[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2562 14:35:15



หัวข้อ: 'นวดไทย' มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล?
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2562 14:35:15

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48584458231925__696x364_1_320x200_.jpg)

'นวดไทย' มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล?    


คนทั่วไปคิดว่า “นวดไทย” มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดูจะภูมิใจด้วย และคิดโยงไปว่าการแพทย์แผนไทย การนวดไทยเป็นการแพทย์ที่ดูแลรักษาพระพุทธเจ้าเอาเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า ในสังคมอินเดียโบราณนั้นก็มีการแพทย์ดั้งเดิมในยุคนั้น ซึ่งมีทั้งการแพทย์แบบอายุรเวท และยังมีการแพทย์พื้นบ้านดั้งเดิมของอินเดียโบราณด้วย

ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นก็เริ่มมีการแพทย์ในพุทธาราม ซึ่งมีวัดเป็นดั่งโรงพยาบาลทำการบริการบำบัดรักษาผู้คนผ่านทางและคนที่เข้ามาในวัด

ดูเหมือนว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับการขยายตัวทางการแพทย์จะมาคู่กัน

เรื่องราวทางการแพทย์บางส่วนถูกรวบรวมมาอยู่ในวินัยวัดในยุคแรก จนทำให้เกิดวัฒนธรรมการแพทย์ในแบบพุทธาราม ความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกื้อกูลกันระหว่างพุทธศาสนากับการแพทย์ช่วยส่งเสริมการขยายตัวของพุทธศาสนาในอินเดีย นำไปสู่การสอนการแพทย์ในกลุ่มวัดต่างๆ ในอินเดียอย่างแพร่หลาย
และช่วยให้เกิดความยอมรับในพุทธศาสนาในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

(สนใจลองอ่าน ลัทธินักพรตและการเยียวยาในอินเดียโบราณ : ระบบการแพทย์ในพุทธอาราม มูลนิธิโกมลคีมทอง ๒๕๕๒)
 
ถ้าพูดในทางกลับกัน แทนที่จะอ้างว่า นวดไทยคือนวดในสมัยพุทธกาล ก็ควรพูดใหม่ได้ว่า การแพทย์แผนไทยและนวดไทยน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมการแพทย์ของอินเดีย และมีการผสมผสานซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาในสายของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ซึ่งมีพุทธศาสนาเป็นแกนกลางของการแพทย์แผนไทยด้วย เพราะใช้หลักพุทธธรรมและพระสูตรหลายพระสูตรที่กลายเป็นที่มาแห่งคัมภีร์การแพทย์แผนไทย เช่น มหาตัณหาสังขยสูตร ยักขสังยุตอินทก อัคคัญสูตร เป็นต้น

การอ้างว่า นวดไทยคือนวดในสมัยพุทธกาลไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าสมัยพุทธกาลไม่มี “นวด” มูลนิธิสุขภาพไทยทำการศึกษาในพระไตรปิฎก พบว่ามีการกล่าวถึง “นวด” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้กำหนดวินัยเกี่ยวกับการนวดไว้ว่า อะไรที่ทำได้ ไม่ผิด อะไรที่ทำแล้วเป็นอาบัติ  ดังนี้
 
วินัยว่าด้วย การนวดภิกษุ ซึ่งมีบันทึกในพระไตรปิฎก ไว้ ๓ ลักษณะ คือ
๑) การนวดพระภิกษุที่อาพาธ และภิกษุนั้นมรณภาพ โดยไม่มีเจตนาฆ่านั้น ไม่เป็นอาบัติ
๒) การนวดพระภิกษุที่อาพาธโดยมีเจตนาฆ่า และภิกษุนั้นมรณภาพ เป็นอาบัติปาราชิก
๓) การนวดพระภิกษุที่อาพาธโดยมีเจตนาฆ่า แต่ภิกษุนั้นไม่มรณภาพ เป็นอาบัติถุลลัจจัย

วินัยว่าด้วย การนวดภิกษุณี ก็มีในพระไตรปิฎกเช่นกัน ได้แก่
๑) ภิกษุณีใช้ภิกษุณีบีบนวดเป็นอาบัติปาจิตตีย์
๒) ภิกษุณีใช้สิกขมานา สามเณรีหญิงคฤหัสถ์บีบนวด เป็นอาบัติปาจิตตีย์
๓) ภิกษุณีต่อไปนี้ ไม่ต้องอาบัติ คือ ภิกษุณีผู้เป็นไข้ ภิกษุณีผู้มีเหตุขัดข้อง ภิกษุณีวิกลจริต ภิกษุณีต้นบัญญัติ

หลักฐานในพระไตรปิฎกพอจะสรุปความได้ว่า มีพระวินัยที่เกี่ยวกับการนวดในภิกษุและภิกษุณีแสดงว่า มีการใช้การนวดเพื่อการเยียวยาภิกษุที่อาพาธในชุมชนสงฆ์และไม่ถือเป็นอาบัติ ยกเว้นมีเจตนาที่ไม่เป็นไปเพื่อการรักษา และมีการใช้การนวดในหมู่ภิกษุณีที่ไม่อาพาธ พระพุทธเจ้าบัญญัติว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย จึงกำหนดให้เป็นอาบัติ หากพูดง่ายทำนองว่า นวดเพื่อความสบายสนุกสนานจะอาบัติไม่ทรงอนุญาต ยกเว้นนวดเพื่อรักษาจึงทำได้นั่นเอง

จากการสืบค้นในพระไตรปิฎกพบว่า ยังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับที่มีการอ้างว่าพระพุทธเจ้าใช้การนวดเพื่อเยียวยาอาการอาพาธของพระองค์ ซึ่งมีการกล่าวอ้างถึงในสื่อออนไลน์หรือพูดกล่าวอ้างไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฏเลย

และไม่มีการกล่าวถึงการนวดในพระสูตรด้วย
 
นวดไทย มาจากไหน?

น่าจะเป็นภูมิปัญญาที่ผสมผสานสืบต่อมาจากชนชาติไทยอันยาวนานในดินแดนแห่งนี้ และก็ควรยอมรับด้วยว่าพุทธศาสนาได้มีอิทธิพลและบทบาทต่อการนวดไทยและการแพทย์แผนไทยอย่างสูง โดยหลักธรรมและวินัยของพระพุทธศาสนาได้เป็นจุดมุ่งหมาย ปรัชญา และจรรยาบรรณ ของนวดไทยและการแพทย์แผนไทย

ทฤษฎีทางการแพทย์ และสมุฏฐานของนวดไทย และการแพทย์แผนไทย ก็ได้รับเอามาจากพระพุทธศาสนาด้วย และการนวดไทยน่าจะได้รับการแลกเปลี่ยนความรู้จากทฤษฎีของโยคะ และอายุรเวทอินเดียมาผสมผสานตามเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย รวมทั้งการนวดไทยที่เป็นมรดกภูมิปัญญาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้เองด้วย

ดังปรากฏบันทึกนวดไทยที่เก่าแก่ที่สุด พบในสมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) มีหลักฐานปรากฏเป็นครั้งแรกในทำเนียบ ศักดินาข้าราชการฝ่ายพลเรือน  กล่าวคือ มีข้าราชการในกรมแพทยา กรมแพทยาโรงพระโอสถ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) รวบรวมตำรับยาขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ และมองสิเออร์เดอลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เข้ามาในกรุงสยาม พ.ศ.๒๒๓๐-๒๒๓๑ ได้เขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์

กล่าวถึงหมอนวดว่า “ชอบขยำบีบไปทั่วตัว เมื่อใครป่วยไข้ลงในกรุงสยาม บางทีก็ขึ้นเดินเอาเท้าเหยียบบนกายคนไข้ แม้ในสตรีก็พอใจให้เด็กเหยียบที่หลังเพื่อให้คลอดบุตรง่าย”

แม้ว่าหลักฐานต่างๆ ยังมีอยู่จำกัด ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า นวดไทยเริ่มมาจากไหนแน่ จึงควรให้ผู้รู้ช่วยทำการสืบค้นและวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของการนวดไทย แต่ก็ให้มั่นใจว่า นวดไทยมีราก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

มีศักยภาพดีในการดูแลสุขภาพชาวไทยและชาวโลกได้
 

มติชนสุดสัปดาห์