[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 18 สิงหาคม 2559 03:17:43



หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๙ วิธีสร้างทิพยอำนาจ บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 18 สิงหาคม 2559 03:17:43
(http://img-196.uamulet.com/uauctions/UAKMNImages/2015/12/22/U12141976358638547457721911.jpg)(http://img.tarad.com/shop/s/sathitbook/img-lib/spd_20090219151145_b.jpg)

ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง

(http://www.dharma-gateway.com/image/bar-1s.jpg)

บทที่ ๙  

วิธีสร้างทิพยอำนาจ บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้



ทิพยอำนาจข้อนี้ หมายถึงความสามารถในการนึกทวนคืนไปในเบื้องหลัง เพื่อสืบสาวเรื่องราวของตนเองที่เป็นมาแล้วในอดีตกาลนานไกล สามารถรู้ได้ว่าตนเองเคยเกิดเป็นอะไรมาแล้วบ้าง อย่างถ้วนถี่ในสาระสำคัญของชีวิต เช่น กำเนิดอะไร มีชื่อและสกุลว่ากระไร มีผิวพรรณอย่างไร มีอาหารอย่างไร เสวยสุขทุกข์อย่างไร อยู่ ณ ที่ไหน มีกำหนดอายุเท่าไร ตายจากนั้นแล้วเกิดเป็นอะไรต่อมา ฯลฯ ดังนี้ สามารถในการนึกทวนคืนเบื้องหลังนี้ ย่อมเป็นไปตามสมควรแก่กำลังของญาณ อันเนื่องด้วยวาสนาบารมี ตั้งแต่ ๑ ชาติไปถึง ๑๐๐-๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ ชาติ จนถึงจำนวนหลายอสงไขยกัป.

ความสามารถในการระลึกชาตินี้ เป็นความรู้รับรองเรื่องสังสารวัฏ คือการเวียนเกิดเวียนตายว่าเป็นความจริง ผู้มีความรู้ในด้านนี้แม้ระลึกชาติได้เพียง ๒ – ๓ ชาติ ก็บรรเทาความสงสัยในเรื่องสังสารวัฏลงได้เป็นก่ายกอง เขาจะไม่ยอมเชื่อในเรื่องตายสูญเป็นอันขาด ความเห็นผิดในเรื่องชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน กับความเห็นผิดในเรื่องกรรมที่ทำไว้ว่าจะให้ผลสืบเนื่องไปในชาติหน้าจริงหรือไม่ก็จะถูกบรรเทาลงเช่นเดียวกัน ความสงสัยและความเห็นผิดดังว่านี้จะถูกกำจัดหมดสิ้นไปด้วยอำนาจพระอรหัตตมรรคญาณ.

ความสำคัญของทิพยอำนาจข้อนี้ อยู่ที่ตัว อนุสสติ คือความนึกลำดับเหตุการณ์ของชีวิตอย่างละเอียดลออ สติธรรมดาสามารถนึกทวนเหตุการณ์ในเบื้องหลังของชีวิต และทำการควบคุมกิริยาการของชีวิตมิให้พลั้งพลาดได้เพียงในปัจจุบันเท่านั้น ถึงกระนั้นก็มิได้เป็นอย่างละเอียดลออผู้มีการอบรมสติดีจึงจะสามารถนึกทวนเหตุการณ์ของชีวิตได้ละเอียด ทั้งสามารถควบคุมชีวิตในปัจจุบันได้ดีด้วยสติที่สามารถดังว่านี้ ท่านเรียกว่า สติเนปักกะ เป็นสติที่สามารถรักษาตัวให้ปลอดภัยหรือปราศจากความผิดพลาดได้ดี จัดเป็นคุณธรรมอันหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้ที่พึ่งหรือเป็นตัวที่พึ่งทีเดียว ทั้งในด้านการครองชีพ ทั้งในด้านการประพฤติศีลธรรม ส่วนสติที่มิได้รับการอบรมดีจะไม่สามารถนึกทวนเหตุการณ์ของชีวิตได้ละเอียดลออ และหย่อนความสามารถในการควบคุมชีวิตมิให้ผิดพลาดด้วย สิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้เพียงล่วงมาปีสองปีก็ลืมเลือนเสียแล้ว เช่นนี้เป็นสติที่มิได้รับการอบรม ส่วนสติที่ได้รับการอบรมจะสามารถนึกได้ ถึงสิ่งที่คิดกิจที่ทำคำที่พูดแล้ว แม้ล่วงมาตั้งนานปีดีดักก็ไม่ลืมเลือน บางคนนึกได้ดีจนถึงความเป็นไปในวัยเด็กอ่อนเพียง ๓ – ๔ ขวบความสามารถเช่นนี้มีได้น้อยคน.

สตินี้ นักปราชญ์สมัยปัจจุบันเรียกว่า ความสำนึก เป็นสิ่งควบคุมจิตให้อยู่ในระเบียบ เขาแบ่งเขตของจิตออกเป็น ๓ เขต คือ

(๑.) จิตในสำนึก

(๒.) จิตกึ่งสำนึก

(๓.) จิตนอกสำนึก

เขาให้อรรถาธิบายต่อไปว่า จิตในสำนึกเป็นจิตในขณะมีความสำนึกรู้สึกตัวเต็มที่ อย่างในปกติเวลาตื่นอยู่ จิตกึ่งสำนึกได้แก่จิตในขณะครึ่งหลับครึ่งตื่น ส่วนจิตนอกสำนึกหมายถึงจิตในขณะหลับสนิทซึ่งปราศจากสำนึกรู้สึกตัว.

จิตในสำนึกมีสมองและประสาททั้ง ๕ เป็นเครื่องมือในการรับรู้สิ่งต่างๆ และคิดอ่านวินิจฉัยเหตุการณ์ เมื่อชินต่อการใช้เครื่องมืออันมีความสามารถน้อยเช่นนี้ จึงมักคิดว่า ตัวไม่มีความรู้สามารถพิเศษอะไรยิ่งขึ้นไปกว่าปกติ ปราชญ์ทางสรีรศาสตร์จึงทึกทักเอาว่าจิตคือสมองหรือสมองเป็นจิต ความจริงสมองเป็นเพียงเครื่องมือในการคิดอ่านวินิจฉัยอารมณ์หรือเหตุการณ์เท่านั้น มิใช่ตัวจิต ส่วนตัวจิตที่แท้จริงคืออะไรจะอธิบายต่อไป จิตกึ่งสำนึกซึ่งได้แก่จิตในขณะครึ่งหลับครึ่งตื่นนั้น อยู่ในความควบคุมของสติเพียงกึ่งเดียว รู้สึกตัวไม่เต็มที่ จิตในขณะนี้รู้อะไรๆอย่างเลือนราง ทำการคิดอ่านไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกทางสมอง แม้ในทางประสาทก็อ่อนเต็มที แทบจะไม่รับรู้อะไรอยู่แล้ว ส่วนจิตนอกสำนึกอันได้แก่จิตใจในขณะหลับสนิทนั้น ไม่รับรู้อะไรๆ เลยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีจิตอยู่ในขณะนั้น ทุกคนจะรับรองเป็นเสียงเดียวกันว่ามีจิตอยู่ในขณะหลับ ถ้าสามารถทำสติติดตามควบคุมจิตได้ทุกขณะแม้กระทั่งในขณะหลับ จะสามารถรับรู้อะไรต่างๆ ได้ดีและจะรู้ว่าจิตเป็นคนละส่วนกับสมอง การฝึกจิตให้เป็นสมาธิเป็นการทำสติอย่างวิเศษ ความไพบูลย์แห่งสตินั่นเองเป็นปัจจัยให้จิตเป็นสมาธิอย่างดี สมาธิคือฌานที่ ๔ มีสติไพบูลย์เต็มที่ ทำการควบคุมจิตให้ดำรงมั่นคง มีความรู้สึกเป็นกลางๆ ไม่รู้สึกการหายใจ ถ้าจะเทียบก็จะเท่ากับคนนอนหลับธรรมดา ผิดกันแต่ว่าคนหลับไม่รู้สึกตัว คนเข้าสมาธิมีความรู้สึกตัว ส่วนสมาธิชั้นสูงสุดคือ สัญญาเวทยิตนิโรธ ดับความรู้สึกกำหนดหมายและสุขทุกข์เด็ดขาด แต่ยังมีสติควบคุมจิตอยู่รู้อยู่ ณ ภายในนั่นเอง ถ้าจะเทียบจะเท่ากับคนสลบปราศจากสติสมปฤดี ผิดกันแต่คนเข้านิโรธยังมีสติ หากแต่ไม่รับรู้อะไรทั้งหมดอันเป็นส่วนนอกจากจิต คนสลบไม่มีสติเลย ตามที่กล่าวมานี้ส่อแสดงว่า จิตกับกายเป็นคนละส่วนจริงๆ สามารถแยกออกจากกันได้ ดังได้กล่าวมาแล้วในบทที่ ๖เรื่องมโนมัยฤทธิ์.

จิตเป็นธรรมชาติรู้ และรองรับความรู้ต่างๆ อันเกิดจากการศึกษาอบรมทุกประการ ทางพระพุทธศาสนาได้รู้ความจริงข้อนี้ จึงสอนให้อบรมจิตด้วยประการต่างๆ เพื่อให้จิตรู้ดีรู้ชอบยิ่งขึ้นกว่าพื้นเพเดิม ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาอบรมเป็นสมบัติวิเศษประจำจิต สืบเนื่องไปถึงในชาติต่อๆ ไป ฉะนั้น คนเกิดมาจึงมีพื้นความรู้ทางจิตไม่สม่ำเสมอกัน เด็ก ๗ ขวบ มีความรู้ดีเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยมานาน ได้รับการศึกษาดีกว่าก็มี ในประเทศพม่าปรากฏข่าวมีเด็กอายุ ๗ ขวบมีความรู้ทางธรรม สามารถแสดงธรรมได้เท่ากับผู้ใหญ่ที่ผ่านการศึกษาทางพระพุทธศาสนามานานเรื่องเช่นนี้ในสมัยพุทธกาลมีมากมาย พระบรมศาสดาของเราพอประสูติก็เสด็จดำเนินได้ และตรัสได้ ทรงประกาศความเป็นเอกบุคคลในโลก เมื่อเป็นพระกุมารก็ปรากฏว่ามีพระสติปัญญาเกินคนธรรมดา สามารถเรียนและจำได้ว่องไว ครั้นได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เสด็จไปเผยแผ่พระศาสนาในนานาชนบท ปรากฏว่ามีเด็กอายุ ๗ ขวบได้บรรลุธรรมอันลึกซึ้งหลายคน เป็นชายก็มีเป็นหญิงก็มี ฝ่ายชายเช่น บัณฑิตสามเณร, สังกิจจสามเณร, สานุสามเณร เป็นต้น ฝ่ายหญิงเช่นนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น การที่เป็นได้เช่นนั้นส่องให้เห็นความจริงว่า กายกับจิตเป็นคนละส่วน จิตที่อยู่ในร่างเด็กสามารถรู้ธรรมลึกซึ้งได้นั้น ย่อมจะต้องมีการท่องเที่ยวในสังสารวัฏมานานและได้รับการศึกษาอบรมมามากแล้ว ถ้าไม่มีพื้นเพแห่งจิตใจสูงมาก่อน ต่อให้มีสมองดีวิเศษสักปานใด ก็มิอาจรู้ธรรมลึกซึ้งในวัย ๗ ขวบได้เลย.

อนึ่ง บุคคลผู้ระลึกชาติได้ ในสมัยพุทธกาลมีมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเป็นเยี่ยมที่สุดปรากฏในพระประวัติที่ตรัสเล่าเอง ทรงยืนยันว่าระลึกไปได้ไกลถึงแสนโกฏิอสงไขยกัป พระอรหันต์ทั้งหลายก็ระลึกได้องค์ละมากๆ เรื่องราวที่ปรากฏในอปทานล้วนเป็นความระลึกได้ถึงกุศลกรรมที่เคยสร้างสมอบรมมาในปุเรชาติทั้งนั้น ท่านนำมาเล่าไว้เพื่อเป็นตัวอย่างของกุศลกรรมว่าสามารถอำนวยผลดีแก่ผู้ทำตลอดกาลยืดยาวนาน และเป็นบารมีเกื้อหนุนให้จิตใจเลื่อนภูมิภาวะสูงขึ้นโดยลำดับ ถ้าจะเล่าเรื่องผู้ระลึกชาติได้ในสมัยพุทธกาลก็จะเป็นการเหลือเฟือ เป็นพยานไกลเกินไป จะเล่าเรื่องผู้ระลึกชาติได้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นพยานสัก ๒ – ๓ ราย ดังต่อไปนี้

รายที่ ๑ เป็นเด็กหญิง ข้าพเจ้าได้พบตั้งแต่เขาเป็นหญิงแม่เรือนในชาติก่อน เมื่อเขาตายแล้วได้สัก ๕ ปี มีเด็กหญิงคนหนึ่งเกิดกับลูกสาวของหญิงคนนั้น พอพูดได้เดินได้ ได้ไปเยี่ยมตาซึ่งเป็นสามีเดิมของตน แต่อยู่เรือนอีกหลังหนึ่ง ห่างจากเรือนที่เกิดใหม่ประมาณ ๑๐ เส้น เมื่อขึ้นไปบนเรือน ไปเที่ยวมองดูโน่นมองดูนี่แล้วก็ร้องไห้ ผู้ใหญ่ถามจึงบอกความจริงให้ทราบว่า ตนคือภรรยาของตานั่นเอง ไปเกิดกับลูกสาว ผู้ใหญ่ต้องการพิสูจน์ความจริงจึงให้บอกสิ่งของบางอย่างซึ่งผู้ตายเป็นผู้เก็บไว้ เขาก็บอกได้ มีลูกกุญแจหีบหนึ่งซึ่งหาไม่พบ เขาก็ไปชี้ให้ได้ถึงที่ซ่อนลูกกุญแจเมื่อข้าพเจ้าไปที่นั้นเขาก็จำข้าพเจ้าได้ เหมือนครั้งเขาเป็นหญิงแม่เรือน เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่ ณหมู่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร.

รายที่ ๒ เป็นเด็กชาย ชาติก่อนนั้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ เป็นพระอุปัชฌายะ และเจ้าคณะตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น รับนิมนต์ไปบวชนาค เกิดอุปัทวเหตุถึงมรณภาพ แล้วไปเกิดใหม่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอบัวใหญ่จังหวัดนครราชสีมา ระลึกชาติได้ กลับมาค้นเอาสิ่งของที่วัดเดิมได้ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เคยเคารพนับถือมาแต่ก่อน พอทราบเข้า ก็พากันมาเคารพกราบไหว้ตามเดิม.

รายที่ ๓ เป็นหญิงชื่อนารี อายุประมาณ ๕๐ ปี เวลานี้แกบวชเป็นชี ได้มาหาข้าพเจ้าเมื่อต้นปีนี้เอง แกได้เล่าอดีตชาติของแกให้ฟังอย่างละเอียดลออว่า ชาติก่อนนี้แกเป็นช้าง เกิดอยู่ที่เขาสวนกวาง ซึ่งเป็นที่ที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งเขียนเรื่องทิพยอำนาจอยู่เดี๋ยวนี้ แกเล่าว่า ที่เขาสวนกวางนี้มีพญาช้างตัวหนึ่งเป็นนายของช้างทั้งหมดในเทือกเขาภูพาน ทุกๆ ๑๕ วัน ช้างทั้งหลายตลอดจนถึงหมู่นกจะมาประชุมฟังโอวาทของพญาช้าง ณ ที่ก้อนหินใกล้ฝั่งลำธาร บนหลังเขาห่างจากที่ข้าพเจ้าอยู่ไปประมาณ ๑๕ เส้น สัตว์ทั้งหลายฟังภาษาใจกันออก ส่วนภาษาปากนั้นเขาจะใช้ในกรณีพิเศษ เช่น บอกเหตุอันตรายร้องเรียกหากัน และร้องด้วยความคึกคะนองเท่านั้น ตามปกติธรรมดาพูดกันทางใจ

แกเล่าว่าในคราวประชุมทุกๆ ครั้งแกก็ได้เข้าประชุม แต่เป็นเวลายังเด็กเกินไป ไม่ได้ใส่ใจฟัง จึงจดจำไม่ได้ ช้างที่เข้าประชุมทุกตัวอยู่ในระเบียบสงบเงียบ และเคารพพญาช้างอย่างยิ่ง เมื่อฟังโอวาทจบแล้วก็จะพากันเดินผ่านหน้าพญาช้างเรียงกันไปทีละตัวเป็นการแสดงคารวะ คล้ายการเดินสวนสนามของทหารฉะนั้น พญาช้างนั้นไปอยู่ตัวเดียวในที่เงียบ ช้างทั้งหลายปันวาระกันไปปรนนิบัติคราวละ ๔ – ๕ ตัว พอถึงกำหนด ๑๕ วัน พญาช้างจึงจะมาปรากฏตัวในที่ประชุม ให้โอวาทแก่ช้างและนกทั้งหลาย

แกเล่าเรื่องเฉพาะของแกต่อไปว่า เมื่อแกเกิดมาทีแรก แม่พามาอาบน้ำที่ลำธารตรงทางข้ามตอนเหนือของที่ข้าพเจ้าอยู่เดี๋ยวนี้ รู้สึกหนาวมาก แกมีพี่ชาย ๑ ตัวกำลังรุ่น ส่วนพ่อไม่ปรากฏ การปรนนิบัติเลี้ยงดูลูกมีแต่แม่เท่านั้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมของสัตว์ประเภทนี้ เมื่อแกอายุได้ประมาณ ๓ เดือน มีนายพรานช้างมาคล้องเอาแกไปได้ เขาผูกติดกับคอช้างต่อนำไปบ้านนาแอ่ง ในเขตอำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี เขาเลี้ยงดูแกอย่างลูก ตั้งชื่อให้รู้ว่าอีตุ้ม ชอบเล่นกับเด็กๆ และสามารถไปส่งอาหารที่วัดแทนพ่อแม่ได้ คงจะด้วยอานิสงส์ไปส่งอาหารได้นี้เองทำให้แกได้มาเกิดเป็นมนุษย์ในชาติปัจจุบันนี้

แกเล่าต่อว่า ต่อมามีเหตุบังเอิญทำให้ลูกชายของพ่อเกิดบาดเจ็บ คือแกพาลอดเฟือยหนาม สำคัญว่าพ้นแล้วจึงลุกขึ้นทำให้หนามครูดศีรษะของเขาเลือดไหลถึงกับพลัดตกจากคอของแก เขาโกรธมาก ได้ใช้ขอสับแกอย่างไม่ปรานีปราศรัย แต่แกว่าไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเท่าไรนัก ถ้าเขาสับและงัดด้วยจึงจะรู้สึกเจ็บมากไม่กี่วันแผลที่ถูกสับก็จะหาย พอมาถึงบ้านเขาก็บอกพ่อจะขายอีตุ้มทันที พ่อแม่และย่าก็ห้ามปรามว่าไม่ใช่ความผิดของอีตุ้ม มันเป็นความผิดของตนเองที่ไม่ระมัดระวังต่างหาก เจ้าลูกชายก็ดันทุรังแต่จะขายท่าเดียว

อยู่มาไม่นานมีชาวจังหวัดหล่มสัก (เพชรบูรณ์เดี๋ยวนี้) มาขอซื้อ เขาตกลงขาย ย่ามีความอาลัยสงสารมาก ได้ไปขอถอนเอาขนตาไว้เป็นที่ระลึก และรำพันสั่งเสียด้วยประการต่างๆ ตัวแกเองก็รู้สึกอาลัยมากเหมือนกัน ครั้นออกเดินทางไป ๑๕ วัน ถึงจังหวัดเลย เกิดความอาลัยคิดถึงพ่อแม่เป็นกำลังเลยตาย พอร่างล้มนั้นจิตก็ออก รู้สึกตัวเป็นมนุษย์ผู้หญิงทันที จึงดึงเอาไส้ช้างมาเป็นผ้าสไบ ส่วนซิ่นสำหรับนุ่งมีแล้ว ไม่ทราบได้มาอย่างไร พอออกจากตัวช้างมาก็รู้สึกว่านุ่งซิ่นอยู่แล้ว แกเล่าว่าพอได้ผ้าสไบถือแล้ว ก็รีบออกเดินทางกลับตามทางที่ไปในเวลาประมาณ ๕ โมงเช้า มาถึงบ้านเก่าก็เป็นเวลา ๕ โมงเช้าเหมือนกัน ไปถามเขาทราบว่าพ่อย้ายไปอยู่บ้านใหม่คือบ้านสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี แกติดตามไป ผ่านตัวเมืองอุดรไป เห็นพระกำลังฉันเพลอยู่อีก พวกสุนัขเห่าหอนกรรโชกไล่ขบกัดแกอย่างชุลุมน แกพยายามหลบไปได้ ไปถึงบ้านสามพร้าวเป็นเวลา ๕ โมงเช้า พระกำลังฉันเพลอยู่เหมือนกัน ได้เห็นพ่อและแม่ใหม่ คือเมียคนใหม่ของพ่อ ไต่ถามเขาก็ไม่พูดด้วย แกเอาซิ่นกับผ้าสไบไปซุกซ่อนไว้ที่ทางแยกแห่งหนึ่ง ขุดหลุมฝังไว้ลึกแค่บั้นเอว มีต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นเครื่องหมาย คิดว่าเกิดแล้วจะมาขุดเอา

ในระหว่างที่ยังไม่ได้เกิดนั้นแกเล่าว่าไปอาศัยอยู่ในวัด ถ้าพ่อแม่ไปวัดก็ติดตามพ่อแม่มาบ้าน แต่ขึ้นเรือนไม่ได้ ไปยืนอยู่หน้าเรือนนั่นเอง วันหนึ่งเวลาค่ำ พ่อกินข้าวแล้วลุกออกมานอกชานเรือน กำลังยืนดื่มน้ำ แกเลยตามน้ำเข้าไปอยู่กับพ่อ ต่อมาถูกจัดให้ไปอยู่ในห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ชั้นแรกๆ ก็รู้สึกสบายดี ครั้นต่อมาถึง ๕ – ๖ เดือนรู้สึกว่าห้องนอนนั้นคับแคบ รู้สึกอึดอัดอยากออก แต่ก็ออกไม่ได้ พอครบ ๑๐ เดือนก็คลานออกจากห้องได้ แล้วลืมภาวะเก่าไปพักหนึ่ง มารู้สึกตัวถึงภาวะเก่าก็ต่อเมื่ออายุได้ ๒ – ๓ ขวบ พอพูดจาได้แล้ว พออายุได้ ๑๔ – ๑๕ ปี ได้ไปดูที่ซ่อนซิ่นกับผ้าสไบ เห็นเครื่องหมายตามที่ทำเอาไว้ แกพยายามขุดหาเท่าไรก็ไม่พบสิ่งที่ซ่อนไว้ เห็นแต่ใบตองกล้วยที่ใช้ห่อซึ่งผุแล้วจับเข้าก็เปื่อยหมด เมื่อใหญ่โตพอมีเหย้ามีเรือนแกก็มีเหย้ามีเรือนไปตามประเพณี บัดนี้ได้สละเหย้าเรือนมาบวชเป็นชีอยู่สำนักชี วัดบ้านสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จนถึงเดี๋ยวนี้ แกว่าเรื่องที่ได้ผ่านมาในชีวิตช้างชั่วเวลาไม่ถึงปี ยังจำได้ดีหมดทุกอย่างไม่ลืมเลือน เรื่องขบขันในเวลาเป็นช้างแกก็ได้เล่าให้ฟังหมดแทบทุกเรื่อง ก่อนแต่แกจะเล่าได้ให้แกปฏิญาณว่าจะไม่โกหกแล้วจึงให้เล่าให้ฟัง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องระลึกชาติได้จริงๆ มิใช่เรื่องคิดประดิษฐ์ขึ้นเอง.

การระลึกชาติได้โดยทำนองนี้ โดยมากระลึกได้เพียงชาติเดียว ไม่เหมือนการระลึกชาติได้อันเกิดขึ้นจากการฝึกฝนอบรมจิต ซึ่งสามารถระลึกได้มาก บุคคลผู้ฝึกฝนอบรมจิตแล้วระลึกชาติได้ในสมัยปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในกฎวินัย ซึ่งไม่ควรจะนำมาเปิดเผย แต่มีอยู่รายหนึ่งซึ่งผู้นั้นได้ล่วงไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ พอจะเปิดเผยสู่กันฟังได้ จะเล่าแต่เพียงที่รู้ๆ กันอยู่ เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบมา ดังต่อไปนี้

พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) อาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านได้ประพฤติสมณธรรมมานานตั้งแต่อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุย่างขึ้นปีที่ ๒๓ จนถึงวัยชราอายุ ๘๐ ปีจึงถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนามีศิษยานุศิษย์มากหลาย ท่านได้เล่าอดีตชาติของท่านแก่สหธรรมิกบางท่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ท่านเคารพนับถือไว้วางใจ และแก่ศิษย์บางคน แม้ข้าพเจ้าก็ได้รับบอกเล่าเป็นบางตอน.

ตามที่ได้เล่าเรื่องบุคคลผู้ระลึกชาติได้ ทั้งโดยบังเอิญหรือโดยธรรมดา ทั้งโดยการศึกษาอบรมจิตใจมาเป็นตัวอย่างนี้ ก็พอที่จะสันนิษฐานได้แล้วว่า การระลึกชาติได้นั้นเป็นได้จริง ซึ่งเป็นการรับรองสังสารวัฏ ทีนี้จะได้กล่าวถึงเหตุผลของการระลึกชาติได้อีกที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การระลึกชาติได้นั้น ความสำคัญอยู่ที่ อนุสสติ คือความนึกลำดับ หรือความสำนึกได้ ซึ่งได้มีติดต่อกันในทุกขณะของจิตทั้ง ๓ เขต ดังปราชญ์ปัจจุบันแบ่งไว้ที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าทำได้ตามนั้นจะเกิดผลดีหลายประการ.

(๑.) ทำให้มีสติ เป็นสติรักษาตัวอย่างเยี่ยม

(๒.) ทำให้มีอิทธิพล สามารถบังคับความหลับและความตื่นได้

(๓.) ทำให้สามารถรู้อะไรๆ ได้ดีเป็นพิเศษความหลับหรือความปราศจากสติอันเป็นปฏิปักษ์กับความตื่นตัว ความสำนึกตัวนั้นมี ๒ ประเภท คือ

(๑.) ความหลับโดยธรรมดา ซึ่งได้แก่การพักผ่อนหลับนอนเพื่อบรรเทาความมึนเมื่อยของกายประเภทหนึ่ง กับ

(๒.) ความหลับใหลด้วยอำนาจกิเลส ซึ่งได้แก่ความประมาทมัวเมา ไม่สำนึกตัว ปล่อยตนไปตามอารมณ์ระเริงไปตามเรื่องจนลืมตนลืมตัวประเภทหนึ่ง.

ความหลับประเภทแรก เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิตทุกชีวิต แม้แต่พระอรหันต์ก็จำต้องพักผ่อนกายในการนอนหลับเหมือนกัน ถ้าหลับมากเกินไปก็ให้โทษทำให้ชีวิตเป็นหมัน ถ้าหลับน้อยเกินไปก็ให้โทษทำให้ร่างกายอิดโรยมึนเมื่อยอ่อนแอ ไม่สามารถในการงานทั้งทางกายและทางใจ ถ้าหลับพอดีย่อมบรรเทาความมึนเมื่อยของร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีกำลังสามารถในการงานทั้งทางกายและทางใจ ผู้ทำงานหนักต้องหลับถึง ๘ ชั่วโมงจึงจะพอดี ผู้ทำงานเบาหลับเพียง ๔ – ๖ ชั่วโมงก็พอ ความหลับถึงแม้จะจำเป็นแก่ชีวิตและให้คุณในเมื่อประกอบพอดีก็ตาม ปราชญ์ทางจิตศาสตร์ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคอันหนึ่ง กั้นกางมิให้เกิดความรู้กระจ่างแจ้งทางจิตใจขึ้นได้ จึงหาหนทางเอาชนะให้ได้ วิธีเอาชนะความหลับนั้นมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้

๑. เอาสติกำหนดจดจ่อที่จุดหลับ คือซอกคอใต้ลูกกระเดือก ผ่อนสติให้อ่อนลงๆ พอมีอาการเคลิ้มๆ ใกล้จะหลับ พึงรวมกำลังสติแล้วเลื่อนขึ้นไปกำหนดจดจ่อที่จุดตื่น คือตรงหน้าผากเหนือหว่างคิ้วเล็กน้อยจะรู้สึกหายง่วงทันที พอจิตใจแจ่มใสหายง่วงแล้วพึงกำหนดที่จุดหลับอีกครั้นจะหลับพึงเลื่อนขึ้นไปกำหนดที่จุดตื่นอีก ทำอย่างนี้วันละหลายๆ เที่ยว ก็จะเกิดอิทธิพลในการบังคับความหลับและความตื่นของตนได้ตามต้องการ ทีนี้เวลาจะหลับจริงๆ ต้องทำสติกำหนดเวลาตื่นให้แน่นอนไว้ แล้วเอาสติกำหนดจดจ่อตรงจุดหลับ บังคับด้วยใจว่าจงหลับ แล้วทำสติตามจิตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลับไป ก็จะหลับอย่างมีสติรู้ทันในขณะจะหลับ เมื่อชำนาญดีก็จะรู้ทันในขณะหลับ และจะรู้ทันในขณะตื่น ทั้งตื่นตรงเวลาที่กำหนดไว้ด้วย เป็นอันได้ฝึกทั้งสติทั้งในขณะตื่นอยู่ ทั้งในขณะกำลังจะหลับ ทั้งในขณะหลับ เมื่อฝึกชำนาญมีสติทันทั้ง ๓ ขณะนั้นแล้วชื่อว่ามีสติติดต่อตามกำกับจิตทุกขณะให้อยู่ในระเบียบอันดี.

๒. หรือฝึกสติตามหลักสติปัฏฐาน ดังกล่าวแล้วในบทที่ ๔ จนมีสติติดต่อสืบเนื่องกัน ทันความเคลื่อนไหวของกาย, ความรู้สึกสุขทุกข์เฉยๆ, จิตที่แปรลักษณะไปตามสิ่งสัมปยุตต์, และเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นๆ ตามความจริง สตินั้นก็จะมีกำลังใหญ่เป็นมหาสติ สามารถควบคุมความเป็นไปของกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในระเบียบ และให้จิตใจเกิดคุณลักษณะดีเด่นยิ่งขึ้นจนถึงดีที่สุด หลุดพ้นจากความเป็นทาสของทุกสิ่ง ถึงความเป็นอิสระที่สุดในอวสาน ถ้าฝึกสติได้ดีตามหลักนี้แล้ว จะประสพผลสำเร็จในทางทิพยอำนาจทุกประการ.

๓. หรือฝึกสติตามหลักอนุสสติ ๑๐ ประการ มีพุทธานุสสติ เป็นต้น ดังกล่าวไว้ในบทที่ ๓นั้นประการใดประการหนึ่ง หรือหลายประการตามแต่จะเลือกใช้อันใด ฝึกสติให้ต่อเนื่องด้วยอาศัยนึกถึงสิ่งที่จะปลุกเตือนจิตใจให้สำนึกตัวเป็นเบื้องต้นก่อน เมื่อจิตใจเกิดสำนึกตัวแล้ว ดำรงอยู่ในความสงบเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นจิตใจสะอาดแจ่มใส ชื่อว่าได้ผลในการฝึกสติตามแบบนี้ ต่อนั้นพึงอาศัยจิตใจอันบริสุทธิ์นั้นเจริญทิพยอำนาจ หรือเจริญวิปัสสนาญาณตามจิตใจประสงค์ ก็จะสำเร็จประสงค์นั้นทุกประการ.

เมื่อปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวมานี้ รับรองได้ว่าสามารถเอาชนะความหลับได้แน่นอน จะเกิดมีอิทธิพลเหนือความหลับ จะให้หลับเวลาใดก็ได้ ไม่ให้หลับเลยก็ได้ แม้จะรู้สึกง่วงแสนง่วงถ้าตั้งใจจะไม่หลับแล้วความง่วงจะวิ่งหนีทันที และในขณะเดียวกันกับที่ฝึกสติเพื่อเอาชนะความหลับประเภทธรรมดานี้ ก็เป็นอันได้เอาชนะความหลับประเภทที่ ๒ ไปในตัวด้วย ความประมาทซึ่งเป็นความหลับภายในกินลึกถึงใจนั้น จะถูกกำจัดออกไปจากจิตใจ จิตใจจะเกิดสำนึกตัว ทำสิ่งควรทำพูดคำควรพูด คิดเรื่องควรคิด บังคับจิตใจให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดี ไม่มีการปล่อยตนไปตามอารมณ์สุดแต่ใคร่ จะรู้จักพิจารณาหน้าหลังยั้งคิดความผิดพลาดใหญ่หลวงในชีวิต ก็จะมีขึ้นไม่ได้ด้วยอำนาจสติคุ้มครอง.

จิตใจที่สติ อนุสสติคุ้มครองแล้วด้วยดี จักเป็นจิตใจผ่องใสบริสุทธิ์สะอาด มีพละอำนาจเข้มแข็งมีเอกภาพสมบูรณ์ เป็นจิตใจในระดับสูงพ้นจากภาวะต่ำต้อย เมื่อต้องการนึกลำดับถึงเหตุการณ์ของชีวิตที่ล่วงมาแล้ว ก็จะนึกเห็นได้ตลอดทุกระยะทุกตอนของชีวิต เหมือนบุคคลปีนขึ้นไปอยู่บนที่สูง สามารถมองดูได้ไกล แลเห็นอะไรๆ ในที่ต่ำได้ดีฉะนั้น จิตใจอันสมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวนี้แหละสามารถสร้างอนุสสติญาณ ระลึกรู้จักความเป็นมาของตนในอดีตหลายร้อยหลายพันชาติได้ ในเมื่อจำนงจะสร้างขึ้น ซึ่งมีวิธีการโดยเฉพาะดังจะได้แสดงต่อไปข้างหน้านี้.

เหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต จะประทับภาพพิมพ์ไว้ที่ดวงใจนั้นเอง ในระยะแรกๆ ภาพนั้นจะโผล่ขึ้นในความรู้สึกให้นึกถึงอยู่เนืองๆ ครั้นล่วงกาลมานานภาพเหตุการณ์นั้นๆ ก็ค่อยจางไปจากความรู้สึกนึกเห็น แต่ไปสถิตมั่นอยู่ในดวงจิต เมื่อมีอะไรมาสะกิดก็จะนึกเห็นขึ้นมาได้ใหม่อีก นี้เป็นเรื่องในภายในชีวิตปัจจุบัน ทีนี้เราลองทำความเชื่อต่อไปอีกว่าจิตใจเป็นธรรมชาติไม่รู้จักตายได้ผ่านการเกิดการตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เหตุการณ์ที่เขาได้ผ่านพบมาในชีวิตนั้นๆ ก็ย่อมประทับเป็นภาพพิมพ์อยู่ที่จิตใจนั้นเอง ถ้ามีอะไรมาสะกิดให้นึกขึ้นได้ ก็จะสามารถนึกเห็นเหตุการณ์ของชีวิตในชาติก่อนๆ นั้น เช่นเดียวกับในชาติปัจจุบัน การที่คนโดยมากนึกถึงเหตุการณ์แห่งชีวิตในชาติก่อนไม่ได้ก็เพราะถูกชาติปัจจุบันปกปิดไว้ คือในระหว่างปฏิสนธิในครรภ์มารดาเท่ากับเข้าไปอยู่ในที่คับแคบมืดทึบเป็นเวลานานถึง ๑๐ เดือน หรืออย่างน้อยก็ราว ๗ – ๘เดือน ครั้นคลอดออกมาก็ต้องอยู่ในอัตภาพที่อ่อนแอขาดความสามารถในการนึกคิดเป็นเวลาหลายปี เมื่อเป็นเช่นนี้จึงลืมเหตุการณ์ที่ตนผ่านมาในชีวิตก่อนๆ เสีย อัตภาพซึ่งเป็นที่อาศัยของจิตใจนี้เป็นสิ่งหยาบ มืดทึบ ไม่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะใช้นึกถึงเหตุการณ์ย้อนหลังไปไกลๆ ได้ความบังเกิดของอัตภาพ พร้อมกับความคิดนึกรู้สึกอันสัมปยุตต์ในอัตภาพนั้นแหละเรียกว่าชาติเป็นตัวปิดบังความรู้ระลึกชาติหนหลัง หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ปฏิสนธิปิดบังความรู้ระลึกชาติหนหลังได้ ถ้าสามารถทำสติให้ทะลุปฏิสนธิไปได้เมื่อไรเป็นระลึกชาติได้เมื่อนั้น ฉะนั้นจุดโจมตีสิ่งกั้นกางมิให้ระลึกชาติได้ ก็คือปฏิสนธิ.



หัวข้อ: Re: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๙ วิธีสร้างทิพยอำนาจ บุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 18 สิงหาคม 2559 03:19:11
เมื่อได้ทราบจุดโจมตีในการฝึกเพื่อระลึกชาติได้เช่นนี้แล้ว ควรทราบวิธีโจมตีต่อไป ท่านให้คำแนะนำแก่ผู้ฝึกเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ไว้ว่า

๑. พึงฝึกสติอบรมจิตใจตามนัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยอาศัยอิทธิบาทภาวนา ๔ ประการจนได้สมาธิตามลำดับชั้น ถึงฌานที่ ๔ เป็นอย่างน้อย พึงให้ชำนาญในฌานอย่างดีดังกล่าวไว้ในบทที่ ๒ จนมีเจโตวสี คือมีอำนาจทางใจเพียงพอ มีใจบริสุทธิ์สะอาดนิ่มนวลเหนียวแน่น ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่าย ควรแก่การทำความนึกทวนลำดับเหตุการณ์ได้ตั้งนานๆ หลายชั่วโมง.

๒. เข้าสู่ที่สงัดซึ่งเป็นที่อากาศโปร่ง ปลอดภัย ตนมีอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ถูกรบกวนในระหว่าง นั่งในท่าที่สบายที่นั่งได้ทนตามแบบดังกล่าวไว้ในบทที่ ๒ แล้วทำความสงบใจถึงระดับฌาน ๔ แล้วจึงทำสตินึกทวนลำดับเหตุการณ์แห่งชีวิตประจำวัน ถอยคืนไปในเบื้องหลังที่ผ่านมาในชั่วชีวิตปัจจุบันนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จับตั้งแต่ตอนต้นเริ่มนั่งภาวนานี้คืนไปจนถึงวันวาน วันก่อน สัปดาห์ก่อน ปักษ์ก่อน เดือนก่อน ปีก่อน โดยลำดับๆ จนถึงเวลานอนในครรภ์มารดา ถ้าติดขัดตรงไหนต้องหยุดทำความสงบนิ่งนานๆ เสียก่อน แล้วจึงนึกต่อไปจนเห็นสภาพของตนอยู่ในครรภ์มารดา ตอนนี้ต้องนึกให้เห็นแจ่มแจ้งที่สุด นึกแล้วนึกอีก แจ่มแล้วแจ่มอีกทุกระยะของสภาพในครรภ์นั้นจนทะลุไป คือเห็นเหตุการณ์ก่อนเข้าปฏิสนธิในครรภ์ ชื่อว่าตีด่านสำคัญสำเร็จแล้ว.

๓. พึงเข้าสมาธิถึงฌานที่ ๔ แล้วนึกทวนเหตุการณ์ของชีวิตโดยนัยข้อ ๒ จนทะลุด่านปฏิสนธิ มองเห็นเหตุการณ์ก่อนเข้าปฏิสนธิได้แล้ว พึงทำสติทวนตามไปว่า ก่อนแต่จะมาปฏิสนธินั้นอยู่ไหน มีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะเห็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นภาพชีวิตที่ล่วงแล้วเป็นตอนๆ เหมือนภาพบนจอภาพยนตร์ ก็จะรู้ขึ้นพร้อมกับภาพนั้นๆ ว่าเป็นอะไรกับตน ถ้าไม่รู้พึงนึกถามขึ้นในใจแล้วสงบอยู่ ก็จะรู้ขึ้นตามความเป็นจริง ชื่อว่าสำเร็จบุพเพนิวาสานุสสติญาณสมปรารถนาต่อจากนั้นจะไม่เป็นการลำบากในการระลึกชาติหนหลัง เมื่อต้องการทราบแล้ว ทำความสงบใจนึกถามดูภาพชีวิตในอดีตที่ต้องการทราบ ก็จะปรากฏแก่ตาใจเสมอไป เป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันชาติทีเดียว.

บุคคลผู้ระลึกชาติได้ด้วยอำนาจการฝึกสติอบรมจิตใจดังกล่าวมานี้ จะระลึกได้หลายชาติและรู้เหตุการณ์สำคัญๆ ในชาตินั้นๆ พร้อมทั้งกรรมที่แต่งกำเนิดให้เกิดใหม่ด้วย ย่อมจะเกิดศรัทธาความเชื่อมั่นในสังสารวัฏและอำนาจกรรม เป็นศรัทธาพละ มีกำลังเหนี่ยวรั้งตนมิให้ประมาทพลาดพลั้งในศีลธรรมให้เกิดความขะมักเขม้นพากเพียรในการประพฤติศีลธรรม บำเพ็ญกุศลกรรม สร้างบารมีธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป การระลึกชาติได้ด้วยอำนาจเจริญภาวนา มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ดังนี้ นอกจากเป็นประโยชน์แก่ตนแล้วยังอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย ผู้ระลึกชาติตนเองได้เช่นนี้ย่อมระลึกชาติของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับตน หรือคนห่างออกไปก็ได้ตามสมควร แล้วจะได้ช่วยเหลือคนนั้นๆ ตามความสามารถ คนที่เคยรักเคยชอบหรือเคยเคารพเชื่อฟังกันมาก่อน ถึงมาเกิดใหม่นิสัยนั้นๆ ย่อมติดตามมาเหมือนกัน ถ้าให้คนผู้เขาเคยรักเคยชอบ เคยเคารพนับถือไปช่วยเหลือกันเขาจะทำได้ดีโดยง่าย ถ้าเห็นว่าไม่มีนิสัยที่ควรจะทรมานได้ จะไม่พยายามให้เสียเวลาหรือเสียประโยชน์ เว้นแต่เพื่อต่อต้านภัยของส่วนรวมซึ่งจำเป็นอยู่เองที่ผู้มีตาดีแล้วจะเพิกเฉยละเลยเสียมิได้ในเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถต่อต้านได้ ถ้าเห็นเหลือวิสัยจึงจะวางอุเบกขา รู้ว่าคราววิบัติมาถึงแล้ว ไม่ดิ้นรนขวนขวายให้ลำบากเหนื่อยยากเปล่าๆ.

สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายเป็นชาติกำเนิดต่างๆ ที่ฝึกอนุสสติเพื่อรู้ระลึกได้นั้นเป็นส่วนใหญ่ เหมือนจักรตัวใหญ่ฉะนั้น ยังมีสังสารวัฏซึ่งเป็นส่วนเล็กละเอียดซึ่งเปรียบเหมือนจักรตัวเล็กที่หมุนเร็วจี๋ยิ่งกว่าจักรตัวใหญ่นั้นอีก ท่านกำหนดไว้ดังนี้

๑. กิเลสวัฏฏะ ได้แก่กิเลสคือความรู้สึกฝ่ายชั่ว ซึ่งเกิดขึ้นกับใจโดยอาศัยสิ่งยั่วเย้าหรือเร้าใจให้เกิดขึ้น มีอวิชชาความรู้ไม่แจ่ม ทำให้เกิดความเห็นผิดคิดผิด และพูดผิดทำผิดขึ้นเป็นตัวต้นเป็นรากแก้วของกิเลสแห่งใจทั้งมวล เมื่อมีอวิชชาเป็นตัวเหตุฝังอยู่ในจิต ครั้นอารมณ์มาสัมผัสรบเร้าขึ้น ก็เกิดราคะความกำหนัด โทสะความขัดเคือง โมหะความหลงใหลไปตามลักษณะของสิ่งเร้านั้นๆ เป็นเค้ามูลของบาปอกุศลขึ้นในใจ อันนี้เป็นจักรตัวเล็กๆ แต่สำคัญที่สุดในบรรดาจักร ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเกิดตายในโลก.

๒. กัมมวัฏฏะ ได้แก่กรรมคือการจงใจทำ พูดคิด ด้วยอำนาจกิเลสรบเร้าดลใจให้ทำ เป็นกรรมดีบ้าง เลวบ้าง เมื่อทำไปแล้วย่อมเป็นภาพพิมพ์ใจอย่างลึก และมีกำลังแรงสามารถหมุนจิตใจไปในลักษณะดีหรือเลวตามลักษณะกรรมนั้นๆ อันนี้ก็เป็นจักรตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดในการก่อกำเนิดและผลักดันจิตใจในด้านดีหรือเลว.

๓. วิปากวัฏฏะ ได้แก่ผลกรรมคือความดีเลว ความสุขความทุกข์ ได้ดีตกยาก อันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่กรรมดีเลวที่ตนทำไว้ คือกรรมดีแต่งความดี คอยอุปถัมภ์บำรุงให้ได้รับความสุขความเจริญ กรรมชั่วแต่งความเลว และคอยส่งผลให้ได้รับทุกข์ลำบากเดือดร้อนเรื่อยไป คอยบั่นรอนความสุขในเมื่อกรรมดีแต่งความดีแล้ว เมื่อผลกรรมปรากฏขึ้นแล้วจิตผู้เสวยผลกรรมย่อมรู้สึกติดใจหรือเกลียดชังผลกรรมนั้นๆ เกิดเป็นกิเลสสืบเนื่องไปอีก ผลกรรมก็จัดเป็นจักรตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในอันหมุนจิตให้วิ่งไปในโลก.

สังสารจักร ๓ ส่วนนี้แล เป็นจักรตัวในที่มีความสำคัญยิ่ง การเกิดดีถึงสุขตกทุกข์ได้ยากในชาติกำเนิดต่างๆ นั้น ย่อมเป็นไปตามจักร ๓ ตัวนี้ ผู้ระลึกชาติได้ด้วยอำนาจอนุสสติญาณแล้วย่อมเกิดความเชื่อมั่นในสังสารวัฏและอำนาจกรรม เมื่อทำการพิจารณาให้ซึ้งลงไปอีก ก็จะพบสังสารจักร ๓ ตัวนี้อันเป็นไปในภายในจิตใจอีกทีหนึ่ง แล้วจะเกิดญาณรู้แจ้งขึ้นในเรื่องสังสารวัฏอย่างทะลุปรุโปร่ง ตัดความสงสัยในเรื่องตายเกิดตายสูญเสียได้ และตัดความสงสัยในเรื่องอำนาจกรรมเสียได้ด้วยพอสมควร นี้เป็นผลสูงสุดที่จะพึงได้จากการระลึกชาติได้ ฉะนั้น สาธุชนผู้ปรารถนาทิพยอำนาจข้อนี้ พึงฝึกฝนเอาตามวิธีที่กล่าวมา ก็จะสำเร็จสมความปรารถนา.

(http://www.dharma-gateway.com/image/bar-1s.jpg)

http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ (http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/) ทิพยอำนาจ-11.htm

ลงสำรองไว้อีกที่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11759.0.html (http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11759.0.html)