หัวข้อ: พระพุทธไสยาสน์ 9 ปาง เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 07 มิถุนายน 2560 16:52:19 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89486645700203_view_resizing_images_2_.jpg) พระพุทธไสยาสน์ 9 ปาง ที่ได้เกริ่นกันไว้ว่า ให้สังเกตพระอิริยาบถของพระพุทธองค์ใน "พระพุทธรูปปางปรินิพพาน" เนื่องด้วยเป็นเพียงหนึ่งปางในพระอิริยาบท "ไสยาสน์" ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ทีนี้เรามาสร้างความกระจ่างกันสำหรับ "พระพุทธรูปปางไสยาสน์" ครับผม คำว่า "ไสยาสน์" หมายถึง นอน "พระพุทธไสยาสน์" ก็คือ พระพุทธรูปในท่าบรรทม (นอน) ส่วน "สีหไสยาสน์" หมายถึง ท่านอนอย่างราชสีห์ คือ อิริยาบถนอนตะแคงข้างขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายวางทอดไปตามพระวรกาย พระบาททั้งสองตั้งเรียงซ้อนกัน กำหนดใจให้นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ และตื่นขึ้นในเวลาที่กำหนด คติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั้น เดิมมุ่งเน้นใน "ปางปรินิพพาน" เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ เป็นการเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง แม้พระพุทธองค์เองยังเลี่ยงไม่พ้น ส่วนในการตั้งให้พระพุทธรูปประจำวันของผู้เกิดวันอังคารนั้น ก็เพราะตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันอังคารนั่นเอง ความคุ้นเคยของผู้คนเมื่อได้เห็นพระพุทธไสยาสน์ จึงมักเข้าใจว่าเป็นปางปรินิพพาน ความจริงแล้วตามพุทธประวัติมี "พระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด 9 ปาง" ซึ่งในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะนิยมสร้าง "ปางโปรดอสุรินทราหู" และ "ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน" อันจะเห็นได้โดยทั่วไป ส่วนปางอื่นๆ นั้นมีน้อยมากหรือไม่ก็มักปรากฏเป็นภาพวาดภาพจิตรกรรม ลองมาไล่เรียงดูกันว่าทั้ง 9 ปาง มีปางอะไรบ้าง ปางที่ 1 ปางทรงพระสุบิน ตามพุทธประวัติกล่าวว่า...ครานั้น พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะทรงเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งพระโพธิญาณ ทรงเปลี่ยนมาใช้มัชฌิมาปฏิปทาหรือการปฏิบัติโดยทางสายกลาง จึงเสด็จออกบิณฑบาตดังเดิม ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เข้าใจว่า พระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียรแล้วหันมาบริโภคอาหารดังเดิม ไหนเลยจะพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากไป พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะบรรทมทรงปัญจมหาสุบินเป็นบุพนิมิตมหามงคล 5 ประการ เมื่อตื่นบรรทมทรงทำนายมหาสุบินนิมิตด้วยพระองค์เอง ทรงทราบว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้เผยแผ่พระธรรมออกไปทั่วทิศานุทิศ จึงทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ... พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหาขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์ ตัวอย่างอาทิ พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน โรงเรียนวัดราชาวาส กรุงเทพฯ และวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี ปางที่ 2 ปางทรงพักผ่อนปกติ เป็นอากัปกิริยาที่พระพุทธองค์ทรงพักผ่อนโดยทั่วไป มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก คอยนวดเฟ้นอยู่ด้านหลัง พระพุทธรูปปางทรงพักผ่อนปกติ เป็นพระพุทธรูปนอนแบบสีหไสยาสน์ เหมือน "ปางโปรดอสุรินทราหู" ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงข้างขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายวางทอดไปตามพระวรกาย พระกัจฉะทับบนพระเขนย อุ้งพระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่วัดเขาหลวง จ.เพชรบุรี ปางที่ 3 ปางโปรดอสุรินทราหู ตามพุทธประวัติกล่าวว่า...เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ในพระนครสาวัตถี "อสุรินทราหู" อสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณ ปรารถนาจะไปเฝ้าเพื่อฟังธรรมบ้าง แต่คิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ มีพระวรกายเล็ก ถ้าไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองซึ่งเป็นความยากลำบาก ทั้งตัวเองก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร จึงระงับความคิดดังกล่าวเสีย แต่ในที่สุดก็คิดว่าถึงอย่างไรก็ต้องไปเฝ้าสักครั้ง พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณ จึงให้พระอานนท์จัดที่รับรองหน้าบริเวณพระคันธกุฎีอันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ และให้ลาดที่บรรทม ณ ที่นั้น จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์นิรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่าขุนเขาเสด็จไปสีหไสยาสน์ เมื่ออสุรินทราหูมาเฝ้า แทนที่จะก้มลงมองดูพระพุทธองค์ กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อชมพระพุทธลักษณะอันงดงามของพระมหาบุรุษตั้งแต่พระบาทจนถึงพระพักตร์ สร้างความปลาบปลื้มปีติ จึงลดทิฏฐิมานะถวายบังคมฯ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะไปตลอดชีวิต แล้วกราบทูลลากลับไปยังพิภพของตน ... พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงข้างขวาแบบสีหไสยาสน์ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบทอดไปตามพระกาย พระกัจฉะทับบนพระเขนย อุ้งพระหัตถ์ขวาประคองพระเศียรให้ตั้งขึ้น ซึ่งโดยส่วนมากจะสร้างเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ อาทิ พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ และที่วัดขุนอินทประมูล เป็นต้น (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/51556561970048_view_resizing_images_3_.jpg) ปางที่ 4 ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ ตามพุทธประวัติกล่าวว่า...ก่อนพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งหาพระอานนท์และตรัสปลอบว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศกและตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์ และตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา ? พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางระหว่างพระนาภี ตัวอย่างเช่นที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ปางที่ 5 ปางโปรดพระสุภัททปริพาชก ตามพุทธประวัติกล่าวว่า...ขณะที่พระพุทธองค์ทรงบรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ในเมืองกุสินารา มีปริพาชกนามว่า "สุภัททะ" ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงปรารถนาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตและทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด คือ อริยมรรค มีองค์ 8 และทรงย้ำว่าตราบใดที่พุทธสาวกสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โลกนี้ก็จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ เมื่อจบธรรมเทศนาสุภัททะเกิดความเลื่อมใสทูลขออุปสมบทและบรรลุอรหันต์ในราตรีนั้น นับเป็น "พระอรหันต์ปัจฉิมสาวก" อรหันต์พุทธสาวกองค์สุดท้ายในขณะที่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพ ? พระพุทธรูปปางโปรดพระสุภัททปริพาชก อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เสมอระหว่างพระพาหา เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรม สักการะพระพุทธรูปปางโปรดพระสุภัททปริพาชก ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ปางที่ 6 ปางปัจฉิมโอวาท พุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน กล่าวว่า ... ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงโปรดสุภัททปริพาชกแล้ว ทรงตรัสประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพุทธดำรัสสั่งครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือคำว่า "อาวุโส" และ "ภันเต" อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า "คุณ" ภันเต คือ "ท่าน" พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตนหรือที่อ่อนอายุพรรษากว่าว่า "อาวุโส" หรือ "คุณ" ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษาพึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า "ภันเต" หรือ "ท่าน" แล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถามข้อสงสัยในเรื่องที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะได้ไม่เสียใจภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม ปรากฏว่าไม่มีพระรูปใดทูลถามเลย นอกจากนี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งพระสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่ง "พระศาสดา" ปกครองพระสงฆ์สืบต่อเหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่นๆ ซึ่งก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามเช่นกัน แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะนิพพานว่า พระภิกษุรูปใดอย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อพระองค์นิพพานแล้ว ศาสนาพุทธหรือคำสั่งสอนของพระองค์จักไร้พระศาสดา และตรัสบอกพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว" จากนั้นตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชา พระพุทธรูปปางปัจฉิมโอวาทนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวาแบบสีหไสยาสน์ แต่มีลักษณะพิเศษ คือ พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์ (นิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้) เสมอพระอุระ สามารถเยี่ยมชมและสักการะได้ที่วัดกระทุ่มเสือปลา อ่อนนุช กรุงเทพฯ (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65433992859390_view_resizing_images_4_.jpg) มาถึง "ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน" ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ จึงนำมาแยกเป็น 3 ปาง ดังนี้ ปางที่ 7 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 1) ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ... เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดสุภัททะเป็นพระอริยะปัจฉิมสาวกแล้ว พระอานนท์ได้ทูลถามว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะอย่างไร เพราะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า เป็นผู้ว่ายาก ติดตามพระองค์คราวเสด็จออกผนวช จึงไม่รับความคำตักเตือนของใครๆ พระพุทธองค์รับสั่งให้ลงทัณฑ์ คือ ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายพูดด้วย แล้วพระฉันนะก็จักสำนึกผิดเอง ลำดับนั้นได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "เมื่อตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว พระวินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี พระธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย" แล้วทรงประทานโอวาทครั้งสุดท้ายว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิดฯ" พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระเขนย พระบาททั้งสองซ้อนกันฯ อันเป็นพระอิริยาบถตามธรรมชาติ ขณะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ซึ่งถือว่ามีการสร้างมากที่สุด สามารถพบเห็นได้ตามวัดวาอารามทั่วไป ปางที่ 8 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 2) ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ... หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระบรมศพได้ถูกนำมาจัดแต่งให้เหมาะสม บรรทมหงายพระบาทเหยียดเสมอกัน พระหัตถ์วางทับซ้อนกันบนพระอุระ บ้างก็ว่าทับซ้อนกันบนพระนาภี พระพุทธรูปปางนี้ จึงอยู่ในพระอิริยาบถนอนหงาย พระบาทเหยียดเสมอกัน พระหัตถ์วางทับซ้อนกันบนพระอุระหรือพระนาภี โดยองค์ที่เก่าแก่ที่สุด คือ พระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยเท่าที่ทราบ ณ ปัจจุบัน มีดังนี้ - วัดพระนอน ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดเก่าแก่สมัยอู่ทอง ได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปปางไสยาสน์สลักจากหิน ลักษณะนอนหงายขนาดเท่าคนโบราณยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วิหารพระไสยาสน์ - วัดทุ่งน้อย ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย ประทับหงายพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองเหยียดประสานกันบนพระนาภี มีขนาดยาว 5.70 เมตร กว้าง 1.50 เมตร โดย หลวงพ่อมา ปทุมฺรตโน เจ้าอาวาสรูปแรก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ.2480 และได้รับการบูรณะใหม่ในเมื่อปี พ.ศ.2543 ปางที่ 9 ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 3) หรือ ปางถวายพระเพลิง ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ... เมื่อครั้งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้นำผ้าใหม่ซับด้วยสำลีห่อด้วยผ้าห้าร้อยคู่ แล้วเชิญพระบรมศพลงประดิษฐานในรางเหล็กที่ใส่น้ำมัน ปิดครอบด้วยฝารางเหล็ก นำไปตั้งบนจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ที่ทำด้วยไม้หอมล้วนๆ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เพื่อทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง เมื่อทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพปรากฏว่าเพลิงไม่ลุกไหม้ ต่อเมื่อพระมหากัสสปเถระเดินทางมาถึง และได้กราบพระบรมศพครบ 3 ครั้ง เพลิงก็ลุกติดขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธรูปปางนี้ แสดงอิริยาบถประทับนอนหงาย พระบาทเหยียดขนาบกันทั้งสองข้าง พระหัตถ์วางทาบขนาบพระวรกาย มีพระมหากัสสปะถวายบังคมอยู่เบื้องพระบาท เท่าที่พบในประเทศไทยน่าจะมีอยู่องค์เดียว คือที่ วิหารเล็ก วัดราชคฤห์ กรุงเทพมหานคร วัดเก่าแก่ที่ฝังศพทหารเอกผู้กล้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คือ "พระยาพิชัยดาบหัก" ตามประวัติกล่าวไว้ว่า พระยาพิชัยดาบหักเป็นผู้สร้างพระปางนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลและไถ่บาปให้กับทหารและชาวบ้านที่ได้ฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะพิเศษที่เรียกกันว่า "พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน" หรือ "พระเจ้าเข้านิพพาน" ลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพก่อนการถวายพระเพลิง โดยที่ปลายด้านหนึ่งมีพระบาท 2 ข้างยื่นออกมา ซึ่งเท่าที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 2 วัด คือ วิหารหลวงพ่อพวง วัดท่าฬ่อ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุการสร้างมากว่า 100 ปี และวิหารแกลบ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อ.เมือง จ.พิษณุโลก พันธุ์แท้พระเครื่อง ราม วัชรประดิษฐ์ |