลายชิ้นทำในอาสาสมัครตั้งแต่หลายหมื่นรายจนถึงหลักแสนราย ใช้เวลาศึกษานานกว่า ๑๐ ปี พบว่าผู้ดื่มกาแฟ ๑ ถ้วยต่อวันมีแนวโน้มลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย และสารสำคัญที่มีบทบาทคือกรดคลอโรจีนิกหรือกรดฟีนอลิกนั่นเอง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจแข็งตัว มีการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี ๑๐ คน โดยให้งดอาหาร-น้ำตลอดคืน หลังจากนั้นให้ดื่มกาแฟขนาด ๒๐๐ มิลลิลิตร ซึ่งมีผงกาแฟเท่ากับ ๑๒ กรัม มีการเจาะเลือดทั้งก่อนและหลังจากการดื่มกาแฟนาน ๓๐ และ ๖๐ นาที เพื่อตรวจดูผลของการจับระหว่างกรดฟีนอลิกในกาแฟกับไขมันชนิดเลวที่มีค่าความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein-LDL) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจแข็งตัว (Arteriosclerosis) สูญเสียความยืดหยุ่น มีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด เกิดการตีบตัน ความดันโลหิตสูง นำไปสู่ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” (Coronary Heart Disease) ในที่สุด เมื่อมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยครองแชมป์อันดับต้นๆ ตลอดสิบปีมาแล้ว สาเหตุหลักของโรคหัวใจคือ ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งกาแฟเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบคลุมแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หากใช้กรรมวิธีชงกาแฟสดแบบใช้กระดาษกรอง กาแฟเป็นสมุนไพรและเครื่องดื่มยอดนิยมที่หาง่ายใกล้ตัวมาก และมีคุณมากกว่าโทษ หากรู้จักวิธีชงและวิธีใช้ในปริมาณดื่มที่เหมาะสม ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 15:12:11 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76252652414970_wn1022610KAI_2_1_1024x768_.jpg)
‘ผักจิ้ม’ สมุนไพร เพื่อสุขภาพ (สมุนไพรลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง) ไม่ว่าฤดูกาลจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร น้ำพริกคืออาหารไทยที่กินได้ทั้งปี กินได้ทุกท้องถิ่นทั่วไทย ภาคอีสานเรียก “แจ่ว” หรือ “ป่น” ภาคใต้เรียก “น้ำชุบ” แต่เรามักคุ้นเคยกับคำว่า “น้ำพริก” ซึ่งต้องถือว่าเป็นอาหารยอดนิยมที่สุดอย่างหนึ่งของคนไทย และพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า น้ำพริกกินกับผักจิ้มคืออาหารสุขภาพของแท้แน่นอน เฉพาะรสชาติน้ำพริกก็มีให้เลือกลิ้มตามชอบจนนับไม่ถ้วนแล้ว แต่ที่น่าอัศจรรย์ใจตรงที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราเรียนรู้สืบต่อให้รู้จักกินน้ำพริกกับผักจิ้มบางอย่างเพื่อเสริมรสชาติและส่งเสริมสุขภาพด้วย อย่างเช่น พริกลงเรือ นอกจากในน้ำพริกจะมีสมุนไพรครบเครื่องด้วยพริก หอม กระเทียม มะนาว มะดัน มะอึกแล้ว ยังต้องกินกับผักจิ้ม เช่น มะเขือเปราะ ยอดกระถิน ถั่วพู ขมิ้นขาว ดอกแค ดอกโสน เป็นต้น แล้วลองนึกดูว่าพ่อครัวแม่ครัวทั่วไทยสามารถปรุงแต่งน้ำพริกได้มากมายหลายสิบตำรับ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะมี “ผักจิ้ม” ให้เลือกกินได้มากถึง ๑๐๐ ชนิด ใครที่กำลังทำตามองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ส่งเสริมการกินผักและผลไม้ให้ได้วันละ ๔๐๐ กรัมนั้น บอกตรงนี้เลยว่า ถ้าได้กินน้ำพริกกับผักจิ้มเป็นประจำ รับรองได้เข้าใกล้เป้าหมายกินผัก-ผลไม้ ๔๐๐ กรัมต่อวันแน่นอน เมืองไทยเรามีเมนูน้ำพริกที่ทำกินวันเว้นวันตลอดเดือนก็ไม่ซ้ำกันได้แบบสบายๆ เมื่อกินน้ำพริกก็ต้องกินผักจิ้ม กินแล้วห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ฯลฯ ตามหลักวิชาสากลแน่นอน มีคนเคยรวบรวมผักจิ้มน้ำพริกไว้มากกว่า ๑๐๐ ชนิด ขอนำมาแนะนำสักครึ่งหนึ่งเรียกน้ำย่อย และอยากให้เปิดมุมมองว่า ผักจิ้มน้ำพริกนั้นมาจากทั้งพืชอายุสั้น ไม้ยืนต้น พืชหัว ไม้เถาไม้เลื้อย ไม่ว่าจะมาจากพืชชนิดไหนนำมากินจิ้มน้ำพริกได้ทั้งหมด พืชอายุสั้น มีทั้งที่เราคุ้นเคยและที่เป็นผักพื้นบ้าน เช่น ผักชีลาว มีให้กินได้ตลอดปี ผักชีล้อม ผักชีฝรั่ง ผักชี (เฉยๆ มิมีคำมาต่อท้ายด้วย) ใบชะพลู ผักขม ผักแพว ผักเชียงดา (ที่กำลังฮิต) ผักแขยง ผักตูบหมู ผักขี้หูด และสะระแหน่ ที่คุ้นเคยกินกับน้ำพริกก็อร่อยแท้ ไม้เลื้อยไม้เถา ก็เอามากินกับน้ำพริกได้อีกมากมาย ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคย เช่น ตำลึง มะระขี้นก ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบงู ยอดฟักทอง ฟักแม้ว แตงกวา แตงร้าน และที่มาเป็นฤดูกาลก็ต้องดอกขจรหรือกินยอดอ่อนก็ได้ ผลอ่อนน้ำเต้าน้ำก็นำมาต้มหรือนึ่งกินกับน้ำพริกก็อร่อย พืชหัว ราก หน่อ หรือจำพวกลำต้นใต้ดิน ก็เป็นผักจิ้มได้แซ่บอร่อยแท้ เช่น กระชาย กระทือ กระวาน แม้กระทั่งพืชดอกสวยกระเจียวที่เพิ่งบานไปกลางฝนนั้นก็นำมากินกับน้ำพริกได้ หน่อไม้ ขิง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย และถั่วงอกผักพื้นๆ ธรรมดาๆ ก็ยังใช้กินกับน้ำพริกได้อร่อยเช่นกัน พืชผักจำพวกที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ก็เป็นผักจิ้มกับน้ำพริกรสชาติดี เช่น ผักเป็ด สันตะวา บัว (กินสายบัว) โสน ผักบุ้งนา ผักกระเฉด ผักแว่น ผักพาย (ตาลปัตรฤๅษี) ผักกูด ผักอีฮีน และที่รู้จักกันดี บัวบก ก็เป็นพืชชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ มาถึงผักจิ้มน้ำพริกที่เป็น ไม้ยืนต้น หรือไม้ใหญ่ไม่ใช่พืชผักสวนครัว เช่น ขนุน (กินลูกอ่อน) แค (กินยอด ใบ) กระโดน กระโดนน้ำ ติ้ว มะแว้งต้น เพกาหรือลิ้นฟ้า (กินฝัก) มะกอก ขี้เหล็ก เม็ก มะยม สะเดา ทองหลาง ทำมัง จิก สะตอ เหรียง มะม่วง ฯลฯ และกล้วย พืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนก็นำหยวกกล้วยมากินกับน้ำพริกได้อร่อยด้วย การกินผักจิ้มน้ำพริกจำนวนมากย่อมเข้าหลักโภชนาการที่เพิ่มปริมาณใยอาหารในร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ และในผักจิ้มมากมายนับร้อยชนิดนี้ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารแอนตี้ออกซิแดนต์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง และถ้านับเครื่องปรุงทำน้ำพริก และผักจิ้มเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางบำบัดบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ก็เป็นอาหารสมุนไพรที่ควรกินเป็นประจำ ยกตัวอย่าง ๓ กลุ่มพืชที่นำมากินเป็นผักจิ้ม ได้แก่ ไม้ยืนต้น เช่น เพกา ใช้ฝักมาเผาหรือย่าง แล้วนำมากินกับน้ำพริก ในทางสรรพคุณยาไทย เมล็ด ต้มน้ำดื่ม แก้ไอและขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย เมล็ดแห้ง ทำน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ฝักแก่ มีรสขมแต่กินได้ ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ ฝักอ่อน มีรสขมร้อน ใช้เป็นยาขับลม สำหรับ พืชหัว ราก ขอแนะนำ กระชาย หาง่าย เป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพ ภูมิปัญญาดั้งเดิมเปรียบเปรยให้กระชายคือโสมแบบไทยๆ กินบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ และใช้แก้อาการปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด เป็นต้น พืชอายุสั้นๆ เช่น ผักชี ผักชีลาว ผักชีล้อม อยากแนะนำให้กินผักชีลาว เป็นผักจิ้มในช่วงอาหารฝนเข้าหนาว เพราะใครเคยผ่านประสบการณ์กินอาหารท้องถิ่นของคนชาวอีสาน ชาวเหนือและไปทางประเทศลาว พออาหารเปลี่ยนๆ เริ่มเข้าหนาว อาหารมื้อเย็นจะมีผักชีลาวจิ้มกินกับน้ำพริก ผักชีลาวมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บางคนไม่ชอบเพราะหอมฉุน แต่รสยาให้ความร้อนความอบอุ่นในร่างกาย และน้ำมันหอมระเหยตามธรรมชาติของผักชีลาวนี้ช่วยบำรุงร่างกาย คอยต้านโรคภัย ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยการไหลเวียนเลือด จึงช่วยดูแลสุขภาพช่วงเปลี่ยนอากาศได้ดีมาก แนะนำผักจิ้มให้กินกันได้ทั้งปีมีสุขภาพดีได้ทุกฤดูกาลแล้ว อยากชวนผู้อ่านที่รักชอบสมุนไพร ติดตามการแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ที่กำลังแก้ให้ไปรองรับกับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเป็นการขยายอำนาจการผูกขาดให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ซึ่งทุกท่านรู้ดีว่าเมืองไทยร่ำรวยความหลากหลายทางชีวภาพขนาดไหน ผักจิ้มน้ำพริกอย่างเดียวก็มากกว่า ๑๐๐ ชนิดแล้วนะ… (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/86577118477887__3609_3635_3626_3617_3640_3609.jpg) ฝอยทอง ฝอยไหม เครือคำ ทำไมจีนถึงนิยมใช้บำรุงร่างกาย ฝอยทอง ฝอยไหม เครือคำ ชื่อข้างต้น ฝอยทอง หรือฝอยไหม หรือเครือคำ คือชื่อสมุนไพรที่มีความน่าสนใจชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนมีการนำมาใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย คนไทยโดยเฉพาะหมอพื้นบ้านก็มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมากพอสมควร ชาวบ้านในถิ่นอีสานยังนำเอาฝอยทอง (ส่วนลำต้น) มากินเป็นผักจิ้มแจ่วหรือน้ำพริกกินกันเอร็ดอร่อย แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ที่นำมาแนะนำก็เพราะสรรพคุณที่หมอพื้นบ้านอีสานหลายท่านใช้ฝอยทองตำรวมกับวุ้นของว่านหางจระเข้ นำมาใช้ทารักษาสะเก็ดเงินกันอย่างกว้างขวาง และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่มีอาการเป็นแผลที่มีลักษณะเป็นหย่อมสีแดงๆ ลามมาตั้งแต่แนวชายผมบริเวณหน้าผาก ไล่มาตามใบหน้าและลงมาที่คอ ซึ่งไม่หยุดเท่านั้น ได้ลามลงไปส่วนของลำตัวด้วย เมื่อได้ใช้ยาตำรับนี้คือ ส่วนของลำต้นฝอยทองตำรวมกับวุ้นว่านหางจระเข้ทาแผลแล้วแห้งไปภายใน ๓ วัน จากนั้นอาการก็หายเป็นปกติ ซึ่งหมอพื้นบ้านอีสานมักใช้ตำรับยานี้รักษาได้ผลมาแล้วมากกว่า ๒๐ ราย ฝอยทอง จัดเป็นพืชกาฝาก คือมักเจริญเติบโตโดยการพาดพันไปกับต้นไม้อื่นและดูดน้ำกินจากต้นไม้อื่น มีอายุประมาณ ๑ ปี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cuscuta chinensis Lam. จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง มีชื่อสามัญเรียกว่า Dodder และมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อเนื่องจากสามารถกระจายอยู่ได้ในหลายพื้นที่ เช่น ฝอยไหม (นครราชสีมา) ผักไหม (อุดรธานี) ซิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เครือคำ (ไทใหญ่ ขมุ) บ่ะเครือคำ (ลั้วะ) กิมซีเช่า โท้วซี (จีนแต้จิ๋ว) ทู่ซือ ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง) ลำต้นฝอยทองมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ เซนติเมตร ใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก ดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีขนาดเล็กสีขาว ผลเป็นรูปกลมแบน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ ๒-๔ เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพืชที่ต้องการความชื้นมาก พบขึ้นตามพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไปก็พบได้ ความรู้ท้องถิ่นนอกจากกินเป็นผักลวกกับแจ่วแล้ว ยังนำมาใช้เป็นยาสระผม สำหรับสรรพคุณสมุนไพรทั่วไป ฝอยทองเป็นยารสหวาน ทั้งต้นนำมาต้มกินและอาบแก้อาการตัวบวม เมล็ดช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม แก้น้ำกามเคลื่อน และใช้เป็นยารักษาผิวหนังเป็นปื้นขาวหรือเป็นด่างขาว สูตรยานั้นใช้ทั้งต้นหรือเถานำมามัดเป็นก้อนแล้วต้มดื่มน้ำ เป็นยารักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น เป็นยาถ่ายพยาธิ ถ้าเป็นยาบำรุงร่างกายมักใช้ลำต้นฝอยทองหรือเถาแห้ง ๑๐-๑๒ กรัม ต้มน้ำดื่ม หรืออาจผสมเหล้า หรือผสมน้ำตาลทรายแดง กินแก้ร่างกายอ่อนเพลีย กินแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย และใช้เถาต้มน้ำอาบรักษาตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน นอกจากนี้ ในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ยังใช้รักษาสัตว์ เช่น แม่วัวที่มีน้ำนมน้อยจะนำลำต้นสดประมาณ ๕๐๐ กรัม ตำให้ละเอียด ชงหรือละลายกับเหล้าที่ทำด้วยข้าวเหนียว อุ่นให้แม่วัวกิน และวัวที่มีอาการตาแดงหรือเจ็บตา ใช้ลำต้นสดตำคั้นเอาน้ำยาทารอบๆ ขอบตา ในตำรายาจีนมีการรับรองอย่างเข็มแข็งว่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย เพิ่มสมรรถนะทางเพศในผู้ชาย บำรุงตับ ทำให้ชะลอวัย มีอนุมูลอิสระจำนวนมาก ป้องกันโรคกระดูกพรุน เข้าใจว่าขณะนี้ทางประเทศจีนพัฒนาเป็นยาใช้แก้ผมร่วงเป็นหย่อมที่ไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย ฝอยทองชนิด Cuscuta chinensis Lam. ที่มีสรรพคุณกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เมืองไทยยังร่ำรวยความหลากหลายชีวภาพ พบพืชที่เรียกว่าฝอยทองและอยู่ในสกุล Cuscuta เหมือนกันเพิ่มเติมอีก ๓ ชนิด คือ ๑.Cuscuta campestris Yunck. มีชื่อสามัญว่า Golden dodder หรือ field dodder ชื่อสามัญนี้แสดงให้เห็นว่าฝอยทองชนิดนี้มีสีเหลืองเข้มประดุจสีทอง แม้ว่าท้องถิ่นทั่วไปจะเรียกว่าฝอยทอง แต่ทางราชการไทยกลับเรียกว่า “เขาคำ” เขาคำเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก) และบางส่วนของแคริบเบียน และน่าจะเป็นไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ด้วย ทางอเมริกาเหนือมีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นรายงานว่าเป็นวัชพืช เป็นตัวส่งผ่านเชื้อโรคไปยังพืชชนิดอื่นๆ ๒.Cuscuta japonica Choisy มีชื่อสามัญว่า Japanese dodder จากชื่อทำให้ทราบว่าเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น ส่วนทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ฝอยทอง” เช่นกัน คนญี่ปุ่นใช้ส่วนที่เป็นเถาอ่อนต้มกินโดยมีน้ำราดหรือเครื่องปรุงรส ในทางยามีรายงานว่าใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไตและตับ ในส่วนของเมล็ดใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ตกขาว ปัสสาวะไหลออกมาแบบไม่รู้ตัว ปวดหลังและเสื่อมสมรรถนะทางเพศ เถาอ่อนใช้เป็นยาแก้เจ็บตา ๓.Cuscuta reflexa Roxb. มีชื่อสามัญว่า giant dodder แสดงให้เห็นว่าเป็นพืชที่มีลำต้นใหญ่ ทางราชการไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า “เครือเขาคำ” มีถิ่นกำเนิดในแถบอนุทวีปอินเดีย ในตำรับยาของอายุรเวทใช้ส่วนของลำต้นเป็นยาแก้ตับและดีพิการ ทั้งต้นใช้เป็นยาถ่าย ใช้เป็นยาลดไข้เรื้อรัง ลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ อาการคันตามผิวหนัง และน้ำคั้นจากเถานำมาผสมกับน้ำอ้อยใช้เป็นยาแก้ดีซ่านได้ มีรายงานว่าพืชชนิดนี้มีความแปรปรวนไปตามชนิดของต้นไม้ที่ไปเกาะอาศัยอยู่ แต่ยังไม่มีรายงานว่าการใช้ประโยชน์ทางยาจะให้ผลแตกต่างกันหรือไม่ ทั่วโลกมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับฝอยทองไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยชนิดที่คนไทยและคนจีนใช้กันมากคือชนิด Cuscuta chinensis Lam. ดังนั้น ฝอยทองจึงไม่ใช่วัชพืชที่ถอนทิ้ง แต่น่าจะทุ่มเทศึกษาวิจัยพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ดีกว่า ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 ธันวาคม 2561 14:42:25 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56318159401416_1_1024x768_.jpg)
มีดีที่สำโรง มีอำเภอและตำบลชื่อสำโรงอยู่ในหลายจังหวัดของไทย ที่ดูจะคุ้นเคยสำหรับชาวกรุงเทพฯ ก็ที่ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทก็มีสถานีสำโรงอยู่ด้วย ในอดีต การตั้งชื่อหมู่บ้านหรือตำบลมักจะนำเอาต้นไม้ที่ขึ้นจำนวนมากในละแวกนั้นมาเรียกขาน เช่น บ้านนาป่าติ้ว เป็นต้น ชื่อสำโรงก็น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีต้นสำโรงอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่า สำโรงคือต้นไม้ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว มีสรรพคุณยาสมุนไพรมากมาย สําโรงมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Sterculia foetida L. โดยทั้งชื่อสกุลและชื่อชนิดมีความหมายว่า “กลิ่นเหม็น” คนตั้งชื่อเช่นนี้น่าจะได้กลิ่นดอกตอนบานเต็มที่ ที่มีกลิ่นไม่หอมเอาเลย หรืออาจกล่าวได้ว่า ชื่อนี้มาจากชื่อของเทพเจ้าที่ชื่อว่า สเตอควิลินัส (Sterquilinus) ซึ่งเป็นเทพแห่งปุ๋ย (fertilizer or manure) อาจเนื่องมาจากเป็นต้นไม้ที่มีใบดกหนามาก เมื่อร่วงหล่นลงมาจึงกลายเป็นปุ๋ยจำนวนมาก สำโรงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ bastard poon tree, java olive tree, hazel sterculia, and wild almond tree เป็นพืชในวงศ์ชบา มีการกระจายพันธุ์ได้ทั้งในแอฟริกาตะวันออก อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงออสเตรเลีย ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นมีพูพอนต่ำๆ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน เรียงเวียนตอนปลายกิ่ง ใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปรีหรือรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม ดอกสีแดงหรือสีแสดและมีกลิ่นเหม็น ดอกกำลังออกในช่วงเวลานี้เลย คือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ผลเป็นแบบแห้งแตกเปลือกแข็ง สีแดงปนน้ำตาล ผลออกช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน แม้ดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ภูมิปัญญาการใช้สำโรงมีประโยชน์ในหลายประการ เช่น เปลือกต้น มีรสฝาดสุขุม ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยากล่อมเสมหะและอาจม ยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอย่างอ่อน ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยแก้โลหิตและลมพิการ และช่วยแก้ไส้เลื่อนได้ ในตำรายาสมุนไพร หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ว่า ให้ใช้เปลือกต้นสำโรง (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาฝนกับฝาละมีหรือกระเบื้องดินเผาและผสมกับน้ำปูนใส (ปูนขาวหรือปูนแดงที่ใช้กินกับหมากพลู) โดยให้ฝนจนเป็นน้ำข้น แล้วเอาน้ำที่ได้มาทาลูกอัณฑะบริเวณที่บวมที่เริ่มเป็นไส้เลื่อน ให้ฝนทาวันละหลายๆ ครั้ง จะช่วยทำให้ถุงอัณฑะหดตัว ให้ทาติดต่อกันประมาณ ๓๐ วัน ได้ผลดี เมล็ด นำมากินได้เหมือนกินถั่ว รสชาติคล้ายโกโก้แต่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื้อในเมล็ดมีกรดไขมัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อโรค เชื้อราที่ผิวหนัง และมีการใช้เป็นสมุนไพรกำจัดแมลง น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ส่วนยางเหนียว (gum) จากลำต้นมีการพัฒนาเป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นวัสดุธรรมชาติที่ช่วยนำพาตัวยาเมื่อเรากินเข้าไปแล้วให้สามารถยึดติดเยื่อบุเมือกของร่างกายได้ เปลือกหุ้มเมล็ด มีสรรพคุณช่วยแก้กระหายน้ำ ใบ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดน้ำตาลในเลือดและลดความอ้วน และมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ ผล มีรสฝาด เป็นยาแก้ท้องร่วง ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในความรู้ของหมอยาพื้นบ้านอีสานมีการใช้สำโรงปรุงเป็นยาอยู่หลายตำรับ ตัวอย่างเช่น แก้โรคทรางขี้ (มีอาการกินข้าวลงไปก็ถ่าย กินน้ำลงไปก็ถ่าย อาหารหรือน้ำไม่มีเหลือในท้อง) ยาแก้ให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แช่น้ำกิน แก้ประดง (อาการมึนตึงตามข้อมือ ข้อเท้า เดินไปมาไม่สะดวก) ยาให้เอา แก่นหมากข่าลิ้น (กัดลิ้น) ดูกใส (ขันทองพยาบาท) ต้นหาด (มะหาด) ต้นชะทาง (กล้วยน้อย) ต้นพะอุง (พะอูง) ตาไก้ (กำแพงเจ็ดชั้น) ตากวาง (กำแพงเก้าชั้น) ส้มโฮง (สำโรง) ต้นหมากดูก (มะดูก) ถ่มพาย (กระทุ่มนา) แช่น้ำกิน แก้โรคสะดวงดาก (ริดสีดวงทวาร) ให้เอารากส้มโฮงมาต้มกิน แก้โรคสะดวงเข้าข้อ ยาให้เอาแก่นส้มโฮง (สำโรง) แก่นเฮื้อนกวาง (ตับเต่าต้น) แก่นข่าลิ้น (กัดลิ้น) ต้ม ๓ เอา ๑ ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) หนัก ๒ ฮ้อย บดใส่กัน ปั้นเป็นลูกกอน (กลอน) ขนาดนิ้วก้อย ตาก ๗ หมอก ๗ แดด กินเช้า-เย็นวันละ ๒เม็ด นอกจากนี้ น้ำมันที่ได้จากเมล็ดสำโรงมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำมันที่ได้จากดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันจากเมล็ดองุ่น ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ใช้จุดไฟได้ น้ำมันจากเมล็ดสำโรงประกอบด้วย กรดไขมันไซคลอโพรปีน (cyclopropene fatty acids) เช่น ๘,๙ methylene-heptadec-๘-enoic acid (malvalic acid) และ ๙, ๑๐--methylene-ocadec-๙--enoic acid (-sterculic acid) น้ำมันจากเมล็ดมีกลิ่นคล้ายกลิ่นโกโก้ แต่ไม่ขมเหมือนโกโก้ รสชาติเหมือนถั่วลิสง น้ำมันจากเมล็ดยังนำมาผสมกับดินขาวใช้เป็นสีวาดภาพ เมล็ดกินได้ แต่ควรต้ม เผาหรือทำให้สุกเสียก่อน และไม่ควรกินมากไปเพราะจะทำให้ถ่ายท้อง รากอ่อนก็นำมากินดิบได้มีแป้งคล้ายมันแกว ประโยชน์อื่นๆ เช่น เปลือกต้นนำมาทำเส้นใยสานกระเป๋า สานเสื่อ ทำกระดาษได้ ยางไม้ (Gum) ที่ได้จากลำต้นหรือกิ่ง ใช้ในการทาสิ่งต่างๆ เช่น สันหนังสือ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องดนตรี ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้เช่นกัน เด็กน้อยเด็กโตที่อยู่ในภาคอีสานรู้จักเมล็ดสำโรงดี เพราะรู้ว่ามีน้ำมันเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ ๔๐ จึงนิยมนำเอาเมล็ดมาเล่นเป็นบั้งไฟ โดยเจาะรูขนาดเล็กที่ด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด เอาก้านทางมะพร้าวเสียบเข้าไปในรู แล้วจุดไฟที่ก้านทางมะพร้าว น้ำมันจากเมล็ดเมื่อเกิดการเผาไหม้ก็จะเกิดแรงผลัก พุ่งขึ้นไป สำโรงเป็นไม้โตเร็ว ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ส่งเสริมให้ปลูกหรือใช้ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้ดีมาก แม้กลิ่นดอกสำโรงไม่ชวนดม แต่ประโยชน์มากมายน่านิยม (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39118904206487_1_1024x768_.jpg) ‘กัญชา’ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องคุ้มครอง ข่าวจากต่างประเทศพูดถึงกัญชามากมาย ทั้งการปลูก การผลิต การวิจัยและการใช้ประโยชน์ทั้งการแพทย์ สันทนาการ ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ คนไทยได้ฟังข่าวแล้วพลอยอนุโมทนาดีใจไปกับประชาชนในประเทศนั้นๆ ด้วย แต่กลับมาดูสังคมไทยก็ได้แต่ลุ้นว่าจะปลดล็อกกัญชาได้จริงไหม สถานการณ์เวลานี้มีความชัดเจนขึ้นบ้างว่าจะอนุญาตให้นำกัญชาที่ยังอยู่ในกฎหมายยาเสพติดมานานหลายสิบปีนั้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็นับว่ามีการขยับก้าวหน้าขึ้นบ้างแต่ก็ยังพบประเด็นปัญหาตามมาอีก เช่น อยู่ๆ ก็มีหลักฐานว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญายอมให้มีผู้ยื่นคำขอรับการจดสิทธิบัตรกัญชาอยู่ในรายการที่จะพิจารณาอนุมัติได้ ซึ่งก็เกิดคำถามว่า พอปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ก็จะมีเจ้าของสิทธิบัตรที่ยื่นรอไว้รับผลประโยชน์มหาศาลนี้ไปได้ทันทีหรือไม่? แม้ว่าขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะให้ข่าวว่าจะยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด แต่ก็คงต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นเพียงใด เพื่อให้มิตรรักสมุนไพรและห่วงใยภูมิปัญญากัญชาจะตกเป็นของต่างชาติได้เข้าใจหลักการขอสิทธิบัตรพอสังเขป ดังนี้ ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒ให้การคุ้มครองเกี่ยวกับ “การประดิษฐ์” หรือ “การออกแบบผลิตภัณฑ์” และในการประดิษฐ์แบ่งเป็น ๓ อย่าง (๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (๒) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ (๓) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม หากอ่านมาแบบนี้ คงสงสัยกันว่าจะเกี่ยวอะไรกับสมุนไพรที่เป็นพืชผัก ขอบอกให้รู้กันทั่วไปว่า ในกฎหมายนี้จุดสำคัญอยู่ตรงมาตรา ๙ ด้วย กล่าวว่า การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ มี ๕ ข้อ (๑) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช (๒) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (๓) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ (๔) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ (๕) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้น สมุนไพรที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ รวมทั้งจุลชีพต่างๆ ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ ดังนั้น ในทางภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยก็ไม่สามารถมาขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะถ้าเกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ จะไม่ให้การคุ้มครองเลย กฎหมายฉบับนี้ถือว่าดี และถ้าใครคิดแก้ไขให้แย่ลง มิตรรักสมุนไพรต้องจับตาไว้อย่าให้เป็นการนำเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมาเป็นสมบัติธุรกิจ ลองนึกดู สมุนไพรที่ช่วยเหลือชีวิตมนุษย์สืบต่อมาแต่บรรพชน วันดีคืนดีแค่มีนักวิจัยทำการสกัดสารจากสมุนไพรชนิดหนึ่งได้ แล้วครอบครองไว้ผู้เดียวเช่นนี้ ภูมิปัญญาที่มีไว้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น แน่นอน หากมีนักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์ขึ้นใหม่เอี่ยมและเป็นการประดิษฐ์ขั้นสูงที่พิสดาร พิสูจน์ได้ว่าเข้าข่ายคุ้มครองสิทธิบัตรได้ อันนี้ก็เป็นไปตามกฎหมายที่คนทั่วไปย่อมยอมรับได้ มูลนิธิสุขภาพไทยเคยนำเสนอตำรับยาดั้งเดิมที่มีส่วนผสมกัญชามาแล้ว แต่ก็ขอแนะนำไว้อีกสักตำรับ ให้เห็นถึงความร่ำรวยภูมิปัญญาสมุนไพรของเราอีกสัก ๑ ตำรับ ซึ่งตำรับยานี้ชื่อว่า ยาปราบชมพูทวีป แต่ชื่อนี้ในโบราณมีชื่อซ้ำกัน แต่ส่วนประกอบยาต่างกัน สูตรตำรับแรกยาปราบชมพูทวีป นี้อยู่ในฐานะรายการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ซึ่งตัวยาไม่มีกัญชา สูตรตำรับในผงยา ๔๖๕ กรัม ประกอบด้วย ๑) เหงือกปลาหมอ (ทั้งต้น) พริกไทยดำ ใบกัญชาเทศ หนักสิ่งละ ๑๒๐ กรัม ๒) หัศคุณเทศ ดอกกานพลู หนักสิ่งละ ๑๐ กรัม หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอเทศ เนื้อลูกสมอไทย รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิง หนักสิ่งละ ๘ กรัม ๓) เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนแกลบ หนักสิ่งละ ๖ กรัม เทียนดำ โกฐสอ โกฐเขมา ลูกพิลังกาสา ลำพันหางหมู หนักสิ่งละ ๔ กรัม ๔) ดอกดีปลี การบูร หนักสิ่งละ ๒ กรัม ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน หนักสิ่งละ ๑ กรัม ปัจจุบันผลิตเป็นยาแคปซูล หรือยาลูกกลอน ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรกและอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ กินครั้งละ ๗๕๐ มิลลิกรัม – ๑.๕ กรัม วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน มีข้อห้ามใช้คือ ห้ามใช้กับภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อ แบคทีเรียที่มีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว เป็นต้น ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ เด็ก และตำราโบราณชื่อเดียวกัน ยาปราบชมพูทวีป (ยาแก้สารพัดโรค) สรรพคุณ แก้โรคกุฏฐัง ๓๐ จำพวก ตามืด ตาฟาง หูตึง หูหนวก คุดทะราด ๓๐ จำพวก พุงโร ไส้พอง ไส้เลื่อน ท้องใหญ่ ท้องมาน หืด ๓๐ จำพวก ขี้เรื้อน ฝีดาษ ลม ๓๐ จำพวก ลมจุก ลมชัก ลมวิงเวียนศีรษะ ลมทั่วสรรพางค์กาย บวมทั้งตัว ลมชักปากเขียว ลมปัตฆาต จามไอ โลหิตมาไม่เสมอ ลมทำให้นอนไม่หลับ ธาตุทั้งสี่ไม่เสมอกัน มือ-เท้าตาย เดินไม่ได้ สูตรยา ๑) ลูกจันทน์ ๑ เฟื้อง ๒) ดอกจันทน์ ๑ สลึง ๓) กระวาน ๑ สลึงเฟื้อง ๔) การบูร ๒ สลึง ๕) ดีปลี ๒ สลึงเฟื้อง ๖) พิลังกาสา ๓ สลึง ๗) ลำพันหางหมู ๓ สลึงเฟื้อง ๘) โกฐสอ ๑ บาท ๙) โกฐเขมา ๑ บาท ๑๐) เทียนดา ๑ บาทสลึง ๑๑) เทียนแดง ๑ บาท สลึงเฟื้อง ๑๒) เทียนตั๊กแตน ๑ บาท ๒ สลึงเฟื้อง ๑๓) เทียนแกลบ ๑ บาท ๓ สลึง ๑๔) ขิงแห้ง ๑ บาท ๓ สลึงเฟื้อง ๑๕) เจตมูลเพลิง ๒ บาท ๑๖) บุกรอ ๒ บาท ๑ สลึงเฟื้อง ๑๗) กานพลู ๒ บาท ๒ สลึง ๑๘) สมอไทย ๓ บาท ๑๙) สมอเทศ ๓ บาท ๒๐) หัสคุณเทศ ๕ บาท สลึงเฟื้อง ๒๑) พริกไทยร่อน ๓๑ บาท ๒๒) ใบกัญชา ๓๑ บาท ๒ สลึง ๒๓) เหงือกปลาหมอทั้งห้า ๓๒ บาท วิธีปรุง นำยาทั้งหมดบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทรา รับประทาน สำหรับคนที่เป็นโรค ให้กิน ๓เวลา ถ้ามีไข้ห้ามกินยานี้ สำหรับกินเพื่อบำรุงร่างกายให้กิน ๒ เวลา หลังอาหารและก่อนนอน ภูมิปัญญากัญชา ควรคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนาใช้ประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73347431172927_1_1024x768_.jpg) ‘เอื้องหมายนา’ ดอกไม้คารวะควาย และสมุนไพรน่าใช้ ลมหนาวมาลมฝนก็ยังไม่ยอมลา ทิวทัศน์และบรรยากาศยามนี้เป็นช่วงเวลาสุดแสนสำราญใจ ถ้าย้อนยุคไปในวัฒนธรรมการทำไร่ไถนา ฤดูกาลเข้าแล้งก็แสดงว่าเสร็จสิ้นการทำนากำลังเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชนามว่า เอื้องหมายนา คาดว่าจะมาจากพิธีกรรมดั้งเดิมอย่างหนึ่ง คือ ประเพณีการสู่ขวัญควาย เนื่องจากชาวนาอาจจะดุด่าทุบตีควายบ้างจากการไถพรวนในฤดูการทำนา เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่ สามารถถอนกล้าไปดำนาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการใช้แรงงานของควาย วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรามีความใส่ใจและอยู่ร่วมโลกกับสรรพสัตว์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ชาวนาก็จะทำพิธีอย่างหนึ่งในการขอขมาควาย หรือที่เรียกว่า “สู่ขวัญควาย” เป็นการให้ความสำคัญของสัตว์เลี้ยง ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนา ไปปักไว้ ๔ ทิศของบริเวณพื้นที่นา ในเวลาเดียวกันภูมิปัญญาดั้งเดิมก็สืบต่อมาว่า เอื้องหมายนาที่ปักไว้นี้มีประโยชน์ในการป้องกันวัชพืชของต้นข้าว เช่น เพลี้ย บั่ว ที่จะมาทำลายต้นข้าว ในอดีตเมื่อได้ทำเช่นนี้ก็ช่วยให้ต้นข้าวออกรวงดี ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ “เอื้องหมายนา” เอื้องหมายนา มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Crape ginger, Malay ginger, Spiral Flag, Wild ginger มีการกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย จึงมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น เอื้อง อีเอื้อง (ภาคอีสาน) เอื้องช้าง (นครศรีธรรมราช) เอื้องต้น (ยะลา) เอื้องเพ็ดม้า (ภาคกลาง) เอื้องดิน เอื้องใหญ่ บันไดสวรรค์ (ภาคใต้) ซูแลโบ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) ชู้ไลบ้อง ซูเลโบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) กู่เก้ง (ม้ง) ชิ่งก๋วน (เมี่ยน) ลำพิย้อก (ลั้วะ) ดื่อเหม้ (ยึ) (ปะหล่อง) จุยเจียวฮวย (จีน) เป็นต้น แต่เดิมเอื้องหมายนาเคยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชเหง้าวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) แต่ปัจจุบันได้มีการจัดสมุนไพรตัวนี้ออกมาอยู่ในวงศ์พิเศษ คือ Costaceae เนื่องจากสารสำคัญของพืชวงศ์นี้ต่างจากวงศ์ขิงข่านั่นเอง เอื้องหมายนาเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี และมีดอกสวยงาม นำมาปักแจกันเป็นไม้ประดับบ้านได้ด้วย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cheilocostus speciosus (J.K?nig) C.Specht ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ มีเหง้าใต้ดิน ใช้เป็นไม้ประดับได้ เจริญได้ดีทั้งในที่ได้รับร่มเงาบ้าง หรือกลางแสงแดดจัดที่มีความชื้นสูง เอื้องหมายนาเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและเป็นพืชประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะนิวกินี ในทวีปอเมริกาใต้ก็พบเห็นได้เช่นกัน เอื้องหมายนามีลำต้นอวบน้ำ เหง้าใต้ดินสะสมอาหาร กาบใบปิดโอบรอบลำต้น มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ใบของเอื้องหมายนาเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ ปลายใบเรียวแหลม ใต้ใบมีขนละเอียดสีขาวคล้ายกำมะหยี่ ดอกของเอื้องหมายนาออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ดอกตูมจะมีกาบสีแดงคล้ำหุ้มอยู่ ดอกติดกันแน่น ดอกย่อยเป็นรูปกรวยสีขาวมี ๓ กลีบ กลีบหนึ่งมีขนาดโตและกว้างเป็นจะงอย ดอกเอื้องหมายนาจะทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนฝักและผลเมื่อสุกจะเป็นรูปไข่มีสีแดงสด เมล็ดมีสีดำ ขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอหรือเพาะเมล็ด ในการใช้ประโยชน์นั้น เหง้าหรือหัวมีแป้งถึง ๖๐% จึงนำมาใช้เป็นอาหารกินได้และมีเส้นใยมากช่วยขับถ่าย ในประเทศ เช่น มาเลเซีย อินเดียและฟิลิปปินส์ ใช้หน่ออ่อนใส่ทำแกงกินหรือกินเป็นผัก ในความรู้สมัยใหม่เหง้าและเมล็ดมีสารไดออสจีนิน ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตียรอยด์ เมล็ดมีกรดไขมันที่มีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตาม ขอเตือนไว้ด้วยว่า เหง้าสดจะมีพิษ ต้องทำให้สุกก่อน เพราะหากกินสดๆ ในปริมาณมากจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง และทำให้แท้งลูกได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ขอย้ำว่าหากนำมากินต้องทำให้สุกก่อน นอกจากนี้ ในมาเลเซียใช้ต้นเอื้องหมายนาในพิธีกรรมต่างๆ สำหรับสรรพคุณทางยาสมุนไพร เหง้าสด มีรสฉุน เย็นจัด สามารถใช้ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบบวมมีหนอง และฆ่าพยาธิ น้ำคั้นจากหัวสด (กินปริมาณไม่มาก) ใช้เป็นยาขับลม ใช้เป็นยาแก้วิงเวียน เหง้ากินกับหมากแก้ไอ ราก เป็นยาขม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง ใบใช้แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบและยอดอ่อนใช้แก้โรคตาและหู น้ำต้มใบและใบขยี้ใช้ทาแก้โรคผิวหนังและลดไข้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานใช้เอื้องหมายนาเป็นส่วนประกอบในตำรับรักษาโรคต่างๆ เช่น ใช้แก้ “โม้คาง” (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) โดยให้เอา เคือลิ้นแฮด (เถารสสุคนธ์) หัวเอื้อง (เอื้องหมายนา) คือหมากยาง (เถาคุย) ยาหัว (ข้าวเย็นใต้) ดูกควายด่อน (กระดูกควายเผือก) ต้มกินดี ใช้เป็นส่วนประกอบใน ยาแก้กินผิด ให้เอา หัวเอียง (เอื้อง) ๑ หัว ทูน ๑ ฮาก บ้งซันขาว ๑ ฮาก ก้ามปู ๑ ฮา อมไอ ๑ ฝนให้กินแลฯ ยาแก้ตุ่มออกหน้า ให้เอา ลำเอื้องเผา บิดเอาน้ำ ถ้ามีอาการในตอนไหนให้เอาลำต้นเอื้องมาบีบทาในตอนนั้น ถ้าเป็นผู้หญิงให้บิดลำต้นเพื่อเอาน้ำไปทางด้านขวา ถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ชายให้บิดลำต้นเอาน้ำไปทางด้านซ้าย เป็นต้น การใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ตัดทั้งต้นที่มีช่อดอกมาประดับแจกัน ให้ความสวยงามทั้งต้นและกาบประดับ หรือปลูกเป็นไม้ประดับได้ ปัจจุบันมีการนำเอาสายพันธุ์จากอินโดนีเซียเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับแทนเอื้องหมายนาที่เป็นของพื้นเมืองในไทย ซึ่งเอื้องหมายนาของอินโดนีเซียเป็นคนละชนิดกับไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Costus woodsonii Maas และดอก ใบและเหง้านำมาบดให้ละเอียดผสมน้ำแล้วนำไปลาดเทลงแปลงนาแก้ปัญหาการระบาดของหอยเชอร์รี่ได้ เนื่องจากเอื้องหมายนามีสาร แทนนิน ทำให้หอยตายและไข่ฝ่อ เอื้องหมายนา เป็นทั้งอาหารแต่ต้องทำให้สุก ทำแกงเลียง แกงส้ม เป็นยาสมุนไพร เป็นไม้ประดับสวยงาม และในพิธีกรรมที่รักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม แม้แต่ชาวไทลื้อก็ประกอบพิธีกรรมก่อนการทำนา (พิธีแฮกข้าว) โดยนำเอื้องหมายนามัดติดกับตะแหลวหรือแฉลวร่วมกับดอกปิ้งแดง แล้วนำไปใส่ไม้ปักไว้ที่ไร่นาก่อนจะปลูกข้าว เป็นการสื่อถึงเจ้าที่ ขอจะทำการปลูกข้าวแล้ว โดยเชื่อว่าช่วยให้ข้าวงอกงามดี เอื้องหมายนาจึงเป็นสมุนไพรน่าปลูกน่าใช้ชนิดหนึ่ง ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 มกราคม 2562 15:23:23 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76215600346525__1_Copy_.jpg) กระท่อม-กัญชา เป็นยาวิเศษหรือยาเสพติดร้ายแรง ? มีอาจารย์ฝรั่งชาวอเมริกันที่เป็นนักภาษาศาสตร์ระดับโลกคนหนึ่งชื่อ ดร.วิลเลียม เจ. เกดนีย์ เคยกล่าวว่า เรื่องราวของวัฒนธรรมไทยทั้งหมดอยู่ในเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เกดนีย์คือใคร คนไทยเดี๋ยวนี้คงไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อจิตร ภูมิศักดิ์ คนไทยย่อมรู้จักบ้าง เกดนีย์คนนี้แหละเป็นผู้เคยดูแลอุปถัมภ์จิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงที่เขามาสอนหนังสือและทำวิจัยด้านไทยคดีที่เมืองไทยอยู่นาน จนได้ผู้หญิงไทยไปเป็นพจนานุกรมฉบับแนบกายกลับอเมริกาไปด้วย ฮา! เรื่องราวของกระท่อม-กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวไทยและทหารไทยที่สอดแทรกอยู่มากมายในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น ตอนขุนแผนประชุมพลยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่
จะเห็นได้ว่ากองทัพไทยไม่ใช่เดินด้วยท้องเท่านั้น แต่ต้องเดินด้วยกระท่อม-กัญชาด้วยนะ อิ อิ… เรียกว่า “คอนกระสอบหอบกัญชา…ตะพ่ายใบกระท่อม” ชยันโตโห่เอาฤกษ์เอาชัยยกทัพออกมาจากวัดใหม่ชัยชุมพลกันเลย หน้าที่ของใบกระท่อมในกองทัพนั้นชัดเจนอยู่แล้วคือ ช่วยให้พลทหารมีเรี่ยวแรงเดินกลางแดดร้อนๆ เป็นกระบวนทัพไม่แตกแถวหรือทิ้งช่วงกัน ดังกลอนว่า “ถุนกระท่อมในห่อพอตึงตึง ค่อยมีแรงเดินดึ่งถึงเพื่อนกัน” คำว่า “ถุน” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง “เสพพอแก้ขัด” ไม่ได้เสพเอาจริงเอาจัง ซึ่งถ้าไม่ได้ “ถุนกระท่อม” เดินทัพ มีหวังหัวแถวกับหางแถวคงไปกันคนละทิศคนละทาง ฮา! ส่วนหน้าที่ของกัญชา ก็ตอนหยุดพักพลเสพคลายเครียดที่เหนื่อยล้าเดินทัพมาทั้งวัน
นี่ละครับชีวิตทหารไทยย้อนยุค ซึ่งหาดูได้จากภาพทหารลิงดูดบ้องกัญชาตามฝาผนังวัดพระแก้ว แต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน อุปกรณ์เสพกัญชาคลาสสิคกว่า คือเป็น “ตุ้งก่า” หรือหม้อสูบกัญชาของแขก อย่างแขกเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ในเรื่อง “ระเด่นลันได” ซึ่งนางประแดะคอยจุดชุดกัญชาที่เป็น “หม้อตุ้งก่า” ถวายผัว ดังกลอนว่า
ข้อสังเกตในที่นี้คือ กัญชาคู่กับของหวาน จึงไม่ต้องกลัวว่าจะสูบกัญชาเพลินจนขาดน้ำตาล แล้วแต่ว่าจะสะดวกของหวานแบบไหน จะเป็นอ้อยหรือพุทรากวนก็ไม่เกี่ยง ถ้าสมัยนี้ก็อาจจะใช้ลูกอมจูปาจุ๊ปส์หรือช็อกโกแลตแทนก็ได้ ฮา แต่กัญชาไม่ใช่ว่าจะเสพติดกันง่ายๆ เพราะหลายคนก็คงไม่ชอบ เช่น มีบรรยายไว้ตอนพลายชุมพลจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวเป็นแขกชวากับจหมื่นศรีไปล่อจับเถรขวาดที่ทำเสน่ห์พลายงาม แผนขั้นแรกคือ ประเคนหม้อตุ้งก่าจุดกัญชาถวายพระ กะมอมกัญชาก่อน แต่พระแสบคอไม่เล่นด้วย
พอแผนขั้นแรกคือมอมกัญชาจ้าหลิ่ม (พวยใส่ใบกัญชา) ไม่สำเร็จ แผนขั้นสอง คือมอมยาฝิ่น ปรากฏว่าเถรขวาดติดฝิ่นงอมแงม เผลอคายความลับอย่างลืมตัว ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมยาเสพติดในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องนี้บอกเราว่า กระท่อม-กัญชา เสพติดยากกว่าติดฝิ่นกินเหล้าหรือติดหมาก และบุหรี่เสียอีก มีตัวอย่างวรรณกรรมสะท้อนสังคมไทยให้เห็นว่าติดหมากขนาดไหน แต่ไม่ได้หมายว่า เหล้า กัญชา ยาฝิ่นเป็นของดี ตอนหน้ามาติดตามนะ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94404612564378__2_696x364_1_Copy_.jpg) กระท่อม-กัญชา เป็นยาวิเศษหรือยาเสพติดร้ายแรง ในวัฒนธรรมไทย (๒) ความตอนที่แล้ว เล่าถึงวรรณคดีไทยขุนช้างขุนแผนตอนพลายชุมพลจับเสน่ห์ โดยปลอมตัวเป็นแขกชวากับจหมื่นศรีไปล่อจับเถรขวาดที่ทำเสน่ห์พลายงาม แผนขั้นแรกคือ ประเคนหม้อตุ้งก่าจุดกัญชาถวายพระ กะมอมกัญชาก่อน แต่พระแสบคอไม่เล่นด้วย ความว่า
เมื่อแผนขั้นแรกคือมอมกัญชาจ้าหลิ่ม (พวยใส่ใบกัญชา) ไม่สำเร็จ แผนขั้นสองคือมอมยาฝิ่น ปรากฏว่าเถรขวาดติดฝิ่นงอมแงม เผลอคายความลับอย่างลืมตัว จากประสบการณ์ทางวัฒนธรรมยาเสพติดในวรรณกรรมประจำชาติเรื่องนี้บอกเราว่า กระท่อม-กัญชา เสพติดยากกว่าติดฝิ่น กินเหล้าหรือติดหมาก บุหรี่เสียอีก ยังมีตัวอย่าง ดูอย่างนางทองประศรีมารดาขุนแผน ตื่นเช้ามาไม่ทันล้างหน้าก็ตำหมากใส่ปากแล้ว
แต่ก็สะกิดเตือนไว้แน่นอน เหล้า กัญชา ยาฝิ่น ย่อมไม่ใช่ของดีตามค่านิยมไทย ดังเช่น พ่อแม่ไม่ยกลูกสาวให้คนกินเหล้าเมากัญชาติดยาฝิ่น ดังเนื้อความตอนนางศรีประจันสอบถามความประพฤติของพลายแก้วที่จะมาเป็นลูกเขยว่า
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๘๗ พืชกระท่อม-กัญชายังไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำลายสุขภาพหรือผิดศีลธรรมร้ายแรงเหมือนกับเหล้าบุหรี่ด้วยซ้ำ พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๘๗ และพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ.๒๔๘๗ ซึ่งออกมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เพราะรัฐบาลยุคนั้นต้องการเก็บภาษีผูกขาดจากฝิ่นให้มากขึ้น จึงต้องกำจัดคู่แข่งซึ่งปลูกง่าย เสพง่ายแต่ไม่มีรายได้เข้ารัฐ ถึงกระนั้น กฎหมายทั้งสองฉบับก็ยังอนุญาตให้ใช้พืชสมุนไพรทั้งสองชนิดในการประกอบโรคศิลปะได้ โดยเฉพาะแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ที่มีอยู่ทั่วทุกท้องถิ่นทั้งประเทศไทย มีตำรับยาดีที่ประกอบด้วยส่วนพืชกระท่อม-กัญชา ทั้งที่เป็นยาตำราหลวงและพื้นบ้านนับร้อยตำรับที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยกลับถูกตัดตอนทำหมันโดยรัฐไทยที่ขาดความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ ตีตรวนพืชกระท่อม-กัญชา จากที่เคยเป็นสมุนไพรให้คุณทางการแพทย์อย่างอนันต์ กลายเป็นยาเสพติดให้โทษมหันต์ หรือพืชอาชญากรอุกฉกรรจ์ไปเลย กล่าวเฉพาะพืชกระท่อมเอง สหประชาชาติมิได้ประกาศให้อยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์แต่อย่างใด นอกจากพม่า มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียแล้ว ก็ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ตีตราพืชกระท่อมเป็นพืชผิดกฎหมายเลย ยกเว้นประเทศไทยซึ่งเป็นถิ่นภูมิปัญญาพืชกระท่อมแท้ๆ คิดดูเถอะ เมืองไทยมีข้อมูลการใช้พืชกระท่อมตามภูมิปัญญาพื้นบ้านมากที่สุด แต่เรากลับไม่ได้รับประโยชน์จากพืชกระท่อมเลย ผิดกับประเทศที่ไม่เคยมีภูมิปัญญากระท่อมในอดีต อย่างญี่ปุ่นก็ยังชิงจดสิทธิบัตรสารไมตร้าจีนีน (7-hydroxy mitragynine) เป็นยาระงับปวดน้องๆ มอร์ฟีนเลยทีเดียว ส่วนกัญชานั้นหลายประเทศ ทั้งในญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกาและยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของกัญชาในเชิงรุก ขณะที่เมืองไทยซึ่งเป็นแหล่งต้นพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดในโลก คือ พันธุ์หางกระรอก ในชื่อพฤกษศาสตร์ว่า แคนนาบิส ซาติวา (Cannabis sativa L. ) กลับยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ว่าจะปลดล็อกกัญชาไปในทิศทางใด ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและราคาถูกที่สุดโดยไม่ตกไปอยู่ในมือกลุ่มทุนผูกขาดทางการแพทย์ ถ้าว่ากันโดยสปีชีส์ (species) แล้ว นักพฤกษศาสตร์ย่อมรู้ดีว่า พืชวัตถุใดที่มีชื่อสปีชีส์ภาษาละตินว่า “sativa , sativum หรือ sativus” แสดงว่า พืชชนิดนั้นกินเป็นอาหารได้อย่างปลอดภัย (Eatable product) เช่น ข้าวเจ้า (Oryza sativa), ข้าวโอ๊ต (Avena sativa), เกาลัด (Castanea sativa), กระเทียม (Allium sativum), ผักชี (Cariandrum sativum) และหญ้าฝรั่น (Crocus sativus) เป็นต้น การสร้างมายาคติว่าการปลดล็อกกระท่อม-กัญชาจะทำให้มีคนขี้ยามากขึ้น และมีการใช้ในทางที่ผิดมากขึ้น โดยลืมไปว่ากระท่อม-กัญชาเป็นสมุนไพรที่ใช้เป็นยาดีได้ด้วย ไม่ใช่เหล้าบุหรี่ที่มีแต่โทษ การล็อกหรือผูกขาดกระท่อม-กัญชาเท่ากับเป็นการปิดกั้นไม่ให้หมอไทย หมอพื้นบ้านได้ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาด้านบวกของสมุนไพรทั้งสองนี้ได้อย่างเต็มที่ จึงเปิดช่องให้พวกขาดความรู้นำไปใช้ในทางที่ผิดด้านเดียว จนฝ่ายความมั่นคงหวาดผวาหรือเกิดภาพหลอนจากมายาภาพที่พวกตนสร้างขึ้นเอง โดยที่หารู้ไม่ว่า ทั้งการปิดกั้นหรือการผูกขาดจะก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์ยิ่งกว่าการคลายล็อกและการเปิดกว้างเสียอีก มูลนิธิสุขภาพไทยลงภาพกัญชาเมื่อครั้งที่ผ่านมาคลาดเคลื่อน ได้แก้ไขภาพที่ถูกต้องในครั้งนี้ จึงขออภัยผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ หวังใจว่ากระท่อม-กัญชาจะกลับมาสู่การใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบำบัดรักษาโรคและดูแลสุขภาพให้กับคนไทยได้วันหน้า (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29570811159080__1_Copy_.jpg) เห็ดขี้ควาย บัญชียาเสพติดที่ฝรั่งนำไปจดสิทธิบัตร นอกจากรอลุ้นปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแล้ว วันนี้ชวนผู้อ่านมาฟังเรื่องราวของสมุนไพรจากธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่จัดว่าเป็นยาเสพติดเหมือนกัญชา กระท่อม และยังเหมือนกันที่เป็นสมุนไพรตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยด้วย นั่นคือ เห็ดขี้ควาย ประเทศไทยไม่ค่อยเหมือนใครในโลก กระท่อมก็จัดให้เป็นยาเสพติดจนปิดกั้นการค้นคว้าวิจัยนำมาใช้ประโยชน์ เห็ดขี้ควายที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านนำมาเป็นยารักษาโรค แต่ก็จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกต้องจำคุกตั้งแต่ ๒-๑๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐-๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในบางประเทศมีการศึกษาวิจัยเห็ดขี้ควายกันนานแล้ว เช่น การพัฒนายาจากเห็ดขี้ควายในอเมริกามีการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสารที่ได้จากเห็ด คือ ไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควาย ซึ่งจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๕๙ หรือ พ.ศ.๒๕๐๑ (เลขสิทธิบัตร US3183172A) ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๘๑ หรือ พ.ศ.๒๕๒๔ มีการจดสิทธิบัตรในการพัฒนาสารสเคอร์โรเตีย (sclerotia) ซึ่งได้จากสารไซโรไซ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาจากสารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับเห็ดชนิดอื่นๆ ด้วย นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างในต่างประเทศที่ให้ความสนใจการพัฒนาสารจากเห็ดขี้ควายเพื่อใช้เป็นยาแผนปัจจุบัน และในปัจจุบันมีผู้พยายามพัฒนายาจากเห็ดขี้ควาย เพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อให้คลายเครียด ลดความซึมเศร้า เห็ดขี้ควายคืออะไร ที่เรียกชื่อเช่นนี้ก็เพราะเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่บนกองขี้ควาย แต่ต้องเข้าใจว่าเห็ดที่ขึ้นบนกองมูลสัตว์นี้มีอยู่หลายชนิด ในทางวิชาการได้แยกแยะไว้แล้วว่า เห็ดที่นำใช้ประโยชน์ คือ ชนิดที่อยู่ในสกุล Psilocybe เช่น Psilocybe cubensis, Psilocybe semilanceata, Psilocybe semilanceata, Psilocybe azurescens เป็นต้น เห็ดขี้ควายชนิดที่พบได้ทั่วไปและนิยมนำมาใช้เป็นยากล่อมจิต คือ ชนิด Psilocybe cubensis เห็ดขี้ควายชนิดนี้มีทั้งเก็บมาจากธรรมชาติและเพาะเลี้ยง มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ magic mushroom เป็นเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาท พบได้ตามกองขี้ควายแห้ง จึงเป็นที่มาของชื่อเห็ดชนิดนี้ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ หมวกดอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ทั้งดอกมีสีอ่อน แต่กลางหมวกมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ใต้หมวกดอกมีลักษณะเป็นครีบ มีสีน้ำตาลดำ บริเวณก้านใกล้กับหมวกดอกมีวงแหวนปรากฏอยู่ ในอดีตนานนับพันปี กลุ่มคนที่อยู่ในอเมริกาเหนือใช้เป็นยากล่อมประสาท ทำให้เกิดการฮึกเหิม มีความกล้าออกไปสู้ศึกสงคราม ในระยะต่อมาได้มีการนำมาใช้เป็นยาระงับประสาท และในตำรายาไทยก็มีการกล่าวถึงด้วยว่า มีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย หมอไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือนอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์ ที่สำคัญยิ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่างๆ มากกว่า ๒๐ ตำรับ ที่มีการปรุงยากันมาก ได้แก่ ตำรับยาแก้ไข้หมากไม้ (ไข้ที่เป็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มักเป็นในช่วงที่มีผลไม้ออกมากๆ ไข้ชนิดนี้เมื่อเป็นแล้วห้ามทานผลไม้) ยกตัวอย่างยาแก้ไข้หมากไม้ ให้เอาเห็ดขี้ควายปิ้งให้แห้ม (เกรียม) ฮากข้าว ฮากแตงกัว (แตงกวา) ฝนกินดีแล ยารักษาโรคผิวหนัง ที่มีการใช้เห็ดขี้ควาย เช่น ยาออกสุก (เป็นอีสุกอีใส) ตุ่มบ่ขึ้น (ตุ่มไม่ออก) ให้เอา ไข่เป็ด ๑ เห็ดขี้ควาย ๑ ทาดีแล หรืออีกตำรับให้ใช้ ฮากแค้งขม (มะแว้ง) เห็ดขี้ควาย ขนบั่วไก่ขาว (ขนอ่อนของไก่ชี) ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม ทาดีแล ย่าฆ่าตุ่ม (เมื่อเป็นไข้หมากไม้ ต้องมีตุ่มออกมาลำตัว) ให้เอาเห็ดขี้ควาย ยางแมงวัน (ยางจากต้นมะม่วงหัวแมงวัน) มาขั้ว (ใส่กระเบื้องหรือกระทะตั้งไฟให้ร้อน แล้วคนไปจนสุกหรือเกรียม) สมกัน (ผสมกัน) ทาดีแล ยาลวงแก้วตาควาย (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนตาควาย) ให้เอา เห็ดขี้ควาย ๑ คาบงู ๑ เอาเถ้าเขาควายขาด เผาดอม (ด้วย) กันใส่ดี ในท้องถิ่นอีสานบ้านเฮานั้น เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ เคยมีการนำมาใส่ในอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกิน แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่กินหรือสูบเข้าไปปริมาณมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน เห็นภาพและแสงต่างๆ มีลักษณะอาการคล้ายกับเสพแอลเอสดี สารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอนคือสาร ไซโลไซบิน (Psilocybin) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่คล้ายสารเซอโรโทนิน (Serotonin) แล้วสารตัวนี้ไปทำให้ไปรบกวนการทำงานของเซอโรโทนินที่เป็นธรรมชาติในร่างกายเรา ที่ทำให้คนที่กินเข้าไปควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ อาจแรงถึงทำให้มีอารมณ์ก้าวร้าวและฆ่าตัวตายได้ มีการประมาณการว่า กินขนาดที่ทำให้เกิดพิษได้ คือ กินหรือเสพมากกว่า ๑๕ ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป ๑-๔ กรัม แต่ในปัจจุบันสารไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควายที่ทำให้มึนเมาประสาทหลอนนี้ ถูกนักวิจัยต่างชาติจดสิทธิบัตรไว้ในประเทศของเขาแล้ว แต่ในประเทศไทยทางมูลนิธิสุขภาพไทยกำลังตรวจค้นดูว่า มีการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรไปหรือยัง ถ้ามีการอนุญาตก็จะเกิดคำถามคำโตเช่นกัญชาว่า รับจดไปได้อย่างไร ในเมื่อเห็ดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ และเป็นความรู้ที่ใช้บำบัดรักษาโรคดังได้ยกตัวอย่างไว้แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๕๒ ไม่คุ้มครอง ผู้นิยมสมุนไพรต้องช่วยกันติดตามคุ้มครองสิทธิภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยให้ดี ขณะนี้ต่างชาติกำลังพัฒนายาจากเห็ดขี้ควายเพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และเพื่อเป็นยาคลายเครียด ลดความซึมเศร้า สารไซโรไซบินและไซโรซินจะเป็นสารเสพติด แต่ถ้าดูจากความรู้การใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ตัวเห็ดขี้ควายทั้งดอกไม่ใช่สารเสพติด หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องน่าจะมาช่วยกันเร่งเก็บและจัดระบบความรู้ ทำการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง อย่าให้ต่างชาติหยิบฉวยไปใช้ได้ง่ายๆ หวังว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี จะมีส่วนช่วยทำให้สัมฤทธิผลโดยเร็ว (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/60860427510407__2_1_Copy_.jpg) บัว ล้ำค่า ราคาประหยัด คนไทยคุ้นเคยกับบัวหรือดอกบัว เพราะนำมาใช้ประโยชน์มากมาย อาจนึกไปว่าบัวนั้นเป็นพืชน้ำที่มีในไทยหรือในอินเดียต้นทางธรรมของพระพุทธศาสนาที่มีมากว่า ๒,๖๐๐ ปีแล้วเท่านั้น แต่ในวงการนักพฤกษศาสตร์โลกได้พยายามค้นหาแหล่งกำเนิดบัว พบหลักฐานสำคัญ คือ ซากฟอสซิล ((fossil) หรือซากดึกดำบรรพ์ของบัวหลวงจำนวนมากในทวีปอเมริกาเหนือ และในยุโรป เก่าแก่แค่ไหน? ขอบอกว่าไม่ใช่เก่าแก่หลักพันปี แต่ที่ประมาณการคือ มีมาแล้ว ๗๐-๑๓๕ ล้านปี ในประเทศญี่ปุ่นก็พบฟอสซิลบัวหลวงอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ ปี และสำหรับบัวสายก็พบซากฟอสซิลเก่าแก่ไม่แพ้กัน คือ ประมาณ ๑๑๕-๑๒๕ ล้านปีมาแล้ว นอกจากพบซากฟอสซิลในญี่ปุ่นแล้ว ยังพบเมล็ดบัวหลวงที่กลายเป็นหินกระจัดกระจายในประเทศจีน และที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่งตรงที่มีการขุดค้นในเหมืองเก่าแห่งหนึ่งแถบแมนจูเรีย พบเมล็ดบัวหลวงแห้ง จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจหาอายุเมล็ดแห้งนี้ พบว่ามีอายุเก่าแก่ประมาณ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี ต่อมานักพฤกษศาสตร์ได้ลองนำเมล็ดบัวหลวงไปเพาะ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลา ๑๘ เดือน เมล็ดบัวนี้เติบโตได้ให้ดอกด้วย แต่มีดอกที่เล็กกว่าดอกบัวหลวงในปัจจุบัน มีกลีบดอกเพียง ๕-๗ กลีบ แต่ให้สีชมพูที่เหมือนกับดอกบัวในยุคปัจจุบัน การค้นพบนี้แสดงให้มนุษย์รู้ว่า เมล็ดบัวสามารถพักตัวและยังมีชีวิตอยู่รอดได้ยาวนานหลายพันปี ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ ที่วัฒนธรรมของชาวจีนถือว่าบัวและดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของสิริมงคล เช่น ภาพบัวที่แสดงถึงการต่อเนื่องไม่จบสิ้น การรวมกัน การปรองดอง ภาพฝักบัวหมายถึงอวยพรให้มีบุตรในเร็ววัน ภาพเด็กอุ้มปลาและมีดอกบัวก็จะหมายถึงให้มีเงินทองใช้ติดต่อกันทุกๆ ปีไม่ขาดมือ เป็นต้น ในวัฒนธรรมอียิปต์ ถือว่า บัวเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาบูชาเทพเจ้า และดอกบัวเองก็ยังนับถือว่าเป็นเทพเจ้าด้วย และชาวอียิปต์ซึ่งนิยมชมชอบสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในแม่น้ำไนล์ ก็ถือว่าบัวที่ขึ้นตามริมน้ำไนล์เป็นสิ่งที่ดีงาม เพราะกระแสน้ำไนล์ชำระล้างอยู่ตลอดเวลาจึงถือเป็นพืชแห่งความบริสุทธิ์ มีการค้นพบดอกบัวแห้งในสุสานของกษัตริย์แห่งอียิปต์ ซึ่งมีอายุประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี ในตอนแรกเข้าใจว่าเป็นบัวหลวง แต่ภายหลังการตรวจสอบพบว่าเป็นบัวสายดอกสีขาวชนิดดอกบานตอนกลางคืน และจากการสำรวจของนักโบราณคดีก็พบภาพเขียนรูปสระบัวสายในซากอาคารด้วย นี่ย่อมแสดงให้เห็นความสำคัญของบัวที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ในเอเชียบ้านเราทั้งไทย แขก จีน มักจะนิยมบัวหลวงหรือปทุมชาติ ซึ่งอาจเป็นเพราะบัวหลวงมีถิ่นกำเนิดในทวีปนี้ และบัวก็มักเกี่ยวพันกับศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธ เช่น ในรูปปั้นของเทพเจ้าที่เคารพของชาวฮินดูก็พบการนำสัญลักษณ์บัวมาใช้ ส่วนพุทธศาสนาคงไม่ต้องอธิบายมากนัก คนไทยคุ้นเคยกันดีของความหมายและการนำบัวหรือดอกบัวมาบูชา ในด้านประโยชน์ บัวเป็นพืชน้ำที่นำมาใช้ได้ทุกส่วน ประโยชน์ทั้งด้านอาหาร ยาสมุนไพร และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ การนำบัวมากินเป็นอาหาร เช่น กลีบดอกก็กินได้จิ้มน้ำพริก สายบัวมีรสเย็นชื่นใจ ช่วยดับร้อนแก้ไข้ กินสดๆ กินแล้วให้พลังงานต่ำใช้ควบคุมน้ำหนักตัว มีใยอาหารช่วยระบบขับถ่ายได้อีกด้วย เมล็ดกินได้ทั้งเมล็ดอ่อนและแก่ เมล็ดอ่อนนำมากินสด ถ้าไม่เอาดีบัวหรือต้นอ่อนออกก็จะได้รสชาติขมๆ แต่ดีบัวนี้ คือ ยาสมุนไพรอย่างดี ปัจจุบันพบว่า ดีบัวมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์หลายชนิด มีอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อ “เมธิลคอรีพอลลีน” ((methylcorypalline) ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพระดับครัวเรือน ราคาถูกหาง่าย ให้ผลดี และยังมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาว่า ดีบัวมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต และช่วยให้นอนหลับดีด้วย รากบัวหรือเหง้าบัวก็นำมาทำอาหารและเครื่องดื่มกินได้ หากจะย่นย่อสรรพคุณของบัวทุกๆ ส่วน ได้ว่า ใบอ่อน บำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น ใบแก่ แก้ไข้ บำรุงโลหิต นำไปสูบแก้ริดสีดวงจมูกได้ ดอก กลิ่นหอม ใช้แก้ไข้มีพิษร้อน แก้เสมหะและโลหิต บำรุงหัวใจ และบำรุงครรภ์ทำให้คลอดบุตรง่าย และนำมาต้มน้ำกินแก้อ่อนเพลียได้ เกสร หอมเย็น แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้ร้อนในอ่อนเพลีย ถือเป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงประสาทบำรุงกำลัง ดีบัว แก้กระหายน้ำ ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจ แก้น้ำกามเคลื่อนขณะหลับ ก้านดอก ถ้านำมาตากแห้ง ใช้สูบแก้ริดสีดวงจมูก ก้านใบ ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้ ราก ตามสรรพคุณยาไทยมีรสมัน แก้ไข้พิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ชูกำลัง เป็นยาเย็น ใช้บำรุงกำลัง แก้กระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย แก้อาเจียนได้ วิธีทำ นำรากบัวล้างน้ำสะอาด หั่นเป็นแว่น ใส่หม้อต้มกับน้ำให้เดือดสัก ๑๐ นาที แต่งน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มอุ่นๆ หรือใส่น้ำแข็งกินก็ได้ เหง้า นำมาต้มดื่ม ใช้บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอขับเสมหะ แก้อาการอ่อนเพลีย เทศกาลส่งมอบความห่วงใยและความสุขที่กำลังจะมาถึงนี้ หากจะอุดหนุนทั้งภาคเกษตร และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชน และเป็นสัญลักษณ์ดีงาม สิริมงคล บัวต้นสดพร้อมกระถางงามๆ เป็นของขวัญที่ดีต่อใจและให้ความหมายที่ประเสริฐ นำของฝากเช่นเกสรบัวแห้ง เป็นเครื่องดื่มชาชง บำรุงสุขภาพอย่างดีเยี่ยม หรือดีบัวแห้ง ก็คือสมุนไพรที่ดีต่อหัวใจ ของขวัญธรรมชาติ ธรรมดา แต่ล้ำค่า ราคาประหยัดจ้า ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 มกราคม 2562 14:57:47 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84406319798694__1_Copy_.jpg) ฟักทอง หลายคนอาจคิดว่า ฟักทองเป็นพืชถิ่นของไทย แต่ถ้าฉุกคิดถึงเทพนิยายยอดนิยมที่คนทั่วโลกรู้จักมานานนับศตวรรษเรื่อง ซินเดอเรลลา คงเห็นจินตนาการรองเท้าแก้ว และรถฟักทอง นี่ย่อมบอกว่าดินแดนทางตะวันตกต้นทางของเทพนิยายมีต้นฟักทองให้ผลโตสีเหลืองอร่ามหรือสีเหลืองส้มๆ มานมนานแล้ว นักพฤกษศาสตร์บอกว่า ฟักทองมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นไม้เถาที่ขึ้นได้ทั้งในเขตร้อนไปจนถึงขึ้นได้ในเขตหนาว เราจึงเห็นฟักทองแพร่กระจายไปทั่วโลก หากท่องเที่ยวต่างเมือง คิดจะกินฟักทองผัดไข่ก็หากินได้ไม่ยากนัก ฟักทองหาง่ายขนาดนี้ และยังมีประโยชน์มากมายสำหรับคนทุกเพศวัยด้วย ไม่ได้กล่าวเกินจริง เริ่มจากในยุคที่ทุกคนมีสมาร์ตโฟน ใช้คอมพิวเตอร์ เปิดแท็บเล็ตกันวันละหลายชั่วโมง ดวงตาของคนวัยเด็กไปจนวัยเกษียณต้องการอาหารสมุนไพรที่คอยปกป้องหรือชะลอการเสื่อมถอยของดวงตา ซึ่งฟักทองมีคำตอบ เนื่องจากผลฟักทองมีวิตามินเอที่สูงมาก ส่งผลดีต่อดวงตาหรือบำรุงสายตา และแก้ปัญหาการมองในที่มืด ลดปัญหาและป้องกันเยื่อบุตาแห้งด้วย ที่พิเศษไปกว่านั้น เมื่อนักโภชนาการพบว่าในเนื้อฟักทองมีสารสำคัญที่เรียกว่า ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งมีอยู่ในพืชผักหลายชนิด แต่ฟักทองเป็นพืชที่หาง่ายและมีอยู่จำนวนมาก สารสำคัญ ๒ ชนิดนี้ คือยาบำรุงดวงตา ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจก และกระจกตาเสื่อม ในร่างกายของเราพบสารลูทีนมากที่จอรับภาพของจอประสาทตา ลูทีนช่วยในการกรองแสงที่จะมาทำอันตรายดวงตาของเรา แสงอันตราย เช่น แสงสีฟ้าจากจอสมาร์ตโฟนที่กระจายออกมาแล้วส่องมาทำร้ายดวงตาของเรา ลูทีนนี้จึงช่วยปกป้องได้ (แต่ไม่ได้หมายความว่าเล่นมือถือวันละหลายชั่วโมง กินฟักทองแล้วจะช่วยได้ เราต้องลดเวลาใช้สายตาด้วย) วิตามินเอและสารเบต้าแคโรทีนในผลฟักทองยังมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ ซึ่งไม่เพียงสุภาพสตรีที่ห่วงใบหน้าและผิวตัวเท่านั้น ปัจจุบันบุรุษก็ใส่ใจสุขภาพผิวด้วย การกินฟักทองเป็นประจำ ร่างกายก็จะได้รับสมุนไพรบำรุงผิวจากธรรมชาติ หรือในเวลานี้มีการทำมาส์กหน้าด้วยฟักทอง ทำง่ายๆ ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเสร็จ นำฟักทองมาต้มให้สุก บดให้เละอาจเติมน้ำบ้างได้ รอให้เย็นแล้วบางคนใช้ฟักทองล้วนๆ ทาให้ทั่วใบหน้า บางคนเพิ่มน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าวก็ได้ นำมาทาพอกให้ทั่วใบหน้า ปล่อยไว้สัก ๒๐-๓๐ นาที ล้างออก ลองสัมผัสผิวดูจะรู้สึกได้ถึงความนุ่มนวลได้ ฟักทองยังเป็นอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสารเหล่านี้หากเราเรียนรู้การกินเป็นประจำก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพ เพราะมีส่วนในการช่วยชะลอวัย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ การกินฟักทองยังได้รับใยอาหารมากพอสมควร เรารู้กันดีว่าใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ การขับถ่ายได้ดียังมีส่วนช่วยให้ผิวพรรณงามตามธรรมชาติด้วย และมีบางคนที่กำลังลดน้ำหนักตัวก็เลือกกินฟักทองเป็นอาหารช่วยควบคุมน้ำหนักตัว สำหรับชายวัยกลางคนขึ้นไป ควรหันมาสนใจฟักทองอย่างยิ่ง เพราะฟักทองเป็นอาหารชั้นเลิศช่วยต่อมลูกหมาก ความรู้นี้มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของทั้งไทยและยุโรป ในไทยจะออกมาในแนวช่วยแก้ไขปัญหาปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย และพุ่งไม่แรง ซึ่งอาการเหล่านี้ในชายที่มีอายุมากขึ้นจะพบว่ามาจากปัญหาต่อมลูกหมากโต ซึ่งความรู้ดั้งเดิมของทั้งไทยและยุโรปแนะนำให้กินเมล็ดฟักทองจะแก้อาการเหล่านี้ได้ จนเมื่อการวิจัยสมัยใหม่พบว่า เมล็ดฟักทองมีสารชนิดหนึ่งชื่อ เคอร์บิซิน (Curbicin) ช่วยลดการปัสสาวะตอนดึก และปัสสาวะคล่องขึ้นในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต และพบสารอีกชนิดชื่อ เบต้า-ไซโตสเตอรอล (Beta-sitosterol) ซึ่งไปช่วยยับยั้งสารชนิดหนึ่งที่ไปทำให้เซลล์เนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นใหญ่ขึ้น พูดง่ายๆ ไปช่วยไม่ให้ต่อมลูกหมากโตขึ้น และสารนี้ยังช่วยให้ปัสสาวะคล่องขึ้นด้วย ในการศึกษายังทดลองให้กินน้ำมันจากเมล็ดฟักทองด้วย ซึ่งก็ได้ผลดี ช่วยลดการปัสสาวะตอนกลางคืน ช่วยลดขนาดต่อมลูกหมากได้ในบางราย ในเมล็ดฟักทองยังเป็นอาหารที่หาง่ายและมีธาตุสังกะสีอยู่จำนวนมาก ซึ่งขอบอกว่าธาตุสังกะสีสำคัญสุดๆ ต่อการสร้างฮอร์โมนเพศชาย สร้างสเปิร์มและช่วยให้คุณภาพสเปิร์มดีด้วย การกินเมล็ดฟักทองจึงไม่ใช่เฉพาะชายสูงวัย ครอบครัววัยเจริญพันธุ์คุณพ่อบ้านก็ควรกินเมล็ดฟักทองเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วย การกินเมล็ดฟักทองคั่วสุก เป็นสมุนไพร เพื่อต่อมลูกหมาก แนะนำให้กิน เช้าเย็น ครั้งละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ ประโยชน์ของฟักทองยังมีอีกมาก - ฟักทองช่วยลดอาการซึมเศร้า พบว่าในฟักทองมีส่วนไปเพิ่มสารที่เรียกว่าเซโรโทนิน และนอร์อิฟิเนฟริน สาร ๒ ชนิดนี้ถ้าร่างกายมีลดลงจะทำให้มีปัญหาซึมเศร้า แต่ฟักทองไปช่วยให้สารเหล่านี้เพิ่มกลับไปปกติได้ สารเซโรโทนิน คือสารที่ช่วยให้ร่างกายมีความสุข หากปรุงเมนูฟักทองกินเป็นประจำ เลือกเมล็ดฟักทองเป็นของคบเคี้ยวกินเล่น หวังได้ว่าสุขภาพดีได้ทุกวัย สุขใจได้ตลอดปี ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ (https://sukkaphap-d.com/wp-content/uploads/2016/06/star-fruit-2.jpg) มะเฟือง Averrhoa carambola L. OXALIDACEAE ไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นและกิ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน แกนกลางมีไส้คล้ายฟองน้ำสีแดงอ่อน ใบประกอบมีใบย่อย ๕-๑๑ ใบ ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง และตาข้างตามกิ่งและลำต้น สีชมพูอ่อนถึงเกือบแดง ผลแหลมเป็นเหลี่ยมมีร่องเป็นพูประมาณ ๔-๖ พู พันธุ์มะเฟืองที่พบในไทยได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง รสเปรี้ยว มีทั้งลูกใหญ่และลูกเล็ก พันธุ์กวางตุ้ง ผลสีขาว ขอบสีเขียว รสหวาน พันธุ์ไต้หวัน ผลใหญ่ กลีบบาง ขอบบิด รสหวาน และพันธุ์มาเลเซีย ผลใหญ่ น้ำเยอะ หวานอมเปรี้ยว ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณใช้ผลมะเฟืองเป็นตัวยาช่วยในยาแก้ไอ ขับเสมหะน้ำ แต่ควรระวังในการรับประทาน เนื่องจากมีกรดออกซาลิกสูง อาจเพิ่มโอกาสเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคไต เนื่องจากสารนี้ไปจับตัวกับแคลเซียมและตกเป็นผลึกนิ่วในไตและที่สำคัญ ผู้ที่รับประทานยาลดไขมัน ยาคลายเครียดอยู่ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เนื่องจากว่ามะเฟืองมีฤทธิ์ไปต่อต้านการทำงานของตัวยาด้วย (http://puechkaset.com/wp-content/uploads/2016/06/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%87.jpg) ตะลิงปลิง Averrhoa bilimbi L. OXALIDACEAE ไม้ต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีชมพู ผิวเรียบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ตามกิ่ง ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อออกตามกิ่งและลำต้น สีแดงเข้ม ผลสด ฉ่ำน้ำ สีเหลืองแกมเขียว รสเปรี้ยวจัด ตำรายาไทยใช้ ผล มีสรรพคุณ แก้เสมหะเหนียว ฟอกโลหิต ราก แก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ แต่ควรระวังในการรับประทาน เนื่องจากมีกรดออกซาลิกสูงเช่นเดียวกับมะเฟือง อาจเพิ่มโอกาสเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากสารนี้ไปจับตัวกับแคลเซียมและตกเป็นผลึกนิ่วในไต (http://prayod.com/wp-content/uploads/2014/01/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%81.jpg) มะระขี้นก Momordica charantia L. CUCURBITACEAE ไม้เลื้อยพันต้นไม้อื่น ยาว ๒ เมตร มีมือเกาะ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขนปกคลุม ขอบใบหยัก เว้าลึก มี ๕-๗ หยัก ปลายใบแหลม ดอกเดี่ยว แยกเพศ สีเหลืองอ่อน กลีบดอกบาง ช้ำง่าย ผลสดรูปกระสวย ผิวขรุขระ มีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงส้ม ผลแก่แตกอ้าออก เมล็ดสุกมีสีแดงสด รูปร่างกลมแบน ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖ ใช้เนื้อผลดิบเป็นตัวยาตรง ในยาแก้ร้อนใน ใบมะระขี้นก ในยาบรรเทาหัด อีสุกอีใส ส่วนเนื้อผลดิบเป็นตัวยาช่วยในยาแก้ไข้ (https://www.tormonto.com/wp-content/uploads/2017/07/%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B2.jpg) สะเดา สะเดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss. วงศ์กระท้อน Meliaceae ชื่ออื่นๆ สะเดา สะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), เดา กระเดา กะเดา (ภาคใต้), จะดัง จะตัง (ส่วย), ผักสะเลม (ไทลื้อ), ลำต๋าว (ลั้วะ), สะเรียม (ขมุ), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ควินิน (ทั่วไป), สะเดาอินเดีย (กรุงเทพฯ) พบขึ้นทั่วไปตามป่าแล้งในอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา และไทย จัดเป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ ๒๐-๒๕ เมตร เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน ใบสะเดามีสีเขียวเข้ม เมื่ออ่อนมีสีแดง ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ใบย่อยรสขมจัด ขอบใบจักเล็กๆ ส่วนดอกสะเดาออกเป็นช่อ ดอกขนาดเล็กสีขาวหรือ สีเทา กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี ๕ กลีบแยกจากกัน ลักษณะเป็นรูปช้อนแคบยาวประมาณ ๔-๖ ม.ม. มีขนนุ่มสั้นขึ้นทั้งสองด้าน ในช่อดอกมีสารจำพวกไกลโคไซด์ Nimbasterin ๐.๐๐๕% และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ ๐.๕% นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Nimbecetin, Nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม ผลกลมยาวเล็กน้อย เมื่อสุกสีเหลือง ส่วนเมล็ดสะเดามีลักษณะกลมรี ผิวเมล็ดค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว สีเหลืองซีดหรือเป็นสีน้ำตาล ในน้ำหนัก ๑ กิโลกรัมมีเมล็ดประมาณ ๔,๐๐๐ เมล็ด ในเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ประมาณ ๔๕% มีน้ำมันขม Margosic acid ๔๕% หรือเรียกว่า im oil และมีสารขม Nimbin เกี่ยวกับสรรพคุณของสะเดา นำคำตอบมาจากเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ข้อมูลของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า สะเดาเป็น ผักสมุนไพรพื้นบ้านที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีน แร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย สรรพคุณทางยาของสะเดา ๑. ดีท็อกซ์สารพิษตกค้างในร่างกาย ใบสะเดาเมื่อนำมาต้มในน้ำร้อนใช้จิบอย่างน้อยวันละครั้ง ล้างพิษในกระแสเลือด กระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ๒.รักษาโรคผิวหนัง สารเกดูนิน (Gedunin) และนิมโบลิดี (Nimbolide) ในใบและเมล็ดมีประสิทธิภาพสูงในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา แบคทีเรียและเชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราที่เท้า เล็บ กลาก-เกลื้อน หิด เริม แผลจากโรคสะเก็ดเงิน (เชื้อแบคทีเรีย) หัด ลมพิษ ผดผื่นคัน หูด และอีสุกอีใส ๓. แก้ไข้มาลาเรีย สารเคมีกลุ่มลิโมนอยด์ (Limonoids) ได้แก่ สารเกดูนิน และนิมโบลิดี ในใบและเมล็ดสะเดา สามารถยับยั้งเชื้อฟัลซิปารัม (P.Falciparum) ซึ่งเป็นเชื้อไข้มาลาเรียดื้อยาชนิดหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๔. รักษาโรคไขข้อ ขอบใบสะเดา เมล็ดสะเดา และเปลือกต้น เป็นส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคไขข้อได้ ช่วยลดอาการปวด บวมในข้อ โดยอาจนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ และอาการปวดหลังช่วงล่าง หรือนำใบมาต้มเป็นน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการของโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคกระดูกพรุน ๕. ช่วยย่อยอาหาร ใบสะเดานำมาทำเป็นเมนูเรียกน้ำย่อยได้ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำดี ช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น อีกทั้งน้ำดีที่ถูกกระตุ้นสร้างออกมานั้นจะช่วยย่อยอาหารประเภทไขมันได้ดีขึ้นด้วย ๖. บำรุงสุขภาพช่องปาก บำรุงเหงือกและฟัน นิยมนำมา สกัดเป็นส่วนผสมในยาสีฟันทั่วไป ช่วยรักษาโรครำมะนาด โรคเลือดออกตามไรฟัน โรคเหงือก และลดอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ๗.ลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอก และมะเร็ง มีผลวิจัยบางชิ้นเผยว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และ สารลิโมนอยด์ (Limonoids) ที่พบในเปลือก ใบ และผลสะเดา มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง ๘. คุมกำเนิด ใช้น้ำมันสะเดาเพื่อคุมกำเนิดในผู้หญิงและผู้ชาย โดยใช้วิธีต่างกัน ผู้หญิงจะใช้น้ำมันสะเดาชุบสำลีทาบริเวณปากช่องคลอด ส่วนผู้ชายจะใช้ฉีดน้ำมันสะเดาบริเวณท่อนำอสุจิ ๙. สะเดาช่วยบำรุงกระดูกและข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย ๑๐. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยจะยับยั้งการผลิตอินซูลินได้กว่าร้อยละ ๕๐ และยังช่วยปรับสมดุลความอยากอาหาร ๑๑. ดีท็อกซ์สารพิษในกระแสเลือด ทำให้มีปริมาณเลือดดีหมุนเวียนในร่างกายมากขึ้น ๑๒. ต้านมะเร็งสารพอลิแซ็กคาไรด์ และสารลิโมนอยด์ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อร้าย ๑๓. ลดการติดเชื้อราในช่องคลอด ๑๔. บำรุงหัวใจ ผลของต้นสะเดาหากนำมาต้ม ใช้จิบอย่างน้อย วันละครั้ง มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นปกติ (https://www.siamfreshmarket.com/wp-content/uploads/2015/05/SFM-H006_Chinese-Chive-Leaves.png) กุยช่าย กุยช่าย (Chinese Chive) พืชสมุนไพรจำพวกผัก มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียกหัวซู ภาคอีสานเรียก หอมแป้น กูไฉ่ หรือ ผักแป้น โดยทั่วไปมี ๒ ประเภท คือ กุยช่ายเขียวและกุยช่ายขาว ต่างกันในเรื่องการปลูกและดูแลรักษาเท่านั้น ต้นกุยช่ายเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ ๓๐-๔๕ ซ.ม. เหง้าเล็ก ใบแบนเป็นรูปขอบขนาน บริเวณโคนมีกาบบางซ้อนสลับกันไปมา ดอกกุยช่ายนั้นคนทั่วไปมักนิยมเรียกกันว่า ดอกไม้กวาด ออกดอกเป็นช่อสีขาว กลิ่นหอม ก้านช่อดอกมีลักษณะกลม มีใบประดับหุ้มช่อดอก ผลทรงกลม เมื่อผลแก่จะแตกตามตะเข็บ มีเมล็ดในช่องผนังด้านในช่องละ ๑-๒ เมล็ด สีน้ำตาลแบนและขรุขระ สรรพคุณ ใบช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ฟกช้ำบวม แก้ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด แก้อาการปวดแน่นหน้าอก ขับลม เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิแส้ม้า บำรุงตับ บำรุงไต แก้อาการปวดเอว เหง้าแก้อาการฟกช้ำบวม แก้กลาก ที่มาข้อมูล Khaosod daily หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 เมษายน 2562 16:22:22 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15621886195407_b1_320x200_.jpg)
รู้จักต้นคูนหรืออ้อดิบ กินให้ถูกมีประโยชน์ กินผิด ‘อันตราย’ เมื่อต้นเดือนมีนาคม มีข่าวว่าผู้หญิงคนหนึ่งสั่งแกงส้มปลาใส่อ้อดิบกับไก่ต้มขมิ้นมากิน เพียงแค่กินคำแรกก็ได้เรื่อง หลังจากเคี้ยวกินมีความรู้สึกแปลกๆ ในปาก แสบเริ่มชา ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนในปากแล้ว ลามถึงในลำคอ จนต้องนำส่งโรงพยาบาล หลังจากสืบสาวก็ได้ความว่า แม่ค้าร้านแกงไม่รู้จักหรือแยกไม่ออกระหว่าง “อ้อดิบ” กับ “บอน” ซึ่งพืชจำพวกบอนเป็นพืชพิษ ถ้าจะนำมาปรุงอาหารต้องมีความรู้และประสบการณ์อย่างดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายได้ง่าย ในทางวิชาการ เรียก อ้อดิบ หรือ ต้นคูน หรือ โหรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H. ชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Green Taro ภาคกลางและภาคอีสานเรียกว่า ทูน คูน หัวคูณ ภาคเหนือเรียกว่า ตูน ภาคใต้เรียกว่า เอาะดิบ ออกดิบ ออดิบ นครศรีธรรมราช-ยะลา เรียก ออดิบ ชุมพรเรียกว่า กะเอาะขาว ประจวบคีรีขันธ์เรียกว่า บอน กาญจนบุรีเรียกว่า กระดาดขาว แต่ต้องระวังเพราะเรียกชื่อซ้ำกันแต่เป็นคนละชนิดกับกระดาษขาว (Alocasia alba Schott) และกระดาษดำ (Alocasia macrorrhizos (L. ) G. Don คูนหรืออ้อดิบ เป็นพืชตระกูลบอน มีหัวอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปร่างเป็นลูกศร มีนวลเคลือบแผ่นใบ ก้านใบยาวกลมมีนวลเคลือบ มี ๒ ชนิด คือ ชนิดสีเขียวอ่อน ใบมีสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอมขาว ชนิดสีม่วง ใบและก้านใบสีม่วง ออกดอกเป็นช่อเชิงลด มีกาบหุ้ม ก้านช่อดอกกลมยาว มีกาบหุ้มจนมิด เมื่อดอกยังไม่บาน ช่อดอกทรงกระบอก ในบางพื้นที่ที่มีความชื้นสูง จะส่งเสริมปลูกเป็นแปลงเพราะสามารถเก็บก้านและใบมากินได้ตลอดปี ในการนำอ้อดิบมาประกอบอาหาร มักใช้ก้านที่โตเต็มที่ ลอกเอาเปลือกเขียวที่หุ้มอยู่ออก กินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก แกล้มแกงรสจัด ส้มตำ ชาวเหนือมักนำใบอ่อนและก้านไปแกงส้มใส่ปลา ปรุงเป็นผักในแกงแคหรือแกงกะทิ ชาวใต้นิยมนำก้านไปแกงเหลืองใส่ปลา ยำอ้อดิบเป็นอาหารที่ทำกินกันในจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นอาหารที่มีราคาถูก ทำง่าย กินได้เป็นประจำ ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบใช้รักษาแผลใช้ฆ่าเชื้อโรคได้ และดอก แก้แผลเรื้อรัง ลำต้นใต้ดินนำมาตำพอกช่วยถ่ายแก้พิษไข้ พิษร้อน หรือเอาเหง้ามาตำพอกแก้ฝี และถ้านำผลอ้อดิบสดๆ มาฝนผสมกับน้ำผึ้งกินช่วยละลายเสมหะได้ นอกจากนี้ ฝักแก่ยังมีสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของแมลง ถ้านำฝักมาบดผสมน้ำ แช่ทิ้งไว้ ๒-๓ วัน กรองเอาน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักต่างๆ ได้ ฝักแก่ยังใช้แทนฟื้นในการหุงต้มกับเตาเศรษฐกิจได้ มีขนาดที่พอเหมาะ ใช้สะดวกไม่ต้องผ่าไม่ต้องตัดฟืน เนื้อของฝักแก่ยังใช้แทนกากน้ำตาลในการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการทำเกษตรธรรมชาติ ได้จุลินทรีย์ไปขยายทำปุ๋ยหรือสารกำจัดแมลงศัตรูพืช คูน หรือ อ้อดิบ เป็นพืชที่มีศักยภาพที่ดี ควรจะส่งเสริมให้มีการปลูกเป็นอาชีพ นอกจากทำอาหารกินได้แล้วยังเป็นการอนุรักษ์พืชในกลุ่มนี้ เพราะส่วนใหญ่เราเคยชินกับความเป็นพิษของบอนและเผือก จึงทำให้ไม่กล้ากินคูนหรืออ้อดิบ ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มบอน แต่ไม่มีพิษเหมือนชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม อ้อดิบมีลักษณะค่อนข้างใกล้เคียงกับ กระดาษขาว (Alocasia alba Schott) และกระดาษดำ (Alocasia macrorrhizos (L. ) G. Don ในทางวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นพืชคนละสกุล เนื่องจากมีลักษณะของดอกที่แตกต่างกัน ต้นกระดาษขาวมีข้อมูลค่อนข้างน้อย ส่วนต้นกระดาษดำ มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Elephant ear, Giant taro, Ape, Ear elephant, Giant alocasia, Pai มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กระดาดดำ (กาญจนบุรี) กระดาดแดง (กรุงเทพฯ) บึมบื้อ (เชียงใหม่) บอนกาวี เอาะลาย (ยะลา) โหรา (สงขลา) คือ โทป๊ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เผือกกะลา มันโทป้าด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) กลาดีบูเก๊าะ (มลายู-ยะลา) เป็นต้น กระดาดดำมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าทอดไปตามพื้นดิน ลำต้นสั้นตั้งตรงและเป็นสีม่วงปนสีน้ำตาล มีหัวอยู่ใต้ดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แยกหน่อและไหล มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนทั่วไป ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค จัดเป็นไม้พิษอีกชนิดหนึ่ง ต้นกระดาดทั้งขาวและดำ จะมีสารจำพวกเรซิน และ Protoanemonine ซึ่งเป็นพิษ และยังมีแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) อีกมาก ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบวมแดง ถ้าจะกินเหง้า ต้องต้มให้สุก หรือทำใส่แกงต้มสุกค่อยกินได้ อ้อดิบกินได้ แต่มีคำแนะนำต้องมั่นใจว่าเป็นชนิดที่กินได้ หากไม่มั่นใจควรปรึกษาผู้รู้ ส่วนแม่ค้ามือใหม่ก่อนคิดปรุงอาหารกับพืชจำพวกบอนต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายที่ไม่ตั้งใจขึ้นได้ ปัจจุบันมีสถานที่พักผ่อนแนวรีสอร์ต จัดสวนหรือจัดภูมิทัศน์ด้วยการปลูกอ้อดิบไว้ แล้วนำมาปรุงอาหารบริการนักท่องเที่ยวด้วย แกงส้มอ้อดิบสอนให้รู้ว่า ทั้งอาหารและยาสมุนไพรมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องถูกชนิดด้วย มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91831990165842__696x364_1_320x200_.jpg) ๕ ความรู้สมุนไพร เราเข้าใจดีแค่ไหน? การจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๖ ที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมนั้น มูลนิธิสุขภาพไทยจัดนิทรรศการและสาธิตอาหารและยาสมุนไพรหลายเรื่อง มีผู้สนใจอย่างดี ที่ขอหยิบยกมาเล่าเพื่อการขยายผลก็เป็นกิจกรรมสำรวจผู้ที่มาชมงานว่า มีความรู้ความเข้าใจสมุนไพรดีแค่ไหน คล้ายๆ ทดสอบว่า ข้อมูลที่แชร์กันสนั่นในโลกโซเชียลนั่น เชื่อได้หรือไม่? ผู้อ่านลองให้คะแนนตัวเองตามไปด้วยก็ได้ มูลนิธิตั้งคำถามไว้ ๖ ข้อ เป็นเรื่องสมุนไพร ๕ เรื่อง อีก ๑ เรื่องว่าด้วยการนวดไทย การเล่นเกมที่บูธถือเป็นการสำรวจดูว่าคนที่มาเที่ยวงานสมุนไพรมีความรู้ดีแค่ไหนไปในตัวด้วย มีผู้มาทดสอบทั้งหมด ๒๐๘ คน ได้ผลดังนี้ คำถามที่ ๑ ฝาง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงเลือด เหมาะกับคนท้องใช่หรือไม่? ให้เลือกคำตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” มีคนตอบถูกเพียงร้อยละ ๒๖ ตอบผิด ร้อยละ ๗๔ซึ่งไม่น่าเชื่อเลย และพลอยเป็นห่วงเรื่องการใช้ฝาง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ไม่ควรกินฝางในสตรีตั้งครรภ์ เพราะฝางมีสรรพคุณขับประจำเดือน จะทำให้แท้งลูกได้ สำหรับคนปกติทั่วไปไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ฝางเสน หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฝาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia sappan L. เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็น ตามตำรายาไทย แก่นฝางเสนมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ขับประจำเดือน แก้ปอดพิการ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย กระหายน้ำ แก้ไอ ขับระดู และน้ำยาอุทัยที่นำมาผสมน้ำดื่มกินแก้กระหายนั้นก็ทำมาจากฝางนั่นเอง คำถามที่ ๒ กินเห็ดสดๆ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายใช่หรือไม่? ในช่วงที่ผ่านมาคนทั่วไปสนใจการกินเห็ดกันมาก แต่ไม่น่าเชื่อว่า มีผู้ตอบถูกเพียงร้อยละ ๓๕ ตอบผิดร้อยละ ๖๕ คำถามข้อนี้อาจลวงให้หลงคำตอบ เพราะเห็ดนั้นมีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันได้ แต่ที่ต้องย้ำให้รู้คือ ห้ามกินเห็ดสดๆ เด็ดขาด ต้องนำมาทำให้สุกก่อนทุกครั้ง และเห็ดมีทั้งชนิดที่กินได้และชนิดที่มีพิษ (ห้ามกิน) จึงต้องรู้จักเห็ดอย่างดีก่อนนำมาปรุงกินเพื่อประโยชน์ทั้งอาหารและยา คำถามที่ ๓ น้ำมะนาวล้างไตใช่หรือไม่? ข้อนี้ดูง่ายๆ หรือหมูๆ กว่าข้ออื่น แต่ผู้ที่ตอบคำถามนี้ก็ได้ผลชนะกันไม่ขาด คือ มีผู้ตอบถูกคิดเป็นร้อยละ ๕๖ ยังมีคนเข้าใจผิดถึงร้อยละ ๔๔ ซึ่งไม่น่าเชื่อ อาจเป็นเพราะเชื่อในข่าวสารทางการแชร์กันมาก และนึกไปว่ารสเปรี้ยวของมะนาวคงไปช่วยล้างไต ซึ่งไม่เป็นความจริง มะนาวมีสารซิเตรตสามารถป้องกันการเกิดนิ่วบางชนิด แต่น้ำมะนาวไม่ได้ช่วยในการล้างไต มะนาวมีประโยชน์ด้านสมุนไพรมากมาย สรรพคุณเด่นสุด คือ เป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ วิธีปรุงน้ำมะนาวให้เป็นยาสมุนไพรง่ายที่สุดคือ การคั้นน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาล และแต่งรสด้วยเกลือเล็กน้อย ใช้วิธีจิบน้ำมะนาวทีละน้อย เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์บริเวณคอเพื่อลดอาการไอและเจ็บคอ น้ำมะนาวมีวิตามินซีและมีกรดซิตริกตามธรรมชาติ ซึ่งให้ทั้งความเปรี้ยวและออกฤทธิ์ช่วยให้อารมณ์แจ่มใส คลายเครียด ช่วยแก้ความอ่อนล้าอ่อนเพลีย หากท่านกำลังอยู่ในอาการเหนื่อยล้าหรือต้องการความสดชื่น หรืออากาศร้อนๆ ในเวลานี้ถ้าได้ดื่มน้ำมะนาวเย็นๆ สักแก้วจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นแน่นอน คำถามที่ ๔ กินใบย่านาง แก้เข่าเสื่อมใช่หรือไม่? ย่านางเป็นอาหารที่กินกันทั่วไป จึงช่วยให้มีผู้ตอบถูกมาก คิดเป็นร้อยละ ๖๔ และตอบผิดร้อยละ ๓๖ แต่ก็ยังเข้าใจผิดถึงประมาณ ๑ ใน ๓ จึงขอให้ความรู้เพิ่มเติมว่า โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของขาหรือเข่าผิดรูป น้ำหนักตัวมาก ใช้ข้อเข่าหักโหม และซ้ำๆ เช่น งอเข่ามากเกินไป การคุกเข่า หรือนั่งยองๆ เป็นเวลานาน ฯลฯ ย่านาง เป็นผักพื้นบ้านชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ใบย่านางมีวิตามินเอ และวิตามินซีสูง ยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน ย่านาง เป็นยาเย็น มีสรรพคุณโดดเด่น เกี่ยวกับการดับพิษและลดไข้ หรือลดความร้อนในร่างกาย รากย่านางเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งในกลุ่มยา ๕ ราก ที่เป็นยาตำรับโบราณคู่บ้านคู่เมืองไทย ใช้สำหรับแก้ไข้ทั้งปวง ประกอบด้วยรากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ และรากเท้ายายม่อม แต่เนื่องจากย่านางเป็นพืชผักที่หาง่ายในตลาดสด จึงนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรตัวเดี่ยวเพื่อแก้ไข้ คำถามที่ ๕ ว่านชักมดลูกตัวผู้หรือตัวเมีย? ที่ใช้แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยมดลูกเข้าอู่เร็ว ว่านชักมดลูกเป็นสมุนไพรยอดนิยมอีกชนิดหนึ่ง ก็นึกว่าคนทั่วไปจะตอบถูกสักร้อยละ ๘๐ แต่กลายเป็นว่า มีผู้ตอบถูกร้อยละ ๖๒ เท่านั้น และตอบผิดร้อยละ ๓๗ คงเพราะคนทั่วไปไม่รู้ว่าว่านชักมดลูกมีชนิดตัวผู้และตัวเมีย ว่านชักมดลูกตัวผู้ ไม่มีสรรพคุณแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติและมดลูกเข้าอู่เร็ว แต่ควรจำไว้ว่า ว่านชักมดลูกตัวผู้มีพิษต่อตับ ไต ม้าม และที่วางขายในท้องตลาด พบว่ามีการใช้ทั้งตัวผู้และตัวเมียปะปนกันจึงต้องระวัง และควรเลือกผู้ผลิตที่วางใจได้จริง ๆ ไม่นำสมุนไพรผิดชนิดมาใช้ ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) มีสรรพคุณรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ตกขาว ช่วยขับน้ำคาวปลา นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่า ว่านชักมดลูกตัวเมียมีสารสำคัญ คือ กลุ่มไฟโตเอสโตรเจน ที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าวิตามินซี ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง สรุปได้ว่า ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นฮอร์โมนธรรมชาติจากพืชช่วยดูแลสุขภาพของสตรี ช่วยชะลอความเสื่อม ป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ จากความเสื่อมของร่างกาย และมีความปลอดภัยเป็นอย่างดี คำถามที่ ๖ เก็บไว้เล่าคราวหน้า เฉพาะ ๕ คำถามนี้มิตรรักแฟนสมุนไพรตอบถูกหรือผิดไปกี่ข้อ ผลการสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า ท่ามกลางกระแสตื่นตัวการใช้สมุนไพร แต่คนจำนวนมากยังมีความรู้หรือเข้าใจสมุนไพรไม่ถูกต้องมากมายด้วย ต้องมาช่วยกันเรียนรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์สมุนไพรให้ถูกต้อง ... มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2562 16:17:13 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/57575799483391__1_1_320x200_.jpg) สมุนไพร ที่ผู้หญิงครึ่งโลกต้องการ การคงความเป็นหนุ่มสาวนั้นเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีตำนานและความเชื่อมากมายที่จะทำให้ร่างกายกลับคืนคงความหนุ่มสาว อายุยืนยาวในทุกชนชาติ ตั้งแต่น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว จอกศักดิ์สิทธิ์ ยาอายุวัฒนะ พลังจักระของอินเดีย เป็นต้น การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีตำรับยาอายุวัฒนะมากมาย การคงความหนุ่มสาวนั้น การแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่า เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่สำคัญคือเอสโตรเจนในผู้หญิง และเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้ลดน้อยลงหรือหมดไป ร่างกายจะเข้าสู่ความชรา ผิวหนังเหี่ยวย่น กล้ามเนื้อลีบลง ผมร่วง กระดูกบางไขมันในเลือดสูง เกิดโรคหัวใจหลอดเลือด ฯลฯ ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็วในช่วง ๔-๕ ปีหลังหมดประจำเดือน บางรายต้องใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กระดูกบาง แต่ก็มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนสังเคราะห์ จึงมีการหาฮอร์โมนทดแทนที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย และได้ผลเหมือนฮอร์โมนจากร่างกายมากที่สุด สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก คือว่านชักมดลูกตัวเมียกับฮอร์โมนเพศหญิงธรรมชาติ ข้อมูลจากสำนักข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) ว่า สรรพคุณตามตำรายาไทย มีการใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน ซึ่งจากภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ นักวิจัยไทยได้ทำการวิจัยในหนูทดลอง พบว่าว่านชักมดลูกตัวเมียมีสารสำคัญคือกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (สารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน) ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าวิตามินซี ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท รักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจ กระตุ้นการหลั่งน้ำดี ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ยังพบสารช่วยลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับ และเสริมให้เกิดการขับคอเลสเตอรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ ว่านชักมดลูกตัวเมียยังช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรงป้องกันเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในหนูทดลองที่ถูกตัดรังไข่ รักษาความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เท่ากับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคสมองเสื่อมในหนูทดลอง ข้อมูลการใช้ว่านชักมดลูกในประเทศไทย พบว่าว่านชักมดลูกเป็นสมุนไพรในตระกูลขมิ้น ในตำรายาไทยใช้รักษาอาการของสตรี แก้มดลูกพิการ ทำให้มดลูกเข้าอู่ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปัจจุบันมีการนำว่านชักมดลูกมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ ศ.ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชและพิษวิทยา พบว่าว่านชักมดลูกที่ขายในท้องตลาดนั้นมีการปะปนกันทั้งตัวเมียและตัวผู้ ว่านชักมดลูกตัวผู้ จะมีพิษต่อตับ ไต ม้าม แถมยังไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีน้อยมากอีกด้วย ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) มีลักษณะต่างจากตัวเมียเล็กน้อย หัวจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่ผู้ปลูกมักจะตัดหรือหักแขนงข้างออกเพื่อนำไปปลูก ทำให้แยกตัวผู้ตัวเมียไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลของรัฐที่เคยส่งเสริมต้องเลิกทำการผลิตยาว่านชักมดลูกสำหรับสตรีหมดประจำเดือน เพราะหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกต้องไม่ค่อยได้ ดีที่ในเวลานี้ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเพาะเนื้อเยื่อว่านชักมดลูกตัวเมีย ได้ทดลองปลูกไปจนขยายพันธุ์ในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มานานร่วม ๑๐ ปี จนเป็นแหล่งปลูกและขยายพันธุ์ว่านชักมดลูกตัวเมียมากที่สุดของประเทศไทย แล้วด้วยความพอดีที่ประธานมูลนิธิสุขภาพไทยมีที่ดินอยู่ละแวกนั้น จึงได้ร่วมขอพันธุ์ว่านชักมดลูกทำการปลูกตามประสาคนชอบปลูกดอกไม้ ต้นไม้ ทำไปทำมาหลายปีจึงแบ่งวัตถุดิบมาให้สถานที่ผลิตยาของมูลนิธิสุขภาพไทยผลิตออกมาเผยแพร่ ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นฮอร์โมนธรรมชาติจากพืช มีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง ช่วยชะลอความเสื่อม และป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากความเสื่อมเนื่องจากการสูงวัย มีความปลอดภัยเพราะมีการใช้กันมายาวนาน สุขภาพหญิงวัยทองกว่า ๑,๐๐๐ ล้านคนทั่วโลกยังคงแสวงหาสมุนไพรจากธรรมชาติ ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรธรรมดาๆ ปลูกง่าย ใช้เป็นยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตซับซ้อน จึงมีราคาไม่แพง ผู้หญิงทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก จะปลูกและใช้เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนก็ได้ จะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนก็ได้อีกด้วย สนใจศึกษาข้อมูลลึกซึ้งสอบถามสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากสนใจถามการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพว่านชักมดลูก มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/38496187743213__3_696x363_1_320x200_.jpg) ‘ย่างไฟ’ ใจกลางกรุง การย่างไฟ เป็นความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพที่พบได้ในชุมชนภาคอีสานของไทย จากการเก็บความรู้ของเครือข่ายหมอพื้นบ้านอีสาน ๗ จังหวัดร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทยตั้งแต่ ๑๐ กว่าปีก่อน พบว่าการย่างไฟ คือกระบวนการรักษาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ช่วยให้หายไวขึ้น และป้องกันเลือดตกในหรือเลือดคั่งค้าง ซึ่งในสังคมเกษตรกรรมแบบเดิม ชาวบ้านที่ตกต้นไม้ ถูกชนจากสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ฯลฯ ก็จะนำผู้ป่วยมาทำการย่างไฟ แต่ในปัจจุบันคนที่ได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือจักรยานยนต์ก็ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้บำบัดรักษาได้เช่นกัน เมื่อมีความรู้ดีๆ จากชุมชนอยู่กับมูลนิธิสุขภาพไทยก็เลยได้นำมาใช้ประโยชน์ เหตุการณ์ประมาณกลางเดือนธันวาคมปีกลาย เจ้าหน้าที่มูลนิธิท่านหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถชนกัน ยังดีมีแต่คนเจ็บ ไม่มีใครเสียชีวิต อาการบาดเจ็บจากแรงกระแทกไปถึงหน้าอก รวมทั้งอาการฟกช้ำตามร่างกาย เช่น หัวไหล่ สะโพก ขาหนีบ หน้าขา หน้าแข้ง ก็ค่อยๆ ปวดระบมในวันหลังเกิดเหตุ ก่อนวันสิ้นปี น้องๆ ในสำนักงานจึงนำเสนอแพ็กเกจ “ย่างไฟ” ขึ้นที่สำนักงานมูลนิธิ ยกภูมิปัญญาอีสานมาไว้กลางเมืองหลวง กระบวนการย่างไฟนั้นควรทำในตอนกลางวัน ในพื้นที่โล่งใต้ร่มไม้หรือชายคา อุปกรณ์สำคัญคือแคร่ไม้ไผ่ให้คนเจ็บได้นอน ที่สำนักงานมูลนิธิไม่มีแคร่จึงประยุกต์ใช้ม้านั่งยาวยกมาใช้ ซึ่งมีลักษณะต้องตามตำราคือ เป็นไม้ซีกๆ เพื่อให้ความร้อนผ่านถึงได้ (ถ้าเป็นแคร่ก็ควรมีร่องห่างให้ความร้อนผ่านได้) สูตรสมุนไพรของหมอพื้นบ้าน ซึ่งเคยรวบรวมไว้มีถึง ๘ ตำรับ มาจากหมอพื้นบ้านในภาคอีสาน เช่น มหาสารคาม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ และสุรินทร์ เป็นต้น ขอยกตัวอย่างสัก ๒ ตำรับ คือ ๑ ตำรับบ้านเชียงเหียน ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ตัวยาได้แก่ ใบและยอดเปล้าน้อย ใบและยอดหนาด ใบและยอดมะขามเปรี้ยว ตะไคร้หอมใช้ทั้งต้น ไพล (ใช้ทั้งต้นหรือใช้เฉพาะหัวก็ได้) ขมิ้นชัน (ใช้ทั้งต้นหรือใช้เฉพาะหัวก็ได้) ต้นเหมือดแอ๋ (ใบและยอด) ใบพลับพลึง สมุนไพรทั้งหมดนี้นำมาอย่างละเท่าๆ กัน และนำข้าวเปลือก (ทางอีสานจะหาข้าวเหนียวได้ง่ายก็ใช้ข้าวเปลือกข้าวเหนียว) ๒๐ ลิตร หรือประมาณ ๑ ถัง ตำรับที่ ๒ จากหมอพื้นบ้านอำเภอเขาวง จ.กาฬสินธุ์ มีตัวยาคือ ใบเปล้าใหญ่ ใบเปล้าน้อย ใบหนาด ใบละหุ่ง ใบมะขามเปรี้ยว ใบพลับพลึง ตะไคร้หอมใช้ทั้งต้น เถาเอ็นอ่อน (ใช้ทั้งเถา ใบและยอดด้วยก็ได้) เปลือกต้นแดง (ทุบให้แตก) หัวไพล และข้าวเปลือกข้าวเหนียวเช่นกัน วิธีการใช้ ไม่ว่าจะเป็นสูตรตำรับไหนก็จะทำคล้ายๆ กันคือ นำสมุนไพรทั้งหมดมาในอัตราส่วนเท่าๆ กัน เช่น อย่างละ ๑ กิโลกรัม นำมาสับหรือหั่นให้เป็นชิ้นๆ แล้วคลุกเคล้า เวลาผสมกันให้ใส่ข้าวเปลือกลงไปผสมด้วย ขั้นตอนการย่างไฟ เตรียมแคร่ เตรียมสมุนไพร ก่อไฟ ถ้าทำในชุมชนมักจะใช้ฟืนจากไม้สมุนไพร เช่น มะขามป้อม ขี้เหล็ก สะแกนา มะขาม ซึ่งเป็นไม้ที่ให้ไฟร้อนสม่ำเสมอ แล้วหาแผ่นสังกะสียาววางไว้ใต้แคร่ เพื่อนำเอาฟืนติดไฟหรือถ่านเกลี่ยให้ทั่วสังกะสีให้ความร้อนส่งไปทั่วแคร่นั่นเอง แต่ทางมูลนิธิประยุกต์เพราะไม่มีแผ่นสังกะสี ใช้เตาถ่าน ๓ ใบ จึงก่อไฟด้วยถ่านไร้ควัน วางเตาเว้นระยะตั้งแต่หน้าอกถึงเท้า จากนั้นวางสมุนไพรที่สับเป็นชิ้นๆ ลงบนแคร่ให้ทั่ว แล้ววางผ้าหรือเสื่อทับลงไปที่สมุนไพรต่างๆ ขอแนะนำเสื่อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เสื่อกก ไม่ควรใช้เสื่อพลาสติก แล้วต้องพรมน้ำให้ชุ่มเสื่อ ความชื้นจะเป็นตัวนำความร้อนและสมุนไพรมาสัมผัสผิวของผู้ป่วย ก่อนทำการย่างไฟ ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ผู้ย่างดื่มเหล้าขาวผสมน้ำตาลทรายแดง กินไม่มากนะ แค่ถ้วยเล็กๆ ประมาณ ๓๐-๔๐ ซีซีเท่านั้น เพื่อให้เลือดลมในร่างกายหมุนเวียน เป็นการปรับธาตุร่างกาย และเป็นยาดั้งเดิมที่ใช้แก้อาการช้ำในด้วย บางคนที่ไม่ดื่มสุราจะไม่กินก็ได้ ก่อนการย่างควรอาบน้ำอุ่นหรือน้ำต้มใบมะขามและใบหนาด แต่ถ้าผู้ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลต้องระวังอย่าให้น้ำถูกแผลจะทำให้แผลแห้งช้า หลังอาบน้ำควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อการระบายอากาศ ให้นอนบนเสื่อบนแคร่ แล้วหาผ้าห่มหรือผ้าคลุมตั้งแต่คอถึงเท้า ในชุมชนอีสานจะใช้ผ้าย้อมครามผืนใหญ่มาห่มคลุม เพราะผ้าครามช่วยระบายความร้อนได้ดี ไม่ทำให้ผู้ย่างไฟอึดอัด การนอนย่างไฟควรให้มีคนเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา เพื่อประเมินความร้อนว่ามากหรือน้อยไป หากมากไปจะเกิดผิวหนังพองได้ แต่ถ้าไม่ร้อนเลย สรรพคุณสมุนไพรก็ไม่ส่งผลต่อผู้ย่างไฟนั่นเอง การเฝ้าดูนี้ยังช่วยในการพรมน้ำที่เสื่อให้ชุ่มอยู่เสมอเป็นการช่วยกระจายความร้อนด้วย การย่างไฟในชุมชนจึงเป็นสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวรวมไปถึงเพื่อนบ้านที่มาช่วยกัน ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยถึงผู้ประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้หมอพื้นบ้านยังทำพิธีสู่ขวัญหรือช้อนขวัญหรือการสะเดาะเคราะห์ให้ด้วย ซึ่งวิถีเป็นวัฒนธรรมสุขภาพแบบองค์รวมที่รักษากายและใจไปพร้อมกัน ที่กลางกรุงเมืองหลวง ชาวมูลนิธิสุขภาพไทยหลายคนรับเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมอันงดงาม แสดงความห่วงใยจึงจัดทำการย่างไฟให้ถึง ๓ รอบ แม้ว่าจะหาสมุนไพรได้ไม่ครบสูตร แต่ก็ได้สมุนไพรใกล้ตัวสำคัญๆ คือไปเด็ดใบมะขามจากสวนหน้าสำนักงาน เก็บใบพลับพลึงมาจากบ้าน และไปตลาดซื้อเพียงหัวขมิ้นชัน หัวไพล และต้นตะไคร้ รวม ๕ ชนิดก็ได้สรรพคุณดีและมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยบรรเทาอาการเจ็บระบมของผู้รับอุบัติเหตุได้อย่างดี มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68188663323720__696x364_1_320x200_.jpg) ส้มป่อย สมุนไพรมหามงคล ในประเพณีสิบสองเดือนของไทยนั้น กล่าวได้ว่าวันมหาสงกรานต์เป็นเทศกาลรื่นเริงที่สืบทอดมายาวนานและเป็นที่นิยมของมหาชนมากที่สุด แม้รัฐบาลยุคมาลานำไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเปลี่ยนวันปีใหม่ตามอย่างฝรั่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ แล้ว แต่ตรุษไทยก็ยังคึกคักกว่าตรุษฝรั่งหรือยิ่งกว่าตรุษจีนเสียอีก ทั้งนี้เพราะวันมหาสงกรานต์มีตำนานเล่าขาน และความเชื่อดึกดำบรรพ์ที่ผูกพันเป็นประเพณีชีวิตชาวไทยมานานนับพันปีไม่มีเสื่อมคลาย และยังมีสมุนไพรตัวหนึ่งที่สร้างสีสันในตำนานตรุษไทย นั่นคือ ส้มป่อย (ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. ) ส้ม หมายถึงรสเปรี้ยว ป่อย หมายถึง ประเพณี ซึ่งชื่อนี้ก็บ่งบอกความสำคัญของสมุนไพรชนิดนี้ว่า เป็นสิ่งรสเปรี้ยวที่เกี่ยวกับประเพณี เนื่องจากเทศกาลตรุษไทยไม่เหมือนตรุษชาติอื่น ตรงที่มีมิติโหราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเศรษฐกิจ และชะตาของบ้านเมืองในคราวขึ้นศักราชใหม่ ซึ่งบางปีก็ดี บางปีก็ไม่ดีนัก อย่างปีนี้เถลิงศกใหม่ปีกุนราศีมีนยกขึ้นสู่ราศีเมษในวันอาทิตย์ นางมหาสงกรานต์ประจำวันนี้ชื่อ ทุงสะเทวี ขี่ครุฑถือจักรสังข์มาอย่างน่าเกรงขาม ท่านว่าปีนี้ผลผลิตข้าวไม่สู้ดีนัก และจะเกิดเหตุจลาจล ถึงขั้นยุทธสงครามในบ้านเมือง ซึ่งจะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ แต่การจราจรนั้นเกิดจลาจลแน่ๆ ในช่วงสัปดาห์สงกรานต์ ซึ่งจะมียอดคนบาดเจ็บ เสียชีวิตเป็นจำนวนมากยิ่งกว่าสงครามกลางเมืองเสียอีก เคล็ดลับหนึ่งในการชำระล้างอัปมงคล ให้กลับร้ายกลายเป็นดี ก็คือการสรงน้ำพระพุทธรูป การรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ การปล่อยนกปล่อยปลา และการเล่นน้ำดับร้อนทั่วหล้า ส้มป่อยจึงเป็นสมุนไพรตัวเลือกอย่างหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มความศักดิ์สิทธิ์ให้น้ำมหาสงกรานต์ แต่ดั้งเดิมนั้น ส้มป่อยเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลปี๋ใหม่เมืองล้านนา น้ำที่ใช้ในการสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่จะขาดสมุนไพรรสเปรี้ยวตัวนี้ไม่ได้เลย ส่วนของส้มป่อยที่นิยมใช้ คือ ฝัก ถ้าได้ฝักส้มป่อยที่เก็บในวันพระใหญ่เดือนห้าที่แห้งคาต้นเลยก็ยิ่งดี โดยเลือกฝักที่มี ๗ ข้อ ใช้จำนวน ๗ ฝัก นอกจากเป็นเคล็ดมงคลแล้ว ฝักสมบูรณ์ที่แห้งคาต้นเมื่อนำไปย่างไฟอ่อนๆ จนกรอบ จะมีกลิ่นหอมสะอาด จากนั้นหักเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่แช่น้ำจะได้กลิ่นเปรี้ยวหอมอบอวล เมื่อนำไปอาบ ดำหัว หรือทำน้ำมนต์ประพรม เชื่อว่า สามารถไล่เสนียดจัญไร ล้างอาถรรพ์ แก้คุณไสย ยาสั่ง ยาแฝด และยังช่วยเพิ่มพลังจิตวิญญาณ เสริมมงคลชีวิตให้สดใสตลอดทั้งปี นอกจากใช้น้ำส้มป่อยอาบคนเป็นเพื่อความสุขสวัสดีแล้ว ยังใช้อาบน้ำคนตายเพื่อส่งวิญญาณไปสู่สุคติอีกด้วย หากทำตามสูตรโบราณแท้ๆ น้ำส้มป่อยต้องผสมขมิ้นชัน จึงจะขลังยกกำลังสอง เพราะนักเลงว่านนับถือว่า หัวขมิ้นชัน เป็นว่านพญายาตัวหนึ่งที่ใช้ล้างคุณไสยที่ศัตรูกระทำ สูตรน้ำส้มป่อยตำรับนี้มีชื่อว่า “สุคันโธทกะ” (สุคันธะ = กลิ่นหอม, + อุทกะ = น้ำ) หรือ “น้ำหอม” นั่นเอง สูตรดั้งเดิมประกอบด้วย ฝักส้มป่อยแห้งปิ้งไฟ หักแช่ในน้ำขมิ้นชันสด นอกจากนี้ยังมีดอกคำฝอย ลอยดอกไม้สดจำพวกมะลิ สารภี เพื่อเพิ่มความหอมจรุงใจ ให้สมชื่อว่าน้ำสุคนธ์หรือน้ำหอมอโรมาเทอราปี (Aromatherapy) ตำรับไทยโบราณขนานแท้ ในอดีตชนชั้นสูงนิยมใช้น้ำสุคนธ์เป็นทั้งน้ำหอมและน้ำเสริมสิริมงคล จนกลายเป็นกลิ่นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษ ดังคำกลอนของท่านสุนทรภู่ที่กล่าวอาลัยถึงพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๒ ว่า “เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” สันนิษฐานว่า การที่ชาวล้านนาเลือกส้มป่อยเป็นไม้มงคลในเทศกาลตรุษไทย น่าจะมีอะไรที่มากกว่าความขลังในตำนาน เพราะถ้าว่ากันตามตรง ต้นส้มป่อยเป็นพืชพรรณไม้หนามที่ไม่มีอะไรสะสวยน่าดูน่าชมเลย แต่การที่คนโบราณท่านโปรโมตส้มป่อยให้เป็นสมุนไพรในวัฒนธรรม แสดงว่าต้องมีคุณประโยชน์อะไรที่จับต้องได้ เช่น สรรพคุณทางยาและคุณค่าทางอาหาร แปลกแต่จริง ใบส้มป่อยเป็นผักพื้นบ้านสีเขียว รสเปรี้ยว แต่กลับอุดมด้วยแคโรทีนหรือโปรวิตามิน A จากพืช ช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ที่สำคัญคือ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงต้านโรค และต้านอนุมูลอิสระ ทุกวันนี้ สารพัดเมนูอาหารล้านนา เป็นต้นว่า ต้มปลา ต้มเนื้อ ต้มขาหมู ต้มข่าไก่ก็ยังนิยมใส่ยอดใบส้มป่อยอ่อนๆ เพื่อดับคาวและให้รสเปรี้ยวละมุน หรือเมนูพื้นๆ อย่างน้ำพริกอ่องใบส้มป่อย ใบอ่อนส้มป่อยสดจิ้มน้ำพริก ลาบ แจ่วก็ช่วยให้เจริญอาหารได้ไม่จำเจ หากมื้อไหนไม่มีเวลาบรรจง เพียงมีข้าวสวย ปลา ผัดกับยอดส้มป่อยแค่นี้ก็เป็นจานด่วนรสเลิศแล้ว ส่วนสรรพคุณทางยาของส้มป่อย แม้จะดูพื้นๆ แต่ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพชีวิตของชาวบ้านไกลปืนเที่ยง ห่างไกลหมอ โดยเฉพาะทางแถบป่าดงภาคเหนือในอดีตที่ชุกชุมด้วยไข้ป่าคร่าชีวิตคนนับหมื่น หากไม่มีน้ำต้มส้มป่อยดื่มแก้ไข้มาลาเรีย คงมีสถิติคนตายมากกว่านี้ ในปัจจุบันแม้ไข้ป่าหรือที่เรียกตามภาษาแพทย์แผนไทยว่า ไข้เหนือ จะสร่างซาไปแล้ว แต่ความสำคัญของส้มป่อยต่อสุขภาพของมหาชนยังมีอยู่เพียบ สัปดาห์นี้ขอให้ได้น้ำส้มป่อยกลิ่นหอมบำรุงสุขภาพจิตใจ สร้างเสริมมงคลชีวิตรับขวัญปีใหม่ไทยกันถ้วนหน้า ฉบับหน้าเจาะลึกสรรพคุณใบและฝักส้มป่อยกัน (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94916617539193__2_696x364_1_320x200_.jpg) ที่ผ่านมาได้เล่าถึงส้มป่อย เป็นพืชสมุนไพรแห่งความเป็นสิริมงคล พืชศักดิ์สิทธิ์ หรือไม้ที่ช่วยขจัด ปลดปล่อยความโชคร้าย ไล่เคราะห์กรรมและความอัปมงคลให้ห่างไกลชีวิตของเรา จึงเป็นสมุนไพรที่ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะฤกษ์ยามดีขึ้นปีใหม่ไทยก็ต้องมีน้ำส้มป่อยประพรมให้สวัสดีมีชัยกันถ้วนหน้า นอกจากนี้ ในความเชื่อของชาวล้านนา ส้มป่อยยังเป็นพืชที่ใช้ในพิธีกรรมการขอลดโทษหนักให้เบาบาง หรือขอให้สิ่งที่ผิดพลั้งไปให้กลับคืนมา ดังเช่นชาวเหนือจะเรียกผู้ที่ไปทำสิ่งไม่ดีว่า ไป “ขึด” จะทำให้คนคนนั้นพบกับความชั่วร้ายหรือสิ่งไม่ดีกับชีวิต หรือบางคนที่ทำผิดข้อห้ามของครูอาจารย์หรือบรรพบุรุษที่เรียกกันว่าผิดครูนั้น ชาวล้านนาจะให้ผู้นั้นอาบน้ำด้วยน้ำส้มป่อย เพื่อให้สิ่งไม่ดีลดหรือเบาบางลง หรือของขลังของดีในตัวที่จะเสื่อมไปเพราะการทำไม่ดีนั้นได้กลับคืนมาดังเดิม นอกจากการใช้ประโยชน์ด้านพิธีกรรมแล้ว มากล่าวถึงสรรพคุณที่เจาะเฉพาะสรรพคุณของใบกับฝักส้มป่อย ดังนี้ นํ้าต้มยอดอ่อนหรือใบอ่อน ผสมน้ำผึ้ง ดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาไต สำหรับใบเพสลาดต้มน้ำดื่ม ขับระดูขาว ฟอกโลหิตระดูสตรีให้งาม หรือทั้งใบทั้งฝักต้มน้ำอาบสำหรับสตรีใกล้คลอดช่วยให้คลอดลูกง่าย หรือสำหรับสตรีหลังคลอดช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วแทนการอยู่ไฟได้ ช่วยรักษาผิวพรรณให้ผ่องใสมีน้ำมีนวล หากคุณแม่สุขภาพดี คุณลูกก็พลอยแข็งแรงสมบูรณ์ไปด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำใบมาตำห่อผ้าทำลูกประคบคลายเส้นเอ็น แก้เคล็ดขัดยอก และแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย ฝัก เป็นส่วนที่นิยมใช้กันมากในด้านเป็นยาสระผมแก้รังแค บำรุงเส้นผมให้ดกดำเป็นเงางาม แก้ผมร่วงแตกปลายและยังช่วยปลูกผมแก้ผมหงอกก่อนวัย เรียกได้ว่าเป็นแชมพูยาแผนไทยขนานแท้ เพราะฝักส้มป่อยมีสารซาโปนิน (Saponin) จำพวกอะคาซินิน เอ-บี (Acacinin A-B) สูงถึง 20.8% อันเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ของส้มป่อยว่า Acacia นั่นเอง สารซาโปนินนี่เองเป็นสารสำคัญที่ก่อให้เกิดฟองที่คงทนถาวร เป็นทั้งแชมพูยาสำหรับสระผมและเป็นสบู่ยาชำระผิวพรรณให้สะอาดหมดจด ลบรอยฝ้ารอยด่างดำให้จางลง ฝรั่งเองก็รู้จักคุณสมบัติข้อนี้ของฝักส้มป่อยเป็นอย่างดี จึงมีชื่อเรียกสามัญว่า Soap Pod หรือฝักสบู่นั่นเอง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดน้ำต้มฝักส้มป่อยจึงเหมาะกับการใช้อาบและรดน้ำดำหัวในประเพณีสงกรานต์ของชาวเหนือ ซึ่งต้องยกย่องภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพชน ที่นำเอาสิ่งดีงามมาใช้ในเทศกาลมงคลเช่นนี้ แต่ยังมีสรรพคุณหลักของฝักส้มป่อยที่อินเทรนด์ กับปัญหาหมอกควันพิษในภาคเหนือ นั่นคือ สรรพคุณรักษาโรคทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุมาจากฝุ่นจิ๋ว PM ๒.๕ วิธีทำน้ำยา ง่ายนิดเดียวคือ นำฝักส้มป่อยที่ปิ้งไฟพอหอมเหลือง แล้วหักผักเป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับชงน้ำร้อน จิบชุ่มคอ ชื่นใจ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว จึงช่วยลดอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่ต้องเผชิญกับหมอกควันได้ ถ้ากล่าวตามแบบฉบับตำรายาไทยดั้งเดิม ระบุสรรพคุณว่า ใบ แก้โรคตา ชำระเมือกมันในลำไส้ ยาถ่ายเสมหะ ถ่ายระดูขาว แก้บิด ฟอกล้างโลหิตระดู ประคบให้เส้นเอ็นหย่อน ใบ ยังนำมาใช้ในสูตรยาอบสมุนไพร มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งช่วยชะล้างสิ่งสกปรก รักษาโรคผิวหนัง บำรุงผิวพรรณ แก้หวัด แก้ปวดเมื่อย และยังเป็นส่วนประกอบในยาลูกประคบสมุนไพร ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง หรือทำเป็นลูกประคบแก้เส้นตึงให้เส้นอ่อน ในตำรับยากลางบ้าน ที่ผู้คนใช้กันสืบต่อมานั้น ก็จะนำใบอ่อน ต้มเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง กินเป็นยาขับปัสสาวะ ฝักมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาถ่าย ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ไข้จับสั่น และเมื่อนำฝักมาปิ้งไฟให้เหลือง นำมาชงน้ำ ใช้จิบแก้ไอ ขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว วัฒนธรรมพื้นบ้านแต่เดิมที่ยังไม่มีแชมพูสระผม ก็ใช้น้ำฝักส้มป่อยสระผม ทำให้ผมชุ่มชื้นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ฝักยังนำมาตำพอกหรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนังด้วย ปัจจุบันตำรายาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ประกาศให้ใช้บริการในหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ นั้น ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร มีตำรับยาแผนไทยอยู่ตำรับหนึ่ง ชื่อ “ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง” ซึ่งมีส้มป่อยเป็นสมุนไพรร่วมด้วย ตัวยาประกอบด้วย ดีเกลือฝรั่ง ยาดำ ใบมะกา ใบมะขาม ใบส้มป่อย ฝักคูน รากขี้กาแดง รากขี้กาขาว รากตองแตก ฝักส้มป่อย สมอไทย สมอดีงู เถาวัลย์เปรียง ขี้เหล็ก หัวหอม หญ้าไทร ใบไผ่ป่า สรรพคุณ แก้อาการท้องผูก กรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล ต้นส้มป่อยเป็นพันธุ์ไม้หนามคล้ายต้นชะอม ทนแล้งจัดได้ แพร่พันธุ์ได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับเป็นยารักษามหาชนทั่วประเทศไทยไม่เฉพาะแต่ชาวเหนือเท่านั้น ดังนั้น จึงสมควรที่ชาวไทยทุกภูมิภาค จะช่วยกันฟื้นฟูการใช้ส้มป่อย เป็นการสืบสานมรดกภูมิปัญญาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2562 16:28:22 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23377636861469__1_696x364_1_320x200_.jpg)
บอน พืชพิษ กินได้แต่ต้องทำให้ถูกวิธี สัปดาห์ที่ผ่านมานำเสนอแม่ค้าข้าวแกงที่เข้าใจผิด นำเอาบอนซึ่งถือเป็นพืชพิษมาปรุงอาหารเพราะคิดว่าคือ อ้อดิบ หรือเรียกว่า คูน หรือ โหรา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H. จึงขอขยายความให้เข้าใจยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำพืชพิษมาปรุงเป็นอาหารต้องมีความรู้หรือภูมิปัญญาการทำอาหาร และที่สำคัญยิ่งต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบการ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ คิดว่าตนเองรู้ดีแต่ใช้พืชผิดชนิดจะทำให้ผู้บริโภคเป็นอันตรายได้ บอน จัดเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง ในเมืองไทยมีรายงานพืชในสกุลเดียวกับบอน จำนวน ๕ ชนิด คือ ๑) Colocasia esculenta (L.) Schott เรียกว่า เผือกหรือบอนหรือ Cocoyam, Taro ๒) Colocasia fallax Schott เรียกว่าตุนเขียว หรือ Dwarf taro, Silver leaf dwarf elephant ear ๓) Colocasia gigantea (Blume) Hook. F. H. เรียกว่าคูน หรือโหรา หรือออกดิบ ๔) Colocasia lihengiae C.L. Long & K. M. Liu เรียกว่าบอนยูนนาน เป็นพืชนำเข้ามาจากต่างประเทศ และ ๕) Colocasia menglaensis J.T. Yin & Z. F. Xu เรียกว่าบอนเมงลา บอนที่มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Elephant ear, Cocoyam, Dasheen, Eddoe, Japanese taro, Taro มีชื่อพื้นเมืองไทยว่า ตุน (เชียงใหม่) บอนหอม (ภาคเหนือ), บอนจืด (ภาคอีสาน), บอนเขียว บอนจีนดำ (ภาคกลาง), บอนท่า บอนน้ำ (ภาคใต้), คึ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ขื่อที้พ้อ ขือท่อซู่คึทีโบ คูชี้บ้อง คูไทย ทีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กลาดีไอย์ (มาเลย์-นราธิวาส) กลาดีกุบุเฮง (มาเลย์-ยะลา) เผือก บอน (ทั่วไป) เป็นต้น ในทางพฤกษศาสตร์ บอนและเผือก เป็นพืชชนิดเดียวกัน บอนเป็นพืชล้มลุกในวงศ์ Araceae อวบน้ำ ชอบขึ้นบนดินโคลนหรือบริเวณที่มีน้ำขัง มีหัวใต้ดิน ใบรูปไข่แกมรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบเว้าลึกรูปสามเหลี่ยม ก้านใบสีเขียวหรือออกม่วง ดอก สีครีมหรือเหลืองนวล ออกเป็นช่อ ดอกตัวผู้อยู่ตอนบน ดอก ตัวเมียอยู่ตอนล่าง ก้านช่อสั้นกว่าก้านใบ มีใบประดับสีเหลืองรองรับ ผลสด รูปขอบขนาน เมล็ด ขนาดเล็กจำนวนมาก พบได้ทุกภาคของไทย เผือกและบอน มีชื่ออย่างเดียวกันแต่มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันบางประการ คือ เผือกจะมีก้านใบและเส้นใบเป็นสีม่วง ลงหัวเป็นหัวเผือก ส่วนบอนมีสีเขียวทุกส่วนของลำต้น มีการลงหัวบ้าง ไม่ลงหัวบ้าง ก้านใบของบอนและเผือกนำมาแกงกินได้ แต่ต้องกำจัดส่วนที่เป็นพิษออกก่อน โดยการนำมาต้ม ถ้าเป็นก้านเผือก ต้มประมาณ ๑๕ นาที พิษก็จะกำจัดออกไปหมด แต่ถ้าเป็นบอนต้องต้มไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นนำมาใช้ทำอาหารประเภทต้ม เช่น แกงส้ม แกงกะทิ แกงบอน เป็นต้น ส่วนของไหลและหัวใต้ดินนำมาลวกหรือต้มรับประทานเป็นอาหารได้ ส่วนใบอ่อนและก้านใบอ่อนนำมาลอกเปลือกออก ใช้จิ้มน้ำพริกกินได้แต่ต้องทำให้สุกก่อนจึงจะไม่คัน โดยนำมาต้ม ๒-๓ ครั้ง แล้วคั้นเอาน้ำทิ้งหรือนำไปเผาไฟก่อนนำมาใช้ปรุงอาหาร เวลาปอกเปลือกควรสวมถุงมือและสับเป็นท่อนๆ ก่อนนำไปต้ม เพราะพิษที่ถูกผิวหนังจะทำให้คันมาก ถ้าไม่ใส่ถุงมือ ภูมิปัญญาโบราณให้ทามือด้วยปูนแดงที่กินกับหมากให้ทั่วทั้งมือก่อนสัมผัส นอกจากนี้ก้านบอนยังนำมาดองเพื่อกินได้อีกด้วย วิธีการเลือกบอนมาเป็นอาหาร ให้เลือกใช้ต้นอ่อนพันธุ์สีเขียวสดและไม่มีสีขาวนวลเคลือบอยู่ตามแผ่นใบและก้านใบ โดยบอนสีเขียวสดจะเรียกว่า “บอนหวาน” (ชนิดคันน้อย) ส่วนชนิดที่มีสีซีดกว่าและมีสีขาวนวลกว่าจะเรียกว่า “บอนคัน” (ชนิดคันมาก) ส่วนที่นำมาใช้แกง คือ หลี่บอน เป็นยอดอ่อนหรือใบอ่อนของบอนที่อยู่ใกล้กับโคนต้นหรือจะนำไปปรุงกับเครื่องปรุงที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะขามเปียก มะดัน ส้มป่อย น้ำมะกรูด เป็นต้น หรือจะนำมาขยำกับเกลือเพื่อให้ยางบอนออกมากที่สุด เพื่อช่วยดับพิษคันหรือช่วยทำลายผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ที่มีอยู่มากในต้นบอน บางคนใช้วิธีการนึ่งบอนแต่ต้องนึ่งให้สุก โดยลองจับดูแล้วมีลักษณะนิ่มจนเละ เพราะถ้าบอนไม่สุกเมื่อกินจะทำให้เกิดอาการระคายคอ และการปรุงแกงบอน ควรใช้น้ำมะขามเปียกหรือน้ำส้มป่อยก็ได้ หากสัมผัสลำต้นหรือยางจากบอนจะทำให้เกิดอาการคันและปวดแสบปวดร้อนได้ ต่อมาจะเกิดอาการอักเสบ บวมและพองเป็นตุ่มใส หากนำมาเคี้ยวหรือรับประทานสดจะทำให้เกิดอาการคันคออย่างรุนแรง เนื่องจากผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate) ทำให้น้ำลายไหลออกมามาก ทำให้ลิ้น ปาก เพดาน และใบหน้าบวมจนทำให้พูดได้ลำบาก หากมีอาการเป็นพิษรุนแรงจะทำให้พูดไม่ได้ ลิ้นหนัก คันปาก ลำคอบวมและอักเสบอย่างรุนแรง จึงต้องระมัดระวัง ประโยชน์ด้านสมุนไพร สำหรับหมอยาไทยที่มีความรู้และลดพิษจากบอนจึงสามารถปรุงยา เช่น หัวใช้เป็นยาระบาย ห้ามเลือด น้ำคั้นจากก้านใบใช้เป็นยานวด แก้ฟกช้ำ ลำต้นบดใช้พอกแผลรวมทั้งแผลจากงูกัด ชาวเขาเผ่ามูเซอ เย้า ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย เจ็บคอ เสียงแหบ ตำรายาไทยใช้ ไหล ตำผสมเหง้าขมิ้นอ้อย ขี้วัว กะปิ และเหล้าโรงเล็กน้อย พอกฝีมะตอย ข้อมูลทางเภสัชวิทยา มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดจากใบบอนแห้งด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนอง มีเส้นใยช่วยในการดูดซับสารก่อกลายพันธุ์ สารสกัดจากรากบอนมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเนื้องอก หัวใต้ดินของต้นบอนมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต น้ำจากก้านใบมีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นและทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณที่ได้รับยานั้นมากขึ้น แต่การศึกษาเหล่านี้ยังอยู่ในระดับห้องทดลองยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยต่อไป บางพื้นที่นำใบบอนมาต้มให้หมูกินหรือนำมาสับผสมเป็นอาหารหมู ที่น่าติดตามข้อมูลเพิ่มเติม คือ มีกลุ่มชาวบ้านตัดก้านบอนมาลอกเปลือกตากแห้งแล้วส่งขายต่างประเทศสร้างรายได้จากพืชพิษได้ด้วย ใบบอนให้รูปทรงความสวยงามปลูกเป็นไม้ประดับได้ และพืชพิษยังปลูกไว้ช่วยรักษาริมตลิ่งของแม่น้ำลำคลองไม่ให้ถูกกัดเซาะได้อีกด้วย บอนพืชพิษใช้ให้ถูกวิธีมีประโยชน์หลายด้านอย่ามองข้าม มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73088615760207__1_320x200_.jpg) ผักยืนต้น คนกินสุขภาพดี คนปลูกให้โลกร่มเย็น ผักยืนต้นคืออะไร คนทั่วไปอาจจะสับสนเพราะผักที่เรารู้จักและกินกันอยู่ทุกนี้ ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก มีอายุสั้น และน่าจะนึกไม่ถึงว่าในความเป็นจริง พืชผักที่เรากินกันอยู่ในทุกวันนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ มาจากไม้ยืนต้น หรือเรียกว่า ผักยืนต้นทั้งที่มีขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ถ้ารวมไม้พุ่มและไม้เลื้อยที่มีเถาขนาดใหญ่เข้าไปด้วยก็น่าจะมากถึงร้อยละ ๕๐ เลยทีเดียว จากการศึกษาของนักศึกษาปริญญาเอกชาวเยอรมัน ที่มาทำการสำรวจพืชผักกินได้ในจังหวัดกาฬสินธุ์เมื่อช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าถิ่นอีสานในเมืองกาฬสินธุ์มีผักยืนต้นถึง ๓๔๘ ชนิด ตามภูมิปัญญาอีสานกล่าวไว้ว่า “กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” ซึ่งอธิบายได้ว่า การกินข้าวเป็นหลักเนื่องจากข้าวเป็นแหล่งพลังงานชั้นยอด (โดยเฉพาะกินข้าวกล้องยิ่งดี) เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานที่ดีจากการกินข้าว แต่ในปัจจุบันมีสื่อหลายแหล่งกล่าวอ้างว่า คนที่เป็นเบาหวานไม่ควรกินข้าวเหนียว น่าจะเป็นข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิต เนื่องจากคนไทยโดยเฉพาะภาคอีสานและเหนือกินข้าวเหนียวมานานนับเป็นพันปี หากมีปัญหาเบาหวาน น่าจะรู้จักกินในปริมาณที่เหมาะเพื่อให้ได้แป้งเข้าสู่ร่างกายที่พอดี และควรมีการออกกำลังหรือทำงานที่มีการใช้แรงสม่ำเสมอ มิใช่ให้เลิกกินข้าวเหนียว กินผักเป็นยา มีความหมายว่ากินผักจะช่วยทำให้เกิดสมดุลของธาตุในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่เจ็บป่วยง่าย ปัจจุบันมีงานวิจัยต่างๆ ยืนยันได้ว่าในผักต่างๆ มีวิตามินแร่ธาตุมากมาย มีสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก มีสารที่ช่วยลดการอักเสบภายในร่างกาย พืชผักช่วยขับถ่ายช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกาย กินผักมีแต่ประโยชน์ต่อร่างกาย การกินปลาเป็นอาหาร หมายถึงการได้รับสารโปรตีน เพื่อการเสริมสร้างและใช้ในการซ่อมแซมบำรุงให้ร่างกายปกติดี และโปรตีนจากปลาเป็นโปรตีนที่ส่งเสริมสุขภาพมากกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์อื่นๆ การกินผักให้เกิดประโยชน์นั้น มีข้อมูลศึกษาไว้มากมายพอจะสรุปได้ ๒ แนวทาง คือ กินตามฤดูกาล เพราะผักที่เจริญได้ดีในแต่ละฤดูกาลก็เพราะสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเรากินผักที่ตรงกับฤดูกาลเหมือนธรรมชาติสร้างให้มา เพื่อให้เรากินปรับสมดุลของร่างกายเรานั่นเอง ในแต่ละฤดูกาลธาตุในร่างกายของเรามักจะแปรเปลี่ยนไปไม่สมดุล ก็ควรกินผักปรับสมดุลของธาตุในร่างกาย เช่น ในช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ความร้อนของฤดูกาลทำให้ธาตุไฟกำเริบ มีผลไปกระทบกับธาตุดินและธาตุน้ำในร่างกาย อาจทำให้ตัวร้อน ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย กระหายน้ำ ร้อนใน ท้องผูก ปัสสาวะน้อยและมีสีเหลืองจัด ฤดูกาลนี้ควรกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ขม จืด เย็น ผักยืนต้นที่เหมาะกับการกินในหน้าร้อน เช่น ยอดอ่อนและดอกของผักกุ่มน้ำ (Crateva religiosa G.Forst. ) ซึ่งจะออกดอกในช่วงกุมภาพันธ์-เดือนมิถุนายน ยอดอ่อนและดอกของผักกุ่มไม่สามารถกินเป็นผักสดได้ เพราะมีสารพิษไซยาไนด์อยู่เป็นจำนวนมาก ตามภูมิปัญญาให้นำมาดองก่อนรับประทาน เพื่อกำจัดสารพิษออกไปก่อน ดอกกุ่มน้ำดองช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว เช่นเดียวกับผักกุ่มบก (Crateva adansonii subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs) ซึ่งออกดอกกุมภาพันธ์-เดือนกรกฎาคม ดอกช่วยแก้อาการเจ็บคอได้ด้วย ในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-กันยายน) เมื่อมีฝนตก ทำให้อากาศเย็น มีผลไปกระทบธาตุลม อาจทำให้ครั่นเนื้อ ครั่นตัว เป็นหวัด ท้องอืดเฟ้อ ในฤดูนี้ควรกินอาหารเผ็ดร้อนและรสสุขุม เช่น แกงเลียง แกงส้ม ผักยืนต้นที่กินได้ในฤดูนี้ เช่น มะรุม (Moringa oleifera Lam.) ยอดอ่อนและดอกนำมาลวกจิ้มกินเป็นผักจิ้มน้ำพริก แจ่ว ผลอ่อนและผลแก่นำมาแกงส้มได้ ผลอ่อนกินเป็นผักกับส้มตำหรือลาบ ดอกใช้แก้อาการไข้หัวลมหรืออาการไข้เปลี่ยนฤดู เป็นยาบำรุง ขับปัสสาวะ ขับน้ำตา ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันมะเร็ง แก้หวัด ใบมะรุมมีวิตามินเอสูง มีแคลเซียมสูงเกือบเท่านม มีธาตุเหล็กสูงกว่าผักขม มีวิตามินซีมากพอๆ กับส้ม และมีโพแทสเซียมเกือบเท่ากล้วย ฤดูหนาว (ตุลาคม-มกราคม) มีอากาศเย็น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน อากาศเย็นมักมีผลต่อธาตุน้ำ อาจทำให้มึนหัว น้ำมูกไหล ผิวแห้ง ท้องอืด เคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก ในช่วงนี้ควรกินอาหารหรือผักที่มีรสขม เผ็ดร้อนและเปรี้ยว ผักที่มีรสขม เช่น เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ยอดอ่อน ดอกและฝักนำมากินเป็นอาหารได้ ดอกนิยมนำมาลวกกินกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ยำ ฝักมีรสขม ต้องนำมาเผาไฟให้สุกหรือผิวนอกเกรียม ขูดเอาส่วนที่ไหม้ออกจะช่วยลดความขมได้ นิยมนำมากินเป็นผักเคียงหรือนำมาผัดกับไข่ก็ได้ มีการศึกษาพบว่าฝักเพกาช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และหากถือคติโบราณ “หวานเป็นลมขมเป็นยา” แล้วละก็ กินผักรสขมอยู่เสมอๆ ก็น่าจะดีต่อสุขภาพ ผักที่ให้รสขมอีกชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันคนเมืองรู้จักกันดีคือ แคนาหรือแคป่า (Dolichandrone serrulata (Wall. ex DC.) Seem.) ดอกจะออกในช่วงมีนาคม-มิถุนายน ดอกนำมาใช้ประกอบอาหารได้ โดยนำมาทำเป็นแกงส้ม หรือนำมาลวกต้มจิ้มกินกับน้ำพริก รสขมจากดอกจะช่วยทำให้อาหารอร่อยยิ่งขึ้น ทำให้นอนหลับ ขับเสมหะ โลหิต และลม ที่คนเมืองกรุงรู้จักไม้ชนิดนี้ดีเพราะในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา นักตกแต่งสวนนิยมนำมาทำเป็นไม้ประดับตามหมู่บ้านจัดสรรหรือตามปั๊มน้ำมัน ในภูมิปัญญาอีสานเตือนไว้ว่าไม่ควรปลูกไม้ชนิดนี้ใกล้บ้าน เนื่องจากดอกมีละอองเกสรขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อหายใจเอาละอองเข้าไปจะทำให้เป็นหวัดหรือเกิดอาการภูมิแพ้ได้ ผักที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้อายุหลายปีเป็นทางเลือกที่ดี เพราะน่าจะมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีน้อยกว่าผักที่มีอายุสั้นหรือผักตามตลาดทั่วไป การเลือกปลูกและกินก็มีหลากหลายให้เลือกได้ตามภูมินิเวศของต้นไม้และผู้ปลูก ผักยืนต้นจึงน่าที่จะเป็นอนาคตที่ดีของอาหารปลอดภัย และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลกด้วย มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67129993273152__1_320x200_.jpg) ตรีผลา : ยาแก้โรคร้อน ว่ากันถึงอัตลักษณ์ของยาไทยไม่เหมือนยาฝรั่งก็ตรงที่ยาไทยเป็นยากินตามธาตุ ตามวัย และตามฤดูกาล ถ้าถามว่าฤดูนี้ควรกินยาอะไร ก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ทันทีว่า ต้องกินยาชื่อ “ตรีผลา” ซึ่งหมอแผนโบราณท่านรู้ดีว่า “ตรีผลาเป็นพิกัดยาในคิมหันตฤดู” พูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือ เป็นยาสามัญประจำฤดูร้อนนั่นเอง ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักยาตรีผลา แม้แต่ฝรั่งมังค่าที่นิยมยาไทย ก็ยังมีสำนวนติดปากว่า “นึกยาอะไรไม่ออก ก็บอกให้ใช้ตรีผลาไว้ก่อน” (When in doubt, use Triphala) ในคอลัมน์นี้ก็เคยเขียนถึงพิกัด (กลุ่ม) ยาผลไม้พื้นบ้าน ๓ อย่างนี้ไว้บ้างแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นพิกัดยาโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ดูจากชื่อผลไม้ที่นำมาประกอบยา ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ล้วนแต่เป็นชื่อสมุนไพรในพุทธประวัติ ที่พระท่านใช้ขบเคี้ยวเป็นยารักษาสุขภาพได้หลังเพล แต่ที่ยังไม่มีใครรู้กันก็คือตรีผลาเป็นยาสำหรับแก้โรคหน้าร้อน ไม่ว่าจะใช้เป็นพิกัดยาสมุนไพรเฉพาะ ๓ ชนิดนี้ หรือจะนำพิกัดตรีผลาไปเป็นส่วนหนึ่งของตำรับยาใหญ่ชุดอื่น ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาแก้ไข้เด็ก ยาบำรุงโลหิตสตรี ยารักษาโรคหอบอันเกิดจากน้ำเหลืองเสียและเสมหะกำเริบ รวมทั้งโรคอุจจาระธาตุต่างๆ ด้วย เป็นต้น ในหน้าร้อนอ่อนเพลียอย่างนี้ จึงขอแนะนำย้ำกันอีกครั้งให้รับประทานตรีผลาเป็นยาเย็นที่มีสรรพคุณคลายร้อน บำรุงร่างกายไปพร้อมๆ กัน และยังช่วยรักษาท้องไส้ให้ปลอดภัยจากโรคทางเดินอาหารที่มากับหน้าร้อนอีกด้วย เคล็ดลับของการปรุงตำรับยาตรีผลาให้ได้ฤทธิ์ยาดีตรงตามพระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัดที่มีมาแต่โบราณ ก็คือ ต้องใช้เนื้อผลที่แก่จัดของผลไม้ยาทั้ง ๓ ชนิด ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ ดังนี้คือ สมอไทย (Terminalia chebula Retz. ) สมอพิเภก (Terminalia bellirica Roxb.) และมะขามป้อม (Phyllanthus emblica L. ) ทำไมต้องใช้ผลสมอไทยแก่ เพราะเนื้อผลแก่ไม่มีรสเปรี้ยวเพียงรสเดียวเหมือนผลอ่อน แต่มีรสฝาดแทรก เจือขมเล็กน้อย จึงมิใช่มีแต่ฤทธิ์ระบายถ่ายอย่างเดียว แต่มีฤทธิ์พิเศษที่หมอทองเอกแห่งท่าโฉลงน่าจะทราบดี คือ ฤทธิ์ “คุมธาตุ รู้เปิด รู้ปิดเอง” คุมธาตุ ในที่นี้หมายถึงคุมอุจจาระธาตุ รู้เปิด หมายถึงมีฤทธิ์ช่วยระบายเวลาท้องผูก ส่วนรู้ปิด หมายถึงมีฤทธิ์หยุดระบายได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อท้องร่วงเป็นกลไกป้องกันร่างกายเสียน้ำมากเกินไป นอกจากนี้ยังแก้ลมป่วงที่เกิดจากท้องร่วงอย่างแรง และแก้อาเจียน แต่ที่สำคัญคือ รสผลแก่ ช่วยถ่ายพิษไข้ ระบายพิษร้อนภายในอันเกิดจากดีพลุ่ง แก้ปิตตะ (ดี) พิการ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้หืดไอ และบำรุงร่างกาย ยิ่งถ้าเอาผลสมอไทยแก่ดองฉี่วัว ใช้ดื่มแก้ปวดเมื่อย ตามเนื้อตัว ตามข้อ แก้อ่อนเพลียได้ดีนักเช่นกัน ทําไมต้องใช้ผลสมอพิเภกแก่ เพราะเนื้อผลแก่มีทั้ง ๓ รส คือ เปรี้ยว ฝาด สุขุม ซึ่งไม่เพียงแก้เสมหะจุกคอ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้คอแห้งผากยามร้อนบรรลัยเท่านั้น แต่ยังช่วยบำรุงธาตุสี่ แก้ไข้ ส่วนผลมะขามป้อมแก่นั้นก็มีทั้ง ๔ รส คือ มีรสเปรี้ยวฝาดนำ และรสขมเจือเผ็ดตาม นอกจากช่วยระบาย ทำให้ชุ่มคอแล้ว ยังช่วยขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ร้อนในแก้ลมวิงเวียน และบำรุงหัวใจ มีฤทธิ์ใหม่ของมะขามป้อมที่พบจากการวิจัยในหนูทดลองคือ ช่วยลดพิษสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ต่อตับและไต ซึ่งอินเทรนด์กับการแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นจิ๋ว ๒.๕ ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ด้วย ดังนั้น เนื้อผลไม้ยาทั้ง ๓ อย่างดังกล่าว เมื่อประกอบเข้าเป็นพิกัดยาตรีผลา จึงมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคร้อน และสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่มากับหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์ยาตรีผลาออกมาแพร่หลายเป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบยาแคปซูล ยาเม็ด และยาน้ำ รวมทั้งเครื่องดื่ม จึงไม่ยากที่ผู้นิยมสมุนไพรไทยจะแสวงหามาไว้เป็นยาสามัญใกล้ตัวสำหรับเยียวยาสุขภาพในยามหน้าร้อนอย่างนี้ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/34977376254068__696x364_1_320x200_.jpg) เห็ดพิมานและเห็ดซางฮวง เห็ดในสกุลฟิลินัส ในช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวทางสื่อมวลชนได้พูดถึง “เห็ดพิมาน” กันค่อนข้างบ่อยมาก โดยเฉพาะกล่าวถึงตำรับยารักษามะเร็ง จนรายการทางโทรทัศน์นำไปขยายผล และนำเสนอข้อมูลการเพาะเลี้ยงเห็ดพิมานกันมากมาย สนนราคาขายกันหลักล้านบาทต่อกิโลกรัม คําว่า “เห็ดพิมาน” เป็นชื่อเรียกในภาษาไทย และในตำรายาแผนไทยเก่าแก่บางเล่มได้กล่าวไว้ว่า เห็ดพิมานเป็นยารักษาโรคที่มีการใช้บำบัดอาการรักษาได้หลายอาการ เช่น ตำรับยาเย็น สำหรับผู้ที่มีอาการไข้ ให้ใช้เห็ดพิมาน ๑ ส่วน ฮากหนามแน่ ๑ ส่วน ฮากดอกซ้อน ๑ ส่วน ฮากเทียนดำ ๑ ส่วน หัวพันมหา ๑ ส่วน แมงวัน ๓ ตัว ฝนใส่น้ำเหล้า เด็ดแต้มตามตุ่มที่ออกตามตัวเนื่องมาจากพิษไข้ หรือใช้เป็นยากิน ซึ่งในตำรับประกอบด้วย จันแดง ๑ ส่วน เห็ดพิมาน ๑ ส่วน เห็ดขาม ฮากหวดข้าน้อย ฮากถั่วพู ฝนกินดีแล เรื่องราวเห็ดพิมานเริ่มมีการศึกษาหาข้อเท็จจริงในปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการจัดจำแนกชนิด พบว่าเห็ดพิมานที่ปรากฏในตำรายาโบราณ พบว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phellinus rimosus เป็นเห็ดที่อยู่ในสกุลฟิลินัส (Phellinus) ซึ่งเห็ดในสกุลนี้เป็นเห็ดที่มีการเจริญเติบโตจำเพาะกับต้นไม้ ดังนั้นเห็ดพิมานก็ควรจะเป็นเห็ดที่เจริญได้ดีบนต้นพิมานหรือกระถินพิมาน (Acacia tomentosa Willd. ) แต่ความรู้ในปัจจุบันกลับพบว่าเห็ดในสกุลฟิลินัสที่เจริญได้ดีบนต้นพิมานคือเห็ดฟิลินัส ชนิด Phellinus pomaceus (Pers.) Maire ส่วนเห็ดพิมานชนิด Phellinus rimosus (ซึ่งเราเข้าใจแต่เดิมนั้น) พบได้บนต้นแดง (Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. ) จึงเรียกในภาษาไทยว่า “เห็ดหิ้งต้นแดง” เห็ดในสกุลฟิลินัสที่มีการบันทึกในตำรายาจีนโบราณ และในตำราเภสัช (Chinese Pharmacopeia) ของจีน พบว่าคือชนิด Phellinus igniarius ซึ่งในภาษาไทยเรียก “เห็ดซางฮวง” แต่ก็มีคนไทยตั้งชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เห็ดอุ้งตีนหมี” เห็ดชนิดนี้เจริญได้ดีบนต้นเต็ง (Shorea obtusa Wall. ex Blume) “เห็ดซางฮวง” หรือ “เห็ดอุ้งตีนหมี” มีการบันทึกว่าใช้เป็นยาบำรุง ปรับสมดุลโลหิต โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปกติ เมื่อได้รับสารสกัดจากเห็ดนี้จะทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้เป็นอย่างดี ขอบอกให้ชัดว่า เห็ดชนิดนี้จะให้ผลได้ดีเมื่อได้ กินสารสกัด ไม่ใช่กินเนื้อเห็ดโดยตรง การสกัดส่วนใหญ่เป็นการสกัดโดยใช้น้ำร้อนหรือสกัดด้วยแอลกอฮอล์ จึงทำให้ได้สารสำคัญที่อยู่ในเนื้อเห็ดมาใช้ประโยชน์สามารถออกฤทธิ์ในร่างกายได้ นอกจากนี้ สาระสำคัญที่ได้จากเห็ดส่วนใหญ่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ร่างกายดูดซึมเอาไปใช้ยาก นักวิทยาศาสตร์จึงแนะว่าควรมีการตัดโครงสร้างทางเคมีของสารสำคัญนี้ให้มีขนาดเล็กลงก่อน ร่างกายจึงดูดซึมไปใช้ได้ดี การตัดโครงสร้างทางเคมีของสารสกัดจากเห็ดนั้น มีการแนะนำ เช่น การกินร่วมกับวิตามินซี เป็นต้น เรื่องชนิดเห็ดมีความซับซ้อนในชื่อเรียกพอสมควร ดังในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีมีการใช้เห็ดชนิด Phellinus linteus ซึ่งเป็นเห็ดในสกุลฟิลินัสอีกชนิดหนึ่ง แต่ชื่อในภาษาไทยก็มีการเรียกชื่อซ้ำกันอีกว่า “เห็ดซางฮวง” เป็นการเรียกทับศัพท์เดิมที่เป็นภาษาเกาหลีที่มีความหมายว่า “เห็ดสีเหลืองบนต้นหม่อน” คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้ทำการศึกษาเห็ดซางฮวงชนิดนี้ โดยการใช้เทคนิคการตรวจสอบดีเอ็นเอ พบว่าเห็ดซางฮวงที่นิยมนำมาใช้ทำยาถูกแยกออกเป็น ๒ ชนิด คือ Tropicoporus linteus และ Sanghuangporus sanghuang ในส่วนของชนิด Tropicoporus linteus พบได้ในเอเชียนั้นจะเจริญได้ดีบนต้นเค็ง (Dialium cochinchinense Pierre) ดังนั้น เพื่อไม่ให้สับสน ในภาษาไทยควรเรียกเห็ดซางฮวงชนิดนี้ว่า “เห็ดเค็ง” (เพราะขึ้นในต้นเค็ง) ส่วนเห็ดชนิด Sanghuangporus sanghuang ซึ่งส่วนใหญ่พบได้มากในที่มีอากาศเย็น เจริญได้ดีบนต้นหม่อน (Morus spp. ) ใต้หมวกเห็ดมีสีเหลืองสดใส ในภาษาไทยจึงเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า “เห็ดต้นหม่อน” ในปัจจุบันมีงานวิจัยไม่น้อยกว่า ๓,๕๐๐ ชิ้น ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเห็ดในสกุลฟิลินัสนี้ สำหรับในประเทศไทย เท่าที่พบหลักฐาน เริ่มมีการศึกษาเห็ดในสกุลนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔ โดย ดร.แฟรงค์ ชาญบุญยสิทธิ์ ซึ่งได้รับเห็ดชนิด Phellinus linteus และ Phellinus igniarius จากเพื่อนที่เป็นคนจีน โดยที่เวลานั้นเพื่อนชาวจีนเรียกเห็ดกลุ่มนี้ว่าเห็ดหลินจือ เพราะในอดีตเห็ดชนิดนี้ในประเทศจีนเรียกว่าเห็ดหลินจือ ดังมีหลักฐานที่เรียกเห็ดหลินจือนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา (The University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology, USA) ซึ่งเป็นของจักรพรรดิเฉียนหลง มีความยาว ๑๖ x๓/๘ นิ้ว เห็ดดอกนี้เมื่อทำการจัดจำแนกโดยใช้ความรู้ในปัจจุบันพบว่าไม่ใช่เห็ดหลินจือแต่คือเห็ด สกุลฟิลินัส ชนิด Phellinus linteus มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 พฤษภาคม 2562 16:01:14 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18251430822743__1_696x364_1_320x200_.jpg) ตองแตก หรือ ทนดี คือสมุนไพรชนิดไหนแน่? มีสมุนไพรชนิดหนึ่งชื่อ ตองแตก หรือ ทนดี ซึ่งในเอกสารเก่าบ้างใหม่บ้างเกือบทั้งหมดบอกว่า ตองแตกและ ทนดี คือ สมุนไพรชนิดเดียวกัน แต่เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมในตำรับยาจึงปรากฏสมุนไพรทั้ง ๒ ชื่อ หากดูรายงานของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้กล่าวไว้ว่า พืชที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ เปล้าตองแตก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baliospermum calycinum M?ll.Arg. และ ตองแตก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh ซึ่งมีรายละเอียดของพืชทั้ง ๒ ชนิด ดังนี้ เปล้าตองแตก (Baliospermum calycinum M?ll.Arg.) จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กแต่ก็สูงได้ถึง ๓ เมตร มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า ตองแตกใบยาว ตองแตกเล็ก เปล้าดอย (ทั่วไป) เปล้าตองแตก (เชียงใหม่) มีการกระจายในอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ หิมาลายาตะวันออก เมียนมาร์ เนปาล ไทย เวียดนาม ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑๐-๒๐ ซ.ม. ขอบใบจักฟันเลื่อยหรือจักมน แผ่นใบด้านล่างมีขนเอน ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง ๑๖ ซ.ม. ช่อดอกเพศเมียยาว ๒-๓ ซ.ม. ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว ๑-๓ ม.ม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว ๑-๒.๕ ม.ม. จานฐานดอกแยกเป็นต่อม ๕ ต่อม เรียงเป็นวง เกสรเพศผู้ ๙-๒๑ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ ม.ม. ดอกเพศเมียก้านดอกยาว ๑-๒ ม.ม. กลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๓-๘ ม.ม. เกลี้ยงหรือมีขน รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียยาว ๑-๓ ม.ม. ผลตั้งขึ้น รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว ๑-๑.๒ ซ.ม. กลีบเลี้ยงติดทน ยาว ๕-๘ ม.ม. เมล็ดขนาดประมาณ ๔ ม.ม. สีน้ำตาลเข้ม ในตำราอายุรเวทใช้รากแห้ง แก้ดีซ่าน และใช้รักษาก้อนในท้อง (abdominal lump) ม้ามโต ใบนำมากินเป็นผักได้แต่ต้องทำให้สุกก่อนกิน ส่วน ตองแตก (Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh) มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์) ตองแตก ถ่อนดี ทนดี (ทั่วไป ตรัง) โทะโคละ พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นองป้อม ลองปอม (เลย) เป็นต้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ชายฝั่งทะเลมาเลเซีย เกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา สุลาเวสี มาลูกู เลสเซอร์ เกาะซันดร้า ประเทศไทยพบทั่วไปในป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบแล้ง จากระดับน้ำทะเลจนถึงระดับ ๙๐๐ เมตร เป็นไม้พุ่มสูงถึง ๒ เมตร ใบเดี่ยว มักเป็นรูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๐ ยาว ๘-๑๒ ซ.ม. ก้านใบ ยาว ๒-๑๓ ซ.ม. ฐานใบมักจะมน ขอบใบ จักเป็นฟันเลื่อยหรือหยักมน บางครั้งขอบเว้าเป็นแฉก ๓-๕ แฉก ปลายมน หรือแหลม เกลี้ยง หรือมีขนแข็งเอน ทั้งสองด้านของใบ ดอก แยกเพศ ออกเป็นช่อ ช่อดอกเพศผู้ ยาว ๑-๘ ซ.ม. ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ ม.ม. ช่อดอกเพศเมีย ยาว ๐.๑-๑ ซ.ม. ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ ม.ม. ผลห้อยลง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๓ ซ.ม. กลีบเลี้ยงติดคงทน ขยายตัวเมื่อติดผล เมล็ด รูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง ๓ ยาว ๓.๕ ม.ม. เป็นพรรณไม้ที่มีอายุอยู่ได้นานและทนทาน ตายยาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และตามที่รกร้าง จนถึงระดับความสูง ๗๐๐ เมตร สรรพคุณของสมุนไพรตองแตก เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรงมาก (แรงกว่าใช้ราก) ในส่วนของรากมีรสขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายแก้อาการบวมน้ำ แก้น้ำดีซ่าน ถ่ายเสมหะเป็นพิษ แก้ฟกบวม และทำลายพิษอุจจาระให้ตก ส่วนใบ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคหืด นอกจากนี้ ภายในเมล็ดจะมีน้ำมันซึ่งนำมาทำเป็นยาที่เรียกว่า ยารุ คือยาถ่ายอย่างแรงถึงกับถ่ายเป็นน้ำจึงต้องระมัดระวัง ถ้าใช้ภายนอกให้นำเมล็ดมาบดแล้วทาเพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ทา และน้ำมันจากเมล็ดใช้ทาแก้ปวดตามข้อได้ ในมาเลเซียมีการใช้โดยตัดเอารากสดหรือใบ มาแช่ในน้ำร่วมกับข้าวสาร ๗ เมล็ด ประมาณ ๓๐ นาที ให้ดื่มช่วยทำให้หยุดอาเจียนและคลื่นไส้ ตองแตก และ ทนดี มีการกล่าวไว้ในตำรับยา เช่น ตำรับยาวัดราชโอรสาราม กล่าวคือ ชื่อตองแตกปรากฏอยู่ในตำรับยาแก้อาโปธาตุกำเริบ กล่อนหิน แก้ริดสีดวง แก้ลมจุกเสียด แก้ลมเป็นก้อน เป็นเถาในท้อง แก้บวมทั้งตัว แก้ท้องมาน แก้เลือดเน่า แก้ก้อนในท้อง ส่วนทนดีปรากฏอยู่ในตำรับยาแก้ชาติวาโยธาตุ กําเริบ หย่อน พิการ ยาแก้เลือดตีขึ้น ยาแก้วาโยธาตุพิการ ยาแก้ดานพืด ยาแก้ไข้เจลียง ยาแก้ดานทักขิณคุณ หากพิจารณาจากตำรับยาวัดราชโอรสาราม การเข้ายาของตองแตกและทนดีมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง และก็พบเอกสารบางชิ้นบ้างครั้งก็บอกว่าเป็นต้นเดียวกัน บางครั้งก็บอกว่าเป็นไม้คนละต้นกัน ซึ่งบางคนก็อ้างว่า เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ซึ่งสังเกตได้จากใบที่แตกและไม่แตกออกจากกัน ใบทนดีแตกมากกว่าใบตองแตก ซึ่งถ้าดูลักษณะต้นที่บรรยายไว้ข้างต้น เห็นชัดว่า ใบเปล้าตองแตกไม่แยกออกเป็นแฉก มีขนเอนที่ท้องใบ ผลตั้งขึ้น ในขณะที่ตองแตกจะมีใบแยกออกเป็น ๓-๕ แฉก มีขนเอนที่ผิวใบทั้ง ๒ ด้าน ผลมีลักษณะห้อยลง ในการถ่ายทอดความรู้กันต่อๆ มา อ้างว่า ตองแตกและทนดีเป็นไม้ชนิดเดียวกัน ก็ยังเป็นที่สงสัย ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลทางวิชาการมาทำให้ชัดเจนต่อไป มีข้อน่าสังเกตส่งท้ายว่า บางพื้นที่เรียกต้นตองแตกว่า “ต้นเรียกจิ้งจก” เนื่องจากในดอกและใบจะมีสารที่มีกลิ่นดึงดูดจิ้งจก ถ้าขยี้ดอกและใบไว้ตามซอกมุมต่างๆ จิ้งจกจะเดินออกมาตามกลิ่นนั้น เช่นเดียวกับต้นตำแยแมว ที่มีกลิ่นที่แมวชอบ ในต่างประเทศจึงนำมาสกัดเป็นครีมใช้ฝึกให้แมวถ่ายและปัสสาวะให้เป็นที่เป็นทางนั่นเอง ดังนั้น ต้นตองแตกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดักจับจิ้งจก สำหรับคนไม่ชอบหรือไม่ให้มารบกวนเราได้ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27886325286494__1_320x200_.jpg) มะเดื่ออุทุมพร สมุนไพรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในระหว่างวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ผ่านไปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติเป็นที่ชื่นชมโสมนัสของปวงพสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า มีเกร็ดความรู้มากมายจากงานพระราชพิธีครั้งนี้ ที่คนส่วนใหญ่เพิ่งรู้ เช่น มีสมุนไพรธรรมดาสามัญหลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในพระราชพิธี ได้แก่ ใบมะตูม ใบมะม่วง ใบทอง ใบตะขบ และมะเดื่ออุทุมพร เชื่อกันในคติพราหมณ์ว่าใบมะตูม ๓ แฉก เป็นสัญลักษณ์แทนเทพพรของพระเจ้า ๓ องค์ ที่เรียกรวมกันว่าตรีมูรติ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ดังนั้น ในพระราชพิธีสำคัญอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีการนำใบมะตูมมาประกอบน้ำมหาสังข์เพื่อหลั่งพรพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามถวายแด่พระมหากษัตริย์ และถ้าสังเกตให้ดีในพระราชพิธีดังกล่าวจะเห็นพราหมณ์ถวายช่อใบสมิต ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป ในที่นี้จะกล่าวถึงไม้มะเดื่ออุทุมพร ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้ในตำรับยาสมุนไพร มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa L.) เป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ จึงมีชื่อเรียกว่า มะเดื่อใหญ่ และยังมีลำต้นเกลี้ยงจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า มะเดื่อเกลี้ยงหรือเดื่อเกลี้ยง เพื่อบ่งบอกชนิดให้แตกต่างจากมะเดื่อปล้อง (Ficus hispida Linn. f) ซึ่งลำต้นและกิ่งก้านมีข้อปล้องคล้ายข้อปล้องไม้ไผ่ และใบมะเดื่ออุทุมพรเป็นรูปหอกโคนมนต่างจากใบมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica L. ) ที่มีขอบใบหยักลึก ๓-๕ หยัก และที่มักเข้าใจผิดกัน คือ ลูกฟิก(Fig) ที่อบแห้งรสชาติหอมหวานนั้นไม่ใช่ผลมะเดื่ออุทุมพรซึ่งมีอีกชื่อว่ามะเดื่อไทย แต่เป็นผลแห้งของมะเดื่อฝรั่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือไม่ก็มาจากโครงการหลวงที่ส่งเสริมการปลูกมะเดื่อฝรั่งแทนการปลูกฝิ่น คนไทยทั่วไปในปัจจุบันมักไม่เข้าใจในความสำคัญของมะเดื่ออุทุมพรมากนัก เพราะนอกจากเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่ทนทานแล้ว ลูกมะเดื่อชนิดนี้ก็ไม่น่ากินเหมือนลูกมะเดื่อฝรั่ง เพราะมีไข่และตัวแมลงหวี่อยู่ภายในเต็มไปหมด ดังคำกลอนสุนทรภู่ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า “ถึงบางเดื่อ โอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้ เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุประไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา” แต่สำหรับผู้รู้เรื่องพราหมณ์พิธีย่อมเห็นไม้มะเดื่อที่ชาวอินเดียเรียกว่า Udumbra (ซึ่งออกเสียงเป็นคำไทยว่า อุทุมพร และเพี้ยนเสียงไปเป็นคำว่าชุมพร) เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นบัลลังก์ที่ประทับของเทพตรีมูรติ คนที่อยู่ในรั้วในวังของไทยย่อมทราบดีว่ามะเดื่ออุทุมพรเป็นไม้มงคลนาม จึงไม่แปลกที่มีพระมหากษัตริย์ไทยราชวงศ์บ้านพลูหลวงสมัยอยุธยาอย่างน้อยสองพระองค์ที่เรารู้จักกันดี ที่มีพระนามเล่นว่าดอกมะเดื่อ คือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (หรือพระเจ้าเสือ) เหตุเพราะประสูติใต้ต้นมะเดื่อซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เนื่องจากหนึ่งในพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัป คือ โกนาคมโนก็ประสูติใต้ต้นมะเดื่ออุทุมพร และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) เหตุเพราะพระราชมารดาสุบินว่าทรงได้ดอกมะเดื่อ สำหรับพระองค์หลังนี้พระนามจริงมีความหมายเดียวกับพระนามเล่น และวัดที่พระองค์ทรงสร้างก็มีชื่อตามพระนามว่า วัดเจ้าดอกเดื่อ เนื่องด้วยไม้มะเดื่ออุทุมพรเป็นที่ประทับของเทพเจ้าดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ตั่ง ที่ประทับนั่งเล็กๆ ของพระมหากษัตริย์ในพิธีมูรธาภิเษก (พิธีสรงน้ำสหัสธาราอันเป็นเบื้องแรกแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) จึงต้องเป็นที่ประทับไม้อย่างเดียวกัน ดังพระราชาธิบายของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า “ม้าที่สำหรับประทับสรงเรียกว่าตั่ง ทำด้วยไม้มะเดื่อรูปกลมมีขาสี่หุ้มผ้าขาว ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวีและพระสังฆราชกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า…ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับอภิเษก” จากพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกบนตั่งไม้มะเดื่อทรงกลมเล็กๆ ก็เลื่อนขึ้นสู่พะราชพิธีบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ หรือที่เรียกว่าพระที่นั่งแปดทิศ ประดิษฐ์จากไม้มะเดื่ออุทุมพรรูปทรงแปดเหลี่ยมสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับนั่งรับน้ำมหาสังข์ใบมะตูมแต่ละทิศไปจนครบแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ว่าทรงรับพระราชภาระของแผ่นดินทั้งแปดทิศ การประกอบพระราชพิธีบนพระแท่นไม้มะเดื่อในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะถึงพระราชพิธีสถาปนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์บนพระที่นั่งภัทรบิฐที่ทรงรับเบญจราชกกุธภัณฑ์ และทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ และคนส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้ว่าพระที่นั่งภัทรบิฐก็สร้างขึ้นจากไม้มะเดื่ออุทุมพรด้วย มะเดื่ออุทุมพรมีความศักดิ์สิทธิ์ในทางวัฒนธรรมประเพณีไทยฉันใด ในทางสรรพคุณสมุนไพรก็มีความสำคัญฉันนั้น กล่าวได้ว่าชาวแพทย์แผนไทยทุกคนต้องรู้จักชื่อมะเดื่ออุทุมพรหรือมะเดื่อชุมพร ใครไม่รู้จักจะเป็นหมอไทยไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะพืชเภสัชวัตถุชนิดนี้มีค่าประดุจดังแก้ววิเชียรที่ส่องสว่างโลกโดยอยู่ในพิกัดยา “เบญจโลกวิเชียร “หรือ “ยาแก้วห้าดวง “และเนื่องจากยาทั้ง ๕ ชนิดในพิกัดนี้ใช้ส่วนราก จึงมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ยา๕ ราก” คือ รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม และรากมะเดื่ออุทุมพร (หรือรากมะเดื่อชุมพร) เนื่องจากยากลุ่มนี้มีฤทธิ์เย็นมากในคัมภีร์ตักศิลา ว่าด้วยไข้พิษไข้กาฬต่างๆ จึงใช้ยา ๕ รากกระทุ้งพิษไข้ทั้งปวง แต่ก่อนรากยากลุ่มนี้ใช้ฝนกิน หรือใช้สิ่งละเท่าๆ กันต้มดื่ม แต่รูปแบบยาปัจจุบันทำเป็นยาผง ใช้ครั้งละ ๒-๓ ช้อนโต๊ะละลายน้ำสุกกินห่างกันราว ๓ ชั่วโมงต่อครั้ง จนกว่าไข้จะทุเลาหรือเมื่อกระทุ้งผื่นกาฬออกจนหมด หากไม่ใช้ทั้ง ๕ ราก จะใช้รากมะเดื่ออย่างเดียวก็ย่อมได้ เพราะฤทธิ์ฝาดเย็นของรากมะเดื่อนั้นท่านว่า สามารถแก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษร้อน กล่อมเสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วงได้ชะงัดนัก ผลดิบมีฤทธิ์แก้ท้องร่วงเช่นกัน และยังใช้รักษาเบาหวานได้ผลดี ตรงกันข้ามกับผลสุกที่มีฤทธิ์ระบาย ไม้มะเดื่ออุทุมพรมีคุณค่ามาก แม้ไม่มีใครอุตรินำไม้มะเดื่ออุทุมพรไปทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์เทียมเจ้าเหมือนอย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้พะยูง ที่เศรษฐีเมืองจีนแย่งกันซื้อไปใช้เทียมราชูปโภคของฮ่องเต้ แต่ก็ควรหาทางอนุรักษ์บำรุงสายพันธุ์มะเดื่ออุทุมพรไว้เป็นไม้มีคุณค่าทางจิตใจ ปลูกเป็นมงคลหรือเป็นไม้บอนไซประดับบ้าน ถ้าเป็นไปได้ก็ปลูกบำรุงรักษาต้นมะเดื่อเนื้อไม้ดีๆ ไว้สำหรับสร้างหรือซ่อมแซมเครื่องราชูปโภคให้สถาพรในแผ่นดินสืบไป รากมะเดื่ออุทุมพรทำเครื่องยาไทย ใบอ่อนและช่อดอกตูมรสฝาดอ่อนๆ นำมาประกอบเป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้มได้ นับว่าพระราชราชพิธีบรมราชาภิเษกในคราวนี้ช่วยให้คนไทยทั้งประเทศตาสว่างเรื่องไม้สิริมงคลมะเดื่ออุทุมพรเป็นอย่างดี มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99062051955196__696x364_1_320x200_.jpg) ทัดดอกทับทิม อากาศยังร้อน ทำให้นึกย้อนไปถึงเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมาของปี ๒๕๖๒ นางสงกรานต์ทัดดอกทับทิม คงสงสัยว่าเหตุใดทับทิมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีของไทย ซึ่งไทยก็รับมาจากวัฒนธรรมแขกหรืออินเดีย เพราะเป็นไม้ที่มีคุณประโยชน์ แต่โดยทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงทับทิมคนส่วนใหญ่จะนึกถึงวัฒนธรรมจีนที่ใช้ทับทิมเป็นไม้ปัดเป่าสิ่งไม่ดี หรือให้ได้รับมงคล วันนี้จึงขอแนะนำให้รู้จักทับทิม คนจำนวนมากเข้าใจว่าเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีน อันที่จริงทับทิมมีถิ่นกำเนิดจากตะวันออกของประเทศอิหร่าน หรือทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานและทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ทับทิมเป็นพืชชอบอากาศหนาวเย็นและอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย ๓๐๐เมตร ยิ่งอากาศหนาวเนื้อทับทิมจะมีสีแดงเข้มมากขึ้น มีหลักฐานถิ่นกำเนิดทับทิมว่า ปลูกครั้งแรกในเอเชียไมเนอร์ (ประเทศอิหร่านและประเทศใกล้เคียง) กว่า ๓๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล แล้วค่อยแพร่ไปในแถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียตะวันออก และอเมริกา การแพร่เข้ามาของทับทิมสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมา ๒ ทาง คือ ประเทศอินเดีย และประเทศจีนในราวศตวรรษที่ ๓-๔ ส่วนประเทศไทยน่าจะแพร่เข้ามาในช่วงสมัยอยุธยาผ่าน ๒ ทางเช่นกันคือ ทั้งทางประเทศอินเดียและศรีลังกา และอีกทางคือ มาจากประเทศจีน ซึ่งจะมาจากการติดต่อค้าขายจากชาวจีนและอินเดีย พันธุ์ทับทิมเก่าแก่ที่มีการปลูกทับทิมในประเทศไทยในระยะแรกนั้นคือพันธุ์บางปลาสร้อย ที่มีแหล่งปลูกมากในแถบภาคใต้บริเวณอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง แล้วค่อยแพร่ไปสู่จังหวัดอื่นๆ ทับทิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Punica granatum L. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pomegranate มีชื่อท้องถิ่นในประเทศไทย เช่น ทับทิม (ภาคกลาง) มะเก๊าะ (ภาคเหนือ) พิลาขาว มะก่องแก้ว (น่าน) หมากจัง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) พิลา (หนองคาย) เซียะลิ้ว (จีน) จากรายงานของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า ทับทิมในเมืองไทยมี ๒ รูปแบบ คือ Punica granatum L. var. granatum เป็นทับทิมลูกใหญ่และ Punica granatum L. var. nana ทับทิมหนู หรือ Dwarf pomegranate ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๑๐ ม. กิ่งมักแตกแขนง มีหนามบริเวณซอกใบ ใบเดี่ยว รูปใบหอก ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมหรือมน ดอกออกที่ปลายกิ่ง ไม่มีก้าน หรือหากมีก้านสั้นมาก ผล รูปร่างค่อนข้างกลม ในตำรายาไทย กล่าวถึงสรรพคุณไว้มากมาย ใช้ เปลือกผล แก้ท้องเสีย แก้บิด ปิดธาตุ แก้แผลพุพองเน่าเปื่อย ห้ามเลือด แก้ตกขาว แก้หิด กลาก ฝาดสมาน สมานแผล ขับพยาธิ ฝนน้ำทาแก้น้ำกัดเท้า ราก ขับพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือน ตัวตืด แก้ตานขโมย แก้เจ็บในคอ ฝาดสมาน เมล็ด แก้โรคลักปิดลักเปิด บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้จุกแน่นอาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย เปลือกราก แก้สตรีตกเลือด ตกขาว หล่อลื่นลำไส้ ขับพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด แก้ลักปิดลักเปิด เนื้อหุ้มเมล็ด แก้ลักปิดลักเปิด ผลอ่อน ปิดธาตุ สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดเอว บำรุงกำลัง ดอก ใช้แก้หูชั้นในอักเสบ ห้ามเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดา แก้บาดแผล ใบ ใช้แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน แก้ท้องร่วง แก้บิด พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ แก้โรคลักปิดลักเปิด ต้นและเปลือกต้น ขับพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แก้โรคลักปิดลักเปิด ทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ขับพยาธิเส้นด้ายและตัวตืด สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ผลทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้ มีรสหวานหรือเปรี้ยวอมหวาน และถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากน้ำทับทิมมีวิตามินซีสูงและยังมีสารเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงเหมาะสำหรับการดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด มีประโยชน์ช่วยลดภาวะการแข็งตัวของเลือดจากไขมันในเลือดสูง บรรเทาโรคหัวใจหรือช่วยเสริมสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น และความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มพลัง กินเป็นประจำช่วยบำรุงผิวพรรณเสริมความงาม ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรดื่มน้ำทับทิมคั้นวันละแก้วหรือดื่มเป็นประจำ ส่วนเปลือกทับทิมต้มน้ำใช้แก้โรคท้องเดินและโรคบิดได้ จากการศึกษาวิจัยพบว่าในเปลือกทับทิมมีสารในกลุ่มแทนนินสูง ๒๒-๒๕% โดยประกอบด้วยสารแทนนินในกลุ่ม Gallotannin เปลือกทับทิมตากแห้งใช้เป็นยาแก้ท้องเดินและโรคบิด นอกจากนี้ยังพบสารแทนนินในกลุ่ม Ellagictannin ในปริมาณสูง สารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่ดี สารสกัดจากเปลือกผลด้วยเอทานอลมีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ โดยมีสรรพคุณลดอาการอักเสบ ทั้งยังมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งกว่า ๑๓ ชนิดไม่ให้เพิ่มจำนวนเซลล์ร้ายขึ้นมานั่นเอง เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีคุณสมบัติในการทำลายเซลล์มะเร็งหลอดอาหารและลำไส้ใหญ่ ทับทิมเป็นผลไม้มงคลของจีน มีบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า “พระถังซัมจั๋ง” เป็นผู้นำเอาทับทิมจากอินเดียเข้าไปปลูกในประเทศจีน มีหลักฐานที่เมืองซีอาน กิ่งใบทับทิมจึงเป็นใบไม้สิริมงคลที่ใช้กับทุกงานหรือพิธีการต่างๆ ซึ่งความเชื่อนี้ก็ปรากฏในสังคมไทยตามวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายจีน หากเห็นว่านางสงกรานต์ปีนี้ทัดดอกทับทิม ก็หวังว่าจะเป็นทั้งยาสมุนไพรช่วยให้เรามีสุขภาพดีและตามความเชื่อที่เป็นไม้มงคลปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิตตลอดปีด้วยนั่นเอง มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56576649472117__696x364_1_320x200_.jpg) ไฟเดือนห้า อากาศยังร้อนอบอ้าว แต่เชื่อว่าฤดูกาลกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูฝน อดทนกันอีกนิด ด้วยอากาศยังร้อนและในฉบับที่ผ่านมาได้นำเสนอความรู้ “หนาวเดือนห้า” ยาแก้ไข้หนาวในฤดูร้อน ครั้งนี้ขอเสนอความรู้ต่อเนื่องถึง ไฟเดือนห้า ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ร่วมกันให้ดี วงการแพทย์แผนไทยหรือการใช้สมุนไพรตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เมื่อพูดถึงสมุนไพรไฟเดือนห้า ส่วนใหญ่แล้วจะกล่าวถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asclepias curassavica L. เป็นพืชในวงศ์ Apocynaceae มีชื่อสามัญว่า Bastard ipecacuanha, Butterfly Weed, Blood Flower, Milkweed, Silkweed ไฟเดือนห้าเป็นไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน แต่นำเข้ามาเป็นไม้ประดับในเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว จึงมีชื่อพื้นเมืองที่หลากหลาย เช่น คำแค่ (แม่ฮ่องสอน) บัวลาแดง (เชียงใหม่) ค่าน้ำ เด็งจ้อน (ลำปาง) ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์) ดอกไม้เมืองจีน ไม้เมืองจีน (สุราษฎร์ธานี) เทียนแดง (ภาคกลาง) เทียนใต้ (ภาคอีสาน) เหลียนเซิงกุ้ยจื่อฮวา จิงเฟิ่งฮวา (จีนกลาง) ไฟเดือนห้านี้เป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว สีเขียวสด ดอกช่อ สีแดงอมส้ม กลีบดอกพับงอ ก้านช่อดอกมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ผลรูปกระสวยยาว แห้งแตก เมล็ดรูปไข่ ยาว แต่เป็นพืชมีพิษ กินแล้วส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ วิธีการใช้ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ต้องเป็นหมอที่ชำนาญ รู้จักการสะตุเพื่อลดพิษก่อนนำมาปรุงยา ไฟเดือนห้า ที่กล่าวในตำรับยาไทยว่า เมล็ดมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุไฟ ใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวเย็นหมดสติ ไข้ตรีโทษ (อาการไข้กระหายน้ำ เหงื่อออกมา ซึม เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย บางครั้งมีอาการอาเจียนเป็นสีเหลืองปนเลือด) ใช้เป็นยาขับพิษเลือดในเดือนอยู่ไฟ แก้เลือดทำพิษในเรือนไฟ (การติดเชื้อที่มดลูกหลังการคลอดบุตร) เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ ห้ามเลือด เมล็ดใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน กลากเกลื้อน รากใช้เป็นยารักษากระดูกร้าว หรือกระดูกหัก สาระสำคัญที่พบในไฟเดือนห้า ได้แก่ Ascurogenin, Asclepin, Calotropin, Curassvicin เป็นต้น จากการทดลองพบว่า สาร Ascurogenin, Asclepin และ Curassicin มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายทดลอง ทำให้หัวใจของกระต่ายมีการบีบตัวแรงขึ้น ยางจากต้นไฟเดือนห้ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด สาร Calotropin มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในโพรงจมูกที่อยู่นอกตัวของสัตว์ทดลอง จากเอกสารต่างประเทศกล่าวไว้ว่า สมุนไพรไฟเดือนห้าชนิดนี้ ส่วนรากนำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาลดไข้ บิด และใช้ล้างตา เมื่อมีอาการติดเชื้อนัยน์ตา ในส่วนของรากมีสารไกลโคไซด์ (glycoside) แอสคลิบปิดิน (asclepiadin) ซึ่งใช้เป็นยาแก้อาเจียนและเป็นยาถ่าย นอกจากนี้ยังใช้แทนยาขับเสมหะหรือทำให้อาเจียนได้ ใบนำมาบดผสมกับเกลือ น้ำมันพืชและขนมปังใช้พอกมะเร็งที่ผิวหนัง น้ำยางใช้เป็นยากัดหูดและรักษาตาปลา น้ำคั้นจากทั้งต้นใช้เป็นยารักษากลาก แผล ผื่นต่างๆ หรือโรคผิวหนัง การใช้สมุนไพรชนิดนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็น ส่วนของน้ำยางประกอบด้วย คาร์ดิโนไลด์ (cardenolides) และ ไตรเตอรปืน (esterified triterpenes) สารสกัดมีผลในการรบกวนการทำงานของสมอง นอกจากนี้ในน้ำยางยังมีสารประกอบอีกหลายชนิด เช่น quercetin, caffeic acid, sterols, flavonoids carbohydrates, fatty acids และ acidic mucilage ในส่วนของต้นมีสาร beta-sitosterol ซึ่งช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดอาการโตของต่อมลูกหมาก และเสริมฮอร์โมนเพศหญิงให้กับร่างกาย การใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น เส้นใยจากลำต้นนำมาปั่นรวมกับฝ้ายได้ ขนจากเมล็ดนำมาใช้คล้ายนุ่นในหมอนได้ แต่จากการพูดคุยสอบทานข้อมูลกับหมอแผนไทยบางท่าน มีความเห็นว่าไฟเดือนห้า ไม่น่าจะใช่พืชชนิดนี้ เนื่องจากตามตำราดั้งเดิมกล่าวไว้ว่า ไฟเดือนห้าเป็นไม้ยืนต้นและในรายงานของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ ได้กล่าวถึงพืชชนิดหนึ่งที่ทางภาคใต้เรียกว่า ไฟเดือนห้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Excoecaria oppositifolia Griff. ทางภาคเหนือเรียกว่า ยางร้อนหรือตังตาบอด ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๕ เมตร จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับยางพารา (Euphorbiaceae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย พม่า และอินโดจีน สำหรับประเทศไทยมีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าดิบชื้นในแทบทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าดิบชื้น พบในพื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐-๑,๕๐๐ เมตร ไฟเดือนห้าชนิดหลังนี้มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรหลายส่วน เช่น รากใช้เป็นยาขับโลหิต เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทานนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้ น้ำยางให้รสร้อนเมามีความเป็นพิษ หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการอักเสบและบวมแดง ถ้ากระเด็นเข้าตาทำให้ตาพร่ามัวได้หรืออาจทำให้ตาบอดได้เลย จึงต้องระวัง และน้ำยางทำให้ระคายเคืองผิวหนังด้วย มีการศึกษาว่า สารทำให้ระคายเคือง คือ Excoecaria factor O1 ซึ่งเป็นเอสเตอร์ของ 5beta-hydroxyresiniferonol-6alpha 7alpha-epoxide นอกจากนี้ยางจากต้นนี้ ยังประกอบด้วย Excoecaria factor O2 และ O3 ส่วนวิธีการรักษาเมื่อถูกพิษยังไม่มีการรักษาโดยตรง ใช้วิธีการรักษาตามอาการ หากถูกยางที่ผิวหนังให้ล้างยางออกด้วยสบู่และน้ำสะอาด และทาด้วยครีมสเตียรอยด์ แต่หากเข้าตาควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้งทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป แต่มีบันทึกว่าส่วนใหญ่เป็นอาการตาบอดแบบชั่วคราว ในแถบคาบสมุทรมลายู และพบว่าที่ประเทศซาราวัก นิยมนำเนื้อไม้ชนิดนี้มาเผาให้เป็นถ่าน เพื่อใช้ในการหุงต้ม ในครัวเรือนได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีความระมัดระวังส่วนของน้ำยางให้มาก แต่ถ้าพิจารณาถึงความเป็นพิษและหลักฐานการใช้ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว ไฟเดือนห้าที่เป็นไม้ยืนต้นในตำรายาไทยก็อาจจะไม่ใช่พืชชนิดนี้เช่นกัน จึงเชิญชวนผู้รู้และคนรุ่นใหม่ๆ ศึกษาค้นคว้าว่าไฟเดือนห้าคือสมุนไพรชนิดใดแน่ๆ ต่อไป มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 พฤษภาคม 2562 16:03:47 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65232536734806__2019_1_320x200_.jpg) หนาวเดือนห้า ไม่ได้ประชดประชันอากาศร้อนสุดๆ ของเดือนเมษายนปีนี้ แต่กำลังจะพูดถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ใช้แก้ไข้ของเดือนห้าในประเทศไทยที่ร้อนจนทำให้จับไข้ อาการไข้ในเดือนร้อนๆ นี้มักมีอาการหนาวสั่นมาด้วย หมอพื้นบ้านอีสานจะนำเอาสมุนไพรชื่อ ต้นหนาวเดือนห้า มาเข้ายาดับพิษไข้ จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องสมุนไพรนี้เอง แต่จากการศึกษาสมุนไพรที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ พบว่า “หนาวเดือนห้า” มีถึง ๓ ชนิด ดังนี้ ๑ )หนาวเดือนห้า ที่แพทย์แผนไทยเรียกว่า พระขรรค์ไชยศรี ซึ่งมีลักษณะกิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในบางพื้นที่จึงเรียกว่า เครือเขาเหลี่ยม (ลำปาง) ส่วนของเถามีมือเกาะที่เหนียวมากจึงเป็นที่มาของชื่อท้องถิ่นว่า “เถาวัลย์ปลิง” (ตราด) ในภาคกลางเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ฝนแสนห่า” คาดว่าน่าจะมาจากลักษณะของใบที่ดกหนา ปลายเรียวแหลมเหมือนหยดน้ำ ในแถบจังหวัดเลยเรียกว่า “พูพ่อค้า” เพราะใบคล้ายใบพลูและมีการนำมาจำหน่ายเป็นการค้า หนาวเดือนห้าชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myxopyrum smilacifolium subsp. smilacifolium เป็นไม้เลื้อย มีการกระจายอยู่ในอินเดีย (แถบอัสสัม เมกฮาลายา) สปป.ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม มีการใช้เป็นสมุนไพรได้หลายส่วน คือ ลำต้นและใบ แช่น้ำ ทาแก้อาการชาตามแขนขา ถ้าใช้ทั้งห้า ผสมเปลือกต้นตูมกาขาว (Strychnos nux-blanda A.W. Hill) และผักบุ้งร้วม (Enydra fluctuans DC.) ทั้งต้น นำสมุนไพรทั้ง ๓ ชนิดต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็งตับ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นยาอันตราย หากใช้มากเกินไป จะทำให้เหงื่อออกมากจนอาจถึงเสียชีวิตได้ เถา รสเบื่อ เมา เย็น ขับเหงื่ออย่างแรง แก้ไข้ ลดความร้อน ใช้มากเป็นยาอันตรายเนื่องจากขับเหงื่อมากอาจเสียชีวิตได้เช่นกัน การแพทย์พื้นบ้านจีนและอินเดียใช้เป็นยาแก้หอบหืดและแก้ไอ มีการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากสมุนไพรชนิดนี้สามารถนำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลมได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากส่วนของใบยังใช้เป็นสารช่วยลดการเกิดสภาวะเครียดในร่างกาย สารที่พบคือ iridoid glycoside สารสกัดจากใบมีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ๒) หนาวเดือนห้า ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า ช้างสารซับมัน (นครศรีธรรมราช) ซึ่งใช้เป็นชื่อทางราชการไทยว่า ดังอีทก (นครราชสีมา) หนาวเดือนห้า (หนองคาย) โหรา (ปัตตานี) หนาวเดือนห้าชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erycibe elliptilimba Merr. & Chun เป็นไม้รอเลื้อย มีการกระจายอยู่ในแถบจีนตอนใต้ (กว่างตง เกาะไหหลำ) กัมพูชา สปป.ลาว ไทย เวียดนาม จากงานวิจัยของโรงพยาบาลศิริราชพบว่า สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีการนำมาใช้รักษาการติดเชื้อและมะเร็งมาเป็นเวลานาน จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสารสกัดน่าจะมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งเต้านมและทำให้เกิดการหยุดวงจรชีวิตของเซลล์มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาในเรื่องกลไกการต้านมะเร็งต่อไป การแพทย์ดั้งเดิมของจีนใช้ส่วนของลำต้นและรากเป็นยากระจายลมและลดการเจ็บปวด หมอพื้นบ้านอีสานใช้เป็นยาแก้ไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ สำหรับงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากหนาวเดือนห้าชนิดนี้สามารถต้านแบคทีเรียได้หลายชนิดด้วย ๓) หนาวเดือนห้า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Erycibe subspicata Wall. ex G. Don มีรายงานว่าพบมากที่ จ.หนองคาย เป็นไม้รอเลื้อยมีการกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย สิกขิม ภูฏาน เมียนมา ไทย เวียดนาม กัมพูชา จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบสารสกัดคือ coumarins สองชนิด ชื่อ scopoletin และ scopolin การพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารทั้งสองนี้ โดยอาศัยข้อมูลทางสเปคโตรสโคปิ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในพืชชนิดนี้มาก่อน จึงน่าสนใจมาก หนาวเดือนห้าที่ใช้กันในกลุ่มหมอยาพื้นบ้านภาคอีสาน น่าจะเป็นชนิด Erycibe elliptilimba Merr. & Chun และชนิด Erycibe subspicata Wall. ex G. Don การใช้ประโยชน์ทางยาปรากฏให้เห็นมากในกลุ่มหมอพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น ตำรับยาของนายสำอาง วงจันทะเลียง ประกอบด้วย เครือผีผ่วน เข็มแดงดง เครือตาปลา เม็ดขาม หมากบ้า จันแดง-ดำ หอม ไค่ จำปาเหลือง ข่าไก่ป่า ดูกแห้ง ดูกไก่ดำ กำแพงเจ็ดชั้น เครืองูเง่า ฮังฮ้อน หนาวเดือนห้า หอยขม หอยทะเล รากเอี่ยนด่อน แก่นจำปาขาว เขากวาง หางกระเบน ขี้นกอินทรีย์ รากพังคี แฮนทำทาน แฮนจงอาง แฮนงูเห่า ก่องก่อยลอดขอน รากข้าวกี่ ทรายเดน นางหวาน รากพิลา รากจำปาน้ำ นำสมุนไพรทั้งหมดมาฝนรวมกันด้วยน้ำสะอาด ให้ผู้ป่วยกิน ยาที่ประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมากชนิดเช่นนี้เรียกว่า “ยาซุมใหญ่” มักใช้เป็นยารักษาโรคที่เรียกว่าไข้หมากไม้ ซึ่งจัดว่าเป็นโรคประจำถิ่นของคนอีสานซึ่ง เข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เจริญอยู่บนผลไม้ที่ตกและเน่าอยู่ใต้ต้นไม้ในป่า เมื่อคนเข้าไปเดินในป่าได้รับเชื้อนี้มาก็จะแสดงอาการไข้ในรูปแบบต่างๆ ตามภูมิปัญญาอีสานแบ่งอาการของไข้หมากไม้ไว้ถึง ๕๕ อาการ เช่น อาการไข้ที่เรียกว่า “ออกกลอมนางนอน” เป็นอาการไข้ที่มีอาการเท้าเย็น มือเย็น เย็นตั้งแต่หัวถึงเท้า คลำดูที่ไหนก็เย็นไม่มีอุ่นเลย ที่เรียกว่าไข้หมากไม้ เพราะเข้าใจว่าเชื้อจากหมากไม้หรือที่เรียกในภาษาไทยกลางว่าผลไม้ เป็นสาเหตุของโรค ดังนั้น ข้อคลำหรือข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หมากไม้ ห้ามกินผลไม้ทุกชนิด เป็นต้น แต่จากการที่ได้มีโอกาสสำรวจข้อมูลกับแพทย์แผนไทยหลายท่านพบว่า ในตำรายาดั้งเดิมก็กล่าวไว้ว่าหนาวเดือนห้าเป็นไม้ยืนต้น ไม่ใช่ไม้เถา ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าหนาวเดือนห้าในตำรับดั้งเดิมอาจไม่ใช่พระขรรค์ไชยศรีในทุกตำรับ คำถามและการไขปัญหาเหล่านี้ยังควรทำให้กระจ่างชัดหรือศึกษากันต่อไป มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤศจิกายน 2562 16:20:32 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35426672258310__3_1_320x200_.jpg) ไอ เจ็บคอ ปรุงยาสมุนไพรใช้เองได้ ช่วงเวลาอากาศเปลี่ยน ไปไหนมาไหนเจอแต่คนเป็นหวัดคัดจมูก มีอาการไอและบ่นเจ็บคอกันทั่ว อันที่จริงอาการไอและเจ็บคอที่เกี่ยวเนื่องจากเป็นหวัดนั้น ไม่ได้รุนแรงจนต้องไปเข้าโรงพยาบาล ยกเว้นไอเรื้อรังต่อเนื่องเกินกว่า ๓ สัปดาห์ และไอจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากหวัด เช่น ไอจนมีเลือดออกมาปน ก็ควรไปพบแพทย์ตรวจดูอาการให้ละเอียด ไอ เจ็บคอ ที่เป็นกันทั่วไปนั้น เราสามารถดูแลตนเองและปรุงยาแก้ไอเจ็บคอใช้เองได้ไม่ยาก หลายครั้งเราก็หลงลืมภูมิปัญญาประจำบ้านของเราไป เข้าใจกันง่ายๆ ก่อนว่า อาการไอ เป็นอาการตามธรรมชาติของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมหรืออาจเป็นของเสียในทางเดินหายใจ อาการไอของคนเป็นหวัดก็คือ ร่างกายจะช่วยขับเสมหะหรือเสลดออกมาจากคอนั่นเอง และบางทีก็มาจากการติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบที่ทางเดินหายใจเนื่องมาจากอาการไข้หวัด ทำให้คออักเสบบ้าง หลอดลมอักเสบบ้าง ก็ทำให้เกิดอาการไอเช่นกัน ก่อนที่จะแนะนำสมุนไพรใกล้ตัวแก้อาการไอ ขอแนะนำการดูแลตนเองที่ง่ายช่วยลดอาการไอได้ดี คือ การรักษาความอบอุ่นบริเวณคอและหน้าอก เพราะถ้าหน้าอกและคอมีความเย็นชื้นจะไปกระตุ้นให้อาการไอกำเริบได้ง่าย ใครที่กำลังไอและอาจเป็นไข้หวัดอยู่นั้น ลองหาผ้าพันคอบางๆ อย่าให้หนามากเพราะอากาศจะถ่ายเทไม่ดี ทำให้อึดอัดได้ แม้ตอนนอนก็หาผ้าพันคอบางๆ พันไว้หลวมๆ เพื่อรักษาความอบอุ่นในร่างกายไว้ แล้วพยายามนอนหลับให้เพียงพอร่างกายก็จะช่วยบำบัดรักษาไปในตัวได้อย่างรวดเร็ว สมุนไพรหรือยาจากธรรมชาติใกล้ตัวที่สุดที่ช่วยลดอาการไอและเจ็บคอ ซึ่งหาได้ทุกครัวเรือน คือ น้ำธรรมดาๆ แค่ให้ดื่มน้ำธรรมดาให้มากๆ ตลอดวันก็จะมีส่วนลดหรือเจือจางเสมหะ ช่วยลดการระคายเคืองบริเวณคอ บางคนที่มีอาการคอแห้งแล้วทำให้ไอนั้น น้ำก็ไปช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นลดอาการไอได้ ถ้าน้ำธรรมดายังรู้สึกแก้ไอไม่ดีนัก ก็ให้จิบน้ำอุ่นๆ บ่อยๆ ก็จะช่วยขับเสมหะออกมาได้ดียิ่งขึ้น ก็ช่วยลดอาการไอ บางรายใช้วิธีว่า ตื่นเช้ามา ให้เอาเกลือสักครึ่งช้อนชาผสมลงในน้ำ ๑ แก้ว เอามากลั้วคอ แล้วก็ดื่มน้ำเกลือแบบนี้ด้วย ช่วยลดอาการไอและเจ็บคอได้ มูลนิธิสุขภาพไทยเคยเก็บความรู้จากชุมชนตั้งแต่ราวปี ๒๕๒๘ พบสูตรยาแก้ไอที่ทำมาจากน้ำแช่ข้าวเหนียว วิธีทำ นำข้าวเหนียวมา ๑ กำมือ ล้างน้ำก่อน แล้วแช่ในน้ำสะอาดที่จะใช้ดื่มได้เลย ให้แช่ทิ้งไว้ ๒-๓ ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำไว้ กินครั้งละอึกสองอึก ทุกๆ ๓-๔ ชั่วโมง บางครั้งก็อาจผสมเกลือเล็กน้อยในน้ำแช่ข้าวเหนียวก่อนจะกินแก้ไอเจ็บคอก็ได้ ตามธรรมดาที่ชาวอีสานซึ่งหุงกินข้าวเหนียวประจำนั้น ก่อนที่จะนึ่งข้าวเหนียวก็ต้องเอาข้าวมาแช่น้ำ เรียกว่า น้ำหม่าข้าว น้ำนี้เอามากินแก้ไอ ขับเสมหะได้ ปัจจุบันถ้าจะปรุงให้สะอาด ก็นำน้ำหม่าข้าวนี้มาตั้งไฟให้เดือดก่อน แล้วใส่เกลือเล็กน้อย กินเป็นยาแก้ไอ สูตรโบราณได้เช่นกัน นํ้าอุ่น หรือน้ำที่นำมาปรุงเข้ากับสมุนไพรอีกหลายชนิดก็เป็นยาแก้ไอแก้เจ็บคอได้ ที่หาง่ายทำง่าย เช่น น้ำคั้นมะนาวผสมน้ำธรรมดา แต่งด้วยน้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ แก้เจ็บคอได้ดี บางครั้งใช้สูตรร้อน คือ ชงชาอุ่นๆ แล้วบีบน้ำมะนาวใช้จิบกินแก้อาการไอก็ได้ บางครั้งชงน้ำขิงอุ่นๆ โดยฝานขิงแก่สด เป็นแผ่นบางๆ เทน้ำร้อนลงไป ปิดฝาถ้วยไว้สัก ๕-๑๐ นาที รอจนยาออกฤทธิ์และน้ำขิงหายร้อนพอจิบได้ก็เป็นยาแก้ไอเจ็บคอได้ ยาแก้ไอสูตรนิยมอีกขนานคือ มะขามป้อม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายมากมาย แต่ถ้าใช้วิธีพึ่งตนเองที่ง่ายที่สุด ก็หามะขามป้อมผลแก่สดๆ ๒-๓ ลูก เอามาตำให้เนื้อมะขามป้อมพอแหลก แล้วเอาเนื้อมาจิ้มเกลือเล็กน้อย อมไว้สักครู่หรือค่อยเคี้ยวกินให้รสยามะขามป้อมออกบริเวณคอ ก็จะช่วยอาการไอและเจ็บคอได้ แต่อยากแนะนำสูตรยาแก้ไอแก้เจ็บคอสูตรเด็ดที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทย และญาติมิตรใกล้ใช้เป็นประจำ ยามเมื่ออาการไอและเจ็บคอไม่ยอมหายสักที ก็ต้องทนรสขมของต้นฟ้าทะลายโจร ในตำรับยาดั้งเดิม ให้ใช้ใบสดๆ เด็ดมา ๑ ใบ ล้างน้ำสะอาด นำมาอมไว้ในปาก ค่อยขบใบให้ตัวยาออกมาที่คอ ฤทธิ์ยาจะค่อยๆ ออกมาช่วยบรรเทาอาการไอและเจ็บคอ ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ ลดไข้ จึงช่วยทั้งอาการไอเจ็บคอและอาการไข้หวัดด้วย แต่ถ้าหาต้นสดทำยายาก แนะนำให้หายาฟ้าทะลายโจร ที่ทำแบบเม็ดลูกกลอนตามตำรับวิธีทำดั้งเดิม ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยบุกเบิกทำมากว่า ๓๐ ปี ที่สำนักงานจึงมีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรลูกกลอนอยู่ประจำสำนักงานและบ้านของเจ้าหน้าที่สาวคนหนึ่งด้วย พอก่อนนอนก็อมเม็ดยาลูกกลอนฟ้าทะลายโจร ๑ เม็ด ถ้าทนความขมไหวก็อมจนละลายหมด ถ้ามือใหม่อดทนอมไว้สัก ๕-๑๐ นาที แล้วกลืนยาลงไป พอตื่นเช้าอาการไอและเจ็บคอจะลดลงมาก และร่างกายจะช่วยขับเสมหะออกมามากด้วย แนะนำว่า ในเวลากลางวันก็อดทนกับความขมสัก ๒ รอบ เช้าอมยาเม็ดฟ้าทะลายโจรสัก ๑ เม็ด แล้ว บ่ายอีกสักครั้ง เชื่อแน่ว่าบรรเทาอาการไอและเจ็บคอลงไปได้มาก แล้วอย่าลืมที่แนะนำไว้ในการดูแลสุขภาพข้างต้น พร้อมดื่มน้ำมากๆ ให้ดียิ่งขึ้น หายไข้หายไอแล้ว ควรหมั่นออกกำลังกาย โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ค่อยมารบกวนเรา ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/61767355932129__2_1_320x200_.jpg) ภูมิปัญญาล้านนา ปั้นยาให้เป็นลูก (ลูกกลอน) การทำยาลูกกลอนมี วิธีปรุงยา หลายวิธี เช่น ๑) นำสมุนไพรที่แห้งมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นลูก โดยใช้ตัวประสาน คือ น้ำ ซึ่งมีการใช้หลายชนิด เช่นน้ำที่ได้จากการนึ่งข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำคั้น น้ำต้ม จากหญ้าฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) และอื่นๆ ๒) นำสมุนไพรที่แห้ง ตำเป็นผงแล้ว ชุบน้ำยาที่มีสรรพคุณเสริมฤทธิ์ตัวยา เช่น น้ำฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) แล้วตากแดดให้แห้ง โดยอาจทำหลายครั้ง และเปลี่ยนน้ำยาชุบตัวอื่นแล้วปั้นเป็นลูกกลอน ตัวอย่างตำรับยา ยาสีมุนหลวง เอาใบหัสกึน ใบมะข่าง ใบพิดพิวทั้ง ๒ (เจตมูลเพลิงขาว เจตมูลเพลิงแดง) ใบข่า ใบปูเลย (ไพล) ใบบูราทั้ง ๒ (บัวราขาว บัวราดำ) ใบผีเสื้อทั้ง ๒ (คนทีสอขาว และ คนทีสอดำ) ใบเปล้าทั้ง ๒ (เปล้าน้อย เปล้าใหญ่) เอาเท่ากัน แล้วตำผง ตำเอาน้ำผักแคบ (ตำลึง) ชุบตาก ๓ ที ชุบน้ำผักหนอก ๓ ที ชุบน้ำฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) ตากแดด ๓ ที แล้วปั้นลูกกลอนไว้ใช้เทอะ ใช้เมื่อมีดบาด (พร้าถูก) กรณีอื่น น้ำยาที่ใช้ชุบ เช่น เปลือกกุ่มน้ำ เปลือกกุ่มบก เปลือกผักอีลืม (มะรุม) น้ำปูเลย (ไพล) ๓) นำสมุนไพรแช่น้ำ หรือสุราหรือน้ำสมุนไพรอื่นเป็นเวลา เช่น ๑ วัน ๓ วัน หรือ ๗ วัน แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลอน บางครั้งก็อาจผสมสมุนไพรอื่นหรือไม่ก็ได้ ยาลูกกลอนที่ได้นำไปตากแดดให้แห้ง การทำยาลูกกลอนมี วิธีปรุงยา หลายวิธี เช่น ๑) นำสมุนไพรที่แห้งมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นลูก โดยใช้ตัวประสาน คือ น้ำ ซึ่งมีการใช้หลายชนิด เช่นน้ำที่ได้จากการนึ่งข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำคั้น น้ำต้ม จากหญ้าฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) และอื่นๆ ๒) นำสมุนไพรที่แห้ง ตำเป็นผงแล้ว ชุบน้ำยาที่มีสรรพคุณเสริมฤทธิ์ตัวยา เช่น น้ำฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) แล้วตากแดดให้แห้ง โดยอาจทำหลายครั้ง และเปลี่ยนน้ำยาชุบตัวอื่นแล้วปั้นเป็นลูกกลอน ตัวอย่างตำรับยา ยาสีมุนหลวง เอาใบหัสกึน ใบมะข่าง ใบพิดพิวทั้ง ๒ (เจตมูลเพลิงขาว เจตมูลเพลิงแดง) ใบข่า ใบปูเลย (ไพล) ใบบูราทั้ง ๒ (บัวราขาว บัวราดำ) ใบผีเสื้อทั้ง ๒ (คนทีสอขาว และ คนทีสอดำ) ใบเปล้าทั้ง ๒ (เปล้าน้อย เปล้าใหญ่) เอาเท่ากัน แล้วตำผง ตำเอาน้ำผักแคบ (ตำลึง) ชุบตาก ๓ ที ชุบน้ำผักหนอก ๓ ที ชุบน้ำฮ่อมเกี่ยว (กะเม็ง) ตากแดด ๓ ที แล้วปั้นลูกกลอนไว้ใช้เทอะ ใช้เมื่อมีดบาด (พร้าถูก) กรณีอื่น น้ำยาที่ใช้ชุบ เช่น เปลือกกุ่มน้ำ เปลือกกุ่มบก เปลือกผักอีลืม (มะรุม) น้ำปูเลย (ไพล) ๓) นำสมุนไพรแช่น้ำ หรือสุราหรือน้ำสมุนไพรอื่นเป็นเวลา เช่น ๑ วัน ๓ วัน หรือ ๗ วัน แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลอน บางครั้งก็อาจผสมสมุนไพรอื่นหรือไม่ก็ได้ ยาลูกกลอนที่ได้นำไปตากแดดให้แห้ง ๔) เตรียมยาลูกกลอนเหมือนข้อแรกแล้ว แต่นำมาทำต่อโดยแช่ลงในน้ำยาสมุนไพรที่ต้องการเพิ่มฤทธิ์ แล้วจึงเอาออกตากแดด ๓ ครั้งเก็บไว้กิน ตัวอย่าง ตำรับยาแก้ลูกน้อย (หมายถึงยาแก้อาการที่เป็นยาเม็ดเล็ก) “ท่านให้เอาหัสสคึนห้าบาท เทียนดำ สิบสองบาท แล้วเอามารวมกัน ตำเอาฮ่อมเกี่ยวเป็นน้ำ แช่ยาไว้ ๑ คืน แล้วเอามาปั้นเป็นลูกตากแห้ง แล้วสักกัตวาสรูป ๗ ครั้งหรือ ๗ ที เอาไว้ใช้เทอะ เป็นสันนิบาตใส่น้ำอุ่นน้ำขิงกิน เป็นเหน็ดเหนื่อยเมื่อยตัว ใส่น้ำผึ้งกิน ไข้สั่นใส่น้ำมันงาทา ใส่น้ำอุ่นกิน เลือดดังตก ใส่น้ำเหล้า น้ำผึ้งกิน เจ็บหัว มะแคว้งเป็นน้ำ ยานี้ใส่ตบหัวดีและเป็นนิ่วใส่น้ำเยี่ยววัวดำกิน เป็นไอ ใส่เหล้ากิน ตำรับนี้มีการยักกระสายตามอาการ การเตรียมใช้พิธีกรรมประกอบด้วย” ยาแก้ลูกน้อย อีกตำรับหนึ่งกล่าวไว้ “ให้เอาแก่นหมากซักหนุ่ม ในยังขาวอยู่นั้นทั้งเปลือก ทั้งแก่นใน ขั้วหื้อผ่อย (คือคั่วให้กรอบ) บูราขาว เทียนดำ ๑๐ พริกน้อย ๑๐ ขิง ๒๐ ข่า ๓๐ หอมขาว ๓ กีบ ขั้วจุอัน (ขั้วทุกชนิด) บดให้ละเอียด น้ำสุราแช่ไว้คืนหนึ่งแล้ว ปั้นเป็นลูกเท่าพริกน้อย ไว้กินหายพยาธิ เจ็บหัวมัวตา เจ็บท้อง เจ็บอก…” ยาห้ามลงท้อง “เมื่อเป็นระดู เอาเอิบเชย (คืออบเชย) ไม้เนาใน พริกน้อย ๗ ลูก ผีเสื้อ ๗ ยอด ขิง ๗ กลีบ ปั้นลูกกลอน แล้วเอาแหนเครือ เอายาลูกกลอนลงแช่ แล้วเอาออกตากแดดหื้อพอ ๓ ที แล้วเอาไว้กินหาย” ยาธาตุ “เอาใบมะปินหนุ่ม (มะตูม) ๓ ร้อย ปิ๊ดปิวแดง (เจตมูลเพลิงแดง) ๓ ร้อย จุ่งจาริง (บอระเพ็ด) สามร้อยหญ้าเยี่ยวหมู ๓ ร้อย ขิงแกง ๖ ร้อย โขงขะเมา ๖ ร้อย เปลือกกุ่ม ๑๐ ร้อย พริกน้อย (พริกไทยดำ) ๖ ร้อย ลูกส้มจีน ๖ ร้อย มะข่าง ๓ ร้อย ตำผงให้ละเอียดแล้ว เอาน้ำผึ้งปัน (พัน) หนึ่ง” (ความหมาย ๑,๐๐๐ เท่ากับน้ำประมาณ ๑ ขวดน้ำปลา ในที่นี้ ถ้าเอายาใส่ให้ได้เต็มขวด เท่ากับ ๑,๐๐๐) มาหุงกับยาผสมกันแล้ว ทำเป็นลูกเท่าลูกมะทัน กินวันละ ๑ ลูก ให้ครบ ๑๐ วัน พยาธิหายหมด ยาธรณีจันทร์คาด “มหาหิง ๑ บาท ยาดำ ๑ บาท การบูน ๑ บาท ลูกจันทร์ ๑ บาท พริกไทย ๔ บาท ตำผงผสมกันน้ำมะกรูดเป็นกระสาย ปั้นเป็นลูกเท่า ลูกพุทรา หรือลูกมะแคว้งขม (ลูกมะแว้ง)” กินครั้งละ ๕ ลูก เป็นยาระบายโรคลมต่างๆ ได้ดีนัก การกินยาลูกกลอนตามแบบฉบับภูมิปัญญาล้านนาไม่ได้กินเป็นเม็ดๆ เท่านั้น พบว่าบางครั้งจะนำเอายาลูกกลอนแช่ในน้ำธรรมดา หรือแช่ในเหล้า ก่อนจะกินด้วย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจเพราะช่วยทำให้ยาแตกสลายตัวหรือละลายยาก่อนที่จะกินเข้าไปนั่นเอง นักวิชาการจากล้านนาที่คลุกคลีงานภูมิปัญญาด้านสุขภาพล้านนา พบว่ากิ๊กยาหรือการปั้นยาให้เป็นลูกของล้านนานั้น มีสิ่งน่าสนใจ ๓ ประการ คือ การนำยาลูกกลอนที่เตรียมมาแช่หรือชุบในสมุนไพรทำให้การรักษาได้หลากหลายมากขึ้น และเป็นการเพิ่มฤทธิ์หรือเสริมฤทธิ์สรรพคุณด้วย การเตรียมยาที่มักเทียบเคียงขนาดและน้ำหนักยาที่แน่นอน เพื่อให้ขนาดยาเท่ากันทุกเม็ด โดยใช้ขนาดของผลสมุนไพรเป็นเกณฑ์ และที่น่าสนใจคือ ยาลูกกลอนเตรียมไว้ไม่จำเป็นที่จะใช้กินเป็นยาภายใน แต่เตรียมไว้ใช้เป็นยาทาภายนอกได้ด้วย ภูมิปัญญาดั้งเดิมช่างน่าสนใจก็ตรงนี้ ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/64405261394050__696x364_1_320x200_.jpg) น้ำมันหมอเดชา ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นยานอนหลับที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพองค์รวม มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ รับรองตำรับยาหมอพื้นบ้าน ๒ ตำรับ ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ คือ ตำรับน้ำมันจอดกระดูก ของหมอนาด ศรีหาตา จังหวัดกาฬสินธุ์ และตำรับน้ำมันหมอเดชา ของหมอเดชา ศิริภัทร จังหวัดสุพรรณบุรี ตำรับแรกเป็นยาทาถูนวดภายนอกที่ใช้สำหรับการต่อกระดูก ส่วนตำรับที่สองเป็นยารับประทานที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ แก้ลมประกังหรืออาการปวดข้างเดียว ในที่นี้จะขอกล่าวถึงตำรับน้ำมันหมอเดชา ซึ่งกำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ จากกรณีอาจารย์เดชาประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกือบเป็นผู้ต้องหาครอบครองกัญชาเถื่อน กลายมาเป็นหมอพื้นบ้านหมาดๆ คนแรกและคนเดียวแห่งเมืองขุนแผนแสนสะท้าน ความดังของน้ำมันเดชา จากน้ำมันเถื่อนกลายเป็นน้ำมันถูกกฎหมายก็คือ ผู้ป่วยนับหมื่นคนที่ได้รับแจกน้ำมันเดชาฟรีมีความพอใจในผลของการใช้ยาที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นจนถึงขนาดที่ร่ำลือกันว่า “กัญชาเป็นยาวิเศษ” ทำให้เสียงเรียกร้องให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายดังกระหึ่มยิ่งขึ้นทุกที แม้ค่านิยมสังคมไทยจะรังเกียจการกินเหล้าเมากัญชา แต่ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีการใช้ตำรับยาผสมกัญชาเพื่อรักษาโรคมาช้านาน ในขณะที่แพทย์แผนฝรั่งเพิ่งเริ่มรู้จักนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง แม้หมอฝรั่งจะรู้จักใช้กัญชาทีหลัง แต่ก็ดังล้ำหน้าไปกว่าพี่หมอไทยมาก จนหมอฝรั่งอย่างราฟาเอล มีชูแลม ได้รับยกย่องให้เป็นบิดากัญชาโลก เพราะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวิทยาศาสตร์ชีวเคมีและฟิสิกส์จากผลงานค้นพบเภสัชสารในกัญชาที่ชื่อว่า แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในสมองของมนุษย์ที่เรียกว่า เอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid) แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ท่านพบว่าสารสำคัญในกัญชาช่วยให้ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (ECS-Endocannabinoid System) ในร่างกายทำงานเยียวยารักษาโรคและฟื้นฟูระบบสรีระต่างๆ ให้เป็นปกติ ท่านถึงกับสรุปว่า “แทบจะไม่มีระบบสรีระใดในร่างกายที่ ESC ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ของระบบนั้นๆ” พูดชัดๆ ก็คือ สารแคนนาบินอยด์ของกัญชา มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเกือบทุกโรคในร่างกายมนุษย์นั่นเอง บิดากัญชาโลกชาวยิวท่านนี้ยังตั้งชื่อสารแห่งความความสุขในสมองมนุษย์ที่สารกัญชาช่วยสร้างขึ้นมาว่า “อานันดาไมด์” (Anandamide) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า “อานันท์” แปลว่า ความยินดีปรีดา และสารความสุขอานันดาไมด์นี้เองที่ช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายให้เข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณของกัญชาในยาไทยที่ระบุว่ากัญชาเป็นยานอนหลับ รักษาสรรพโรค ช่วยให้มีกำลัง กินข้าวได้ เช่น ตำรับยาศุขไสยาสน์ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ช่วยให้นอนหลับอย่างมีความสุข (สอดคล้องการพบสารแห่งความสุขอานันดาไมด์ในยุคปัจจุบัน) ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เริ่มผลิตตำรับกัญชายาศุขไสยาสน์เพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง เช่นเดียวกับน้ำมันหมอเดชา ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ กำลังผลิตยาตำรับนี้เพื่อผู้ป่วยในเดือนกันยายนนี้ ต้องขอบอกกล่าวข่าวดีว่า อาจารย์เดชา ศิริภัทร ได้มอบตำรับยาของท่านให้เป็นสมบัติของชาติไปเรียบร้อยโรงเรียนกระทรวงสาธารณสุขแล้ว อาจารย์เดชามอบตำรับยาของท่านให้เป็นโอสถทานแก่สาธารณชน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนพึ่งตัวเองในทางยาที่มีราคาแพง จึงสมควรที่คนไทยจะได้รู้จักการปรุงยาตำรับนี้ไว้เริ่มจากการเตรียมเครื่องยา ประกอบด้วยดอกกัญชาแห้ง ๑๐๐ กรัม และน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น ๑,๐๐๐ มิลลิลิตร ขั้นตอนการปรุงยา : ตั้งน้ำมันมะพร้าวในกระทะร้อนในระดับอุณหภูมิ ๑๒๐ องศาเซลเซียส คงที่ โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จากนั้นจึงใส่ดอกกัญชาลงไปเจียวในน้ำมัน ใช้เวลา ๓๐ นาทีจึงดับไฟและใช้กระชอนตักกากกัญชาออกมา น้ำมันในกระทะที่ได้คือ “น้ำมันหมอเดชา” ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะของกัญชาซึ่งเป็นกลุ่มสารเทอร์ปีน (Terpenes) ที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำมันมะพร้าว ซึ่งนอกจากช่วยให้น้ำมันหมอเดชาหอมหวนชวนรับประทานแล้วยังเสริมฤทธิ์การหลับลึกอีกด้วย มีคำถามว่าทำไมต้อง ๑๒๐ องศาเซลเซียส นี่คือเคล็ดลับของการหุงน้ำมันกัญชา ณ องศานี้แหละ เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เกิดกระบวนการดีคาร์บ็อกซีเลชั่น (Decarboxylation) คือ การถอดกลุ่มคาร์บอกซิล (Carboxyl :-COOH) ออกจากโครงสร้างเคมีของกัญชา เพื่อให้ได้อนุพันธุ์กัญชาที่ออกฤทธิ์ยาที่มีประสิทธิผลมากที่สุดนั่นเอง แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลา ๒๐-๓๐ นาที เพราะถ้าหุงนานเกินกว่านี้ก็จะได้อนุพันธุ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่ตรงกับสารในสมองมนุษย์ ขนาดการใช้น้ำมันยาเพื่อช่วยให้นอนหลับ สำหรับผู้ใหญ่ควรเริ่มต้นที่ ๕ หยดใส่ช้อนรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน สำหรับเด็กลดลงตามส่วนอายุและน้ำหนัก ถ้าหากขนาดการใช้ดังกล่าวยังไม่ได้ผลภายใน ๕-๗ วัน ให้ปรับขึ้นเป็น ๘-๑๐ หยด หรือมากกว่านี้จนกว่าจะช่วยให้หลับลึก ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้น้ำมันยาในขนาดที่ทำให้เมา เมื่อได้ขนาดยาที่เหมาะสมแล้วสามารถใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะสูตรน้ำมันหมอเดชาเป็นสูตรฤทธิ์อ่อน (microcode) สามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน โดยสามารถใช้ต่อเนื่องอย่างปลอดภัยจนกว่าโรคหายจึงชะลอการใช้หรือเว้นระยะการใช้ห่างออกไป “น้ำมันหมอเดชา” เป็นนิมิตหมายของความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงขอให้ผู้ที่ต้องการยาฟังข่าวจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ว่า “น้ำมันหมอเดชา” ล็อตแรกจำนวนแสนขวด (ขนาดบรรจุ ๕ มิลลิลิตร) จะประกาศให้ใช้ที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งใด เพื่อจะได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครผู้ป่วยในโครงการวิจัยน้ำมันหมอเดชา กับโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านมากที่สุด นอกจากผู้ป่วยจะได้รับน้ำมันกัญชาที่มีมาตรฐานฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายแพงให้กับกัญชาใต้ดินแล้ว ท่านยังมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาคุณภาพตำรับยากัญชาไทยให้ก้าวไกลอีกด้วย ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39025693304008__696x364_1_320x200_.jpg) บุนนาค นากบุด และบุนนาคน้ำ สมุนไพร ๓ ชนิดนี้จะเปรียบเปรยเรียกกันว่า ๓ มิตรก็น่าจะได้ แต่ในทางวิชาการนับว่าลึกซึ้งกว่านั้น เพราะอยู่สายสัมพันธ์ใกล้ชิดกันที่เรียกว่า พืชในสกุลเดียวกัน คืออยู่ในสกุลเดียวกับบุนนาค หรือสกุล Mesua ซึ่งมีรายงานพบในประเทศไทย ๓ ชนิดด้วยกัน คือ บุนนาค Mesuaferrea L. ชื่อสามัญ Ceylon ironwood นากบุด Mesua nervosa Planch. &Triana ชื่อสามัญ Chestnut ironwood บุนนาคน้ำ Mesua ferruginea (Pierre) Kosterm. คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับต้นบุนนาคมากกว่าต้นบุนนาคน้ำและต้นนากบุด เนื่องจากบุนนาค เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในยาไทยหลายตำรับ บุนนาคเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม ใบอ่อนสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ จะออกพร้อมกันทั้งต้นในช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี ใบเป็นใบเดี่ยว ปลายใบเรียวแหลม ดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มี ๕ กลีบ ซ้อนกัน ดอกเมื่อบานเต็มที่มีกลิ่นหอมเย็นไปได้ไกล ผลสด รูปไข่ แข็งมาก เมล็ดแบน แข็งมี ๑-๔ เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม ในธรรมชาติพบบุนนาคได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง การใช้ประโยชน์ ยอดอ่อนบุนนาคกินได้แบบผักจิ้ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ในตำรายาไทยใช้ส่วนดอกที่มีกลิ่นหอมเย็น รสขมเล็กน้อย เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ และขับลม แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ใจสั่น ชูกำลัง บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้แช่มชื่น แก้ร้อนในกระสับกระส่าย รักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย แก้กลิ่นสาบในร่างกาย เมื่อใช้เป็นตำรับยาไทยนั้น นำเกสรบุนนาคเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้งห้า ได้แก่ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง และเกสรทั้งเจ็ด ที่เพิ่มดอกจำปา และดอกกระดังงา และเกสรทั้งเก้า ที่เพิ่มดอกลำดวน และดอกลำเจียกด้วย ตำรับยาเกสรที่กล่าวไว้ จะมีสรรพคุณในกลุ่มเหล่านี้ คือ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์ แก้ร้อนในกระสับกระส่าย นอกจากนี้ หากใช้บุนนาคอย่างเดียวก็มีการใช้เป็นเครื่องหอมเพราะกลิ่นหอมมาก ใช้แต่งกลิ่นต่างๆ ใช้ในการเข้าเครื่องยา เป็นยาฝาดสมาน บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ดับกระหาย บำรุงโลหิต และยังบดให้เป็นผงผสมกับเนยเหลว เป็นยาพอกแก้ริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยจากดอกบุนนาคมีสาร mesuol และ mesuone ที่มีฤทธิ์เหมือนยาปฏิชีวนะ คือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค น้ำมันจากเมล็ดก็มีฤทธิ์เหมือนน้ำมันจากดอกด้วย ในภูมิปัญญาสมุนไพรยังใช้น้ำมันจากเมล็ดรักษาโรคปวดตามข้อ และใช้ทารักษาโรคผิวหนัง สำหรับใบซึ่งมีรสฝาดนำมาใช้รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด ใช้เป็นยาสุมหัวแก้ไข้หวัดได้โดยตำเป็นยาพอกผสมน้ำนมและน้ำมันมะพร้าว แก่นมีรสเฝื่อนใช้แก้เลือดออกตามไรฟัน รากมีรสเฝื่อนใช้ขับลมในลำไส้ เปลือกต้นมีรสฝาดร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาฟอกน้ำเหลือง เปลือกมียางมากแต่ก็เป็นยาฝาดสมานและมีกลิ่นหอมเล็กน้อย นำเปลือกมาต้มรวมกับขิงกินเป็นยาขับเหงื่อได้ กระพี้มีรสเฝื่อนเล็กน้อย แก้เสมหะในคอ ต้นบุนนาค มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น สารภีดอย (เชียงใหม่) ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ปะนาคอ ประนาคอ (ปัตตานี) ในเอกสารและสื่อต่างๆ มีชื่อท้องถิ่นเรียกว่านาคบุตร นากบุต รากบุค ด้วย ซึ่งแต่เดิมมีการจัดจำแนกว่า บุนนาคและนากบุด เป็นไม้ชนิดเดียวกัน ต่อมาในเอกสารของหอพรรณไม้ปี พ.ศ.๒๕๓๗ ได้แยกต้นนากบุดออกเป็นอีกชนิดหนึ่งคือ นากบุด Mesua nervosa Planch. &Triana ชื่อสามัญ Chestnut ironwood นากบุด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบชื้นของภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของลำต้นตั้งแต่ ๑๐ เมตรไปจนถึง ๒๕ เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขาเป็นทรงพุ่มแน่นทึบคล้ายพีระมิด เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล เนื้อไม้ภายในมีสีขาวนวล มีความแข็งและเหนียว ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน แข็ง หนา และค่อนข้างกรอบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ดอกมีสีขาว ลักษณะคล้ายดอกบุนนาค ส่งกลิ่นหอมเย็นชื่นใจตลอดทั้งวันเช่นกัน เมื่อดอกบานเต็มที่ก็จะร่วงโรยไปภายในวันเดียวกัน เมื่อต้นแก่ทุกส่วนของนากบุด ทั้ง เปลือก ดอก ผล ต้น ราก ใบ ล้วนมีคุณค่าทางสมุนไพรทั้งสิ้น และยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับด้วย เนื่องจากมีทรงพุ่มแน่นทึบและให้ดอกกลิ่นหอมสวยงาม จากความรู้ในท้องถิ่นได้กล่าวไว้ว่านาคบุดต่างจากบุนนาคตรงที่ใบมีความอ่อนมากกว่า จึงนิยมนำไปทำเป็นผัก กินเป็นอาหาร และนากบุดเป็นพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม้ที่อนุญาตให้ปลูกได้ในสวนป่า สําหรับ บุนนาคน้ำ เป็นพืชขนาดเล็กชอบขึ้นตามริมฝั่งน้ำพบได้ในแถบอันดามัน มีจำนวนประชากรน้อย ไม่ปรากฎรายละเอียดของพืชชนิดนี้มากนัก และไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์พืช ๓ ชนิดมีชื่อคล้ายกัน มีความน่าสนใจที่นำมาเรียนรู้ให้เกิดการใช้ประโยชนอย่างเต็มที่ต่อไป ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤศจิกายน 2562 16:24:47 .
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/50286344149046__3_696x364_1_320x200_.jpg) เสม็ดขาว ราชินีไม้ป่าริมทะเล กล่าวกันว่า เสม็ดขาวจัดได้ว่าเป็นราชินีแห่งไม้ในป่าริมทะเล มารู้จักข้อมูลทางวิชาการกันก่อน ในประเทศไทยรายงานว่าพบอยู่ ๒ ชนิด คือชนิด Melaleuca cajuputi Powell มีชื่อท้องถิ่น เสม็ด (ทั่วไป) เสม็ดขาว (ภาคตะวันออก) เหม็ด (ภาคใต้) ชื่อสามัญว่า Cajeput tree, Milk wood, Paper bark tree ส่วนอีกชนิดหนึ่ง คือ Melaleuca leucadendra (L.) L. เป็นไม้ต่างถิ่น มีชื่อสามัญเรียกว่า Cajeput tree, River cajeput tree, Weeping paperbark tree, White tea tree เสม็ดขาวมีการกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลีย เสม็ดขาวจัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นได้ถึง ๒๕ เมตร มีเรือนยอดแคบเป็นพุ่มทรงสูง ลำต้นมักบิด เปลือกลำต้นเป็นสีขาวนวลจนถึงสีน้ำตาลเทา มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนานุ่ม ลอกออกได้เป็นแผ่นๆ ตามยอดอ่อน ใบอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคุม ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมขอบขนานหรือรูปใบหอก ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบหรือใกล้กับปลายกิ่ง และกิ่งมักห้อยลง ผลเป็นผลแห้ง แตกออกได้เป็นพู ๓ พู ลักษณะของผลเป็นรูปถ้วย ปลายปิด ขนาดเล็ก ผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเทาถึงสีคล้ำ ผลแห้งแตกด้านบน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี การขยายพันธุ์ใช้วิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีมากในสภาพที่ลุ่มมีน้ำขัง มักพบได้ทั่วไปตามชายทะเล ป่าชายหาดใกล้ทะเล ในที่ลุ่มมีน้ำขัง ตามขอบของป่าพรุ ในประเทศไทยพบต้นเสม็ดขาวได้มากทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เสม็ดขาวเป็นพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์กันมาก โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย ใบสดนำมาใช้กลั่นทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งใช้เฉพาะยอดอ่อน (ไม่ควรใช้ใบแก่เกินไป) และควรเก็บจากต้นที่อยู่บนที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง น้ำมันที่กลั่นได้เรียกว่า “น้ำมันเขียว” (Cajuput oil) หรือ “น้ำมันเสม็ด” ซึ่งจะมีกลิ่นคล้ายกับการบูร น้ำมันเสม็ดนี้มีคุณสมบัติในทางยาคล้ายกับน้ำมันยูคาลิปตัส แต่มีสีเหลืองอ่อน ร้อยละ ๖๐ มีสาระสำคัญ คือ 1, 8-cineole ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรีย เป็นน้ำมันที่ไม่เป็นพิษ และทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้น้อยมาก จึงมีการนำมาทำเป็นน้ำยาไล่ยุงหรือแมลงและใช้เป็นน้ำยาแต่งกลิ่นในสบู่และเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดีด้วย สรรพคุณยาสมุนไพร ใบสดมีรสขมหอมร้อน กินช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องขึ้น ถ้ากินมากจะเป็นยาขับพยาธิ และมีฤทธิ์ทำให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังช่วยแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในกระเพาะลำไส้ และยังใช้ทำเป็นยาหม่องแก้ปวดศีรษะ ปวดหู และใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน ใบและเปลือกเมื่อนำมาตำรวมกันใช้เป็นยาพอกแผลที่กลัดหนอง จะช่วยดูดหนองให้แห้ง หรือใช้ทาฆ่าเหา ฆ่าหมัด และไล่ยุงก็ได้ เคยมีงานวิจัยระบุว่าน้ำมันเสม็ดสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดสิวได้ดี จึงสามารถนำไปสู่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันสิวได้ เช่น สบู่เหลวล้างหน้าป้องกันสิว ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียและออสเตรเลีย มีการใช้เป็นยาแก้กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ ใช้เป็นยาลดอาการอักเสบและความเจ็บปวดจากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ลดการติดเชื้อต่างๆ จัดได้ว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่สำคัญชนิดหนึ่งเลย คนพื้นเมืองในออสเตรเลียนำใบมาบดขยี้ สูดดมแก้อาการติดเชื้อในลำคอ และน้ำมันเขียวที่กลั่นได้จากใบเสม็ดขาวก็นำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารด้วย เสม็ดขาวยังกินเป็นอาหารได้ กินเป็นผัก ดอกและยอดอ่อนมีรสชาติเฉพาะออกเผ็ดๆ กินเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ หรือนำใบมาต้มกับน้ำดื่มแบบน้ำชาก็ได้รสชาติ เสม็ดขาวยังนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ให้ควาย แพะหรือสัตว์อื่นๆ ได้ด้วย เนื้อไม้เสม็ดขาวมีคุณสมบัติคงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นและในน้ำเค็มได้ดี นำมาทำเสาเข็ม สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำรั้วได้ดี และจะเอาเศษไม้มาเผาทำถ่านก็ได้ เปลือกต้นนำมาใช้มุงหลังคา ทำฝาบ้าน (ชั่วคราว) ใช้ทำหมันเรือ ใช้อุดรูรั่วของเรือ และยังใช้ย้อมแหหรืออวน ใช้ห่อก้อนไต้สำหรับใช้จุดไฟ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านชอบใช้อย่างยิ่ง ในต่างประเทศนิยมนำมาทำเป็นถ่านใช้ในการหุงต้ม ภูมิปัญญาจากเสม็ดขาวพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงหน้าแล้งยาวนาน หากมีฝนตกจนป่าเสม็ดชุ่มชื้น และมีแสงแดดจัดประมาณ ๔-๕ วัน ก็จะมี “เห็ดเสม็ด” งอกขึ้นมา (เรียกอีกอย่างว่า “เห็ดเหม็ด” เป็นเห็ดจำพวก Ectomycorrhiza และมีชื่อวิทยาศาสตร์ Boletus griseipurpureus Corner) โดยเป็นเห็ดมีรสค่อนข้างขม แต่ถือเป็นเห็ดยอดนิยมของชาวใต้เลยทีเดียว นอกจากป่าเสม็ดจะเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของเห็ดเสม็ดแล้ว ป่าเสม็ดยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งและนกน้ำอีกด้วย และในเวียดนามมีภูมิปัญญาที่น่าสนใจ คือ การใช้ป่าเสม็ดเป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เป็นกรดให้มีความเป็นกรดลดลง ก่อนนำไปใช้ปลูกข้าวด้วย ในต่างประเทศมีการผลิตน้ำมันเขียวออกจำหน่ายอย่างคึกคักมาก โดยเฉพาะในเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ประเทศไทยกลับมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาวไม่มากนัก ทั้งๆ ที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ในดินแดนภาคใต้ ยังไม่ช้าเกินไปหากช่วยกันรณรงค์ให้มีการปลูกและการใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาวให้มากขึ้น และช่วยกันอนุรักษ์ป่าชายทะเลด้วย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและสายพันธุ์ของเสม็ดขาวเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนวงกว้างต่อไป ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87396453734901__696x364_1_320x200_.jpg) ยาแก้ไข้ประจำบ้าน ตำรับยาไทย ไข้มีหลายชนิด วิธีและยาแก้ไข้ก็ย่อมมีหลายวิธีเช่นกัน ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาระบาดของไข้เลือดออก ดังที่มีข่าวผู้ที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกแล้วหลายราย หากใครที่มีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา และเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ใบหน้าสังเกตว่าหน้าแดงๆ และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา อาการเช่นนี้ควรรีบไปโรงพยาบาลด่วน แต่ถ้าอากาศเปลี่ยน ถูกลมฝนเย็นชื้นทำให้มีอาการไข้ตัวร้อน มีไข้ต่ำๆ ไม่สูงปรี๊ด หรือจะเป็นไข้หวัดธรรมดาแล้วละก็ เรามีภูมิปัญญาไทยและมีวิธีการพึ่งพาตนเองแก้ไข้ที่เป็นกันทั่วไปได้ บางคนอาจตั้งคำถามว่า ไข้ต่ำๆ คือไข้แบบไหน หรือไข้ที่จัดว่าสูงนั้น อุณหภูมิสูงแค่ไหน โดยปกติอุณหภูมิของร่างกายอยู่ที่ ๓๗ องศาเซลเซียส แต่ก็พบว่าคนทั่วไปอาจมีอุณหภูมิระหว่าง ๓๖.๖-๓๗.๒ องศาเซลเซียสก็ถือว่าเป็นปกติ ถ้ามีอุณหภูมิสูงมากกว่า ๓๗.๕ องศาเซลเซียส เรียกว่ากำลังเป็นไข้แล้ว ในทางวิชาการบอกว่า ไข้ต่ำ เมื่อวัดไข้ด้วยการอมปรอทนั้นจะมีอุณหภูมิระหว่าง ๓๗.๒-๓๘.๒ องศาเซลเซียส ถ้าวัดได้ระหว่าง ๓๘.๒-๓๙.๒ องศาเซลเซียส เรียกไข้ปานกลาง สำหรับไข้สูงจะมีอุณหภูมิระหว่าง ๓๙.๒-๔๐.๓ องศาเซลเซียส แต่ยังไม่หมดยังมีไข้สูงมาก ที่วัดทางปากหรืออมปรอทแล้ว วัดได้มากกว่า ๔๐.๓ องศาเซลเซียส อันนี้อันตรายสุดๆ แสดงว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ในการดูแลสุขภาพตนเองนั้นเราสามารถบรรเทาอาการไข้ที่เป็นกันทั่วไป คือไข้ต่ำๆ หรืออาจมีไข้ปานกลางได้บ้าง ซึ่งหลักการลดไข้ที่ดีที่สุด คือการดื่มน้ำมากๆ และเช็ดตัวลดไข้หรือเป็นการเช็ดตัวเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย และการกินยาลดไข้ ซึ่งปกติเรามักคุ้นเคยยาสามัญประจำบ้าน พาราเซตามอลที่เป็นยาฝรั่ง แต่ปัจจุบันนี้เรามีการศึกษาวิจัยถึงตำรับยาไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม พบยาไทยชื่อว่า ยาจันทน์ลีลา มีสรรพคุณลดไข้ได้ไม่แตกต่างจากยาพาราเซตามอล อีกทั้งไม่พบการก่อพิษระยะสั้นและระยะกึ่งเรื้อรัง และปัจจุบันนี้ได้รับการยกระดับจากยาสามัญประจำบ้านสู่รายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีบริการให้คนไข้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย เมื่อสัปดาห์ก่อนเจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยคนหนึ่งเป็นไข้ และเริ่มมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล และเริ่มรู้สึกเมื่อยตัวเล็กน้อยแต่ยังไม่ถึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ที่ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมากๆ รู้สึกว่าจะเป็นแค่หวัดธรรมดามีไข้ต่ำๆ ตัวร้อน โชคดีที่มียาจันทน์ลีลาติดไว้ประจำบ้าน กินไปทั้งหมด ๔ ครั้ง ห่างกัน ๔-๕ ชั่วโมง นอนพัก และดื่มน้ำมากๆ ด้วย พบว่าอาการดีขึ้นหรือไข้หายไปอย่างรวดเร็ว สูตรตำรับจันทน์ลีลา ตามที่ประกาศไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในผงยา ๙๙ กรัม ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนักสิ่งละ ๑๒ กรัม พิมเสน หนัก ๓ กรัม ระบุข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง ผู้ใหญ่ กินครั้งละ ๑-๒ กรัม ละลายน้ำสุก ทุก ๓-๔ ชั่วโมง เมื่อมีอาการ หรือถ้าบรรจุ แคปซูล ๕๐๐ มิลลิกรัม กินครั้งละ ๒-๔ แคปซูล เด็ก อายุ ๖-๑๒ ปี กินครั้งละ ๕๐๐ มิลลิกรัม – ๑ กรัมละลายน้ำสุกทุก ๓-๔ ชั่วโมง หรือกินครั้งละ ๑-๒ แคปซูล นอกจากแก้ไข้ตัวร้อนที่เป็นกันทั่วไปแล้วสตรีคนใดมีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือนก็สามารถใช้ยาจันทน์ลีลาช่วยลดไข้ได้เช่นกัน แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก และหากกินยาเกิน ๓ วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ สมุนไพรแต่ละชนิด พอจำแนกสรรพคุณได้ดังนี้ โกฐสอ ใช้แก้ไข้ แก้หืด แก้ไอ ทำหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้เสมหะเป็นพิษ แก้ไข้จับสั่น ชาวจีนก็นำมาใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด และถือว่าเป็นสมุนไพรของสตรีใช้เกี่ยวกับระดู ปัจจุบันมีการนำสารจากโกศสอผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวด้วย โกฐเขมา เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม แก้จุกแน่น แก้หอบหืด แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้ลมตะกัง แก้เหงื่อออกมาก ฯลฯ โกฐจุฬาลัมพา ในตำรายาไทยใช้แก้ไข้เจลียง (อาการจับไข้วันเว้นวันเป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้เพื่อเสมหะ ไข้มาลาเรีย แก้หืด แก้หอบ แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด เนื้อไม้เป็นยาบำรุงเลือดลม บำรุงธาตุไฟให้สมบูรณ์ และใช้แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ แก้ลม แก้อ่อนเพลีย แก่นจันทน์แดง จะใช้แก่นที่มีเชื้อราจับทำให้แก่นมีสีแดง ใช้แก้พิษไข้ภายนอกและภายใน แก้ไข้ทุกชนิด แก้กระสับกระส่าย แก้ร้อนดับพิษไข้ทุกชนิด ฯลฯ ลูกกระดอม น้ำต้ม เมล็ด กินลดไข้ แก้พิษผิดสำแดง เป็นยาถอนพิษ ผลมีรสขม บำรุงน้ำดี ดับพิษโลหิต แก้ไข้ เถาบอระเพ็ด เรารู้จักกันดีว่าเถามีรสขมจัดคุณสมบัติเย็น ใช้แก้ไข้ทุกชนิด และเป็นยาขมเจริญอาหาร รากปลาไหลเผือก ถ่ายพิษต่างๆ ถ่ายพิษไข้พิษเสมหะ แก้ไข้ ตัดไข้ทุกชนิด ฯลฯ ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาดั้งเดิม คือ มีฤทธิ์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ฤดูฝนนี้ทุกคนมีโอกาสเป็นไข้และไข้หวัดทั่วไป จึงควรมียาสามัญประจำบ้านจันทน์ลีลาไว้ทุกครัวเรือน และช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันไข้เลือดออกด้วย ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/24035716760489__102_696x364_1_320x200_.jpg) สูตรยาดีจากวัดคีรีวงก์ รักษาโรคสะเก็ดเงิน ตามการรับรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ทั้งยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ จึงทำลายเซลล์ผิวหนังของร่างกายเราเอง ทำให้เกิดการอักเสบลุกลามจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ ต่อมาจึงแผ่ลามไปทั่วทั้งตัวเริ่มจากเป็นผื่นสีแดง ต่อมาจึงตกสะเก็ดเป็นขุยสีขาวหรือสีเงิน ผู้ป่วยมีอาการเจ็บ คันและแสบร้อนมาก เมื่อผิวแห้งมากจนแตกจะมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ถ้าเป็นมากจะปวดบวมตามข้อต่อ เบื่ออาหารและมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินขั้นรุนแรง อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ข้ออักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และภาวะติดเชื้อ นอกจากภาวะความเจ็บป่วยทางกายแล้ว คนเป็นโรคสะเก็ดเงินยังมีภาวะป่วยทางจิตด้วย ตั้งแต่ ความรู้สึกหดหู่ใจ ขาดความมั่นใจ จนแยกตัวออกจากสังคม และอาจถึงขั้นเป็นโรคจิตซึมเศร้า แม้ในทางแพทย์แผนไทยจะถือว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นกุฏฐโรคหรือโรคเรื้อนชนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ว่าจะทางสัมผัสทางอาหาร ทางเพศสัมพันธ์ หรือทางสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ดังนั้น จึงไม่ควรแสดงความรังเกียจหรือความกลัวเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้เป็นโรคสะเก็ดเงิน ตรงกันข้ามควรรู้สึกเห็นอกเห็นใจและแนะนำการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สําหรับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีการใช้ทั้งยาทาภายนอกจำพวกน้ำมัน เช่น ไดทรานอล (Dithranol) ยารับประทานจำพวกสเตียรอยด์ เช่น คาลซิโปรไทรออล (Calciprotriol) และถ้าอาการรุนแรงมากก็ใช้ยาฉีดไบโอโลจิก (Biologic) และการอาบรังสีอัลตราไวโอเลต หรือถ้าเป็นแบบชาวบ้านใช้วิธีการอาบแดดช่วงเช้าหรือสายๆ ซึ่งก็ได้รังสียูวีช่วยบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงินได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าต้องการหายขาดก็ต้องใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านซึ่งมียารักษาหลายสูตรตำรับด้วยกัน ในที่นี้ขอนำเสนอยาทาภายนอกสูตรตำรับน้ำมันงาของพระมหาขวัญชัย อคฺคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร พระอาจารย์ขวัญชัยเป็นหมอพื้นบ้านตามระเบียบกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเหมือนหมอเดชา ศิริภัทร ที่โด่งดังอยู่ในขณะนี้ ท่านได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านจากหลวงปู่เจียม อติเมโธ อดีตเจ้าอาวาส ผู้เป็นทั้งหมอพระ และวิปัสสนาจารย์ชื่อดังแห่งหลังสวน แต่สำหรับในหมู่นักเล่นพระเครื่องจะรู้จักหลวงปู่เจียมในฐานะเกจิอาจารย์ชื่อดัง เหรียญรุ่นแรก ฉลองอายุครบ ๑๐๔ ปีของหลวงปู่องค์นี้เป็นของดีที่แสวงหากันในวงการพระเครื่อง พระอาจารย์ขวัญชัยเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงปู่เจียมตั้งแต่ยังเป็นสามเณรน้อย จนทุกวันนี้ท่านเป็นพระมหาเปรียญ จบปริญญาโทแล้วท่านก็ยังรักษา สืบสานภูมิปัญญาของหลวงปู่เจียม และต่อยอดให้วัดคีรีวงก์เป็นศูนย์เรียนรู้สมุนไพรชุมชน และเป็นสถานพยาบาลหมอพื้นบ้านที่ไม่เพียงให้บริการรักษาผู้ป่วย แต่ยังให้ความรู้และสอนผู้ป่วยทำยาสมุนไพรรักษาตัวเองด้วย โรคหนึ่งที่วัดคีรีวงก์มีชื่อเสียงในการรักษาได้ผลดี แม้ไม่โอ้อวดว่ารักษาหายขาด แต่ก็มีผู้ป่วยเดินทางมารักษากันมาก คือ โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งพระอาจารย์ท่านทำบัตรผู้ป่วยนอกบันทึกอาการ ประวัติโรค และตำรับยาที่ใช้รักษา สำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงินระดับขั้นต้นถึงปานกลาง ท่านจะอธิบายให้รู้จักเครื่องยาแต่ละตัว พร้อมกับสาธิตขั้นตอนการหุงน้ำมันยาอย่างละเอียด เภสัชวัตถุในตำรับยามีดังนี้ สุพรรณถันเหลือง (กำมะถันเหลือง) ๑ ขีด (๑๐๐ กรัม) ยาเส้นแห้ง ๒ ขีด (๒๐๐ กรัม) ปูนแดงที่กินกับหมาก ๒ ขีด (๒๐๐ กรัม) ขมิ้นอ้อยแห้ง ๒ ขีด (๒๐๐ กรัม) น้ำมันมะพร้าว ๑ ลิตร ขั้นตอนการหุงน้ำมัน ตั้งกระทะเหล็กพร้อมน้ำมันมะพร้าว บนเตาถ่านหรือเตาแก๊ส ใช้ไฟอ่อนๆ ความร้อนประมาณ ๕๐-๖๐ องศาเซลเซียส ใส่กำมะถันลงในน้ำมันร้อน ใช้ตะหลิวเจียวผงกำมะถันจนละลายกลายเป็นของเหลว และเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งสีแดงส้ม สักพักจึงตักกำมะถันออก จากนั้นจึงใส่ยาเส้นลงไปในน้ำมันกำมะถัน คนพลิกยาเส้นกลับไปมาอย่าหยุดจนยาเส้นกรอบ จึงตักยาเส้นที่สะเด็ดน้ำมันออก ขั้นต่อไปใส่ปูนแดงลงไปเจียวจนละลายในน้ำมันกลายเป็นสีแดงจึงใส่ขมิ้นอ้อยลงไปเจียวอย่าหยุดมือ ราวอีกครึ่งชั่วโมง จนได้น้ำมันสีเหลืองอมแดง จึงตักกากขมิ้นอ้อยออก ตั้งน้ำมันในกระทะไว้ให้เย็นจากนั้นจึงกรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำมันยาใสสีอำพัน ประมาณ ๘๐๐ มิลลิลิตร เก็บใส่ขวดแก้วปิดฝาเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นยารักษาโรคสะเก็ดเงินต่อไป วิธีใช้ยา : ใช้วันละครั้ง เวลาเย็น หลังอาบน้ำชำระร่างกาย เช็ดตัวแห้งแล้ว ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำมันทาผิวหนังบริเวณที่เป็นสะเก็ดเงินทั่วร่างกาย ทำเช่นนี้ราว ๒ สัปดาห์ รอยโรคสะเก็ดเงินจะจางลงอย่างชัดเจน จากนั้นทาน้ำมันต่อไปจนครบ ๒ เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าโรคสะเก็ดเงินได้จางหายไปจากชีวิตแล้ว อ้อ เกือบลืมบอกไป ก่อนหุงยาและก่อนทายาทุกครั้งให้ตั้งนะโม ๓ จบ บูชาพระรัตนตรัย และระลึกถึงคุณของพระสงฆ์คือหลวงปู่เจียมและพระอาจารย์ขวัญชัยที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตใหม่แก่เรา ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 พฤศจิกายน 2562 15:55:23 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/72605389522181__696x364_1_320x200_.jpg)
มะพูด ผลไม้โบราณ ในช่วงนี้จะพบว่าผลไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่งกำลังออกลูกสะพรั่ง เรียกกันว่า มะพูด คนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นกลางคนอีกจำนวนมากก็อาจไม่รู้จักกันแล้ว วันนี้เรามารู้จักมะพูดกัน มะพูด มีชื่อสามัญว่า Garcinia ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ไข่จระเข้ ตะพูด ส้มปอง ส้มม่วง (จันทบุรี), พะวาใบใหญ่ (จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด (ภาคเหนือ), ปะหูด มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด มะพูด (ภาคกลาง), ตะพูด พะวา ประหูด ประโหด ประโฮด มะนู (เขมร), ปะพูด เป็นต้น ต้นมะพูดมีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๗-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ เป็นทรงพุ่มแน่นทึบ ลำต้นตั้งตรง และอาจมีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งเกิดจากการหลุดร่วงของกิ่งก้านทั่วไป เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เรียบ และแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวของลำต้น เมื่อเปลือกต้นเกิดบาดแผลจะมียางสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไหลซึมออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กล้าปักชำ การกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้น และตามชายห้วยหรือพื้นที่ริมน้ำในป่าเบญจพรรณ ประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พื้นที่แถบชายแดนจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ ในต่างประเทศพบได้ตั้งแต่อินเดียจนถึงลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ชวา และบอร์เนียว ขยายความลักษณะทางพฤกษศาสตร์อีกสักนิด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ โคนใบกว้างมนตัดตรง เว้าเล็กน้อยคล้ายกับรูปหัวใจและค่อยๆ สอบเรียวเล็กไปที่ปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบเหนียวและหนา หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน เมื่อแห้งเป็นสีเหลืองอมสีเทา ส่วนก้านใบสั้นย่นขรุขระและมีขนบางๆ ดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ ๓-๕ ดอก มีกลีบดอก ๕ กลีบซ้อนกันอยู่ มีลักษณะตูมเป็นรูปทรงกลม จะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ผลเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕-๖ เซนติเมตร ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองสดอมสีส้ม เนื้อในผลเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยวอมหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ ๒-๕ เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี สีน้ำตาล โดยจะติดผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน แต่ในบางปีก็มาออกผลล่ามาเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผลมะพูดน่าสนใจมาก เป็นสมุนไพรใช้ได้ในครัวเรือน น้ำคั้นจากผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน แก้อาการไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะหรือกัดเสมหะ ผลมะพูดยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ และสรรพคุณแบบโบราณว่าช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก และแก้อาการช้ำในด้วย ส่วนของรากมีรสจืด ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน ช่วยถอนพิษผิดสำแดง เปลือกต้นมีรสฝาด นำไปต้มกรองใช้น้ำเป็นยาชำระล้างบาดแผลต่างๆ ได้ เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือผสมเกลือ นำมาใช้ทาแก้อาการบวม ในชวาและสิงคโปร์ใช้เมล็ดตำละเอียดรักษาอาการบวมเช่นกัน นอกจากนี้ มีข้อมูลจากต่างประเทศรายงานว่า ผลมะพูดมีฟอสฟอรัสและคาร์โบไฮเดรตสูง และมีกรดซิตริก (ให้รสเปรี้ยว) ในปริมาณมากด้วย ในต่างประเทศใช้น้ำจากผลเป็นยาละลายเสมหะ แก้ไอ รักษาอาการลักปิดลักเปิดหรือโรคขาดวิตามินซี เช่นเดียวกับในประเทศไทย น้ำคั้นจากรากใช้ลดไข้ ลดพิษและขับสารพิษออกจากร่างกาย น้ำคั้นจากเปลือกใช้ล้างแผล นอกจากนี้ ยังใช้ใบมาเป็นสีย้อมธรรมชาติซึ่งจะให้สีเขียวสวยงามดี และเมื่อนำไปผสมกับสีครามจะให้สีน้ำตาล ในบางประเทศใช้น้ำคั้นจากเปลือกนำไปย้อมให้สีน้ำตาลทำเสื่อปูรองนั่งหรือนอนได้ และเปลือกต้นยังสกัดนำไปย้อมสีเส้นไหมได้สวยงามด้วย โดยจะให้สีเหลืองคล้ายสีเหลืองของดอกบวบที่มีสีเหลืองสด ยางจากผลดิบเรียกว่า “รง” (gamboge) จะให้สีเหลืองก็นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่าน้ำคั้นจากเปลือกมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ และมีงานวิจัยเชิงลึกพบว่ามะพูดมีสารประกอบที่มีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือด สันนิษฐานว่าสารนั้นไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ชนิดหนึ่ง เรียกว่า HMG-CoA reductase ซึ่งช่วยลดไขมันในเลือด ผลสุก มีรสหวานอมเปรี้ยว กินเป็นผลไม้ ในปัจจุบันมีการนำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และผลไม้กวนจำหน่ายกันแล้ว ผลดิบมีรสเปรี้ยวค่อนข้างมากจึงนำมาใช้แทนมะนาวในการทำแกงต่างๆ ได้ มะพูดเป็นไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มสวยงาม มีใบและผลเด่นที่สวยงามโดดเด่น จึงนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ เช่น ปลูกในบริเวณศาลา ใกล้ทางเดิน ริมน้ำ ในสวนผลไม้ เป็นต้น คนไทยแต่ดั้งเดิมมีความเชื่อว่า หากปลูกต้นมะพูดไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูดช่างเจรจา พูดในสิ่งที่ดีงาม พูดจาไพเราะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ซึ่งมักจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน ในอดีตมีการใช้ประโยชน์จากมะพูดกันมาก แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรมะพูดลดลงมาก คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว มะพูด ไม้โบราณอีกชนิดหนึ่งที่น่าส่งเสริมให้มีการปลูกและนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ต่อไป ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87242458305425__1_696x254_1_320x200_.jpg) เห็ดขี้ควายและเห็ดขี้วัว เครื่องยาไทยมีทั้งมาจากพืช สัตว์ และธาตุวัตถุ ในส่วนที่มาจากพืชมักจะนับรวมเห็ดไว้ด้วยกัน แม้ว่าความรู้สมัยใหม่จัดให้เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่งแยกต่างหากที่ไม่ใช่พืชแล้ว แต่ยาไทยก็เหมารวมเห็ดในกลุ่มพืชสมุนไพรด้วย ที่น่าสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ที่เครื่องยาของหมอพื้นบ้าน ที่นำมาใช้ในการเป็นยารักษาโรคหลายอย่างนั้นถูกจัดให้เป็นยาหรือสารเสพติด คนไทยในเวลานี้รู้จักกันดี เช่น กัญชง กัญชา กระท่อม และที่จะมาแนะนำในวันนี้ก็คือเห็ดขี้ควาย ซึ่งหมอพื้นบ้านใช้เป็นยาสมุนไพรที่เรียกกันว่า สุขไสยาสน์ (ศุขไสยาสน์) เห็ดชนิดนี้ก็ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดเช่นกัน เห็ดขี้ควาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Psilocybe cubensis (Earle) Singer มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษคือ magic mushroom หรือเห็ดที่มีเวทมนตร์ก็ได้ ซึ่งก็คือเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาทนั่นเอง ที่ได้ชื่อว่าเห็ดขี้ควายเพราะมักจะพบได้ตามกองขี้ควายแห้ง มีลักษณะทางกายภาพ หมวกดอกมีสีเหลืองปนน้ำตาล ทั้งดอกมีสีอ่อน แต่กลางหมวกมีสีเข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ใต้หมวกดอกมีลักษณะเป็นครีบ มีสีน้ำตาลดำ บริเวณก้านใกล้กับหมวกดอกมีวงแหวนปรากฏอยู่ เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ ซึ่งในอดีตที่ยังไม่ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดก็เคยมีการนำมาใส่ในอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกินกันเอร็ดอร่อย ในตำรายาไทยกล่าวว่า เห็ดขี้ควายมีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย หมอไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือนอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์ แต่ถ้าใครที่กินหรือสูบเข้าไปจำนวนมากจะทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน เห็นภาพและแสงต่างๆ มีลักษณะอาการคล้ายกับเสพแอลเอสดี ที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนได้ สารในเห็ดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาและประสาทหลอนคือสารไซโลไซบิน (Psilocybin) เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่คล้ายกับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งไปรบกวนการทำงานของเซโรโทนิน ปริมาณที่ทำให้เกิดพิษคือ เมื่อกินหรือเสพเข้าไปมากกว่า ๑๕ ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป ๑-๔ กรัม เพราะกลไกการทำงานของเห็ดขี้ควายเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกต้องจำคุกตั้งแต่ ๒-๑๕ ปี และปรับตั้งแต่ ๒๐๐,๐๐๐-๑,๕๐๐,๕๐๐บาท ถ้าเป็นผู้เสพ จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในอเมริกามีการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสารไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควายมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ( ค.ศ.๑๙๕๘ และเลขสิทธิบัตร US3183172A) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนายาจากสารสกัดจากเห็ดขี้ควายร่วมกับเห็ดอื่น โดยจดสิทธิบัตรไว้เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘ เลขสิทธิบัตร ๒๐๑๘๐๐๒๑๓๒๖) รวมถึงในต่างประเทศยังมีผู้พยายามพัฒนายาจากเห็ดขี้ควาย เพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อให้คลายเครียด ลดความซึมเศร้าด้วย คราวนี้ยังมีเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มักมีความเข้าใจว่าเป็นเห็ดอันเดียวกันกับเห็ดขี้ควาย เรียกว่าเห็ดขี้วัว ที่จริงแล้วเป็นเห็ดคนละชนิดกัน เห็ดขี้วัวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panaeolus cyanescens Sacc. เดิมใช้ชื่อว่า Copelandia cyanescens (Sacc.) Singer แต่ใน web ต่างๆ ที่เป็นภาษาไทยเขียนผิดเป็น Copelandia ctandscens (Berk. & Br.) Sing. ซึ่งชื่อนี้ไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลเห็ดของโลก (Index fungorum) และจากหนังสือสารานุกรมไทยรวมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย รวมเวชกรรมไทย พิมพ์ครั้งที่ ๑ ของคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ตีพิมพ์ในปี ๒๕๔๐ กล่าวไว้ว่า เห็ดขี้วัว มีรสเมาเบื่อ สรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อนกระสับ ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาก็คล้ายกับเห็ดขี้ควาย ในทางวิชาการเห็ดขี้วัวไม่ใช่เห็ดขี้ควาย แต่เป็นเห็ดชนิดหนึ่งในเห็ดหลายๆ ชนิด ที่มีอัลคาลอยด์ชื่อ tryptamine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจิตใจหรือทางจิต เห็ดขี้วัวที่รู้จักกันดีในท้องตลาดเป็นสายพันธุ์ฮาวาย เนื่องจากพบและบริโภคที่ฮาวายบ่อยที่สุด แต่ดูเหมือนว่าจะมีแหล่งกำเนิดในเอเชีย ขอบอกว่ามีเห็ดมากกว่า ๑๘๐ ชนิดได้รับการยอมรับว่ามีอัลคาลอยด์ ชนิดไซโลซิน (psilocin) และ/หรือแอลเอสซีแอล และในจำนวนนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๑๗ สายพันธุ์ เช่น เห็ดขอนสีทองเกล็ดแดงหรือ Gymnopilus (๑๓ สายพันธุ์) เห็ด Panaeolus (๗ สายพันธุ์) เห็ด Copelandia (๑๒ สายพันธุ์) เห็ด Hypholoma (๖ สายพันธุ์) เห็ด Pluteus (๖ สายพันธุ์) เห็ด Conocybe (๔ สายพันธุ์) และเห็ด Agrocybe, Galerina และ Mycena (อย่างละ ๑ สายพันธุ์) การแพร่กระจายของเห็ดขี้ควายชนิด Psilocybe ส่วนใหญ่พบในป่าเขตร้อนชื้นของเม็กซิโกและนิวกินี ในเม็กซิโกมีเห็ดที่มีคุณสมบัติที่มีผลต่อระบบประสาทสูงสุดจำนวน ๗๖ ชนิด ในจำนวนนี้มี ๔๔ ชนิดเป็นกลุ่มเห็ดขี้ควายในสกุล Psilocybe (ประมาณ ๓๙% ของโลกเลย) ในเม็กซิโกจึงมีประวัติการใช้ทั่วไปยาวนานและใช้กันมากที่สุดในเรื่องทำให้เกิดอาการประสาทหลอนตามธรรมชาติ ในประเทศไทยมีฝรั่งชื่อเทอเรนซ์ แม็กเคนน่า (Terence McKenna) ศึกษาบริเวณแหล่งโบราณคดีโนนนกทา บ้านโนนนกทา ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น สันนิษฐานว่ามนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับเห็ดชนิดนี้มาเป็นเวลานานมาก ตั้งแต่ ๑๕,๐๐๐ ปีก่อน บนที่ราบ Tassili ทางตอนเหนือของประเทศแอลจีเรีย พบภาพเขียนภายในถ้ำที่มีอายุย้อนหลังไปถึง ๙,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล แสดงภาพร่างกายมนุษย์ที่มีรูปคล้ายเห็ดขี้ควายในร่างกายของพวกเขา จึงเป็นหลักฐานเก่าแก่ว่ามนุษย์ยุคนั้นรู้จักเห็ดในกลุ่มนี้แล้ว และยังมีหลักฐานในประเทศจีนแสดงถึงการเยียวยาแบบพื้นบ้านดั้งเดิมในสมัยราชวงศ์ชินในศตวรรษที่ ๒ โดยการใช้เห็ดชนิดนี้รักษาโรคคูรูหรือโรคหัวเราะ (laughing sickness) จากอดีตถึงปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ จดสิทธิบัตรเห็ดขี้ควาย ย่อมแสดงถึงศักยภาพของเห็ดกลุ่มนี้ได้ดีที่สามารถพัฒนาเป็นยาหรือเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ หวังว่าปลดล็อกกัญชง กัญชา กระท่อมแล้วขอเห็ดขี้ควายเพื่อการแพทย์ด้วยนะ ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/67869963621099__696x364_1_320x200_.jpg) กระเจี๊บบแดง ขอชวนผู้อ่านพาเที่ยวหนีร้อนเมืองไทยไปท่องแดนอารยธรรมเก่าแก่ ที่มีหมุดหมายปลายทางคือแดนไอยคุปต์ ประเทศอียิปต์ ประเทศที่ตั้งอยู่บนทะเลทรายซาฮารา และมีแม่น้ำไนล์เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิต ช่วงที่ไปนี้อากาศตอนกลางวันก็ร้อนพอๆ กับประเทศไทย แต่กลางคืนจะเย็นสบาย ใครที่เคยอ่านหรือดูสารคดีเกี่ยวกับประเทศนี้มาก็จะไม่ตราตรึงเท่าได้เห็นกับตาตนเอง ใครที่เคยมาถึงประเทศอียิปต์ ก็อดที่จะทึ่งไม่ได้กับความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้างอายุหลายพันปี ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก มาท่องเที่ยวและถือโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตผู้คนด้วย จึงเที่ยวตลาดเดินชมสินค้าและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ด้วยความที่ทำงานด้านสมุนไพร สายตาก็สอดส่ายหาสมุนไพรที่วางขายในตลาด พบว่ามีเครื่องเทศขายและสมุนไพรแห้งจำนวนมาก แต่มาสะดุดตากับสมุนไพรชนิดหนึ่งมาก เก็บความสงสัยมาถามกับเพื่อนชาวอียิปต์ว่า ทำไมในตลาดทุกแห่งมีกระเจี๊ยบแดงแห้งขายอยู่ทั่วไป และขายกันหลายร้านมาก ซึ่งน่าจะเป็นสมุนไพรที่คนอียิปต์นิยมบริโภคกันมาก มาได้ความรู้ว่า กระเจี๊ยบแดงของอียิปต์จะปลูกมากที่เมือง Aswan ซึ่งอยู่ทางตอนบนของประเทศติดกับประเทศซูดาน และในภาษาถิ่นเรียกกระเจี๊ยบแดงว่า Karkade ซึ่งเครื่องดื่มกระเจี๊ยบแดงของชาวอียิปต์นี้เป็นที่ชื่นชอบของคนในประเทศมาก เพราะถามใครๆ ก็บอกว่าเป็นเครื่องดื่มแสนชื่นใจ นอกจากนี้ ในอียิปต์และซูดาน เวลาจัดพิธีแต่งงานก็จะมีประเพณีการเสิร์ฟ Karkade ด้วย แสดงว่าเป็นเครื่องดื่มมงคลกินแล้วสุโขสโมสร เพื่อนชาวอียิปต์บอกเล่าประสบการณ์ว่า คนอียิปต์ชอบดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงกันมากเพราะช่วยเรื่องลดความดัน แต่จากประสบการณ์ชาวอียิปต์ยังแนะว่า ถ้าดื่มแบบร้อนๆ จะช่วยเพิ่มความดัน ถ้าดื่มแบบเย็นจะช่วยลดความดัน ข้อนี้เป็นประสบการณ์เฉพาะ ซึ่งต้องลองพิสูจน์ต่อไป สำหรับคณะท่องเที่ยวชาวไทยนั้นได้มีโอกาสชิมน้ำกระเจี๊ยบสไตล์อียิปต์ ที่เสิร์ฟมาในแก้วเล็กๆ “เวลคัมดริงก์” ลิ้มรสได้ว่ามีรสชาติเข้มข้นกว่าบ้านเมืองไทย และออกหวานมากกว่าเปรี้ยว เพราะคนอียิปต์จะชอบกินของหวาน เมื่อสอบถามวิธีการทำก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเรา กินทั้งแบบร้อนและเย็น และยังนิยมทำกินกันสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ชากระเจี๊ยบสำเร็จรูปที่ผสมสมุนไพรอย่างอื่นด้วย เช่น มินต์ อบเชย ขิง เป็นต้น กระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L. ชื่ออังกฤษ Jamaica sorrel, Roselle ถือเป็นไม้ท้องถิ่นของแอฟริกา แต่ทุกวันนี้ก็มีการปลูกได้ในประเทศเขตร้อนทั่วโลก ตำรายาไทยบอกสรรพคุณเด่นของกระเจี๊ยบแดงไว้ว่า แก้นิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ ในช่วงอากาศร้อนทั้งปีแบบไทยๆ แนะนำต้มน้ำกระเจี๊ยบแต่งน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย ช่วยแก้กระหายน้ำได้ดีเลิศ และความรู้ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำสูตรการทำกระเจี๊ยบแดงหมัก เพื่อช่วยบำรุงเลือด เพิ่มการไหลเวียน วิธีการทำคือ ต้มน้ำให้เดือด พอน้ำเดือดให้ใส่กระเจี๊ยบแดงแห้งลงไป ๑๐ นาที แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เอาแต่น้ำกระเจี๊ยบ จากนั้นตั้งไฟแล้วใส่น้ำตาลลงไป ต้มให้เดือดสัก ๕ นาที แล้วยกลงแช่น้ำเย็นทันที ใส่ยีสต์ลงไป แล้วนำใส่ถังหมักต่อไป และให้ใส่สายยางลงไปในถังหมักแต่ไม่ให้ปลายสายยางด้านในถังจมน้ำไวน์ เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้าถังโดยผ่านอากาศภายในถังหมัก หลังจากนั้น ใช้ดินน้ำมันพอกปากถังให้สนิทไม่ให้รั่ว ทิ้งไว้ประมาณ ๗-๑๕ วัน นำไปต้มฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ ๗๕ องศาเซลเซียสแล้วนำมาแช่น้ำเย็นเพื่อทำการน็อกเชื้อ นำมากินเป็นน้ำกระเจี๊ยบหมักได้ ประโยชน์และความนิยมในการกินน้ำกระเจี๊ยบกินได้ทั้งปี เราก็ควรลงมือปลูกเป็นสมุนไพรประจำบ้านกันได้ เพราะกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง มีระบบรากลึก สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ถ้าต้องการปลูกเพื่อเก็บดอก ควรปลูกในช่วงปลายฤดูฝน พรวนดินบริเวณที่จะปลูกให้ร่วน หยอดเมล็ดหลุมละ ๓-๕ เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้น ๑ เมตร ระหว่างแถว ๑-๑.๕ เมตร การปลูกให้เลือกที่น้ำไม่ขัง หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา ขอบสระ คันนา กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไวแสง คือจะเริ่มออกดอกเมื่อช่วงเวลากลางวันเริ่มหดสั้น ราวต้นฤดูหนาว หรือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เมื่อกระเจี๊ยบแดงอายุได้ ๓-๔ เดือน คือประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มเก็บกลีบเลี้ยงไปได้เรื่อยๆ การเก็บใช้กรรไกรหรือมีดตัดดอก เลือกตัดดอกที่โตและแก่ก่อน เหลือดอกอ่อนและเล็กไว้เพื่อให้โต จึงค่อยเก็บเกี่ยว การตัดให้ตัดชิดก้านดอก การแปรรูปเพื่อนำมาใช้หรือสร้างรายได้เสริมก็เอาดอกกระเจี๊ยบแดงที่เอาเมล็ดออกแล้ว มาล้างน้ำแบบสรงน้ำสัก ๒-๓ ครั้ง กระเจี๊ยบแดงล้างง่ายเพราะไม่ค่อยมีขี้ฝุ่นจับ ล้างเสร็จแล้วสะเด็ดน้ำให้แห้ง นำมาตากแดดประมาณ ๕ วัน ช่วงแรกควรพลิกบ่อยๆ จะช่วยให้สีกระเจี๊ยบสวยเสมอกัน ระวังอย่าให้ดอกกระเจี๊ยบมาซ้อนกัน จะทำให้เน่าง่าย หากพบดอกกระเจี๊ยบเน่าให้รีบทิ้งทันที เพราะอาจลามไปยังดอกอื่นได้ ตากแดดจนแห้งกรอบดีแล้ว จึงนำเก็บใส่ภาชนะบรรจุให้มิดชิด ใครที่ยังไม่มีโอกาสท่องโลกชมพีระมิดของจริงนั้น ถ้าได้นั่งชมสารคดีพาเที่ยวอียิปต์ก็แนะนำให้ชงน้ำกระเจี๊ยบร้อนหรือเย็นไปด้วย น่าจะฟินสุดๆ ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84735690388414__1_320x200_.jpg) มะนาว ยาดีประจำบ้าน ที่สำนักงานของมูลนิธิสุขภาพไทยปลูกต้นมะนาวไว้ ๑ ต้นงอกงามดีในกระถางใบใหญ่ แต่ไม่ได้ปลูกในวงท่อซีเมนต์ตามการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐเพื่อทำสวนมะนาวสร้างรายได้ทั้งปีและใช้เทคนิคบังคับมะนาวออกลูกในหน้าแล้ง ชาวมูลนิธิปลูกไว้กินหรือพึ่งตนเองเป็นอาหารและปรุงเป็นยาสมุนไพรเท่านั้นเอง จากประสบการณ์ พบว่าถ้าทุกบ้านพอมีที่ปลูกเพียงแค่ ๑ ต้น บำรุงรักษาให้ดี ก็มีลูกมะนาวไว้ใช้ได้พอเพียงแน่นอน มะนาวคือพืชใกล้ตัว ปลูกได้ประจำบ้านหรือถ้าจะเดินหาซื้อในตลาดสดมาใช้ก็หาง่ายมาก มะนาวจึงเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์หยิบมาใช้ในคราวจำเป็นได้สะดวกสุดๆ มะนาวมีสรรพคุณเด่นสุดในการใช้แก้ อาการไอ เจ็บคอ แม้ว่ายังมียาแก้ไอหรือลูกอมแก้เจ็บคอมากมายหลายชนิดที่ขายตามร้านยา แต่เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่สามารถปรุงยาแก้ไอและเจ็บคอที่อร่อยมากๆ ได้ด้วยตนเอง เห็นประโยชน์แบบนี้ แต่ไม่ใช่ดื่มน้ำมะนาวทีเดียวมากๆ เพราะคิดว่ายิ่งกินมากยิ่งดี วิธีใช้ให้เหมาะสมก็สำคัญคือ ให้ใช้วิธีการจิบน้ำมะนาวบ่อยๆ หรือเมื่อมีอาการไอ เจ็บคอ หรือมีอาการเสมหะติดคอ การจิบทีละน้อยๆ จะได้ผลดีกว่า และได้ลิ้มชิมรสชาติอร่อยด้วย การจิบจะช่วยให้ตัวยาน้ำมะนาวออกฤทธิ์ภายในปากและคอได้อย่างสม่ำเสมอ ช่วยแก้ไอแก้เจ็บคอได้ตรงจุด แต่การดื่มพรวดรวดเดียว ตัวยาจะลงท้องไปที่กระเพาะอาหาร อาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนเพราะความเปรี้ยวได้ มีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมว่า พอจิบน้ำมะนาวแล้วรู้สึกแสบคอมากกว่าเดิม ถ้าเกิดอาการแบบนี้ เป็นไปได้ว่าน้ำมะนาวที่ปรุงไว้อาจเข้มข้นเกินไป ให้เติมน้ำสะอาดเพิ่มเล็กน้อยหรือเจือจางน้ำมะนาว แต่ก็อย่าปรุงสูตรน้ำมะนาวจนรสจืดจางไม่เหลือสรรพคุณทางยาอยู่เลย สูตรน้ำมะนาว ๑ ต่อ ๑ ต่อ ๑ คือ น้ำมะนาว ๑ ส่วน น้ำสะอาด ๑ ส่วน และน้ำผึ้ง (น้ำเชื่อม) ๑ ส่วน เคยทดลองทำแล้ว รสชาติออกมาพอดี ใช้จิบเป็นยาแก้ไอแก้เจ็บคอได้ลงตัวที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีใช้ที่ได้ผลที่มาจากประสบการณ์ผู้ใช้มากมายอีกหลายวิธี เช่น นำมะนาวมาฝานหรือหั่นพร้อมเปลือกมะนาว ขนาดเป็นชิ้นเล็กๆ หรือนึกถึงมะนาวชิ้นเล็กที่กินกับเมี่ยงคำก็ได้ นำมะนาวชิ้นเล็กๆ นี้มาอมและเคี้ยว ขอให้ค่อยๆ เคี้ยวเพื่อให้น้ำมะนาวค่อยๆ ออกฤทธิ์ในปากและคอเช่นกัน เคี้ยวกินน้ำแล้วก็คายกากทิ้งได้ บางครั้งอาจนำชิ้นมะนาวไปแตะเกลือเล็กน้อย ก็ช่วยตัดรสเปรี้ยว เวลาอมเคี้ยวก็ได้รสชาติอร่อยขึ้น ใครที่มีอาการไอ เจ็บคอ ให้ลองเคี้ยวกินมะนาวชิ้นเล็กๆ นี้ ทุกๆ ๑-๒ ชั่วโมง หลังจากอมเคี้ยวมะนาวไปหลายครั้งแล้ว แนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดบ้าง เพื่อล้างกรดมะนาวที่ติดตามซอกฟันด้วย ในน้ำมะนาวที่มีกรดซิตริกนั้น นอกจากสรรพคุณลดการอักเสบ ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ทำให้เจ็บคอแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดไข้ แก้กระหายน้ำ หรือแก้อ่อนเพลีย อันที่จริงในน้ำมะนาวมีสาระสำคัญออกฤทธิ์ทางยาสมุนไพรแล้ว ในผิวมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ด้วย น้ำมันจากผิวเหล่านี้ก็คืออะโรมาเธอราปีส์ หรือน้ำมันหอมระเหยที่ใช้ทางการแพทย์ได้ เวลาเราคั้นน้ำมะนาวดื่มจะได้น้ำมันจากผิวผสมลงไปด้วย น้ำมันจากผิวมะนาวยังช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ และช่วยแก้อ่อนเพลียเช่นเดียวกับในน้ำมะนาว หากคุณไม่ได้มีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีเสมหะเหนียวติดดคอ มะนาวก็เป็นยาบำรุงร่างกายประจำบ้านหรือประจำสำนักงานได้ดี เพราะน้ำมะนาวมีคุณสมบัติช่วยให้ร่างกายสดชื่น มีวิตามินซีตามธรรมชาติช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา และถ้าดูตำรับยาอายุวัฒนะตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ทางมูลนิธิได้สูตรมาจากการรวบรวมความรู้โบราณ แนะนำไว้ว่า ให้ใช้มะนาว ๕๐ ลูก น้ำผึ้ง ๑ ขวด พริกไทยร่อนครึ่งลิตร (นำมาตำให้ละเอียดก่อน) มะนาวนำมาห่อในผ้าขาวบางแล้วใส่ขวดโหลไว้ ใส่พริกไทยร่อนและเทน้ำผึ้งดองไว้อย่างน้อย ๓ วัน จึงนำมากินเป็นยา กินน้ำผึ้งครั้งละ ๑-๒ ช้อนชา เช้า-เย็น และอาจนำลูกมะนาวที่ดองไว้มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ กินเนื้อทีละน้อยๆ ทุกวัน น่าจะเตรียมมะนาวไว้เป็นสมุนไพรตู้ยาประจำบ้านกันทุกครัวเรือน มะนาวปลูกไม่ยาก ที่ต้องระวังอย่าให้น้ำขังจนรากเน่า ซึ่งปัจจุบันมีการเผยแพร่ความรู้วิธีปลูกในกระถางหรือในท่อซีเมนต์กันมากมาย ยาสมุนไพรดีๆ ไม่ต้องเสาะหากันไกลตัว สามารถปลูกไว้ใช้เองได้ง่ายๆ ด้วยมือเรา ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 พฤศจิกายน 2562 16:00:24 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42144725927048__1_320x200_.jpg)
ผักหวานบ้าน กินอร่อย เป็นยาสมุนไพรด้วย มีผักอยู่ชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่ประชาคมอาเซียน ตั้งแต่เวียดนาม เขมร ลาว ฟิลิบปินส์ มาเลเซีย ไทย ไปจนนอกเขตอาเซียน เช่น อินเดีย จีน คือ ผักหวานบ้าน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropusandrogynus (L.) Merr. อยู่ในตระกูล Euphorbiaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงประมาณ ๐.๕-๒ เมตร ใบเดี่ยวรูปไข่ปลายแหลม ขอบเรียบ ออกเป็นคู่ตรงกันข้าม ใบดูคล้ายใบมะยม ดอกสีขาวมีกลีบรองดอกแดง ออกตามง่ามใบ ช่วงที่ออกดอก เป็นช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ผักหวานบ้าน เป็นผักที่คนไทยน่าจะรู้จักดีในแง่นำมากินเป็นอาหาร โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อนมาปรุงเป็นน้ำแกงหรือแกงจืด หรือนึ่งลวกกินกับน้ำพริก หรือทำแกงเลียง แกงส้มก็ได้ มีเรื่องน่าเรียนรู้ว่าผักหวานบ้านที่ภาคเหนือของไทยนั้นเรียกว่า จ๊าผักหวาน นอกจากนำมากินเป็นอาหารเช่นภาคอื่นๆ แล้ว ในตำรายาล้านนานั้นผักหวานบ้านมีบทบาทมากในแง่สรรพคุณทางยาสมุนไพร โดยนำส่วนของรากผักหวานบ้านมาเข้ายาตำรับรักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น โรคขางทุกชนิด ขางเป็นอาการแสดงของธาตุไฟทำให้ไม่สบาย ได้แก่ ขางทำให้มีอาการเสียดด้านข้าง เสียดท้อง ไอก็ดี ร้อนก็ดี ง่วงหลับก็ดี ขางไฟ ขางแกมสาน ขางรำมะนาด (เจ็บในคอ) ขางปิเสียบเป็นอาการจุกเสียดและร้อน มีอาการใจสั่น ยังมีการใช้ในการเข้ายาแก้มะเร็ง (หมายถึงอาการเป็นก้อนเนื้อซึ่งอาจหมายถึงเนื้องอกที่ผิดปกติ) และใช้ผสมในตำรับยาแก้ฝีสาร ซึ่งจะใช้เป็นยาชะล้างฝีที่มีอาการร้อน และเข้ายาแก้ไข้ฝีเครือดำขาวเหลือง เข้ายาแก้พิษ นอกจากนี้ รากผักหวานบ้านยังเข้าตำรับยามุตขึด (หมายถึงโรคสตรี) อาการบวมพอง และใช้กรณีคนไม่อยากอาหาร อาการเจ็บหูก็ใช้เป็นยาหยอดด้วย มีการเก็บข้อมูลความรู้จากหมอพื้นบ้านใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พบว่ามีการใช้รากผักหวานบ้าน เข้ายาแก้ลมผิดเดือนและยาแก้กินผิด (อาการผิดสำแดง) โดยใช้ในรูปแบบยาฝน ประกอบด้วย รากมะนาว รากผักดีด รากผักหวานบ้าน รากยอ รากจำปี รากทองพันชั่ง นำมาฝนกับน้ำกิน และพบตำรับยาหมอพื้นบ้านที่ อ.สันป่าตอง ใช้รากผักหวานบ้านเข้าตำรับยาฝนแก้อาการเจ็บในปาก และแก้อาการปากเหม็นด้วย ผักหวานบ้านเป็นยาเย็น ใบ ต้นและรากมีรสเย็น จึงมักนำมาใช้รักษาอาการที่เกิดจากธาตุไฟ หรือใช้เข้ายาถอนพิษไข้และแก้พิษ ระงับความร้อน และในอดีตนำมาใช้แก้คางทูมด้วย หากนำใบมาใช้นิยมใช้ใบสด แต่ถ้าใช้ราก ควรเลือกเก็บรากที่มีอายุตั้งแต่ ๒ ปีและมักนำไปตากแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ต่อไป หมอแผนโบราณที่ประเทศเวียดนาม มีการนำผักหวานบ้านมาใช้ในหลายโรค เช่น ใช้รากรักษาอาการไข้ ส่วนใบสดใช้รักษากรณีหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน โดยใช้ขนาด ๓๐-๔๐ กรัมต่อวัน ต้มน้ำกิน โดยหมอพื้นบ้านจะเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิดและกำหนดปริมาณการกินยาด้วยตนเอง ผักหวานบ้านยังใช้เป็นยาทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในเด็กทารก นำใบสดมาคั้นน้ำแล้วนำน้ำยาไปต้ม จากนั้นผสมน้ำผึ้งนำไปทาที่ลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว ใบนำมาใช้แก้บวม หัด และอาการปัสสาวะออกน้อย รากก็เข้ายาช่วยขับปัสสาวะและลดอาการบวมได้ด้วย และที่น่าสนใจคือการประชุมสมาชิกประเทศอาเซียนในปีนี้ ได้มีการยอมรับถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าการใช้ผักหวานบ้าน เป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมในแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร (Promoting lactation) ด้วย ผักหวานบ้าน จึงนับเป็นผักชนิดหนึ่งของอาเซียนหรือแห่งเอเชียเลยก็ได้ ที่ควรส่งเสริมให้ปรุงในมื้ออาหารต่างๆ อาจถือได้ว่าเป็นเมนูนานาชาติ ต้มจืดผักหวานบ้าน หรือมีรสเผ็ดร้อนอย่างแกงเลียงผักหวาน หรือแกงพื้นบ้านอื่นๆ ก็ได้ เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระแล้ว ผักหวานบ้านยังเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์เย็น กินแล้วระงับความร้อนในร่างกาย กินก่อนประชุมสุดยอดอาเซียนน่าจะช่วยให้ร่างกายเย็นๆ หายร้อนรุ่มประชุมกันได้อย่างราบรื่นจนบรรลุผลสำเร็จด้วยดี ผักหวานบ้านปลูกง่ายขึ้นง่าย สามารถขึ้นได้เองด้วย เก็บกินได้ตลอดทั้งปี หรือจะปลูกสร้างรายได้เสริมเก็บใบขายก็ยังได้ จำไว้ว่าผักหวานบ้านกินอร่อยและเป็นยาสมุนไพรด้วย ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27443923304478__696x364_1_.jpg) เมี่ยง และเมี่ยงหมัก เมี่ยง เป็นคำในภาษาล้านนามีความหมายถึงใบสดของต้นชา (Camellia sinensis var. assamica (J.W.Mast.) Kitam.) ที่เก็บมาเฉพาะใบที่ไม่อ่อนเกินไป แล้วนำมาดองจนเปรี้ยวเป็นเมี่ยงหมัก เมี่ยง ยังหมายถึง ใบสดของใบชาที่นำมาปรุงอาหาร เช่น ยำเมี่ยง สำหรับเมี่ยงหมักนี้ มีการทำเป็นอาชีพกันเลย ซึ่งพบมากในแถบอำเภอดอยสะเก็ด และอีกหลายตำบลในที่อื่นๆ เช่น บ้านแม่กำปอง ป่าเมี่ยงตำบลห้วยแก้ว ตำบลเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง พื้นที่เหล่านี้มีการเก็บและปลูกเมี่ยงผสมผสานกันไปในป่า ซึ่งมักปลูกตามที่ลาดชันเล็กน้อย บนดอยที่สูง ประมาณ ๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล จากการเก็บข้อมูลภรรยาพ่อหลวง อายุ ๕๐ ปี ในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เกิดมาก็เห็นพ่อแม่ทำอาชีพเมี่ยงมาตั้งแต่เกิด ในอดีตการเก็บเมี่ยง ทำปีละ ๔ ครั้ง คือ เมี่ยงหัวปีเดือนเมษายน เมี่ยงกลางเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม เมี่ยงซ้อยเดือนตุลาคม เมี่ยงเหมยเดือนสาม เดือนสี่ (เดือนทางเหนือ) หลังเก็บเมี่ยงแล้วจะทำการนึ่งเมี่ยง มัดให้แน่น ก่อนจะดองเก็บไว้กินเอง แต่หากไม่ดอง ก็จะนำเมี่ยงที่นึ่งแล้วส่งให้แก่โรงหมักเมี่ยง ในสมัยก่อนเราจะไม่กินเมี่ยงหมักแบบหัวปี หรือเมี่ยงใบอ่อน แต่ปัจจุบันผู้สูงอายุ นิยมกินเมี่ยงอ่อน จึงมีการเก็บเมี่ยงอ่อน และการเก็บเมี่ยงในปัจจุบันจะไม่เก็บเป็นเวลาเหมือนในอดีตแล้ว วิธีทำเมี่ยง จะเก็บใบเมี่ยงโดยมีอุปกรณ์โลหะวงแหวนติดที่นิ้วชี้ ใช้นิ้วตวัดตัดเอาใบที่อยู่ประมาณด้านล่างของช่อใบซ้อนรวมกัน ใบต้องไม่แก่เกินไป แล้วต้องเหลือหูใบไว้ แม่หลวงเล่าว่า อาจใช้ใบอ่อนถ้าต้องการเมี่ยงอ่อน ใบอ่อน นิ่ม มีสีเขียวอ่อน เมี่ยงที่ได้ก็จะฝาดนิดหน่อย ทำโดยเอาใบเมี่ยงไปมัดด้วยตอก ต้องใช้ตอกแบนๆ ห่อเป็นกำ เอาไปนึ่งแล้วเอามาแช่น้ำทิ้งไว้มันก็จะส้ม (เปรี้ยว) ไปเอง ปัจจุบันใช้วิธีเก็บรวมกันใส่ถุงตาข่ายเป็นถุงๆ แล้วนำมานึ่งทั้งถุง การนึ่งต้องใช้ไฟจากฟืนที่เก็บมาตั้งแต่ช่วงฤดูพักตัวของเมี่ยง เก็บฟืนมาไว้เป็นร้อยๆ ดุ้น โดยต้องใช้ไม้ที่ตายคาต้น หรือไม้ล้มในป่า ไฟที่ใช้ในการนึ่งเมี่ยง ต้องให้ร้อนต่อเนื่อง มิฉะนั้นใบเมี่ยงจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ หลักการหมักเมี่ยง จะต้องให้เมี่ยงอัดแน่น ปราศจากอากาศ และต้องปิดสนิทไม่ให้น้ำฝนไหลลงไป เพื่อทำให้เมี่ยงไม่เสีย หากเสียก็จะเกิดกลิ่นเหม็น การทำเมี่ยงแบบธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน หรือถ้าเป็นปีก็จะเปรี้ยวมากขึ้น แต่หากทำขาย ต้องการจะขายเร็ว อาจมีการผสมน้ำส้มสายชู วิธีการกินก็จะเอาใบเมี่ยงพร้อมใช้มาสักห้าหกใบ นำมาแผ่แล้วใส่พริกแห้ง หอมขาว (กระเทียม) และเกลือ ห่อไว้รวมกันแล้วนำมากินได้ หากจะทำเมี่ยงทรงเครื่องก็ผสมขิงดอง มะพร้าวคั่ว อย่างใดอย่างหนึ่ง สมัยก่อนนิยมห่อเมี่ยงอมเป็นคำคำ โดยเฉพาะทำวางใส่จานเลี้ยงแขกในงานศพเป็นของว่าง (อาจทำให้แขกตาสว่าง) นอกจากนี้ มีตำรับยำเมี่ยง ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่อยู่กับป่าเมี่ยง โดยมีการนำใบสดของเมี่ยงมาผสมกับเครื่องยำ อาจใช้ปลากระป๋องร่วมด้วย โดยมักใส่สะเรียมดง และเพี้ยฟาน จึงจะอร่อย สําหรับชุมชนชาวเหนือนั้นมีประวัติพัฒนาการผลิตชาน้อยกว่าเมี่ยง เพราะการแปรรูปทำชาทำได้ยากต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตซึ่งชุมชนไม่สามารถทำได้ง่าย อีกทั้งการลงทุนใช้งบประมาณมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีการพัฒนานำใบชาแก่มาทำให้แห้ง อัดเป็นหมอน ใช้ดับกลิ่น เป็นการใช้ความหอมจากใบเมี่ยงพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันการทำเมี่ยงลดลงไปมาก เพราะคนกินเมี่ยงน้อยลง การขายก็ขายได้น้อยลง ผู้คนไม่เห็นคุณค่า พร้อมกับการส่งเสริมการปลูกกาแฟเป็นอาชีพซึ่งรายได้ดีกว่ามาก เมี่ยงจึงเป็นอาชีพรองหรืออาชีพเสริม ในมุมยาสมุนไพร เมี่ยงเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐานแห่งอาเซียน เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในยามฉุกเฉินได้ดี เช่น กรณีแผลไฟไหม้ที่ไม่รุนแรง หรือแก้อาการเป็นพิษบางอย่าง ในตำรับยาล้านนา ได้มีการใช้เมี่ยงเป็นยา ที่บันทึกในใบลานดังนี้ ยาถีบแก้สะป๊ะ (แก้ได้หลายอย่าง) เอากาฝากเหมือดคน กาฝากกอก กาฝากเมี่ยง กาฝากผักหละ กาฝากเดื่อป่อง กาฝากฝูงคอบ หอยทะระ นมผา หนังแรด ฝนตกน้ำกินเทอะ (เสียเถอะ) มดทะขึด (มุตกิต) เป็นตุ่มยังลึงค์ เอาขี้เมี่ยงเละ หรือน้ำเมี่ยงใส่น้ำมะนาวทา ยาแก้ร้อนจะใคร่ให้เย็นดั่งอั้น (ยาแก้ร้อน จะให้เย็น) เอาขี้เมี่ยงเละ อันเคี่ยวเสียยังเตานั้นมาตีให้ย่อย แช่น้ำข้าวจ้าวไว้แล้วเอา ผักแคบ ผักเข้า ผักหนอก ผักแว่น หญ้าผากควาย ลับมืน (ชุมเห็ด) หญ้าไซ ใบบง มือมะน้ำ (น้ำเต้า) มะฟัก อ้อยดำ หัวแหย่ง นมผา หอยทะระ ยา ๑๔ ต้นนี้เย็นนักให้กิน ยาห้ามอาเจียน ราก ให้เอารากเมี่ยง แจนปูดิน ฝนตกน้ำจ้าวกินหาย ยาแก้กิ๊วท้อง (ปวดบิดในท้อง) เอายอดไม้แพ่ง แก่นหมากลิ้นคู้ ปมครั่ง จี่มะก๊อ น้ำเมี่ยงตำปั้นเป็นเลี่ยม ฝนน้ำอุ่นกิน ยาคอแห้ง เอาหน่วยหมากแคว้ง น้ำอ้อยดิบ ขี้ยองข่า ขิงแคง พริกน้อย ใบเมี่ยงแห้ง ตำเป็นผง ปั้นลูกกลอน แม้ว่าเมี่ยงจะสู้กาแฟไม่ได้ในเวลานี้ แต่เมี่ยง ยังทำรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี สามารถเก็บขายได้ทุกวัน อาจต้องมารณรงค์ให้ชาวล้านนาและนักท่องเที่ยวกินเมี่ยง และช่วยกันพัฒนาเมี่ยงเป็นผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่น่าสนใจ รวมถึงทำใบชาคุณภาพ ให้อาชีพเก็บชา ยังคงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42650987621810__1_696x364_1_320x200_.jpg) ฤๅษีผสมแล้ว ไม้ดอกไม้ยา ฤๅษีผสมแล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า Plectranthus scutellarioides (L.) R.Br. (ในอดีตไม่ได้จัดให้ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์นี้) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า coleus และแน่นอนมีชื่อภาษาไทยว่า ฤๅษีผสมแล้ว ซึ่งไม่รู้ใครเป็นคนตั้งชื่อ ฤๅษีผสมแล้วมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน หรือสอบเรียว ขอบใบหยักเว้า แผ่นใบมักหยิกย่น มีลวดลายและสีต่างกันตามพันธุ์ มีขนดอกมีสีขาวอมม่วงถึงม่วง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรตัวผู้ ๒ คู่ยาวไม่เท่ากันผลแห้งมีขนาดเล็กมาก ออกดอกและผลตลอดปี ผลมีเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว ฤๅษีผสมแล้ว เป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับเนียมหูเสือ อยู่วงศ์ Lamiaceae ซึ่งฤๅษีผสมแล้วที่มาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้น ใบมีสีเขียวหรือมีสีที่ไม่ฉูดฉาดนัก มีอายุประมาณ ๒ ปี ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมา ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและออสเตรเลีย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๖๐๐ เมตร แต่ต้นไม้ในป่าเขานี้ได้รับการค้นพบและมีนักตกแต่งสวนชาวดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์นำเข้าไปในยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๔ ซึ่งนำสายพันธุ์ไปจากชวา ตอนที่นำไปดินแดนยุโรปใหม่ๆ นั้น สายพันธุ์ดั้งเดิมมีสีเพียงไม่กี่สีและรูปร่างเป็นแบบใบไม้ธรรมดา จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๑๐ นักปรับปรุงพันธุ์ทำการคัดพันธุ์ จนกระทั่งเกิดต้นฤๅษีผสมที่มีสีหลากหลายและมีรูปแบบของใบที่แตกต่างกันจำนวนมาก นี่อาจจะเป็นที่มาของชื่อเรียกไทยๆ ของพืชชนิดนี้ว่า ฤๅษีผสมแล้ว หลังจากการปรับปรุงสายพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์ขึ้นแล้ว พบว่าต้นที่พัฒนาใหม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ในปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของฤๅษีผสมแล้วมาโดยตลอด ขณะนี้มีมากถึง ๑๐ กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความสำคัญในตลาดไม้ดอกไม้ประดับของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรูปร่างของต้นและสีที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นที่ถูกใจของชาวตะวันตกมาก เมื่อพัฒนาสายพันธุ์ได้มากมายการจัดฤๅษีผสมแล้วในทางวิชาการจึงจัดให้อยู่ในสกุลพืชที่แตกต่างกันหลายสกุล และทำให้มีชื่อที่เป็นชื่อพ้องจำนวนมาก เช่น การจัดให้อยู่ในสกุลเดียวกับโหระพา (Ocimum) มาจนถึงสกุล Coleus แล้วในที่สุดเปลี่ยนมาเป็นสกุล (Plectranthus สำหรับสายพันธุ์ป่าหรือสายพันธุ์เดิมนั้น เป็นพืชที่มีการลงหัว ส่วนของหัวนำมากินเป็นอาหารได้ ส่วนของใบก็นำมากินเป็นผักสดได้เช่นกัน หรือนำมากินร่วมกับขนมปังและเนย ในบางชุมชนมีการนำมาขูดใส่ลงในเบียร์ท้องถิ่นด้วย ในด้านสรรพคุณสมุนไพร ฤๅษีผสมแล้วนำมาใช้ดูแลสุขภาพ เช่น แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้อาการเยื่อบุตาอักเสบ ปวดหัว ฟกช้ำ ในบางชุมชนใช้เป็นยาทำให้แท้งและเป็นยาถ่ายพยาธิด้วย ในส่วนของรากใช้เป็นแก้บิดและแก้อาการเด็กทารกร้องไห้ตลอด ๓ เดือน ส่วนของใบใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาช่วยย่อยและยาช่วยกดประสาท นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษากระเพาะปัสสาวะและตับทำงานผิดปกติ สายพันธุ์ป่าที่มีใบสีม่วงดำ ใบและต้นอ่อนสามารถมาคั้นเอาน้ำดื่มแต่ต้องระวังเพราะทำให้แท้ง แต่ถ้าใช้ให้ถูกต้องสามารถใช้เพื่อการขับรกของสตรีหลังคลอดบุตรได้ นอกจากนี้ใช้เป็นยาพอกภายนอกเพื่อรักษาอาการบวมตามที่ต่างๆ และพอกแผลที่เกิดจากฝีดาษ ไข้ทรพิษ ใบอ่อนนำไปย่าง แล้วบีบเอาแต่น้ำใส่บาดแผล ได้ทั้งแผลสดและแผลที่เป็นหนองแล้ว น้ำคั้นจากต้นหรือทั้งต้นนำไปต้มดื่ม ใช้เป็นยาขับระดู รักษาริดสีดวงทวาร ตาอักเสบและเป็นหนอง ในตำรายาไทยมีการใช้ฤๅษีผสมแล้ว (น่าจะเป็นการใช้พันธุ์พื้นเมือง) เป็นส่วนประกอบของตัวยาเช่นกัน ซึ่งปรากฏเห็นในตำรับยาของวัดโพธิ์ โดยใช้ชื่อว่า “สีสมแล้ว” เข้ายาแก้มุศกายะ ธาตุตานโจร (ไข้เป็นบางเวลา มือและเท้าเย็น หอบ ลิ้นกระด้าง คางแข็ง) และแก้โรคฟกบวมในหูทั้ง ๒ ข้าง จนเป็นหนองไหล มีกลิ่นเหม็นเน่า ฤๅษีผสมแล้วที่เป็นสายพันธุ์ป่าที่มีใบสีม่วงดำ ยังมีการนำใบมาคั้นน้ำแล้วใช้น้ำในการสักตามตัวด้วย และก็ยังนิยมนำสายพันธุ์ป่ามาปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ตกแต่งสวนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเอกสารบางชิ้นกล่าวถึงพืชอีกชนิดหนึ่งว่า มีชื่อท้องถิ่นว่า ฤๅษีผสมแล้ว แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hemigraphis alternata (Burm.f.) T.Anderson โดยทั่วไปพืชชนิดนี้มักเรียกกันว่า ดาดตะกั่ว ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นคู่ๆ ไปตามข้อลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หลังใบเป็นสีเขียว แต่ถ้าถูกแดดจัดๆ จะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว หรือเมื่อถูกแสงแดดจะเห็นเป็นประกาย ดาดตะกั่วใช้เป็นสมุนไพรได้เช่นกัน ต้นใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง ในประเทศมาเลเซียใช้ต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด ใบใช้เป็นยาแก้บิด แก้ริดสีดวงทวาร และใช้ขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วได้ ซึ่งน่าจะมาจากใบมีสาร Potassium salt อยู่มาก จึงเป็นตัวช่วยในการขับปัสสาวะได้ดี สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ในบางท้องที่จึงเรียกชื่อเหมือนกันว่าฤๅษีผสมแล้ว แต่ในการนำมาใช้ปรุงยาตามตำรับดั้งเดิม จะต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้น และอาจทำการศึกษาวิจัยให้แน่ชัดว่าควรใช้พืชชนิดไหนให้ถูกต้องกับตำรับยาต่อไป [/size] ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77343721853362__696x364_1_320x200_.jpg) ฟักข้าว พืชพื้นบ้านคุณค่ามหาศาล เมื่อเอ่ยถึง “ฟักข้าว” เชื่อว่าหลายท่านเคยได้ยินชื่อนี้ แต่ก็อาจมีบางท่านไม่เคยได้ยิน ถ้าไปค้นหาในโลกอินเตอร์เน็ต ก็พบความนิยมของผู้บริโภคมากมาย มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แปรรูปมาจากฟักข้าว เช่น น้ำฟักข้าว สบู่ฟักข้าว แยมฟักข้าว น้ำมันฟักข้าว วันนี้มารู้จักฟักข้าวในทางวิชาการและยาสมุนไพรกัน ฟักข้าว มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ขี้กาเครือ (ปัตตานี) หรือชื่อเรียกพื้นเมืองของทางภาคเหนือว่าผักข้าว ซึ่งถือว่าเป็นพืชพื้นบ้านที่พบมากทางภาคเหนือของประเทศไทย จัดอยู่ในวงศ์แตง CUCURBITACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Momordica cochinchinensis Spreng. และฟักข้าวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม พม่า ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศด้วย ผลอ่อนของฟักข้าวสามารถนำมาปรุงอาหารได้ เช่น แกงปลาแห้งแบบทางเหนือ แกงส้ม แกงเลียง ต้มจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิ ยอดใช้ลวกจิ้มน้ำพริก การใช้ประโยชน์จากฟักข้าวในทางยานั้น รากใช้เป็นยาเย็น โดยเข้ายามะเร็งฝีสาน และหมอพื้นบ้านล้านนาใช้รากเข้าตำรับยาถอนพิษ ล้างพิษ และขับสารพิษ โดยปรุงยาเป็นยาฝน ประกอบด้วยตัวยาเมล็ดฟักข้าว นำมาสะตุ กาสะลักนำมาสะตุ เถาพระขรรค์ไชยศรี รากมะไฟ รากผักฮ้วนหมู หัวแหย่ง และเขากวางอ่อน นอกจากนี้ฟักข้าวยังใช้ร่วมในตำรับยาแก้ไข้ แก้ฝีที่มีอาการเจ็บปวดมากด้วย ในประเทศจีนมีการใช้เมล็ดแก่ของฟักข้าวเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการอักเสบบวม กลากเกลื้อน ฝี อาการฟกช้ำ ริดสีดวง แก้ท้องเสีย อาการผื่นคันและโรคผิวหนังติดเชื้อต่างๆ ในเวียดนามใช้น้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดมาย้อมสีข้าว และใช้ข้าวย้อมสีนั้นมาหุงนำไปไหว้เจ้าในแต่ละเดือน และสมัยที่ชาวเวียดนามยังอยู่ในศึกสงครามก็ได้น้ำมันดังกล่าวมาให้เด็กกินแก้อาการขาดสารอาหาร จำพวกขาดเบต้าแคโรทีนอยด์ แคโรทีนอยด์เป็นสารสีในพืชและพบในสิ่งมีชีวิตที่มีการสังเคราะห์แสงในแบคทีเรียและในรา แต่ในมนุษย์เราไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหาร แคโรทีนอยด์มีถึง ๖๐๐ ชนิด เช่น แซนโทฟิลด์ และแคโรทีน ในร่างกายเราจะเปลี่ยนแคโรทีนอยด์เป็นวิตามินเอ สารแคโรทีนอยด์มีฤทธิ์แอนตี้ออกซิแดนต์หรือสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยดวงตาของเรา มีฤทธิ์ปกป้องกระจกตา ทำให้การมองเห็นดีนั่นเอง มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาหาปริมาณของแคโรทีนอยด์ในผลของฟักข้าว พบว่าส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมีปริมาณแคโรทีนอยด์และไลโคปีนสูงกว่าส่วนเนื้อของผลฟักข้าว และเมื่อเทียบปริมาณไลโคพีน ที่พบในเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวกับที่พบในผลไม้ชนิดต่างๆ ได้แก่ ผลมะเขือเทศ แตงโม ฝรั่ง เกรปฟรุตและผลไม้อื่นๆ ที่มีสีแดง พบว่าฟักข้าวมีปริมาณไลโคปีนสูงกว่าหลายเท่าตัว ดังนั้น ฟักข้าวจึงเป็นแหล่งของไลโคปีนที่สำคัญ เป็นที่ต้องการของร่างกายของเรา มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิดด้วย มีคณะวิจัยทำการสกัดสารสำคัญจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวโดยใช้วิธีหีบ พบว่าน้ำมันที่สกัดออกมาได้มีสีแดงเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว และทำการวิเคราะห์หาปริมาณแคโรทีนอยด์แบบรวมๆ พบว่าน้ำมันจากเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวที่หีบออกมาได้มีค่าแคโรทีนอยด์รวมคิดเป็นร้อยละ ๐.๓ โดยน้ำหนัก นอกจากสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์แล้วยังพบกรดไขมันอีก ๑๔ ชนิด ที่พบมากที่สุดคือ Linolelaidic acid คิดเป็นร้อยละ ๗๐.๘๔ น้ำมันฟักข้าวนอกจากสามารถพัฒนาเป็นยาในรูปแบบแคปซูลชนิดนิ่มได้แล้ว ยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังเช่นในประเทศเวียดนามมีการผลิตออกมากันบ้างแล้ว และที่น่าสนใจคือพัฒนาเป็นผลิตถัณฑ์เครื่องสำอางชะลอริ้วรอยได้อีกด้วย ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษาวิจัยฟักข้าวเกี่ยวกับสรรพคุณหรือประโยชน์ต่างๆ พบว่าเมล็ดฟักข้าวมีโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอชไอวี-เอดส์ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีการจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว งานวิจัยอื่นของไทยและต่างประเทศยังพบว่าเมล็ดแก่ของฟักข้าวมีโปรตีน มอร์มอโคลชิน-เอส และโคลชินิน-บี มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของไรโบโซมซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรดอะมิโน และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง ประเทศญี่ปุ่นทำการวิจัยพบว่าโปรตีนจากสารสกัดน้ำของผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของก้อนมะเร็งลำไส้ใหญ่ในหนูทดลอง โดยลดการแผ่ขยายของหลอดเลือดรอบก้อนมะเร็งและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งดังกล่าว ในห้องทดลองน้ำสกัดผลฟักข้าวยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการทำให้เซลล์แตกตาย แม้ว่าการทดลองจำนวนมากยังอยู่ในระดับสัตว์ทดลอง และในระดับห้องปฏิบัติการยังมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์ไม่มากนัก แต่ถ้าเราเรียนรู้การกินฟักข้าวให้เป็นอาหารบำรุงสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ก็น่าจะทำได้ทันที ฟักข้าว ผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าและประโยชน์มากมาย ปลูกง่าย เป็นไม้เถาเลื้อยเมื่อออกดอกออกผลก็สวยงาม นำมาปรุงอาหารก็อร่อย กินเป็นสมุนไพรก็มีสรรพคุณดี ลองหามาปลูกและหามากินกันนะ ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 พฤศจิกายน 2562 15:44:47 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98398875113990__3_696x364_1_320x200_.jpg)
กระท่อม พืชยา กระท่อม เป็นพืชที่มีการใช้เป็นยามาอย่างยาวนานแต่โบราณ ใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา แต่เป็นที่รู้กันว่ากระท่อมถูกจับให้เป็นยาเสพติด กลายเป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อ ๗๖ ปีก่อน ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.๒๔๘๖ เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น รัฐก็เลยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับกระท่อม ซึ่งเป็นพืชยาชนิดนี้เพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีฝิ่นได้ตามเป้าหมายนั่นเอง ต่อมา กระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ตามความหมายในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗ ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม กัญชาเหมือนจะมีผู้คนมาสนับสนุนการพัฒนาในด้านการแพทย์กันพอสมควร แม้ว่ายังมีข้อกังวลข้อถกเถียงถึงผลข้างเคียงจากกัญชา แต่ก็ถือว่ากัญชาได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาและพัฒนาเพื่อการแพทย์เต็มตัวแล้ว แต่กระท่อม ซึ่งถือว่าเป็นพืชประจำถิ่นในภาคใต้ของไทยยังมีแรงสนับสนุนให้เป็นพืชยาเพื่อการแพทย์ไม่มากนัก กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๕ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มี ๑-๓ ช่อ ช่อกลางสั้นมาก แต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี ๕ แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น ๕ หยัก เมล็ดมีปีก กระท่อมเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Mitragyna หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ รายงานไว้ว่าพืชในสกุลนี้ในประเทศไทยมีอยู่ ๕ ชนิด ได้แก่ Mitragyna diversifolia (Wall ex G. Don) Havil.[/size] มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อมขี้หมู กระทุ่มดง กระทุ่มนำ ท่อมขี้หมู ตุ้มน้ำ Mitragyna hirsuta Havil.[/size] มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มโคก ตุ้มเขา ทุ่มพาย Mitragyna parvifolia Korth. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มใบเล็ก Mitragyna rotundifolia (Roxb.) Kuntze มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มเนิน แก่นเหลือง ตุ้มกว้าว Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อม ท่อม อีถ่าง กระท่อมมีหลายสายพันธุ์ถือเป็นความร่ำรวยทางชีวภาพ ในแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันที่ลักษณะของใบ คือ พันธุ์ก้านแดงมีก้านและเส้นใบสีแดง พันธุ์แตงกวามีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ พันธุ์ยักษ์ใหญ่มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยัก พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก คือ พันธุ์ก้านแดง ที่มีวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า ท่อม (ภาคใต้) กระท่อม อีถ่าง (ภาคกลาง) และกระท่อมพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ถือเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี การศึกษาพบว่าใบกระท่อมมีสารสำคัญ เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น สารไซโลไซบิน (psilocybin) ที่พบในเห็ดขี้ควาย LSD และยาบ้า ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงานทำให้สามารถทำงานได้นานและทนมากขึ้นและทนต่อความร้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงไม่ต้องแปลกใจที่สังคมเกษตรแต่ก่อนเก่า ก่อนที่กระท่อมจะกลายเป็นยาเสพติด ผู้ใช้แรงงานในท้องไร่ท้องนา หรือแม้แต่ทหารเดินทัพออกศึกในอดีตก็ได้กระท่อมเสริมพลัง กินใบกระท่อมช่วยให้ทำงานกลางแจ้งได้ทนนานขึ้นนั่นเอง ฤทธิ์ทางเภสัชของ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ที่ลดอาการเจ็บปวดได้ เมื่อให้กินทางปากในขนาด ๒๐๐ มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับการได้รับมอร์ฟีนในขนาด ๕ มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม กระท่อมจึงเป็นยาที่นำมาใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น เช่น ฝิ่นและมอร์ฟีน เป็นต้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนเมื่อใช้ในระยะเวลาที่จำกัด กระท่อมยังนำมาใช้แทนแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อเพิ่มพละกำลัง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้กระท่อมในลักษณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลก การใช้ของต่างประเทศพบว่า ใช้เป็นยารักษาอาการเรื้อรังต่างๆ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต บรรเทาเบาหวาน แก้ไอ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ เช่น ท้องเสีย บิดมีตัว ปวดท้องและกำจัดพยาธิในเด็ก และใช้เป็นการกระตุ้นร่างกายให้ทำงานหนักได้ และมีรายงานจากต่างประเทศกล่าวถึงการเริ่มศึกษาใบกระท่อมช่วยอาการซึมเศร้า โรควิตกกังวลและอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย และข่าวว่าเพื่อนบ้านเราทั้งเวียดนามและเมียนมา กำลังปลูกกระท่อมกันมากมาย ความรู้พื้นบ้านของเรามีการนำใบกระท่อมตำพอกแผลภายนอก เช่น ใบกระท่อมนำมาย่างร่วมกับใบหนาด (Blumea balsamifera (L.) DC.) ใบยอบ้าน (Morinda citrifolia L.[/size]) และใบเพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ตำรวมกัน นำมาพอกในตำแหน่งที่อยู่ขอม้าม แก้ม้ามโต (กรณีม้ามโต ทดสอบได้จากการเอามือจับบริเวณผิวหนังที่ตำแหน่งของม้าม จะรู้สึกว่าร้อน) ข้อควรระวัง การกินใบกระท่อมมากๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้เม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และถ้ากินกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นในลำไส้ จึงไม่ควรกินกากใบประท่อม และบางรายกินมากไปทำให้เกิดการอาเจียนและท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจมีอาการทางจิตได้ กระท่อมยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกมาก ในเวลานี้รอลุ้นว่ารัฐสภาจะพิจารณากฎหมายกระท่อมเพื่อการแพทย์ที่ภาคประชาสังคมได้รวบรวมรายชื่อเสนอไว้อย่างไร เพราะกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด กระท่อม คือ พืชยา จึงควรมีกฎหมายมากำกับและพัฒนาเป็นการเฉพาะนั่นเอง [/size] ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19965244581301__2_696x364_1_320x200_.jpg) ไชหิน สมุนไพรบำรุงดิน เป็นทั้งอาหารและยา มีพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่หมอพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “ตองหมอง” ณ เวลานี้คาดว่าน่าจะเป็นพืชที่มีเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ในทางราชการโดยหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ไชหิน” ซึ่งน่าจะมาจากการสำรวจพบครั้งแรกที่จังหวัดชัยภูมิหรือสุรินทร์ ซึ่งชาวบ้านที่นั่นเรียกว่า “ไซหิน” ชาติพันธุ์กูยในจังหวัดสุรินทร์เรียกไม้ชนิดนี้ว่า “การะ” ในขณะที่คนชาติพันธุ์เขมรในจังหวัดสุรินทร์เรียกสมุนไพรนี้ว่า “เรียะ” หรือ “เรียง” แต่เมื่อคนภาคกลางภาษาทางกลางก็ออกเสียงเป็น “ไชหิน” ตองหมอง หรือไชหิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Droogmansia godefroyana (Kuntze) Schindl. เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒.๕เมตร ลำต้นมีขนสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี โคนใบเว้า ปลายใบมนมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบหนา มีขนทั้งสองด้าน ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยก สีเขียว กลีบดอกรูปดอกถั่วสีแดงแกมม่วง ยอดเกสรเป็นพู ผลเป็นฝักแห้งมีรูปร่างขอดเป็นข้อๆ มี ๕-๖ ข้อ ปลายสุดมีติ่งแหลม มีขนสีขาวปกคลุมหนาแน่น เมล็ดรูปกลมแบน ตองหมองในภาคอีสานนั้น พบได้ในตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงบนภูเขา และพบรายงานของต่างประเทศว่าขึ้นได้ในประเทศเขมร ลาวและเวียดนาม แสดงว่าพืชชนิดนี้มีการกระจายอยู่ในพื้นที่ที่ไม่กว้างมากนัก ช่วงเวลาการออกดอก (สีสวยงามดี) และออกผลอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นพืชขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เหตุที่เรียกว่า ตองหมอง น่าจะมาจากวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ของพืชชนิดนี้ เนื่องจากขนาดใบประมาณเท่าฝ่ามือ ชาวบ้านนำมาใช้ห่อของ ซึ่งใบอะไรที่ใช้ห่อของมักเรียกรวมๆ ว่า “ตอง” และด้วยใบตองหมองมีขนสีขาวปกคลุมอย่างหนาแน่นจนทำให้ใบมีลักษณะเป็นสีขาวหม่นๆ ชาวอีสานจึงเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า ตองหมอง นั่นเอง ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของตองหมอง คือ ใช้เป็นอาหารตามธรรมชาติให้กับสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือได้มาแทะเล็มได้ดี ไม่ใช่แค่เป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงเท่านั้น ใบอ่อนและยอดอ่อน มีรสฝาด กินกับเมี่ยงหรือนำมากินเป็นผักสดกับน้ำพริกหรือแจ่วก็อร่อยดี นอกจากประโยชน์ด้านอาหารแล้ว คนอีสานหรือในภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรด้วยการนำมาต้มน้ำดื่มแก้ปวด และอาจารย์วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และคณะ ได้เคยทำการศึกษาในเขตภาคอีสานมาตั้งแต่ราวปี ๒๕๔๓ ร ายงานว่ามีการใช้เป็นยาพื้นบ้านอยู่หลายตำรับ เช่น ใช้รากต้มน้ำดื่มแก้อาเจียนที่มีเลือดออกทั้งทางปากและทวารหนัก ซึ่งต่อมาก็สอดคล้องกับการรวบรวมความรู้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบว่า รากตองหมองนำมาต้มรวมกับรากแกลบหนู (Dendrolobium lanceolatum (Dunn) Schindl.) ต้มดื่ม รักษาอาการถ่ายเป็นมูกเลือด นอกจากนี้ ในตำรายาพ่อปรีชา พิณทอง ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านท่านหนึ่งที่มีการรวบรวมความรู้ไว้ มีการใช้ตองหมองในหลายตำรับ เช่น ตํารับแก้ทราง ใช้ทั้งต้นและราก แช่อาบ ตำรับแก้สะดวงดัง (ริดสีดวงจมูก) ใช้ ฮาก (ราก) ตองหมอง ไฮมี้ (Ficus sp.) ไม้ฮังแฮ้ง (แครกฟ้า หรือ Heterophragma sulfureum Kurz) ข่าลิ้น (กัดลิ้น หรือ Walsura trichostemon Miq.) ฮากหญ้าหวายนา (Calamus sp.) ต้มกิน ตำรับแก้เลือดออกทางทวาร ให้เอาฮากเจียงปืน (ครอบจักรวาล หรือ Xantonnea parvifolia Craib) เครือเขามวก (Parameria laevigata (Juss.) Moldenke.) ฮากก้ามปู (ต่อไส้ หรือ Allophylus cobbe (L.) Raeusch.) ฮากสาเหล้าน้อย (ซำซาเตี้ย หรือ Bridelia harmandii Gagnep.) ฮากตองหมอง ฝนกินหรือแช่กิน ตำรับแก้เลือดทั้งปวง ให้เอาฮากเจียงปืน เครือเขามวก ฮากก้ามปู ฮากสาเหล้าน้อย ฮากตองหมอง ฝนกิน ตำรับแก้ป้าง (ม้าม) หย่อนให้เอา ฮากเจียงปืน ฮากชะมัดน้อย (Micromelum falcatum (Lour.) Tanaka) ฮากมูกน้อย (พุดทุ่ง หรือ Holarrhena curtisii King & Gamble) ฮากตองหมอง เอาทั้งหมดอย่างละเท่ากัน ต้มกิน ตำรับแก้ไข้ ให้เอาฮากดูกอึ่ง (แกลบหนู หรือ Dendrolobium lanceolatum (Dunn) Schindl.) ฮากตองหนัง (Ficus callosa Willd.) ฮากเอ็นอ้า (โคลงเคลง หรือ Melastoma saigonense (Kuntze) Merr.) ฮากตองหมอง เอาสมุนไพรทั้งหมดอย่างละเท่ากัน ต้มกิน ในต่างประเทศมีรายงานการใช้เช่นกัน เช่น นำรากและยอดอ่อนมาต้มบ้วนปาก แก้ปวดฟัน ใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่ม ทำให้หยุดอาเจียน แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการท้องเสียและแก้อาการเลือดไหลออกทางปากและทวารหนัก รากต้มดื่มทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รากเมื่อนำมาสกัดด้วยเอทานอลจะได้สารสำคัญที่มีคุณสมบัติเหมือนฮอร์โมนเพศหญิงและยังมีคุณสมบัติลดอัตราการตายของเซลล์เนื่องมาจากกระบวนการออกซิเดชั่น และการศึกษาที่น่าสนใจว่า “ตองหมอง” จะช่วยลดความหมองให้ผิวพรรณ คือมีคุณสมบัติในการลดการเหี่ยวย่นของผิวในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนด้วย ไชหิน หรือตองหมอง เป็นสมุนไพรที่เราไม่ค่อยรู้จัก แต่เป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ในหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ตองหมองยังเป็นพืชในตระกูลถั่ว ปลูกเป็นพืชบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ผลผลิตใบดอกผลก็นำมาเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอางได้ จึงไม่ควรมองข้ามพืชพันธุ์แห่งดินแดนที่ราบสูงอีสานบ้านเรา ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76579862087964__696x364_320x200_.jpg) ลำโพง ยาบ้าที่ใช้เป็นยาดีแก้หอบหืด และริดสีดวงจมูก ลําโพงทั่วไปมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Datura metel Link. แต่ลำโพงชนิดที่มีฤทธิ์แรงทางยา คือ ลำโพงกาสลัก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์สายพันธุ์ย่อยว่า Datura metel Linn.var.fastuosa (Bernh.) Safford เหตุที่มีชื่อไทยว่า ลำโพง เพราะลักษณะเด่นของดอกขนาดใหญ่ยาวถึงครึ่งฟุต ปากบานเหมือนปากลำโพงโทรโข่งนั่นเอง และส่วนดอกนี่แหละที่คนไทยนิยมใช้เป็นยาดี สำหรับชาวฝรั่งเขามองเอกลักษณ์ของสมุนไพรชนิดนี้ที่ผลของมันที่เหมือนลูกตุ้มหนาม จึงเรียกชื่ออย่างเก๋ไก๋ว่า Green Thorn Apple หรือ “แอปเปิลเขียวหนาม” แต่คนไทยกลับเรียกว่า “มะเขือบ้า” เพราะเป็นพืชพันธุ์ในวงศ์เดียวกับมะเขือ แต่เติมสร้อยคำว่า “บ้า” ลงไปเพื่อเตือนให้ระวังฤทธิ์ร้ายของมันนั่นเอง สําหรับชาวอีสานบ้านเฮาไม่รู้จักชื่อลำโพง แต่ถ้าเอ่ยชื่อมะเขือบ้า ก็แม่นแล้ว แต่ก่อนตามหมู่บ้านมักพบเห็นคนบ้าลำโพง อันเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมชนบท ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมะเขือบ้านั่นแหละ ชาวฮินดูเองก็นิยมเสพลำโพงในพิธีกรรม จึงมีชื่อลำโพงว่า ฮินดู ดาตูรา (Hindu datura) มหาตมะคานธี มหาบุรุษของอินเดียเคยกล่าวไว้ในหนังสือ อัตชีวประวัติ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” ว่า ท่านเคยทดลองสูบลำโพงด้วย สำหรับเมืองไทย ลำโพงกลายเป็นยาบ้าสมุนไพรใกล้มือชาวบ้าน เพราะเป็นพืชยืนต้นขนาดเล็กสูงแค่ ๑-๒ เมตร ที่แพร่พันธุ์ง่าย เหมือนวัชพืช หาได้ทั่วไป กล่าวเฉพาะ “ลำโพงกาสลัก” ที่หมอไทยใช้เป็นยานั้น มีอัตลักษณ์สำคัญคือ มีลำต้น กิ่งก้าน และดอกสีม่วงเข้ม จนมีฉายาที่รู้กันในหมู่นักเสพลำโพงว่า “มะเขือบ้าดอกดำ” ปกติลำโพงทั่วไปมักมีกลีบดอกขาวชั้นเดียว แต่ชนิดดอกม่วงจะมีกลีบดอกซ้อนกัน ๒-๓ ชั้นขึ้นไป ยิ่งมีกลีบซ้อนมากชั้นเท่าใดก็ยิ่งมีฤทธิ์ยาแรงมากขึ้นเท่านั้น ในทางเภสัชวิทยาพบว่า ใบ ยอด และดอกลำโพงกาสลัก มีสารโทรเพนอัลคาลอยด์ (tropane alkaloids) ที่ออกฤทธิ์ได้แก่ ไฮออสซิน (hyoscine) และไฮออสไซอะมีน (hyoscyamine) ซึ่งมีผลข้างเคียงคล้ายยาอะโทรปีน (atropine) ที่ใช้กระตุ้นหัวใจในคนถูกพิษยาฆ่าแมลงและในผู้ป่วยระหว่างผ่าตัด นั่นคือ ปากคอแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย รูม่านตาขยายไม่สู้แสง ประสาทหลอน เพ้อคล้ายคนวิกลจริต ถ้าเสพมากอาจถึงขั้นโคม่า หมดสติได้ ชาวฝรั่งหลายคนที่นิยมเสพชาชงเมล็ดลำโพง พร้อมสูบดอกลำโพงเกินขนาดก็เคยมีประวัติถูกหามเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการดังกล่าว แต่ก็ไม่เคยมีประวัติผู้เสียชีวิตเพราะเสพลำโพงเลย แต่ถ้าใช้ส่วนต่างๆ ของลำโพงให้ถูกวิธีก็จะเป็นยาดีรักษาโรคได้หลายอย่างที่สำคัญ คือ แก้โรคหอบหืด ริดสีดวงจมูก โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัส และโรคทางลมทั้งหลาย เนื่องจากสารสำคัญในลำโพงมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของร่างกาย จึงเป็นยาขยายหลอดลม แก้หอบหืด คอตีบ ริดสีดวงจมูก และไซนัสได้ผลดี รูปแบบยาก็ง่ายมาก เพียงเอาดอกลำโพงหั่นตากแห้งมวนใบจาก หรือกระดาษสูบอัดควันยาเข้าจมูกพอประมาณอย่าให้ถึงกับมึนเมา ใช้สูบขณะที่จับหอบหืดเมื่อบรรเทาแล้วจึงหยุดสูบทันที กรณีเป็นไซนัสหรือริดสีดวงจมูก สูบวันละ ๒-๓ ครั้งหลังอาหาร จนกว่าจะหายหรือไม่เกิน ๕ วันให้เว้นยาสัก ๓ วัน จึงสูบต่ออีก แต่ถ้าจะทำยาสูบตามต้นตำรับยาในพระคัมภีร์ชวดารแก้โรคลมอันทำให้เกิดริดสีดวงในคอนั้น ท่านมิได้ใช้การมวนยาเส้นใบหรือดอกลำโพงโดยตรง แต่ท่านให้เอาใบลำโพงสด ดีปลี พริกไทย หัวหอมแดง ลูกมะเขือขื่น อย่างละเท่าๆ กัน ตำเอาน้ำแล้วชุบกระดาษข่อยผึ่งแดดให้แห้ง ทำอย่างนี้ ๓ หน แล้วมวนสูบ รับรองเห็นผลแน่นอนกว่าวิธีแรก และไม่เกิดผลเสียข้างเคียง แต่ถ้าวิธีนี้ยุ่งยากก็ใช้วิธีแรก ในพระคัมภีร์ชวดารยังกล่าวถึงตำรับยาพอกผสมใบลำโพงใช้แก้โรคลมร้ายลมพิษทั้งปวง ท่านว่า ลมอันใดนิ่งแน่ไปยาอันใดแก้ไม่ได้ ท่านให้เอา ใบลำโพง ผักเสี้ยนผี ผักเสี้ยนบ้าน และใบละหุ่ง อย่างละเท่าๆ กัน ตำละเอียด พอกตัวผู้ไข้ตั้งแต่สะดือไปจนถึงหน้าอก ถ้าให้ได้ผลชะงัดต้องเอาพริกไทย รากเจตมูลเพลิงแดง ข่า อย่างละเท่าๆ กัน และพริกเทศ ปริมาณ ๓ เท่า ตำพอกฝ่าเท้า และเอาหอมแดง หัวไพลสด และมะกรูด ๓ ผล ตำพอกกระหม่อม ถ้าจะช่วยให้ผู้ไข้ฟื้นเร็วขึ้น ก็ต้องเผาเหล็กนาบให้ร้อนแดงนำไปอังให้ชิดอย่าให้ถึงยา แล้วเอาปากกัดเข้าที่ศีรษะแม่เท้า (หัวนิ้วโป้งเท้า ฮา) ให้หนักๆ ถ้าร้องโอยแล้วมิเป็นไร หายแล เนื่องจากลำโพงมีสารออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบหรือฤทธิ์แก้ทางลมเหมือนกัญชา จึงช่วยระงับปวดเรื้อรัง แก้อาการปวดเกร็งในกระเพาะ ลำไส้ และมดลูก หรืออาการปวดเมื่อยทั่วร่างกายได้ดี คนที่ทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินทุกวันอย่างชาวไร่ ชาวนา แต่ก่อนจึงนิยมเสพลำโพงเป็นอาจิณเพื่อคลายความเมื่อยล้า นอนหลับสบาย แพทย์แผนโบราณท่านมีตำรับยาผสมลำโพงช่วยกล่อมให้ทารกหายโยเยนอนหลับไม่สะดุ้ง แม้ลำโพงจะมีโทษมากแต่ถ้ารู้จักใช้ก็ปลอดภัยกว่ายาแก้ปวดหลายชนิดที่ทำให้เป็นแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหาร มีสรรพคุณของเมล็ดลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยบำรุงประสาทได้ดีให้มีความความจำแม่นเพียงรับประทานแต่น้อยวันละไม่เกิน ๒-๓ เม็ด แต่มีผู้นำไปใช้ไม่ถูกวิธี คือไม่ประสะฆ่าพิษก่อนใช้จึงทำเกิดอาการฟั่นเฟือน วิธีฆ่าพิษเมล็ดลำโพงง่ายๆ คือ นำไปคั่วไฟอ่อนๆ จนน้ำมันออกหมด แล้วจึงรับประทานก่อนนอนเพียง ๒ เม็ด ช่วยให้นอนหลับสนิท ความจำดี ลำโพงหาง่าย ปลูกง่าย ใช้ได้โดยไม่ต้องขอ อย. หรือกลัว ป.ป.ส. หรือ ตร.มาจับ เดี๋ยวนี้ทางการนิยมปลูกต้นลำโพงดอกสีม่วงอ่อนเป็นไม้ประดับข้างทางด้วยซ้ำ ทั้งที่สารเมาไฮออสซินของลำโพง อันตรายมากกว่าสาร THC ของกัญชาด้วยซ้ำ ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ชี้ช่องให้แบนลำโพง แต่ต้องการให้ปลดปล่อยพืชกระท่อม กัญชง กัญชาให้เป็นยาที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้เหมือนสมุนไพรฤทธิ์เบื่อเมาทั้งหลาย ที่มา - สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 มกราคม 2563 16:12:15 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/85522419338424__1_1_320x200_.jpg)
ฟ้าทะลายโจร : ยาปฏิชีวนะไทย ปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา คงไม่มีใครไม่ได้ยินแอดโฆษณาของ สสส.ที่ว่า ทุกๆ ๑๕ นาทีจะมีคนไทยตายจากเชื้อดื้อยาหนึ่งคน เท่ากับว่าปีหนึ่งมีคนไทยตายจากเชื้อดื้อยาถึงราว ๓๕,๐๐๐ คน คิดเป็นมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจราวปีละ ๔๖,๐๐๐ ล้านบาท เหตุที่ไทยหันมาตื่นตัวในเรื่องนี้ก็เพราะองค์การอนามัยโลกเพิ่งแจ้งเตือนว่า พลเมืองโลกราว ๑๐ล้านคนต่อปีต้องสังเวยชีวิตเพราะเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ที่น่าวิตกก็คือ คนตายส่วนใหญ่ถึง ๙ ล้านคนอยู่ในทวีปยากจนของเอเชียและแอฟริกา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลถึง ๓,๕๐๐ ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ประเทศไทยจึงเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่มีพฤติกรรมการใช้ยาอย่างสุ่มเสี่ยง ที่พบมากก็คือ แค่เป็นหวัดก็จัดยาชุดซึ่งมีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะมารับประทาน นอกจากจะไม่มีผลในการรักษาโรคหวัดซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะด้วย จนกระทั่งเมื่อราว ๒ ปีที่แล้วมีอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยท่านหนึ่งรณรงค์ให้ใช้สมุนไพรแทนยาปฏิชีวนะแผนปัจจุบัน โดยชูคำขวัญว่า “ยาตัวแรกที่ต้องนึกถึงเมื่อเป็นหวัดคือฟ้าทะลายโจร” และแนะให้หมอสั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจรเป็นยาตัวแรก (first line drug) สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคหวัด ซึ่งนับเป็นการรณรงค์เชิงบวกที่มียาปฏิชีวนะไทยให้ทดแทน ไม่ใช่แค่รณรงค์ให้ระวังการใช้ยาปฏิชีวนะแผนปัจจุบันเท่านั้น อันที่จริง ฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ยาสมุนไพรไทยดั้งเดิม แต่เป็นสมุนไพรจีนที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ชื่อ “ชวนซินเหลียน” ซึ่งหมายถึง “ดอกบัวในหัวใจ” ก็บ่งบอกถึงความสำคัญของสมุนไพรตัวนี้ นับว่าสอดคล้องกับหมอไทยที่ให้ชื่อสมุนไพรตัวนี้ว่า “ฟ้าทะลายโจร” หมายถึงฟ้าประทานยาดีให้มาปราบโรคต่างๆ ที่เป็นเหมือนโจรร้ายนั่นเอง ซินแสใช้รสขม ฤทธิ์เย็นของ “ชวนซินเหลียน” เพื่อดับร้อน ลดบวม ลดพิษไม่ให้เข้าเส้นลมปราณของปอดและหัวใจ เป็นสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิดที่หมอจีนให้ใช้เป็นยาเดี่ยวได้ เมื่อ ๓๐ ปีมาแล้ว โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย ได้รวบรวมข้อมูลสรรพคุณและการใช้ฟ้าทะลายโจรทั้งในและต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้มีการวิจัยฟ้าทะลายโจรในยุคแรกๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรตัวนี้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางคลินิกของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อของกระทรวงสาธารณสุข โดยศึกษาวิจัยเปรียบเทียบการใช้ยาฟ้าทะลายโจรแคปซูลกับยาเตตร้าซัยคลินเพื่อรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิดอันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผลปรากฏว่าคนไข้ที่รับยาฟ้าทะลายโจรสามารถลดจำนวนอุจจาระเหลวและลดปริมาณน้ำเกลือที่ใช้ แม้จะมีช่วงระยะเวลารักษาคนไข้จนหายเท่ากับการใช้ยาเตตร้าซัยคลินก็ตาม ต่อมามีงานวิจัยมากมายที่รับรองสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรในการรักษาอาการหวัดตัวร้อน เจ็บคอและโรคท้องเสีย ท้องร่วง มีผลให้ อย.ยินยอมให้ระบุสรรพคุณรักษาโรคทางเดินหายใจและโรคทางเดินอาหารดังกล่าวของฟ้าทะลายโจรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากสามารถทดแทนยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการของโรคหวัดจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังมีรายงานการวิจัยใหม่ๆ เช่น ของคณะนักวิจัยทางแพทย์และเภสัชวิทยา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สามารถทำยาครีมจากสารสกัดแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) และอนุพันธุ์ของสารแอนโดรกราโฟไลน์เพื่อใช้ในการทำลายเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) ได้เทียบเท่าอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) และยังสามารถทำลายโปรตีนที่เป็นโครงสร้างสำคัญของเชื้อไวรัส (Human Papilloma Virus) ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิผลภายใน ๔๘ ชั่วโมงด้วย ที่สำคัญคือไม่มีเชื้อที่ดื้อยาฟ้าทะลายโจร ตรงกันข้ามแม้แต่นักวิชาการในกรมการแพทย์แผนไทยฯ ก็ยังยอมรับว่ายาฟ้าทะลายโจรช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ฟ้าทะลายโจรเป็นยากระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันก่อนที่อาการโรคจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสจะกำเริบ ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว เริ่มมีน้ำมูกไหลให้เริ่มรับประทานยาเพื่อตัดไข้ ในที่นี้ขอแนะนำขนาดการใช้ของแพทย์แผนไทยที่ใช้ได้ผลในรูปแบบยาผงละลายน้ำสุก คือรับประทานครั้งละ ครึ่งช้อนชา (๒.๕ กรัม) วันละ ๔ ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็นและก่อนนอน หากมีอาหารหนักขึ้นถึงขั้นเจ็บคอ ให้เพิ่มขนาดการใช้เป็นครั้งละ ๑ ช้อนชา วันละ ๔ ครั้งเช่นกัน ข้อควรระวังคือ แม้ฟ้าทะลายโจรเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย แต่ในรายที่แพ้ยาเกิดอาการมวนท้อง วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลายเนื่องจากความดันตกให้หยุดยาทันที และห้ามใช้ติดต่อกันเกิน ๕ วันเพราะฤทธิ์เย็นของยาอาจทำให้เกิดอาการเหน็บชา แขนขาอ่อนแรงได้ ห้ามใช้ในคนไข้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติกและโรคไตอักเสบเนื่องจากเชื้อแกรมบวกสเตรปโตค็อคคัด (Streptococcus group A) ดังนั้น ทุกครั้งที่เป็นหวัดต้องท่องคำเตือนตนเองให้ขึ้นใจว่า “อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมากินแก้หวัด เพราะอาจสร้างเชื้อดื้อยา รักษาไม่หาย เสี่ยงตายมากกว่า” พร้อมกันนั้นก็บอกกับตนเองว่า “เป็นหวัดคราใดให้นึกถึงฟ้าทะลายโจรเป็นยาตัวแรก” นั่นแหละท่านจึงจะสามารถหยุดสร้างเชื้อดื้อยาด้วยตัวของท่านเอง ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26293816044926__1_1_320x200_.jpg) ถั่วพู อาหารดี ยาดี ถั่วพู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psophocarpus tetragonolobus (Linn. ) DC. เป็นไม้เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นๆ ใบเป็นใบย่อยมีสามใบ ดอกเล็กคล้ายดอกแค สีม่วง ฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีปีกออกข้าง เป็นสี่ปีก ยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว เป็นพืชเขตร้อนและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกประเภท ถั่วพูเป็นอาหารดีแล้ว ใครจะคิดว่าถั่วพูเป็นยาดีด้วย มีการบันทึกในตำรายามาอย่างยาวนาน ตามภูมิปัญญาไทยใช้ส่วนของรากแก้ร้อนใน หมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น ใช้รากถั่วพู ต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการร้อนในตับ ใช้รากฝนกับสุรา ดื่มแก้อาการบวมในคอ หรือรากฝนกับดีปลี และเจตมูลเพลิงแดง แก้อาการอ่อนเพลีย นำส่วนหัวมาเป็นยาบำรุง โดยการใช้หัวตากแห้ง บดเป็นผงกิน หรือนำผงยาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กินวันละ ๒ เม็ด หรือนำหัวถั่วพูหั่นตากแห้ง แล้วเอามาคั่วไฟให้เหลืองมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำร้อนดื่มเป็นแก้อ่อนเพลียหรือเป็นยาชูกำลังให้กับคนไข้ได้ดี ส่วนของฝักถั่วพูยังใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อน แก้หอบ เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย ที่น่าสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำราใบลานของชาวล้านนา หรือในภาคเหนือของไทยนั้น มีการใช้หัวและรากถั่วพูเข้ายาในหลายตำรับ เช่น ถั่วพู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psophocarpus tetragonolobus (Linn. ) DC. เป็นไม้เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นๆ ใบเป็นใบย่อยมีสามใบ ดอกเล็กคล้ายดอกแค สีม่วง ฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีปีกออกข้าง เป็นสี่ปีก ยาวประมาณ ๓-๔ นิ้ว เป็นพืชเขตร้อนและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกประเภท ถั่วพูเป็นอาหารดีแล้ว ใครจะคิดว่าถั่วพูเป็นยาดีด้วย มีการบันทึกในตำรายามาอย่างยาวนาน ตามภูมิปัญญาไทยใช้ส่วนของรากแก้ร้อนใน หมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น ใช้รากถั่วพู ต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการร้อนในตับ ใช้รากฝนกับสุรา ดื่มแก้อาการบวมในคอ หรือรากฝนกับดีปลี และเจตมูลเพลิงแดง แก้อาการอ่อนเพลีย นำส่วนหัวมาเป็นยาบำรุง โดยการใช้หัวตากแห้ง บดเป็นผงกิน หรือนำผงยาผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กินวันละ ๒ เม็ด หรือนำหัวถั่วพูหั่นตากแห้ง แล้วเอามาคั่วไฟให้เหลืองมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำร้อนดื่มเป็นแก้อ่อนเพลียหรือเป็นยาชูกำลังให้กับคนไข้ได้ดี ส่วนของฝักถั่วพูยังใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อน แก้หอบ เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย ที่น่าสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นในตำราใบลานของชาวล้านนา หรือในภาคเหนือของไทยนั้น มีการใช้หัวและรากถั่วพูเข้ายาในหลายตำรับ เช่น ยาซะมะเร็ง (หมายถึงยาชำระล้าง) ที่มีอาการเจ็บร้อนเหมือนไฟไหม้ ให้ใช้รากผักกันเถิง รากปอบ้าน รากผักหวานบ้าน หัวถั่วพู ฝนใส่น้ำข้าวเจ้ากิน ยาปิเสียบ ( ปิ เป็นอาการร้อนจากลม เช่น ปิแดด) เมื่อมีอาการปิเสียบ จะมีอาการจุกแน่น เมื่อรักษาจนรู้สึกตัวดีแล้ว ให้เอาหัวถั่วพู รากผักหวานบ้าน ฝนทำยากิน ยารำมะนาดขาง เจ็บในคอ ใช้รากงิ้วหนุ่ม รากผักเข้า รากส้มเห็ด หัวถั่วพู รากแตงเถื่อน และอื่นๆ ฝนกับน้ำข้าวเจ้ากินแก้เจ็บคอ นอกจากนี้ ถั่วพูยังเป็นสมุนไพรในตำรับยารักษาอาการร้อนภายในร่างกาย ซึ่งทางล้านนาเรียกโรคขางแกมสานร้อนขึ้นถึงกระหม่อม และยามะเร็งคุตเสียบขึ้น ยามะเร็งคุตซะสาน (ปวดหัวข้างเดียวที่มีก้อนขึ้นตามตัวด้วย) ยามะเร็งสรรพว่า ยามะเร็งทั้งปวง (คำว่า “มะเร็ง” ตามภูมิปัญญาของล้านนา อาจเกิดจากอาการที่ความร้อนภายในกระทำให้มีการแสดงออกทางร่างกาย เช่น ทำให้ผิวหนังมีแผลเปื่อย ไม่ได้หมายถึงมะเร็งตามการแพทย์แผนปัจจุบัน) ทางล้านนายังมีการใช้ถั่วพูในตำรับยาขางพู้ปากสุก (ขางเป็นโรคเกิดจากไฟธาตุสูง) ยาริดสีดวงเจ็บในเขี้ยว (ปวดฟัน) และยาฝีไข้เจ็บออกหู สำหรับสูตรนี้จะใช้ส่วนรากถั่วพู และยังพบตำรับยาสานแกมขางอีกด้วย หากพิจารณาจากตำรับยาก็พบว่า หัวและรากถั่วพู จัดเป็นยาเย็นเพื่อลดอาการร้อนและไข้ฝี เพื่อนบ้านไทยในประเทศเวียดนาม ก็มีการกินและใช้ถั่วพูกันกว้างขวาง บ้านใครมีที่ก็มักปลูกเป็นผักสวนครัวปนกับผักอื่นๆ ซึ่งกินฝักอ่อนและปรุงอาหารกินคล้ายกัน แต่ยังกินใบอ่อนและดอกที่ยังไม่บานด้วย ที่น่าสนใจเขากินเมล็ด เป็นอาหารบำรุงให้เด็กอ่อนอายุมากกว่า ๕ เดือน โดยเอาเมล็ดมาทำเป็นผงชงน้ำ ซึ่งสามารถเป็นการทดแทนน้ำนมในหญิงที่ขาดอาหาร หรือให้เด็กกิน เป็นการเสริมโปรตีนทดแทนในร่างกายด้วย ด้านยาสมุนไพรชาวเวียดนามใช้ ถั่วพูแก้ปวดตา ปวดหู และปวดฝี ในประเทศจีนแถบมณฑลยูนนานก็นิยมใช้รากถั่วพูในการลดความร้อนภายในร่างกายด้วย ถั่วพู ปลูกง่ายและมีคุณค่าอาหารสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร ในภูมิปัญญาไทยและอาเซียนก็นิยมนำมาใช้ดูแลสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง ถั่วพูนับเป็นพืชอาหารและยา และเป็นตัวอย่างของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยาที่มีคุณค่า ถั่วพูโตเร็ว ปลูกได้ทุกบ้าน ปลูกไม่นาน เพียงต้นเดียวก็ให้ผลผลิตฝักถั่วพูมากมาย ให้เมล็ดถึง ๒๐-๓” เมล็ดในหนึ่งฝัก นำมากินหรือแจกเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายต่อไปได้อีกมาก ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 มีนาคม 2563 15:51:50 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96166942475570__3_696x364_1_320x200_.jpg)
ข้าวเม่านก ยาสมุนไพรไม่ใช่อาหาร ข้าวเม่านก คือชื่อพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้ตามภูมิปัญญากันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้จัก ข้าวเม่านก เป็นพืชในวงศ์ถั่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Tadehagi triquetrum (L.) H.Ohashi ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ข้าวเม่านกคอกิ่ว (ภาคกลาง) ขี้กะตืก ขี้กะตืกแป (เลย ภาคอีสาน) มะแฮะนก (เชียงใหม่) หญ้าคอตุง (ลำปาง) นอจูบี้ กวางหินแจ๊ะ (ปกาเกอะญอ) หนอนหน่าย (ลาว) ข้าวเม่านก เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูงประมาณ ๑๕-๕๐ เซนติเมตร กิ่งก้านเป็นสันเหลี่ยม แตกสาขามาก ยอดและกิ่งอ่อนสีแดงมีลักษณะเป็นมันเหลือบ ใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่หรือรูปใบหอก แผ่นใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขน ดอกเป็นช่อกระจะ รูปทรงกระบอก กลีบดอกเป็นสีม่วง ลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว ผลเป็นฝักแบนยาว คอดเป็นข้อ ๖-๘ ข้อ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง ผลแห้งสีน้ำตาล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในภาคอีสานเรียกชื่อตามลักษณะผลว่า “ขี้กะตืกแป” เพราะผลแบนๆ คล้ายขี้กะตืกหรือพยาธิตัวแบนนั่นเอง ผลนี้มีขนเมื่อคนเดินผ่านจะติดตามเสื้อผ้าได้ ในเมืองไทยข้าวเม่านกเป็นพืชขึ้นได้ทั่วไปทั้งในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ เมตร ขึ้นตามไหล่เขา ทุ่งหญ้า ชอบขึ้นในที่รกร้างหรือริมทางด้วย และพบได้ในศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลียตอนเหนือ เมื่อข้าวเม่านกกระจายอยู่ทั่วไป จึงมีภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้เป็นยาสมุนไพรมากมาย ถ้าใช้ส่วนราก ในตำรับยาชื่อ “ยาแฮงสามม้า” (สมุนไพรชื่อม้าสามชนิด) ใช้รากของม้าสามต๋อนหรือที่เคยรู้จักกันในนาม “สาวน้อยร้อยผัว” (Asparagus racemosusWilld.) ม้าแม่ก่ำ (Polygala chinensis L.) และข้าวเม่านก ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกว่า ตานคอม้า (Tadehagi triquetrum (L. ) H.Ohashi) นำราก ๓ อย่างมาต้มกินหรือดองกับเหล้า กินเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย และบำรุงเลือดลม รากข้าวเม่านก ใช้ผสมกับ รากอัคคีทวาร (Rotheca serrata (L.) Steane&Mabb.) ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย ถ้าใช้ทั้งต้นจะช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและวัณโรค โดยนำมาต้มเคี่ยว ใช้ดื่มวันละ ๑ แก้ว เป็นประจำทุกวัน ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนใช้รากต้มน้ำ กินเป็นยาแก้อาการเจ็บท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ชาวขมุใช้รากข้าวเม่านกและสมุนไพร ๒-๓ ชนิด ต้มกับน้ำ กินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ชาวลั้วะและชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนใช้รากต้มกับน้ำ กินเป็นยาแก้ปวดหลังปวดเอว ตำรายาพื้นบ้านบางแห่งใช้รากต้มกับน้ำ กินหรืออาบแก้อาการปวดบวม ตำรับยาที่ใช้ ใบ เช่น นำใบต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาช่วยบำรุงประสาท กิ่งและใบใช้เป็นยาเย็นแก้ไข้ แก้ร้อนในได้ วิธีทำ เช่น นำกิ่งมาผสมกับผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L.) Merr.) ก้านตรง (Colubrina asiatica (L.) Brongn.) เอาสมุนไพรทั้งหมดต้มน้ำกินเป็นยาเย็น แก้ร้อนใน หรือใช้ใบชงกับน้ำร้อนกินก็ได้ ใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) นำมาคลุกกับน้ำยำกินเป็นยาขับปัสสาวะและช่วยลดความร้อนในร่างกาย ใบต้มกับน้ำกินยังเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคตานซาง แก้อาการผอมเหลือง ชาวไทลื้อจะใช้ใบและลำต้นมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาฆ่าพยาธิ กินทุกวันอย่างน้อย ๑ เดือน ใบยังใช้เป็นยาภายนอก เช่น ใช้ใบแห้งของข้าวเม่านกกับใบแห้งกระดังงา แช่น้ำมันงา ใช้ทาผมหรือหมักผม ๓๐ นาที ค่อยสระออก ใช้เป็นยาแก้รังแคหรือการติดเชื้อบนหนังศีรษะ ใบสดยังใช้ตำพอกหรือนำมาบดใส่แผลและแผลมีหนอนในวัวควาย ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ใบสดปิดปากไหหมักปลา เพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่ได้ด้วย การใช้ข้าวเม่านกทั้งต้น เช่น หมอยาพื้นบ้านอีสานใช้ต้นนำมาต้มน้ำให้เด็กอาบ ซึ่งก่อนอาบให้กิน ๓ อึก เป็นยาแก้ซาง แก้เด็กผอมจ่อย (ผอมแห้ง) ไม่แข็งแรง พุงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเด็กน้อยเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ น้ำมูกไหล ก็ใช้ทั้งต้นนำมาแช่กับน้ำกิน ถ้าใครมีอาการเหม็นในหูและโพรงจมูก ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกิน โดยให้กินไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะหาย ใครที่มีอาการปอดไม่ค่อยดี ก็จะใช้ทั้งต้นต้มกิน กินครั้งละ ๑ ถ้วย เช้าและเย็น หรือนำใบแห้งบดให้เป็นผงกินครั้งละ ๑ กรัมผสมกับน้ำอุ่น กินเช้าและเย็นจนกว่าจะหาย การใช้ทั้งต้นและราก มีความน่าสนใจโดยดูจากภูมิปัญญาของชนเผ่า ใช้ต้มกินหรือเคี้ยวกินเป็นยาแก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ เป็นยาขับปัสสาวะ โรคกระเพาะอาหาร เป็นยาแก้โรคตับ ตับอักเสบ และดีซ่าน เป็นยาบำรุงไต และเฉพาะชาวเขาเผ่าอีก้อ กะเหรี่ยง แม้ว และมูเซอ ต้มกับน้ำดื่มหรือเคี้ยวกินเป็นยาบำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย รวมถึงอาการปวดหลัง ชาวชาติพันธุ์เชื่อว่าการไม่มีแรงหรือร่างกายอ่อนเพลียมักจะเกิดจากเลือดลมเดินไม่สะดวก ยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้เลือดสะอาด แข็งแรง เลือดลมเดินได้สะดวก จึงช่วยให้เรี่ยวแรงฟื้นคืนกลับมา ในต่างประเทศมีรายงานว่าใช้ใบชงเป็นชามีแทนนินสูง ๗-๘.๕% โดยทั่วไปมีการนำใบสดมาต้มดื่มรักษาริดสีดวงทวาร ใบสดนำมาหมักกับน้ำดื่มแก้ปวดท้อง รากใช้เป็นยาแก้ไข้ ทั้งใบและผลใช้ขับปัสสาวะและละลายนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ รากนำมาต้มหรือแช่น้ำดื่มแก้ไอเรื้อรัง อายุรเวทในศรีลังกาใช้ทั้งต้นเป็นยาขับพยาธิ แก้อาการชักกระตุกในเด็ก แก้ฝีหนอง แก้ปัญหาที่เกิดความผิดปกติในกระเพาะและทางเดินปัสสาวะ ใช้ภายนอกนำมาตำพอกแก้ปวดเอวด้วย ข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า ข้าวเม่านก มีสารพวก ondensed tannins จึงมีคุณสมบัติในการช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อโรค ยังมีคุณสมบัติคล้ายสารกันบูดด้วย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ มีรายงานพบว่าข้าวเม่านก มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ hosphodiesterase เช่นเดียวกับต้นเครือเขาแกบ (entilago denticulate Willd.) การพบฤทธิ์ดังกล่าวนับเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนายารักษาโรคหัวใจ โรคหอบหืด รักษาอาการซึมเศร้า ปรับระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ไปจนถึงช่วยบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คงนึกไม่ถึงว่าพืชล้มลุกชื่อแปลกจนคิดว่าเป็นวัชพืช ข้าวเม่านก เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าศึกษาให้กว้างขวางและลึกซึ้งขึ้นจนพัฒนาให้เป็นยาที่ดีให้กับประชาชนคนทั่วไปได้ ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46019188852773__1_1_320x200_.jpg) “สะตือ” ไม้โบราณ ประโยชน์ร่วมสมัย แก้อีสุกอีใส ท้องร่วง และอีกสารพัด! ต้นสะตือพบได้มากตามวัดที่มีการสร้างมาอย่างยาวนาน เช่น วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๐ และแน่นอนว่า ที่เรียกว่า วัดสะตือ เพราะมีต้นสะตือใหญ่เติบโตอยู่ในวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้นสะตือมีมาก่อนสร้างวัด ในวัดนี้มีหลวงพ่อโต ปางพระพุทธไสยาสน์ จัดเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดของไทยด้วย และเป็นหนึ่งของการไหว้พระเก้าวัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกเช่นกัน ใครเคยไปท่องเที่ยวไหว้พระ ไม่แน่ใจเคยสังเกตเห็นต้นสะตือหรือไม่? ต้นสะตือยังพบที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล หรือชื่อเดิมคือวัดลุ่มมหาชัยชุมภูพล ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดระยอง วัดนี้ไม่มีประวัติความเป็นมาว่าผู้ใดสร้างและสร้างเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างมา ๓๐๐ กว่าปีแล้ว เพราะมีจารึกในประวัติหน้าหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พาทหารและพลเรือนอพยพมาผูกช้าง ม้า พักแรมที่โคนต้นสะตือใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณวัดลุ่มกับวัดเนินติดต่อกัน ก่อนจะบุกไปเมืองจันทบุรีเพื่อรวบรวมไพร่พลและจัดตั้งทัพ เพื่อยกทัพกลับมากอบกู้เอกราช ต้นสะตือที่วัดแห่งนี้น่าจะมีอายุมากกว่า ๓๐๐ ปี และยังคงปรากฏอยู่ มีขนาดใหญ่โต แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่นเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนี้ ที่วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ก็มีต้นสะตือใหญ่อายุไม่น้อยกว่า ๓๒๐ ปี แวะไปชมกันได้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก มารู้จักต้นสะตือกันสักนิด ในภาษาอีสานเรียกว่า “กกแห่” ซึ่งมีการนำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่หลายแห่งในภาคอีสาน เช่น วัดท่ากกแห่ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีข่าวใหญ่เรื่องตลิ่งพัง เมื่อครั้งน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ต้นสะตือยังมีชื่อท้องถิ่น เช่น ดู่ขาว เดือยไก่ (สุโขทัย) ประดู่ขาว (สุรินทร์) สะตือ (ภาคกลาง) แห้ (สกลนคร) กกแห่ (ภาคอีสาน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crudia chrysantha (Pierre) K.Schum. สะตือเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ เมตร ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง ถึงค่อนข้างกลม เปลือกสีน้ำตาลเทาเรียบหรือแตกเป็นแผ่นหนา เปลือกชั้นในสีน้ำตาลถึงแดงเข้ม กิ่งอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีเทา และเกลี้ยงในเวลาต่อมา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนสลับ มีใบประกอบย่อย ๔-๖ ใบ เรียงสลับ ปลายเป็นติ่ง โคนสอบ ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบและปลายกิ่ง ผลค่อนข้างแบน รูปรี มีเส้นนูนตามขวางด้านข้างฝักห่างๆ และมีขนสีน้ำตาลคลุมหนาแน่น ปกติมี ๑ เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ในช่วงเวลานี้พอดี และจะออกผลช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ต้นสะตือเป็นไม้ที่พบได้ในภูมิภาคอินโดจีน สำหรับในประเทศไทยพบกระจายห่างๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่ปราจีนบุรี ไม่ค่อยพบเห็นในภาคเหนือ เพราะขึ้นตามที่ราบ ท้องนา และริมลำธารในป่าดิบแล้ง ความสูงระดับต่ำๆ สะตือเป็นไม้ที่ช่วยรักษาการพังของตลิ่งได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันคนไม่เข้าใจไม่มีความรู้จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นสะตือ ไม่เห็นความสำคัญนี้ จึงตัดทำลายทิ้งกันไปจนเกือบหมด ปัจจุบันสะตือได้รับการขึ้นทะเบียนที่ไม่น่าภูมิใจนัก คือ เป็นพืชหายากของประเทศไทยไปแล้ว ประโยชน์ในทางสมุนไพร สะตือจัดเป็นสมุนไพรที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิม เช่น ใบใช้ต้มอาบแก้อีสุกอีใส โรคหัด เปลือกต้นใช้ปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง ใช้ได้ทั้งต้น (หรือเรียกใช้ทั้งห้า) หรือนำเอาทุกส่วนของต้นสะตือ ปรุงต้มเป็นยาแล้วเอาน้ำกินและอาบ กินครั้งละ ๑ ถ้วยชา แก้ไข้หัว หัดหลบลงลำไส้ เหือด ดำแดง สุกใส ฝีดาษ แก้ไข้หัวทุกชนิด ลำต้นในอดีตนำมาใช้ทำครก สาก กระเดื่อง และเครื่องใช้ต่างๆ ที่น่าสนใจและภูมิปัญญาในโลกปัจจุบันคงจะไม่รู้กันแล้ว แต่ถ้าฟังผู้เฒ่าในภาคอีสานเล่าความรู้จะพบว่า ดอกสะตือมีกลิ่นหอม เมื่อได้กลิ่นดอกสะตือแล้วทำให้มีความสุขและอยากรับกินอาหารมากขึ้น ต้นสะตือมีความสำคัญมาก และเชื่อว่าหลายท่านไม่เคยรู้ กล่าวคือ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้จัดสร้างดาบเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ในคราวมีพระชนพรรษาครบ ๖ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ “ดาบเหล็กน้ำพี้” นี้มีความยาว ๙.๒๔ เมตร มีน้ำหนัก ๔๕๐ กิโลกรัม ใช้เวลาหล่อดาบถึง ๓ เดือน และตรงด้ามและฝักทำมาจากไม้สะตือนี่เอง สะตือปลูกให้ร่มเงาในที่สาธารณะหรือริมน้ำ สะตือจัดว่าเป็นไม้ที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เพราะนอกจากจะช่วยในการรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ แม้ว่าปีนี้จะแล้งมาก แต่ช่วยกันปลูกเพิ่มตั้งแต่วันนี้ ในปีไหนที่น้ำมาก หน้าน้ำหลาก สะตือจะช่วยป้องกันรักษาตลิ่งและพื้นดินไว้ และมาช่วยกันรักษาพันธุ์ของไม้โบราณชนิดนี้ด้วย ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/70776929623550__2_1_320x200_.jpg) “กระบก” ไม้ท้องถิ่นที่ไม่ควรมองข้าม : บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง วัฒนธรรมการตั้งชื่อต้นไม้มักจะตั้งชื่อตามลักษณะหรือประโยชน์ใช้สอยของต้นไม้นั้น ดังเช่นต้นไม้ที่นำเสนอไว้ในเทศกาลปีใหม่ ชื่อ ต้นเติม (Bischofia javanica Blume) น่าจะมีความหมายมาจากลักษณะของไม้ชนิดนี้เป็นไม้เบิกนำ เจริญเติบโตเติมขึ้นไปเรื่อยๆ ในพื้นที่ว่าง ซึ่งตรงข้ามกับกระบก คนอีสานเรียกหมากบก หรือบก ที่มีความหมายว่าน้อยลง เบา บาง หรือหมดไป ตามความเชื่อของคนอีสานจึงจัดให้เป็นไม้ที่ไม่เป็นมงคลนัก จะปลูกนอกบ้านตามไร่นาหรือในพื้นที่ป่าชุมชน ไม่ให้นำมาปลูกในบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองหมดไป บางคนเชื่อว่าต้นบกขึ้นที่ไหนจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ในแง่ประโยชน์มีมากมาย ในเวลาไม่กี่ปีมานี้มีคนพูดกันมากจนเปรียบเทียบให้ “เม็ดกระบก” คือ “อัลมอนด์อีสาน” ที่เคี้ยวกินอร่อย และยังพบว่ามีคุณค่าโภชนาการและมีน้ำมันในเม็ดที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสมองด้วย ในถิ่นชนบทของอีสานยังจะพบต้นกระบกได้ กระบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn. เป็นไม้ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคเหนือเรียกมะมื่น ภาคอีสานเรียกหมากบก ภาษาชองเรียกชะอัง สุโขทัยและโคราชเรียกมะลื่น ภาษาส่วยในจังหวัดสุรินทร์เรียกหลักกาย เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Irvingiaceae สูงได้ถึง ๕๐ เมตร ไม่ผลัดใบหรือถ้ามีการสลัดใบทิ้งทั้งต้นจะออกใบใหม่อย่างรวดเร็ว เปลือกต้นสีเทาอ่อนปนน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงสลับ ผิวเกลี้ยง ดอกขนาดเล็ก มีขนนุ่ม ออกดอกรวมกันเป็นช่อโตที่ปลายกิ่ง สีขาวอมเขียวอ่อน ผลกลมรี ทรงกล้วยไข่ ขนาดใกล้เคียงกับมะม่วงกะล่อนขนาดเล็ก ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเข้มขึ้น สุกเป็นสีเหลืองอมเขียว เนื้อเละ เมล็ดแห้ง พบเห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านด้วยตั้งแต่เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไปถึงอินเดีย กระบกมักขึ้นในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ ๓๐๐ เมตร กระบก ๑ ต้นให้ผลครั้งละมากมาย ผลสุกเป็นอาหารทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ถ้านำเมล็ดที่มีเปลือกแข็งหุ้ม มากะเทาะเอาเปลือกออก นำเมล็ดที่อยู่ข้างในมาคั่วกินรสมันกรอบอร่อย เป็นที่นิยมกินกันมาก นับเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนที่ดีอีกชนิดหนึ่ง และอาจพัฒนาบรรจุซองทันสมัยขายไปทั่วโลกได้ ในภูมิปัญญาสมุนไพร ตำรายาไทย กล่าวว่า เนื้อในเมล็ด มีรสมันร้อน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง สำหรับยาพื้นบ้านอีสาน มีการใช้กระบกมากมาย เช่น ใช้แก่นกระบกแก้ผื่นคัน ตำรับยาแก้ไอ ใช้กระบก ผสมแก่นต้นซี (พันจำ Vatica odorata (Griff.) Symington) และแก่นกล้วยเห็น (มะป่วน Mitrephora vandiflora Kurz) หรือผสมแก่นเดื่อป่อง (Ficus hispida L.f.) แก่นซี แก่นก้านของ (ปีบ Millingtonia hortensis L.f.) และแก่นมะพอก (Parinari anamensis Hance) ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม แก้ไอ ใช้กระบกผสมลำต้นก้ามปู (ต่อไส้ Allophylus cobbe (L.) Raeusch.) และแก่นต้นแสง (Xanthophyllum lanceatum J.J.Sm.) แช่น้ำอาบ แก้ผื่นคัน นำแก่นหมากบกผสมกับแก่นมะพอกต้มน้ำดื่มแก้ฟกช้ำ ส่วนของลำต้นกระบกนำมาต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดพิการ แก้ไอเป็นเลือด ใช้กระบกผสมเหง้าขมิ้นอ้อย (Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe) รากก้างปา (ทองแมว (Gmelina elliptica Sm.) เมล็ดงา ครั่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม แก้เคล็ดขัดยอก เปลือกต้น ผสมลำต้นเหมือดโลด (Aporosa villosa (Lindl.) Baill.) ใบสมัดใหญ่ (หวดหม่อน Clausena excavata Burm.f.) ลำต้นเม่าหลวง (Antidesma puncticulatum Miq.) และเปลือกต้นอีฮุม (มะรุม Moringa oleifera Lam.) ตำพอกแก้ปวด ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้เปลือกต้น ผสมเหง้าสับปะรด (Ananas comosus (L.) Merr.) งวงตาลหรือช่อดอกตัวผู้ (Borassus flabellifer L. ) รากไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) นมควาย (Uvaria rufa Blume) ทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคหนองใน กระบกมีเนื้อไม้ค่อนข้างเหนียวแน่น เลื่อยยาก แต่ปลวกกินได้ง่าย ในบางท้องถิ่นใช้ไม้เพื่อก่อสร้างภายในอาคารหรือทำอุปกรณ์ต่าง ๆ บ้าง และนำมาเป็นฟืนหรือเผาถ่าน ให้ถ่านที่มีคุณภาพดี เมล็ดนำไปอบหรือคั่ว กินอร่อยรสมันอมหวาน แถบจังหวัดระยองนำเมล็ดกระบกมาบดละเอียด คลุกน้ำตาล ห่อด้วยใบตอง เรียกข้าวราง เมล็ดมีน้ำมันมากมีการนำมาทำสบู่ เทียนไข ใบอ่อนก็กินเป็นผักสด น้ำมันจากเมล็ดกระบกนำมาทำไบโอดีเซลได้ และใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรูปแบบ และผู้ที่สนใจการฟื้นฟูระบบนิเวศ จะพบว่าพืชที่เติบโตอยู่ใต้ต้นกระบกจะเจริญได้ดี เนื่องจากผลกระบกที่ร่วงหล่นจะกลายเป็นแหล่งจุลินทรีย์ชั้นดีให้กับพืชข้างเคียงชนิดต่างๆ ปัจจุบันมีการวิจัยพบว่าเมล็ดกระบกจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดไขมันชนิดอิ่มตัว ได้แก่ กรดปาล์มมิติก กรดลอริก ไมริสติก และกรดสเตียริก ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ กรดไลโนเลอิก กรดโอเลอิกและกรดปาล์มมิโตเลอิก ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยบำรุงกระดูกและฟัน บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงไต ช่วยบำรุงเส้นเอ็นและไขข้อ กระบกจึงเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่สมควรส่งเสริมให้มีการปลูกเพิ่ม และนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21715597932537__1_696x364_2_320x200_.jpg) “กล้วย” ยาไทย เปิดสูตรในตำรายาพื้นบ้านรักษาได้สารพัดโรค! กล้วยๆ ยาไทย กล้วยที่วางขายสำหรับตลาดการแปรรูป จึงเห็นเป็นกล้วยสีเขียว แต่ถ้าขายตามหน้าสวน ก็จะเห็นทั้งสองแบบ เพราะหากเก็บมาขายไม่ทัน กล้วยสีเขียวก็ทยอยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในขณะที่ยังคงความหวาน บางครั้งการทำกล้วยทอด กล้วยอบนั้น ต้องใช้กล้วยที่ค่อนข้างห่าม กล้วยที่วางขายสำหรับตลาดการแปรรูป จึงเห็นเป็นกล้วยสีเขียว แต่ถ้าขายตามหน้าสวน ก็จะเห็นทั้งสองแบบ เพราะหากเก็บมาขายไม่ทัน กล้วยสีเขียวก็ทยอยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในขณะที่ยังคงความหวาน บางครั้งการทำกล้วยทอด กล้วยอบนั้น ต้องใช้กล้วยที่ค่อนข้างห่าม การนำกล้วยมาใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรที่มีลักษณะเหลือง สุก หรือห่าม มีผลต่อประโยชน์ในการรักษาแตกต่างกัน ผลดิบ รักษาอาการแน่นจุกเสียดและอาการท้องเสีย เพราะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ สารแทนนินที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเสียได้ สารสิโตอินโดไซด์ (sitoindoside ชนิด I, II, III, IV และ V) และยังมีสารลิวโคไซยานิดินส์ (leucocyanidins) ที่มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร วิธีปรุงยา ใช้ผลกล้วยดิบหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งและบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ปริมาณ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนโต๊ะ รับประทานแก้ท้องเสีย มีรายงานทางเภสัชวิทยาว่ากล้วยออกฤทธิ์ป้องกัน รักษาอาการท้องเสีย และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร แต่ต้องระมัดระวังการใช้ผลกล้วยดิบเป็นยาในระยะเวลายาวนาน อาจเกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งยังไม่มีผู้ศึกษาพิษแบบเรื้อรังของสารกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันมีรายงานอาการแพ้จากยางกล้วย และสารเอมีนในกล้วยอาจทำให้เกิดอาการไมเกรน ดังนั้น ไม่ควรกินกล้วยดิบต่อเนื่องนานๆ หากกินแก้อาการโรคดีขึ้นแล้ว ควรหยุดยา กล้วยในตำรายาพื้นบ้าน ในหนังสือคู่มือหลักเภสัชกรรมของการแพทย์พื้นบ้านล้านนาจากพับสา/ใบลาน กล่าวถึงการใช้ ใบตองกล้วยตีบ ในการเตรียม ยาหลาม เป็นยาที่อาศัยความร้อนในการสกัดยาที่บรรจุในกระบอกไม้ วิธีปรุงเอาสมุนไพรใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไม้ซาง โดยใช้ด้านล่างของกระบอกกลับขึ้นเป็นด้านบนหรือเป็นปากกระบอก ใส่สมุนไพรลงไปหลาม ปิดปากกระบอกด้วยใบตองกล้วยตีบ ตัวอย่าง “ตำรายาหลาม” ใน คัมภีร์มหาตำรายาเภสัช ฉบับเพชรรัตน์สุวรรณล้านนาไทย แก้ไข้รั้ง ไข้เรื้อ เป็นไข้ป้าง หื้อเอารากหญ้าผากควาย ๓ ราก รากขัดมอน ใส่บอกไม้ไผ่หลามทางปิ้น (ใส่กลับกัน) เอาตองก้วยตีบตึดปากบอกไม้หลาม (เอาใบตองกล้วยตีบปิดปากกระบอกไม่ให้รั่ว) หื้ออว่ายขึ้นปากบอก (กลับปลายกระบอกขึ้นเป็นปากกระบอกแทน) กิน ๑ ที ๒ ที บ่หาย ๓ ที หายแล” นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยใบตองกล้วยตีบ เช่น ใน ตำราน้อยเส่ง ไชยพล บ้านป่าเมี้ยง แม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ให้ผู้ป่วย นั่งนอนบนใบตองกล้วยตีบแล้วทายาที่ตำไว้ เช่น ในโรคมะเร็งสะทีก คือ “แรกขึ้นมันเจ็บหัว หื้อ (ให้) เจ็บหัว เจ็บตน ไข้ ๗วัน และเป็นขางขาวตัวผู้ เป็นขางซายตัวเมีย เอาทองทั้ง ๒ กุ่มทั้ง ๒ ปิว (เจตมูลเพลิงแดง และ เจตมูลเพลิงขาว) หอมเทียม (กระเทียม) หอมบั่วแดง (หอมแดง) ใบหมากนาว ตำห่อผ้า ชั้น ตั้งปากหม้อนึ่งปะคบยา ๓ ชั้น แล้วหื้อตั้งขันข้าวคุปี (ทุกปี) เทอะ หากบ่อยู่ (ถ้าเอาไม่อยู่) เอาดิน ๓ ซีก (๒.๘๓ กรัม) เข้าเบง รากงิ้ว รากเดื่อ ตำเป็นน้ำแล้วจิ่งเอาตองก้วยตีบรอง ๓ ชั้น แล้วหื้อนั่งนอน จิ่งทายาหาย” และการรักษาอาการ ลงท้อง เช่น เอาทันขอ เปลือกกอก กล้วยตีบ มาปิ้งไฟแช่น้ำกินหายฯ ในตำรายาแก้ไข้เด็กของทางล้านนา ในยาจากน้ำกล้วยตีบ บางกรณีให้ใช้ หน่อกล้วยตีบลนไฟ หรือหมกไฟ บีบเอาน้ำมาใช้ ในตำรับยาในใบลานบางฉบับ มักใช้ ลักแลนกล้วยตีบหรือใบตองกล้วยตีบที่แห้งคาต้น นำมาเข้ายา หรือผสมในลูกประคบ และยาอบ กล้วยตีบ จัดเป็นยาเย็น เหมือนสมุนไพร ผักเข้า(ฟักข้าว) ผักตำลึง จึงนำมาเข้ายาแก้พิษ ถอนพิษร้อนต่างๆ ต้นกล้วย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ออกลูกเก็บผลแล้วต้นจะแห้งตาย ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์จำกัด แต่ในความจริงต้นกล้วยมีประโยชน์ให้ต้นไม้อื่นได้อาศัยร่มเงาให้ไม้อื่นได้เติบโต เหมือนไม้พี่เลี้ยงให้ต้นไม้ข้างๆ ก่อนที่มันจะถูกตัดทิ้งไป ปลูกกล้วยแล้วนำความชุ่มชื้นให้กับพื้นดินรอบๆ พื้นดินใครยังว่างๆ จะแปลงมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็ไม่ว่ากัน ปลูกกันมากๆ ละกัน แค่ดูแลระยะแรกจากนั้นปล่อยให้โตเองได้จ้า ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/42218817190991__696x364_1_320x200_.jpg) “ว่านหอมแดงแรงฤทธิ์” บรรเทาพิษโรคทางเดินหายใจ เมื่อเอ่ยชื่อหอมแดง คนทั่วไปมักนึกถึงหอมแกงตามตลาดที่นิยมใช้ทำอาหารรสแซบจำพวกลาบ ต้มยำ เป็นต้น แต่สำหรับแพทย์แผนไทย ถ้าตำรับยาใดมีเครื่องยาชื่อหอมแดง นั่นหมายถึง “ว่านหอมแดง” ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. ซึ่งเป็นคนละชนิด คนละวงศ์กับหอมแดงหรือหอมแกงที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. ว่านหอมแดงเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นจากอินเดียที่เข้ามาสู่พื้นบ้านไทยนานมากจนกลายเป็นพืชประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ในป่าดิบร้อนชื้นของไทยได้ ไม่เหมือนหอมแกงที่ต้องปลูกประคบประหงมในแปลงเกษตรเท่านั้น ข้อพิสูจน์ว่าว่านหอมแดงเข้ามาอยู่ในไทยเก่าแก่กว่าหอมแกงก็คือ วัฒนธรรมความเชื่อคนไทยเชื่อว่า ว่านชนิดนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ในทางคงกระพันชาตรี แก้คุณไสยได้ ในบางท้องถิ่นเช่นแถบจังหวัดเลย จะปลูกว่านหอมแดงไว้ตามคันนา ด้วยความเชื่อว่าว่านนี้ช่วยบันดาลให้ข้าวแตกกอแผ่รวงออกไปเต็มท้องนา จึงเรียกว่านหอมแดงในอีกชื่อหนึ่งว่า “ว่านข้าวแผ่” ส่วนคนที่อีโรติก คิดว่าว่านตัวนี้ช่วยทำให้ข้าวตั้งท้องดี จึงเรียกอีกชื่อว่า “ว่านชู้ข้าว” หรือ “ว่านชายชู้” อย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ของหัวว่านตัวนี้ก็คือ สีแดง ที่เห็นได้ชัดๆ แค่ใช้มีดกรีดหัวก็จะมีน้ำสีแดงเข้มไหลออกมา สามารถใช้ย้อมสีอาหารได้ ชาวไทยภูเขาหลายชนเผ่ายังนิยมใช้แต่งสีแดงบนเปลือกไข่ในพิธีมงคลต่างๆ ส่วนหัวหอมแกงแม้มีกาบสีแดงแต่ไม่มีสารที่แต่งสีแดงได้ อันที่จริงว่านหอมแดงกับหอมแกงมีสรรพคุณคล้ายๆ กันคือช่วยให้ระบบทางเดินหายใจแข็งแรง แต่ที่แนะนำให้ใช้ว่านหอมแดงก็เพราะเป็นสมุนไพรที่ปลอดสารและปลอดภัยมากกว่าหอมแกงที่ปลูกแบบเคมีเกษตร แม้ว่านหอมแดงจะหาซื้อตามตลาดไม่ได้เหมือนหอมแกง แต่ก็มิได้หายากอย่างที่คิดเพราะเป็นพืชมีเหง้าปลูกขยายพันธุ์ได้ง่าย ว่านหอมแดงอาจจะไม่นิยมนำมาทำอาหาร แต่เป็นเครื่องยาสำคัญในยาแผนโบราณหลายตำรับ อย่างในตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงก็มีถึง ๒๓ ตำรับ ส่วนใหญ่จะใช้เป็นยารักษากลุ่มโรคซางในเด็กเล็ก โรคซางทำให้เด็กมีอาการไข้ ตัวร้อนจัด เซื่องซึม ปากคอแห้ง อาเจียน ดูดนม กินอาหารไม่ได้เพราะมีเม็ดซางผุดขึ้นในช่องปาก ลิ้น ลำคอ และมักจะมีอาการท้องเดินท้องเสียร่วมด้วย ในคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด กล่าวว่า หัวว่านหอมแดงใช้แก้ลมอากาศธาตุ นำมาบดผงละลายน้ำร้อน แก้ลมวิงเวียน ตาพร่าและแก้ท้องขึ้น ในคัมภีร์โรคนิทานใช้หัวว่านหอมแดงสด ร่วมกับเมล็ดผักชี กระเทียม ขมิ้นอ้อย ไพล เมล็ดพันธุ์ผักกาด กับยอดกุ่มบก กุ่มน้ำ อย่างละเท่าๆ กัน ตำพอกกระหม่อมทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ แก้สมองพิการ บรรเทาอาการปวดศีรษะรุนแรงชนิดที่ตามืดหูอื้อ ในตำรายาศิลาจารึกวัดโพธิ์สมัยรัชกาลที่ ๓ มีตำรับยาหนึ่งชื่อ “สนั่นไตรภพ” ซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนประกอบและเป็นหนึ่งใน ๑๖ ตำรับสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง ในสูตรตำรับหลวงนี้มีน้ำคั้นว่านหอมแดง ๑ ทะนาน ประกอบอยู่ด้วย ช่วยแก้กร่อนกษัยทั้งปวง คำว่ากษัย ในที่นี้หมายถึงกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่พิษของโรคทำให้ร่างกายทั้งระบบเสื่อมโทรมลง ทำให้ร่างกายซูบซีด โลหิตจาง ปวดเมื่อยเรื้อรัง อ่อนแรง มือเท้าชา เป็นต้น สําหรับหมอพื้นบ้าน ใช้หัวว่านหอมแดงสดจับหวัดในเด็กโดยนำมาตำผสมกับเปราะหอมสุ่มกระหม่อมเด็กแก้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม หายใจไม่ออก และยังใช้ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืดได้ชะงัด สำหรับผู้ใหญ่อาจจะใช้วิธีบุบหัวว่าน ๓-๔ หัวต้มรมไอน้ำสูดหายใจให้จมูกโล่ง ชาวบ้านบางถิ่นนิยมต้มหัวว่านหอมแดงกินทั้งเนื้อทั้งน้ำเป็นประจำทุกวันช่วยบำรุงเลือดลม บำรุงกำลังวังชาไม่ให้แก่ก่อนวัย และยังช่วยชะลอไม่ให้แก่ตามวัยด้วย (ฮา) ที่สำคัญคือช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บในยามนี้ ซึ่งมีทั้งโรคที่มากับฝุ่นละอองขนาดต่างๆ ทั้ง PM 10 และ PM 2.5 รวมทั้งไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่สายตรงจากอู่ฮั่น ซึ่งเหยื่อไวรัสที่เสียชีวิตส่วนใหญ่วัยเกิน ๖๐ เนื่องจากร่างกายเสื่อมถอย มีโรคแทรกซ้อนมากกว่าวัยอื่นนั่นเอง ว่านหอมแดง เป็นพันธุ์ไม้เพาะปลูกง่ายไม่ต้องใช้เคมี ขนาดยามแล้งยังแตกใบเขียวเรี่ยดิน มีดอกขาวฟอร์มสวยคล้ายดอกกล้วยไม้ จึงมีคนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนพวกนักเลงว่านนิยมปลูกเป็นไม้มงคลไว้แก้คุณไสยได้สารพัด แต่มีเคล็ดเพื่อความขลังว่าต้องปลูกวันเสาร์ ขณะปลูกและเวลารดน้ำต้องท่องคาถาบูชาพระเจ้า ๕ องค์ นโมพุทธายะ ๓ จบ ยุคนี้เราควรนำภูมิปัญญาหมอไทยการใช้ว่านหอมแดงมาใช้เป็นยาและอาหารให้แพร่หลายในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น นำมาต้มดื่มเป็นยา หรือตุ๋นกับไก่บ้านเป็นยาและอาหารบำรุงกำลัง เดี๋ยวนี้มีหมอยาไทยต่อยอดสกัดน้ำมันหอมระเหยจากหัวว่านมาปรุงเป็นยาหม่องน้ำและบาล์ม เพื่อใช้สูดดมแก้หวัดคัดจมูก และทาแก้แผลแมลงสัตว์กัดต่อย ว่านหอมแดงจึงเป็นสมุนไพรประโยชน์สามอย่างแบบทรีอินวัน คือ เป็นทั้งไม้ประดับ ไม้มงคล และพืชสวนครัวที่ใช้เป็นยาและอาหารในโลกแห่ง “โรคไร้พรมแดน” ที่มา : สมุนไพรเพื่อสุขภาพ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 สิงหาคม 2563 13:15:58 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78003621805045__2_3_1_320x200_.jpg)
หัสคุณ ชื่อพฤกษศาสตร์ : Clausena excavata Burm. f. วงศ์ : RUTACEAE ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง ๑๐-๒๐ เมตร ลำต้นเป็นร่อง กิ่งคล้ายทรงกระบอก มีขนมาก เปลือกต้นสีเทา เรียบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับและเวียน มีจุดโปร่งแสง ใบย่อย ๓-๘ คู่ รูปไข่ถึงรูปใบหอก ปลายใบแหลม เรียวแหลมสอบเรียว โคนใบมน ขนาดไม่เท่ากัน เส้นใบหลักเส้นเดียว แขนงเบี้ยว เส้นใบย่อยชั้นที่สามเป็นร่างแห ไม่มีหูใบ ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยเป็นแบบช่อกระจุก ดอกสมบูรณ์เพศ รูปปลายยอดแบน ดอกย่อยมากสีเขียวถึงสีขาวแกมเหลือง วงกลีบเลี้ยงรูปถ้วย แยกเป็น ๕ หยักซี่ฟัน กลีบดอก ๕ กลีบ จรดกัน รูปแถบแกมรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก ผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด รูปทรงรี หรือรูปขอบขนาน อวบน้ำ มี ๑-๓ เมล็ด เมล็ดเกือบเกลี้ยง สีเหลืองถึงแดงเมื่อสุก ตำรายาโบราณ ใบ รสหอมเผ็ดร้อน ตำทาแก้คัน พอกประคบหรืออบไอน้ำ แก้ผื่น คันตามผิวหนัง ดอก รสหอมร้อน ฆ่าเชื้อโรคแผลเรื้อรัง ลำต้น รสร้อน ขับลม ยอดอ่อน ใบอ่อน จิ้มน้ำพริก ใส่ข้าวยำ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96001893820034__2_2_1_320x200_.jpg) (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/69666963608728__1_1_1_320x200_.jpg) มะม่วงหัวแมงวัน Buchanania lanzan Spring วงศ์ : ANACARDIACEAE ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร กิ่งอ่อนมีขนครุยสีกำมะหยี่ กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวแกมเขียว ออกเป็นช่อแน่น มีกลิ่นหอมมาก กลีบดอกรูปขอบ เกสรเพศผู้แบน เกลี้ยง ยาวเท่ากับกลีบดอก รังไข่มีขนสั้นนุ่ม ผลสดเมล็ดเดียวแข็ง เบี้ยว ทรงรูปไข่หรือคล้ายทรงกระบอก ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร แบนข้างเล็กน้อย เกือบเกลี้ยง เปลี่ยนเป็นเกลี้ยง สีแดงแกมเขียวเมื่อแก่ ตำรายาโบราณ เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้อักเสบจากพืชพิษ ราก รสเผ็ดร้อน ยาฝาดสมาน แก้ร้อนใน แก้ท้องผูก เป็นยาถ่ายอย่างแรง ทำให้ท้องร่วง ใบ รักษาโรคผิวหนัง ผล แก้ไอ แก้หอบหืด ความเป็นพิษ รับประทานมากเกินไปอาจระคายเคืองในลำคอได้ เพราะมียางคล้ายมะม่วงทั่วไป มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90627671654025__3_1_320x200_.jpg) มังคุด Garcinia X mangostana L. (1) GUTTIFERAE (CLUSIACEAE) ไม้ต้น สูง ๑๐-๑๒ เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน เนื้อใบหนาและค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อมีดอกย่อยสองดอก ออกที่ซอกใบคล้ายปลายกิ่ง สมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมเหลือง กลีบดอกสีแดง ฉ่ำน้ำ ผลสด ค่อนข้างกลม สรรพคุณตำรายาไทย เปลือกผลมังคุดตากแดดให้แห้ง ฝนกับน้ำปูนใสใช้ทาแผลพุพอง แผลเน่าเปื่อย ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมังคุด พบว่าสาร mangostin, l-isomangostin และ mangostin triacetate เมื่อกรอกปากหรือฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวมีผลระงับการอักเสบที่อุ้งเท้าซึ่งทำให้อักเสบด้วย carrageenan และการอักเสบที่หลังโดยฝังก้อนสำลี (cotton pellet pellet implantation) ในหนูที่ตัดต่อมหมวกไตออกทั้งสองข้าง สารเหล่านี้ก็ยังสามารถระงับอาการอักเสบได้ นอกจากนี้ mangostin ยังมีผลในการรักษาแผลในหนูขาวได้ด้วย สาร xanthone I ในเปลือกมังคุดซึ่งสกัดด้วยเบนซินมีผลต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งทำให้เป็นหนองได้ มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75239634058541__2_1_320x200_.jpg) มะดัน Garcinia schomburgkiana Pierre GUTTIFERAE (CLUSIACEAE) ไม้ต้น สูง ๓-๗ เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ดอกแบบช่อกระจุกสั้น แยกเพศอยู่ร่วมต้น สีเหลืองส้ม ผลเป็นแบบผลสดเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปกระสวย ตำรายาโบราณ ผล แก้กระษัย ฟอกโลหิต ฟอกประจำเดือน มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73265380577908__696x364_1_320x200_.jpg) ชะมวง Garcinia cowa Roxb. ex Choisy GUTTIFERAE ไม้ต้นขนาดกลาง เปลือกไม้สีน้ำตาลเข้ม แตกกิ่งมาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก คล้ายกระดาษ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ ๓-๘ ดอก ออกที่ปลายยอดหรือซอกใบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกสั้นหรือพบน้อยมากที่ไร้ก้าน โคนดอกมีสี่ใบประดับ ใบประดับรูปลิ่มแคบ กลีบดอกสีเหลือง ยาวกว่ากลีบเลี้ยงสองเท่า เกสรเพศผู้ออกเป็นกระจุกสี่อัน เชื่อมติด รวมเป็นกระจุกที่ส่วนกลางสี่ด้านของอับเรณู ๔๐-๕๐ อัน มีหรือไม่มีก้านชูอับเรณู ส่วนมากสั้น อับเรณูสี่ช่อง ช่องยาวแตกได้ ไร้เกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียมักเป็นแบบดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ ขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมติดกันที่ประมาณครึ่งหนึ่งและโคนรังไข่ที่เชื่อมติดอยู่ ก้านชูอับเรณูยาวหรือสั้น ปรกติพบว่าสั้นกว่ารังไข่ รังไข่รูปทรงรูปไข่ ๔-๘ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียเรียงเป็นรัศมี ๔-๘ พู มีปุ่มเล็ก ขนาด ๖-๗ มิลลิเมตร ผลเป็นแบบผลสด ผลสุกทึบแสงสีเหลืองแกมน้ำตาล รูปทรงรูปไข่แกมรัปทรงกลม เบี้ยว ปรกติเป็นติ่งแหลมอ่อน ๒-๔ เมล็ด แคบ รูปกระสวย โค้งเล็กน้อย ตำรายาไทยโบราณ ใช้ ใบ เป็นยาระบาย ราก แก้ไข้ ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ราก ผสมรากปอด่อน (Helicteres hirsuta Lour.) รากตูมกาขาว (Strychnos nux-blanda A. W. Hill.) และรากกำแพงเจ็ดชั้น (Salacia chinensis L.) ต้มน้ำดื่ม รับประทานวันละสามครั้ง เช้า กลางวัน เย็น เป็นยาระบาย ใบสด รับประทานหรือผสมในต้มหมูชะมวงรับประทานได้ มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 สิงหาคม 2563 15:34:30 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11432198228107_w580_640x480_.jpg)
ลำไย ผลไม้และยาพื้นบ้านนานาชาติ ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งวัยรุ่นนำเอาคำเรียก “ลำไย” เป็นศัพท์สแลงเพื่อเรียกเพื่อนฝูงที่ทำตัวเชื่องช้าและน่ารำคาญว่าเป็นพวก “ลำไย” โดยไม่รู้ที่มาว่าทำไมลำไยอันแสนอร่อยและมีคุณค่านี้ถูกใช้เรียกเป็นคำตำหนิไปได้ ลำไยเป็นพืชที่เกิดเองตามป่าหรือตามธรรมชาติ และต่อมาก็นำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphoria longana, Lamk. หรือ Dimocarpus longan Lour. หรือ Nephelium longana Camb. อยู่ในตระกูล SAPINDACEAE เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๐ เมตร ดอกเล็กออกเป็นช่อ ผลกลมโต เปลือกลูกสีน้ำตาล มีรสหวานหอมน่ากิน พบเห็นปลูกทั่วไปในจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ลำไยจะออกดอกตามธรรมชาติช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ลําไยสด ๑๐๐ กรัม ในด้านโภชนาการมีความน่าสนใจ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต ๒.๓๘-๒๒.๕๕% แคโรทีนอยด์ ๒๐ ไมโครกรัม วิตามินเค ๑๙๖.๕ มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง ๐.๐๑ มิลลิกรัม วิตามินบีสอง ๐.๑๔ มิลลิกรัม เรตินอล ๓ ไมโครกรัมโปรตีน ๑.๒ กรัม ไขมัน ๐.๑% วิตามินซี ๔๓.๑๒-๑๖๓.๗ มิลลิกรัม กรดนิโคตินิก ๑.๓ มิลลิกรัม กรดอะมิโนซึ่งพบเป็นแกรมม่าอะมิโนบิวทีริก แอซิด ในปริมาณ ๕๑-๑๘๐ มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร ๐.๔% ความชื้น ๘๑.๔% เถ้า ๐.๗% น้ำตาลรีดิวซ์ ๓.๘๕-๑๐.๑๖% น้ำตาลที่พบมักเป็นกลูโคส ฟรุกโตส แซคคาโรส และซูโครส กรดอินทรีย์ มาลิก อ๊อกซาลิก ซิตริก ซัคซินิกและทาร์ทาริก นอกจากนี้ ยังพบสารประกอบที่ระเหยได้ ๒๘ ชนิด โดยสารประกอบหลักที่ให้กลิ่นหลักมักเป็น Bocimene, ๓,๔-dimethyl-๒,๔,๖-octatriene, ethyl acetate, allo-ocimene, ๑-ethyl-๖-ethylidene-cyclohexene และนักวิทยาศาสตร์พบว่า วิธีการสกัด สายพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันจะพบสารประกอบของกลิ่นต่างกันไป เมื่อวิเคราะห์ใบ พบสารประกอบ เคอร์เซติน ๑๕-hentriacontanol, epifriendelinol, stigmasterol glucoside, stigmasterol, ?-sitosterol ในส่วนของดอก มีสารประกอบ fucosterol, stigmasterol อยู่ในอัตราส่วน ๔๐-๖๐ และยังมี sterol อื่นๆ อีกด้วย สารประกอบทางเคมีจากเปลือก พบสารพวกฟีนอลิก ได้แก่ กรดแกลลิก คอริลาจิน อีลาจิก และสารควบคู่ของมัน, สาร (-)-epicatechin, ๔-๐-methylgallic acid flavones glycosides, glycosides of quercetin and kaemferol กลุ่มพอลิแซคคาไรด์ ได้แก่ L-arabinofurannose ๓๒.๘%, D-glucopyanose ๑๗.๖%, D-galactopyranose ๓๓.๗% and D-galacturonic acid ๑๕.๙% สารประกอบทางเคมีพบในเมล็ด พบมากเป็นสารประกอบซาโปนิน นอกนั้นเป็นแทนนิน ไขมันและแป้ง การวิจัยระยะต่อมาพบสาร ethyl gallate ๑-B-o-galloyl-D-glucopyranose, methyl brevifolin carboxylate, grevifolinand ๔-๐-a-L-rhamnopyranose-ellagic acid, gallic acid, corilagin and ellagic acid สารประกอบทางเคมีพบในเนื้อลำไย ได้แก่ กลุ่มฟอสโฟไลปิด คือ ไลโสฟอสฟาติดีล คอลีน ฟอสฟาติดิล คอลีน ฟอสฟาติดิล อินโนซิทอล ฟอสฟาติดิล เซอรีน ฟอสฟาติดิล เอทาโนลามีน ฟอสฟาติดิล และฟอสฟาติดิกแอสิด กลีเซอรอล ฟอสฟอลิปิด และอาจจะมีผลดีในการเพิ่มภูมิต้านทานในมนุษย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีการปลูกและการเก็บเกี่ยวลำไยดีขึ้นได้ผลผลิตมากขึ้น จึงนำไปสู่การพัฒนาการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของลำไย มีงานวิจัยในส่วนเปลือกของผล พบว่ามีสารโพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ แทนนิน โพลีแซคคาไรด์ สารสกัดจะแสดงฤทธิ์ ต้านแบคทีเรีย ต้านไวรัส และต้านการอักเสบ ต้านเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง นอกจากนี้ จากเอกสารวิจัยแสดงผลการสกัดเปลือกผล ด้วยการใช้แรงดันไฮโดรสเตติกที่สูง สารสกัดที่ได้มีปริมาณสารสำคัญมากกว่าวิธีอื่น พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง มีฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ไทโรสิเนส และยังมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ผลดีในหลอดทดลอง ในการศึกษาการสกัดดอกลำไยพบว่ามีโพลิฟีนอลสูง โดยนำสารสกัดด้วยน้ำนี้ทดลองกับหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับอาหารที่มีแคลอรีjสูง มีไขมันสูง พบว่าสารสกัดน้ำดอกลำไยมีแนวโน้มในการลดไขมันได้ การสกัดดอกลำไยยังมีการใช้สารละลายอินทรีย์ชนิดอื่นอีกหลายชนิด ให้ผลดีในการต้านอนุมูลอิสระ เปลือกต้นลำไยและใบลำไย พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีสารอีลาจิคสูง ซึ่งสารดังกล่าวมีแนวโน้มนำมาใช้ประโยชน์ทางเครื่องสำอางได้ สารสกัดเมล็ดลำไยด้วยแอลกอฮอล์เมื่อนำมาป้อนให้หนูไมซ์ ที่เหนี่ยวนำด้วย สารสโคโปลามีนขนาด ๓๐๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมล็ดลำไยพันธุ์อีดอสกัดที่ทำการวิจัยในไทย พบว่ามีฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ไทโรสิเนสสูง พบว่ามีส่วนช่วยเรื่องการจดจำและการเรียนรู้ เนื้อลำไยแห้งที่สกัดด้วยวิธีอัลตราโซนิกเซลดิสอินตีเกรเตอร์ พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงและต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง นอกจากนี้ มีรายงานวิจัยที่กล่าวถึงสารสกัดทุกส่วนของผล มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถพัฒนาเป็นสารเสริมเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายร่วมกันกับยาอื่นได้ดี แต่ยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกและศึกษาผลต่อฤทธิ์หรือสรรพคุณอื่นมากนัก เช่น ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ลดความอ้วน ขณะเดียวกันพบว่ามีการจดสิทธิบัตรงานวิจัยไทย ได้แก่ กรรมวิธีการสกัดเป็นสารสกัดที่รู้ปริมาณสารองค์ประกอบ และสิทธิบัตรการผลิตลำไยผงกันแล้ว และเนื่องจากลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่านับพันล้านบาท จึงมีงานวิจัยกรรมวิธีการเก็บเกี่ยวผลลำไยว่าทำอย่างไรไม่ให้เสียหายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ลำไยมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ ๓-๔ วันเปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ถ้าเก็บไว้ที่ ๕ องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน ๒ สัปดาห์ หากอุณหภูมิต่ำกว่านั้นจะทำให้เปลือกเสียหายได้ ในวิถีชาวบ้านยังใช้เนื้อไม้ลำไยมาทำครก สาก กระเดื่อง และนำกิ่งไม้ลำไยทำเชื้อเพลิง เช่นทำฟืนและถ่านได้ด้วย คนไทยปลูกลำไยส่งไปจีนจำนวนมาก เพราะคนจีนมีความเชื่อว่าลำไยเป็นผลไม้มงคล นำมาใช้ในพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความหวานชื่น ใช้ในพิธีแต่งงาน ในงานมงคลอื่นๆ ลำไยยังเป็นผลไม้สัญลักษณ์ให้ชีวิตรุ่งเรือง เจริญก้าวหน้า หรือแม้แต่ในงานขาว-ดำเองก็มีลำไยประกอบในพิธีกรรมให้หมายถึงสิ่งดีๆ ของลูกหลานด้วย หลายคนชอบกินทั้งลำไยสด แห้ง และน้ำลำไยรสหอมหวาน แต่เชื่อว่าหลายท่านไม่ทันรู้ว่าลำไยใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อยู่ในหลายประเทศ ยาพื้นบ้านในประเทศจีน มีภูมิปัญญาดั้งเดิมว่า ใบ มีรสจืดและชุ่มสุขุม ใช้เป็นยาแก้โรคมาลาเรีย ริดสีดวงทวารหนัก ฝีหัวขาด และไข้หวัด โดยนำใบมาต้มน้ำกิน ดอก ใช้ดอกสดหรือตากแห้งนำมาต้มน้ำกิน แก้โรคเกี่ยวกับหนองทั้งหลาย เมล็ด ต้มหรือบดเป็นผง รักษากลากเกลื้อน แผลมีหนอง แก้ปวด สมานแผลและใช้ห้ามเลือด ราก หรือ เปลือกราก ต้มน้ำกินหรือต้มเคี่ยวให้ข้น แก้สตรีตกขาวมากผิดปกติ ขับพยาธิเส้นด้าย เปลือกผล ที่แห้งนำมาต้มน้ำกิน แก้อาการวิงเวียนศีรษะและอ่อนเพลีย ทำให้สดชื่น หรือใช้เป็นยาทาภายนอกโดยเผาเป็นเถ้าและบดเป็นผงโรยแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เนื้อหุ้มเมล็ด นำมาต้มน้ำกินหรือแช่เหล้า เป็นยาบำรุงม้าม เลือดลม และหัวใจ บำรุงร่างกาย สงบประสาท แก้อ่อนเพลียจากการทำงานหนัก ลืมง่าย นอนไม่หลับ ประสาทอ่อน ตํารับยาจีน นิยมใช้ลำไยผสม ในตำรับยาแพทย์แผนโบราณ เพื่อคลายอาการปวดประสาทและการบวมโดยเฉพาะบวมในสตรีหลังคลอดบุตร โดยใช้ร่วมกับยาอื่นๆ และมีตำรับยาที่ใช้เนื้อลำไยเพียงอย่างเดียวดองเหล้า ไว้นาน ๑๐๐ วัน สูตรยา ลำไยแห้งปริมาณ ๖๐ กรัม ดองเหล้าที่ทำจากข้าว ๕๐๐ มิลลิลิตร ใช้บำรุงสุขภาพ โดยเฉพาะม้าม เลือดพร่อง และรักษาจิตใจ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อ่อนแอหรือไฟธาตุต่ำ ส่วนเปลือกและเมล็ด ยังใช้ฟื้นฟูร่างกายสำหรับหญิงหลังคลอด และใช้สำหรับเพิ่มภูมิต้านทาน ตำรับยาจีน นิยมใช้เนื้อลำไย ร่วมหรือเสริมฤทธิ์ในการรักษาผู้ป่วยที่อ่อนเพลีย ใน ประเทศเวียดนาม ใช้เนื้อผลแห้งเป็น อาหาร ยาบำรุง นัยว่ามีประโยชน์ต่อม้าม ไตและปอด สติปัญญา และใช้สำหรับแก้อาการนอนไม่หลับ โรคประสาทที่มีอาการอ่อนเพลียอย่างเรื้อรัง อ่อนแรง อาการจิตซึม (neurasthenia) แก้ความจำไม่ดีหรือสูญเสียความจำบางส่วน ซึ่งมักใช้ในรูปสารสกัดหรือยาต้มขนาดยา ๙-๑๐ กรัมต่อวัน และมีการนำเอาเมล็ดซึ่งมีสารซาโปนินอยู่มาก นำมาใช้เป็นแชมพู และนำเมล็ดบดเป็นผง ใช้ทาโรคผิวหนัง อย่างเช่นตุ่มพุพอง ในส่วนของ ไทย มีการใช้คล้ายคลึงกัน คือ ส่วนของ ราก ซึ่งมีรสร้อน ต้มกับน้ำตาลกรวด ดื่มแก้เสมหะและลม รากสด ใช้ต้มกับน้ำตาลกรวดกินแก้ฟกช้ำ ช้ำใน พลัดหกล้ม จะขับของเสีย เลือดเน่าออกทางทวารได้ผลดี รากหรือเปลือกต้น รสฝาดร้อน แก้เสมหะ แก้ลมป่วง แก้ลมจุกเสียด ข้อควรระวัง ไม่กินหรือใช้เนื้อลำไยในกรณีมีอาการเจ็บคอหรือไอมีเสมหะ หรือเป็นแผลจนอักเสบมีหนอง ขอแนะนำให้รู้จักประโยชน์จากลำไยที่อยู่ในตำรับยาไทยและในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มเติม ๑.รักษามาลาเรีย ใช้ใบสดกับปอขี้ตุ่นแห้ง ๑๐-๒๐ กรัม และน้ำ ๒ แก้ว ผสมเหล้าอีก ๑ แก้ว กินก่อนมีอาการไข้ ๒ ชั่วโมง ๒. ปัสสาวะขัด ใช้เนื้อในเมล็ดต้มน้ำกิน แก้ปัสสาวะขุ่นขาว หรือใช้ดอกลำไยสดประมาณ ๓๐ กรัม ต้มกับเนื้อหมู เอาน้ำกิน ๓-๕ ครั้งก็ได้ ๓. สตรีที่คลอดบุตรแล้วมีอาการบวม ใช้เนื้อลำไยผสมกับลูกพุทราและขิงสด ต้มน้ำกิน ๔. ท้องเสีย ใช้เนื้อลำไย ๑๔ ลูก ขิงสด ๓ แว่น ต้มน้ำกิน ๕. แผลเรื้อรังและมีหนอง ใช้เมล็ดเผาไฟเป็นเถ้า และเอาผสมน้ำมันมะพร้าวใช้ทา ๖. กลากเกลื้อน ใช้เมล็ดที่ลอกเอาเปลือกสีดำออก ชุบน้ำส้มสายชูที่หมักจากข้าวทาบริเวณที่เป็น ๗. น้ำร้อนลวก ใช้เปลือกผลบดเป็นผงหรือเผาให้เป็นเถ้า ผสมกับน้ำมันลูกมะเยา ทาแผลจะหายปวดและไม่เป็นแผลเป็น ๘. แผลเน่าเปื่อยและคัน ใช้เมล็ดเผาเป็นเถ้าแล้วทา ตรงบริเวณที่เป็น ลำไยเป็นผลไม้รสหอมหวานอร่อยและเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อย่างดี และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรแทบทุกส่วน เมื่อกินเนื้อแล้ว เปลือกและเมล็ดลำไยหากคิดเป็นของเสียโยนทิ้งก็คิดเป็น ๑๖-๔๐% ของน้ำหนักลูกลำไย แต่ถ้าคิดเป็นโอกาสในการพัฒนา ก็จะพบว่าเป็นส่วนที่มีศักยภาพในการใช้เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่หาได้ง่าย สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายชนิดที่นักวิจัยไทยสามารถต่อยอดจากองค์ความรู้ยาพื้นบ้านหรือยาดั้งเดิม ใครที่นิยมชมชอบกินลำไย แต่พบว่ามีอาการแพ้ที่มักมีอาการที่เรียกว่าร้อนในนั้น มีคำแนะนำจากรายงานวิจัยของจีนว่า ให้กินลำไยที่ผ่านขบวนการให้ความร้อนแล้ว จะช่วยลดสารในลำไยที่อาจทำให้แพ้ได้ ใครที่ไม่แพ้สารเหล่านี้ก็กินลำไยสดๆ ได้เพลิน แต่คนที่รู้ตัวว่ากินสดแล้วร้อนในง่ายก็เปลี่ยนมากินขนมหวานที่ใส่ลำไย หรือน้ำต้มลำไยแทน ให้ได้ประโยชน์จากลำไยกันทุกคน ...ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73581268431411__1_640x480_.jpg) มะม่วง อาหารและยาประจำบ้าน เชื่อว่าถ้ามีการสำรวจต้นไม้ที่คนไทยอยากปลูกไว้ประจำบ้าน เชื่อว่าทุกบ้านที่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ น่าจะเลือกมะม่วงมาเป็นอันดับต้นๆ แน่นอน ที่สำนักงานมูลนิธิสุขภาพไทยก็ปลูกมะม่วงไว้ ๒ ต้น พอชำเลืองมองไปเพื่อนบ้านข้างเคียงมูลนิธิสุขภาพไทยก็มีมะม่วงเกือบทุกบ้าน จึงขอมาคุยเรื่องมะม่วงกัน มะม่วง (Mangifera indica Linn. ) เป็นต้นไม้ที่ให้ผลให้เรากินตลอดทั้งปี เด็กเล็ก เด็กโต ที่เล่นอยู่กับบ้าน ช่วงไม่ต้องไปโรงเรียน ก็มักไปหาไม้สอย (ไม้ส้าว) มาสอยมะม่วง ปกติเราบริโภคมะม่วงเป็นอาหารมากกว่าใช้ประโยชน์ทางยาสมุนไพร มะม่วงเปรี้ยวเหมาะกับพริก เกลือ หรือน้ำปลาหวาน นัยว่าความเปรี้ยว จะลดน้อยลง หากได้เจอกับเกลือ โดยปอกแล้วเอาล้างด้วยน้ำเกลือเล็กน้อย วิธีนี้ใช้ทำยำมะม่วงดิบ ยกเว้นแต่มะม่วงมันมักไม่ต้องอาศัยเครื่องจิ้ม มะม่วงหวานที่ออกเปรี้ยวหน่อย อย่างมะม่วงป่า มะม่วงสามปี (ชื่อสายพันธุ์มะม่วง) สุกๆ นำมาปอกหั่นแช่เย็น ใช้กินกับข้าวเปล่าๆ ก็อร่อยได้ ผู้สูงอายุนิยมหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมกินเป็นคำๆ ได้ หากกินมะม่วงหวานๆ ทุกวันและกินอย่างเดียว อาจทำให้ตาหวาน หรือมีขี้ตาแฉะๆ ซึ่งบอกถึงอาการร้อนใน หรือมีแคลอรีในร่างกายสูง (แต่ไม่มากเท่าทุเรียน) จึงควรกินแต่พอดี อย่าบ่อยมากนัก และท่านที่เป็นเบาหวานควรระวังน้ำตาลจากมะม่วงสุกจะมีผลเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ถ้ามะม่วงดิบจะหวานลดลง มีแป้งมากกว่าน้ำตาล แต่กินมากๆ แป้งก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ สําหรับในทางยาสมุนไพร มะม่วงมีคุณประโยชน์มากอย่างที่คาดไม่ถึงทีเดียว ดังนี้ มะม่วงที่วิจัยทางเภสัชวิทยามีอย่างน้อย ๒๐ สายพันธุ์ การใช้ทางพื้นบ้าน พบว่าส่วนที่ใช้เป็นยาของมะม่วง ได้แก่ เปลือกลำต้น ใบ ดอก ผลและเมล็ด ตัวอย่างตำรับยาพื้นเมืองล้านนาที่ใช้มะม่วง ๑. เจ็บตาเพราะดีนั้น (หมายถึงหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย อาการเจ็บตาเพราะดีกำเริบ) ให้เอาเปลือกมะม่วงกาสอ ชะเอ็ม (ชะเอม) เข้าหมิ้น (ขมิ้นชัน) รากมะกล้วย (ฝรั่ง) ชำพอ (หางนกยูงบ้าน) เท่ากัน เคี่ยวน้ำสามบวย เอาหนึ่ง (น้ำสามกระบวย เคี่ยวให้เหลือ ๑ กระบวย) แล้วเอาน้ำผึ้ง น้ำตาลลงคนไว้ให้เย็นแล้วเอาผ้าขาวปกตาแล้วเอาน้ำยารดนอกผ้า ให้รอดเข้าตาหาย ๒. อันหนึ่งยานิ่วให้เอาแกน (แก่นต้น) ผักหละ (ชะอม) แกนมะม่วง แกนมะเฟือง แกนมะคะทอง ต้มใส่ข้าวจ้าวกินดีแท้เชื่อแล้วแลฯ ๓. ยาแก้สรรพะ เอาผักหวานบ้าน รากจอยนาง หญ้าหลักนา กาฝากผักหละ เปลือกมะม่วงธิดา ขวั้นมะฟักขม เขากวาง โก้งมะปิน (หัวจุก) จันทร์ขาว-แดง ฝนตกน้ำกินเทอะ ๔. เบาหวาน ให้เอากาฝากมะม่วงสามปี ข้าวจ้าวต้มกินทุกวัน และเอาแกนข้าวสาลีต้มกินจำเริญ ตํารับยาพื้นบ้านในอินเดีย ใช้ เปลือกต้นมะม่วง ผสมน้ำดื่ม ช่วยแก้ท้องร่วง ใช้สวนทวารหนัก ป้องกัน รักษาริดสีดวงทวาร โดยอาศัยฤทธิ์ฝาดสมาน นอกจากนี้ เปลือก ยังใช้แก้บิด ใบ ใช้แก้ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แก้ท้องอืดแน่น แก้เด็กเป็นตานขโมย ชะล้างบาดแผล ในอินเดียมีเครื่องดื่มน้ำมะม่วงเป็นที่นิยมมาก ใช้ช่วยร่างกายกรณีเป็นลมแดด และยังกินบำรุงกระเพาะอาหาร แก้คลื่นไส้วิงเวียน บรรเทาอาการกระหายน้ำ แก้อาเจียน ผลสุก กินประจำ แก้เลือดออกตามไรฟัน เมล็ด แก้ท้องเสีย รักษาบาดแผล ขับพยาธิ ในประเทศเวเนซุเอลา ใช้ ใบ แก้อาการท้องร่วงที่มีอาเจียนร่วมด้วย ใช้ ใบ แก้ปวดฟันและเหงือก โดยใช้ใบชงน้ำร้อนแล้วอมน้ำยาไว้ในปาก ส่วน ดอก ใช้แก้อาการท้องเสียและบิด ผลมะม่วงสุกได้รับการกล่าวขานว่าช่วยเสริมกำลัง ทำให้สดชื่น ในมาเลเซีย ใช้เมล็ดชงน้ำร้อนดื่มแก้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ แต่ในยาพื้นบ้านเวียดนามใช้ เปลือกของผล กินแก้ประจำเดือนมามาก เปลือกของต้นยังใช้แก้ไข้ ในกัมพูชาใช้เปลือกแก้อาการรูมาตอยด์ โดยนำมาต้ม และแก้ตกขาว โดยใช้เป็นยาสวนชะล้าง การใช้มะม่วงตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้นพบว่ามีความคล้ายกันทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย และกัมพูชา มูลนิธิสุขภาพไทยเองเคยเผยแพร่ประโยชน์จากมะม่วงไว้บ้างแล้ว ขอนำมาส่งเสริมการใช้อีกครั้งว่า ชาใบมะม่วงมีส่วนช่วยบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง เพราะมีไฟโตเอสโตรเจน (Phyto Estrogen) บำรุงกำลัง โดยนำใบมะม่วงเขียวสด (ไม่อ่อนไม่แก่) พันธุ์ใดก็ได้ล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นหยาบๆ ผึ่งแดดให้แห้ง คั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนจนกรอบ ทิ้งไว้ให้เย็นเก็บในภาชนะปิดสนิท วิธีดื่ม ให้นำชาใบมะม่วง ๑ หยิบมือใส่ถ้วยชา เทน้ำเดือดลงไป ๒๐๐-๒๕๐ ซีซี ตั้งทิ้งไว้ ๕-๑๐ นาที ดื่มขณะอุ่นๆ ผลมะม่วง มีเบต้าคาโรทีน เส้นใย และวิตามิน สารสำคัญในเปลือกเป็นแทนนิน ส่วนใหญ่ ได้แก่ กรดแกลลิก เคอเซติน แคมเฟอรอล และอื่นๆ แต่ผลประกอบด้วยสารกลุ่มเอโทฟีโนน กรดแกลลิก คาโรทีนอยด์กลุ่มต่างๆ คลิบโตแซนทีน ลูเทอีน เซสควิเทอร์พีน เบต้าเซลินีน กลุ่มโมเทอร์พีน วิตามิน ได้แก่ วิตามินซี อัลคีนและแลคโตน โปรตีด ไลปิด คูมารินส์ ได้แก่ กรดอีลาจิก เบต้าซิโตสเตียรอล และสารกลุ่มฟวาโวนอยด์ ทางการแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ นิยมใช้กาฝากของมะม่วงสามปีปรุงยาลดความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ดี พบว่าบางคนเมื่อสัมผัสส่วนต่างๆ ของมะม่วงอาจทำให้แพ้ได้ เช่น ทำให้เกิดลมพิษ ผื่นคัน ผื่นแดง ตุ่มพุพอง ในงานด้านเภสัชวิทยา มีงานวิจัยมะม่วงจำนวนมากในห้องทดลอง เช่น ฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาเบาหวาน แอนตี้ออกซิแดนต์ แอนตี้ไวรัส บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และฆ่าพยาธิ ฆ่าพาราไซต์ ต้านมะเร็ง เอชไอวี ต้านการสลายของกระดูก ต้านการหดตัวกล้ามเนื้อเรียบ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้แพ้ ปรับสมดุลความต้านทาน ลดไขมันในเลือด ต้านจุลินทรีย์ ปกป้องตับ ปกป้องกระเพาะอาหาร ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้จำเป็นต้องวิจัยพิสูจน์ผลต่อไป มะม่วงกินอร่อยมีผลดีต่อร่างกาย ทำเป็นยาสมุนไพรดูแลสุขภาพก็ได้ และมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจ เสริมสร้างรายได้ด้วย ฤดูฝนนี้จึงขอเชิญชวนทุกคนมาเตรียมดินเตรียมพันธุ์ปลูกมะม่วงกันดีกว่า...ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97393221697873_images_9_640x480_.jpg) ภาพจาก topspicks.tops.co.th อินทผลัม ผลไม้พระอินทร์ กินเป็นลืมป่วย ใครว่าลูกอินทผลัมปลูกได้แต่ในแดนตะวันออกกลางของโลกอาหรับ เพราะในยุคโลกาภิวัตน์อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น คนไทยหัวใสเคยนำเอาพันธุ์ปาล์มชื่อ “อันนะคีลฺ” หรือ “ผลไม้ของพระเจ้า” จากแถบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาปลูกในไทยแลนด์เมื่อสิบปีที่แล้ว อันที่จริง ผลจากต้นอันนะคีลฺนั้นเป็นผลไม้อบแห้งนำเข้าที่คนไทยเรานิยมบริโภคกันมานานแล้วในชื่อ “อินทผลัม” คนไทยที่คิดตั้งชื่อนี้เป็นยอดนักอักษรศาสตร์ เพราะความหมายของชื่อยังสื่อถึงที่มาเดิม คือ เป็น “ผลไม้ของเทวดา” หรือ “ผลไม้ของพระอินทร์” (อินท = พระอินทร์, ผลัม = ผลไม้) แม้คนไทยจะยืมภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้ แต่ก็เป็นคำใหม่ไม่ได้ยืมชาติไหนมา เพราะชาวอินเดียเองเขาเรียกชื่อผลไม้ปาล์มชนิดนี้ว่า “คะจอร์” (Khajoor) ในที่นี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่าอินทผลัม คือ ปาล์มชนิดที่มีผลกินได้ ทุกสายพันธุ์มีชื่อเรียกทางพฤกษศาสตร์เหมือนกัน คือ Phoenix dactylifera L. การที่ใช้ชื่อสกุลเป็นชื่อนกฟีนิกซ์ ปักษาปรัมปราในเทพนิยายกรีก ก็เพราะลักษณะกิ่งก้านใบปาล์มชนิดนี้กางแผ่ออกไปทุกทิศทางคล้ายปีกนกฟีนิกซ์ แต่ความหมายที่สำคัญคือ อินทผลัมเป็นต้นไม้อายุยืน แม้ ๑๐๐ ปีก็ยังแตกดอกออกผลได้ รสหวานเหมือนเดิม ดุจเดียวกับชีวิตอมตะของนกฟีนิกซ์นั่นเอง อินทผลัมเป็นที่รู้จักทั่วโลกในชื่อสามัญว่า เดตปาล์ม (Date Palm) หรือใช้ชื่อเดตส์ (Dates) คำเดียวที่แปลว่า “วันนัดพบ” อันเป็นสื่อรักที่รู้กันเวลาชายหนุ่มมอบผลอินทผลัมแก่หญิงสาวที่นัดเดต (Dates) กันนั่นเอง อินทผลัมเป็นผลไม้แห่งบรรพกาล พบหลักฐานของปาล์มฟีนิกซ์ชนิดนี้แพร่พันธุ์อยู่ในยุคเมโสโปเตเมียก่อนคริสตกาลถึง ๕,๐๐๐ ปี เป็นผลไม้โปรดปรานของพระเจ้าที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์เก่าแก่ของยูดาห์ไบเบิล และอัลกุรอ่าน ไม่ใช่ปาฏิหาริย์หากเกิดจากความเพียรพยายามของเกษตรกรไทยหัวใหม่ ที่ไม่ต้องรอการส่งเสริมของภาครัฐที่ทำให้อินทผลัมปาล์มโบราณจากลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส ยุคเมโสโปเมีย เดินทางมาสู่ถิ่นฐานบ้านใหม่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แดนสุวรรณภูมิ แหลมทอง กลายเป็นพืชผลเศรษฐกิจใหม่ของไทยในช่วงสิบปีหลังนี้ อินทผลัมที่ปลูกได้ดีในดินไทยคือ พันธุ์บาร์ฮี (Barhi) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับรับประทานผลสด ซึ่งสามารถปลูกได้ในทุกภูมิภาคของไทยไม่น้อยกว่า ๒๐ จังหวัด ไม่แน่ว่าในอนาคต ไทยแลนด์อาจเป็นแดนโอเอซิสของอินทผลัม และเป็นแหล่งส่งออกของอินทผลัมทั้งสดและแปรรูปทั้งอบแห้งและเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพก็ได้ เนื่องจากอินทผลัมเป็นผลไม้รสหวานจัดในตัว แม้ผลสดที่ปลูกในเมืองไทยจะหวานน้อยกว่าผลแห้ง แต่ก็ยังมีคำถามเสมอว่า คนเป็นเบาหวานกินอินทผลัมได้ไหม ก่อนตอบฟันธงต้องขอยกงานวิจัยของคุณหมอจูม่า เอ็ม.อัลกาบี (Jim’s M.Alkaabi) ผู้เชี่ยวชาญของโลกอาหรับเองยืนยันว่า เมื่อทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานกินผลอินทผลัมแล้ว พบว่าไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะ “อินทผลัม” จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลในเลือดต่ำ (Low Glycemic Index) จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ กล่าวคือ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวของอินทผลัมนั้น ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ทำให้ไม่มีน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดเกินเกณฑ์ควบคุม และจากงานวิจัยของนักวิจัยไทยพบว่าอินทผลัมช่วยบำรุงตับอ่อนและรักษาโรคเบาหวานได้ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลินควบคุม หากเกิดอาการวูบเพราะน้ำตาลตกกระทันหันควรพกผลอินทผลัมติดตัวแล้วรีบกิน น้ำตาลจะกลับมาชดเชยอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ พี่น้องชาวมุสลิมที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน พอตะวันตกดินแล้วจึงกินอินทผลัมกับน้ำบริสุทธิ์ตามคำสอนของท่านนบีศาสดา เพื่อให้ร่างกายฟื้นกำลังอย่างรวดเร็ว ขอเตือนว่า อันตรายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มิใช่อยู่ที่น้ำตาลในเลือดเกินเท่านั้น แต่อยู่ที่น้ำตาลลดต่ำด้วย อย่างไรก็ตาม ร่างกายคนเราปกติต้องการน้ำตาลวันละไม่เกิน ๖ ช้อนชา ซึ่งน้ำอัดลมขวดเล็กหรือน้ำชาเขียวสารพัดยี่ห้อขวดหนึ่งเฉลี่ยมีน้ำตาล ๖-๙ ช้อนชาแล้ว สำหรับอินทผลัมสด ๑ ผล จะมีน้ำตาลราว ๔ กรัมหรือเกือบ ๑ ช้อนชา (เท่ากับ ๕ กรัม) ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควรงดน้ำตาลจากแหล่งอื่นแล้วหันมาบริโภคอินทผลัมแทน แต่อย่าให้เกินปริมาณน้ำตาลที่ควบคุม สรรพคุณสำคัญของอินทผลัมที่มีงานวิจัยยืนยันแล้วคือ อินทผลัมช่วยยับยั้งการหลั่งสารอินเตอร์ลิวคิน-๖ (Interleukin-๖) ที่ทำลายสมองในผู้สูงอายุ ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคความจำเสื่อม และมีงานวิจัยว่าสตรีตั้งครรภ์บริโภคอินทผลัม วันละ ๖ ผล เป็นเวลา ๔ สัปดาห์ (ราว ๑ เดือน) ก่อนคลอดจะช่วยให้คลอดธรรมชาติได้ง่ายและปลอดภัย เพราะอินทผลัมมีสารคล้ายฮอร์โมนออกซีโตซินที่ช่วยให้มดลูกบีบตัวในระหว่างคลอด และลดการตกเลือดหลังคลอด ในทางกลับกันสตรีตั้งครรภ์อ่อนไม่ควรบริโภคอินทผลัมเพราะเสี่ยงต่อการแท้งลูก ยิ่งกว่านั้น อินทผลัม ๑ ผลมีโพแทสเซียมสูง ๔๗ มิลลิกรัม ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้มากถึง ๔๐% และข่าวดีสำหรับท่านชายที่ประสงค์มีบุตร คือ อินทผลัมมีสารฟีลกูลีน (Philguline) ที่ช่วยบำรุงการหลั่งน้ำเชื้อ และรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วย ช่วงนี้อินทผลัมสดเริ่มวายแล้ว คงต้องกินผลอบแห้งซึ่งหาได้ง่าย แต่ต้องระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมน้ำตาลทรายเพราะแสลงต่อโรคเบาหวาน หากจะกินเป็นยาให้ลดของหวานจากแหล่งอื่น กินไม่เกินวันละ ๖ ผล วันเว้นวัน หากกินเป็นแบบนี้ ลืมป่วยไปได้เลย ...ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 สิงหาคม 2563 15:37:04 (https://puechkaset.com/wp-content/uploads/2015/02/%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3.jpg) ภาพจาก puechkaset.com ว่านน้ำ สมุนไพรจากอดีตถึงปัจจุบัน หน้าฝนเช่นนี้ ขอนำเรื่องสมุนไพรที่ชอบน้ำหรือขึ้นในที่ชื้นแฉะ และเป็นพืชสมุนไพรที่มีความน่าสนใจมากในระดับโลกชนิดหนึ่ง คือ ว่านน้ำ หรือที่รู้จักกันดีในภาษาอังกฤษในนามว่า calamus และ sweet flag ในทางวิชาการ พันธุ์พืชว่านน้ำอยู่ในสกุล Acorus ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตอนกลางและยุโรปตะวันออก แต่ก็มีหลักฐานบางชิ้นอ้างว่าถิ่นกำเนิดอยู่ในจีนและอินเดีย แต่จะกำเนิดในถิ่นไหนก็คงศึกษากันต่อไป แต่ที่แน่ๆ อย่างไม่น่าเชื่อก็คือ มีการใช้ประโยชน์สมุนไพรว่านน้ำมาตั้งแต่ยุคสมัยอียิปต์ กรีกและโรมัน ซึ่งถือว่าว่านน้ำเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งแต่โบราณที่มีความสำคัญทางการค้าด้วย และเพราะว่านน้ำสามารถขยายพันธุ์ด้วยเหง้า ทั้งการค้าและธรรมชาติที่ช่วยให้มีการกระจายว่านน้ำอย่างกว้างขวาง ต่อมาก็แพร่พันธุ์เข้าสู่ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ ในเอเชียมีการพบเห็นตามธรรมชาติในแถบภูมิภาคมาเลเซีย แต่เข้าใจว่าเป็นการกระจายพันธุ์เข้ามาโดยไม่ใช่สายพันธุ์ป่าหรือจากพื้นที่ดั้งเดิม แต่เป็นสายพันธุ์ที่มีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ก็อยู่มานานจนคุ้นชินจนเป็นพืชพื้นถิ่น นอกจากนี้ ยังพบในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี ตามประวัติศาสตร์พบว่า มนุษย์รู้จักใช้ว่านน้ำทั้งการใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยาในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมของคนทั่วโลกมาเป็นเวลานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ชื่อเรียกที่เขียนว่า “acorus” มาจากคำว่า ‘acoron” ในภาษากรีก โดยผู้ที่เรียกนามเช่นนี้เป็นคนแรก คือ นายแพทย์ไดออสคอริดีส ซึ่งแปลงชื่อมาจากคำว่า “coreon” ที่มีความหมายว่า “รูม่านตา” เนื่องจากมีการใช้ว่านน้ำตั้งแต่อดีตแล้วในการรักษาการอักเสบของลูกตา และในการกำหนดชื่อสกุลของพืช ซึ่งแต่เดิมว่านน้ำจัดอยู่ในสกุล Acorus และถูกจัดให้อยู่ในวงศ์พืชบอน หรือ Araceae แต่ต่อมาทางวิชาการได้แยกออกมาให้อยู่ในวงศ์ของตัวเอง คือวงศ์ว่านน้ำหรือ Acoraceae ซึ่งจัดว่าว่านน้ำเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งเข้าใจว่าภาพในพีระมิดที่อียิปต์ก็มีรูปต้นว่านน้ำด้วย ว่านน้ำเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นครั้งคราว เมล็ดที่สะสมในดิน ถ้าอยู่ในที่อุณหภูมิสม่ำเสมอจะมีอัตราการงอกต่ำและใช้เวลานาน แต่ถ้าอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ จะมีอัตราการงอกสูงและใช้เวลาในการงอกไม่นาน ซึ่งเหมือนเป็นกลไกธรรมชาติให้อยู่รอดในสภาวะแปรปรวนได้ดี การใช้ประโยชน์ของว่านน้ำนั้น เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์อย่างอเนกอนันต์มาตั้งแต่อดีต และใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่หลังจากเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้วได้มีการศึกษาความเป็นพิษ พบว่าว่านน้ำมีสารพิษที่เรียกว่า B-asarone ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงห้ามใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มาจากว่านน้ำมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๖๘ เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ในแถบเอเชียส่วนใหญ่มีการใช้ว่านน้ำเป็นยาสมุนไพรกันอย่างแพร่หลายในหลายรูปแบบ และยังไม่เคยมีรายงานว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหรือตับถูกทำลาย แต่เพื่อความไม่ประมาท การใช้ว่านน้ำก็ควรอยู่บนหลักการใช้ตามตำรา ตามตำรับของประสบการณ์ที่มีผู้ใช้ มิใช่นำมาใช้อย่างอุตริผิดเพี้ยน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพได้ มาดูการใช้ประโยชน์ของประเทศเพื่อนบ้านกันก่อน ว่านน้ำมีการบันทึกไว้ในตำรายาจีนที่ชื่อว่า Shennong’s classic of materia medica ซึ่งได้เขียนไว้ในช่วง ๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ถึงปี ค.ศ.๒๐๐ พูดง่ายๆ บันทึกเก่าประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้กล่าวไว้ว่าว่านน้ำใช้ในการรักษาอาการหูหนวก ตาบอด ตะคริวและความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร ในประเทศเนปาลใช้เหง้าว่านน้ำเคี้ยวกินแก้เจ็บคอ ในประเทศอินเดียมีการใช้ว่านน้ำเป็นยารักษาโรคหลายชนิด ทั้งที่บันทึกในตำรายาอายุรเวทและในประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านอินเดียจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการใช้กันอยู่ เช่น โรคลมชัก การเจ็บป่วยทางจิต ท้องร่วงเรื้อรัง โรคบิด ไข้ เนื้องอกในช่องท้อง ไตและตับมีปัญหา โรคไขข้ออักเสบ และในรัฐอัสสัมซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียนั้น คนท้องถิ่นเชื่อว่า “ว่านน้ำ” เป็นพืชวิเศษที่วิญญาณหรือปีศาจไม่สามารถเข้ามาทำลายผู้ที่มีว่านน้ำติดตัว จึงพกพาว่านน้ำไว้ป้องกันสิ่งไม่ดีด้วย โดยเชื่อว่ากลิ่นที่มีอยู่ในว่านน้ำช่วยขับไล่ และยังมีการนำเอาว่านน้ำวางไว้บนแท่นบูชาทั้ง ๔ ทิศ หรือที่ประตูทางเข้าเหมือนคอยปกปักรักษา ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีและอินเดีย ชาวบ้านที่ยังคุ้นเคยวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมจะนำชิ้นส่วนของเหง้าว่านน้ำซ่อนไว้ในผม เชื่อว่าช่วยทำให้มีสุขภาพดี เหง้าของว่านน้ำมีกลิ่นหอม เป็นกลิ่นเฉพาะ ซึ่งอาจมีส่วนคล้ายหลักการกลิ่นบำบัด หรือ aromatherapy ในประเทศโปแลนด์ มีการนำเอาไส้ในของลำต้นว่านน้ำที่ยังอ่อนอยู่มาทำเป็นขนมขบเคี้ยวให้เด็กกินในช่วงเทศกาล “เพ็นเทคอสต์” (เทศกาลขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับการเก็บพืชผล) และมีการนำเอาว่านน้ำมาประดับตกต่งในบ้าน ในอดีตขนมที่ทำจากว่านน้ำเป็นที่นิยมมากในประเทศโปแลนด์ แต่ปัจจุบันพบเห็นน้อยลง และในประเทศจีน เทศกาลที่สำคัญ เช่น เทศกาลแข่งเรือมังกร ประชาชนทุกครัวเรือนนำเอาริบบิ้นสีสวยงามมาผูกกับว่านน้ำแล้วแขวนไว้ที่ประตูบ้าน เทศกาลนี้มีมานานกว่า ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี เข้าใจว่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ว่านน้ำเป็นสมุนไพรรักษาโรคและยังเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพดี ที่น่าดีใจคือ ในทางวิชาการจำแนกได้ว่า ว่านน้ำในโลกนี้มี ๒ ชนิด แล้วประเทศไทยซึ่งมีความอุดสมบูรณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เรามีว่านน้ำทั้ง ๒ ชนิด แต่โบราณมานั้น มนุษย์รู้จักนำว่านน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งด้านอาหารและยาสมุนไพร รวมถึงใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมมาเป็นเวลานานกว่า ๓,๐๐๐ ปี ซึ่งได้เล่าถึงในตอนที่ ๑ และเป็นที่น่าสนใจว่าในทางวิชาการของพันธุ์ว่านน้ำนั้น ทั้งโลกพบว่ามีอยู่ ๒ สายพันธุ์ และในประเทศไทยก็พบได้ทั้ง ๒ ชนิดนี้ด้วย ขอชวนมาดูในตำรายาไทยที่เป็นตำรับดั้งเดิมก่อน คือ ว่านน้ำ เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ใน “พิกัดจตุกาลธาตุ” ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม และยังพบในตำรับยาไทยอื่นๆ ที่มีการใช้เหง้า เป็นยาขับลม ยาหอม แก้ธาตุพิการ และใช้เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ทั้งช่วยแก้อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย ใช้ราก แก้ไข้มาลาเรีย แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน เป็นยาระบาย แก้เส้นกระตุก บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้เสมหะ ยังพบวิธีการใช้ว่านน้ำนำมาเผาให้เป็นถ่าน กินถอนพิษสลอด ในความรู้ที่กล่าวถึงสรรพคุณว่านน้ำนั้น มีการนำมาใช้ได้หลากหลายมาก โดยส่วนใหญ่ใช้ส่วนหัว แก้ปวดศีรษะ เป็นยาขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมที่อยู่ในท้องแต่นอกกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุน้ำ แก้ข้อกระดูกหักแพลง ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ กินมากทำให้อาเจียน บำรุงกำลัง แก้โรคลม แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อ (ทำยาพอก) แก้ไข้จับสั่น บำรุงประสาท หลอดลม บิดในเด็ก ขับเสมหะ ขับระดู ขับปัสสาวะ รากฝนกับสุราทาหน้าอกเด็กเพื่อเป็นยาดูดพิษแก้หลอดลมและปอดอักเสบ เหง้าต้มรวมกับขิงและไพลกินแก้ไข้ ผสมชุมเห็ดเทศ ทาแก้โรคผิวหนัง คราวนี้มาดูพันธุ์พืช ในประเทศไทยมีรายงานจากกรมป่าไม้พบว่า ว่านน้ำมีอย่างน้อย ๒ ชนิด คือ A. calamus และ A. gramineus ซึ่งจากการทำข้อมูลพบว่าในตำรายาต่างๆ มักกล่าวถึงว่าว่านน้ำที่ใช้ในเมืองไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ A. calamus ทั้งๆ ความจริงในประเทศยังมีว่านน้ำอีกชนิดหนึ่ง คือ A. gramineus มีถิ่นกำเนิดในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางยา แต่ด้วยยังไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานจากจีนและอินเดียว่าใช้ว่านน้ำชนิดนี้เป็นยาบำรุงประสาท ซึ่งมีงานวิจัยเชิงลึกสนับสนุนว่าว่านน้ำ A. gramineus หรือเรียกกันว่า ว่านน้ำเล็กนั้นใช้รักษาความผิดปกติในหลายอาการของระบบประสาทส่วนกลาง หากสืบค้นข้อมูลจากสวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Garden) ได้รับรองว่าว่านน้ำในโลกนี้มีเพียง ๒ ชนิด (Species) และมี ๓ วาไรตี้ (Varieties) ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของ Flora of China คือ ๑. ชนิด Acorus calamus L. หรือเรียกชื่อสามัญว่า Common sweet flag มีถิ่นกำเนิดในยุโรป อินเดียตอนบน (temperate India) หิมาลัยและเอเชียตอนใต้ โดยแบ่งย่อยออกเป็น Acorus calamus var. americanus Raf. มีถิ่นกำเนิดในแคนาดา สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ สาธารณรัฐบูเรียตียา ซึ่งเป็นเขตสหพันธ์ของประเทศรัสเซีย มีลักษณะของโครโมโซมเป็น ๒n หรือ diploids และ Acorus calamus var. angustatus Besser มีการกระจายในไซบีเรีย จีน รัสเซีย ตะวันออกไกล ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย หิมาลัย อนุทวีปอินเดีย อินโดจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ในรายงานการใช้ประโยชน์จากจีนกล่าวว่าว่านน้ำจีน กล่าวถึง Acorus tatarinowii Schott. ๒. ชนิด Acorus gramineus Sol. ex Aiton มีชื่อสามัญว่า Japanese sweet flag หรือ grassy-leaved sweet flag พบการกระจายในจีน หิมาลัย ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดจีน ฟิลิปปินส์ ดินแดนปรีมอร์สกีของรัสเซีย นอกจากนี้ การสำรวจว่านน้ำในชนเผ่าต่างๆ ในประเทศจีน จำนวน ๖๘ ชนเผ่า ในปี ค.ศ.๒๐๑๙ พบว่า ยังมีการใช้ประโยชน์จากว่านน้ำในชีวิตประจำวัน คือ ชนิด Acorus calamus จำนวน ๒๙ ชนเผ่า Acorus calamus var. angustatus (สายพันธุ์ย่อย) จำนวน ๑๖ ชนเผ่า และ Acorus gramineus ๒๓ ชนเผ่า ซึ่งจากงานวิจัยเชิงลึกในจีนก็ยังไม่พบอุบัติการณ์ที่คนในชนเผ่าเหล่านี้จะเป็นมะเร็งตับ หรือมีภาวะตับอักเสบแต่ประการใด ในโปรแกรมพระไตรปิฎกไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า : ๔๖ ได้ถอดความจากต้นฉบับภาษาบาลีความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ” เมื่อตรวจสอบกับการศึกษายาในศาสตร์ของอายุรเวทที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งทำการศึกษาโดย Jyotir Mitra ในปี ค.ศ.๑๙๘๕ พบว่า ว่านน้ำ คือ Acorus calamus L. และที่กล่าวถึงเปราะหอม คือ ว่านน้ำเล็ก Acorus gramineus Sol. ว่านน้ำใหญ่ และว่านน้ำเล็ก เป็นสมุนไพรที่มีมาแต่โบราณและมีศักยภาพในยุคปัจจุบัน เราควรหันมาส่งเสริมการศึกษาและการใช้ประโยชน์กัน ...ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28863292891118__696x364_640x480_.jpg) ฮังแฮ้ง หรือแครกฟ้า พืชหายาก คําว่า “ฮังแฮ้ง” ถ้าออกเสียงในภาษาไทยกลางเรียกว่า “รังแร้ง” เป็นชื่อเรียกสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งน่าจะมีที่มาจากการที่นกแร้งชอบมาทำรังบนต้นไม้ชนิดนี้ แต่น่าเสียดายที่นกแร้งน่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย แต่ยังพอหาได้ในประเทศเพื่อนบ้าน และฟังว่าทางราชการมีโครงการเพาะพันธุ์พญาแร้งในเขตป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันจึงหาตัวนกแร้งตามธรรมชาติให้ดูกันยากมาก ได้แต่ดูภาพในอดีต และคำเปรียบเปรย “แร้งทึ้ง” “แร้งลง” ที่มีความหมายในทางลบถึงการแย่งชิงกันไม่น่าดู ต้นฮังแฮ้งก็อยู่ในสถานะไม่ต่างจากนกแร้ง เพราะเป็นพืชที่จัดในกลุ่มหายากมากใกล้สูญพันธุ์ มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Heterophragma sulfureum Kurz อยู่ในวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) พบได้ในแถบภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก ไม่พบในภาคใต้ มีชื่ออื่นว่า แคตุ้ย แคปี่ฮ่อ แคอ้อน แคอึ่ง (ลำปาง) แครกฟ้า (สุโขทัย อุตรดิตถ์) แคหางค่าง (ภาคเหนือ) แคทุ่ง (กำแพงเพชร) รังแรง รังแร้ง (ชัยภูมิ กำแพงเพชร) นางแฮ้ง รงแห้ง ฮังแฮ้ง (อีสาน นครราชสีมา) โพนผง (มหาสารคาม) สำหรับชื่อทางราชการไทยเรียกว่า แครกฟ้า ซึ่งเป็นคนละชนิดกับต้นรกฟ้า (Terminalia alata B. Heyne ex Roth) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แต่ฮังแฮ้งหรือแครกฟ้านี้เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นและกิ่งคดงอ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเป็นวง วงละ ๓ ใบ ใบย่อย ๓-๔ คู่ รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม แผ่นใบกระด้าง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนนุ่ม สีน้ำตาลอมเทาหนาแน่น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ผลทรงกระบอกยาว แตกออกเป็น ๒ ซีก ผิวมีขนสีน้ำตาลเหลืองหนาแน่น เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบาง จะขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ และที่แห้งแล้ง ตามคันนาก็เห็นได้ ในต่างประเทศพบได้ที่พม่า ลาว กัมพูชา จากฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ (Index fungorum) มีบันทึกไว้ว่า พืชในสกุลนี้มีเพียง ๒ ชนิด ซึ่งอีกชนิดหนึ่งคือ Heterophragma quadriloculare (Roxb.) K.Schum. แต่ชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย ไม้ชื่อแปลกนี้มีประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยา ผลอ่อน นำมาเผาไฟกินกับป่น กับลาบ คล้ายกับฝักเพกา ในประเทศอินเดียนิยมนำไม้ไปทำเป็นเครื่องเรือน ตู้เก็บของ วงกบ วัสดุบุผนัง เรือ หมอนไม้รถไฟและงานตกแต่งอื่นๆ สำหรับการใช้ประโยชน์ทางยา เนื่องจากเป็นไม้หายาก พบได้เฉพาะบางพื้นที่ จึงมีข้อมูลค่อนข้างน้อย แต่ในต่างประเทศมีรายงานว่า ฮังแฮ้ง ชนิด Heterophragma quadriloculare มีการนำมาใช้ในการรักษาเบาหวาน แต่ไม่มีรายงานการใช้ประโยชน์ด้านนี้ในประเทศไทย มีรายงานจากนักศึกษาบางสถาบันกล่าวถึงเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่น่าจะเป็นข้อมูลที่เอามาจากต่างประเทศมากกว่าเป็นภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านของเรา เพราะจากข้อมูลของหมอพื้นบ้าน พบว่า ฮังแฮ้งเข้ายาหลายตำรับในภาคอีสาน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน หมอยาพื้นบ้านอีสานนำมาเข้ายารักษาโรค/อาการหลายอย่าง เช่น แก้ซางทั่วไป โดยเฉพาะเด็ก ตำรับยาให้เอาผักบุ้งช้าง เครือพลูช้าง ฮากดาบเงือก เห็ดบก เอาน้ำล้างบาตรของพระเป็นน้ำแช่อาบ แล้วกิน ยาร่วมด้วย เป็นยาแช่กิน ตัวยาประกอบด้วยฮากขามป้อม เครือหมากเห็บ แก่นฮังแฮ้ง แก่นส้มมอ ยาแก้ประดง แก่นตาไก้ แก่นตากวาง แก่นดูกใส แก่นดูกอึ่ง แก่นตับเต่า แก่นฮังแฮ้ง แก่นมุยขาว แก่นมุยแดง แก่นเฮื้อนกวาง ฮากเจียงปืนผู้ ฮากเจียงปืนแม่ จวงหอม แก่นนมงัว แก่นนมสาว ฮากกระจาย หัวเขือง หัวหวายนั่ง หัวหำฮอก แก่นขี้เหล็กน้อย แก่นขี้เหล็กใหญ่ แก่นขมิ้นต้น ขมิ้นเครือ แก่นเลือดนก แก่นถ่อนเลือด ทั้งหมดนี้เอาส่วนเสมอกัน ต้มกินเช้า-เย็น ยาแก้ประดงหล่อย (มีอาการมึนตึงตามข้อมือ ข้อเท้า แข้ง ขา เดินไปมาไม่สะดวก ถ้าเป็นหนักเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่หรือพลิกไปมาไม่ได้) ให้เอาแก่นตาไก้ แก่นตากวาง แก่นดูกใส แก่นดูกอึ่ง แก่นตับเต่า แก่นฮังแฮ้ง แก่นมุยขาว แก่นมุยแดง แก่นเฮื้อนกวาง ฮากเจียงปืนผู้ ฮากเจียงปืนแม่ จวงหอม แก่นนมงัว แก่นนมสาว ฮากกระจาย หัวเขือง หัวหวายนั่ง หัวหำฮอก แก่นขี้เหล็กน้อย แก่นขี้เหล็กใหญ่ แก่นขมิ้นต้น ขมิ้นเครือ แก่นเลือดนก แก่นถ่อนเลือด ทั้งหมดนี้เอาส่วนเสมอกัน ต้มกินเช้า-เย็น ยาแก้สะดวงดัง (ริดสีดวงจมูก) ให้เอาฮากตองหมอง ไฮมี้ ไม้ฮังแฮ้ง ข่าลิ้น หญ้าหวายนา ฮากต้มกิน ยาแก้ผิดกะบูน ใช้แก่นฝางแดง กวางผู้ ต้นหางกวาง แก่นบ้งมั่ง แก่นฮังแฮ้ง หีนส้ม (สารส้ม) ต้มกิน มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกพบว่า ในเนื้อไม้ของฮังแฮ้งมีสารอิรีดอยด์ (Iridoid) ซึ่งเป็นสารช่วยลดอาการภูมิแพ้ และสารฟีนิลทานอยด์ (phenylethanoid) ซึ่งช่วยอาการเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุ แต่หมอยาพื้นบ้านอีสานหลายท่าน แม้แต่หมอยาที่มีอายุมากแล้วยังเคยปรารภว่า ไม่เคยเห็นไม้ฮังแฮ้งจริงๆ เลย รู้จักแต่ว่ามีบันทึกอยู่ในตำรายา ใช้รักษาโรคได้หลายชนิด และถือเป็นไม้วิเศษ ฮังแฮ้ง หรือรังแร้ง เป็นไม้ที่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน และมีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งอาหารและยาสมุนไพร แต่กำลังสูญพันธุ์หรือหายากยิ่งนัก จึงเชิญชวนให้เร่งนำกลับมาปลูกและขยายพันธุ์ให้มากขึ้น เพื่อการอนุรักษ์และศึกษานำประโยชน์มาใช้ให้กว้างขวางต่อไป...ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 สิงหาคม 2563 16:23:41 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35512454228268__2_1_640x480_.jpg) ต้นเทียนทะเล ไม้คุ้มครอง ที่น่าส่งเสริมให้ปลูก ข่าวคนลักลอบขโมยต้นเทียนทะเลนำไปขายเป็นไม้ประดับของสะสมของคนมีสตางค์เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่ค่อยมีคนรู้ จนเมื่อต้นเทียนทะเลที่มีรูปทรงสวยงามค่อยๆ หายไปจากชายฝั่งทะเลเกือบหมด เป็นภัยจากน้ำมือมนุษย์โดยแท้ ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้ออกคำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๙๗๗/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรไม้เทียนทะเล ใครลักลอบขุดต้องเจอโทษจำคุก ๑ ปี ปรับ ๑ แสนบาท แม้ว่าสถานการณ์ของเทียนทะเลจะไม่ค่อยดีนัก แต่ถูกจัดประเภทเป็น ‘ความกังวลน้อยที่สุด’ ในบัญชีแดงของ IUCN หรือ The International Union for Conservation of Nature ที่จัดไว้เพียงชนิดที่ถูกคุกคาม (๒๐๑๓) แต่เชื่อว่าอีกไม่นานระบบนานาชาติจะจัดให้ต้นเทียนทะเลอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น จึงชวนผู้อ่านมารู้จักต้นเทียนทะเล ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านไม่คุ้นว่าพืชชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เทียนทะเล มีชื่อไทยว่าเทียนเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Pemphis acidula J.R. Forst. จัดว่าเป็นไม้ชนิดเดียวในสกุลนี้ที่มีรายงานพบในเมืองไทย เทียนทะเลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง ๘ เมตร แต่บางต้นอาจสูงได้ถึง ๑๑ เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม แตกกิ่งแขนงจำนวนมาก ลำต้นมักบิดงอเนื่องมาจากแรงลม บางครั้งพบลำต้นมีลักษณะเลื้อย แคระ สูงเพียง ๑๕ เซนติเมตร ใบเดี่ยวรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม เทียนทะเลเป็นพืชที่ไม่ผลัดใบ ดอกสีขาวออกตามซอกใบ กลีบดอก ๖ กลีบ กลีบดอกรูปขอบขนาน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วและสามารถสร้างรากและตาใหม่ได้เร็วมาก มักเริ่มออกดอกและออกเมล็ดเมื่อสูงประมาณ ๑-๔ เมตร เทียนทะเลจัดเป็นพืชทนเค็ม พบได้ตามแนวชายฝั่งในเขตร้อนแถบอินโด-แปซิฟิก ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นที่เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่งที่สามารถเติบโตในดินทรายและดินเหนียว ในประเทศไทยพบได้ในป่าชายเลนตามป่าชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ผ่านมาผู้คนนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับและบอนไซ ในระดับโลกจะพบเห็นได้ง่ายตามหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิก แต่ในบางพื้นที่พบว่ามีจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก เนื่องจากการขยายพื้นที่อยู่อาศัยรุกรานพื้นที่ป่าธรรมชาติ และที่เร่งการสูญพันธุ์คือการขุดไปค้าขายทำบอนไซ เนื่องจากเทียนทะเลมีการกระจายตั้งแต่แนวชายฝั่งของแอฟริกาตะวันออกข้ามไปยังมหาสมุทรอินเดีย ชายฝั่งทวีปเอเชียไปจนถึงออสเตรเลียและหมู่เกาะมาร์แชลในแปซิฟิก ระบบนิเวศของเทียนทะเล ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งที่เป็นทราย ตามเวิ้งของป่าชายเลน แนวประการัง ในบริเวณที่สัมผัสกับละอองเกลือและหนองน้ำที่แห้งกว่า ตามแนวชายฝั่งที่เป็นหินปูน หินปูนตามแนวชายฝั่ง หินปูนตามหน้าผาและบนหินปูนหินโผล่บนเกาะปะการัง จึงเหมือนธรรมชาติจัดสรรไว้ เทียนทะเลมีประโยชน์สำหรับการป้องกันชายฝั่งจากลมที่มีความแรง และเป็นพืชที่แข็งแรง ในเวลาเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นได้ดีมาก อย่างไรก็ตาม เทียนทะเลส่วนใหญ่จะไม่เติบโตที่อื่นนอกเหนือจากระบบนิเวศที่กล่าวมาแล้ว ประโยชน์ของเทียนทะเลพบว่า ในทวีปเอเชีย ตามหมู่เกาะต่างๆ นำใบสดมากินเป็นผักดิบหรือนำมาต้มกิน ผลกินได้เหมือนผลไม้ นอกจากกินเป็นอาหารยังใช้เป็นยาสมุนไพรด้วย โดยใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับเปลือกต้น 1 กำมือ หรือนำเปลือกไปแช่น้ำดื่ม ใช้เป็นยาทำแท้ง ส่วนของเปลือกใช้แก้โรคปากเปื่อย การศึกษาพบว่า เปลือกต้นเทียนทะเลมีแทนนินเป็นองค์ประกอบ ๑๙-๔๓% จึงมีการนำมาใช้ในการฟอกหนัง เปลือกเมื่อนำมาฝนให้สีแดงนำมาเป็นสีย้อมได้ เนื้อไม้มีน้ำหนักมาก แข็งแรงมากและทนทานต่อการทำลายของปลวกและแมลงที่เจาะไชไม้ เนื่องจากความแข็งของไม้จึงนำมาใช้เป็นฟืนและนำมาผลิตเป็นถ่านที่ให้คุณภาพดี ในบางพื้นที่จึงเก็บเทียนทะเลมาใช้เป็นอาหาร ยา และไม้ใช้สอย แต่เนื่องจากต้นมีขนาดเล็กและลำต้นเป็นปุ่มปม เหลือจำนวนประชากรไม่มาก จึงนำมาใช้เป็นอาหารและยาไม่กว้างขวาง ส่วนใหญ่จึงนำมาใช้เป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีขบวนการค้าเมล็ดและต้นขนาดเล็กเพื่อนำมาทำเป็นบอนไซ มองในสังคม เนื้อไม้ของเทียนทะเลมีคุณค่ามากต่อชุมชนในบางวัฒนธรรม เนื่องจากมีความแข็ง มีน้ำหนัก ไม่ผุ กร่อน นอกจากนี้ ยังมีผิวละเอียดตามธรรมชาติ สามารถใช้เป็นไม้เท้า เสารั้ว และแม้แต่ใช้เป็นสมอเรือ ในประเทศมอริเชียส (Mauritius) และเรอูนียง (Réunion) ซึ่งเป็นหมู่เกาะโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส รู้จักต้นไม้นี้ในชื่อ bois matelot ที่มัลดีฟส์มีการใช้ประโยชน์ไม้เนื้อแข็งของเทียนทะเลไปใช้ในการต่อเรือแบบดั้งเดิม เพื่อยึดแผ่นไม้ของตัวเรือเข้าด้วยกัน และด้วยความแข็งแกร่งของเนื้อไม้ยังนำมาทำ “ตะปู (ไม้)” ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเกาะมาโลโว (Marovo) ตองกา ตาฮิติและหมู่เกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย และยังสามารถนำมาทำเครื่องมือของใช้ เช่น สาก ด้ามเครื่องมือ อาวุธและหวี มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าสารสกัดจากเปลือกของเทียนทะเลออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบรัดตัวมากขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งมีการใช้เป็นยาทำแท้งในเกาะวานูอาตู สารสกัดจากเปลือกพบว่ามีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย สารสกัดจากใบพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ เนื้อไม้ที่ผุแล้วนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้เป็นเครื่องสำอางประทินผิวด้วย เทียนทะเลหรือเทียนเล ช่วยรักษาระบบนิเวศและสามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้ จึงควรที่จะจัดให้มีการรณรงค์ในการฟื้นฟู เพราะขยายพันธุ์ให้มากขึ้นตลอดชายฝั่ง การประกาศควบคุมในเวลานี้เป็นเพียงช่วยป้องกันไม่ได้สูญพันธุ์ แต่ถ้าคิดเชิงบวก มาลงทุนเร่งการขยายพันธุ์สร้างรายได้ชุมชนสู้วิกฤตโควิด แทนที่จะป้องปรามไม่ให้เก็บหาอย่างเดียวก็น่าจะดีกว่า … ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 กันยายน 2563 14:55:27 (https://ytimg.googleusercontent.com/vi/J9ibItxtUDc/mqdefault.jpg)
ดื่มน้ำตะไคร้ ต้านภัยโรค สมุนไพรใกล้มือที่ซื้อหาไม่แพง แต่เป็นบอดี้การ์ดคุ้มครองสุขภาพได้อย่างดีที่ขอแนะนำยามฝนชุกนี้คือ ตะไคร้ (ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Cymbopogon citrates Stapf.) เพราะมีสรรพคุณหลักคือ ลดไข้ แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ ข้อมูลที่ควรรู้คือ ตะไคร้ ไม่ใช่พืชพันธุ์ต่างด้าวแถบอเมริกาใต้หรือแอฟริกามาดากัสการ์ตามที่มักเข้าใจผิดกัน แต่มีถิ่นกำเนิดเก่าแก่ในภาคพื้นเอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้อันเป็นที่ตั้งของแดนดินถิ่นสุวรรณภูมิของไทยด้วย ดังนั้น ตะไคร้จึงเป็นพืชผักสวนครัวยอดนิยมที่มีชื่อเรียกประจำถิ่นต่างๆ ทั่วไทย เช่น จะไคร (เหนือ), คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หัวสิงไค (อีสาน), เซิดเกรยหรือเหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์), ไคร (ใต้) เป็นต้น ในคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียกล่าวว่า ตะไคร้มีรสเผ็ดร้อน ขม ช่วยขจัดพิษออกจากร่างกาย รักษาโรคหลอดลมอักเสบได้ผลดี ส่วนสรรพคุณตามตำรายาไทยและพื้นบ้านกล่าวว่า รสหอมปร่าของตะไคร้ทั้งต้น ช่วยเยียวยาโรคอย่างน้อย ๔ กลุ่มอาการ คือ (๑) กลุ่มอาการไข้ ได้แก่ ลดไข้ทั่วไป แก้ไข้ทรางในเด็ก แก้ไข้พิษ ไข้มาลาเรีย (๒) กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ แก้หวัด คัดจมูก แก้เจ็บคอ แก้หืด (๓) กลุ่มโรคทางเดินอาหาร ได้แก่ แก้ท้องเสีย ขับลมในลำไส้ ซึ่งช่วยแก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้อาเจียน ทั้งยังบำรุงไฟธาตุ ซึ่งช่วยย่อยอาหารให้แหลกและเจริญอาหาร (๔) กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ แก้เบาพิการ ขับปัสสาวะอ่อนๆ ขับนิ่ว แก้กษัยไตพิการ ทั้งยังช่วยให้ประจำเดือนของสุภาพสตรีมาตามนัด สรรพคุณโบราณของตะไคร้ดังกล่าวสอดคล้องกับผลงานวิจัยทางเภสัชสมัยใหม่ ที่ยืนยันว่าซิตรัล (Citral) สารสำคัญในน้ำมันตะไคร้ มีฤทธิ์ลดไข้ ต้านเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือด ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิดที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ทั้งยังยับยั้งเชื้อไวรัสเริมได้อีกด้วย ดังนั้น จึงมีการทำเจลผสมน้ำมันตะไคร้เพียง ๕% w/w สำหรับล้างมือฆ่าเชื้อ เรื่องฤทธิ์ฆ่าเชื้อลดบวมสมานแผลของตะไคร้นั้น เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านรู้กันมานาน เวลาไก่ขาหัก อักเสบ บวมเดินไม่ได้ เขาจะใช้ใบตะไคร้ ๓-๔ ใบยาวพอประมาณนำมาขยี้ให้มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วเอามาพันเป็นเฝือกรอบขาไก่ เปลี่ยนใบตะไคร้วันละครั้ง ราว ๕ วัน ไก่เดินได้ปร๋อเลย อธิบายได้ว่าน้ำมันตะไคร้ช่วยฆ่าเชื้อแก้อักเสบ ลดบวม และความร้อนของน้ำมันตะไคร้ ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมารักษาบริเวณที่อักเสบนั่นเอง ต่อไปนี้เป็นวิธีต้มน้ำตะไคร้ดื่มเป็นยาอย่างง่ายที่สุด คือ เอาตะไคร้สดทั้งต้น ใบ เหง้า ราก ราว ๓ ต้น แล้วพับใบขดเป็นมัด ใส่หม้อต้ม มีน้ำพอท่วมยาต้มจนเดือด แล้วจึงราไฟลงให้น้ำเดือดอ่อนๆ ไปสัก ๕-๑๐ นาที กรองเอาน้ำตะไคร้ดื่มขณะอุ่น ครั้งละครึ่งแก้ว (ราว ๑๐๐ ซีซี) วันละ ๓ เวลาหลังอาหาร เพียงเท่านี้รับรองได้ว่าอาการไข้ เป็นหวัด คัดจมูกและท้องเสีย ปวดท้อง จะไม่มาเยี่ยมกรายท่านอีกเลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุเมื่อขับปัสสาวะเป็นปกติ ความดันโลหิตก็จะอยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย โดยไม่ต้องกินยาฝรั่งเป็นอาจิณ ซึ่งอาจมีผลเสียต่อสุขภาพตามมา ขณะนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โควิด-๑๙ ไม่จบในปีนี้แน่และไม่รู้จะจบในปีไหน ดังนั้น เกิดเป็นคนไทยต้องป้องกันภัยให้ตัวเอง นอกจากใส่หน้ากาก ล้างมือแล้ว ควรดื่มน้ำตะไคร้เป็นประจำด้วย เพื่อเป็นตัวช่วยคุ้มครองสุขภาพจ้า …มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93406128759185__1_1_640x480_.jpg) กระแจะตะนาว ตำรับโบราณ คําว่า กระแจะตะนาว เดิมเราเข้าใจว่าคือ ต้นกระแจะ ที่อยู่แถบชายแดนไทยพม่าบนเทือกเขาตะนาวศรี แต่ชื่อเรียกสมุนไพรแปลกแต่เพราะชื่อนี้ มีบันทึกไว้ในตำรายาไทยหลายแห่งหลายที่ เช่น ในศิลาจารึกวัดโพธิ์ แผ่นที่ ๓๑ ซึ่งมียาชื่อ มหาสมมิตร์ ก็พบ กระแจะตะนาว เป็นองค์ประกอบของยาตำรับนั้นด้วย จากเอกสารและฐานข้อมูลหลายแหล่งกล่าวว่า “กระแจะตะนาว” หมายถึงชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวมอญเรียกว่า ต้นตะนาว ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hesperethusa crenulata M.Roem. หรือที่เราคุ้นเคยว่าคือต้นทานาคา หรือต้นตูมตังที่เรียกกันในภาคอีสาน แต่ก็มีข้อมูลบางแหล่งกลับบอกว่า กระแจะตะนาว เป็นชื่อเครื่องหอมชนิดหนึ่งที่มีผลิตมากที่แถบถนนตะนาวใกล้ๆ เสาชิงช้าใจกลางกรุงกรุงเทพมหานครนี้เอง จึงมีการตีความคำว่ากระแจะตะนาวไป ๒ ทาง คือ ชื่อพืชสมุนไพร และชื่อเรียกเครื่องหอมชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อสืบค้นเอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ ในหมวดเวชศาสตร์ ชื่อตำรายาเกร็ด เลขที่ ๕๑๑ มัดที่ ๓๒ ตู้ ๑๑๒ ชั้น ๔/๒ ได้กล่าวไว้ว่า การทำกระแจะตะนาว มีองค์ประกอบและวิธีการทำดังนี้ “ดอกพิกุล ๑ ดอกกดังงาเทษ ๑ เกษรษารภี ๑ ผิวมกรูต ๑ ใบภิมเสน ๑ ใบกระเจะ ๑ แฝกแหวมู ๑ ขอนดอก ๑ เกล็ดหอยเทษ ๑ โกฐหัวบัว ๑ เนื้อไม้ ๑ จันเทษ ๑ หญ้าฝรั่น ๑ ชมดเชียง ๑ ภิมเสน ๑ เอาสิงลส่วน ๑ ดอกกะเจียว ๑๖ ส่วน เอา น้ำกระแจะเปนกระสาย บททำแท่งตากไว้ในร่มย่าให้ถูกแดดกว่าจะแห้ง ใส่ขวดนึงไว้ แส…ตัวอักษรเลือน…แล” บันทึกโบราณชิ้นนี้ก็แสดงว่า กระแจะตะนาว เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่ง ประกอบด้วย ดอกพิกุล ดอกกระดังงาเทศ เกสรสารภี ผิวมะกรูด ใบพิมเสน (ต้น) ใบกระแจะ แฝกแห้วหมู ขอนดอก เกล็ดหอยเทศ โกฐหัวบัว ไม้กฤษณา จันทน์เทศ หญ้าฝรั่น ชะมดเชียง พิมเสน (เกล็ด) อย่างละ ๑ ส่วน มาบดรวมกับดอกกระเจียว ๑๖ ส่วน โดยเอาน้ำกระแจะเป็นน้ำกระสาย นำส่วนประกอบที่ได้มาปั้นให้เป็นแท่งผึ่งให้แห้งในที่ร่ม อย่าให้ถูกแดด จากตำรับดังกล่าวจะเห็นว่าองค์ประกอบทั้งหมดเป็นสมุนไพรที่ให้กลิ่นหอม การปรุงเครื่องหอมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ปรุงยาน่าจะเป็นเรื่องปกติของคนสมัยก่อน ดังจะเห็นได้จากสังคมในภาคอีสานก็มีการทำเครื่องหอมใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อขับไล่แมลง เห็บ เหา โลน เป็นต้น เครื่องหอมเหล่านี้ยังใช้เป็นเครื่องบำรุงจิต ลดความเครียดและอาจเป็นสุคนธบำบัดประเภทหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากเครื่องปรุงของกระแจะตะนาว ค่อนข้างชัดเจนว่าส่วนหนึ่งน่าจะใช้เป็นเครื่องหอม แต่ก็มีอีกหลายท่านเห็นว่า กระแจะตะนาวเป็นพืชสมุนไพรในเครื่องปรุงยา เช่น ในตำรับยาชื่อ มหาสมมิตร์ กล่าวถึง กระแจะเป็นส่วน ประกอบยา ดังนี้ พิกุล (Mimusops elengi Sieber ex A.DC.) ส่วนดอกใช้บำรุงโลหิต มีกลิ่นหอม กระดังงาเทศ (Cananga odorata Hook.f. & Thomson) ดอกใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ เป็นยาแก้ไข้ น้ำมันหอมระเหยใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ทำน้ำหอม สารภี (Mammea siamensis T.Anderson) เกสรมีสรรพคุณ ช่วยทำให้ชื่นใจ ช่วยบำรุงครรภ์รักษา มะกรูด (Citrus hystrix DC.) ผิวของผลปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น เป็นยาบำรุงหัวใจ พิมเสน (ต้น) (Pogostemon cablin (Blanco) Benth.) ตำรายาไทยใช้ใบเป็นยาลดไข้ ใช้ปรุงเป็นยาเย็น แก้ไข้ทุกชนิด ช่วยถอนพิษร้อน ทำให้ความร้อนในร่างกายลดลง มักปรุงในตำรับยาเขียว ยาถอนพิษไข้ ยาจันทลีลา กระแจะ (หรือกระแจะตะนาว) (Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.) ส่วนของใบมีรสขมและเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นต้มกินแก้ลมบ้าหมู แต่บางตำรับให้ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว ช่วยในการคุมกำเนิด ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก แฝกแห้วหมู (Cyperus rotundus L.) หัวใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ยาอายุวัฒนะ ขอนดอก คือเนื้อไม้ที่มีราลงของไม้พิกุล หรือไม้ตะแบก ขอนดอก ใช้บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ลมกองละเอียด แก้ลมวิงเวียน บำรุงทารกในครรภ์ แก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ เกล็ดหอยเทศ (Hydrocotyle sibthorpioides) ทั้งต้นใช้รักษาอาการหอบ หืด เจ็บคอ ลดไข้ ใช้รักษากระดูกหัก รักษาแผลเน่าเปื่อยที่เป็นฝีหนอง โกฐหัวบัว (Ligusticum sinense Oliv.) เหง้า แก้ลมในกองริดสีดวง กระจายลมทั้งปวง (แก้ลมที่คั่งอยู่ในลำไส้ ทำให้ผายออกมา) ขับลม แก้ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกระดูก ในจีนใช้เป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะและปวดต่างๆ แก้โรคโลหิตจาง แก้ปวดประจำเดือน ไม้กฤษณา (เนื้อไม้) (Aquilaria crassna Pierre ex Lecomte) เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงกำลัง ช่วยบำรุงโลหิต จันทน์เทศ (Myristica fragrans Houtt.) ใช้แก้ธาตุพิการ บำรุงกำลัง แก้ไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงโลหิต แก้จุกเสียด ขับลม รักษาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ หญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ในประเทศเยอรมนีมีการใช้เพื่อเป็นยาคลายกล้ามเนื้อประสาท ช่วยผ่อนคลายความเครียดของระบบประสาท ยอดเกสรและกลีบดอกหญ้าฝรั่นช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าได้ ชะมดเชียง เป็นไขจากต่อมกลิ่นที่อยู่ระหว่างอัณฑะและสะดือของชะมด ชะมดเชียงมีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย ตำรายาแผนโบราณระบุว่า ใช้ปรุงเป็นยาชูกำลังและบำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว ใช้ผสมในยาแผนโบราณต่างๆ หลายขนาน แก้โรคลม โรคเกี่ยวกับโลหิต โรคตา เส้นประสาท ไอหอบหืด ฯลฯ พิมเสน (เกล็ด) พิมเสนแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ พิมเสนที่ได้จากธรรมชาติและพิมเสนสังเคราะห์ พิมเสนธรรมชาติมาจากการระเหิดของยางจากต้นไม้ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dryobalanops aromatica Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา พิมเสนสังเคราะห์ ได้จากสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น ต้นการบูร (Cinnamomum camphora (L.) Presl.) หนาด หรือพิมเสนหนาด (Blumea balsamifera (L.) DC.) หรือมาจากน้ำมันสนโดยผ่านวิธีทางเคมีวิทยา พิมเสนมีรสเผ็ดขม มีกลิ่นหอม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและปอด เป็นยาบำรุงหัวใจ กระแจะตะนาว ตำรับโบราณชื่อนี้เป็นได้ทั้งเครื่องหอมที่สังคมไทยควรนำกลับมาฟื้นฟูภูมิปัญญาเพื่อนำของดีมาช่วยลดความเครียดในชีวิตประจำวัน ใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพบำรุงกายใจได้อย่างดี …มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤศจิกายน 2563 16:04:57 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/66931646482811__640x480_.jpg)
ชมพู่ ผลไม้ยาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ชมพู่เป็นไม้ชนิดหนึ่งในหลายร้อยชนิดที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เมื่อค้นคว้าดูพบได้ถึง ๖ เล่ม คือเล่มที่ ๑, ๒๖, ๒๗, ๒๘, ๓๒ และ ๓๓ การบันทึกไว้ส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงการเป็นผลไม้ที่กินได้ ที่น่าสนใจคือ ชมพู่ในพระไตรปิฎกนั้น คือ ชมพู่ชนิดใด เนื่องจากชมพู่เป็นต้นไม้ที่คนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ก็มีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งถือโอกาสเล่าถึงชมพู่ที่ปรากฏในประเทศไทย โดยแบ่งตามลักษณะของพฤกษศาสตร์ได้ถึง ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ๑.ชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium jambos (L.) Alston) มีชื่อภาษาอังกฤษว่า rose apple เข้าใจว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดียและมีการนำไปปลูกในที่ต่างๆ ทั่วโลก ผลมีลักษณะที่แตกต่างไปจากชมพู่ทั่วไป มีผลกลมคล้ายแอปเปิล ใช้รับประทานได้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานมาก เปลือกยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้ด้วย ในอดีตเคยมีการปลูกเป็นการค้า ปัจจุบันจัดเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง จึงทำให้มีการขายผลหรือลูกชมพู่ชนิดนี้ราคาแพง ในการใช้ประโยชน์สมุนไพรพบว่า ประเทศเนปาลมีการใช้ส่วนต่างๆ ของต้นชมพู่เป็นยาบำรุงร่างกายและเป็นยาขับปัสสาวะ ในประเทศอินเดียใช้ผลเป็นยาบำรุงร่างกายเพื่อฟื้นฟูและปกป้องสมองและตับ มีการนำผลชมพู่นำมาชงหรือแช่น้ำดื่มเพื่อขับปัสสาวะ เกสรดอกชมพู่ใช้ลดไข้ เมล็ดใช้แก้โรคท้องร่วง บิด และโรคหวัด ในประเทศนิการากัวมีการอ้างถึงการแช่เมล็ดชมพู่ที่คั่วบดแล้ว นำมาชงดื่มเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในประเทศคัมเบียใช้เมล็ดเป็นยาชา ใบนำมาต้มใช้รักษาอาการเจ็บตา นอกจากนี้ ยังใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับเสมหะและรักษาอาการไขข้ออักเสบ น้ำหมักจากใบใช้เป็นยาแก้ไข้ ใบแห้งบดให้เป็นผง ใช้ทาตามตัวผู้ป่วยที่เป็นไข้ทรพิษเพื่อเป็นการลดความร้อนจากภายใน เปลือกของต้นมีแทนนินอยู่ประมาณ ๗-๑๒.๔% จึงใช้เป็นยาสมานแผลได้ และยังนำมาเป็นยาทำให้อาเจียนและเป็นยาระบาย และยังมีการนำเปลือกของต้นนำไปทำเป็นยาต้มดื่มเพื่อบรรเทาโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบและเสียงแหบ ชาวคิวบาเชื่อว่ารากมีประสิทธิภาพสำหรับแก้โรคลมชัก ๒.ชมพู่แก้มแหม่ม (Syzygium samarangense (Blume) Merr. & L.M.Perry) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า wax apple, Java apple, Semarang rose-apple และ wax jambu มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิยมปลูกไปทั้งภูมิภาค มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้ชมพู่ที่มีลักษณะแตกต่างกัน และเรียกชื่อได้มากมาย เช่น ชมพู่สีนาก ชมพู่พลาสติก ชมพู่กะหลาป๋า ชมพู่เพชรบุรี ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่ทับทิมจันท์ เป็นต้น ในอินโดนีเซียนิยมนำไปทำโรยักหรือนำไปดองที่เรียกอาซีนัน เปลือกผลมีลักษณะคล้ายไขเคลือบ เนื้อค่อนข้างแห้ง มีกลิ่นหอม ชมพู่แก้มแหม่มมีการนำส่วนต่าง ๆ มาใช้เป็นยาพื้นบ้าน เช่น ในส่วนของเปลือกมีแทนนินสูง ใช้เป็นยาสมานแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลือกใบและรากของชมพู่แก้มแหม่มหรือบางที่เรียกว่า แอปเปิลมาเลย์ มีการนำมาใช้กับโรคที่แตกต่างกัน เช่น ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ใช้ใบรักษาโรคผิวหนัง ส่วนของดอกชมพู่แก้มแหม่มใช้เป็นยาสมานแผลและใช้ในการรักษาอาการไข้และหยุดอาการท้องเสีย ในชมพู่มีส่วนประกอบทางเคมี เช่น แทนนิน และยังมี desmethoxymatteucinol (สารลดความอ้วน) 5-O-methyl-4′-desmethoxymatteucinol (ลดน้ำตาลในเลือด) กรดโอเลอิกและ B-sitosterol (ช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์) จากการทดสอบสารสกัดจากดอกพบว่ามีประสิทธิภาพอย่างอ่อนในการต่อต้านแบคทีเรียและราหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Mycobacterium smegmatis และ Candida albicans ๓.ชมพู่มะเหมี่ยว หรือ ชมพู่สาแหรก (Syzygium malaccense (L.) Merr. & L.M.Perry) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Malay rose apple มีการกระจายตัวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เมียนมา ไทย มาเลเซีย นิวกินี หมู่เกาะบิสมาร์ก ตอนเหนือของออสเตรเลีย ในหมู่เกาะนิวกินีนิยมนำดอกมาดองกับน้ำเชื่อมหรือกินสดแบบผักสลัด ใบอ่อนและยอดอ่อนในขณะที่ยังเป็นสีแดงก็นำมากินดิบร่วมกับข้าวได้ ในการนำมาใช้ทางสมุนไพร ใช้เปลือกไม้มารักษาวัณโรค การติดเชื้อในปาก ปวดท้องและโรคในช่องท้อง รักษาแผลในปากของเด็ก ใช้เป็นยาถ่ายและเป็นยาพื้นบ้านรักษากามโรค ส่วนของใบใช้แก้อาการตาแดง ใบนำมาต้มใช้เป็นยาล้างแผลที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง และยังใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยาแก้ไอ ปัสสาวะมีสีเหลือง แก้อาการเบื่ออาหาร ยาแก้ปวดกระดูก แก้เบาหวาน โรคหนองใน กระเพาะอาหารบวมหลังคลอด เจ็บคอ โรคหลอดลมอักเสบ และเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก เฉลยคำตอบหลังจากรู้จักชมพู่ทั้ง ๓ ชนิดแล้ว น่าจะตอบได้ว่า ชมพู่ในพระไตรปิฎกนี้หมายถึง ชมพู่น้ำดอกไม้ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และในกลุ่มประเทศอินเดีย เนปาล และมีภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์ทางยาอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังพอสรุปได้ว่า ชมพู่น้ำดอกไม้ แก้มแหม่มหรือมะเหมี่ยว ต่างก็เรียกว่าชมพู่เหมือนกัน แต่การนำมาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ปัจจุบันมีการปลูกชมพู่ในทุกภาค โดยเฉพาะกลุ่มชมพู่แก้มแหม่มมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสาคร แต่ปลูกเพื่อบริโภคผลเท่านั้น หวังว่าต่อจากนี้เรามาช่วยกันฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านสรรพคุณทางยา เพื่อเพิ่มคุณค่าของชมพู่ให้กว้างขวางเป็นประโยชน์มากขึ้น…มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/43253534866703__1_696x364_1_.jpg) ตาลแขก และข้าวมธุปายาส สถานที่นิยมในการไปจาริกแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย คือ บ้านนางสุชาดา เพราะอยู่ใกล้พุทธคยา เรื่องเล่าตามพุทธประวัติกล่าวว่า นางสุชาดาอธิษฐานขอให้ได้คู่ครองที่เหมาะสม ให้ได้ลูกคนโตเป็นผู้ชาย เมื่อนางได้สมใจตามคำอธิษฐาน จึงตั้งใจที่จะกวนข้าวมธุปายาสถวายแด่เทพเจ้าที่บันดาลให้นางได้สมความปรารถนาทุกประการ ในวันที่นางกวนข้าวเสร็จ หญิงรับใช้ในบ้านมาแจ้งว่ามีเทวดาองค์หนึ่งมานั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นนิโครธ (Ficus benghalensis L.) ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนางสุชาดาไปประมาณครึ่งกิโลเมตร ซึ่งเทวดาที่เข้าใจนั้นก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง นางสุชาดาจึงได้ปั้นข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลจำนวน ๔๙ คำ ใส่ถาดทองคำ เพื่อนำไปถวายให้กับพระพุทธเจ้า (ในเอกสารบางฉบับกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ปั้นข้าวเอง) จากบันทึกนี้ทำให้หลายท่านเกิดความสงสัยว่า ข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลจำนวน ๑ ถาดนั้น พระพุทธเจ้าทรงฉันได้หมดในคราวเดียวได้อย่างไร? ถ้าท่านที่เคยไปอินเดียที่สถานที่จริงก็จะเข้าใจว่า ผลตาลที่มีบันทึกในพุทธประวัตินั้นไม่ใช่ผลตาลที่เรารู้จักที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในเมืองไทย ผลตาลนี้น่าจะหมายถึงผลของ “ตาลแขก” ซึ่งเป็นอินทผลัมชนิดหนึ่ง แต่เป็นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าอินทผลัมทั่วไป ตาลแขกเป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังพบเห็นได้เป็นจำนวนมากในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของบ้านนางสุชาดา ที่เข้าใจว่าเป็นผลตาลน่าจะเพราะคนถอดความมาจากบาลี คิดไปว่าเป็นต้นตาลในเมืองไทยเพราะพืชชนิดนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มของปาล์มเช่นกัน เอกสารหลายชิ้นบางครั้งก็ข้ามหรือไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องการปั้นข้าวมธุปายาส ๔๙ ก้อนมากนัก เพราะคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะปั้นข้าวเท่าผลตาลแล้วใส่มาในถาดใบเดียว ตาลแขกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix sylvestris (L.) Roxb. แต่ในเอกสารบางแห่งในปัจจุบัน เรียกตาลแขกว่า “อินทผลัมไทย” ความจริงแล้วตาลแขกไม่มีรายงานว่ามีอยู่ในประเทศไทย แต่จากการพูดคุยกับนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เคยเห็นต้นตาลแขกบ้างที่ปลูกอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ตาลแขกมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและทางตอนใต้ของปากีสถาน เป็นพืชที่พบตามธรรมชาติในที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุในปากีสถาน มีรายงานว่านำไปปลูกทั่วไปในอินเดีย พม่า ไทย ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ มอริตุส จีน แต่น่าแปลกใจที่หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ ไม่มีรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ในประเทศไทย ตาลแขกชอบขึ้นตามป่าเปิดและทุ่งหญ้า ส่วนใหญ่พบได้ตามที่ราบ ตามเชิงเขาหิมาลัยและตามแนวชายฝั่ง เป็นพืชในกลุ่มปาล์ม สูงได้ถึง ๑๐-๑๖ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งไม่ใหญ่เหมือนอินทผลัมทั่วไป มีทรงพุ่มขนาดใหญ่และลำต้นขรุขระปกคลุมด้วยรอยของฐานใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว ใบยาว ๓-๔.๕ เมตร สีเขียวอมเทามีหนามสั้นๆ สองสามอันที่ฐาน มีใบย่อยเล็กๆ (pinnules) จำนวนมากเรียงเป็นเส้นยาว ส่วนท้ายมีลักษณะเป็นติ่งสั้นๆ ดอกมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ดอกตัวผู้สีขาว ส่วนดอกตัวเมียสีเขียว ช่อผลสุกยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ผล สีเหลืองอมส้มเมื่อสุก ผลเป็นแบบเบอร์รี่รูปรียาว ๒.๕-๓.๒ เซนติเมตร จึงยืนยันได้ว่าหากปั้นข้าวมธุปายาสขนาดเท่าผลตาลแขกจำนวน ๔๙ คำ ก็ได้ขนาดเท่าข้าวคำเล็กๆ ที่กินได้ เมล็ดยาวประมาณ ๑.๗ เซนติเมตร ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดนำมาเพาะทันทีที่ผลสุกแล้ว ต้องใช้เวลา ๒-๓ เดือนจึงจะงอกออกมาเป็นต้น ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากอินทผลัมทั่วไปคือ ตาลแขกมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่อินทผลัมทั่วไป ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่คนละต้น และอินทผลัมทั่วไปไม่มีการนำเอาน้ำจากลำต้นมาทำน้ำตาลหรือเหล้าเหมือนกับต้นตาลแขก การใช้ประโยชน์ ด้านอาหาร ผลมีรสหวานเหมือนอินทผลัมทั่วไป ส่วนยอดของต้นใช้ผลิตน้ำตาลสด เพื่อทำเครื่องดื่ม หมักเหล้า หรือเคี่ยวเป็นน้ำตาล สามารถเก็บน้ำหวานจากช่อดอกที่ยังไม่บานได้ โดยการตัดที่ปลายช่อดอก เอาภาชนะมารอง สามารถเก็บน้ำหวานได้ถึงวันละ ๕ ลิตร เป็นเวลาหลายเดือน น้ำหวานนี้มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบร้อยละ ๑๔ผลและเมล็ดรับประทานได้ ส่วนกลางของลำต้นให้แป้งเหมือนต้นสาคู นอกจากส่วนของช่อดอกแล้วส่วนของลำต้นก็มีแป้งและน้ำตาลที่สามารถนำไปหมักเป็นแอลกอฮอล์ได้ ประโยชน์ ด้านยาสมุนไพร ผลช่วยบำรุงหัวใจ แก้อาการท้องอืดเฟ้อ แก้อาเจียนและรักษาอาการหมดสติ ผลนำมาบดแล้วผสมกับเมล็ดอัลมอนด์ เมล็ดมะตูม ถั่วพิสตาชิโอและน้ำตาล ใช้เป็นยาที่ช่วยฟื้นฟูกำลัง น้ำคั้นที่ได้จากลำต้นถือเป็นเครื่องดื่มคลายร้อน รากใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ฟื้นฟูระบบประสาทที่อ่อนแอ ขับพยาธิ เยื่อใยที่ได้จากส่วนกลางของลำต้นใช้รักษาโรคหนองใน ลดไข้ บำรุงหัวใจ ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะและต้านอนุมูลอิสระ ในประเทศอินโดนีเซียและอินเดียมีความเชื่อว่าน้ำตาลที่ได้จากต้นตาลแขกมีคุณภาพดีกว่าน้ำตาลที่ได้มาจากอ้อย น้ำที่ได้จากลำต้นมีวิตามินซีสูงมาก ใบใช้รักษาอาการอักเสบในตา ตาลแขกเป็นต้นไม้ที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันของคนพื้นเมืองในอินเดียและประเทศโดยรอบ โดยเฉพาะคนพื้นเมืองในบังกลาเทศ คล้ายกับการใช้ไผ่ในวัฒนธรรมของคนจีน เช่น ลำต้นใช้เป็นคานรองรับหลังคาในการก่อสร้างบ้านและใช้สำหรับเปลี่ยนเส้นทางของน้ำเข้าสู่กังหันของโรงน้ำ ใบมักใช้ทำเสื่อ ทำไม้กวาด กระเป๋า และพัด เป็นต้น ในขณะที่หนามยาวและเงี่ยงของตาลแขกใช้ทำเป็นแปรงสีฟันและเข็มแบบดั้งเดิม น้ำจากลำต้นเรียกว่า “นีรา” (Neera) นำมาทำเป็นน้ำตาล (jaggery) และเหล้า (toddy) โบราณของอินเดีย ซึ่งจัดได้ว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว ผลสุกนำไปเลี้ยงสัตว์ทำให้ได้น้ำนมที่มีไขมันเพิ่มมากขึ้น ลำต้นใช้ก่อสร้างและใช้ทำเชื้อเพลิง หรือใช้เป็นไม้ประดับ ตาลแขกเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านของทั้งอินเดียและบังกลาเทศเลย น่าสนใจหากเรียนรู้จากเพื่อนบ้านแล้วนำตาลแขกมาปลูก เป็นพืชอาหารและสมุนไพรที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่สามารถถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเยาวชนรุ่นต่อไป และยังช่วยส่งเสริมรายได้ชุมชนได้ด้วย …มติชนสุดสัปดาห์ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 พฤศจิกายน 2563 16:08:16 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11425878397292__3_696x364_1_640x480_.jpg)
อัญชันสำคัญกว่าที่คิด พิชิตโรคหลอดเลือด เมื่อเอ่ยถึงอัญชัน โดยทั่วไปมักนึกถึงดอกสีน้ำเงินสดใส ที่นิยมนำมาใช้เป็นสีธรรมชาติผสมอาหาร ขนม เครื่องดื่มและเครื่องสำอางมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เช่น ข้าวเหนียวมูนอัญชัน ขนมช่อม่วง ปลูกคิ้วเข้ม เป็นต้น แต่จริงๆ แล้วอีกหลายส่วนของอัญชันล้วนมีสรรพคุณโดดเด่นทั้งรากและใบ การใช้อัญชันตามภูมิปัญญาพื้นบ้านนั้น ส่วนรากใช้ฝนเอาน้ำหยอดตา แก้ตาเจ็บ ตาแฉะ ตาฟาง บำรุงสายตาให้สว่างแจ่มใส และยังใช้ผสมผงข่อย หรือผงคนทาทำยาสีฟัน แก้ปวดฟัน-เหงือกบวมได้ดี และนำมาต้มดื่มเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ช่วยลดไข้ได้ดีด้วย ส่วนน้ำต้มดอกอัญชันเข้มข้นมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ช่วยให้สตรีมีเลือดฝาดสมบูรณ์ เมล็ดและฝักอ่อนรับประทานเป็นผักบำรุงร่างกายและช่วยระบายอ่อนๆ ปัจจุบันมีงานวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยารับรองว่า รากอัญชันมีฤทธิ์ลดไข้ได้เท่ากับยาพาราเซตามอล ส่วนใบใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อยได้ชะงัด มีงานวิจัยว่า สารสกัดน้ำใบอัญชันมีฤทธิ์ระงับปวดกล้ามเนื้อได้ชะงัดกว่า และมีพิษข้างเคียงน้อยกว่ายาแก้ปวดไดคลอฟีแน็ก (diclofenac sodium) ในท้องตลาด งานวิจัยยังมีอีก พบว่าการให้สารสกัดเอทานอลใบอัญชันกับหนูทดลองขนาดวันละ ๒๐๐ และ ๔๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว นาน ๗๕ วัน สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และฟื้นฟูความจำของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานและความจำเสื่อมได้ดีกว่าหนูกลุ่มควบคุมอย่างเห็นได้ชัดเจน ที่น่าสนใจคือ จากการตรวจวัดค่าชีวเคมีในเลือดหนู พบว่าสารสำคัญอปาราจิติน (aparajitin) และแอสตรากาลิน (astragalin) ช่วยเสริมการทำงานของเอ็นไซม์อะซิติลโคลีน (acetylcholine) ที่ทำหน้าที่สื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และความจำและยังเพิ่มระดับของเอ็นไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส (superoxide dismutase) หรือ SOD ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายและต้านเซลล์มะเร็ง ผลการทดลองนี้อนุมานได้ว่า สารสกัดด้วยเหล้าขาวของใบอัญชันสามารถออกฤทธิ์บำรุงสมองในคน และกระตุ้นการเรียนรู้ ช่วยฟื้นฟูความจำในผู้ป่วยเบาหวานที่ความจำเสื่อมได้เช่นกัน โดยขนาดใบอัญชันแห้งสำหรับคนก็ใช้สัดส่วนเดียวกับที่ใช้ในหนูทดลองคือประมาณวันละ ๑๐-๒๐ กรัม/น้ำหนักตัว ๕๐ กิโลกรัม โดยอาจจะใช้วิธีดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่มก็ได้ ใบอัญชันจึงเป็นทางเลือกราคาถูกกว่าใบแปะก๊วย สําหรับสรรพคุณบำรุงสมองในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมีการวิจัยในหนูทดลองเช่นกันว่า สารสกัดน้ำจากใบหรือดอกอัญชันขนาดวันละ ๑๐๐ ถึง ๔๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัวนาน ๑๔-๘๔ วัน สามารถลดระดับค่าเฉลี่ยสะสมของน้ำตาล คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดรวมทั้งยับยั้งเอ็นไซม์กลูโคส-6-ฟอสฟาเตส (glucose-6-phosphatase) ไม่ให้เปลี่ยนกลูโคสฟอสเฟตเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดและยังเพิ่มปริมาณไขมันชนิดดีในเลือด (HDL-cholestesterol) ที่สำคัญคือช่วยเสริมสมรรถภาพของกลุ่มเซลล์ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เข้าสู่ภาวะเบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมาที่สำคัญคือโรคหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในคนไทย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมองที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดเลือดได้ เฉพาะสรรพคุณบำรุงสมองและช่วยฟื้นฟูความจำด้วยอัญชันนั้น หากต้องการใช้ขนาดรับประทานที่น้อยลงถึง ๔ เท่าและใช้ระยะเวลาน้อยลงถึง ๒ เท่า ต้องใช้ส่วนราก มีการศึกษาในหนูทดลองแรกและหนูวัยสมบูรณ์พันธุ์ พบว่าการป้อนสารสกัดน้ำรากอัญชัน ขนาดวันละ ๕๐ และ ๑๐๐ มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว เป็นเวลาเพียง ๓๐ วัน พบว่าหนูที่ได้รับน้ำรากอัญชันให้ผลการทดสอบดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ส่งผลต่ออัตราความเคลื่อนไหวหรือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม นอกจากงานวิจัยยืนยันสรรพคุณช่วยฟื้นฟูความจำ บำรุงสมอง ควบคุมเบาหวานของอัญชันแล้ว ยังมีงานวิจัยพบว่าสารเทอร์นาติน ดี 1 (ternatin D1) ในดอกอัญชันซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ช่วยลดการอุดตันในหลอดเลือด ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจวาย สโตรกและไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นมฤตยูเงียบในปัจจุบัน ช่วงนี้ปลายฝนกำลังผ่านเข้าสู่เหมันต์มวลอากาศหนาวเย็นจะทำให้ฝุ่นจิ๋ว PM ๒.๕ ในบรรยากาศหนาแน่นขึ้นเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ รอบสอง เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เตือนว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM ๒.๕ แม้เพียง ๑% จะทำให้การตายจากโรคโควิด-๑๙ เพิ่มขึ้นถึง ๘% อัญชันเป็นสมุนไพรพรรณไม้ใกล้ตัว นอกจากปลูกไว้ริมรั้วเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำทั้งดอกหรือใบหรือรากมาต้มเป็นน้ำสมุนไพรสีสวย ราคาย่อมเยากว่าอาหารเสริมราคาแพง ที่ดื่มได้ทุกวันในขนาดไม่เกินวันละ ๒๐ กรัม ทั้งความรู้ดั้งเดิมตามสรรพคุณตามภูมิปัญญาและการศึกษาวิจัยใหม่จะช่วยคุ้มครองคุณภาพชีวิตในช่วงโรคระบาดโควิด-๑๙ ที่เคล้ากับหมอกฝุ่นพิษ ที่อาจเกิดวิกฤตสุขภาพในปลายปีชวดนี้... มติชนสุดสัปดาห์ ‘อัญชัน สำคัญกว่าที่คิด พิชิตโรคหลอดเลือด’ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68256021663546__696x364_1_640x480_.jpg) กินแกงเลียงเลี่ยงมะเร็ง “เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา รับกฐินภิญโญโมทนา ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย” ถึงกาลออกพรรษาหน้ากฐินคราวไร ก็ให้หวนคะนึงถึงวรรคทองต้นบทนิราศภูเขาทองของพระสุนทรภู่ ซึ่งเสมือนเป็นปฏิทินชีวิตของชาวไทยที่ยังผูกพันกับประเพณีและสายน้ำ “ยามเดือนสิบเอ็ดน้ำเริ่มไหลนอง” และเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ยาวนับเดือน อันเป็นเวลาสุดฟินของนักท่องเที่ยวเดินทางสู่ภูดูทะเลหมอก แต่ขณะเดียวกันในช่วงฤดูแปรเช่นนี้ ที่ยามค่ำยังฉ่ำชื้นหนาว ยามเช้าได้กอดหมอกบนภูสูง ก็ต้องระวังรักษาสุขภาพเป็นพิเศษด้วยอาหารและยารสร้อนสุขุม คือ เผ็ดอ่อนๆ ไม่จืดและไม่เผ็ดจัด แต่ไม่เอาเผ็ดกลาง (เผด็จการ) นะฮับ (ฮา) มีคำถามว่า “สำรับไหนไทยแท้เก่าแก่ที่สุด” คำตอบในที่นี้ก็คือ “แกงเลียง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแกงไทยโบราณชนิดหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพของคนไทยมาช้านาน หลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นแกงโบราณนั้นก็ดูที่เครื่องเทศซึ่งใส่ในแกงเลียง คือ พริกไทย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นพริกสัญชาติไทยแท้ ไม่ใช่พริกต่างด้าวจำพวก พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกหยวก ฯลฯ ซึ่งฝรั่งโปรตุเกสนำเข้ามาช่วงยุคอยุธยาตอนต้น และองค์ประกอบหลักของแกงเลียง ก็เป็นผักพื้นบ้านกับปลาหรือกุ้ง ไม่มีเนื้อสัตว์สี่เท้าหรือสองเท้า ทั้งไม่มีไขมันสัตว์หรือกระทั่งไขกะทิเจือปนเหมือนตำรับอาหารชาววังหรืออาหารต่างประเทศเลย ในหนังสือ “อักขราภิธานศัพท์” (พ.ศ.๒๔๑๖) ของหมอบรัดเลย์ ยืนยันชัดเจนว่า “แกงเลียง” มีเครื่องปรุงหลักคือ ปลาย่าง กะปิ เกลือ หัวหอม และใส่ผักตามใจชอบ เรียกว่าเป็นแกงแคลอรีต่ำ แต่ไฟเบอร์สูง อุดมด้วยสารอาหาร น้ำมันหอมระเหย และวิตามินนานาชนิดที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งเจียระไนได้ดังนี้ เครื่องเทศหลักในแกงเลียง คือพริกไทย หอมแดง ใบแมงลัก และกระชาย ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งน้ำมันหอมระเหยหลากหลาย ได้แก่ พิเพอรีน (Piperine) คูมาริน (Coumarins) ซินนาเมท (Cinnamate) แพนดูราติน (Panduratin) ตามลำดับแล้ว สรรพคุณร่วมของน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันการเกิดมะเร็งรวมทั้งยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งในร่างกาย ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต สลายไขมันและสลายลิ่มเลือด ป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจและสมอง อันเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ในประชากรไทย นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณเฉพาะของเครื่องเทศแต่ละชนิด เช่น พริกไทย ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของตับในการขจัดสารพิษ และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ หอมแดง ช่วยให้ความจำดี บำรุงหัวใจ แก้หวัด คัดจมูก ใบแมงลัก มีธาตุเหล็กสูง แก้โลหิตจาง บำรุงเลือด แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กระชาย บำรุงกำลัง บำรุงฮอร์โมนเพศชาย-หญิง บำรุงหัวใจ ช่วยเสริมกระดูกและเอ็นให้แข็งแรง และขณะนี้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดียังพบว่าสารแพนดูราตินสามารถฆ่าเชื้อโควิด-๑๙ ในหลอดทดลองได้ ๑๐๐% เครื่องแกงหลักคือ กะปิ ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี ๑๒ ช่วยแก้โรคโลหิตจาง กะปิ เป็นแหล่งวิตามินดีและแคลเซียม เมื่อได้รับความร้อนกะปิจะปลดปล่อยแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง น้ำมันโอเมก้าในกะปิช่วยลดความเสี่ยงภาวะโรคหัวใจวายเฉียบพลันและเส้นเลือดในสมองแตก ผักพื้นบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็น “เลียงผัก” สำคัญนอกจากกระชายและใบแมงลักเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมี ฟักทอง ที่อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง บำรุงสายตา หัวปลี มีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสสูง ช่วยบำรุงเลือด และขับน้ำนมในแม่หลังคลอดบุตร แก้ปวดประจำเดือน มีแคลเซียมสูงกว่ากล้วยสุกถึง ๔ เท่า จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงและขาวเป็นเงางาม แถมยังมีเบต้าแคโรทีนเหมือนฟักทองอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นยังมีบวบเหลี่ยม ที่มากด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยให้ระบายอุจจาระได้หมดจด รสหวานเย็นของบวบช่วยดับพิษไข้ แก้ร้อนในและบำรุงร่างกาย นอกจากผักยืนพื้นดังกล่าวยังสามารถใส่ผักต่างๆ ที่ชอบเพิ่มเติมได้ ที่นิยมกันได้แก่ น้ำเต้า ตำลึง ยอดฟักทอง เห็ดทุกชนิด ข้าวโพดอ่อน เป็นต้น ผักรสเย็นเหล่านี้ช่วยลดฤทธิ์ข้างเคียงจากรสเผ็ดร้อนของพริกไทย ทำให้แกงเลียงกลายเป็นตำรับยาไทยรสร้อนสุขุม ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยทดลองของสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าในระดับห้องทดลองน้ำแกงเลียงสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งภายนอกสิ่งมีชีวิตได้ผลดีถึง ๔๐% จากนั้นจึงได้ทดลองให้แกงเลียงแห้งเป็นอาหารเลี้ยงหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งนาน ๖ สัปดาห์ พบว่ากลุ่มหนูที่ได้รับแกงเลียงลดความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ถึง ๕๐% เลยทีเดียว ในภาวการณ์ที่เมืองไทยยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-๑๙ รอบสอง ที่อาจนำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อไรก็ได้ ประกอบกับโรคมะเร็งซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพคนไทยอยู่ขณะนี้ การบำรุงร่างกายให้แข็งแรงด้วยอาหารต้านอนุมูลอิสระที่มีแคลอรีต่ำ และมีไฟเบอร์สูง อย่างเช่น แกงเลียงย่อมเป็นทางเลือกการบริโภคในวิถีชีวิตปกติใหม่หรือเป็นอาหารนิวนอร์มอลที่ควรรณรงค์ส่งเสริมให้แพร่หลายเป็นอย่างยิ่ง มติชนสุดสัปดาห์ ‘กินแกงเลียงเลี่ยงมะเร็ง’ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/11424730014469__1_640x480_.jpg) เที่ยวทะเลรู้จัก 'จิกเล' ยามนี้ยังไม่ใช่ฤดูเที่ยวทะเลเพราะฝนยังมี พายุยังมา แต่โรงแรม รีสอร์ตริมทะเลลดราคาเย้ายวนให้เที่ยวกัน ใครไปเที่ยวช่วยชาติริมทะเลจะพบต้นจิกทะเล ปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไป ว่ากันตามวิชาพฤกษศาสตร์ พืชที่อยู่ในสกุล Barringtonia มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “จิก” ทั่วโลกพบ ๕๒ ชนิด ในประเทศไทย พบจำนวน ๑๑ ชนิด ได้แก่ จิกน้ำ (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.) จิกเล (Barringtonia asiatica (L.) Kurz) จิกใหญ่ (Barringtonia augusta Kurz) จิกนมยาน (Barringtonia macrocarpa Hassk.) จิกนม (Barringtonia macrostachya (Jack) Kurz) จิกดง (Barringtonia pauciflora King) จิกเขา (Barringtonia pendula (Griff.) Kurz) จิกสวน (Barringtonia racemosa (L.) Spreng.) จิกนมปีก (Barringtonia scortechinii King) แล้วมีอยู่ ๑ ชนิดที่เป็นพืชจำเพาะถิ่นของประเทศไทย เรียก จิกเขาหลวง (Barringtonia khaoluangensis Chantar.) แต่จิกที่พบมากที่สุดก็เมื่อเราไปเที่ยวทะเลจะพบ จิกเล หรือ จิกทะเล ที่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับนั่นเอง แต่ถ้าใครอ่านชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ คือ Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree ย่อมกังวลใจเพราะฝรั่งเรียกพืชชนิดนี้มีพิษ เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับพืชนี้ เพื่อป้องกันไว้ดีกว่าแก้นั่นเอง จิกเล เป็นต้นไม้ใหญ่สูงราว ๒๐ เมตร ใบขนาดใหญ่ มันวาว มีความหนา ป้องกันการสูญเสียน้ำ ดอกขนาดใหญ่ สีขาว เกสรตัวผู้เป็นพู่ยาวเห็นได้ชัดเจน สีขาวปลายชมพู ดอกมีกลิ่นหอมแรง บานตอนค่ำและโรยตอนเช้า ผสมเกสรด้วยผีเสื้อกลางคืนและค้างคาว ผลขนาดใหญ่ ทรงคล้ายลูกข่าง มีเปลือกเหนียวหุ้มทำให้ลอยน้ำได้ดีคล้ายผลมะพร้าว จิกเลยังเป็นทั้งพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและดอกไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม การใช้ประโยชน์ทางใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ แต่ต้องมีความชำนาญการปรุงยาเนื่องจากต้องระวังส่วนของเปลือกผลหรือเนื้อของผล ถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งแต่ก็มีสรรพคุณที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ หรือทำให้นอนหลับสบาย จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิออกจากร่างกาย ในต่างประเทศมีรายงานการนำใบมาต้มดื่ม รักษาอาการไส้เลื่อน ใบนำมาย่างให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณท้อง เมื่อมีอาการปวดท้อง ใบสดหรือผลสดนำมาตำพอกบริเวณที่มีอาการไขข้ออักเสบหรือบริเวณที่มีอาการปวดบวม ในเมล็ดและลำต้นมีสารซาโปนิน ใช้ทำยาเบื่อปลาและยานอนหลับ บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง ในการใช้ส่วนของผลจึงต้องระวังเพราะมีพิษ แต่ส่วนของเมล็ดนำมาทำให้แห้ง บดให้เป็นผงละลายน้ำดื่มแก้เจ็บคอ แก้ไอ บรรเทาหลอดลมอักเสบ อาการไข้หวัดต่างๆ และแก้จุกเสียด เมล็ดยังนำมาฝนเอาผงโรยบาดแผลหรือบริเวณที่เจ็บ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ใช้ในการรักษาอาการม้ามบวมหลังจากติดเชื้อมาลาเรีย เปลือกนำมาต้มดื่มแก้อาการท้องผูกและโรคลมชัก เปลือกนำมาตำพอกบริเวณที่ปวดบวม และมีงานวิจัยเชิงลึกในออสเตรเลียที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนของใบใช้ในการต่อต้านเนื้องอก ประโยชน์อื่นๆ เช่น เนื้อไม้มีสีเหลืองจนถึงแดงอ่อนใช้ทำเครื่องเรือนได้ นำเมล็ดมาบีบจะได้น้ำมัน ไว้จุดไฟให้ความสว่างได้ ยังมีจิกอีกชนิดที่อยากแนะนำเพราะมีการใช้ประโยชน์มาก คือ จิกน้ำ (Barringtonia acutangula) จิกต้นนี้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งเรียกว่า จิกมุจรินทร์ ชอบขึ้นใกล้ริมแหล่งน้ำ ส่วนใหญ่เป็นน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดที่ภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงตอนเหนือของออสเตรเลียแถบรัฐควีนส์แลนด์ จิกน้ำ มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามภาษาถิ่นว่า “กระโดนทุ่ง” หรือ “กระโดนน้ำ” (อีสาน-หนองคาย) “ปุยสาย” หรือ “ตอง” (ภาคเหนือ) “กระโดนสร้อย” (พิษณุโลก) และ “ลำไพ่” (อุตรดิตถ์) ลักษณะแตกต่างไปจากจิกเล คือ จิกน้ำเป็นไม้ประเภทผลัดใบ สูง ๕-๑๕ เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาล แดงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นรูปใบหอก ปลายและโคนใบแหลม เวลามีดอกจะทิ้งใบเหลือเพียงใบอ่อนเป็นสีแดง สวยงาม ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอด ห้อยลงเป็นระย้าระโยง สวยงามเหมือนสายสร้อย มีกลิ่นหอม ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น หลุดร่วงง่าย สีแดง หรือชมพู เวลามีดอกบานพร้อมกันโดยเฉพาะช่วงมีดอกจะทิ้งใบมีแต่ยอดอ่อนเป็นสีแดงจัด ยิ่งเพิ่มความงดงามยิ่งขึ้น ดอกออกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ผลกลมยาว มีเมล็ด ยอดอ่อนและดอก กินเป็นผักสดและผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ น้ำตก แจ่ว และอาหารรสเผ็ดอื่นๆ กินกับขนมจีน รสชาติมันปนฝาด ในทางยาสมุนไพร ใบแก่ใช้ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง เมล็ดทำเป็นยาลมแก้อาการจุกเสียดและแก้ไอในเด็ก เนื้อไม้จากลำต้น หรือแก่นนำมาแช่น้ำดื่มจะช่วยให้ระดูมาเป็นปกติ แก้ระดูขาว ใช้เป็นยาในการบำรุงสตรีได้ ในต่างประเทศมีรายงานการนำเปลือกมาต้มดื่มแก้ปวดท้อง นำเปลือกมาฝนผสมกับเนื้อมะพร้าวขูดแล้วคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้อาการปอดบวม บิดมีตัวและหอบหืด รากใช้เป็นยาระบาย เมล็ดบดให้เป็นผงใช้ปริมาณเล็กน้อยให้เด็กกินแก้อาเจียน ลดเสมหะและเป็นยาขับพยาธิด้วย แต่ต้องระวังเปลือกและต้นมีฤทธิ์ในการใช้เบื่อปลาด้วย และเนื้อไม้นำไปใช้ทำไม้อัดได้ จิกน้ำ ปลูกได้ทั่วประเทศ ชอบอยู่ตามริมน้ำ แต่จิกเลชอบริมทะเล จิกน้ำและจิกเลเป็นไม้สมุนไพรและไม้ประดับที่นิยมปลูกกัน มิตรสหายที่ชอบสมุนไพรจะขยายช่องทางสร้างรายได้ปลูกจิกไว้เพื่อไม้ประดับก็น่าจะมีโอกาสทางรายได้นะ มติชนสุดสัปดาห์ ‘เที่ยวทะเลรู้จักจิกเล’ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55900775517026__1_640x480_.jpg) เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ใช้สมุนไพรร่วมกัน บางคนว่าเวลานี้ความคิดอ่านของคนต่างวัยช่างต่างกัน พลอยทำให้ความคิดจิตใจว้าวุ่นขุ่นเคืองในหัวใจของคนหลากหลายวัย แต่ถ้าช่วยกันค่อยๆ เปลี่ยนมุมคิดปรับมุมมองก็น่าจะพบเห็นความเหมือนในความต่างได้มากพอสมควร หรือแม้มีความต่างก็พบความเหมือนเช่นกัน เรื่องสมุนไพรที่เป็นทั้งอาหารและหยูกยาก็มีความต่างและความเหมือนอยู่มากมาย ความปกติตามธรรมชาติได้แบ่งวัยให้มีความต่างอยู่ในตัว เช่น เด็กย่อมกินอาหารแตกต่างจากผู้ใหญ่ ถ้าเป็นยาก็ยิ่งชัดเจนจะกินยาสมุนไพรทั้งชนิดและปริมาณก็ต่างจากผู้ใหญ่แน่นอน แต่ในวันนี้จะขอนำเสนอสมุนไพรที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่ก็กินดี เพื่อแสดงให้เห็นเบื้องต้นว่า มีความเหมือนในวัยได้ใช้สมุนไพรร่วมกันแก้โรคและอาการที่ทุกวัยก็เป็นกัน ไอ เป็นอาการไม่สบายอย่างหนึ่งที่ต้องถือว่าไม่รุนแรงหรือเป็นโรคไม่ร้ายแรง อาการไอเป็นกลไกตามธรรมชาติในร่างกายที่จะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมหรือขับของเสียที่ทำให้เกิดความระคายเคืองออกไปจากลำคอหรือทางเดินหายใจ ยกเว้นอาการไอเรื้อรังรุนแรงซึ่งทางวิชาการใช้เกณฑ์ว่าอาการไอที่เกินกว่า ๓ สัปดาห์ต้องไปพบแพทย์แล้ว หรืออาการไอจากโรคหอบหืด ภูมิแพ้ การติดเชื้อทางเดินหายใจ วัณโรค ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าอาการไอที่อาจเกิดจากสูดฝุ่นควัน ไปสัมผัสอากาศเย็นชื้นหรือไอมีเสมหะจากหวัดธรรมดา ให้เริ่มต้นจากการจิบน้ำบ่อยๆ ถ้าเป็นน้ำอุ่นๆ ก็จะยิ่งดี น้ำเป็นสมุนไพรธรรมชาติที่หาง่ายที่สุดและบรรเทาอาการไอได้อย่างปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่ก็ยังมีสมุนไพรใกล้ตัวสามารถนำมาดูแลได้ทั้งเด็ก เยาวชนและผู้ใหญ่ได้สบายๆ ซึ่งเป็นสมุนไพรใกล้ตัวสุดๆ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ กะเพรา กะเพราเป็นยาแก้ไอสำหรับเด็กที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิมและมีความปลอดภัยเช่นกัน ให้นำใบกะเพราสดล้างน้ำสะอาดแล้วนำมาคั้นน้ำ เอาแต่น้ำซึ่งอาจจะได้น้ำยากะเพราไม่มากนักให้ใช้วิธีผสมน้ำสะอาดลงไปช่วยคั้นด้วย เมื่อได้น้ำยากะเพราสดแล้วจะมีรสเผ็ดร้อนนิดๆ ให้นำมาผสมกับน้ำผึ้งให้เด็กจิบกินบ่อยๆ จะช่วยลดอาการไอได้ ในตำรายาโบราณแนะนำว่าถ้าหาใบกะเพราแดงได้จะดีกว่ากะเพราะขาว แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้กะเพราะที่ขึ้นทั่วไปแทน ยาแก้ไอกะเพราผสมน้ำผึ้งนี้กินได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อยากให้ลองกินกันได้ทุกครัวเรือน สมุนไพรที่ใกล้ตัวหาง่ายอาจเรียกได้ว่าหาได้ไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลกใบนี้ คือ ขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีการใช้แทบจะทุกวัฒนธรรมของชาวโลก ขิงช่วยแก้ไอแล้ว ในสรรพคุณยาสมุนไพรยังถือว่าช่วยแก้อาการแพ้อากาศที่ช่วงเปลี่ยนฤดูเช่นนี้จะไม่สบายได้ง่าย และขิงยังถือเป็นยาบำรุงร่างกายที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่ดีด้วย และเมื่อลมฝนยังไม่หมดลมหนาวก็มาทำให้ร่างกายเย็นชื้น ขิงจะช่วยขับเหงื่อเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย แก้ไข้แก้หวัดได้ด้วย วิธีปรุงยาขิงทำได้หลายสูตร ที่ง่ายสุดได้ตัวยาเต็มๆ ก็ให้ปอกเปลือกขิงแก่สด นำไปล้างน้ำให้สะอาด ถ้ามีเครื่องปั่นก็นำไปปั่นเอาแต่น้ำขิง ถ้ามีครกก็โขลกตำคั้นเอาแต่น้ำ น้ำขิงที่ได้จะเข้มแรงเผ็ดร้อนมาก จึงต้องนำมาผสมน้ำสะอาดเจือจางแล้วผสมมน้ำผึ้ง กินครั้งละ ๑ ช้อนชา อย่างน้อยวันละ ๓ ครั้งก่อนหรือหลังอาหาร หากเป็นวัยรุ่นผู้ใหญ่แล้ว อาจใช้น้ำคั้นขิงแก่สดแล้วผสมกับน้ำผึ้งกินได้เลยโดยไม่ต้องผสมเจือจางกับน้ำสะอาด สูตรนี้ก็เข้มข้นนิดไม่เหมาะกับเด็กเล็ก สูตรน้ำขิงที่ทำไว้ นำมาแต่งสมุนไพรอีกชนิดที่หาง่ายและหาได้ทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน คือ มะนาว แม้ว่าพันธุ์มะนาวไทยกับมะนาวเทศหรือที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “เลม่อน” จะเป็นมะนาวต่างชนิดกันแต่สรรพคุณทางยาสมุนไพรใช้ได้เหมือนกัน (ในความต่างก็ยังมีความเหมือนนั่นเอง) ให้คั้นน้ำมะนาวผสมกับน้ำคั้นขิงแก่สด แล้วแต่งด้วยน้ำผึ้ง ก็จะเป็นยาแก้ไอรสอร่อยใช้ได้ทุกเพศทุกวัย และหากใครที่มีแต่น้ำมะนาวนำมาผสมกับน้ำธรรมดาคนให้เข้ากันแล้วผสมน้ำผึ้งอาจเติมเกลือเล็กน้อยแต่งรส สูตรน้ำมะนาวนี้ก็แก้ไอ แก้เจ็บคอได้ดีด้วย ตํารับยาสมุนไพรแก้ไอที่เป็นความรู้ทั่วไปแต่ในปัจจุบันนี้ได้จางหายไปแล้ว คือการใช้ใบเสนียดแก้ไอ อาจเพราะชื่อต้นเสนียดทำให้ไม่เป็นที่ชื่นชอบ และทำให้ไม่สนใจปลูกไว้ประจำบ้าน ทั้งๆ ที่ต้นเสนียดมีสรรพคุณสมุนไพรที่ดีหลายอย่าง พูดเฉพาะแก้ไอในที่นี้ ให้นำใบเสนียดมาล้างน้ำให้สะอาด นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมน้ำผึ้งให้เด็กกินแก้ไอได้ดี หรือจะนำไปผสมกับน้ำคั้นกะเพราะที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วผสมน้ำผึ้งก็เป็นการช่วยเสริมสรรพคุณแก้ไอ ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หรือจะนำใบอ่อนของต้นเสนียด ๒-๓ ใบ ล้างน้ำ แล้วนำมาต้มกับน้ำ ๑ แก้ว ต้มด้วยไฟอ่อนๆ ให้น้ำยาเหลือสักครึ่งแก้ว จะดื่มกินตอนเช้า ๑ ครั้ง หรือแบ่งน้ำยามาจิบกินให้หมดในหนึ่งวันก็ได้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เพิ่มความสะดวกสบายแต่ก็มีราคาแพง เช่น สเปรย์ผสมน้ำมันหอมระเหย คาโมไมล์ ยูคาลิปตัสและมะกรูด ที่ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองในลำคอเพื่อลดอาการไอ แต่จะประหยัดกว่าถ้าคั้นน้ำสมุนไพรที่แนะนำไว้ เก็บใส่แก้วน้ำใบน้อยๆ นำติดตัวไปจิบกินแก้ไอได้ตลอดวันเช่นกัน นอกจากสมุนไพรแก้ไอสำหรับทุกเพศวัยแล้ว ช่วงที่อากาศกำลังเปลี่ยนแปลง การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การอาบน้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาอาการไอ และช่วยลดน้ำมูกจากไข้หวัดและภูมิแพ้ได้ด้วย และอีกไม่นาน ฝุ่นพิษ PM ๒.๕ มลพิษทางอากาศกำลังจะมา แม้ว่าการแก้สาเหตุหลักต้องใช้เวลาอีกนาน แต่สมุนไพรที่แนะนำไว้จะช่วยลดอาการไอจากการแพ้ฝุ่นได้เช่นกัน ไอ คืออาการปกติที่เกิดขึ้นได้ แก้ได้ไม่ยากด้วยสมุนไพรใกล้ตัว แต่ถ้าไอเริ่มจะเรื้อรังรุนแรงแสดงว่าผิดปกติอันนี้ก็ต้องพบแพทย์ อาการทางสังคมที่มีคนเริ่มกระแอมส่งเสียง ยังเป็นเรื่องปกติบรรเทาอาการได้ มติชนสุดสัปดาห์ ‘เด็ก ยาวชนผู้ใหญ่ ใช้สมุนไพรร่วมกัน’ หัวข้อ: Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 พฤศจิกายน 2563 12:51:04 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/78540659778647__1_3_1_640x480_.jpg)
เครื่องเทศในยาไทย อาหารไทย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เครื่องเทศมีความหมายถึงของหอมฉุนและเผ็ดร้อนที่ได้มาจากต้นไม้ สำหรับใช้ทำยาไทย และปรุงอาหาร โดยมากมาจากต่างประเทศ เช่น ลูกผักชี ยี่หร่า เมื่อวิเคราะห์เบื้องต้นในตำรับยาดั้งเดิมที่มีการผสมเครื่องเทศทั้งในตำรับยาไทย และในตำรับยาของชาวล้านนาภาคเหนือ พบว่าโดยทั่วไปเครื่องเทศมักผสมอยู่ในตำรับยาที่มีสรรพคุณบำรุงธาตุ ยาขับลมในลำไส้ และยาอายุวัฒนะ คำว่า เครื่องเทศ กับคำว่า สมุนไพร บางครั้งก็เรียกรวมๆ กันไป แต่ก็ขอแยกแยะแนะนำหากท่านใดยังนึกเครื่องเทศยาไทยไม่ออก ขอยกตัวอย่างเครื่องเทศ ๑๐ ชนิด ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์กันทั่วไป เช่น ๑.เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน สรรพคุณแก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร และขับผายลม ๒.เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณเจริญอากาศธาตุ แก้ลมพานไส้ แก้พรรดึก แก้แน่นหน้าอก แก้เสียดแทง แก้นอนไม่หลับ ๓.กานพลู รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ กระจายเสมหะและโลหิต แก้เสมหะเหนียว แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด และแก้ปวดท้อง แก้พิษเลือด ๔.ใบกะเพราขาว รสร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุพิการ ขับผายลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลมจุกเสียด ขับลมในลำไส้ ๕.ลูกกระวาน รสร้อนหอม สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม ช่วยขับเสมหะ โลหิต และลม ๖.หัวกระเทียม รสร้อนฉุน สรรพคุณ ระบาย แก้ริดสีดวงงอก บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้โรคผิวหนัง แก้กระหายน้ำ แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต ๗.ลูกจันทน์เทศ รสร้อนหอมและจะออกรสฝาด สรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้จุกเสียด แก้กำเดา แก้ท้องร่วง แก้กระหาย แก้ปวดมดลูก ขับลม บำรุงโลหิต ๘.เปลือกอบเชย รสเผ็ดหวานร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ ขับผายลม บำรุงโลหิต แก้อ่อนเพลีย ๙.ดอกดีปลี รสเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ธาตุดินทั้ง 20 ประการ ขับลมในลำไส้ และเจริญอาหาร ๑๐.เถาสะค้าน เป็นยารสร้อน สรรพคุณ ขับลมบำรุงธาตุ ขับลมให้ผายและเรอ แก้จุกเสียด แก้ธาตุพิการ แก้แน่น เป็นตัวยาประจำธาตุลม ตัวอย่างทั้ง ๑๐ ชนิดเป็นเครื่องเทศที่มีรสยาไปทางยารสร้อนทั้งหมด ช่วยเพิ่มไฟธาตุ มีสรรพคุณหลักคือ ขับลม ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ โดยตัวยาประจำธาตุลม ได้แก่เถาสะค้าน ประจำอากาศธาตุคือ ขิงแห้ง ดอกดีปลี เป็นยาประจำธาตุดิน มีสรรพคุณทางด้านขับลมในลำไส้ ความเจ็บป่วย ซึ่งเรียกว่า วัสสานะสมุฏฐาน มักจะมีผลกระทบมาจากธาตุลม หรือพิกัดวาโย เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย เรียกว่าไข้เพื่อลม (ไข้คือความเจ็บป่วย) หรือเพราะลมเป็นหลัก และยังเรียกได้ว่าเป็นยาตัวกลางคอยควบคุมธาตุลม ได้แก่ หทัยวาตะ (การเต้นของหัวใจ) สัตถกะวาตะ (ลมที่คมเหมือนอาวุธ) สุมนาวาตะ (ลมกลางลำตัว) นอกจากนี้ ลมที่แปรปรวนไป จะกระทบธาตุลมของร่างกายที่เรียกว่า “ฉกาลวาโย” คือ ธาตุลมทั้ง ๖ ประการ และมี “กาลวาโย” หมายถึงลมที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาแต่ละวัน หรือกองลมใดที่จรมากระทบนั่นเอง ในหลักทฤษฎีเกี่ยวกับธาตุลมที่มีผลต่อสุขภาพนั้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมยังอธิบายไว้อีกมาก แต่ยกตัวอย่างถึงสมุฏฐานของโรคที่ต่างกันอีก ได้แก่ หทัยวาตสมุฏฐาน ลมก็มักจะทำให้มีจิตใจแปรปรวน ระส่ำระสาย เป็นต้น สัตถกะวาตสมุฏฐาน อาจอธิบายได้ทำนองว่ามีโอกาสเกิดความผิดปกติของลมที่มีความเร็ว ความรุนแรง เสียดแทง คม ประหนึ่งอาวุธกระทำต่อร่างกายของเรา มีการเปรียบให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ลมชนิดนี้มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวกับอาการทางหลอดเลือดฝอย และอาการของระบบประสาทส่วนปลาย สุมนาวาตสมุฏฐาน ลมนี้เปรียบได้ว่าจะกระทบกับระบบเลือดแดงใหญ่กลางลำตัว ความเจ็บป่วยในเวลานี้ จะมีผลต่อเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งจะเชื่อมโยงให้เกิดอาการไม่สบายไปที่การเต้นของหัวใจ อารมณ์ และจิตใจด้วย อาจเทียบเคียงได้ว่า ถ้ามีอาการลมชนิดนี้แล้วมักจะต้องระวังเกี่ยวกับโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไตวาย โรคของมดลูก และเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะด้วย ขณะนี้แม้ว่าจะเป็นปลายฤดูฝน แต่ก็เชื่อว่าหลายท่านยังพบกับอาการแปรปรวนจนต้องมีการปรับธาตุกันบ้างเพื่อให้สุขภาพเป็นปกติ ตัวอย่างยาสมุนไพรที่แนะนำ ได้แก่ ตำรับยาตรีกฏุก หรือใช้วิธีการปรับธาตุด้วยมหาพิกัดเบญจกูล สำหรับภูมิปัญญาล้านนา มักใช้วิธีกินยาที่เรียกว่าตำรับยาผงแดง หรือยาลมกองละเอียดสูตรต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการ และยาแก้ลม ที่สำคัญๆ ได้แก่ ยาจิตรารมณ์ ยากล่อมอารมณ์ ยาวาตาพินาศ ยาเขียวประทานพิษ ยาชุมนุมวาโย ยามหาสมมิทธิ์ใหญ่ ยาหอมสรรพคุณ ยาสมมิทธิ์น้อย ยานัตถุ์ธนูกากะ ยาประสะการบูรดีปลี ตํารับยาที่ทุกท่านน่าจะหาไว้ประจำบ้านตำรับหนึ่งที่หาได้ง่ายๆ คือ ตำรับยาธาตุบรรจบ ที่มีเครื่องเทศผสมอยู่หลายชนิด ตำรับยานี้ช่วยแก้ธาตุไม่ปกติ ท้องเสีย หรือแก้ธาตุลมในท้องในไส้ กระทำโทษ ตัวยาที่เป็นเครื่องเทศกับตัวยาอื่นๆ ได้แก่ ขิง โกฏเขมา โกฏพุงปลา โกฏเชียง โกฏสอ เทียนดำ เทียนขาว เทียนสัตตบุษย์ เทียนเยาวพาณี เทียนแดง ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กานพลู การบูร เปลือกสมุลแว้ง ลูกกระวาน ลูกผักชีลา ใบพิมเสน ดีปลี เปราะหอม หนักสิ่งละ ๔ ส่วน โกฏก้านพร้าว หนัก ๘ ส่วน เนื้อลูกสมอไทยหนัก ๑๖ ส่วน น้ำประสานทองสะตุหนัก ๑ ส่วน ทั้งนี้ ส่วน อาจใช้แทนด้วยน้ำหนักส่วนละ ๑๕ กรัม ทำเป็นผง และปั้นเป็นลูกกลอน กินแล้วเพิ่มไฟธาตุ ทำให้กระบวนการย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยขับลม และทำให้จิตใจดีด้วย แต่ถ้าหาตำรับยาไม่ได้ ขอแนะนำให้กินอาหารที่มีพริกไทยและขิงก็ได้ ลองใช้หลักอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกาย กรณีจะแก้ปัญหาธาตุลม ลองกินอาหารรสอุ่นรสเผ็ดร้อน ได้แก่ แกงเลียง แกงป่า แกงแค หรือแกงที่มีรสเผ็ดร้อน หรือกินอาหารที่มีขมิ้น ขิงหรือพริกไทย หรือเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ดอกจันทน์ กานพลู ยาไทย อาหารไทย เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบทอดมานาน ที่ควรส่งเสริมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น หากท่านใดมีอาการทางลมในระดับซับซ้อนก็ให้พบหมอยาไทยได้ หากอาการไม่รุนแรง ตำรับยาและอาหารที่มีเครื่องเทศ คือสิ่งที่ควรมีประจำบ้านเพื่อส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนได้...ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/49613650639851__1_1_640x480_.jpg) ต้นกิมปักกพฤกษ์ กิมปักกะหรือต้นกิมปักกะ “บุคคลใดไม่รู้จักโทษในอนาคตแล้วมัวแต่เสพกามอยู่ในที่สุด กามทั้งหลายในคราวให้ผลย่อมขจัดบุคคลนั้น เช่นเดียวกับผลไม้มีพิษชื่อกิมปักกะขจัดผู้บริโภค” ข้อความกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ฉบับหลวง มีชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นกิมปักกพฤกษ์ ส่วนในฉบับมหาจุฬาใช้คำว่า กิมปักกะ หรือต้นกิมปักกะ โดยกล่าวเปรียบเทียบว่าการเสพกามมีพิษเหมือนต้นกิมปักกพฤกษ์ หรือ กิมปักกะ หรือ ต้นกิมปักกะ จึงขอชวนเรียนรู้กับต้นไม้ชนิดนี้ ในพระไตรปิฎกมีการบรรยายลักษณะของต้นกิมปักกพฤกษ์ไว้ว่า “มีผลคล้ายมะม่วง แต่เป็นไม้พิษ” เมื่อตรวจสอบจากฐานข้อมูลพืชแล้ว ต้นกิมปักกพฤกษ์อาจเป็นต้นไม้ที่เราเรียกกันในยุคนี้ว่า ตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล เพราะมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Sea mango หรือ Suicide tree ที่แสดงว่ามีพิษ ตีนเป็ดทราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera manghas L. อยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (Apocynaceae) ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก อายุหลายปี เรือนยอดทรงกลม เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เป็นมัน ใบอ่อนสีแดงเข้ม ขอบใบ เส้นกลางใบ และก้านใบมีสีแดงอมม่วง ใบแก่แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีซีดกว่า ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกรูปขอบขนาน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีขาว มีแต้มสีแดงรอบปากหลอดหรือใจกลางดอก ออกดอกตลอดปี ผลเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน สีเขียว เมื่อแก่มีสีแดง ผิวเกลี้ยง เป็นมัน ลักษณะคล้ายผลมะม่วง จึงมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า มะม่วงทะเล (sea mango) นั่นเอง ตีนเป็ดทรายเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐเซเชลส์ (Republic of Seychelles) ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดียและมีการกระจายไปอยู่ตามแนวชายฝั่งเขตร้อนของประเทศต่างๆ ใบและผลของตีนเป็ดทรายมีความเป็นพิษต่อการทำงานของหัวใจสูงมาก คนในสมัยก่อนใช้ยางจากต้นตีนเป็ดทรายล่าสัตว์ ในมาดากัสกาใช้เมล็ดเป็นยาทรมานนักโทษ และนักโทษส่วนใหญ่จะตายเนื่องจากพิษของไม้ชนิดนี้ หลายคนใช้เป็นยาฆ่าตัวตาย ไม้ชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แอปเปิลแห่งการฆ่าตัวตาย” (suicide apple) ในศรีลังกานิยมนำไม้ชนิดนี้มาทำหน้ากาก เพราะมีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงและยาดับกลิ่นด้วย ชนพื้นเมืองในแอฟริกาใช้เป็นยาทาภายนอกแก้หิดและใช้เป็นน้ำยาบำรุงผม ยังมีตีนเป็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตีนเป็ดทรายคือ ตีนเป็ดทะเล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กชนิดหนึ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลม ใบแน่น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว กลีบดอกมีสีขาว ต่างจากตีนเป็ดทรายตรงที่ใจกลางดอกเป็นสีเหลืองอ่อน เป็นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ขึ้นได้ดี ต้องการแดดและความชื้นสูง ต้นโตได้ถึง ๑๒ เมตร มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนใต้ของจีน และยังพบที่นิวแคลิโดเนีย (เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงใต้) ตีนเป็ดทะเลมักขึ้นในป่าชายเลนหรือบริเวณที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายทะเล มีผลทรงกลม คล้ายผลส้ม มีสีเขียว แต่มีพิษหากกินมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ อีกทั้งยางก็มีพิษ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการทำเป็นสารเคมีฆ่าเหาได้ ทั้งตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเลมีการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ สําหรับต้นตีนเป็ด อีกชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า พระยาสัตตบรรณ ตีนเป็ดนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ในลักษณะของต้นไม้ในภูมินิเวศทั่วไป และเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าพระองค์แรกประทับตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้ต้นนี้ด้วย ตีนเป็ดชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. จะเห็นว่าเป็นคนละสกุลกับตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดทะเล และมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า blackboard tree or devil’s tree แต่ยังอยู่ในวงศ์เดียวกันคือวงศ์ Apocynaceae ตีนเป็ดชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง ๑๕-๓๐ เมตร โคนต้นมักเป็นพูพอนเปลือกสีเทาอมเหลืองค่อนข้างหนา ใบเป็นแบบเรียงกันเป็นวง ๕-๗ ใบ แผ่นรูปมนแถบรูปไข่กลับ ปลายใบมีติ่งเล็กน้อย โคนใบสอบเรียบ ใบเป็นแบบใบประกอบนิ้วมือ ดอกเล็กสีเขียวอมเหลืองหรืออมขาว ดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นแรง บางคนบอกว่าเหม็นและอาจแพ้ทำให้หน้าบวม ไอ จาม หรือถ้าสูดดมบ่อยๆ อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ ผลเป็นฝักยาวเรียวสีเขียวยาว ๑๐-๒๐ เซนติเมตร เมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างกลมหรือรี มีขนยาวอ่อนนุ่มปุกปุย ติดอยู่ปลายทั้งสองข้างเมล็ดแก่ประมาณเดือนมีนาคม ไม้ตีนเป็ดเป็นไม้ที่โตเร็ว เบา จึงนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตดินสอ ในศรีลังกานิยมนำมาใช้ทำโลงศพ ในหมู่เกาะบอร์เนียว นำมาใช้เป็นทุ่นของอวนจับปลาและเครื่องใช้ในครัวเรือน ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ราก รสร้อนเล็กน้อย ใช้รักษาโรคมะเร็ง เป็นยาขับลมในลำไส้ ในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้รากรักษาโรคเกี่ยวกับตับ เปลือกต้น รสขมเย็น รักษาโรคเบาหวาน โรคบิด แก้โรคตับ หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วงเรื้อรัง ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไอ แก้ไข้ เป็นยาสมานแผลในลำไส้ ขับน้ำนม ขับระดู แก้ไข้หวัด น้ำมูกไหล ขับน้ำเหลืองเสีย รักษามาลาเรีย ในอินเดียใช้รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง และเป็นสมุนไพรที่มีการบรรจุไว้ในเภสัชตำรับของอินเดียว่าเป็นยาชูกำลัง ยาถ่ายพยาธิและยาแก้อักเสบ ในพระไตรปิฎกกล่าวเตือนความลุ่มหลงในเสพกามกับต้นไม้พิษแล้ว ในยุคปัจจุบันก็ควรเผยแพร่ให้ความรู้ให้เกิดปัญญาเกี่ยวกับต้นตีนเป็ดทั้ง ๓ ชนิดให้กระจ่างโดยทั่วกัน เพื่อจะลดผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพนั่นเอง...ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ |