[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 22 มิถุนายน 2559 13:40:37



หัวข้อ: ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา : สถาปัตยกรรมต้นแบบปราสาทนครวัด กัมพูชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 22 มิถุนายน 2559 13:40:37

ปุจฉา...?
วิสัชนา...เราสามารถทราบวิวัฒนาการของปราสาทขอม
ได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรม


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34055067350466_1_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/87516988275779_1.jpg)

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ต้นแบบของปราสาทนครวัด
สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่อยู่ในประเทศกัมพูชา

kimleng


อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “ปราสาทหินพิมาย”  ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่า ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมือง ขนบธรรมเนียมประเพณี คติการนับถือศาสนา และอื่นๆ ของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ปราสาทหินพิมาย เป็นศาสนสถานโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจที่ใหญ่โตและงดงามอลังการ สิ่งก่อสร้างแห่งนี้แสดงถึงบารมีอันยิ่งใหญ่ของผู้สร้าง และพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้าที่มีต่อศาสนา

โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของปราสาทหินพิมายเป็นระเบียบได้สัดส่วน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๖๕ เมตร ยาว ๑,๐๓๐ เมตร  มีปราสาทประธานตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของเมือง ล้อมรอบด้วยแม่น้ำมูลไหลผ่านทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ด้านทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทางทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ท่าสงกรานต์ มีแหล่งน้ำภายในเมืองได้แก่ สระแก้ว สระพลุ่ง และสระขวัญ  และสระน้ำที่ขุดขึ้นนอกเมือง ได้แก่ สระเพลง สระโบสถ์ สระเพลงแห้ง และอ่างเก็บน้ำ (บาราย) ขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ ซึ่งยังคงเหลือร่องรอยโบราณสถานและสระน้ำที่ขุดขึ้นใช้ให้เห็นทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/27265833980507_1.jpg)
ปราสาทนครวัด เมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ภาพ : Mckaforce

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/21410508743590_2.jpg)
ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
สร้างเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒
โดยนำสถาปัตยกรรม 'ปราสาทหินพิมาย' ไปเป็นต้นแบบของการก่อสร้าง
ภาพ : Mckaforce

ปราสาทหินพิมายสร้างด้วยหินทราย มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากปราสาทหินแห่งอื่น คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้หรือหันหน้าไปทางเมืองนครวัด ในราชอาณาจักรขอม ซึ่งปราสาทหินแห่งอื่นมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางที่ตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเขมร มายังเมืองพิมายทางด้านทิศใต้  เพื่อให้เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ภายในปรางค์ประธานประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ภายนอกสลักภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ภายในประกอบด้วยศาสนสถานอื่นๆ ได้แก่ ธรรมศาลา ปรางค์พรหมทัต ปรางค์หินแดง คลังเงิน บรรณาลัย เป็นต้น  โดยมีลักษณะทางศิลปกรรมแบบปาปวน ซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น และศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยต่อมาปะปนอยู่บ้าง

จากการศึกษาโดยการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี มีการกำหนดอายุของหลักฐานต่างๆ ได้แก่ ศิลาจารึก หลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานทางด้านศิลปกรรม ที่แตกต่างไปจากที่พบโดยทั่วๆ ไป ของปราสาทแห่งอื่น  เช่น ภาพสลักประดับสถาปัตยกรรม ซึ่งในปราสาทหินแบบศิลปกรรมเขมร นิยมแกะสลักรูปลงในเนื้อหินตามส่วนต่างๆ ของอาคาร ได้แก่ หน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาติดผนัง   รวมทั้งเมืองพิมายในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรขอม ที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด ดังนั้น วัฒนธรรมขอมจึงแผ่อิทธิพลขยายเข้ามายังดินแดนอาณาจักรไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านทางกลุ่มชนสองเชื้อชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เป็นเหตุให้มีการเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันด้วยการแต่งงาน สืบเชื้อสายลูกหลานไปสร้างบ้านแปงเมืองขยายขอบเขตขึ้นในถิ่นอื่นๆ  และโดยที่ชาวเขมรโบราณส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ต่อมานับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน) ด้วยเหตุนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า ปราสาทหินพิมายคงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โดยได้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีกในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘  เพื่อเป็นสถานที่สำหรับกษัตริย์และเจ้านายผู้สูงศักได้ทำพิธีเซ่นไหว้บูชา ประกอบกิจทางศาสนา เผยแผ่ศาสนา ตลอดจนการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนยามเสด็จมา ณ ศาสนสถานแห่งนี้  

เชื่อกันว่า คำว่า “พิมาย” น่าจะเป็นคำเดียวกับชื่อ “วิมาย” หรือ “วิมายปุระ” ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรที่จารบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของทางเข้าปราสาทหินพิมาย

ชื่อ “วิมาย” นี้นำหน้าด้วยคำว่า “กมรเตงชคต”  พบในศิลาจารึกในที่อื่นหลายแห่งด้วยกัน เช่น จารึกเขาพนมรุ้ง จารึกเขาพระวิหาร เป็นต้น   จึงอาจจะเป็นคำนำหน้าที่ใช้เรียกรูปเคารพประจำศาสนสถานและอาจเรียกรวมไปถึงศาสนสถานด้วย  

ชื่อ “พิมาย” นั้น ปรากฏเป็นชื่อเมืองอยู่ในศิลาจารึกพบในประเทศกัมพูชาหลายแห่ง แม้รูปคำจะไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่เป็นที่เชื่อกันว่า หมายถึงเมืองพิมายอันเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายนี่เอง โดยเรียกว่า “ภีมปุระ” บ้าง (จารึกพระเจ้าอิสาณวรมันที่ ๑ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑๕๙-๑๑๗๒) เรียกเมืองวิมาย หรือวิมายะปุระ บ้าง (จารึกปราสาทพระขรรค์ พุทธศตวรรษที่ ๑๘) โดยเฉพาะข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ โปรดให้สร้างที่พักคนเดินทาง จากราชธานีมายังเมืองพิมาย รวม ๑๗ แห่งด้วยกันนั้น แสดงถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเมืองวิมายกับอาณาจักรเขมร และแสดงว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อย  จากหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่มีอยู่ในเมืองพิมาย ตลอดจนโบราณสถานที่เชื่อว่าคือที่พักของคนเดินทางที่พบหลายแห่ง ระหว่างเส้นทางโบราณจากเมืองพระนครแห่งอาณาจักรเขมรโบราณมาสู่เมืองพิมาย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า เมืองพิมายนี้ ควรจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองวิมายที่กล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64340668502781_2.jpg)
สะพานนาคราช

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/73383386226163_a2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32071191238032_a1.jpg)
 

เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมปราสาทหินพิมายจะผ่านส่วนนี้เป็นส่วนแรก ถนนที่ตรงจากท่าน้ำผ่านประตูเมืองด้านหน้าจะมาสิ้นสุดลงที่สะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของซุ้มประตู หรือที่มีศัพท์เรียกว่า โคปุระ ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธานซึ่งเป็นส่วนหน้าของปราสาท ทั้งนี้อาจมีจุดมุ่งหมายในการสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ ตามคติความเชื่อในเรื่องจักรวาลทั้งในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ  มีลักษณะเป็นสะพานรูปกากบาท ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๓๑.๗๐ เมตร ยกพื้นขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๕๐ เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้น ทั้งสามด้านมีบันไดขึ้น-ลง เชิงบันไดทำเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกา ราวสะพานโดยรอบทำเป็นลำตัวของนาคราช ชูคอแผ่พังพานเป็นนาค ๗ เศียร เศียรนาคเหล่านี้มีรัศมีติดกันเป็นแผ่นสลักลายในแนวนอน อันเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ หันหน้าออกไปยังเชิงบันไดทั้งสี่ทิศ ที่เชิงบันไดมีประติมากรรมรูปสิงห์สลักด้วยหินทรายตั้งประดับอยู่ที่เสา

ถัดจากสะพานนาคราชเข้ามาเป็นซุ้มประตูหรือที่เรียกว่า โคปุระ ของกำแพงปราสาทด้านทิศใต้ ประตูซุ้มนี้ก่อด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาทและมีซุ้มประตูลักษณะเดียวกันนี้อีก ๓ ทิศ คือ ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก โดยมีแนวกำแพงสร้างเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากเหนือถึงใต้ ๒๗๗.๕๐ เมตร และกว้างจากตะวันออกไปตะวันตก ๒๒๐ เมตร ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีทับหลังชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกที่ประดิษฐานอยู่เหนือคานหาม



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66157136526372_a7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84362752859791_a6.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71332534030079_a3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22703839341799_a4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35277201235294_a5.jpg)



ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68666977766487_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39238717075851_2.jpg)
ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว (Arched Gateways and Kamphaeng kaew)
ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพง อยู่ในแนวตรงกันทั้งหมด ๔ ด้าน คือ ทิศเหนือและทิศใต้
อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพงทิศตะวันออกและทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย
 
ผังโดยรอบของซุ้มประตูมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านใน
เชื่อกันว่าเป็นดินแดนเข้าสู่โลกสวรรค์อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81209606428941_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/76970609815584_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/40992029549346_1..jpg)
กำแพงชั้นในของปราสาทก่อด้วยหินทรายสีแดง ยกเว้นส่วนที่ต้องการความแข็งแรงพิเศษ
มีลักษณะต่างจากกำแพงชั้นนอก คือก่อเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาคลุมยาวต่อเนื่องกัน
ล้อมรอบลานปราสาทชั้นใน อันเป็นลักษณะที่เรียกว่า ระเบียงคด  ภายในสามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยตลอด


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86850106840332_5.jpg)
ลูกมะหวด หมายถึงลูกกรงที่ใช้แทนหน้าต่างปิดตาย มักพบตามปราสาทหิน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61495971928040_6.jpg)
ที่ซุ้มประตูและกำแพงชั้นใน ส่วนที่เป็นกรอบประตู กรอบหน้าต่าง เสารับทับหลัง
สร้างด้วยหินทรายสีขาว  ก่อห้องยาวสูงขึ้นมาจากระดับพื้นดินประมาณ ๑ เมตร สูง ๒.๓๕ เมตร
ความยาวของด้านทิศเหนือและทิศใต้ ๗๒ เมตร ด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ยาว ๘๐ เมตร
ผนังด้านในทุกด้านเจาะหน้าต่างเป็นระยะตรงกัน ส่วนผนังด้านนอกปิดทึบแต่ทำเป็นหน้าต่างหลอก
ประดับลูกกรงสลักหินทราย อย่างที่เรียกว่า ลูกมะหวด

ซุ้มประตูและระเบียงคดส่วนใหญ่พังทลายลง เนื่องจากใช้หินทรายซึ่งมีคุณสมบัติผุเปื่อย พังง่าย
เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง





หัวข้อ: Re: ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา : สถาปัตยกรรมต้นแบบปราสาทนครวัด กัมพูชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 กรกฎาคม 2559 11:20:20

ปรางค์ประธาน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12694449143277_2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95294829209645_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22703839341799_a4.jpg)

ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ภายในวงล้อมของระเบียงคด เป็นศูนย์กลางของศาสนสถาน หันหน้าไปทางทิศใต้
สร้างด้วยหินทรายสีขาวทั้งองค์ ต่างจากซุ้มประตู(โคปุระ) กำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอกที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงเป็นส่วนใหญ่ 
องค์ปรางค์สูง ๒๘ เมตร ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ยาวด้านละ ๒๒ เมตร  มีมณฑปสร้างเชื่อมต่อ
กับองค์ปรางค์โดยมีฉนวนกั้น  ทั้งองค์ปรางค์และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว เป็นชั้นๆ
มีรูปแกะสลักเป็นลายกลีบบัว และลายประจำยาม ส่วนด้านอื่นๆ อีกสามด้านมีมุขยื่นออกไป มีบันไดและประตู
ขึ้นลงสู่องค์ปรางค์ทั้งสี่ด้าน ภายในมีห้องสี่เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ  (GARBHAGRIHA)
ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสูงสุด จึงจัดเป็นห้องที่สำคัญที่สุดของศาสนสถาน  ซึ่งในครั้งอดีตผู้ที่จะเข้ามาในห้องนี้ได้
คือ กษัตริย์และนักบวชเพียงเท่านั้น    ปัจจุบัน คงเหลืออยู่แต่ร่องรอยของร่องน้ำมนต์ที่มุมห้องด้านทิศตะวันตก
ที่ต่อท่อลอดออกไปยังด้านนอกขององค์ปรางค์ ส่วนสัญลักษณ์สูงสุดหรือรูปเคารพที่ได้เคยประดิษฐานได้สูญหายไปจากห้องนี้นานแล้ว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29811636192930_6.jpg)
ครุฑแบก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42593471085031_5.jpg)
เรือนยอด หรือ ส่วนยอด ซึ่งเป็นส่วนของหลังคา ทำเป็นชั้นเชิงบาตร คือสร้างเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันขึ้นไป มี ๕ ชั้น
ที่เชิงหลังคาสลักเป็นรูปครุฑแบกอยู่ตรงกลาง โดยรอบด้วยกลีบขนุน รูปเทพต่างๆ และมีเศียรนาคอยู่ที่
มุมกลางของแต่ละมุมเหนือชั้นเชิงบาตร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15746975193420_13.jpg)
ชั้นบนสุดของส่วนยอดสลักเป็นรูปดอกบัว


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61664162162277_3.jpg)
บราลี รูปหัวเม็ด กลึงเป็นลูกแก้ว ซ้อนเป็นชั้นๆ
ใช้ติดประดับรายๆ ไปตามอกไก่หลังคาหรือหลังบันแถลงบนหลังคาเครื่องยอด

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60644364150034_4.jpg)
มณฑป มุงหลังคาด้วยแผ่นหินซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปเป็นรูปโค้งลดชั้น ประดับสันหลังคาด้วยบราลี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68326348645819_11.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35198924483524_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63213293295767_8.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/15877457873688_9.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42645912493268_10.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56040191112293_12.jpg)
ปรางค์ประธานของปราสาทหินพิมาย มีการตกแต่งอย่างดงาม โดยแกะสลักลงในเนื้อหิน
เป็นลวดลายประดับตามผนังด้านนอกของอาคารทั้งช่วงล่างและช่วงบน เสาติดผนัง เสาประดับ กรอบประตู
หรือเสารับทับหลังและกรอบหน้าบัน  โดยแกะสลักเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ผูกเป็นลวดลายต่างๆ
เช่น ลายประจำยาม ลายกรุยเชิง ลายก้านต่อดอก ลายใบไม้ม้่วน ฯลฯ

แต่ที่หน้าบันและทับหลังมักแกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนา จากคัมภีร์ในศาสนาฮินดู
เช่น เรื่องรามายะณะ และเรื่องราวทางพุทธศาสนาในคติมหายาน


หัวข้อ: Re: ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา : สถาปัตยกรรมต้นแบบปราสาทนครวัด กัมพูชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 กรกฎาคม 2559 16:50:19

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/66157136526372_a7.jpg)

โบราณสถาน "อโรคยาศาล"

จากบทความเรื่อง "โรงพยาบาลในจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗" โดย นวพรรณ ภัทรมูล นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่า "เมื่อประชาชนมีโรคถึงความหายนะ ตามภาวะแห่งกรรมด้วยการสิ้นไปแห่งอายุเพราะบุญ พระองค์ผู้เป็นราชา ได้กระทำโคที่สมบูรณ์ทั้งสาม เพื่อประกาศยุคอันประเสริฐ" ข้อความนี้เป็นส่วนหนึ่งของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ บอกถึงความมุ่งหมายในการสร้างสถานพยาบาล หรือ "อโรคยาศาล" (คำๆ นี้ปรากฏอยู่ในจารึกบรรทัดที่ ๗ ด้านที่ ๒ ของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบและภารกิจของอโรคยาศาล ที่ได้ระบุไว้ในจารึกนั้น ก็เทียบได้กับ "โรงพยาบาล" ในปัจจุบันนั่นเอง

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์มหิธรปุระ โดยทางพระราชบิดา (พระเจ้าธรณินธรวรมันที่ ๒) ส่วนพระราชมารดาเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าหรรษวรมันที่ ๓ พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๒๔ ทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์ยิ่ง ทรงโปรดให้สร้างสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาล จำนวนมากถึง ๑๐๒ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร ทั้งยังพระราชทานข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนยารักษาโรค

อโรคยาศาลประกอบด้วยปรางค์ประธาน มีอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าสู่ปราสาทประธาน ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตำแหน่งของบรรณาลัยมักจะอยู่ค่อนไปที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เสมอ มีซุ้มประตูทางเข้าเรียกว่า โคปุระ ทางด้านหน้าเพียงแห่งเดียว ตั้งอยู่ใกล้ๆ จุดกึ่งกลางของกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก

บริเวณด้านนอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า บาราย หรือ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ กรุด้วยศิลาแลง เป็นสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นตามรายทางของอาณาจักรขอมสมัยพระนคร จะเชื่อมกับปราสาทนครธม และปราสาทหินอื่นๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผ่พระราชอำนาจไปถึงและสร้างปราสาทหินเอาไว้

เหตุที่ทราบว่าเป็นโรงพยาบาลเพราะมีหลักฐานจารึกไว้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลคำอ่าน-คำแปลของจารึกในกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ รวม ๖ หลัก ได้แก่
   -จารึกพบที่ จ.สุรินทร์ ๓ หลัก คือ จารึกปราสาท (สร.๔),
   -จารึกตาเมียนโตจ (สร.๑),
   -จารึกสุรินทร์ ๒ (สร.๖)
   -จารึกพบที่ จ.นครราชสีมา ๑ หลัก คือ จารึกเมืองพิมาย (นม.๑๗)
   -จารึกพบที่ จ.บุรีรัมย์ ๑ หลัก คือ จารึกด่านประคำ (บร.๒) และ
   -จารึกพบที่ จ.ชัยภูมิ ๑ หลัก คือ จารึกวัดกู่บ้านหนองบัว (ชย.๖)

เมื่อได้พิจารณาและเปรียบเทียบในส่วนของเนื้อหาแล้วพบว่า ทุกหลักมีเนื้อหาและการเรียงลำดับข้อมูลเหมือนกัน กล่าวคือ

จารึกด้านที่ ๑ จะขึ้นต้นด้วยการกล่าวนมัสการเทพประจำโรงพยาบาล ตามด้วยสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระเทวี พร้อมกล่าวถึงมูลเหตุที่สร้างโรงพยาบาล
จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล ตลอดจนหน้าที่ของแต่ละคน
จารึกด้านที่ ๓ กล่าวถึงจำนวนสิ่งของเครื่องใช้ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้อุทิศไว้เพื่อใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และ
จารึกด้านที่ ๔ กล่าวสรรเสริญและอำนวยพรแด่พระราชาผู้ได้กระทำกุศล อีกทั้งประกาศข้อห้ามต่างๆ ในโรงพยาบาล

เทพประจำโรงพยาบาลมี ๓ องค์ คือ พระไภษัชครุไวทูรย์ (พระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระชินะ ถือเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งผู้ประสาทความไม่มีโรค อีก ๒ องค์เป็นพระชิโนรส คือ พระศรีสูรยไวโรจนจันทโรจิ และพระศรีจันทรไวโรจนโรหินีศะ ผู้ขจัดโรค

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลมีหลายตำแหน่ง แต่ละตำแหน่งมีจำนวนบุคคลไม่เท่ากันในแต่ละโรงพยาบาล จำนวนคร่าวๆ ได้แก่ แพทย์ ๒ คน เจ้าหน้าที่ดูแลทรัพย์สิน ธุรการ หาข้าวเปลือก หาฟืน จ่ายยา ทำบัตร สถิติ จ่ายสลากยา พลีทาน หาฟืนต้มยา เจ้าหน้าที่หุงต้ม ดูแลรักษาและจ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญ เจ้าหน้าที่โม่ยา ตำข้าว เจ้าหน้าที่ประกอบพิธีบูชายัญ เจ้าหน้าที่ดูแลทั่วไป และทำความสะอาดเทวสถาน

เจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มคือผู้ทำหน้าที่ดูแลรักษาโรงพยาบาลและส่งยาให้แก่แพทย์ จำนวน ๑๔ คน และเจ้าหน้าที่ที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งคือโหราจารย์ ทั้งนี้ จากจารึกปราสาทและจารึกสุรินทร์ ๒ ระบุไว้ว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในโรงพยาบาลมีถึง ๙๘ คน

สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ประกอบการรักษาพยาบาล ได้แก่ เครื่องพลีทาน ข้าวสาร เครื่องแต่งตัวยาวเก้าคืบ เสื้อผ้ายาว สิบคืบ เครื่องนุ่งห่มที่มีชายสีแดง เครื่องนุ่งห่มสีขาว ผ้าสีขาว กฤษณา เทียนขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง น้ำมัน เนยใส จันเทศ เกลือ ผลกระวาน ใหญ่เล็ก กำยาน มหาหิงคุ์ น้ำตาลกรวด ไม้จันทน์ เทียนไข อาหารโค ฯลฯ


หัวข้อ: Re: องค์ความรู้ เรื่อง ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2566 19:26:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68377391745646_332882707_874713680496739_3010.jpg)

องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
เรื่อง : ปราสาทพิมาย (Prasat Phimai)
ที่มาข้อมูล : ศูนย์บริการข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

ปราสาทเป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อทางศาสนา ปราสาทประธานของปราสาทพิมายหันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ

บริเวณเรือนธาตุ ส่วนทับหลัง หน้าบัน มีการแกะสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่องในศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดู ส่วนยอดหรือชั้นหลังคามีลักษณะซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป บนสุดประดับด้วยหม้อน้ำ (กลศ) หรือบัวยอดปราสาท

ส่วนยอดแต่ละชั้นประดับด้วย บันแถลง กลีบขนุน หรือนาคปัก ที่เอนสอบเข้าด้านในทำให้ส่วนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ซึ่งน่าจะเป็นต้นเค้าให้กับการสร้างส่วนยอดของปราสาทในศิลปะเขมรแบบนครวัดที่พบในประเทศไทยและกัมพูชา

จากรูปแบบของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จารึก สันนิษฐานได้ว่าปราสาทพิมายสร้างขึ้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓) หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (พ.ศ.๑๖๒๓-๑๖๕๐) และมีการก่อสร้างเพิ่มในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๑)

ด้านหน้าของปราสาทประธานมีปรางค์พรหมทัตและปรางค์หินแดง อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูซุ้ม(โคปุระ) เป็นทางเข้าทั้งสี่ด้านถัดออกไปเป็นกำแพงชั้นนอกที่มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน อาคารทั้งสองเชื่อมต่อกันทางทิศใต้ด้วยชาลาทางเดิน พื้นที่ระหว่างระเบียงคดกับกำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันตกมีอาคารอยู่สองหลัง สันนิษฐานว่าเป็นบรรณาลัย หรืออาคารที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา

ด้านหน้าของโคปุระกำแพงชั้นนอกด้านทิศใต้มีชาลา เรียกว่า สะพานนาคราช ด้านหน้าสุดมีอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็น พลับพลาเปลื้องเครื่อง สถานที่เปลี่ยนเครื่องทรงของกษัตริย์หรือผู้นำก่อนที่จะเข้าไปสักการะรูปเคารพที่อยู่ภายใน