หัวข้อ: ‘ฮินดู’ กิน ‘วัว’ ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 สิงหาคม 2559 12:10:18 (http://www.siamganesh.com/all_gods/shiva/nandi_photobucket.jpg) ‘ฮินดู’ กิน ‘วัว’ ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว ซึ่งรวมถึงไม่ให้ฆ่าวัวด้วย การฆ่า (และกิน) วัวถือกันว่าเป็นบาปหนัก (ปาตกะ) แต่ก็ไม่ใช่บาปที่สุดแบบอนันตริยกรรม ที่เรียกว่า “มหาปาตกะ” เท่าฆ่าพราหมณ์ (เรียกว่า พราหมณะทหัน) แม้จะไม่ใช่บาปที่สุด แต่ก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากในปัจจุบัน ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นมังสวิรัติ โดยเฉพาะวรรณะสูงกินแต่ถั่วงานมเนย ที่ทานเนื้อสัตว์ก็ทานปลา ไก่ และแกะ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เนื้อหมูเขาก็ไม่ค่อยกินกันครับ การไม่กินหมูเป็นคติเดิมของฮินดูเอง เพราะในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ระบุว่าไม่ควรกินหมูบ้าน แต่ไม่เห็นว่าหมูบ้านนั้นสกปรกมากกว่าหมูป่า ต่อเมื่ออิสลามเข้ามาในดินแดนอินเดีย การกินหมูยิ่งกลายเป็นสิ่งต้องห้ามขึ้นไปอีก แต่ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักปฏิบัติของฮินดูโบราณ กล่าวว่า “นมางฺสภกฺษเณ โทโษ น มทฺเย น จ ไมถุเน, ปฺรวฤติเรษา ภูตานำ นิวฤติสฺตุ มหาผลา” แปลว่าการกินเนื้อสัตว์ ดื่มสุราและเสพเมถุนไม่เป็นโทษ เพราะเป็นปกติของสัตว์ทั้งหลาย แต่การละเว้นย่อมเป็นผลบุญใหญ่ มีหลักฐานจากคัมภีร์และวัฒนธรรมหลายกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าคนฮินดูแต่เดิมจึงไม่ใช่นักมังสวิรัติ และกินเนื้อสัตว์กันโดยทั่วไปไม่ว่าวรรณะไหน การกลายเป็นนักมังสวิรัติ มาจากสองสาเหตุ เรื่องแรก คืออิทธิพลของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นหลักอหิงสาและเมตตาธรรม เช่นเดียวกับศาสนาไชนะ และทำให้พราหมณ์ต้องปรับตัวอย่างมากจนเริ่มคติการถือมังสวิรัติกันแพร่หลาย อีกส่วนคือ เรื่องความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสภาพทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากการกินมังสวิรัติเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและทรัพยากรที่มีจำกัดในอินเดีย โดยเฉพาะภาคเหนือ ปัจจุบันพราหมณ์พังคลีและพราหมณ์ภาคใต้บางพวกยังกินปลาบางชนิด เช่น ปลาตะเพียน โดยไม่ถือว่าผิดบาปอะไร เพราะเขาว่ามันเป็นของบริสุทธิ์ (ศัพท์พราหมณ์ว่า ปริตระ) และบรรพบุรุษก็กระทำสืบมาแบบนี้ ที่จริงผมควรจะบอกด้วยว่ามีรัฐเดียวในอินเดียปัจจุบันที่ชาวฮินดูเขากินวัวกันเป็นเรื่องปกติครับ และยังเป็นรัฐที่อนุญาตให้ฆ่าวัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย คือ รัฐเกรละ ในภาคใต้ของอินเดีย ชาวเกรละ บอกว่าการกินเนื้อวัวเป็นประเพณีของเขามายาวนานแล้ว ซึ่งโดยวัฒนธรรมก็เป็นรัฐที่รักษาขนบดั้งเดิมแบบก่อนฮินดูไว้มาก อีกทั้งรัฐเกรละมีการปกครองระบบสังคมนิยมและเป็น ฆราวาสนิยม (secularism) เข้มข้น รัฐจึงไม่เข้ามายุ่มย่ามกับเรื่องความเชื่อของประชาชน นอกนั้นเกือบทุกรัฐมีกฎหมายเกี่ยวกับการฆ่าวัวเข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันไป บางรัฐห้ามการฆ่าวัวเด็ดขาด บางรัฐผ่อนปรนให้มีการจำกัดการฆ่า โดยเฉพาะในส่วนชุมชนมุสลิม บางรัฐอนุญาตแค่การนำเข้า แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า คนฮินดูกินเนื้อวัวกันมาก่อนอยู่แล้ว และยังฆ่าวัวเพื่อบูชายัญต่อเทพเจ้า ในคัมภีร์ฤคเวทมีหลายแห่งที่แสดงว่าชาวอารยันฆ่าและกินวัว และมีเทพบางองค์ที่โปรดปรานเนื้อวัว อย่างพระอินทร์ (ในพระเวท) นอกจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อื่นๆ เช่น อปัสตัมพคฤหยสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์แสดงพิธีกรรมสำหรับคฤหัสถ์ ยังกล่าวว่าให้เจ้าบ้าน “ล้มวัว” เมื่อมีแขกมาเยือน เมื่อมีพิธีศราทธ และมีพิธีการแต่งงาน หรือในคัมภีร์แพทยศาสตร์ยังแนะนำให้มีการปรุงเนื้อวัวเพื่อรักษาโรคบางอย่าง แม้แต่พิธีกรรมบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูในปัจจุบัน เมื่อถึงขั้นตอนที่จะถวายอาหาร (ไนเวทยํ) ซึ่งล้วนเป็นขนมมังสวิรัติและผลไม้ ในสายที่ครูบาอาจารย์ของผมเรียนมา พราหมณ์จะทำ “มุทรา” หรือ “ท่ามือ” สองท่าเบื้องหน้าเทพ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมถวายอาหาร ได้แก่ มัสยมุทรา และ เธนุมุทรา “มัสยะ” แปลว่า “ปลา” ส่วน “เธนุ” หมายถึง “โค” อันนี้ชัดเลยครับว่าทุกวันนี้ชาวฮินดูส่วนมากไม่ได้ถวาย “เนื้อและปลา” จริงๆ ต่อเทพแล้ว จึงใช้การทำมุทราถวายสองสิ่งนี้โดยจินตภาพแทน แต่เพราะเป็นธรรมเนียมโบราณ จะทิ้งก็ไม่ได้ จะถวายจริงก็ไม่ได้อีก เลยมีทางออกแบบนี้ จึงเป็นหลักฐานอีกอย่าง ว่าสมัยก่อนนั้นทั้งเนื้อและปลาเป็นของในพิธีกรรมและกินกันโดยทั่วไป วัวสำหรับชาวอารยัน มีสถานะเป็น “ปศุสัตว์” คือสัตว์เลี้ยงในระบบครัวเรือน และถือเป็นทรัพย์สมบัติที่แสดงเศรษฐสถานะได้ แม้จะมีบางแห่งในพระเวท เขียนว่าแม่วัวเป็นสิ่งไม่ควรถูกฆ่า แต่ก็มิใช่เป็นห้ามการกินเนื้อวัวอย่างเด็ดขาด เพียงแต่เป็นการปรามไว้ในเชิงประโยชน์ด้านต่างๆ เช่นใช้ในการกสิกรรม แรงงาน และในแง่ผลผลิตมากกว่า แม่โคให้ผลผลิตที่สำคัญต่อครัวเรือนอินเดีย ให้นมซึ่งนำมาทำเนยและโยเกิร์ต ฉี่ (โคมูตร) ใช้รักษาโรค และมูล (โคมัย) ใช้เป็นเชื้อเพลิงและสมุนไพร พราหมณ์มีชื่อเรียกของทั้งห้าอย่างนี้ว่า “ปัญจคัภย์” หรือของจากโคห้าอย่าง นอกจากมีประโยชน์สารพัดนับถือกันว่าบริสุทธิ์สะอาด ชำระบาปได้ แล้วเหตุใจวัวจึงกลายมาเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” กลายเป็น “โคมาตา” ของฮินดู อีกทั้งการฆ่าการกินกลายเป็นเรื่องร้ายแรง มีความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนในสังคมไทยว่า ที่ชาวฮินดูถือว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ไม่กินไม่ฆ่า เพราะวัวเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ และเป็นเทพนนทิ ถ้าใช้เหตุผลเดียวกันนี้ จะมีของที่ชาวฮินดูกินใช้ไม่ได้อีกมาก ไม่ว่าจะหมูป่า (วราหาวตาร) ปลากราย (มัสยาวตาร) แพะ (พระทักษะ มีหัวเป็นแพะ) ไก่ (พาหนะของพหุชละเทวี) ต้นกะเพรา (พระแม่ตุลสี) ต้นไม้อีกมากมายหลายชนิด น้ำจากแม่น้ำ (ล้วนแต่เทวี) ฯลฯ แต่เขาก็กินใช้สิ่งเหล่านี้กันเป็นปกติ ดังนั้นลำพังแค่เทวตำนานอาจไม่ใช่เหตุผลมากพอที่จะทำให้วัวศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้ เพราะเป็นเพียงแต่ตัวช่วยส่งเสริมและสร้างพื้นฐานรองรับความสำคัญของวัวในทางศาสนามากกว่า เหตุที่วัวกลายเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ที่จริงเป็นการเมืองเรื่องศาสนาด้วย ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว (๒๕๕๘) มีการฆาตกรรมชายมุสลิมคนหนึ่งที่ฆ่าและกินเนื้อวัวในเดลี มีการทำร้ายผู้หญิงมุสลิมคนหนึ่งขณะที่เธอหิ้วถุงที่คนเข้าใจว่าเป็นเนื้อวัวบนรถไฟ ยังไม่นับม็อบประท้วงกฎหมายและการอนุญาตให้มีการฆ่าวัว ที่เกิดขึ้นเสมอในอินเดีย ความรุนแรงเช่นที่ว่านี้ค่อยๆ บ่มเพาะขึ้นด้วยปัจจัยทางประวัติศาสตร์และการเมืองอินเดีย ดร.DN Jha นักประวัติศาสตร์เห็นว่าหลังราชวงศ์เมายะและสมัยคุปตะ พราหมณ์เริ่มไม่ค่อยเห็นด้วยกับการฆ่าวัว เหตุผลหนึ่งคือต้องการแข่งขันกันกับพุทธศาสนา จึงต้องแสดงให้เห็นว่าพราหมณ์เองมีท่าทีเมตตาธรรมเช่นเดียวกัน อีกทั้งการส่งเสริมอำนาจของพราหมณ์และความแตกต่างระหว่างวรรณะ ทำให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับความบริสุทธิ์มีความสำคัญยิ่งขึ้น การฆ่าและการกินวัวกลายเป็นเรื่องของคนวรรณะต่ำ (และเป็นมาจนบัดนี้) ในขณะที่พราหมณ์ละเลิกเนื้อสัตว์บนโต๊ะอาหาร เพื่อแสดงถึงความสูงส่งของตน ช่วงยุคกลางของอินเดียซึ่งมีการเข้ามาของผู้ปกครองชาวมุสลิม การกินและไม่กินวัวกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แยกชาวฮินดูกับมุสลิมออกจากกัน และการฆ่าวัวได้กลายเป็นเรื่องร้ายแรงที่ผู้ปกครองรัฐเองยังต้องระมัดระวัง ต่อมาในช่วงรุ่งเรืองของอาณาจักรฮินดูมาราฐา นำโดยฉัตรปติศิวาจีผู้ต่อต้านจักรพรรดิโมกุล ศิวาจีได้ชื่อว่า “ผู้รับใช้พราหมณ์และวัว” วัวก็ยิ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนามากขึ้น ครั้นถึงช่วงอังกฤษปกครองอินเดียในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ชาวสิกข์นามธารีและฮินดูใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันในการต่อต้านอังกฤษ ซึ่งออกกฎหมายอนุญาตให้มีการฆ่าวัวในรัฐปัญจาบ หลังได้รับเอกราชจนถึงทุกวันนี้ กลุ่มศาสนานิยมและชาตินิยมฮินดู เช่น RSS หรือ VHP ยังคงใช้วัวเป็นสัญลักษณ์ในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริม “ฮินดุสฺตวะ” (Hindustva) หรือการปกครองแบบฮินดูและใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการกลุ่มความเชื่ออื่นๆ เช่น มุสลิม การผลิตซ้ำเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของวัวจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งแง่มุมทางอารมณ์ เช่น ความสงสารและโกรธแค้นเมื่อมีการทำร้ายวัว (แบบเดียวกับที่สังคมไทยมักมีต่อกรณีการทารุณสุนัข) ที่มา : คอลัมน์ ‘ผี พราหมณ์ พุทธ’ โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๘๑ ฉบับที่ ๑๘๗๗ ประจำวันที่ ๕-๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ หัวข้อ: Re: ‘ฮินดู’ กิน ‘วัว’ ใครก็รู้ว่า ฮินดูมีข้อห้ามรับประทานเนื้อวัว เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 17 สิงหาคม 2559 17:30:27 (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/871/11871/images/id8.JPG) เรื่องวัวๆ ควายๆ ดังที่เคยกล่าวแล้วว่า ฮินดูนั้นยกย่องวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยปัจจัยทางสังคม การเมือง ทั้งที่แต่เดิมก็ฆ่าเพื่อบูชายัญและกินเนื้อวัว ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรง แต่ “ควาย” แม้จะคล้ายวัวกลับไม่ได้รับสถานภาพพิเศษในสังคมอินเดีย ทั้งที่เป็นสังคมเกษตรกรรมเหมือนบ้านเรา การฆ่าและกินควายจึงไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรในสังคมฮินดู ลองสังเกตในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแลกนาขวัญของเรานะครับ ทั้งที่บ้านเราทำนาโดยใช้ควาย เพราะควายเป็นสัตว์ใช้งานสำหรับที่ลุ่มตามภูมิประเทศของเรา แต่เรากลับไม่เอาควายไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญนี้ ทั้งที่ชาวบ้านแรกนาหรือทำนาตาแฮกกันเองแบบชาวบ้านก็ใช้ควาย อาจเพราะวัวตัว “ขาวๆ” (ต้องขาวด้วยนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมฮินดู แม้พระราชพิธีนี้จะมีรากเหง้าของเราเองคือศาสนาผี (ความเชื่อเรื่องขวัญ) แต่การใช้วัวไถนาเป็นการสร้างภาพความเป็นศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งทำให้พิธีพื้นเมืองของเราดูแกรนด์ขึ้นมาก เหมาะจะเป็นพระราชพิธีหรือพิธีหลวง ส่วนควายตัว “ดำๆ” นั้นเป็นของชาวบ้านโดยแท้ ในหนังสือ Buffalo Nationalism : A Critique of Spiritual Fascism ของ Kancha Itaiah บอกว่า ในอินเดียโบราณควายสีดำนั้นเหมือนกับพวกฑราวิฑหรือชนพื้นเมืองที่มีผิวดำ ด้วยเหตุนี้ควายจึงไม่อาจเป็น “ยัชญปศุ” หรือสัตว์เลี้ยงสำหรับการบูชายัญในระบบพระเวทของชาวอารยันได้ คัมภีร์พระเวทจึงไม่มีการให้ความสำคัญกับควายแต่อย่างใด เทพในพระเวทไม่เสวยควาย ไม่โปรดเนื้อควาย นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ผมว่าที่จริงก็เพราะควายเป็นสัตว์ในที่ลุ่มโดยเฉพาะในเขตศูนย์สูตรที่มีน้ำมาก เช่น ในอินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งชาวอารยันไม่คุ้นเคย กินวัวจึงบาปหนัก แต่กินควายกลับไม่บาปหนักซะงั้น ในยุคสมัยที่เทวตำนานแพร่หลาย ควายจึงกลายเป็นตัวร้ายหรือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เช่นตำนานพระแม่ทรุคาทรงสิงห์หรือเสือ เสด็จไปปราบอสูรร้ายคือ “มหิษาสูร” หรือ อสูรควายซึ่งเทวดาทั้งหลายก็ปราบลงไม่ได้ พระนางจึงได้ชื่อว่า “มหิษาสุรมรทินี” พระแม่ผู้ปราบอสูรควาย พระยมในเทวตำนานของแขกก็ทรงควาย พระองค์เป็นเทพแห่งความตายและผู้ใช้ชีวิตในปรโลก แม้ว่า ควายอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวอารยัน แต่สำหรับศาสนา “ผี” ของอินเดีย (ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นฮินดูแบบพื้นบ้าน) และชาวบ้านนั้นต่างออกไปมาก ในบรรดาสัตว์บูชายัญในปัจจุบัน ควายนั้นถือว่าเป็นสัตว์บูชายัญที่สำคัญที่สุด ชาวบ้านโดยเฉพาะภาคใต้ ภาคตะวันตก และเขตพังคละ (เบงคอล) ทางตะวันออก รวมทั้งเนปาลซึ่งล้วนแต่เป็นเขตแดนเดิมอันเข้มแข็งของศาสนาผีพื้นเมืองอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในรูปศาสนา “เจ้าแม่” หรือ ศักตินิกาย) ต่างใช้ควายตัวผู้บูชายัญเจ้าแม่ โดยเฉพาะปางที่ดุร้าย เช่น ทุรคา กาลี และเจ้าแม่พื้นบ้านอื่นๆ น่าสนใจว่าพวกเราชาวอุษาคเนย์ก็ฆ่าควายถวายผีด้วย เช่น ในลาวใต้และในภาคเหนือของไทย ในพม่าเองก็มีผีนัตเจ้าแม่หัวควายที่คนเคารพมากอยู่ตนหนึ่ง “คนกับควาย” จึงผูกพันกันลึกซึ้ง ในภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ หลายครั้งก็ปรากฏภาพคนกับควาย หรือแม้แต่การใช้ “เสนง” (เขาควาย) ในพิธีกรรมชาวบ้าน ขณะที่พราหมณ์ใช้สังข์ ใช้ควายทำมาหากิน ใช้แรงงาน นับถือเคารพ บูชายัญและนำมาปันกันกินด้วย ศีลธรรมแบบก่อนประวัติศาสตร์ สถานะของสัตว์เลี้ยงก็เป็นงี้แหละครับ ใช้งาน รักใคร่ แต่ก็ฆ่าและกิน เพราะการฆ่าในโลกโบราณคือหนทางนำพืชพันธุ์ไปสู่ความมืดเพื่อมีชีวิตใหม่ “ไม่มีการตายก็ไม่มีการเกิด” ส่วนการกินนั้นคือการหลอมรวมของผู้กินและสิ่งที่กินเข้าไป “ชีวิตหนึ่งประสานต่อเติมอีกชีวิตหนึ่ง” ทั้งฆ่าและกินไม่ใช่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่เป็นพิธีกรรมด้วย ผิดกับ “วัว” ซึ่งฮินดูค่อยๆ สร้างศีลธรรมอีกแบบมาครอบไว้แล้วตั้งแต่ยุคกลาง เป็นศีลธรรมระบบอารยธรรมหรือศีลธรรมแบบศาสนา ไม่ใช่แบบดึกดำบรรพ์ กล่าวคือ ศีลธรรมที่ใช้หลักคิดเมตตาธรรมและความสงสาร วัวจึงต้องได้รับการพิทักษ์รักษา รูปและตำนานพระแม่มหิษาสุรทรทินี หรือเจ้าแม่ฆ่าควาย สำหรับผมคือการจำลองความสัมพันธ์ของควายและเจ้าแม่ รวมทั้งการบูชายัญควายเพื่อเจ้าแม่เอาไว้มากกว่าอย่างอื่น ที่จริงผมยังคิดไกลไปอีกนะครับว่า ควายในพิธีบูชายัญคงเอาไว้แทน “คน” อีกด้วย อย่างตำนานเลี้ยงดงฆ่าควายถวายปู่แสะย่าแสะในเชียงใหม่ และตำนานในอินเดียเอง อินเดียมี “เทพควาย” ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะชาวนาชาวสวนและผู้เลี้ยงควายนับถือ เรียกว่า มหโสพา (อ่าน มะ โซบา หรือ มุโซบา) (Mhasoba) ซึ่ง Mhaso มาจากคำว่า มหิษา หรือมหิสาที่แปลว่าควาย ส่วน Ba เป็นคำลงท้าย ใช้เรียก ผู้ชายหรือพ่อ ในภาษามาราฐี มหโสพาเป็นที่นับถือโดยทั่วไปในรัฐมหาราษฎร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียเรื่อยไปถึงทางภาคใต้บางส่วน รูปเคารพมักทำอย่างง่ายๆ เช่น ใช้หิน หรือรูปปั้นง่ายๆ วางไว้ตามแนวป่าหรือริมสวน ในช่วงหลังโรคระบาดสงบลง มหโสพาจะได้รับการเซ่นสรวงจากชาวบ้านด้วยพืชผลต่างๆ ถือกันว่าเธอเป็นหัวหน้าภูตผีในหมู่บ้าน มหโสพาเป็นตัวอย่างของเทพ หรือที่จริง “ผี” ที่ถูกกลืนเข้าระบบฮินดู ถ้าอธิบายตามระบบฮินดูที่ชาวบ้านเชื่อ มหโสพาเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ เพราะพระศิวะมีปางที่เป็นเจ้าที่เจ้าทางอย่างไภรวะ มหโสพากับพระศิวะ ยังชวนให้ผมระลึกถึงตราแกะสลัก “ปศุปติ” ที่ค้นพบในอารยธรรมโมเหนโชทะโร (Mohenjo-daro) เป็นรูปคนหรือเทพนั่งในท่าสมาธิ มีเขาควายบนศีรษะ แวดล้อมด้วยสัตว์นานาชนิด ซึ่งนักวิชาการยุคแรกคิดว่านี่เป็นภาพของพระศิวะในโหมด “ปศุปตินาถ” หรือเจ้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย แม้ความคิดนี้จะได้รับการถกเถียงอย่างมาก บางท่านว่านี่คือ เทพมหิษาหรือเทพควายด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยๆ ก็แสดงให้เห็นว่าคนพื้นเมืองตั้งแต่โบราณ ให้ความสำคัญกับควายเพียงใด ในตำนานของคนแคว้นมหาราษฎร์ มหโสภา (ในชื่อมัตตาพา) มีชายาคือเจ้าแม่ โชคุไบ (Jogubai) แต่เป็นการครองคู่ที่น่าประหลาด เพราะสำหรับชาวบ้าน เจ้าแม่โชคุไพเป็นปางหนึ่งของพระโยเคศวรีหรือพระแม่ทุรคาผู้ฆ่าควายตามคติฮินดู! เจ้าแม่ผู้ฆ่าสามีของตนเองจึงสะท้อนความตายของ “ผัว” หรือเทพและมนุษย์ผู้ชาย นี่เป็นมโนทัศน์ของศาสนาแบบผู้หญิงที่เจ้าแม่ (ในฐานะความตาย) มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง ครูไมเคิล ไรท เคยเสนอเรื่อง “เจ้าข้าวเจ้าปี” (corn King-year King) ว่าในโลกโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ชายถูกเลือกเป็นผัวของเจ้าแม่ดิน และถูกนำไปฆ่าบูชายัญ ผมคิดว่า ตำนานมหโสภาและโชคุไพ รวมถึงการใช้ควาย (ตัวผู้) ที่นำไปฆ่าเซ่นเจ้าแม่นั้น จึงแทนมนุษย์ที่จะต้องถูกฆ่า เพื่อเป็นผัวของเจ้าแม่เช่นเดียวกับระบบเจ้าข้าวเจ้าปี ไปศาลเจ้าแม่ที่ไหนในอินเดีย โดยมากก็ต้องฆ่าควายบูชายัญครับ เว้นแต่จะงานเล็กกว่าหน่อยก็ใช้แพะ แต่ทุกสิ่งที่กล่าวมาอยู่ในวิถีชาวบ้านและเป็นเรื่องพื้นเมือง ซึ่งศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมส่วนกลางกระแสหลัก ไม่สนใจและว่าป่าเถื่อน เรายังคงถกเถียงกันต่อได้เรื่องการใช้เรื่องการใช้สัตว์บูชายัญนะครับว่ายังเหมาะสมไหม แต่อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะต้องสนใจศึกษาควายและวิถีพื้นบ้านมากกว่านี้ สภาพการณ์ที่กล่าวมา ควาย (อันมีเกียรติสำหรับชาวบ้าน) จึงไร้ศักดิ์ศรี ถึงขนาดมีการเสนอให้ส่งเสริมการเลี้ยงควายเอาเนื้อเพื่อผลิตอาหารในอินเดีย เพราะไม่บาปมาก และไม่เป็นเรื่องร้อนแรงอย่างวัว สัตว์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในสายตาชนชั้นนำอย่างควาย แต่เป็นสิ่งผูกพันทางใจยิ่งกับชาวบ้านจึงถูกดูแคลน ย้อนมองมาดูอุษาคเนย์และสังคมไทยที่มีความผูกพันกับควายไม่น้อยกว่าอินเดีย ที่เหมือนกันคือควายเป็นของชาวบ้าน ของคนรากหญ้า มิน่าเล่า เวลาชนชั้นสูงโดยเฉพาะในเมืองเขาถึงด่าคนอีกฝ่ายทางการเมืองว่า “ควายแดง” ซึ่งเหยียดหยามกว่าคำว่า “สลิ่ม” มากนัก (โดยตัวความหมายของคำเอง) แต่อย่าลืมครับว่า วัวอาจศักดิ์สิทธิ์สำหรับอารยัน แต่ควายนั้นศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านและเก่าแก่ลึกซึ้งกว่ามาก การเหยียดควาย หรือใช้ควายไปเหยียดคน คือการดูถูกรากเหง้าตัวเอง ที่มา : คอลัมน์ ‘ผี พราหมณ์ พุทธ’ โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๘๑ ฉบับที่ ๑๘๗๘ ประจำวันที่ ๑๒-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ |