หัวข้อ: พุทธนิกายสยามวงศ์ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 มิถุนายน 2559 17:38:21 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/83439731059802_view_resizing_images_3_.jpg) พุทธนิกายสยามวงศ์ ประเทศไทยและประเทศศรีลังกามีประวัติความสัมพันธ์ด้านศาสนายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยมีชื่อว่า "ลังกาวงศ์" ในขณะที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทที่สำคัญนิกายหนึ่งในประเทศศรีลังกามีชื่อว่า "สยามวงศ์" หรือ "สยามนิกาย" พระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นได้รับสืบทอดมาจากประเทศศรีลังกาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กล่าวคือในปี พ.ศ.๑๖๙๖ พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช กษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจนรุ่งเรืองทั้งการศึกษาและการปฏิบัติ จนลังกาในยุคนั้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา พระสงฆ์จากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าไปศึกษาพระธรรมวินัยและบวชใหม่ในลังกา แล้วกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในประเทศของตน บ้างก็นิมนต์พระสงฆ์จากลังกาเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา เช่น ในกรณีของสยามประเทศ นิมนต์พระสงฆ์จากลังกา นามว่า ราหุล มาจำพรรษาและเผยแผ่พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในปี พ.ศ.๑๘๒๐ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย อาราธนาพระมหาเถรสังฆราชจากเมืองนครศรีธรรมราชมาจำพรรษา ณ วัดอรัญญิก กรุงสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เจริญรุ่งเรืองในสยามประเทศ รวมถึงในปี พ.ศ.๑๙๐๔ พระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ ๕ ของกรุงสุโขทัย ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราช จากลังกาทวีปมาจำพรรษา และในยุคนี้เองที่เริ่มแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสี และฝ่ายอรัญวาสี ขณะที่สยามนิกายในศรีลังกา กำเนิดปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คณะสงฆ์ในศรีลังกาเสื่อมสูญไป เนื่องจากภัยคุกคามจากพวกทมิฬกับชาติตะวันตก ครั้งนั้นลังกาทวีปมีเพียงคณะสามเณร นำโดย สามเณรสรณังกร สามเณรเหล่านั้นไม่สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้ เพราะไม่มีพระอุปัชฌาย์และพระอันดับ กษัตริย์พระนามว่า พระกีรติศรีราชสิงหะ จึงได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ขอสมณทูตจากสยามไปช่วยฟื้นสมณวงศ์ในศรีลังกาเมื่อปลาย พ.ศ.๒๒๙๓ พ.ศ.๒๒๙๕ คณะพระธรรมทูตชุดแรกจากกรุงศรีอยุธยา นำโดย พระอุบาลี พร้อมพระอริยมุนี และพระนามะ เดินทางไปยังศรีลังกาโดยเรือกำปั่นของฮอลันดา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น ๕ เดือน ๔ วัน เมื่อถึงเกาะลังกาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม กรุงศิริวัฒนบุรี (ปัจจุบันคือวัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี้) พระธรรมทูตจากสยามได้อุปสมบทสามเณรสรณังกรและคณะ รวมทั้งกุลบุตรแห่งลังกาทวีปเป็นพระภิกษุกว่า ๗๐๐ รูป ภายในระยะเวลา ๓ ปี ที่พำนักอยู่ ทั้งยังได้ร่วมกันฟื้นฟูสมณวงศ์ในศรีลังกาจนเป็นผลสำเร็จ นำสู่การก่อตั้งคณะสงฆ์นิกายใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดนิกายหนึ่งจวบจนถึงปัจจุบัน นามว่า "สยามนิกาย" ด้วยเป็นนิกายที่สืบเชื้อสายสมณวงศ์มาจากสยาม ปี พ.ศ.๒๒๙๘ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งคณะธรรมทูตชุดที่ ๒ ไปยังศรีลังกาเพื่อผลัดเปลี่ยนหน้าที่กับคณะธรรมทูตชุดแรก คณะธรรมทูตไทยชุดที่ ๒ นำโดย พระวิสุทธาจารย์ และ พระวรญาณมุนี เมื่อเดินทางถึงเมืองท่าตรินโคมาลีแห่งลังกาทวีป ได้ทราบว่าพระอุบาลีถึงแก่มรณภาพเสียแล้วภายในกุฏิวัดบุปผาราม ด้วยโรคหูอักเสบ คณะธรรมทูตชุดที่ ๒ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบุปผาราม และดำเนินกิจกรรมทางศาสนาต่อเนื่องจากคณะสงฆ์สยามชุดแรกเป็นเวลารวมทั้งสิ้น ๔ ปี จนกระทั่งเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๓๐๑ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การที่คณะสงฆ์สยามเดินทางไปสืบพุทธศาสนาในศรีลังกา ทำให้พุทธศาสนาในศรีลังกาซึ่งเดิมเสื่อมทรามลงได้กลับมาฟื้นฟูจนเป็นหลักให้กับดินแดนลังกาทวีปอีกครั้ง ศรีลังกาขนานนามพระสงฆ์ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระอุบาลีว่า "อุบาลีวงศ์" หรือ "สยามวงศ์" และทำให้ "สยามนิกาย" เป็นหนึ่งในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในศรีลังกาที่มีผู้ให้การยอมรับนับถือเป็นจำนวนมากสืบต่อมา เกี่ยวกับพระอุบาลี ธรรมทูตรูปแรกแห่งสยามวงศ์ ศึกษาเรื่องราวของท่านได้ที่ "พิพิธภัณฑ์พระอุบาลีมหาเถระ" ตั้งอยู่ภายในวัดธรรมาราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันตกนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระอุบาลีมหาเถระ และเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๒๖๐ ปี แห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในแผ่นดินลังกา ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด |