หัวข้อ: กำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรไทย เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 ธันวาคม 2560 11:08:34 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17927967218889_museum_old_pic_1_.jpg) กำเนิดพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑสถานถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนสยามหรือประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งราชฤดี ต่อมาทรงโปรดฯ ให้ย้ายสิ่งของจัดแสดงมาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และของแปลกประหลาดจากพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ มาจัดแสดงในหอมิวเซียม (Museum) ณ หอคองคอเดีย ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพิธีเปิดหอมิวเซียม หรือพิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๗ ถือเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานของชาติแห่งแรกในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นพิพิธภัณฑสถานของหลวงหรือทางราชการที่จัดตามหลักวิชาการสากลและเปิดให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรก จนถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากพระบรมมหาราชวังไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้าสามองค์เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้นรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอาคารหมู่พระวิมานทั้งหมด เป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ในอาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เรื่องประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา ในอาคารหมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถาน จึงมีความสำคัญในฐานะสถาบันแห่งการอนุรักษ์มรดกอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สถาบันแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานต่อการปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในมรดกศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการศึกษาและการเรียนรู้ของปวงชนชาวไทยโดยทั่วกัน ตลอดระยะเวลากว่า ๑๔๐ ปี นับตั้งแต่มิวเซียมหลวงได้ถือกำเนิดขึ้น กิจการของพิพิธภัณฑสถานก็ได้รับการพัฒนาตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพื่อดำรงไว้ซึ่งภารกิจในการดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศรวม ๔๒ แห่ง และอีกนับพันแห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีพิพิธภัณฑสถานมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ โดยมีต้นแบบพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย จากมิวเซียมหลวงและพัฒนาก้าวต่อมาสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และงานบริการวิชาการด้านพิพิธภัณฑสถานแก่สังคม จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของคนในชาติ และเปิดโอกาสให้บุคคลากรในสายงานพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนผู้ที่สนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ ได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ และประสบการณ์งานด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ |