หัวข้อ: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 13:18:09 (http://inlinethumb27.webshots.com/17562/2038304690029210395S500x500Q85.jpg) รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา (http://www.baanjomyut.com/pratripidok/panya/panya2.jpg) มองทุกข์ให้เห็น จึงเป็นสุข ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เรื่องของความสุขนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการกันทั้งนั้น ไม่มีใครเลยต้องการความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจ แต่ว่าโดยธรรมะชั้นสูงของพระพุทธศาสนานี่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้ว่าในโลกนี้ไม่มีความสุข มันมีแต่ความทุกทั้งนั้น ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกเท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่ พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความทุกข์ สอนเหตุให้เกิดทุกข์ สอนเรื่องทุกข์เป็นเรื่องที่ดับได้ แล้วก็สอนวิธีว่า จะดับทุกข์ได้อย่างไร อันนี้เป็นสัจจะ เป็นความจริงที่มีอยู่ในโลก ความสุขนั้นหามีไม่ มีแต่ความทุกข์ แต่เราก็เรียกว่ามีความสุขที่เรียกว่ามีความสุขก็เพราะว่า ทุกข์มันลดน้อยลงไป สมมติว่าเป็นตัวเลขว่า ทุกข์มัน 100 ถ้าลดลงไปอีก 5 เราก็เรียกว่าเป็นความสุขแล้ว เป็นความสุขเพียง 5 เท่านั้นเอง แต่ว่าอีก95 นั้นยังเป็นความทุกข์อยู่ หรือถ้าลดลงไปอีกสัก 10 เราก็มีทุกข์อยู่อีกตั้ง 90 ลดลงไปอีก 95 ก็ยังมีทุกข์อยู่อีกตั้ง 5 มันก็ยังมีทุกข์อยู่นั่นเองมันเป็นอย่างนี้ โลกนี้มีแต่ความทุกข์ ถ้าทุกข์ลดลงไปหน่อย ก็เรียกว่า เป็นความสุขเท่านั้นเอง แต่ว่าท่านก็ไม่เรียกว่าเป็นความสุขอีกแหละ ท่านเรียกว่านั่นคือที่สุดของความทุกข์ ใช้คำบาลีว่า "อันโต ทุกขัสสะ" แปลว่า นั่นเป็นที่สุดของความทุกข์ คือว่าทุกข์มันจบเพียงเท่านั้น หมดทุกข์ก็ถึงนิพพาน นิพพานก็คือการดับทุกข์ได้ ตราบใดที่ยังมีชีวิตถ้าจิตยังไม่ถึงปัญญา เราก็ยังจะต้องมีความทุกข์ที่จะต้องทนต่อไป ทนเรื่อยไป จนกว่าเราจะมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วเราก็ไม่ต้องทนทุกข์อีกต่อไป จิตของเราไปถึงจุดหมาย คือที่สุดของความทุกข์...... (http://photos1.hi5.com/0094/066/684/c9NSdl066684-02.jpg) หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 13:25:58 ทุกข์ซ้อนทุกข์ คำว่า " ทุกข์ " นี่แปลว่า ทนได้ หรือ น่าเกลียด เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ มันเป็นไปตามสภาพอย่างนั้น ต้นไม้ก็เป็นทุกข์ตามสภาพของต้นไม้ สัตว์ก็เป็นทุกข์ตามสภาพของสัตว์ เก้าอี้มันก็เป็นทุกข์ตามสภาพของของเก้าอี้ มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าคนเรามีจิตที่จะยึดจะถืออะไรได้เลยเข้าไปจับไปถือเอาไว้ เพิ่มทุกข์ขึ้นมาอีกที่หนึ่ง เพราะสิ่งนั้นไม่เหมือนใจเรา มันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เราไม่ต้องการไห้แก่ มันก็แก่ ไม่ต้องการให้เจ็บ มันก็เจ็บ ไม่ให้ตาย มันก็ตาย ไม่ให้หาย มันก็หาย อยากให้มันอยู่อย่างนั้น อยู่อย่างนี้ อยู่ๆมันก็เสียไป มันก็แตกไป หายไป นี่เกิดความทุกข์ เพราะเราไปคิดว่าของนั้นเป็นของเรา ของกูนะ เกิดตัวกู ของกูขึ้นมา ก็เลยเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นมา เดิมมันก็เป็นทุกข์อยู่ตามสภาพอย่างหนึ่งแล้ว ไปยึดถือเข้าอีก เป็นสองทุกข์ สามทุกข์ สี่ทุกข์....ทุกข์เรื่อยไปไม่สิ้นสุด..... หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 13:49:06 ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย แดดออกก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ไปกับแดด ฝนตก อ้าว....ก็เป็นทุกข์อีกละ เวลาแดดออกก็บ่นว่า "ร้อน" พอฝนตกก็ว่า " อ๊ะ..ทำไมตกมากหนักหนา เปียกแฉะไปหมดแล้ว "มนุษย์นี่....เอาใจยาก ประเดี๋ยวยังงั้นประเดี๋ยวยั้งงี้ ร้อนไปก็ไม่ดี เย็นไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ข้าวเปียกไปก็ไม่ดี ข้าวสวยไปก็ไม่ดี ไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง กับข้าวก็ "เอ๊อะ!...เค็มไป" ถ้าไม่เค็มก็ "เอ๊ะ!..ทำไมไม่ใส่เกลือ" พอเข้าใส่เกลือมากก็ "เอ๊อ !...ใส่เกลือเท่าไร" นิดหน่อย "เออ!....นั่นแหละถึงไม่เค็ม" ถ้าเขาบอกว่าใส่มากแล้ว "เออ...นั่นถึงเค็มไป" อ้าว....ไม่ได้ดังใจสักอย่างเดียว...... ท่านเจ้าคุณอุบาลี ท่านเทศน์ดี ว่าอะไรๆในโลกนี้ไม่ได้ดังใจ มีได้อยู่ในใจอย่างเดียวคือม้ากาบกล้วย พวกเราอยู่ในกรุงอาจไม่รู้จักม้ากาบกล้วย กาบกล้วยหรือกาบหมากก็ใช้ได้ ทางกล้วยนะ เอามาตัดใบออกเสียมันมีก้านแข็งๆ วิ่งได้ดังใจ เลี้ยวซ้ายก็ได้ เลี้ยวขวาก็ได้ หยุด!...!ก็ได้ ท่านพูดขำดี "มันได้ดังใจอย่างเดียว คือม้ากาบกล้วยนั่นเอง นอกนั้นมันไม่ได้ดังใจ เราจะไปบังคับอะไรให้เหมือนใจเราไม่ได้ แต่ต้องมีปัญญามองสิ่งนั้นให้รู้ว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างไรให้รู้ให้เห็นตามธรรมชาติธรรมดาที่มันเป็นอยู่จริงๆ ใจเราก็จะไม่เป็นทุกข์..... หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 13:52:00 วันนี้เจ้าอยู่กับฉัน พรุ่งนี้มันไม่แน่ "ผู้ไม่รู้" คือไม่เข้าใจหลักแห่งความจริงของสิ่งทั้งหลายเมื่อไม่เข้าความเป็นจริง เวลาสิ่งนั้นมันเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์ไม่สบายอกไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องเช่นนั้นมันต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น เช่นเรื่องความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เรามีวัสดุมีสิ่งของอะไรเราก็พออกพอใจในสิ่งนั้น เวลาสิ่งนั้นสูญหายไป เราก็ไม่สบายใจ ความจริง "ความไม่จริง" มันเป็นของเดิม "ความมี" น่ะมันมาที่หลัง เราไม่ได้นึกว่า "ความไม่มี" มันของเดิมแต่ไปนึกถึง "ความมี" ตลอดเวลา สมมติว่าในบ้านเรา เมื่อก่อนมันไม่อะไร แล้วเราก็ไปซื้อหามาใส่ ให้มันรกบ้าน เอาโต๊ะตัวนั้นมาวางตรงนั้น ไอ้นั้นมาวางตรงนี้....วางให้เต็มไปหมดเลย มีของอะไรเป็นเครื่องประดับประดาตามสมัยนิยม ชาวบ้านเขานิยมอะไร ก็เอามาประดับประดาไว้ เอามาอวดไว้ในบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมาก็มองไป เออ....ยังอยู่ มองไอ้นั่นก็ยังอยู่ มองไอ้นี่ก็ยังอยู่ สบายใจ ดูแล้วมันสบายใจ แต่ไม่ได้คิดว่า วันหนึ่งมันอาจจะเคลื่อนที่ไปก็ได้ เพราะมีคนประเภทหนึ่ง ที่มีฤทธิ์มีเดช มาเคลื่อนที่ไป กลางค่ำกลางคืนเราเผลอๆมันก็มาเคลื่อนเอาไปเสีย อาจจะถึงวันนั้นเข้าสักวันหนึ่งก็ได้ เมื่อเราไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่ามันจะเป็นอย่างนั้น พอมันเป็นขึ้นมาจริงๆตื่นเช้าขึ้นใจหาย หายใจเกือบไม่ออก นี่เพราะไม่ได้เตรียมตัวเอาก่อน พอเจอแล้วมือตบอก โอ๊! ตายแล้วตายแล้ว!!ตายแล้ว! ดูตรงนั้น มันเอาหมด หายไปหมดแล้ว ไม่ได้คิดไว้ก่อน เรียกว่า ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะจากไป ความจริงเขียนติดไว้ที่ของบ้างก็ได้ "วันนี้เจ้าอยู่กับฉัน พรุ่งนี้มันไม่แน่" เขียนติดไว้ที่แจกันสวยๆที่ตู้ ที่วิทยุที่โทรทัศน์ อะไรต่างๆ เขียนตัวพออ่านได้ มองเห็นแต่ไกล "วันนี้เจ้าอยู่กับฉัน พรุ่งนี้มันไม่แน่" เขียนไว้อย่างนั้น ทีนี้ถ้าวันไหนมันเกิดหายไป ใครมายกไปเราก็พูดว่า เหมือนที่นึกไว้ไม่ผิด หรือพูดว่า " กูว่าแล้ว ว่ามันจะหายไปสักวันหนึ่ง แล้วมันก็หายจริงๆ" อย่างนี้แล้วก็สบายใจเรียกว่ายิ้มออกทันที ยิ้มออกเพราะอะไร เพราะเรารู้ เราเตรียมตัวไว้ต้อนรับสถานการณ์ ว่ามันต้องหายไปสักวันหนึ่ง เรานึกไว้อย่างนั้น ถ้านึกไว้อย่างนั้นแล้วก็สบายใจ.... หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 14:04:53 มันเป็นเช่นนั้นเอง ชาวพุทธเราควรจะอยู่ด้วยความไม่เป็นทุกข์ในอะไรๆที่เกิดขึ้น ให้ทำใจให้เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง หรือว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเราเราก็จะไม่เป็นทุกข์ในเรื่องนั้น เราจะใช่สติปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาแล้วรู้จะปลง รู้จักวางในสิ่งนั้นๆ ไม่เข้าไปยึดถือ ด้วยความโง่ ความเขลา เพราะถ้าเราเข้าไปยึดไปถือด้วยความโง่ความเขลา เราก็เป็นทุกข์ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรแม้แต่น้อยที่นั่งเป็นทุกข์แต่เป็นการลงโทษตัวเอง ลงโทษสุขภาพจิต สุขภาพกาย ทำให้จิตเสื่อม ทำให้ร่างกายทรุดโทรม แก่เร็ว แล้วก็ตายเร็วด้วย เพราะว่ามีความทุกข์มาก มีความกลุ้มใจมาก ตัดทอนสุขภาพทั้งกายทั้งใจ ไม่เป็นเรื่องดีแม้แต่น้อย ความทุกข์เป็นเหมือนน้ำร้อน เราคิดให้มันเป็นทุกข์ก็เหมือนเอาน้ำร้อนมารดตัว ตั้งแต่หัวถึงตีน ถลอกปอกเปิกเป็นคนดำๆด่างๆไป มันจะได้เรื่องอะไร เราไม่ควรจะคิดเช่นนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าให้พยายามคิดว่า "ดีแล้ว" "พอแล้ว" หรือ "เท่านี้ก็ดีถมไปแล้ว" อย่างนี้ใจก็สบายเช่น คนทำมาค้าขาย เป็นนักธุรกิจต่างๆ อยู่ตลอดเวลา บางคราวมันก็ได้กำไร บางคราวมันก็ขาดทุน บางคราวก็พอเสมอตัว ถ้าหากว่าจิตใจของเราตื่นเต้นกับสิ่งเท่านั้น พอได้ก็ดีใจ เกิดใจฟูขึ้น พอไม่ได้ก็แฟบลงไป ขึ้นแล้วก็ลง ขึ้นแล้วก็ลงอยู่อย่างนี้ เหมือนกับวานรมันเต้นอยู่ในกรงของมัน ดิ้นรนอยู่ แต่ออกไม่ได้ มันเป็นสุขที่ตรงไหนในการที่จิตของเราเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นความสุขอะไรเลย เราจึงควรทำความพอใจในสิ่งทีมันเกิดขึ้น นึกว่า " ธรรมดา...มันเป็นเช่นนั้นเอง " คำนี้สำคัญมาก เรียกว่าเป็นคาถาวิเศษสำหรับเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน คือคำว่า "ตถาตา" แปลว่า " มันเป็นเช่นนั้นเอง " อะไรๆมันก็เป็นอย่างแหละ เราจะไปบังคับมันก็ไม่ได้ จะไปฝืนมันก็ไม่ได้ มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา เราจึงควรจะคิดว่า "เออ! ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น" เรานึกอย่างนี้ก็พอปลง พอวาง สภาพจิตก็พอจะรู้เท่ารู้ทันในสิ่งนั้นๆ ความทุกข์ก็จะเบาไป คือไม่หนักอึ้ง เพราะรู้จักวาง รู้จักพักผ่อน ทางใจ ใจก็สบาย........ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 14:14:18 ศีลธรรมและสัจจธรรม วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2513 ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา ในวันอาทิตย์ที่แล้วมา ได้อัดเทปปาฐกถาไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง เพราะมีกิจธุระไปข้างนอก อาทิตย์ต่อๆ ไปนี้ ไม่มีธุระอะไรจะไปข้างนอก ญาติโยมก็มาฟังได้โดยตรงจากปากไม่ต้องฟังจากเทปอัดเสียง เรื่องที่พูดไป 2 อาทิตย์ก่อนนั้น เป็นการพูดที่แนะแนวทางชั้นรากฐาน อันเป็นข้อปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น สำหรับเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ให้เกิดความเข้าใจ เมื่อเราเข้ามาเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร มีความคิดอย่างไร ตามทัศนะของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะว่าเรายอมเป็นศิษย์ของท่านผู้ใด เราก็ควรจะได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านผู้นั้น เมื่อเราสมัครจะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราก็ปฏิบัติตนตามคำสอนของพระองค์อย่างแน่วแน่ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จึงควรรู้ไว้เป็นเบื้องต้นว่า การปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เราควรจะมีความเชื่ออย่างไร มีความคิดอย่างไร มีการกระทำในรูปใด จึงจะเรียกว่าถูกตรงตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนาซึ่งหวังว่าญาติโยมทั้งหลายที่ได้ฟังแล้ว คงจะนำไปคิดพิจารณาด้วยปัญญาเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนถูกต้องและแก้ไขความคิดเห็น การปฏิบัติให้ดีงามถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าใกล้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากยิ่งขึ้น การที่เราปฏิบัติตามหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวแล้ว ความจริงก็เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย ไม่ลำบากยากเข็ญอะไรมากนัก เพียงแต่มีความเชื่อว่า การกระทำของเราเอง จะช่วยสร้างชีวิตของเราเอง แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติตามแนวทางนั้น เป็นเรื่อที่ลำบาก บางทีต้องมีการลงทุน ต้องแสวงหา ต้องรอเวลาเพื่อให้เหมาะกับเวลาที่ต้องการ ถ้าไม่เหมาะแก่ เวลาก็ทำไม่ได้ การปฏิบัติธรรมะในทางพระพุทธศาสนานูน เรียกว่าเป็นอกาลิก คือ ไม่จำกัดเวลา ไม่ถือว่าควรจะปฏิบัติเวลานั้น เวลานี้ เวลานั้นดี เวลานี้ชั่ว อะไรอย่างนี้ไม่มี แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า... การปฏิบัติตามธรรมะที่เราตถาคตบอกแล้ว กล่าวแล้วนั้น เมื่อไรก็ได้ จะเป็นตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น เราก็ทำได้ทั้งนั้น ใสสถานที่ใดๆ ก็ทำได้ มีอย่างเดียวที่จะต้องเลือกเฟ้นก็คือว่า จัดธรรมะให้ถูกแก่เหตุการณ์ แก่บุคคล แก่สถานที่ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง... ฉะนั้นหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสธรรมะไว้เป็นเรื่องๆ ไป เพื่อให้หยิบไปใช้ได้เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมือนยาสำหรับแก้โรค เราปรุงไว้เป็นขนานๆ เป็นยาสำเร็จรูป ใส่ขวดไว้เรียบร้อย ปิดฉลากบอกไว้ด้วยว่า เป็นยาแก้ปวดท้อง ปวดหัว ปวดฟัน หรือเป็นทาภายนอก เวลาเราจะกินยานั้นๆ ก็ต้องอ่านให้เข้าใจก่อนว่าเราจะกินยาอะไร เราเป็นโรคอะไร กินเวลาไหน จำนวนเท่าไร ถ้ากินให้ถูกตรงตามที่หมอแนะนำไว้ ยานั้นก็สามารถรักษาโรคให้หายไปจากร่างกายของเราได้ฉันใด ในเรื่องของธรรมะที่เรานำมาปฏิบัตินี้ก็เช่นเดียวกัน พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมะไว้มากมาย หลายเรื่อง หลายประการ เพื่อให้เหมาะแก่โรคของคนอันจะแก้ไขได้นั่นเอง ทีนี้โรคของเรานั้น มีโรคทางภายนอก คือ โรคร่างกาย เรียกว่า โรคฝ่ายกาย อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า โรคฝ่ายจิต โรคฝ่ายกายนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ เกิดจากเชื้อโรคที่เช้ามาเกาะจับในร่างกาย ทำให้ร่างกายเราไม่สบายผิดปกติไป การรักษาโรคฝ่ายกายนั้น ก็ต้องใช้วัตถุเป็นเครื่องรักษา เช่นเรามียาประเภทต่างๆ ซึ่งทางฝ่ายแพทย์เจริญมากในเรื่องอย่างนี้ ได้จัดยาไว้ให้เหมาะแก่โรค ถ้าเราไปหาหมอให้ตรวจทันท่วงที หมอให้ยาเหมาะแก่โรค ก็หายไวไม่เปลืองเวลา ไม่เสียเงินไปโดยใช่เหตุ รักษาไม่ยากอะไรนัก หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 14:16:35 โรคทางฝ่ายจิตหรือวิญญาณ เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายใน ไม่อาศัยอะไรที่เป็นเชื้อข้างนอกมากนัก อาศัยบ้างก็เพียงแต่สิ่งที่มากระทบ เช่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบทางประสาทห้าของเรา แล้วก็เกิดทำให้มีอาการทางจิตใจขึ้น เรียกว่า โรคทางใจ โรคทางใจนั้นเป็นจำพวกกิเลส ซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตของเราเปลี่ยนสภาพจากหน้าตาดั้งเดิมไปเป็นอีกรูปหนึ่ง เช่น เปลี่ยนไปเป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง เป็นความริษยา อาฆาต พยาบาทจองเวร มีประการต่างๆ ในขณะใดที่ใจเรามีโรคเกิดขึ้น มันก็เปลี่ยนสภาพไปตามอำนาจของโรคนั้น เช่น โลภะ เกิดขึ้นก็มีความอยากได้ไม่รู้จักพอในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีสิทธิจะพึงมีพึงได้ โทสะเกิดขึ้นก็มีความเร่าร้อน คิดแต่ในเรื่องที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น ทำให้คนอื่น ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ โมหะ เกิดขึ้นในใจ ก็ทำให้มืดมัวหลงไหล ไม่เข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น เป็นเหตุให้หลงผิดไปโดยประการต่างๆ ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน พยาบาทเกิดขึ้น ก็เป็นไปในทางมุ่งร้าย จองล้างจองผลาญบุคคลอื่น ริษยา เกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้ไม่ยินดี ไม่มีความสุขความสบายใจ ในเมื่อเห็นคนที่เราไม่ชอบใจมีความสุข มีความเจริญ มีความก้าวหน้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่ชอบใจในความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น อาการเช่นนี้เรียกว่าเป็นโรคริษยา โรคริษยานี้ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ทำให้บุคคลนั้นเร่าร้อนกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขไม่มีความสงบ ความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในใจของคนเรานั้นเกิดจากโรคทางใจ โรคทางใจนี้เป็นโรคร้ายทำลายสังคม ทำให้มนุษย์อยู่ในความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราจะต้องรักษาโรคชนิดนี้ อันการรักษาโรคชนิดนั้น เราจะไปหาหมอตามธรรมดาก็ไม่ได้ เพราะว่าหมอตามธรรมดาทั่งไปนั้น มีหน้าที่เยียวยาโรคทางกาย ไม่มีหน้าที่เยียวยาโรคทางจิตใจ บางทีหมอเองก็อาจจะเป็นโรคทางด้านจิตใจนั้นได้เหมือนกัน จึงเป็นที่พึ่งในเรื่องนี้ยังไม่ได้ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 14:19:28 เราจะรักษาโรคทางใจของเราได้นั้น ต้องอาศัยยา คือ ธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา เวลาเรารู้สึกตัวว่าเรามีโรคทางใจเกิดขึ้น เราก็ไปหาหมอประเภทที่มีความรู้ทางธรรมะ เล่าเรื่องให้ท่านฟังว่าเราไม่สบาย มีความครุ่นคิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในใจ มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนกระวนกระวายต่างๆ ควรจะรักษาอย่างไร ทีนี้เมื่อเราไปหาเช่นนั้นท่านก็คงจะบอกวิธีการให้ว่า ควรจะรักษาอย่างนั้น รักษาอย่างนี้ เราก็นำเอายาซึ่งได้รับแล้วนั้นมารักษา การรักษาโรคในทางด้านจิตใจนี้สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วย ไม่ใช่สำคัญอยู่ที่ผู้ให้ยา เพราะว่าผู้ให้ยานั้น ทำหน้าที่เพียงแต่ผู้ชี้ทางให้เท่านั้นเอง การเดินทางเป็นหน้าที่ของเราผู้ป่วยทุกคน จะต้องเดินไปไม่ชักช้าให้เสียเวลาเมื่อรู้จักตัวยาแล้วก็รีบเดินไปในทางนั้น คือลงมือปฏิบัตินั่นเอง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย พระองค์ก็ได้ตรัสบอกกับลูกศิษย์ของพระองค์ว่า... ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้ ส่วนการเดินทางเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย จะต้องเดินด้วยตัวเธอเอง... อันนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะจำใส่ใจ การปฏิบัติตนนั้น เป็นเรื่องที่ตนจะต้องรีบเร่งปฏิบัติทันทีไม่ชักช้า ก็เข้ากับหลักที่ว่า ตน เป็นที่พึ่งของตน หมายความว่าเราเองต้องพึ่งตัวเองในเรื่องการปฏิบัติ เพื่อจะให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าหากว่าไม่พึ่งตัวเอง คอยให้คนอื่นช่วยด้วยวิธีการต่างๆ ย่อมไม่สำเร็จได้ตามความปรารถนา เราจึงช่วยตัวเองการลงมือปฏิบัติตามแนวทางนั้นๆ ที่เราได้รับรู้รับการาศึกษามาอันผลที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น ไม่ต้องให้ใครบอก เรารู้ได้เอง เหมือนกับเรารับประทานอาหาร เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร เราผู้รับประทานย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องให้ใครอธิบาย ถึงแม้จะมีใครอธิบายให้ฟัง เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจชัดเจน เพราะยังไม่ได้รับประทานแต่เมื่อรับประทานเข้าไปก็รู้ทันทีว่า เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร ข้อนี้ฉันใด ในเรื่องการปฏิบัติตามธรรมะในทางศาสนา ก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อเราลงมือปฏิบัติ เราก็ซาบซึ้งในเรื่องนั้นได้ทันที เช่นจิตสงบขึ้น มีความสบายขึ้น ความร้อนต่างๆ หายไป อันนี้เป็นหลักควรจะเข้าใจไว้ว่า การปฏิบัตินั้นเรารู้ได้ด้วยตัวของเราเองของเราเอง ประการหนึ่ง หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 14:28:05 ทีนี้อีกประการหนึ่ง ในเรื่องการทำกิจในทางศาสนาจะเป็นการ ให้ทาน รักษาศีล หรือทำอะไรก็ตาม ญาติโยมบางคนก็เข้าใจผิด คือเข้าใจผิดว่าทำไว้เมื่อหน้า ไปเอาผลกันข้างหน้า อันนี้ยังไม่ตรงแท้ตามหลักความเป็นจริง คือว่าในการปฏิบัติอะไรก็ตาม ข้างหน้านั้นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่า ผลอันแท้จริงถูกต้องนั้น คือผลที่เราได้รับทันทีในปัจจุบันนี้ เมื่อเราปฏิบัติเราก็ได้ผลทันที ไม่ต้องรอไปเอากันเมื่อนั้นเมื่อโน้น ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจว่าทำไว้เผื่อข้างหน้า อันนี้ยังไม่ตรงตามความหมาย ต้องเข้าใจกันเสียใหม่ว่า ทำทันทีได้ทันที ทำดีก็ได้ดีทันที ทำชั่วก็ได้ชั่วทันที ทำเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เกิดทุกข์ทันทีเหมือนกันได้ในขณะนั้น ผลที่ได้นั้นได้ที่ตรงไหน ก็ได้อยู่ที่ใจของเรา ใจเรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สมมติว่าเราคิดดี เราก็ได้ผลคือใจสบาย ถ้าเราทำดี เราก็สบายใจ ถ้าเราคิดชั่ว เราร้อนใจ ถ้าเราทำชั่วเราก็มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ อันนี้ได้แล้ว ได้ผลอยู่ในปัจจุบันทันตา ซึ่งทุกคนทำ ทุกคนก็ได้ทุกคนก็เห็น ส่วนผลอันจะมาข้างหน้านั้นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าอาจจะช้า จะเร็ว เป็นผลของทางวัตถุไป ไม่ใช่เป็นเรื่องของทางนามธรรมที่เกิดขึ้นในใจของเรา ผลที่เกิดในใจนั้น ทำทันทีได้ทันที ทำเดี๋ยวนั้นได้เดี๋ยวนั้น ขอให้เข้าใจอย่างนี้ไว้ ฉะนั้นเมื่อเราจะทำอะไร เราก็จะได้รู้ว่าทำเพื่ออะไร และเราจะได้อะไร เมื่อทำแล้ว เราก็สังเกตตัวเราว่า มีความรู้สึกอย่างไรเกิดขึ้นในใจ ความรู้สึกนั้นเยือกเย็นหรือเร่าร้อน ความรู้สึกนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราพิจารณาได้ด้วยตัวของเราเอง เราจะเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งในผลนั้น ทีนี้เมื่อเห็นผลแล้ว อันนี้แหละก็จะเกิดผลที่เรียกว่า ปสาท ปะสาทะ แปลว่า เลื่อมใสในการปฏิบัติ ที่เกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัติขึ้น ก็เพราะว่าเราสบายใจ เราได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น เราก็ใคร่จะทำอีกต่อๆ ไป ครั้นเมื่อทำนานๆ เข้าก็เคยชิน ถ้าความเคยชินเกิดขึ้นในจิตใจก็เป็นนิสัย นิสัยในทางดีเกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น คนดี อยู่กับพระอยู่ตลอดเวลา ไม่ผละตนออกไปอยู่กับสิ่งชั่วร้าย อันจะทำตนให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน นี่คือ ตัวผล อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ซึ่งเราทั้งหลายจะได้พบเองด้วยตัวของเราทั้งนั้น นี้ประการหนึ่ง หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 15:36:45 ทีนี้อีกประการหนึ่ง ในการที่เราจะปฏิบัติตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา ที่พระผู้มีพระภาคแสดงไว้นั้นเราควรจะเริ่มต้นที่ไหน ควรจะเริ่มต้นด้วยเรื่องอะไร อันนี้ก็เป็นข้อที่ควรจะได้เข้าใจเป็นประการแรกเหมือนกันว่า ในการปฏิบัติธรรมนี้ เราควรจะเริ่มต้นที่อะไรก่อน การเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมนั้น ก็เริ่มที่ตัวของเราเอง ข้อที่เราจะเอามาปฏิบัตินั้นมีอยู่ 2 ประการ หลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องที่เรียกว่า "ศีลธรรม" ประการหนึ่ง เรื่องที่เป็น "สัจธรรม" นั้นอีกประการหนึ่ง ศีลธรรมนั้น เป็นข้อบัญญัติที่ผู้รู้ทั้งหลายได้บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของคนหมู่มาก เพราะว่าคนเราเมื่ออยู่คนเดียวมันยุ่งน้อย แต่ถ้าอยู่ 2-3-4 คน ขึ้นไป ความยุ่งก็มากขึ้น ความยุ่งที่เกิดขึ้นในใจคนที่รวมกันเป็นหมู่นั้น เกิดจากเรื่องอะไร ก็เกิดจากเรื่องของจิตใจไม่ตรงกัน คือจิตใจที่ได้รับการปรุงแต่งไม่ตรงกัน แต่งไม่เหมือนกัน ก็เหมือนกับการแต่งกายนี่ ดูพวกเราทั้งหลายที่แต่งกายนี้ แต่งไม่เหมือนก้น คนหนึ่งอาจจะแต่งสีนั้น คนอื่นๆ อาจจะแต่งสีโน้น สีนี้ ไม่เหมือนกันสักคนเดียว เท่าที่มานั่งๆ กันอยู่ ข้อนี้ฉันใด ใจเรานี้ก็เหมือนกัน ว่ากันโดยเนื้อแท้ถ้าพูดถึงว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้น คือความบริสุทธิ์ความสะอาดมีความผ่องใสอยู่ตลอดเวลา อันนั้นเหมือนกัน ทุกคนมีสภาพเช่นเดียวกัน เป็นจิตแบบเดียวกัน จิตเดิมนี้ หน้าตาเหมือนกันทุกคน และมีสิทธิ์ทีจะไปถึงความบริสุทธิ์ได้ทุกคน แต่ว่าที่ไม่เหมือนกันนั้น ไม่ได้หมายถึงจิตดวงนั้น แต่หมายถึงจิตที่ถูกปรุงแต่งด้วยอะไรต่างๆ ที่เราพูดกันว่า นานาจิตตัง คำว่า นานาจิตตัง ไม่ใช่จิตเดิม แต่เป็นจิตที่ปรุงแล้ว แต่งแล้วด้วยอะไรๆ มากเรื่องมากประการ ได้ปรุงตั้งแต่เป็นเด็กน้อย เป็นหนุ่มเป็นสาวจนเป็นผู้ใหญ่ มั่นปรุงมันแต่งด้วยสิ่งแวดล้อม ด้วยการอบรมบ่มนิสัยของผู้หลักผู้ใหญ่ ตามทัศนะของคนเหล่านั้น บางคนก็อบรมให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องอะไรมากเรื่อง ให้เชื่อผิดในเรื่องอะไรมากเรื่อง ให้กระทำด้วยความหลงผิดอะไรต่างๆ จิตนี้มันก็แตกต่างกับจิตของคนอื่นไป มีความคิดไม่ตรงกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: sometime ที่ 01 พฤษภาคม 2553 15:56:38 (บางครั้ง)ชอบหลวงพ่อ ปัญญานันท มาก ท่านเทศนาได้ตรงดีเข้าใจง่าย มีหนังสือของท่าน ปัญญานันท เต็มบ้านเลยและก็เทปบรรยายธรรมอีกด้วยถ้าปฏิบัติแนวทางคำสอนของท่านรับรองว่าดี ฟันธง ฟันธง ท่านสอนไม่หลงติดเรื่องวัตถุ และเรื่องงมงายต่าง ๆ ซึ่งเป็นแค่กระพี้ของพระพุทธศาสนา เช่น ใบ้หวย ดูหมอ ลงเลข - ลง ยันต์ สิ่งเหล่านี้เป็นเนื้องอกของพระพุทธศาสนา วาทะของท่านปัญญานันท คือ จงใช้ชีวิตให้มีค่าสมกับที่ได้เกิดมา (http://img49.imageshack.us/img49/6030/135029.jpg) หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:02:20 คนเราถ้ามีความคิดไม่ตรงกัน เมื่อมานั่งด้วยกัน ก็มักจะเถียงกัน ทะเลาะกัน ทำอะไร ก็ทำกันไปคนละทาง คนหนึ่งมีความคิดอย่างหนึ่ง ก็ไปด้านหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ไปอีกด้านหนึ่งเลยไม่ลงรอยกัน เมื่อไม่ลงรอยกันก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ จึงต้องมีระเบียบสำหรับบังคับคนเหล่านั้น ให้มีความคิด ความเห็นในทัศนะเดียวกัน มีการกระทำในทางเดียวกัน เพื่อจะให้ไปกันได้ ไม่ใช่วิ่งเพ่นพ่านไปคนละทิศคนละทาง แต่ว่าให้มุ่งไปในทางเดียวกัน ทางนั้นก็คือทางธรรมะ ซึ่งเรียกว่าทางของ ศีลธรรม ที่ผู้รู้ทั้งหลายได้บัญญัติแต่งตั้งไว้ เราอยู่ในสังคมมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติตนตาม หลักศีลธรรม เหล่านั้น จึงจะอยู่กันด้วยความสงบ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามหลักศีลธรรม คนเราก็มีความเห็นแก่ตัว มีความเข้าข้างตัวเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ จะเอาท่าเดียว ไม่มีการให้ ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่นเวลาเรานั่งรถไปตามถนนใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง ถ้าสมมติว่าที่ตรงนั้นไม่มีไฟเขียว ไฟแดง ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนจัดระเบียบ การจราจรจะยุ่งที่สุด ขวักไขว่ที่สุด เพราะว่าคนขับรถทุกคน ทุกคันนั้นมุ่งจะไปท่าเดียว ไม่มีใครผ่อนให้ใคร ต่างคนต่างก็จะไป เมื่อไปไม่ได้ ก็ไปยันกันอยู่ที่สี่แยกนั่นแหละ เสียเวลาไปตั้งหลายนาที นี่มันเรื่องอะไร ก็เรื่องความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เรานี่เอง ไม่ได้คิดว่า เออ ให้คันนั้นไปก่อน ถ้าต่างคนต่างคิด จะให้ มันก็ไม่ติด คนโน้นก็ให้ คนนี้ก็ให้ แล้วก็ไปกันด้วยความเรียบร้อย แต่ความคิดที่จะให้ มันไม่เกิดขึ้น จึงได้มีสภาพเช่นนั้น ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนยกไม้ยกมือจัดให้คันนั้นไปก่อน คันนั้นไปทีหลัง อันนี้เราก็จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรานี่นะ ถ้าปล่อยตามเรื่องแล้วไม่ได้ มันยุ่งกันตลอดเวลา จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับที่จะไว้ใช้บังคับทางจิตใจ ให้ทุกคนถือตาม ดำเนินตามระเบียบเหล่านั้น เรียกว่าเป็น "หลักศีลธรรม" ในทางศาสนา แม้ตัวบทกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เราปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรมโบราณ อันเป็นไปเพื่อความสุขเพื่อความเจริญของสังคม เราก็ควรรวมเรียกได้ว่า เป็นหลักการทางศีลธรรมทั้งนั้น เมื่อเราเอาหลักการเหล่านั้นมาเป็นแนวปฏิบัติ มนุษย์ก็จะอยู่กันด้วยความสุข ด้วยความสงบ เพราะทุกคนปฏิบัติตามแนวนั้น แต่ถ้าเมื่อใดมนุษย์เราเกิดดื้อขึ้นมา เกิดดื้อแล้วก็เกิดจะไปท้ารบกับธรรมชาติขึ้นมา เรียกว่ารบกับธรรมะ หรือว่าไปรบกับพระผู้เป็นเจ้า เดี๋ยวนี้มนุษย์ไม่ใช่ทำสงครามระหว่างมนุษย์แล้ว แต่ว่ากำลังทำสงครามกับพระผู้เป็นเจ้า ไปท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้า การท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้านั้นทำอย่างไร ขัดขืนต่อการปฏิบัติตามธรรมะ ไม่เอาธรรมะมาเป็นหลักปฏิบัติด้วยการถือดีว่า ฉันไม่ปฏิบัติตามธรรมะฉันก็อยู่ได้ ฉันก็มีกิน ฉันก็มีใช้ ฉันจะไปยุ่งกับศีลธรรมทำไม ฉันจะกอบโกยเอาตามชอบใจของฉัน ถ้าไปถือศีลธรรมอยู่ ไม่ทันอกทันใจ อันนี้แหละเขาเรียกว่าท้ารบกับธรรมะ หรือท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเราเรียกกันโดยสมมติในรูปอย่างนั้น หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:13:16 ถ้ามนุษย์เราไปประกาศสงครามกับธรรมะอย่างนี้ โลกก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยความเร่าร้อนด้วยประการต่างๆ อย่าเป็นคนคิดในรูปเช่นนั้น แต่ควรคิดว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ เราควรหันเข้าประนีประนอมกับธรรมะ อันเป็นหลักสำหรับชีวิตดีกว่า แล้วก็หันเข้าหาธรรม เอาธรรมมาเป็นหลักปฏิบัติ พอเราเริ่มหันหน้าเข้าหาธรรมะ เราก็ได้รับแสงสว่าง ได้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีอะไรๆ เกิดขึ้นในใจหลายสิ่งหลายประการ ความยับยั้งชั่งใจ ความอดทน การบังคับตัวเอง ความเป็นคนมีน้ำใจหนักแน่น ความเสียสละ ความละอายในการ ที่จะกระทำในสิ่งไม่ดีไม่งามย่อมเกิดขึ้นในใจของบุคคลผู้นั้นๆ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในใจแล้ว มันก็เป็นเช่นบังเหียนที่เราใช้บังคับม้า ทำให้ม้าวิ่งตรงทาง มนุษย์เราก็เป็นเช่นเดียวกัน พอมีธรรมะเป็นบังเหียนเราก็วิ่งตรงทาง เดินตรงทาง ทำอะไรก็ตรงทาง ชีวิตก็เรียบร้อย ต่างคนต่างเดินตามเส้นของตน ไม่ข้ามเส้น ไม่ขวางทางกัน อันนี้จะสะดวกสบายหรือไม่ ญาติโยมทั้งหลายพิจารณาแล้วก็จะมองเห็นด้วยตนเองว่า เป็นความสะดวกสบายในรูปดังกล่าว ก็ควรจะได้หันเข้าหาหลักศีลธรรมนั้นๆ เช่นเราถือเป็นนิสัย ถือ ธรรม คู่กับ ศีล ไว้เป็นนิสัยประจำใจ สมาชิกในครอบครัวของเรา ก็ควรปฏิบัติตนเช่นนั้นทุกถ้วนหน้า การอยู่ร่วมกันก็จะสงบเรียบร้อย ให้สังเกตดูครอบครัวบองอริยบุคคลในสมัยก่อน ดังปรากฏอยู่ในตำนานต่างๆ เช่น ครอบครัวของที่านอนาถบิณฑิกเศษฐี ซึ่งเป็นเศรษฐีตัวอย่างในครั้งพุทธกาล การที่ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่า "อนาถะบิณฑิกะ" ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็ว่า "หม้อข้าวของคนยากจน" นั้นเป็นชื่อที่เขาตั้งให้ เดิมท่านไม่ได้ชื่ออย่างนั้น แต่ชื่อว่า "สุทัตตะ" อันเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ แต่ว่าต่อมาเมื่อได้มาเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าได้ถือศีลถือธรรมเคร่งครัด ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรัพย์สมบัติที่ท่านมีอยู่นั้น เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคม ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือมนุษย์ที่ลำบากยากจน ใครต้องการเสื้อผ้า ต้องการอาหาร ต้องการยานพาหนะ ต้องการวัวควาย ไปพึ่งพาอาศัย ก็ได้ ไม่เคยปฏิเสธต่อบุคคลที่มาขอ ชาวบ้านในถิ่นนั้นจึงได้ใส่ชื่อให้ใหม่ ถ้าพูดสมัยใหม่ก็ว่าเป็น นิคเนม ของท่านผู้นั้นว่า "อนาถะบิณฑิกะ" แปลเป็นไทยว่าหม้อข้าวคนยากจน ใครที่ลำบากยากจนเดินเข้าไปสู่บ้านนั้นต้องอิ่มท้อง ถ้าไม่มีเสื้อผ้าก็ต้องได้มา ต้องการสิ่งใดก็ได้ ในครอบครัวนี้ ถ้าเราศึกษาดูตามตำนานแล้ว จะพบว่ามีการประพฤติธรรมเคร่งครัด พ่อบ้านคือท่านเศรษฐีก็ประพฤติธรรม แม่บ้านของท่านก็ประพฤติธรรม ท่านมีลูกสาว 3 คน ก็เป็นคนเคร่งครัด ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ช่วยเหลือบิดาในการปฏิบัติงาน ให้ทานรักษาศีล สนใจในการฟังธรรม ประตูเปิดกว้างสำหรับพระภิกษุที่เข้ามารับอาหารบิณบาต พระทั้งหลายจึงคุ้นเคยกับท่านผู้นี้เป็นอย่างดี มีการประพฤติชอบ ถ้าถึงวันอุโบสถศีล ทั้งบ้านต้องถืออุโบสถ ไม่มีการหุงหาอาหารรับประทานมื้อเย็น กินอาหารเพียงเช้าชั่วเพล พ้นจากนั้นแล้วโรงครัวปิดเงียบไม่มีการรับประทานอาหารกันเลยทั้งบ้าน อันนี้เป็นการปฏิบัติดีอยู่ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:16:34 แล้วก็ท่านมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ก็เหมือนกับลูกชายของครอบครัวทั่วไปนั่นแหละ เกเรหน่อย เพราะว่าพ่อเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ ไม่ชอบวัดฟังธรรม เวลาพระมาก็แอบไปที่อื่นเสีย ไม่อยู่ต้อนรับ ไม่อยู่เลี้ยงพระอะไรทั้งนั้น ท่านเศรษฐีมองดูลูกชายแล้วก็เห็นว่า มันผ่าเหล่าผ่ากออยู่หน่อย มันผิดประหลาดอยู่เจ้าลูกชายคนนี้ จะทำอย่างไรดีให้ลูกชายไปวัดเสียบ้าง ได้ฟังธรรมเสียบ้าง ท่านคิดว่าเด็กๆ มันชอบเงินชอบทอง เลยเรียกลูกมาบอกว่า ลูก ขอให้ลูกไปที่วัด ถ้าไปวัดแล้วไปพักอยู่ที่วัด 1-2 ชั่วโมง กลับมาพ่อจะให้เงิน เจ้าหนุ่มนั่นก็อยากได้เงิน เอาไปเที่ยวไปเตร่ ก็เลยไปที่วัด แต่ว่าไปนอนหรอก ไม่ได้ไปทำอะไร ไปนอนเสียชั่วโมงสบาย เสร็จแล้วกลับมา พ่อให้รางวัล ทำอย่างนั้นหลายครั้งหลายหน ทีนี้พ่อเขยิบเลื่อนชั้นลูกชายขึ้นอีกหน่อย บอกว่าไปนอนน่ะมันไม่ได้อะไร ต่อไปนี้ขอให้ไปฟังธรรมด้วย ถ้าพระแสดงธรรมแล้วก็ให้ไปนั่งฟังกับเขาด้วยก็แล้วกัน เขาก็ไปนั่งฟัง แต่ว่าใจไม่ได้อยู่เสียงพระ ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เวลากลับมาพ่อลองสัมภาษณ์ดูว่าไปฟังเทศน์ได้อะไรบ้าง ไม่ได้เรื่อง เพราะว่าไม่ได้ตั้งจะฟัง พ่อก็ให้รางวัลในฐานะที่ได้ไปฟังแล้ว ต่อมาก็เลื่อนชั้นขึ้นไปอีก คือบอกว่า ทีนี้น่ะ ไปฟังแล้วจำเรื่องให้ได้ นำมาเล่าให้พ่อฟัง แล้วพ่อจะให้รางวัลขึ้นไปกว่านี้อีก เจ้าลูกชายก็ชักกระหยิ่มอิ่มใจ เพราะได้รางวัลมากขึ้นมาเป็นลำดับ วันนั้นก็เลยไปตั้งใจฟัง เมื่อตั้งใจฟังเข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เทศน์ให้ฟัง ฟังแล้วเกิดจับจิตจับใจ ได้ความรู้ได้ความเข้าใจ บรรลุธรรมเป็น โสดาบันบุคคลเหมือนกัน พอได้โสดาบันบุคคลแล้ว วันนั้นไม่กลับบ้าน นอนวัดเสียเลย นอนทั้งคืน รุ่งขึ้นเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไปบิณทบาตในบ้านของท่านเศรษฐี เจ้าลูกชายเศรษฐีนั้นตื่นเช้าเหมือนกัน จัดแจงแต่งตัวเรียบร้อย รับอาสาอุ้มบาตรตามหลังพระพุทธเจ้าเลย ไปบ้านพ่อ เวลาเดินไปเขานึกอยู่ในใจว่า "อย่าให้พ่อเอ่ยเรื่องเงินเรื่องทองรางวัลเลย" นึกในใจอย่างนั้น บอกว่าอย่าให้เอ่ยถึงเรื่องนั้น ถ้าไม่เอ่ยแล้วก็จะดี รู้สึกว่าน่าละอายที่ได้รับการจ้างให้มาฟังธรรมนี่น่ะ ละอายใจ กลัวพระพุทธเจ้าจะทรงทราบ แต่ความจริงพระองค์ทราบมานานแล้ว ไม่ต้องบอกก็รู้ได้ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:21:14 แต่ท่านเศรษฐีก็เข้าใจจิตวิทยาเหมือนกัน พอเห็นลูกชายอุ้มบาตรตามหลังมา ไม่พูดอะไรสักคำเดียวในเรื่องเงินรางวัลอะไรต่ออะไร ดีอกดีใจ ยิ้มด้วยนิดหน่อย เสร็จแล้วลูกชายเข้าไปเอาบาตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งปฏิบัติวัตรฐาก เอาน้ำถวาย จัดของถวาย จนพระพุทธเจ้าฉันเสร็จ พระฉันเสร็จอนุโมทนา เขาก็นั่งฟังอยู่ด้วยความเรียบร้อย พระองค์เสด็จลุกขึ้น เขาก็อุ้มบาตรไปส่งถึงประตูบ้าน แล้วพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับสำนักที่อยู่ เขากลับเข้าบ้าน พ่อก็บอกว่า อือ วันนี้พ่อสบายใจเหลือเกิน ตั้งแต่ลูกเกิดมา พ่อไม่เคยสบายใจเท่าวันนี้ วันนี้เป็นวันที่พ่อมีความสุข เพราะลูกของพ่อได้เข้าถึงพระเดินตามพระ มีพระประจำจิตใจ อันเป็นความสุขที่พ่อบอกไม่ถูก อันนี้เศรษฐีพูดออกมาอย่างนี้ เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นตัวอย่าง แก่ทั้งผู้เป็นบุตรและบิดามารดา คือบิดามารดานั้นตามปกติรักลูกเหลือล้น รักจนกระทั่งว่าไม่รู้รักอย่างไร แต่ว่าบางทีรักให้ลูกเสียไปเหมือนกัน ที่ว่าเรารักให้ลูกเสียนั้น รักอย่างไร รักเกินไป จนไม่ว่ากล่าวแนะนำพร่ำเตือน ให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ลูกจะทำอะไร จะไปไหน ก็ปล่อยตามเรื่องตามราว ไม่มีการชี้แจงเหตุผลให้ลูกเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อันนี้เรียกว่ารักเกินไปจนกระทั่งว่า ลูกเสียผู้เสียคนไปก็มีแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งนั้นน่ะ รักเหมือนกัน แต่ว่าดุด้วย ดุจนเสียคนได้เหมือนกัน เรียกว่าดุเกินไป เอาแต่ดุท่าเดียว ตวาดแหว ดุด่า กลับมาก็ดุ ว่ากล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ลูกไม่อยากกลับบ้าน เพราะว่ากลับมาทีไร ก็เจอยักษ์ 2 ตนนั่งอยู่ในบ้าน แล้วยักษ์นั้นก็คือพ่อกับแม่นั่นเอง เอาแต่แผดเสียงตวาดอยู่ตลอดเวลา ลูกรำคาญ มาบ้านไม่ได้ ทีนี้เมื่อมาบ้านไม่ได้ ก็ไปที่อื่น ไปหาคนอื่นซึ่งมีความสุขกว่า พ่อแม่ก็เสียอกเสียใจ ลูกไม่รักเรา ไม่มาหาเรา แต่ว่าไม่รู้ว่าใครผิดในเรื่องนี้ อันนี้ก็เรียกว่ารักไม่ถูกเหมือนกัน ทำให้ลูกเสียหายไป ความรักที่ถูกทางนั้นต้องเปลี่ยนวิถีใหม่ คือว่าต้องรักให้ถูกตามคำโบราณนั่น ที่เขาพูดว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" คำว่าตี ไม่ได้หมายความว่าไม้เรียวมาไว้สักโหล กลับมาแล้วเฆี่ยนเอาๆ ตีอย่างนั้นก็ไม่ได้ ลูกเจ็บเนื้อเปล่าๆ แนะนำพร่ำเตือน เอาวาจาอ่อนหวาน สอน เตือนแนะนำวันละเล็กละน้อย ค่อยแก้ไปอย่าไปแก้วันเดียว แก้ที่เดียว หรือ 3 เดือนแก้ทีหนึ่ง อย่างนี้มันก็ไม่ได้ เรื่องอบเรื่องรมเรื่องดัดนี้ ต้องทำทุกวัน ทำบ่อยๆ ก็เหมือนว่าเราดัดไม้ ถ้าเราดัดทีเดียวไม้ก็หักเท่านั้นเอง ต้องค่อยๆ ดัด ค่อยๆ ลนไฟ ไฟร้อนจัดก็ไม่ได้ ร้อนน้อยก็ไม่ได้ ต้องรู้ว่าร้อนขนาดไหน แล้วก็ค่อยโน้มเข้ามาทีละน้อยๆ แล้วก็มัดไว้ เมื่อเด็กๆ เคยเห็นเขาดัดไม้ไผ่ทำขอบกระด้ง ต้องใช้เวลาค่อยๆ ดัด แต่บางคนใจร้อน ทำอะไรรวดเร็ว ดัดเข้าไป หักหมดเลย ทำขอบกระด้งไม่ได้มันเป็นอย่างนี้ เด็กเรานี่ก็เหมือนกันต้องค่อยฝึกค่อยสอนไปทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ บอก อย่างนี้ก็จะดีขึ้น อย่าเอาคำหยาบไปพูดให้เด็กตกอกตกใจ อย่าดุอย่าด่า ถ้าเขาไปไหน ทำอะไรมาไม่ชอบไม่ควรค่อยพูดค่อยสอนค่อยไต่ถามว่าไปไหนมา ... ไปหาใคร...ไปทำอะไร...ไปทำอะไร... เราก็ค่อยพูดชี้แจงทีละเล็กทีละน้อยไม่บังคับ แต่พูดเสนอแนะให้เขาเข้าใจ เขามาได้ความคิดเองในภายหลัง อันนี้เป็นการชอบการควรที่ควรกระทำต่อเด็กของเรา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:24:23 ทีนี้ลูกก็เหมือนกัน เราต้องรู้ถ้าเราเป็นลูก รู้ว่าคนที่รักเราจริงๆ มี 2 คนเท่านั้น คือคุณพ่อกับคุณแม่ คนอื่นรักก็ไม่จริงหรอก เช่นเรามีแฟน เขารักเราก็รักอย่างนั้นแหละ ไม่จริงจังเท่าใด รักคนละแบบ แต่ว่าพ่อแม่รักเราจริง ทุกข์ร้อนไปพึ่งได้มีอะไรก็เข้าเกาะแข้งเกาะขาท่าน ท่านไม่ปัดหรอก บางคนแม้จะพูดว่าตัดขาด ไม่เป็นลูกเป็นแม่กันต่อไป ก็ว่าไปอย่างนั้นแหละ แต่ว่าภายหลังพอลูกเข้าไปหา ก็ใจอ่อนลงไปทันที มันตัดไม่ได้เพราะเราให้กำเนิดมาเอง เลี้ยงมาเอง จะตัดได้อย่างไร พ่อแม่เป็นอย่างนั้น เราผู้เป็นลูกก็ควรจะคิดว่า เออ น้ำใจพ่อแม่นั้นดีกับเราดีเหลือล้น เราควรจะเอาใจท่านไว้บ้าง อย่าเอาใจตัวเองเป็นใหญ่จะทำอะไรก็ต้องคิดต้องตรองให้รอบคอบ คือต้องคิดว่าเจ้าพระคุณทั้ง 2 นี้ท่านจะว่าอย่างไร ท่านจะพอใจหรือว่าท่านจะไม่พอใจ ถ้าทำอะไรพอใจเรา แต่ไม่เป็นที่พอใจของบิดามารดา เราจะอยู่อย่างไร เราก็กลายเป็นลูกที่เรียกเอาแต่ใจตัว ไม่คิดถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงเรามา ท่านก็จะน้อยเนื้อต่ำใจ จะเศร้าโศกเสียใจ เสียใจว่า แหม อุตสาห์เลี้ยงดูมา ให้การศึกษาเล่าเรียน จ่ายเงินจ่ายทองไปเยอะแยะ แต่ว่าเมื่อสำเร็จ ปีกกล้าขาแข็งแล้ว เขาไม่เหลียวแลเราเลย เขาเป็นเหมือนกับตัวผีเสื้อ พอบินได้แล้วก็บินไปเลย ไปกลับมาอีกต่อไป อันนี้พ่อแม่โทมนัสน้อยใจ ทำให้ท่านเป็นทุกข์ถ้าเราเป็นบุตรเป็นธิดา ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ต้องร้องให้ร้องห่มก็ไม่ดี เรียกว่าสร้างขุมนรกไว้ในอกของมารดาบิดา เป็นการไม่ชอบไม่ควร เราผู้เป็นบุตรจะต้องสร้างวิมานน้อย ๆ ไว้ในใจของพ่อแม่ ให้ท่านเป็นสุข แม้เราจะเป็นทุกข์จะเดือนร้อนก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้ เจ้าพระคุณทั้ง 2 นั้นมีความสุขมีความสบาย ถ้าใครทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าทำดีทำชอบ ในครอบครัวถ้าหากว่าได้มีการประพฤติธรรม พ่อประพฤติธรรม แม่ประพฤติธรรม ลูกก็ประพฤติธรรม ถ้าคนใช้ที่เราจ้างมาทำงานทำการ เราก็สอนให้เขาประพฤติธรรมะให้ประพฤติดีประพฤติชอบด้วย บ้านนั้นก็จะกลายเป็นบ้านของธรรมะไป ทุกคนในบ้านนั้นก็จะมีความสุข ความสงบไม่มีความยุ่งยากลำบากเดือนร้อน ครอบครัวในสมัยก่อน เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครอบครัวของนางวิสาขา ครอบครัวของอุบาสก มีมาก ซึ่งปรากฏในคัมภีร์หลายด้านด้วยกัน ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของครอบครัวนั้นๆ ทั้งนั้น อยู่ในศีลธรรมทั้งนั้น จึงมีความสุขความเจริญ อันนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่ประการหนึ่ง หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:27:32 จึงใคร่จะขอฝากญาติโยมทั้งหลายไว้ว่า...
เราควรจะได้เข้าหาธรรมะ ความจริงก็ได้ประพฤติกันอยู่แล้วในทางนั้นๆ แต่ว่ายังไม่เข้าใจชัดเจน พูดย้ำให้ฟังอีกทีหนึ่ง คนใดประพฤติแล้ว จะได้ภูมิใจอิ่มใจ อิ่มใจว่าเราได้เดินทางถูก เราประพฤติตามคำสอนของพระ เราจึงมีความเจริญความก้าวหน้าอยู่ ถ้าบังเอิญครอบครัวของผู้ใดกำลังมีความทุกข์อยู่ก็จะได้รู้ว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนลำบากต่างๆ ในครอบครัวนี้นะ มันไม่ใช่เรื่องอะไร แต่เป็นเรื่องที่เราทำไม่ถูก เราต้องแก้ไขเสียใหม่ เราต้องปรับปรุงใหม่ ต้องหันหน้าเข้าหาธรรมะ ปรับปรุงชีวิตให้ดีงามเรียบร้อยต่อไป ก็เป็นเรื่องเรียบร้อย นี้ประการหนึ่ง เป็นการปฏิบัติในขั้นทีเรียกว่า ศีลธรรม อันเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับทุกคน เมื่อได้ปฏิบัติในขั้นนี้แล้ว ก็ยังไม่พอ เราจะต้องก้าวหน้าต่อไป เพราะว่าความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น แก้ได้ด้วยหลักศีลธรรมเพียงเล็กน้อย ขั้นพื้นฐานตื้นๆ เท่านั้นเอง แต่ความทุกข์ความเดือดร้อนชั้นลึกๆ ยังมีอยู่ยังแก้ไม่ได้ ต้องใช้หลักธรรมะชนิดสูงที่ประณีตขึ้นไปกว่านั้น สิ่งนั้นคือหลักธรรมะที่เรียกว่า "สัจจธรรม" ในทางศาสนามีหลักคำสอนชั้นสูงชนิดที่เรียกว่า สัจจธรรม สัจจธรรม นี้เป็นคำสอนที่ปรากฏอยู่ในที่ทั่วๆ ไปไม่มีใครบัญญัติแต่งตั้งหรอก แต่ว่ามีผู้คนพบ เช่นในทางพระพุทธศาสนานี้ พระผู้มีพระภาคผู้บรมครูของชาวเราทั้งหลาย ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง เปิดเผย ทำให้ตื้น แจกจ่ายให้แก่คนทั่วไป เราจึงได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องตามความเป็นจริง และได้นำหลักธรรมะเหล่านั้นมาเป็นแนวปฏิบัติ ขูดเกลาจิตใจของเราให้สะอาด สงบ สว่าง ตามควรแก่ฐานะ เรื่องของสัจจธรรมนี้จึงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าเราตั้งใจดู ตั้งใจฟัง ตั้งใจคิด เราก็จะได้พบสิ่งนั้นเหมือนกัน มันมีอยู่ที่เราจะพบได้ แล้วเมื่อเราได้พบแล้ว เราก็นำมาเป็นหลักสำหรับพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่าญาติโยมบางคนก็มีความประพฤติดีประพฤติชอบอยู่ แต่ว่ายังมีความทุกข์ในใจ ทุกข์ด้วยเรื่องอะไร ... ด้วยเรื่องของธรรมดา เช่น ทุกข์เพราะพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีลูกตายจากไปเราก็เสียใจ มีทรัพย์ถูกขโมยไปเราก็เสียใจ บางครั้งบางคราวตัวเราเอง มีความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์เกิดมาแล้วก็ต้องมีเรื่องอย่างนี้ ก็นอนเป็นทุกข์ตรมตรองใจด้วยประการต่างๆ มีหลานบางทีก็เป็นทุกข์เพราะหลาน เช่นมีหลานเลี้ยงอยู่ก็สบายใจพอเขาเอาหลานไปก็เป็นทุกข์กลุ้มอกกลุ้มใจ ต่อไปไม่มีหลานจะเลี้ยงแล้ว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทุกข์เรื่องนี้มันเกิดจากอะไร ก็เพราะไม่เข้าใจในสัจจธรรมอันเป็นหลักความจริงของโลก เป็นหลักความจริงของชีวิต เราไม่ได้คิดถึงความจริงทั้งหลายเหล่านั้นให้เข้าใจชัดเจน เลยไปเกิดความยึดถือขึ้น ความยึดถือนี้เป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นในใจของเรา ยึดถือว่าเป็นลูกของฉัน หลานของฉัน เงินของฉัน ทองของฉัน อันนั้นอันนี้เป็นของฉันไปทั้งนั้น นึกอย่างนี้เขาเรียกว่านึกผิดไปจากความจริง ความจริงนั้นมันเป็นอย่างไร "ความจริงสิ่งทั้งหลายนี้ไม่ใช่ของใคร" หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:33:56 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ใน ในธรรมะบทหนึ่งว่า คนเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของตนสิ่งนี้เป็นของตน เช่นคิดว่าทรัพย์มีอยู่ ของนั้นมีอยู่ การคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะว่าตนของตนก็ยังไม่มี แล้วจะเอาสิ่งนั้นมาจากไหน คำบาลีว่า "ปุตตา นัตถิ ธะนะนัตถิ อิติ พาโล วิหัญญะติอัตตาหิกุโต ปุตตากุโต ธะนัง ท่านว่าอย่างนั้น แปลว่า คนเขลาคิดว่าบุตรของฉัน ทรัพย์ของฉัน แล้วก็เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นของตัวตลอดไป เนื้อแท้ตัวของตัวก็ยังไม่มี แล้วสิ่งนั้นมันจะมีได้อย่างไร" อันนี้มันลึกซึ้ง ถ้าฟังเผินๆ ก็อาจจะมองไม่เห็น เราต้องคิด เพื่อให้เห็นจริง ว่ามันไม่มีอย่างไร มันไม่เป็นของเราอย่างไร ต้องหมั่นคิดนึกตรึกตรองในปัญหาเหล่านี้ หลักที่เราจะนำมาคิดก็มีอยู่ 3 หลัก อันเป็นหลักธรรมดาธรรมชาติที่มีอยู่ตลอดเวลา คือ 1. ความไม่เที่ยงหลักหนึ่ง 2. ความเป็นทุกข์หลักหนึ่ง 3. ความเป็นอนัตตา คือที่ไม่ใช่ของตัวที่แท้จริงนี้อีกหลักหนึ่ง ถ้าเราหมั่นเอาความคิดเหล่านี้มาคิดบ่อยๆ ก็จะมองเห็นชัดเจนขึ้น คือเห็นว่ามันไม่เที่ยงจริง มันมีความทุกข์เพราะเข้าไปยึดถือจริง มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ไหลไปชั่วขณะหนึ่งๆ ตามเรื่องตามราวของมันเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงถาวร อันควรจะเข้าไปจับไปเกาะว่าเป็นตัวเราเป็นของเราขึ้นมา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดนึกตรึกตรองบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ เห็นอะไรข้างนอก เราก็เอามาพิจารณาเป็นเครื่องเตือนใจได้ สมมติว่าเราเล่นดอกไม้ เราปลูกกุหลาบไว้กระถางหนึ่งที่หน้าบ้าน กุหลาบมันก็ออกดอก เวลามันจะออกดอกนะ มันจะออกอย่างไร ถ้าหมั่นไปดูเช้าๆ เพื่อดูว่าหนอนมันจะมารังแกหรือเปล่า เราไปใส่ปุ๋ยรดน้ำให้มัน เราก็จะเห็นว่ามีดอกเล็กๆ เป็นดอกตูมออกมานิดเดียว ดอกตูมนั้นค่อยโตขึ้น พอโตขึ้นมาแล้วมันก็แย้มออกมาหน่อยหนึ่ง แล้วต่อมามันก็บานออก เป็นดอกสวย เราก็ชมว่า แหม ดอกใหญ่ดี สวยงาม สีก็งาม กลิ่นก็หอม เราก็ชอบใจ เราก็เพลิดเพลินอยู่กับดอกกุหลาบนั้น เราไม่ได้คิดว่าดอกกุหลาบนี้มันจะเป็นอะไรต่อไป ถ้าดูต่อไปอีกหน่อย ดูต่อไป บางทีวันเดียวเท่านั้นแหละดอกกุหลาบนั้นกลีบนอกชักจะเหี่ยว มันเหี่ยวที่ริมน้อยๆ ก่อน สี่ไปก่อนต่อไปก็เหี่ยวทั้งกลีบ ไม่เท่าใดกลีบนั้นก็ร่วงหล่นลงไปในกระถางต่อไปกลีบอื่นก็หล่นลงไป ผลที่สุดก็เหลือแต่ก้าน ดอกกุหลาบนั้นหายไปแล้ว และเมื่อหล่นลงไปในกระถางหรือที่ดินแล้ว มันก็จมดินหายไป ดอกกุหลาบที่เราเข้าไปยึดถือว่าสวยงาม กลิ่นหอมน่ารักนั้น มันหายไปไหน มันก็หายไปตามเรื่องของมัน เพราะว่ามันเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งมันก็หายไปตามเรื่องของมันอีก คือว่าเครื่องปรุงแต่งหมดมันก็หายไปไม่มีอะไรที่เป็นตัวจริงของดอกกุหลาบนั้น ถ้าเราเพ่งมองอย่างนี้เราก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ว่า อ้อร่างกายเราก็เหมือนกับดอกไม้ เราเกิดมาเป็นเด็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ ผู้หลักผู้ใหญ่ชอบอกชอบใจ พอเห็นหลานยิ้มก็ชอบใจ หลานกินได้ก็ชอบใจ ชอบใจไปก่อนแต่พอหลานป่วยหรือเป็นอะไรไปบ้าง ญาติโยมที่มีลูกมีหลานก็รู้เอง ไม่ต้องบอกก็ได้ พอหลานป่วยนี่วุ่นกันไปทั้งบ้าน แล้วใจก็ไม่สบาย คุณยายก็เป็นทุกข์ คุณตาก็เป็นทุกข์ แม่ก็เป็นทุกข์ คนใช้ก็พลอยเป็นทุกข์ไปกับเขาด้วย เพราะต้องวิ่งว่อนเที่ยวเรียกหมอมารักษา ไม่เป็นอันหลับอันนอนกันละ เรื่องหลานไม่สบายนั้นเป็นทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างนี้ ความทุกข์อย่างนี้จะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนสภาพไป แต่ถ้าเรา เข้าใจกฏความจริงไว้ว่า อ้อ สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนได้ สิ่งทั้งหลายไม่มีความมั่นคงถาวร เราจะไปตู่เอาว่าจงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นตามใจเราได้ที่ไหน เพราะสิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจของใคร มันต้องไปตามเรื่องของมัน มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:39:59 ถ้าเรามีธรรมะเป็นหลักคุ้มครองจิตใจเราก็พอคิดได้ เช่นว่าหลานป่วย เราก็คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ต้องเป็นทุกข์เรื่องความป่วย หน้าที่ของเราจะทำอย่างไร เราก็ต้องเอาหลานไปหาหมอ ไปโดยเร็ว ไปให้หมอรักษา เวลาอุ้มหลานไปหาหมอ อย่าอุ้มไปด้วยความทุกข์ ถ้าอุ้มไปด้วยความทุกข์ก็เหมือนกับอุ้มกองไฟไป เราก็เป็นทุกข์ไปตลอดทาง หมอตรวจแล้ว เขาก็ให้ยารักษา มันไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องรอเวลา กินยาเข้าไปแล้วต้องรออีกสักวันสองวัน ความไข้มันก็จะค่อยเบาบางไปเอง ค่อยฟื้นขึ้น เราอย่าใจร้อน อย่าด่วนจะให้หายเร็วๆ แต่เราต้องรู้ว่ามี เกิด แล้วมันต้องมี ดับ เมื่อเป็น แล้วมันก็ หายได้ แต่ว่าสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเวลา เราต้องนั่งดูด้วยความอดทนด้วยใจเย็นหลานป่วย ยายก็ไม่ต้องไปป่วยกับหลาน ลูกป่วยแม่ก็ไม่ต้องไป ป่วยกับลูกด้วย ทีนี้ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ ป่วยหมด ลูกป่วย แม่ป่วย พ่อป่วย ป่วยหมดทุกคน ลูกป่วยทางกาย พ่อแม่ป่วยทางจิตใจ นั่งเป็นทุกข์กระสับกระส่าย คนใช้ในบ้านก็พลอยรับทุกข์เพราะว่าแม่บ้านพ่อบ้านดุเอาด้วย นี่มันไปกันใหญ่ ความทุกข์มันเต็มบ้านอย่างนี้นะ เพราะไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นหลักพิจารณา ถ้าได้ใช้ธรรมะเป็นหลักพิจารณาก็สบายใจไม่ต้องเป็นทุกข์ในเรื่องนั้นมากเกินไป ถึงบทตัวเราป่วยเองบ้างญาติโยมป่วยเองนะทีนี้ ถ้าป่วยเองขอให้มันป่วยแต่กาย อย่าให้ใจป่วยเข้าไปด้วย ร่างกายเจ็บปวด แต่อย่าให้ใจเข้าไปเจ็บปวด เราต้องรู้จักแยกความรู้สึกนั้นออกจากกันได้พอสมควร ก็จะมีความสบายตามควรแก่ฐานะ เคยไปที่โรงพยาบาลศิริราช ไปที่ตึกเกี่ยวกับการผ่าตัดพวกคนสันหลังหัก แข้งขาหัก อะไรจำพวกนั้นแหละ เกี่ยวกับพวกกระดูก ผู้ป่วยบางคนนอนตะแคง บางคนนอนคว่ำ ถามว่านอนคว่ำมากี่เดือนแล้ว เขาตอบว่านอนคว่ำมา 3 เดือนแล้ว นึกในใจว่า โอ มันแสนทรมาน แต่ว่าเปล่า คนไข้เหล่านั้นเขาคุยกัน เขาหัวเราะกัน จากเตียงนี้ข้ามไปเตียงโน้น จากเตียงโน้นข้ามไปเตียงนั้น เอะอะโวยวายตามเรื่องตามราวของเขา เขาไม่ได้เป็นทุกข์ที่ต้องนอนมาตั้ง 3 เดือน หรือว่าเดินไม่ได้หรือว่าทำอะไรไม่ได้ เขาไม่เป็นทุกข์แล้ว เขาสนุกกัน คุยกันโวยวายกันไปตามเรื่อง บางคนก็เปิดวิทยุฟังเพลง ฟังลิเกคณะหอมหวลอะไร เพลินกันไปตามเรื่อง ดูๆ แล้วนึกว่า อ้อ เขาไม่ทุกข์แล้ว ที่ไม่ทุกข์แล้วนั่นเพราะอะไร คงจะเกิดธรรมะขึ้นในใจอย่างหนึ่งเป็นอย่างน้อยแม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาธรรมะ แต่ว่ามันเกิดขึ้นในใจแล้ว หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 16:43:33 ธรรมข้อนั้นเกิดขึ้นว่าอย่างไร...คงเกิดขึ้นว่า ไม่ใช่ฉันคนเดียวที่ป่วยแต่ว่ามีคนอื่นมาป่วยอยู่อีกหลายสิบคน แล้วฉันจะมาเป็นทุกข์เรื่องอะไร เมื่อคนอื่นเขาไม่ได้ทุกข์มากมาย เขาหัวเราะหัวไห้ก็เลยพลอยหัวเราะไปกับเขาด้วย อันนี้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะว่าอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ หมู่ทำอะไรก็ทำไปอย่างนั้นตามเรื่องตามราว ความเจ็บป่วยก็บรรเทา
ที่ไปคราวนั้น ไปเยี่ยมคนหนึ่งแกป่วยขาขาด คือว่ารถทับขาขาดเลย เลยถามว่า เป็นอย่างไร ขาขาดนี่รู้สึกอย่างไร แกบอกว่า มาแรกๆ นี่เป็นทุกข์เต็มที ไม่สบายใจเลย 3 วัน "วันที่สี่เป็นอย่างไร" "ค่อยสบาย" ถามว่า "สบายเพราะอะไร" "เพราะนึกได้ว่ามันไม่ได้เป็นแต่ผมคนเดียว" ว่าอย่างนั้น คนอื่นเขาก็เป็นกันหลายคน แล้วก็เปิดประตูดูคนที่นอนอยู่ข้างนอกก็ไม่เห็นเขานอนเป็นทุกข์สักคนเดียว เขามีความพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ แล้วหัวเราะกัน คุยกันเล่านิทานกัน ก็เลยพลอยไม่เป็นทุกข์ไปกับพวกนั้นด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ คือหมดทุกข์ไปก็เพราะเกิดความรู้สึกตัวว่า อ้อ ธรรมดาคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น ด้วยกันทั้งนั้น เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ก็นึกได้ เมื่อนึกได้มันก็หมดเรื่องไป เรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน สมมติว่าเราอยู่กัน สามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ทีนี้ตายจากไปคนหนึ่ง ภรรยาตายไป สามีก็นั่งเป็นทุกข์เหงาใจว่าเหงาเต็มทีอยู่คนเดียว หรือว่าสามีตาย ภรรยาก็เป็นทุกข์เหงาจิตเหงาใจว่าอยู่คนเดียว นี่เป็นเพราะไม่ได้คิดถึงกฎธรรมดา ถ้าคิดถึงกฎธรรมดาว่าก่อนนี้เราก็อยู่คนเดียว เราไม่มีเพื่อนสองอย่างนี้ แต่ต่อมาชีวิตมันก็เปลี่ยนฉากไปตามเรื่องนึกดูว่าฉากละครชีวิตที่เราแสดงมาเป็นอย่างไร นึกถึงภาพเด็กน้อยๆ ที่นอนอยู่ในเบาะ เด็กที่รู้จักคลาน รู้จักเดินเตาะแตะไปโรงเรียนได้ เป็นหนุ่มเป็นสาว แต่งงานมีลูกมีหลาน หรืออาจจะไม่มีก็ได้ แล้วก็อยู่มาจนป่านนี้ อ้อ มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ชีวิตนี่เปลี่ยนมาโดยลำดับ คนเราที่เกิดมาแล้วต้องจากกันทั้งนั้น ต้องตายทั้งนั้น เมื่อก่อนนี้เรามีพ่อแม่ มีคุณปู่ คุณตา คุณย่า คุณยาย เดี๋ยวนี้ปู่เราไปไหนแล้ว ทวดเราไปไหนแล้ว ย่าเราไปไหน ยายเราไปไหน ถ้าคิดดู อ้อ ท่านไปแล้ว ไปก่อนแล้ว ปู่ทวดไปก่อน แล้วปู่ตาไป ย่ายายไป พ่อแม่เราก็ไป สามีเราก็ไป ภรรยาเราก็ไปกันโดยลำดับ คนอื่นเขาไปกันแล้ว วันหนึ่งเราก็ต้องไป แต่เวลานี้ยังไม่ไป เพราะร่างกายมันยังมีปัจจัยเครื่องปรุงเครื่องแต่งอยู่ ยังพออยู่ในโลกมนุษย์ไปได้ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 01 พฤษภาคม 2553 17:01:51 (http://img49.imageshack.us/img49/6030/135029.jpg) แล้วเราจะอยู่ด้วยความทุกข์ดี หรือว่าจะอยู่ด้วยความสุขใจความเบาใจดี ถามตัวเองอย่างนี้ ก็คงจะตอบตัวเองได้ว่าอยู่ด้วยความเบาใจสบายใจดีกว่า ทำอย่างไรจึงจะสบายใจ ทำอย่างไรจึงจะเบาใจ จะนึกจะคิดอย่างไรใจจะสบาย ต้องถามตัวเองต่อไป ก็รู้ได้ว่าถ้าเราคิดอย่างนั้นเราเป็นทุกข์ ความคิดที่ทำให้เกิดทุกข์นั่นคิดไปทำไม หน้าต่างบานไหนเปิดแล้วมันมีแต่กองขยะมูลฝอย เราจะไปเปิดบานนั้นทำไม เอาไม้ตีปิดเสียเลยอย่าให้มันเปิดได้ แต่บานไหนเปิดไป เห็นสนามหญ้าสวยมีดอกไม้งามๆ เราก็เปิดบานนั้น เปิดไปก็เห็นสีเขียวสดชื่น สบายใจ ฉันใด ความคิดของเรานี้เหมือนกัน ถ้าเราคิดเรื่องใดกลุ้มใจเราควรจะหยุดคิดจากเรื่องนั้น แต่ว่าการหยุดคิดไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ต้องค่อยทำค่อยไป ค่อยคิดปัญหาเหล่านี้ ต้องค่อยสอนตัวเอง ค่อยบอกตัวเองไว้ตลอดเวลา อย่าให้เกิดความร้อนอกร้อนใจที่มีความทุกข์มากเกินไปจากปัญหาเหล่านั้น ไม่กี่วันก็พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้ ไม่ต้องตรมตรอมใจมากเกินไป เพราะได้ธรรมะคือได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้องตามความเป็นจริง อันนี้เรียกว่าช่วยแก้ได้ ธรรมช่วยแก้ปัญหาได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เราได้ศึกษาสัจธรรม อันเป็นคำสอนชั้นสูงในทางศาสนา มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่ามีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไป แล้ว ผลที่สุดก็แตกดับด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ แม้โลกของเรานี้ วันหนึ่งมันอาจจะแตกไปก็ได้ แต่ว่ามันจะแตกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่ต้องไปนั่งกลัวว่าโลกมันจะแตก หรือไม่ต้องกลัวว่าดาวพระอังคารมาชนโลกแหลกลาญไป ไม่ต้องหวาดกลัวถึงขนาดนั้น เหมือนกับพวกที่เชื่อโหรเมื่อ 3 ปีก่อนโน้น เขาเชื่อกันว่าอย่างไร แล้วก็ตกใจกัน ไม่กล้าอยู่ในบ้านในช่อง หอบลูกหลานไปนั่งกันอยู่ในสนามหญ้า เพราะกลัวว่ามีเหตุเกิดขึ้นในโลกกลัวจนไม่สบาย ไปนั่งอยู่ในสนามมันก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเองแต่เมื่อเราคิดได้ว่าถ้ามันมีจริง ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องรับสิ่งนี้ หลายคนร่วมรับกับมัน เป็นธรรมดา ธรรมชาติลงโทษมนุษย์ที่ทำบาปมานานแล้ว ให้รู้สึกตัวเสียบ้าง เราก็ยินดีจะรับสิ่งนั้นด้วยหน้าชื่นตาบาน มันก็ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าคิดปฏิเสธหนีเรื่อยไป มันก็ทุกข์เรื่อยไป อันนี้เป็นข้อคิดที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน จึงนำมาพูดฝากญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันในวันนี้เพื่อฟังธรรมะ จะได้รู้ว่า ชีวิตของเรานี้จะต้องใช้ธรรมะอย่างไร และควรจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อแก้ไขสถานการณ์อันเกิดขึ้นกับวิถีชิวิตในวันหนึ่งๆ เราก็จะอยู่ได้โดยปลอดภัยมีความสบายอกสบายใจตลอดเวลา ดังที่กล่าวมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจญาติโยมทั้งหลาย ขณะนี้ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ (http://www.baanjomyut.com/pratripidok/panya/bailan.jpg) (:88:) : http://www.baanjomyut.com/pratripidok/panya/06.html (http://www.baanjomyut.com/pratripidok/panya/06.html) มีต่อค่ะ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 00:56:49 แหล่งเกิดความทุกข์ อาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2515 ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา วันนี้ในตอนเช้าฝนตกลงมาห่าใหญ่ที่วัดชลประทานฯ น้ำที่ข้างบันใดศาลามากหน่อย ญาติโยมที่เดินขึ้นศาลาก็ต้องลุยน้ำนิดหน่อยอันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ฝนฟ้าอากาศมันก็ต้องตกไปตามเรื่องตามราว เราอยู่ในโลกก็ต้องการทั้งแดดทั้งฝน แต่ว่าความต้องการของมนุษย์นี่บางทีมันก็ขัดกัน บางที่ฝนตกไม่ชอบ บางทีแดดออกไม่ชอบ ลมพัดจัดก็ไม่ชอบ อย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่ใคร่เป็นที่ชอบใจ อะไรๆ ในโลกนี้ ก็ไม่ใคร่เป็นที่ชอบใจ อะไรๆ ในโลกนี่จะเหมือนใจทุกอย่างไม่ได้ สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติ เราก็ต้องปลูกความรู้สึกในใจให้เกิดความพอดีๆ กับสิ่งเหล่านั้น คือให้รู้สึกในใจให้เกิดความพอดีๆ กับสิ่งเหล่านั้น คือให้รู้สึกพอใจแล้วก็สบาย แต่ถ้าไม่รู้สึกพอใจในเรื่องอะไรๆ ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ในทางธรรมะจึงสอนเราให้รู้จักสันโดษ หมายความว่า พอใจในสิ่งที่เราประสพอยู่เฉพาะหน้า คืออะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราก็นึกพอใจในสิ่งนั้น ความพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า คือสันโดษ เป็นศิลปะของความสุขความสบายในทางจิตใจ ในขณะใดที่เรามีความพอใจในเรื่องอะไรๆ ที่เกิดขึ้น เราก็รู้สึกสบายใจ ยิ้มได้ แต่ว่าในขณะใดที่เรารู้สึกขัดใจ ไม่ชอบใจ ในสิ่งที่เกิดมีอยู่เฉพาะหน้า ในขณะนั้นเราก็มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ อันความทุกข์ความเดือดร้อนใจนี่ ใครๆ ก็ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยต้องการแต่ว่าพอเผลอ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในตัวเราได้ ที่ความทุกข์เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความประมาท เผลอไป ไม่ได้ใช้ปัญญาคิดจึงตรึกตรองในเรื่องนั้น มองอะไรก็มองแต่เพียงแง่เดียว ไม่มองไปในแง่ที่ว่า มันเป็นความจริงอย่างไร คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เรามองไม่ชัดเจนตามที่เป็นจริง เมื่อมองเห็นอะไรๆไม่ชัดเจนตามที่มันเป็นจริง ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในใจได้ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:02:42 เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีหลักคำสอนว่า จงมองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง ท่านใช้ศัพท์เทคนิคในทางธรรมะว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ คำว่า "ยถาภูตญาณทัสสนะ" ถ้าแปลก็หมายความว่า "เห็นอะไรๆ ทุกอย่างตามที่มันเป็นจริงๆ" ความจริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร เราก็มองให้เห็นชัดในสิ่งนั้น ในขณะใดที่เรามองเห็นสิ่งนั้น ชัดแจ้งตามที่มันเป็นจริง ความหลงไม่มี ความยึดถือในสิ่งนั้นก็ไม่มี ใจเราก็ว่างจากความยึดถือ เมื่อใจว่างจากความยึดถือ เราก็มีความสงบใจ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงสอนเราให้หัดมองอะไรทุกอย่าง ที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตของเรา ให้รู้ชัดเห็นชัดตามที่เป็นจริงอยู่ตลอดเวลา อันการที่เราจะมองอะไรให้เห็นชัดนั้น ก็ต้องศึกษาให้รู้ธรรมะ เพื่อเอามาใช้เป็นแว่นประกอบการมอง ประกอบการพิจารณาในสิ่งนั้นๆ จะได้รู้เข้าใจชัดเจนขึ้น เราจึงต้องมาวัดฟังธรรมบ้าง อ่านหนังสือทางศาสนาบ้าง สนทนาแลกเปลี่ยน ความคิดความเห็นในด้านธรรมะกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง แต่ว่าในเรื่องการสนทนากันนั้น อยากจะแนะนำไว้อันหนึ่ง คืออย่าสนทนากันด้วยความยึดติดในทิฏฐิ ความคิดความเห็นของตน คนเราเวลาที่สนทนาอะไรกันมักจะโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง การเถียงกันในรูปอย่างนั้นเป็นการพูดธรรมะที่ไม่เป็นธรรมะ แต่ว่าเอาตัวของตัวเข้าไปพูด ตัวของตัวก็เป็นตัวแห่งความยึดความติดในทิฏฐิอะไรบางสิ่งบางประการ สำคัญว่าเรื่องของตัวนั้นเป็นเรื่องถูก เรื่องของผู้อื่นเป็นความผิด ทีนี้เมื่อไปคุยกับใคร ถ้าเขาพูดอะไรไม่ตรงกับความคิดความเห็นของตัว ก็คัดค้านสิ่งนั้นไปหมด อย่างนี้ก็ไม่เกิดปัญญา หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:10:18 พระพุทธเจ้าของเราท่านแนะนำในเรื่องอย่างไร ท่านบอกว่า "ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอได้ฟังใครก็ตาม พูดอะไรๆ ที่เกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติเธออย่าคัดค้าน อย่ายอมรับในเรื่องนั้น" ท่านให้หลักไว้ 2 ประการ คือ อย่าคัดค้าน แล้วก็อย่ายอมรับทันที ให้เธอฟังไว้แล้วเอาไปพิจารณาด้วยปัญญาของเธอ เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจ ถ้าสิ่งนั้นมันเข้ากันได้ กับเรื่องที่เคยเรียนเคยศึกษา ก็ยอมรับสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าเอาไปคิดไปตรอง ด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว แต่มันเข้ากันไม่ได้กับอะไรๆ หลายๆ อย่างหลายประการ เราก็ไม่ไปยึดในความคิดความเห็นนั้น การสนทนากันในแง่อย่างนี้ ไม่มีเรื่องทะเลาะกับใครไม่มีการที่จะเถียงอะไรๆ กัน ให้เป็นความวุ่นวาย เพราะเรารับฟัง ใครพูดอะไรๆ เราก็ฟังด้วยใจเย็น ถ้าจะพูดคัดค้านหรือท้วงติง ก็พูดด้วยใจเย็นๆ ไม่พูดด้วยอารมณ์ร้อน อันการพูดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราพูดด้วยอารมณ์ร้อน มักจะเสียเปรียบ แต่ถ้าพูดด้วยอารมณ์เย็นๆ มักจะได้เปรียบ เพราะปัญญามันไม่เกิด เมื่อไฟกำลังลุกอยู่ในใจ แต่ปัญญาจะเกิดเมื่อในสงบ เพราะฉะนั้น บุคคลใดที่ทำอะไรด้วยใจที่ร้อน มักจะเสียหาย แต่ถ้าทำอะไรๆ ด้วยใจที่ เย็น ความทุกข์ความเดือดร้อนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้มันก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน เมื่อจะไปพูดอะไรกับใคร หรือจะต้องสนทนาพาทีในเรื่องใด ก็ต้องเตือนตัวเองไว้ก่อนว่า เย็นๆ อย่าร้อน อย่าพูดด้วยอารมณ์ แต่พูดด้วยเหตุผล สิ่งใดไม่ควรพูดก็อย่าไปพูด สิ่งใดที่ควรพูดจึงพูด แล้วเรื่องที่ควรพูดก็เหมือนกัน ต้องดูเวลา ต้องดูบุคคล ต้องดูสถานที่ ต้องดูเหตุการณ์ ว่าถ้าเราพูดออกไปแล้ว มันจะขัดกับอะไรบ้าง เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง หรือไม่เป็นประโยชน์แก่เราผู้พูดหรือไม่ ถ้าหากว่าเราพูดออกไปแล้วไม่ได้เรื่อง คือไม่ให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง เราเองผู้พูดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นการพูดออกไปเพื่อจะแสดงว่า เรารู้ในเรื่องนั้น เป็นการพูดเพื่ออวดตัว อวดกิเลส อันมีอยู่ในใจของตัวให้คนอื่นรู้ว่าตัวมีกิเลสเท่านั้น การพูดในรูปเช่นนั้นไม่ได้สาระอะไร แต่ถ้าหากว่าเราพูดด้วยปัญญา เราก็พิจารณาเสียก่อนว่า เรื่องที่เราจะพูดออกไปนั้น เป็นเรื่องจริงเรื่องดีมีประโยชน์ เหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ สถานที่เราจะพูดหรือไม่ ถ้าได้คิดทบทวนไตร่ตรองอย่างนี้แล้วผู้นั้นจะเป็นผู้พูดแต่เรื่องดีมีประโยชน์ ปากของคนนั้นจะไม่เสีย แล้วใครๆ ก็ไม่ติไม่ว่าบุคคลนั้น ในเรื่องเกี่ยวกับการพูดเป็นอันขาด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:13:37 เพราะว่าคนเราอยู่ในสังคมนี่มันตัองพบปะกัน มีการสนทนากัน ในเรื่องอะไรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้หลักธรรมะเข้าไปเป็นเครื่องประกอบ ให้การพูดจาวิสาสะได้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบตามกฎเกณฑ์ ตามหลักพระพุทธศาสนา อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากญาติโยมทั้งหลาย ได้นำไปใช้ในการปฏิบัติในกิจในชีวิตประจำวัน ประการหนึ่ง ในวันอาทิตย์ก่อนได้พูดถึงเรื่องหลักในทางพระพุทธศาสนา คือเรื่องสำคัญที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านนำมาสอนแก่ชาวโลกทั้งหลาย เรื่องสำคัญที่พระองค์นำมาสอนนั้น คือเรื่องอะไร ได้บอกให้ญาติโยมทั้งหลายได้ทราบแล้วว่า คือ เรื่องอริยสัจจ์สี่ อันเป็นเรื่องหลักเรื่องสำคัญเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเราควรจะได้ศึกษาแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ขึ้นไว้ ก็เพราะว่าพระองค์ทรงทราบดีว่า ชีวิตของมนุษย์นี่มีความทุกข์ มีความเดือดร้อน ด้วยปัญหาต่างๆ หลายอย่างปลายประการ ทรงต้องการจะให้มนุษย์รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตของตน จึงได้วางหลักอริยสัจสี่ประการเหล่านี้ไว้ ถ้าจะพูดกันไปแล้ว ก็หมายความว่า อริยสัจจ์สี่ประการเป็นธรรมนูญสำหรับชีวิตที่เราควรจะนำมาใช้ในชีวิตประจำววัน ถ้าเรานำหลักนี้มาใช้ ในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังเราก็จะอยู่ด้วยความสุขความสงบในโลกนี้ ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน ในชีวิตจิตใจของเรา จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้ทำความเข้าใจกัน ในเรื่องต่อไปนี้ เรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจกันก็คือข้อธรรมะ ที่เราจะพึงเรียน ในเรื่องอริยสัจจสี่นี้ มันมีอะไรบ้าง ท่านแบ่งไว้เป็น 4 เรื่อง คือ เรื่องของความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เรียกตามภาษาธรรมะว่า สมุทัย แปลว่าเหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ได้ เรียกว่า "นิโรธ" ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า "มรรค" เรียกย่อๆ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คนโบราณเขาต้องการให้คนจำอะไรง่ายๆ จึงเอาแต่ตัวนำของชื่อนั้นๆ มา เขาเรียกว่า หัวใจ หัวใจของอริยสัจสี่ก็คือ "ทุ" หมายถึงความทุกข์ "สะ" หมายถึงสมุทัย "นิ" หมายถึง นิโรธ "มะ" หมายถึง มรรค เขาจึงจำง่ายๆ ว่า ทุ สะ นิ มะ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:19:11 แต่ว่าคนโบราณเขาสอนเพื่อให้จำ คนที่ได้หัวใจอริยสัจไปแล้วไม่ได้เอาไปใช้ในทางแก้ทุกข์ แต่เอาไปใช้เป็นคาถาอาคมไป เอาไปใช้เป็นคาถานั่นคาถานี่ ฝอยกันร้อยแปด เป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนา เรื่องของพระพุทธศาสนาเขาให้จำหัวใจ ก็เพื่อจะให้ระลึกกันง่ายๆ เช่น เราท่องได้ว่า ทุ สะ นิ มะ เวลาเราจะนึกถึงตัวจริงของอริยสัจ เราก็รู้ว่า ทุ คือทุกข์ สะ คือสมุทัย นิ คือนิโรธ หมายถึงความดับทุกข์ มะ คือมรรคอันประกอบด้วยองค์แปด ในเรื่องอื่นๆ ท่านก็มักผูกหัวใจสั้นๆ ให้คนเราไปท่องจำ เพราะสมัยก่อนนี้ไม่มีหนังสือตำรับตำรา ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คนที่ไปเรียนอะไรนี่ต้องท่องให้จำ ทีนี้การท่องจำ ถ้าจะท่องให้หมดก็ต้องใช้เวลานาน จึงต้องย่อสิ่งที่จะเรียนนั้น เอาแต่หัวใจ เพื่อให้จำง่าย แล้วจะได้เอาไปเป็นหลักในการศึกษาต่อไป เพราะฉะนั้น จึงขอให้ญาติโยมจำเอาหัวใจนี้ไว้ด้วย ว่า ทุ สะ นิ มะ ทุ คือทุกข์ สะ คือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิ ก็คือนิโรธ หมายถึงความดับทุกข์ได้ มะ คือ มรรค ประกอบด้วยองค์แปด อันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ คำว่าทุกข์ นั้นหมายถึงอะไร หมายถึงความไม่สบายที่เกิดขึ้นทางกายทางใจ ทุกข์ทางกายก็มี ทุกข์ทางใจก็มี แต่ว่าความจริงตัวทุกข์แท้ๆ มันอยู่ที่ใจ เพราะว่าใจของเรานี่เป็นหัวหน้าของเรื่องการเป็นอยู่ ความคิดความนึกอยู่ที่ใจนั้น มันมี 2 เรื่อง เรียกว่า เหตุทางกาย แล้วก็เหตุที่เกิดกับใจเอง เหตุทางร่างกายนั้น ก็คือสภาพร่างกายที่ไม่ปกติ เช่นว่า ปวดแข้งปวดขา มีความเจ็บไข้ได้ป่วย อันเป็นเรื่องของธรรมดาสังขารร่างกาย คนเราเกิดมาแล้ว มันก็ต้องมีการเจ็บการไข้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ารักษาอนามัยดีก็เจ็บไข้ได้ป่วยน้อย แต่ถ้ารักษาอนามัยไม่ดีเราก็เจ็บไข้ได้ป่วยมาก เวลาใดร่างกายมันผิดปกติก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทางใจ ความทุกข์นั้นเขาเรียกว่าเป็นความทุกข์เนื่องจากร่างกาย ทีนี้ ความทุกข์เรื่องใจล้วนๆ มันเป็นเรื่องเนื่องเกี่ยวกับความอยากที่เกิดขึ้นในใจ อยากในเรื่องอะไรต่างๆ ร้อยแปดพันประการ ขณะใดใจอยากในอะไร ก็เกิดความทุกข์เพราะเรื่องนั้น ถ้ายังไม่ได้สมใจก็เป็นทุกข์ ได้มาสมใจแล้วก็ยังเป็นทุกข์ต่อไป มันมีปัญหาที่จะให้เกิดความทุกข์ทั้งมี และไม่มี ทั้งได้ และไม่ได้เรียกว่าเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้น สำหรับบุคคลผู้ไม่มีปัญญา หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:23:55 แต่ถ้าบุคคลใดมีปัญญารู้เท่ารู้ทัน เวลาได้ก็ไม่เป็นทุกข์ เวลาไม่ได้เขาก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆ ที่ไม่ทุกข์นั่นก็เพราะว่า รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป นั้น มันมีสภาพตามที่เป็นจริงอย่างไร ก็ไม่มีความทุกข์จากเรื่องนั้น อันนี้เป็นเรื่องความทุกข์ที่เราควรรู้ไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น ในธรรมะหรือว่าในพระสูตร ท่านแยกความทุกข์เกี่ยวกับอริยสัจจ์นี้ไว้ ดังที่เราสวดมนต์ ถ้าหากว่าคนที่สวดมนต์เช้าได้เราได้ เราก็สวดว่า ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่ ก็เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อยู่ร่วมกับคนที่เราไม่ชอบ กับสิ่งที่เราไม่ชอบเป็นความทุกข์ ความโศกความเหี่ยวแห้งใจ ความร่ำไรรำพัน ในเรื่องปัญหาต่างๆ ก็เป็นความทุกข์ รวบรัดให้ย่อๆ สั้นๆ การเข้าไปยึดถือในขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขานั่นแหละเป็นก้อนทุกข์ใหญ่ ท่านแจกความทุกข์ให้ญาติโยมฟัง นี้มีอันหนึ่งซึ่งสำคัญ คือ เรื่อง ชาติทุกข์ เรียกว่าความเกิดเป็นทุกข์ มันหมายถึงอะไร ที่เรียกว่าความเกิดเป็นทุกข์ ก่อนๆ นี้เราได้ฟังคำอธิบายว่าการเกิดในครรภ์มารดา การคลอดออกมาจากครรภ์เรียกว่าเป็นการเกิดที่เป็นทุกข์ อันนี้ถ้าหากว่าเรามาศึกษาในแง่นั้นจะไม่ช่วยให้การแก้ปัญหาอะไรได้ แต่ถ้าหากเราเข้าใจอีกแง่หนึ่ง ไม่ได้เข้าใจตามแง่นั้น แต่เข้าใจว่าชาติคือความเกิดนั้นหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเข้าไปยึดถืออะไรว่า เป็นตัวเรา เป็นของเราขึ้นมา ในขณะใดที่ใจของเรา เกิดความรู้สึกยึดถือในเรื่องอะไรขึ้นมาแล้ว ในขณะนั้นแหละ เรียกว่าชาติเกิดขึ้นในใจของเรา ความเกิดแห่งความยึดถือ หลงใหล มัวเมาในเรื่องอะไรต่างๆ คือ ชาติปิทุกขา เรียกว่า ความเกิดมันเป็นทุกข์ อ้ายที่เกิดมาจากท้องแม่นั่นมันเกิดมาแล้ว แล้วก็พ้นมาแล้ว อันนั้นจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ต่อมาอีก มันก็ไม่สมควร เพราะมันผ่านพ้นมาไกลแล้ว แต่ว่าความเกิดแห่งความยึดถือที่เกิดขึ้นในใจของเรา จะเป็นชาติทุกข์ตลอดเวลา เรานั่งอยู่ ณ ที่ใด ยืนอยู่ ณ ที่ใด นอนอยู่ในที่ใด พอใจของเราไปยึดในอะไรเข้ามา เรารู้สึกอย่างไร เช่นเรานึกไปถึงเงินที่อยู่ในตู้ นึกถึงเพชรนิลจินดา นึกถึงรายได้ นึกถึงเงินที่เขากู้ยืมไป ดอกเบี้ยยังไม่ส่งตามเวลา แล้วก็นึกอะไรๆ หลายเรื่องหลายประการขึ้นในใจ ใจขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ญาติโยมลองสำรวจตัวเอง ถ้าสำรวจตัวก็จะพบว่า มันเป็นทุกข์ พอนึกถึงเรื่องเหล่านั้นขึ้นมา ก็เกิดความทุกข์ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:32:05 ความทุกข์เกิดเพราะเรื่องอะไร เพราะเรานึกว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา เงินทองของเรา เพชรนิลจินดาของเรา งานการนั้นของเรา ลูกของเรา หลานของเรา สามีภรรยาของเรา กิจการอย่างนั้นเป็นของเรา ชาติของเรา บ้านเมืองของเรา คิดไปหลายแง่หลายมุม ในขณะใดที่เราคิดในเรื่องอะไร ด้วยอำนาจความยึดความติดในสิ่งนั้น ขณะนั้นก็เป็นความทุกข็เกิดขึ้น ให้จำหลักอันนี้ไว้เป็นเบื้องต้น คือให้รู้ว่า ในขณะใดใจเกิดความยึดติดในเรื่องอะไรขึ้นมา ในขณะนั้นเราจะเป็นทุกข์ เมื่อจำคำนี้ไว้ได้แล้วก็ต้องเอาไปพิจารณาเอาไปค้นคว้า การค้นคว้านั้น อย่าไปค้นจากตำรับตำราหนังสืออะไรเลย แต่ค้นคว้าจากชีวิตของเราเอง จากกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันทุกเวลา จากความรู้สึกในชีวิตประจำของเรานี่แหละ ว่าเมื่อมีความคิดอะไรเกิดขึ้น แล้วมันเป็นอย่างไรต่อไป ให้ลองสังเกต ว่างๆ แล้วลองสังเกตความเป็นอยู่ของเราเอง เช่นเราเกิดความคิดอย่างนั้นขึ้นในใจ มันเป็นความคิดที่ร้อนหรือเย็น เป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ มีควมกังวลห่วงใย หรือว่ามีความสงบสบายใจ ให้ญาติโยมลองนำไปพิจารณาคอยสังเกตุตัวเรา คอยสังเกตุจิตใจของเราแล้วเราจะพบความจริงว่า ตัวความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ มันทุกข์เพราะว่า เรายึดถือนั่นเองแหละ ไม่ใช่ทุกข์เพราะเรื่องอะไร พอเกิดความยึดถือในใจ ในเรื่องอะไรก็ตาม เราก็มีความทุกข์เพราะสิ่งนั้น อันนี้แหละคือความหมายของคำว่า ชาติปิ ทุกขา ที่ญาติโยมสวดมนต์ว่า ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ หมายถึงว่าความรู้สึกยึดถือในเรื่องอะไรๆ เกิดขึ้นในใจของเราในขณะใด ความทุกข์หยั่งลงสู่ชีวิตของเราเมื่อนั้น อันนี้คือหลักแท้จริงของอริยสัจ ในเรื่องชาติ ความเกิดที่เป็นทุกข์ ถ้าเราเข้าใจชาติความเกิดในรูปนี้ การที่จะสลัดความทุกข์ออกไปตัวเรานั้นมันง่าย แต่ถ้าเราไปเข้าใจในแง่ว่า เกิดจากท้องมารดา แล้วตายเข้าโลงเป็นชาติหนึ่ง มันก็แก้อะไรไม่ได้ เพราะว่าความเกิดนั้นมันผ่านพ้นมาแล้ว เป็นมานานแล้ว สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกประการ ไม่ใช่วิถีทางแก้ไขความทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนา ในหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนา ต้องการชี้ให้เราเข้าใจว่า ความทุกข์เกิดจากความยึดถือในเรื่องอะไร ต่างๆ ในขณะใดที่ความยึดถือในเรื่องอะไรเกิดขึ้นในใจก็เรียกว่า ชาติ เกิดขึ้นแล้วชาติหนึ่ง หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:39:38 และเมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้น มันก็สร้างต่อไป ที่เรียกว่า มีภพ คำว่า "ภพ" ก็หมายถึงว่า "ความคิดที่เราส่งไปในเรื่องนั้นๆ" ส่งไปในเรื่องกามารมณ์ เรียกว่า เกิดในกามภพ ถ้าเราส่งไปในเรื่องเกี่ยวกับรูปก็เรียกว่ารูปภพ ถ้าส่งไปในเรื่องที่ไม่มีรูปมีร่างเป็นความคิดฝันของเราเอง ก็เรียกว่า ไปเกิดอยู่ในอรูปภพ จิตของเรามันเป็นไปเกิดในกามภพก็ได้ ในรูปภพก็ได้ ในอรูปภพก็ได้ สุดแล้วแต่ความคิดที่มันเกิดขึ้นในใจเรา สร้างอารมณ์ขึ้นในใจของเรา แล้วในขณะที่เรานั่งคิดนั่งฝัน นั่งสร้างอารมณ์ประเภทต่างๆ ขึ้นในใจนั้น ขอให้เข้าใจว่า นั่นแหละรากฐานของความทุกข์ ความเดือดร้อน เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะเราไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา แล้วเราก็คิดต่อไปว่าให้สิ่งนั้นอยู่กับเราตลอดไป แต่ว่าสิ่งนั้นคงจะไม่อยู่ตลอดไปเราก็มีความวิตกกังวล กลัวว่าสิ่งนั้นจะแตกสลายไป กลัวขโมยมันจะมาลักเอาไป กลัวว่าเราจะเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะจากสิ่งนั้นไป ความคิดอันอื่นที่ตามมาจากความยึดถือประการต้นนั้นอีกมากมายหลายเรื่อง อันล้วนแต่เป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์เพิ่มขึ้นในใจของเราทั้งนั้น อันนี้แหละคือ ชาติปิทุกขา เป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจให้ตรง ถูกต้องไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น ถ้าเราเข้าใจคำว่า ชาติปิ ทุกขา ถูกตรงแล้วมันเป็นการง่าย ที่จะศึกษาในเรื่องอื่นต่อไป แต่ถ้าเข้าใจคำว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ไม่ถูกแล้ว การแก้ไขปัญหาชีวิตย่อมจะเป็นการไม่สะดวก เพราะจะไปแก้ที่ไกล ไม่ได้แก้ที่ตัวเรา ไม่ได้แก้ที่ตรงจุด แต่ไปแก้อยู่รอบๆ จุด เหมือนกับคนที่คันสันหลัง แล้วก็ให้คนอื่นเกาให้ คนที่เกานั้นเขาไม่รู้ว่าคันตรงไหน ก็เที่ยวเกาตรงนั้นเกาตรงนี้ เราก็บอกว่ามันยังไม่ถูก เกาใหม่ คนนั้นก็เกาอีก ก็ยังไม่ถูก เกาใหม่เพราะคนเกาไม่รู้ ว่าจุดมันอยู่ตรงไหน แล้วจะเกาให้ถูกจุดได้อย่างไร แต่ถ้าเขารู้ว่าจุดคันมันอยู่ตรงไหน ไม่ต้องไปเกาให้เสียเวลา เอาไปจุดเข้าที่ตรงจุดนั้นเลย เรียกว่าจุดถูกที่คันเราก็ร้องว่า ดี ขึ้นมาทันที ฉันใด ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์นั้นเกิดจากความยึดถือในเรื่องอะไรต่างๆ ด้วยความหลงใหล ด้วยความงมงาย ความมัวเมาในสิ่งนั้นจนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้น เราก็แก้ที่จุดนั้นแหละ แก้ที่จุดความยึดถือ เราก็แก้ง่ายขึ้น เพราะเรารู้จักจุดมัน เหมือนกับรู้ว่าคันตรงไหน แล้วเกาได้ถูกจุดทันที อันนี้ประการหนีงซึ่งอยากให้โยมเข้าใจถูกตรงไว้ ในเรื่อง ชาติปิ ทุกขา ส่วน ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ ทุกข์อย่างไรอันนี้ไม่ยาก อันเรื่องความแก่เป็นทุกข์ โยมๆ ที่ฟังเทศน์เป็นคนแก่ส่วนมาก หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:53:21 เมื่อเป็นคนแก่รู้ว่าความแก่เป็นทุกข์อย่างไร นั่งอยู่จะลุกขึ้นมันเป็นอย่างไร นอนแล้วจะลุกขึ้นมันเป็นอย่างไร จะเดินมันเป็นอย่างไร จะเคลื่อนไหวอิริยาบถสักย่างสักก้าวมันเป็นอย่างไร จะกินอาหาร จะนุ่งจะห่ม จะพูดจา จะนึกถึงอะไรสักเรื่องหนึ่งที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร ญาติโยมลองทบทวนดู พอทบทวนดูก็จะรู้ได้ทันทีว่า เออ ไม่ได้ ความเคลื่อนไหวอิริยาบถก็ไม่สะดวก ขัดไปหมด ปวดเอวปวดหลังเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของความชรา ชำรุดทรุดโทรมในร่างกาย มันเป็นทุกข์เรื่องอย่างนี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ความทุกข์ที่เกิดจากชรานั่น มันหมายถึงว่าเราไม่พอใจ ในการที่ร่างกายเปลี่ยแปลงไป เราไม่อยากให้ผมหงอก อยากจะให้ดำขลับอยู่ตลอดเวลา แล้วว่าหงอกแล้วก็อุตส่าห์หายาย้อมผมมา ย้อมไว้หลอกตัวเองไปวันหนึ่งๆ พอดูกระจกก็รู้ว่ามันยังดำอยู่ ความจริงไม่จำเป็นอะไร ที่จะต้องหลอกตัวเองอย่างนั้น ให้เรานึกพอใจว่า ผมขาวมันก็เข้าทีเหมือนกัน แสดงลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีอายุ แล้วก็จะได้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เราไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ในความเป็นอยู่ แต่ถ้าเราไม่ย้อมให้มันดำ เมือมันขาวแล้ว ก็เท่ากับว่าเราหลอกตัวเอง เรามันยังเป็นคนชอบหลอกตัวเองอยู่ แล้วก็หลอกมันเรื่อยๆ ไป ว่าเราผมมันยังไม่หงอก ไม่ชรา อันนี้เขาเรียกว่าฝืนกฎธรรมดา พออยู่หน่อยร่างกายของเรามันเปลี่ยนไปตามสภาพ แต่ว่าเราไม่อยากให้เปลี่ยน คนทุกคนไม่ชอบแก่ทั้งนั้น ไม่ชอบให้ผมหงอก ไม่ชอบให้ฟันหลุด ไม่ชอบให้ตามืด หูตึง ไม่ชอบให้ผิวหนังเหี่ยว ไม่ชอบให้เป็นคนหลังค่อมหลังโกง ไม่ชอบความชำรุดทรุดโทรมทุกส่วนของร่างกาย เราอยากให้มันคงเดิม ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตรงนี้ ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะว่า เราไม่ยอมรับความแก่ของสังขารร่างกาย เราอยากจะไม่ให้มันแก่ เมื่อไม่ชอบความแก่เราก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเรารู้ว่า ความแก่นี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดต้องมีแก่คนทุกคน หนีไม่พ้น ในชีวิตของเราทุกวินาทีนี่เราแก่อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเด็กก็เรียกว่าแก่ขึ้น เป็นหนุ่มก็แก่ขึ้น พอเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวก็เริ่มแก่ลง เพราะว่าความแก่นี้มันขึ้นอยู่กับเวลาปรุงแต่งของร่างกาย บางคนก็แก่ลงช้า แต่บางคนก็แก่ลงเร็ว หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 01:59:25 คนที่แก่ลงเร็ว ก็คือคนที่ชอบเอายาพิษใส่เข้าไปในตัว เช่น คนชอบดื่มเหล้า ชอบเที่ยวกลางคืน อดหลับอดนอน คนประเภทนี้แก่เร็ว ร่างกายชำรุดทรุดโทรมเร็ว แต่ถ้าเป็นคนรู้จักรักษาอนามัย พักผ่อนเป็นเวลา รับประทานอาหารถูกต้อง ความแก่ก็ช้า แต่ว่ารวมแล้วมันก็แก่นั่นแหละ หนีไปจากความแก่ไม่พ้น เราต้องแก่เป็นธรรมดา แต่ว่าจิตใจเรานี่มันไม่ยอมแก่ ถ้าใครมาทักเราว่า "หือ ปีนี้ดูแก่ไป" ไม่มีใครชอบสักคนเดียว แต่ถ้าเขาทักเราว่า "เออ ดูยังหนุ่มแข็งแรงดีนี่" เรายิ้มชอบอกชอบใจ คนเรามันชอบหลอกไม่ชอบจริง เพราะไม่ชอบของจริงนี่และจึงเป็นทุกข์เรื่อยไป แต่ถ้าเรายอมรับความจริงเสีย เช่นเรื่องความแก่นี่ ยอมรับมันเสีย รับว่าแก่แล้ว ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องแตกต้องดับละยอมรับอย่างนั้น พอเรายอมรับว่าเรายอมแก่ ปัญหาเรื่องความแก่จะไม่เป็นทุกข์แก่เรา ชราปิ ทุกขา จะไม่เกิดในใจ เพราะเรายอมรับความแก่ยอมให้มันแก่ไปตามเรื่อง การรักษาการบริหารร่างกายก็ทำไปตามเรื่อง แต่ไม่ใช่ทำด้วยความอยากมากเกินไป เราทำตามหน้าที่ หน้าที่จะต้องรักษาร่างกายเพื่อใช้ ใช้ทำอะไร ใช้สำหรับประพฤติความงามความดี ล้างบ่อยๆ อัดฉีดบ่อยๆ ขับค่อยๆ อย่าให้มันเร็วเกินไป จนกระทั่งว่าเสียรูปเสียโฉมไป รถคันนั้นก็ใช้ได้นาน ร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรามันแก่เป็นธรรมดา เรารับรู้ว่าเราจะต้องแก่ แต่ว่าเราก็ต้องรักษาตามหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนรู้จักใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช้ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะความเข้าไปยึดถือว่า เราไม่แก่ อันนี้เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความแก่ เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ก็อยู่ที่ ความคิดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าคิดถูกความทุกข์มันก็น้อย ถ้าคิดไม่ถูก ก็เกิดความทุกข์ขึ้น เพราะความแก่เป็นธรรมดา หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 02:02:30 อันต่อไปท่านเรียกว่า พยาธิ คือ ความเจ็บไข้ ก็เป็นความทุกข์ของจิตใจ คนเราตามปกตินั้น ไม่มีใครชอบความไข้ แต่ว่าความเจ็บไข้ก็ต้องเกิดขึ้น อันการเกิดขึ้นของโรคภัยไข้เจ็บนั้น โรคบางอย่างเกิดเพราะความประมาท แต่โรคบางอย่างนั้น มันเกิดของมันตามธรรมชาติ เราไม่รู้สาเหตุของมัน เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น เราไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดเพราะอะไร ทำอย่างไรจึงได้เกิดโรคนั้นขึ้น ไม่มีใครรู้ แม้วิชาการแพทย์สมัยใหม่จะเจริญก้าวหน้า ก็ยังค้นหาสมุฏฐานของโรคนี้ยังไม่ได้ว่ามันเกิดมาจากเรื่องอะไร ก็พูดได้เพียงว่าธรรมชาติของร่างกาย บางคนมันอาจจะเป็นโรคนี้ขึ้นได้ เป็นโรคที่ตรงนั้นตรงนี้ หรือเป็นมะเร็งในเส้นโลหิต แล้วก็รักษาไม่ได้ ร่างกายก็ต้องเจ็บป่วย จนกระทั่งหมดลมหายใจ แต่ว่าถ้าปกติโรคอันใดที่เกิดเพราะความประมาท เพราะไม่รักษาตัว อันนี้เราต้องป้องกันได้ การป้องกันก้คือว่าเรียนให้มันรู้ ว่าพาหะของโรคคืออะไร สมุฏฐานของโรคอยู่ที่ไหน มันจะเกิดได้โดยวิธีใด แล้วเมื่อเกิดแล้วเราควรจะรักษาอย่างไร เรื่องนี้มันต้องไปถามหมอ เขาก็จะแนะนำให้ คนเราบางทีก็ประมาท เป็นอะไรนิดหน่อย ร่างกายผิดปกติ ไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ไปหาหมอตี๋ตามร้านขายยา "ฉันเป็นหวัด กินยาอะไรดี" เจ้าตี๋ก็จัดยาให้ เอาไปเคี้ยวไปกินกันตามเรื่อง กินจนกระทั่งว่าหนัก พอหนักแล้วจึงไปหาหมอ อันนี้มันไม่ถูกเรื่อง เรียกว่าอยู่ในวิสัยของความประมาท เมื่อเรารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ ควรรีบไปรักษาทันที ให้หมอตรวจเสียโดยเร็ว การรีบไปทันท่วงทีนั้น ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน เพราะเริ่มเป็นหมอตรวจรู้สมุฏฐาน ให้ยาสกัดโรคนั้นมันก็หายไว เราก็จะได้ทำงานทำการต่อไป เงินทองที่จะใช้จ่ายในการเยียวยาก็น้อย เพราะเรารีบรักษา พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าให้ประมาท แต่ถ้าเราประมาทไม่ไปรัษา โรคมันแรงแล้ว ต้องกินยามาก ต้องฉีด ต้องนอนโรงพยาบาล บางทีต้องนอนตั้งเดือนสองเดือน เสียเวลาทำมาหากิน เสียเงินเสียทองเข้าไปมากมาย อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า ผิดอยู่ในชีวิดมนุษย์เราไม่ใช่น้อย ในหลักธรรมะท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท ถ้ารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติรีบไปหาหมอเสีย ไม่ต้องเกรงใจหมอดอก หมอเขามีหน้าที่รักษาคนป่วย แต่ถ้าป่วยหนักแล้วไปหาหมอ นี่หมอรำคาญ รำคาญว่าทำไมไม่ให้ตายเสียก่อนแล้วเอาศพมาให้รักษา หมอนึกอย่างนั้น ถ้าหมอพูดได้แกคงพูดว่า "เอามาให้รักษาทำไม เอาศพมาดีกว่า" แต่หมอก็รักษามารยาทไม่พูดอย่างนั้น แต่ว่าเรานี้ไม่รู้จักรักษาตัวก็ลำบาก หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 02:09:30 ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้คนเป็นทุกข์ก็เพราะว่า เราไม่สบายใจในขณะที่มีความเจ็บเกิดขึ้น นอนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์ กินก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอันนี้คือทุกข์ประการหนึ่ง ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ ทีนี้การแก้ไขปัญหาในเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเรามีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เราก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา พิจารณาว่าความเจ็บป่วยนี้ เป็นเรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษา เวลานี้เราไม่กินยาอยู่แล้ว แต่ว่ายานี่ไม่ใช่ยาพิษ เหมือนเรื่องนิทานที่เขาเล่าไว้ พอกินยาปุ๊บโรคหายปั๊บ มันไม่มีอย่างนั้น มันต้องช้าๆ กินยาแล้วต้องคอยเวลา ให้ยามันออกฤทธิ์ไปแก้ไขในบางส่วนของร่างกายก่อน เราอย่าใจร้อน อย่าอยากให้หายเร็วเกินไป แต่บอกตัวเองว่าเวลานี้เราป่วย เราได้รับประทานยาแล้ว เราก็ต้องนอนทำใจเย็นๆ อย่าใจร้อน อย่าคิดมาก อย่าวุ่นวาย ให้พิจารณาร่างกายนี้ว่า เป็นสิ่งเปราะ หักง่าย แตกง่าย อาจจะเจ็บจะไข้ลงไปเมื่อใดก็ได้ ถ้าว่าร่างกายป่วย ใจเราเป็นทุกข์เพราะร่างกาย ก็เรียกว่าป่วยทั้งกาย ทั้งใจ แต่ถ้าเราถือว่าร่างกายป่วย ใจเราจะไม่ป่วยตามร่างกาย แต่ว่าเราจะใช้ใจสำหรับคิดค้นให้เกิดปัญญา ให้รู้จักประสบการณ์ของชีวิต ให้ถือว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นบทเรียน เป็นบทสอบไล่กำลังใจของเรา ว่าเราเป็นผู้ศึกษาธรรมะได้อ่านหนังสือธรรมะไว้บ้าง ได้ฟังธรรมะไว้บ้าง เวลาปกติก็ไม่รู้ว่าใจมันเป็นอย่างไร กำลังใจจะรู้ได้ก็เมื่อตกอยู่ในอันตราย ถ้าไม่มีอันตรายเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้กำลังใจของเรา เมื่อใดเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็จะได้ทดสอบกำลังใจ ว่าเรามีความพอใจในการที่เราป่วย การรักษาเป็นหน้าที่ของหมอ ในเรื่องร่างกาย แต่ว่าเรื่องใจเป็นหน้าที่ของเราเอง เราจะทำใจให้เย็น ทำใจให้ดี จะไม่เกิดความวิตกทุกข์ร้อนในเรื่องไข้เจ็บ ให้พอใจที่จะนอนพักผ่อนอยู่บนเตียงคนไข้ อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ยังไม่มาถึง อย่าไปคิดถึงเรื่องที่มันผ่านพ้นไปแล้ว แต่ว่าเราคิดถึงเรื่องเฉพาะหน้า ที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ว่าเราควรจะคิดอย่างไร ใจจะสบาย จะไม่วุ่นวายจะไม่เดือดร้อน ควรจะทำตนให้เป็นคนกินยาง่าย เลี้ยงง่าย ไม่ต้องให้คนอื่นพลอยเป็นทุกข์กับเรา เราจะรับความทุกข์เสียคนเดียว แล้วก็ทำใจให้สบาย ให้พอใจในสภาพที่กำลังได้รับ หรือนึกเสียว่าไข้นี้ก็ดีเหมือนกันจะได้นอนเสียบ้าง ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ค่อยได้พักผ่อน เวลาเจ็บป่วยนี่ถือว่ามานอนพักผ่อน ถ้ามานอนที่โรงพยาบาล ก็ถือว่ามาพักผ่อนที่โรงพยาบาล แล้วขณะที่พักผ่อนที่โรงพยาบาลก็ดูเพื่อนใกล้เคียง ว่าเขาเป็นอย่างไร คนเหล่านั้นก็ป่วยเหมือนกับเราเหมือนกัน ไม่ใช่ป่วยแต่เราคนเดียว หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 08:43:23 คนบางคนพอมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็นึกเอาว่า แหม! เรานี่มันอาภัพอับโชคเสียเหลือเกิน ป่วยอย่างนี้หนักที่สุด เจ็บที่สุดในโลก นึกให้มันหนักเกินไป ความจริงไม่ได้หนักอะไรดอก เรามานึกเอาเอง เมื่อหลายปีมาแล้วไปที่โรงพยาบาลศิริราช ไปเยี่ยมคนๆ หนึ่งแกเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ ซึ่งปกติก็เรียกว่าเดินไปเดินมาเรื่อย เพราะอยู่แผนกเดินรถ ทีนี้เกิดอุบัติเหตุ ขาขาดต้องตัด แล้วก็ไปนอนที่โรงพยาบาล ไปนอนอยู่ในตึกนั้น คนไข้เกี่ยวกับเรื่องกระดูกเรื่องตัดอะไรทั้งนั้น อาตมาไปถึงก็ชวนคุย คุยแล้วก็ลองถามว่าเป็นอย่างไร มาป่วยอยู่โรงพยาบาลนี่จิตใจเป็นอย่างไร แกก็บอกว่า แหม! วันแรกๆ นี่เอาการ มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ เพราะว่านึกถึงขาที่มันหายไป นึกว่าหายไปก็เดินไม่สะดวก จะทำงานทำการก็ไม่สะดวก มันต้องมีขาไม้ใส่เข้ามา เวลาเดินเหินมันไม่คล่อง เที่ยวนึกไปถึงกาลข้างหน้า ในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของชีวิต เลยก็นอนระทมตรมตรอมใจ แต่ว่าวันต่อๆ มาเห็นคนป่วยที่เขานอนป่วยบางคนป่วยมา 6 เดือนแล้ว บางคนป่วยมาปีหนึ่งแล้ว บางคนนอนคว่ำอยู่ท่าเดียว 3 เดือนนอนหงายไม่ได้ แล้วก็มีต่างๆ แกดูคนเหล่านั้น จากเตียงนี้กับเตียงโน้นเขาคุยกัน หัวเราะกัน หยอกล้อกันไป คุยกันไปสนุกสนาน แกมองๆ เขาก็ได้บทเรียน ได้บทเรียนว่ากูนี่มันโง่ มานอนเป็นทุกข์อยู่คนเดียว คนอื่นที่หนักกว่าเราเขาไม่ทุกข์ เขายิ้มหัวสบายใจ เลยก็เปลี่ยนจิตใจได้ พอใจในการที่ตนไม่มีขาข้างหนึ่ง แล้วก็นึกว่าข้างหน้าอย่างไรก็ช่างมันเถอะ เราทำใจให้สบายดีกว่า เลยคุยกับคนไข้ใกล้เคียง หัวเราะหัวไห้ร่าเริงกันไปตามเรื่อง นี้เขาเรียกว่า รู้จักหมุนจิตใจให้เข้ากับเหตุการณ์ หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 08:48:31 คนเราที่เป็นทุกข์นี่เพราะว่าไม่รู้จักเปลี่ยนใจ ให้เหมาะแก่เหตุการณ์ แดดออกจ้าอยู่เราพอใจในแสงแดด พอฝนตกลงมากลับไม่พอใจฝน นี่หมุนจิตใจ ถ้าเราหมุนจิตใจ พอฝนตกก็เออ! ดีเหมือนกันมันร้อนมาหลายวันแล้ว เย็นเสียหน่อยก็ดีแล้ว เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องฝน เจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่เจ็บไม่ป่วย เราก็ไปไหนมาไหนได้ พอไปนอนที่โรงพยาบาลก็นึกว่า เออ ดีเหมือนกัน ไม่ได้มาเห็นคนเจ็บคนป่วย ไม่ได้มีโอกาสเอาธรรมะมาพิจารณา อันนี้ไม่ต้องไปทำงาน อารมณ์เยอะแยะ ที่จะเป็นบทเรียนสอนจิตสะกิดใจ ดูสิ่งเหล่านั้นมองสิ่งเหล่านั้น ในแง่ของธรรมะ แล้วก็สอนตัว จิตใจก็สบายขึ้น ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน คนป่วยที่ใจสบายนั้นมันหายไวแต่คนป่วยที่ใจเป็นทุกข์นี่หายช้า เพราะฉะนั้น เราอยากจะหายช้าหรือว่าหายไว ใครๆ ก็อยากจะหายไวๆ เมื่ออยากจะหายไวๆ ก็อย่าทำใจให้เป็นทุกข์ แต่จงทำใจให้สบายมองในแง่ดีเสีย ความทุกข์อันเกิดขึ้นจากความเจ็บป่วยนั้นก็จะหายไป นี้ประการหนี่ง อีกประการหนึ่ง ท่านบอกว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ อันนี้มาก การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์นี่มาก คนเมื่อก่อนนี้ไม่มี แต่ต่อมามันมีอะไรขึ้นมา พอมีอะไรขึ้นมาเท่านั้นแหละ ใจมันเป็นอย่างไร ความยึดถือในสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ยึดถือว่าสิ่งนี้ของข้า ของฉัน ของเราขึ้นมาทีเดียว ความยึดถือในใจนั้นแหละ ที่มันเป็นมูลฐานที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะความพลัดพราก เช่นว่าเราอยู่ในครอบครัวสามีภรรยาอยู่ด้วยกันมา อยู่กันมาตั้งแต่หนุ่มสาว แล้วก็จนแก่เฒ่า ก็ตายไปคนหนึ่ง ภรรยาตายก่อนบ้าง สามีตายก่อนบ้าง ใครคนหนึ่งตายไป คนที่อยู่ข้างหลังก็เป็นทุกข์ทุกข์เพราะอะไร เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจเราเคยอยู่กันมา บางทีก็บ่นพิรี้พิไร แล้วคิดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง แล้วเวลานั่งก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ ยืน เดิน กิน อยู่เป็นทุกข์ทั้งนั้น ความทุกข์อย่างนี้เกิดจากพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มารดาที่มีลูกน้อยที่น่ารัก น่าเอ็นดู เลี้ยงดูมา เกิดมาใหม่ๆ ยังไม่ได้เลี้ยง ตายก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์เท่าไร แต่ถ้าเลี้ยงมาพอนั่งได้นอนได้ ยิ้มหัวเราะได้พูดจาได้คำสองคำ พอเห็นแม่ร้องว่า มะ มะ ขึ้นมาแล้วก็แหม! น่ารักน่าเอ็นดู พอเด็กนั้นมาตายลงไป แม่นี้ไม่เป็นตัวเอง ร้องไห้ร้องห่มเป็นทุกข์เสียเหลือเกิน เพราะลูกชายจากไป อย่างนี้เป็นทุกข์มาก หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 12:29:40 มีมารดาคนหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ลูก 2 คนไปโรงเรียนไปรับเองกลัวลูกจะเป็นอันตราย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่นั่นแหละ ไปรับลูก ลูกเดินไปข้างหน้าแม่ รถยนต์คันหนึ่งมันเป็นรถชนิดที่เรียกว่ารถมฤตยู ขับมาเฉี่ยวเอาลูก 2 คนตายไปต่อหน้าต่อตา แม่ไม่ตายเฉี่ยวเอาลูก 2 คนตาย บอกว่ามันติดตามาตลอดเวลา เป็นทุกข์ตลอดเวลา พูดอะไรให้ฟังแกก็บอกว่า มันเสียใจ ถามว่าเสียใจเรื่องอะไรเสียใจว่ามันตายไปต่อหน้าต่อตา เราอยู่กับเขาแท้ๆ ยังป้องกันเขาไม่ได้ แล้วใครมันจะป้องกันใครได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สัตว์โลกนี้ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีผู้ต้านทาน ใครจะมาป้องกันใครไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ ป้องกันใครไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้ ป้องกันไม่ ให้ตายก็ไม่ได้ แต่ไม่คิดในความจริงข้อนั้น นึกถึงภาพว่าลูกตายไปต่อหน้า เสียใจว่าอยู่เฉพาะหน้ายังช่วยไม่ได้ แล้วความจริงนั้นใครจะช่วยใครได้ คนที่ตายๆ ตายเฉพาะหน้าทั้งนั้น คนเจ็บลูกหลานมานั่งดูอยู่ บอกว่าดูใจ จะได้เห็นใจ ความจริงก็ได้เห็นอะไร คนที่นั่งอยู่นั้นเห็นอะไรมั่ง เปล่านั่งดูเฉยๆ เท่านั้นเอง คนตายปกติไม่ทุรนทุราย นอนหลับตาหายใจเบาลงๆ ก็ดับวูบไป จะเห็นใจได้อย่างไร ไม่ได้เห็นใจแต่ว่าเห็นร่างกายของผู้ตายเท่านั้น แต่เราพูดกันอย่างนั้นอยู่ เพื่อได้เห็นใจกัน ความจริงไม่เห็น แล้วคนตายก็พูดไม่ได้ พูดไม่ออก เราพูดพร่ำก็ไม่ได้ยิน เพราะเวลาไกล้ตายนั้นหูอื้อตาลายมองอะไรไม่เห็น ฟังอะไรก็ไม่รู้ แต่ลูกหลานก็อุตส่าห์เข้าไปเป่าข้างหูมั่ง อะไรมั่ง อยากจะแนะนำว่า อย่าไปยุ่งอย่างนั้น คนจะตายนี่อย่าไปยุ่ง นั่งดูเฉยๆ อย่ารบกวน บีบตรงนั้น นวดตรงนี้ ทางที่ดีที่สุดเวลาเราไปเฝ้าคนไข้หนัก อย่าไปยุ่ง ให้หมอทำเรื่องของหมอไป หมอเขาให้หยูกให้ยาไปตามเรื่อง แต่คนถึงขั้นโคม่า เจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจ เรานั่งเฉยๆ อย่าไปร้องไห้ร้องห่ม แสดงอาการให้มันวุ่นวาย นั่งเฉยๆ เงียบๆ ให้นึกถึงว่า เออ มนุษย์เราเกิดมาก็เท่านี้แหละ จะตายอยู่แล้ว อะไรๆ ก็เอาไปไม่ได้ นึกไปในรูปอย่างนั้นดีกว่า อย่าไปรบกวนคนป่วยให้วุ่นวาย บางคนไปกอดอกซบหัววุ่นวายไปหมด อย่าไปทำอย่างนั้น ให้นั่งเฉยๆ ดูท่านไป เวลาท่านหมดลมท่านก็วูบไป ตาหลับ บางทีก็ไม่หลับ แต่ว่าลมหายใจไม่มี เงียบไปเอง แล้วก็รู้ว่าหมดลมหายใจอันนี้จะดีกว่า อย่าไปเที่ยววุ่นวายกับท่าน คนแก่บางคนสั่งเลย บอกว่าเวลากูเจ็บหนักใกล้จะตาย อย่ามายุ่งนัก นั่งดูเฉยๆ กูจะทำจิตทำใจอะไรของกูเอง กูฟังเทศน์ฟังธรรมมาเยอะแล้ว ไม่ต้องมาสอนกูตอนนั้นดอก หัวข้อ: Re: รวมธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 31 พฤษภาคม 2553 13:06:45 เพราะท่านเคยเห็นว่าลูกหลานนี่มันวุ่นวายตอนนั้น แล้วคนป่วยนั้นถึงไม่ถึงขั้นโคม่าก็อย่าไปยุ่ง อย่าไปถามรบกวน แล้วคนแก่ก็เหมือนกัน เรื่องอะไรๆ จัดเสียก่อนที่มันจะเจ็บจะไข้ รู้ว่าร่างกายของเรานี้ มันทรุดโทรมเต็มทีแล้ว มีอะไรก็จัดเสียให้เรียบร้อย เขียนพินัยกรรมเสีย เขียนเองก็ได้พินัยกรรม ไม่ต้องให้ใครเขียนให้บอกความจำนงไว้ ตรงนั้นให้คนนั้น ตรงนี้ให้คนนี้ ก่อนที่จะหมดลมหายใจ จัดการเสียให้เรียบร้อย ไม่ต้องให้ลูกหลานต้องทะเลาะเบาะแว้งกันในภายหลัง ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่วุ่นวาย เราทำถูกตามหน้าที่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์มากเกินไป เพราะปัญหาอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องของความทุกข์ เพราะความพลัดพรากจากของรักของชอบ ถ้าเราเตรียมตัวไว้ก่อน พิจารณาไว้ก่อน ท่านสอนให้พิจารณาอย่างไร คือให้พิจารณาว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา เรามีอะไรอยู่ก็ใช้ไปเถอะ แต่บอกตัวเองว่า ใช้ไม่เท่าใดดอกมันจะจากเราไป ไม่เท่าใดดอก เราจะต้องจากมันไป ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราตลอดไป บอกไว้อย่างนั้นเตรียมเนื้อเตรียมตัว บอกตัวเองไว้ล่วงหน้า พอมีเหตุการณ์พลัดพรากเกิดขึ้น เราก็ร้องอ๋อ ! ได้ เออ? กูว่าไว้นานแล้ว ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป คนเราเวลาเกิดไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป สิ่งทั้งหลายที่เราได้ใช้ได้กินอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ ถือว่าเป็นของยืมมาทั้งนั้น ยืมมาชั่วคราว ยืมแล้วต้องส่งคืนเอาไปไม่ได้ พอเราจะไปก็ส่งคืนเขา ทรัพย์สมบัติก็ส่งคืนธรรมชาติ ร่างกายก็ส่งคืนธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เรานึกอย่างนั้น ใจก็ไม่ยึดมากเกินไป มีทรัพย์สมบัติก็ใช้ไปตามหน้าที่ บำรุงศาสนา บำรุงสาธารณกุศล อะไรพอจะช่วยได้ก็ช่วยไปตามเรื่อง ใช้สมบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ท่านตามสมควรแก่ฐานะ พอถึงบทที่เราจะจากไป เราก็อย่าไปอาลัยอาวรณ์ ว่าเออ เสียดายสิ่งนั้น เสียดายสิ่งนี้ ไม่เข้าเรื่องเป็นทุกข์เปล่าๆ ความพลัดพรากจากของชอบใจเป็นทุกข์ เพราะว่าเราไม่ได้พิจารณา แต่ถ้าเราได้พิจารณาแก้ไขไว้ ความทุกข์ในเรื่องนั้นก็จะไม่เกิดมีขึ้น อันนี้เป็นการปฏิบัติชอบอันหนึ่ง พูดมาวันนี้ก็สมควรแก่เวลา จึงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้. (http://www.shallwe-travel.com/images/uploads/image/800PX-~1.JPG) หอพระแก้ว : "อดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต" ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงประเทศลาว Pic by : http://www.shallwe-travel.com/service?id=233 (http://www.shallwe-travel.com/service?id=233) |