[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 มกราคม 2559 20:11:55



หัวข้อ: ไขปริศนา คาถาชินบัญชร : จริงหรือ? สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นผู้แต่ง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 มกราคม 2559 20:11:55
(http://www.kunnuch.com/article/art_262069.jpg)

คาถาชินบัญชร
คาถาชินบัญชร มีชื่อเรียกว่าชินบัญชรคาถาบ้าง รัตนบัญชรคาถาบ้าง เนื้อความหรือความหมายเป็นการทูลเชิญพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ในอดีตกาล และพระมหาสาวก ๘๐ พระองค์ มาสถิตในร่างกายของผู้สวด  อัญเชิญพระสูตรปริตรมาสถิตอยู่ตามอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งภายในภายนอกให้แคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ และอำนวยพรให้ประสบความสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลตลอดไป  คาถานี้ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดแต่ง  ได้แต่สันนิษฐานกันว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งขึ้น เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อันเป็นศรัทธาบริสุทธิ์ ไม่หวังคำยกย่องเชิดชูเกียรติคุณแต่ประการใด จึงมิได้บันทึกนามของท่านไว้ในคาถาชินบัญชรนี้

พระคาถานี้ใช้สวดในพิธีกรรมมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพิธีจักรพรรดิราชาธิราช ต่อมาเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คาถาชินบัญชรที่แพร่หลายในปัจจุบันนี้ ปรากฏอยู่ในรูปแบบของหนังสือที่พิมพ์รวมกับยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกฯ  มีรูปสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) ด้านหนึ่ง  อีกด้านหนึ่งเป็นคาถาชินบัญชรอักษรไทย สะกดการันต์แบบภาษาบาลีก็มี สะกดการันต์แบบภาษาไทยก็มี  พุทธศาสนิกชนทั่วไปมีความเข้าใจว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์  (โต พรหมรังสี) เป็นผู้แต่งไว้เพื่อเพิ่มพูนศรัทธาสาธุชน  

ในหอสมุดแห่งชาติมีคาถาชินบัญชรอยู่หลายฉบับ บันทึกไว้ด้วยอักษรหลายภาษา เช่น อักษรไทย อักษรสิงหล อักษรขอม อักษรพม่า ดังปรากฏหลักฐานต่อไปนี้

๑.คาถาชินบัญชรฉบับอักษรไทย
มี ๑๕ คาถากึ่ง  คาถาที่ ๑-๑๔ แต่งเป็นปัฐยาวัตฉันท์  คาถาที่ ๑๕ แต่งเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ เรียกชื่อว่า ชินบัญชรคาถา และเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นผู้แต่ง  อย่างไรก็ตามมีผู้ยืนยันว่า เมื่อสมเด็จฯ สวดต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) นั้น  ในหลวงรัชกาลที่ ๔ รับสั่งถามว่า “เพราะดี ขรัวโตแต่งเองหรือ?”  สมเด็จฯ ถวายพระพรว่า “เป็นสำนวนเก่านำมาดัดแปลงใหม่”

๒.คาถาชินบัญชรฉบับอักษรสิงหล
เรียกชื่อว่า ชินบัญชรปริตร มี ๒๒ คาถา  เข้าใจว่าพระเถระชาวลังกาเป็นผู้แต่ง โดยคาถาที่ ๑-๔ แต่งเป็นปัฐยาวัตฉันท์  คาถาที่ ๒๐-๒๒ แต่งเป็นวสันตดิลกฉันท์ ที่มีผู้เข้าใจว่าคาถาชินบัญชรแต่งโดยพระเถระชาวลังกา เพราะพบต้นฉบับคาถาชินบัญชรที่เป็นอักษรสิงหล

ความไปได้ที่คาถาชินบัญชรบันทึกไว้ด้วยอักษรสิงหล คือ
๒.๑ ในอดีตกาล มีพระเถระชาวลังกาเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ในดินแดนของไทยแถบล้านนา สุโขทัย อโยชฌปุระ (กรุงศรีอยุธยา) สิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช)  สำหรับดินแดนล้านนาไทย มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ชินกาลมาลินีปกรณ์ว่า เมื่อพระเจ้าดิส (พระเจ้าสามฝั่งแกน) ครองราชย์สมบัติในเมืองเชียงใหม่นั้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๔ ตรงกับปีจอ จุลศักราช ๗๙๒ พระเถระทั้งหลายจากลังกา มีพระเมธังกร เป็นต้น เดินทางมาที่เมืองเชียงใหม่ พักอยู่ในมหาวิหารวัดป่าแดง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางเชิงดอยสุเทพ ปัจจุบันนี้ร้างไปแล้ว
    ๒.๑.๑ ในสมัยสุโขทัย ตำนานคณะสงฆ์ บันทึกไว้ว่า ในศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชา (ลิไท) พระราชนัดดาของพระเจ้าขุนรามคำแหง ได้เสวยราชย์ ณ เมืองสุโขทัย ภายหลังพระเจ้าขุนรามคำแหงประมาณ ๗๐ ปีเศษ ว่า เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๔ ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนา “พระมหาสวามีสังฆราช” มาแต่ลังกาทวีป ทรงจัดให้พระมหาสวามีสังฆราชที่มาจากลังกา พำนักอยู่ ณ อรัญญิกประเทศ คือ อัมพวนาราม วัดสวนมะม่วง นอกพระนคร
    ๒.๑.๒ อโยชฌปุระ (อโยธยาเดิม หรือต่อมาคือกรุงศรีอยุธยา) หนังสือตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า เจ้าปิยทัสสี (พระปิยทัสสีเถระ) เอาศาสนาไปประดิษฐานในอโยธยา คนทั้งหลายก็ให้เป็นมหาสวามี
    ๒.๑.๓ สิริธรรมนคร (นครศรีธรรมราช) มีตำนานพงศาวดารหลายฉบับกล่าวสอดคล้องต้องกันว่า พระเถระชาวล้านนา ชาวลพบุรี และชาวกรุงศรีอยุธยา ไปศึกษาและรับการอุปสมบทใหม่ที่ลังกา ขากลับได้นิมนต์พระเถระลังกามาด้วย แวะพักที่เมืองนครศรีธรรมราช อยู่จำพรรษา ๑-๒ พรรษา จึงแยกย้ายกันไปสู่เมืองมาตุภูมิของตน  โดยมอบให้พระลังกาผู้เป็นพระอนุจรหรือพระผู้ติดตาม อยู่เผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช มีหรือไม่ ไม่มีลายลักษณ์อักษรยืนยันไว้ในเอกสารที่กล่าว

๒.๒ พระเถระชาวลังกาที่อยู่เมืองนนทบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่ น่าจะได้สวดสาธยายคาถาชินบัญชรร่วมกับพระสงฆ์ไทย คงจะเป็นที่ชื่นชมของท่านมาก จึงได้บันทึกบทสวดไว้เป็นหลักฐาน เมื่อท่านเป็นพระลังกาหรือชาวสิงหล ก็ต้องใช้อักษรสิงหลบันทึก เมื่อท่านมรณภาพในเมืองเชียงใหม่หรือล้านนา คาถาชินบัญชรจึงกลายเป็นมรดกธรรมของพระเถระชาวลังกาทิ้งไว้ให้แก่เรา

๒.๓ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระเถระชาวล้านนาและกรุงศรีอยุธยา ได้ส่งพระเณรไปศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง ไปรับการอุปสมบทใหม่บ้าง หรือเป็นสมณทูตนำคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยไปมอบให้พระมหากษัตริย์และคณะสงฆ์ชาวลังกา เพื่อเป็นหลักฐานการค้นคว้าต่อไป เนื่องจากบางช่วงเวลาพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมถอย  พระสงฆ์ไทยที่ไปสืบพระศาสนายังประเทศศรีลังกา เช่น พระอุบาลี แห่งกรุงศรีอยุธยา ไปอยู่ประเทศลังกานานถึง ๗ ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย ระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ลังกาคงจะได้สวดสาธยายคาถาชินบัญชรด้วย พระเถระชาวลังกาอาจชอบใจ จึงจารลงใบลานเป็นหลักฐาน พระไทยรุ่นต่อๆ มาที่ไปลังกาไปพบเข้าจึงคัดลอกมา ดังมีฉบับอักษรไทยปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

๓.คาถาชินบัญชรฉบับอักษรขอม
ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกา มี ๑๔ คาถา แต่งเป็นปัฐยาวัตฉันท์ล้วน เรียกชื่อว่า รัตนบัญชรคาถา

๔.คาถาชินบัญชรฉบับอักษรพม่า
คาถาชินบัญชรฉบับอักษรพม่า ได้รับความสนใจน้อยมาก

คาถาชินบัญชรภาษาบาลี
จากต้นฉบับในหนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๐ หน้า ๖๒๖๙-๖๒๗๐

๑.ชยาสนคตา พุทฺธา         เชตฺวา มารํ สวาหนํ
   จตุสจฺจาสภํ รสํ             เย บีวิสุ นราสภา
๒.ตณฺหงฺกราทโย พุทฺธา       อฏฺฐวีสติ นายกา
   สพฺเพ ปติฏฺฐิตา มยฺหํ       มตฺถเก เต มุนิสฺสรา
๓.สีเส ปติฏฺฐิโต มยฺหํ          พุทฺโธ ธมฺโม ทฺวิโลจเน
   สํโฆ ปติฏฺฐิโต มยฺหํ         อุเร สพฺพคุณากโร
๔.หทเย อนุรุทฺโธ จ            สารีปุตฺโต จ ทุกฺขิเณ
  โกณฺฑฺญโญ ปีฏฺฐิภาคสฺมิ    โมคฺคลฺลาโน จ วามเก
๕.ทกฺขิเณ สวเน มยฺหํ         อาสุํ อานนฺทราหุลา
   กสฺสโป จ มหานาโม        อุภาสุํ วามโสตเก
๖.เกสนฺเต (เกเสนฺเต) ปิฏฺฐิภาคสฺมิ    สุริโย ว ปภงฺกโร
   นิสินฺโน สิริสัมฺปนฺโน         โสภิโต มุมิปุงฺคโว
๗. กุมารกสฺสโป เถโร          มเหสี จิตฺตวาทโก
   โส มยฺหํ วทน นิจฺจํ          ปติฏฺฐาสิ คุณากโร
๘.ปุณโณ องฺคุลิมาโล          จ อุปาลินฺนทสีวลี
   เถรา ปญจ อิเม ชาตา      นลาเต ติลกา มม
๙.เอเตสิติ (เสสาติติ)          มหาเถรา ชิตวนฺโน ชิโนรสา
   ชลนฺตา สีลเตเชน           องฺคมงฺเคสุ สณฺฐิตา
๑๐.รตนํ ปุรโต อาสิ            ทกฺขิเณ เมตฺตสุตฺตกํ
    ธชคฺคํ ปจฺฉโต อาสิ        วาเม องฺคุลามาลกํ
๑๑.ขนฺธโมรปริตฺตญฺจ         อาฏานาฏิยสุตฺตกํ
   อากาเส ฉทนํ อาสิ          เสสา ปาการสณฺฐิตา
๑๓.ชินาณาพลสํยุตฺเต         สตฺตปาการลงฺกเต
   วสโต เม สกิจฺเจน            สทา สมฺพุทฺธปญฺชเร
๑๔.วาตปิตฺตาทิสญฺชาตา      พาหิรชฺฌตฺตุตุปทฺทวา
   อเสสา วินยํ ยนฺตุ            อนนฺตชินเตชสา
๑๕.ชินปญฺชรมชฺฌมุหิ         วิหรนฺตํ มหีตเล
   สทา ปาเลนฺตุ มํ สพฺเพ      เต มหาปุริสาสภา
๑๖.อิจฺเจวมนฺโต                สุคุตฺโต สุรกฺโข
   ชินานุภาเวน                 ชิตูปทฺทํโว
   ธมฺมานุภาเวน               ชิตาริสํโฆ
   สํฆานุภาเวน                 ชิตนฺตราโย
   สทฺธมฺมานุภาวปาลิโต        จรามิ ชินปญฺชเรติ

คำแปลคาถาชินบัญชร
โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์
    ๑.สมเด็จพระนราสภ สัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใด ขณะเมื่อประทับอยู่ ณ พระแท่นพุทธชัยอาสน์ทรงได้ชัยชนะแก่พระยามาราธิราชกับทั้งหมู่บริพารแล้วได้ตรัสรู้ ดื่มรสพระจตุราริยสัจอันประเสริฐ สมดังพระพุทธประสงค์
    ๒.ขออัญเชิญสมเด็จพระบรมนายกสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่ามุนีทั้งปวง มีจำนวนรวมกัน ๒๘ พระองค์ มีสมเด็จพระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น จงเสด็จมาประทับอยู่ ณ เบื้องบนกระหม่อมจอมขวัญของข้าพระพุทธเจ้า
    ๓.ขออัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงเสด็จมาสถิตอยู่เบื้องบนศีรษะของข้าพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญพระธรรมจงมาสถิตอยู่ในดวงเนตรทั้ง ๒ ของข้าพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญพระอริยสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่คุณงามความดีทั้งปวงจงมาสถิตอยู่ ณ อุรประเทศของข้าพระพุทธเจ้า
    ๔.ขออาราธนาพระอนุรุทธเถรเจ้า จงมาสถิตอยู่ในดวงฤทัยของข้าพเจ้า พระสารีบุตรเถรเจ้าจงมาสถิตอยู่ ณ ส่วนเบื้องขวา พระอัญญาโกณฑัญญเถรเจ้า จงมาสถิตอยู่ ณ ส่วนเบื้องหลัง พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า จงมาสถิตอยู่ ณ ส่วนเบื้องซ้าย
    ๕.ขออาราธนาพระอานนทเถรเจ้ากับพระราหุลเถรเจ้าจงมาสถิตอยู่ ณ โสตเบื้องขวา พระมหากัสสปเถรเจ้ากับพระมหานามเถรเจ้า จงมาสถิตอยู่ ณ โสตเบื้องซ้าย
    ๖.ขออัญเชิญสมเด็จพระโสภิตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีชั้นยอดเยี่ยมทรงเต็มเปี่ยมด้วยพระพุทธสิริ ทรงมีรัศมีแจ่มจ้าดุจดวงพระอาทิตย์ จงเสด็จมาประทับนั่งสถิตอยู่ ณ ชายผมส่วนเบื้องหลังของข้าพระพุทธเจ้า
    ๗.ขออาราธนาพระกุมารกัสสปเถรเจ้า ซึ่งเป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีวาจาอันไพเราะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดี จงมาสถิตอยู่ที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิจนิรันดร์
    ๘.ขออาราธนาพระมหาเถรเจ้าทั้งห้าพระองค์เหล่านี้คือ พระปุณณะเถรเจ้า พระองคุลิมาลเถรเจ้า พระอุบาลีเถรเจ้า พระนันทเถรเจ้า และพระสีวลีเถรเจ้า จงมาบังเกิดเป็นรอยริ้วอยู่ ณ ที่ตรงหน้าผากของข้าพเจ้า
    ๙.ขออาราธนาหมู่พระพุทธชิโนรส ชั้นพระมหาเถระทั้งหลาย ๘๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชนะข้าศึก คือ กิเลส รุ่งเรืองงามอยู่ด้วยเดชแห่งศีล จงมาสถิตดำรงอยู่ทั่วองค์อวัยวะน้อยใหญ่ของข้าพเจ้า
   ๑๐.ขอพระรัตสูตรจงมาอยู่ส่วนเบื้องหน้าของข้าพเจ้า พระเมตตสูตรจงมาอยู่ ณ ส่วนเบื้องขวา พระธชัคคสูตรจงมาอยู่ ณ ส่วนเบื้องหลัง พระองคุลิมาลสูตรจงมาอยู่ ณ ส่วนเบื้องซ้าย
   ๑๑.ขอพระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร จงสำเร็จเป็นหลังคากางกั้น อยู่เบื้องบนอากาศ พระปริตรและพระสูตรที่เหลือเศษจากนี้ จงสำเร็จเป็นกำแพงล้อมรอบ
   ๑๒.เมื่อข้าพระพุทธเจ้าประกอบการงานของตน กรงธรรมของสมเด็จพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งล้อมรอบด้วยกำแพง ๗ ชั้น ประกอบด้วยพุทธอาณาและพลานุภาพอันมั่นคงในกาลทุกเมื่อเช่นนี้
   ๑๓.ขอให้อุปัทวันตรายทั้งหลาย ทั้งภายนอกและภายในอันเกิดแต่เหตุต่างๆ มีลมกำเริบและดีซ่าน เป็นต้น จนถึงซึ่งความพินาศดับสูญไปโดยไม่มีเหลือ ด้วยเดชอานุภาพของพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด
   ๑๔.ขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่พระอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นชั้นมหาบุรุษอย่างประเสริฐทุกๆ พระองค์เหล่านั้น จงช่วยรักษาข้าพระพุทธเจ้าผู้อยู่ ณ ภาคพื้นดิน ภายในใจกลางกรงธรรมของสมเด็จพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ
   ๑๕.ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันข้าพเจ้าได้คุ้มครองรักษาตนได้ด้วยดีแล้ว และด้วยอานุภาพของสมเด็จพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าจงมีชัยชนะแก่อุปัทวะทั้งปวงด้วยอานุภาพของพระธรรมเจ้าขอให้ข้าพเจ้าจงมีชัยชนะแก่หมู่อริศัตรูทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระอริยสงฆ์ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีชัยชนะแก่อันตรายทั้งปวง
   ๑๖.ข้าพเจ้าเป็นอันอานุภาพแห่งพระสัทธรรมคุ้มครองรักษาแล้ว จงประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขตกรงธรรมของสมเด็จพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าตอลดไป ฉะนี้แล

อานิสงส์สวดคาถาชินบัญชร
   ๑.รวมจิตที่ฟุ้งซ่านให้มาอยู่ในกรอบแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางมโนกรรม ๓ ประการ คือ ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น มีความเห็นชอบถูกต้องตามคลองธรรม
   ๒.เป็นรากฐานหรือเบื้องต้นแห่งการฝึกสมาธิหรือเจริญสมถภาวนา ช่วยให้จิตตั้งมั่นในสมาธิได้ง่าย
   ๓.ด้วยอานุภาพแห่งบารมีของพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และพระมหาสาวก ๘๐ องค์ จะปกป้องคุ้มครองให้พ้นภัย ภยันตรายในกาลทุกเมื่อ
   ๔.ผู้ได้รับอานุภาพแห่งพระสูตร พระปริตร ที่สวดภาวนานั้นได้รับความคุ้มครองแล้ว จะประพฤติอยู่ในกรอบแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป

พระนามพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ จากบทสวดคาถาชินบัญชร
๑.พระตัณหังกร ๒.พระเมธังกร ๓.พระสรณังกร ๔.พระทีปังกร ๕.พระโกณฑัญญะ ๖.พระมังคละ ๗.พระสุมนะ ๘.พระเรวตะ ๙.พระโสภิตะ ๑๐.พระอโนมทัสสี ๑๑.พระปทุมะ ๑๒.พระนารทะ ๑๓.พระปทุมุตร ๑๔.พระสุเมธะ ๑๕.พระสุชาตะ ๑๖.พระปิยทัสสี ๑๗.พระอัตถทัสสี ๑๘.พระธัมมทัสสี ๑๙.พระสิทธัตถะ ๒๐.พระติสสะ ๒๑.พระปุสสะ ๒๒.พระวิปัสสี ๒๓.พระสีขี ๒๔.พระเวสสภู ๒๕พระถกุสันโธ ๒๖.พระโกนาคมนะ ๒๗.พระกัสสปะ ๒๘.พระโคตมะ  (พระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๔-๒๘ ได้รับพระสมัญญาเป็นการเฉพาะอีกว่า พระเจ้าห้าพระองค์)

นามพระมหาสาวกหรืออสีติมหาสาวก ๘๐ องค์
จากบทสวดคาถาที่ ๙ มีดังนี้คือ ๑.พระอัญญาโกณฑัญญะ ๒.พระวัปปะ ๓.พระภัททิยะ ๔.พระมหานามะ ๕.พระอัสสชิ ๖.พระนาลกะ ๗.พระยสะ ๘.พระวิมลา ๙.พระสุพาหุ ๑๐.พระปุณณชิ ๑๑.พระควัมปติ ๑๒-.พระอุรุเวลกัสสปะ ๑๓.พระนทีกัสสปะ ๑๔.พระคยากัสสป ๑๕.พระสารีบุตร ๑๖.พระโมคคัลลานะ ๑๗.พระมหากัสสปะ ๑๘.พระราธะ ๑๙.พระอุปเสนะ ๒๐.พระมหาจุนทะ ๒๑.พระขทิรวนิยเรวตะ ๒๒.พระมหาปันถก ๒๓.พระจุฬบันถก ๒๔.พระสภิยะ ๒๕.พระวักกลิ ๒๖.พระยโสชะ ๒๗.พระกุณฑธานะ ๒๘.พระปิลินทวัจฉะ ๒๘.พระปิลินทวัจฉะ ๒๙.พระมหาโกฏฐิตะ ๓๐.พระโสภิตะ ๓๑.พระอุปวาณะ ๓๒.พระองคุลิมาล ๓๓.พระสาคตะ ๓๔.พระเสละ ๓๕.พระวังคีสะ ๓๖.พระลกุณฎกภัททิยะ ๓๗.พระกุมารกัสสปะ ๓๘.พระนันทกะ ๓๙.พระสุภูติ ๔๐.พระกังขาเรวตะ ๔๑.พระนันทะ ๔๒.พระราหุล ๔๓.พระภัททิยะ (กาฬิโคธาบุตร) ๔๔.พระอนุรุทธ ๔๕.พระอานนท์ ๔๖.พระภคุ ๔๗.พระกิมพิละ ๔๘.พระอุบาลี ๔๙.พระเมฆิยะ ๕๐.พระนาคิตะ ๕๑.พระสีวลี ๕๒.พระปุณณมันตานีบุตร ๕๓.พระมหาอุทายี ๕๔.พระกาฬุทายี ๕๕.พระอชิตะ ๕๖.พระติสสเมตเตยยะ ๕๗.พระปุณณกะ ๕๘.พระเมตตคู ๕๙.พระโธตกะ ๖๐.พระอุปสีวะ ๖๑.พระนันทะ ๖๒.พระเหมกะ ๖๓.พระโตเทยยะ ๖๔.พระกัปปะ ๖๕.พระชตุกัณณี ๖๖.พระภัทราวุธ ๖๗.พระอุทยะ ๖๘.พระโปสาละ ๖๙.พระโมฆราช ๗๐.พระปิงคิยะ ๗๑.พระพากุละ ๗๒.พระปิณโฑลภารทวาชะ ๗๓.พระมหากัจจายนะ ๗๔.พระโสณกุฏิกัณณะ ๗๕.พระพาหิยะ ๗๖.พระปุณณะ ๗๗.พระทัพพะ ๗๘.พระรัฐบาล ๗๙.พระโสณโถฬิวิสะ ๘๐.พระมหากัปปินะ.