[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 เมษายน 2559 16:09:49



หัวข้อ: รวม-ความรู้รอบตัว
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 เมษายน 2559 16:09:49
.

ความรู้รอบตัว

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81338382677899_1.jpg)

โปปาแห่งพม่า

จากข้อมูลเผยแพร่ของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุถึง ภูเขาโปปา (Mount Popa) หรือ มหาคีรีนัต ว่า ตั้งอยู่ในเขตพุกาม มีความสูง ๑,๕๑๘ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในอดีตเคยเป็นภูเขาไฟ แต่ปัจจุบันดับไปแล้ว (ปะทุครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ ๒,๕๐๐ ปีก่อน) อยู่ห่างจากเมืองพุกามราว ๕๐ กิโลเมตร ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

โปปา ชื่อนี้มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต แปลว่า ดอกจำปา เนื่องจากในอดีตบริเวณภูเขาลูกนี้เคยมีต้นจำปาขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกอีกชื่อตรงตัวว่า "ภูเขาดอกจำปา" ภูมิทัศน์โดยรอบภูเขาไฟลูกนี้เต็มไปด้วยบ่อน้ำพุและลำธารเล็กๆ ราว ๒๐๐ แห่ง ดั้งเดิมของชาวพม่าเชื่อกันว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นสถานที่สิงสถิตของบรรดาเทวดาและนัต ๓๗ ตน

ภูเขาโปปาถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่ยุคการเลือกตำแหน่งสร้างอาณาจักรพุกาม โดยบันทึกว่า อดีตภูเขาไฟแห่งนี้เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเหล่านัต หรือที่พม่าเรียกว่า มินนัต

นัตคือวิญญาณ ภูตผี ของคนที่ตายเพราะถูกฆ่าหรือถูกทรมานด้วยวิธีต่างๆ ดวงวิญญาณจึงไม่ไปสู่สุคติ มีทั้งคนธรรมดาและผู้ที่มียศศักดิ์ไปจนถึงกษัตริย์ บ่อยครั้งปรากฏกายแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ กลายเป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้าน จึงมีการตั้งศาลและนำรูปปั้นเหมือนจริงไปตั้งไว้ให้คนกราบไหว้ และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องดูแลบ้านเมืองและยังสามารถให้ในสิ่งที่ต้องการได้ด้วย

รูปปั้นนัตแต่ละตนสวมเสื้อผ้าสวยงาม บางตนนั่งอยู่บนสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ หงส์ ม้า บางตนถืออาวุธ แตกต่างกันไปตามเรื่องราวกล่าวขวัญกันมา ตัวอย่างนัตที่เป็นที่นิยมกราบไหว้ คือ นัตโบโบยี หรือเทพทันใจ สำหรับคนใจร้อนอยากได้โชคลาภแบบทันใจ

เมื่อพระเจ้าอโนรธามังช่อ แห่งราชวงศ์พุกาม นำศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้าสู่พม่า ความเชื่อเรื่องนัตจึงถูกผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธ นัตถูกยกระดับให้เป็นนัตหลวง โดยพระองค์ตั้งศาลนัตหลวงขึ้นที่เขาโปปา หรือเรียกว่า มหาคีรีนัต มีทั้งหมด ๓๗ ตน ตนสำคัญคือ นัตตัจจาเมง (หรือนัตสักรา หรือพระอินทร์), นัตพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้, นัตโยนบะเยง (นัตพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์) เป็นต้น

ผู้ที่จะได้รับการนับถือเป็นนัตนั้น ต้องมาจากสาเหตุการตายที่ไม่ใช่การตายธรรมดา กล่าวโดยง่ายคือ ตายโหง เพราะเชื่อว่าจะมีฤทธานุภาพสูงกว่าผีทั่วๆ ไป กษัตริย์ในอดีตของพม่าจะต้องจัดพิธีเคารพบูชาผีนัตเป็นประจำทุกปี และชาวพม่าก็เชื่อว่าภูเขาโปปาแห่งนี้เป็นเสมือนบ้านของผีนัต

โดยจัดงานเฉลิมฉลองแสดงความเคารพกันประมาณเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน ช่วงเวลานั้นนักแสวงบุญจำนวนมากจะพากันเดินขึ้นไปบนภูเขาโปปาเพื่อไปสักการบูชาบรรดานัตทั้งหลายในคืนพระจันทร์เต็มดวง และช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ภูเขาไฟโปปาและวัดตวงคาลัต จะมองเห็นได้แต่ไกล แม้จะยืนอยู่บริเวณแม่น้ำอิรวดีที่อยู่ห่างออกไป ๖๐ กิโลเมตร ก็ยังเห็นได้ ด้วยรูปพรรณสัณฐานตามธรรมชาติที่สะดุดตา ขณะที่เมื่อขึ้นบันได ๗๗๗ ขั้นเพื่อไปยังวัดตวงคาลัตซึ่งอยู่บนยอดสุดของโปปา ก็มองเห็นเมืองพุกามได้ทั้งเมืองเช่นกัน
....หนังสือพิมพ์ข่าวสด


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/85132426561580_2.jpg)

กำเนิดฤดูกาล

ฤดูต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

คำตอบนำมาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า ความเชื่อที่ว่า ฤดูร้อนหรือฤดูหนาวถูกกำหนดจากระยะห่างของโลกกับดวงอาทิตย์ เมื่อโลกเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ก็จะเกิดฤดูร้อน แต่เมื่อโลกเคลื่อนออกไกลจากดวงอาทิตย์ก็จะเกิดฤดูหนาว เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

เนื่องจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลกไม่ได้เป็นวงกลมสมมาตร และดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ตรงกลางของวงโคจร แต่เป็นวงกลมรี และดวงอาทิตย์อยู่เยื้องไปทางขวาจากจุดกึ่งกลางวงโคจร ดังนั้นจึงเกิดระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมโลกจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และในช่วงเดือนมกราคมโลกจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ซึ่งตามความเชื่อข้างต้น ในเดือนมกราคมโลกต้องมีอุณหภูมิสูงกว่าในเดือนกรกฎาคม แต่ในความเป็นจริงเดือนมกราคมคือฤดูหนาว และเดือนกรกฎาคมคือฤดูร้อน ดังนั้นความเชื่อเรื่องระยะห่างจากดวงอาทิตย์เป็นตัวกำหนดฤดูกาลจึงไม่เป็นความจริง

สิ่งที่เป็นตัวกำหนดฤดูกาลแท้จริงแล้วเกิดจากการที่แกนโลกเอียงไปจากแนวตั้งฉากเป็นมุม ๒๓.๕ องศา (ซึ่งเอียงคงที่ตลอดปี) แม้ซีกโลกด้านขวาจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์ แต่เพราะแกนโลกเอียง ซีกโลกเหนือจึงเอนเข้าหาดวงอาทิตย์ในขณะที่ซีกโลกใต้เอียงออกจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นซีกโลกเหนือจึงเป็นฤดูร้อนและซีกโลกใต้จึงเป็นฤดูหนาว จนกระทั่งอีก ๖ เดือนเมื่อโลกโคจรไปอยู่อีกด้านหนึ่งของวงโคจร ในขณะที่แกนโลกยังเอียงด้วยมุมเท่าเดิม ซีกโลกใต้จึงเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์และซีกโลกเหนือเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นซีกโลกใต้จะเป็นฤดูร้อนและซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว

วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี หรือที่เรียกว่า วิษุวัต จริงๆ แล้วใน ๑ ปีมีเพียง ๒ วัน คือวันที่ ๒๑ มีนาคม เรียกว่า วสันตวิษุวัต ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิทางซีกโลกเหนือ (หรือฤดูใบไม้ร่วงทางซีกโลกใต้) กับวันที่ ๒๒ กันยายน เรียกว่า ศารทวิษุวัต ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูใบไม้ร่วงทางซีกโลกเหนือ (หรือฤดูใบไม้ผลิทางซีกโลกใต้) ในทั้งสองวันนี้แกนโลกจะอยู่ในระนาบตั้งฉากกับรัศมีจากดวงอาทิตย์พอดี ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เรียกว่า มัธยมกาล โดยซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้จะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์เท่ากันด้วย

หลังจาก ๒๑ มีนาคม โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อไปเรื่อยๆ โดยหมุนแบบทวนเข็มนาฬิกา ทำให้แกนโลกชี้เข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกไม่ตรงกับทิศตะวันออกและตะวันตกพอดี แต่จะค่อนไปทางเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเวลานี้ซีกโลกเหนือจะหันเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น จนกระทั่ง ๒๑ มิถุนายน ดวงอาทิตย์ จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือมากที่สุด เรียกว่า ครีษมายัน วันนี้ในซีกโลกเหนือกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืนมากที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อน ส่วนในซีกโลกใต้ กลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวันมากที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูหนาว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51650097800625_3.jpg)

หลังจากวันนี้ โลกโคจรต่อไปจนเข้าสู่วันศารทวิษุวัต ซึ่งมีกลางวันยาวนานเท่ากลางคืนอีก และจากนั้นโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยแกนโลกชี้ออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึง ๒๒ ธันวาคม แกนโลกจะชี้ออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกค่อนไปทางใต้มากที่สุด เรียกว่า เหมายัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูร้อนในซีกโลกใต้ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ทั้งวันครีษมายันและวันเหมายันเรียกรวมกันว่า อายัน จากนั้นโลกก็จะโคจรต่อไปจนเข้าสู่วันวสันตวิษุวัตอีกครั้ง เป็นการจบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบ และครบฤดูกาลทั้ง ๔ ฤดูกาล เท่ากับระยะเวลา ๑ ปี

สรุปหากพื้นผิวของโลกมีสภาพเป็นเนื้อเดียวเหมือนกันหมด คือเป็นลูกกลมเกลี้ยงที่สมบูรณ์ โลกจะมี ๔ ฤดูกาล สำหรับซีกโลกเหนือเป็นดังนี้ ฤดูร้อน ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน-๒๑ กันยายน, ฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่ ๒๒ กันยายน-๒๑ ธันวาคม, ฤดูหนาว ตั้งแต่ ๒๒ ธันวาคม-๒๐ มีนาคม และฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่ ๒๑ มีนาคม-๒๐ มิถุนายน ส่วนซีกโลกใต้ก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามตามที่อธิบายไปแล้ว

แต่เนื่องจากในความเป็นจริงพื้นผิวของโลกมีสภาพแตกต่างกันไป เช่น มีภูเขา ที่ราบ ทะเล กระแสลม กระแสน้ำ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อสภาพลมฟ้าอากาศ โดยประเทศไทยตั้งอยู่บนแนวเส้นศูนย์สูตรและคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม จึงมีฤดูกาลดังนี้ ฤดูร้อน มีนาคม-พฤษภาคม, ฤดูฝน มิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาว พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
....หนังสือพิมพ์ข่าวสด