[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 19 มิถุนายน 2554 21:28:23



หัวข้อ: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 13 สุขวิหารปริวรรต ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 มิถุนายน 2554 21:28:23


                 (http://www.buildboard.com/images/attachpic/B1967/B1967F6715T28819_c13e227d81d76ebb3984ba8c7b7fe82d.jpg)

พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 13
สุขวิหารปริวรรต
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข


        ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระมัญชุศรีกุมารภูตะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง ที่พระโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่านี้ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่านี้ จะประกาศในกาลสมัยสุดท้าย ได้อย่างไร" เมื่อ พระมัญชุศรีกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับพระมัญชุศรีกุมารภูตะว่า ดูก่อนมัญชุศรี ธรรมบรรยายนี้อันพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมทั้ง 4 พึงประกาศในกาลสมัยสุดท้าย ธรรม 4 คืออะไรบ้าง ดูก่อนมัญชุศรี่ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในอาจารโคจร  พึงประกาศธรรมบรรยายนี้ในกาลสมัยสุดท้าย ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในอาจารโคจร เป็นอย่างไร? ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ เป็นผู้อดทนอย่างไร? เป็นผู้ระงับ เป็นผู้เข้าถึงภูมิแห่งความระงับ เป็นผู้มีใจไม่ตระหนก ไม่วู่วาม ไม่คิดร้าย ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมไม่ยึดติดในธรรมใดๆ จักพิจารณาเห็นลักษณะของตน ตามความเป็นจริงในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ไม่วิจารณ์ เป็นผู้ไม่ตรวจสอบในธรรมเหล่านี้

ดูก่อนมัญชุศรี เราเรียกสิ่งนี้ว่า อาจาระ ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ดูก่อนมัญชุศรี (วิสัย) ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์เป็นอย่างไร ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ไม่รับใช้ ไม่สามาคม ไม่คบ ไม่เข้าใกล้ ไม่เข้าหาพระราชา ราชบุตร ราชอำมาตย์ ราชบุรุษ ไม่รับใช้เดียรถีย์ อเจลกะ ปริพาชก อาชีวกและนิครนถ์อื่น หรือสัตว์ทั้งหลาย ผู้หลงใหลในกาพย์ศาสตร์ (วรรณคดี) ไม่คบ ไม่เข้าหา ไม่รับใช้ ผู้นิยมมนตร์ของโลกายัต (ของจารวาก) และผู้นับถือลัทธิโลกายัต  ย่อมไม่สร้างความสัมพันธ์ กับชนเหล่านั้น ไม่เยี่ยมคนจัณฑาล น้ำมวยปล้ำ คนเลี้ยงสุกร คนเลี้ยงไก่ คนล่ากวาง คนล่าเนื้อ นักฟ้อนระบำ นักกระบี่กระบอง และนักรำดาบ ไม่เข้าไปสู่สถานที่อื่น อันเป็นแหล่งบันเทิงและเล่นกีฬาของชนเหล่าอื่น ไม่ควรสมาคมกับชนเหล่านั้น นอกจากสอนธรรมตามกาลแก่ชนเหล่านั้น ผู้เข้ามาหา ย่อมสอนโดยไม่หวัง(ทรัพย์) ไม่รับใช้ ไม่คบ ไม่เข้าหา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติตามลัทธิสาวกยาน ไม่สมาคมกับชนเหล่านั้น ไม่ร่วมโคจรด้วยความตั้งใจกับชนเหล่านั้น  ในที่เดินจงกรมหรือในที่พัก (วิหาร) นอกจากสอนธรรมตามกาลแก่ชนเหล่านั้น ผู้เข้ามาหา ย่อมสอนโดยไม่หวัง (ทรัพย์) ดูก่อนมัญชุศรี นี่คือโคจรของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

        ดูก่อนมัญชุศรี ยิ่งกว่านั้น พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมไม่ยึดถือนิมิตความเรียบร้อยอย่างอื่น แล้วแสดงธรรมบ่อยๆ ไม่เป็นผู้ปรารถนาจะพบมาตุคามบ่อยๆ ไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ไม่พึงกล่าวกับเด็กหญิงบ่อยๆ ไม่ควรสนิทสนมกับเด็กสาวหรือหญิงสาว ไม่ควรแสดงธรรมแก่กระเทย ไม่ควรสมาคมและสนิทสนมกับกระเทยนั้น ไม่ควรไปบ้านเพียงผู้เดียว เพื่อประโยชน์แก่ภิกษา นอกจากยังภาวนาระลึกถึงพระตถาคตอยู่ ถ้าจะแสดงธรรมแก่มาตุคามอีกในที่สุด เขาไม่ควรแสดงธรรม ด้วยความเสน่หาในธรรม จะป่วยกล่าวไปไย ด้วยความเสน่หาในสตรีอีกเล่า  โดยที่สุด แม้วลีแห่งฟัน(หัวเราะ)ก็ไม่ควรแสดง จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการแสดงความเปลี่ยนแปลงใบหน้าของผู้พบเห็นกันอีกเล่า ย่อมไม่ใกล้ชิดกับสามเณร สามเณรี ภิกษุ ภิกษุณี กุมารและกุมารี ไม่สมาคมและไม่สนทนากับชนเหล่านั้น ไม่เน้นหนักในการสนทนา โต้ตอบ อมคบหาด้วยการสนทนาโต้ตอบชั่วขณะ ดูก่อนมัญชุศรี นี้แหละที่เรียกว่า โคจรข้อที่หนึ่งของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

        ดูก่อนมัญชุศรี ยิ่งกว่านั้นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมเห็นธรรมทั้งปวงว่า เป็นศูนยตา ย่อมเห็นธรรมทั้งหลาย ว่าตั้งอยู่ตามความเป็นจริง มีสถานะที่ไม่เปลี่ยนแปลง มีสถานะที่เป็นจริง ไม่คลอนแคลน ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ถอยกลับ มีสถานะที่เป็นจริง มีภาวะเป็นอากาศอยู่เหนือคติที่จะกล่าวถึง ไม่เกิด ไม่มี ไม่มีจริง มีรวมกัน  ไม่ต่อเนื่องกัน ดำรงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจะรวมนำมากล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่ประจักษ์ ซึ่งปรากฏตรงข้ามกับความรู้ (เห็นผิด) ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมพิจารณาธรรมทั้งปวงบ่อยๆ เมื่ออยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ย่อมตั้งอยู่ในโคจร ดูก่อนมัญชุศรี โคจรนี้เองเป็นฐานะที่สองของพระโพธิสัตว์

        ได้ยินว่า ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาค เพื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ ด้วยมาตราจำนวนมากจึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

1      พระโพธิสัตว์ ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้แกล้วกล้า พึงปรารถนาประกาศพระสูตรนี้ ในกาลภายหลังที่โหดร้าย

2      พระโพธิสัตว์ พึงรักษาอาจาระและโคจร พึงสร้างความบริสุทธิ์ พึงงดเว้นการสมาคม (สดุดี) กับพระราชาและราชบุตรเป็นนิตย์

3      ไม่พึงสมาคมกับราชบุรุษทั้งหลาย ไม่ควรคบกับคนจัณฑาลและนักมวย รวมทั้งนักเลงสุราและพวกเดียรถีย์โดยประการทั้งปวง

4       ไม่ควรเป็นคนมีอหังการ ควรตั้งมั่นในคัมภีร์วินัย ควรเว้นจากภิกษุผู้ทุศีล ผู้สมมุติตนว่า เป็นพระอรหันต์

5       พึงหลีกเลี่ยงภิกษุณี  ผู้มีโคจรด้วยถ้อยคำร่าเริงเป็นนิตย์ พึงงดเว้นอุบาสิกาผู้มีความเสื่อมเป็นที่ปรากฏ

6      อุบาสิกาเหล่าใด แสวงหาความประพฤติในธรรมที่ประจักษ์  พระโพธิสัตว์ควรสมาคมกับอุบาสิกาเหล่านั้น อย่างนี้เรียกว่าอาจาระของพระโพธิสัตว์

7      บุคคลใดเข้าไปหาพระโพธิสัตว์นี้ แล้วถามธรรมในพระโพธิญาณอันประเสริฐ พระโพธิสัตว์ ผู้เป็นปราชญ์ไม่หวั่นไหว(ลาภ) พึงบอก(ธรรม) แก่ผู้นั้นทุกเมื่อ หลีกเลี่ยงหญิงสาวและกุมารีในตระกูลทั้งหลาย

8       ไม่พึงให้สตรีเหล่านั้น ยินดีว่า ขอกุศลจงเกิดเพื่อถามถึงความสุข พึงเว้นการสมาคมกับคนเลี้ยงหมูและแพะ

9       ชนเหล่าใด เบียดเบียนสัตว์ต่างๆ เพราะต้องการทรัพย์ ชนเหล่าใด ขายเนื้อแก่ร้านค้า พระโพธิสัตว์พึงเว้นการสมาคมกับชนเหล่านี้

10     พระโพธิสัตว์ พึง เว้นจากการสมาคมกับบุคคลเป็นพ่อเล้า (แม่เล้า) (ผู้เลี้ยงดูโสเภณี) นักฟ้อน นักรำกระบี่กระบอง นักรำดาบ และชนเหล่าอื่นที่เป็นที่เป็นเช่นนั้น

11     ชนอื่นใด ที่มีความประพฤติเพื่อทรัพย์ พระโพธิสัตว์ ไม่ควรคบหาชนเหล่านั้น พึงงดเว้นการสนทนาโต้ตอบกับชนเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง

12     บัณฑิต เมื่อจะแสดงธรรมแก่มาตุคาม ไม่พึงไปเพียงผู้เดียว ไม่ควรหยอกล้อกับสตรี

13     ถ้ามีความต้องการอาหาร จำเป็นต้องเข้าไปสู่หมู่บ้านบ่อยๆ ภิกษุพึงมีภิกษุรูปที่สองเดินทางไปด้วย หรือพึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า

14     ฐานะที่หนึ่ง คืออาจารโคจรนี้ ที่เราแสดงแล้ว ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ที่ทรงจำพระสูตรเช่นนี้ ย่อมดำรงอยู่ด้วยฐานะที่หนึ่ง

15     เมื่อบุคคลไม่ประพฤติธรรม ในชนชั้นต่ำ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ที่รวมกันหรือแยกกัน ที่เป็นจริง หรือไม่เป็นจริง โดยประการทั้งปวง

16     ผู้ฉลาด ย่อมไม่จำแนกว่า นี่คือสตรี ไม่กำหนดว่า นี่คือบุรุษ เมื่อแสวงหาธรรมทั้งปวง ย่อมไม่พบจากสิ่งที่ยังไม่เกิด

17     เพราะว่า สิ่งนี้เรียกว่าอาจาระของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง โคจรเป็นอย่างไร ขอท่านทั้งหลาย จงฟังโคจรของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จากการประกาศ(ของเรา)

18     ธรรมเหล่านี้ทั้งปวง เราประกาศแล้วว่า ไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เกิด ไม่มีความปรารถนา เป็นศูนยตา ตั้งอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ นี้เรียกว่าโคจรของบัณฑิตทั้งหลาย

19     ชนเหล่านี้ ผู้มีความรู้ที่เปลี่ยนแปลง(เห็นผิด) ถูกกำหนดแล้วว่า มีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง เป็นสิ่งตั้งมั่น ธรรมที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้เปลี่ยนแปลงไป

20     ผู้มีจิตเลิศเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่นในกาลทุกเมื่อ เป็นผู้มั่นคงราวกับยอดเขาสุเมรุ ผู้ตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ พึงพิจารณาเห็นธรรมทั้งปวงเหล่านั้นว่าเป็นอากาศธาตุ

21     ธรรมทั้งหลายที่ตั้งอยู่ตลอดกาล เสมอด้วยอากาศ ไร้สาร ไม่เคลื่อนไหว ปราศจากการปรากฏ นี้แลเรียกว่า โคจรของบัณฑิตทั้งหลาย

23     ภิกษุผู้รักษาครรลองความประพฤติอันงดงาม (ในศาสนา) ของเรา เมื่อเรานิพพานแล้วพึงประกาศพระสูตรนี้ในโลก ความเหน็ดเหนื่อยของภิกษุ ก็จะไม่มี

24     บัณฑิต ผู้คิดอยู่ตามกาล พึงเข้าไปสู่ที่อาศัย ครั้นเข้าไปแล้วอย่างนั้น จงพิจารณาธรรมนี้ทั้งปวง ด้วยอุบายอันแยบคาย เมื่อมีจิตไม่หวั่นไหวแล้วจึงลุกขึ้นแสดงธรรม



หัวข้อ: Re: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 13 สุขวิหารปริวรรต ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 มิถุนายน 2554 21:31:14


    (http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/fa/Goryeo-Avalokiteshvara-1310-kagami_Jinjya_Temple.jpg)

นอกจากนั้น พระมัญชุศรีโพธิสัตว์มหาสัตว์ เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว ในกาลสมัยสุดท้าย เมื่อพระสัทธรรมเสื่อมลง ประสงค์จะประกาศธรรมบรรยายนี้ จึงดำรงอยู่ด้วยความสุข พระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ด้วยความสุขนั้นจักกล่าวธรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (ที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางคัมภีร์) เมื่อจะแสดงธรรม ไม่ควรวิจารณ์คัมภีร์ของบุคคลอื่น ไม่ควรตำหนิภิกษุ ผู้แสดงธรรมรูปอื่นๆ ไม่ควรพูดถึงปมด้อย ไม่พูดถึงเรื่อที่ไม่ดี (ของบุคคลอื่น) เมื่อเอ่ยชื่อของภิกษุสาวกยานเหล่าอื่น ไม่ควรกล่าวถึงเรื่องที่ร้าย ไม่วิจารณ์เรื่องที่ไม่ดี ไม่อาฆาตผู้ที่เป็นปรปักษ์ ในสำนักของนิกายเหล่านั้น เพราะเหตุไร? เพราะสถานการณ์กำลังอยู่ในความสงบสุข พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมแสดงธรรมด้วยความอนุเคราะห์แก่ผู้ฟังธรรมที่มาแล้วโดยไม่ให้เกิดเฉพาะ (บุคคล) ที่ไม่โต้แย้ง เมื่อถูกถามปัญหา ไม่ควรตอบตามแบบสาวกยาน แต่ควรหลีกเลี่ยงเหมือนผู้บรรลุพระพุทธญาณแล้ว

        ได้ยินว่า เวลานั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

26    ผู้ฉลาด ดำรงอยู่ด้วยความสุข ในกาลทุกเมื่อ กระทำความโอบอ้อมอารีที่ได้มาด้วยปัญญา ให้เป็นอาสนะนั่งอย่างสบาย แล้วกล่าวธรรมในประเทศคือแผ่นดินที่ชำระแล้ว ซึ่งรู้ได้ด้วยใจ

27     ผู้ฉลาดนั้น ครองจีวรที่ชำระแล้ว ย้อมดีแล้ว ด้วยสีอย่างดี สละผ้าสีดำที่ไม่ควรใช้ แล้วครองผ้าสีอันมีประมาณมาก

28     เมื่อนั่งบนอาสนะ ซึ่งมีที่วางเท้าห่อหุ้มด้วยผ้าอันวิจิตร มีศีรษะและใบหน้าที่เบิกบาน ได้ยกเท้าที่ชำระแล้วขึ้น

29     เมื่อนั่งบนอาสนะแล้ว และเมื่อสัตว์ผู้มีความประสงค์อย่างเดียวกันมาพร้อมแล้ว จึงบรรยายธรรมกถา อันวิจิตรจำนวนมาก แก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย

30     บัณฑิตนั้น เมื่อถูกชนทั้งหลายถามปัญหา ย่อมแสดงอรรถนั้น โดยลำดับอีก เขาจะแสดงธรรมที่มีประโยชน์ เพื่อให้ผู้ฟังได้พระโพธิญาณในภพ

31     ----

32     ผู้เป็นบัณฑิต พึงเว้นจากความเหน็ดเหนื่อย ไม่ยังความรู้สึกอ่อนเพลียให้เกิดขึ้น พึงงดเว้นความไม่ยินดีทั้งปวง พึงยังพลังแห่งเมตตาให้เกิดขึ้นแก่บริษัท

33     บัณฑิตนั้น พึงกล่าวธรรมอันเลิศทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยตัวอย่างหลายหมื่นโกฏิ พึงยังบริษัท ให้ร่าเริง ยินดี โดยไม่คิดและไม่ปรารถนาสิ่งใด

34     บัณฑิต ไม่พึงคิดถึงขาทนียะ โภชนียะ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้า ที่นอน ที่นั่ง จีวร และคิลานเภษัช ไม่พึงปรารถนาสิ่งใดจากบริษัท

35     ผู้ฉลาดพึงคิดเสมอว่าเราจะยังสัตว์เหล่านี้ให้เป็นพุทธะได้อย่างไร เราประกาศธรรมใด เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก ธรรมนั้นต้องเป็นที่ตั้งแห่งความสุขของสัตว์เสมอ

36     เมื่อเราปรินิพพานแล้ว ภิกษุผู้ไม่มีความริษยา พึงประกาศธรรมนี้ เธอย่อมไม่มี ความทุกข์ อันตราย ความเศร้าและความคับแค้นใจใดๆ

37    ใครๆไม่พึงทำให้เธอนั้นสะดุ้ง ไม่พึงทุบตี ไม่พึงกล่าวร้ายเธอ เสียงขับไล่ก็ไม่เกิดแก่เขา เพราะเธอดำรงอยู่ด้วยขันติธรรม

38     บัณฑิตย่อมดำรงอยู่ด้วยความสุข เหมือนอย่างที่เรากล่าวแล้วว่า บัณฑิตผู้ดำรงอยู่อย่างนี้ ย่อมเจริญด้วยคุณหลายร้อยโกฏิ จนไม่อาจจะพรรณาได้ในเวลาร้อยกัลป์

        ยิ่งกว่านั้น พระมัญชุศรีโพธิสัตว์มหาสัตว์ เมื่อพระตถาคตพระนิพพานแล้ว ผู้อยู่ในกาลสุดท้ายแห่งความเสื่อมของพระสัทธรรม พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้รักษาพระสูตรนี้ เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่กล่าวตำหนิติเตียน ไม่ดูหมิ่นบุคคลผู้นับถือโพธิสัตวยานเหล่าอื่น ไม่เปิดเผยความชั่วของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้นับถือสาวกยาน ปัจเจกพุทธยาน และโพธิสัตวยานเหล่าอื่นว่า ดูก่อนกุลบุตรทั้งหลาย ท่านทั้งหลายยังอยู่ไกล จากอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านทั้งหลายย่อมไม่ประจักษ์ในพระโพธิญาณนั้น ท่านย่อมอยู่ในความประมาทอย่างยิ่ง ท่านไม่มีกำลังที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณ เขาไม่ควรเปิดเผยความชั่วของผู้นับถือโพธิสัตวยานคนใด เป็นผู้ไม่ยินดีในการวิวาท เพราะธรรมย่อมไม่ก่อธรรมวิวาทกับใครๆ ไม่ละเว้นพลังแห่งเมตตา ในสำนักของสัตว์ทั้งปวง ย่อมยังความรู้คุณบิดา ให้เกิดขึ้นในสำนักของพระตถาคตทั้งปวง ยังการรู้คุณพระศาสดา ให้เกิดขึ้นในสำนักของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง พระโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่าใดในโลกทั้ง 10 ทิศ เขานอบน้อมแสดงธรรมที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ด้วยความเคารพ ด้วยใจเป็นกลางบ่อยๆ เมื่อจะแสดงธรรมเขาย่อมแสดงธรรมที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ด้วยความรักในธรรมที่สม่ำเสมอ เมื่อจะประกาศธรรมบรรยายนี้ เขาย่อมไม่จับเอาเฉพาะตอนที่ดียิ่งเพราะใจรักในธรรมเป็นที่สุด

       ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ประกอบด้วยธรรมข้อที่สามนี้ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ตรงกับกาลที่พระสัทธรรมเสื่อมถอย เมื่อจะประกาศธรรมบรรยายนี้ ย่อมอยู่อย่างมีความสุข เป็นผู้มีจิตที่ไม่ถูกเบียดเบียน ย่อมประกาศธรรมบรรยายนี้ ในการสนทนาธรรมของเธอย่อมมีสหายทั้งหลาย ผู้ฟังธรรมของเธอก็จักเกิดขึ้น ชนผู้ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ย่อมเกิดศรัทธา ศึกษา ท่องจำ อ่าน เขียน คัดลอก กระทำเป็นคัมภีร์ สักการะ เคารพนับถือ บูชา

        เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ที่ยิ่งขึ้นว่า

39     บัณฑิต ผู้ปรารถนาจะประกาศพระสูตรนี้ ควรละการคดโกง การถือตัว การหลอกลวงโดยสิ้นเชิง และไม่พึงก่อความริษยาต่อผู้ใด

40     (บัณฑิต) ย่อมไม่กล่าวโทษใครๆ ไม่ก่อวิวาท เพราะเหตุแห่งทฤษฎี ไม่ควรสร้างปมด้วยแก่ใครๆว่า ท่านยังไม่ได้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

41     (บัณฑิต) เป็นผู้มีความชื่อตรง อ่อนโยน มีความอดทน เป็นบุตรของพระสุคต เมื่อแสดงธรรมนี้บ่อยๆ ความเหน็ดเหนื่อยแม้สักนิดย่อมไม่มีแก่ตน

42     พระโพธิสัตว์ในทิศทั้ง 10 ย่อมเที่ยวไปในโลกเพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งปวงเป็นศาสดาของเรา บัณฑิตพึงยังความเคารพให้เกิดในพระโพธิสัตว์เหล่านั้น

43     เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เหนือกว่ามนุษย์ พึงสร้างความรู้สึกในพระชินเจ้าทั้งหลายว่า เป็นบิดาอยู่เนืองนิตย์ เมื่อละความรู้สึกอหังการทั้งปวงเสียได้ อันตรายก็จะไม่มีแก่ตน

44     บัณฑิตเมื่อได้ฟังธรรมเห็นปานนี้แล้ว พึงรักษา (ธรรม) บัณฑิตนั้นผู้มีใจตั้งมั่นด้วยการอยู่อย่างมีความสุข สัตว์จำนวนหลายโกฏิย่อมคุ้มครอง

        ยิ่งกว่านั้น พระมัญุชุศรีโพธิสัตว์มหาสัตว์ เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว กาลสุดท้ายแห่งการเสื่อมของพระสัทธรรมก็มาถึง ภิกษุผู้ประสงค์จะรักษาพระธรรมบรรยายนี้ ควรอยู่ให้ห่างจากความใกล้ชิดกับคฤหัสถ์และนักบวช(อื่น) ควรอยู่ด้วยวิหารธรรมคือ เมตตา สัตว์เหล่าใดดำรงอยู่เพื่อโพธิญาณ ความปรารถนาย่อมเกิดขึ้นในที่ใกล้ของสัตว์เหล่านั้น ภิกษุนั้นพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า โอ สัตว์เหล่านี้ มีความรู้ผิดเป็นอย่างมาก เขายังไม่ได้ฟัง ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ถาม ไม่เชื่อ สันธาภาษิต อันเป็นกุศโลบายของพระตถาคต เขาจึงยังไม่หลุดพ้น สัตว์เหล่านี้ย่อมไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจ ธรรมบรรยายนี้ เราซึ่งเป็นผู้ดำรงอยู่ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จักยังสัตว์เหล่านั้นให้ลึก ให้ถึง ให้หยั่งลง และให้มีอุปนิสัยแก่กล้า ในพระโพธิญาณนั้น

        ดูก่อนมัญชุศรี เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ประกอบด้วยธรรมสี่ประการนี้ เมื่อประกาศธรรมบรรยายนี้ ก็จะไม่ถูกเบียดเบียน จะได้รับการสักการะ เคารพนับถือ และบูชา จากภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา ราชบุตร ราชอำมาตย์ มหามนตรีของพระราชา ชาวนิคม ชนบท พราหมณ์ และคฤหัสถ์ทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายผู้เที่ยวไปในท้องฟ้า มีศรัทธาก็จักติดตามมาเพื่อฟังธรรม เทวบุตรทั้งหลาย ก็จักติดตามมาเพื่อรักษาผู้อยู่ในหมู่บ้านหรือวิหาร เขาทั้งหลาย ผู้ถามถึงธรรม ย่อมเข้าไปหาทั้งกลางวันและกลางคืน พวกเขาเป็นผู้มีใจฟูขึ้น ยินดีด้วยคำพยากรณ์ของตถาคต เพราะเหตุไร ดูก่อนมัญชุศรีเพระธรรมบรรยายนี้ ได้ตั้งมั่นเพื่อพระพุทธเจ้าทั้งปวง ธรรมบรรยายนี้ ได้ตั้งมั่นเป็นนิตย์ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีตและปัจจุบัน ดูก่อนมัญชุศรีศัพท์หรือเสียงที่เอ่ยชื่อของธรรมบรรยายนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ในโลกธาตุทั้งหลายจำนวนมาก



หัวข้อ: Re: สัทธรรมปุณฑริกสูตร บทที่ 13 สุขวิหารปริวรรต ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 20 มิถุนายน 2554 08:14:08


(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/856/24856/images/buddha14.jpg)

 ดุก่อนมัญชุศรี เหมือนพระราชาผู้เป็นจักรพรรดิแห่งกองทัพ ซึ่งได้ราชสมบัติ ด้วยการใช้กำลัง พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูของพระองค์ ได้ก่อสงครามกับพระราชาองค์นั้น มีทหารหน่วยต่างๆในกองทัพ ของพระราชาที่เป็นจักรพรรดินั้น ทหารเหล่านั้นจักต่อสู้กับศัตรูเหล่านั้น พระราชานั้น เมื่อมีใจปีติยินดี จึงพระราชทานรางวัลต่างๆ แก่ทหารเหล่านั้น เช่น บ้าน ที่ดินในหมู่บ้าน เมือง ที่ดินในเมือง เสื้อผ้า หมวก สร้อยมือ สร้อยเท้า สร้อยคอ ตุ้มหู สร้อยทองคำ มุกผสม เงิน ทองคำ มณี มุกดา ไพทูรย์ สังข์ และประพาฬ ช้าง ม้า รถทาส ชาย หญิง ยาน และเกี้ยว แต่พระองค์ มิได้มอบจุฑามณี (เพชรประดับมงกุฎ) แก่ใครๆ เพราะเหตุไร เพราะจุฑามณีนั้นไป กำลังกองทัพทั้ง 4 ของพระราชา จะถึงความอัศจรรย์และประหลาดใจ ดูก่อนมัญชุศรี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นธรรมสวามีผู้เป็นธรรมราชา ทรงครองธรรมราชสมบัติโดยธรรมในโลกธาตุทั้งสาม ที่พระองค์ทรงชนะได้ด้วยกำลังพระพาหาของพระองค์เอง และทรงชนะได้ด้วยกำลังแห่งบุญ มารผู้ชั่วร้าย ย่อมรุกรานโลกธาตุทั้งสามของพระองค์ ทหารชั้นเลิศของพระตถาคตก็ต่อสู้กับมาร

ดูก่อนมัญชุศรี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นธรรมสวามี ธรรมราชา ได้เห็นการต่อสู้ของทหารชั้นเลิศเหล่านั้น จึงได้ตรัสพระสูตรต่างๆ จำนวนหนึ่งแสน เพื่อประโยชน์ เพื่อความยินดีของบริษัททั้ง 4 พระองค์ทรงประทานมหานครแห่งธรรมอันเป็นนครแห่งพระนิพพานแก่พวกเขา พระองค์ยังพวกเขาให้ได้ความสุข พระองค์จะไม่ตรัสธรรมบรรยายเห็นปานนี้อีก ดูก่อนมัญชุศรีพระราชานั้น ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งกองทัพ ได้ประหลาดใจกับการกระทำอันยิ่งใหญ่ เยี่ยงวีรบุรุษของทหารเหล่านั้น ที่กำลังสู้รบอยู่ จึงได้ประทานทรัพย์ของพระองค์ทั้งปวง ที่สุดแม้จุฑามณีที่รักษาไว้เป็นเวลานาน ยังดำรงอยู่บนพระเศียรของพระราชานั้น ดูก่อนมัญชุศรี พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นธรรมราชาในไตรโลก ปกครองราชสมบัติโดยธรรมสมัยใดทรงเห็นพระสาวกพระโพธิสัตว์ กำลังต่อสู้อยู่กับมารแห่งอินทรีย์ 5 หรือมาร 3 คือกิเลส เมื่อต่อสู้อยู่กับมารเหล่านั้น พวกเขาก็สิ้นราคะโทสะ โมหะ สลัดออกจากไตรโลกทั้งปวงได้ทรงฆ่ามารทั้งปวง ได้สร้างมหาบุรุษขึ้น

ในกาลนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากราคะ เป็นผู้พอพระทัย จักตรัสธรรมบรรยายนี้ ซึ่งเป็นศัตรูของโลกทั้งปวง ไม่เป็นที่ศรัทธาของโลกทั้งปวง ที่ไม่เคยตรัสมาก่อน ไม่เคยแสดงมาก่อน พระตถาคตทรงประทานเพชรประดาบมงกุฎ ที่จะนำมาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณแก่พระสาวกทั้งปวง ดูก่อนมัญชุศรี นี้คือ การแสดงธรรมอันประเสริฐของพระตถาคต และนี้คือธรรมบรรยายสุดท้ายของพระตถาคต บรรดาธรรมบรรยายทั้งปวง นี้คือธรรมบรรยายที่ลึกซึ้งกว่าธรรมทั้งปวง เป็นศัตรูของโลกทั้งปวง ดูก่อนมัญชุศรี พระตถาคตก็เหมือนกับพระราชาผู้เป็นจักรพรรดิแห่งกองทัพ ทรงถอดจุฑามณีที่รักษาไว้นานพระราชทานแก่ทหารทั้งปวง ดูก่อนมัญชุศรี พระตถาคตจักแสดงธรรมประเสริฐนี้ซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้งเก็บรักษาไว้นาน ดำรงอยู่สูงสุดกว่าธรรมบรรยายทั้งปวง ที่พระตถาคตรู้แจ้ง วันนี้จึงได้ประกาศพระสูตรนี้

45     พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้โดยมาตราบท จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้แสดงกำลังแห่งเมตตา  ผู้มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งปวง พึงประกาศธรรมเห็นปานนี้ ซึ่งเป็นพระสูตรอันประเสริฐ ที่พระตถาคตทั้งหลายสดุดีแล้ว

46     คฤหัสถ์ นักบวชและพระโพธิสัตว์ ผู้อยู่ในกาลสุดท้าย เขาควรเป็นผู้แผ่กำลังแห่งเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย เพราะสัตว์เหล่านั้นจะปฏิเสธการฟังธรรม

47     ส่วนเรา แม้มีความกลัวเมื่อบรรลุพระโพธิญาณ ดำรงอยู่ในความเป็นพระตถาคต ก็ยังมุ่งมั่นให้สรรพสัตว์ได้ฟังพระโพธิญาณอันประเสริฐนี้

48     พระราชา ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งกองทัพ ผู้มีความยินดี ได้พระราชทานสิ่งของต่างๆมีเงิน ทอง ช้าง ม้า รถ ประชาชน เมือง หมู่บ้าน แก่ทหารทั้งหลาย

49     พระองค์ผู้มีความยินดี ได้พระราชทานเครื่องอาภรณ์ประดับมือ เงินทอง สร้อยทอง  มุกดามณี สังข์และประวาฬ แก่ทหารบางพวก พระองค์ผู้ยินดียังได้พระราชทานข้าทาสอีกจำนวนมาก

50     พระองค์ทรงประหลาดใจอย่างยิ่ง กับทหารบางคนผู้มีความโหดเหี้ยมสูงสุด(กล้าหาญอย่างยิ่ง) เมื่อทราบว่า เขาได้ทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ จึงทรงถอดมงกุฎพระราชทานมณี(ที่มงกุฎให้แก่เขา)

51     พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา ผู้มีกำลังแห่งขันติ ผู้เป็นคลังแห่งปัญญา ผู้มีเมตตา กรุณาต่อมิตร

52     เราได้เห็น สัตว์ทั้งหลาย ผู้ถูกเบียดเบียนอยู่ เพื่อยังความกล้าหาญให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายผู้บริสุทธิ์ ผู้ทำลายกิเลสเสียได้ จึงได้ตรัสพระสูตรจำนวนหลายพันโกฏิ

53     แม้พระธรรมราชา ผู้เป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ ได้ตรัสธรรมบรรยายจำนวนหลายพันโกฏิ ทราบว่าสัตว์ทั้งหลาย มีกำลัง มีความรู้ จึงได้แสดงพระสูตรนี้ ซึ่งเป็นดุจจุฑามณี

54     เราจะกล่าวถึงพระสูตรนี้ อันเป็นสูตรสุดท้าย เป็นสูตรที่เลิศกว่าพระสูตรทั้งปวงของเรา แก่ชาวโลก เราจักให้ฟังพระสูตรนั้น ซึ่งเราเก็บรักษาไว้อย่างดี ไมเคยกล่าวมาก่อน ขอท่านทั้งปวงจงตั้งใจฟังพระสูตรนั้นในวันนี้

55     ธรรมทั้งหลายเห็นปานนี้ทั้ง 4 ที่บุคคลควรปฏิบัติ เมื่อเรานิพพานแล้ว ชนเหล่าใดมีความปรารถนา ควรกระทำความพยายามสูงสุดในพระโพธิญาณอันประเสริฐเพื่อเรา

56     พวกเขาย่อมไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีอุปสรรค ไม่มีความเจ็บไข้ที่ทนได้ยาก ผิวพรรณของเขาก็ไม่ดำ เขาไม่อยู่ในเมืองที่เสื่อมโทรม

57     พระมหามุนีพระองค์นั้น ผู้เป็นปริทรรศน์ ได้รับการบูชาราวกับพระตถาคต พระองค์จักมีเทวบุตรทั้งหลาย เป็นอุปัฏฐากอยู่เป็นนิจ

58     ศาสตรา ยาพิษ ท่อนไม้ ก้อนดิน จักไม่ทำอันตรายแก่เขา ปากของผู้ที่กล่าวคำครหาแก่เขาก็จักถูกปิดสนิท

59     เข้าผู้เกิดมาในโลก ได้เป็นเครือญาติของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปทั่วพื้นพิภพ เป็นผู้ทรงจำพระสูตรนี้ไว้ เมื่อเรานิพพานแล้ว จะเป็นผู้กำจัดความมืดบอดของสัตว์จำนวนหลายโกฏิ

60     เขาได้เห็นพระพุทธรูป ภิกษุ ภิกษุณี อาตมภาวะ(ร่าง) ที่สถิตบนสิงหาสน์ ในสุบินนิมิต เพื่อประกาศธรรมอันมีประการต่างๆ

61     เขาได้เห็นเทวดา ยักษ์ อสูร นาค มีประมาณเท่าเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคามีประการต่างๆ เขาย่อมกล่าวธรรมอันประเสริฐแก่ชนเหล่านั้นทั้งหมด ผู้ประคองอัญชลีอยู่ในสุบินนิมิต

62     เขาได้เห็นพระตถาคต ที่ทรงเปล่งพระรัศมีจำนวนหลายพัน ผู้เป็นพระนาถะ ผู้มีวรรณะดุจทอง มีพระสุรเสียงไพเราะ กำลังแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์จำนวนหลายพันโกฏิ

63     เขาผู้ยืนประคองอัญชลียกย่องพระมุนีว่า เป็นผู้สูงสุดกว่ามนุษย์ (สัตว์สองเท้า) ขณะที่พระชินเจ้า ผู้เป็นนายแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ได้ตรัสธรรมอันเลิศแก่บริษัททั้ง 4

64     เขาเมื่อได้ฟัง (ธรรม) แล้วก็มีความยินดีปราโมทย์ ได้ทำการบูชา(แด่พระตถาคต) เมื่อได้สัมผัสโพธิญาณ อันไม่เสื่อมคลายอย่างรวดเร็ว ชื่อว่าย่อมบรรลุ(การถือเอา)ความฝัน

65     พระโลกนาถทรงทราบว่า เขาเป็นผู้มีใจเป็นกุศล จึงพยากรณ์เขาไว้ในความที่เป็นผู้นำแห่งบุรุษ ดูก่อนกุลบุตร ในอนาคตกาล เขาจักสัมผัสพระโพธิญาณอันเป็นบรมสุขยิ่งกว่า

66     พุทธเกษตรอันกว้างใหญ่และบริษัท จักมีแก่ท่านเหมือนอย่างที่เรามี เขาทั้งหลายจักประคองอัญชลี ด้วยความเคารพ ฟังธรรมอันพิสดารและไม่มีโทษ(จากท่าน)

67    เขาเมื่อเจริญธรรมอยู่ในถ้ำบนภูเขา ก็จะได้เห็นภาวะแห่งตน (อาตมภาวะ) เขาครั้นเจริญ (ภาวนา) แล้วจะได้สมาธิ สัมผัสพระธรรมตามภาวะของธรรมชาติ แล้วจักเห็นพระชินเจ้า

68     เขาได้เห็น (พระพุทธองค์) ผู้มีวรรณะดุจทองมีบุณยลักษณะ 100 ประการในความฝัน ก็จักได้ฟังธรรม ครั้นฟังแล้ว ก็จักได้ประกาศธรรมนั้นแก่บริษัท รูปแบบอย่างนี้เองได้เป็นความฝันของเขา

69     ในความฝัน เขาได้สละราชสมบัติทั้งปวง ในที่สุดแม้เพื่อนและคณะญาติ ครั้นสละบ้านทั้งปวงแล้ว ได้ปลีกตนเข้าไปสู่มณฑลแห่งโพธิพฤกษ์

70     เขาผู้มีความต้องการด้วยพระโพธิญาณ จึงนั่งอยู่บนสิงหาสน์ที่โคนต้นไม้นั้น จนถึงวันที่ 7 จึงเข้าถึงความรู้ของพระตถาคตทั้งหลาย

71     เมื่อบรรลุพระโพธิญาณแล้ว เขาก็ลุกจากที่นั้น เพื่อหมุนวงล้อแห่งความสุข (ไม่มีทุกข์) จึงแสดงธรรมแก่บริษัท 4 ตลอดหลายพันโกฏิจนคำนวณไม่ได้

72     ครั้นประกาศ (ธรรม) แล้ว เขาได้เผยแผ่ธรรมอันเป็นบรมสุขให้แก่หมู่สัตว์จำนวนหลายพันโกฏิ ดุจประทีปที่แพร่ขยายไปในยุคแห่งความมืด (ในยุคเสื่อมเหตุผล) นี้คือรูปแห่งความฝัน (ของเขา)

73     เสียงชักชวนของพระมัญชุศรี มีประโยชน์เป็นอย่างมาก จนหาที่สุดมิได้แก่ผู้ที่ประกาศธรรมอันประเสริฐ ที่เราได้แสดงไว้ดีแล้ว ในกาลสุดท้าย

บทที่ 13 สุขวิหารปริวรรต ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
ในธรรมบรรยาย สัทธรรมปุณฑรีกสูตร อันประเสริฐ
มีเพียงเท่านี้


(http://3.bp.blogspot.com/_g-mSzvgX1KM/SbVdQY_qtiI/AAAAAAAAACk/CGpRhXHHd2A/s400/%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7.jpg)

http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท11-12-13.htm (http://www.mahayana.in.th/tmayana/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81/สัทธรรมปุณทรีกะบท11-12-13.htm)