[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 19 สิงหาคม 2559 03:13:03



หัวข้อ: "หุ่นละครเล็ก" ไร้ทุนหนุน เร่ขายน้ำ ระดมทุนเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งเวทีโลก
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 19 สิงหาคม 2559 03:13:03
https://www.youtube.com/v/HsUgNg6G_iU

https://www.youtube.com/v/ICXIoNEgOgk

https://www.youtube.com/v/IDA-PR1US-g


เศร้าไปไหมประเทศไทย? เร่ขายน้ำดื่มสานฝันภารกิจเพื่อชาติ! คุยกับครูใจพระแห่ง “นาฏยบูรพา” ผู้พาละครหุ่นเล็กไปกระหึ่มในเวทีโลก!


    ทรงคุณค่า แต่ทว่าถูกมองข้าม สร้างชื่อให้ประเทศชาติ แต่ต้องปาดน้ำตาทำ! เปิดใจ “เด่น หาเลิศ” อาจารย์ผู้ปลุกปั้นการแสดงหุ่นละครเล็กจนได้รับคัดเลือกจาก 500 ทีมทั่วโลกให้เป็น 1 ใน 50 ทีมที่เข้ารอบ แต่จะไปได้ไหม? ในวันที่ไร้ทุนสนับสนุน แม้แต่เด็กๆ ในทีมยังต้องเร่ขายน้ำดื่มเพื่อหาทุนเดินทาง!

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416401.JPEG)

   พบกับบทสัมภาษณ์เปี่ยมพลังความตั้งใจของชายผู้เล็งเห็นประโยชน์ชาติในด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ด้วยการบุกเบิกสานต่อการแสดงละครหุ่นเล็กที่เกือบจะเลือนหาย ให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง อีกทั้งยังสามารถนำพาความงดงามไปสู่เวทีโลก เมื่อได้รับการคัดเลือกให้ไปแข่งขันบนเวที World Puppet Carnival 2016 ที่ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 24-30 กันยายนที่จะถึงนี้
       
      แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เขาจะไปได้หรือไม่?
       ฟังความจริงจากปากคำของ “อาจารย์เด่น หาเลิศ” หัวเรือใหญ่แห่งกลุ่มนาฏยบูรพา
       “คนบ้า” ในสายตาหลายๆ คน!


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416402.JPEG)

        • ได้รับเชิญไปแข่งเทศกาลหุ่นระดับโลกงาน World Puppet Carnival 2016 แต่กลับต้องมาขายน้ำดื่ม เกิดขึ้นได้อย่างไร
       
       คือต้องบอกก่อนว่ารายการ World Puppet Carnival เป็นรายการการประกวดหุ่นระดับโลก คณะหุ่นทั่วโลกจะมาประกวดแข่งขันเพื่อจัดสุดยอดการแสดงหุ่นของโลกว่าใครจะเป็น The Best ซึ่งบ้านเราไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2551 ก็ 7-8 ปีมาแล้วที่คณะหุ่นละครเล็กของโจหลุยย์สร้างชื่อไว้และสร้างปรากฏการณ์ให้ถ้วยนี้เกิดขึ้นมา เราก็เป็นหนึ่งในนั้น จากความสวยงามและตระการตาครบถ้วน ครั้งนี้ เราทีม “นาฏยบูรพา” ก็ได้ส่งคลิปเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือกจาก 900 ทีม ให้เป็น 1 ใน 50 ทีมเข้าร่วมแสดงแข่งขันที่ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
       
       โดยการแสดงของเราครั้งนี้จะเป็นตัวหลัก เพราะเขาชื่นชอบมาก แต่บังเอิญว่าจังหวะที่เราทำเรื่องของบ ทางกระทรวงวัฒนธรรมปิดงบประมาณประจำปีเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็ช่วยเหลือดูงบที่ค้างคืนก็ได้งบมา 2 แสนบาท ก็ต้องขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงที่เล็งเห็น แต่ซึ่งไม่เพียงพอ เด็กๆ ก็เลยช่วยกันออกไปหาเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแสดง ก็ไปเดินช่วยกันขายน้ำอย่างที่ข่าวออก ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ตอนนี้ก็ได้ประมาณ 2-3 หมื่น ซึ่งก็ไม่เพียงพอ จริงๆ แรกๆ บางคนอยากจะไปสมัครงานโรงงาน เราบอกหยุดๆ ทำเท่าที่เราทำได้ คือเขามีความตั้งใจจริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจเฉพาะปีนี้ เราตั้งใจมานานแล้ว เคยทำมาแล้ว แล้วปีนี้มันผ่านเข้ารอบ มีโอกาส
       
       • งบประมาณทั้งหมดต้องใช้เท่าไหร่
       
      2 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเดินทางทั้งหมด 40 คน ทีมการแสดง 30 คน ทีมงานช่างซาวด์ดนตรีเครื่องเสียงอีก 10 คน ค่าตั๋วเครื่องบินก็ตกคนละ 3 หมื่นกว่าบาท ค่าที่พักก็ดูแบบถูกๆ เลย มีอาหารให้ 3 มื้อ 16,000 บาท เพราะเราไปทั้งหมด 10 วัน จนถึงวันประกาศผล ตีก็คนละ 5 หมื่นบาท 55 ยูโรต่อวัน คือไปอยู่แบบห้ามออกไปไหนเลย (ยิ้ม) นี่ถ้าได้งบแล้วได้ไปก็จะเอาหม้อหุงข้าวไปด้วย ก็ต้องอดทน เพราะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เราอยากจะไปทำให้โลกรู้ว่าวัฒนธรรมเรายังอยู่ เรายังมีวัฒนธรรมของเรา ไม่ได้หวังแค่ว่าจะคว้าถ้วยคว้ารางวัลหรือชื่อเสียงเงินทองให้กับตัวเอง แต่เพราะหุ่นละครเล็กตรงนี้เคยหายไปจากประวัติศาสตร์บ้านเราแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416403.JPEG)

   • เล่าประวัติศาสตร์ที่ว่านั้นให้ฟังหน่อยครับ
       
       ประวัติหุ่นละครเล็กในจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเขียนไว้ว่าอยู่ในช่วงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยได้รับอิทธิพลมาจากตอนใต้ของประเทศจีน จากชาวไหหลำ ชาวฮกเกี้ยน พ่อครูแกร ศัพทวนิช ได้ให้กำเนิดหุ่นละครเล็กขึ้นมาซึ่งใช้รูปแบบของการแต่งกายเสื้อผ้าของหุ่นหลวง และก็ดัดแปลงมาให้เป็น 3 คนเชิด จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาเล่นพวกนิทานพื้นบ้าน พระอภัยมณี ยังไม่ได้เป็นหุ่นโขน แล้วต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีใครมาดูแลรักษา ทำให้หายไปเกือบชั่วอายุคน จนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ปู่โจหลุยส์ท่านเป็นคนเอากลับมา ถึงตรงนี้ถ้าจำไม่ผิด พอเอากลับมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านตรัสว่าอยากจะทอดพระเนตรหุ่นละครเล็กกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
       
       หุ่นละครเล็กก็จึงได้กลับมา และวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จากสมัยก่อน หุ่นละครเล็กจะมีฉากกั้น สมัยผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช ก็สังเกตว่าทำไมคนมามุงดูแต่ข้างหลัง นั่นเพราะว่า พอขยับขาพร้อมกัน 1-2-3 ขาทั้งหมดเรียงทำให้ดูสวยงาม ก็เลยเอาข้างหน้าม่านออก มาเชิดข้างหน้าอย่างทุกวันนี้ จนปี 2549 และปี 2551 อย่างที่บอก ประกวดได้รางวัลและสร้างปรากฏการณ์ ซึ่งผมก็ได้เรียนรู้และฝึกฝน หลังออกจากกรมศิลปากร ก็มีส่วนร่วมในการคิดเปิดปิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ถ้วยมาหนึ่งถ้วย แล้วก็เป็นถ้วยเดอะเบสต์อีกหนึ่งถ้วย คือเป็นถ้วยที่ถ้วยอีก 7 ถ้วยล้อมรอบ การแสดงของคณะหุ่นโจหลุยส์ ดีหมด ก็เลยทำถ้วยที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกให้

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416404.JPEG)

• ต่างชาติยอมรับให้เกียรติเรามากในเรื่องนี้
       
       ล้นหลาม ตบมือหลายเที่ยว แถมโค้งให้เกียรติทั้งหมดทุกคน คือถ้าถามว่าเพราะอะไร ก็เพราะหุ่นละครเล็กของเรามีเสน่ห์เรื่องการแต่งกายของเราอยู่แล้ว การเชิด หุ่นของเราสามารถไปสัมผัสคนดูได้แล้วมันสื่ออารมณ์ สื่อความรู้สึกเหมือนธรรมชาติ แล้วมีความงามในตัวเอง มีความพร้อมเพรียง ความสวยเสร็จสรรพ เมื่อรวมกับความงามในการเชิด การขึ้นลงพร้อมกัน ขา การขยับพร้อมกัน 3 คนเชิด เสน่ห์ตรงนี้เราเลยเด็ดขาด ไหนจะเรื่องดนตรีด้วย อารมณ์ด้วย ทำให้คนดูเข้าใจโดยที่ไม่ต้องให้เราพูด อย่างที่ท่านอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ เคยกล่าวไว้ หุ่นละครเล็ก เราเหนือดารา เหนือกว่าตรงที่ว่าดาราเขาใช้สีหน้าและคำพูด คนดูถึงรู้เรื่อง แต่เราไม่ต้องพูด คนดูก็รู้เรื่อง
       
       • แต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากคนบ้านเดียวกันเท่าที่ควร ถ้าดูจากข่าวคราวหลังจากปีที่สร้างชื่อเสียง
       
       คนไทยเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเทียนวูบหนึ่ง พอเทียนจะหมดก็วูบหนึ่งแล้วหายไป เพราะว่ากระแสความอินเทรนด์คนเรามันมาเรื่อยๆ อะไรที่เป็นกระแส มันก็จะมาเรื่อยๆ แล้วมันก็วูบหนึ่งหายไป เดี๋ยวเกาหลีเข้ามา ญี่ปุ่นเข้ามา โน่นนี่นั่น ตรงนี้ก็จะลืมไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งคือมันไม่มีการปลูกฝัง ถ้าเกิดมันอยู่ในรูปแบบของการศึกษา ไม่ใช่อยู่ๆ ก็คิดออกมาบ้าๆ เพี้ยนๆ แบบผม เราก็ทำ ทั้งๆ ที่ตอนแรกก็ใจชื้นว่าสังคมเล็งเห็นความสำคัญของตรงนี้ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยเลือนกันไป พอคิดอย่างนั้น เราก็อุทิศตัวเลย เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็เลยออกจากคณะมาขอสอนฟรี เพราะถ้าเราจะให้คงอยู่ ต้องทำในรูปแบบการศึกษา คือเราเจียมตัวเจียมอายุเรา เรานับเต็มที่อยู่ได้ 60-70 เหลืออีก 30 ปี เวลาน้อย น้อยมาก ที่จะทำให้ศิลปะตรงนี้มันอยู่ เราตายแต่ศิลปะตรงนี้ต้องอยู่ ก็เลยออกมา

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416405.JPEG)

      ถ้าเกิดให้มันอยู่ในรูปแบบของการศึกษา รุ่นต่อรุ่น มันจะยังอยู่ เพราะเราเคยฟังมาแล้วว่ามันหายไปแล้วจากการที่ไม่มีการสืบทอด แต่ถ้าอยู่ในรูปแบบการศึกษา ถ้ารุ่นนี้จบ ม.6 ไป ม.1 ก็ยังขึ้นมา หุ่นก็ยังอยู่ ก็จะวนอย่างนั้น มันก็จะไม่มีวันหาย ตราบใดที่มันยังอยู่ในการศึกษา หุ่นละครเล็กของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ก็เลยเกิดขึ้น แม้ว่าจะลำบากในช่วงเริ่มต้นไม่มีกระทั่งหุ่นซ้อม ต้องซ้อมลมเปล่าๆ สามคนจับท่า จับเอว หลังกัน กระโดดก็กระโดดไปพร้อมกัน ติ๊ต่างว่าหัวอยู่ตรงนี้ มือเชิด เวลาโบกก็โบกไป หน้าเราก็ต้องไปด้วย ไปให้พร้อมมือ เหมือนถ่ายทำซีจีหนังต่างประเทศ ใช้จินตนาการ (ยิ้ม)
       
       แถมมาซ้อม ก็อดมื้อกินมื้อ ข้าวหนึ่งกล่องแบ่งกันกิน 3 คน นั่งกินไปร้องไห้ไป กินน้ำตาต่างข้าวเลย แต่บังเอิญหุ่นรุ่นแรก สมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานเปิดเสด็จพ่อ ร.5 แล้วเราก็มีโอกาสได้เอาหุ่นถวายท่าน ท่านก็ตรัสให้กำลังใจว่าให้รักษาหุ่นละครเล็กตรงนี้ไว้ อย่าให้มันสูญหาย เราก็เลยตั้งมั่นทำต่อ คือถึงจะหยุดไปปีหนึ่งที่ไม่ไหวจริงๆ กลับไปขายก๋วยเตี๋ยวที่บ้าน แต่ก็ต้องกลับมาทำต่อ คือเสียเท่าไหร่ไม่ว่าหรอก แต่ได้เห็นเด็กๆ ได้รำ เวลาที่เขาย่อเหลี่ยมตั้งวง เวลาเชิดหุ่น แค่นั้นเราก็ดีใจแล้ว อิ่มแล้ว
       
      • และครั้งนี้เราได้มีโอกาส ก็เลยอยากจะให้เด็กๆ ที่เขาตั้งใจรู้สึกภาคภูมิใจ
       
       ครับ เขาควรได้เกียรตินั้น เพราะเขาเสียสละส่วนตัวมาช่วยรักษาวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมของเรา และเขาซ้อมกันหนักมาก แค่ยกหุ่น 300 ที บางคนน้ำตาไหลไปยกไป เขาควรจะได้ไปในจุดนั้น โดยมีคนยื่นมือมาช่วยเหลือด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร คือง่ายๆ เลย ก่อนหน้านี้ หุ่นเราก็ยังไม่พร้อม อุปกรณ์อะไรต่างๆ เราไม่มี เวลาเดินไปขอความช่วยเหลือ เขาก็หัวเราะใส่หน้าเราก็มี ผู้ใหญ่บางคนพูดเลยว่าไปไม่ได้บ้าง บ้าบ้าง พูดว่าเรามีอะไรจะไประดับโลก บางคนว่าเราหากินกับเด็กด้วยซ้ำ เขาไม่เชื่อ เพราะสมัยนั้น โปรไฟล์เรา เฟซบุ๊กอะไรก็ยังไม่บูม ไปพูดปากเปล่าเขาก็ไม่เชื่อ เดินไปแอบร้องไห้ ไม่ให้เด็กๆ เห็น เราคิดว่าต้องมีสักวันหนึ่งที่เราทำได้ จนเมื่อปีที่แล้ว ไปทำโขนให้เพื่อนที่โรงเรียนสาธิตเกษตร จังหวัดชลบุรี บังเอิญไปเจอผู้ปกครองที่เขาพอมีฐานะ เขาช่วยเหลือเรื่องหุ่นทำให้สองตัว นั่นแหละ ที่มาของชื่อ “นาฏยบูรพา” ก็มาจากตรงนี้ และพอเริ่มมีหุ่นเป็นของตัวเองได้ซ้อมได้จับทุกวัน ณ วันนี้เราทำได้ ไม่ใช่ได้ซ้อมจริงตอนก่อนไปแสดงที่ต้องไปเช่าเขาแล้วโกหกว่าไม่ว่างไปรับ ขอไปรับก่อนเพื่อที่จะได้มาซ้อมหุ่นจริง แต่พอไปได้เราไม่มีงบอีก

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416406.JPEG)

  • เท่าที่ฟังมา แสดงว่าก็มีเด็กๆ ให้ความสนใจกับศิลปวัฒนธรรมไทยนะครับ
       
       ถูกต้อง ตอนนี้เด็กๆ ที่เรียนก็เกือบ 100 คน มาจากหลายๆ ที่ ทั้งโรงเรียนบดินทรเดชา สาธิตเกษตร จังหวัดชลบุรี ก็มา สาธิตเกษตรศาสตร์ที่กรุงเทพฯ ก็มี โรงเรียนนานาชาติอย่างเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ก็มี และมีตั้งแต่ชั้น ประถม ป.1 ป.2 ก็มี ลูกพี่ฟอร์ด (สบชัย ไกรยูรเสน) ก็เรียนกับเรา มัธยมต้น-ปลาย ระดับมหาวิทยาลัยก็น้องๆ พวกนี้ แล้วเมื่อก่อนก็เคยไปสอนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ก็ได้รับการตอบรับจากคนรุ่นใหม่พอสมควร แต่ก็สอนได้สักพัก พอหมดงบประมาณจ้างก็คือหมด ไม่มีจ้างต่อ คือเราเสิร์ฟไม่สุด ทั้งๆ ที่เด็กๆ เขามีความสนใจทางด้านนี้
       
      • ตอนนี้สถานการณ์โดยรวมของหุ่นละครเล็กมีมากน้อยแค่ไหน
       
       ถ้าในรูปแบบสอนในโรงเรียน มีที่นี่ที่เดียว แต่ถ้าเป็นข้างนอกก็มีของโจหลุยส์และที่คลองบางหลวงซึ่งได้เข้ามาช่วยเหลือเราในส่วนของการติวการฝึกซ้อมเพื่อไปแข่งขัน แล้วส่วนตัวผมก็มีสอนเพิ่มที่จังหวัดชลบุรี ที่สมาคมศิลปวัฒนธรรมเพื่อเยาวชนศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ก็สอนอยู่ที่นั้น นับๆ ก็ไม่เยอะ เพราะไม่ได้อยู่ในหลักสูตร
       
       • ส่วนตัวคิดหรือรู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการศึกษา
       
       คิดว่าเพราะไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นการแสดงที่ประยุกต์ดัดแปลงมา ยิ่งในปัจจุบันของผมอะแดปต์ด้วย มีเอฟเฟกต์ระเบิด เพื่อทำให้คนดูจับต้องได้ง่าย เราอยากให้เด็กก็ทำได้ ผู้ใหญ่ดูได้ คนแก่ยิ่งดูง่าย สนุก ก็เลยต้องปรับเปลี่ยน เพราะโลกมันหมุนไปทุกวัน การแสดงมันก็ต้องไป บางทีมุกก็คิดตามใหม่ๆ กรมศิลปากรเลยอาจจะมองว่าไม่ใช่ไทยแท้ แต่หุ่นละครเล็กก็เป็นการแสดงของไทยอันหนึ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณ ท่าลิง ท่าพระ ท่านาง ก็เป็นพื้นของการเชิด ประยุกต์มา ก็อยากให้ขึ้นกับกรมศิลปกร จะได้เป็นหนึ่งในตัวเชื่อมที่ทำให้เด็กยังอยู่ในวงจรนี้ เพราะจับต้องได้ง่าย ไปเล่นที่ไหนก็มีความสนุกสนานเฮฮา คนดูก็จำได้

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416407.JPEG)

      และอีกอย่างมันมีประโยชน์ หุ่นละครเล็กสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับเด็กๆ ด้วย คือหนึ่ง ทำให้มีความมั่นใจ การแสดงออก สอง สติปัญญา เพราะมันต้องใช้สติในการเชิด ใช้ปัญญาในการเล่น และสาม สมาธิ นี่สำคัญ ส่วนใหญ่เด็กๆ สมาธิสั้น ความอดทนน้อย แต่เด็กที่มาอยู่ตรงนี้ เขาจะมีความอดทนสูง มีระเบียบวินัยเพราะเขาผ่านการฝึกอย่างหนัก เหน็ดเหนื่อยและแถมเหนื่อยก็หยุดไมได้ เขาก็จะมีตรงนี้
       
       และพอเสร็จเขามีใจรัก เขาก็จะมีจิตใจที่อ่อนโยนปรับเขาไปด้วย ซึ่งก็จะทำให้เขาก็จะสรรสร้างแต่ส่งดีๆ กลับสู่สังคม เพราะว่าเขามีความกลัว มีความแบ่งแยกว่าอันไหนดีไม่ดี อย่างเรื่องละครที่เราเล่น “หนึ่งในโลกา” มีคติสอนใจ โดยอ้างอิงจากกำเนิดยักษ์ลิงแล้วรวบกับวิทยาศาสตร์

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416408.JPEG)

    • ไม่ต่างจากนิทานละครพื้นบ้านหรือศิลปวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ
       
       ใช่ๆ เราต้องแอบตรงนี้แฝงไว้ในคำสอน เรื่องนี้ ลิงตัวแรกที่เกิดมา พระอิศวรก็ให้ไปอยู่โลกแล้วบอกว่า ถ้าใครอยากปกครองอยู่ในโลกนี้ได้มีความสุขให้ไปหาอาวุธทั้ง 4 อย่าง ก็จะอยู่ที่การแสดง อาวุธทั้ง 4 อย่างก็คือ ความกตัญญูรู้คุณ ความเสียสละ ความมีระเบียบวินัย ความอดทนอดกลั้น ถ้าคุณมี 4 อย่าง คุณก็สามารถกลายเป็นมนุษย์ได้ ลิงตัวนี้ก็เลยกลายเป็นมนุษย์ เราก็จะเอาไปแฝง ไปสอนเขา
       
       ลึกๆ ก็พยายามจะสู้กับเทคโนโลยีก้มหน้า ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม แต่จะทำให้สุดแรง ก็หวังเพื่อสักวันหนึ่งผมจะได้ไปประกวด อยากไปโรดโชว์ไปเล่นตามที่มีเด็กๆ ด้อยโอกาส แล้วก็เอาคุณธรรมตรงนี้ไปสอนเขา เพราะส่วนใหญ่เด็กๆ ไม่ต่างจากคำว่าผ้าขาว เราแต่งแต้มอะไร อย่างตอนเด็กชอบมดเอ็กซ์ เขาปกป้องคน เป็นฮีโร่ เราก็อยากช่วยเหลือคนอย่างฮีโร่ของเรา นี่ก็เหมือนกัน อยากให้เขากลายเป็นคนอย่างสมบูรณ์ ก็มีความมุ่งหวังอย่างนั้น
       
       ส่วนเรื่องศิลปะ ก็อยากให้เก่งๆ เขาได้มีจิตใจที่รักวัฒนธรรมของตัวเอง คือของที่ปู่ย่าตายายสร้างมา มันมีคุณค่า มันบ่งบอกถึงความเป็นไทย ประเทศไทยถึงไม่ค่อยเป็นเมืองขึ้นของใครเพราะเหตุนี้ เรามีวัฒนธรรมของเรา ที่สร้างทำให้เราแข็งแรง เสมือนรากแก้วของต้นไม้ ต้นไม้ขาดรากแก้วเมื่อไหร่ ต้นไม้ตายเลย หรือเปรียบเหมือนทหาร ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ก็ปกครองประเทศ เราทหารเล็กๆ ก็ปกป้องวัฒนธรรมตรงนี้ให้คงอยู่ เราไม่รู้ว่าเราจะมีอาวุธหรือมีแรงสนับสนุนขนาดไหน แต่เราก็จะทำจนกว่าเราจะไม่มีลมหายใจแค่นั้นเอง
       
       • น้อยใจบ้างหรือไม่ขนาดมีสื่อออกรายการยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร
       
       วันนั้น ผมร้องไห้กลางรายการ มันอึดอัด มันพูดอะไรไม่ได้ มันเป็นของปู่ย่าตายายเราแท้ๆ ทำไมผู้ใหญ่มาดูแลน้อยจัง หรือว่าเราเข้าถึงผู้ใหญ่ไม่ดีพอ เราก็โทษตัวเราด้วย เราอาจจะเข้าถึงผู้ใหญ่ได้ไม่ดีพอ เราก็พยายาม ถามว่าน้อยใจไหม มันน้อยใจอยู่แล้วว่าทำไมไม่มาช่วยกัน ของคนไทยมันเป็นของทุกคน ของประเทศชาติ เราเป็นตัวแทนของชาติ นี่ตัวแทนประเทศ ต้องไปขายน้ำกันเหรอ ก็งง วัฒนธรรมเรา เราอยู่แข็งแรงมาจนทุกวันก็เพราะวัฒนธรรมตรงนี้ศิลปะตรงนี้
       
       ถ้าไม่ได้ไป ก็คิดเตรียมไว้แล้วว่าจะแอบหยิบโฉนดที่ดินแม่ 5 ไร่ เอาไปจำนำให้เด็กๆ ไป ก็คงได้แค่นั้น หรือถ้ามันสุดๆ จริงๆ จะไปถือป้ายแถวสวนจตุจักร บอกว่าหันมาช่วยเด็กๆ หน่อย เพื่อให้เรื่องถึงผู้หลักผู้ใหญ่ถึงนายกฯ ท่าน เพราะเด็กๆ เขาสะอาด ซื่อบริสุทธิ์จริงๆ ดูตาแต่ละคน บางทีเรามองไปแล้วมันสมควรที่จะอยู่ตรงนี้แล้วมีมืออีกมือมาดึงเขาไป เขาเสียสละ เขามีเกียรติ ไม่ใช่คนปกติธรรมดาที่หยิบจับโทรศัพท์เรื่องของตัวเอง เขาไปสร้าง ไปอนุรักษ์ความเป็นไทย ให้มีความเป็นไทยเกิดขึ้น

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416409.JPEG)


   • แล้วความรู้สึกของเด็กๆ แต่ละคนเตรียมตัวเตรียมใจเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง เพราะเหลือระยะเวลาอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์
       
       เด็กๆ ทุกคนก็ยังหวัง มีความหวัง แต่ท้ายที่สุด ถ้าไม่ได้ไป ก็ถามเขาเหมือนกันนะว่าจะยังสานต่อหุ่นละครเล็กอยู่อีกไหม เขาก็บอกว่าจะสานต่อจนกว่าจะไม่มีแรงเชิด ก็จะยังมาเรียนอยู่ มาเรียนจนกว่าจะได้ไป คือคนนาฏศิลป์ทุกคนเป็นความใฝ่ฝันครั้งหนึ่งก็อยากจะขึ้นไปโชว์ความสามารถ ขึ้นไปแสดงรากเหง้าความเป็นเราที่ภูมิใจให้เห็น
       
       ก็ขอฝากๆ เรื่องนี้ให้ตระหนัก ศิลปวัฒนธรรมมันคือของคนไทยทุกคน ปูย่าตายายเราสร้างไว้อย่างดีแล้ว และมันเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนได้ความภาคภูมิใจมาจากตรงนี้ ว่าเราเป็นเอกราช เราไม่ได้ไปขึ้นตรงกับใคร แล้วก็อยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ให้มันคงอยู่ เราจะตายไปกี่รุ่นก็แล้วแต่ แต่ว่าขอให้ศิลปะตรงนี้มันอยู่ถึงลูกถึงหลานเหลนโหลนเราไปเรื่อยๆ ให้ตรงนี้มันคงอยู่ต่อไป คือความเป็นไทย
       
       ใครที่เชื่อและเล็งเห็นความสำคัญติดต่อจ้างงานเราได้ที่เบอร์ตรงผมหรือทางเพจเฟซบุ๊ก Nataya Burapha Club ตอนนี้เราก็รับงานจ้างไปเล่น เพราะเราอยากจะเก็บเงินไปให้ได้ ส่วนใครที่อยากสนับสนุนผลักดันสามารถบริจาคได้ที่บัญชี ประธานชมรมนาฏยบูรพา เด่น หาเลิศ ธนาคารกรุงไทย สาขาปากเกร็ด ยอดเงินโอนทุกครั้งจะส่งให้กับสำนักข่าวต่างๆ เพื่อรวมว่ายังขาดเหลืออีกเท่าไหร่
       
       • ตัวเลขคร่าวๆ ณ ตอนนี้ก็คือยังไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของยอดทั้งหมด
       
       ครับ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนโอนเข้ามาหลังไปออกสื่อรายการโทรทัศน์ คือถึงแม้ว่ายังไม่ถึง แต่ก็รู้สึกดีใจ จากที่ท้อๆ ก็มีกำลังใจขึ้นมาเลย เพราะเราทำ เราไม่ได้คิดถึงเงิน เราทำเพราะเรารักและนี่คือวัฒนธรรมของเรา เราควรช่วยกัน ซึ่งพอได้ยินได้ฟังเสียงจากป้าๆ น้าๆ คนสองคนที่โทร.เข้ามา จากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้ทราบข่าวของเรา “ป้าก็มีไม่เยอะ ช่วยได้ 100 เหรียญนะ” หรือคุณป้าจากจังหวัดปัตตานี ให้ญาติโอนให้ แต่เขาหักค่าโอน ได้แค่ 950 บาทนะ สู้ๆ ขอให้ได้ไป ยังไงไปให้ได้ เราก็มีกำลังใจ แค่นี้เราก็ดีใจ คำพูดที่ให้กำลังใจให้เราไปต่อ เราก็เด้งเลย ก็อยากให้คิดว่าเหมือนลูกหลานของคุณ คิดว่าเขาเป็นลูกหลานของคุณแล้วเขาก็ไปทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ผู้ใหญ่ใจดีหรือที่อยู่ในประเทศไทย ใครที่มีอำนาจ ยื่นมือมาช่วยเหลือเรื่องตรงนี้ มาสัมผัส อยากให้มาดูเด็กๆ มาดูความตั้งใจเขา มาดูที่นี่ก็ได้ เราซ้อมกันทุกวันอาทิตย์ ห้องเล็กๆ อาศัยพี่ชาย ไปเบียดๆ ที่นั่น

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416410.JPEG)

    ณ ตอนนี้ ไม่ท้อ ลุย สู้ ส่วนใครที่เห็นต่างหรือไม่เชื่อ ไม่เป็นไรก็จะทำต่อไป ทำจนแค่หมดแรง ตังค์เหมือนกัน หมดเมื่อไหร่ก็กลับไปขายก๋วยเตี๋ยวแล้วกลับเข้ามาใหม่ คือหัวอกครูทุกคนทุกท่าน ในช่วงที่มีแรง ก็อยากมอบสิ่งที่ดีให้กับลูกศิษย์ ผมไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือเปล่า แต่ว่าเวลานี้ ผมยังอยู่กับเขา ก็อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเขา และยิ่งสิ่งที่เขาทำมาทุกวันนี้มันมีประโยชน์มีคุณค่า เป็นเกียรติที่เขาสมควรได้รับการยกย่อง บ้านเมืองได้รับการสานต่อวัฒนธรรม เราก็อยากให้เขาได้ไปถึงจุดนั้น

 ติดต่อจ้างงานและร่วมช่วยเหลือได้ที่ ประธานชมรมนาฏยบูรพา เด่น หาเลิศ
  เบอร์โทรศัพท์: 09-1732-4774
  เลขบัญชี: 856-0-17218-1 ธนาคารกรุงไทย สาขาปากเกร็ด


(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416411.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416412.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416413.JPEG)

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/559000008416414.JPEG)


 เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
 ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช

จาก http://astv.mobi/A9UVS3C (http://astv.mobi/A9UVS3C)

http://www.sookjai.com/index.php?topic=178759.0 (http://www.sookjai.com/index.php?topic=178759.0)

https://www.youtube.com/v/LY6BzlSyfaw

https://www.youtube.com/v/LBKnohLOEzg

https://www.youtube.com/v/42XwFYrqTTg

https://www.youtube.com/v/5aakAD4bH-g