หัวข้อ: เมื่อราว 160 ปีก่อน, สาวไทยนิยมเป็น “เมียน้อยชาวจีน(มีฐานะ)” ถือว่าอวดชาวบ้านได้ เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 พฤศจิกายน 2559 14:12:12 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/86469635367393_mmaaaa.png)
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/4643081339_6a0192ac16c415970d01b8d102acc3.png) ภาพวาดลาดเส้นโดย เอ. โบกูร์ เป็นภาพ “ผู้หญิงเมืองบางกอก” จากบันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งความคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวถือเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคมไทย (หรือสยามในขณะนั้น) การเป็นเมียน้อยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นสิ่งที่ต้องประณามเหมือนยุคปัจจุบัน (ที่คลิปเมียหลวงรุมตบเมียน้อยเป็นที่นิยมสร้างความสะใจให้กับบรรดาผู้บูชาคุณธรรมทั้งหลาย) ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เคยมีพระราชปรารภ “ความผัวเมีย” ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย “ผัวเดียวเมียเดียว” ของชาวตะวันตกว่า “ไม่เป็นเขตรพื้นภูมิของกุสลสามัญ…จะนับว่าเป็นกุสลกรรมบทสามัญมาเป็นกฎหมายสำหรับบ้านเมืองนั้นไม่ได้” เพราะ “เป็นเหตุให้โทษต่างๆ แก่ชนเป็นอันมากแลบ้านเมือง” ซึ่งควร “จะต้องห้ามเสีย” การเป็นเมียน้อยตั้งแต่อดีตจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรฐานทางสังคมในขณะนั้น ถ้าสาวไทยบางคนจะอยากไปเป็น “เมียน้อยของชาวจีน” ที่ก้าวขึ้นมามีฐานะหน้าตาทางสังคมด้วยการแสวงประโยชน์จากสิ่งที่ชาวสยามไม่นำพาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ชาวจีนที่ว่านี้ คือพวกที่ยื่นเรื่องไปยังทางการขอเป็นผู้รับเก็บภาษีจากสินค้าต่างๆ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายช่วยราชการแผ่นดิน หรือที่เรียกว่า “เจ้าภาษีนายอากร” ซึ่งผู้ที่ประมูลได้สิทธิในการเก็บภาษีก็จะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพร้อมกับบรรดาศักดิ์ และราชทินนามที่สอดคล้อง กับชนิดภาษีนั้นๆ เช่น เจ้าภาษีน้ำตาล เป็นหมื่นมธุรสวานิช เจ้าภาษีถั่ว 5 ชนิด เป็นขุนปัญจพีชากร เป็นต้น หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า นายอากรชาวจีนเหล่านี้มีอำนาจเท่ากับ “เจ้าบ้านผ่านเมือง” มีเอกสิทธิและอิทธิพลมากมาย ไม่ต่างไปจาก เจ้านครในยุโรปสมัยกลาง หรือเจ้าที่ดินในรัสเซียสมัยซาร์ หลวงวิจิตรฯ ยังกล่าวว่า “หญิงสาวชาวไทยในเวลานั้น ชอบเป็นเมียน้อยของเจ้าภาษีนายอากร ใครได้เป็นเมียน้อยของเจ้าภาษีนายอากรในเวลานั้น ก็มีหน้ามีตาอวดเพื่อนได้ทีเดียว ดังข้อความในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา มีว่า ‘เมียน้อยเจ้าภาษีมิใช่ชั่ว หน้าเป็นเล่นตัวจนผัวหึง’…” บทกลอนอีกชิ้นแต่งโดยหลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งหลวงวิจิตรฯ ยกอ้างไว้ในคราวเดียวกันนี้ ก็บ่งบอกได้ดีว่าคนไทย มองชาวจีนว่าน่าอิจฉาเพียงใด
ที่ผู้เขียนเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้ตั้งใจจะปลุกปั่นสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมด้วยหวังจะให้ค่านิยมเดิมได้รับการยอมรับขึ้นมาอีกครั้ง แต่ข้อเท็จจริงในอดีตล้วนมีเกร็ดเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นเดียวกันกับกรณีนี้ที่แสดงถึงพัฒนาการทางสังคมอันเกิดจากการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ทำให้มาตรฐานเดิมๆ ที่สังคมเคยยอมรับกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม แต่เรื่องในอดีตเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การศึกษามากกว่าที่มาปกปิด ด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา อ้างอิง: 1. “กว่าจะเป็น ‘ผัวเดียวเมียเดียว’; สังเขปประวัติความเป็นมาของกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ในสยาม พ.ศ. 2410-2478”. สุรเชษ์ฐ สุลาภกิจ. 2. คำสอนเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย. หลวงวิจิตรวาทการ. วิจิตรวาทการอนุสรณ์
|