[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 18 กันยายน 2562 18:28:02



หัวข้อ: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 กันยายน 2562 18:28:02

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23122253393133_70911190_2406210346083569_4387.jpg)

ถาม-ตอบปัญหา กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

หลักของการนั่งสมาธิเบื้องต้น

ถาม: อยากให้พระอาจารย์อธิบายหลักของการนั่งสมาธิเบื้องต้นและลักษณะของสมาธิเบื้องต้นครับ

พระอาจารย์: ก็เบื้องต้นนั่งก็ให้นั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งเก้าอี้นั่งห้อยเท้าไป ตั้งตัวให้ตรงแล้วก็ตั้งจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่เรากำหนดไว้เป็นเครื่องผูกใจ ถ้าใช้พุทโธก็บริกรรมพุทโธพุทโธไป ไม่ต้องหยุดไม่ต้องไปสนใจกับอะไรที่ปรากฏในขณะที่เรานั่ง ถ้าดูลมหายใจก็ดูที่ปลายจมูก รู้ว่าเข้ารู้ว่าออกไป เท่านั้นเอง แล้วถ้าใจไม่ไปยุ่งกับเรื่องอื่นอยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลม ใจก็จะค่อยๆ สงบ รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ พวกเสียงอะไรต่างๆ ที่เข้ามาทางร่างกายเราจะรู้สึกว่ามันห่างไปห่างไป เหมือนกับเวลาที่เราเดินเข้าไปในถ้ำนี้ เราจะรู้สึกว่าเสียงที่อยู่นอกถ้ำนี้มันเริ่มห่างไกลห่างไกลออกไป นี่คือลักษณะของความสงบ ใจจะเข้าข้างใน ใจจะปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ก็ทำไปเรื่อยๆ อย่าไปหยุด ไปจนกว่ามันจะสงบแล้วมันจะหยุดของมันเอง แล้วเราค่อยหยุด เท่านี้เอง พอสงบแล้วก็จะเกิดความสุขที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในชีวิต จะรู้สึกว่าเป็นความสุขที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าความสุขทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยได้สัมผัสมา
สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


“สัญญามันลืมได้ปัญญามันไม่ลืม”

ถาม: ความเห็นด้วยปัญญากับความเห็นด้วยสัญญาต่างกันอย่างไรครับ

พระอาจารย์: สัญญามันลืมได้ไง ปัญญามันไม่ลืม เช่น บางทีเราลืมว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอนิจจัง เราก็จะไปอยากได้ขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่ลืมเราจำได้ตลอดว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง อนัตตา เราก็จะไม่อยากได้ งั้นต้องเอาความรู้ที่เราได้เรียนรู้ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออสุภะหรือปฏิกูลนี่ ให้มันจำได้ ปฏิกูลก็คือเวลาเห็นอาหารก็ต้องนึกต้องเห็นปฏิกูลทันที อสุภะก็เห็นอะไรสวยคนสวยคนงามคนหล่อก็เห็นอสุภะทันที อย่างนี้เขาถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา แต่ถ้าเห็นคนสวยคนหล่อก็ยังเห็นสวยหล่ออยู่นั่น ไม่เห็นอสุภะ ก็แสดงว่าอสุภะนั้นไม่ได้เป็นปัญญา เป็นสัญญา จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง
  สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 19 กันยายน 2562 15:28:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98008520528674_70933674_2409791869058750_4941.jpg)

“นั่งสมาธิแล้วเห็นเป็นสีขาวนวล”

ถาม: กราบนมัสการค่ะหลวงพ่อ หนูอยากถามว่าการนั่งสมาธิทำจิตว่าง จะเห็นเป็นสีขาวนวลๆ หมายถึงอะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: หมายถึงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องนั่งต่อไป อย่าไปสนใจกับสีขาวนวลๆ ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธต่อไป ถ้าดูลมก็ต้องดูลมต่อไป มันต้องเข้าไปจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ต้องว่างจริงๆ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ แล้วก็มีความสุขอย่างมาก เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ใจ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเราได้ผลจากการนั่งสมาธิ ถ้านั่งไปแล้วยังรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับตอนที่ไม่ได้นั่งก็ยังถือว่ายังไม่ได้สมาธิ ถึงแม้จะรู้สึกว่างจะเบาบ้างแต่มันยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องนั่งต่อไปต้องดูลมต่อไป หรือต้องพุทโธต่อไปอย่าหยุด
 ธรรมะบนเขา  วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒


“เจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติ”

ถาม: เวลานั่งสมาธิแล้วมักจะเห็นอะไรแปลกๆ แวบขึ้นมา นั่นคือเจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่มีสติ พอเผลอสติปั๊บเดี๋ยวก็มีอะไรผุดขึ้นมา ก็แสดงว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า “เฮ้ย เผลอสติแล้วนะ” กลับมาหาพุทโธต่อ กลับมาดูลมต่อ อย่านั่งเฉยๆ อย่าขี้เกียจ พอขี้เกียจแล้วเดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมา
 สนทนาธรรมบนเขา  วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒



“ต้องเพิ่มสติ”

ถาม: การนั่งสมาธิแล้วเพลินไปคิดถึงเรื่องอื่นกว่าจะมีสติกลับมาดูลมหายใจเข้าออกบางทีก็นาน หรือพอเริ่มสงบขาก็เริ่มปวดมากจนทนนั่งต่อไปไม่ไหว ต้องทำอย่างไรครับ

พระอาจารย์: ก็ต้องเพิ่มสติไง เวลาออกจากสมาธิมาก็ต้องทำสติต่อไป พุทโธต่อไป ทำให้มากๆ เวลายังไม่ได้นั่งต้องเตรียมสติไว้ก่อน เหมือนเติมน้ำมันนี่ ก่อนที่เราจะลงสนามแข่งรถ เรามั่นใจว่าเรามีน้ำมันเต็มถังหรือยัง ไม่ใช่เติมไว้แค่ครึ่งถังเดี๋ยวแข่งกับเขา เดี๋ยวไปหมดกลางสนาม อันนี้ก็เหมือนกันเวลาเรานั่งสมาธิก็เหมือนสู้กับกิเลส สู้กับความอยากต่างๆ ถ้าสติเรามีน้อยเดี๋ยวก็หมดกำลัง พอหมดกำลังกิเลสมันก็เอาไปกิน

ดังนั้น เราต้องเติมน้ำมันให้มันเต็มถัง เติมสติให้มันเต็ม ๑๐๐ ถ้าสติเต็ม ๑๐๐ นี้ พอลงสนามแข่งมันก็สามารถดึงจิตเข้าสู่ความสงบได้ อย่างนั้นเวลาออกจากสมาธิมาต้องมาเติมสติกัน เหมือนเวลาออกจากสนามแข่งรถก็รีบไปเติมน้ำมัน เติมให้มันเต็มถัง พอเติมเต็มถังแล้วค่อยกลับลงสนามใหม่ ทีนี้ไม่ต้องจอดกลางคันแล้วเพราะมันจะวิ่งได้ครบ อันนี้ก็เหมือนกันพอเรานั่งสมาธิแล้วไปได้ครึ่งทางหมดกำลัง สติหายเผลอไป จิตเริ่มคิดอาการปวดของร่างกายเริ่มปรากฏทนไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ามีสติมันไม่คิดแล้วมันจะไม่รับรู้เรื่องความปวดของร่างกาย ร่างกายปวดยังไงมันก็นั่งต่อไปได้ ดังนั้น ต้องกลับมาเติมสติ พอออกจากสมาธิมาก็อย่าปล่อยให้ใจคิด ใช้พุทโธ พุทโธ บังคับมันต่อไป
 สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 กันยายน 2562 09:52:44
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97287101960844_70868676_2415540808483856_8328.jpg)

“วิธีฝึกสติและรักษาอุเบกขา”

ถาม: กราบเรียนถามหลวงพ่อ การที่จิตผู้รู้กระทบสัมผัสที่เป็นนามไม่เห็นรูป แต่ตัวรู้รู้จิตว่าเป็นเช่นไร แต่ทำให้ขาดสติชั่วขณะหนึ่งเพื่อพิจารณาสิ่งนั้นๆ การแก้ไขให้สติให้มีกำลังมากขึ้นเพื่อให้อารมณ์ภายนอกต่างๆ ตกไปได้ ควรปฏิบัติอย่างไรครับ โปรดพิจารณาเพื่อไม่ให้เป็นประสาทกับอารมณ์ภายนอกต่างๆ

พระอาจารย์: ก็ต้องฝึกจนจิตรวมเป็นสมาธิให้ได้ เป็นอัปปนาสมาธิ แล้วจิตจะมีสติที่ต่อเนื่องที่มีกำลังมาก ที่จะสามารถควบคุมจิตไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ได้ สตินี้สำคัญมาก ถ้ามีสติควบคุมใจได้แล้ว ใจจะเชื่องพูดง่ายๆ ใจนี้ถ้ายังไม่ได้ฝึกสตินี่เหมือนม้าป่า ม้าป่านี่ถ้าเราจะเอาไปขี่มันจะขี่ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ทำให้เราตกหลังม้าได้ พยศ แต่ถ้าเราฝึกมันเชื่องแล้วมันก็จะเรียบร้อย มันจะไม่พยศ จิตของเราไม่มีสติพอไปสัมผัสรับรู้อะไรแล้ว มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่รักก็ชัง ไม่ชังก็กลัว ไม่กลัวก็หลง แต่ถ้าเราฝึกสติจนเชื่องแล้ว มันจะไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง เห็นอะไรก็เฉยๆ เห็นงูเลื้อยมาก็เฉยๆ เห็นไฟไหม้ก็เฉยๆ ไม่ได้ตื่นเต้นตกใจ แต่ไม่ได้อยู่เฉยๆ นะ ถ้าไฟไหม้ถ้าดับได้ก็ดับนะ ถ้างูมาถ้าหลบได้ก็หลบ เพียงแต่ว่าใจไม่ไปตื่นเต้นตกใจหวาดเสียวหวาดกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ ใจจะเฉยๆ แต่ใจจะใช้ปัญญาใช้เหตุผลว่า “หลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก” หลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็อยู่เฉยๆ ไป อยู่เฉยๆ มันก็ปลอดภัย สัตว์มันไม่ทำร้ายเราหลอกถ้าเราอยู่เฉยๆ อันนี้เป็นเรื่องของการควบคุมใจ สตินี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีสติแล้วควบคุมไม่ได้ ถึงแม้จะใช้ปัญญาก็ปัญญามันก็ไม่เชื่อ ตอนนี้เรารู้เรามีปัญญา เรารู้ว่าเราไม่ควรรักไม่ควรชังไม่ควรกลัวไม่ควรหลง แต่มันก็ยังอดไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ไปทำให้มันนิ่งสงบแบบไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงจริงๆ

ฉะนั้น เราต้องหมั่นฝึกสติอยู่เรื่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี การฝึกสติได้มากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับการหัดว่ายน้ำบ่อยๆ ยิ่งว่ายน้ำบ่อยๆ ยิ่งชำนาญ ต่อไปก็จะเป็นแชมป์ของศาสตร์ได้ กระโดดลงน้ำแล้วเหมือนกับอยู่บนพื้นดิน คล่องแคล่วว่องไวเหมือนกับตอนที่อยู่บนพื้นดิน ถ้าไม่ฝึกมันก็เหมือนลงไปเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็จมน้ำตายได้ งั้นหมั่นฝึกสติอยู่เรื่อยๆ เป็นแล้วจะรักษาใจให้เป็นอุเบกขา ไม่ให้รักไม่ให้ชังไม่ให้กลัวไม่ให้หลงได้ พอเราทำให้มันเป็นอุเบกขาได้แล้ว ขั้นต่อไปเราก็ใช้ปัญญาสอนมันให้มันเป็นอุเบกขาอย่างถาวรต่อไปได้ เพราะตัวที่จะมาทำให้ใจออกจากอุเบกขาคือตัวความหลง ที่ไปเห็นว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี พอเกิดเห็นว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดีก็เกิดความอยากได้ขึ้นมา พอเกิดความอยาก อุเบกขาก็จะหายไป

แต่ถ้ามีปัญญาสอนว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ดีหรอก มันดีปลอมมันหลอกเราทั้งนั้น มันดีเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เหมือนผู้หญิงคนเมื่อกี้บอก แต่งงานกับสามีแล้ว เดี๋ยวนี้สามีกลายเป็นเจ้านายแล้ว สั่งนู้นสั่งนี้ ตอนที่คบกันใหม่ๆ ไม่ได้คิดว่าจะได้เขามาเป็นเจ้านาย ใช่ไหม คิดว่าจะได้เขามาเป็นสามีเป็นคู่รัก แต่ที่ไหนได้พอได้มาแล้ว มันไม่ได้เป็น เพราะเรามองไม่เห็นอนิจจังว่ามันไม่เที่ยง มันต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีปัญญาก็จะรู้ก่อนเลยว่า ไม่เอา ได้สามีมาเดี๋ยวก็ได้เจ้านายมา อยู่คนเดียวดีกว่า อยู่กับความสงบดีกว่า ความสงบนี่แหละเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง อันนี้คือปัญญา พอปัญญาบอกปั๊บจิตก็จะเลิกอยาก พอเลิกอยากปั๊บอุเบกขาก็กลับมาเหมือนเดิม ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงเหมือนเดิม


ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
550


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 กันยายน 2562 18:48:32
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94752336541811_71738951_2426321987405738_7715.jpg)


“ทุกขังนี้เป็นใจ”

ถาม: เมื่อคืนสวดมนต์นั่งสมาธิไม่มีปวดเมื่อยเลยพิจารณาอสุภะจนกระดูกสลายไปกับดิน สักพักออกจากสมาธิเพราะเหลือแต่ขากับมือ ที่เหลือว่างเปล่าไม่มีกายให้ได้เห็นว่าไม่มีตัวตนแม้แต่จิต จากนั้นเห็นได้ชัดว่าทุกขัง อนิจจัง เป็นอนัตตา “ทุกขัง อนิจจัง” เป็นอนัตตาใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช่ ร่างกายเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตาคือเป็นเหมือนต้นไม้ มันไม่มีเจ้าของ มันทำมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เจ้าของก็เป็นเจ้าของชั่วคราวคือเรา เรามาเกาะติดกับร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นผู้มาอาศัยอยู่ เหมือนอาศัยบ้านอยู่ เดี๋ยวต่อไปบ้านมันก็ต้องพัง เพราะนี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มันจะอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ต้องเสื่อมสภาพหมดสภาพไป มันเลยทำให้เราทุกข์กัน ผู้ที่ทุกข์คือใจ ร่างกายไม่ทุกข์ ร่างกายเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา แต่ร่างกายไม่ได้เป็นทุกขัง ทุกขังนี้เป็นใจ ใจทุกข์เพราะว่าใจไปอยากให้ร่างกายไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นอนัตตา อยากให้เป็นนิจจัง อยากให้เป็นสุขัง อยากให้เป็นอัตตา มันก็เลยทำให้ใจทุกข์ แต่ถ้าใจเห็นด้วยปัญญาว่ามันเป็นอนิจจัง มันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นอนัตตา มันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อไปมันก็จะแยกออกจากกัน ร่างกายนี้มันทำด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ เดี๋ยวดินน้ำลมไฟก็จะแยกออกจากกันไป ถ้าเห็นด้วยความจริงอันนี้มันก็จะปล่อยวาง จะละความอยากให้ร่างกายเป็น “นิจจัง สุขัง อัตตา” ได้ ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย เวลาร่างกายเป็น “อนิจจัง” เป็น “อนัตตา”

สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


“ให้เอาบุญวิ่งหนีบาป”

ถาม: ถ้าในอดีตเราได้ทำบาปฆ่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นบาปเราจะทำอย่างไรคะในอดีตที่ทำผิดพลาดไป

พระอาจารย์: อ๋อ ในอดีตก็ต้องใช้มันไปละซิ ถ้าทำบาปโดยไม่รู้ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน งั้นมันห้ามไม่ได้ของเก่าที่ทำไปแล้วก็ต้องรับผลไป แต่เราสามารถรอให้มันลงอาญาได้ เลื่อนเวลาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากๆ ไว้ ถ้าเราทำบุญไว้มากกว่าบาป เวลาที่เราตายไป บาปมันยังแสดงผลไม่ได้เพราะบุญมันมีกำลังมากกว่า บุญก็จะดึงใจไปสวรรค์ก่อน พอบุญกับบาปมีกำลังเท่ากันเราก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เราก็มาทำบุญใหม่ พยายามให้มันมากกว่าบาปไว้เรื่อยๆ แล้วเวลาตายมันก็ยังไม่ไปอบาย แต่มันไม่หาย แต่เวลาใดที่บุญน้อยกว่าบาปแล้วเวลาที่เราตายไป ตอนนั้นแหละบาปมันก็จะดึงเราไปอบาย เราไปลบล้างมันไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะรอลงอาญาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากกว่าบาปไว้อยู่เรื่อยๆ คือให้เอาบุญวิ่งหนีบาป ถ้าบุญวิ่งเร็วกว่าบาป บาปก็ตามไม่ทัน ถ้าบุญวิ่งช้ากว่าบาป บาปแซงหน้าเมื่อไหร่ บาปมันก็จะพาเราไปอบายเมื่อนั้น


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 07 ตุลาคม 2562 14:07:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19255496313174_3.jpg)

“บัญชีบุญบัญชีบาป”

ถาม: ในเมื่อคนเราสะสมทั้งบุญและบาปและไม่บุญไม่บาป ก่อนที่เราจะถึงนาทีสุดท้ายที่ต้องจากโลกนี้ไป ไม่ทราบว่า ณ ปัจจุบันพอมีทางทราบโดยสังเขปไหมครับว่าบัญชีบุญบัญชีบาป บัญชีไม่บุญไม่บาปเป็นอย่างไรตอนที่ยังไม่ตาย คล้ายๆสรุปบัญชีคร่าวๆ

พระอาจารย์: ได้ ก็ตอนที่เรานอนหลับไง ตอนที่เรานอนหลับก็เหมือนเราตายเทียม ตายชั่วคราว เพราะตอนนอนหลับเราก็จะฝันกัน ฝันดีก็บัญชีบุญมันมีกำลังมากกว่า ถ้าฝันไม่ดีก็แสดงว่าบัญชีบาปมีกำลังมากกว่า ถ้าฝันแบบกลางๆ ก็แสดงว่าบุญกับบาปเท่าๆกัน ก็เลยฝันไม่ดีไม่ร้าย ฉะนั้นก็ดูที่ความฝันนี่ เป็นเหมือนกับเกวัดรถยนต์นี่ เวลาเราจะรู้ว่ารถวิ่งเร็วเท่าไหร่ต้องไปดูที่เกวัด ว่าตอนนี้ 80,90 เราอยากจะดูว่าบุญกับบาปในใจเรามีมากมีน้อยก็ดูตอนที่เรานอนหลับ แต่เวลาที่ไม่ได้หลับไม่ได้ฝัน ไม่ได้แสดงว่ามันไม่มีบุญไม่มีบาปนะ บางทีมันเหนื่อย จิตบางทีมันเหนื่อยมันก็ไม่อยากจะฝันก็มี เพราะฉะนั้นดูความฝันเป็นหลัก


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 ตุลาคม 2562 16:27:31

“การปฏิบัตินี้เพื่อหยุดความคิด”

ถาม: โยมทำงานในโรงพยาบาล ไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติภาวนาเพราะต้องเข้าเวร ควรจะทำการปฏิบัติอย่างไรครับ ควรกำหนดพุทโธในช่วงเวลาที่เราว่างหรือต้องทำอย่างไรครับ

พระอาจารย์: อ๋อ การปฏิบัติที่จะให้ได้ผลจริงๆนี้มันต้องมีเวลาว่าง ถ้าไม่มีเวลาว่างนี้ปฏิบัติจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ แต่ก็ทำได้ไม่ห้าม แต่ยาก เพราะว่าเวลาเราทำงานเราต้องใช้ความคิดต่างๆ การปฏิบัตินี้เพื่อหยุดความคิด มันก็เลยสวนทางกัน เหมือนกับต้องการจะเอารถเข้าอู่กับต้องเอารถไปทำงานนี้ ถ้าคุณยังต้องทำงานอยู่คุณก็ต้องขับรถไปทำงาน คุณก็ไม่มีเวลาเอารถเข้าอู่ ใช่ไหม ถ้าคุณต้องการที่จะซ่อมรถ คุณก็ต้องหยุดทำงาน เอารถเข้าอู่ไป จิตใจก็เหมือนกัน แต่รถเรายังเปลี่ยนได้ ใช่ไหม เรายังยืมรถคนอื่น เช่ารถคนอื่นใช้แทนกันได้ แต่จิตใจของเรานี้ เราเอาจิตใจคนอื่นมาใช้แทนไม่ได้ ถ้าเราต้องการทำจิตใจให้สงบ สร้างความสุขทางใจขึ้นมา เราก็ต้องหยุดใช้จิตใจในการทำงาน ใช้ในการคิดเรื่องราวต่างๆ เราต้องหยุดความคิดทางจิตใจให้นิ่ง ฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลจริงๆนี้จำเป็นที่จะต้องมีเวลาว่าง ก็เรามีวันหยุด ทุกอาทิตย์ก็มีตั้ง ๒ วัน เอาเวลาวันหยุดไปทำอะไรกันหมด สมัยโบราณ วันหยุดก็คือวันมาปฏิบัติธรรม สำหรับชาวพุทธเรานี้ วันหยุดคือวันเข้าวัด มาศึกษามาปฏิบัติธรรม มาถือศีล ๘ มานั่งสมาธิ มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ก็มีวันหยุดนี่ ทำไมไม่มาปฏิบัติในวันที่มีเวลา จะไปปฏิบัติไอ้วันที่ไม่มีเวลาทำไม ฉะนั้นวันที่ไม่มีเวลาอย่าไปพยายามปฏิบัติเลย มันไม่ค่อยได้ผลหรอก มาปฏิบัติวันที่เราไม่ต้องทำงานดีกว่า ไปอยู่วัดกัน ไปอยู่ที่สงบ แล้วก็มาพยายามหยุดความคิดกัน


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 ตุลาคม 2562 10:42:40
.


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12395577298270_72687450_2471417236229546_8297.jpg)

คนตายต้องกินบุญ อาหารใจ

ถาม: ตามประเพณีข้าวประดับดินที่ทางภาคอีสานคือเอาอาหารหลายๆอย่าง วางไว้ให้ญาติพี่น้องตอนกลางคืน คนตายจะได้รับหรือไม่เจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ได้รับหรอก คนตายกินอาหารไม่ได้ ใช่ไหม คนตายต้องกินบุญ อาหารใจ อาหารของดวงวิญญาณก็คือบุญ บุญจะเกิดก็ต่อเมื่อเราเอาของเราไปทำบุญทำทาน เอาไปให้ผู้อื่นที่เขาเดือดร้อนขาดแคลน ไม่ต้องเป็นพระก็ได้ ทำกับใครก็ได้ ทำแล้วเราจะเกิดบุญขึ้นมาในใจเรา คือความอิ่มใจสุขใจที่เราสามารถแบ่งให้กับจิตใจหรือดวงวิญญาณที่หิวโหยได้ พอดวงวิญญาณที่หิวโหยได้รับบุญคืออิ่มใจ เขาก็จะเกิดความอิ่มใจขึ้นมา เป็นเหมือนอาหารของใจ



มารบ่มี บารมีบ่เกิด

ถาม: ลูกมีเวรกรรมเยอะเหลือเกินเจ้าค่ะ มีคนใส่ร้ายบ้างมีคนเอาเปรียบบ้าง ควรทำอย่างไรให้อยู่อย่างสงบไม่มีใครเบียดเบียนเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ อย่าไปคิดอย่างนั้นซิ ต้องคิดว่า “มารบ่มี บารมีบ่เกิด” คนเราถ้าไม่มีมารมามันก็จะไม่สร้างบารมีไว้ต่อสู้กับมาร งั้นคนเราถ้าไม่มีศัตรูเราก็ไม่สร้างอาวุธ ใช่ไม๊ แต่พอมีศัตรูมารุกรานเราก็ต้องคิดหาอาวุธมาปกป้องตัวเรา ฉันใด บารมีก็เป็นเหมือนอาวุธคุ้มครองจิตใจของเรา แต่เรามักจะขี้เกียจกัน เราจะไม่อยากสร้างบารมีกัน แต่พอมีปัญหาขึ้นมารุกรานทำให้จิตใจเราวุ่นวาย ตอนนั้นแหละเราต้องคิดหาบารมีมาคุ้มครอง บารมีที่เราต้องสร้างก็คือขันติบารมีนี่เอง อย่างคำถาม ๒ คำถามก่อนหน้านี้ก็ต้องใช้ขันติความอดทนอดกลั้น ทำใจ เรียกว่าขันติ ใครจะมาทำอะไรเราก็ “ช่างหัวมัน ช่างมันไป” ใช้ความอดทน เหมือนไปอยู่ห้องส้วมที่เหม็นก็ทนมันไป แล้วมันก็จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างง่ายดาย ให้คิดอย่างนี้ว่าเรากำลังได้รับข้อสอบ เรื่องมารนี้เป็นเหมือนข้อสอบมาทดสอบว่าเรามีบารมีหรือไม่ ถ้ามีมารมาแล้วเราเฉย เรายิ้มได้นี่แสดงว่าเรามีบารมีมาก ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน ถ้าเราเดือดร้อนวุ่นวายแสดงว่าเราไม่มีบารมี เรารีบไปสร้างกันเสีย ไปฝึกขันติกัน วิธีฝึกขันติก็ให้คิดอย่างนี้ คิดว่า “ถ้าเขาไม่ชอบเราก็ดีแล้ว เขายังไม่ด่าเรา ถ้าเขาด่าเราก็คิดว่าดีแล้วเขายังไม่ตีเรา ถ้าเขาตีเราก็ดีแล้วเขายังไม่ฆ่าเรา ถ้าเขาฆ่าเราก็ดีแล้ว จะได้ไม่มาวุ่นวายกับเขา” คิดอย่างนี้แล้วมันก็จบ สบาย ขันติก็จะเกิดขึ้นมาทันที


ที่มา เพจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 ตุลาคม 2562 12:35:26

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77750337910320_73306389_2479627792075157_3689.jpg)

การดูจิตดูอย่างไรคะ

ถาม: การดูจิตดูอย่างไรคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ถ้ายังไม่รู้นี่ยังดูไม่ได้หรอก ต้องหาเครื่องมือมาดูก่อน เครื่องมือที่จะดูจิตก็คือสติและปัญญา ต้องมาสร้างสติก่อน ถ้าสร้างสติก็จะเริ่มเห็นจิต แล้วก็ต้องสร้างปัญญาเพื่อจะได้แยกแยะสิ่งที่มีอยู่ในจิตว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี ถ้าดูจิตโดยไม่มีสติโดยไม่มีปัญญา ดูไม่ได้ เพราะมันจะไม่ดูจิตมันจะไปดูอย่างอื่นแทน กิเลสมันจะดันให้เราไปดูรูปเสียงกลิ่นรส ทีนี้เราจะไม่สามารถดูจิตได้จนกว่าเราจะดึงจิตเข้าข้างใน ดึงจิตออกจากรูปเสียงกลิ่นรสเข้าสู่ภายใน ถึงจะเริ่มเห็นจิต เมื่อเห็นจิตแล้วก็จะเห็นสิ่งที่มีอยู่ในจิต มีทั้งสิ่งที่ดีไม่ดี ก็ต้องใช้ปัญญามาแยกแยะวิเคราะห์ว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดีต่อไป แล้วกำจัดสิ่งที่ไม่ดี เก็บแต่สิ่งที่ดี ต่อไปจิตก็จะมีแต่สิ่งที่ดี ไม่มีสิ่งที่ไม่ดีอยู่ในจิตต่อไป



มันไม่ใช่เรื่องของกรรมอย่างเดียว

ถาม: คนที่แต่งงานแล้วไม่มีบุตร เป็นกรรมอะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ มันก็มีหลายสาเหตุ เหตุที่ไม่มีบุตรเพราะว่าร่างกายอาจจะขาดศักยภาพ ขาดเชื้อ บางทีมันก็มีบุตรไม่ได้ มันมีหลายสาเหตุ มันไม่ใช่เรื่องของกรรมอย่างเดียว คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานี้นอกจากมีกรรมเป็นเหตุแล้ว ยังมีเหตุผสมอย่างอื่นมาผสมด้วย เช่น กรรมพันธุ์นี่ พันธุ์ของพ่อของแม่ไม่พร้อมที่จะมามีบุตร มันก็ไม่มีบุตร งั้นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องเป็นเรื่องของกรรมที่เคยทำมาในอดีตชาติเพียงอย่างเดียว



ทำอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์เมื่อต้องตาย

ถาม: เคยฝันว่าตัวเองตาย เมื่อตื่นขึ้นมาตกใจ เป็นทุกข์มาก ทำอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์เมื่อต้องตายจริงๆ ครับ

พระอาจารย์: จะทำอย่างไรล่ะ ก็ต้องปลงต้องปล่อยวางร่างกายเท่านั้นเอง อย่าไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา เราก็จะไม่ทุกข์ ความจริงมันก็ไม่เป็นตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ เราไปหลงคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา พอมันตายมันก็เลยทำให้เราทุกข์ ต้องมาสอนใจว่าเราไม่ได้เป็นร่างกาย เราเป็นใจผู้รู้ผู้คิด เราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย


สนทนาธรรมบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 05 พฤศจิกายน 2562 16:15:57
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28681307989689_75402045_2504140692957200_1403.jpg)

การทำแท้งก็เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ถาม: สามีของโยมเคยทำแท้งตั้งแต่สมัยเรียน เหตุการณ์ผ่านมาแล้วยี่สิบกว่าปี เขาทุกข์ใจมาตลอด มีพระบอกมาว่าเห็นเด็กอยู่ในบ้าน พระจะมาทำพิธีเพื่อพาเด็กไปอยู่ด้วยและส่งไปเกิด สามีมาปรึกษากับโยม โยมอยากเรียนถามว่าควรเชื่อพระหรือไม่และคนที่เคยทำแท้งมาสำนึกผิดแล้วมีทางพ้นทุกข์ได้อย่างไร และควรทำบุญให้เด็กเพื่อให้เขาพ้นทุกข์และอโหสิกรรมให้ พระอาจารย์เมตตาชี้หนทางสว่างให้คนตาบอดด้วยเถิดเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: คือการทำแท้งก็เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเอง ฉะนั้น ทำไปแล้วก็ต้องไปรับผลบาปต่อไป ต่อไปเวลาเราไปเกิดในท้องใครเราก็จะถูกเขาทำแท้งเราบ้าง เป็นการแลกเปลี่ยนกัน แต่เราจะไปห้ามวิบากกรรมไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะมันทำไปแล้ว เหมือนไปกู้หนี้เขาแล้วบอก “ขอยกหนี้ได้ไหม” ไม่ได้หรอก เจ้าหนี้เขาไม่ยอมหรอก ใช่ไหม อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไปทำบาปแล้วก็ต้องไปรับผลบาปไม่ช้าก็เร็ว เมื่อมีเหตุมีปัจจัยถึงวาระโอกาสที่มันจะส่งผลมันก็จะส่งผล ทางที่ดีก็อย่าไปทำเหตุก็แล้วกัน อย่าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่กรรมเก่าที่ทำไว้ก็ต้องรอรับผลมันไป เราอย่าไปทำกรรมใหม่ ต่อไปเราจะได้ไม่มีผลไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับเราตามมา



เป็นเปรตเขาก็จะรอรับบุญ

ถาม: ทำบุญ ๑๐๐ วัน คนที่ตายไปแล้วจะได้รับไหมคะ

พระอาจารย์: ก็อยู่ที่ว่าเขาอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าเขาอยู่สวรรค์เขาก็ไม่ต้องรับบุญที่เราส่งไป เพราะบุญส่งไปนี้น้อยกว่าบุญที่เขามีอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาเป็นขอทานคือเป็นเปรตเขาก็จะรอรับบุญที่เราส่งไป



บุญเป็นเหมือนเงินในโลกทิพย์

ถาม: สวดมนต์เช้าเย็นที่บ้านทุกวัน และอุทิศบุญกุศลให้มารดาที่ตายไปแล้ว จะได้รับไหมครับ และความเชื่อที่ว่าการทำบุญใส่บาตร แม่เราที่ตายไปจะได้กินข้าวที่เราใส่ด้วยจริงหรือเปล่าครับ

พระอาจารย์: คือบุญที่เราอุทิศไปมันเป็นข้าวของดวงวิญญาณไง งั้นบุญมันเกิดขึ้นได้หลายวิธี ใส่บาตรก็ได้บุญ รักษาศีลก็ได้บุญ นั่งสมาธิไหว้พระสวดมนต์ก็ได้บุญ อยู่ที่ว่าทำแล้วมันเกิดผลหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าสวดมนต์แล้วจะได้ผลทันที บางทีสวดไปแล้วจิตยังฟุ้งอยู่มันก็ไม่ได้ผล วิธีที่ได้ผลชัวร์ๆ แน่ๆ ก็คือใส่บาตร พอใส่บาตรแล้วใจมันก็จะเกิดความสุขเกิดความอิ่มขึ้นมา แต่รักษาศีลรักษาแบบขาดๆ เกินๆ มันก็ยังไม่เกิดความสุขขึ้นมา สวดมนต์ถ้าจะสวดแบบฟุ้งไปฟุ้งมามันก็ยังไม่เกิดผล งั้นเขาจึงนิยมทำบุญอุทิศด้วยการใส่บาตร ทำบุญทำทาน เพราะว่ามันเป็นของที่แน่นอนได้ผลทันที แต่บุญอย่างอื่นนี้มันยังเป็นบุญที่เกิดยาก รักษาศีลก็ยาก ไหว้พระสวดมนต์ก็ยาก นั่งสมาธิก็ยาก ถึงแม้ว่าเราจะรักษาศีลอยู่ สวดมนต์อยู่ นั่งสมาธิอยู่ แต่ผลมันก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้นมาก็ได้ งั้นถ้าเราอยากจะอุทิศบุญก็อุทิศด้วยการทำทานดีกว่า ทำทาน ใส่บาตร หรือบริจาคเงินให้กับองค์กรต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาลอะไรนี้ ทำแล้วเกิดความสุขใจอิ่มใจขึ้นมาทันที เอาบุญแบบนี้ดีกว่า ถ้าต้องการจะอุทิศบุญ งั้นไม่จำเป็นว่าเวลาจะส่งข้าวให้แม่เราต้องใส่ข้าวให้กับพระ ส่งเสื้อผ้าต้องถวายเสื้อผ้าให้กับพระ ไม่ใช่ อันนี้คือ ของที่เราให้นี้มันจะแปลงเป็นบุญทันที แล้วบุญนี้ก็เป็นเหมือนเงินที่คนที่อยู่ในโลกทิพย์จะเอาไปซื้อของที่เขาต้องการได้ทันที งั้นไม่ต้องกังวลว่า แม่ชอบกินอาหารชนิดนี้ หาซื้ออาหารชนิดนี้ใส่บาตรพระไม่ได้ เดี๋ยวแม่จะไม่ได้กินอาหาร นี่ไม่ใช่หรอก ใส่อาหารชนิดไหนไปในบาตรก็ได้ เป็นบุญเหมือนกัน เป็นอาหารของใจเหมือนกัน เป็นอาหารทิพย์


ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 พฤศจิกายน 2562 14:51:02
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/82486960954136_75285785_2501144959923440_8052.jpg)

คนที่ตายเขาจะรู้ตัวไหมว่าเขาตาย

ถาม: คนที่ตายด้วยอุบัติเหตุหรือตายปุ๊บปั๊บ เขาจะสามารถรู้ตัวไหมคะว่าเขาตายแล้ว หรือว่าเขาจะเห็นร่างของตัวเองไหมคะว่าตายแล้ว

พระอาจารย์: คือเวลาที่จะตายเนี่ยคนเราทุกคนรู้เท่านั้นแหละ เพราะว่าไม่ว่าจะอุบัติเหตุหรือนอนหลับตายก็ตาม เพราะว่าก่อนจะตายนี้มันจะต้องมีอะไรมากระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นตกใจขึ้นมา เพียงแต่ว่ามันจะไปยังไงนี้มันอยู่ที่บุญที่บาปได้ทำไว้ ถ้ามีบุญมากกว่าบาปก็จะไปดี ถ้าบาปมากกว่าบุญก็จะไปอบาย



เป็นมะเร็งขอสติจากหลวงพ่อค่ะ

ถาม: หลวงพ่อคะ วันนี้หนูไปฟังผลชิ้นเนื้อมา หมอบอกหนูเป็นมะเร็ง หนูอยากจะขอสติจากหลวงพ่อค่ะ หนูยอมรับว่ากลัวมากค่ะ

พระอาจารย์: อ๋อ หมอเขาลืมบอกว่าร่างกายของหนูไม่ใช่หนู นี่คือสิ่งที่หมอไม่รู้ ต้องไปหาหมอพระ ไปหาพระพุทธเจ้า ไปหาพระอริยสงฆ์สาวก ท่านก็จะบอกว่าร่างกายไม่ใช่เรา ร่างกายเป็นคนรับใช้เรา เราเป็นเจ้านายของร่างกาย เราเป็นผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ฉะนั้นเวลาร่างกายเป็นอะไร มันไม่ได้มาเป็นที่เรา แต่เราไม่รู้เราไปหลงคิดว่าเราเป็นร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรขึ้นมาเราก็เลยคิดว่าเราจะเป็นไปกับร่างกาย ความจริงเราเป็นใจผู้รู้ผู้คิด ผู้ที่ไม่มีรูปร่างหน้าตา ไม่มีร่างกาย เราเลยไปเช่าร่างกายมาจากพ่อแม่ของเรา ไปขอร่างกายจากพ่อแม่เพื่อเราจะได้ใช้ร่างกายพาเราไปเที่ยว พาไปหาความสุขกัน แต่ร่างกายของเรามันไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อันนี้เราไม่มาศึกษากัน ไม่มาทำความเข้าใจก่อน เหมือนกับไปซื้อของแล้วไม่เปิดดูหนังสือกำกับมาว่าสินค้าชนิดนี้มีประโยชน์ยังไงมีโทษยังไง เราก็เลยไปคิดว่ามันมีประโยชน์อย่างเดียว แต่ความจริงสินค้าที่เราซื้อมานี้มันมีทั้งคุณมีทั้งโทษ คุณก็คือเวลาที่มันแข็งแรงมันก็พาเราไปไหนมาไหนทำอะไรได้ แต่เดี๋ยวต่อไปมันจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อันนี้เราไม่รู้กัน เราไปเหมาว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นตัวเรา แล้วเราก็จะอยากให้มันดีตลอดเวลา ไม่ต้องการให้มันเป็นอะไรไป พอมันเป็นอะไรมันก็เลยทำให้เราไม่สบายใจ แต่ถ้าเรามาศึกษามาทำความเข้าใจให้รู้ว่า เราไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย มันเป็นเพียงคนรับใช้เรา เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่เราซื้อมา เราเช่ามาจากพ่อจากแม่ หรือเช่ามาจากดินน้ำลมไฟก็ว่าไป เดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วเขาก็ต้องกลับไปคืนเจ้าของ คือดินน้ำลมไฟไป เราต้องรู้อย่างนี้แล้วเราจะได้สบายใจ แล้วเราจะได้ปล่อยใจได้

ถ้ารู้แล้วยังไม่ยอมเชื่อ ยังไม่ยอมปล่อยเราก็ต้องมานั่งสมาธิทำใจให้สงบ เปลี่ยนความคิดใหม่เพราะขณะนี้เรายังจะคิดว่ามันเป็นเราเป็นตัวเราอยู่ แต่ถ้าเรามาหยุดความคิดนี้ได้ พุทโธพุทโธ เดี๋ยวความคิดว่าเป็นตัวเราของเรามันก็จะหายไป แล้วทีนี้เราก็จะปล่อยวางร่างกายได้ตามความเป็นจริงของมัน นี้คือสิ่งที่เราต้องมาฝึกกัน ฝึกกันก่อนที่จะเจอเหตุการณ์นี้ เพราะเวลาเจอเหตุการณ์นี้จะเหมือนเข้าห้องสอบโดยที่ไม่เตรียมทำข้อสอบไว้ก่อน มันก็จะสอบตกนะ ใจมันก็จะตกจากข้างบนลงมาสู่เท้า ต่อไปนี้ตอนนี้คงจะไม่มีกะจิตกะใจอยากทำอะไรแล้ว วิตกกังวลกับเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย แต่ถ้าเราได้ฝึกไว้มาตั้งแต่ก่อน พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราก็จะรู้วิธีทำใจว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องเสียร่างกายนี้แล้วนะ ร่างกายนี้เป็นเครื่องมือเป็นคนรับใช้เรา เขารับใช้เราได้เท่าไหร่ก็ให้เขารับใช้ไปพอหมดเวลาก็ปล่อยเขาไป เราก็จะไม่วุ่นวายใจ เราก็จะไม่เดือดร้อนใจกับความเป็นไปของร่างกาย ฉะนั้นตอนนี้ถ้าวุ่นวายใจก็พยายามหัดฝึกสติพุทโธพุทโธ ทำใจให้สงบ อย่าไปคิดถึงร่างกาย ปล่อย ถ้าจะคิดก็คิดว่าไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันไป



โกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ ผิดศีลไหม

ถาม: ถ้าการโกหกผิดศีลข้อ ๔ แต่ถ้าเราโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ จะถือว่าผิดศีลไหมครับ

พระอาจารย์: ผิดทั้งนั้นแหละถ้าโกหกมันก็ผิด ไม่ได้เขียนวงเล็บไว้ว่า ถ้าโกหกให้คนอื่นสบายใจแล้วไม่ผิดศีล มันไม่มี มันไม่มีข้อยกเว้น คือเวลาไม่พูดความจริงมันก็ผิด เพราะข้อนี้ต้องการให้เรามีสัจจะ มีความจริงไม่พูดเรื่องไม่จริง เพราะมันเป็นเครดิตของเรา คนที่พูดจริงนี้ถึงแม้ว่าจะผิดแต่พูดไป คือยอมรับผิดนี้ก็ยังดีกว่าคนที่ทำผิดแล้วโกหกว่าไม่ได้ทำผิด เพื่อให้คนฟังสบายใจ เช่น หลอกภรรยาว่าไปทำงานแต่ที่ไหนได้ไปจู๋จี๋กับใครอยู่ ถ้าบอกว่าไปจู๋จี๋กับใครเดี๋ยวภรรยาจะเสียใจ ก็เลยโกหกอย่างนี้ ให้ภรรยาสบายใจ อันนี้มันก็โกหกมันก็ไม่ดี เพราะถ้าเกิดเขาจับได้ ทีนี้มันจะเสียหายมากกว่าที่เราพูดความจริง แต่ถ้าเราคิดว่าการพูดความจริงแล้วทำให้เขาเสียใจก็อย่าพูดก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องโกหกเลย ก็เปลี่ยนเรื่องพูดไป หรือไม่พูดไป ทำเป็นเจ็บฟันปวดฟันไป พูดไม่ออก อะไรก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไอไปจามไป ก็ไม่ต้องพูดก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องโกหก ถ้าโกหกแล้วคนอื่นเขารู้ คนอื่นเขารู้ว่าเราโกหก เขาก็จะไม่เชื่อถือเรา



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 พฤศจิกายน 2562 16:34:50
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/39689193500412_69615365_2393319234039347_8163.jpg)

วิธีไหนก็ไม่ได้ผล ควรทำอย่างไร

ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ ปฏิบัติต่อเนื่องมา ๑๐ ปี ไม่มีความคืบหน้า ลองมาหลายวิธีจนงงไปหมด วิธีไหนก็ไม่ได้ผล ควรทำอย่างไรต่อไปครับ

พระอาจารย์: ก็ต้องใช้สติแหละ วิธีไหนก็ต้องเป็นวิธีสติทั้งนั้น วิธีสติก็มี ๔๐ วิธี ลองไปลองให้หมดดูซิ แต่ส่วนใหญ่สำหรับผู้เริ่มต้นนี้ ท่านก็สอนแค่ ๑๐ วิธี อนุสสติ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อานาปานสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ นี่เป็นวิธีเจริญสติ เราก็เลือกเอา จะเอาอันไหน พุทโธก็ได้ ธ้มโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรือจะสวดอิติปิโสก็ได้ แล้วแต่ว่าเราถนัดเราชอบอย่างไหน ปัญหาอาจจะไม่ใช่วิธีมั้ง ปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่าเราทำแบบนกกระจอกกินน้ำหรือเปล่า ทำแบบทำปุ๊บ ซักวินาทีสองวินาทีหยุดทำแล้ว แล้วก็มาบอกว่าปฏิบัติ ๑๐ ปีไม่ได้ผล ปฏิบัติอย่างนี้ ๑,๐๐๐ ปี ก็ไม่ได้ผล ถ้าปฏิบัติแบบนกกระจอกกินน้ำ มันต้องปฏิบัติแบบเป็นเวลายาวๆ มากๆ เดินจงกรมที ๒-๓ ชั่วโมงอย่างนี้ พุทโธ นั่งนานๆ อะไรอย่างนี้ หรือเวลาไม่ได้นั่งไม่ได้เดินก็ต้องมีสติอยู่กับการกระทำของเราเรียกว่า “กายคตาสติ” หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีพุทโธคอยกำกับใจ อาบน้ำก็พุทโธ ล้างหน้าก็พุทโธ แปรงฟันก็พุทโธ ถ้าทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีผลขึ้นมา มาเตะเราได้ เพราะใช้มาแล้วมันได้ผล ขอให้มันทำแบบจริงๆ จังๆ อย่าทำแบบลูบหน้าปะจมูก ทำแบบพอหอมปากหอมคอ ทำสักแป๊บหนึ่ง ไม่ได้ผล เลิกแล้ว เปลี่ยนวิธีอีกแล้ว วิธีนี้ก็ไม่ถูก วิธีนั้นก็ไม่ถูก มันไม่ใช่ที่วิธีหรอกที่ไม่ถูก มันอยู่ที่การกระทำของเรามันไม่ถูก ทำน้อยไป ทำไม่มากพอ มันก็เลยไม่เกิดผลขึ้นมา



แผ่เมตตาต้องแผ่ตอนที่มันยังไม่ตาย

ถาม: มีงูเห่าตัวเล็กๆ เข้าบ้าน แล้วคุณพ่อฆ่าแต่ตัวเราเองไม่อยากให้พ่อฆ่า แต่ท่านไม่รับฟัง เราจะบาปด้วยไหมเจ้าคะ และสามารถแผ่เมตตาจะช่วยได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ เราไม่บาปหรอกถ้าเราไม่ได้เป็นคนทำและเป็นคนช่วยเขาทำ เขาทำของเขาเอง ส่วนการแผ่เมตตาก็ต้องไปช่วยเขาซิ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา คืออย่าไปทำร้ายเขา ถ้าเราแผ่เมตตาด้วยความคิดว่า เออ ขอให้เธอไปสุคติ นี่ไม่ได้แผ่แล้วละ เพราะมันตายแล้ว งั้นถ้าเราจะแผ่เมตตาต้องแผ่ตอนที่มันยังไม่ตาย พอใครจะไปทำร้ายเขาก็ไปห้ามเขาไปหยุดเขา อันนี้เพื่อให้มันรอดพ้นจากภัยได้ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วเราสวดบทแผ่เมตตามันไม่ได้แผ่หรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไร เราไม่ได้ช่วยเขา




ก็ลองฟังแบบปัญญาดู

ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ หนูขอถามว่าการฟังธรรมนี่เป็นสมาธิอย่างหนึ่ง เวลาฟังธรรมหนูรู้สึกว่าจิตหนูสงบ หลังจากนี้ควรปฏิบัติอย่างไรต่อละคะ

พระอาจารย์: ก็ลองฟังแบบปัญญาดู ฟังแล้วก็คิดตามนึกตาม เหมือนเวลาเรียนหนังสือในห้องเรียนนี่ ครูสอนอะไรเราก็ต้องนึกตามที่ครูสอน ฟังธรรมแล้วก็พยายามจดจำสิ่งที่ได้ฟังมา หรือฟังเพื่อให้เข้าใจไม่ต้องจดจำก็ได้ ฟังแล้วอันไหนเข้าใจเราก็จะจำได้ แล้วเราก็เอาไปปฏิบัติต่อ อย่างวันนี้สอนให้รู้จักอริยสัจ ๔ ให้รู้จักไตรลักษณ์ เราก็ต้องไปศึกษาขยายเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอริยสัจ ๔ นี้มีอะไรบ้าง เกี่ยวกับเราอย่างไร ไตรลักษณ์มีอะไรบ้างเราเอามาใช้กำจัดความอยากได้อย่างไร อันนี้เราก็ต้องไปคิดค้นดูต่อไป แล้วก็ลองเอาไปใช้กับเหตุการณ์จริง เวลาเราเกิดความไม่สบายใจนี้ อริยสัจ ๔ ปรากฏขึ้นมาในใจแล้ว คือความทุกข์ใจ เราก็ต้องค้นหาดูว่าความทุกข์ใจนี้เกิดจากความอยากอันไหน เราต้องมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งถึงทำให้เราทุกข์ใจ แล้วเราอยากจะหยุดความอยากเราก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ในสิ่งที่เราอยาก เห็นสิ่งที่เราอยากว่ามันเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข หรือเป็นอนัตตาเราไปสั่งไปห้ามเขาไม่ได้ ถ้าเราไปอยากสั่งเขาไปอยากห้ามเขา และไม่ได้ดังใจก็จะทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เราก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา อย่างที่เมื่อกี้หนูถามว่าคุณปู่หรือคุณตาไม่ดี หรือคุณลุงจำไม่ได้เป็นใคร จะทำยังไง ก็ทำยังไงถ้าเปลี่ยนเขาไม่ได้บอกเขาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา เราก็จะไม่ทุกข์กับเขา


ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 พฤศจิกายน 2562 15:39:28

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/12246529426839_75036509_2525454150825854_8358.jpg)

เชื้อจุลินทรีย์มีชีวิตมีจิตหรือไม่

ถาม: เชื้อจุลินทรีย์มีชีวิตมีจิตหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: เท่าที่ดูมันก็ไม่มีจิตรับรู้ มันมีชีวิตมันเป็นเหมือนกับตัวเซลอะไรพวกนี้ มันยังไม่มีจิตมาครอบครอง



เศรษฐกิจพอเพียง

ถาม: อะไรคือความพอดีของผู้ครองเรือนกับธรรมะ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความพอดีและไม่ทุกข์เจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็เศรษฐกิจพอเพียงไง ปัจจัย ๔ อย่างในหลวง ร. ๙ ทรงสอนไง ขอให้มีปัจจัย ๔ พอเพียงก็พอแล้ว พอดีแล้ว พอมีพอกิน ไม่ต้องร่ำไม่ต้องรวย ก็จะมีความสุขได้ในระดับของฆราวาส ถ้ายังมักใหญ่ใฝ่สูงยังอยากร่ำอยากรวยอยู่ ก็จะไม่มีความสุข ต้องดิ้นรนคอยหาอยู่เรื่อยๆ หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะเราจะไปกำหนดคำว่า “รวย” อยู่ที่ตรงไหนล่ะ ใช่ไหม ได้ล้านหนึ่งมันก็ยังไม่พอ ได้ ๑๐ ล้านมันก็ยิ่งไม่พอ เพราะพอเวลามันได้แล้วมันเห็นช่องทางที่จะได้เพิ่ม คือมี ๑๐ ล้านก็ไปลงทุนได้ ใช่ไหม ลงทุนแล้วก็กลายเป็น ๑๐๐ ล้าน พอได้ ๑๐๐ ล้าน ก็ไปลงทุนเป็น ๑,๐๐๐ ล้าน เห็นไหม มันก็ไม่มีคำว่าพอ ต้องเอาพอที่ปัจจัย ๔ พอกินพออยู่ไม่เดือดร้อน ใช้ได้ นี่พอแล้ว ถ้ามันมากกว่านั้นก็ต้องเอาไปทำบุญทำทานให้มันหมด ไม่อย่างนั้นมันจะมาล่อใจเราให้อยากได้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ



ทำสติให้ต่อเนื่องต้องทำอย่างไร

ถาม: การทำสติให้ต่อเนื่องต้องทำอย่างไรบ้างในรูปแบบและนอกรูปแบบค่ะ

พระอาจารย์: ก็ทำตั้งแต่ตื่นจนหลับไง พอลืมตาขึ้นมาถ้าต้องการเจริญสติก็มีหลายวิธี ระลึกพุทโธไปเรื่อยๆ ก็เป็นการเจริญสติ พอลืมตาปุ๊บจะคิดถึงคนนั้นคนนี้ก็พุทโธแทนไป พุทโธ พุทโธไป ลุกขึ้นมาก็พุทโธ ยืนก็พุทโธ เดินก็พุทโธ อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟันก็พุทโธ แต่งเนื้อแต่งตัวก็พุทโธ รับประทานอาหารก็พุทโธไป อย่าปล่อยให้ใจคิดไปถึงอดีตไปถึงอนาคต อย่าไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องคิดว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ ต้องไปทำอะไรก็หยุดพุทโธไว้ชั่วคราว พอคิดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็กลับมาพุทโธใหม่ อย่าปล่อยให้ใจคิด คอยควบคุมความคิด ดูความคิดนี้เป็นเหมือนนักโทษ อย่าปล่อยให้มันไปเพ่นพ่าน พอมันจะขยับตัวปั๊บนี่ต้องหยิบเอาโซ่เอาอะไรมามัดมันไว้ทันที อย่าปล่อยให้มันไปไหนมาไหน อย่าปล่อยให้มันคิด จะใช้รูปแบบไหนก็ได้ ใช้พุทโธก็ได้หรือจะใช้การจดจ่อเฝ้าดูการกระทำของร่างกายก็ได้ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้อยู่กับการกระทำนั้น อย่าไปคิดเรื่องอื่น อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ พอมีสติแล้วเดี๋ยวเวลานั่งสมาธิมันก็จะมีสติอย่างต่อเนื่อง ๕ นาที ๑๐ นาทีมันก็จะเข้าสู่ความสงบได้


อุบายหยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่

ถาม: อยากฝึกให้หยุดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ครับ แต่ยังทำไม่ได้ กราบขออุบายหลวงพ่อด้วยครับ

พระอาจารย์: ง่าย ถ้าอยากจะซื้อชุดใหม่ก็ ซื้อมาแล้วก็เอาไปให้คนอื่น อย่าเอามาใช้เอง อยากจะซื้อกี่ชุดก็ซื้อได้ แต่อย่าเอามาใช้เอง แล้วต่อไปรับรองได้ว่าจะไม่อยากซื้ออีก ง่ายจะตายไป ชุดนี้สวยเหรอซื้อให้ใครดีนะ ชุดนี้สวยเหรอ ซื้อให้ใครดี เอ้า ซื้อไปเลย วันเกิดของใครวันนี้ เอาไปให้เขาไป หรือวันนี้อยากจะเซอร์ไพรซ์ (surprise) ขอทานก็ซื้อไป แล้วเอาไปให้ขอทานที่นั่งอยู่หน้าร้านนั่นแหละ “เอ๊ย เอาไปโว้ย มึงเห็นคนอื่นเขาใส่มึงลองเอามาใส่บ้างดูซิ” ซื้อแล้วเอาไปทำบุญ อย่างนี้ก็จะได้บุญ แล้วต่อไปจะไม่อยากจะซื้ออีก รับประกันได้



อย่าไปอยากให้มันรวม

ถาม: ขอโอกาสเรียนถามพระอาจารย์ กระผมเคยภาวนา แล้วจิตสงบเมื่อ ๘ ปีก่อน เรื่องของความสงบนั้นทำให้ใจหวนคำถึงถึงตลอด แต่ภาวนายังไง ใจก็ไม่เคยได้ลิ้มรสนั้นเลย อุบายอันใดที่จะทำให้ใจหยั่งลงถึงความสงบนั้น ครั้งนั้นใช้กำหนดลมหายใจ มันเหมือนฟลุคที่จิตรวมลงง่าย ขอบพระคุณครับ

พระอาจารย์: ก็ต้องทำเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าอย่าไปอยากให้มันรวม ความอยากรวมมันจะทำให้จิตไม่รวม เวลาดูลมก็ให้ดูลมเฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เป็นเหมือนครั้งแรกที่ไม่เคยสงบมาก่อน อย่าไปคิดถึงความสงบที่เคยได้แล้วอยากได้ เพราะมันจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้รวมอีกครั้งหนึ่ง ต้องดูลมไปแบบลืมอดีต ลืมอนาคต อดีตคือความสงบที่เคยได้ อนาคตคือความสงบที่จะได้ต่อไป อย่าไปคิดถึงมัน ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับลมหายใจไปเพียงอย่างเดียว แล้วเดี๋ยวจิตก็จะเข้าสู่ความสงบต่อไปได้



ควรทำอย่างไรกับคนขี้อิจฉา

ถาม: น้อมกราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ หากการที่เราทำบุญใส่บาตรแล้ว มีคนเดือดร้อนเสียใจเพราะอิจฉาเรา เนื่องจากเขามีปมด้อย เราจะทำบุญให้น้อยกว่าเดิม เราก็ไม่ชอบตัวเองอีก เราควรทำอย่างไรกับคนขี้อิจฉา

พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องปล่อยเขาไป เป็นธรรมชาติของเขา เป็นเหมือนมะนาวมันก็ต้องเปรี้ยว ใช่ไหม จะไปให้มันหวานได้ยังไง คนขี้อิจฉาเขาก็ต้องอิจฉาไปตามธรรมชาติของเขา การทำบุญของเรามันไม่ได้เกี่ยวกับเขาเลย ใช่ไหม งั้นเขาจะอิจฉาไม่อิจฉานี่มันไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่ต้องไปสนใจ เราก็ทำไปตามความต้องการของเรา เราต้องการทำมากเราก็ทำไป ถ้าเราไม่ได้ไปเอาเงินเขามาทำก็แล้วกัน ถ้าเป็นเงินของเราเองก็ไม่เป็นปัญหาอะไ



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 ธันวาคม 2562 09:44:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17664449827538_74794296_2525467277491208_8065.jpg)

เอาชนะความกลัวได้อย่างไร

ถาม: ทำอย่างไรถึงจะเอาชนะความกลัวได้ครับ
พระอาจารย์: ก็มี ๒ วิธี วิธีแรกก็คือใช้สติ เวลาเกิดความกลัวก็ให้ใช้สติให้ใจระลึกรู้อยู่กับพุทโธ พุทโธ อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงสิ่งที่ทำให้เรากลัว เช่น เราไปกลัวผี คิดว่ามีผีมา เราก็หยุดความคิดนี้ด้วยการให้บริกรรมพุทโธ พุทโธไป หรือสวดมนต์ไป สวดอิติปิโส สวด “อรหังสัมมา สวากขาโต” ให้สวดไปอย่าไปคิดถึงความคิดที่เราไปคิดว่ามีผี เพราะเราไม่ได้คิดถึงผี ผีมันก็จะหายไป เพราะผีมันมาจากความคิดเรานี่เอง เราใช้พุทโธ พุทโธ หรือใช้การสวดมนต์ไป แล้วใจก็จะลืมเรื่องผีไป ผีมีจริงไม่มีจริงก็ไม่สำคัญ มันจะมาไม่มาก็ไม่สำคัญ ถ้าใจเราไม่ไปคิดถึงมันแล้ว ใจเราไม่เดือดร้อน อันนี้วิธีแรก แต่เป็นวิธีที่ไม่ถาวร แต่ต้องคอยสวดอยู่เรื่อยๆ เวลากลัวก็ต้องสวด วิธีที่จะทำให้มันไม่กลัวอย่างถาวรก็ต้องยอมตายเท่านั้น เวลากลัวอะไรก็บอกว่าร่างกายนี้มันเป็น “อนิจจัง” ไม่เที่ยง มันเป็น “อนัตตา” เราไปห้ามมันไม่ได้ ถ้าถึงเวลามันจะตาย อยู่ที่ไหนมันก็ตาย จะมีอะไรมาทำลายมันหรือไม่มันก็ต้องตายเหมือนกัน พอยอมตายแล้วมันก็หายกลัว เพราะยอมรับความจริง พอเห็นความจริงว่าร่างกายนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม อยู่ที่ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ต่อให้มี ร.ป.ภ. มาคุ้มครองตลอด ๒๔ ชั่วโมง มันก็ตายได้ หนีความตายไม่พ้น ดังนั้น ถ้าตอนนี้ถึงเวลามันจะตายก็ให้มันตายไป ยอมตาย พอยอมตายแล้วใจก็จะหายกลัว หลังจากนั้นจะไม่กลัวความตายอีกต่อไป



ใช้กัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริต

ถาม: พยายามหาคำบริกรรมหรือการทำสมาธิที่ถูกกับจริตของตนเอง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าแบบไหนถูกจริตค่ะ
พระอาจารย์: ก็ลองไปเรื่อยๆ ที่จริงมันไม่ใช่จริตหรอก ทุกคนมีจริต ๔ อย่างเหมือนกันแหละ บางเวลาก็เกิดราคะขึ้นมา บางเวลาก็เกิดโทสะขึ้นมา งั้นเรามีจริตหลายอย่างปนกัน เราก็ต้องรู้ว่าเวลาเกิดจริตแบบนี้จะทำยังไง เวลาโกรธใครนี้ พุทโธไม่ได้ก็ต้องใช้แผ่เมตตา ให้อภัย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง ถ้าไปอาฆาตพยาบาทกันเดี๋ยวก็จองเวรจองกรรมกันไปไม่มีที่สิ้นสุด พอให้อภัยเรื่องก็จะจบ เวลาเกิดโทสะจริตขึ้นมาก็ต้องใช้เมตตาภาวนา เวลาเกิดราคะเกิดกามารมณ์อยากจะร่วมหลับนอนกับแฟน ก็ต้องคิดถึงอสุภะของแฟน คิดถึงอาการ ๓๒ ของแฟน คิดถึงโครงกระดูก คิดถึงตับปอดไตลำไส้อะไรต่างๆ พอเห็นอาการเหล่านี้ในร่างกายของแฟน ความอยากจะเสพกามก็จะหายไป งั้นมันอยู่ที่เวลาจริตไหนมันเด่นขึ้นมาเราก็ต้องใช้กัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตนั้น กัมมัฏฐานก็เป็นเหมือนยา จริตก็เป็นเหมือนโรคของใจ เหมือนกับโรคของร่างกาย ปวดหัวก็ต้องกินยาแก้ปวดหัวซิ อย่าไปกินยาแก้ปวดท้องซิ กินยาแก้ปวดท้องก็ไม่หาย ต้องกินยาแก้ปวดหัว ถ้าปวดท้องก็ต้องกินยาแก้ปวดท้อง ปวดตาก็ต้องหายามาหยอดตา มันมียาของแต่ละชนิดที่ต้องมารักษา จริตของเราจิตของเราก็มีหลายจริต บางทีก็ราคะจริต บางทีก็โทสะจริต บางทีก็โมหะจริต ก็ต้องหาธรรมะที่เหมาะสมมาแก้ไข พอมันหายเป็นปกติเราก็ใช้แบบทั่วไปได้ พุทโธนี้เหมาะกับเวลาที่เราไม่มีปัญหา จิตเราเป็นปกติ ตอนนั้นเราก็พุทโธพุทโธ หรือดูการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าโกรธใครนี่มันดูไม่ออก พุทโธไม่ออก เพราะมันจะคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ เราก็ต้องให้อภัยเขา พอให้อภัยเขาเราก็เลิกคิดถึงเขาได้ แล้วเราก็กลับมาพุทโธ กลับมาดูร่างกายดูลมหายใจได้ต่อไป


เห็นสักแต่ว่าเห็นต้องพิจารณาอย่างไร

ถาม: ที่กล่าวว่า “เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน” แล้วความคิดเกิดในใจต้องพิจารณาอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ก็เห็นแล้วอย่าไปโลภอย่าไปรักไปชังไปกลัวไปหลง ให้เห็นเฉยๆ อย่ามีอารมณ์กับสิ่งที่เราเห็น เห็นเพชรก็อย่าไปอยากได้ เห็นอุจจาระก็อย่าไปอยากหนี ถ้าต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมันไป นี่อย่าไปรังเกียจอย่าไปรักอย่าไปชัง ทำใจให้เป็นกลาง จะทำได้ก็ต้องฝึกสมาธิ เพราะความเป็นกลางของใจนี้นำความสุขมาให้กับใจ ถ้าใจออกจากความเป็นกลางเมื่อไหร่ ความทุกข์จะโผล่ขึ้นมาทันที พอรักก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา พอชังก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา พอกลัวก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา พอหลงก็เกิดอารมณ์ขึ้นมา ใจจะไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงต้องฝึกสมาธิ ให้เข้าไปในสมาธิแล้วใจจะเป็นกลางเป็นอุเบกขา แล้วเราก็เอาความเป็นกลางของใจนี้มาใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป เวลาสัมผัสรับรู้อะไรก็เฉย แล้วเราก็จะสบายไม่วุ่นวายใจ ถ้าไม่เฉยก็แสดงว่ากำลังอุเบกขาเรามีน้อย แล้วก็กำลังปัญญา ต้องมีทั้งสองอย่างถึงจะช่วยรักษาอุเบกขา สมาธิก็สร้างอุเบกขาขึ้นมา ปัญญาก็จะเป็นผู้รักษาต่อไป ปัญญาก็จะสอนว่าสิ่งที่เราไปรักไปชังนี้เป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” พอรักปั๊บก็ทุกข์ทันที พอชังปุ๊บก็ทุกข์ทันที ถ้าไม่อยากไปทุกข์ก็อย่าไปรักอย่าไปชัง


ที่มา -ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 ธันวาคม 2562 16:02:58
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93689095560047_78248513_2558238090880793_7999.jpg)

บุญ ถึงเวลามันอัตโนมัติ

ถาม: ลูกทำบุญมามากมายจนจำไม่ได้แล้ว ถ้าหากวันใดที่เกิดอาการเจ็บป่วยมีทุกขเวทนามาก จิตสุดท้ายไม่มีโอกาสนึกถึงบุญที่ทำแล้ว จิตสุดท้ายจะไปดีไหมครับ แล้วบุญนั้นจะให้ผลไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ มันไม่ต้องนึกหรอกบุญ ถึงเวลามันอัตโนมัติ มันจะมาทำหน้าที่ของมัน งั้นไม่ต้องไปกังวล ทำไปเยอะๆไว้ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวถึงเวลาบุญมันจะมาเองไม่ต้องไปนึกถึงมัน ถ้าไม่ทำนึกยังไงมันก็ไม่มา งั้นไม่ต้องไปกังวลเรื่องนึก บุญกับบาปที่ทำไว้มันมาเองเมื่อถึงเวลาของมัน



นั่งสมาธิมานานแล้วแต่ทำไมไม่ได้สมาธิ

ถาม: กระผมนั่งสมาธิมานานแล้วแต่ทำไมไม่ได้สมาธิ ไม่ทราบว่าติดตรงไหน พระอาจารย์มีวิธีแก้ไขไหมครับผม
พระอาจารย์: ไม่มีสติไง ไม่มีพุทโธ ไม่มีลมหายใจ นั่งเฉยๆไม่มีวันสงบได้ ต้องใช้พุทโธพุทโธไป หรือดูลมหายใจไป ทิ้งไม่ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง พุทโธก็ได้ลมหายใจก็ได้ มันถึงจะเข้าสู่ความสงบได้ ที่ไม่มีพุทโธหรือไม่ดูลมหายใจได้เพราะไม่ฝึกมาก่อน ไม่ฝึกตั้งแต่ก่อนที่จะมานั่ง ต้องหมั่นฝึกพุทโธพุทโธอยู่เรื่อยๆ เวลาที่เราไม่ต้องใช้ความคิด งั้นให้พุทโธพุทโธดึงความคิดไว้ อย่าให้มันคิดถึงเรื่องราวต่างๆ พอมานั่งเราก็จะได้ควบคุมความคิดไว้ได้ แล้วมันก็จะสงบได้



เปลี่ยนจากเสียใจเป็นวางเฉยได้อย่างไร

ถาม: มิตรภาพที่เริ่มห่างหายไป เราจะเปลี่ยนจากความเสียใจให้เป็นการวางเฉยได้อย่างไรครับ
พระอาจารย์: ก็พิจารณาว่ามันเป็นของไม่เที่ยงไง ทุกอย่างมีเกิดมีดับ มีมามีไป มีเจริญมีเสื่อม แต่ใจเราไม่ยอมให้มันไป อยากจะให้มันอยู่ พอมันไม่อยู่ก็เลยเสียใจ ถ้าห้ามใจไม่ให้อยากไม่ได้ก็ต้องใช้คำบริกรรมพุทโธพุทโธพุทโธ เวลามันอยากจะให้มิตรภาพกลับมา เราก็พุทโธพุทโธพุทโธไป หยุดความอยาก พอเราไม่มีความอยากให้มันกลับมา ใจก็จะสงบใจก็จะสบายขึ้นมา



ถ้ายังไม่ถึงผลก็ยังตกลงมาได้

ถาม: เมื่อจิตขึ้นไปสัมผัสถึงอารมณ์ของกระแสขั้นอริยบุคคลเบื้องต้นแล้ว สามารถตกลงมาอีกได้หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: ถ้ายังไม่ถึงผลก็ยังตกลงมาได้อยู่ ถ้าเป็นการสัมผัสเพียงแต่การยังไม่ได้บรรลุผลเต็มที่นี่มันก็ยังตกลงมาได้ ยังอยู่ในขั้นมรรคอยู่ ยังอยู่ในขั้นเดินขึ้นบันไดอยู่ ขึ้นบันไดถ้ายังไปไม่ถึงชั้นที่เราจะขึ้นไป ถ้าเผลอเดี๋ยวก็เลื่อนตกบันไดได้ เพราะบันไดมันชัน แต่ถ้าเราเดินขึ้นไปจนถึงชั้นที่เราต้องการขึ้นไปได้แล้ว มันก็จะไม่ตกลงมา เช่น ถ้าบรรลุเป็นโสดาบันแล้วก็จะไม่มีวันกลับไปเป็นปุถุชนอีกต่อไป


ที่มา -ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 ธันวาคม 2562 13:34:39
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97000174762474_78870836_1423774324436663_9382.jpg)

ผีจริงไม่หลอก ผีหลอกไม่จริง

ถาม : คนที่ทำงานชอบมาเล่าให้ฟังว่าเจอผีบ่อยๆ อยากทราบว่าผีมีจริงไหมคะ
พระอาจารย์ : ผีจริงไม่หลอก ผีหลอกไม่จริง เข้าใจไหม ผีจริงก็คือนี่แหละ พวกเราที่ตายไปแล้วก็เป็นผีกันทุกคน เพราะเราไม่มีร่างกายแล้วก็เป็นผีกัน ดวงวิญญาณ ดวงวิญญาณพวกนี้ไม่มาหลอกเราหรอก ไอ้ที่ผีไม่จริงน่ะมันหลอก ก็คือใจเราหลอกเราเอง ชอบคิดถึงผี คิดขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง สร้างผีขึ้นมาจากความคิดของเรา อันนี้ผีปลอม ไอ้ผีที่เรากลัวกันนี้ก็คือผีปลอม นี่พอมาอยู่ที่นี่ ตอนกลางคืนอยู่คนเดียวบนนี้เดี๋ยวผีมาเต็มเลยแหละ มันมาจากใจเรา คิดกันไปเอง เข้าใจไหม แต่ถ้าใจสงบมันไม่มีหรอก มันไม่คิดถึงผี คนบางคนมาอยู่บนเขาไม่ได้เพราะใจไม่สงบ พอมืดหน่อยนี้เห็นอะไรเป็นผีไปหมด แสดงว่าใจปรุงแต่ง ใจหลอกตัวเอง นี้เรียกว่าผีปลอม ผีปลอมเป็นผีหลอก แต่ผีจริงเขาไม่หลอก เขาตายเราตายไปแล้วดวงวิญญาณเขาก็ไปตามภพตามภูมิของเขาแล้ว เขาจะไปเป็นเทวดาเขาก็ไปแล้ว เขาจะไปตกนรกเขาก็ไปของเขาแล้ว เขาไม่มีเวลามานั่งหลอกเราหรอก หลอกเราแล้วได้อะไรล่ะ ใช่ไหม ฉะนั้นผีจริงไม่หลอก ผีหลอกไม่จริง ขอให้จำคำพูดนี้ไว้ก็แล้วกัน



ถาม: กราบขอวิธีคิดเวลาโดนกิเลสหลอกให้เบื่อหน่ายให้เลิกภาวนา จะสอนจิตอย่างไรเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็อย่าไปฟังมันซิ ก็เท่านั้นเอง ถ้ารู้ว่ามันหลอกแล้วไปเชื่อมันทำไม ใช่ไหม เวลามันหลอกเราๆ ก็พุทโธพุทโธหยุดมันก็ง่ายๆ ไม่ต้องไปคิดแข่งกับมันหรอก เดี๋ยวก็เถียงสู้มันไม่ได้หรอก อย่าไปเถียงมันเลยกิเลส แพ้มันทุกที ดังนั้น วิธีดีที่สุดก็อย่าไปเถียง เอาพระพุทธเจ้ามาหยุดมันดีกว่า พุทโธพุทโธพุทโธไป พอมันจะหลอกให้ไปเที่ยวก็พุทโธพุทโธไป มันจะหลอกให้ไปดูหนังดูละครก็พุทโธพุทโธไป ถ้ามานั่งเถียงกัน โอ๊ย เดี๋ยวมันก็เป็นเรื่องยาวขึ้นมา มันก็อ้างเหตุผลนั่นอ้างเหตุผลนี่ “ไม่เป็นไรนะ ครั้งนี้ครั้งเดียว ครั้งนี้จำเป็น หนังอย่างนี้นานๆ จะมีมาสักครั้งหนึ่ง” มันก็อ้างไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็อ่อนใจตาม ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่ามันมาหลอกก็อย่าไปฟังมันดีกว่า ง่ายที่สุดอย่าไปคุยกับมัน มันจะมาชวนก็พุทโธพุทโธพุทโธไป ไล่มันไป ใช้พุทโธไล่มันไป ปัญหาคือกลัวมันไม่รู้ซินี่ “กูไม่รู้ว่ามึงมาหลอก” ตรงนี้แก้ยาก ถ้ารู้มันไม่ยากหรอก ถ้ารู้ว่ามันมาหลอกก็รู้ว่ามันมาหลอกแล้วไปเชื่อมันทำไม นี่มันมาหลอกแบบที่มันไม่รู้นี่มันเชื่อยากกว่า มันหลอกให้ไปทำบุญดีกว่านะ พวกบางคนมาอยู่วัดมาภาวนา เดี๋ยวก็เพื่อนมาชวน “ไปผ้าป่าไหม กฐินไหม ไปสังเวชนียสถานไปอินเดียไหม” พวกนี้ก็ถูกหลอกแล้ว ถ้าเป็นพวกภาวนานี่ก็ถูกหลอกแล้ว คือหลอกไม่ให้ภาวนาไง กิเลสมันไม่ชอบให้เราภาวนา มันก็จะบอกให้ไปเที่ยว มันก็อาจจะอยากไปมันก็เลยหลอกด้วยวิธีอื่น หลอกให้ไปทำบุญก็แล้วกัน ไปทำบุญผ้าป่า ทำบุญวันตายของครูบาอาจารย์ วันเกิดครูบาอาจารย์ ไปเปิดโรงทาน อันนี้มันก็หลอกแล้วเพราะว่ามันดึงให้เราไปสู่ธรรมขั้นต่ำ ถ้าเราภาวนานี้เรากำลังจะไปพรหมโลก แต่พอมันมาชวนเราไปทำบุญ มันเปลี่ยนทางให้เราไปทางเทวโลกแล้ว แล้วพอไป เทวโลกมันจะหลอกให้ไปอีกทางต่อไป ถ้ารู้ว่ามันหลอกมันง่าย ถ้ารู้ว่ามันหลอกเราก็อย่าไปฟังมันเท่านั้นเอง เราก็พุทโธพุทโธไป แต่ถ้ามันมาหลอกแบบไม่รู้นี่ ก็บางทีก็ต้องมาน้ำตาตกในก่อนถึงจะมารู้ทีหลังว่า “โอ๊ย กูถูกหลอกแล้ว” บางทีชีวิตก็ต้องเป็นอย่างนี้ บางทีก็ต้องมีบทเรียนสอนใจ มันต้องมีการผิดพลาดต้องมีการถูกหลอก ข้อสำคัญก็อย่าให้ถูกหลอก ๒ ครั้งซ้ำกันก็แล้วกัน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราถูกหลอก ๒ ครั้งซ้ำกันแสดงว่าเราโง่มาก


ถ้าอยากจะไม่คิดก็ต้องฝึกสติ
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ เมื่อคืนโยมได้ฝันถึงคุณพ่อที่ท่านได้จากไปเมื่อ ๑๑ ปีกว่าแล้ว และคุณแม่ที่ท่านได้จากไปเมื่อ ๓ ปีกว่า โยมได้ดูแลท่าน พระอรหันต์ในบ้านจนถึงท่านสิ้นลม อยากกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์ว่าทำไมเรายังมีใจรักอาวรณ์ถึงท่าน ถึงยังต้องฝันถึงท่านเพราะเรายังปฏิบัติไม่ถึงพร้อมใช่หรือไม่คะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา คนเรารักกันชอบกันก็อดที่จะคิดถึงกันไม่ได้ ดังนั้น ไม่ต้องไปกังวลเรื่องความคิดถึงคนที่เรารักเราชอบ หรือแม้แต่คนที่เราเกลียดเรายังคิดถึงเขาเลย คนไหนยิ่งเกลียดนี่บางทียิ่งคิดนะ มันเรื่องความผูกพันของใจ ถ้าไม่อยากจะให้ผูกพันก็พยายามฝึกสติ ทำใจให้ว่างให้สงบมากๆ แล้วต่อไปมันก็จะไม่คิดถึงอดีตไม่คิดถึงอนาคต จะคิดอยู่กับปัจจุบันเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้ายังคิดอยู่ก็ถือว่าสติเรายังมีกำลังน้อย ยังควบคุมความคิดไม่ค่อยได้ จิตก็เลยปล่อยไปคิดเรื่องอดีตบ้างคิดถึงเรื่องอนาคตบ้าง ไม่เสียหายอะไร แสดงว่าเราไม่มีสติมากพอ ก็ถ้าอยากจะไม่คิดก็ต้องฝึกสติ หมั่นพุทโธพุทโธไปเรื่อยๆ เวลาคิดเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องคิดก็หยุดมัน ให้คิดพุทโธแทนไป



ทำบุญถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ได้มาก
ถาม: ถ้าเราไปทำบุญถวายสังฆทาน แล้วเรามีความไม่แน่ใจในพระที่มารับ เราจะได้บุญไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ได้ไม่เกี่ยวกับผู้รับ เกี่ยวกับผู้ให้ การทำบุญนี้เกี่ยวกับผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ได้มาก ให้ด้วยความลังเลสงสัยก็ได้น้อย คือให้แล้วอยากจะได้รับผลตอบแทนจากผู้รับ อยากจะให้ผู้รับเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างนี้ ก็จะทำให้ใจเราลังเล เคว้งคว้างได้ แต่คิดว่าเราทำบุญนี้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นผู้มีศีลก็ได้ เป็นผู้ไม่มีศีลก็ได้ แม้แต่ตำรวจเขาบางทียังต้องช่วยคนร้ายเลย เวลาไปต่อสู้กันแล้วคนร้ายเจ็บตัวก็ต้องพาไปรักษาพยาบาล อันนี้ก็เป็นการทำบุญ การได้ช่วยเหลือผู้อื่น บรรเทาทุกข์ยากเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเรียกว่าเป็นการทำบุญ งั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าคนที่รับนี้เป็นคนดีคนชั่วหรือเป็นพระแท้พระปลอม อันนี้ได้บุญเหมือนกัน ได้จากใจของผู้ที่ปรารถนาความสุขความบรรเทาทุกข์ของผู้อื่น คือเป็นความให้ความเมตตานั่นเอง นี่แหละคือการแผ่เมตตา ต้องแผ่ด้วยการกระทำ อย่าแผ่ด้วยการสวดคนเดียว นั่งอยู่ในห้องพระคนเดียว สวดแผ่เมตตาไปครอบจักรวาล มันไปไม่ถึงหรอก มันไม่มีใครรับ ต้องแผ่ด้วยการกระทำ ให้ความสุขแก่ผู้อื่นหรือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา


ถ้ากิเลสบางก็ปฏิบัติง่าย
ถาม: ฟังเทศน์ของหลวงตาท่านได้พูดถึงเรื่องปฏิปทา ๔ กระผมเลยมีความสงสัยครับว่าการเรียนรู้ การปฏิบัติได้เร็วได้ช้าตามในปฏิปทา ๔ นี้เป็นไปตามอำนาจบุญวาสนาของคนแต่ละคน หรือสามารถเกิดขึ้นจากการฝึกฝนตนเองครับ
พระอาจารย์: มันเกิดจากคนแต่ละคนมีกิเลสหนาบางไม่เท่ากัน มีความฉลาดความโง่ไม่เท่ากัน เลยทำให้ปฏิบัติง่ายปฏิบัติยาก ถ้ากิเลสหนาก็ปฏิบัติยาก ถ้ากิเลสบางก็ปฏิบัติง่ายเพราะมันจะไม่คอยมาขวางทาง กิเลสมันจะขวางการปฏิบัติ ส่วนความฉลาดก็จะทำให้เรารู้เร็วรู้ช้า ถ้าฉลาดมากก็จะรู้เร็ว ฉลาดน้อยก็จะรู้ช้า แต่ของพวกนี้เราสามารถมาแก้ได้ ถ้ากิเลสหนาเราก็พยายามมาขัดเกลามันได้ ถ้าฉลาดน้อยก็ขยันศึกษาหาความรู้ให้มากขึ้น เดี๋ยวก็ฉลาดเอง



แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร
ถาม: สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดทางโลกได้โดยไม่ทำให้ทุกฝ่ายเป็นทุกข์คืออะไรเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็คือยอมแพ้ไง ยกให้คนอื่นไปให้หมด ใครอยากจะได้อะไรก็ยกให้เขาไป เราขอเอาตัวเราออกจากวงการไป ไปอยู่คนเดียว แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมารไง พอออกจากวงการไปก็ไปบวชเป็นพระ เห็นไม๊ แล้วได้เป็นพระอรหันต์ต่อไป พระพุทธเจ้าก็ออกจากพระราชวังไป ใครจะแย่งสมบัติใครจะเอาอะไรก็ปล่อยเขาแย่งกันไป ท่านบอกขอไปบวชดีกว่า แล้วก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป เรียกว่า “แพ้เป็นพระ” เห็นไม๊ ถ้าอยู่ก็เป็นมารสู้กันอยู่ สู้กันไม่มีวันจบวันสิ้น



ที่มา -ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัด ชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 ธันวาคม 2562 15:44:17
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/50114285904500_81146150_2615531885151413_7491.jpg)

ดีต้องมาก่อนเก่ง

ถาม: ลูกชายของลูกอายุ ๗ ขวบ เติบโตอยู่อเมริกา โดยตัวลูกสนใจธรรมะและอยากให้ลูกได้บวชเมื่อโตขึ้น จึงนำกลับมาเรียนที่เมืองไทย ตอนนี้อยู่ ป.๒ โยมคิดว่าเราไม่ควรจะเน้นเรื่องการศึกษาของลูกเพียงให้ลูกโตเป็นคนดีได้บวช โยมคิดผิดไหมคะ

พระอาจารย์: ไม่ผิดหรอก การศึกษามันต้องครบบริบูรณ์ ทั้งทางด้านจิตใจและทางร่างกาย จิตใจก็ต้องเป็นจิตใจที่ดี ถ้าบวชก็จะได้รู้จักวิธีเจริญพรหมวิหาร ๔ เจริญความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีแม่คนหนึ่ง ถามเขาว่าตอนนี้ลูกเรียนที่ไหน อยากจะให้เขาเข้าเตรียมอุดมฯ ไหม เขาบอก โอ๊ย เขาไม่อยากให้ลูกทุ่มไปแบบนั้นเพราะเห็นเด็กที่ทุ่มไปแบบนั้นไม่มีความเมตตาเลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว คิดแต่เอาประโยชน์ของตนเองเพียงอย่างเดียว เขากลัว เขาบอกว่าขอให้ลูกเรียนสบายๆ ดีกว่า แต่ไม่ต้องไปมุ่งมั่นที่จะต้องเข้าเตรียมฯ เข้าจุฬาฯ เข้าอะไร เพราะมันเป็นการทำให้เด็กนี้บางทีมุ่งมั่นเกินไป เลยเถิดขาดความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อผู้อื่น เวลาเพื่อนได้ดีกว่าก็อิจฉาริษยา เพื่อนสอบได้ดีกว่า ได้คะแนนดีกว่าตนก็โกรธเพื่อนเสียอีก ไปเกลียดเพื่อนเสียอีก เพราะไม่ได้รับการฝึกฝนอบรมทางด้านจิตใจ มุ่งไปเพียงแต่ด้านวิชาการ ทางด้านร่างกาย แม่คนนี้เขาบอกเขาไม่เอา เขาไม่อยากจะได้ลูกแบบนั้น เขาอยากจะได้ลูกที่เป็นคนดีๆ กว่า ไม่เก่งไม่เป็นไร ขอให้ดี ดีต้องมาก่อนเก่ง เก่งตามมาทีหลัง ถ้าเก่งตามความดีแล้วจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเก่งนำหน้าแล้วดีไม่มีนี่สามารถไปล้างโลกไปทำลายโลกได้ คนที่มีความเก่งแต่ไม่มีความดีนี้ จะเอาความชั่วมาใช้กับความเก่งของตน ก็อาจจะเอาไปล้างโลก อย่างฮิตเลอร์ อย่างพวกคนที่มีประวัติโด่งดังในอดีต พวกนี้เก่งแต่ไม่มีความดีไม่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โลกจึงเกิดสงครามโลกกันขึ้นมา



ถ้าไม่รู้ก็อย่าไปสอนคนอื่น

ถาม: เรื่องที่เอาคำสอนของพระอาจารย์มาแนะนำเพื่อน เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ โดยเอามาใช้แบบทางโลกไม่ให้ผิดศีล ๕ แต่ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องไหม สามีเพื่อนนอกใจ ทำให้เพื่อนคิดทำร้ายหญิงผู้เป็นกิ๊ก ก็เลยช่วยกันห้าม และแนะนำไปว่าไม่มีเครื่องผูกชาย ได้ดีไปกว่ากามคุณ ๕ ให้ใช้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสผูกเขาไม่ใช่ไปทำร้ายหญิงที่เป็นกิ๊ก ทีนี้พระอาจารย์สอนแต่ให้ละ แต่หนูกลับไปสอนให้ผูกกลัวตัวเองใช้คำสอนผิดทาง รบกวนพระอาจารย์ช่วยแนะนำ
พระอาจารย์: ถ้าเราไม่รู้ก็อย่าไปสอนคนอื่น ถ้าเรายังไม่รู้วิธีแก้ปัญหาก็อย่าไปสอนคนอื่นแก้ปัญหา เพราะว่าแทนที่จะไปแก้ปัญหาอาจจะเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาแทนที่ก็ได้ ไม่ต้องไปอาย ถ้าบอกเขาว่าเราไม่รู้ และอย่าไปอยากช่วยเขาในเมื่อเรายังช่วยตัวเองไม่ได้ เหมือนเวลาคนจะจมน้ำเราว่ายน้ำไม่เป็น เราจะกระโดดไปช่วยเขา เดี๋ยวจะจมด้วยกันไปทั้งคู่

ดังนั้น ก่อนที่เราจะช่วยใครเราต้องดูความสามารถของเราก่อนว่า เราช่วยเขาได้หรือเปล่า แล้วช่วยอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าช่วยแล้วแทนที่จะทำให้ปัญหาหายไป กลับทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นมาก ก็ไม่ควรที่จะช่วย



สงวนส่วนต่างประสานส่วนเหมือน

ถาม: แฟนผมเขาไม่ชอบเข้าวัดแต่ตัวผมชอบเข้าวัด เราควรบอกเขาอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ก็ต่างคนต่างอยู่ซิ จะได้ไม่มีปัญหา การจะอยู่ร่วมกันแบบมีปัญหาน้อยที่สุดก็คือ ต้องสงวนส่วนต่าง ประสานส่วนเหมือน เขาชอบกินก๋วยเตี๋ยวเราไม่ชอบกินก๋วยเตี๋ยวก็ต่างคนก็ต่างสั่งไง กินของใครของมันไป แต่ถ้าชอบอันไหนชอบเหมือนกันก็ชวนกันไปทำได้ ถ้าไม่ชอบไปวัดเขาชอบไปเที่ยว วันไหนเราอยากไปเที่ยวเราก็ชวนเขาไปเที่ยวได้ แต่ถ้าเราชวนเขาไปวัดเดี๋ยวเขาก็จะโกรธเราได้ เขาไม่อยากไปแล้วเราไปดึงเขาไป งั้นก็อย่าไปขัดใจกัน พูดง่ายๆ อยู่ร่วมกันต้องประสานน้ำใจกัน อย่าไปขัดใจกัน อย่าไปเอาใจเราเพียงอย่างเดียว ต้องคิดถึงใจเขาด้วย เราชอบแต่เขาไม่ชอบ เขาต้องไปทำกับเรา เขาไม่มีความสุขเรามีความสุข อย่างนี้ก็ไม่ดี แต่ถ้าเขาชอบเราก็ชอบ ไปทำร่วมกันเขาก็มีความสุขเราก็มีความสุข เราต้องคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นอยู่ต่อไปจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไม่ใช่อะไร เดี๋ยวจะเกิดการแตกแยกกันขึ้นมา แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างยอมรับกันว่า มีส่วนเหมือนมีส่วนต่าง เวลาที่จะต้องทำส่วนต่างก็ต่างคนก็ต่างทำไป เวลาไปรับประทานก็ไม่ได้บังคับให้สั่งอาหารเหมือนกัน ใช่ไหม คุณอยากจะกินอะไรก็สั่งไป ผมอยากจะกินอะไรผมก็สั่งของผมไป ก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าบอกว่าต้องกินเหมือนกันนี่ เดี๋ยวก็เกิดปัญหาขึ้นมาได้ งั้นก็ต้องรู้จักแยกแยะว่าอันไหนควรทำร่วมกัน อันไหนไม่ควรทำร่วมกัน แล้วก็จะอยู่กันไปได้นาน



ทำอย่างไรถ้าเราอยู่ในสังคมจอมปลอม

ถาม: ทำอย่างไรครับถ้าเราอยู่ในสังคมจอมปลอม ขอพระอาจารย์ช่วยชี้แนะครับ
พระอาจารย์: เราก็อย่าไปอยู่กับมันซิ เราก็อย่าไปปลอมกับมัน เราก็จริง เราก็อยู่กับความจริงของเราไป เราซื่อสัตย์สุจริต เขาจะโกหกจอมปลอมก็ให้เรารู้ทันเขาก็แล้วกัน แล้วอย่าไปถูกให้เขามาหลอกเราก็พอ ให้รู้ทันเขาแต่ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา ไม่ต้องไปรังเกียจเขา ถ้ายังต้องอยู่กับเขาก็อยู่กันไป ไม่ศรัทธาก็ไม่ลบหลู่ ไม่เชื่อก็ไม่ลบหลู่ ก็ปล่อยเขาอยู่ตามเรื่องของเขาไป ไม่ต้องไปด่าเขาว่าเขา “มึงโกหกหลอกลวงจอมปลอม” สร้างศัตรูไปเปล่าๆ อยู่ด้วยกันก็มีเมตตาต่อกันได้ไหม เขาเป็นคนจอมปลอมก็เรื่องของเขา เราก็มีความเมตตากับเขา แต่เราต้องมีปัญญาให้มันทันเขา เท่านั้นเอง อย่าปล่อยให้เขามาหลอกเราได้



ถ้าต้องการธรรมะก็ทำบุญกับพระที่มีธรรมะ

ถาม: ถ้าอยากได้บุญมากๆ จากการทำทาน จะทำทานกับพระสงฆ์ที่เป็นเนื้อนาบุญได้ที่ไหนครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่จำเป็นจะต้องทำกับใครที่มีเนื้อนาบุญนะ การทำทานถ้าอยากจะได้บุญเฉพาะในใจเรานี้ไม่ต้องเลือกทำ ทำกับใครก็ได้ มันไม่ได้อยู่ที่ผู้รับ มันอยู่ที่ของที่เราให้ว่ามากหรือน้อย แต่ถ้าเราต้องการสิ่งที่เป็นสิ่งตอบแทนจากผู้รับนี้ ถ้าเราต้องการธรรมะเราก็ต้องไปหาพระที่มีธรรมะ เท่านั้นเอง ที่มีให้เลือกก็เพราะว่าเราอยากจะได้สิ่งตอบแทน เหมือนกับเวลาเราไปเติมน้ำมันตามปั้มต่างๆ นี้ เขาก็มีของแจกไม่เหมือนกัน บางปั้มก็แจกกระดาษ บางปั้มก็แจกน้ำดื่ม บางปั้มก็แจกสบู่ ยาสีฟัน ก็อยู่ที่ว่าเราอยากได้อะไร แต่น้ำมันเราก็ได้เหมือนกันทุกปั้ม เติม ๑๐๐ บาทก็ได้น้ำมัน ๑๐๐ บาทเท่ากัน แต่อาจจะได้ของแถม บางปั้มก็มีของแถม บางปั้มก็ไม่มีของแถม ถ้าเราต้องการเพียงแต่น้ำมันเราก็ไม่ต้องเลือกปั้ม ปั้มไหนมันก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราต้องการของแถมด้วย เราก็ต้องไปเลือกปั้มที่เขาแจกของที่เราอยากได้ การทำบุญกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ก็จะมีของตอบแทนจากเขาเป็นการตอบแทน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรจากเขา ถ้าเราต้องการธรรมะเราก็ต้องเลือกพระที่มีธรรมะเยอะๆ พระที่มีธรรมะมากที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า รองลงมาก็พระอรหันต์ตามลำดับไปเรื่อยๆ ถ้าเราต้องการธรรมะเราก็ต้องเลือกหาพระที่มีธรรมะ เพราะเมื่อเราไปหาท่านเราก็จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านนั่นเอง ท่านก็จะสอนธรรมะให้กับเรา



ทิ้งพุทโธไม่ได้

ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ครับ หลังจากที่เราทิ้งคำบริกรรมแล้ว ขอถามพระอาจารย์ว่าเราควรจะกำหนดจิตไว้ที่ฐานจิตอย่างเดิมหรือปล่อยจิตให้ล่องลอยไปครับ
พระอาจารย์: อ๋อ เราไม่ควรทิ้งหรอก ทิ้งไม่ได้ ทิ้งพุทโธไม่ได้ จะทิ้งคำบริกรรมไม่ได้ ต้องให้มันทิ้งเรา เราอย่าไปทิ้งมัน มันจะทิ้งเราตอนที่มันนิ่งไง พอจิตรวมสงบปั๊บมันจะหยุดบริกรรม จะสั่งให้มันบริกรรม มันไม่บริกรรมแล้ว เพราะมันนิ่งแล้ว มันสงบแล้ว แต่ถ้ามันยังบริกรรมได้อยู่อย่าไปทิ้งมัน พอทิ้งมันแล้วเราก็จะไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เดี๋ยวกิเลสมันก็จะออกมาดึงจิตใจไปให้วุ่นวายต่อไป จะไม่มีทางที่จะสงบได้ ถ้าเราใช้คำบริกรรมอย่าทิ้งคำบริกรรม ถ้าเราใช้การดูลมหายใจอย่าทิ้งการดูลมหายใจ ให้มันทิ้งเรา พอจิตสงบแล้วมันก็จะแยก มันก็จะทิ้งเราไป



การบรรลุโสดาบันเป็นอย่างไร
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ อยากถามว่าคำว่า “บรรลุโสดาบัน” เป็นอย่างไร คนที่บรรลุโสดาบันแล้วเขาประพฤติตัวอย่างไรเจ้าคะ จิตของคนที่บรรลุโสดาบันเป็นอย่างไรเจ้าคะ ขอบพระคุณค่ะ
พระอาจารย์: ก็เขาก็จะไม่หลงยึดติดกับร่างกายว่าเป็นตัวเขาล่ะซิ เพราะร่างกายอันนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของดินน้ำลมไฟ พ่อแม่เป็นคนสร้างขึ้นมาด้วยการเอาดินน้ำลมไฟในท้องแม่มาผสมกัน แล้วก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเป็นอาการ ๓๒ แล้วจิตใจผู้ต้องการใช้ร่างกายก็มาเกาะติดกับร่างกายด้วยกระแสของจิตเรียกว่า “วิญญาณ” วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู มีอยู่ ๕ เส้นด้วยกัน เพื่อที่จะได้มารับรู้ว่าร่างกายเห็นอะไรได้ยินอะไร จิตใจก็มาหลงคิดว่าเป็นร่างกาย ถ้าจิตใจได้พิจารณาด้วยปัญญา จิตใจก็จะรู้ว่าจิตใจกับร่างกายไม่ได้เป็นคนเดียวกัน เป็นฝาแฝด จิตใจเป็นแฝดพี่ ร่างกายเป็นแฝดน้อง หรือจะเรียกว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ก็ได้ ใจเป็นเจ้านายร่างกายเป็นลูกน้อง ร่างกายเป็นผู้รับคำสั่งจากเจ้านาย อย่างวันนี้พวกญาติโยมจะมาที่นี่ได้ เจ้านายต้องสั่งก่อนแล้ว “เฮ้ย วันนี้มาวัดนะโว้ย” มาวัดก็ออกเดินทางมากัน ถ้าเจ้านายสั่งให้ไปที่อื่นก็ไม่ได้มาวัด ถ้าบอกว่า “วันนี้ไปที่นู่น ก็จะไปตามคำสั่ง   ใจนี่แหละเป็นผู้สั่งร่างกายให้ทำอะไรต่างๆ และรับรู้ว่าร่างกายได้ทำอะไร ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ไปหลงไปคิดว่าเป็นร่างกาย เพราะใจมันไม่มีรูปร่างในตัวของมันเอง มันเป็นตัวที่มีแต่ความรู้สึกนึกคิด พอมันได้ร่างกายมันก็เลยไปหลงคิดว่าเป็นร่างกาย เพราะว่ามันอยากได้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขนั่นเอง พอได้ร่างกายมาก็เลยรักเลยหวง พอรู้ว่ามันจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายก็กลัวขึ้นมา เพราะไม่อยากให้มันแก่ไม่อยากให้มันเจ็บไม่อยากให้มันตาย แต่ก็ห้ามมันไม่ได้ คนที่ฉลาดมาแยกใจออกจากร่างกายได้ รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ใจรู้ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ใจไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้ารู้แล้วสามารถที่จะปล่อยวางร่างกายได้ เพราะถ้าไปยึดไปหวงก็จะทุกข์เวลาที่ร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตาย ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องไม่ไปยึดไปติด ไม่ต้องไปถือว่าเป็นเราเป็นของเรา พอมันไม่เป็นเราเป็นของเราปั๊บเราก็จะไม่ทุกข์กับมัน สังเกตดูเราทุกข์กับของใคร ทุกข์กับของเราหรือทุกข์กับของคนอื่น ของคนอื่นเราไม่ทุกข์ใช่มั๊ยบ้านคนอื่นไฟไหม้เราทุกข์มั๊ย บ้านคนอื่นน้ำท่วมทุกข์มั๊ย แต่พอเป็นบ้านเราขึ้นมาทุกข์หรือเปล่า คือคนเราไม่อยากให้มันไหม้ไม่อยากให้มันท่วมเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราไม่อยากให้มันไหม้ ไม่อยากให้มันท่วม มันจะไหม้มันจะท่วมเราก็ไม่ทุกข์ได้

นี่คือพระโสดาบันจะเห็นว่าความทุกข์เกิดจากความอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องอย่าไปอยากมัน ปล่อยมันแก่ปล่อยมันเจ็บปล่อยมันตาย พระโสดาบันก็เลยไม่กลัวความแก่กลัวความเจ็บกลัวความตาย เพราะรู้ว่ากลัวไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร กลัวไปมันก็ยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอยู่ดี แล้วก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกาย นี่คือพระโสดาบัน ก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะไม่กลัว และจะอยู่แบบคนมีศีลเพราะว่าจะไม่ไปทำบาปเพื่อรักษาร่างกาย คนส่วนใหญ่ที่ทำบาปกันเพราะต้องการรักษาร่างกาย เช่น ถ้าไม่มีเงินซื้ออาหารก็ต้องไปหาปลาหานกหาอะไรมากินเพื่อเลี้ยงร่างกาย ก็ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่พระโสดาบันรู้ว่าไปทำบาปให้กับร่างกายทำไม ร่างกายไม่ได้รับผลบาป คนที่รับผลบาปก็คือใจที่ไปหาเนื้อหาสัตว์ไปทำบาปมาเลี้ยงร่างกาย ร่างกายมันได้ประโยชน์แต่คนที่ได้รับโทษก็คือใจ พระโสดาบันจะรู้ว่าทำบาปนี้ ตัวเองจะต้องไปรับโทษ แล้วเรื่องอะไรไปทำบุญไปทำประโยชน์ให้กับร่างกาย แล้วตัวเองไปรับโทษ มีใครอยากจะทำอย่างนี้บ้าง ไม่มีหรอกใช่มั๊ย มีใครอยากจะไปติดคุกแทนคนอื่นมั๊ย ไม่มีหรอก

นี่คือพระโสดาบัน รู้ว่าถ้าทำบาปก็ต้องไปติดคุก คุกทั้งในโลกนี้และคุกทั้งในโลกทิพย์ก็คืออบาย พระอริยะก็จะไม่ทำบาป จะอยู่ตามปกติทำมาหากินตามปกติ แต่ยังมีความอยากอย่างอื่นอยู่ เรื่องความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายนี้ไม่มีแล้ว ไม่กลัว ร่างกายจะแก่เจ็บตายเมื่อไหร่ไม่เดือดร้อน แต่ก็ยังมีความอยากหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ ก็ยังอยากไปดูหนังฟังเพลง ยังอยากจะมีแฟนมีครอบครัวอยู่ แต่จะหาโดยวิธีไม่ผิดประเวณี ถ้าจะมีแฟนก็ต้องไม่ไปเป็นชู้กับใครอะไรทำนองนี้ ก็ไปสู่ขอกันทำอะไรกันให้มันถูกประเพณีไป นี่คือคุณสมบัติของพระโสดาบัน



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มกราคม 2563 15:06:08
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15396848320960_81131822_2638750699496198_1892.jpg)

“พระอริยบุคคล”

ถาม : กราบนมัสการครับพระอาจารย์ ขอถามครับ โสดาบันนี้ยังมีกิเลสอยู่ใช่ไหมครับ แต่ไม่มีเหมือนปุถุชนทั่วไป ภูมิโสดาบันนี้คืออริยะเบื้องต้นใช่ไหมครับ เหนือกว่า เทพ อินทร์ พรหม ใช่ไหมครับ แต่คนทั่วไปจะมองดูไม่รู้ด้วยตา จะต้องปฏิบัติเองใช่ไหมครับ ขอความกรุณาพระอาจารย์อธิบายขยายความด้วยครับ
พระอาจารย์ : ใช่ทั้งหมดแหละที่ถามมา พระอริยบุคคลขั้นที่ ๑ นี้ท่านได้กำจัดกิเลสบางส่วนไปแล้ว ๓๐ % ละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว สังโยชน์มีทั้งหมด ๑๐ ตัว กิเลสมีอยู่ ๑๐ ตัว พระโสดาบันละได้ ๓ ตัว แล้วถ้าปฏิบัติต่อไปก็จะละได้อีก ๒ ตัว เป็น ๕ ตัว แล้วปฏิบัติขั้นสุดท้ายก็จะละอีก ๕ ตัว เป็น ๑๐ ตัว
ดังนั้น พระอริยบุคคลนี้ไม่เหมือนกับคนธรรมดา เพราะท่านกำจัดกิเลสได้ ทำให้การกลับมาเกิดนี้น้อยลง นับชาติที่เหลือได้ เช่น พระโสดาบันนี้จะกลับมาเกิดไม่เกิน ๗ ชาติ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ไม่เกิน ๗ ชาติ ถ้าเป็นพระอนาคามี ก็ไม่เกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป แต่ยังต้องกลับไปเกิดเป็นพรหมอยู่ แล้วส่วนพระอรหันต์นี้ก็ไม่เกิดเป็นพรหมเลย จะไม่เกิดเป็นอะไรทั้งหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องของพระอริยบุคคล



“กายคตาสติมีอยู่ ๒ ระดับ”

ถาม: กายคตาสตินี้เราควรพิจารณาอย่างไรบ้างครับ ต้องพิจารณาตลอดต่อเนื่องเลยใช่หรือไม่ครับ
พระอาจารย์: กายคตาสตินี้มีอยู่ ๒ ระดับด้วยกัน ระดับสติกับระดับปัญญา คือการดูร่างกายของเรา ถ้าเราอยู่ในระดับสติก็ให้ดูเฉยๆ ดูว่าตอนนี้ร่างกายของเรากำลังอยู่ในท่าไหน อยู่ในท่ายืนท่าเดินท่านั่งหรือท่านอน แล้วเวลาเปลี่ยนก็ต้องรู้ทัน ตอนนี้จากยืนมานั่งแล้ว จากนั่งมานอนแล้ว หรือจากนอนลุกขึ้นมานั่ง จากนั่งลุกขึ้นมายืน จากยืนกำลังเดิน เดินแล้วไปทำอะไร ก็ต้องเฝ้าดูทุกอย่างทุกอิริยาบถ ทุกการเคลื่อนไหว ถ้าไปอาบน้ำก็ต้องดูว่ากำลังอาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟันก็ดูว่ากำลังล้างหน้าแปรงฟัน คือไม่ให้ใจเราไปที่อื่น พูดง่ายๆ ให้อยู่กับร่างกายทุกอิริยาบถทางการเคลื่อนไหว อย่างนี้เรียกว่า “กายคตาสติ” ในระดับของการเจริญสติ
ถ้าระดับของวิปัสสนาคือของปัญญา เราก็ต้องมาดูว่าร่างกายเราเที่ยงหรือไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตายใช่ไหม ก็แสดงว่ามันไม่เที่ยง มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วในที่สุดเดี๋ยวมันก็จะมีการดับ เรียกว่า “ระดับวิปัสสนา” ดูเรื่อยๆ สอนใจอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้หลงไม่ให้ลืม เพราะเรามักจะลืมกันว่าเราจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไป เราจึงสนุกสนานเฮฮาปาร์ตี้กัน แต่ถ้าเรารู้อยู่ทุกเวลาว่าเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว ไปปาร์ตี้ให้มันเสียเวลาเสียเงินทองทำไม เสียเวลาทำไม เอาเวลามาฝึกจิตมาทำจิตให้สงบเพื่อที่จะได้ตายอย่างสบายดีกว่า ไม่ใช่ตายอย่างหวาดกลัว ตายอย่างทุกข์ทรมาน นี่คือเรื่องของปัญญา กายคตาสติในระดับปัญญา ให้พิจารณาเพื่อปล่อยวางร่างกาย เพื่อไม่ให้ทุกข์กับร่างกายต่อไป ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา มันไม่เที่ยงมันเป็นของดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวมันก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ เราห้ามมันไม่ได้ แต่เราไม่ต้องทุกข์กับมันได้ถ้าเราปล่อย ถ้าเรารู้ว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ เราก็จะไม่ฝืนมัน



“ควรงดดูข่าวจากทีวีหรือสื่อต่างๆหรือไม่“

ถาม: ในขั้นที่จิตยังไม่ได้หลักเกณฑ์ หากอยากปฏิบัติให้ได้ผลเราควรงดดูข่าวจากทีวีหรือสื่อต่างๆ ในโซเชียลไปเลยจะดีที่สุดใช่ไหมครับ หรือดูได้แต่จำกัดเวลา เช่น สัปดาห์ละครั้งหรือเดือนละครั้ง
พระอาจารย์: ก็แล้วแต่ ถ้าตัดไปได้เลยก็จะดีเพราะการดูการรับรู้อะไรนี่มันดึงจิตออกข้างนอก การปฏิบัติเพื่อให้ได้หลักเกณฑ์เราต้องการดึงจิตเข้าไปข้างใน เข้าไปในสมาธิ เข้าไปที่ฐานของจิต ที่ตั้งของจิตคือความสงบ ถ้าเราเข้าไปถึงที่ตั้งได้ใจของเราจะมีความมั่นคง มันมีหลักมีเกณฑ์ แต่ถ้าเรามัวแต่ไปคอยส่งออกไปรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้มันก็เข้าไม่ได้ มันสวนทางกัน การรับรู้สิ่งทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เป็นการดึงใจออกข้างนอก การใช้พุทโธหรือการใช้สติเป็นการดึงใจให้เข้าข้างใน นี่ถ้าเราอยากจะได้ใจที่มีหลักมีเกณฑ์ มีความสุขมีความสงบเราก็ต้องตัดเรื่องทางตาหูจมูกลิ้นกายไปให้หมด ต่อไปหลังจากที่จิตเรามีหลักมีเกณฑ์แล้ว เราอยากจะมารับรู้อะไรก็ได้เพราะว่าเรารับรู้โดยที่ไม่บริโภค เรารับรู้เฉยๆ แต่ถ้าเรายังไม่มีหลักมีเกณฑ์ เวลาเรารับรู้อะไรเราจะบริโภคไป เราจะดีใจเสียใจไปกับมัน แต่ถ้าจิตเรามีฐานมีความสงบแล้วมันจะไม่ไปบริโภค มันเพียงแต่จะรับรู้เฉยๆ ใครชมก็เฉยๆ ใครด่าก็เฉยๆ ไม่บริโภค

นี่คือความแตกต่างของผู้ที่มีหลักกับผู้ที่ไม่มีหลัก ถ้าอยากจะมีหลักเบื้องต้นก็ต้องตัดทุกอย่างไปให้หมด ไปอยู่คนเดียวไปหาที่สงบ ไม่รับรู้อะไรเพราะมันจะดึงใจให้เข้าข้างในได้ง่าย ถ้าไปรับรู้มันก็ชักคะเย่อกันเหมือนใจหนึ่งก็ดึงออกข้างนอก อีกใจหนึ่งก็ดึงเข้าข้างใน มันก็เหนื่อย มันก็ท้อ ถ้าอยากจะให้มันเข้าข้างในง่ายก็ต้องปิดตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส แล้วเวลาดึงใจเข้าข้างในมันจะไม่มีอะไรมาคอยยื้อคอยดึงออก มันก็จะง่ายกว่า



“เทวดาเขาไปทำบุญกันที่ไหน”
ถาม: พระอาจารย์คะเทวดาเขาไปทำบุญกันที่ไหนคะพระอาจารย์
พระอาจารย์: อ๋อ เทวดาไม่มีเวลาทำบุญ เหมือนคนไปเที่ยว คนไปเที่ยวต่างประเทศ คุณคิดไปทำบุญที่ไหนหรือเปล่า ไม่มีเวลาที่จะไปทำบุญ เพราะเวลาไปเป็นเทวดาเป็นเวลาไปรับผลบุญ จะมาทำบุญก็ต้องมาเป็นมนุษย์เท่านั้นเอง

ถาม: แล้วเทวดาที่มาถามธรรมะพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าล่ะคะพระอาจารย์
พระอาจารย์: อ๋อ พวกนี้เขาเป็นพวกที่อยากจะพ้นทุกข์ไง เขาก็ไปหาพระพุทธเจ้า ไปเรียนรู้จากพระพุทธเจ้า อันนั้นเป็นการศึกษาเพื่อปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป

ถาม: แล้วถ้าเราเกิดตายไปเป็นเทวดา เราก็ยังสามารถเข้าถึงธรรมะได้ใช่ไหมคะพระอาจารย์
พระอาจารย์: ถ้าเราใฝ่ธรรมและมีผู้แสดงธรรมที่สามารถแสดงธรรมให้เทวดาได้ หรือถ้าเรามีธรรมที่เราสามารถปฏิบัติได้โดยที่ไม่ต้องให้ใครสอน อย่างเช่นพอเป็นพระโสดาบันแล้วนี้ ไม่ว่าจะไปเป็นมนุษย์ไปเป็นเทวดาก็จะปฏิบัติธรรมไปเอง


ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร. สัตหีบ. ชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 มกราคม 2563 16:28:18
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/35841092839836_71638541_2451627101541893_4753.jpg)

การแยกรูปนามคืออย่างไรครับ
ถาม: การแยกรูปนามคืออย่างไรครับ ขณะปฏิบัติเห็นความคิดอยู่ส่วนหนึ่ง ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่อีกส่วนหนึ่ง อันนี้ใช่การแยกรูปนามหรือไม่ครับ ทำไมจึงได้กล่าวว่า จะวิปัสสนาได้นั้นต้องแยกรูปนามให้ได้เสียก่อน

พระอาจารย์: คำว่าแยกรูปนามก็คือให้เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง เช่น เราแยกไข่ออกจากไก่ ใช่ไหม นี่ไก่ นี่ไข่ อันนี้ก็เหมือนกัน การแยกรูปนามก็เพื่อให้เราแยกสิ่งที่มาประกอบเป็นชีวิตของเรา ชีวิตของเรานี้มี ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นรูปกับส่วนที่เป็นนาม ส่วนที่เป็นรูปก็คือร่างกาย อาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังนี่เราเรียกว่า “รูป” รูปขันธ์ ส่วนนามก็มีอยู่ ๔ เรียกว่า “นามขันธ์” คือความรู้สึกนึกคิด ความคิดปรุงแต่งก็เรียกว่า “สังขาร” การรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสก็เรียกว่า “วิญญาณ” ความจำได้หมายรู้รูปเสียงกลิ่นรสที่มาให้รับรู้ว่าเป็นรูปอะไรก็เรียกว่า “สัญญา” แล้วความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่เป็นความรู้สึกสุข ไม่สุข ไม่สุขไม่ทุกข์นี้ก็เรียกว่า “เวทนา” อันนี้เป็นนามขันธ์ เป็นนาม เป็นส่วนประกอบในการดำเนินชีวิตของพวกเรา พวกเรามีนามกับรูปนี้อยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ว่ามันเป็นนามกับรูป เราไม่รู้ว่าร่างกายเรานี้เรียกว่า “รูป” เราไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้เรียกว่า “นาม เวทนา”

เช่น เวลาเห็นรูปที่เราชอบก็เกิดความสุขขึ้นมา การเห็นรูปก็เรียกว่า “วิญญาณ” การรู้ว่ารูปนี้ชอบก็เรียกว่า “สัญญา” สัญญาคือจำได้ไง เคยชอบรูปนี้มาก่อน พอเจอเห็นรูปนี้ก็จะชอบขึ้นมาทันที พอไม่ชอบรูปนี้ เคยไม่ชอบรูปนี้มาก่อน พอเห็นรูปนี้ก็จะเกิดความไม่ชอบขึ้นมา ถ้าไม่เคยเห็นรูปนี้มาก่อน ความชอบไม่ชอบก็จะไม่มีเพราะไม่รู้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็จะมีความรู้สึกเฉยๆ กับรูปที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือไม่มีความรู้สึกกับเขามาก่อน นี่คือการทำงานของนามกับรูปในชีวิตของเราตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาจนกระทั่งถึงเวลาหลับ นี่เราใช้นามกับรูปนี้ทำงาน พาเราไปทำอะไรต่างๆ พาเราไปหาความสุขต่างๆ ก็ใช้นามกับรูปนี้เป็นเครื่องมือ



เราไม่ต้องการหาจิต
ถาม: โยมพิจารณาขันธ์ ๕ แยกรูปนามจนเห็นเป็นธาตุ จนเข้าใจถึงแวดล้อมเราก็แค่ธาตุเหมือนกัน ในเมื่อเราไม่มี ทุกอย่างรายรอบเรา แม้เราไม่มี ที่ว่าขันธ์ ๕ บางจิตในเมื่อสลายขันธ์ได้แล้วและจิตเด่นดวง ทำไมไม่เห็นเจ้าคะ หาจิตไม่เจอ

พระอาจารย์: อ๋อ เราไม่ต้องการหาจิต จิตไม่ต้องไปหามันหรอก เราเป็นจิตเราไปหามันเราก็บ้าแล้ว การปฏิบัติไม่ได้ให้หาจิต การปฏิบัติให้เราเข้าใจสิ่งที่จิตไปเกี่ยวข้องด้วยว่ามันเป็นของปลอม เป็นเงา เราไปหลงเงากัน เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นเหมือนไอติม เดี๋ยวมันก็ละลาย ใช่ไหม พอเอาออกมาจากตู้เย็น เดี๋ยวมันก็ละลายกลายเป็นอย่างอื่นไป ร่างกายทุกสิ่งทุกอย่างเดี๋ยวมันก็เสื่อมสภาพกลายเป็นดินน้ำลมไฟไป ให้เข้าใจหลักนี้แล้วเราจะได้ปล่อยวาง จะได้ไม่ไปทุกข์กับมันเวลาที่มันเปลี่ยนไปหรือมันหมดไป



กรรมลบไม่ได้แต่ที่ลบได้ก็คือเวร
ถาม: การที่คนเราทำบาปกรรมกับผู้อื่น ถ้าผู้ถูกกระทำยกโทษอโหสิกรรมให้ ผู้ก่อกรรมจะยังคงได้รับผลกรรมจากการกระทำร้ายผู้อื่นหรือไม่ ตามหลักพระพุทธศาสนา หรือกรรมจะถูกลบล้างไปเลยเพราะได้รับการยกโทษอโหสิกรรมไปแล้วเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ กรรมลบไม่ได้แต่ที่ลบได้ก็คือเวร ผู้ที่เขาจองเวรเราเขาให้อภัยเราเขาก็ไม่มาจองเวรกับเรา แต่กรรมที่เกิดจากการทำบาปของเราก็ยังต้องไปรับผลต่อไป ต้องไปเกิดในอบาย ในภพใดภพหนึ่งในอบายทั้ง ๔ อันนี้ลบไม่ได้ แต่ที่ให้อภัยกัน ไม่จองเวรจองกรรมกันนี้ลบการจองเวรจองกรรมกันได้ ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรได้



ความเมตตานี้ชนะทุกอย่าง
ถาม: หากต้องขึ้นเป็นหัวหน้าซึ่งลูกน้องเป็นคนที่เราไม่ชอบหรือเขาไม่ชอบเรา เขาเคยว่าเรา เราควรวางใจอย่างไรดีเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องแผ่เมตตาเท่านั้นแหละ ความเมตตานี้ชนะทุกอย่าง เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตรด้วยความเมตตา ถ้าเราเป็นหัวหน้าเราต้องมีเมตตากับลูกน้องทุกคน ไม่ว่าเขาจะชอบเราหรือไม่ชอบเรา ถ้าเราให้ความเมตตากับเขาแล้ว ไม่ช้าก็เร็วเขาก็ต้องรักเราชอบเรา เพราะความเมตตานี้ชนะใจคนได้ ฉะนั้นพยายามเมตตา ให้อภัย พยายามมีอะไรแบ่งปันให้เขาได้ก็แบ่งปันให้เขา อย่าเอารัดเอาเปรียบเขา ให้พยายามเสียสละแบ่งปัน แล้วรับรองได้ว่าไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนกับใครจะมีแต่คนรักคนชอบ



ควรทดสอบว่าใจเราจะอยู่ในความสงบได้ทุกสภาวะหรือไม่
ถาม: มีสติและปัญญาตามรักษาใจอยู่เกือบตลอดเวลา พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่มากระทบกับใจ จิตสงบ เย็นสบายอยู่ตลอดทั้งวัน ยืน เดิน นั่ง นอน พูดคุยกับใครในชีวิตประจำวัน แม้พูดกับคนอื่นแต่จิตกลับสงบเย็นสบายเหมือนอยู่ในสมาธิตลอดเวลา เหมือนกับเวลาเรานั่งสมาธิหรือฟังเทศน์ฟังธรรมะ แม้เราจะลืมตาหรือหลับตาอยู่ก็ตาม คำถาม การที่เรามีสติรักษาใจได้เกือบตลอดเวลานั้น เป็นสาเหตุทำให้จิตเราจะสงบลงไปเองได้ตลอดเวลาใช่ไหม

พระอาจารย์ : ก็สงบในสภาวะที่เป็นอยู่ ถ้าไปอยู่กับสภาวะที่แตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ ก็ต้องอยู่ที่จะมีสติปัญญารักษาความสงบได้ต่อไปหรือไม่ เช่นเราสงบในสถานที่สุขสบาย เช่นมีอาหารการกินครบถ้วนบริบูรณ์ มีเครื่องปรับอากาศ มีน้ำมีไฟ อยากจะดูอยากจะฟังอะไรก็ได้ดูได้ฟัง อันนี้ก็เป็นสภาวะแบบหนึ่ง ถ้าเราไปอยู่อีกสภาวะแบบหนึ่งที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีอะไรให้กินให้ดื่ม เช่นไปติดคุกติดตะรางอย่างนี้ ดูซิว่ายังจะมีสติปัญญารักษาใจให้สงบได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นความสงบของเราในขณะปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้สงบในสภาวะที่แตกต่างกันไป

ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท ถ้าเราต้องการจะทดสอบว่าใจเราจะสามารถอยู่ในความสงบได้ทุกสภาวะหรือไม่ เราก็ต้องหาสภาวะที่มันลำบากยากเย็น แล้นแค้น อดยากขาดแคลน เช่นไปอยู่วัดป่าวัดเขา แล้วลองดูซิว่ายังจะสามารถรักษาจิตใจให้สงบให้สบายได้หรือเปล่า การถือศีล ๕ กับการถือศีล ๘ นี้มันก็ต่างกันแล้ว ถือศีล ๕ ใจก็อาจจะสงบได้ แต่พอไปถือศีล ๘ นี้จะสงบได้หรือไม่ เพราะตัณหาความอยากมันถูกริดรอนเสียแล้ว จะทำตามความอยากไม่ได้เสียแล้ว พอเกิดตัณหาขึ้นมาแล้วหยุดตัณหาได้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่า ความสงบที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้มันเป็นเพียงความสงบในสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง ยิ่งถ้าเป็นสภาวะที่สุขที่สบาย ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์นี้ มันก็เป็นสิ่งที่ว่ามันยังไม่พอเพียง เพราะว่าในอนาคตนี้มันจะต้อง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ถ้าไม่อดยากขาดแคลนก็อยู่ที่เรื่องของภาวะของทางร่างกายก็ได้ ร่างกายแก่ลงไป เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ต้องถามตัวเองว่า จะยังมีสติปัญญาที่จะดูแลรักษาความสงบของใจได้ต่อไปหรือไม่

ดังนั้น บางทีเราก็ต้องสร้างสภาวะขึ้นมา เช่น ทำให้เราเจ็บ นั่งสมาธิไปแล้วปล่อยให้มันเจ็บ เวลาเจ็บแล้วก็ดูซิว่า ทำใจให้สงบได้เหมือนกับตอนที่ไม่เจ็บหรือไม่ ถ้าทำให้มันสงบได้เหมือนกับตอนที่ไม่เจ็บก็สบาย ต่อไปเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ต้องกินยาแก้ปวดก็ได้ ที่ต้องกินยาแก้ปวดกันก็เพราะว่าทำใจให้สงบไม่ได้ ใจมันทุกข์กับความเจ็บของร่างกายก็เลยต้องกินยาระงับความเจ็บปวดของร่างกาย พอร่างกายหายจากความเจ็บปวดของร่างกายบรรเทาลงไปใจก็สงบลง แต่นี่ไม่ใช่เป็นวิธีแก้ที่ถูก วิธีแก้ที่ถูกก็ต้องใช้สติปัญญาอย่างที่เราเคยใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ใช้ให้พิจารณาให้เห็นว่าอนิจจัง ว่าความเจ็บนี้ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปอยากให้มันหายไม่ได้ เป็นอนัตตา เราสั่งมันไม่ได้ ไม่เที่ยง มันมาแล้วก็ไป ไปแล้วก็มา เวลามันมาก็ต้องอยู่กับมัน เวลามันไปก็ปล่อยมันไป อันนี้ก็ต้องใช้สติปัญญา ถ้ามีสติปัญญารู้ทันความจริงมันก็ปล่อยวางความเจ็บได้ ต่อไปความเจ็บจะมาหรือจะไปก็จะไม่เดือดร้อน

การนั่งสมาธิจึงจำเป็นต้องนั่งให้มันเจ็บ เจ็บแล้วก็ต้องไม่ลุก ไม่ต้องขยับ อันนี้เป็นการทำข้อสอบ ไม่ใช่ว่ามาเป็นซาดิส มาทำอะไรอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเป็นการทำข้อสอบ ทดสอบว่าเรามีสติปัญญาที่จะสามารถทำใจเรา ให้สงบเวลาเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายได้หรือไม่ ถ้าทำได้แล้วต่อไปเราก็ไม่ต้องมานั่งให้มันเจ็บอีกอยู่เรื่อยๆ เพราะเรารู้ว่าเราทำได้แล้ว เราก็ไม่ต้องมาทรมาน รอเวลามันเจ็บแล้วก็ทำใจของเราได้ เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจริงๆ ไม่ต้องไปซื้อยาแก้ปวดมากิน ก็ใช้ธรรมโอสถแทนได้ อยู่กับความเจ็บได้ไม่รู้สึกทรมานใจ

ดังนั้นการที่มีสติปัญญาในระดับหนึ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีสติปัญญาในทุกระดับ ภาวะของชีวิตเรานี้มันมีขึ้นๆ ลงๆ ถ้าเรามีสติปัญญาอยู่ในสภาวะขาขึ้นนี้มันก็ง่าย เวลาเงินเดือนขึ้นนี้ทุกคนก็รักษาสติปัญญากันได้ เวลาเงินเดือนลงนี้รักษาสติปัญญารักษาความสงบกันได้หรือเปล่า ไม่โวยวายได้หรือเปล่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตามีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา อย่างนี้ได้หรือเปล่า เราต้องอย่าประมาทนะ อย่าไปคิดว่าตอนนี้เรามีสติปัญญา เรารักษาใจให้สงบได้ แต่เราไม่ดูสภาวะของเราว่ามันอยู่ขาขึ้นหรือขาลง ถ้ามันอยู่ในขาลงนี้ดี เช่น เวลาจะตายนี้เราทำใจให้สงบได้นี้ดี ต่อไปจะไม่กลัวความตายอีกต่อไป ถ้าผ่านความกลัวตายไปได้แล้วทีนี้สบาย



๒ มิติของการทำบุญ
ถาม: อย่างสมมุติว่าเศรษฐีทำบุญหนึ่งล้านอย่างนี้ เป็นเงินเล็กน้อยสำหรับเขา แต่ถ้าเกิดคนที่ไม่ค่อยมีฐานะทำบุญหนึ่งหมื่นบาทก็เป็นเงินมากมายมหาศาลสำหรับเขาครับ
พระอาจารย์: คือเราต้องดูว่ามันมี ๒ มิติในการทำบุญด้วยเงินทอง มิติอันแรกก็คือจำนวนเงินของแต่ละคนที่ทำ เราไม่ได้วัดด้วยปริมาณของเงิน เราต้องวัดที่สัดส่วนของทรัพย์ที่เขามี เช่น คนมีล้านหนึ่งทำแสนหนึ่ง ก็เท่ากับเขาได้ทำร้อยละสิบของทรัพย์สินของเขา ส่วนคนมีร้อยหนึ่งแล้วทำสิบบาท เขาก็ได้ทำร้อยละสิบเหมือนกัน ความอิ่มใจของคนสองคนนี้เท่ากัน เปรียบเทียบเหมือนช้างกินข้าวต้องกินสักถังหนึ่ง แต่หนูนี้กินเพียงช้อนเดียวก็อิ่มเหมือนกัน บุญนี้เป็นเหมือนอาหารใจให้ความอิ่มใจสุขใจต่อผู้ที่ทำ เพราะฉะนั้น คนที่ทำแสนหนึ่งกับคนที่ทำสิบบาท ในกรณีที่พูดนี้ ได้บุญคือความอิ่มใจสุขใจเท่ากัน แต่บารมีที่ได้จากเงินที่ทำนี้ต่างกัน คือผลตอบแทนที่จะได้กลับมาในอนาคต คนทำแสนก็จะได้แสนบวกดอกเบี้ยกลับมา คนทำสิบบาทก็จะได้สิบบาทบวกดอกเบี้ยกลับมา เวลากลับมาเกิดใหม่มาเป็นมนุษย์ใหม่ นี่มันมี ๒ กรณีด้วยกัน เข้าใจไหม




หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 16:18:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/79471237502164_83868282_2678745642163370_5378.jpg)

สติไม่ใช่สมาธิ
ถาม: การที่เราทำอะไรแล้วเราไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง ถือว่ามีสติหรือขาดสติคะ
พระอาจารย์: การที่ทำอะไรแล้วไม่ได้ยินเสียงเหรอ ก็แสดงว่าใจเราจดจ่ออยู่กับงานที่เรากำลังทำอยู่ เสียงถึงแม้จะมีก็เหมือนกับไม่เข้ามา เข้ามาเพียงที่หูแต่ไม่เข้าไปถึงที่ใจ ก็แสดงว่าใจเราจดจ่ออยู่กับการงานที่เรากำลังทำอยู่ ถ้าใจเราไปรับรู้เสียงด้วยเดี๋ยวบางทีก็ทำงานไม่รู้เรื่อง เช่น เรียนหนังสือพยายามอ่านหนังสือ แล้วเดี๋ยวได้ยินเสียงเพลง ใจก็ไปเกาะติดอยู่กับเสียงเพลง แทนที่จะอ่านหนังสืออ่านไปก็ไม่ได้เข้าใจเพราะใจมันไปอยู่กับเสียงเพลง แต่ตามันอยู่กับหนังสือ อ่านไปหน้าหนึ่งก็ไม่รู้ว่าอ่านอะไร ไม่เข้าใจ นี่แสดงว่าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ

งั้นการทำอะไรควรจะฝึกสติ คำว่าสมาธิที่เราใช้กันนี้ความจริงคือแปลว่าสติ ไม่ใช่สมาธิ เช่น เรามักจะพูดว่าไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ ความจริงคำนี้ต้องเปลี่ยนเป็นสติ ไม่มีสติจดจ่ออยู่กับการทำงาน ไม่มีสติจดจ่ออยู่กับการอ่านหนังสือ เพราะว่าคำว่าสมาธินี้ เป็นผลที่เกิดจากการฝึกสติ เช่น นั่งหลับตาแล้วดูลมหายใจเข้าออก จนจิตรวมเป็นฌานขึ้นมาเราถึงจะเรียกว่าสมาธิ งั้นคำที่เราใช้ว่าสมาธิที่เราใช้ทั่วไปนี้ความจริงคือสติ ไม่มีใครมีสมาธิกันหรอก พวกญาติโยมทั้งหลาย ถ้าไม่เคยนั่งสมาธิจะไปได้สมาธิยังไง งั้นการที่บอกว่าไม่มีสมาธินี้ความจริงหมายถึงไม่มีสติ ไม่ได้ฝึกสติไม่ได้ดึงใจให้อยู่จดจ่ออยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ต้องมาเสริมสติด้วยการใช้คำบริกรรมพุทโธ เช่นพอไปคิดอะไรก็ใช้พุทโธพุทโธดึงกลับเข้ามา พอกลับเข้ามาแล้วก็มาทำงานต่อได้ ถ้ายังไม่กลับมาก็อย่าเพิ่งไปทำงาน เพราะทำงานก็อาจจะเกิดความผิดพลาดเกิดความเสียหายตามมาต่อไป
 


ศาสนาอื่นมีนิพพานไหม
ถาม: ศาสนาอื่นท่านมีนิพพานไหมครับ ถ้ามีลักษณะเช่นไร
พระอาจารย์: ศาสนานี้เป็นคำสอนไง นิพพานมันมีอยู่ เพียงแต่ว่าศาสนานี้เข้าถึงศึกษาถึงนิพพานรึเปล่า มีศาสนาพุทธศาสนาเดียวที่ผู้สอนนี้สามารถศึกษาถึงระดับพระนิพพานได้ แต่ศาสนาอื่นนี้เขาเข้าถึงในระดับแค่ระดับพรหมโลก คือระดับฌานสมาธิ แต่ระดับพุทธนี้มีเข้าถึงระดับโลกุตตรธรรมคือพระนิพพาน พระนิพพานนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาสนามันมีอยู่ของมัน เพียงแต่ว่าคนที่จะไปถึงนิพพานนี้รู้จักทางไปหรือเปล่า ถ้าคนที่รู้จักทางไปนิพพานเขาก็มาบอกคนอื่น ก็กลายเป็นศาสนาขึ้นมา นี่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบทางไปสู่พระนิพพาน พอรู้แล้วไปถึงแล้วท่านก็กลับมาบอกพวกเรา พวกเราเชื่อพวกเราก็เลยนับถือท่านเป็นศาสดาเป็นอาจารย์ เป็นศาสนาขึ้นมา เท่านั้นเอง งั้นมันไม่ได้อยู่กับคำว่าศาสนา มันอยู่ที่ว่าผู้ที่จะรู้ทางไปสู่พระนิพพานหรือไม่ พระนิพพานมีอยู่ตลอดเวลา รอพวกเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเรารู้จักทางไปหรือไม่ ถ้าเราไม่รู้เราก็ต้องไปหาศาสนาที่รู้ทางมาสอนมาบอกเรา ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่งที่มีศาสนาที่รู้ทางไปสู่พระนิพพานคือพุทธศาสนา แล้วมีแล้วก็จะอยู่ไปไม่นานไม่เกิน ๕๐๐๐ ปี สำหรับศาสนาพุทธอันนี้ หลังจาก ๕๐๐๐ ปี ก็จะไม่มีใครรู้จักทางไปสู่พระนิพพานอีกต่อไป ก็ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่มาพบพระนิพพานแล้วก็มาสอนคนอื่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
 


อยากไปปฏิบัติธรรมเป็นกิเลสไหม
ถาม: การที่เรามีความตั้งใจอยากไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่งเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นกิเลสไหมครับ
พระอาจารย์: ไม่เป็นหรอก เป็นก็ต่อเมื่อเราทุกข์ ที่อยากไปแล้วไม่ได้ไปก็ทุกข์นี่ถึงจะเป็นกิเลส ถ้ามันทุกข์เพราะไปไม่ได้เราก็ต้องหยุดความอยากนั้นไว้ชั่วคราวก่อน วันนี้ไปไม่ได้ก็ยังไม่ไปก็ได้ ไม่ใช่ยังอยากอยู่มันก็ยังทุกข์ ความอยากถ้ามันอยู่ในขอบเขต ถ้ามันไม่ทุกข์ก็ถือว่ายังไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าอยากแล้วทุกข์ตอนนั้นแหละเริ่มเป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้แล้ว เพราะทุกข์นี้เป็นเหมือนโรคภัยไข้เจ็บของจิตใจนี่เอง
 


คนห่างจากธรรมะ
ถาม: ทุกวันนี้นะครับ เราจะเห็นข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่ามีการฆ่าตัวตายบ้าง ฆ่าคนในครอบครัวบ้าง ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจหรือปัญหาเรื่องอื่นๆ ข่าวพวกนี้นับวันมันจะมากขึ้นทุกวัน อยากเรียนถามว่าอันนี้เป็นกรรมเก่าหรือเป็นการสร้างกรรมใหม่ของตัวเอง และเราจะช่วยยังไงให้สังคมนี้ไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นครับ
พระอาจารย์: อ๋อ เป็นการอยู่ห่างจากธรรมะนั่นเอง เวลาเกิดความทุกข์ใจไม่มียารักษาความทุกข์ใจมันก็เลยรักษาโดยวิธีฆ่าตัวตายกัน ไปฆ่าคนอื่นตาย แต่ถ้ามีธรรมะก็จะรู้ว่าต้องมาฆ่ากิเลส ตัวที่สร้างความทุกข์ใจคือความอยากความโลภความโกรธต่างๆ ถ้าฆ่ากิเลสแล้วความทุกข์ใจก็หายไปก็ไม่จำเป็นจะต้องฆ่าตัวตายหรือไปฆ่าคนอื่นตาย นี่คนห่างจากศาสนาเพราะเดี๋ยวนี้ไปบูชาวัตถุกัน แทนที่จะบูชาธรรมไปบูชาวัตถุ แทนที่จะศึกษาธรรมเลยไม่มีธรรมที่จะมารักษาความทุกข์ใจ เวลาทุกข์ก็เลยแก้ด้วยความหลงด้วยความโง่ ก็คิดว่าฆ่าคนอื่นตายแล้วจะหายทุกข์ ฆ่าตัวเองตายแล้วจะหายทุกข์ มันไม่หายกลับจะเพิ่มความทุกข์ให้เพิ่มมากขึ้นๆ ต้องแก้ตัวที่ทำให้ใจทุกข์คือความโลภความโกรธความหลง ความอยากต่างๆ

 

จะรู้ว่าคนนั้นเป็นโสดาบัน
ถาม: คนที่เป็นพระโสดาบันท่านยังมีความอยากมีแฟนมีลูกภรรยาหรือสามี แล้วยังมีกามคุณอยู่ใช่ไหมครับ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าคนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันครับ
พระอาจารย์ อ๋อ เราก็ต้องเป็นเอง ก่อนจะไปรู้คนอื่นเขาต้องรู้ตัวเราก่อน ถ้าตัวเรายังไม่รู้ว่าเราเป็น เราจะไปรู้คนอื่นเป็นได้อย่างไร เหมือนคนที่จบปริญญาตรี จะไปรู้ว่าคนอื่นจบปริญญาตรีหรือไม่ตัวเองก็ต้องจบปริญญาตรีก่อน ถ้าตัวเองไม่จบปริญญาตรีเราจะไปสัมภาษณ์เขาได้ไหม จะไปสอบเขาได้ไหม คุณรู้วิชานี้หรือเปล่า คุณรู้วิชานั้นหรือเปล่า อันนี้ก็เหมือนกัน คุณต้องเป็นโสดาบันก่อน คุณต้องมีดวงตาเห็นธรรมก่อน เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวคุณ แล้วคุณก็ปล่อยวางร่างกายได้ไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย ทีนี้อยากจะรู้คนอื่นเป็นหรือเปล่าก็ลองไปถามเขาดูว่า “เฮ้ย ร่างกายนี้เป็นของมึงหรือเปล่าวะ” ถ้ามันบอก “เป็นของกู” ก็แสดงว่ามันยังไม่ได้เป็นโสดาบัน
 

พูดเพ้อเจ้อแล้วก็เสียน้ำลายไปเปล่าๆ
ถาม:  ถ้าเราพูดเรื่องทางโลกแบบทั่วๆ ไป แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์สาระอะไรเท่าไหร่ จัดเป็นการพูดเพ้อเจ้อไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์ ก็เป็นการเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์อะไร สู้พูดเรื่องที่มีประโยชน์ มีความรู้ทางวิชาการก็ได้ ทางโลกก็ได้ ทางธรรมก็ได้ เพราะความรู้นี่สามารถนำเอาไปทำประโยชน์ให้กับเราได้ พูดเพ้อเจ้อแล้วก็เสียน้ำลายไปเปล่าๆ เหนื่อยเมื่อยปากไปเปล่าๆ
 


ว่างจริงมันก็ไม่มีสังขาร
ถาม: ขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์ครับ จิตตั้งอยู่กับความว่างและสังขาร จะแก้อย่างไรดีครับ
พระอาจารย์: ก็แก้ด้วยพุทโธสิ ให้มันอยู่กับพุทโธอย่าให้มันอยู่กับความว่าง ถ้ามันความว่างจริงมันก็ไม่มีสังขาร ถ้ามีสังขารมันก็ไม่มีความว่าง งั้นถ้าบอกว่าไปอยู่กับความว่างกับสังขารก็แสดงว่ามันไม่จริง มันต้องอยู่กับอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่กับความว่างก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะความว่างมันเป็นความนิ่งความสงบ ถ้าอยู่กับสังขารก็ต้องให้มันคิดไปทางพุทโธพุทโธ คิดไปทางไตรลักษณ์แทน
 


ฟังธรรมเพื่อสมาธิ
ถาม: ขอเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ เคยได้ยินพระอาจารย์บอกว่าสามารถทำสมาธิระหว่างฟังพระธรรมเทศนาได้ สงสัยว่าทำอย่างไรเจ้าคะเพราะระหว่างที่ฟังพระเทศน์ เราต้องได้ยินเสียงแล้วต้องคิดตาม แล้วใจจะอยู่ที่พุทโธหรือเสียงธรรมเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ เราอยู่ที่เสียงธรรมไง แต่เราไม่ต้องไปคิดตาม ฟังเฉยๆ ให้ใจเกาะเสียงไว้โดยที่ไม่ต้องคิดตาม ไม่ต้องเข้าใจไม่ต้องการปัญญา อันนี้ในกรณีของคนที่นั่งเองไม่ได้ พุทโธไม่ได้ ดูลมไม่ได้ อาศัยเสียงธรรมแทนได้ แล้วก็คิดตามไม่ได้ ยังไม่มีปัญญาความฉลาดที่จะเข้าใจก็เลยอาศัยเสียงนั่งฟังเสียงไป ใจก็ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็สงบได้ แต่อาจจะไม่สงบแบบเต็มร้อยเหมือนกับไปดูลมหรือนั่งพุทโธอยู่คนเดียว แต่ก็จะช่วยให้ใจไม่ฟุ้งซ่านไม่วุ่นวายใจได้ เป็นสมาธิแบบขั้นหยาบ ยังไม่ใช่ขั้นละเอียด ยังไม่ใช่ขั้นสมบูรณ์ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกหัดใหม่อยากจะนั่งสมาธิ ถ้านั่งเองนั่ง ๕ นาทีก็นั่งไม่ได้แล้ว พุทโธไม่มีแรงที่จะพุทโธ ไม่มีแรงที่จะดูลมก็อาศัยฟังดีกว่า ฟังไม่ต้องใช้แรง ฟังเสียงธรรมแทน เวลานั่งฟังก็ไม่ต้องพุทโธไม่ต้องดูลม ใช้เสียงธรรมเป็นอารมณ์แทนพุทโธ แทนลมหายใจ แล้วเดี๋ยวใจก็ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ใจก็จะเบา และไม่แน่บางครั้งมันอาจจะวุ้ปลงไปนิ่งสงบเป็นสมาธิขึ้นมาก็ได้ ไม่มีใครรู้เรื่องเหล่านี้ ขอให้ใจมีอะไรเกาะแล้วไม่คิดก็แล้วกัน แล้วเดี๋ยวมันก็จะสงบได้
 


ฟังธรรมได้ทั้งสติได้ทั้งปัญญา
ถาม: ฟังธรรมฟังการตอบปัญหาธรรม จิตสงบเช่นนี้เรียกว่าการเจริญสติใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ก็แล้วแต่ว่าฟังแล้วเข้าใจหรือไม่ ถ้าฟังแล้วเข้าใจก็ได้ทั้งสติได้ทั้งปัญญา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจแต่จิตสงบก็ได้สติได้สมาธิ การฟังธรรมได้ประโยชน์ ๒ แบบ แบบสมาธิหรือแบบปัญญา งั้นอยู่ที่เรื่องที่เราฟังเราเข้าใจหรือไม่ ถ้าเราไม่เข้าใจแต่ใจเราไม่ไปคิดถึงเรื่องอื่น พยายามฟังไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ฟังไป ไม่ไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ใจก็สงบได้เป็นสมาธิได้ แต่ยังไม่เป็นปัญญา แต่ถ้าฟังไป ฟังไปนึกภาพตามได้เห็นตามที่เขาพูดได้ เข้าใจเอามาดับความทุกข์ได้ก็กลายเป็นปัญญาขึ้นมา
 


เราไปห้ามมันไม่ได้
ถาม: สองวันก่อนมีอาการปวดท้องรุนแรงมากจนต้องตามสามีกลับมาเอายามาให้ แต่ระหว่างมาเวทนามันรุนแรงจนภาวนาดูความปวด เป็นผู้ดูเหมือนซ้อมป่วยใกล้ตาย ยอมตาย จนอาการทุกอย่างหายไป ก่อนที่จะได้ยามา แบบนี้ถือเป็นธรรมโอสถหรือการใช้ปัญญาแก้ปัญหาไหมคะ
พระอาจารย์: ถูกต้องแล้วล่ะ ถ้าเราทำให้จิตเราสงบได้ท่ามกลางความเจ็บปวดของร่างกายได้ ก็แสดงว่าเราเห็นอนัตตา เห็นว่าเวทนาเป็นสิ่งที่เราไปห้ามมันไม่ได้ มันจะปวดก็ปล่อยมันปวดไป อย่าไปอยากให้มันหาย เพราะความอยากเป็นสมุทัยสร้างความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา พอเรายอมรับความเจ็บปวดได้ ความทุกข์ทรมานใจก็หายไป ใจก็สงบอยู่กับความเจ็บปวดได้
 


เราไปแก้คนอื่นไม่ได้หรอก เราแก้ตัวเราดีกว่า
ถาม: มาฟังธรรมจากพระอาจารย์บ่อยๆ มักจะเจอผู้ฟังที่ชอบคุยกันระหว่างที่พระอาจารย์เทศน์ อย่างล่าสุดเจ้าหน้าที่ต้องมาเตือนว่ารบกวนผู้อื่นเพราะว่าพ่อแม่กับลูกล้อเล่นกัน เสียงรบกวนผู้ฟังท่านอื่น พอถูกเตือนก็ชักสีหน้าไม่พอใจ แบบนี้ควรจะเตือนเขาอย่างไรดีครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช่หน้าที่ของเราไปเตือนเขาหรอก ก็ปล่อยเขาไป เราก็ย้ายที่ก็แล้วกัน ไปนั่งที่ไม่มีใครเขาคุยกัน มานั่งบนศาลานี่จะไม่มีใครกล้าคุยกัน เพราะคุยจะได้เชิญเขาไป เราไปแก้คนอื่นไม่ได้หรอก เราแก้ตัวเราดีกว่า ถ้าเราไปนั่งที่ไม่สงบเราก็ย้ายที่เสีย แล้วก็หมดปัญหาไป เพราะถ้าเราคอยไปแก้คนนั้นเดี๋ยวคนใหม่มาก็มีเรื่องเดิมอีกมาให้เราแก้อีก ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ แล้วแก้กับคนอื่นเดี๋ยวก็มีเวรมีกรรมกันอีก ทำแล้วเกลียดขี้หน้าเราอีก งั้นถ้าเราไม่มีหน้าที่ไปว่ากล่าวตักเตือนเขาเราก็อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เขาช่วยพูดก็แล้วกัน
 


ทรงสอนให้ทำประโยชน์ของตนก่อน
ถาม: ผมจะไปเรียนนายสิบทหารบก แต่ครอบครัวไม่อยากให้ไป ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ผมจะทำตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก่อนถูกหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ก็แล้วแต่เรา ถ้าเราคิดว่าเราจะทำประโยชน์แก่ส่วนรวมก็ไม่เสียหายตรงไหน แต่ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ทรงสอนให้ทำประโยชน์ของตนก่อน แล้วค่อยไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ประโยชน์ของตนที่แท้จริงก็คือการทำให้ตนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายก่อน เมื่อทำตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้แล้วก็ไปสอนผู้อื่นให้รู้จักวิธีทำให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์ของเขาได้ อันนี้ก็เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอย่างถูกต้อง ประโยชน์แบบอื่นมันก็อาจจะเป็นประโยชน์แบบชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ประโยชน์ทางร่างกายนี้เป็นประโยชน์ชั่วคราว ยังไม่ได้เป็นประโยชน์ที่ถาวร ประโยชน์ที่ถาวรต้องเป็นประโยชน์ทางจิตใจ ทำให้จิตใจพ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเกิด ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดสิ้นไป ถ้ายังกลับมาเกิดอยู่ก็ยังต้องมาเจอปัญหาต่างๆ ที่ตามมาจากการมาเกิดต่อไปอยู่
 


ดับทุกข์อย่างไร
ถาม: ถ้าทุกข์เกิดเราจะดับทุกข์อย่างไรคะพระอาจารย์: ก็ไปดับที่เหตุสิ เวลาไฟไหม้บ้านจะไปดับที่ไหน ก็ดับที่ไฟ ดับที่เชื้อ เอาเชื้อออก ถ้ามีเชื้อก็หยุดเชื้อมันเสีย ถ้าไฟไหม้เตาแก๊ซอย่างนี้ก็ไปปิดแก๊ซเสีย ไฟก็ดับ ทุกข์ของเราก็เกิดจากความอยากของเรา อยากให้แฟนอยู่กับเราเขาบอกเขาจะบ๊ายบายแล้ว ก็ทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็หยุดความอยากให้เขาอยู่กับเรา เขาอยากจะบ๊ายบายก็ปล่อยเขาบ๊ายบายไป เราก็อยู่ของเราไป เราก็ไม่ทุกข์กับการบ๊ายบายของเขา ต้องมาหยุดที่ความอยากของเรา  


ลักษณะของคนมีสติ
ถาม: พอดีมีคนที่รู้จักเขาชอบธรรมะ แล้วเขาบอกว่าเวลานอนเขานอนแบบมีสติรู้ตัวตลอด พอได้ยินแล้วมาพิจารณาการนอนของตัวเอง เราไม่รู้สึกตัวค่ะ แต่หลับลึก เลยไม่แน่ใจว่าเวลานอนสำหรับผู้ปฏิบัติ เราควรฝึกให้นอนแบบมีสติรู้ตัวตลอดจนตื่นใช่ไม๊คะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันรู้ตัวไม่ได้หรอกเวลาหลับ ถ้าหลับมันก็ไม่รู้ตัว เพียงแต่ว่าถ้ามีสตินี่ พอมีอะไรมากระทบหน่อยมันจะรู้ตัวเร็ว นี่คือลักษณะของคนมีสติ พอมีเสียงอะไรมาเข้าหน่อยก็อาจจะรู้ตัวตื่นขึ้นเร็วกว่าคนที่ไม่มีสติ ต่างกันตรงนั้นแต่เวลาหลับ หลับเหมือนกัน เพราะเวลาหลับมันต้องไม่มีสติมันถึงจะหลับได้ แต่พอได้ยินเสียงหรือมีความรู้สึกอะไรทางร่างกายขึ้นมานี่มันจะไว มันจะรับรู้ได้ไวกว่า งั้นอันนี้เราไปกำหนดไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าเรามีสติมากสติน้อย สติมากน้อยก็อยู่ตอนที่เราตื่น ถ้าเราฝึกสติอยู่บ่อยเราก็จะมีสติมาก ถ้าเราฝึกน้อยก็มีสติน้อย งั้นถ้าเราฝึกมากๆ คือพยายามคอยควบคุมใจให้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็เรียกว่าเรากำลังฝึกสติ เช่น ให้อยู่กับพุทโธพุทโธ หรืออยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างนี้เป็นการสร้างสติ พอมีสติแล้วมันก็จะควบคุมความคิดได้ดี พอนั่งสมาธิต้องการให้หยุดคิดมันก็หยุดคิดได้ เวลานอนหลับเวลามีอะไรมาสัมผัสปั๊บมันจะรู่ทันที หรือเวลาก่อนนอนตั้งเวลาได้ ตั้งในใจว่าเดี๋ยวจะตื่นกี่โมง พอถึงเวลานั้นมันจะรู้สึกตัวขึ้นมาทันที
 


ให้อภัยเพื่อดับความโกรธ
ถาม: พระอาจารย์คะความเมตตาของเรานี่ สามารถให้อภัยกับคนที่ทำกับเราได้ไหม
พระอาจารย์: คือการให้อภัยนี้เพื่อดับความโกรธของเรา เราไม่ได้ไปเปลี่ยนคนที่เราให้อภัย คนที่ให้อภัยเขาจะเปลี่ยนไม่เปลี่ยนมันไม่ได้เกิดจากการให้อภัยของเรา แต่การให้อภัยของเราเกิดประโยชน์กับเราตรงที่ทำให้เราหายโกรธ เราจะได้นอนตาหลับ ไม่อย่างนั้นเรากินไม่ได้นอนไม่หลับ คิดล้างแค้นอาฆาตพยาบาท นี่ความเมตตามีไว้ดับความทุกข์ของเรา ไม่ใช่ไปเปลี่ยนคนอื่น
 


ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 มีนาคม 2563 10:28:56
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29406733231411_84103386_2717904091580858_4690.jpg)

ขออุบายในการพิจารณาลดอัตตา
ถาม: เกล้าเป็นผู้มีมานะทิฏฐิที่มาก อยากจะขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์ขออุบายในการพิจารณาลดอัตตา การกำจัดตัวมานะนี้ครับผม
พระอาจารย์: ก็ต้องสมมุติว่าเราเป็นเหมือนกองขยะ เป็นเหมือนแผ่นดิน เราเป็นผู้ต่ำต้อย ใครจะเอาเท้ามาเหยียบแผ่นดิน แผ่นดินมันก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร ใครจะเทของสกปรกลงไปแผ่นดิน แผ่นดินมันก็ไม่รู้สึกรังเกียจแต่อย่างใด พยายามทำจิตใจให้เป็นเหมือนแผ่นดิน แล้วเราก็จะลดการถืออัตตาตัวตนได้ อัตตาตัวตนก็อยู่ที่เราไปคิดว่าตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่นั่นเอง ถ้าเราเปลี่ยนความคิดจากการเป็นนั่นเป็นนี่ มาเป็นแผ่นดิน เราก็จะลดอัตตาตัวตนได้ อย่าไปคิดว่าเราเป็นรัฐมนตรี เราเป็นลูกคนรวย เราเป็นเศรษฐี เราเป็นอะไรแล้วแต่ ให้คิดว่าเราเป็นแผ่นดิน ที่คนเขาเหยียบกันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งเหยียบทั้งโยนของสกปรก อะไรทั้งขุดดินทั้งอะไรต่างๆ แผ่นดินรับได้อย่างสบาย ถ้าเราถือว่าเราเป็นคนที่ต่ำต้อยที่สุด เป็นเหมือนแจ๋วสบายใจกว่าเป็นเจ้านาย เวลาเป็นเจ้านายใครเขาไม่ให้ความเคารพเรา เราก็โกรธเขาแล้ว แต่ถ้าเราเป็นแจ๋วนี้เราไม่ไปหวังให้ใครเขาเคารพเรา ใช่ไม๊ งั้นพยายามคิดว่าเราเป็นแจ๋ว เป็นผ้าขี้ริ้ว เป็นแผ่นดินแล้วเราจะได้ลดอัตตาตัวตนได้
 


จิตที่พ้นจากวัฏสงสาร
ถาม: การรู้ว่าได้เห็นได้ยินได้ลิ้มรสได้สัมผัส เกิดขึ้นเพราะจิตรับรู้ ไม่ใช่เพราะกาย กายเป็นเพียงเครื่องมือและช่องทางผ่านเท่านั้น ดังนั้น ถ้าดับโมหะ จิตรับรู้แล้ววางเฉยกับสิ่งทั้งหลายด้วยธรรมชาติ จิตไม่เศร้าหมองไม่เคร่งเครียดไม่ตึงไม่หย่อน ทั้งตื่นทั้งหลับ สิ่งนี้จะเป็นบุญนำจิตส่งไปนิพพานพ้นจากวัฏสงสาร ใช่หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: ถูกต้อง ถ้าจิตเพียงสักแต่ว่ารู้กับสิ่งที่ได้สัมผัสรับรู้โดยไม่มีความรักชังกลัวหลง ไม่มีความยินดียินร้าย จิตก็จะหลุดพ้นจากการติดข้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ต้องกลับมาหาสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป ก็จะหลุดพ้นจะไปอยู่ที่นิพพานแทน
 


จิตที่อยู่เหนือบุญเหนือบาป
ถาม: จิตที่จะเวียนว่ายตายเกิดกับจิตที่ไปนิพพาน จะต้องใช้บุญและบาปเป็นเครื่องนำส่ง ใช่หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช่หรอก บุญหรือบาปเป็นสิ่งที่จิตต้องไปรับใช้ถ้ายังติดอยู่ในไตรภพ แต่พอสิ้นกิเลสแล้วไม่กลับมาเกิดในไตรภพ บุญหรือบาปก็หมดสิทธิ์ที่จะมาควบคุมจิตให้ไปรับผลบุญผลบาปอีกต่อไป เป็นจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ บาปบุญที่เคยทำมาอาจจะยังใช้ไม่หมด แต่มันไม่มีสิทธิ์ที่จะมาควบคุมจิตให้ไปรับผลบุญผลบาปอีกต่อไป จิตเหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็นจิตที่อยู่เหนือบุญเหนือบาป บุญหรือบาปไม่สามารถที่จะไปจัดการกับจิตที่หลุดออกจากไตรภพได้แล้ว บุญหรือบาปจัดการกับจิตที่อยู่ในไตรภพเท่านั้น เหมือนกับผู้คุมนักโทษนี้จัดการกับพวกนักโทษได้ทั้งนั้น แต่พอนักโทษออกจากคุกไปแล้วนี้ ผู้ควบคุมนักโทษไม่สามารถตามออกไปนอกคุกแล้วไปให้คุณให้โทษกับผู้ที่อยู่นอกคุกได้แล้ว
 


ผู้รู้นี้รู้อยู่ตลอดเวลา
ถาม: ตัวผู้รู้หลับเป็นเหมือนตัวร่างกายรึเปล่าครับ เพราะบางครั้งนอนหลับอยู่ก็เหมือนตื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร ควรแก้ไขอย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ผู้รู้นี้รู้อยู่ตลอดเวลาไม่มีวันหลับไม่มีวันอะไร เพียงแต่ว่าไม่ได้รู้เรื่องที่ควรจะรู้ ไปรู้ตามเรื่องของกิเลสพาไปให้รู้แล้วก็ทำให้เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา เราจึงต้องฝึกใจให้ใจไปรู้เรื่องที่จะทำให้ใจสงบใจไม่วุ่นวาย ก็ต้องฝึกสติเพราะสติจะเป็นตัวบังคับใจให้ไปรู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ต่อไปได้
 


ศาสนาพุทธสอนให้ทำไม่ได้สอนให้ขอ
ถาม: ทำทานในศาสนาอธิษฐานว่าขอให้มีกำลังและความเพียรในการภาวนาให้ยิ่งขึ้นในชาตินี้ครับ ถ้าไม่สำเร็จผล ในชาติอื่นถัดๆ ไปจะยังมีผลอยู่หรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ไม่มีผลหรอก ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ขอ ให้สร้างขึ้นมา อยากมีความเพียรก็ต้องทำความเพียร อยากจะไปนิพพานก็ต้องภาวนา ไม่ใช่ทำบุญใส่บาตรแล้วก็ขอไปนิพพาน คนละเรื่องกัน ตีตั๋วไปโคราชแล้วขอไปเชียงใหม่ มันไปไม่ได้หรอก ตีตั๋วไปโคราชก็ต้องไปโคราช อยากจะไปเชียงใหม่ก็ต้องตีตั๋วไปเชียงใหม่ ขอไม่ได้ ตีตั๋วแล้วก็เอาตั๋วโคราชไปขึ้นรถเชียงใหม่ บอก “ผมขอไปเชียงใหม่” อย่างนี้ ไอ้คนเก็บตั๋วบอก “พี่ มาผิดคันแล้วหละ” ไปไม่ได้หรอก งั้นศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้ขอ ศาสนาพุทธสอนให้ทำ
 


จิตเดิมไม่ได้เป็นจิตบริสุทธิ์
ถาม: จิตมีนิสัยดั้งเดิมไหมครับ แล้วหากเราอยากกลับไปยังนิสัยจิตเดิม เรามีวิธีไหมครับพระอาจารย์ ขอบคุณครับ
พระอาจารย์: อ๋อ นิสัยจิตเดิมก็สงบ ก็ในสมาธิไง เมื่อจิตสงบจิตก็จะเป็นจิตเดิม ถ้าอยากจะกลับไปจิตเดิมก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบ แต่จิตเดิมนี้ไม่ได้เป็นจิตบริสุทธิ์นะ ยังเป็นจิตที่มีกิเลส ที่พร้อมที่จะออกมาอาละวาดได้ทุกเวลา เวลาที่ไม่มีสติควบคุมจิตให้สงบ กิเลสก็จะออกมาอาละวาดต่อไปได้ ถ้าอยากจะทำจิตเดิมให้เป็นจิตบริสุทธิ์ก็ต้องกำจัดกิเลสที่มีอยู่ในใจให้หมดไป ทำให้สงบแล้วก็กำจัดกิเลสที่มีอยู่ให้หมดไป ก็จะกลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ กลายเป็นจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ไป
 


ฟุ้งซ่านก็ใช้สติไม่ใช่ใช้สมาธิ
ถาม: คนที่จิตฟุ้งซ่านมากๆ การทำสมาธิช่วยได้หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: คือการทำสมาธิก็เพื่อให้มันหยุดฟุ้งซ่านนั่นเอง งั้นจะทำได้หรือไม่อยู่ที่มีสติหรือไม่ ที่ฟุ้งซ่านก็เพราะไม่มีสติ เหมือนรถที่วิ่งไปชนเขา ไม่มีเบรกไม่เหยียบเบรกมันก็ชนกันละสิ ถ้าเหยียบเบรกมันก็ไม่ชนกัน งั้นถ้าไม่อยากฟุ้งซ่านก็ต้องฝึกสติก่อน พอมีสติจิตก็จะสงบหายฟุ้งซ่าน ก็เป็นสมาธิขึ้นมา งั้นการไปปฏิบัติสมาธิความจริงคือการไปปฏิบัติสติ เพราะว่าสมาธินี่เป็นผลจากการปฏิบัติของสตินี่เอง ต้องพุทโธ งั้นถ้าฟุ้งซ่านก็ใช้สติไม่ใช่ใช้สมาธิ เพราะสมาธิเกิดจากสติ ต้องใช้สติแล้วจิตก็จะสงบหายฟุ้งซ่านเป็นสมาธิขึ้นมา งั้นต้องหัดเจริญสติ ต้องรู้จักวิธีเจริญสติคือการใช้กัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานก็คือพุทโธพุทโธไป พอฟุ้งซ่านก็พุทโธพุทโธไป อย่าไปคิดตามมัน หรือพุทโธเบื่อก็สวดอิติปิโส ๑๐๐ จบไป “อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโตโลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ” สวดไป ๑๐๐ จบ รับรองได้ฟุ้งซ่านอะไรนี่หายไปหมด
 


ต้องละอย่างไรเพื่อให้กิเลสน้อยลง
ถาม: ถ้าเราอยากละกิเลสเราต้องละอย่างไรเพื่อให้กิเลสน้อยลงเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ไม่ทำตามกิเลสไง เวลาอยากจะไปเที่ยวก็ไม่ไปไปอยู่วัดดีกว่า เวลาอยากจะไปดูหนังก็นั่งสมาธิดีกว่า เปลี่ยนวิธี อย่าไปทำตามกิเลส ทำตามธรรม ธรรมไม่เป็นกิเลส อยากนั่งสมาธิไม่เป็นกิเลส อยากนั่งดูหนังเป็นกิเลส
 


การอดอาหารมีประโยชน์หลายอย่าง
ถาม การอดอาหารเพื่อทำความเพียรกับไม่อดอาหารเพื่อทำความเพียรนั้นมีประโยชน์แตกต่างกันอย่างไรครับ
พระอาจารย์ สำหรับบางคนถ้าถูกจริต การอดอาหารนี้มันมีประโยชน์หลายอย่าง ๑. มันจะแก้ความง่วงนอน ง่วงหงาว หาวนอนได้ ๒. มันจะบังคับให้เราต้องปฏิบัติ ต้องภาวนาเพราะเวลาเราหิวนี้ใจมันจะทรมาน เราก็ต้องหยุดการทรมานของใจด้วยการเข้าสมาธิ มันก็เป็นวิธีกระตุ้นให้เราต้องภาวนา ต้องนั่งสมาธิ ถ้าเรากินอิ่มแล้วมันจะไม่มีอะไรกระตุ้น มันมีแต่หมอนที่จะมาคอยกระตุ้นเรา เราก็จะขี้เกียจเราก็จะไม่ได้ปฏิบัติ งั้นถ้าเราอยากจะปฏิบัติให้มากขึ้น เราต้องมีมาตรการในการกระตุ้นความเพียรของเรา การอดอาหารนี้ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะสามารถกระตุ้นให้เราต้องมีสติมากขึ้น ต้องคอยควบคุมความคิด หรือต้องเจริญปัญญาเพื่อระงับความหิว ปัญญาที่จะระงับความหิวก็คือการพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร อาหารเราต้องดูมันตั้งแต่เข้าไปในปาก เข้าไปในท้องจนกระทั่งมันออกมาในส้วม มันถึงจะได้เห็นแล้ว มันครบวงจรของอาหาร แล้วความหิวความอยากกินอาหารมันจะได้ถูกกำจัดไป พอความอยากถูกกำจัดไป ความทรมานใจก็ไม่มี ใจจะสงบใจจะไม่หิว ที่หิวคือร่างกายแต่ร่างกายมันไม่เดือดร้อนมันไม่กินมันก็ไม่บ่น ไอ้ที่มันเดือดร้อนคือใจ พอเราบังคับให้มันดูปฏิกูลของอาหารมันก็เลยไม่หิวตาม การอดอาหารก็เลยไม่ทรมาน แล้วมันก็จะทำให้ทำความเพียรได้ต่อไป แล้วต่อไปเรื่องรับประทานอาหารก็จะไม่มีปัญหา ถ้ายังไม่ถึงเวลารับประทานอาหาร มันอยากจะรับประทานอาหาร เพียงแต่นึกถึงปฏิกูลของอาหารมันก็หายอยากทันที ลดน้ำหนักได้ พวกที่อ้วนๆ นี่ อยากจะลดน้ำหนักไม่ต้องไปเข้ายิม ไม่ต้องไปออกกำลังกายเต้นให้เหนื่อย ยิ่งออกกำลังกายยิ่งหิวนะ วิ่งเสร็จเดี๋ยวก็ต้องมากินใหม่อีก หัดมาพิจารณาปฏิกูลของอาหารดู ดูอาหารตอนที่มันอาเจียนออกมา ตอนที่อยู่ในปากแล้วคายออกมา หรือตอนที่ถ่ายออกมา โอ๊ย มันเห็นอย่างนี้แล้วไม่อยากจะกินแล้ว
 

ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 เมษายน 2563 10:21:05
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28516725740498_83801126_2689991061038828_4170.jpg)

การทำบุญจำเป็นต้องเลือกวัดเลือกพระไหมครับ
ถาม: การทำบุญจำเป็นต้องเลือกวัดเลือกพระไหมครับ
พระอาจารย์: ก็เหมือนไปโรงเรียนต้องเลือกโรงเรียนหรือเปล่า ใช่ใหม เลือกไหมทำไมไปเรียนสาธิตจุฬาฯ ทำไมไปเข้าจุฬาฯ ไปเข้ามหิดล ก็เพราะว่าสถาบันการศึกษามีความรู้ความสามารถไม่เท่าเทียมกัน วัดก็เหมือนกัน วัดก็มีความสามารถไม่เท่าเทียมกันในการให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา ก็ต้องเลือกวัดเลือกสถานที่ที่เราจะไปทำบุญไปศึกษา แต่ถ้าเราไม่ศึกษา เราเพียงอยากจะไปสร้างโบสถ์ให้กับวัดที่ไม่มีก็ไปสร้างได้ อย่างไปสร้างกุฏิให้กับวัดที่เขาไม่มีก็ไปสร้างได้ วัดไหนก็ได้ที่เขาขาดแคลนก็ไปสร้างให้เขาไป แต่ถ้าไปศึกษาไปปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรมนี้ต้องเลือกวัดไป
 

จิตสงบ จิตว่าง
ถาม: เวลาที่นั่งสมาธิพิจารณาลมหายใจและพุทโธไปด้วย แล้่วอยู่ๆพุทโธก็ไม่มี แต่รู้ว่าตัวเองนั่งอยู่
พระอาจารย์: จิตสงบ จิตว่าง
ถาม: แต่เป็นไม่นานนะคะ
พระอาจารย์: พยายามทําให้เป็นนานๆ
ถาม: เวลาที่เป็นอย่างนี้ จะนั่งได้ทั้งคืน
มีความสุข ไม่มีความง่วง ถูกแล้วใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ถูกแล้ว
 


“พ้นทุกข์ได้ไม่ต้องรอจนถึงวันตาย”
ถาม: ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตสม่ำเสมอ เราจะทำจิตให้ยอม หยุด เย็น จนกระทั่งถึงวันตายคือพ้นทุกข์ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ พ้นก่อนตายเสียด้วยซ้ำไปถ้าทำจริงๆ ไม่ ๗ วัน ก็ ๗ เดือน ๗ ปี ก็พ้นทุกข์ได้ ไม่ต้องรอจนถึงวันตายหรอก
 

คำว่ากรวดน้ำคือการอุทิศบุญ
ถาม: หนูอยากทราบว่าเวลาเราทำบุญบริจาคโอนเงินผ่านบัญชีต่างๆ เราต้องกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเหมือนเวลาไปใส่บาตรหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: คือการกรวดน้ำเป็นการแบ่งบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ถ้าเราอยากจะแบ่งบุญที่เราทำก็ได้ การกรวดน้ำนี้ไม่ต้องใช้น้ำก็ได้ คำว่ากรวดน้ำนี้คือการอุทิศบุญ ทีนี้บุญมันเป็นของที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเขาก็เลยให้เอาน้ำมาเป็นตัวแทนบุญ ให้เทน้ำจากภาชนะหนึ่งไปสู่อีกภาชนะหนึ่ง ก็เป็นเหมือนการส่งบุญจากใจหนึ่งไปสู่อีกใจหนึ่ง ใจผู้รับก็เป็นใจแต่ตอนนี้เป็นใจที่ไม่มีร่างกาย เราก็เรียกว่าดวงวิญญาณ เท่านั้นเอง แต่สามารถส่งบุญที่เราได้สร้างขึ้นในใจของเรา แบ่งไปให้เขาได้ด้วยการใช้คำระลึกคิดในใจไม่ต้องใช้น้ำ ขออุทิศส่วนบุญอันนี้ให้กับคนนั้นคนนี้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้ากำลังรอรับบุญอยู่ก็ขอให้รับบุญนี้ไปได้เลย เท่านั้นก็เสร็จแล้วไม่ต้องใช้น้ำ ถ้าไม่อยากจะอุทิศก็ได้ถ้าขี้เกียจไม่รู้จักใคร ก็ไม่ต้องอุทิศก็ได้
 

ว่างตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่างตามความคิด
ถาม: การเข้าสู่ความว่างควรมีสติรู้ทั่วร่างกายว่ากำลังนั่งอยู่ไหมคะ หรือว่าควรทำให้ร่างกายหายไปเลยแบบไม่รู้สึกตัวว่าจิตว่างอยู่
พระอาจารย์: อ๋อ มันจะว่างต่อเมื่อเรามีสติอยู่กับอารมณ์เดียว อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลม ไม่ไปคิดปรุงแต่ง พอมันหยุดคิดปรุงแต่งจิตก็จะว่างขึ้นมา เราไปคิดให้มันว่างไม่ได้ เพราะคิดให้มันว่างมันก็ไม่ว่างแล้ว เพราะความคิด มันต้องหยุดคิดเท่านั้นมันถึงจะว่าง จะหยุดคิดก็ต้องมีอะไรผูกใจไม่ให้ไปคิด เช่น มีลมหายใจ หรือมีพุทโธผูกไว้มันก็จะหยุดคิด พอหยุดคิดแล้วมันก็จะว่างขึ้นมาเอง ว่างตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่างตามความคิด ไปนั่งคิดว่าง ว่าง ว่าง เมื่อไหร่จะว่างสักทีโว้ย มันก็ไม่ว่าง มันจะว่างก็ต่อเมื่อเราไม่ไปคิด ไม่ไปปรุงแต่ง


ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 พฤษภาคม 2563 16:30:43


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97607261190811_97650500_2942419799129285_8926.jpg)

ธรรมที่จะเอามาใช้ในการปล่อยวาง
ถาม: สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ผมอยากทราบว่าธรรมในที่นี้เป็นอย่างไร อย่างไรคือธรรมครับ
พระอาจารย์: คือธรรมที่จะเอามาใช้ในการปล่อยวาง กาย เวทนา จิต นั่นเอง ว่าเรามีธรรมอยู่ในใจหรือเปล่า เช่น มีอริยสัจ ๔ มีไตรลักษณ์หรือเปล่า มีมรรค ๘ หรือเปล่า มีโพชฌงค์หรือเปล่า มีพละ ๕ หรือเปล่า นี่คือธรรมที่เราจำเป็นจะต้องมีในใจเราเพื่อที่เราจะได้พิจารณาปล่อยวางกาย เวทนา จิตได้


กังวลกับเรื่องโควิด-19 มากเกินไปควรทำใจอย่างไร
ถาม: ถ้าเรารู้ว่าตัวเองกำลังกังวลกับเรื่องโควิด-19 มากจนเกินไปเราควรทำใจและทำตัวอย่างไรให้มีความสุขขึ้นมาได้บ้างคะ
พระอาจารย์: เบื้องต้นก็ต้องหยุดความคิดนี้ให้ได้ ดึงมันมาคิดทางการสวดมนต์แทน สวดอิติปิโสไป หรือฟังเทศน์ฟังธรรมไป มันก็จะดึงใจให้ออกจากความคิดเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้ ทุกครั้งที่กลับไปคิดก็ต้องดึงมันออกมาด้วยการท่องพุทโธ ด้วยการสวดมนต์ไป หรือถ้าเรามีปัญญาก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องธรรมด้าธรรมดา ต้องเจอกันทุกคนไม่ช้าก็เร็ว ไม่มากก็น้อย หนีมันไม่พ้น คิดอย่างนี้แล้วใจก็จะปลงได้วางได้ ยอมรับกับความจริง


กิเลสไม่ชอบดูลมหายใจ
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ เวลาที่ดูลมหายใจแล้วชอบแน่นหน้าอก ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรคะ และควรแก้ไขอย่างไรคะ โดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนเครียดง่ายเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: คือถ้ามันเป็นเฉพาะเวลาดูลมหายใจ ถ้าดูทีวีดูละครไม่เป็น อันนี้ก็ไม่ต้องไปหาหมอเพราะไม่ใช่เรื่องของร่างกาย เป็นเรื่องของกิเลส กิเลสไม่ชอบดูลมหายใจเพราะมันไม่สนุกเหมือนดูละครดูหนัง มันก็เลยตีโพยตีพายสร้างความรู้สึก อึดอัดตรงนั้นแน่นตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจมัน พยายามตั้งใจดูลมไป ถ้ากำลังดูลมไม่พอก็ใช้พุทโธก่อนหรือสวดมนต์ไปก่อนก็ได้ ถ้าสติมีกำลังไม่พอเกิดอาการเหล่านี้ ดูไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปดู สวดมนต์ไปก่อน หรือฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน ฟังไปสักชั่วโมงแล้วลองมานั่งดูลมต่อ ถ้าใจมันสงบลงจากการฟังธรรมแล้วมันจะไม่มีอาการต่างๆ ปรากฏขึ้นมา
   

ปฏิบัติให้บรรลุภายใน ๗ ปี ต้องเข้มข้นขนาดไหน
ถาม: จะปฏิบัติให้บรรลุใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี จะต้องเข้มข้นขนาดไหนเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ไปบวชไง ต้องไปถือศีล ต้องไปอยู่กับพระอาจารย์ที่ดุๆ เข้มข้น ที่คอยเคี่ยวเข็ญคอยผลักคอยดันให้ภาวนาอย่างเดียว ไม่ให้ไปทำภารกิจอย่างอื่น
 

ให้มันสงบไปจนกว่ามันจะหายสงบ
ถาม: เมื่อทำสมาธิจนจิตสงบแล้ว ควรวางจิตหรือกำหนดจิตต่อไปอย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็วางจิตเหมือนเดิม ให้มันสงบไปนานๆ จะไปให้ทำอะไร ทำจิตให้สงบเพื่อให้มันสงบนานๆ พอมันสงบแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร คอยรักษาความสงบไว้ ถ้ามันจะคิดนู่นคิดนี่ก็หยุดมัน ถ้ามันคิดว่าจะเลิกนั่งแล้วก็หยุดมัน แล้วก็มานั่งต่อไป มันดีจะตายไปจะเลิกนั่งทำไม ถ้ามันสงบจริงมันไม่อยากจะลุกหรอก เหมือนกับดูหนังดีแล้วไม่อยากจะลุก ปวดฉี่มันยังไม่ยอมลุกเลย ฉันใด ก็อย่างนั้นแหละ เหมือนกับดูหนังไง นั่งสมาธิก็เป็นเหมือนดูหนัง ดูให้มันจบ นั่งสมาธิพอจิตสงบแล้วก็ให้มันสงบไปจนกว่ามันจะหายสงบ นั่นแหละถึงค่อยทำอะไรต่อไป
   

สติไม่ใช่สมาธิ
ถาม: การที่เรามีสมาธิหมายถึงการที่ใจเราไม่คิดเรื่องใดๆ เลยหรือเจ้าคะ หากเราคิดเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าอย่างนี้จะเรียกว่าสมาธิได้หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: ไม่ได้หรอก เรียกว่าสติ สมาธินี้คือฌาน ต้องเข้าฌาน ฌานมีอยู่ ๘ ระดับ ฌานขั้นที่ ๑ ยังมีความคิดได้อยู่แต่คิดในเรื่องที่เราบังคับให้คิด คือพุทโธพุทโธอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่า “ตรึกตรอง” ตรึกตรองอยู่กับพุทโธพุทโธ ไม่ใช่คิดถึงอาหารการกินขนมวิ่งเล่นเที่ยวที่นั่นที่นี่ไม่ใช่ ให้มันคิดอยู่กับเรื่องที่จะทำให้ใจสงบ พอเข้าฌานแล้วมันจะคิดแต่พุทโธพุทโธไป แล้วพอมันนิ่งสงบเต็มที่พุทโธก็หยุดความคิดต่างๆ ก็หายไปหมด เหลือแต่ตัวรู้อย่างเดียว แม้แต่ร่างกายบางทีก็หายไปด้วย นี่เรียกว่า “สมาธิ” ส่วนสติก็คือการควบคุมไม่ให้คิด ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ว่าเรากำลังจะทำอะไรเราก็อย่าให้มันคิด ด้วยการใช้พุทโธพุทโธไป หรือให้มันดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ให้มันอยู่กับงานที่เราทำ มันก็จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ นี่เรียกว่า “การฝึกสติ” แต่เรามักจะใช้คำสมาธิแทนสติกันเลยงงกันไปหมด อย่างภาษาไทยมันเป็นปัญหามาก เพราะเราไปใช้หลายความหมายด้วยกัน พอมาพูดมันก็เลยสับสนกันไป สติก็เลยกลายเป็นสมาธิไป ก็เลยคิดว่าได้สมาธิกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ เพียงแต่กำลังเจริญสติเท่านั้นเอง “เวทนา” ก็หลงไป แทนที่จะเป็นความรู้สึก ก็กลายเป็นความสมเพทไป นี่ภาษาไทยไปใช้หลายอย่างด้วยกัน มันเลยทำให้เวลาพูดธรรมะเลยไม่เข้าใจว่าพูดเรื่องอะไรกัน
   

ฌานกับสติ
ถาม: เรียนถามพระอาจารย์ เราควรจะมีฌานตลอดเวลาใช่ไหมคะ จะได้มีกำลังตัดกิเลสในชีวิตประจำวันได้ และการมีฌานตลอดวันกับการมีสติตลอดวันเหมือนกันไหมคะ
พระอาจารย์: ไม่เหมือนหรอก การมีสติก็ยังเป็นการสร้างฌานอยู่ สติเป็นตัวสร้างฌาน ถ้ามีสติต่อเนื่องก็สามารถมีฌานอย่างต่อเนื่องได้ งั้นจะว่าการมีสติเป็นการมีฌานก็ได้ แต่บางทีก็ยังไม่มี มีสติแต่จิตยังแวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ก็ยังไม่มีฌานอยู่ ต้องมีสติแบบที่ทำให้จิตไม่คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้เลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องเกิดจากเวลานั่ง เวลานั่งเราไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าเรายังเคลื่อนไหวยังทำอะไรอยู่ ถึงแม้มีสติมันก็ยังมีฌานไม่ได้ แต่หลังจากที่เรามีฌานอย่างชำนาญแล้ว เวลาออกจากฌานเรายังสามารถทำอะไรได้ด้วยการมีฌานอยู่ แต่ตอนที่ยังไม่มีฌานนี้ควรจะนั่งบ่อยๆ นั่งมากๆ แต่พอนั่งจนมีฌานมากแล้ว เวลาออกจากสมาธิยังมีฌานติดออกมาก็สามารถที่จะไปทำอะไรต่อได้
   

ธรรมะบนเขา
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 มิถุนายน 2563 10:16:52
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81877386859721_90385197_2808867825817817_8091.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23510487377643_102433957_3008943529143578_283.jpg)

อารมณ์ของจิตเมื่อเห็นความตาย ปล่อยวาง เป็นอย่างไรครับ
ถาม: อารมณ์ของจิตเมื่อเห็นความตายแล้ว ปล่อยวางจริงๆ เป็นอย่างไรครับ เมื่อสองสามวันนี้ได้ทราบข่าวมรณภาพของท่านพระอาจารย์สุดใจ ก็เลยพยายามใช้มรณานุสสติให้เจริญขึ้นในใจ จนอยากกราบเรียนถามพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ชัดรวบยอดอีกทีว่า อารมณ์เมื่อเห็นความตายเป็นเรื่องปกตินี้ มันเป็นอย่างไรครับ หรือเราต้องฝึกซ้อมเรื่อยๆ หากเราเจอโจทย์จริงๆ ที่ชัดกว่านั้น เช่น พ่อแม่เราเสียขึ้นมา เราถึงจะเจออารมณ์นั้นได้ที่จริงที่ละเอียด ที่นานๆ ยิ่งขึ้นไป เพราะรู้สึกว่าประโยชน์ของมรณานุสสติได้ประโยชน์สูงมากเลยครับ

พระอาจารย์: ก็คือเฉยไง เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา เราในที่นี้หมายถึงใจ เวลาร่างกายตายมันไม่ได้ไปทำให้ใจตายไปด้วย งั้นการที่เราปลงได้ ยอมรับความตายได้ ก็เท่ากับว่าเราปล่อยร่างกายได้ ถ้าปล่อยได้จริงๆ เวลาร่างกายเป็นอะไรเราจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเกิดอาการกลัวขึ้นมา เกิดเครียดขึ้นมา ก็ทดสอบดูสิ ลองไปอยู่ในที่น่ากลัวดู แล้วดูว่าใจจะกลัวหรือไม่ เช่น ไปอยู่ในป่าช้า ไปหาป่าช้าที่ไหนสักแห่ง ค่ำคืนลองเข้าไปนั่งสมาธิ ไปนอนที่นั่นสักคืนหนึ่งดู ดูว่าจะรู้สึกมีความกลัวไหม หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอยู่ในป่าที่มีสัตว์ร้าย อะไรทำนองนั้น ดูสิว่าจะมีความกลัวรึเปล่า ถ้าไปแล้วรู้สึกเหมือนกับอยู่ในบ้าน ก็แสดงว่าเราปลงได้



มหาสติปัฏฐาน ๔ คืออะไรครับ
ถาม: มหาสติปัฏฐาน ๔ คืออะไรครับ พระอาจารย์

พระอาจารย์: เป็นหลักสูตร วิธีปฏิบัติ สติ สมาธิ และปัญญา ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ควรจะไปศึกษาดู อ่านคำแปล อย่าไปอ่านคำบาลีเพราะคำบาลีนี้ เราไม่เข้าใจความหมาย แต่คนไม่เข้าใจ คิดว่าอ่านบาลีแล้วศักดิ์สิทธิ์กว่าอ่านคำแปล ความจริงนั้นเป็นการเข้าใจผิด คิดว่าอ่านบาลีแล้วได้อ่านคำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพราะอ่านคำแปลแล้วไม่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ใช่นะ คำสอนของพระพุทธเจ้านี้สอนเพื่อให้คนฟังเข้าใจ ไม่ได้สอนให้ได้ยินคำภาษาของพระพุทธเจ้า ให้เราอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พอเข้าใจแล้วเราจะได้รู้จักวิธีที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้อง ที่เราเรียกว่า “ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ” นี่เอง พอปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ “มรรคผลนิพพาน” ก็จะปรากฏตามลำดับต่อไป



พระอรหันต์ขณะมีชีวิตอยู่ยังต้องรับกรรมใช่ไหมเจ้าคะ
ถาม: พระอรหันต์ขณะมีชีวิตอยู่ ยังต้องรับกรรมใช่ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์: ท่านก็เป็นเหมือนคนทั่วไป ถ้ามีเหตุการณ์มีกรรมอะไรเข้ามากระทบ ท่านก็รับไป เพียงแต่ว่าต่างกันที่จิตใจของท่านไม่เดือดร้อนกับการรับวิบากกรรมของทางร่างกาย เช่น อาจจะโดนเขาด่า เช่น องคุลิมาลก็ถูกชาวบ้านคอยเอาก้อนหิน เขวี้ยงใส่เวลาชาวบ้านจำหน้าได้ว่า อ้อ ไอ้นี่เป็นองคุลิมาล เคยมาฆ่าคนในหมู่บ้านเขา พอเขาเห็นเข้าก็เลยไล่ ด้วยการใช้ก้อนหินเขวี้ยงใส่ ท่านก็ต้องรับกรรมไป พระโมคคัลลานะท่านก็ต้องถูกเขาฆ่าตายไป แต่ใจของท่านเฉยๆ เหมือนกับไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะท่านเห็นด้วยปัญญาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวท่าน ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์แหละ โยมขับรถไปใครเอาน้ำสาดใส่รถยนต์ ก็ปล่อยมันสาดไปสิ คนขับรถอยู่ในรถไม่ได้เปียกไปกับน้ำที่รถยนต์ถูกสาด ก็เป็นแบบนั้น ความทุกข์ทางกายไม่สามารถเข้าไปในใจของพระอรหันต์ได้



ตายอย่างไรไม่ให้ทุกข์ใจ
ถาม: ขอให้พระอาจารย์ช่วยชี้ความสงบให้ทุกคนที่ต้องตาย จะทำจิตอย่างไรก่อนตาย อย่างไรไม่ให้มีทุกข์ใจเมื่อจะต้องตายจากโลกนี้ค่ะ

พระอาจารย์: ก็นั่นแหละ ต้องหัดทำสมาธิให้ได้ หัดเจริญปัญญา ปลงให้ได้ ทำสมาธิก็ต้องหัด สวดมนต์ไป บริกรรมพุทโธไป หัดดูลมหายใจเข้าออกไป อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำได้ใจก็จะสงบ แต่จะสงบเป็นพักๆ ถ้าอยากจะให้ใจสงบอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจว่า ชีวิตของเรานี้มีต้นมีปลาย มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ตอนนี้เรากำลังถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เราจะอยากไปให้มันไม่ถึงไม่ได้แล้ว เราก็ไปกับมัน เหมือนกับนั่งรถ เมื่อรถมันจะพาเราไปสู่ป้ายสุดท้าย เราก็ต้องไปกับมัน อย่าไปทำอะไร ฝืนไม่ได้ ยิ่งฝืนยิ่งทุกข์ งั้น “ยอม หยุด เย็น” ยอมตายแล้วใจก็จะหยุดต่อต้านความตาย พอหยุดได้แล้วใจก็จะเย็นจะสงบ จะมีความสุข เหมือนท่านสุดใจ ท่านออกมานอกห้องไม่ได้ อาจารย์สุดใจท่านออกนอกห้องไม่ได้ ก็ต้องยอม นั่งสมาธิไป ท่านนั่งสมาธิได้ท่านก็นั่งสมาธิไป ใจท่านก็จะหยุดต่อสู้ หยุดหนีความตาย เห็นไหมร่างกายท่านไม่วิ่งไปเคาะ ไปอะไรต่างๆ ท่านก็นั่งไป ทำใจให้นิ่งให้สงบ พอหยุดได้ใจก็เย็นสบาย ร่างกายร้อนแต่ใจเย็น แปลกไหม


ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 กรกฎาคม 2563 15:06:28
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45868289470672_1_320x200_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22613370087411_2_320x200_.jpg)

พระนิพพานหมายถึงการดับของดวงจิตด้วยหรือเปล่าเจ้าคะ
ถาม: พระนิพพานคือการดับการเกิด และหมายถึงการดับของดวงจิตด้วยรึเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์: ไม่หรอก เป็นการดับของกิเลสที่มีอยู่ในจิต นิพพานนี้เป็นการดับของกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา ไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในจิต จิตไม่ได้ดับ จิตยังอยู่เหมือนเดิม จิตเหมือนเสื้อที่ได้รับการซักฟอกแล้ว พอเสื้อสกปรกเราก็เอาไปซัก พอซักเสร็จ อะไรหายไปล่ะ คราบสกปรกหายไป แต่เสื้อไม่ได้หายไป ฉันใดใจของเราก็มีคราบสกปรกคือกิเลสตัณหาติดอยู่ในใจของเรา พอเราปฏิบัติธรรมสำเร็จปั๊บนี่ คราบกิเลสที่ติดอยู่ในใจก็หายไปหมดเลย เราก็เลยเรียกใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหานี้ว่า “นิพพาน” นี่เอง



ไม่ได้อยู่ที่การสวด
ถาม: บทสวดมหาสมัยสูตร สามารถสวดที่บ้านได้ไหมครับ

พระอาจารย์: อย่างที่บอกแหละ มันสวดที่ไหนก็ได้ มันเป็นการปฏิบัติ เป็นการเจริญสติ สวดบทไหนก็ได้ มหาสมัยหรือไม่มหาสมัย อิติปิโสหรืออะไร ได้ทั้งนั้น ขอให้สวดแบบมีสติก็แล้วกัน คืออย่าปล่อยให้ใจคิดไปควบคู่กับการสวด ให้อยู่กับการสวดเพียงอย่างเดียว เพื่อทำใจให้นิ่งให้สงบเท่านั้นเอง อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ถามว่าที่เลือกได้ไหม ถ้าเลือกได้ก็ดี ก็คือต้องหาที่มันสงบจะดีกว่าที่ไม่สงบ ที่รอบข้างมีคนวุ่นวายนี้ ส่งเสียงอึกทึกครึกโครมมันก็ลำบาก แต่ถ้าไปอยู่ตามลำพังไม่มีเสียงไม่มีอะไรมารบกวน มันก็จะง่ายกว่า มันก็จะได้ผลดีกว่า ถ้าเลือกได้ก็เลือก ถ้าเลือกไม่ได้อยู่ที่ไหนสวดได้ก็สวดไป มันไม่ได้อยู่ที่สถานที่ อยู่ที่การสวดหรือไม่สวด



นั่งสมาธินานๆ ปวดชาควรทำอย่างไร
ถาม: นั่งสมาธินานๆ เริ่มสงบและเกิดความปวดชา ควรทำอย่างไรครับ ปฏิบัติอย่างไรถึงถูกทางหรือก้าวหน้าขึ้นครับ

พระอาจารย์: เวลานั่งสมาธิแล้วมันเริ่มเกิดอาการเจ็บหรือเกิดอาการชาขึ้นมา ถ้าอยากจะก้าวหน้าก็นั่งต่อไป เหมือนขับรถแหละ พอขับรถไปแล้ว รถมันเริ่มมีปัญหา เช่น ยางอาจจะแตก อย่างนี้ เราก็ต้องซ่อมยาง เสร็จแล้วเราก็ขับรถต่อไป อันนี้ทางปฏิบัติ เรื่องของอาการเจ็บชานี้เป็นเรื่องของร่างกายไม่ใช่เรื่องของจิตใจ เราก็ไม่ต้องไปสนใจมัน เราก็ภาวนาต่อไป ดูลมหายใจต่อไปหรือพุทโธต่อไป แล้วเดี๋ยวถ้าเราเกาะติดกับลมเกาะติดกับพุทโธได้ เดี๋ยวอาการเจ็บชามันก็จะหายไปเอง แล้วจิตเราก็จะสงบเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ



บริกรรมพุทโธแล้วมีความคิดอื่นเข้ามาแทรก
ถาม: ผมบริกรรมพุทโธแล้วมีความคิดอื่นเข้ามาแทรก ควรทำอย่างไรต่อไปดีครับ บางครั้งข่มจิตจนกลายเป็นความเครียดครับ

พระอาจารย์: อย่าไปข่มมัน เราก็ท่องพุทโธของเราไป อย่าไปข่มความคิด อย่าไปสนใจความคิด มันจะแทรกเข้ามาก็ปล่อยมันแทรก เหมือนเราขับรถล่ะ เราก็ขับของเราไป คนอื่นเขาจะแทรกเข้ามาบ้าง ก็ปล่อยเขาแทรกไป เราก็ขับของเราไป อย่าไปวุ่นวายไปกังวลกับการแทรกของคนอื่น ของความคิด ให้อยู่กับพุทโธพุทโธพุทโธไป แล้วเดี๋ยวความคิดที่คอยแทรกเข้ามามันก็จะน้อยลง เบาลงไป แล้วหายไปได้ในที่สุด



มีพระพุทธเจ้าเป็นเพื่อนดีกว่ามีเพื่อนไร้สาระเป็นหมื่นเป็นแสน
ถาม: บางทีพูดน้อยเกินไปไม่ค่อยมีเพื่อนเจ้าค่ะ แต่เขาพูดกันเรื่องไร้สาระ ส่วนใหญ่ เช่น เรื่องกินเรื่องเที่ยว เรื่องความรักแฟน บางทีก็ไม่รู้จะพูดอะไร สรรหาคำพูดไม่ถูกเจ้าค่ะ จะพูดเรื่องไร้สาระก็เหมือนเพื่อเชื่อมความเป็นมิตร ก็ไม่อยากทำเจ้าค่ะ ควรมีทักษะการพูดกับคนอื่นอย่างไรเจ้าคะ ให้มีเพื่อนมากแบบไม่อยากพูดไร้สาระ เหลวไหลเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: มีเพื่อนมากแต่เป็นเพื่อนที่ไร้สาระ ก็สู้อย่ามีดีกว่า งั้นอย่าดูจำนวน อย่าดูปริมาณ ให้ดูคุณภาพ มีเพื่อนคนเดียวที่ดีที่สุด มีพระพุทธเจ้าเป็นเพื่อนนี้ดีกว่ามีเพื่อนไร้สาระเป็นหมื่นเป็นแสน มีคนกดไล้ค์เป็นหมื่นเป็นแสน มีพระพุทธเจ้ากดไล้ค์คนเดียวพอ ท่านเคยสอนให้คบบัณฑิต อย่าไปคบคนพาล คนพาลก็คือคนโง่ คนไร้สาระ ให้คบบัณฑิตคนฉลาด คนที่มีแต่สารประโยชน์ต่างๆ


ละบาปสำคัญมากกว่าทำบุญ
ถาม: ขอคำชี้แนะคำว่าละบาปสำคัญมากกว่าทำบุญครับ

พระอาจารย์: เพราะว่าบาปนี้มันมีผลกระทบที่รุนแรงต่อจิตใจนั่นเอง สมมุติว่าตอนนี้เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราทำบาปนี้เราจะถูกเลื่อนลงไปจากการเป็นมนุษย์ ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือไปเป็นเปรต เป็นสัตว์นรก แต่ถ้าเราไม่ทำบาปปั๊บเราก็ยังรักษาสถานภาพของมนุษย์ได้ การทำบุญนี้เป็นเพียงการยกระดับให้สูงขึ้น เท่านั้นเอง จากมนุษย์ขึ้นไปเป็นเทพ ถ้าไม่ได้ทำบุญก็เป็นแค่มนุษย์ไปก่อน แต่ถ้าทำบุญก็จะได้ยกระดับขึ้นไปเป็นเทพ เป็นพรหมต่อไป เป็นพระอริยบุคคลต่อไป แต่เบื้องต้นนี้เราต้องอย่าทำบาปก่อน เพราะทำบาปก็เหมือนไปติดคุกนั่นเอง ถ้าเราไม่ทำผิดกฎหมายเราก็ไม่ต้องไปติดคุก ถึงแม้เราไม่ได้ไปทำบุญทำประโยชน์ ไม่ได้รับรางวัลจากสถานที่นั้นสถานที่นี้ แต่เราก็อยู่อย่างอิสระต่อไปได้ งั้นอย่าไปทำบาป แล้วพอเราไม่ทำบาปได้แล้ว ต่อไปถ้าเรามีโอกาสทำบุญได้เราก็ทำไป ถ้าอยากจะทำมันก็มีโอกาสแหละ เพราะบุญมันมีหลายชนิด มันไม่ได้เกิดจากการเสียสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองแต่เพียงอย่างเดียว การทำประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่นด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีการทำบุญที่เหนือกว่านั้นอีก คือการภาวนา การพัฒนายกระดับจิตใจให้สูงขึ้น อันนี้ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน



อารมณ์ของจิตเมื่อเห็นความตาย ปล่อยวาง เป็นอย่างไรครับ
ถาม: อารมณ์ของจิตเมื่อเห็นความตายแล้ว ปล่อยวางจริงๆ เป็นอย่างไรครับ เมื่อสองสามวันนี้ได้ทราบข่าวมรณภาพของท่านพระอาจารย์สุดใจ ก็เลยพยายามใช้มรณานุสสติให้เจริญขึ้นในใจ จนอยากกราบเรียนถามพ่อแม่ครูอาจารย์ให้ชัดรวบยอดอีกทีว่า อารมณ์เมื่อเห็นความตายเป็นเรื่องปกตินี้ มันเป็นอย่างไรครับ หรือเราต้องฝึกซ้อมเรื่อยๆ หากเราเจอโจทย์จริงๆ ที่ชัดกว่านั้น เช่น พ่อแม่เราเสียขึ้นมา เราถึงจะเจออารมณ์นั้นได้ที่จริงที่ละเอียด ที่นานๆ ยิ่งขึ้นไป เพราะรู้สึกว่าประโยชน์ของมรณานุสสติได้ประโยชน์สูงมากเลยครับ

พระอาจารย์: ก็คือเฉยไง เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา เราในที่นี้หมายถึงใจ เวลาร่างกายตายมันไม่ได้ไปทำให้ใจตายไปด้วย งั้นการที่เราปลงได้ ยอมรับความตายได้ ก็เท่ากับว่าเราปล่อยร่างกายได้ ถ้าปล่อยได้จริงๆ เวลาร่างกายเป็นอะไรเราจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเกิดอาการกลัวขึ้นมา เกิดเครียดขึ้นมา ก็ทดสอบดูสิ ลองไปอยู่ในที่น่ากลัวดู แล้วดูว่าใจจะกลัวหรือไม่ เช่น ไปอยู่ในป่าช้า ไปหาป่าช้าที่ไหนสักแห่ง ค่ำคืนลองเข้าไปนั่งสมาธิ ไปนอนที่นั่นสักคืนหนึ่งดู ดูว่าจะรู้สึกมีความกลัวไหม หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอยู่ในป่าที่มีสัตว์ร้าย อะไรทำนองนั้น ดูสิว่าจะมีความกลัวรึเปล่า ถ้าไปแล้วรู้สึกเหมือนกับอยู่ในบ้าน ก็แสดงว่าเราปลงได้



ทางเดินจงกรมที่ถูกต้องควรจะเดินทางไหนดีครับ
ถาม: ทางเดินจงกรมที่ถูกต้องควรจะเดินทางไหนดีครับ ตะวันออกตะวันตก หรือว่าทางเหนือทางใต้ครับ

พระอาจารย์: คือ ทางสายหลวงปู่มั่นนี้ เราให้ความเคารพกับคำสั่งคำสอนของท่าน ท่านแนะว่าควรจะเดินตามแนวตะวัน คือตะวันออกตะวันตก หรือเยื้องได้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้อย่างนี้ สลับกัน แต่อย่าเดิน เขาเรียกว่าอะไร ทานตะวัน อย่าเดินทวนตะวัน คืออย่าเดินตามเหนือใต้ อันนี้ก็ไม่มีใครกล้าถามว่าทำไม ก็เลยไม่มีใครรู้ ก็เพียงแต่รับทราบไว้ แล้วก็พยายามทำตามถ้าทำได้ เวลาทำทางจงกรมก็เอาเข็มทิศมาดู หรือดูดวงอาทิตย์ว่า ทิศตะวันออกทิศตะวันตกอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในกรณีจำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถกำหนดทิศได้ เช่น ไปอยู่ไปค้างคืนที่บ้านใครที่ไหนสักแห่งหนึ่งแล้วมันไม่มีที่เดิน ที่เดินที่เราจะเดินได้พอดีมันเป็นทิศเหนือทิศใต้ ก็เดินไปเถิดมันไม่เป็นไร เพียงแต่ว่าถ้าเราทำแบบถาวรทำแบบที่เรากำหนดทิศทางได้ ก็ลองเชื่อฟังครูบาอาจารย์ไป เท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญใหญ่โตอะไร ทำทางทิศตะวันตกเราก็ไม่เดิน ไม่รู้ทำไปทำไม บางคนทำทางจงกรมสวย น่าเดิน แต่ไม่ยอมเดินกันเนี่ย



อยู่กับผู้ที่เครียดมากมีวิธีรับมืออย่างไร
ถาม: ถ้าอยู่กับผู้ที่ชอบเครียดมาก บางทีเราทำอะไรนิดหน่อยเขาก็เครียด แล้วมาโวยวายใส่เรา มีวิธีรับมืออย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็ปล่อยวาง คิดว่าเขาเป็นเหมือนดินฟ้าอากาศก็แล้วกัน ดินฟ้าอากาศเดี๋ยวมันก็ร้อนเดี๋ยวมันก็ฝนตก เราก็ไปห้ามมันไม่ได้ เราก็ห้ามเขาไม่ได้ เขาเครียดก็เรื่องของเขา เราอย่าไปเครียดตามเขาก็แล้วกัน ถ้าเราเริ่มเครียดเราก็ใช้พุทโธๆ ของเราหยุดไป อย่าไปพยายามเปลี่ยนเขา เพราะเปลี่ยนไม่ได้ เราก็อย่าหนี ถ้าหนีไม่ได้ก็อย่าหนีถ้ายังต้องอยู่กับเขา เพราะบางทีอาจจะต้องทำงานร่วมกันหรือมีภารกิจร่วมกัน ก็ใช้พุทโธๆ รักษาความเครียดของเรารักษาใจเราไม่ให้เครียด แล้วก็อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะยิ่งจะทำให้เราเครียดขึ้นมาใหญ่



วิธีไม่ผูกใจเจ็บทำอย่างไรคะ
ถาม: พอดีอยากให้แม่เลิกผูกใจเจ็บกับคนค่ะ เลยบอกไปว่า ถ้าผูกใจเจ็บ ชาติหน้าเกิดมาก็จะเจอคนๆนี้อีกนะ ถ้าไม่อยากเจอให้เลิกผูกใจเจ็บ จะได้ไม่ต้องเจอกันอีก การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ถูก เหมาะสมหรือไม่คะ

พระอาจารย์: เราก็พูดไปแบบไม่รู้จริงอีกนั่นแหละว่า จะเจอหรือไม่เจอก็ไม่รู้ ต้องบอกว่านี่ เวลาเราโกรธใครนี้เรากำลังทำลายตัวเราเอง เหมือนกับเราเอามีดมาทิ่มแทงจิตใจของเรา เพราะความโกรธนี้เป็นเหมือนมีด เวลาโกรธแล้วใจเราร้อนลุกเป็นไฟขึ้นมา กินไม่ได้นอนไม่หลับ คนที่ถูกเราโกรธเขานอนหลับสบาย เขาไม่เดือดร้อน แต่ไอ้คนที่โกรธเขานี่ โอ๊ย กินไม่ได้นอนไม่หลับ งั้นเราต้องบอกให้เห็นโทษของความโกรธจะดีกว่า เพราะมันจะได้แก้ปัญหาได้ในปัจจุบันเลย พอเรารู้ว่า เอ๊ะ เรากำลังเอามีดมาทิ่มแทงจิตใจเรา เราจะได้หยุดทิ่มแทง เราก็หยุดโกรธเขา เท่านั้นเอง ให้อภัยเขาไป ถือว่าเป็นการใช้หนี้กันก็ได้ หรือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย บางทีมันลิ้นกับฟันมันก็ยังกัดกันได้ ขบกันได้อยู่ งั้นอาจจะมีเรื่องมีราวกัน อะไรก็อย่าไปถือสา มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว อย่ามาทุกข์ใจอีกชั้นหนึ่งให้โง่ไปเปล่าๆพูดง่ายๆ



ถ้าไม่อยากโง่กว่าหมาก็อย่าฆ่าตัวตาย
ถาม : เวลามีปัญหาชีวิตหรือต้องสูญเสียบุคคลจากชีวิตไป หนูจะเศร้ามากและหาวิธีทางออกโดยการฆ่าตัวเองตายทุกครั้ง หนูพยายามบอกจิตอย่างที่พระอาจารย์สอนว่า ตายไปก็ไม่หายทุกข์ ชาติหน้าเกิดมาก็ต้องทุกข์ แต่มันก็หยุดความคิดไม่ได้เลยเจ้าค่ะ มันเลยทำให้หนูท้อที่จะปฏิบัติต่อไป หนูควรทำอย่างไรดี

พระอาจารย์ : ก็ลองเปรียบเทียบเรากับหมาดูซิ หมามันทุกข์ยังไงมันก็ไม่ฆ่าตัวตายเลย เราที่คิดว่าฉลาดกว่าหมา แต่ไปฆ่าตัวตายนี้ก็แสดงว่าเราโง่กว่าหมาซิ ก็ถามตัวเราเอง เราอยากจะโง่กว่าหมาหรืออยากจะฉลาดกว่าหมา หมามันทุกข์ยังไงไม่เห็นมันฆ่าตัวตายเลย มีข่าวหมาฆ่าตัวตายไหม ไม่มีหรอก มีแต่คนฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายก็แสดงว่าโง่กว่าหมาแล้ว ถ้าเราไม่อยากจะโง่กว่าหมาเราก็อย่าฆ่าตัวตายเท่านั้นเอง



ต้องเป็นสติที่ไม่คิดปรุงแต่ง
ถาม: เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ทั้งวันด้วยการมีสติทำกิจการงานต่างๆ ถูกต้องไหมครับ

พระอาจารย์: ต้องเป็นสติที่ไม่คิดปรุงแต่ง คิดเท่าที่จำเป็น คิดเฉพาะกับงานที่เราทำ แต่ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ใช่ทำงานมีสติอยู่แต่ก็ยังไปคิดว่าเดี๋ยวจะไปทำอะไรต่อ เดี๋ยวจะไปพบคนนั้นคนนี้ต่อ ให้มันอยู่ในปัจจุบัน อย่าให้มันไปอดีตไปอนาคต ถึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่คิดได้ยิ่งดี ถ้ารู้เฉยๆ งานบางอย่างไม่ต้องคิดก็ทำไปโดยที่ไม่ต้องใช้ความคิด ก็หยุดความคิดให้ได้ถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมก็คือทำใจให้สงบ ใจจะสงบก็ต้องหยุดความคิดให้ได้



มีบาปในใจมีวิธีแก้ไขอย่างไรครับ
ถาม: เมื่อมีบาปในใจ เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรไม่ให้คิดถึงมันครับ

พระอาจารย์: ก็มีสองวิธี วิธีสติ ก็พุทโธพุทโธสู้กับมันไป วิธีที่สองก็คือปัญญา ให้ดูผลของบาปที่จะตามมาเพื่อให้เกิด “หิริโอตตัปปะ” ขึ้นมาความกลัวบาปขึ้นมา ถ้ารู้ว่าทำแล้วเดี๋ยวติดคุกนี่กล้าไปทำไหม ก็จะไม่กล้าทำ



มหาสติปัฏฐาน ๔ คืออะไรครับ
ถาม: มหาสติปัฏฐาน ๔ คืออะไรครับ

พระอาจารย์: เป็นหลักสูตรวิธีปฏิบัติ “สติ สมาธิ และปัญญา” ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพระภิกษุในสมัยพุทธกาล ควรจะไปศึกษาดู อ่านคำแปล อย่าไปอ่านคำบาลี เพราะคำบาลีนี้เราไม่เข้าใจความหมาย แต่คนไม่เข้าใจคิดว่าอ่านบาลีแล้วศักดิ์สิทธิ์กว่าอ่านคำแปล ความจริงนั้นเป็นการเข้าใจผิดคิดว่าอ่านบาลีแล้วได้อ่านคำพูดของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพราะอ่านคำแปลแล้วไม่เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ใช่นะ คำสอนของพระพุทธเจ้านี้สอนเพื่อให้คนฟังเข้าใจไม่ได้สอนให้ได้ยินคำภาษาของพระพุทธเจ้า ให้เราอ่านเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พอเข้าใจแล้วเราจะได้รู้จักวิธีที่จะปฏิบัติอย่างถูกต้องที่เราเรียกว่า “ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ” นี่เอง พอปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ “มรรคผลนิพพาน” ก็จะปรากฏตามลำดับต่อไป


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/53399813051025_3_320x200_.jpg)

ถาม ในขณะเราครองเพศคฤหัสถ์ หากเราปฏิบัติดีสามารถเป็นโสดาบันได้หรือไม่ครับ

พระอาจารย์ คือเป็นเพศอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ เหมือนกับคนที่จะไปจบปริญญาตรีโทเอกนี่ มันไม่ได้อยู่ว่าเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นคนรวยหรือเป็นคนจน มันอยู่ที่ว่าเรียนหนังสือตามที่เขากำหนดให้เรียนได้หรือเปล่า แล้วเรียนแล้วเอาไปสอบได้หรือเปล่า พอสอบได้มันก็ได้ปริญญากัน เหมือนกัน ทางธรรมก็แบบเดียวกัน ถ้าอยากจะเป็นโสดาบันนี้ ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือเปล่า แล้วปัญญาก็ต้องระดับที่ละสังโยชน์ ๓ ข้อได้หรือเปล่า ละสักกายทิฏฐิ ละวิจิกิจฉา ละสีลัพพตปรามาสได้หรือเปล่า นี่เป็นข้อสอบของผู้ที่ผ่านขั้นโสดาบันไป จะต้องมีศีลเพื่อสนับสนุนให้มีสติมีสมาธิ เมื่อมีสติสมาธิก็จะได้สนับสนุนให้เจริญปัญญา ให้มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เพื่อที่จะไปละสังโยชน์ทั้ง ๓ ข้อนี้ได้ ดังนั้นผู้ใดทำได้ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นผู้ครองเรือนหรือเป็นพระก็สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้กันทุกคน
ขอแนวคิดเพื่อเป็นกำลังใจให้มีความเพียร“


ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ โยมสวดมนต์นั่งสมาธิมาได้ต่อเนื่องระยะหนึ่ง แต่วันหนึ่งความรู้สึกกระตือรือร้นนั้นหายไป ทำได้ไม่ต่อเนื่อง อยากจะขอคำแนะนำหรือแนวคิดเพื่อเป็นกำลังใจให้มีความเพียร ให้ปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องค่ะ

พระอาจารย์: อยากจะมีกำลังใจก็มาฟังเทศน์ฟังธรรมของพระปฏิบัติใหม่ ฟังอยู่เรื่อยๆ แล้วมันจะเป็นเหมือนการชาร์จแบต ชาร์จกำลังใจให้กับเรา เพราะเวลาฟังธรรมนี้มันเหมือนกับท่านเอาตู้พระนิพพานออกมาโชว์สมบัติ เหมือนกับเศรษฐีที่เขามีเพชรมีพลอยมีสมบัติล้ำค่าเก็บไว้ในตู้ พอเขาเอาออกมาโชว์ เราเห็นปั๊บเราก็อยากได้ขึ้นมา พออยากได้ฉันทะก็มาทันที ฉันทะ วิริยะ ก็จะตามมา ครูบาอาจารย์ท่านถึงพยายามบังคับอบรมพระอยู่เรื่อยๆ สมัยที่อยู่กับหลวงตามหาบัว ยุคแรกๆ นี้ท่านว่างท่านไม่ค่อยมีญาติโยม ท่านจะเรียกพระมาอบรมทุก ๔, ๕ วันครั้งหนึ่ง ๔, ๕ วัน ก็เรียกมาฟังธรรม ช่วงที่ไม่ได้ฟังธรรมนี้เป็นเหมือนใบไม้เหมือนดอกไม้ที่มันขาดน้ำ พอมาฟังธรรมนี้เหมือนกับได้น้ำ พอกลับไปนี้ โอ้โฮ กลับไปเดินจงกรมได้เป็นชั่วโมง นั่งสมาธิได้เป็นชั่วโมง แต่ก่อนฟังธรรมนี่ โอ้โหย มันไม่มีกำลังใจ เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา ธรรมที่มากระตุ้นให้ใจเกิดฉันทะ วิริยะ คือธรรมอันวิเศษของพระพุทธเจ้ามันหายไป แต่พอมาฟังธรรม มาฟังผลของการปฏิบัติของท่าน มาฟังวิธีการปฏิบัติของท่าน มันก็ทำให้เราเกิดมีกำลังใจอยากที่จะทำต่อ ฉะนั้นพยายามฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ



ทำบุญกุศลอะไรได้บุญมากที่สุด
ถาม: วันพระทำบุญกุศลอะไรได้บุญมากที่สุดครับ

พระอาจารย์: วันไหนมันก็เหมือนกันแหละ บุญที่มากที่สุดก็ต้อง “การภาวนา” แต่การจะภาวนาได้มันก็ต้องรักษาศีลให้ได้ก่อน การจะรักษาศีลได้ก็ต้องทำบุญทำทานให้ได้ก่อน มันเป็นเหมือนขั้นตอนของการเรียนรู้หนังสือแหละ เรียนชั้นไหนจะได้ความรู้มากกว่ากัน ก็เรียนชั้นปริญญาเอกซิ แต่การจะไปเรียนปริญญาเอกได้มันก็ต้องผ่านปริญญาโท ปริญญาตรี ผ่านชั้นมัธยม ชั้นประถมก่อน ต้องไล่ขึ้นไปจากต่ำขึ้นไปหาสูงก่อน ทำบุญทำทานให้ได้ก่อน รักษาศีล ๕ ให้ได้ก่อน แล้วก็รักษาศีล ๘ รักษาศีล ๘ ได้ก็ไปปลีกวิเวกได้ ก็ไปภาวนาได้ ไปอยู่วัดได้ ไปนั่งสมาธิได้ อันนี้ก็ต้องเป็นไปตามกำลังของตน ถ้าไปภาวนาได้ก็ไปเลย ไม่ห้าม ไม่ต้องทำทานก็ได้ แต่ต้องรักษาศีล แล้วพอภาวนานี้เขารักษาศีล ๘ กันขึ้นไป


ธรรมะหน้ากุฏิ - พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 กรกฎาคม 2563 10:26:58

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/86086178074280_109927413_3103167219721208_855.jpg)

เพื่อนน้อยจะทำอย่างไรดีเจ้าคะ
ถาม: เพื่อนน้อยค่ะ ไม่ค่อยมีเพื่อน ทุกข์ใจเจ้าค่ะ จะทำอย่างไรดีเจ้าคะ

พระอาจารย์: ต้องแผ่เมตตาสิ คนไม่มีความเมตตาก็ไม่มีเพื่อน เท่านั้นเอง พวกที่มีความเมตตา พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย คำว่าเมตตานี่ไม่ใช่ให้ใช้สวดนะ สวดนี้ก็เรียกว่ายังไม่ได้แผ่เมตตา “สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ” นี้ “สัพเพ สัตตา อัพพะยาปัชฌา โหนตุ” อันนี้เป็นการสวดสอนวิธีแผ่ ก็ต้องแผ่ด้วยการกระทำ เวลาใครเขาทำให้เราโกรธก็ให้อภัย เวลาใครเขาเดือดร้อนก็ช่วยเหลือเขา เวลามีขนมนมเนยก็เอามาแบ่งกัน อย่ากินคนเดียว รับรองได้ว่าเดี๋ยวเพื่อนตามมาเยอะ ลองมีขนมแจกดูสิ มีขนมมีอะไรแจกเดี๋ยวคนนั้นคนนี้ ก็อยากจะเข้าหากัน งั้นต้องมีความเมตตา คนไม่มีเพื่อนนี่แสดงว่าขาดความเมตตา


ถ้าโลกใบนี้แตกจะเกิดอะไรขึ้นกับจิตที่ยังไม่พ้นสังสารวัฏ
ถาม: คุณแม่อยากกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ถ้าหากว่าโลกใบนี้แตกสลาย จะเกิดอะไรขึ้นกับจิตทั้งหลายที่ยังไม่พ้นสังสารวัฏเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ มันมีโลกอื่นที่มีมนุษย์อยู่ เพียงแต่เราติดต่อกับเขาไม่ได้ ในจักรวาลนี้มองขึ้นไปบนท้องฟ้าสิ มีดวงดาวกี่ดวง แต่ละดวงก็เหมือนพระอาทิตย์ดวงหนึ่ง พระอาทิตย์ก็มีบริวาร มีโลกแบบนี้อยู่ มันก็ต้องมีโลกที่มีมนุษย์อยู่ได้เยอะแยะไปหมด เราอาจจะเคยไปเกิดในโลกอื่นมาแล้วก็ได้ เพราะจิตเรานี้สามารถไปทั่วจักรวาลได้อย่างรวดเร็ว จิตเรานี้ไม่มีร่างกาย มันเลยเดินทางด้วยความคิด เพียงคิดมันก็ถึงแล้ว เพราะฉะนั้น เราอาจจะเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในโลกนั้นโลกนี้มาก่อน เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเป็นโลกนั้นโลกนี้ เท่านั้นเอง เพราะว่าโลกแต่ละโลกมันอยู่ห่างไกลกันจนไม่สามารถติดต่อกันได้ ก็เลยคิดว่ามีเราคนเดียวในโลกเดียวในโลกนี้ แต่ความจริงมีเยอะแยะไปหมด งั้นไม่ต้องกังวล



กลัวผีไหมครับ ต้องจำวัดองค์เดียว ไม่มีไฟฟ้าในกุฏิ
ถาม: สมัยพระอาจารย์บวชภิกษุใหม่ กลัวความมืด กลัวผีไหมครับ ต้องจำวัดองค์เดียว ไม่มีไฟฟ้าในกุฏิ ในวัดป่า

พระอาจารย์: โอ๊ย เราแก้มันมาตั้งแต่ตอนที่เราเป็นเด็กแล้ว ตอนเป็นเด็กเคยไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ ไปนอนแล้วมีเสียงกึกกั๊กๆ บนหลังคานี้ มันก็จำได้ว่าต้องสวดมนต์ไว้ เลยสวดอรหังสัมมา อิติปิโสไป สวดไปสักพักหนึ่ง ความกลัวก็หายไป ใจก็สงบไป หลังจากนั้นไม่ค่อยกลัว อยู่คนเดียวได้ นอนคนเดียวได้ ไปที่ไหน พอกลัวมันก็สวดมนต์ไป สวดมนต์ไปเพราะความกลัวมันเกิดจากความคิดของเราเอง คิดว่าเป็นนู่นเป็นนี่ เป็นผีเป็นอะไรต่างๆ พอเราหยุดคิดเท่านั้น เรามาพุทโธพุทโธสวดมนต์ไป มันก็ลืมไป มันก็หายไป งั้นเราจึงไม่ค่อยมีปัญหา เราอยู่คนเดียวมาตลอด เราไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ ตั้งแต่เด็กนี้ เขาเอาไปฝากอยู่กับคนนั้นอยู่กับคนนี้ เขาก็ให้เราอยู่คนเดียว ไม่มีใครมานอนเป็นเพื่อนเรา มันไม่มีหรอก เขาเรียกผีจริงไม่หลอก ผีหลอกไม่จริง ผีจริงก็คือดวงวิญญาณต่างๆ นี่ ตายไปแล้วเขาก็ไปตามบุญตามกรรมของเขาแล้ว เขาไปเป็นเทพเป็นพรหมเป็นอะไรของเขา ไปเกิดใหม่แล้ว นอกจากคนที่เขามีความผูกพันเรา ห่วงใยเราเขาก็อาจจะมาเข้าฝันเรา เท่านั้นเอง ยังรักอยู่ ยังคิดถึงเราอยู่ แต่เขาไม่มาทำร้ายเราหรอกเพราะเขารักเราเขาชอบเรา แล้วไอ้ผีที่หลอกนี้ไม่ใช่ผีจริงเพราะเราสร้างมันขึ้นมาเอง เราคิดขึ้นมาเอง ที่เราเรียกว่าผีหลอก โอ๊ย ผี..ไอ้โน่นผี ไอ้นี่ผี ได้ยินเสียงกึกกั๊กๆ ก็ผี ได้กลิ่นธูปขึ้นมาก็ผี บางทีคนข้างบ้านเขาจุดธูปไหว้พระ กลิ่นธูปมันเข้าจมูก บอกผีมาแล้ว มันไม่ใช่ผี มันกลิ่นธูปนะ งั้นอย่าไปปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นอะไรก็สักแต่ว่าได้กลิ่น อย่าไปปรุงแต่งว่าเป็นกลิ่นนู่นกลิ่นนี่ ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามันเป็นอย่างที่เราคิดขึ้นมา ไปปรุงแต่ง หลอกตัวเองนี่ เขาเรียกว่าผีหลอก ผีหลอกไม่จริง ผีจริงไม่หลอก



มานั่งภาวนาอย่างเดียว เป็นการเห็นแก่ตัวหรือไม่
ถาม: ชีวิตของเรายังต้องช่วยเหลือผู้คนอีกมากมาย จะมานั่งภาวนาอย่างเดียวไม่ได้เป็นการเห็นแก่ตัวหรือคะ

พระอาจารย์: ไม่เห็นแก่ตัวหรอก พระพุทธเจ้าเห็นแก่ตัวหรือเปล่า พวกเรานี้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธเจ้านี้จำนวนมหาศาล ไม่รู้กี่พันล้านคน เพราะการออกไปปลีกวิเวกของพระพุทธเจ้า ๖ ปี ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ไปปลีกวิเวก ท่านก็จะไม่บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่สามารถมาสอนมาช่วยพวกเราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ งั้นการที่เราไปปฏิบัติธรรม ไปปลีกวิเวกนี้เป็นเหมือนกับการไปเรียนหนังสือ ไปโรงเรียน ไปเรียนเพื่อให้จบ พอจบแล้วเราก็ค่อยมาสั่งสอนผู้อื่นต่อไป แล้วทำประโยชน์ได้มากกว่าผู้อื่นอีก คนที่ไม่ปฏิบัติธรรม ทำประโยชน์ได้ก็เพียงแต่ทางร่างกาย ทางข้าวของต่างๆ แต่ไม่สามารถที่จะช่วยผู้ที่ตกทุกข์ให้หายทุกข์ได้ แต่ผู้ที่มีธรรมะนี่แหละ จะเป็นผู้ที่ไปช่วยให้คนที่ทุกข์นี้หายทุกข์ ไม่ต้องฆ่าตัวตายได้



อาบัติสังฆาทิเสส เป็นเหตุให้ตกอบายไหมครับ
ถาม: นมัสการครับ พระที่มีกามราคะมากจนทนไม่ไหว เป็นอาบัติสังฆาทิเสสข้อแรก เป็นเหตุให้ตกอบายไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ตกหรอกเพราะว่ายังไม่ได้ไปทำบาปกับใคร อบายนี้ต้องเกิดจากการประพฤติผิดประเวณี แต่ถ้าไม่ได้ประพฤติผิดประเวณีนี่ก็ยังไม่ถือว่าตกอบาย



จะแยกได้อย่างไรว่าได้อัปปนาสมาธิหรือภวังค์จิต
ถาม: ช่วงที่นั่งสมาธิเกิดปีติบ่อยๆ แล้วไปต่อฌาน ๓ ถึง ๔ จะแยกได้อย่างไรว่าได้อัปปนาสมาธิหรือภวังค์จิต เพราะดับหมดทั้งทวาร ๕

พระอาจารย์: อ๋อ มันยังไม่หมด เหลือสักแต่ว่ารู้ จิตว่าง จิตเป็นอุเบกขา จิตมีความสุขมาก มันก็เข้าสู่ฌานที่ ๔ วิธีเข้าก็คอยดูลมหรือพุทโธไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องอะไรทั้งนั้น เรื่องฌานก็อย่าไปคิดว่า เอ๊ะ ตอนนี้เราอยู่ฌานไหนแล้ว ฌาน ๑ หรือฌาน ๒ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จิตมันก็ไม่สงบ ต้องไม่ให้มีความคิดอะไรเลย แล้วก็ต้องไม่มีความอยากให้มันสงบด้วย นั่งให้ดูลมไปอย่างเดียว ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่า ดูลมแล้วมันจะพาเราไปไหน พุทโธแล้วมันจะพาเราไปไหน ไม่ต้องไปสนใจ เหมือนกินข้าว เวลากินไม่ได้มานั่งคิดว่า “กูจะอิ่มเมื่อไหร่” ใช่ไหม กินเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวอิ่มมันบอกเราเอง “เอ๊ย พอแล้ว กินไม่ลง”



ดูลมหายใจเข้าออกไปถึงขั้นนิพพานไหมคะ
ถาม: การเฝ้าดูลมหายใจเข้าออก และเมื่อใจไปคิดอย่างอื่น ก็ดึงกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ พยายามฝึกดึงกลับให้ทันให้เร็ว ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพียงพอที่จะไปถึงขั้นนิพพานไหมคะ ถ้าไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง รบกวนพระอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: ก็เป็นทางผ่าน เราต้องมีความสงบก่อน ต้องมีสติดูลมหายใจเข้าออก จนทำจิตให้สงบนิ่ง จิตก็จะเกิดความสุขขึ้นมาแบบชั่วคราวไปก่อน แล้วถ้าเราอยากจะได้ความสุขแบบถาวรที่เป็นนิพพาน ต่อไปหลังจากที่เราได้ เราชำนาญในการเข้าสมาธิแล้ว ขั้นต่อไปเวลาเราออกจากสมาธิ เราก็มาศึกษาให้เกิดปัญญา พิจารณาศึกษาอริยสัจ ๔ ศึกษาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหยุดความอยากต่างๆ ที่ทำให้ใจของเรานี้วุ่นวาย พอความอยากต่างๆ ได้ถูกกำจัดด้วยปัญญาแล้ว ใจก็จะสงบอย่างถาวร ใจก็จะเป็นนิพพานขึ้นมา ฉะนั้นก่อนจะไปถึงขั้นปัญญาได้ ต้องผ่านขั้นสมาธิก่อน ต้องผ่านการเจริญสติ คอยควบคุมใจให้อยู่กับเรื่องเดียวก่อน เช่น เวลานั่งดูลมหายใจ ก็ให้อยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียวก่อน จนกว่าใจจะสงบ แล้วใจก็จะเกิดความสุขขึ้นมา แล้วก็ทำบ่อยๆ ทำให้มากขึ้นจนชำนาญ แล้วก็ขั้นต่อไปก็ไปเรียนเรื่องปัญญา เรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องไตรลักษณ์ เพื่อเอามาทำลายความอยากที่มาคอยทำลายความสงบ



ถืออุโบสถศีลแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต
ถาม: ถ้าถืออุโบสถศีลทุกวันพระ แต่มีอาชีพค้าขาย ต้องทำตัวแบบไหนได้บ้างเจ้าคะ และถ้าถืออุโบสถแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตในเวลาที่ถือศีล จะตกนรกไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ การถือศีลนี้มันอยู่ที่ว่าเราถือมามากถือมาน้อย แล้วก็เราทำบาปมามากมาน้อย มันไม่ได้อยู่ที่ว่า วันที่เราถือศีลแล้วตายไปแล้วเราจะไม่ตกนรก ถ้าเราทำบาปมาก่อนมาก แล้วเรามาถือศีลแค่ครั้งสองครั้ง มันก็ยังช่วยอะไรเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลเลยเพราะเราไม่รู้ว่าบุญกับบาปที่เราทำ ตอนที่เราตายนี้ อันไหนจะมีมากกว่ากัน ถ้าบุญมากกว่าบาปก็ไม่ไปนรก ไม่ไปอบาย ถ้าบาปมีมากกว่าบุญ มันก็ไป ถึงแม้ว่าวันนั้นจะถือศีลก็ตาม



พระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างกันอย่างไร
ถาม: พระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างกันอย่างไรคะ

พระอาจารย์: ตรัสรู้ธรรมเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้สั่งสอนใคร ไม่มีการแสดงธรรม ไม่มีการผลิตพระอริยสงฆ์สาวก ก็เลยมีแต่พระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว ก็เลยไม่มีพระพุทธศาสนาตามมา พระพุทธเจ้าของเราตอนต้นก็ไม่อยากจะสอนเหมือนกัน แต่พอมีท้าวมหาพรหมมาขอความเมตตา แล้วหลังจากใช้ปัญญาพิจารณาก็เห็นว่า นักเรียนนี่มี ๔ กลุ่มด้วยกัน เป็นพวกบัว ๔ เหล่า พวกที่ชอบเรียนก็มี พวกที่ไม่ชอบเรียนก็มี งั้นก็เลยเลือกสอนแต่พวกที่ชอบเรียน พวกชอบทำบุญทำทาน พวกชอบรักษาศีล พวกชอบภาวนา แต่พวกที่ชอบกินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่ก็ไม่สอน ตอนต้นที่ไม่ได้คิดว่าจะสอน ก็คิดว่าเป็นพวกชอบกินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่กันไปหมด ก็เลยไม่มีกำลังใจที่จะสอน เพราะพวกนี้สอนไม่ได้ สอนเขาก็ไม่ฟัง เขาไม่ปฏิบัติ นี่คือความแตกต่างระหว่างพระปัจเจกพุทธเจ้า กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ใจของท่านเหมือนกัน ได้นิพพานเหมือนกัน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพระปัจเจกไม่สร้างพระพุทธศาสนา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างพระศาสนา พวกเรานี่ต้องอาศัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสร้างศาสนาให้กับพวกเรา ถ้าไม่มีเราก็จะไม่วันรู้ทางสู่การหลุดพ้นได้



ควรอยู่กับลมมันจะพาเราเข้าสู่ความสงบ
ถาม: วันก่อนพระอาจารย์แนะนำว่า ให้เอาสติไว้กับลมหายใจไม่ให้ขาด ไม่ให้ทิ้งลมหายใจ โยมลองทำตามนะคะ รบกวนถามค่ะ ข้อแรกเป็นไปได้ไหมคะว่า พอกำหนดรู้ลมไปนานๆ กระแสที่เคยกราบเรียนบอกไปละเอียดกว่าลมค่ะ

พระอาจารย์: อ้าวถ้ามันเป็นดังที่คุณเป็นมันก็เป็นล่ะ มันอยู่ที่เหตุการณ์ความจริง มันจะละเอียดกว่าลมก็แล้วแต่มัน แต่เราควรจะเกาะติดอยู่กับลมดีกว่า กระแสที่ว่านี้ไม่รู้ว่าเป็นกระแสอะไร เดี๋ยวเกิดมันพาเราไปที่ไหนขึ้นมาเราก็อาจจะหลงทางได้ แต่ถ้าเราเกาะติดอยู่กับลม มันจะพาเราเข้าสู่ความสงบได้ ส่วนกระแสอย่างอื่นนี้ไม่แน่ เช่นตัวอย่างบางคนตามแสงสว่าง มีนิทานเล่าในวงปฏิบัติ สามเณรนั่งหลับตาแล้วก็เห็นแสงสว่างเป็นดวง ก็ตามแสงสว่างนั้นไป พอลืมตาขึ้นมาอีกทีอยู่บนยอดไม้นู่นแน่ะ งั้นระวังนะของพวกนี้ บางทีมันหลอกเราได้ หลอกพาเราไปที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไรได้ เกาะติดกับลมดีกว่า เพราะลมมันอยู่ที่ร่างกายเรา มันไม่พาเราไปไหนหรอก เราก็จะอยู่กับร่างกาย หรือเข้าสู่ความสงบเท่านั้น


ธรรมะหน้ากุฏิ - พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 07 สิงหาคม 2563 16:00:35
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33229229888982_116352568_3143727708998492_762.jpg)

ทำไมจิตเราถึงกลัวทั้งที่จิตเราไม่ได้ปรุงแต่ง
ถาม: ทำไมจิตเราถึงกลัว หวาดระแวง ทั้งๆ ที่จิตเราไม่ได้ปรุงแต่งคะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นอวิชชาฝังอยู่ในใจเรา ฝังว่าเรามีตัวมีตน พอเรามีตัวมีตนเราก็หวาดระแวง กลัวสิ่งต่างๆ จะมากระทบกับตัวของเรา ถ้าไม่อยากจะหวาดระแวงต้องพิจารณาว่าเราไม่มีตัวตน ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตก็ไม่ใช่ของเรา ร่างกายก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นธรรมชาติ จิตก็เป็นธาตุรู้ ผู้รู้เฉยๆ แล้วก็ไม่มีใครมาทำร้ายสิ่งเหล่านี้ได้ ดินน้ำลมไฟก็ทำร้ายไม่ได้ ทำลายไม่ได้ ธาตุรู้ก็ทำลายไม่ได้ ถ้ารู้ความจริงแล้ว ต่อไปจะไม่มีความหวาดกลัว



ไม่มีใครสามารถล้างบาปได้
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ การเปลี่ยนศาสนาพุทธไปศาสนาอื่น ทำให้กรรมที่ทำมาในอดีตหมดไปหรือเปล่าคะ และถ้าเปลี่ยนแล้ว บางศาสนามีล้างบาป เท่ากับว่าทำผิดแล้วล้างบาป ไม่ให้มีบาปติดตัว ถูกต้องหรือไม่คะ
พระอาจารย์: ตามกฎแห่งกรรมนี้ล้างไม่ได้นะ บาปทำไว้ ต้องชดใช้กรรม จะไปเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนศาสนา ตัดผมสั้นตัดผมยาว ไปบวชเป็นพระอย่างนี้ มันไม่เปลี่ยน กรรมเก่าที่ทำไว้ไม่ว่าจะเป็นบุญหรือบาปนี้จะต้องส่งผลต่อไป ดังนั้นไม่มีใครไปสามารถลบล้างบุญหรือบาปได้ นอกจากไม่ไปกระทำมันเท่านั้น ถ้าไม่อยากจะมีผลบาปก็อย่าไปทำบาป แต่บาปเก่าที่ทำแล้ว ไปล้างมันไม่ได้ มันต้องส่งผลวันใดวันหนึ่ง ช้าหรือเร็วเท่านั้น



สละชีวิตเพื่อพ้นทุกข์ได้ไหมครับ
ถาม: ตอนนี้ทุกข์ใจมากครับ สละชีวิตเพื่อพ้นทุกข์ได้ไหมครับ ลูกจะจบชีวิตเพื่อพ้นจากทุกข์จะเป็นการดีไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าไปฆ่าตัวตายนี้ มันก็ไม่พ้นทุกข์หรอกเ พราะมันไปสร้างทุกข์ให้มีมากขึ้น การฆ่าตัวตายเป็นบาป มันไม่ได้ทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด มันจะพาให้ไปเกิดในอบาย ในนรกต่อไป จะไปเจอกับความทุกข์มากกว่าตอนที่เป็นมนุษย์เสียอีก ทุกข์ของความเป็นมนุษย์นี้ยังน้อยกว่าทุกข์ที่จะเกิดจากการฆ่าตัวตาย งั้นห้ามฆ่าตัวตายโดยเด็ดขาด เพราะไม่ใช่เป็นวิธีหลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์ก็ไปบวชสิ ถ้าทุกข์มากๆ ก็ไปบวช แล้วก็ไปปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเดี๋ยวทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในใจก็หายไปหมดอย่างแน่นอน



ถ้าไม่มีสมาธิเราจะวางไม่ได้
ถาม: กิริยาอาการของจิต เช่น โกรธ เกลียด รัก ชอบ เขาเป็นธรรมชาติของเขาแบบนั้น ใช่ไหมคะ เราเห็นแล้วแค่วาง ใช่ไหมคะ เขาเป็นธรรมชาติของเขา ส่วนเราก็เป็นเรา คนละส่วนกัน ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: มันวางได้ก็ดีสิ ทีนี้มันวางไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธิเราจะวางไม่ได้ ต้องฝึกสมาธิ พอจิตสงบแล้วจิตจะวางของมันเอง เพียงแต่คิดว่าจะวางมันวางไม่ได้ เวลาโกรธใครแล้วนี่ จะบอก “โอ๊ย ไม่โกรธๆ” ไม่ได้หรอก เวลาโลภอยากได้อะไรนี้ใจสั่นตลอดเวลา แต่ถ้าฝึกสมาธิได้ ทำใจให้สงบได้ มันก็จะหายสั่น หายโกรธได้ ดังนั้นต้องพยายามฝึกสติฝึกสมาธิให้จิตเป็นอุเบกขา พอมีอุเบกขาแล้ว พอจะสั่งให้มันเฉย ก็จะเฉยได้



จะแก้ใจให้ไม่พัวพันกับศัตรูที่เราโกรธแค้นได้อย่างไร
ถาม: จะแก้ใจให้ไม่พัวพันกับศัตรูที่เราโกรธแค้นได้อย่างไรคะ พัวพันแล้ว กระแสจิตมันสื่อถึงกันได้ค่ะ อยากตัดให้มันออกจากชีวิตเราไปค่ะ
พระอาจารย์: ก็ทุกครั้งเวลาคิดถึงเขาก็ใช้สติหยุด ใช้พุทโธ ท่องพุทโธพุทโธไป แล้วพอใจสงบ ก็ใช้ปัญญาสอนใจว่า การจองเวรจองกรรมกัน ไม่ได้เป็นการระงับเวรกรรม การให้อภัยกันเป็นการระงับเวรกรรม เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คือด้วยการให้อภัย ก็ให้เราเห็นคุณค่าของการให้อภัยว่า จะเป็นการแก้ปัญหาให้มันยุติลงไปอย่างราบคาบ ถ้าเรายังไปจองเวรจองกรรมกันอยู่ เขาทำเรา เราทำเขา เดี๋ยวมันก็กลายเป็นแบบน้ำผึ้งหยดเดียว มันจะรุนแรงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ



ต้องมีสมาธิถึงจุดไหนถึงจะเข้าวิปัสสนาได้
ถาม: ต้องมีสมาธิถึงจุดไหนครับ ถึงจะเข้าวิปัสสนาได้ครับ
พระอาจารย์: คือวิปัสสนานี่เข้าได้ตลอดเวลานะ เพียงแต่ว่ามันเข้าแล้ว ทำได้นานเท่าไหร่ แล้วหยุดความอยากความทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าไม่มีสมาธิมันก็หยุดไม่ได้ ถ้ารู้ตอนนี้ว่าความทุกข์เกิดจากความอยากได้ตำแหน่ง มันก็ยังอยากอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าเข้าสมาธิจนจิตมีอุเบกขาวางเฉยได้ พอเกิดความทุกข์จากความอยากได้ตำแหน่ง พอรู้ว่าไม่ได้ก็ทำใจเฉยๆ ความทุกข์ก็จะหายไป



จิตมันไม่ส่งออกนอกแล้วทำอย่างไรต่อไป
ถาม: ขอโอกาสครับ ถ้าจิตมันไม่ส่งออกนอกแล้ว ไม่รู้อารมณ์ต่างๆ ภายนอกแล้ว เราจะดำเนินต่อไปอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ให้มันอยู่ภายในไปนานๆ แล้วถ้าภายในเกิดความคิดปรุงแต่ง ก็ต้องหยุดมัน อย่าให้มันคิด ให้มันรู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ แล้วมีอะไรให้รู้ก็ไม่ไปสนใจรู้ อะไรมาให้รับรู้ก็ปล่อยวางมัน อย่าไปปรุงแต่งว่ามันเป็นอะไรนะ รู้เฉยๆ



สติเราดีขึ้นเสียงต่างๆ ก็จะหายไป
ถาม: เวลาสวดมนต์อยู่ที่บ้าน ตอนสวดบางทีสวดมนต์ออกเสียง แล้วมันมีความคิดอีกความคิดหนึ่ง
พระอาจารย์: อย่าไปสนใจ ใหม่ๆมันแข่งกัน มันสลับกัน สวดปั๊บแล้วก็ไปคิดเรื่องนั้นต่อ แล้วกลับมาสวดได้ ตอนใหม่ๆก็อย่าไปกังวลกับเสียงที่มา ให้อยู่กับเสียงสวดมนต์ไปเรื่อยๆก่อน แล้วเดี๋ยวต่อไปสติเราดีขึ้น เสียงต่างๆก็จะหายไป
ถาม: อย่าไปสนใจใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ไม่ต้องไปสนใจ ใหม่ๆ มันยังแทรกเข้ามาได้อยู่ พยายามทำไปเรื่อยๆ ให้เกาะติดอยู่กับการสวดได้นานเท่าไหร่ ก็ต่อเนื่องมากเท่านั้น ความคิดต่างๆ ก็จะน้อยลงไป
ถาม: คือไม่ต้องหยุดใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ไม่ต้องหยุด สวดของเราไปเรื่อยๆ มันจะคิดก็อย่าคิดตามมันก็แล้วกัน ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องไปรับรู้



ไม่มีครูบาอาจารย์สอนโดยตรง จะเป็นบ้า จริงเท็จประการใด
ถาม: ดิฉันทำสมาธิจิตสงบได้สักพักแล้ว แต่ไม่มีครูบาอาจารย์สอนโดยตรง ทำตามหลวงปู่สอนในยูทูป เรียนถามพระอาจารย์ว่า มีคนพูดว่าเดี๋ยวก็เป็นบ้า ไม่มีคนสอนโดยตรง จริงเท็จประการใดคะ ขอพระอาจารย์เมตตาค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่หรอก ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ในรูปแบบไหนก็ได้ อย่างพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ต่อให้อยู่ใกล้เรา เกาะชายผ้าเหลืองของเรา แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่เราสอน เธอก็ไม่ได้อยู่ใกล้เรา เธอจะเป็นบ้าได้ แต่ถ้าถึงแม้เธออยู่ห่างไกลจากเราเป็นโยชน์ แต่ถ้าเธอนำคำสอนของเราไปปฏิบัติ ก็ถือว่าเธออยู่ใกล้เรา ดังนั้นการศึกษาไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งข้างหน้ากัน แล้วก็คอยจับมือกันเกาะกันไป ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วเราก็แยกไปปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติต้องแยก ต้องไปอยู่คนเดียว แล้วถ้าเกิดมีคำถาม มีความสงสัยก็มาถาม อย่างวันนี้ ได้ยินข่าวว่าถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ใกล้ชิดจะเป็นบ้านี่ ถามได้ ถามผ่านทางยูทูปก็ได้ เหมือนกัน สมัยนี้เรามีเทคโนโลยีทำให้เราไม่ต้องไปอยู่ต่อหน้ากัน อันนี้สามารถอยู่กันคนละซีกโลก ก็ยังคุยธรรมะกันได้ นี่ทุกคืนเราไปคุยธรรมะกับคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีซูม พอใช้ซูมไปสักพักเดี๋ยวนี้คนเมตตาซื้อซูมแบบเสียเงินให้ เมื่อก่อนนี้ใช้แบบฟรี ใช้ได้ทีละ ๔๐ นาที เดี๋ยวเขาจะตัด ทีนี้คนที่เขาสนใจเขารู้สึกว่าเสียรสเสียชาติ เขาเลยซื้อแบบไม่ต้องถูกตัดถวายทั้งปีเลย ทีนี้ก็คุยได้เป็นชั่วโมง ไม่มีการตัด



ทำใจว่ามันเป็นวิบากของเรา
ถาม: ทำไมบางทีเรามักจะไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกต้องอับอายขายขี้หน้าบ่อย ต้องแก้ไขอย่างไร แล้ววางใจอย่างไรเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องทำใจแหละว่ามันเป็นวิบากของเราก็แล้วกัน ที่จะต้องไปเจอเหตุการณ์เหล่านี้ เวลาเจอเหตุการณ์ก็พยายามทำใจเฉยๆ ไว้ พุทโธไป แล้วอาการอับอายขายหน้ามันก็จะไม่เกิด เรายอมรับว่า เรามีกรรมเป็นของของตน จะทำกรรมอันใดไว้ จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่อเราเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ถือว่าเป็นผลของการกระทำของเรา



ถือศีล ๘ ไปนวดได้หรือเปล่าครับ
ถาม: ถือศีล ๘ ไปนวดได้หรือเปล่าครับ
พระอาจารย์: ได้ ครูบาอาจารย์ท่านก็มีพระเณรไปนวด แต่อย่าไปนวดแบบที่เป็นกามก็แล้วกัน อาบอบนวดอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้านวดแบบแผนโบราณนั้นได้อยู่ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อปวดอะไรต่างๆ ก็นวดไปได้อยู่ แต่ถ้านวดเพื่อทำผิดทางกาม ประพฤติผิดประเวณีนี้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ท่านก็มีพระเณร คอยรับใช้คอยบีบเส้นให้อยู่เรื่อยๆ เพราะเส้นสายของคนแก่มันจะตึงง่าย แล้วตะคริวจะเป็นง่าย ก็เลยต้องคอยบีบคอยนวดให้มันคลาย ให้มันนุ่ม



ตราชั่งตรงศูนย์
ถาม: การทำสมาธิสลับกับการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาธิที่จิตรวมเป็นหนึ่งก่อนใช่หรือไม่ คือพิจารณาสลับไปสลับมาได้เลย ถึงแม้จิตยังไม่รวมก็ตาม
พระอาจารย์: ถ้าไม่รวมจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร การรวมของจิตนี้ เป็นเหมือนการทำตาชั่งให้อยู่ตรงศูนย์ ตรงอุเบกขา เวลาพิจารณาจะเที่ยงตรงเหมือนกับตาชั่ง ถ้าเอียงไปทางบวกหรือทางลบ เวลาเอาของไปชั่งน้ำหนัก จะไม่ได้น้ำหนักที่แท้จริง ถ้าของหนัก ๑๐ กิโลฯ แต่ตาชั่งเอียงไปทางบวก ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะหนัก ๑๑ กิโลฯ จะไม่ได้ ๑๐ กิโลฯ ถ้าลบ ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะได้ ๙ กิโลฯ ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่รวมเป็นอุเบกขา จะมีอคติทั้ง ๔ คือรักชังกลัวหลงอยู่ เวลาพิจารณาจะถูกอคติทั้ง ๔ นี้หลอกล่อ ทำให้ไม่สามารถตัดได้

ถาม: ถ้าได้เพียงขณิกสมาธิจะพอไหมครับที่จะมาพิจารณา
พระอาจารย์ : ก็พอได้ แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ถ้าเป็นขณิกะจะพิจารณาได้ไม่นานก็จะฟุ้ง ต่อไปเมื่อนั่งสมาธิชำนาญขึ้น ก็จะอยู่ในความสงบได้นานขึ้น เวลาพิจารณาก็พิจารณาได้นานขึ้น เหมือนเวลาพักผ่อน ถ้าพักผ่อนชั่วโมงหนึ่ง ออกมาทำงานก็อาจทำงานได้เพียงชั่วโมงเดียว ถ้าพักผ่อน ๘ ชั่วโมงก็จะทำงานได้ ๘ ชั่วโมง เวลาที่อยู่ในสมาธิจะเป็นตัวชี้ว่า จะทำงานทางด้านปัญญาให้เกิดผลได้มากน้อยเพียงไร

ถาม: ถ้าเช่นนั้นเวลาพิจารณา ถ้าออกนอกไตรลักษณ์หรือร่างกาย ก็ถือว่าฟุ้งซ่านแล้ว ต้องเข้ามาข้างใน
พระอาจารย์: ถูกแล้ว หลงทางแล้ว ต้องมองให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจังก็ได้ เห็นว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หรือจะพิจารณาด้านของความทุกข์ก็ได้ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ แล้วก็จะเห็นว่าทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะความอยาก อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ถ้าไม่มีความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย



ถ้าเป็นอกุศลก็ละเสีย
ถาม: ถ้าจิตไม่ยึดมั่นในกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่รับรู้กุศลกรรมและอกุศลกรรม เกิดขึ้นและผ่านไป ผลรับจะเป็นอย่างไรคะ
พระอาจารย์: อ๋อ เป็นไปไม่ได้หรอกถ้าไม่ได้เป็นพระ ถ้าเป็นปุถุชนนี้มันจะยึดติดกุศล อกุศล เพราะว่าจิตมันมีกิเลส มันไม่ปล่อยวาง วางเฉยโดยตัวของมันเอง ฉะนั้นคอยสังเกตดู ถ้าเป็นกุศลก็ยึดติดไว้ก่อน ไม่เสียหาย ถ้าเป็นอกุศลก็ละเสีย ให้ละอกุศล แล้วก็สร้างกุศลให้ถึงพร้อม



มันเป็นอนัตตา
ถาม: ไม่ว่าอาการใดๆ ของจิตเกิดขึ้น แล้วกลับมาที่พุทโธ หรือว่าไม่ให้อาการใดเกิดขึ้น จ่ออยู่กับพุทโธอย่างเดียว
พระอาจารย์: คือมันจะเกิดไม่เกิดเราไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา แต่เราทำได้ก็คือให้อยู่กับพุทโธไป แล้วใจของเราจะไม่หวั่นไหว ใจของเราจะสงบ ใจของเราจะวางเฉยได้


ธรรมะหน้ากุฏื
ฌเย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 สิงหาคม 2563 15:16:26
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/83099060008923_117175560_3167742036597059_344.jpg)

มีบริวารมากๆ ทำอย่างไรคะ
ถาม: อยากทราบว่าเราต้องทำกรรมอะไร ถึงจะมีบริวารมากๆ ไม่ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยวเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย สัพเพ สัตตา ไง ต้องมีความเมตตา ไม่จองเวรจองกรรมผู้อื่น อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อะนีฆา โหนตุ ไม่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้อื่น สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ให้ความสุขแก่ผู้อื่น ถ้ามีความเมตตาแล้วจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย หลับก็สุข ตื่นก็สุข นอนหลับก็ไม่ฝันร้าย จะไม่ตายด้วยอาวุธหรือยาพิษ นี่คืออานิสงส์ของการมีความเมตตา



ไม่ใช่ทดแทนบุญคุณที่หลุมศพ
 ถาม: ตามประเพณีของคนจีน ไหว้บรรพบุรุษเผากระดาษเงินกระดาษทอง บรรพบุรุษได้รับไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นการสอนผู้ที่อยู่มากกว่า สอนให้ผู้ที่เป็นลูกหลานให้มีความเคารพ ให้มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ผู้ที่อยู่ผู้ที่เป็นผู้สูงอายุก็ไปทำบุญให้กับผู้ตาย เป็นการสอนให้สำนึกถึงพระคุณของผู้ที่มีพระคุณและให้ตอบแทน เพียงแต่ว่ายังทำไม่ถูก ที่ว่าไปตอบแทนตอนที่เขาตายแล้ว ควรจะตอบแทนตอนที่เขายังอยู่ คือตอนที่พ่อแม่อยู่นี่ควรจะเลี้ยงดูพ่อแม่ให้ดี ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ อย่าทอดทิ้งอย่าปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวรอให้เขาตายก่อนแล้วค่อยไปทดแทนบุญคุณที่หลุมศพ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ถูกวิธี และการเผาอะไรต่างๆ นี้ก็เป็นการสอนคนอยู่ว่า นี่แหละเวลาตายไปข้าวของที่เราได้มา ถ้าเราอยากจะให้มันติดตัวเราไป เราก็ต้องเอาไปทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วเดี๋ยวรถก็จะตามเราไป บ้านก็จะตามเราไป คือรถทิพย์ไง บ้านทิพย์ อะไรต่างๆ ถ้าเราทำบุญแล้ว เวลาเราอยู่ในโลกทิพย์ เราจะใช้การเนรมิตหรือใช้อำนาจของบุญนี้เป็นเครื่องมือเนรมิต อยากได้อะไรก็เนรมิตขึ้นมา อยากได้แฟนสวยๆ หล่อๆ ก็เนรมิตขึ้นมา อยากจะได้รถเก๋งรถเบนซ์อะไรก็เนรมิตขึ้นมาได้ ชาวจีนเขาเลยเอาของพวกนี้มาเผา บอกว่านี่ของพวกนี้จะเอาติดตัวไปได้ต้องเอาไปทำบุญ แต่เขาไม่เข้าใจกัน เขาคิดว่าเผาพวกกระดาษนี้แล้ว พวกกระดาษนี้ก็จะกลายเป็นรถทิพย์ กลายเป็นบ้านทิพย์ไป แต่ความจริงมันต้องเกิดจากการทำบุญ ทำบุญแล้วเราก็จะมีของทิพย์ติดไปกับเรา



ทำอย่างไรถึงจะหายเป็นคนที่มีอารมณ์โกรธบ่อยๆ
 คำถาม: กลับนมัสการเจ้าค่ะ ทำอย่างไรถึงจะหายเป็นคนที่มีอารมณ์โกรธบ่อยๆ เจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็มันพุทโธๆ ไว้หนึ่ง สองอย่าไปหวังอะไรจากใคร ความโกรธจากความผิดหวัง ต้องการอะไรแล้วไม่ได้ดังใจก็โกรธ แต่ถ้าเราไม่ต้องการอะไร สันโดษ ยินดีตามมีตามเกิดเขาจะให้อะไรเราก็เอา เขาไม่ให้เราก็เอา เขาจะดีกับเราก็ดี เขาไม่ดีกับเราก็ดี ถ้าอย่างนี้เราก็จะไม่โกรธ แต่ถ้าเรามั่นหมายว่าเขาจะต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ให้เรา พอเขาไม่ทำให้เราเราก็โกรธน่ะสิ เท่านั้นเอง ใจเรายังมีความอยากมากความยึดมั่นถือมั่นมาก ฉะนั้นต้องพยายามเปลี่ยนทัศนคติของเราให้ยินดีตามมีตามเกิด อย่าไปอยากอย่าไปหวังอะไรจากใคร อยากจะได้อะไรก็หาเองทำเอง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี อย่างนี้มันก็จะไม่โกรธใคร ถ้ายังทำใจไม่ได้ ตอนที่โกรธก็หยุดมันด้วยพุธโธๆ ไป เพราะมันไม่ใช่เป็นของง่ายที่จะเลิกความโกรธได้ทันทีทันใด อย่างน้อยก็ให้มีไฟมาดับความโกรธ มีสติมาคอยหยุดมัน พอโกรธแล้วก็พุทโธๆๆ ท่องไปในใจ อย่าไปคิดถึงคนหรือเรื่องที่ทำให้เราโกรธ แล้วเดี๋ยวสักพักนึงความโกรธก็จะหายไป



สิ่งที่ปรากฏมันเป็นไตรลักษณ์
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ นั่งสมาธิไปสักหนึ่งชั่วโมง เกิดอาการรู้สึกว่ามีอีกหนึ่งตัวหลุดออกมาจากร่างกายที่นั่งอยู่ หันกลับไปมองรู้สึกได้ว่า ที่นั่งอยู่เป็นตัวเรา แต่ที่ยืนอยู่ข้างนอกเป็นตัวเราจริงๆ ตกใจมาก จึงลืมตาก็พบว่าตัวเองนั่งอยู่ที่เดิม กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า สิ่งที่เกิดคืออะไร และควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป
พระอาจารย์: อ๋อ ก็เสียสติไง เสียสติ ไม่อยู่กับลมหายใจ ไม่อยู่กับพุทโธ พอเกิดอะไรปรากฏขึ้นมาก็ไปตามรู้ทันที ต้องพยายามยึดพุทโธหรือยึดลมหายใจ แล้วก็ให้ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏมันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่ได้เป็นของจีรังถาวร เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็ดับไป ตอนนั่งสมาธินี้เราไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้ แต่เราห้ามมันไม่ได้ถ้ามันจะเข้ามา เหมือนเดี๋ยวนี้ เวลาเข้าไปทำซูมนี่ พวกแฮกเกอร์มันชอบเข้ามา ห้ามมันไม่ได้ ก็อย่าไปสนใจมัน หรือลบมันออกไปได้ก็ลบมันออกไป มันเข้ามาเปิดเสียงดัง โป้งเป้งๆ อะไร รบกวนการสนทนากัน นั่งสมาธิก็เหมือนกัน เดี๋ยวจิตก็มีอะไรปรากฏขึ้นมา มีของแปลกๆ ของที่เราไม่เคยเห็นปรากฏขึ้นมา ก็อย่าไปสนใจ พอรู้มันเกิดขึ้นมาปั๊บ พอไปรับรู้ปั๊บก็กลับมาที่ลมต่อ กลับมาที่พุทโธต่อไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะไม่มาสร้างปัญหาให้กับเรา ถ้าเราไปตามรู้เดี๋ยวเราคิดปรุงแต่งเป็นนู่นเป็นนี่ขึ้นมา เดี๋ยวตกอกตกใจขึ้นมา เดี๋ยวต้องลืมตาออกจากสมาธิกัน ขอให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราเห็นในจิตนี้เป็นมายา เป็นเหมือนภาพยนตร์ มันทำอะไรเราไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่ไปสนใจมัน ไม่ไปเล่นกับมัน ไปจริงจังกับมัน เหมือนเราดูหนังแหละ เรารู้ว่าคนที่อยู่ในจอหนังมันออกมาทำร้ายเราไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราไปจริงจังกับมันเราก็กลัวมัน ใช่ไหม กลัวมันจะมาทำร้ายเรา


ธรรมะหน้ากุฏื
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
700 (650)


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 กันยายน 2563 19:00:20
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75172042018837_118192505_3230658370305425_590.jpg)

พระที่สุปฏิปันโน ท่านบอกผู้หญิงจะจับท่านได้ก็ตอนที่ท่านตายเท่านั้น
ถาม: เวลาพระท่านปวดเมื่อยร่างกาย แต่เวลาตอกเส้นให้ หมอเป็นผู้หญิงตอกเส้นให้ได้ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ไม่ได้หรอกถ้าเป็นผู้หญิงจับต้องตัวพระไม่ได้ ต้องใช้ผู้ชาย แต่สมัยนี้พระบางรูปท่านก็อนุโลม ท่านบอกว่าไม่เป็นไร รักษาพยาบาล แต่ถ้าเป็นพระที่สุปฏิปันโน ท่านบอกไม่ได้ ผู้หญิงจะจับท่านได้ก็ตอนที่ท่านตายเท่านั้น นอกนั้นแล้วท่านไม่ยอมให้แตะต้อง แม้แต่จะมาฉีดยาให้ มาวัดปรอทให้ อะไรก็ตาม พระปฏิบัติจึงไม่ค่อยอยากจะเข้าโรงพยาบาล เพราะว่าท่านจะไม่สามารถรักษาที่ไหนได้ เพราะตามโรงพยาบาลเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพระต้องมาเคร่งแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเป้าหมายอยู่ที่การที่จะทำให้มีกามารมณ์ แต่มันไม่รู้ทำไมธรรมชาติของใจของพระที่ยังมีกิเลสอยู่ ถึงแม้ไม่สบายลองผู้หญิงแตะต้องดูซิ กิเลสมันตื่นขึ้นมาทันที ที่ท่านต้องการป้องกันก็คือไม่ต้องการให้กิเลสมันตื่น พอมันตื่นแล้วเดี๋ยวมันมาพ่นพิษใส่จิตใจของพระ เดี๋ยวผ้าร้อน เดี๋ยวจะรักษาพยาบาลหายก็จะสึกไปเลย ดีไม่ดีเดี๋ยวก็ไปกับพยาบาลนั่นแหละ



จะบรรลุโสดาบันต้องมีศีลบริสุทธิ์พียงใด
ถาม: ขอเรียนถามพระอาจารย์ว่า ผู้ปรารถนาจะบรรลุโสดาบัน ต้องมีศีลบริสุทธิ์พียงใด ถึงจะนับว่าศีลบริสุทธิ์ จนเอื้อให้บรรลุโสดาบันได้ครับ
พระอาจารย์: ก็ศีล ๕ เป็นพื้นฐาน ส่วนถ้ามีศีล ๘ ได้ก็จะบรรลุได้เร็วขึ้น ถ้าศีล ๕ ก็อาจจะช้า แล้วแต่ว่ามีปัจจัยอย่างอื่นอีกหรือเปล่า เช่น ถ้ามีสมาธิอยู่แล้ว ถือแค่ศีล ๕ ก็ได้ มันก็บรรลุได้ แต่ถ้ายังไม่มีสมาธิ อาจจะต้องถือศีล ๘ เพื่อมาช่วยสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน ถ้ามีสมาธิแล้ว ทีนี้ก็สามารถที่จะไปเจริญปัญญา เพื่อให้บรรลุได้



ภพภูมิต่างๆ อยู่ในโลกนี้ด้วยกันหรือไม่ครับ
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า ภพภูมิต่าง ๆ นั้น อยู่ในโลกนี้ด้วยกันหรือไม่ครับ หรืออยู่ในโลกจักรวาลอื่น แล้วการเปลี่ยนภพภูมิสามารถตั้งเป้าหมายไว้ได้ไหมครับ
พระอาจารย์: ภพภูมินี้มันอยู่ในโลกทิพย์นะ โลกทิพย์นี้มันไม่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนโลกที่เราอยู่ ของร่างกาย ร่างกายนี้มันโลกธาตุ โลกที่ทำมาจากธาตุ ๔ เป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เราจับต้องได้ แต่โลกทิพย์นี้มันเป็นโลก เหมือนโลกของความฝัน ตอนเวลาเรานอนหลับนี้เราจะเข้าไปในโลกทิพย์กัน แล้วเราก็จะฝันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฝันดีบ้าง ฝันไม่ดีบ้าง นั่นแหละคือโลกทิพย์ของเรา พอเราตื่นขึ้นมาเราก็กลับเข้ามาสู่โลกธาตุใหม่ เวลานอนหลับเราก็แยกออกจากโลกธาตุไปชั่วคราว งั้นการนอนหลับนี่ก็เป็นเหมือนการตายชั่วคราว พอตายจริงเราก็จะไปอยู่ในโลกทิพย์ โลกของความฝัน ฝันดีฝันไม่ดี ฝันดีเราก็เรียกว่าสวรรค์ ฝันไม่ดีก็เรียกว่าอบาย จนกว่ากำลังที่พาให้เราฝันนี้หมดกำลังลง เราก็จะมาเป็นมนุษย์ด้วยการคลอดออกมาจากท้องแม่ มาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ นี่พอเราออกจากท้องแม่ก็ลืมตาขึ้นมา โอ๊ย เมื่อกี้ฝัน ฝันไม่รู้กี่ปีกี่หมื่นปีกี่พันปีก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีเครื่องวัดเวลา เวลาเรานอนหลับฝันนี้ ไม่มีนาฬิกาบอกว่าฝันกี่ชั่วโมง จะรู้ว่าฝันนานหรือไม่นาน ก็ตอนที่ตื่นขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าตอนที่เกิดมานี้ ไม่รู้ว่าคราวที่แล้วที่เราตายไปนี้ไม่รู้กี่ร้อยปีผ่านมาแล้วก็ได้



การสมาทานนี้มันสมบูรณ์ตั้งแต่เราสมาทานแล้ว
ถาม: ผมมีเรื่องเรียนถามครับ ผมสมาทานศีล ๕ จะรักษาไว้ให้ได้ตลอดชีวิต แต่เมื่อวันหนึ่งสามารถทำได้ถึงระยะที่เราไม่พลั้งเผลอในการละเมิดศีลแล้ว โดยไม่ต้องระวัง ก็ไม่ละเมิด ถือว่าการสมาทานศีลนั้นสมบูรณ์ใช่ไหมครับ ควรทำอย่างไรต่อไปให้เจริญก้าวหน้าในธรรมต่อไปครับ
พระอาจารย์: อ๋อ การสมาทานนี้มันสมบูรณ์ตั้งแต่เราสมาทานแล้ว มันอยู่ที่การรักษาศีลต่างหากที่จะสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ การสมาทานก็เป็นเพียงการตั้งเจตนาว่า ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ อันนี้เป็นเจตนาความตั้งใจ ทีนี้จะสำเร็จไม่สำเร็จก็อยู่ที่การรักษา ถ้าเรารักษาได้ก็ถือว่าเราสำเร็จ เท่านั้นเอง ทีนี้เราจะไปรู้ว่าสำเร็จได้ยังไง ถ้าเรายังไม่ตาย เดี๋ยวพรุ่งนี้เราอาจจะอยากไปกินเหล้าขึ้นมาก็ได้ หรืออยากจะขโมยทรัพย์ของผู้อื่นขึ้นมาก็ได้ เราก็ไม่ต้องไปสนใจว่าจะเป็นอย่างไร ให้เราดูในปัจจุบันก็แล้วกันว่า ตอนนี้เรารักษาศีล ๕ ได้อยู่รึเปล่า ถ้ารักษาได้ก็รักษาไปเรื่อย ๆ ถ้ารักษาไม่ได้ก็พยายามแก้ไข ถ้าขาดบ้างก็รู้ว่าตอนนี้เราขาด ก็ไม่เป็นไร ก็กลับมารักษากันต่อได้ ก็รักษาไปเรื่อย ๆ



ผูกพันกับแมวตายไปจะเกิดเป็นแมวไหมคะ
ถาม: การที่เราเลี้ยงแมว มีความผูกพัน เรามีโอกาสเกิดเป็นแมวไหมคะ โดยที่ในชาตินี้โยมรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ พยายามมีสติระลึกรู้ตัวท่องพุทโธอยู่ ขณะตายจะมีโอกาสเกิดเป็นแมวไหมคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าไม่ทำบาปไม่ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถึงแม้จะอยู่กับสัตว์เดรัจฉาน  จะรักมันยังไงก็ตาม ไม่ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าไม่รักษาศีลทำบาป ถึงแม้เกลียดสัตว์ มันก็ไปเป็นสัตว์อยู่ดี



วิธีให้มารดาคลายความเจ็บปวดจากมะเร็ง
ถาม: มารดาป่วยเป็นมะเร็งค่ะ ขอพระอาจารย์ช่วยบอกวิธีให้มารดาคลายความเจ็บปวดจากมะเร็งได้อย่างไรคะ
พระอาจารย์: อ๋อ มะเร็งนี่เป็นเรื่องของร่างกาย ความทุกข์นี้มีอยู่ที่ใจ ใจนี้สามารถไม่ทุกข์กับความเป็นมะเร็งได้ ด้วยการยอมรับว่าร่างกายเป็นสิ่งที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา เมื่อมันเป็นมะเร็งก็ปล่อยมันเป็นไป เราอย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปอยากให้มันเป็นอย่างอื่น เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้มันเป็นอะไรก็ต้องให้มันเป็นไป ทำได้ก็รักษาไป รักษาได้อาจจะหายก็หาย ไม่หายก็ไม่หาย แต่ใจเราจะไม่ต้องทุกข์กับมันได้ ถ้าเราอย่าไปอยากให้มันหาย มันเป็นก็ปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยวางร่างกาย ถ้าปล่อยไม่ได้ก็สวดมนต์ไป พุทโธไป ทำใจให้ลืมถึงโรคมะเร็ง แล้วมันก็จะหยุดความอยากได้ชั่วคราว ใจก็จะสบายเป็นพัก ๆ ไป



กำหนดลมหายใจอย่างไรเวลาทำอานาปานสติ
ถาม: เราควรกำหนดลมหายใจอย่างไรเวลาทำอานาปานสติเจ้าคะ รู้สึกว่าการทำสมาธิไม่ค่อยก้าวหน้าเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ลมเราไม่ต้องไปกำหนดหรอก มันหายใจยังไง อย่างตอนนี้มันหายใจยังไงก็ปล่อยมันหายใจไป เราเพียงแต่มาดูลม มาดูมันเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปกำหนด ลมนี้ไม่ต้องไปบังคับให้ลมหายใจสั้นหายใจยาว หายใจเข้าหายใจออก กำหนดลมก็คือกำหนดจิตให้มาดูลม เท่านั้นเอง ลมจะหายใจยังไง ก็ปล่อยมันหายใจไปตามปกติของมัน ตอนนี้มันหายใจยังไงก็ปล่อยมันหายใจไป เราก็เพียงมาดูว่า ตอนนี้มันหายใจเข้าหรือหายใจออก มันสั้นหรือมันยาว มันหยาบหรือมันละเอียด ก็ดูมันไปเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปกำหนด ไม่ต้องไปบังคับตัวลม เราต้องการบังคับใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ โดยอาศัยการดูลมเป็นตัวดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดนั่นเอง



คุณธรรม ๔ ประการของคนมีครอบครัว
หลวงพ่อ : ไม่เคย  ไม่ต้องมีหรอก ก็ดูครอบครัวคนอื่น ดูพ่อแม่เราก็เห็นแล้วไม่ต้องดูคนอื่น แต่มันอาจจะเป็นเรื่องของจริตนิสัยก็ได้ที่ไม่มีครอบครัวเพราะว่ามันอาจจะมันไม่มีความจำเป็นจะต้องมี และมันอาจจะเห็นว่ามันยุ่งยากมากกว่า อันนี้แล้วแต่ ความรู้ของแต่ละคน บางคนก็มองไม่เห็นทุกข์ ก็เห็นว่าการมีครอบครัวมีความสุข เขาก็มีครอบครัวกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าการมีครอบครัวมีความสุข ดีกว่าอยู่คนเดียว ซึ่งในระดับหนึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น มีครอบครัวก็มีคนนั้นคนนี้มาอยู่ร่วมกันก็ไม่เหงา ช่วยกันดูแล ช่วยกันปกป้องรักษา ถ้าอยู่คนเดียวนี้มันก็อาจจะเป็นเป้าของผู้ไม่หวังดีก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงนี้อยู่คนเดียวมันก็ยาก แต่ถ้ามีสามีมีอะไรอย่างน้อยก็ไม่มีใครจะอยากจะเข้ามา สร้างความเดือดร้อนให้ แต่ถ้าอยู่คนเดียว เดี๋ยวก็โดน เป็นผู้หญิงก็ลำบากกว่าผู้ชายตรงนี้ ก็ต้องมีคู่ มีเพื่อน

แต่สมัยนี้เขามีหลายรูปแบบ มีแบบไม่ได้แต่งกันก็มีอยู่กันไปเป็นเพื่อนกันไป เบื่อก็ไป เบื่อก็เปลี่ยนเพื่อนใหม่ ก็เป็นความสุขชั่วคราวก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเบื่อคนนี้ก็ไปเปลี่ยนคนใหม่ ดาราฮอลลีวู้ดบางคน แต่งแล้วหย่าตั้งเกือบสิบครั้ง อลิสซาเบธ เทย์เลอร์ แต่งตั้ง ๘ ครั้ง สวยขนาดไหนยังต้องเปลี่ยน อยู่ด้วยกันสักพักแล้วก็เบื่อกัน ถ้าเอาใจตัวเองก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ถ้าเราอยากจะอยู่กับใครให้นาน เราต้องรักเขามากกว่ารักเรา ถ้าเรารักเขามากกว่ารักเรา เราก็ยินดีที่จะเสียสละ เมื่อเราเสียสละเขาก็จะอยู่กับเราได้ แต่ถ้าเรารักตัวเรามากกว่ารักเขา ก็มักจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะเราจะไม่ยอม ไม่ยอมเสียสละ พอเราไม่ยอม เขาก็ไม่อยากจะอยู่กับเรา

ดังนั้นถ้าเราอยากจะอยู่กันไปนาน ๆ ก็ต้องรักเขาให้มากกว่ารักตัวเรา ถ้าเรารักใครเราก็ยินดีที่จะเสียสละให้กับเขา เหมือนพ่อแม่รักลูก พ่อแม่นี้รักลูกมากกว่ารักตัวเอง ยินดีที่จะเสียสละให้กับลูกได้ แต่ทำไมกับสามีกับภรรยา กลับเสียสละให้ไม่ได้  ก็เลยต้องหย่าล้างกันไป จนกว่าเราจะไปเจอคนที่เรารักเขามากกว่ารักตัวเรา เมื่อเราเจอคนที่เรารักเขามากกว่าตัวเรา เราก็จะอยู่กับเขาได้  ชีวิตครอบครัวก็จะดีตรงนี้

พระพุทธเจ้าสอนว่าคู่ครองนี้ต้องมีคุณธรรมอยู่ ๔ ประการด้วยกันถึงจะอยู่กันได้นาน ข้อ ๑. ก็คือจาคะ คือการเสียสละ เราต้องเสียสละ เราต้องยอม ยอมให้อย่าเอาแต่ได้ ถ้าจะเอาได้อย่างเดียว เขาไม่มีปัญญาที่จะให้เราทุกอย่างที่เราต้องการหรอก เราต้องให้เขา ถ้าเราให้เขา เขาก็จะให้เรา หรือเราให้เขา เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่มีความอยากจะได้ เรามีแต่ความอยากจะให้ แสดงว่าเรารักเขามากกว่าเรารักตัวเรา เราก็จะให้ได้ เราก็จะมีจาคะ ข้อที่ ๒. ก็ต้องมีสัจจะ คือมีความซื่อสัตย์ มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน ไม่หลอกลวงกัน ไม่ไปแอบมีแฟนที่นอกบ้าน ถ้ามีความซื่อสัตย์ต่อกันมันก็จะมีความสบายใจ ไม่ต้องมีความวิตกกังวล ข้อที่ ๓. ก็ต้องมีความอดกลั้น มีเวลามีอารมณ์บูดเบี้ยวก็ต้องข่มใจ เวลาโกรธเขา ก็อย่าไประบาย พยายามพุทโธ ๆ ๆ ไว้ ทำใจให้นิ่งให้เฉยๆ เดี๋ยวอารมณ์โกรธผ่านไปมันก็กลับมาเป็นปกติ มันก็ไม่ต้องไปทำอะไรให้เสียหาย

เวลาโกรธนี้ถ้าเราพูดหรือทำอะไรไปมันมักจะทำให้เกิดความเสียหาย แล้วเราก็จะมาเสียใจทีหลังว่า เราไม่น่าพูดเลย เราไม่น่าทำไปเลย แทนที่จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ไม่ว่าโกรธหรือโลภนี้ ให้ข่มใจไว้ เวลาโลภก็ไม่ดี เวลาโลภอยากได้อะไร ก็อาจจะทำให้เราต้องพูดหรือทำอะไร ที่น่าเกียจก็ได้ ที่ไม่น่าดู ที่จะทำให้เขาไม่พอใจไม่ชอบใจเราก็ได้

ดังนั้นเวลาโลภต้องข่มใจไว้ เวลาโกรธต้องข่มใจไว้ เวลาหลงก็ต้องข่มใจไว้ เวลาหลงก็คืออาจจะคิดว่าเขาไปมีโน่นไปมีนี่ ทั้งที่เรายังไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า คิดไปแล้วก่อน อันนี้ก็ต้องหยุดความหลง ถ้ายังไม่เห็นความจริงก็อย่าเพิ่งไปคิดอะไร นี่เรียกว่าต้องรู้จักข่มใจ เวลามีอารมณ์โลภ โกรธ หลง มีอารมณ์อยากต่าง ๆ เพราะมันจะทำให้เราไปพูดไม่ดีทำไม่ดี แล้วจะทำให้มีปัญหาต่อกัน อันนี้คือเรียกว่าข่มใจ ข้อที่ ๔.ก็คือต้องมีความอดทน อดกลั้นแล้วก็ต้องอดทน อดทนก็คือชีวิตของเรา มันก็ไม่ใช่จะเป็นเหมือนกลีบดอกกุหราบไปตลอด บางทีก็มีหนามมีอะไรให้เหยียบบ้าง ชีวิตก็มีสุขมีทุกข์สลับกันไป ขึ้นๆลงๆ เวลาสุขก็ไม่มีปัญหาอะไร เวลาทุกข์ถ้าไม่มีความอดทน เดี๋ยวก็จะไปพูดไปทำอะไรที่ไม่ดีได้ ก็ต้องอดทน
เวลาแต่งงานเขาถึงบอกให้สัญญากันว่า In Sickness and in Health แปลว่า ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ก็จะอยู่กันเหมือนเดิม จะจากกันก็ตอนเวลาที่เราตายเท่านั้น Till Death Do Us Part  ถ้าทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้กันได้  ก็น่าจะอยู่กันอย่างมีความสุข ถ้ามีคุณธรรม ๔ ข้อนี้รับรองได้ว่าจะอยู่กันได้ อยู่กันอย่างมีความสุข แบบภาษาของโลกๆ สุขๆ ดิบๆ สุขบ้างทุกข์บ้างแต่จะให้สุขทุกวันแบบวันแต่งงานไม่มีหรอก มันมีวันเดียวเท่านั้นแหละ หลังจากนั้นแล้วมันก็เหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาอมเข้าไปใหม่ๆก็เหมือนวันแต่งงานหวาน เดี๋ยวพอน้ำตาลละลายแล้วทีนี้ความขมจะโผล่ขึ้นมาแล้ว

ถ้าอยากจะมีความสุขมีความสำเร็จในชีวิตคู่ก็ต้องสร้างคุณธรรม ๔ ประการ สร้างจาคะ การเสียสละ สร้างสัจจะ ความซื่อสัตย์ สร้างความอดทนอดกลั้น เขาเรียกว่า ทมะ และสร้างความอดทน เรียกว่า ขันติ   ถ้ามีธรรมะ ๔ ข้อนี้อยู่กับใครก็ได้ ไม่ได้อยู่แบบคู่ครองก็ได้ อยู่กับใครที่ไหนถ้าเรามีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ ไม่มีใครเขารังเกียจหรอก

นี่คือความสวยงามของคน สวยที่ใจ สวยด้วยจาคะด้วยการเสียสละ สวยด้วยความซื่อสัตย์ไว้ใจได้ ไม่มีใครจะสงสัยในพฤติกรรมของเรา พูดจริงทำจริง ให้สัญญาอะไรไว้แล้ว ไม่บิดเบี้ยว ไว้ใจได้ ไว้เนื้อเชื่อใจได้แล้วก็จะไม่ระบายอารมณ์ เวลาโกรธ เวลาทุกข์ก็จะเฉยๆ ทำใจไม่พูดไม่ทำอะไร ที่ทำให้ผู้อื่นเขาเสียหาย เวลาทุกข์ยากลำบากก็อดทนสู้กับมันไป  ก็มีคนแนะนำว่า ถ้าอยากรู้ว่ามีคุณสมบัติเหล่านี้หรือเปล่าในคู่ครอง เขาให้ชวนคนที่จะแต่งงานนี้ไปเดินขึ้นเขาที่ภูกระดึงกัน ขึ้นดอยภูกระดึงดู ดูว่าจะยิ้มแย้มแจ่มใส แฮบปี้กันไปตลอดทางหรือเปล่า หรือไปปีนภูเขาหิมาลัยก็ได้ คนเราจะต้องไปเจอข้อสอบ ต้องไปเจอความทุกข์ยากลำบากแล้วถึงจะเห็นธาตุแท้ของคนว่ามีธาตุแท้แบบไหน มีธรรมหรือมีอธรรม มีจาคะ มีสัจจะ มีทมะ มีขันติหรือเปล่า

สมัยก่อนเขาถึงไม่นิยมแต่งกันก่อน เขาต้องหมั้นกันก่อนสักปี ให้รู้จักจิตใจของกันและกัน ว่าจะอยู่ด้วยกันได้หรือไม่ เขาชอบอย่างนี้เราไม่ได้ชอบอย่างนี้เราจะปรับใจอยู่กับเขาได้หรือเปล่า เราชอบอย่างนี้เขาไม่ชอบ เขาจะปรับใจเข้าหาเราได้หรือเปล่า มันเป็นเรื่องของการปรับนะ

การอยู่คนเดียวนี้สบายตรงนี้ไม่ต้องปรับใจ เป็นตัวของเรา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เวลาไปอยู่กัน ๒ คนนี้ ต้องหมดอิสรภาพไปครึ่งหนึ่ง แล้วจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว เหมือนกับกลายเป็นนักโทษ จะไปไหนก็ต้องขออนุญาตกันแล้ว ต้องบอกกันก่อน จะไปทำอะไรคนเดียวนี้ต้องขออนุญาตไม่เช่นนั้นก็ต้องไป ๒ คน ไป ๒ คนก็ต้องพอใจทั้ง ๒ คนว่าจะไปทางเดียวกันได้หรือเปล่า คนหนึ่งอยากจะไปที่นี่ อีกคนอยากจะไปที่นั่น เดี๋ยวก็ไปไม่ได้แล้ว ถ้าจะอยู่ด้วยกันได้ก็ต้องตามใจเขา เอาใจเขา ถ้าเอาใจเขาก็อยู่กับเขาได้

มันยุ่งยากนะ สู้อยู่คนเดียวไม่ได้นะ สู้พุทโธๆๆอย่างเดียวไม่ได้ สบายกว่า  ทำพุทโธๆๆไป ใจสงบนี้ก็จะไม่รู้สึกเหงา ไม่รู้สึกว้าเหว่ และไม่อยากจะอยู่กับใคร ไม่อยากจะเสียอิสรภาพ อยู่คนเดียวนึกอยากจะทำอะไรไปได้เลย ไม่ต้องปรึกษาใคร ไม่ต้องขออนุญาตใคร เพื่อนโทรมาชวนไปไหนอยากจะไป ไปได้เลย นี่เดี๋ยวเกิดเพื่อนฝูงโทรมาชวนไปโน่นมานี่ ไปไม่ได้แล้ว แฟนไม่ยอมให้ไป ได้อย่างเสียอย่างนะ คิดให้รอบคอบนะ ได้กับเสียอันไหนมันจะมากกว่ากัน ถ้าได้มากกว่าเสียก็ไป ถ้าได้น้อยกว่าเสียก็อย่าไปดีกว่า

ก็มีพระเคยมากราบขอหลวงปู่มั่นว่า จะขอลาไปปฏิบัติที่อื่น หลวงปู่มั่นก็ท่านก็บอกว่า ถ้าไปดีกว่าอยู่ก็ไปก็กี ถ้าไปดีกว่าอยู่ก็อยู่ดีกว่า ถ้าไปก็ดี อยู่ก็ดี ก็อยู่ก็ได้ ไปก็ได้

เราต้องถามตัวเราเองว่า เราไปแล้วจะดีกว่าอยู่หรือเปล่า ถ้าดีก็ไป ถ้ามันอาจจะดีแบบคนตาบอดก็ช่วยไม่ได้นะ คนตาบอดมันอาจจะมองแต่ข้อดีอย่างเดียว แต่ถ้ามองแบบคนตาดีไม่มีใครอยากจะไปหรอก เห็นไหม พระพุทธเจ้าขนาดมีแฟนมีลูกก็ยังต้องหนีไปเลย ถ้าไปมีครอบครัวก็ไปนิพพานไม่ได้นะ ไปปฏิบัติไม่ได้ ไปบวชไม่ได้ ก็ต้องติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ

ตายไปกลับมาเกิดใหม่ก็ต้องไปมีครอบครัวใหม่ แล้วก็มาทุกข์กับการดูแลเลี้ยงดูครอบครัว มีสุขบ้างมีทุกข์บ้างสลับกันไป ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ ถ้าจะไปทางนี้ก็ต้องซื้อประกันภัยไว้ ประกันความทุกข์ จะทำให้ทุกข์น้อยก็ต้องทำทาน รักษาศีล ภาวนา หรือพยายามสร้างธรรมะ ๔ ข้อนี้ขึ้นมา สร้างจาคะ สร้างสัจจะ สร้างทมะ สร้างขันติแล้วก็พอที่จะรับกับความทุกข์ต่างๆ

ความจริงอยู่คนเดียวมันก็มีความทุกข์เหมือนกัน แต่มันทุกข์น้อยกว่า ตัวแปรมันน้อยกว่า แต่มันจะไปทุกข์หนักที่ความเหงา ความหว้าเหว่
เป็นอย่างไร พูดอย่างนี้แล้ว รู้อย่างนี้ไม่มาดีกว่า ไม่สายเกินแก้นะ

โยม : เดี๋ยวหนูจะเอา ๔ ข้อไปบอกแฟน
หลวงพ่อ : อย่าไปบอกเขาเลย บอกตัวเราดีกว่า
โยม : จะได้ทำไปด้วยกัน
หลวงพ่อ : มันยากการที่จะไปบอกเขานี้ มันเหมือนกับไปบังคับแล้ว ไปบอกเขาก็ไปบังคับเขาแล้ว นอกจากถ้าเขาปรึกษาเราก็ว่าไปอย่าง ถ้าเราไปพูดอย่างนี้ก็เหมือนกับเราไปบังคับเขาแล้ว แล้วถ้าเขาไม่พร้อมที่จะปฏิบัติ ๔ ข้อนี้เขาก็จะรู้สึกอึดอัด มันมีไว้สำหรับตัวเรานะ ส่วนเขาจะมีหรือไม่มีก็เรื่องของเขา


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 กันยายน 2563 15:45:14
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45095579574505_119277797_3293445244026737_195.jpg)

ยังมีภรรยาสามารถบรรลุธรรมได้ไหม

ถาม: กราบพระอาจารย์ครับ สอบถามครับ ถ้าเรายังมีภรรยาและอยู่กินนอนกับภรรยา จะสามารถบรรลุธรรมโสดาบันถึงอรหันต์ได้ไหมครับ แต่ก็รักกันดีครับ แล้วถ้าเราจะทิ้งภรรยาให้อยู่ตามเวรตามกรรม จะบาปไหมถ้าเราออกบวช

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่บาปหรอก ถ้าเราตกลงกันพูดกันขออนุญาตกัน ถ้าเขาอนุญาตเพราะเราเป็นเหมือนสมบัติของเขา ถ้าเราจะไม่ทำหน้าที่ของเรากับเขาเราก็ต้องขออนุญาตจากเขา ถ้าเขาอนุญาตให้เราไปบวชไปปฏิบัติธรรมได้ เราก็ไป การไปปฏิบัติธรรมก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปปฏิบัติตลอดเวลา เมื่อบรรลุแล้วจะกลับมาอยู่กับเขาอีกก็ได้ พระโสดาบันนี่ยังมีความอยากมีแฟนอยู่ ยังรักภรรยาอยู่ ยังไม่เบื่อภรรยา พอเขาบรรลุเป็นโสดาบันเขาก็อาจจะกลับมาอยู่กับภรรยาต่อก็ได้ แต่การที่จะบรรลุมันต้องไปปฏิบัติ เหมือนกับไปเรียนหนังสือแหละ การจะจบปริญญาก็ต้องไปเรียน ไม่ใช่อยู่กับภรรยาแล้วจะให้จบปริญญา ก็ต้องไปเรียน ช่วงไปเรียนก็อาจจะห่างจากภรรยาบ้าง แต่พอเรียนจบก็กลับมาอยู่กับภรรยาต่อได้



กิเลสมันเก่งขึ้นตามกำลังที่เราปฏิบัติไหมครับ

ถาม: พระอาจารย์ครับ กิเลสมันเก่งขึ้นหรือฉลาดตามกำลังที่เราปฏิบัติพัฒนาขึ้นไม๊ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ มันเก่งมานานแล้วละ มันไม่ใช่มันมาเก่งเฉพาะตอนที่เราปฏิบัติ มันเก่งกว่าเรา มันถึงพาเรามาเวียนว่ายตายเกิดกัน งั้นเราต้องพยายามสร้างธรรมะขึ้นมา สร้างปัญญาขึ้นมา ถึงจะทันมันถึงจะสู้กับมันได้ มันจะเก่งขนาดไหน มันก็สู้ปัญญาของพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้านี้ได้ชิงแชมป์มาแล้ว ได้ชนะกิเลสมาแล้ว งั้นขอให้เราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ เอาอริยสัจ ๔ เอาไตรลักษณ์มาใช้



รูปฌาน อรูปฌาน รูปภพ อรูปภพ

ถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ หนูยังไม่ค่อยเข้าใจรูปฌาน อรูปฌาน รูปภพ อรูปภพ เจ้าค่ะ

พระอาจารย์: คือรูปฌานก็คือเวลาเรานั่งสมาธิ แล้วใจเรามีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกนี้ เรากำลังเข้าฌานคือระดับรูปฌาน เพราะยังมีรูปคือลมให้เราดูอยู่ สัมผัสรับรู้อยู่ ดูลมไปแล้วเราก็จะเข้าไปสู่ฌานขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ ได้ นี่เรียกว่า “รูปฌาน” พอผ่านรูปฌานแล้ว เราไม่ดูลมแล้ว ทีนี้เราดูสิ่งที่มีอยู่ในจิตเรา เช่น ดูความว่างอย่างนี้ ก็เป็นอรูปฌานอย่างหนึ่ง เป็นวิญญาณ ดูวิญญาณ ความรู้ที่ไม่มีขอบไม่มีเขต ต้องไปดูรายละเอียด เราพูดไปเดี๋ยวจะผิด เพราะจะมีอารมณ์ให้เราใช้แทนลมหายใจเข้าออก พอเข้าสู่อรูปฌานนี้จะมีอารมณ์ ๔ ระดับด้วยกันให้เราใช้เป็นอารมณ์ผูกใจ ให้อยู่ในฌาน ให้อยู่ในอรูปฌาน

เวลาตายไปจิตของเราที่อยู่ในรูปฌาน มันก็จะอยู่ในรูปภพ จิตของเราก็จะเป็นรูปพรหม เวลาถ้าเราอยู่ในอรูปฌาน เวลาตายไปเราก็จะอยู่ในอรูปภพ เท่านั้นเอง เพียงจิตเสพอรูปฌานเป็นอารมณ์ จิตที่เสพรูปฌานเป็นอารมณ์ก็จะอยู่ในรูปภพ จิตที่เสพกามเป็นอารมณ์ก็จะอยู่ในกามภพ เช่น มนุษย์ เทวดา นี้เสพกาม เวลาตายไปก็จะเสพรูปเสียงกลิ่นรสทิพย์ ถ้าเป็นเทวดาก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรสทิพย์ ที่มีแต่ความสุข ถ้าเป็นพวกอบายก็จะไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสที่มีแต่ความทุกข์



มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถาม: เมื่อวันพระที่ผ่านมา ไปอยู่วัดนั่งสมาธิ ช่วงเวลาประมาณตี ๓ ผมลุกขึ้นมาเดินจงกรม ๓๐ นาที และยืนอีก ๓๐ นาที ขณะที่ยืนมองลงไปที่พื้นแล้ว อธิษฐานว่าผมจะยืนจนกว่าพระมาตีระฆัง ผมอธิษฐานจบก็เกิดแสงกลมๆ ผุดขึ้นมา เล็กใหญ่อยู่ประมาณ ๓๐ วินาที มันคืออะไรครับ ที่ผมเห็นนี้จริงไหม ใช่ไหมครับ แล้วผมควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป ขอความเมตตาจากพระอาจารย์ครับ

พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ละสิ ก็พิจารณาว่าไม่เที่ยง มันเกิดแล้วดับ อนัตตา เราไปห้ามไม่ได้ มันเกิดก็ปล่อยมันเกิด มันดับก็ปล่อยมันดับไป ไม่มีสาระไม่มีอะไร เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจอย่างหนึ่ง ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรนี้ พระพุทธเจ้าทรงบอกให้พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ลงไปให้หมด แล้วปล่อยวาง สิ่งที่เราต้องการคือความว่าง ความสงบของใจ



อุเบกขา สามารถเกิดจากปัญญาได้ไหมเจ้าคะ

ถาม: การวางใจเป็นอุเบกขา สามารถเกิดจากปัญญาได้ไหมคะ หรือต้องเกิดจากสมาธิเจ้าคะ

พระอาจารย์: ได้แต่ยาก เพราะว่าถ้าเห็นไตรลักษณ์จริงๆ ก็วางได้ ทีนี้มันจะเห็นหรือไม่เห็นนี่มันยาก เพราะว่าคนส่วนใหญ่นี้มันจะไม่เห็นไตรลักษณ์กัน ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตากัน งั้นสู้เอาธรรมแบบง่ายๆ ดีกว่า เบื้องต้นก็คือใช้สติ ทำให้ใจเป็นอุเบกขาดีกว่า เพียงแต่บริกรรมพุทโธพุทโธไป หรือดูลมหายใจเข้าออกไป ใจก็จะนิ่งสงบเป็นอุเบกขาขึ้นมาได้ ส่วนปัญญานี้ต้องมานั่งวิเคราะห์ อนิจจังเป็นยังไง มีหลายลักษณะด้วยกัน เปลี่ยนแปลงก็เป็นอนิจจัง เกิดดับก็เป็นอนิจจัง อนัตตาก็คือเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับมันได้ มันไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง วันใดวันหนึ่งจะต้องจากเราไป ถ้าเราเห็นอนิจจัง อนัตตา ในสิ่งที่เราทุกข์ เราอาจจะหายทุกข์ก็ได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา ก็ใช้สติดีกว่า ท่องพุทโธพุทโธพุทโธไป อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราวุ่นวายใจ เดี๋ยวใจพอลืมเรื่องนั้นใจก็จะสงบได้ เป็นอุเบกขาได้



จะมีชีวิตคู่ที่มีความสุข ต้องมีธรรมะ ๔ ข้อ

ถาม: ถ้าเรามีลูก และพ่อของลูกอยากเลิกกับเรา เราจะรั้งเขาไว้ หรือเลิกตามคำขอของเขาคะ ถ้าลูกไม่มีพ่อเป็นเพราะความอดทนของเราไม่มากพอไหมคะ

พระอาจารย์: ก็แล้วแต่จะมองละนะ ถ้าเราอยากจะอดทนอยู่กับเขาต่อไป ก็เรื่องของความอดทน แต่ถ้าคิดว่าอยู่แล้วมันไม่มีความสุข ไม่มีความเจริญทั้ง ๒ ฝ่าย ก็แยกกันไปจะดีกว่า ลูกก็ยังมีพ่ออยู่ก็ยังมีแม่อยู่ พ่อก็ยังไม่ตาย แม่ก็ยังไม่ตาย เพียงแต่ว่าพ่อแม่ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน เท่านั้น ก็ให้ลูกเขาเลือกว่าอยากจะไปอยู่กับใคร อยากไปอยู่กับพ่อก็ไป อยากจะอยู่กับแม่ก็อยู่ เรื่องของการครองเรือนก็อย่างนี้แหละ มันไม่มีความสุขแบบน้ำผึ้งพระจันทร์ มันก็สุขใหม่ๆ พออยู่ไปนิสัยเดิมของแต่ละคนก็ออกมา เวลาเจอกันใหม่ๆ ก็มีแต่เอาอกเอาใจกัน แต่พอได้กันมาแล้ว ทีนี้ก็เปลี่ยนจากการเอาอกเอาใจกันมาเป็นเอาอกเอาใจตัวเราเอง เราก็อยากจะเอาใจเรา เขาก็อยากจะเอาใจเขา พอมันไม่ตรงกัน มันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความไม่พอใจขึ้นมา แล้วถ้าทำไปนานๆ เข้า เดี๋ยวมันก็ตีกันทะเลาะกัน แล้วก็ต้องแตกแยกออกจากกัน

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ถ้าอยากจะมีชีวิตคู่ที่มีความสุขนี้ ต้องมีธรรมะอยู่ ๔ ข้อด้วยกัน หนึ่งคือจาคะ ต้องเสียสละ ต้องเอาอกเอาใจของเขา เอาใจเขาอย่าเอาใจเรา จาคะ แล้วก็ต้องมีสัจจะ ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่โกหกหลอกลวงกัน ไม่ใช่ไปทำอะไรอย่างหนึ่ง แล้วก็กลับมาบอกว่าไม่ได้ทำอย่างนี้ มันก็จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันขึ้นมาได้ แล้วก็เวลามีเหตุการณ์ลำบาก เช่น ช่วงนี้ตกงานหรืออะไร ก็ต้องใช้ขันติ ความอดทน พยายามทน อย่าไปโทษเขา อย่าไปว่าเขา ถือว่าเป็นภาวะของชีวิตที่มีขึ้นมีลง มีทุกข์มีสุขบ้าง สลับกันไป เวลาทุกข์ก็ต้องอดทนก็จะอยู่ต่อกันไปได้ แล้วถ้ามีอารมณ์ขุ่นมัว อยากจะระบายออกมา ก็ต้องใช้ทมะ ทมะแปลว่าการอดกลั้น อดทนก็คือทนต่อสภาพทุกข์ภายนอก อดกลั้นก็คือทนต่อความคิดที่ไม่ดีที่จะส่งไปข้างนอก อยากจะด่าเขา อยากจะพูดคำหยาบ อยากจะทำอะไรให้เขาเสียหายเดือดร้อน อย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าต้องมีทมะ ทมะแปลว่าความอดกลั้น ถ้ามีธรรมะ ๔ ข้อนี้แล้ว จะอยู่ด้วยกันได้ คือมีจาคะ เอาอกเอาใจกัน เสียสละแบ่งปันให้กันและกัน แล้วมีสัจจะ มีความซื่อสัตย์ต่อกัน มีขันติมีความอดทน แล้วก็มีทมะ ความอดกลั้น



การไม่รักษานี้ไม่ถือว่าบาป

ถาม: ตอนที่พ่อผมป่วยหนักและใกล้เสียชีวิต ขณะที่หมอทำการรักษาอยู่นั้น หมอได้ออกมาถามว่า ถ้าหัวใจหยุดเต้น จะให้ปั้มหัวใจขึ้นมาหรือไม่ ถ้าปั้มขึ้นมาแล้ว คุณพ่อจะนอนหลับไม่รู้สึกตัวตลอดไป พวกผมเลยตัดสินใจบอกหมอว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องปั้ม ให้ปล่อยท่านไปด้วยความสงบ แบบนี้จะถือว่าบาปหรือไม่ ถือว่าเป็นการฆ่าท่านหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: ไม่หรอก ก็อย่างที่บอกแล้วไงว่า เพียงแต่พิจารณาความเป็นจริงของสภาพของร่างกายว่า เมื่อเขาไม่สามารถหายใจเองได้ หัวใจเขาหยุดเต้นแล้ว จะไปปั้มให้หัวใจเขาเต้นขึ้นมาทำไม แล้วปั้มขึ้นมาแล้ว เขาก็ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ปั้มขึ้นมาแล้วให้เขาเป็นเจ้าชายนิทราไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับใครทั้งนั้น ตัวคนไข้ก็ไม่ได้รับประโยชน์ คนที่อยู่ก็ต้องมาทุกข์มาอะไรกันอีกนาน งั้นก็ปล่อยเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง อันนี้ไม่ถือว่าบาป การไม่รักษานี้ไม่ถือว่าบาป



ผู้รู้ ผู้คิด

ถาม : พระอาจารย์คะจิตนี้ใช่ตัวเราไหมคะ จิตเป็นอนัตตาหรือเปล่าคะ

พระอาจารย์ : จิตมันเป็นผู้สร้างตัวเราไง ตัวเราเกิดจากความคิดความปรุงแต่งของจิต พอหยุดคิดปรุงแต่งตัวเราก็หายไป เวลานั่งสมาธิจิตสงบไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็เหลือแต่ตัวรู้ ผู้รู้ สักแต่ว่ารู้ แต่ผู้คิดผู้คิดว่าเป็นตัวเรามันหายไป เพราะฉะนั้นตัวเราก็หายไป ที่มันอยู่ก็เพราะเราไปจำมันไว้ ไง สัญญาของเราจำไว้ สัญญาจำว่ายังมีเราอยู่ แต่ความจริงมันเป็นแค่สัญญาสังขารความคิดความจำแค่นั้นเอง ถ้าจิตสงบหยุดสัญญาหยุดสังขารได้ ตัวเราก็หายไป แต่มันจะหายไปชั่วคราว พอออกจากสมาธิมันก็เริ่มคิดเริ่มจำใหม่ ตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญามาแก้ความจำความคิดว่าไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเพียงแค่ความคิดความจำเท่านั้นเอง ตัวเราจริงๆ ก็คือตัวรู้ตัวคิดแค่นั้นเอง จะว่าเป็นตัวเราก็ไม่ใช่ ตัวจริงๆ ก็คือตัวรู้ตัวคิดที่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น เป็นผู้รู้ผู้คิดอย่างนี้



กัมมัฏฐานใดที่เหมาะกับจริตเรา

ถาม: เราจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่า เราต้องปฏิบัติกัมมัฏฐานใดที่เหมาะกับจริตเรา ให้การภาวนาได้ก้าวหน้าขึ้นคะ

พระอาจารย์: เบื้องต้นก็มีกัมมัฏฐานง่ายๆ ที่เราทุกคนเริ่มกันเหมือน ก.ไก่ ข.ไข่ คือพุทธานุสสติ หรือธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อย่างถ้าเราไปวัดเขาก็จะให้เราเจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ก็คือให้สวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไปก่อน ให้เรามีความผูกพันกับพระสงฆ์เพราะเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา และเป็นผู้ปลุกสติให้กับเรา ทุกครั้งที่เรานึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราไม่อยากจะสวดยาว เราก็ระลึกแต่ชื่อก็ได้ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไป แต่ไม่ใช่แค่ ๓ คำแล้วก็หยุด หมายถึงต้องระลึกไปเป็นนาทีเป็นชั่วโมง จิตมันถึงจะมีสติ จิตมันถึงจะมีความสงบได้ ไม่ใช่เอาพุทโธ ธัมโม สังโฆแล้วก็หยุดอย่างนี้ ไม่พอเหมือนแตะเบรกปั๊บแล้วก็ปล่อยเบรก แล้วก็จะให้รถมันหยุด มันหยุดไม่ได้ จะให้รถมันหยุดต้องเหยียบเบรกไปจนกว่ารถมันจะหยุด ถึงจะถอนเบรกได้ ฉันใด ถ้าเราต้องการฝึกจิตให้สงบเราก็ต้องพุทโธหรือ ธัมโม สังโฆ หรือสวดบทอิติปิโส พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะระงับความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ได้

อันนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานเบื้องต้นนะ ก็คือพุทธานุสสติ หรือธัมมานุสสติ ธัมมานุสสติอาจจะอยู่ในรูปแบบของการฟังธรรมก็ได้ ทุกครั้งที่เราฟังเทศน์ฟังธรรมก็เท่ากับเราได้เจริญธัมมานุสสติ ธัมมานุสสติก็คือคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้านี่เอง สังฆานุสสติก็คือเวลาเราเข้าหาครูบาอาจารย์ไปศึกษาไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านก็เรียกว่าสังฆานุสสติก็ได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติอยู่ที่บ้านเราก็ต้องระลึกพุทโธ พุทโธ พุทโธไป ถ้าไม่ชอบพุทโธก็ธัมโมไป ไม่ชอบธัมโมก็สังโฆไป ไม่ชอบทั้ง ๓ ก็สวดไป “อิติปิโส ภควา” แล้วถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยนมาใช้กายคตาสติ คือดูอิริยาบถ ๔ ของร่างกาย ร่างกายกำลังเดินก็เดินไปกับร่างกาย ร่างกายยืนก็ยืนไปกับร่างกาย ร่างกายทำอะไรก็ทำไปกับร่างกาย อย่าให้ใจไปห่างไกลจากร่างกาย อย่างนี้ก็เป็นการฝึกสติได้ นี่คือวิธีฝึกสติต่างๆ

ดังนั้น ธรรมะนี้เราต้องเข้าไปสำนักปฏิบัติแล้วก็ไปฟังไปดูเขาสอน ไปลองดู ถ้าเราศึกษาเองมันอาจจะงงไม่รู้จะเอาอันไหนดี ก็ลองไปสำนักต่างๆ ที่เขามีจัดหลักสูตร ๓ วัน ๗ วัน ปฏิบัติธรรม ดูว่าสำนักไหนถูกกับเราๆ ก็เอาวิธีของสำนักนั้นมาปฏิบัติก็ได้ ถ้าที่นี่ก็เพียงแต่สอนให้ระลึกพุทโธ พุทโธไปเรื่อยๆ หรือให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายไปเรื่อยๆ แล้วเวลานั่งก็ให้ดูลมหายใจเข้าออกไปก็ได้ เวลานั่งสมาธิถ้าไม่ใช้พุทโธก็ใช้การดูลมหายใจเข้าออกดูที่ปลายจมูก ไม่ต้องตามลมเข้าไป ไม่ต้องตามลมออกมา ก็จะเป็นการฝึกสมาธิในเบื้องต้นได้



อยากไปเกิดยุคพระศรีอาริยเมตไตรเจ้าค่ะ

ถาม: เรียนว่าอยากไปเกิดยุคพระศรีอาริยเมตไตรเจ้าค่ะ ควรปฏิบัติตนอย่างไร รู้มาว่าต้องรักษาศีล ๕ กับประพฤติกรรมบถ ๑๐ แต่บางครั้งรู้สึกศีล ๕ ที่ตัวเองรักษาไม่ค่อยบริสุทธิ์ กลัวไม่ได้ไปเกิดในยุคนั้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: อ๋อ กำหนดไม่ได้หรอก ถ้าจะไปเกิดในยุคนั้น เพราะไม่รู้ว่าท่านจะไปเกิดเมื่อไหร่ มาเมื่อไหร่ แล้วเราจะไปเกิดในยุคนั้นหรือเปล่า งั้นอย่าไปสนใจกับพระศรีอาริย์เลย ตอนนี้มีพระสมณะโคดมสอนเราอยู่แล้ว จะไปรอองค์ต่อไปทำไม เมื่อยังมีองค์นี้อยู่ รีบเรียนกับองค์นี้ เหมือนกัน ไปองค์หน้าท่านก็สอนแบบเดียวกัน สอนให้ละบาป ทำบุญ ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน ถ้าคิดอย่างนี้แสดงว่าเราถูกหลอกแล้ว กิเลสมันชอบหลอกเรา มันไม่อยากให้เราปฏิบัติ มันไม่อยากให้เราบรรลุธรรมกัน มันก็เลยหลอกว่าต้องไปรอ ไปเจอพระศรีอาริย์ก่อน ถ้าเชื่อมันก็สบาย เพราะมันรู้ว่าไม่มีทางที่จะเจอพระศรีอาริย์ โอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ร้อยครั้งยังง่ายกว่า โอกาสที่จะไปเจอพระศรีอาริย์ พูดอย่างนี้ดีกว่าจะได้เห็นภาพ



ควรฝึกอย่างไร ไม่ให้ไปทางกามคุณ

ถาม: ถ้าใจอุเบกขาแล้ว มักจะวกกลับไปทางกามคุณ ควรฝึกอย่างไร ไม่ให้ไปทางกามคุณคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องเจริญอสุภะ หัดเจริญอสุภะ ดูความไม่สวยงามของสิ่งต่าง ๆ ของมันเก่า ได้ใหม่แล้ว เดี๋ยวมันก็เก่า ทุกอย่างมันมีเจริญแล้ว เดี๋ยวมันก็ต้องเสื่อม พอเห็นความเสื่อมเห็นส่วนที่ไม่สวยไม่งาม มันก็จะหายความอยากในกามคุณได้ จะพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ รูปเสียงกลิ่นรส บางทีมันก็มี บางทีมันก็ไม่มี เวลามีก็สุข เวลาไม่มีก็ทุกข์ เป็นอนัตตา ไปควบคุมไปบังคับมันไม่ได้



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 ตุลาคม 2563 14:52:48
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/47512509425481_122026504_3393632527341341_665.jpg)

ทำให้พ่อแม่เราร้องไห้ ยังมีโอกาสได้ไปพระนิพพานไหมครับ
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ครับ ถ้าเราเคยทำให้พ่อแม่เราร้องไห้เสียน้ำตา เรายังมีโอกาสได้ไปพระนิพพานหรือสวรรค์ หรือไม่ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าเราไม่มีเจตนาตั้งใจทำให้เขาร้องห่มร้องไห้ แต่เขามาร้องห่มร้องไห้เอง เพราะเราทำไม่ถูกใจเขา ไม่เป็นปัญหา เหมือนพระพุทธเจ้าก็ทำให้พ่อร้องไห้ พระพุทธเจ้าไปบวชนี้ พ่อก็ร้องไห้ ลูกก็ร้องไห้ ภรรยาก็ร้องไห้ ทุกคนก็ร้องไห้ แต่นี่ไม่ได้เกิดจากเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าที่ทำให้เขาร้องไห้ เขาร้องไห้เพราะกิเลสของเขา เขาไม่อยากให้พระพุทธเจ้าไป เท่านั้นเอง ทำอย่างนี้แล้วไม่เป็นบาป ไม่เป็นอะไรทั้งนั้น


ขอให้เห็นว่าเป็นอนัตตาก็แล้วกัน
ถาม: ขณะที่พิจารณาแยกร่างกายออกเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ มันแยกเร็วมาก ดูเหมือนเราไม่ได้แยกเอง ต้องดูอย่างเดียว เป็นเพราะอะไรคะ ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ แล้วแต่ปัญญาของแต่ละคน เหมือนไฟ ไฟบางชนิดก็ลุกรวดเร็ว เชื้อมันแรงก็ลุกเร็ว บางชนิดก็ลุกช้า สติปัญญาของแต่ละคนก็มีความรวดเร็วต่างกัน ก็เท่านั้นเอง จะเร็วจะช้าก็ไม่สำคัญ ขอให้มันเห็นว่ามันเป็นอนัตตาก็แล้วกัน เห็นว่าร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ เราก็ไม่ไปทุกข์กับมัน คือไปทุกข์กับดินน้ำลมไฟได้อย่างไร ดินก็ต้องเป็นดิน น้ำก็ต้องเป็นน้ำ ลมก็ต้องเป็นลม ไฟก็ต้องเป็นไฟ ก็ปล่อยมันเป็นไป มันจะกลับไปเป็นดินน้ำลมไฟก็ปล่อยให้กลับไป อย่าไปทุกข์กับมันเท่านั้นเอง งั้นเป้าหมายอยู่ที่การดับความทุกข์ ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ช้าหรือเร็ว เห็นว่ามันเป็นธาตุ ๔ การเห็นนี้ยังเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง เครื่องมือที่จะมาดับตัณหา ความอยากไม่ตาย ความอยากจะอยู่ไปนานๆ แต่ถ้าเห็นว่าร่างกายมันเป็นดินน้ำลมไฟ มันจะต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องหยุดความอยากนี้ให้ได้เท่านั้นเอง ถ้าไม่หยุดก็จะทุกข์เวลาที่ร่างกายมันแยกเป็นดินน้ำลมไฟไป


พระอริยะท่านไม่มายุ่งกับเราหรอก
ถาม: กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ การที่ผู้หญิงไปหลงรักพระอริยเจ้าผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะส่งผลให้ถึงกับตกนรกไหมเจ้าคะ กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าไม่มีอะไรกันทางด้านร่างกายก็ไม่มีบาป ถ้าไม่มีการไปเกี้ยวพาราสีกัน ไปยุ่งกันทางร่างกายนี้ก็ไม่เป็นบาป เพียงแต่ว่าถ้าเป็นพระอริยะท่านก็ไม่มายุ่งกับเราหรอก แต่เราควรจะรู้ว่าเรากำลังไปหาความทุกข์ไปหาความผิดหวัง อย่าไปรักคนที่เขาไม่รักเราเลย ไปรักคนที่เขารักเราดีกว่า พระอริยะท่านรักตัวท่านมากกว่ารักเรา ไปหาคนที่เขารักเรามากกว่าเขารักตัวเขาดีกว่า เขาจะได้ให้ความสุขกับเรา


คิดในเรื่องที่มีคุณมีประโยชน์ดีกว่า
ถาม: กรณีที่เรายังกลับไปนึกถึงเรื่องเลวร้าย เรื่องที่ล้มเหลวในอดีต นอกจากพุทโธแล้วจะสอนใจอย่างไรให้เลิกเสียใจให้ได้ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็บอกว่ามันเหมือนความฝันไง มันผ่านไปแล้ว เมื่อคืนนี้ฝันร้าย มันก็หมดไปแล้ว ความคิดที่เราคิดถึงมันมันไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด งั้นไปคิดให้มันเสียเวลาทำไม คิดในเรื่องที่มีคุณมีประโยชน์ดีกว่า มาคิดเรื่องไตรลักษณ์ มาคิดเรื่องอสุภะ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องอาการ ๓๒ ดีกว่า ก็สอนใจแบบนั้นไป แล้วต่อไปมันก็ไม่คิด


วิธีเจริญสติเพื่อนำสติมาทำสมาธิ
ถาม: ขอหลวงพ่อเมตตาในการเจริญสติเพื่อนำสติมาทำสมาธิต่อครับ
พระอาจารย์: ก็นี่ก็ฝึกท่องพุทโธพุทโธไปภายในใจ เอาตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาเลย พอลืมตาจิตเริ่มคิดแล้วก็หยุดมันด้วยพุทโธ ท่องพุทโธไป ไปเตรียมตัวทำงานก็พุทโธไป อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน รับประทานอาหาร แต่งเนื้อแต่งตัวก็พุทโธไป เดินทางไปทำงานก็พุทโธไป จนกว่าถึงเวลาทำงานต้องใช้ความคิดในการทำงานก็หยุดพุทโธไป พอไม่ต้องใช้ความคิดในการทำงานก็พุทโธใหม่ต่อไป คอยควบคุมความคิดที่ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดให้มันหายไป แล้วใจจะมีสติมีกำลังที่จะหยุดความคิดได้ พอมานั่งสมาธิก็สั่งให้มันหยุดคิดได้


ไม่ต้องไปกังวลเรื่องของคนอื่นเอาเรื่องของเราดีกว่า
ถาม: ผมงงครับว่าบางคนเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่ทำไมบางที ความคิดความเห็นในบางเรื่องมันไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไปได้ล่ะครับ
พระอาจารย์: อ๋อ แม้แต่เทวทัตอยู่กับพระพุทธเจ้า ยังคิดไม่ได้ตามทำนองคลองธรรมเลย เป็นจิตของแต่ละคน ไม่ได้เพราะว่าอยู่กับครูบาอาจารย์หรือไม่ จิตมันมีเป็นทัพพีในหม้อแกง และเป็นลิ้นกับแกง ถ้าเป็นทัพพีในหม้อแกง อยู่กับแกงเป็นปี มันก็ไม่รู้ว่าแกงอะไร ถ้าจิตไม่มีสติไม่คอยฟังคำสอน มัวแต่ฟังความคิดของตัวเอง อยู่กับครูบาอาจารย์กี่ปี มันก็เหมือนเดิม มันไม่ได้ซึมซาบคำสอนของครูบาอาจารย์เข้าไปเลย มันก็ยังคิดตามประสากิเลสของมันอยู่เหมือนเดิม นะไม่ต้องไปกังวลเรื่องของคนอื่น เอาเรื่องของเราดีกว่า


ไปนิพพานจะมีโอกาสเจอพระพุทธเจ้าไหมเจ้าคะ
ถาม: ตายแล้วได้ไปนิพพาน จะมีโอกาสเจอพระพุทธเจ้าไหมคะ
พระอาจารย์: การไปถึงนิพพานก็ถือว่า ได้พบกับพระพุทธเจ้าแล้ว โดยที่ไม่ต้องไปเจอจิตของพระพุทธเจ้า เพราะจิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของผู้นิพพานก็อันเดียวกัน เหมือนกัน เหมือนฝาแฝด เมื่อเจอฝาแฝดแล้ว จะต้องไปดูฝาแฝดของเราทำไม หน้าตามันก็เหมือนกับเรา ใช่ไหม


ไม่ต้องไปเสียดายกับของที่มันทำให้เราทุกข์
ถาม: ผมขอโอกาสถามพระอาจารย์นะครับ ผมเรียนจบปริญญาเอก เคยทำงานเป็นอาจารย์ และเคยบวชวัดป่ามา ๗ เดือน ปัจจุบันผมนั่งสมาธิทุกวัน เป็นระยะเวลาเกือบ ๒ ปี ทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากทำงานหาเงินแล้วครับ อยากกลับไปบวชครับ คำถามคือการที่ผมจะบวช จะเป็นการไม่ใช้ศักยภาพที่เรียนมาหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช้ก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหนเลย มันไม่ได้มีการบังคับว่าเราต้องใช้มันนี่ เราก็จบป. ตรีมา วิศวกรรม เราก็ไม่ได้ใช้มัน เพราะมันไม่ได้ทำให้เรามีความสุข มันกลับทำให้เรามีความทุกข์ ไปใช้มันทำไม ทำงานเครียดจะตายไป สู้ไม่ทำงานดีกว่า สู้นั่งเฉยๆ นั่งสมาธิทำใจให้สงบ มันดีกว่าเยอะแยะ งั้นไม่ต้องไปเสียดายกับของที่มันทำให้เราทุกข์หรอก ความรู้ต่างๆ ทางโลกนี้มันเป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ไม่รอดพ้นจากความทุกข์ เรียนสูงเท่าไหร่ยิ่งทุกข์มากขึ้นไปเท่านั้น เพราะความอยาก อยากได้มากขึ้นไป งั้นอย่าไปเสียดายเลยความรู้ทางโลก เรามาเริ่มทางธรรมกันดีกว่า มาสร้างความรู้ทางธรรม เป็นความรู้ที่พาให้เราเอาตัวรอดพ้นจากความทุกข์ได้ งั้นไม่มีการเสียหรอก เป็นการตัดสินใจที่ถูก ถ้าเราไปบวชได้นี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูก ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เก่ง เรียนวิชาการต่างๆ ทางโลก รู้มากยิ่งกว่าครูอาจารย์ที่มาสอนท่าน ท่านก็ยังทิ้งมันเลย เพราะท่านเห็นว่าเป็นความรู้ที่ไม่สามารถทำให้ใจท่านพ้นทุกข์ได้ 


ปัญญาสามารถเกิดก่อนสมาธิได้ไหม
ถาม: ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ในการนั่งสมาธิ ว่าปัญญาสามารถเกิดก่อนสมาธิได้ไหมคะ พอรู้สึกตัวจึงกลับไปสมาธิ กราบนมัสการค่ะ
พระอาจารย์: ได้ ปัญญาเกิดก่อนได้ แต่ปัญญาที่เกิดก่อนสมาธิจะไม่มีกำลังที่จะไปฆ่ากิเลสได้ ปัญญาที่เกิดก่อนสมาธิมีอยู่ ๒ อย่าง คือ สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน และจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทบทวนใคร่ครวญธรรมะที่ได้ศึกษามา ไม่ให้หลงไม่ให้ลืม ปัญญา ๒ อันนี้ยังไม่สามารถที่จะไปฆ่ากิเลสตัณหาได้ ต้องเป็นปัญญาอีกอย่าง คือปัญญาที่มีสมาธิเข้ามาสนับสนุน มาประกบเป็นคู่กัน ถึงเรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” ต้องภาวนาให้ได้สมถะภาวนา ให้ได้สมาธิก่อน พอได้สมาธิได้อุเบกขา แล้วก็เอาปัญญาที่เกิดก่อนนี้ คือสุตตะหรือจินตานี้มาใช้ควบคู่กับอุเบกขา จิตก็จะมีกำลังที่จะตัดกิเลสฆ่ากิเลสได้


ทำไมต้องให้พระสวดอภิธรรมในงานศพ
ถาม: ทำไมต้องให้พระสวดอภิธรรมในงานศพเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นพิธีที่ชาวบ้านหรือเราทำกันขึ้นมาเอง ความจริงไม่มีความจำเป็นต้องสวดเลย ความจริงไม่เกี่ยวกับงานศพเลย ทีนี้ญาติโยมดึงพระมาเกี่ยวข้องเอง เท่านั้นเอง ความจริงงานศพก็คืองานเผาศพ เผาศพมีฟืนมีไฟก็จบ ไม่ต้องมีพระ ใช่ไหม ทีนี้เขาก็อยากจะมีพระ เขาก็เลยจัดให้มีพระ เอาพระมาจะให้มานั่งเฉยๆ มันก็ไม่ดี ก็ต้องสวดอะไรไป สวดไปญาติโยมก็ฟังไม่รู้เรื่องอยู่ดี สวดไม่สวดมันก็เหมือนกัน งั้นมันก็เลยเป็นเพียงพิธีกรรมไปเท่านั้นเอง ไม่มีสารประโยชน์อะไรกับการเผาศพเลย ถ้ามีพระมาสวดแล้วไม่มีไฟไม่มีฟืน งานศพก็ไม่สำเร็จอยู่ดี งานศพสำเร็จได้เพราะมีฟืนมีไฟ มีเมรุ มีพระมาสวด สวดไปจนวันตาย ศพมันก็ไม่กลายเป็นขี้เถ้าไปได้ งั้นมันไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องมีพระเลย เรื่องกับงานศพไม่ต้องมีพระมาสวด แต่เป็นธรรมเนียมที่ทำกันมา เชื่อกันมาว่า จะช่วยให้คนตายได้ไปสวรรค์ ความจริงคนตายนี้ทำบุญให้เขาไม่ได้แล้วเวลาเขาตายไป เขาต้องทำเอง

นี่หลวงตามหาบัวท่านถึงสอนอยู่เรื่อยว่า อย่ามากุสลาตอนที่เราตายแล้วนะ อย่าไปนิมนต์พระมาสวดกุสลาให้เรา กุสลาก็คือบุญกุศลนี่ กุสลาก็คือกุศล ต้องทำตั้งแต่เรายังไม่ตาย ไม่ใช่ตายแล้วมาทำบุญแล้วส่งไปให้เขา ส่งไปได้ก็นิดเดียว ๑ ใน ๑๐๐ เหมือนน้ำที่ค้างอยู่ในแก้ว หลังจากที่เราดื่มน้ำหมดแก้ว แล้วยังมีเศษน้ำอยู่ นั่นแหละคือบุญอุทิศ ได้เท่านั้นเอง ดังนั้นถ้าอยากจะได้น้ำเต็มแก้ว ต้องทำตอนที่เรายังไม่ตาย ทำบุญตั้งแต่ตอนที่เราไม่ตาย จะได้ ๑๐๐ เต็ม ๑๐๐ แล้วเวลาตายเอาไปได้ทั้ง ๑๐๐ เลย แต่ถ้าไม่ได้ทำให้คนอื่นทำให้ ก็ได้แค่ ๑ ใน ๑๐๐


พุทธศาสนาจะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่เลิศที่สุด
ถาม: อยากทราบว่าคนที่เขาเปลี่ยนศาสนาแบบนี้จะเป็นบาปไหมครับ
พระอาจารย์: การเปลี่ยนศาสนาก็เป็นเหมือนการเปลี่ยนรถยนต์แหละ ถ้าคุณขับรถยี่ห้อนี้แล้วคุณไปเห็นรถอีกยี่ห้อหนึ่งมันดีกว่ารถยี่ห้อนี้ คุณจะขับรถยี่ห้อเก่าทำไม มันจะบาปตรงไหน มันไม่บาปตรงไหน เป็นการเปลี่ยน ศาสนาก็เป็นเหมือนรถที่พาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการไป เมื่อรถคันเก่ามันพาเราไปไม่ถึงจุดหมายที่เราต้องการไป เราก็เปลี่ยนรถอีกคันที่มันจะพาเราให้เราไปถึงจุดหมายที่เราต้องการ การมาเปลี่ยนศาสนามาหาพุทธศาสนานี้ก็จะได้รถที่พาเราไปสู่จุดหมายปลายทางที่ไกลที่สุด ถ้าไปศาสนาอื่นก็ไปได้ครึ่งทาง แต่จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ไกลที่สุดที่ดีที่สุดที่เลิศที่สุด


พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 พฤศจิกายน 2563 16:19:49
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97777257942491_123401408_3438508366187090_526.jpg)

ตำแหน่งจุลนายกเกี่ยวกับอะไรทางสงฆ์ครับ
ถาม: พระอาจารย์ครับ ตำแหน่งจุลนายก ตอนที่พระอาจารย์ได้รับตำแหน่งนี้มีหน้าที่อย่างไร และเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับอะไรทางสงฆ์ครับ
พระอาจารย์: เป็นตำแหน่งลอยๆ เพียงแต่ว่ามันเป็นเครื่องประดับยศของสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชนี้ท่านมีสิทธิจะตั้งพระที่มาช่วยงานท่านให้เป็นพระ เรียกว่าราชาคณะ พระเจ้าคุณได้ ๒ รูป คือเป็นปลัดซ้ายกับปลัดขวา ก็เป็นเหมือนเลขา มือซ้ายเลขามือขวาของท่าน แล้วแต่ท่านจะใช้ให้ทำอะไร แต่ท่านตั้งเราแล้ว เราไม่ไปรับใช้ท่าน ท่านก็เลยไม่ได้ใช้เรา เพราะเราไม่เข้าไปหาท่าน ก็เลยมีแต่ตำแหน่งลอยๆ แต่ไม่มีงานทำ นอกจากเป็นเจ้าคุณ ๒ รูปแล้ว รู้สึกท่านตั้งพระครูได้อีกประมาณ ๑๐ รูปด้วยกัน พระครูก็เป็นยศต่ำลงมา เปรียบเทียบเจ้าคุณก็เป็นเหมือนระดับนายร้อย ส่วนพระครูก็ระดับจ่า ระดับนายสิบ พระก็มียศเหมือนกัน


ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากความกลัว
ถาม: โยมเคยถูกญาติหลอกผีจนกลัวจนช็อคจนไม่สบายตั้งแต่วัยเด็ก ความรู้สึกกลัวยังคงติดอยู่ในใจมาตลอด เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่า แต่เมื่อพบกับความมืดก็ไม่กล้าพักที่วัด โยมต้องทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากความกลัวนี้เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องหัดคิดถึงความตายบ้าง พระพุทธเจ้าให้สวดบท “ชะรา ธัมโมมหิ ชะรัง อะนะตีโต” เกิดมาแล้วต้องมีแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ให้คิดอยู่อย่างนี้ แล้วก็ให้บอกตนเองว่าเราไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายไม่ได้เป็นเรา ร่างกายตายเราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เราเป็นดวงวิญญาณที่ไปต่อ ไปด้วยบุญด้วยบาป งั้นขอให้เราคิดอย่างนี้แล้ว ต่อไปความกลัวตายก็อาจจะน้อยลงไป หรือหายไปได้


ขอข้อคิดถึงการที่เราเป็นมะเร็งค่ะ
ถาม: ขอให้พระอาจารย์ให้ข้อคิดถึงการที่เราเป็นโรคภัย เป็นมะเร็งค่ะ เราควรมีวิธีคิดอย่างไรเจ้าคะ ลูกไม่อยากตกอยู่ในคุกความเป็นห่วงเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็พิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่เรา เราไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายเป็นเหมือนคนไข้ เราเป็นเหมือนหมอ เราก็ดูแลร่างกายไป เหมือนหมอดูแลคนไข้ หมอก็ดูแล ให้ยารักษาไป หมอไม่มาวุ่นวายใจกับคนไข้ ใช่ไหม คนไข้จะหายหรือไม่หาย หมอก็ไม่ได้เดือดร้อนมาก พยายามมองว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายมันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา แต่เรานี้ไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ถ้าเรารู้จักฝึกใจให้มีอุเบกขา ให้วางเฉย ถ้าเราวางเฉยไม่ได้เราก็มัวแต่ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา แล้วก็จะเกิดความอยากให้มันดี อยากให้มันไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พอเกิดความอยากมันก็เลยเกิดความทุกข์ทรมานใจ งั้นเราต้องพยายามหยุดความอยากให้ได้ อย่าไปอยากให้มันไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อย่าไปอยากให้มันไม่ตาย ไม่แก่ อยากไม่ได้ เวลามันจะเป็นไม่มีใครไปห้ามมันได้ แต่เราห้ามใจของเราไม่ให้ทุกข์กับมันได้ ทำใจให้เราอย่าไปอยาก ทำใจเฉยๆ มันไม่ใช่ตัวเรา เหมือนกับเรามองร่างกายของคนอื่น ร่างกายคนอื่นเจ็บไข้ได้ป่วย เรารู้สึกเดือดร้อนไหม เราจะเฉย ต้องดู ร่างกายอันนี้ก็เหมือนกับร่างกายของคนอื่น เราอย่าไปถือว่าเป็นของเรา ตัวเรา ถือว่าไม่ใช่ตัวเรา เหมือนกับร่างกายคนอื่น แล้วเราก็จะได้ไม่เดือดร้อนกับโรคภัยไข้เจ็บของร่างกาย มันอยู่ได้ก็อยู่ รักษาให้หายได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้มันจะตายก็ให้มันตายไป เราไม่ได้ตายไปกับมัน เราก็ย้ายบ้านเท่านั้นเอง ร่างกายนี้เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง เมื่อบ้านหลังนี้พังก็ย้ายไปอีกหลังหนึ่ง ดี จะได้ไปถ่ายอวัยวะทั้ง ๓๒ อวัยวะเลย ไม่ต้องมาถ่ายทีละส่วน ถ่ายตับ ถ่ายไต ถ่ายลำไส้ นี่ถ่ายทีเดียว ๓๒ อาการเลย ไปเกิดใหม่ ถ้ายังอยากจะกลับมาเกิด แต่ถ้าเห็นว่าการกลับมาเกิด ก็จะมาเจอปัญหาแบบเดียวกัน ก็ไปบวชซะ แล้วก็ไปฆ่ากิเลสให้มันหมด พอฆ่ากิเลสหมดจากใจ แล้วทีนี้ก็ไม่ต้องกลับมาเกิด ไม่ต้องกลับมาแก่มาเจ็บมาตายอีกต่อไป


ตำแหน่งจุลนายกเกี่ยวกับอะไรทางสงฆ์ครับ
ถาม: พระอาจารย์ครับ ตำแหน่งจุลนายก ตอนที่พระอาจารย์ได้รับตำแหน่งนี้มีหน้าที่อย่างไร และเป็นตำแหน่งเกี่ยวกับอะไรทางสงฆ์ครับ
พระอาจารย์: เป็นตำแหน่งลอยๆ เพียงแต่ว่ามันเป็นเครื่องประดับยศของสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชนี้ท่านมีสิทธิจะตั้งพระที่มาช่วยงานท่านให้เป็นพระ เรียกว่าราชาคณะ พระเจ้าคุณได้ ๒ รูป คือเป็นปลัดซ้ายกับปลัดขวา ก็เป็นเหมือนเลขา มือซ้ายเลขามือขวาของท่าน แล้วแต่ท่านจะใช้ให้ทำอะไร แต่ท่านตั้งเราแล้ว เราไม่ไปรับใช้ท่าน ท่านก็เลยไม่ได้ใช้เรา เพราะเราไม่เข้าไปหาท่าน ก็เลยมีแต่ตำแหน่งลอยๆ แต่ไม่มีงานทำ นอกจากเป็นเจ้าคุณ ๒ รูปแล้ว รู้สึกท่านตั้งพระครูได้อีกประมาณ ๑๐ รูปด้วยกัน พระครูก็เป็นยศต่ำลงมา เปรียบเทียบเจ้าคุณก็เป็นเหมือนระดับนายร้อย ส่วนพระครูก็ระดับจ่า ระดับนายสิบ พระก็มียศเหมือนกัน


เวลาโกรธก็ต้องใช้เมตตา
ถาม: คนที่โทสะเยอะขี้โมโหขี้โกรธและหงุดหงิดง่าย จะแก้ไขอย่างไรบ้างครับ
พระอาจารย์: เวลาโกรธก็ต้องใช้เมตตา ให้อภัยคนที่เราโกรธ อย่าไปเอาเรื่องเอาราวเขาอย่าไปถือสาเขา คิดว่าเขาเป็นเด็กก็แล้วกัน อย่าไปหวังอะไรจากเขา สาเหตุที่ทำให้เราโกรธเกิดจากความหวังความอยากของเรา อยากให้เป็นอย่างนั้นอยากให้เป็นอย่างนี้ พอไม่เป็นเราก็โกรธขึ้นมา งั้นถ้าป้องกันได้ก็ป้องกันด้วยการลดความอยาก อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้น อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนี้ อย่าไปจู้จี้จุกจิก ยินดีตามมีตามเกิด แล้วความโกรธก็จะไม่เกิด ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาก็มี ๒ วิธีหยุดมัน วิธีง่ายก็คือพุทโธ พอโกรธใครขึ้นมาพอรู้ว่าโกรธก็ท่องพุทโธพุทโธพุทโธไป อย่าไปคิดถึงคนหรือเรื่องที่ทำให้เราโกรธ พอพุทโธได้สัก ๕ นาทีมันก็ลืมไป ความโกรธก็หายไป แต่มันหายแบบชั่วคราว เดี๋ยวถ้าไปคิดหรือไปเจอคนหรือเรื่องที่ทำให้เราโกรธอีกก็จะโกรธขึ้นมาใหม่ได้ วิธีที่จะทำให้ความโกรธนี้หายไปอย่างถาวรก็คือต้องใช้ปัญญาว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เราควบคุมบังคับไม่ได้ เขาจะทำอะไรเขาจะเป็นอะไรเขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น เราไปห้ามเขาไม่ได้ เมื่อเราห้ามเขาไม่ได้เราก็จะได้ไม่ไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอเราไม่อยากเราก็จะไม่โกรธเขา


ทำตัวเราให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้ว
ถาม: ดิฉันมีศรัทธาแต่ขาดความเพียร มีอัตตาสูง จึงปฏิบัติธรรมไม่ได้ผล กราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์เจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ก็ต้องลดอัตตาลง ทำตัวเราให้เป็นเหมือนผ้าขี้ริ้วหรือเหมือนปฐพี ความจริงร่างกายมันก็ทำมาจากดินน้ำลมไฟนี่ ร่างกายมันก็เป็นส่วนหนึ่งของปฐพีอยู่แล้ว แต่ความหลงหลอกให้เราคิดว่าเรา โอ๊ย สูงใหญ่โตอย่างนั้นอย่างนี้ แต่นี่มันเป็นโมหะความหลงที่เราใช้ความจริงมาแก้ได้ ความจริงก็คือร่างกายเราเป็นดิน งั้นทำตัวเราให้ติดดินดีกว่า ใครจะเหยียบจะย่ำอะไรก็ไม่ถือสาไม่โกรธเคือง แล้วมันก็จะทำให้เราไปปฏิบัติธรรมได้


อยู่ที่บุญ ไม่ใช่อยู่ที่สะพานบุญ
ถาม: ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว เราทำสังฆทานให้ แต่บางท่านบอกว่า เอ๊ะ ไม่ได้เพราะว่ายังฝันเห็นญาติอยู่ นั่นหมายถึงว่าสะพานบุญ หมายถึงพระบางรูปไม่ได้ปฏิบัติแบบเต็มที่ นั่นหมายถึงว่าญาติเราก็จะไม่ได้ ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช่หรอก ความฝันของเรามันไม่ได้เป็นความจริงหรอก เราคิดถึงเขา เราก็ฝันถึงเขาได้ ไม่ได้หมายความว่าเขามาหาเรา ทีนี้เราเพียงแต่ทำเผื่อไว้ เท่านั้นเอง ว่าเผื่อบางทีเราฝันแล้วเขามาหาเราจริงๆ ตามที่เราฝัน เราก็จะได้ทำบุญส่งไปให้เขาได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว บางทีเขาไม่ได้มาเข้าฝันเราหรอก เราคิดถึงเขาเอง ถ้าอยากจะรู้ว่าเขาเข้ามาจริงหรือไม่ต้องคุยกับเขาได้ ลองถามสารทุกข์สุขดิบสิว่า “ตอนนี้อยู่ที่ไหน แล้วเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีรึเปล่า จำชื่อเราได้รึเปล่า จำชื่อเขาได้รึเปล่า นี่ต้องคุยกัน ไม่ใช่ วุ้บแว็บ ฝันแล้วก็มาตู่ว่าเขามาเข้าฝันเรา งั้นไม่เกี่ยวหรอก เรื่องสะพานบุญไม่เกี่ยว ทำบุญกับใครก็ได้  อยู่ที่การเสียสละแบ่งปันของเรา อยู่ที่บุญนะ ไม่ใช่อยู่ที่สะพานบุญ


คนเห็นแก่ตัวเป็นคนที่มีกิเลส
ถาม: คนที่จิตใจแข็ง โนสน โนแคร์ ไม่สนใจใคร เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ถือเป็นคนโชคดีมีบุญหรือเปล่าครับ เพราะไม่ต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งทางใจเลย และไม่ต้องฝึกเจริญสติให้เสียเวลาด้วย
พระอาจารย์: ไม่จริงหรอก คนที่เห็นแก่ตัวนี้เป็นคนที่มีกิเลส ไม่ใช่เป็นคนที่สิ้นกิเลส คนที่สิ้นกิเลสนี้จะไม่เห็นแก่ตัว จะมีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง งั้นการที่มีความเห็นแก่ตัวนี้อย่าไปคิดว่าตัวเองจะเก่ง เดี๋ยววันใดวันหนึ่งก็อาจจะเจอเหตุการณ์ที่ตนเองไม่สามารถที่จะรับได้ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาร่างกายแก่เฒ่า เวลาร่างกายจะตายนี้ คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นใครในโลกนี้จะต้องหวาดผวากัน ต้องหวาดกลัว


ในที่สุดก็ต้องไปนอนในโลง
ถาม: เมื่อคืนนั่งสมาธิแล้วเกิดอาการปวดขา จึงนึกกำหนดขาตัวเองเป็นขาศพ เป็นกระดูก จากนั้นจู่ๆ ก็เกิดภาพโครงกระดูกซ้อนทับกับร่างกายเรา อยากสอบถามพระอาจารย์ว่าเราควรพิจารณาอย่างไรต่อไปเจ้าคะ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นนิมิตที่หลอกเราหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันก็เป็นภาพอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นภาพที่ตรงกับความเป็นจริง ก็ไม่หลอกเรา เรามีกระดูกหรือเปล่าล่ะ ถ้าภาพกระดูกโผล่ขึ้นมาก็แสดงว่า เราสามารถมองทะลุใต้ผิวหนังไปได้ ก็แสดงว่าเป็นความจริง เป็นความจริงที่เราควรจะเอามาเจริญต่อ หลังจากออกจากสมาธิแล้ว เราก็พยายามนึกถึงกระดูก โครงกระดูกที่มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน แต่พวกเราไม่เห็นกัน จึงทำให้เราไปหลงคิดว่าเขาเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ถ้าเห็นโครงกระดูกแล้วต่อไปก็บอกว่ามันก็เป็นแค่โครงกระดูกเท่านั้น ที่ให้เป็นนั่นเป็นนี่ก็เพียงแต่สมมุติแต่งตั้งกันขึ้นมา เป็นนายก เป็นรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นดารา เป็นนางงาม มันก็แค่กระดูกนี่เอง ถ้าเราเห็นกระดูกแล้ว ต่อไปมันจะเห็นว่ามันไม่มีอะไรในโลกนี้ ไอ้ที่มีนี่เราไปหลงไปตั้งไปคิดกันขึ้นมาเองเท่านั้น เป็นดารา เป็นประธานาธิบดี เป็นอะไรก็แล้วแต่ ความจริงมันก็เป็นแค่กระดูกนี่เอง ที่ในที่สุดก็ต้องไปนอนในโลง ถ้าเห็นอย่างนี้มันจะได้ปลงได้ ความหลงความอยากต่างๆ ของเราจะได้หมดได้ ต่อไปก็ไม่อยากเป็นดารา ไม่อยากเป็นประธานาธิบดี ไม่อยากเป็นอะไร เพราะมันก็เป็นของปลอมทั้งนั้น ของจริงก็คือเป็นโครงกระดูกนี่เอง จะเป็นอะไร


ของที่เราให้ไปแล้วอย่าไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา
ถาม: แม่ของดิฉันไปวัดทุกวันพระ พอไปก็พูดเรื่องคนนู้นนินทาคนนี้ ไปคุยอวดร่ำอวดรวย กลับมาบ้านก็บอกว่าพระไม่ฉันกับข้าวของตัวเอง อย่างนี้ไปทำบุญจะได้บุญไหมคะ รบกวนหลวงพ่อพูดเตือนคุณแม่ให้หน่อยเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ได้ แต่ไม่ได้เต็ม ๑๐๐ การทำบุญนี้เราไปเพื่อเสียสละแบ่งปัน ของที่เราให้ไปแล้วนี้เราอย่าไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา เขาจะเอาไปทำอะไรก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นของคนที่เขารับไปแล้ว เขาจะไปให้คนอื่นต่อก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเราไปคอยเฝ้าดูว่าของเรา ท่านหยิบไปแล้ว ท่านเอาไปทำอะไร กินหรือเปล่า หรือเอาไปให้คนที่เราไม่ชอบ พอไปให้คนที่ไม่ชอบก็เลยเสียใจหรือเกิดความโกรธขึ้นมา อย่างนี้ก็ทำให้บุญที่ได้นี้ คือได้กิเลสมากลบเอาไว้ บุญที่เราทำก็ได้ แต่ว่ามันไม่ได้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มันยังมีกิเลสตัณหา ยังมีความอยากให้เขากินของเรา ใช้ของเราอยู่ พอเขาไม่ได้ใช้เราก็เลยเสียใจ ทุกข์ขึ้นมา
งั้นอย่าทำอย่างนี้ ทำแล้วยกให้เขาไปแล้ว เขาจะทำอะไรเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ของเราแล้ว ต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา แล้วจะได้บุญมาก แล้วไปวัดก็อย่าไปนินทากาเลกัน ไปวัดเพื่อไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปทำใจให้สงบ ไม่ใช่เวลาพระเทศน์ก็นั่งคุยกัน แล้วนินทากัน อย่างนี้ไม่ได้บุญ ถ้าอยากได้บุญระดับศีล ก็คือต้องสำรวมวาจา อย่าพูดจาเละเทะ อย่าพูดนินทากัน อย่าพูด เขาเรียกว่าเพ้อเจ้อ งั้นพยายามระงับวาจา ไปเข้าวัดนี้พยายามพูดให้น้อยที่สุด เป็นการสำรวมกายสำรวมวาจา จะได้บุญได้กุศลจากการไปวัดอย่างเต็มที่


สมาธิยังไม่สมบูรณ์ก็เหมือนคนที่ยังกินข้าวไม่อิ่ม
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ การที่เราปฏิบัติจิตตภาวนา การทำสมาธิถึงขั้นอัปปนา จะต้องทำจนชำนาญเข้าออกได้ตลอดเวลา ถึงจะออกไปพิจารณาทางด้านปัญญา ถ้าหากไม่ชำนาญแล้ว เร่งรีบออกไปพิจารณาทางปัญญา จะเป็นการข้ามขั้นตอนของการปฏิบัติจิตตภาวนาหรือเปล่าครับ และอาจจะไม่ได้ผล
พระอาจารย์: ไม่ได้ผลหรอก เพราะว่าถ้าสมาธิยังไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนคนที่ยังกินข้าวไม่อิ่ม คนกินข้าวไม่อิ่มให้ขึ้นไปชกมวย เดี๋ยวก็โดนคู่ชกชกเอา แต่ถ้าจะให้ชกชนะ ต้องให้นักมวยกินข้าวให้อิ่มก่อน ให้มีกำลังวังชาก่อน พอมีกำลังวังชา ทีนี้พอขึ้นไปชกกับคู่ต่อสู้ก็จะได้มีกำลังสู้กับคู่ต่อสู้ได้ ต้องมีอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาอยู่ในสมาธิ เวลาออกมาก็จะต้องสงบเหมือนกับอยู่ในอัปปนาสมาธิ ยังมีอุเบกขาอยู่ ใจยังเฉยต่อความรักชังกลัวหลงอยู่ อันนั้นแหละถึงจะสู้กับกิเลสได้ ถ้าออกมายังมีรักอยู่ เดี๋ยวเห็นอะไรชอบก็อ่อนใจแล้ว อยากได้ขึ้นมาแล้ว อยากแล้วก็ไม่ยอมหยุดความอยาก ต้องเอาให้ได้ ก็เลยฆ่ากิเลสไม่ได้ ฆ่าความอยากไม่ได้ แต่ถ้าจิตมีอุเบกขาแล้ว พอพิจารณาเห็นเป็นไตรลักษณ์แล้ว ก็ไม่เอา ความอยากก็จะไม่เกิด



"ธรรมะหน้ากุฏิ"
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 พฤศจิกายน 2563 15:37:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/77109054641591_121554729_3394898647214729_475.jpg)

ทำไมคนเราต้องทุกข์ครับ

ถาม: ทำไมคนเราต้องทุกข์ครับ
พระอาจารย์: เพราะกิเลสไง เพราะความอยาก เพราะความโกรธนี้ทำให้เราทุกข์ ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์ เราก็อย่าไปโลภ อย่าไปโกรธ เห็นอะไรก็อย่าไปอยากได้ ใครพูดอะไรก็อย่าไปโกรธเขา ใจก็จะไม่ทุกข์


อยู่คนเดียวอย่างไรให้อยู่ได้โดยไม่เหงาไม่ฟุ้งซ่าน
ถาม: การตั้งใจครองโสดอยู่คนเดียว ทำอย่างไรให้อยู่ได้โดยไม่เหงาไม่ฟุ้งซ่านคะ เพราะบางทีจะมีความคิดเหงาอยู่ อยากมีคู่ครองเหมือนคนอื่นเข้ามาแทรกเป็นบางครั้งค่ะ
พระอาจารย์: ก็ต้องหาความสุขจากการทำใจให้สงบ ฝึกสมาธิ ฝึกเจริญสติ นั่งสมาธิ แล้วก็หมั่นพิจารณาอสุภะ ความไม่สวยงามของร่างกาย ความไม่น่าดูน่าชมของร่างกาย ดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย อย่าดูแต่เฉพาะข้างนอก ให้ดูข้างในด้วย ร่างกายเรามีทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ถ้าเราเห็นส่วนที่อยู่ข้างในมันก็จะทำให้ความรู้สึกอยากจะมีแฟนมันหายไป แล้วความเหงามันก็จะหายไป แต่ถ้าหยุดความอยากนี้ไม่ได้มันก็จะรู้สึกเหงา รู้สึกว้าเหว่เวลาอยู่คนเดียว งั้นต้องหมั่นฝึกสติ นั่งสมาธิ แล้วก็หมั่นพิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ แล้วก็จะอยู่คนเดียวได้


ไม่นอนทั้งกลางวันและกลางคืน

ถาม: การฝึกไม่นอนตอนกลางคืนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างครับ บางช่วงก็นั่งยืนเดินหลับแต่หลังไม่ติดพื้น จะได้ประโยชน์ได้บุญบ้างไหมครับ
พระอาจารย์: คือการฝึกไม่นอนนี้ไม่ใช่เฉพาะตอนกลางคืนนะ คือไม่นอนทั้งกลางวันทั้งกลางคืน คือต้องการใช้เวลาปฏิบัติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เขาถึงถือ ๓ อิริยาบถ คือท่ายืน ท่านั่ง แล้วก็ท่าเดิน ท่านอนจะไม่ใช้ ถ้าจะหลับก็ให้มันหลับท่านั่งอะไรไปเพื่อจะได้หลับไม่นาน เพราะถ้านั่งหลับเดี๋ยวอย่างมากก็ชั่วโมงมันก็ตื่นแล้ว พอตื่นก็จะได้รีบปฏิบัติธรรมต่อ นี่คือความหมายของการไม่หลับไม่นอน การถือ ๓ อิริยาบถ ไม่ใช่ไม่นอนตอนกลางคืนแล้วก็ไปนอนตอนกลางวันแทน มันก็ไม่ต่างกันหรอก มันก็เปลี่ยนช่วงนอนจากกลางคืนไปเป็นกลางวัน อันนี้ไม่นอนทั้งกลางวันและกลางคืน


คนที่เนรคุณถือว่าผิดศีลหรือไม่เจ้าคะ

ถาม: คนที่เนรคุณนี้ถือว่าผิดศีลหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ผิดศีลหรอก เป็นคนที่ไม่มีจิตสำนึกที่ดี ไม่รู้คุณของผู้อื่น แต่ถ้าเนรคุณหมายถึงไปทำร้ายผู้มีพระคุณก็ผิดศีล แต่ถ้าไม่ตอบแทนบุญคุณนี่ไม่ถือว่าผิดศีล บางทีไม่มีโอกาส ไม่มีความสามารถก็ไม่ได้ตอบแทนบุญคุณ อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเนรคุณ เขาเรียกว่าอกตัญญู แต่ถ้าเนรคุณนี้หมายถึงทำร้ายผู้มีพระคุณ อย่างนี้ก็บาป เช่นไปทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจหรือทำให้เขาทุกข์ทางร่างกาย หรือขโมยทรัพย์สินของเขา หรืออะไรที่เป็นบาปมันก็เป็นบาป ถ้าการกระทำที่ไม่เป็นบาป มันก็ยังไม่เป็นบาปแต่มันอาจจะเป็นการเนรคุณ เช่น ไปด่าเขาอย่างนี้ ด่าผู้มีพระคุณ อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นบาปแต่มันก็เป็นวาจาที่ไม่ควรพูด


วิธีให้พระพุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่

ถาม: พระอาจารย์มีวิธีที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเข้ามาให้คนรุ่นใหม่มากขึ้นไหมคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็เมื่อก่อนนี้เขามีหลักสูตรพุทธศาสนาอยู่ในโรงเรียน แต่สมัยนี้เขาตัดออกไปหมด มันก็เลยไม่มีใครสอนพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของกระแสของทางโลก กระแสของทางโลกนี้ต้องการความเจริญทางวัตถุ ทางกิเลสตัณหา อยากจะทำอะไรตามใจชอบ อยากจะกินเหล้า อยากจะเที่ยว อยากจะประพฤติผิดประเพณี แต่ถ้ามาศึกษาทางศาสนา ก็จะไปขัดกับกิเลสเขา เขาก็เลยไม่เข้าหาศาสนากัน งั้นเราไม่สามารถที่จะไปปรับกระแสของโลก ของสังคมได้ มันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน
สิ่งที่เราทำได้ก็คือปรับใจเรา ตัวเราคนเดียวนี่ ให้เราเข้าหาพระพุทธศาสนาไว้ก็แล้วกัน เพราะถ้าเรามีพระพุทธศาสนา เราก็จะได้รู้ว่าเราควรจะทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ส่วนคนอื่นเขาจะไม่รู้ไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของกรรมของสัตว์ไป แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของตน เขาอยากจะกินเหล้า จะไปบอกเขาว่ากินเหล้าไม่ดี เขาก็ไม่ฟัง เขาจะไปประพฤติผิดประเวณี ไม่ดี เราไปบอกเขา เขาก็ไม่ฟังเรา งั้นก็ต้องปล่อยเขาเป็นไปตามความอยากของเขา ตามความเห็นของเขา เพราะเขาไม่เห็นว่าผู้ที่รับผลบุญผลบาปคือใจ ที่ไม่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนร่างกาย เขาอาจจะคิดว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วจบ แต่ทางศาสนาว่าตายแล้วไม่จบ บุญบาปที่ทำไว้ยังมีผลต่อไป คือเราไม่ได้เป็นร่างกาย เราเป็นจิตใจที่จะต้องรับผลบุญผลบาปต่อไป งั้นเรื่องของคนอื่นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ นอกจากเขาอยากจะให้เราช่วย เราก็บอกเขาได้ แต่ถ้าเขาไม่สนใจ ก็เหมือนเทน้ำใส่แก้วที่มันคว่ำอยู่ เทไปมันก็ไม่เข้าไปในแก้ว ถ้าใจเขาไม่สนใจพุทธศาสนา ไปพูดยังไงเขาก็ไม่ฟัง


ไม่ต้องไปเสียดายหรอกเพื่อนที่ไม่ดี

ถาม: ผมรู้สึกว่า ฟังธรรมเรื่องการคบเพื่อนครับว่าให้คบคนที่ดีครับ บางทีรู้สึกว่าสับสนมากเลย ว่าเราควรคบใครดีเพราะบางคนก็เหมือนกับว่าดีแล้วก็ไม่ดีครับ เพราะเราอยากจะก้าวหน้าทางธรรมะนี่ครับ เราจะหาเพื่อนที่คุยกันเข้าใจยากมาก ในวัยเดียวกัน
พระอาจารย์: ก็คบคนที่ดี คือคนที่มีศีลมีธรรม คนที่ไม่เสพอบายมุขเป็นคนดี คนที่เสพอบายมุขนี่ถือว่าเป็นคนไม่ดี เพราะอบายมุขนี้มันจะพาให้เราไปสู่ความหายนะต่อไปได้ งั้นถ้าเขาชวนเราไปดื่มสุรา เราก็ไม่ควรจะไปกับเขา ชวนเราไปเล่นการพนัน ชวนเราไปเที่ยว ชวนให้เราเกียจคร้าน เราก็อย่าไปทำกับเขา รู้จักกันได้ คบค้ากันได้ แต่ไม่ควรไปทำกิจกรรมที่มันเสียหายกับเขา มันจะยากเพราะบางทีเราเกรงใจเขา พอเราคบกับเขา สนิทกับเขา พอเขาชวนเราไป ถ้าไม่ไป เขาก็พูด เอ๊ย เพื่อนฝูงอย่างนู้นอย่างนี้ เราใจอ่อน
เราต้องเข้มแข็ง เราต้องรักตัวเรามากกว่ารักเพื่อน เพื่อนหาใหม่ได้ เสียเพื่อนคนนี้เดี๋ยวหาเพื่อนคนใหม่ได้ แต่เสียตัวเรานี้ยาก ดึงตัวเราให้กลับมาดียากนะ ถ้าเสียแล้ว รักตัวเราให้มากกว่ารักเพื่อน ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นเรื่องของการเห็นแก่ตัว เป็นเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวเราไว้ก่อน เพื่อนนี้มีเป็นหมื่นเป็นแสนคนในโลกนี้ ไม่ต้องไปเสียดายหรอก เพื่อนที่ไม่ดี ถ้าเขาชวนเราไปทำอบายอย่างนู้นอย่างนี้ ตัดไปได้ ชวนเราไปทำบาปอย่างนี้ อย่าไปโดยเด็ดขาด แต่ก็ยังคบกันได้ ไม่ต้องเกลียดกัน แต่พอจะต้องมีจุดยืนของเราแล้ว ถ้าชวนเราไปเสพอบายมุข ไม่ไป ชวนเราไปทำบาป ไม่ไป เอาแบบนี้ก็แล้วกัน ไม่งั้นเดี๋ยวเราไม่รู้จะไปคบใครดี คบได้เพราะเราต้องเจอคนเยอะแยะในชีวิตของเรา ก็คบกันได้ ทักทายกันได้ ชวนไปกินข้าวก็ไปกินกันได้ ชวนไปทำในสิ่งที่ไม่เสียหาย ก็ไปได้ แต่พอชวนให้เราไปทำในสิ่งที่เสียหาย เราก็อย่าไป
ถาม: ถ้าเป็นเหตุการณ์ เป็นเรื่องที่เขาชวนไปละครับ หลวงพ่อ
พระอาจารย์: ดูพฤติกรรม ดูกิจกรรมที่เราจะไปทำ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เสียหายก็อย่าไปทำ เพียงแต่ว่าเราไปสนิทกับเขาแล้วบางทีเราเกรงใจเขา เราอย่าไปเกรงใจเขา ต้องตัด เราต้องตัดใจเมื่อถึงเวลาที่เขาจะชวนเราไปในทางที่ไม่ดี เราต้องตัดทันที อย่าไปเสียดาย ถ้าไปทำผิดแล้วมันแก้ยาก เปลี่ยนเพื่อนล่ะง่ายกว่า คนนี้ไม่ดี เขาไม่อยากจะคบกับเรา ก็ช่วยไม่ได้ ก็ปล่อยเขาไปนะ เพราะมีคนตั้งเยอะแยะในโลกนี้ นี่เข้ามาในนี้ได้เจอแต่คนดีทั้งนั้นเลย ที่เข้ามาฟังธรรมนี้ โอเคนะ


พยายามทำใจให้เป็นกลาง
ถาม: ถ้าเราไม่ชอบคบกับใคร ไม่ชอบมีเพื่อน รู้สึกวุ่นวายใจ บางครั้งก็เจอคนชอบ อิจฉาบ้าง เอาเปรียบบ้าง ไม่จริงใจบ้าง รู้สึกวุ่นวาย ไม่เกิดประโยชน์ต่อใจ ข้าพเจ้าคิดผิดหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: คือถ้าเราไม่ทุกข์กับมันก็ไม่ผิด แต่ถ้ามันทุกข์ บางทีเรายังต้องเจอคนอยู่ งั้นเราไม่ชอบไปเจอ เราก็ทุกข์ อย่างนี้ก็ผิด ถ้าถึงเวลาที่ต้องเจอ ก็ต้องลดความไม่ชอบลง แล้วก็อยู่กับเหตุการณ์นั้นไป แต่ถ้าเราไม่มีความจำเป็นจะต้องไปเจอใคร ชอบอยู่คนเดียวอย่างนี้ก็ไม่ผิด งั้นต้องรู้ว่าอย่าให้มันสร้างความทุกข์ในใจของเราก็แล้วกัน ถ้าบางทีเรายังต้องอยู่กับคนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือเป็นโยมก็ต้องอยู่กับคนอยู่ดี มาบวชก็ต้องอยู่กับพระด้วยกัน ถ้าอยากจะอยู่คนเดียวอย่างเดียว ไม่อยากจะเจอใครเลย เวลามาเจอกันก็ทุกข์ ทุกข์อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นกิเลสอยู่ งั้นต้องรู้จักวางใจเฉยเป็นอุเบกขา เป็นกลาง อยู่ระหว่างความชอบกับความไม่ชอบ ชอบก็ไม่ดี ไม่ชอบก็ไม่ดี เฉยๆ ดีที่สุด ดังนั้นพยายามมาฝึกใจให้อยู่เฉยๆ เบื้องต้นก็เอาไม่ชอบก่อน ไม่ชอบเพราะเราจะได้ไปอยู่คนเดียว ไปปลีกวิเวก ไปทำใจให้เฉยๆ ก่อน พอเราทำใจเฉยๆ ได้แล้ว ทีนี้เราจะไปอยู่กับใครเราก็อยู่ได้ อยู่กับคนที่ชอบเราก็อยู่ได้ อยู่กับคนที่ไม่ชอบเราก็อยู่ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นมนุษย์ที่จะอยู่คนเดียวได้ตลอดเวลา คือบางเวลาที่เราจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดก็คือพยายามทำใจให้เป็นกลาง ระหว่างชอบกับไม่ชอบ



"ธรรมะหน้ากุฏิ"
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 30 พฤศจิกายน 2563 15:21:40
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84461761679914_127809040_3504567936247799_720.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80825438019302_127165199_3497761620261764_690.jpg)

พระอรหันต์มีความรู้สึกทางใจเกิดขึ้นหรือไม่
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ พระอรหันต์นี้ เวลามีสิ่งมากระทบท่านจะมีความทุกข์หรือมีความรู้สึกทางใจเกิดขึ้นไหมคะ สาธุค่ะ
พระอาจารย์ อ๋อ ทางใจไม่มีหรอก แต่ทางร่างกายก็ยังถูกกระทบได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าเดินทางไกลหิวน้ำก็ยังต้องบอกให้พระอานนท์พระอุปฐากไปตักน้ำมาถวายให้ท่านดื่ม เพราะร่างกายไม่ว่าจะเป็นของใครก็เหมือนกัน ร่างกายของปุถุชน ร่างกายของพระพุทธเจ้าก็เป็นร่างกายอันเดียวกัน หิวข้าวเหมือนกัน หิวน้ำเหมือนกัน เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน เพียงแต่ใจไม่ได้ไปทุกข์กับความหิวความเจ็บของทางร่างกายถ้าเป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นปุถุชนนี้จะไปเจ็บด้วย ร่างกายเจ็บใจก็เจ็บไปด้วย บางทีร่างกายยังไม่ทันเจ็บใจเจ็บไปก่อนแล้ว หมอบอกเดี๋ยวจะฉีดยาให้เข็มหนึ่งนี้ยังไม่ทันฉีดเลย ใจเจ็บไปก่อนแล้ว นี่โรคยังไม่ได้เป็นเลยใจวุ่นวายไปก่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นี้ท่านจะเฉยๆ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย เพราะมันเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น ท่านปล่อยวางได้แล้ว


จิตมีสติน้อย
ถาม: นั่งสมาธิบางครั้งหลับไปเลยก็มี หรือฟังธรรมอยู่ดีๆ ก็หลับไปเลย ทำอย่างไรมันเหมือนจิตเบา
พระอาจารย์: คือจิตเรามีสติน้อย หรือรับประทานอาหารมากเกินไป พออิ่มแล้วเวลาทำอะไรมันก็จะง่วง งั้นถ้าจะฟังธรรมหรือเวลาปฏิบัติธรรมนี้ควรจะรับประทานอาหารพอประมาณ จะได้ไม่อิ่มเกินไป ถ้ายังอิ่มอยู่ ยังง่วงอยู่ ก็ให้ลุกขึ้นมาเดินก่อน เดินจงกรมไปก่อน เดี๋ยวนี้จะฟังธรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็เดินจงกรมไปฟังไปก็ได้ เสียบหูฟังไว้แล้วก็เดินจงกรมไป แล้วก็ฟังไป ก็จะไม่ง่วง จะไม่หลับ เดินไปจนกว่ามีสติดีแล้วจึงค่อยกลับมานั่งใหม่


นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาครับ
ถาม: นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาครับ
พระอาจารย์: อ๋อ นิพพานเป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง


อยากเป็นโสดาบัน ไม่เป็นกิเลส
ถาม: มีความอยาก แล้วอยากเป็นโสดาบัน แล้วก็เหมือนกับว่าอยากเป็นซีอีโอ มันก็เลยเป็นความรู้สึกคล้ายๆ กัน แล้วก็มุ่งมั่นไปในอนาคตมากกว่าอยู่กับปัจจุบัน มันก็เลยมีการขัดแย้งกันในตัวเองครับว่า จะต้องบอกตัวเองว่าไม่ให้อยาก แล้วก็ไม่ให้เป็น โสดาบัน แต่มันก็อยากเป็นอย่างนั้น มันก็เลยเป็นการขัดแย้งกัน จะออกจากรูปแบบนี้อย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ความอยากเป็นโสดาบันนี้ไม่เป็นปัญหาอะไร เป็นธรรมะ เพราะถ้าไม่อยากเป็น มันก็ไม่ปฏิบัติธรรม ใช่ไหม แต่ว่ามันเป็นจุดเริ่มต้น เหมือนอยากจะออกจากบ้านนี่ มันก็ต้องเป็นจุดเริ่มต้น ไม่งั้นมันก็ไม่ได้ออกจากบ้าน มันก็อยู่ในบ้าน ใช่ไหม ทีนี้พอเราอยากออกจากบ้านแล้ว เราก็ต้องไปทำตามที่เราต้องการคืออะไร ก็ออกเดินทางไปสิ ใช่ไหม คือเหมือนกัน ขณะที่คุณเดินทางคุณก็อย่าไปอยากให้มันถึงเมื่อมันยังไม่ถึง คุณก็เดินทางไปเรื่อยๆ ขับรถไปเรื่อยๆ หรือขึ้นรถอะไรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ความอยากมันเป็นจุดเริ่มต้น มันเป็นฉันทะ ถ้ามีฉันทะแล้วก็มีวิริยะ ใช่ไมหม ความเพียร ความเพียรที่จะทำตามความอยาก
เราก็อย่าเอาความอยากมาขวางกั้นความเพียรก็แล้วกัน อยากอย่างเดียวแต่ไม่มีวิริยะ เมื่ออยากแล้วก็ต้องศึกษาว่าเป็นโสดาบันเขาทำยังไง ละสังโยชน์ ๓ ข้อ จะใช้อะไรละ ก็ต้องใช้ปัญญา ปัญญาระดับไหนล่ะ ปัญญาระดับภาวนามยปัญญา ก็ต้องไปสร้างภาวนามยปัญญาขึ้นมา ภาวนามยปัญญาก็ต้องมีสมาธิ มีอัปปนาเป็นผู้สนับสนุน ก็ต้องไปฝึกสมาธิทำจิตให้รวมเป็นอัปปนา แล้วก็มาพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขันธ์ ๕ ถ้าพิจารณาเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ปล่อยวางความอยากในขันธ์ ๕ ได้ มันก็จบ ต้องปฏิบัติ ความอยากนี้เป็นจุดเริ่มต้น ไม่เป็นไร แต่อย่าไปอยากเฉยๆ อยากแล้วไม่ออกไปปฏิบัติมันก็ไม่ได้ เวลานั่งสมาธิก็นั่งไป มีหน้าที่จะทำสมาธิก็ทำไป แต่อย่าไปอยากให้จิตรวม อย่าไปอยากให้มันเป็นอะไร
เวลานั่งนี้ไม่ให้คิดอะไร ให้รู้เฉยๆ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก จนกว่าจิตจะรวมเป็นอัปปนาสมาธิ ก็จะได้อุเบกขา พอได้อุเบกขา ออกจากสมาธิมาก็พิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ได้ พอเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา เราก็ปล่อยมันไป อย่าไปอยากให้มันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เราก็ไม่ทุกข์กับมัน ต้องปฏิบัติ ต้องมีฉันทะก่อน ต้องมีความอยากเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าอยากจะหลุดพ้นใช่ไหม ท่านถึงสละราชสมบัติ ถ้าท่านไม่อยากจะหลุดพ้น ท่านก็อยู่ในวังต่อไปสิ แต่พอออกมาแล้ว ท่านก็ไม่ได้มานั่งอยาก ท่านก็มาทำหน้าที่เพื่อให้หลุดพ้น ท่านก็ไปบวช ถือศีล ไปเรียนสมาธิกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สมัยนั้นก็สอนได้แค่ระดับสมาธิ ปัญญาไม่มีใครรู้ ท่านก็เลยต้องไปค้นคว้าหาด้วยตนเอง จนในที่สุดก็พบอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ ท่านก็เลยหลุดพ้นได้ เข้าใจหรือยัง
ความอยากนี้ไม่เสียหาย เพียงแต่ต้องรู้ว่ามันมีหน้าที่ทำอะไร มันมีหน้าที่ปลุกระดมให้เราออกปฏิบัติก่อน ถ้าเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ยกธงขาว พอเปลี่ยนใจไม่อยากเป็นโสดาบันแล้ว มันก็อยากจะกลับไปเป็นโยมอย่างนี้มันก็ลาสิกขาไป เปลี่ยนเป้าใหม่ ความอยากนี้เป็นการตั้งเป้าหมาย อยากเป็นโสดาบัน อยากจะไปอยุธยาอย่างนี้ ต้องมีเป้าหมาย พอมีเป้าหมายแล้วก็ออกเดินทางไปที่อยุธยา ถ้าอยากแบบนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วก็อยากไปเรื่อยๆ อยากให้มันเป็น โดยที่ไม่รู้ว่าทำยังไงให้มันเป็น อยากเป็นแบบสุ่มเดาไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นเหตุเป็นผลนะ ต้องอยากมีเหตุมีผลนะ ทุกอย่างมีเหตุมีผล ท่านสอนทุกอย่าง ผลเกิดจากเหตุ
โสดาบันเกิดจากอะไร เกิดจากการละสังโยชน์ ๓ การละสังโยชน์เกิดจากอะไร เกิดจากปัญญา ปัญญาต้องเกิดจากอะไร ต้องมีสมาธิสนับสนุน ภาวนามยปัญญา ก็ไปสร้างสมาธิขึ้นมา ไปสร้างอัปปนาสมาธิ พอได้แล้วก็เอาปัญญา ไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ มาสอนใจให้ปล่อยวาง เท่านั้นเอง ปล่อยวางขันธ์ ๕ ตอนนี้เราไปยึดติดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเราของเรา อยากให้มันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ความจริงเราไปห้ามมันได้ไหม ความแก่ความเจ็บความตาย อยากไปก็ทุกข์ไปเปล่าๆ ใช่ไหมเวลามันแก่ แต่ถ้าไม่อยากแล้วมันจะทุกข์ไหม ไม่ทุกข์แล้วล่ะ แก่ก็แก่ไปสิ เจ็บก็เจ็บไปสิ ตายก็ตายเลย ต้องไปทำข้อสอบ ๓ ข้อนี้ ทำได้หรือเปล่า เวลาร่างกายเจ็บ เฉยๆ ได้รึเปล่า ปล่อยวางได้หรือเปล่า เวลาร่างกายจะตาย ปล่อยวางได้หรือเปล่า นี่เรียกว่าเป็นการละสักกายทิฏฐิ เข้าใจหรือยัง
ถาม: เข้าใจครับผม กราบสาธุครับ
พระอาจารย์: คนบางคนนี่ปรารถนามรรคผลนิพพานทั้งนั้นแหละ เพราะคำว่า “ภิกษุ” แปลว่าอะไร รู้หรือเปล่า
ถาม: ออกบวชครับ บวชครับ ทำให้นิพพานแจ้งครับ
พระอาจารย์: เออ คำว่า “ภิกษุ” นี้คือผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ใช่ไหม
ถาม: ครับ
พระอาจารย์: ไอ้นี่ก็คือความอยากแล้ว อยากจะออกจากวัฏฏะสงสาร แล้วมันผิดตรงไหน มันไม่ผิด ถ้าไม่อยากออกจากวัฏฏะสงสาร ก็ไม่มาบวชสิ ก็อยู่เป็นฆราวาสไป หาลาภยศสรรเสริญสุขสิ เอาล่ะนะ มีอะไรอีกไหม
ถาม: จิตชอบไปอยู่ในอนาคตครับ แล้วก็ต้องบอกจิตให้อยู่กับปัจจุบันครับ
พระอาจารย์: พุทโธพุทโธพุทโธ ใช้กัมมัฏฐานดึงไว้ ท่องบริกรรมพุทโธพุทโธพุทโธไป ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา พอมันจะไปอดีตไปอนาคต ก็พุทโธพุทโธพุทโธ หยุดความคิด พอมันไม่คิด มันก็กลับมาอยู่ปัจจุบันแล้ว ต้องคิดอะไรง่ายๆ อยากไปเราก็ใช้พุทโธดึงมันมา กัมมัฏฐาน “พุทธานุสสติ” เวลานั่งสมาธิก็พุทโธพุทโธไปอย่างเดียว เดี๋ยวจิตก็รวม นะ ง่ายๆ ไม่ยาก อยู่ที่จะทำไม่ทำเท่านั้น
ถาม: กราบสาธุครับ


ถ้าทุกข์ใจแสดงว่าเราอยาก
ถาม: ที่พระอาจารย์พูดเรื่องความอยากวันนี้ ทุกคนก็ยังมีความอยากอยู่ แม้แต่พระอรหันต์ จะมีความอยากด้วยไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่มีหรอกพระอรหันต์ ท่านตัดความอยากไปหมด
ถาม: ตัดความอยากแล้ว แต่โสดาบันหรือคนธรรมดาก็ยังมีความอยากอยู่
พระอาจารย์: ยังมีอยู่
ถาม: แล้วเราจะทราบได้อย่างไรเจ้าคะว่าเราอยากแล้ว เราควรจะทำตามหรือเราควรจะปล่อย
พระอาจารย์: ถ้าเราอยากจะบรรลุเป็นพระอริยะ เราก็ต้องตัดความอยาก ไม่ทำตามความอยาก นอกจากทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ  ไม่ถือว่าเป็นความอยาก
ถาม: สมมุติ ถ้าโยมอยากเป็นโสดาบัน แต่โยมยังมีลูกๆ ต้องดูแลอยู่ อยากรอให้เขา จนแน่ใจว่า โยมคิดว่าถ้าเขาจบมัธยมปลาย มันก็คงจะโอเค อะไรอย่างนี้ เราก็คงจะได้ปฏิบัติหรือทำบุญมากขึ้น
พระอาจารย์: มันไม่เกี่ยวกันนี่ ก็ยังปฏิบัติได้ เขาก็ไปเรียน เวลาเขาไปโรงเรียนเราก็ปฏิบัติได้  อยู่บ้าน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องอยู่กับเขาตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่ไหนล่ะ
ถาม: ใช่ เจ้าค่ะ แต่ถ้าเราอยากให้ลูกเราได้ดี อันนี้ก็คืออยาก
พระอาจารย์: อันนี้เขาไม่เรียกว่าอยาก เขาเรียกว่าปรารถนาดี มีเมตตา เมตตาได้อยู่ ไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ โดยที่เขาไม่ได้เป็น อันนี้เรียกว่าอยาก ทำให้เราทุกข์ ก็ต้องดูว่าอย่าให้มันนำเราไปสู่ความทุกข์ใจ ถ้าทุกข์ใจ แสดงว่าเราอยาก
ถาม: คือถ้าอย่างนี้โยมจะพิจารณาว่า อะไรก็ตามที่เป็นความอยาก ถ้าทำให้เกิดกิเลสเกิดทุกข์ เกิดการปรุงแต่ง หรือว่าเวทนาเข้า พวกนี้คือถือว่าเป็นความอยากที่เราควรจะตัดออกไป ใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ใช่ อยากแล้วมันทำให้เราทุกข์ กระวนกระวายกระสับกระส่าย อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนนี้  เกิดความกระวนกระวายขึ้นมา อย่าไปอยาก แต่ทำหน้าที่ได้ ให้เขาไปโรงเรียนนี้ก็ให้เขาไปสมัครอะไรของเขาไป แต่เขาจะเข้าได้หรือไม่ได้ก็เรื่องของเขาไป
ถาม: ถ้าโยมอยากมีสติมากขึ้น แล้วโยมก็ปฏิบัติ อันนี้คือความอยากที่ดี ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ใช่ ฉันทะที่นำไปสู่วิริยะ เราจะได้ไปปฏิบัติ วิริยะคือความเพียร
ถาม: สาธุเจ้าค่ะ


จะถอนสัญญาจากขันธ์ ๕ ได้อย่างไร
ถาม: เราจะพิจารณาเกี่ยวกับว่าคนๆ นี้ก็คือคนรักของเรา เป็นคู่รัก เป็นลูกของเรา หนูควรจะพิจารณาอย่างไร เพื่อที่จะสามารถถอดถอนสัญญาจากขันธ์ ๕ ได้เจ้าคะ
พระอาจารย์: เขาเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่งที่เราได้รับมาเท่านั้นเอง เหมือนพ่อแม่ซื้อตุ๊กตามาให้เรา เราก็เล่นกับมันไปดูแลมันไปจนกระทั่งมันจากเราไปก็จบ ร่างกายของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นของสามีของภรรยาหรือของลูก มันก็เป็นเหมือนตุ๊กตาที่เราได้มา แล้วเดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ต้องจากเราไป ถึงเขาไม่จากเราไป เราก็จากเขาไป ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา งั้นอย่าไปยึดอย่าไปติดกับร่างกายเหล่านี้ กับตุ๊กตาเหล่านี้ แล้วเราจะได้ไม่ทุกข์เวลาที่เราจากกัน


ไม่ตอบโต้ ยอม หยุด เย็น
ถาม: พระอาจารย์เจ้าคะ ถ้ามีคนมาระรานอยู่เรื่อยๆ แล้วเรายอมทุกอย่างแล้ว ในใจลึกๆ บางครั้งมันอยากจะไม่ยอม อยากจะทำร้ายเขา แบบนี้จะแก้นิสัยอย่างไรดีเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องหยุดมันไง เวลาไม่ยอมก็ต้องใช้พุทโธ ๆ หยุดมัน ก็ให้คิดแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้คิดว่าถ้าเขาไม่ชอบเราก็ให้คิดว่าดีแล้วเขายังไม่ด่าเรา ถ้าเขาด่าเราก็คิดว่าดีแล้วเขายังไม่ตีเรา ถ้าเขาตีเราก็คิดว่าดีแล้วเขายังไม่ฆ่าเรา ถ้าเขาฆ่าเราก็ดีแล้วจะได้หมดเวรหมดกรรมกันซะที ให้คิดอย่างนี้แล้วมันก็จะสามารถหยุดตอบโต้เขาได้ เพราะการตอบโต้มันเป็นการก่อเวรก่อกรรมกันต่อไปไม่มีสิ้นสุด เดี๋ยวภพหน้าชาติหน้ากลับมาเจอกันใหม่ก็ราวีกันใหม่ต่อไป ถ้าต้องการให้หมดเวรหมดกรรม ก็ต้องหยุดไม่ตอบโต้ ยอม “ยอม หยุด เย็น” ให้ใช้สูตร ๓ ย ยอม ยอมแพ้ทุกอย่าง ทุกกรณี ไม่มีข้อยกเว้น ยอมแล้วเราก็จะหยุดต่อสู้ หยุดต่อต้านเขา เมื่อหยุดแล้วใจเราก็จะเย็นมีความสุข


จิตไปหลงมันเลยทำให้ทุกข์
ถาม: ทำไมรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงถูกมองว่าทุกข์ครับ ทั้งๆ ที่ตัวทุกข์นั้น สาเหตุเกิดจากอัตตา
พระอาจารย์: คือมันเป็นตัวที่ทำให้จิตไปทุกข์ไง จิตไปหลงไปติด มันเลยทำให้ทุกข์ ตัวที่ทุกข์ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕ ไม่ใช่รูป เวทนา สัญญา สังขาร ตัวที่ทุกข์คือใจเรานี่แหละ เพียงแต่ว่าใจเราไปยึดไปติดว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา ก็เลยทำให้เราทุกข์ขึ้นมา ทำให้ใจเราทุกข์


สัพเพ ธัมมา อนัตตา เป็นอัตตาหรืออนัตตาครับ
ถาม: “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา จิตใจ บุญและบาปถือว่าเป็นอัตตา หรืออนัตตาครับ
พระอาจารย์: คือเราพูดสัพเพนี้เราหมายถึงสิ่งต่างๆ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ นี้ ที่เราพูดถึงในสิ่งที่ใจเราไปเกี่ยวข้องด้วยเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ความจริงทุกอย่างมันไม่มีตัวตน แม้แต่ใจก็ไม่มีตัวตน บุญกุศลก็ไม่มีตัวตน บาปกรรมมันก็ไม่มีตัวตน แต่สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปสนใจ สนใจแต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์เท่านั้น คือลาภยศสรรเสริญ กับความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส กับร่างกายของเรานี่ มันเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ เราพิจารณาส่วนที่ทำให้เราทุกข์ ให้เราปล่อยวางให้ได้ แล้วเราจะได้ไม่ทุกข์กับเขา ส่วนที่ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ไม่ต้องไปสนใจ


พระอริยบุคคลขั้นไหนถึงตัดทุกข์จากการพลัดพรากได้
พระอริยบุคคลขั้นไหนถึงตัดทุกข์จากการพลัดพรากได้
ถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากนี้เราต้องปฏิบัติถึงขั้นพระอริยบุคคลขั้นไหนเจ้าคะ ถึงจะตัดได้
พระอาจารย์: ตั้งแต่พระโสดาบันไปนี่ท่านก็ไม่ทุกข์กับความพลัดพรากจากกันแล้ว ท่านเห็นเป็นอนิจจัง เห็นเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไปแล้ว
ถาม: แต่เราก็ยังร้องไห้เสียใจ
พระอาจารย์: ก็เรายังไม่เห็นว่ามันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ยังเห็นว่าเป็นนาย ก นาย ข เป็นพี่ เป็นพ่อ เป็นน้องอะไรอยู่ ความจริงเป็นเพียงร่างกาย ตัวที่เป็นพี่เป็นพ่อก็คือตัวใจ หรือธาตุรู้ ที่มาครอบครองร่างกาย เขาก็ไปตามวาระของเขาไป เขาก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย มันก็เลยไม่มีอะไรจะต้องมาเศร้าโศกเสียใจ เป็นเพียงแต่ว่าต้องจากกัน เพราะเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศอย่างนี้ เขาไปโลกทิพย์แล้ว เราอยู่ในโลกธาตุ ก็มีเท่านั้นแหละ จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจกับการพลัดพรากจากกัน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 ธันวาคม 2563 13:02:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/21953336397806_132030602_3582130995158159_295.jpg)

พระธุดงค์ท่านไปเพื่อทดสอบสติของท่าน
ถาม: พระอาจารย์ครับ สงสัยพระธุดงค์อย่างนี้ละครับ ท่านกลัวสัตว์ร้าย สัตว์มีพิษบ้างไม๊
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าท่านกลัว ท่านก็ไม่ไปละสิ ถ้าท่านไปก็แสดงว่า ถ้าท่านกลัวแต่ท่านไป แสดงว่าท่านจะไปดับความกลัว ท่านต้องไปที่ที่กระตุ้นความกลัวให้เกิด แต่ท่านพร้อมแล้ว ท่านมีสติ ท่านมีเครื่องมือที่เวลาเกิดเจอภัยขึ้นมา ท่านมีสติที่จะใช้ในการหยุดความกลัวได้ ท่านถึงไป ถ้าท่านไม่มั่นใจว่าท่านมีสติพอหรือไม่ ท่านไม่ไปหรอก เดี๋ยวสติแตก ไอ้ที่ท่านไปเพื่อทดสอบสติของท่าน ดูว่าสติของท่านใช้ได้ไหม หยุดความกลัวได้หรือไม่ พอเกิดความกลัวก็ให้พุทโธพุทโธพุทโธพุทโธไป ฝากความเป็นความตายไว้กลับพุทโธ ยอมตาย เท่านั้นแหละ ถ้ามันจะตาย ถ้าร่างกายมันจะตายตอนนั้นก็ให้มันตายไป แต่ใจจะขออยู่กับพุทโธพุทโธเพื่อความสงบ พอใจสงบปั๊บนี่ ความกลัวหายไป ความสบายใจเกิดขึ้น ทีนี้ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวอะไรแล้ว แต่ถ้ายังกลัวอยู่ หมายความว่ามันไม่ได้หายกลัวแบบปัญญา มันเพียงแต่หายกลัวด้วยสติ ถ้ามันหายกลัวด้วยปัญญา มันพิจารณาร่างกายว่าไม่เที่ยง ต้องตายวันใดวันหนึ่ง อนัตตา ไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวเรา ห้ามมันไม่ได้ ถ้ามันจะตายก็ยอมให้มันตาย ถ้ายอมแบบนี้ก็เป็นปัญญาก็หายกลัวแบบถาวร จะไม่กลัวความตายอีกต่อไป นี่ที่ท่านไปธุดงค์กัน ก็นี่อย่างนี้เพื่อที่จะได้ไปขึ้นเวที พูดง่ายๆ ถ้าเป็นนักมวย พวกเราเป็นเหมือนพวกอยู่นอกเวที ยังซ้อมชกกระสอบทรายอยู่ ไม่ได้ไปเจอคู่ต่อสู้ที่แท้จริง คือความตาย
ถาม: อย่างงูนี่ ถ้าเราไม่ทำอะไรมัน มันก็กลัวคนใช่ไหมครับพระอาจารย์
พระอาจารย์: มันก็เหมือนเราแหละ เราก็เหมือนมันแหละ ต่างฝ่ายต่างกลัว แต่ถ้าเรานิ่ง มันก็จะได้มีเวลา มันจะดูท่าทีเรา งูนี่เวลาเจอถ้าเป็นงูเห่านี้ มันจะแผ่แม่เบี้ยทันที แต่ยังไม่ฉกถ้าอยู่ห่างไปสักระยะ แต่ถ้าเรายืนเฉยๆ ไม่ทำอะไร สักพักมันเห็นว่าเราไม่ทำอะไร มันก็หดตัว แล้วมันก็เลื้อยไป ทุกคนแหละ ทุกสัตว์ทุกคนนี่มีธรรมชาติรักตัวกลัวตายเหมือนกัน พอไปเจออะไรที่คิดว่าเป็นภัยนี้ จะต้องป้องกันตัวทันที หรือถ้าไม่ป้องกันตัว วิ่งได้ก็วิ่ง ถ้าโกยได้ก็โกย มีอยู่ ๒ แบบ
ถาม: แต่ว่าถ้าสัตว์นักล่านี่มันก็ล่า ไม่ใช่หรือครับพระอาจารย์
พระอาจารย์: อ้าว ถ้าเป็นอาหารของมัน มันก็ล่าละสิ แต่เราไม่ได้เป็นอาหารของมัน หรือว่าถ้ามันหิวขึ้นมา มันเห็นว่าเราพอจะกินได้ มันก็อาจจะล่าเราก็ได้ ก็อาจจะอยู่ที่ว่ามันกับเรา มันเป็นอาหารกันหรือไม่ อย่างงูมันคงไม่มากินเราหรอก มันกินสัตว์ที่มันกลืนได้ เคี้ยวได้ เรามันใหญ่เกินปากมันที่จะกินเข้าไปได้ เพราะไม่ใช่เป็นอาหารของมัน มันก็เป็นภัยของมันเท่านั้น ถ้าจะมองมันก็มองเป็นภัยของมัน เราก็ต้องเตรียมป้องกันตัวก่อน งูเห่ามันก็แผ่แม่เบี้ยขึ้นมา แต่พอเราไม่ทำอะไร เรายืนอยู่เฉยๆ สักพักมันก็รู้ว่า เราไม่มีภัยกับมัน มันก็ลดอาการป้องกันตัวของมัน แล้วก็เลื้อยไป เลื้อยหนีไป ทางใครทางมันไป
อย่างกรณีหลวงปู่ชอบนี่ ท่านเดินจงกรม เดินธุดงค์ตอนกลางคืน ท่านถือโป๊ะตะเกียงไฟ โป๊ะทำด้วยผ้า แล้วก็มีเทียนอยู่ข้างใน ท่านเดินพุทโธพุทโธไป จ๊ะเอ๋กับเสือ พอเห็นเสือจิตมันรวมเข้าไปข้างใน สงบเข้าไปในสมาธิ เพราะท่านมีสติคุมไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก พอมันเข้าไปข้างในนี้ คือการรับรู้เสือหายไป ร่างกายหายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพังของมัน ตอนจิตถอนออกมานี่ ไฟตะเกียงที่เป็นเทียนนี่มันไหม้หายไปหมดแล้ว เสือเสอก็หายไปหมด ท่านก็ยังยืนอยู่ในท่าเดิม ยืนอยู่ในท่าที่ท่านเข้าไปในสมาธิ เสือมันคงคิดว่าท่านเป็นต้นไม้มั้ง ยืนนิ่งๆ มันไม่ได้ไปหา มันก็เลยไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้าเราวิ่ง ถ้ามันหิวเข้า มันอาจจะไล่กัดกินเราก็ได้ แต่นี่ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติไปเดี๋ยว พอได้ยินเสียงเสือร้องนี่ใจสั่นแล้ว พอเสือใกล้เข้ามานี่บางทีโกยเลย มีพระอยู่รูปหนึ่ง ก็อยากจะไปทดลองกัน แต่ท่านยังไม่มีสติพอ ชาวบ้านบอกเสือดุจริงๆ นะ บอกไม่เป็นไรจะไปลอง ชาวบ้านก็พาไปปักกลดอยู่ในป่า พอตอนค่ำก็ได้ยินเสียงเสือแล้วสิ ร้องคำราม “โฮก”  ใจก็เริ่มสั่นๆ พอเสียงมันใกล้เข้ามา ทนไม่ไหววิ่งโกยเลย ใจสั่น เข้ามาถึงหมู่บ้าน เจอชาวบ้านก็บอก “เสือ เสือ เสือ” อ้าว แสดงว่าสติยังไม่พอ ถ้าสติพอไม่ถอยแล้ว สติพอปัญญาพอไม่ถอย ถ้าไม่ตายก็บรรลุเท่านั้นแหละ ถ้าไม่บรรลุก็ตายแบบพระพุทธเจ้า นั่งใต้โคนต้นโพธิ์ ถ้าไม่บรรลุก็ตายเท่านั้น ถ้าไม่ตายก็ต้องบรรลุ นี่พระเป็นอย่างนี้ พระปฏิบัติ ผู้ที่ต้องการผลจริงๆ
ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “นิพพานอยู่ฟากตายนะ” ถ้าไม่ยอมตายไปไม่ถึงนิพพานกัน เราไม่ได้ตาย เพียงแต่ยอมให้ร่างกายมันตาย ร่างกายที่เราไปหลง คิดว่าเป็นตัวเราของเรานี่ ไปดูงานศพสิ ร่างกายเป็นของใคร ไม่มีเป็นของใคร เป็นตุ๊กตา เจ้าของเขาทิ้งไปแล้ว ปล่อยให้ญาติพี่น้องเป็นภาระ ต้องมาจัดการกับตุ๊กตาที่เขาทิ้งไว้ ร่างกายเรานี้ก็คือตุ๊กตาที่มีชีวิตชีวาในขณะที่มันหายใจได้ พอมันไม่หายใจ มันก็เป็นเหมือนตุ๊กตาที่เขาจัดโชว์ตามร้านเสื้อผ้าอย่างนี้ ไม่ต่างกันเลย ให้พิจารณาอย่างนี้ ว่าร่างกายไม่ใช่เรา เราผู้รู้ผู้คิด เป็นจิตที่มาครอบครองร่างกายหรืออาศัยร่างกาย เหมือนอาศัยบ้าน ร่างกายเป็นเหมือนบ้านของจิต ที่จิตใช้อาศัยอยู่ แต่บ้านมันเป็นบ้านชั่วคราว ไม่ถาวร เดี๋ยวมันก็ต้องพัง ร่างกายของเราทุกคนแหละ ต้องตายด้วยกันทุกคน นี่ตายได้ ๒ แบบ ตายแบบบรรลุ กับตายแบบไม่บรรลุนี่ ส่วนใหญ่ก็ตายแบบไม่บรรลุเพราะกลัวตาย เพราะยังหลง ยังคิดว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมตาย
แต่ถ้าได้มาฟังธรรมบ่อยๆ แล้วมาพิจารณาบ่อยๆ และเห็นโทษของการไปยึดไปถือว่าเป็นเรานี่ มันทุกข์ เวลาจะตายมันทุกข์มาก ถ้าไปถือว่าเป็นเรา แต่พอใช้ธรรมะหรือใช้สติ ใช้ปัญญานี้สอนใจบอกว่า เอ๊ย มันเป็นตุ๊กตานะ ไม่ใช่เรา เดี๋ยวมันก็ต้องตาย จะตายแบบปล่อยหรือตายแบบไม่ปล่อยดี ตายแบบปล่อยก็สบาย จิตก็โล่ง เบา เย็นสบาย ถ้าตายแบบยึดก็ทุกข์ เครียด นี่แหละคือธรรมะ การปฏิบัติก็เพื่อที่จะไปสู่ขั้นนี้ แต่ต้องมีสติที่มีกำลังที่จะหยุดจิตได้ หยุดความกลัวได้ ก็ต้องอัปปนาสมาธิเท่านั้นแหละ สติแบบอัปปนาสมาธิ ทำให้จิตรวม สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง ปล่อย ต้องซ้อมไว้ก่อน ซ้อมทำการบ้านก่อน
พระที่ไปธุดงค์ส่วนใหญ่ท่านมักจะได้สมาธิกันแล้ว ท่านถึงไปกัน หรือก็อีกพวกหนึ่งพวกไม่มีสติ ก็อาศัยไปธุดงค์เพื่อจะได้ใช้ความกลัว บังคับให้เจริญสติ เพราะอยู่ที่ปลอดภัยมันก็ขี้เกียจพุทโธพุทโธ พอไปอยู่ที่หวาดกลัวนี้ ไม่ได้เจอภัย เพียงแต่ความรู้สึกว่ากลัวก็จะทำให้ต้องใช้พุทโธพุทโธ เพื่อมาระงับความกลัว ขนาดยังไม่เจอของจริงนี่ ยังไม่เจอของที่เรากลัว เพียงแต่คิดว่า แหมมันมีอะไรแถวนี้ก็กลัวขึ้นมา งั้นต้องไปหาที่ที่มันกระตุ้นความกลัว มันถึงจะขยันภาวนา งั้นมันขี้เกียจ อยู่ที่ปลอดภัยมันบอก เฮ้ย ไม่เห็นมีปัญหาอะไร “ทุกข์บ่มี ปัญญาบ่เกิด” ต้องมีทุกข์ถึงจะใช้ปัญญาแก้ปัญหา



โทสะแรงแก้ไขด้วยวิธีไหน
ถาม: โยมเป็นโทสะแรงต้องแก้ไขด้วยวิธีไหนเจ้าคะ
พระอาจารย์: โทสะความโกรธเกิดจากความอยาก พอเราอยากแล้วไม่ได้เราก็โกรธ งั้นลดความอยากลง พระพุทธเจ้าบอกให้หัดทำใจให้ยินดีตามมีตามเกิด “สันโดษ” แปลว่ายินดีตามมีตามเกิด อย่าไปจู้จี้จุกจิกอยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้ อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอยากให้มันเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้ดังใจอยากมันก็จะโกรธ แต่ถ้าสันโดษยินดี เป็นอย่างนี้ก็ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้ ได้อย่างนี้ก็ได้ ได้อย่างนั้นก็ได้ ใจก็จะไม่โกรธ ดังนั้นพยายามลดความอยากความต้องการ ความหวังต่างๆ ให้น้อยลงไป ให้หัดยินดีตามมีตามเกิดแล้วความโกรธจะไม่เกิด


แนะนำผู้ป่วยเรื้อรังอย่างไร
ถาม: เป็นหมอที่ดูแลผู้ป่วยที่มีความป่วยเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ ที่ไม่รักษาหายได้แล้ว จะแนะนำผู้ป่วยอย่างไรดีคะ ปัจจุบันแนะนำให้ปล่อยนกปล่อยปลา ไถ่ชีวิตโคกระบือ แต่รู้สึกว่ายังไม่ดีพอ ขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ด้วยค่ะ
พระอาจารย์: ก็แนะนำให้ทำใจเท่านั้น ทำใจให้อยู่กับมันไป มันเหมือนดินฟ้าอากาศนี่ ถ้าเราทำใจ เราก็จะไม่เดือดร้อนกับฝนตกแดดออก อาการเจ็บปวดตามร่างกายต่างๆ เมื่อทำให้มันหายไม่ได้ ก็ต้องหัดทำใจอยู่กับมัน อย่าไปต่อต้านมัน อย่าไปอยากให้มันหาย ยินดีกับมันสิ ถ้ายินดีแล้วจะมีความสุข เวลาเราได้อะไรแล้วถ้าเรายินดีเราจะมีความสุข ถ้าเราไม่ยินดีเราก็จะทุกข์ มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เราได้ ที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ แต่มันอยู่ที่ความยินดีหรือไม่ยินดีของเรา เท่านั้นเอง คนบางคนของอันเดียวกันนี้ คนหนึ่งยินดี อีกคนหนึ่งไม่ยินดี คนที่ยินดีก็มีความสุข คนที่ไม่ยินดีก็มีความทุกข์ เช่น คนหนึ่งเกลียดคนนี้ อีกคนรักคนนี้ คนที่รักคนนี้ก็มีความสุข คนที่เกลียดคนนี้ก็มีความทุกข์ ดังนั้นถ้าไม่อยากไปทุกข์ อย่าไปเกลียดกับสิ่งที่เราต้องมีต้องเจอ เท่านั้น
 
ถ้าเราเจอความเจ็บปวดตามร่างกาย เจ็บไข้ได้ป่วย ก็อย่าไปเกลียดมัน ให้หัดรักมัน รักมันชอบมันแล้วก็จะไม่ทุกข์ ความทุกข์ของเราอยู่ที่เราไปรังเกียจมัน มันมาแล้วก็อยากจะไล่มันไป ไล่มันไปมันก็ไม่ยอมไป ก็เลยยิ่งทำให้เราทุกข์ใหญ่ งั้นวิธีก็คือ ทำใจ ทำใจให้ชอบกับสิ่งที่เรามี ยินดีตามมีตามเกิด พูดง่ายๆ ให้ยินดีตามมีตามเกิด พอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ ยินดีกับสิ่งที่เราได้รับ แล้วรับรองได้ว่าเราจะไม่ทุกข์กับอะไร ยินดีกับความแก่ ยินดีกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ยินดีกับความตาย เพราะเราหนีมันไม่ได้ หนีมันไม่พ้น ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปไม่ได้ แล้วเราต้องไปทุกข์กับมันทำไม ที่เราทุกข์เพราะเราไม่ยินดีเท่านั้นเอง แต่พอเราปรับใจได้ ยินดีกับมันดูสิ ยินดีกับความแก่ ดี..เป็นคนแก่ คนเขาจะได้เคารพเรา เป็นเด็กนี่ไม่มีใครให้ความเคารพ พอแก่แล้วนี่คนเขายกมือไหว้ ทำอะไรก็มีคนคอยช่วยเหลือเรา เจ็บไข้ได้ป่วยก็มีพยาบงพยาบาลหมอมาห้อมล้อม มาคอยดูแลเรา มองไปทางที่ดีบ้างนะ เราชอบมองไปในทางที่ไม่ดี เราก็เลยไม่ยินดีกับมัน เวลาตายก็ดีไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ไม่ต้องไปทำงาน ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาทำร้ายเรา คิดมองไปในทางบวกดูสิ แล้วความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้มันดีแสนดีนะ แล้วเราจะมีความสุขกับมัน เวลาแก่ เวลาเจ็บ เวลาตาย



สัปปายะแปลว่าสบาย
ถาม: คำว่าสัปปายะเพื่อส่งเสริมการเจริญ สติตื่นรู้ หมายความว่าอย่างไรครับ
พระอาจารย์: คำว่า “สัปปายะ” เป็นภาษาบาลี แปลว่าสบาย สัปปายะแปลว่าสบาย ดังนั้นเราต้องมีสถานที่ที่สบายในการปฏิบัติ ร้อนเกินไปก็ไม่ดี หนาวเกินไปก็ไม่ดี ต้องอากาศสบายๆ เรียกว่าสัปปายะ มีสัปปายะอยู่ ๕, ๖ อย่างด้วยกัน คือ สถานที่สัปปายะ บุคคลที่เราปฏิบัติด้วยก็ต้องสัปปายะ คือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่เราปฏิบัติพุทโธ เขาปฏิบัติยุบหนอพองหนอ แล้วก็มานั่งถกเถียงกัน อย่างนี้ก็ไม่สัปปายะ บุคคลที่สัปปายะก็คือมีครูมีอาจารย์ที่สามารถสอนเราได้ อันนี้ก็เรียกบุคคลสัปปายะ อาหารสัปปายะ อาหารต้องกินอาหารที่เรากินได้ ไม่ฝืนไม่ต้องบังคับ กินแล้วก็ไม่มีอาการทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ท้องเสียอะไรเป็นต้น อันนี้ก็เรียกว่าอาหารสัปปายะ อากาศสัปปายะ อากาศก็ต้องไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป นี่คือสัปปายะต่างๆ ที่เราต้องพิจารณาเวลาที่เราปฏิบัติธรรมกัน เพื่อที่จะได้สนับสนุนการภาวนาของเราให้ก้าวหน้าไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว



รักษาร่างกายให้แข็งแรงถือว่าเป็นธรรม
ถาม การออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงกับการออกกำลังกายเพื่อให้หุ่นดีสวยงาม ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นกิเลสใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์ ไม่หรอกถ้ารักษาให้ร่างกายมีสภาพแข็งแรงก็ยังถือว่าเป็นธรรมอยู่ เพราะร่างกายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เราต้องใช้ในการปฏิบัติธรรม ส่วนการออกกำลังกายเพื่อให้สวยงามนี้เป็นกิเลสเพราะเป็นเรื่องของกามราคะ ชอบสวยชอบงามชอบให้คนเขารักเขาชอบเรา เขาจะได้เป็นแฟนเรา เราจะได้ใช้เขามาเสพกามได้ อันนี้เรียกว่าเป็นกิเลสแต่ถ้ารักษาร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อจะได้เอามาฟังเทศน์ฟังธรรม เอามาปฏิบัติธรรมอย่างนี้ถือว่าเป็นประโยชน์เป็นธรรมะไม่ได้เป็นกิเลสแต่อย่างใด



สอนใจว่าต้องยอมรับความจริง
ถาม: ความกลัวเจ็บป่วย เราต้องปฏิบัติทางธรรมอย่างไร ถึงจะหายหวาดกลัวเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องทำใจให้สงบ เวลามีความกลัวก็ให้สวดมนต์ไป บริกรรมพุทโธไป อย่าไปคิด หยุดความคิด พอหยุดความคิดใจสงบ ความกลัว ความเจ็บป่วยก็จะหายไป เราก็สามารถสอนใจว่าต้องยอมรับความจริงของร่างกายว่ามันเป็นธรรมดา ไม่ว่าร่างกายของใครทุกคนเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้



เกิดตายแบบกระทันหันจะเอาจิตไว้อย่างไร
ถาม: หลวงพ่อครับ สมมุติว่าเราอยู่ในเส้นทางการปฏิบัติครับหลวงพ่อ ยังไม่ถึงไหน แต่ว่าก็รักษาศีล แล้วก็ทำสมาธิอยู่เป็นประจำ ส่วนของปัญญาก็ยังเป็นปัญญาของโลกอยู่ ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา สมมุติเกิดจับพลัดจับผลูเกิดกำลังจะตายไปกระทันหันเลยครับหลวงพ่อ ในทาง practical เลย เราเอาจิตเรายังไงครับหลวงพ่อ ยังไงดีครับ เอาจิตไปไว้ยังไงดี
พระอาจารย์: ก็อยู่กับความสงบ พุทโธก็ได้ ให้เราพิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ถึงเวลามันก็จะต้องจบลง สิ้นสุดลง ปล่อยวาง อย่าไปอยาก อย่าไปดิ้นรน ตั้งสติก่อนดับ สักแต่ว่ารู้ไป ดูมันไปจนกว่าจะหายไป จนลมสุดท้ายหายไป เฮือกสุดท้ายเท่านั้นเอง แล้วก็จบ
ถาม: คือทำเหมือนเวลาเรานั่งสมาธิแล้วลมมันหาย ใช่ใครับหลวงพ่อ
พระอาจารย์: เออ เหมือนกัน ก็ดูไป
ถาม: โอเคครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกสมาธิแล้วลมมันหายนี่ เราก็จะกลัวน้อยลงไหมครับหลวงพ่อ
พระอาจารย์: ก็อยู่ที่เราแหละ มันอยู่ที่เราว่ากลัวไม่กลัว
ถาม: คือเราก็เคยเจอสภาวะลมหายมาแล้ว ใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: ใช่ ตอนนั้นเรารู้ว่าเราไม่ตาย แต่ตอนนี้เรารู้ว่าเราตาย เรารับกับมันได้หรือเปล่า ทำใจได้หรือเปล่า ก็คิดว่าเป็นแค่เปลี่ยนร่างกายไป ไปเปลี่ยนร่างกายใหม่ โดนวางยาสลบเพื่อให้ได้ร่างกายใหม่ ถ้ายังไม่ถึงนิพพานก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่




หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 มกราคม 2564 16:28:15
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/20104678430490_135347267_3606080226096569_151.jpg)

ความหมายเป็นอย่างนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถาม: อนัตตานี้เป็นผลที่เกิดขึ้น ตามมาจากอนิจจังใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ไม่ใช่ อนัตตาคือความจริงไง ต้นไม้นี่ก็เป็นอนัตตารึเปล่า ต้นไม้มีคนอยู่ในต้นไม้นี่รึเปล่า ไม่มี ใช่ไหมต้นไม้ก็เป็นแค่ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ร่างกายนี่มันมีคนเข้ามาอยู่ด้วย แต่มันก็ไม่ใช่เป็นความจริง ร่างกายก็ยังเป็นเหมือนต้นไม้อยู่นั่น เป็นดินน้ำลมไฟ เพียงแต่มีจิตไปยึด แล้วก็ไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวตนขึ้นมา เท่านั้นเอง แต่ความจริงร่างกายก็เหมือนต้นไม้ มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน เวลาตายไป มันก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ คือสรุปแล้ว ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีตัวตน ตัวตนนี้เป็นการคิดขึ้นมาของใจ เป็นเหมือนของสมมุติ เราสมมุติขึ้นมาว่า ร่างกายนี้เป็นเรานะ พอเป็นเราก็เลยเชื่อ เชื่อว่าเป็นเราจริงๆ ขึ้นมา พอมันเป็นอะไร เราก็เลยคิดว่าจะเป็นไปกับมัน ใช่ไหมแต่ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นเพียงแต่สมมุติ มันไม่ได้เป็นเรา ไม่ได้เป็นของเราหรอก มันเป็นสมบัติชั่วคราว อยู่กับเราชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ต้องจากกันไป

เราคือใจ ใจผู้รู้ผู้คิด แต่ไปคิดในเรื่องที่ไม่ควรจะคิด ก็คิดว่ามีตัวตน มีตัวตนในร่างกาย มีตัวตนในใจ ความจริงนี่เป็นเพียงความคิด ในใจก็ไม่มีตัวตน ใจก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ผู้คิด ร่างกายก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นดินน้ำลมไฟ เหมือนต้นไม้ ก็มาจากดินน้ำลมไฟ นี่คือความจริง ไม่ได้มาจากอนิจจัง ความจริงของสิ่งที่เป็นธรรมชาติทั้งหลายนี่ ไม่มีตัวตน ฝนและแดดนี่มีตัวตนไหมพระอาทิตย์ พระจันทร์นี่มีตัวตนไหมไม่มี ใช่ไหมมันเป็นธรรมชาติ เป็นอนัตตา แล้วก็มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อม นี่คืออนิจจัง ใครไปยึดกับของที่มันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่มีตัวตน ไปยึดว่าเป็นตัวตน แล้วก็ไปอยากให้มันไม่เสื่อม ก็จะทุกข์ขึ้นมาเวลามันเสื่อม ความหมายเป็นอย่างนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา



ถือศีล ๕ สามารถไปถึงพระนิพพานได้หรือไม่ครับ
ถาม: ถือศีล ๕ เพียงพอเป็นพระโสดาบันหรือไม่ครับ ถือศีล ๕ สามารถไปถึงพระนิพพานได้หรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ถือศีล ๕ อย่างเดียวไม่พอหรอก ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา ถึงจะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๔ ได้ ต้องมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ และมีปัญญา ศีล ๕ นี้เป็นเพียงศีลอนุบาล ต้องพัฒนาจากศีลอนุบาลไปเป็นศีลของผู้ใหญ่ ก็คือ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แล้วแต่กรณี ไม่จำเป็นจะต้องศีล ๒๒๗ ทุกคน บางคนไปถึง ๒๒๗ ได้ ก็จะไปเร็วขึ้น ตั้งแต่ศีล ๘ ขึ้นไปนี้ มันจะทำให้การไปนิพพาน ไปได้เร็วขึ้น แต่ไปด้วยศีลอย่างเดียวไม่ได้ นอกจากศีลแล้วก็ต้องมีสมาธิ มีสมาธิแล้วก็ต้องมีปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔



อุเบกขาที่ได้จากสมาธินี้มันยังเสื่อมได้
ถาม: อุเบกขาไม่ได้ตลอดเวลาเพราะสภาวจิตของความเมตตายังไม่ใช่เป็นตัวปัญญาเมตตาที่แท้จริง เข้าใจอย่างนี้ถูกต้องไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: เพราะว่าอุเบกขาที่ได้จากสมาธินี้มันยังเสื่อมได้ เพราะพอถูกความอยากโผล่ขึ้นมามันก็จะทำลายอุเบกขาได้ แต่ถ้าอุเบกขาที่เกิดจากปัญญานี้มันจะไม่เสื่อม เพราะมีปัญญาคอยรักษา เวลาเกิดความอยากขึ้นมา ปัญญาก็จะตัดความอยากไป



การเริ่มปฏิบัติธรรมควรจะเริ่มต้นจากอะไร
ถาม: รบกวนพระอาจารย์สอนการเริ่มปฏิบัติธรรมว่า ควรจะเริ่มต้นจากอะไรคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็เริ่มจาก “ทาน ศีล ภาวนา” นี่ ทำบุญทำทาน ใส่บาตรหรือบริจาคเงินทองให้เป็นนิสัยก่อน อย่าเอาเงินทองไปกินไปเที่ยวไปดื่ม ไปซื้อของไม่จำเป็น เอาเงินทองไปทำบุญทำทานดีกว่า ใจจะได้มีความเมตตา แล้วจะได้รักษาศีลได้ เมื่อรักษาศีลได้ ก็ไปอยู่วัดได้ ไปฝึกสมาธิ ไปฝึกปัญญาต่อไปได้



ทำอย่างไรให้ความโกรธหายไป
ถาม: เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นเราควรจะนึกอย่างไรทำอย่างไรดีคะให้ความโกรธหายไปในขณะนั้น
พระอาจารย์: อ๋อ ก็นึกว่าความโกรธนี้ก็เป็นเหมือนการเอาค้อนมาตีหัวเราไง ถ้าอยากจะให้มันหายก็หยุดตีหัวเรา หยุดโกรธ พอเราไม่โกรธเขา ความทุกข์ก็หายไป ความโกรธเกิดจากเราเอง เราไปโกรธเอง ในเมื่อเราโกรธเอง เราก็ต้องหยุดเอง ก็อย่าโกรธเท่านั้น วิธีอย่าโกรธก็คืออย่าไปถือสาเขา ที่เราโกรธเพราะเราอยากให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ พอเขาไม่ทำเราก็โกรธ แต่ถ้าเราไม่ไปอยากสักอย่าง เขาจะทำอะไรเราก็ไม่โกรธ



การละสักกายทิฏฐิต้องทำอย่างไร
ถาม: การละสักกายทิฏฐิต้องทำอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ก็ต้องสอนใจว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราของเรานั่นเอง เป็นของดินน้ำลมไฟ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ แล้วเดี๋ยวก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป เหมือนกับสอนคนโบราณว่า โลกนี้มันไม่แบนนะ โลกนี้มันกลม เท่านั้นเอง ความหลงทำให้คนสมัยโบราณคิดว่าโลกนี้แบน แต่พอนักวิทยาศาสตร์มาชี้เหตุชี้ผลให้เห็น ก็เห็นว่ามันกลม อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาบอกพวกเรา พวกเราก็จะคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา พอพระพุทธเจ้าบอกว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นของที่พ่อแม่มอบให้กับเรา เป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง
เราเป็นดวงวิญญาณผู้ไม่มีร่างกาย ผู้ต้องการมีร่างกาย เพื่อจะได้ใช้ร่างกายพาเราไปทำอะไรต่างๆ ต้องรู้ว่าเราไม่ใช่ร่างกาย เราคือใจ ผู้รู้ผู้คิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ร่างกายไม่ใช่เรา แล้วเราไปควบคุมบังคับให้มันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติของร่างกายของทุกคน นี่คือสักกายทิฏฐิ การละสักกายทิฏฐิ ละแบบนี้ แล้วต่อไปก็จะไม่ทุกข์กับความเป็นความตายของร่างกาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย มันจะเป็นก็ปล่อยมันเป็นไป รักษาได้ก็รักษาไป มันจะตายถ้าห้ามมันได้ ก็ห้ามมัน ถ้าห้ามมันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยมันตายไป
นี่คือการละสักกายทิฏฐิ เป็นอย่างนี้ แต่ใจจะไม่ทุกข์กับความเป็นความตายของร่างกายอีกต่อไป ไม่มากังวลว่าจะเป็นโรคนั้น จะเป็นโรคนี้ จะตายแบบนั้น จะตายแบบนี้ มันไม่หวั่นไหว มันรู้ว่าเราไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย



การได้เกิดเป็นมนุษย์สักชาติหนึ่งมันยากไหมครับ
ถาม: จิตแต่ละดวงต้องเวียนว่ายตายเกิด เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดเลยหรือครับ การได้เกิดเป็นมนุษย์สักชาติหนึ่งมันยากไหมครับ
พระอาจารย์: ก็ยาก เพราะว่าก่อนที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ อาจจะต้องไปใช้บุญใช้บาปที่ได้ทำไว้ก่อน แล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็อยู่ได้ไม่นานก็ตายไป แต่การมาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้มาเจอพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เจอพระพุทธศาสนา ก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก เพราะไม่มีผู้สอนทางสู่การสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง งั้นตอนนี้ถ้าเรามาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว แล้วเราเจอพระพุทธศาสนาแล้ว เรารีบฉวยโอกาสนี้ คว้าโอกาสนี้ให้มาอยู่ในกำมือเราดีกว่า อย่าปล่อยให้มันหลุดมือไป แล้วเราจะได้ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป




หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 มกราคม 2564 11:36:05
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96856072420875_140938178_3658495817521676_736.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/88780711425675_142499948_3657341344303790_716.jpg)

บุฟเฟต์ใช้กุ้งสดปูเป็น แต่ผมไม่ได้ทาน จะบาปไหม
ถาม: ผมจัดทริปดูงานแล้วมีการพาคณะไปทานบุฟเฟ่ต์ทะเล สุดท้ายพบว่าที่ร้านใช้กุ้งสดปูเป็น แต่ผมไม่ได้ทาน แต่คณะทานกันอย่างเอร็ดอร่อย ผมจะได้รับส่วนบาปไหมครับ และแก้บาปได้อย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าเราไม่ได้รับประทาน เราก็ไม่มีส่วน ถ้าเรากินผักกินข้าว ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาสั่งกับข้าวมา เราก็ไม่มีส่วนร่วมด้วย ถึงแม้เรากินก็ไม่บาป ถ้าเราไม่ได้มีส่วนไปสั่งเขา ไปบอกเขา พี่ ช่วยสั่งอาหารชนิดนั้น อาหารชนิดนี้ พอไปแล้วเขาสั่งมาให้ เหมือนพระนี่ โยมไปซื้อมาจากร้าน ปูเป็นปลาเป็นแล้วก็มาใส่บาตรนี่ พระก็กินได้ พระไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย


บริจาคร่างกายกับโรงพยาบาลจะได้บุญไหม
ถาม: การที่เราไปบริจาคร่างกายกับโรงพยาบาล จะได้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ เราจะได้บุญไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ได้ถ้าเราให้ตอนที่เรายังไม่ตาย จะได้ บอกหมอเอาไปเลย หมออยากจะเอาไปผ่าให้คนไข้ดูตอนนี้ เอาไปเลย ยินดี อยากจะเอาตับเอาไตไปแจกใครก็เอาไป ถ้าให้ตอนที่ยังไม่ตายนี่ได้อยู่ ได้บุญเยอะ เหมือนบริจาคเลือดนี่ ให้ตอนที่ไม่ตาย แต่เวลาตายนี้ ไม่ได้ให้ เพราะร่างกายไม่ได้เป็นของเราซะแล้ว เราทิ้งมันซะแล้ว เราไปคนละทิศคนละทางแล้ว งั้นร่างกายมันจะไปไหน มันไม่ได้เป็นของเราแล้ว เราก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไร เราไม่ได้รู้สึกว่าเราได้เสียสละอะไรไปตอนที่เราตาย งั้นถ้าอยากจะบริจาค ก็ต้องบริจาคตอนที่เรายังไม่ตาย การเขียนพินัยกรรมนี้เป็นเพียงแต่การบอกกล่าว บอกเป้า ยังไม่ได้เป็นการกระทำ บุญจะเกิดขึ้นต้องเกิดจากการกระทำ ไม่ได้เกิดจากการทำสัญญา เหมือนทำสัญญาว่า ผมจะบริจาคเงินให้ท่านล้านหนึ่งอย่างนี้ แต่ไม่เคยได้บริจาคสักที มันก็ไม่ได้บุญสักที มันต้องให้ ถึงจะได้บุญ



ถ้ารู้ด้วยปัญญาจะสงบอย่างถาวร
ถาม: จิตที่ฝึกมาดีแล้วและหยุดความอยากได้อย่างถาวร ซึ่งต่างกับจิตที่มาจากสมาธิ จะหยุดความอยากได้แต่ไม่ถาวร ขอความเมตตาจากพระอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ที่หยุดได้ถาวรเพราะมีปัญญาเห็นโทษของความอยาก เห็นทุกข์จากสิ่งที่ไปอยากได้ ได้สิ่งนั้นมาแล้ว เดี๋ยวต้องทุกข์ เหมือนถ้าเรารู้ว่าถ้ากินเครื่องดื่มนี้แล้วจะเป็นมะเร็ง เราจะกล้ากินไหมแต่ถ้าไม่รู้ ก็กินเอร็ดอร่อย ใช่ไหมแต่พอเขาไปวิจัยพบว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งขึ้นมา พอรู้ปั๊บนี่ เลิกกินกันเลย อันนี้ก็เหมือนกัน นั่นคือปัญญา รู้ว่ามันเป็นพิษเป็นภัยต่อเรา ไปกินมันทำไม ใช่ไหมความอยาก สิ่งที่เราอยากได้มันก็เป็นทุกข์ ทำให้เราทุกข์ ได้อะไรมาแล้ว เดี๋ยวก็ตายจากเราไป รู้สึกยังไง เสียใจไหมนั่นแหละ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเสียใจ ใช่ไหมเพราะว่าไม่มีอะไรจะเสีย พอมีอะไรแล้ว เดี๋ยวมันก็เสีย เพราะของทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นของชั่วคราว ต้องให้เห็นว่ามันเป็นของชั่วคราว แล้วเราห้ามมันไม่ได้ สั่งให้มันไม่ชั่วคราวไม่ได้

งั้นถ้าไม่อยากจะทุกข์ เวลาที่มันจากเรา ก็อย่าไปมีมันซะ ก็หมดเรื่อง อยู่กับสิ่งที่ไม่จากเราดีกว่า คือความสงบ ความว่าง ความที่ไม่มีความอยาก อย่างเวลาเราไม่มีความอยาก ใจเราสบายไหมนั่งอยู่เฉยๆ ได้ ทำอะไรได้ ไม่มีเรื่องวุ่นวาย พออยากขึ้นมาปุ๊บนี้ กินไม่ได้นอนไม่หลับขึ้นมาแล้ว ให้เห็นโทษของความอยาก แล้วต่อไปมันจะไม่อยาก แต่ถ้าใช้สติเวลามันอยาก เวลาไม่สบายใจ ก็ไปพุทโธพุทโธ มันนิ่ง มันก็สงบแต่มันไม่รู้ว่าอะไรเป็นตัวที่ทำให้เราสงบ อะไรที่ทำให้เราวุ่นวาย ต้องมีปัญญาถึงจะรู้ ถ้ารู้ด้วยปัญญาแล้ว ทีนี้ก็จะสงบอย่างถาวร ความอยากก็จะหายไปอย่างถาวร อยากสูบบุหรี่ก็เลิกสูบบุหรี่ อยากกินเหล้าก็เลิกกินเหล้า อยากมีแฟนก็เลิกมีแฟน อยู่คนเดียวดีกว่า สบายใจกว่า



ให้สงวนส่วนต่างประสานส่วนเหมือน
ถาม: ความสามัคคีในชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ท่ามกลางความคิดที่แตกต่างกันคะ
พระอาจารย์: ก็เกิดมาตั้งนานแล้วนี่ ประเทศเราก็อยู่กันอย่างสามัคคีมาตลอด เรามีจุดรวมใจของพวกเรา ตอนนี้เราอาจจะขาดจุดรวมใจ ก็เลยทำให้เกิดมีความไม่รู้จะไปยึดไปอาศัยใครมาเป็นจุดรวมใจ เท่านั้นเอง ฉะนั้นก็ต้องพยายามทำตัวเราอย่าให้ไปแตกแยกสามัคคีกับใครก็แล้วกัน ถึงแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็สงวนไว้ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า ให้สงวนส่วนต่าง ประสานส่วนเหมือน อันไหนที่เราไม่เห็นด้วยก็อย่ามาพูดมาเถียงกัน เอามาพูดแต่เรื่องที่เราเห็นด้วย เห็นพ้องต้องกันว่าชาติต้องอยู่ต่อไป ชาติต้องเจริญ คนเราต้องรักสามัคคีกัน อย่างนี้ อย่าเอาความคิดต่างว่า ฉันชอบอย่างนั้น ฉันไม่ชอบอย่างนี้มาพูดกัน พูดกันแล้วเดี๋ยวก็ตีกัน



ความอยากเกิดจากจิตหรือจากสมอง
ถาม: การสั่งกายให้ทำสิ่งต่างๆ ตามความอยากหรือกิเลส ทางธรรมว่าเกิดจากจิต ส่วนทางแพทย์ว่าเกิดจากสมอง กราบนมัสการพระอาจารย์ชี้ทางสว่างให้ด้วยค่ะ ติดตรงนี้มาก ว่าเป็นสมองมานานแล้วค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันจะมาทางไหนไม่สำคัญหรอก สำคัญก็คือต้องกำจัดมัน มันจะมาทางสมองหรือมาทางใจ มันก็มาสร้างความทุกข์ให้กับใจนั่นแหละ เพราะเวลาเกิดความอยากขึ้นมา ใจจะไม่สบายแล้ว อยากจะได้อะไรนี่ เช่น อยากจะได้ตำแหน่งอย่างนี้ ทีนี้ก็นอนกระวนกระวายแล้ว เอ๊ะ จะได้หรือเปล่า สิ้นปีนี้เขาจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้กับเราหรือเปล่า จะสร้างความกระวนกระวายกระสับกระส่ายขึ้นมา แต่คนที่ไม่มีความอยากเขานอนหลับสบาย เพราะเขาไม่มีอะไรมาทำให้เขาต้องกังวลนั่นเอง งั้นไม่ต้องไปสนใจที่มาของมันว่าอยู่ที่ไหน อยู่ที่สมองหรืออยู่ที่ใจ อันนี้ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ แต่มันจะรู้เองถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่ามันไม่ได้อยู่ที่สมอง มันอยู่ที่ใจ แต่ตอนนี้ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ขอให้รู้ว่ามันไม่ดี แล้วต้องหยุดมันให้ได้ วิธีที่จะหยุดมันก็ต้องหยุดความคิดถึงเรื่องที่จะทำให้เราอยาก คิดถึงขนมก็อยากกินขนม เราก็หยุดความคิดนั้น เช่น เราก็ใช้พุทโธพุทโธหยุดไป คิดถึงขนมเราก็พุทโธพุทโธไป หรือถ้าอยากจะใช้ปัญญาก็ เวลาคิดถึงขนมอยู่ในปาก แล้วมันน่ากินไหม อย่าไปคิดถึงขนมที่มันอยู่ในจาน เห็นขนมอยู่ในจานแล้วน้ำลายไหล พอเห็นขนมที่อยู่ในปากนี่ พอเราคายออกมานี่ เราตักเข้าไปในปาก ตักไปกินใหม่ได้หรือเปล่า อันนี้ก็จะทำให้เราหยุดความอยากได้



ปัญญาอบรมสมาธิปฏิบัติอย่างไร
ถาม: ปัญญาอบรมสมาธิต้องปฏิบัติอย่างไรคะ
พระอาจารย์: ใช้ไตรลักษณ์ไง เช่น เวลาเรากังวลกับเรื่องงานเรื่องการ กลัวจะตกงานหรือกังวลกับเรื่องโควิดอะไรนี้ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าร่างกายนี้เดี๋ยวก็ต้องตาย จะตกงานไม่ตกงาน จะมีโควิดไม่มีโควิดเดี๋ยวถึงเวลามันก็ต้องตาย ถ้ายอมรับความตายได้ มันก็สงบ มันก็ไม่กลัวโควิด ไม่กลัวเรื่องตกงานตกการอะไรต่างๆ



โพชฌงค์ ๗
ถาม: กราบถามพระอาจารย์ค่ะ ขอความกรุณาพระอาจารย์อธิบายเรื่องโพชฌงค์ให้เข้าใจโดยง่ายเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: โพชฌงค์นี้มันก็เป็นมรรคแหละ เป็นมรรค ๘ เพียงแต่มันมี ๗ เท่านั้นเอง  เรียกว่า “โพชฌงค์” แต่มันก็เป็นตัวมรรค แต่เป็นตัวมรรคที่เป็นอยู่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยะมากกว่า โพชฌงค์นี่ สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนก็ให้เจริญมรรค ๘ ไป เพราะโพชฌงค์นี้มันจะเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ สติ สมาธิ อะไรต่างๆ ไปอ่านดูมีอยู่ ๗ ข้อด้วยกัน มันเป็นเรื่องของผู้ที่เข้าถึงตรงจิตได้แล้ว ผู้ที่มีสมาธิแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่เข้าถึงตัวจิตนี้ ก็ให้ใช้มรรค ๘ ไป ทำบุญทำทาน รักษาศีล ภาวนาไป ก็แค่นั้น มันเป็นมรรคเหมือนกัน แต่อยู่คนละระดับ



ความหมายของการสวดโพชฌงค์
ถาม: ขอทราบความหมายของการสวดโพชฌงคปริตร เนื่องจากโยมอ่านคำแปลจากกูเกิ้ล แต่ยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: โพชฌงค์ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ผู้ที่ต้องการจะตรัสรู้หรือบรรลุธรรม ต้องมีธรรมเหล่านี้ โพชฌงค์ โพชฌงค์ ๗ ใช่ไหมโพชฌงค์ ๗ ต้องมีสติ ต้องมีปัญญา ต้องมีธัมมวิจโย คือปัญญา ต้องมีสมาธิ ต้องมีอุเบกขา เท่านั้นเอง ก็เป็นธรรมะที่ผู้ต้องการที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ต้องมี พอคนที่ไม่สบายปฏิบัติโพชฌงค์ได้ ก็หายทุกข์จากความไม่สบาย ไม่ได้หมายความว่าหายจากร่างกายไม่สบาย ร่างกายก็ยังไม่สบายอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์กับความไม่สบายของร่างกาย ความหมายเป็นอย่างนั้น บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคมะเร็ง เป็นอะไร ก็สวดโพชฌงค์กันไป เดี๋ยวก็หาย อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปมีโรงพยาบาลให้เสียเวลา เสียเงินเสียทอง ใช่ไหม มันไม่หายหรอก

แม้แต่พระพระพุทธเจ้ายังไม่หายจากโรคภัยไข้เจ็บเลย โรคภัยไข้เจ็บมันเป็นเรื่องของร่างกาย แต่ที่หายก็คือความทุกข์ใจ เท่านั้นเอง ที่ท่านสอนนี่ ท่านสอนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ใจ พอใจไม่ทุกข์แล้ว ตอนต้นก็นอนไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง กลับลุกขึ้นมาเดินได้เหมือนคนหาย มันไม่ได้หายหรอก เพียงแต่ว่ามันมีกำลังใจ มันไม่กลัวตาย มันไม่กลัวเจ็บ งั้นมันอยู่ที่พลังใจ เห็นไหมเวลาไฟไหม้นี่ คนแบกอะไรของหนักๆ ธรรมดาเคยแบกไม่ได้ ทำไมแบกได้ ใช่ไหมเพราะมันมีกำลังใจขึ้นมา พลังใจนี่อย่าประมาทนะ มันใหญ่ยิ่งนะ อยู่เหนือร่างกายนะ ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว พอใจสั่งให้ร่างกายทำอะไร มันต้องทำตามทันที ถ้าทำได้มันทำตามทันที ยกเว้นมันทำไม่ได้จริงๆ อย่างมันพิการอย่างนี้ สั่งมันยังไงมันก็ไม่ทำ มันก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าบางทีเจ็บนิดหน่อย โอ๊ย ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง อย่างนู้นอย่างนี้ ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยาก พอใจมีพลังขึ้นมา โอ๊ย ลุกขึ้นมาได้ พอเพื่อนชวนไปเที่ยวนี่ ใช่ไหมนั่นแหละคือความหมายของการสวดโพชฌงค์ คือการสร้างธรรมะ ๗ ข้อนี้ขึ้นมาในใจให้ได้ ถ้ามีธรรมะ ๗ ข้อนี้แล้วจะมีพลัง ใจจะไม่ทุกข์ ใจจะไม่กลัวความเจ็บความตายของร่างกาย ความเจ็บความตายจะไม่มาทำให้ใจอ่อนแอ ใจจะมีพลัง สามารถสั่งให้ร่างกายลุกขึ้นมาทำอะไรได้



ถ้าทำน้อยลงก็ถือว่าก้าวหลัง
ถาม: นั่งภาวนาพุทโธทุกวัน ครั้งละหนึ่งชั่วโมง ไม่ค่อยสงบแต่มีความสุขมาก อย่างนี้ไม่มีความก้าวหน้าใช่ไหมเจ้าคะ คือทำอยู่อย่างนี้หลายปีแล้ว วันพระก็รักษาศีล ๘ เจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ก็มีความสุขก็ถือว่าใช้ได้ นั่งสมาธิก็เพื่อความสุขนั่นเอง งั้นถ้าเราสุข ถึงแม้จะไม่สงบก็แสดงว่ามันยังไม่สงบเต็มที่ แต่มันไม่ฟุ้งซ่าน มันไม่คิดวุ่นวายใจ ไม่มีเรื่องวุ่นวายใจ มันก็มีความสุขได้ ก็เป็นความสุขระดับต้น เป็นความสงบระดับต้นๆ ยังไม่สงบเต็มที่ ก็ถือว่าดี ถ้าอยากจะให้ก้าวหน้าก็ต้องปฏิบัติมากขึ้น ถ้าปฏิบัติ ๑๐ ปี วันละชั่วโมง มันก็ได้เท่าเดิม ถ้าอยากจะได้เพิ่มก็ต้องเพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง เป็น ๓ ชั่วโมง เป็น ๔ ชั่วโมงไป ถึงจะก้าวหน้าขึ้นไป ถ้าทำเท่าเดิมมันก็ไม่ถือว่าก้าวหน้า อยู่ที่เดิม ถ้าทำน้อยลงก็ถือว่าก้าวหลัง



การวางขันธ์
ถาม: การวางขันธ์นี่วางยังไงคะพระอาจารย์
พระอาจารย์: ก็ปล่อยมันไง มันจะแก่จะเจ็บจะตาย ก็ปล่อยมันแก่เจ็บตายไป มันจะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป มันจะไม่เจ็บก็ปล่อยมันไม่เจ็บไป อย่าไปยุ่งกับมัน
ถาม: ไม่ต้องยุ่งกับมัน ก็คือเราอยู่ของเราในชีวิตประจำวัน
พระอาจารย์: ให้สักแต่ว่ารู้ อย่าไปอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ คือความอยากนี่เป็นตัวที่ทำให้เราไม่ได้ปล่อยวาง ถ้าเราไม่มีความอยากก็ถือว่าเราปล่อยวาง
ถาม: ก็คือเห็นมันตามสภาพ ปล่อยมันไปตามสภาพตามความเป็นจริง ณ ตอนนี้
พระอาจารย์: เออ แต่บางทีก็ต้องมีเหตุผลปล่อย ถ้ายังต้องดูแลมันก็ต้องดูแลมันไป บางคนปล่อยแบบไม่ดูแลเลย น้ำไม่อาบ หนวดไม่โกน..แต่กินอยู่ อะไรอย่างนี้ แสดงว่ามันไม่ได้ปล่อยจริง ปล่อยแบบขี้เกียจ คือปล่อยในสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้แล้ว เช่น เวลามันเจ็บนี้ ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันเจ็บไป แต่ถ้าเรายังมีหน้าที่เลี้ยงดูมันก็ต้องเลี้ยงดูมันไป อาบน้ำ หวีเผ้าหวีผม อะไรไป ไม่ใช่ปล่อยแบบไม่มีการดูแลอะไร ปล่อยไปเหมือนคนเสียสติอย่างนี้ ปล่อยอย่างนั้น ไม่ใช่



เขามีกรรมของเขา
ถาม: ลูกสาวหนูเกเรมาก อายุ ๒๗ ปีแล้วค่ะ หนูปฏิบัติธรรม แผ่เมตตาให้เขาตลอด แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยค่ะ หนูควรทำอย่างไรดีคะ หรือมันเป็นกรรมคะ
พระอาจารย์: อ๋อ การแผ่เมตตา มันไม่ได้ไปทำให้เขาเปลี่ยนได้ มันเป็นเรื่องของกรรมของเขา เขามีกรรมของเขา เขาเป็นอย่างนี้มา เราทำได้ก็สอนเขา ถ้าเขาสนใจ ว่าเราควรจะเปลี่ยนนิสัย นิสัยไม่ดีก็อย่าไปทำ ทำแต่นิสัยที่ดี



ความจริงงานศพนี้ไม่ต้องสวดก็ได้
ถาม: อาจารย์ครับ เราจะไปฟังสวดอภิธรรม เราจะเอาอะไรมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เราครับ
พระอาจารย์: คือการสวดอภิธรรมนี้ มันเป็นสวดภาษาบาลี ซึ่งเราฟังไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ถ้าเราอยากจะเข้าใจความหมาย เราก็ต้องไปเปิดในเน็ตดู บทสวดอภิธรรมว่าเขามีความหมายแปลว่าอะไรบ้าง คือเขาเอาธรรมะมาสวดให้เราฟัง ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน กุสลาก็แปลว่ากุศล อกุสลาแปลว่าอกุศล อัพยากตา ก็คือไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล คือธรรมทั้งหลายเป็นอย่างนี้ แบ่งเป็น ๓ ชนิด ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ธรรมที่เป็นอกุศลก็มี ธรรมที่เป็นกลางๆ ก็มี อันนี้เป็นการเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสวด เท่านั้นเอง เป็นพิธีกรรม มันไม่มีอะไร ความจริงงานศพนี้ไม่ต้องสวดก็ได้ เพราะงานศพเป็นงานเผา เผาศพ ที่เขาอยากจะให้มีอะไรแก้เหงามั่ง ก็เลยนิมนต์พระมาสวด เท่านั้นเอง แต่ถ้าอยากจะสอน ถ้าจะให้พระสอน ถ้าให้สวดเป็นภาษาไทยจะดีกว่า คนฟังจะได้เข้าใจว่าท่านกำลังสวดเรื่องอะไรบ้าง



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 มีนาคม 2564 16:15:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/85236878817280_157323901_3776366559067934_623.jpg)

กาลเทศะ ความเหมาะสม
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ การที่ชอบนั่งภาวนาเฉยๆ โดยที่มีเหตุผลว่า การนั่งภาวนาได้บุญมากกว่าการทำงานช่วยวัดอย่างอื่น เราต้องฉลาดทำบุญ แบบนี้จะกลายเป็นว่าขี้เกียจหรือเห็นแก่ตัวหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องดูกาลเทศะ ดูความเหมาะสม ถ้าคนอื่นเขาทำงานกัน เราอยู่ร่วมกับเขาเราก็ต้องช่วยกัน ไม่ใช่มาอ้างว่าตอนนี้ขอนั่งสมาธิ แต่พอเวลาเขากินก็มาขอร่วมกินด้วย ก็ต้องรู้จักเวลา รู้กาลเทศะ บุญแต่ละชนิดมีเวลาของมัน ถึงเวลาที่ต้องช่วยเหลือกันก็ต้องทำบุญชนิดนี้ไป ถึงเวลาที่แยกไปนั่งสมาธิก็ไปนั่งสมาธิกันไป
 


การถือเนสัชชิก
ถาม: การฝึกปฏิบัติโดยไม่นอน ๓ วัน ๕ วัน ทำอย่างไรครับ  
พระอาจารย์: อ๋อ นี่มันเป็นความสามารถของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่เขามีพลังจิตสูงๆ แล้วเขาไม่อยากจะเสียเวลา เขาอยากจะบรรลุธรรมภายใน ๕ วัน ๗ วัน เขาก็เลยเร่งความเพียร เขามีพลังจิต ถ้าจิตมีสมาธิ จิตมันไม่ค่อยง่วงนอน จิตมันจะตื่นอยู่ตลอดเวลา แต่เขาอาจจะพักบ้างแต่ไม่ได้พักในท่านอน คนที่เขาถือเนสัชชิกนี่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้นอนนะ ไม่ได้พักหลับนอน ไม่หลับ แต่ไม่ได้หลับในท่านอน จะหลับอยู่ใน ๓ ท่า ท่าใดท่าหนึ่ง ท่าเดิน ท่ายืน ท่านั่ง ส่วนใหญ่จะหลับในท่านั่งกัน แต่มันจะหลับไม่นานเพราะมันไม่สบาย พอร่างกายมันไม่ไหวจริงๆ มันก็จะหลับ พอร่างกายได้พัก พอมีแรงหน่อยมันก็ตื่นขึ้นมา แค่ชั่วโมงสองชั่วโมงก็ตื่นแล้ว แต่ถ้านอนนี้มันยาวไปเลย ๖ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง นี้มันทำให้เสียเวลาของการปฏิบัติ เขาก็เลยถือเนสัชชิก ถือ ๓ อิริยาบถ จะหลับก็ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ แต่ไม่ให้หลับในอิริยาบถนอน อันนี้คือเรื่องของการปฏิบัติแบบไม่นอน แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่หลับ ต้องหลับกัน ร่างกายมันถึงเวลาต้องหลับมันก็หลับไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน เพียงแต่ว่าจะไม่ให้มันหลับในท่านอน เท่านั้นเอง ความหมายไม่ใช่ไม่ให้นอน ไม่ใช่ว่าไม่ได้พักผ่อนหลับนอน ร่างกายมันพอถึงเวลามันต้องพักผ่อนหลับนอน จะไปถือยังไงอดยังไงมันก็ฝืนไม่ได้ ถึงเวลามันจะหลับมันหลับได้ทั้งขณะที่ยืน เชื่อไหม เวลามันจะหลับ เพราะฉะนั้น ไอ้ที่เขาว่าไม่หลับไม่นอน ๓ วัน ๕ วันนี้หมายถึง ไม่หลับนอนในอิริยาบถท่านอน แต่อาจจะหลับในท่าเดินท่ายืนท่านั่งได้
ถาม: มีอุบายในการฝึกไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็นี่แหละเราต้องฝึกสติฝึกสมาธิ ให้จิตมีพลังก่อน แล้วเห็นนิพพานอยู่ริบรี้ริบไรนี้ มันก็จะเกิดความอยากที่จะปฏิบัติแบบไม่หลับไม่นอนเอง



จิตมีกี่ดวง
ถาม: ขอสอบถามครับ จิตมีดวงเดียวหรือมีกี่ดวง เห็นบางคนบอกในตำราบอกว่ามี  ๙๘ ดวงครับ
พระอาจารย์: อ๋อ จิตมีดวงเดียว แต่มีหลายอาการ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ชั่ว เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็บ้า จิตดวงเดียวกันทั้งนั้นแหละ แต่มันเปลี่ยนอาการไป เป็นเหมือนดาราภาพยนตร์นี่ แสดงหลายบทใช่ไหม หนังเรื่องนี้ก็แสดงเป็นพ่อ หนังอีกเรื่องก็เป็นลูก เป็นคนดี เป็นคนชั่ว ไม่มีอะไร เป็นการแสดงของจิต แต่มีจิตดวงเดียว



ทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาทำอย่างไร
ถาม: อยากจะถามพระอาจารย์ว่า การทำบุญให้กับบุตรที่ล่วงลับไปแล้ว ตามหลักพระพุทธศาสนาทำอย่างไร หรือว่าหลักการที่ถูกต้องครับผม
พระอาจารย์: คือ การทำบุญทางพระพุทธศาสนา ก็โดยทั่วไปก็ให้ทำกับพระก่อน ทำกับพระ ทำกับวัด เช่น บริจาคเงินให้วัด ถวายสังฆทาน สร้างกุฏิ หรือทำอะไรเหล่านี้ก็สามารถอุทิศบุญนี้ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ แต่ถ้าพูดตามหลักของเรื่องบุญแล้วนี้ บุญเกิดจากการเสียสละการให้ทานของเรา ไม่ได้อยู่กับที่ผู้รับว่าเป็นใคร ให้ใครแล้วเราเกิดความสุขใจ อันนั้นก็เป็นบุญ แล้วเราก็สามารถแบ่งความสุขใจนั้นให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้เหมือนกัน ก็จะใส่บาตรก็ได้ จะบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลก็ได้ ให้โรงเรียนก็ได้ ทำแล้วเรามีความสุขใจ เราก็สามารถอุทิศบุญนี้ให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้
แต่ถ้าพูดตามรูปแบบ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ก็ให้กับนักบวชก่อน กับพระพุทธศาสนา เพราะนักบวชนี้เขาต้องพึ่งการให้ทานของผู้อื่น ถึงจะอยู่ได้ ยกเว้นว่าถ้ามีมากแล้ว ก็สามารถไปทำที่อื่นแทนก็ได้ ถ้าอยากจะทำที่อื่น แต่เบื้องต้นทำกับนักบวชนี้จะได้ประโยชน์มาก เพราะนักบวชนี้มีแต่ทำความดีให้กับโลก เป็นที่พึ่งของโลก พระสงฆ์เป็นพระรัตนะ หนึ่งในพระรัตนตรัย ที่เราควรที่จะสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับ ถ้าเราอยากจะทำบุญกับบุคคลอื่นก็ได้ ไปทำแล้วมันอาจจะไม่รู้สึกเหมือนกับได้บุญ ก็อันนี้ก็แล้วแต่ความรู้สึก



ฌานสมาบัติกับอัปปนาสมาธิให้ผลกับใจต่างกันอย่างไร
ถาม: พอออกจากอัปปนาสมาธิกิเลสต่างๆ ถูกอำนาจของสมาธิทับไว้ไม่แสดงขึ้นมา ใจมีแต่ความอิ่มไม่ค่อยอยากพูดกับใครครับ อยากหาแต่ที่สงบอยู่ แต่ทำไมผู้ที่สำเร็จฌานสมาบัติอย่างฤาษีในสมัยก่อนถึงแข่งกันแสดงฤทธิ์ต่างๆ ฌานสมาบัติกับอัปปนาสมาธิให้ผลกับใจต่างกันอย่างไรครับ
พระอาจารย์: คือสมาธินี่เป็น ๒ แบบไง แบบที่มีอภิญญากับแบบที่ไม่มีอภิญญา ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินี้ก็จะไม่มีอภิญญา แต่ถ้าได้อัปปนาแล้วออกไปทางอุปจารสมาธิ ก็จะมีอภิญญาตามมา งั้นคนที่มีอภิญญาเขาก็แสดงอภิญญาได้ ระลึกชาติได้ อ่านวาระจิตของผู้อื่นได้ อะไรทำนองนี้ พวกที่ได้อัปปนาไม่ออกไปทางอุปจาระก็จะไม่ได้อภิญญา แต่ได้อัปปนาดีกว่าได้อุปจาระ เพราะอัปปนาได้อุเบกขา ถ้าออกจากอัปปนาไปอุปจาระจะเสียอุเบกขาไป แต่จะได้อภิญญาแทน ถ้าต้องการไปทางวิปัสสนา ก็ต้องมีอุเบกขาถึงจะไปได้ ถ้ามีอภิญญาไปไม่ได้ อภิญญาไม่มีอุเบกขาที่จะเป็นกำลังในการต่อสู้กับกิเลสตัณหาต่างๆ ดังนั้นพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนว่าอย่าไปทางอุปจาระ ให้อยู่ในทางของอัปปนาเพื่อจะได้มีอุเบกขา จิตออกมาแล้วอิ่ม มีกำลังที่จะต้านความอยากต่างๆ ได้ พอใช้ปัญญาพิจารณาโทษของความอยาก มันก็จะดับความอยากได้ทันที แต่ถ้าไปทางอุปจาระ พอออกมาแล้วไม่มีความอิ่มเอิบใจ พอเกิดความอยากขึ้นมาก็สู้ไม่ได้



อยากให้พ่อแม่เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย
ถาม: การทำบุญกับบิดามารดาที่ดีก็คือ การส่งเสริมให้ท่านได้เข้าถึงพระรัตนตรัย อย่างนี้ถูกไหมครับ
พระอาจารย์: ถ้าทำได้แต่ถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยก็ต้องทำที่ร่างกายก่อน ให้ท่านอยู่ดีกินดีก่อน เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องคอยดูแลรักษาท่านไป ส่วนเรื่องเข้าถึงพระรัตนตรัยได้หรือไม่นี่ก็อยู่ที่ศรัทธาของท่านด้วย ถ้าท่านไม่มีศรัทธาก็อาจจะไม่ยอมเข้าก็ได้ งั้นวิธีเดียวที่จะทำให้ท่านเข้าได้ ก็ต้องพาท่านไปหาพระรัตนตรัยแท้ๆ ไปหาพระจริง ไปหาพระอริยสงฆ์อย่างนี้ ถ้าท่านได้ฟังจากพระอริยสงฆ์แล้วก็อาจจะเกิดศรัทธาขึ้นมาได้ คนบางคนเล่าให้ฟังว่าไปฟังเทศน์ที่ไหนก็ไม่เกิดศรัทธา พอไปฟังจากหลวงตามหาบัวแค่นี้เกิดศรัทธาขึ้นมา จิตใจใฝ่หาอยากจะไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากหลวงตาอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมแท้กับธรรมปลอมมันไม่เหมือนกัน พระแท้กับพระปลอมไม่เหมือนกัน เหมือนทองแท้กับทองเก๊ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม งั้นถ้าอยากจะให้พ่อแม่เกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย ต้องเข้าหาพระอริยะ พระรัตนะ สังฆรัตนะ แล้วก็จะเกิดศรัทธาได้


พิจารณาวิญญาณในขันธ์ ๕ อย่างไร
ถาม: กราบเรียนท่านขอวิธีพิจารณาค่ะ อย่างเช่น ถ้าเราจะพิจารณาวิญญาณในขันธ์ ๕ จะมีวิธีพิจารณายังไงคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ต้องหรอก ในขันธ์ ๕ นี้ ให้พิจารณาเวทนาเท่านั้นเอง มันมาเป็นทีม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี่มาร่วมกัน ตัวที่มันเด่นที่สุดที่เป็นปัญหาก็คือเวทนา โดยเฉพาะทุกขเวทนา ให้พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง เป็นธรรมชาติของมัน จะไปให้มันสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะไม่ให้มันทุกข์ ไม่ให้มันเกิดไม่ได้ มันต้องเกิด แล้วเมื่อมันเกิดเราก็ไปห้ามมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา สิ่งที่เราทำได้ก็คืออยู่กับมัน ทำใจเฉยๆ อยู่กับมันไป อย่าไปรัก อย่าไปชัง อย่าไปเลือกที่รักมักที่ชัง มันจะเกิดตัณหาความอยากขึ้นมา แล้วจะเกิดความทุกข์ใจ
ถาม: คือ เท่าที่เคยศึกษาดูนะคะ มันก็เลยมีปัญหา โดยเฉพาะว่า นั่นก็ไม่ใช่ของของเรา เช่น เราก็ต้องพิจารณาว่า เวทนานี้ไม่ใช่ของของเรา ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: คำว่าไม่ใช่ของเรา หมายถึงว่าเราควบคุมบังคับมันไม่ได้ เหมือนดินฟ้าอากาศ เราควบคุมมันได้หรือเปล่า
ถาม: ค่ะ แล้วไอ้ที่ เราไม่เป็นนั่นเป็นนี่ แล้วนั่นก็ไม่ใช่ของของเรา
พระอาจารย์: ก็นั่นแหละ เราไม่ได้เป็นอะไรเลย เราเป็นผู้รู้เฉยๆ เมื่อไปทำอะไรกับทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้เฉยๆ รู้ว่ามันเกิดแล้วมันดับ รู้ว่าทุกขเวทนาเกิดแล้วเดี๋ยวมันก็ดับไปเอง ไม่ต้องไปทำอะไร
ถาม: ค่ะ คราวนี้ขอกราบเรียนถามนะคะ ในหัวข้อของวิญญาณนี่ ก็หมายความว่า วิญญาณนี่ ส่วนสุขคือการเห็นใช่ไหม เราดูๆ จนกระทั่ง เอ๊ะ มันก็คือการเห็น แล้วก็นี่คือการได้ยิน นี่คือการได้กลิ่น อย่างนี้เรียกวิญญาณ ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ใช่ แต่มันไม่สำคัญเพราะว่า พอมันเห็นแล้วมันเกิดเวทนาทันที ดูที่ตัวเวทนาเป็นหลัก พอเห็น มันเกิดทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาขึ้นมา ไอ้ตัววิญญาณมันไม่มีความหมายอะไร มันเพียงแต่ทำหน้าที่ส่งรูปเสียงกลิ่นรสให้ใจได้รับรู้ แต่ไอ้ตัวที่เป็นปัญหาก็คือตัวเวทนา เวลาได้เห็น ได้ยินเสียงไง เวลาใครด่านี้ทุกข์เกิดขึ้นมาทันทีเลย ให้ดูตัวนั้น ตัวเวทนา
ถาม: คือหมายถึง มันยินดียินร้ายที่เห็น ที่ได้ยิน อะไรอย่างนี้ ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ถูกต้อง มันไม่ติดสิ่งที่มันชอบมันยินดี สิ่งที่มันไม่ชอบมันก็ยินร้าย แล้วก็เกิดตัณหา สิ่งไหนที่ไม่ชอบก็อยากจะให้มันหายไป ไม่อยากเข้าใกล้
สัมผัส พอไม่หายก็ทุกข์
ถาม: แล้วอย่างการเจ็บป่วย
พระอาจารย์: เหมือนกัน ก็โผฏฐัพพะ เจ็บป่วยของร่างกายก็โผฏฐัพพะ สัมผัสทางร่างกายต่างๆ ก็เรียกว่าโผฏฐัพพะ มันก็เหมือนกับรูปเสียงกลิ่นรส มันก็มีสุขมีทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาก็เกิดตามขึ้นมา แล้วแต่สัมผัสแบบไหน งั้นไม่ต้องไปดูพวกนี้ ดูไอ้ตัวเวทนาเป็นหลัก โดยเฉพาะตัวทุกขเวทนา เพราะส่วนใหญ่นิ่งกัน เหมือนอะไรก็ไม่รู้ พอทุกข์หน่อยนี่ดิ้นกัน หาที่หลบกันหมดเลย ทีนี้มันหลบไม่ได้ ก็เครียดกัน งั้นวิธีที่ปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ อย่าไปหลบมัน อยู่กับมันไป รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจ อย่าไปรังเกียจมัน อย่าไปชังมัน ส่วนใหญ่เราจะชังทุกขเวทนากัน ใช่ไหม จะปัดมัน จะกำจัดมันให้ได้ พอกำจัดไม่ได้ก็เครียด ทุกข์กัน ถ้าเราไม่ไปอยาก ไม่ไปชังมัน เฉยๆ มันมาก็มา อยู่กับมันไป สบายไม่เครียด ไม่ดีกว่าหรือ
ถาม: อันนี้หมายถึงทางร่างกาย ใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: ก็ทุกอย่างนี่ ที่พูดถึงวิญญาณนี่ก็เกี่ยวกับร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
ถาม: แล้วเกี่ยวกับจิตใจด้วยไหมคะ
พระอาจารย์: จิตใจก็อีกตัวหนึ่ง ตัวนั้นมันเป็นความคิดปรุงแต่ง อารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจก็เหมือนกัน ก็มีอารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี ฟุ้งซ่าน สงบ อย่างนี้ก็ เราก็ไปเลือกที่รักมักที่ชังกับอารมณ์
ถาม: แล้วอย่างเช่น ถ้าเรามีปัญหา เครียดมากแล้วทำให้ทุกข์ อย่างนี้ก็เข้ากรณีเวทนาเหมือนกัน
พระอาจารย์: เวทนา แต่มันเกิดจากจิตมากกว่า ใช่ไหม ทุกข์เพราะว่าเราเครียดกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันไม่ได้มาทางตาหูจมูกลิ้นกาย มันมาทางจิต จิตเราไปอยาก แล้วเราไปแก้ที่มันเป็นอริยสัจ มันเครียดเพราะมันอยาก อยากได้สิ่งนั้นพอไม่ได้ มันก็เครียด หรืออยากให้สิ่งนั้นมันไม่เป็นอย่างนั้น พอไม่เป็นก็เครียด งั้นก็พิจารณาว่ามันก็เป็นอนัตตา ไปบังคับมันไม่ได้ หัดอยู่กับมันไป
ถาม: ค่ะ อย่างนี้รู้สึกว่ามันนี่ พิจารณาอย่างนี้มันจะเข้าที่เข้าทางแล้ว ไม่ใช่จะไปเอาตามตัวหนังสือเป๊ะๆ
พระอาจารย์: ไม่ได้ ต้องดูความจริง ความจริงในใจเรา ก็อยู่ที่ตัวทุกขเวทนานั่นแหละ ทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางใจ เราก็ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นอนิจจัง อนัตตา เราก็ต้องใช้อุเบกขาสู้กับมันเท่านั้น
ถาม: อย่างสัญญา สังขาร
พระอาจารย์: มันมาด้วยกัน มันทำงานพร้อมกัน พอวิญญาณได้ยินเสียงปั๊บ สัญญาก็มาแล้ว จำเสียงว่าเป็นเสียงใคร ดีไม่ดีนี่ก็สัญญาทำงานแล้ว พอดีสังขารก็ทำงาน ถ้าดีก็ไปต้อนรับเขาสิ เขาพูดดีก็ทักทายเขา ถ้าเขาพูดไม่ดีก็เดินหนี เป็นหน้าที่ของสังขาร ทีนี้บางทีมันหนีไม่ได้ มันต้องพบกัน ก็ใช้อุเบกขา
ถาม: อ๋อ มันจะมาเป็นขบวน
พระอาจารย์: มันมาพร้อมกัน ปั๊บเลย ทีเดียว เป็นทีมแหละ ให้ดูที่ตัวเวทนาเป็นหลัก ดูที่ความรู้สึกกับรูปเสียงกลิ่นรส เวลาที่เราสัมผัสกับมัน ถ้าเราไม่มีความรู้สึกอะไรก็ใช้ได้ ถ้าเริ่มทุกข์ก็ผิดแล้ว ถ้าเริ่มสุขก็ผิดอีก ถ้าไปชอบไปชังก็ผิด ต้องเฉยๆ อย่าไปรักอย่าไปชัง ปล่อยเขามา ปล่อยเขาไป ปล่อยเขาอยู่ แล้วใจเราก็จะไม่เครียด ใจเราก็จะเฉยๆ สบาย ใครด่าก็ปล่อยมันด่าไป ทำตัวเป็นฝาผนังดูสิ เดี๋ยวมันก็เหนื่อยเองแหละ ใช่ไหม พอให้ไปนั่งด่าฝาผนังสักพักสิ เดี๋ยวก็หยุดด่าเองแหละ ใช่ไหม
ถาม: ค่ะ
พระอาจารย์: เออ นั่นแหละ อุเบกขาก็อย่างนั้น เฉยๆ ใครเขาจะพูด ใครเขาจะทำอะไร ให้เฉยๆ ถ้ามันเป็นภัยต่อร่างกาย หลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก หลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็ถือว่าถึงคราวที่มันต้องเจ็บตัวแล้ว ก็ปล่อยมันเจ็บไป แต่เราจะไม่ตอบโต้เขา เราจะไม่ไปแก้เขา เราแก้ที่ใจเราตัวเดียว



มีวิธีเดียวที่อุทิศบุญได้คือให้ทำบุญทำทาน
ถาม: การทำบุญให้ผู้ล่วงลับโดยการถวายสังฆทาน หรือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แบบให้ผู้ล่วงลับ อย่างไหนจะได้รับผลบุญมากกว่ากันคะ
พระอาจารย์: มีวิธีเดียวที่อุทิศบุญที่พระพุทธเจ้าสอน คือให้ทำบุญทำทาน ท่านไม่ได้สอนให้เราปฏิบัติวิปัสสนาแล้วอุทิศบุญไป อันนี้เป็นความเข้าใจของเรากันเอง ถ้าศึกษาจากพระไตรปิฎกนี้ ท่านสอนให้ทำบุญทำทาน เวลาที่เราจะอุทิศบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปได้ แม้แต่หลวงตามหาบัว ท่านก็ยังพาทำบุญทำทาน อุทิศบุญให้กับมารดาของท่านทุกปี รู้สึกวันปลายปี เดือนพฤษภามั้ง หรือเดือนอะไรไม่ทราบ ก็จะมีทำบุญเปิดโลกธาตุ อุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับทั้งหลายไป ก็ใช้บุญ ท่านไม่ได้ใช้การเป็นพระอริยะของท่าน เอาบุญของท่านไปอุทิศ งั้นเราเข้าใจผิดกัน ไปคิดว่าบุญทุกชนิดสามารถเอาไปอุทิศได้ แต่ถ้าดูตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ ท่านสอนให้เราอุทิศบุญด้วยการทำทาน ทำบุญทำทาน เช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน หรือบริจาคเงินให้กับโรงเรียน โรงพยาบาล หรืออะไรก็ได้



อายุขัยของคนทุกคนกำหนดมาจากอะไร
ถาม: ขอเรียนถามเรื่องอายุขัยของคนทุกคน เป็นเรื่องการกำหนดมาจากอะไรคะ แต่ละคนถึงอายุขัยไม่เท่ากัน บางคนตายตั้งแต่อายุยังน้อย หรือถูกกำหนดมาแล้วว่า คนนี้ต้องอายุเท่านี้ หรือเป็นเรื่องของการหมดกรรมเจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ มันมีหลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยทางร่างกาย ปัจจัยทางใจ ปัจจัยทางใจก็คือกรรมที่เราทำมา ปัจจัยทางร่างกายก็คือ อาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บ หรืออาจมีโรคระบาด หรือว่าเราอาจจะไปอยู่ในทีที่มันมีภัย แล้วเกิดอุบัติภัยขึ้นมา อันนี้มันก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนตายได้ แต่มันไม่ได้อยู่ที่บุญที่กรรมเพียงอย่างเดียว อยู่ที่อย่างอื่นด้วย ร่างกายอาจจะได้ร่างกายที่ไม่ดีมา เป็นกรรมพันธุ์ มีโรคติดมาตั้งแต่เกิดเป็นเด็ก มันก็เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ ดังนั้นมันมีหลายเหตุหลายปัจจัย ซึ่งเราไม่ควรที่จะต้องไปเสียเวลาคิดให้เสียเวลาเปล่าๆ ให้รู้เพียงคร่าวๆ ว่า เกิดมาแล้วต้องตายก็แล้วกัน แล้วจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ งั้นรีบตักตวงเวลาที่เรายังไม่ตายนี้ เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการปฏิบัติธรรมดีกว่า อย่าไปเสียเวลากับการมานั่งคิดเลยว่า เราจะตายเมื่อไหร่ ตายด้วยเหตุอะไร มันไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงความจริง มันก็ต้องตายอยู่ดี



ข้อปฏิบัติเข้าสู่พระโสดาบันได้เร็ว
ถาม: ขอทราบข้อปฏิบัติหรือแนวทางการเข้าสู่พระโสดาบันได้เร็ว และในกรณีที่ยังต้องทำงาน และยังไม่สามารถออกบวชได้เจ้าค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็ต้องทำบุญ หยุดซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เอาไปทำบุญ แล้วก็รักษาศีล ๕ ศีล ๘ แล้วก็ฝึกสมาธิให้ได้ฌาน แล้วก็พิจารณาร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนาที่มากับร่างกายก็ไม่ใช่เรา เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป โดยธรรมชาติของมัน เราไปสั่งไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน แล้วเราก็จะหลุดพ้นจากการไปยึดไปติดกับขันธ์ ๕ ร่างกายของเราและความรู้สึกของเราผ่านทางร่างกาย เราก็จะมีดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าความทุกข์ของเราเกิดจากความอยาก อยากให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่เป็นก็ทุกข์ ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน



พวกเรามาสมมุติกันเอง
ถาม: โยมเปิดร้านค้า ตั้งพระพุทธรูปหันออกหน้าร้าน ซึ่งเป็นทางทิศตะวันตก เขาบอกกันว่า ห้ามวางพระหันหน้าไปทางทิศตะวันตก อย่างนี้จะเป็นอย่างไรไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: ถามพระพุทธรูปสิ ว่าเป็นยังไง พระพุทธรูปท่านไม่รู้เรื่องหรอก พวกเรามาสมมุติกันเอง แล้วก็ว่ากันไปเอง พระพุทธรูปท่านไม่รู้หรอก ความจริงพระพุทธรูปนี้ พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้สร้างขึ้นมาเสียด้วยซ้ำไป ทีนี้พวกเราดื้อสร้างกันขึ้นมา พอสร้างขึ้นมาแล้วก็ตั้งกฎระเบียบกันขึ้นมาเอง เท่านั้นเอง ความจริงมันจะหันไปทางทิศไหน ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก มันไม่ได้ดีขึ้นหรือเลวลง พระพุทธรูปไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นหรือเลวลง ไม่ได้ปกป้องคุ้มครองเรา พระพุทธรูปมีหน้าที่อย่างเดียว เตือนสติเรา ให้ระลึกถึงบาปบุญคุณโทษ นรก สวรรค์ นิพพาน เท่านั้น



ฆราวาสที่สำเร็จกิจแล้วต้องบวชภายใน ๗ วันหรือไม่
ถาม: ฆราวาสที่สำเร็จกิจแล้วในชาตินี้ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องบวชภายใน ๗ วันเจ้าคะ
พระอาจารย์: ไม่จำเป็นหรอก แต่จะบวชก่อน เพราะไม่รู้อยู่จะทำอะไร เพราะโลกนี้ไม่มีความหมายสำหรับผู้ที่หลุดพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ไม่ต้องกลัวว่าถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วันจะตาย นั้นไม่มีหรอก อันนั้นเป็นความเข้าใจผิด คิดกันไปเอง ไม่มีธรรมะบทใดในพระไตรปิฎกที่บอกว่า ถ้าฆราวาสเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วัน จะตายนี้ ไม่มี รับประกันได้ ค้นหาดูได้ เป็นความเข้าใจผิด ไปเห็นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าบรรลุธรรม ๗ วันก่อนตาย ก็เลยคิดว่านี่เป็นฆราวาสถึงตาย มันไม่บรรลุก็ตาย เพราะมันใกล้จะตายอยู่แล้ว



ผู้รู้ ผู้คิด
ถาม : พระอาจารย์คะจิตนี้ใช่ตัวเราไหมคะ จิตเป็นอนัตตาหรือเปล่าคะ
พระอาจารย์ : จิตมันเป็นผู้สร้างตัวเราไง ตัวเราเกิดจากความคิดความปรุงแต่งของจิต พอหยุดคิดปรุงแต่งตัวเราก็หายไป เวลานั่งสมาธิจิตสงบไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็เหลือแต่ตัวรู้ ผู้รู้ สักแต่ว่ารู้ แต่ผู้คิดผู้คิดว่าเป็นตัวเรามันหายไป เพราะฉะนั้นตัวเราก็หายไป ที่มันอยู่ก็เพราะเราไปจำมันไว้ ไง สัญญาของเราจำไว้ สัญญาจำว่ายังมีเราอยู่ แต่ความจริงมันเป็นแค่สัญญาสังขารความคิดความจำแค่นั้นเอง ถ้าจิตสงบหยุดสัญญาหยุดสังขารได้ ตัวเราก็หายไป แต่มันจะหายไปชั่วคราว พอออกจากสมาธิมันก็เริ่มคิดเริ่มจำใหม่ ตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญามาแก้ความจำความคิดว่าไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเพียงแค่ความคิดความจำเท่านั้นเอง ตัวเราจริงๆ ก็คือตัวรู้ตัวคิดแค่นั้นเอง จะว่าเป็นตัวเราก็ไม่ใช่ ตัวจริงๆ ก็คือตัวรู้ตัวคิดที่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น เป็นผู้รู้ผู้คิดอย่างนี้



คำถามจากธรรมะบนเขา
ถาม: เมื่อทำสมาธิได้ถึงขั้นสงบแล้วเราจะเจริญปัญญาอย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ต้องรอให้ออกจากสมาธิก่อน ขั้นสมาธิเป็นขั้นเติมน้ำมัน ก่อนที่เราจะขับรถไปไหนมาไหนได้เราต้องเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อน อย่าเพิ่ง พอเติมได้ลิตรหนึ่งจะไปแล้วอย่างนี้ นั่งสมาธิพอเข้าสมาธิจิตเริ่มนิ่งจะไปทางปัญญาแล้ว ไม่ได้ ต้องให้มันนิ่งนานๆ ให้เข้าสมาธิบ่อยๆ ให้มันชำนาญสามารถที่จะเข้าสมาธิได้ทุกเวลา และเวลาออกจากสมาธิหลังจากนั้นน่ะค่อยมาเจริญปัญญา มาพิจารณาไตรลักษณ์พิจารณาร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา พิจารณาว่าร่างกายไม่สวยไม่งาม มีอาการ ๓๒ จะต้องกลายเป็นซากศพ พิจารณาอาหารว่าไม่น่ากินเวลาที่มันออกมาจากร่างกายเรา เวลาเข้าไปในร่างกายเราแล้วมันไม่น่ากินเลย ถ้าเห็นรูปร่างหน้าตามันแล้วจะกินไม่ลง อันนี้จะช่วยตัดความอยากต่างๆ ได้ ทำให้เราไม่ต้องมาทุกข์ได้



บาปที่เกิดจากการฆ่าตัวตาย
ถาม: กราบนมัสการถามเกี่ยวกับเรื่องของการฆ่าตัวตายเจ้าค่ะ การใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม ขอนมัสการเรียนถามพระอาจารย์เจ้าค่ะว่า เป็นบาปคงเป็นบาปแน่นอน แต่ว่าญาติของเขาจะสามารถทำบุญอุทิศส่วนกุศลด้วยวิธีการใดบ้างเจ้าคะเพื่อที่จะช่วยลดทอน ขอเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
พระอาจารย์ คือบาปที่เกิดจากการฆ่าตัวตายนี้จะพาให้จิตนั้นไม่สามารถออกมารอรับส่วนบุญได้ งั้นก็ต้องปล่อยให้เขาไปรับผลบาปของเขาก่อน จนกว่าเขาจะพ้นจากบาปนั้นแล้ว เขาอาจจะมาเป็นวิญญาณที่มารอรับส่วนบุญต่อไป แต่ทางญาติพี่น้องก็ส่งไปได้ ทุกครั้งที่ทำบุญก็ส่งไป ส่วนเขาจะรับได้หรือไม่ได้นี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพของเขา เราไม่มีญาณที่จะไปหยั่งรู้ได้ แต่เราเป็นห่วงเขาเราอยากจะช่วยเขา ก็ส่งบุญไปเรื่อยๆ เพราะเราทำบุญนี้เราก็ทำเพื่อตัวเราอยู่แล้ว แล้วเราสามารถแบ่งบุญที่เราทำให้กับผู้อื่นไปได้ งั้นเวลาทำบุญเราก็แบ่งไปให้เขา เราไม่ต้องเจาะจงว่าจะต้องทำให้เขา เพราะการทำบุญจริงๆ นี้ผู้ได้รับบุญมากกว่าคือเรา ผู้ที่เราส่งบุญไปให้นี่เขาได้เพียงเสี้ยวเดียวของบุญที่เราทำ



ทำอย่างไรจะให้พ้นความกลัว
ถาม: ทำอย่างไรจะให้พ้นความกลัว เช่น กลัวผี กลัวความตาย
พระอาจารย์: กลัวผีก็ต้องไปหาผี กลัวความตายก็ต้องเข้าหาความตาย แล้วมันจะได้หายกลัว แล้วจะได้พิจารณาให้เห็นว่า ไม่มีอะไรน่ากลัว นอกจากความกลัวที่เป็นสิ่งที่น่ากลัว ความจริงมันต้องเป็นความจริง มันจะตายมันก็ต้องตาย ถ้าผีมีจริงก็ต้องเจอ ถ้าไปหาแล้วมันไม่มี จะได้รู้ว่าผีไม่มี ผีมีแต่เขาไม่มาหลอกมายุ่งกับเราหรอก ผีจริงเขาไม่มาหลอกหรอก ดวงวิญญาณต่างๆ ไอ้ผีที่คอยมาหลอกเราคือผีปลอม ผีที่เราสร้างขึ้นมาในใจเรา ไปอยู่ที่ไหนมืดๆ คนเดียว เดี๋ยวคิดถึงแล้ว มาแล้ว ผีมาแล้ว ได้ยินเสียงก็ผีมาแล้ว เห็นอะไรเคลื่อนไหวหน่อยก็ผีมาแล้ว อันนี้แหละผีปลอม วิธีจะฆ่าผีปลอม ก็ใช้พุทโธ พอเริ่มคิดว่ามีผีมาก็พุทโธพุทโธไป พอจิตหยุดคิด ผีมันก็หายไป

  

เวลานั่งสมาธิสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ควรใช้กี่นาที
ถาม: ควรใช้เวลานั่งสมาธิสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ควรใช้สักกี่นาทีครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี อย่าไปประมาทตัวเอง ไม่ต้องตั้งนาฬิกาตั้งสติอย่างเดียว ถ้ามีสติแล้วนั่งได้นานไปเองโดยอัตโนมัติ แล้วจะได้ไม่ต้องมากังวลกับเวลาด้วย ถ้าไปตั้งนาฬิกามันจะไม่อยู่กับสติแล้ว มันจะอยู่กับนาฬิกา ถึงเวลารึยังถึงเวลารึยัง เพราะใจของผู้เริ่มต้นนี้ไม่ชอบนั่ง กิเลสมันไม่ชอบนั่ง แต่ที่อยากนั่งเพราะได้ยินได้ฟังว่านั่งแล้วดีก็เลยอยากจะนั่ง แต่ใจจริงมันไม่อยากจะนั่ง ถ้าตั้งนาฬิกามันจะไม่มีสติอยู่กับพุทโธ มันจะอยู่กับนาฬิกา เฮ้ย ได้กี่นาทีแล้ว ถึงรึยัง นั่งแบบนี้จะไม่ได้ความสงบ ถ้าอยากจะได้ผลได้ความสงบต้องตั้งสติให้อยู่กับพุทโธพุทโธไป ลืมเรื่องนาฬิกาไป ก่อนจะนั่งนี้ต้องมีเวลาว่างเยอะๆ จะได้ไม่ต้องมากังวล เฮ้ย เดี๋ยวต้องไปทำงานเดี๋ยวต้องไปโรงเรียน เดี๋ยวต้องไปทำนู่นทำนี่ หาเวลาที่เราว่างที่เราสามารถที่จะนั่งไปได้เรื่อยๆ แล้วก็ตั้งสติไป อย่างนี้แล้วจะนั่งได้นาน ยิ่งนานเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะว่าเป็นเหมือนกับการเอาน้ำไปแช่ในตู้เย็น พอเอาน้ำเข้าไปแช่ตู้เย็น ถ้าแช่เดี๋ยวเดียวมันก็ไม่เย็น ถ้าแช่ได้นานมันก็จะเย็น แล้วเวลาออกมามันก็จะเย็นได้นานกว่าจะหายเย็น การเข้าสมาธิก็เหมือนเอาใจเข้าตู้เย็น ใจเราร้อนใช่ไหมเวลาอยู่ข้างนอกสมาธินี้ ร้อนกับเรื่องนั้นร้อนกับเรื่องนี้ ร้อนกับคนนั้นร้อนกับคนนี้ พอเรานั่งสมาธิพุทธพุทโธใจก็จะเย็น ใจก็จะลืมเรื่องคนนั้นคนนี้ ถ้าทำได้นานมันก็จะยิ่งเย็นนานขึ้นไป พอเลิกนั่งสมาธิมันก็จะเย็นไปได้อีกนานกว่าจะเริ่มร้อนขึ้นมา งั้นพยายามนั่งให้มากๆ อย่าไปกำหนดเวลา



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 มีนาคม 2564 16:21:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81346451698078_161270692_3788171901220733_585.jpg)

กิเลสอย่างหยาบเป็นเช่นไร
ถาม: กราบขอโอกาสครับ กิเลสอย่างหยาบเป็นเช่นไรครับ
พระอาจารย์: กิเลสอย่างหยาบก็เป็นกิเลสที่เห็นได้ง่ายได้ชัด เช่น ความโลภ เอารัดเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัวนี้คือมันเห็นได้ชัดกว่า แต่ความหลงนี้มันจะเห็นได้ยากกว่า บางทีเราไม่รู้ว่าเราหลง แต่เรากำลังหลงกัน อันนี้ยาก ละเอียด



เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจควรพิจารณาจารณาอย่างไรไม่ให้หมดกำลังใจ
ถาม: ถ้าเราเกิดความท้อใจ น้อยเนื้อต่ำใจ เราควรพิจารณาอย่างไรไม่ให้หมดกำลังใจครับ
พระอาจารย์: อ๋อ เบื้องต้นควรจะหยุดคิดได้ จะดีกว่านะ ใช้พุทโธพุทโธให้ใจสงบก่อน พอใจสงบใจเป็นกลางแล้วค่อยมาสอนว่า มันเป็นความรู้สึกนึกคิดของเราเอง เท่านั้นเอง ความจริงคนเรานี้มันก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ มีสุขมีทุกข์ มีขึ้นมีลงสลับกันไป เราต้องเรียนรู้ชีวิตว่ามันเป็นอย่างนี้ เวลาขึ้นก็อย่าไปผยอง เวลาลงก็อย่าไปหดหู่ใจ ให้พยายามรักษาใจให้เป็นกลางไว้ อย่าอยู่กับการขึ้นการลงของชีวิต เพราะว่ามีเหตุมีปัจจัยที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ บางทีอยากจะให้มันขึ้นมันก็ไม่ขึ้น บางทีไม่อยากให้มันลงมันก็ลง มันลงก็รู้ว่ามันลง มันขึ้นก็รู้ว่ามันขึ้น แล้วก็ปล่อยวางมันไป ไม่ต้องไปมีความรู้สึกเศร้าใจเสียใจหรือดีใจไปกับมันดีกว่า



อยากเข้านิพพานเป็นกิเลสไหม
ถาม: รบกวนสอบถามพระอาจารย์ครับ การอยากเข้าถึงนิพพานถือเป็นกิเลสหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ถ้าขั้นสุดท้ายน่ะเป็นกิเลส พอถึงขั้นสุดท้ายนี้แม้แต่จะอยากถึงนิพพานก็ต้องหยุด เพราะมันเป็นความอยาก พระอานนท์นี่ถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ถึงคืนสุดท้ายแล้วที่พระพุทธเจ้าบอกว่า คืนนี้เป็นคืนที่จะต้องเข้าถึงพระนิพพานได้อย่างแน่นอน ทีนี้มันยังเข้าไม่ถึง ก็เลยกังวล ยิ่งกังวลก็ยิ่งทำให้จิตฟุ้ง เพราะอยากจะเข้าตามที่พระพุทธเจ้าบอก จนกระทั่งเกือบจะสว่าง ก็เลยคิดว่าไม่มีทางที่จะเข้าได้แล้ว ก็เลยเลิกอยากเข้า นอนดีกว่า พอทำท่าจะนอนเท่านั้น มันก็เลยเข้าเลยทีนี้ เพราะไม่มีความอยากมาขวางทาง อันนี้เป็นขั้นสุดท้าย แต่ขั้นก่อนนั้นต้องมีความอยากไปนิพพาน ถึงจะทำบุญได้ ถึงจะรักษาศีลได้ ถึงจะปฏิบัติธรรมได้ ถ้าไม่มีความอยากไปนิพพาน ก็ไม่รู้ทำบุญไปทำไม ไม่รู้จะรักษาศีลไปทำไม ไม่รู้จะปฏิบัติธรรมไปทำไม ดังนั้นมันมีขั้นของมัน พอถึงขั้นที่มันต้องหยุดความอยากนั้น เพราะมันขวางทาง เราก็ต้องหยุดมัน แต่ถ้าเป็นขั้นที่มันดึงเราให้ไป เราก็ต้องใช้มันไป

   

พระโสดาบันท่านจะรู้ตัวของท่าน
ถาม: ตัวรู้ของพระโสดาบันมีความแม่นยำไหมครับ หรือเป็นตัวหลอก ที่สังเกตดูรู้ว่ามีความแม่นยำพอสมควร เพิ่งเป็นครับ ไปถามคน เขาบอกคุณเป็นพระโสดาบันครับ
พระอาจารย์: เอ้อ ถ้าเราไม่รู้ว่าเราเป็น ก็ไม่ต้องให้คนอื่นเขามาบอกเราหรอก เดี๋ยวจะเป็นบ้าไป เขาบอกเป็นบ้าก็จะเชื่อเขาอีก พระโสดาบันท่านจะรู้ตัวของท่านว่าท่านเป็นหรือไม่เป็น เมื่อเราไม่รู้ก็แสดงว่าเราไม่เป็นแล้ว งั้นคนอื่นเขาบอกก็อย่าไปบ้าจี้ตามเขา เมื่อเราเองไม่รู้ คนอื่นเขาจะมารู้ได้ยังไงว่าเราเป็นอะไร ใช่ไหม ใจของเรา เราเห็น เขาไม่เห็นใจของเรานี่ นอกจากเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระอรหันต์ที่มีอภิญญาก็ว่าไปอย่าง



ไม่ควรจะใช้นาฬิกาปลุก
ถาม: ในการถอนออกจากสมาธิ ควรใช้การพิจารณาอย่างไรในการถอนจากการนั่งสมาธิ เนื่องจากปัจจุบันใช้นาฬิกาปลุก แล้วจะรู้สึกตกใจครับ
พระอาจารย์: ก็ให้มีสติ รู้ว่าจิตกำลังถอนออกจากความสงบ แล้วก็ควบคุมจิตต่อไป อย่าให้คิดปรุงแต่ง ใช้พุทโธพุทโธคุมมันไว้ก็ได้ ไม่ควรจะใช้นาฬิกาปลุก ให้มันถอนออกมา ปล่อยให้มันถอนออกมาเอง พอมันอิ่มตัวแล้วมันก็จะถอนออกมา เหมือนคนนอนหลับแหละ พอนอนหลับอิ่มพอแล้ว มันก็จะตื่นขึ้นมา ถ้าไปใช้นาฬิกาปลุก บางทีนอนยังไม่พอ พอตื่นขึ้นมามันก็จะมีอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมา งั้นอย่าใช้นาฬิกามาบังคับสมาธิ ปล่อยให้สมาธิเป็นไปตามธรรมชาติของเขา พอเขาอยากจะออกมา เขาก็จะออกมาของเขาเอง ถ้าเขายังไม่ออกเราก็อยู่กับเขาไปก่อน อยู่กับความสงบ ซึ่งไม่มีใครอยากจะออกจากสมาธิหรอก พอได้สมาธิแล้วมันสุข สุขยิ่งกว่าได้เงิน ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ใครอยากจะออกมามั่ง งั้นก็มีสติดูมันไป เดี๋ยวมันหมดกำลังมันก็จะถอนออกมาเอง



ต้องอยู่ได้ทั้งสุขทั้งทุกข์
ถาม: ถ้าเราสามารถอยู่ในระหว่างความทุกข์กับความสุข ให้อยู่ระหว่างกลาง อันนี้คือรู้สึกแบบนี้ใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: คือ ต้องอยู่ได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเราอยู่กับสุขได้ เราก็ต้องอยู่กับทุกข์ได้ คือเวลาสุขมาเราก็อยู่กับมันไป เวลาทุกข์มาเราก็อยู่กับมันไป เหมือนกับเราอยู่กับความสุข เราก็จะไม่ทุกข์กับมัน
ถาม: ก็คือไม่ยึดติดกับความรู้สึก เฉยๆ อย่างนี้ใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: เออ อย่าไปยึดไปติด เพราะเราไปติดสุข เดี๋ยวเวลามันหมดไปก็ทุกข์อีก แล้วถ้าไปรังเกียจทุกข์ เวลามันโผล่ขึ้นมาก็ทุกข์อีก งั้นต้องไม่รังเกียจ ไม่รักไม่ชัง อยู่เฉยๆ สุขก็ไม่รัก ทุกข์ก็ไม่ชัง เฉยๆ มาได้ เหมือนร้อนกับหนาว ร้อนก็ได้ หนาวก็ได้ การฝึกจิตนี่ก็ฝึกให้ใจเราเป็นกลาง ไม่ได้ไปฝึกกับสิ่งต่างๆ ให้เป็นกลาง สิ่งต่างๆ เราไปให้เขาเป็นกลางไม่ได้ บางทีเขาก็สุข บางทีเขาก็ทุกข์ บางทีเขาก็ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่สิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือให้ใจเราให้มันเป็นกลาง ใจเราเฉยๆ เป็นอุเบกขา อุเบกขาเกิดได้ ๒ ระดับ ด้วยสติคือฝึกสติบ่อยๆ หยุดความคิดปรุงแต่ง พอจิตหยุดคิดหยุดปรุงหยุดอยาก มันก็เป็นกลาง จะเฉยๆ แต่ถ้าใช้สติมัน พอเวลาหมดสติมันก็จะกลับมารักมาชังเหมือนเดิม ถ้าจะให้มันเป็นกลางตลอดเวลาก็ต้องใช้ปัญญา ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ นี้เราไปรักไปชังเขาไม่ได้ เพราะไปรักไปชังแล้วเราจะทุกข์ เพราะว่าสิ่งต่างๆ เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เขาจะให้เรารักตลอดเวลาไม่ได้ เดี๋ยวเขาเปลี่ยนจากที่เรารัก เขาเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เราชัง เราก็ต้องเปลี่ยน พอเราชังเราก็ทุกข์ขึ้นมา เราต้องปล่อยให้เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่เราไม่ต้องไปรักไปชังเขา เฉยๆ ไป รับรู้ไปเฉยๆ



ร่างกายพิการสามารถสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้หรือไม่
ถาม: กราบนมัสการค่ะ หนูอยากจะสอบถามว่า ถ้าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างตั้งใจแล้ว แค่เรามีความพิการทางร่างกาย ไม่ครบ ๓๒ เหมือนคนอื่นเขา เราจะสามารถสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้หรือเปล่าคะ
พระอาจารย์: ได้ เพราะความสำเร็จ สำเร็จด้วยใจ ไม่ได้สำเร็จด้วยร่างกาย เพียงแต่ว่าอาจจะมีอุปสรรคมากหน่อย เช่น เวลาอยากจะฟังธรรมนี้ร่างกายพิการ จะไปฟังธรรมก็อาจจะยาก แต่เดี๋ยวนี้สมัยนี้เรามีสื่อต่างๆ ก็ช่วยลดความยากลำบากของคนพิการได้มาก สามารถฟังธรรมที่บ้านได้ มีสื่อมีมือถือ อย่างเช่นวันนี้เราถ่ายทอดสดไปถึงบ้าน ไปทั่วโลกเลย ใครอยู่ที่ไหนก็ฟังเทศน์ฟังธรรมได้ เพราะการจะปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นจะต้องมีคนสอน มีธรรมะ มีพระผู้รู้ธรรมเป็นผู้สอน ดังนั้นสมัยก่อนถ้าเป็นคนพิการ จะต้องไปฟังธรรมที่วัดนี่มันก็จะไปได้ยาก แต่สมัยนี้ก็ง่าย เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมจริงๆ นี้มันปฏิบัติที่ใจ เพียงแต่ว่าบางทีเราต้องใช้ร่างกายเป็นตัวบังคับให้ได้ปฏิบัติ เพราะถ้าเราไม่บังคับ มันก็จะไม่ปฏิบัติ แต่ถ้าเราพิการหรือเราเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ เราก็สามารถปฏิบัติได้ เพราะการรักษาศีลก็รักษาที่ใจ การเจริญสติ การเจริญสมาธิก็เจริญที่ใจ การเจริญปัญญาก็เจริญที่ใจ งั้นถ้าสามารถเจริญศีล สมาธิ ปัญญาได้ ก็สามารถบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้



ขอหลักปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดา
ถาม: ขอทราบหลักปฏิบัติเพื่อความเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ขั้นต้นก็ต้องมีศีลก่อน ถ้ายังไม่มีศีล ๕ ก็รักษาศีล ๕ ให้ได้ก่อน รักษาศีล ๕ ได้แล้วก็ไปรักษาศีล ๘ ต่อ รักษาศีล ๘ ได้ ก็ไปหัดนั่งสมาธิ ทำจิตให้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ พอมีสมาธิแล้ว ทีนี้ก็ไปศึกษาธรรมชาติ คือร่างกายของเรา ว่าไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็ปล่อยวาง เมื่อมันไม่ใช่ตัวเรา ห้ามมันไม่ได้ มันจะแก่ก็ห้ามมันไม่ได้ มันจะเจ็บจะตายก็ห้ามมันไม่ได้ ก็ปล่อยมันเท่านั้นเอง ในเมื่อเราไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตาย เราไปกลัวอะไร มันไม่ใช่เรา ให้มองให้เห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา



กรรมที่ให้ผลหนักที่สุด
ถาม: กรรมทางไหนให้ผลหนักที่สุด เช่น วจีกรรม มโนกรรม และกายกรรม กรรมที่ให้ผลหนักที่สุดคืออันไหนครับ
พระอาจารย์: กรรมที่หนักที่สุดก็มีอยู่ ๕ ข้อด้วยกัน
๑. ฆ่าพระอรหันต์
๒. ฆ่าพ่อ
๓. ฆ่าแม่
๔. ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด และ
๕. ทำให้สงฆ์แตกแยก อันนี้ถือว่าเป็นกรรมหนักที่สุด
ผู้ที่กระทำกรรมนี้ก็คือพระเทวทัตนี่ พระเทวทัตนี่ยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน ให้เป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายพระพุทธเจ้า ฝ่ายของเทวทัต อย่างนี้เรียกว่าทำให้สงฆ์แตกแยก แล้วก็พยายามฆ่าพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้งด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จ ทำได้เพียงแต่ทำให้ห้อเลือด เศษหินกระเด็นไปทำให้พระบาทของพระพุทธเจ้าห้อเลือด การกระทำบาปแบบนี้ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เป็นการกระทำบาปที่หนักที่สุด ตายไปต้องไปตกนรกที่ขุมลึกที่สุด ที่ทุกข์ที่สุด ที่ร้อนที่สุด


ตัวที่เราต้องตัดก็คือ ตัวความอยาก ตัวความโลภ
ถาม: คือพระอาจารย์ให้ใช้ไตรลักษณ์นี่ คือไตรลักษณ์ให้ตัดร่างกายก่อน สมมุติว่าตัดร่างกายปุ๊บนี่ก็คือ ร่างกายไม่ใช่เป็นของเรา เราตัดร่างกายออกไปแล้วนี่ ถ้าเราตัดทีละอย่างใช่ไหมคะ แต่ว่ากิเลสนี่มันจะมีโลภโกรธหลง แสดงว่าเราก็ต้องเอาไตรลักษณ์นี่ ตัดความโลภก่อน ค่อยมาตัดความโกรธ แล้วก็ไปตัดความหลง อย่างนี้หรือเปล่าคะ คือกำลังพิจารณาไปเรื่อยๆ อย่างที่พระอาจารย์บอกตลอด เวลาออกจากสมาธิ
พระอาจารย์: อ๋อ ความจริงตัวที่เราต้องตัดก็คือตัวความอยาก ตัวความโลภ ความอยาก ๓ ประการ ความอยากหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี่ แล้วความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เช่น ไม่อยากยากจน ไม่อยากเดือดร้อน ไม่อยากตกงาน ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย เราตัดความไม่อยากเหล่านี้ให้มันหายไป แล้วความอยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากสวยอยากงาม อยากอะไร มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยนี่ก็ต้องตัดมัน คือต้องยอมดูสภาพความเป็นจริง อย่าไปอยู่กับความอยาก เจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องยอมรับว่ามันเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาได้ก็รักษาไป พอใจกับฐานะเราเป็นอยู่ อย่าไปอยากเป็นนู่นเป็นนี่ อยากจะไปเป็นผู้แทน อยากจะไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนันหรือเป็นอะไร สุดแท้แต่ หรือถ้าอยู่ในวงการก็อยากจะเป็นเจ้านาย ไม่อยากจะเป็นลูกน้อง อยากเป็นหัวหน้าคณะ อธิบดี เป็นอะไรต่างๆ ของพวกนี้อย่าไปอยาก อยากแล้วทุกข์ เพราะอยากแล้วเวลามันไม่ได้ ใจมันก็กระเสือกกะสน กระวนกระวาย ได้มาก็ยึด กลัวจะเสีย เดี๋ยวเวลาถูกโยกย้ายหรือถูกปลดก็เสียใจ แต่มีได้ เขาจะตั้งก็ปล่อยเขาตั้งไป เขาจะปลดก็ปล่อยเขาปลดไป ถ้าเราไม่มีความอยากแล้ว เราจะไม่เดือดร้อน เขาตั้งมาก็ให้เขาตั้งไป เขาปลดก็ปล่อยเขาปลดไป เราอยู่ในโลกของที่มีเจริญมีเสื่อม เป็นธรรมดา โลกธรรม ๘ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ต้องมีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ให้รู้ทันสิ่งเหล่านี้ แล้วมันจะได้ไม่ทุกข์ อันนี้คือ กิเลสส่วนใหญ่ของคนในโลกนี้จะเป็นอย่างนี้ก่อน ได้ลาภยศสรรเสริญสุขกัน แต่ไม่มองว่ามันเป็นของไม่เที่ยง มันมีเสื่อม เจริญลาภก็ต้องเสื่อมลาภในวันใดวันหนึ่ง มียศเสื่อมยศ สรรเสริญก็กลายเป็นนินทา สุขก็กลายเป็นทุกข์ ถ้าใจไม่มีความอยาก มันก็จะเฉยๆ  พยายามทำใจให้เฉยๆ เป็นเหมือนหยดน้ำบนใบบัว ได้ลาภยศสรรเสริญมาก็ไม่ดีใจ เสียลาภยศสรรเสริญไปก็ไม่เสียใจ ต้องตัดความอยาก ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงในของที่เราอยาก ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อยากได้แฟน หรือมีแฟนแล้วก็อยากจะให้แฟนซื่อสัตย์ เดี๋ยวแฟนแอบไปมีอีหนูที่ไหน ก็เสียใจอีก มันจะไปก็เรื่องของมัน ไปห้ามมันได้ที่ไหน คนมันจะเลว ไปห้ามมันได้ยังไง ใช่ไหม เราอย่าเลวตามเขาก็แล้วกัน ไม่ใช่เขามีอีหนู แล้วไปมีไอ้หนูกับเขามั่ง



สมาธิจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติหรือไม่ครับ
ถาม: หากใจเรามีสมาธิแล้ว สมาธิจะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ก็แล้วแต่สมาธิมันแบบเสื่อมหรือไม่เสื่อม ถ้ามันเสื่อมถ้าไม่ได้ปฏิบัติต่อ มันก็เสื่อม ก็ต้องกลับมาปฏิบัติใหม่ แต่ถ้าสมาธิที่มันมีมาก แล้วมันฝังอยู่ในใจได้นาน มันก็อยู่ต่อไปได้ แล้วแต่ว่าเราปฏิบัติถึงขั้นไหนของสมาธิ อย่างพระพุทธเจ้า ตอนเป็นเด็กนี้ เวลาท่านนั่งอยู่ตามลำพังใต้ต้นไม้คนเดียว จิตที่เคยเข้าสู่ความสงบ มันก็สงบขึ้นมาเอง อย่างนี้ก็มี แต่สำหรับพวกที่เข้าสมาธิได้นิดๆ หน่อยๆ เดี๋ยวพอตายไป มันก็อาจจะเข้าไม่ได้ก็ได้ อันนี้อยู่ที่ว่าเราเข้าได้บ่อยหรือไม่ เข้าได้มากหรือไม่ 



วิญญาณสามารถทำร้ายเราได้หรือไม่
ถาม: วิญญาณที่ล่องลอยอยู่สามารถทำร้ายเราได้หรือไม่คะ
พระอาจารย์: ไม่ได้หรอก ไม่มีอะไรทำร้ายเราได้ นอกจากกรรม คือการกระทำของเราเท่านั้นเอง กรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีก็มีแต่คุณประโยชน์ กรรมชั่วนี่เป็นตัวทำร้ายเรา ทำให้เราไปติดคุกติดตะรางก็กรรมชั่วของเรานี่แหละ ทำให้ถูกประหารชีวิตก็กรรมชั่วของเรา ทำให้ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นนรก ก็กรรมชั่วของเรานั่นแหละ นอกนั้นไม่มีใครทำอะไรเราได้ แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายเราไม่ได้ ทำได้แต่ร่างกายซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเรา งั้นไม่ต้องกลัวอะไร ถ้ารู้ธรรมชาติ ความจริงของใจเราแล้ว ของตัวเราแล้ว มีสิ่งที่น่ากลัวคืออย่างเดียวก็คือบาปกรรม เท่านั้นเอง ที่น่ากลัว นอกนั้นไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย



 ไม่ยอมออกจากสมาธิทำอย่างไร
ถาม: เข้าสมาธิแรกๆ ไม่ค่อยมีสมาธิเจ้าค่ะ นั่งไปเรื่อยๆ ก็ดีขึ้น พอจะออกจากสมาธิ ไม่ยอมออก อยากนั่งไปเรื่อยๆ จะสามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ได้อย่างไรเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็นั่งเพื่อให้มันนั่งไปเรื่อยๆ เมื่ออยากจะนั่งไปเรื่อยๆ ก็อย่าไปออกสิ มันดีจะตายไป อยู่ในสมาธิมันดีกว่าออกนอกสมาธิ เหมือนอยู่ในห้องแอร์กับอยู่ข้างนอกที่มันร้อนนี่ เข้าห้องแอร์แล้วก็ไม่อยากออกไปข้างนอก ใช่ไหม สมาธิก็เป็นเหมือนห้องแอร์ของใจ พอเข้าไปแล้วมันเย็น ไม่มีเรื่องวุ่นวายใจ แล้วจะออกไปหาเรื่องวุ่นวายทำไม



อุปจารสมาธิคืออย่างไร
ถาม: อุปจารสมาธิคืออย่างไรหรือครับ
พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นสมาธิพิเศษ สมาธิที่ให้อภิญญา หูทิพย์ตาทิพย์ ติดต่อเทวดา ระลึกชาติ
ถาม: คือต้องได้อัปปนาสมาธิก่อน หรือว่าไม่เกี่ยวครับ
พระอาจารย์: ก็ต้องได้อัปปนาก่อน ถึงจะออกไปทางอุปจาระต่อไป บางคนเข้าใจคิดว่าได้อุปจาระก่อนอัปปนา ไม่ใช่ ปฏิบัติภาวนาต้องผ่านอัปปนาก่อนถึงจะได้ แต่ก็ไม่ได้ทุกคน อันนี้เป็นเรื่องวาสนา บางคนก็ได้ บางคนก็ไม่ได้ คนไม่ได้อยากจะได้ก็ไม่ได้ ไอ้คนได้ไป บางทีก็ไม่ดี เหมือนได้ของเล่น ไม่ไปทำงาน มันไม่พักผ่อน ต้องการให้อยู่ในอัปปนาเพื่อพักผ่อน ให้ได้อุเบกขา แต่ถ้าไปอุปจาระมันก็ไปเที่ยวไปเล่น ไปท่องเที่ยวภพน้อยภพใหญ่ ไปพบกับภูตผีปีศาจ ก็เลยเสียเวลา ไม่พักผ่อน ถ้าไปเล่นกับอุปจารสมาธิ ออกจากสมาธิก็ไม่มีอุเบกขา ไม่มีกำลังที่จะไปพิจารณาปัญญา หรือต่อสู้กับความอยาก   งั้นถ้าไม่มีก็ดีแล้ว ถ้ามีก็อย่าเพิ่งไปเล่นกับมัน ให้บรรลุธรรมก่อน แล้วค่อยเอามันใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปได้ เอาไปใช้ อย่างพระพุทธเจ้าก็ใช้เทศน์สอนเทวดา พระพุทธเจ้าก็ใช้อุปจารสมาธิ ระลึกชาติได้ ชาติต่างๆ พระเจ้า ๑๐ ชาตินี่ก็มาจากอุปจารสมาธิ แต่ถ้ายังไม่บรรลุธรรมอย่าไปเล่นกับมัน แบบเทวทัต เทวทัตก็ได้อิทธิฤทธิ์ แต่ไม่มีอุเบกขา สู้กิเลสไม่ได้ พอกิเลสบอกให้อยากเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมา ก็เลยขอพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าไม่อนุญาตก็เลยโกรธ ตามฆ่าพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง งั้นระวัง คนที่เข้าอุปจารสมาธิได้ต้องระวัง อย่าไปคิดว่าดีนะ อย่าไปคิดว่าเก่ง เก่งแต่เป็นโลกิยะ ไม่ใช่เป็นโลกุตตระ ต้องเอาอัปปนา เอาอุเบกขา แล้วจะได้ไปสู้กับกิเลสได้



พละ ๕
ถาม: ขอให้พระอาจารย์ช่วยขยายความเกี่ยวกับเรื่อง พละธรรม ๕ ประการค่ะ
พระอาจารย์: อ๋อ พละธรรม มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่ก็เป็นคุณสมบัติที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน แต่มี ๒ ระดับ ระดับปุถุชนกับระดับพระอริยะ ระดับปุถุชนเราเรียกว่า “อินทรีย์ ๕” ก็ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่มีกำลังน้อย เป็นเหมือนของเด็กทารก เราก็เรียกว่าอินทรีย์ สติของพวกเรากับสติของพระพุทธเจ้านี้ เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่ อินทรีย์ของพวกเรากับอินทรีย์ของพระพุทธเจ้า ของพระอริยเจ้านี้เป็นเหมือนของผู้ใหญ่ อินทรีย์ของพวกเราเป็นเหมือนเด็ก งั้นเราต้องพัฒนาอินทรีย์ให้เป็นพละ ด้วยการเพิ่มศรัทธา เพิ่มศรัทธาด้วยการศึกษาธรรมะให้มากขึ้น ถ้าเราศึกษาธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระสาวก เราก็จะเกิดศรัทธามากขึ้น ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากขึ้น ถ้าเรามีศรัทธามากขึ้น เราก็จะปฏิบัติมากขึ้น มีความเพียรมากขึ้น วิริยะมากขึ้น เราก็จะปฏิบัติธรรมที่เราต้องปฏิบัติ ก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา พอปฏิบัติสติมากขึ้น สติก็จะมีกำลังมากขึ้น จะทำให้เกิดสมาธิมากขึ้นๆ พอมีสมาธิมาก เราก็สามารถพิจารณาทางปัญญาได้มาก ปล่อยวางได้มากขึ้นไป จนกลายเป็นพระอริยเจ้าไป
ถาม: ขอบคุณมากค่ะพระอาจารย์ ทีนี้หนูอ่านมาเจอว่า ศรัทธาให้สมดุลกับปัญญา แล้วก็วิริยะให้สมดุลกับสมาธิ แล้วมีสติให้เป็นตัวกำกับ ตรงนี้หนูไม่ค่อยเข้าใจค่ะ พระอาจารย์

พระอาจารย์: อ๋อ บางทีศรัทธามันมากเกินไป ศรัทธาแบบงมงาย ก็กลายเป็นศรัทธาแบบงมงาย มันต้องศรัทธาแบบมีเหตุผล ศรัทธาด้วยเหตุด้วยผล เหตุผลก็คือปัญญา เข้าใจไหม แต่ถ้ามีเหตุผลมากเกินไป บางทีมันก็จะทำให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ก็ได้ แล้วของบางอย่างนี้ บางทีเราไม่มีความสามารถที่จะเห็นได้ด้วยเหตุผลของเราเอง ก็จะทำให้เราอาจจะปฏิเสธในสิ่งที่ควรจะเชื่อก็ได้ เช่น เชื่อกฎแห่งกรรมนี้ ถ้าเราไม่มีปัญญา บางทีก็ต้องเชื่อไว้ก่อน อย่างพระพุทธเจ้าทรงสอนว่ากฎแห่งกรรมนี้เป็นของจริง ตายแล้วไปเกิดใหม่ เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นของจริง เพราะพิสูจน์ไม่ได้ เรายังไม่มีกำลังพิสูจน์ เห็นได้ด้วยตัวของเรา เราก็ต้องเชื่อ ทีนี้ถ้าเราไม่เชื่อเราก็จะปฏิเสธกฎแห่งกรรมไป งั้นไม่ต้องไปกังวลมากหรอก เพียงแต่พูดอธิบายให้ฟัง มันต้องมีเหตุมีผล ความเชื่อในศาสนาพุทธนี้เชื่อด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้เชื่อด้วยความงมงาย ทำไปโดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร



โทษของกามคุณ
ถาม: กามคุณมีคุณมีโทษอย่างไรคะ
พระอาจารย์: ความจริงมีโทษแต่เราไปเรียกว่ามีคุณ เพราะเราหลง มันให้ความสุขกับเราแบบระยะสั้น รูปเสียงกลิ่นรส พอได้เห็นรูปที่ชอบก็เกิดความสุขขึ้นมา เราก็เรียกว่ากามคุณ แต่เวลามันหมดไปนี่มันทำให้เราทุกข์กัน เพราะมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราว ดูหนังจบก็ต้องกลับบ้าน พอจบกลับบ้าน ความเศร้าความเหงาก็กลับมาใหม่ จึงต้องออกไปหากามคุณอยู่เรื่อยๆ หารูปเสียงกลิ่นรสกันอยู่เรื่อยๆ หาเท่าไหร่ก็หนีความทุกข์ไปไม่ได้ งั้นมาหาความสุขที่ไม่มีโทษดีกว่า คือมาหาความสงบกัน มาฝึกสมาธิ มานั่งสมาธิ ทำใจให้สงบ แล้วจะได้ความสุขที่ไม่มีทุกข์ตามมา



พอเราใช้สติได้แล้ว ก็ต้องใช้ปัญญามาสอนให้ปล่อยวาง
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ ลูกขอทราบวิธีการจัดการเมื่อเจอสิ่งกระทบที่ไม่พอใจ เราสามารถหลบภาวนา เช่น พุทโธ เพื่อกลับเข้าสู่สมถะ สมาธิให้จิตนิ่งได้ไหมเจ้าคะ เราจะได้ไม่ต้องไหลไปตามกระแส ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ถูกหรือผิดเจ้าคะ
พระอาจารย์: ถูกต้อง แต่เป็นวิธีแบบชั่วคราว ยังไม่สามารถที่จะทำใจให้พ้นจากอารมณ์ต่างๆ ได้โดยไม่ทุกข์ ขั้นต้นก็ใช้วิธีนี้ไปก่อน ใช้สติพุทโธพุทโธไป เวลาเกิดอารมณ์อะไรขึ้นมากระทบก็พุทโธพุทโธไป เดี๋ยวอารมณ์นั้นก็หายไป แต่เดี๋ยวไปกระทบกับอารมณ์อีก มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก งั้นขั้นต่อไปพอเราใช้สติได้แล้ว ก็ต้องใช้ปัญญามาสอนให้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ อย่าไปยึดไปติดกับอารมณ์ อย่าไปอยากให้มันเป็นอารมณ์ดีอย่างเดียว อารมณ์มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางทีก็ดี บางทีก็ไม่ดี ควบคุมบังคับมันไม่ได้ เหมือนดินฟ้าอากาศ หัดอยู่กับมันเหมือนกับเราอยู่กับดินฟ้าอากาศ ฝนจะตกแดดจะออก เราก็อยู่ได้ ฉันใดเราก็หัดทำใจให้เราอยู่กับอารมณ์ดีก็ได้ อารมณ์ไม่ดีก็ได้ มันมาแล้วเดี๋ยวมันก็ไป ไม่ต้องไปไล่มันหรอก เดี๋ยวมันไปเอง



อย่าทิ้งพุทโธ
ถาม: วันนี้รู้สึกเบื่อและจิตใจค่อนข้างจะขุ่นมัวนิดหนึ่งเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ต้องพยายามใช้สติท่องพุทโธ สวดมนต์ไปก็ได้ แล้วมันก็จะจางหายไปเอง คิดว่าเป็นเมฆหมอกก็แล้วกัน จิตใจเราก็เป็นเหมือนท้องฟ้า บางวันก็โปร่ง ท้องฟ้าโปร่ง บางวันก็อึมครึมเมฆหมอกเยอะ อารมณ์เยอะ แต่เราใช้ลมคือพุทโธนี้พัดมันออกไปได้ พุทโธพุทโธพุทโธไป สวดมนต์ไป เดี๋ยวสักพักหนึ่ง อารมณ์ต่างๆ มันก็จะจางหายไป จิตเรานี่เป็นเหมือนท้องฟ้านะ ท้องฟ้าภายใน อารมณ์มันเป็นพวกเมฆหมอก ถ้ามีสติ สติจะช่วยเคลียร์พวกอารมณ์ต่างๆ นี้ให้จางหายไป จิตว่าง สว่างไสว ดังนั้นอย่าทิ้งพุทโธนะ พอมีอารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจ ท่องพุทโธไปเถอะ เดี๋ยวเดียว ไม่นาน มันจะเริ่มจางหายไป รู้สึกเบาสบายใจขึ้นมา เรามีของดีๆ แต่เราใช้ไม่เป็นกัน



ทำเช่นไรเพื่อให้เกิดศรัทธาในใจเรา
ถาม: เราจะทำเช่นไรเพื่อให้เกิดศรัทธาในใจเราคะ
พระอาจารย์: ศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ เอาธรรมของพระพุทธเจ้า เช่น พระไตรปิฎก ศึกษาพระสูตรสำคัญต่างๆ เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มงคลสูตร อาทิตยปริยายสูตร สติปัฏฐานสูตร สูตรเหล่านี้ หรือกาลามสูตร การเชื่อ เชื่ออย่างไร ถึงเรียกว่าเป็นการเชื่อ อันไหนไม่ควรเชื่อ เชื่องมงายหรือเชื่อด้วยเหตุด้วยผล ต้องเข้าหาธรรม ศึกษาพระสูตรหรือฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์ก็ได้ ฟังบ่อยๆ เข้าแล้วมันก็จะเกิดความเข้าใจ จะเห็นคุณประโยชน์ของธรรม แล้วก็จะเกิดศรัทธาขึ้นมา เหมือนเราดูโฆษณานี่ ถ้าเราไม่ดูโฆษณาเราก็ไม่รู้ว่าสินค้าชนิดนี้มันเป็นยังไง ดีชั่วอย่างไร พอดูเข้า โอ๊ย ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ พอเห็นแล้วก็อยากได้แล้ว น้ำลายไหลขึ้นมา นั่นแหละ เข้าหาพระพุทธเจ้า หาพระอริยสงฆ์  ก็เหมือนการไปดูโฆษณาของธรรม พอได้ยินรู้ว่าสรรพคุณของสินค้านี่มียังไง ดียังไง มีวิมุตติ มีการหลุดพ้น มีมรรคผลนิพพาน มีการเวียนว่ายตายเกิดในสุคติ ก็จะทำให้เกิดยินดีขึ้นมา อยากจะปฏิบัติตามขึ้นมา ก็เรียกว่าเกิดศรัทธา เกิดความเชื่อขึ้นมา แต่ถ้าไปศึกษากับคนที่ไม่รู้จริงเห็นจริง ฟังแล้วอาจจะงง อาจจะสงสัย อาจจะไม่เกิดศรัทธาได้เพราะสอนแบบผิดๆ ถูกๆ ไม่แน่ใจ ก็เลยฟังแล้วอาจจะไม่เกิดศรัทธาได้ งั้นต้องฟังจากแหล่งแท้แหล่งจริง ฟังจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น พระสงฆ์ก็ต้องเป็นพระอริยสงฆ์ ไม่ใช่พระที่เพิ่งบวชออกมาจากโบสถ์นี้ เป็นสงฆ์เหมือนกัน แต่เป็นปุถุชนสงฆ์ ไม่ใช่เป็นอริยสงฆ์



ไม่บาปแต่ว่าพูดไปแล้วมันจะเจ็บตัว
ถาม: กราบเรียนท่านพระอาจารย์เจ้าค่ะ ตอนพูดโดยไม่เจตนาจนทำให้เขาโกรธ เรามาทราบภายหลัง ถือว่าเป็นการพร่องในศีลข้อ ๔ ที่ทำให้ไม่บริสุทธิ์หรือเปล่าเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็อยู่ที่ว่าเราพูดอะไร ถ้าพูดคำหยาบมันก็พร่อง พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดปดนี้ ก็ผิด แต่ถ้าพูดความจริง ถ้าเขาไม่พอใจก็ช่วยไม่ได้ เข้าใจไหมถึงแม้จะไม่ผิดศีลแต่ก็ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมไหมควรจะพูดไหมพูดแล้วโดนเขาตีหน้า ถูกเขาตบหน้าก็อย่าไปพูดดีกว่า ถึงแม้จะเป็นความจริงแต่เขารับไม่ได้ ก็อย่าพูดดีกว่า ไม่บาป แต่ว่าพูดไปแล้วมันจะเจ็บตัว



อยากทำบุญต่ออายุให้มารดาควรทำอย่างไร
ถาม: อยากทำบุญต่ออายุให้มารดา ควรทำบุญอย่างไรเจ้าคะ
พระอาจารย์: เราต่อไม่ได้หรอกอายุ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถึงเวลามันจะตายมันก็ตาย เวลามันยังไม่ตาย มันก็ไม่ตาย ทำบุญไม่ได้ไปต่ออายุให้ใคร



เป็นมะเร็ง..ตอนใกล้ตายควรจะทำอย่างไร
ถาม: คุณป้าป่วยหนักเป็นมะเร็งขั้นที่ ๔ ค่ะ แล้วคุณป้าทราบแล้วว่าจะต้องตาย ตอนนี้คุณป้ากังวลและอยากรู้ว่า ตอนใกล้ตายจะมีความรู้สึกอย่างไร จิตใจจดจ่อกังวลกับเรื่องนี้ อยากทราบว่าควรจะทำอย่างไร
พระอาจารย์: ก็กังวลต่อไป ถ้าจะไม่กังวลก็ต้องปลงเท่านั้น ปลงว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันจะต้องตาย ยอมตาย มันก็จะสงบ งั้นบอกคุณป้าปลงซะ อย่าไปยื้อกับมัน อย่าไปยึดไปติดมัน ปล่อยมันไป เป็นเหมือนคนใช้ขอลาออกจากงาน ก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปยื้อมัน ยื้อมันก็ทำให้ใจเราไม่สบาย บอก “ถ้ามึงอยากจะไปก็ไป” ใจเราก็จะสบาย ร่างกายเป็นบ่าว ใจเป็นนาย ร่างกายเขาขอลาออกจากงานแล้ว ก็ปล่อยเขาลาไป



สามารถเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมได้หรือไม่
ถาม: เราสามารถเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมได้หรือไม่คะ
พระอาจารย์: ในเบื้องต้นก็ได้ การปฏิบัติก็ เวลาเราทำงานก็เจริญทางโลก เวลาเราไม่ได้ทำงาน เรากลับมาบ้าน เราก็มาเจริญทางธรรมไป แต่ต่อไปถ้าทางธรรมเจริญมากขึ้นๆ เราก็อยากจะลดทางโลกให้น้อยลงไป เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับจากทางธรรมมันดีกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากทางโลก เพราะต่อไปมันก็จะย้ายไปทางธรรมอย่างเต็มรูปแบบ คือไปบวช ไปอยู่แบบนักบวชต่อไป



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 31 มีนาคม 2564 15:54:12
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80681723314854_161298947_3802233246481265_207.jpg)

โมหะมีโทษมากคลายช้าเป็นเช่นไร
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ โมหะที่บอกว่ามีโทษมาก คลายช้า เป็นเช่นไรครับ
พระอาจารย์: คือโมหะเป็นต้นเหตุของกิเลส ต้นเหตุของความโลภของความโกรธ โมหะคือการไม่เห็นทุกข์ในสิ่งต่างๆ ที่เราอยากได้ เรากลับไปเห็นว่ามันเป็นสุข พอเราไปเห็นว่าเป็นสุข เราก็ไปคว้ามันมา พอคว้ามันมาปั๊บ มันก็กัดเรา เหมือนกับไปเห็นงูเห่าว่าเป็นปลาไหลอย่างนี้ ก็คิดว่าเป็นอาหารอันโอชะ พอไปคว้ามันไปจับมันก็โดนงูเห่ากัดตายได้ นี่เรียกว่างูเห่า ความหลง ความไม่เห็นความจริง



ธรรมจะติดไปกับใจของเรา
ถาม: ถ้าเราดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่ถูกต้อง ตามหลักศีลธรรมอันถูกต้องดีงามแล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ต้องยอมรับ เพราะอย่างน้อยเราก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: ถูกต้อง ทุกคนที่ปฏิบัติธรรมนี้ก็จะยึดธรรมเป็นหลัก อย่างพระพุทธเจ้าสอน บอกให้สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เพราะธรรมนี้เป็นของที่เป็นของแท้ของจริง ของที่จะอยู่กับใจ แต่ของอย่างอื่น คือ ทรัพย์สมบัติร่างกายนี้ พอตายไปมันก็หายไปหมด ไม่ไปกับใจ แต่ธรรมนี้ที่เราสร้างได้ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรมนี้ มันจะติดไปกับใจของเรา เป็นทรัพย์ของเราที่แท้จริง เรียกว่าทรัพย์ภายใน


การปฏิบัติ ๓ ขั้นตอนของสติปัฏฐาน ๔
ถาม: ขออนุญาตสอบถามการปฏิบัติพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ มีขั้นตอนในการพิจารณาอย่างไร
พระอาจารย์: อ๋อ สติปัฏฐาน ๔ นี้ความจริงมันเป็นการปฏิบัติ ๓ ขั้นตอนด้วยกัน ขั้นตอนแรกก็คือ การเจริญสติ พุทโธพุทโธหรือเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ ร่างกายกำลังยืนก็เฝ้ารู้ว่ามันกำลังยืน กำลังนั่งกำลังนอนกำลังอาบน้ำกำลังแปรงฟัน ให้ใจเราอยู่กับมัน อย่าปล่อยให้ใจเราไปที่อื่น อย่าไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ ถ้าคิดถึงคนนั้นคนนี้ก็แสดงว่าไม่มีสติ ขั้นตอนแรกของสติปัฏฐานก็คือให้เรามีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย พอเรามีสติแล้ว ขั้นที่สองก็ให้ไปนั่งใต้โคนต้นไม้ นั่งดูลมหายใจเข้าออก เมื่อลมหายใจเข้าออกแล้วจิตก็จะสงบเป็นสมาธิ พอออกจากสมาธิพอชำนาญในสมาธิแล้วก็ไปเจริญปัญญาเป็นขั้นที่สาม ไปพิจารณา “กาย เวทนา จิต ธรรม” ว่าเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” แล้วก็ปล่อยวางกาย เวทนา จิต ธรรม แล้วก็จะบรรลุถึงพระนิพพานได้ต่อไป



พิจารณาอสุภะสามารถทำได้ในขณะลืมตาหรือไม่
ถาม: เวลาที่จะพิจารณาอสุภะสามารถทำได้ในขณะลืมตาหรือไม่เจ้าคะ หรือควรทำหลังจากที่ทำสมาธิให้สงบในระดับหนึ่ง แล้วเริ่มพิจารณาอสุภะ
พระอาจารย์: คือการพิจารณาอสุภะนี้ พูดความจริงก็พิจารณาได้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาที่อยู่ในสมาธิ เวลาในสมาธิจิตไม่คิดพิจารณาไม่ได้ แต่เวลาออกจากสมาธิมาหรือไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็นึกได้ เป็นหมอเขาก็นึกถึงอสุภะได้ เพียงแต่จะนึกได้นานต่อเนื่องมากน้อยเท่านั้นเอง สำหรับคนที่ไม่มีสติหรือสมาธิมากนี้จะนึกไม่ได้นาน นึกได้แวบสองแวบก็ลืมแล้ว ไม่นึกแล้ว แต่การพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ ถึงกับการมากำจัดกามราคะได้นี่มันต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ให้มันทันกับกามราคะ อันนี้ก็ต้องอาศัยมีสมาธิมากถึงจะสามารถพิจารณาได้ตลอดเวลา ถ้ามีสมาธิน้อยพิจารณาได้แวบสองแวบก็ลืมแล้ว ไปคิดเรื่องอื่นต่อแล้ว ก็จะไม่ทันเวลาเกิดกามารมณ์ขึ้นมา บางทีก็หายไปหมดแล้ว อสุภะที่เคยพิจารณา ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการพิจารณามากน้อยเพียงไร ถ้าต้องการพิจารณามากก็ต้องอาศัยกำลังของสมาธิช่วย ถ้ามีสมาธิมากก็จะพิจารณาได้มากได้นาน ถ้ามีสมาธิน้อยก็พิจารณาได้น้อย แต่พิจารณาได้ไม่มีสมาธิก็พิจารณาได้ แต่แต่แวบสองแวบ แล้วก็ลืมไปแล้ว แล้วเดี๋ยวก็ค่อยมาพิจารณาใหม่ งั้นถ้าต้องการพิจารณาแบบมากๆ ให้มันฝังอยู่ในใจไม่ให้หลงไม่ให้ลืม มันก็ต้องมีสมาธิมาก มันถึงจะทำได้ แต่ต้องทำเวลาที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ



ไม่มีใครเป็นอะไรไปกับการนั่งสมาธิ
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์สุชาติเจ้าค่ะ ตอนนี้หนูฟังธรรมก็ประมาณปีเศษๆ ตอนนี้หนูติดก็คือหนูนั่งสมาธิ ก็ประมาณสักชั่วโมงเศษๆ นั่งไปแล้วมันรู้สึกว่าเหมือนมันหาย ตัวมันลอยเหมือนสำลี สักพักหนึ่งมันมีแค่ลมหายใจแล้วก็เสียงพัดลมเสียงแอร์มันก็หายไป ก็เกิดความกลัวหนูต้องถอนทุกครั้งเลย คือไม่กล้าไปต่อเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ก็ไม่มีอะไรน่ากลัว ก็ใจไม่มีอะไรที่น่ากลัว ไม่มีอะไรทำร้ายเราได้ งั้นไม่ต้องไปกลัว ไม่มีใครเป็นอะไรไปกับการนั่งสมาธิ มีแต่จะได้รับประโยชน์ ได้เป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้ากันจากการนั่งสมาธิ งั้นเราไม่ต้องไปกลัวอะไร ถ้าเรามีสติจะไม่มีอะไรน่าหวาดกลัวปรากฏขึ้นมา เราต้องนั่งแบบมีสติ คือต้องมีพุทโธพุทโธ หรือมีการดูลมหายใจ อย่านั่งดูใจเฉยๆ ถ้านั่งดูใจเฉยๆ เดี๋ยวใจมันจะหลอกเราได้ มันจะสร้างภาพที่หวาดกลัว น่ากลัวขึ้นมาหลอกเรา แต่ถ้าเราคอยควบคุมใจให้มีพุทโธพุทโธอยู่ หรือมีการดูลมหายใจอยู่อย่างต่อเนื่อง จะไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาหลอกเราได้ ถ้ามันปรากฏก็บอกว่ามันเป็นเพียงหนังเท่านั้นเอง เป็นเหมือนภาพในจอหนัง แล้วเราสามารถทำให้มันหายไปได้ด้วยการกลับมาหาพุทโธพุทโธ อย่าไปดูภาพนั้นเวลาเกิดภาพอะไรปรากฏขึ้นมา เราก็กลับมาที่พุทโธพุทโธพุทโธไป พอเราอยู่กับพุทโธสักระยะหนึ่ง ภาพต่างๆ มันก็จะหายไป



สมถะและวิปัสสนามันคนละวิชากัน
ถาม: ปกติเวลานั่งสมาธิจะยึดคำบริกรรมพุทโธเป็นหลัก แต่เคยได้ฟังเทศน์มาว่า ควรจะพิจารณาอสุภะไปด้วย อยากจะลองพิจารณา แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องพิจารณาอย่างไรครับ และพิจารณาตอนไหน ขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ด้วยครับ
พระอาจารย์: คือ การปฏิบัตินี้มันมี ๒ ตอน ตอนทำใจให้สงบ กับตอนสอนใจให้ฉลาด ถ้าเราต้องการความสงบ เราก็ต้องใช้พุทโธพุทโธ หรือดูลมหายใจเข้าออกไป ไม่ควรพิจารณาอสุภะตลอดเวลา ถ้าเราต้องการสอนใจให้ฉลาด ให้รู้ว่าร่างกายนี้สวยงามหรือไม่สวยงาม เราก็ต้องพิจารณาอสุภะ ซึ่งต้องทำคนละตอนกัน ตอนทำใจให้สงบ ก็อย่าคิด ตอนทำใจให้ฉลาดก็คิด คิดในเรื่องที่จะทำให้ใจให้ได้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกาย เช่น อสุภะ อย่างนี้ เป็นของไม่สวยไม่งาม เป็นต้น งั้นเราต้องรู้จักแยกแยะว่าเรากำลังจะทำอะไร  เหมือนเราไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เราก็ไม่เอาหนังสือภูมิศาสตร์เข้าไปเรียน เวลาเราไปเรียนภูมิศาสตร์ เราก็ไม่ได้เอาหนังสือคณิตศาสตร์ไปเรียนใช่ไหม เรียนเข้ากันไม่ได้ มันจะทำให้ขัดกัน เวลาทำใจให้สงบนี้ เราไม่ต้องการคิด เราต้องการหยุดคิด ทำใจให้นิ่งด้วยการเพ่ง เพ่งพุทโธหรือเพ่งดูลมหายใจเข้าออก แต่ถ้าเราต้องการความฉลาด ความรู้ อยากจะรู้ว่าร่างกายเรานี้สวยงาม ไม่สวยงามจริงๆ ก็ดูอาการ ๓๒ ไป พิจารณาดูอาการที่อยู่ภายใต้ผิวหนังของเรา แล้วเราก็จะได้รู้ว่ามันไม่ได้สวยไม่ได้งาม อย่างที่เราหลงคิดกัน  นี่คือการปฏิบัติ ซึ่งเรามักจะสับสน ไม่เข้าใจแล้วเอามาปนกัน มันก็เลยเหมือนกับกาแฟร้อนกับกาแฟเย็นมาปนกัน มันจะร้อนก็ไม่ร้อน จะเย็นก็ไม่เย็น กินก็ไม่อร่อย มันจะต้องเททิ้งไป อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติสมถะ แล้วไปพิจารณามันก็จะไม่สงบ ถ้าต้องการความรู้ก็ต้องไม่เพ่งดูลมหายใจ ไม่พุทโธ ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะ เป็นต้น ขอให้เข้าใจดังนี้ แล้วเราจะได้ไม่สับสน มันคนละวิชากันนะ



ความฝันมีสองแบบ
ถาม: ขอน้อมกราบเรียนถามพระอาจารย์ แม่ของผมท่านเสียชีวิตไปแล้ว ๒๘ ปี ผมไม่เคยฝันเห็นท่านเลย ผมทำบุญใส่บาตรและสวดมนต์ นั่งสมาธิอุทิศบุญให้ท่านทุกวัน แต่เมื่อคืนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ ผมได้ฝันเห็นท่านได้คุยกัน ผมดีใจมาก อยากเรียนถามว่า เกิดจากบุญที่ผมสะสมให้กับท่าน ใช่หรือเปล่าครับ
พระอาจารย์: ไม่หรอก ความฝันก็คือความคิดของเรานั่นเอง วันดีคืนดีเราก็ฝันถึงท่านขึ้นมา เป็นฝันขึ้นมาในใจเรา ฝันนี่มีสองแบบ ฝันแบบเกิดจากความคิดของเรา และฝันที่เกิดจากตัวจริงมาเยี่ยมเรา บางทีเรานอนหลับเราคิดว่าเราฝันแต่ความจริงเป็นดวงวิญญาณที่เขาเข้ามาเยี่ยมเราก็ได้ในตอนที่เรานอนหลับ หรือว่าเป็นความคิดปรุงแต่งของเราปรุงแต่งขึ้นมาก็ได้ อันนี้เราจะไม่รู้ถ้าเราไม่หามาตรการพิสูจน์ ถ้าอยากจะรู้มาตรการพิสูจน์ก็อาจจะต้องให้เขายืนยันเหมือนพาสเวิร์ด (password) คุณมีพาสเวิร์ดหรือเปล่า คุณบอกพาสเวิร์ดให้เราทราบซิ อย่างนี้ เช่น คุณเคยเก็บของไว้ตรงไหนหรือเปล่าที่เราไม่รู้ บอกเราซิว่าคุณเก็บกุญแจหรือเก็บแหวนไว้ตรงไหน ในซอกไหนหรือเปล่า แล้วถ้าเขาบอกว่า “เอ้อ เก็บไว้ตรงนั้นตรงนี้” แล้วเราตื่นขึ้นมาแล้วเราไปค้นหาดู “เอ๊ะ มีอย่างที่เขาบอกนี่” เออ อย่างนี้เราจะได้รู้ว่าเป็นของจริงมาเยี่ยมเรา ไม่ได้เป็นความคิดของเรา เราคิดขึ้นมา



การอธิษฐานและไม่อธิษฐานส่งผลบุญต่างกันไหม
ถาม: เวลาทำบุญการอธิษฐานและไม่อธิษฐานส่งผลบุญต่างกันไหมคะ อย่างไรคะ
พระอาจารย์: คือเวลาจะทำบุญนี่มันต้องอธิษฐานก่อนแล้ว คือคำว่าอธิษฐานนี้คือความตั้งใจ ก่อนที่เราจะทำบุญเราต้องคิดก่อนว่าวันนี้จะทำบุญ อันนั้นก็เรียกว่าอธิษฐานแล้ว ไม่ใช่อธิษฐานอย่างที่เราเข้าใจว่า ทำบุญแล้วขอให้ได้แฟนหล่อ แฟนรักเรา มีลูกดี ขอให้รวย อธิษฐานอย่างนี้อธิษฐานไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลจากการทำบุญ การทำบุญมันมีผลในตัวแล้วคือความสุขใจอิ่มใจ เป็นเสบียงที่เราเอาไปใช้ต่อเวลาที่เราตายจากโลกนี้ไปแล้วได้ จะขอหรือไม่ขอก็ได้เท่าที่เราทำนั่นแหละ จะขอมากกว่าที่เราทำก็ไม่ได้ จะขอให้ได้น้อยกว่าที่เราทำก็ไม่ได้ เราก็ได้ตามเหตุที่เราทำไว้ ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่เราจะทำอะไร เราต้องอธิษฐานกันก่อน เพราะคำว่าอธิษฐาน ความหมายที่ถูกต้องแปลว่าความคิดความตั้งใจนี่เอง วันนี้จะมาที่นี่ได้ก็ต้องคิดก่อนต้องตั้งใจก่อนว่าวันนี้จะมาวัด อันนี้ก็เรียกว่าอธิษฐานแล้ว ถ้าไม่อธิษฐานก็จะไม่ได้มาที่วัด งั้นอธิษฐานนี่มันเป็นได้ทั้งดีทั้งชั่ว วันนี้จะไปเที่ยวบ่อนมันก็อธิษฐาน ดังนั้นคำว่าอธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ ความคิดความตั้งใจ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำอะไร ทุกครั้งก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดก่อนแล้วทั้งนั้น เราอธิษฐานแล้ว ไม่ต้องมาอธิษฐานตอนจะถวายให้พระ โอ๊ย พระ ยืนขาเมื่อยเลย นั่งอธิษฐานที ขอเลย อธิษฐานอย่างนั้นไม่ได้ผลอะไร ผลเกิดจากการที่เราทำ ทำเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น ถ้าอยากจะไปนิพพานมันต้องไปปฏิบัติ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ไม่ใช่ใส่บาตรแล้วก็ขอไปนิพพานอย่างนี้ ขอยังไงก็ไปไม่ถึง เหมือนตีตั๋วไปแค่พัทยาแล้วขอให้ไปถึงกรุงเทพฯ อย่างนี้ ไม่ได้หรอก ไปกรุงเทพฯ ก็ต้องตีตั๋วไปกรุงเทพฯ ไปตีตั๋วแค่พัทยาก็ต้องลงพัทยานั่นแหละ



ความเชื่อเรื่องเวรกรรมเป็นเรื่องงมงายหรือไม่
ถาม: ความเชื่อเรื่องเวรกรรม นรก สวรรค์ เป็นเรื่องงมงายหรือไม่ครับ และจะสามารถสอนเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าใจและเชื่อฟังได้อย่างไรครับ
พระอาจารย์: เป็นความจริงและสามารถพิสูจน์เห็นได้ เพราะว่าบุญหรือบาปนี้มันเป็นเรื่องการกระทำของเรา ทางกาย วาจา และใจ และผลของบุญก็จะเกิดขึ้นที่ใจของเรา งั้นเวลาเราทำบุญนี้เราจะเกิดความสุขใจ เวลาเราทำบาปเราจะเกิดความทุกข์ใจ ความสุขใจนี้เราเรียกว่าสวรรค์ ความทุกข์ใจเราเรียกว่านรก แล้วก็มันจะเป็นนรกเป็นสวรรค์ หลังจากที่ร่างกายเราตายไปแล้ว เพราะว่าความสุขใจกับความทุกข์ใจนี้มันยังสะสมไว้ในใจของเราอยู่ พอถึงเวลาที่ร่างกายเราตายไป ใจของเราก็ต้องอยู่กับบุญกับบาปที่เราทำไว้ ถ้าอย่างไหนแสดงผล ถ้าบุญแสดงผลก็เป็นสวรรค์ ถ้าบาปแสดงผลก็เป็นนรก  ดังนั้นนี่เป็นความจริงที่เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ส่วนหนึ่ง คือ เราเห็นได้ การกระทำของเรา เราเห็น เราทำบุญหรือทำบาป แล้วเวลาทำเสร็จแล้วใจเรารู้สึกยังไงนี้ เราเห็นได้ แต่ส่วนที่เราไม่เห็นก็คือตอนที่เราตายไปแล้ว แต่เราสามารถเห็นตัวอย่างของมันได้ เวลาที่เราหลับไง เวลาเราหลับนี่ ถ้าบุญส่งผลเราจะฝันดี ฝันว่าเราได้ไปเที่ยวที่นั่นเที่ยวที่นี่ ไปดูไปฟังไปกินไปดื่มอะไร ไปพบแต่สิ่งที่ดีๆ อันนั้นแหละคือตัวอย่างของสวรรค์เวลาที่เราไม่มีร่างกาย ในทางตรงกันข้ามถ้าบาปส่งผล เราจะฝันร้าย ฝันว่าเราไปอยู่ในที่อดอยากขาดแคลน ฝันว่าเราถูกคุกคามด้วยภัยต่างๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าฝันร้าย อันนี้เป็นความจริง ฝันร้ายเรียกว่านรก ฝันดีก็เรียกว่าสวรรค์ ไอ้ตัวนี้แหละจะเป็นเวลาที่ร่างกายเราไม่มี เวลาที่ร่างกายเราตายไป ใจเราก็จะเป็นอย่างนี้ จะอยู่กับความฝันดีหรือความฝันร้าย จนกว่าเราจะไปเกิดใหม่ พอเราได้ร่างกายอันใหม่ เราคลอดออกจากท้องแม่เรา ก็เหมือนกับตื่นขึ้นมาใหม่ แล้วก็มาทำบุญทำบาปใหม่ต่อใหม่ 



ปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ครอบครัวแตกแยก
ถาม: ผมมีปัญหาครอบครัวแตกแยกครับ แต่ก็ยังรักยังห่วงอาลัยมาก เนื่องจากมีลูกด้วยกัน จึงทำให้ทุกข์ใจมากครับ ผมจะใช้วิธีปฏิบัติแบบไหนให้พ้นจากความทุกข์ตรงนี้ได้ครับ
พระอาจารย์: อ๋อ การแตกแยกมันเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแยกทางกัน ไม่มีใครมาอยู่ร่วมกันตลอด ถึงเวลาก็ต้องแยกกันไปทีละคนสองคน บางคนก็ไปแต่งงานไปมีครอบครัวใหม่ บางคนก็หย่าร้างกัน แยกกันไป บางคนก็ตายจากกัน ในที่สุดมันก็ตายหมด ย้อนดูประวัติของคนเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว ตอนนี้มีใครหลงเหลืออยู่ในโลกนี้บ้างล่ะ ไม่มีหรอก มันก็แตกแยกกันไปทีละคนสองคน เดี๋ยวก็ตายกันไปหมด งั้นให้มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเตือนสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วเราย่อมมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา มีการแตกแยกจากกันเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความพลัดพรากจากกันไปไม่ได้ เพื่อเราจะได้ไม่มาเศร้าโศกเสียใจเวลามันเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะมันเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน



การดุด่าว่ากล่าวทำได้แต่อย่าทำด้วยอารมณ์
ถาม: เนื่องจากเป็นคุณแม่ลูกเล็ก ๒ คน เวลาลูกเล่นเลอะเทอะ หรือไม่ฟัง ตัวเองจะดุลูก แล้วทำให้ลูกกลัว สุดท้ายแล้ว ตัวเองก็มาเสียใจที่ดุลูก อยากจะเป็นคุณแม่ที่สงบและอ่อนโยนกับลูก จะเริ่มต้นอย่างไรดีคะ และพบว่าเมื่อมีเวลามาฟังธรรมะจากพระอาจารย์ จิตใจกลับสงบ แต่เมื่อเจอลูกซน ก็กลับมาเป็นคนอารมณ์ร้อน โมโหง่าย ต้องแก้อย่างไรคะ
พระอาจารย์: คือ การดุด่าว่ากล่าวตักเตือนนี้ทำได้ แต่อย่าทำด้วยอารมณ์ ทำด้วยเหตุผล เวลาลูกทำอะไรแล้วเราโกรธเขานี้ เรายังไม่ควรไปว่ากล่าวตักเตือนเขา ต้องรอให้เราสงบสติอารมณ์ แล้วก็พูดคุยกับเขาดีๆ ว่าเขาดีๆ ว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ ต่อไปอย่าทำ เป็นการสั่งการสอนได้ ถ้าเราทำอย่างนี้แล้ว เราจะไม่รู้สึกเสียใจ ถ้าเราไม่ทำเราจะเสียใจ เพราะจะปล่อยปละละเลยหน้าที่ เด็กเขาไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร เราเป็นผู้ใหญ่ผู้รู้ เราต้องบอกเขาสอนเขา ดังนั้นเวลาสอนเขาบอกเขา อย่าใช้อารมณ์ ใช้เหตุผล ถ้ามีอารมณ์ถ้าพูดไปแล้วจะทำด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ ก็รอให้สงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยบอกเขาว่า เมื่อกี้ทำอย่างนี้ไม่ถูกนะลูกนะ ทำไปแล้วเกิดความเสียหาย อะไรต่างๆ ให้เขาฟังไป เขาก็จะไม่กลัวเรา เขาจะไม่โกรธเรา เพราะเราพูดด้วยเหตุด้วยผล พูดเหมือนการสั่งสอน บอกเขาผิดถูกดีชั่วว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราพูดด้วยอารมณ์ ใจเขาจะรู้ว่า เหมือนกับเราเกลียดเขาโกรธเขา เขาก็กลัวเรา เขาก็ไม่มีความสนิทสนมกับเรา แต่ถ้าเราพูดด้วยความเมตตา พูดด้วยเหตุด้วยผลนี้ เขาจะรับได้ ดังนั้นเวลาอบรมสั่งสอนใครนี้ ต้องดูอารมณ์ของตนเองก่อน ว่าเป็นกลางหรือไม่ ปราศจากความรักชังกลัวหลงหรือไม่ ถ้ามีอารมณ์เหล่านี้ พูดไปแล้วมันจะส่งผลเสีย มากกว่าส่งผลดี



พระโสดาบันต้องกลับมาเกิดหรือไม่
ถาม: พระโสดาบันอยู่ชั้นไหนครับ ต้องกลับมาเกิดรหรือปล่าครับ
พระอาจารย์: พระโสดาบันยังติดอยู่ในกามภพอยู่ เพราะว่ายังไม่ได้ตัดกามให้หมดสิ้นไป ยังอยากมีแฟนอยู่ ยังอยากมีครอบครัวอยู่ ยังอยากเที่ยวอยู่ เพียงแต่ว่าท่านจะไม่ทำบาปอย่างแน่นอน เพราะท่านรู้ว่าการทำบาปนี้ได้ไม่คุ้มเสีย ถ้าอยากจะเที่ยวก็เที่ยวแบบไม่ไปทำผิดศีลผิดธรรม ไม่ไปดื่มสุรายาเมา ไม่ไปตามบาร์ตามผับ ไปตามสถานบันเทิงต่างๆ ไปก็ได้แต่เป็นบันเทิงแบบไม่มีสุรา ไม่มีการกระทำที่ผิดศีล



ไม่ดีใจไม่เสียใจในเรื่องต่างๆ ควรทำอย่างไร
ถาม: มีความรู้สึกไม่ดีใจไม่เสียใจในเรื่องต่างๆ จนเหมือนไม่อยากสนใจอะไรเลย มันเป็นไปเองควรทำอย่างไรดีเจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ดี ไม่ดีใจไม่เสียใจก็ดี พอดีใจแล้วเดี๋ยวสิ่งที่ดีใจหายไปก็จะเสียใจ ถ้าเสียใจพอเจอสิ่งที่เสียใจก็ไม่สบายใจ งั้นก็ถือว่าดีแล้ว ก็พยายามทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ที่มาปฏิบัตินี้ก็เพื่อให้ใจเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งต่างๆ ที่ไปสัมผัสรับรู้ ให้สักแต่ว่ารู้ไปเท่านั้นเอง เพราะว่าของทั้งหลายในโลกนี้มันก็เป็นของปลอมของชั่วคราว ได้มาเดี๋ยวก็ต้องเสียไป ไม่ได้มาก็ไม่ได้เสียไป เรามาตัวเปล่าๆ เดี๋ยวเราก็ไปตัวเปล่าๆ งั้นมาอยู่แบบสบายดีกว่า ไม่วุ่นวายไปกับสิ่งต่างๆ ที่เรามาสัมผัสรับรู้ ก็รับรู้ไปตามเรื่องของมัน



ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
ร่างกายไม่ต้องมีใครมาทำร้ายมันเดี๋ยวมันก็ทำร้ายตัวมันเอง ร่างกายมันเอาความแก่ความเจ็บความตายมาทำร้ายมัน เพราะฉะนั้นถ้าเรามองดูความจริงว่าอย่างมากก็แค่ตาย แล้วไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องตายกันทั้งหมด การเจริญมรณานุสสติก็จะช่วยทำให้เราทำใจได้ แต่ก่อนที่จะใช้มรณานุสสติ เราก็ต้องทำใจให้ว่างให้สงบก่อน ทำใจให้สบายก่อน ด้วยการเจริญพุทธานุสสติ “พุทโธ พุทโธ” หรืออานาปานสติ พอใจว่างเย็นสบาย เราก็มาดูปัญหาของชีวิต ปัญหาของชีวิตมันก็จะมารวมกันที่ความแก่ความเจ็บความตายนี่แหละ ทำอะไร อย่างไร ได้มากได้น้อย ในที่สุดก็ต้องมาเจอความแก่ความเจ็บความตาย จะร่ำรวยขนาดไหน จะเป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน จะมีอะไรมากน้อยเพียงไร หรือจะตกทุกข์ได้ยากขนาดไหน มันก็มารวมกันที่ความแก่ความเจ็บความตายนี่ ถ้าเรายอมรับว่าความแก่ความเจ็บความตาย เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ล่วงเกินไปไม่ได้ เราจะต้องเจอมัน และวิธีที่จะเจอมันอย่างสงบ เจอมันอย่างไม่มีปัญหา ไม่วุ่นวายใจ ก็คือต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้ปล่อยวาง ปล่อยให้มันเป็นไป 

ธรรมะหน้ากุฏิ & สนทนาธรรมบนเขา
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 เมษายน 2564 19:04:15

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31873353032602_175151993_3888847527819836_312.jpg)

อุทิศบุญ..ทำตอนที่เราไปทำบุญ
ถาม: ขณะนั่งสมาธิแล้วบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ แต่มีช่วงขณะหนึ่งจิตมันแวบไปอุทิศบุญให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว อย่างนี้ถือว่าปฏิบัติผิดไหมคะ ที่ถูกต้องคือต้องอุทิศบุญหลังจากที่ออกจากสมาธิอย่างเดียวหรือไม่คะ
พระอาจารย์: อ๋อ อุทิศบุญนี้ทำตอนที่เราไปทำบุญ ตอนนั่งสมาธินี้ยังไม่เกิดบุญเพราะยังไม่สงบยังไม่ได้ผล ถึงแม้จะนั่งเสร็จแล้วแต่ก็ยังไม่มีผลบุญเกิดขึ้น งั้นไม่ควรที่จะมากังวลกับการอุทิศบุญในช่วงที่เรานั่งสมาธิ อยากจะอุทิศบุญก็ไปใส่บาตร ไปทำบุญทำทานถวายสังฆทาน ทำปุ๊บบุญเกิดขึ้นปั๊บ อุทิศได้ทันทีเลย แต่ถ้านั่งสมาธินี้ส่วนใหญ่เราไม่คำนึงถึงการอุทิศบุญ เรานั่งสมาธิเพื่อใจสงบให้เกิดความสุขใจขึ้นมา งั้นให้มีสติอยู่กับการนั่ง อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องอื่น อุทิศบุญ ให้ดึงกลับมาอย่าให้คิดถึงเรื่องอะไรทั้งหมด ให้อยู่กับพุทโธพุทโธไปหรืออยู่กับการดูลมหายใจเข้าออกไป แล้วใจก็จะค่อยๆ เข้าสู่ความสงบ จะเข้าได้มากได้น้อยก็อยู่ที่กำลังของสติที่เราจะควบคุมความคิดไว้



ป่วยหนักคงอยู่ได้อีกไม่นาน
ถาม: ผมป่วยหนักคงอยู่ได้ไม่นาน แต่สิ่งที่กังวลมากคือกลัวความทรมานก่อนไป พยายามเปิดฟังธรรมะบ่อยๆ แต่ก็ปลงเรื่องกลัวการทรมานไม่ได้ ชอบคิดจนกลัวจะต้องทำอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ความกลัวมันก็เกิดจากความหลงนั่นเอง ความหลงก็คือเกิดจากความเข้าใจผิดที่เราคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ดังนั้นก็พยายามพิจารณาร่างกายอยู่เรื่อยๆ ว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันทำมาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ มันเป็นของขวัญพ่อแม่มอบให้เรามา เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งให้เรามาเล่นกับมันเท่านั้นเอง เดี๋ยวตุ๊กตาตัวนี้มันก็ตายไป ก็ต้องปล่อยมันตายไปเพราะมันต้องกลับคืนสู่สภาพเดิมคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คิดอย่างนี้แล้วเราก็จะปล่อยวางร่างกายได้ ความกลัวความทรมานมันก็จะไม่เกิด   “ความทรมาน” มันเกิดจากความหลงไปคิดว่าเราเป็นร่างกายเราจะตาย เราไม่มีใครอยากจะตายกัน แต่ความจริงเราไม่ตายเราเป็นผู้รู้ผู้คิดเป็นใจที่ไม่มีวันตาย ต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจให้ถูกต้องมีสัมมาทิฏฐิ แล้วเราจะได้รู้จักวิธีปฏิบัติกับร่างกายอย่างถูกต้อง คือปล่อยวาง มันเป็นอะไรก็ดูแลมันไปเท่าที่จะดูแลได้ ถ้าถึงเวลาดูแลไม่ได้ก็ปล่อยมันไป มันจะหยุดหายใจก็ปล่อยมันหยุดหายใจ แล้วรับรองได้ว่าใจจะไม่ทรมาน



คันในเรื่องที่ไม่ควรจะคัน 
ถาม: มีบางคนเข้าวัดไปปฏิบัติธรรม ฟังธรรมะครูบาอาจารย์แต่กลับชอบว่าคนอื่น ผมก็เลยบอกเขาว่า นี่หรือนักปฏิบัติธรรม เขาก็เลยโกรธผม ผมก็ไม่เตือนเขาอีก อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ
พระอาจารย์: เราก็ผิดเขาก็ผิด อย่าไปยุ่งกับเขาเลย เราก็ปฏิบัติธรรมแล้วก็ไปทะเลาะกับเขา ก็พอกันแหละ งั้นอย่าไปยุ่งกับใคร เรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวกับเรา เรามาดูเรื่องของเราว่าสงบหรือไม่สงบดีกว่า คันหรือไม่คัน ชอบคันเรื่อย คันในเรื่องที่ไม่ควรจะคัน ไอ้เรื่องที่ควรจะคันไม่คันนะ



สมองคิดไม่ได้..จิตเป็นผู้คิด 
ถาม: การพิจารณาคือการใช้จิตและสมองเข้าไปคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ทั้งอดีตและปัจจุบัน แล้วน้อมมาสอนตัวเอง อย่างนี้ถูกไหมครับ
พระอาจารย์: สมองคิดไม่ได้หรอก จิตเป็นผู้คิด สมองเป็นเพียงแต่ผู้ทำหน้าที่คอยสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวต่างๆ ตามคำสั่งของใจอีกทีหนึ่ง เป็นผู้ประสานคำสั่ง รับคำสั่งมาจากใจแล้วก็สั่งไปที่แขนที่ขาให้ยกขึ้น ให้แกว่งไปแกว่งมา สมองทำหน้าที่รับคำสั่งอีกที สมองไม่ได้มีความคิด คิดไม่เป็น ผู้ที่คิดคือใจ ใจเป็นผู้คิด คิดแล้วสมองก็รับคำสั่งไปทำตามที่ใจคิด คิดว่าเดี๋ยวขอลุก สมองก็สั่งไปที่ร่างกาย เตรียมตัวลุกนะ มีคำสั่งมาให้ลุกแล้ว



กลัวโรคโควิดจนเครียด 
ถาม: พี่ชายกลัวโรคโควิดจนเครียดมา ๓ เดือนแล้ว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไปหาหมอจิตมาก็ไม่ดีขึ้น รบกวนพระอาจารย์ช่วยชี้แนะแนวทางหาทางออกให้ด้วยครับ
พระอาจารย์: ในเบื้องต้นก็พยายามทำจิตใจให้สงบ อย่าไปคิดถึงเรื่องนี้ เช่น เวลานอนหลับไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ ความเครียดก็หายไป พอตื่นขึ้นมา พอเริ่มดคิดถึงเรื่องนี้ก็เครียดขึ้นมาใหม่ งั้นพอตื่นขึ้นมานี้ต้องหยุดมันอย่าให้มันคิดถึงเรื่องโควิดนี้ ให้มันคิดถึงพุทโธแทน ให้มันท่องพุทโธแทน อย่าไปโควิด โควิด ยิ่งโควิดยิ่งเครียด แต่ถ้าให้ท่องพุทโธ คิดถึงพุทโธได้ความเครียดมันก็จะไม่เกิด นี่คือเบื้องต้น วิธีง่ายที่สุดแต่ก็ต้องใช้ความเพียรพยายาม ถ้าไม่ขยันพุทโธ มัวไปขยันโควิดก็เครียดขึ้นมาใหม่ ดังนั้นต้องพยายามสู้กับโควิดให้ได้ สู้กับความคิดถึงโควิดด้วยการให้คิดถึงพุทโธแทน พุทโธๆ ไป พอตื่นขึ้นมาพอมันจะโควิดปั๊บก็ พุทโธๆ ไปเลย ทำอะไรก็พุทโธไป อาบน้ำล้างหน้าแปรงฟันก็พุทโธไป สักพักโควิดมันก็จะหายไป ใจก็จะสบาย แล้วถ้าเกิดมันกลับมาคิดใหม่ก็พุทโธใหม่ สู้ไปจน ถ้าเราสู้ไปเรื่อยๆ เราสู้มันได้แล้ว ทีนี้เราไม่กลัวมันแล้ว พอมันจะโควิดปั๊บเราก็พุทโธไป อย่าไปคิดให้เสียเวลาเพราะเรื่องของโควิดนี่เราไปจัดการมันไม่ได้ในตอนนี้ เราต้องจัดการตัวเราเอง ป้องกันตัวเราเอง  ตอนนี้ยังไม่มีวิธีการกำจัดโควิดได้ ก็ต้องป้องกันตัวเองไปก่อน ส่วนทางใจเรานี้ พอเรามีกำลังที่จะทำใจให้สงบได้ ไม่หวาดกลัวกับโควิดแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็หัดมาใช้ปัญญา สอนใจว่าร่างกายของเรานี้มันโควิดหรือไม่โควิดมันก็ต้องเจอโรคใดโรคหนึ่งอยู่ดีแหละ ไม่เจอโควิดก็ไปเจออหิวาต์ ไม่เจออหิวาต์ก็ไปเจอไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย อะไรต่างๆ มันมี เรื่องเอดส์ก็ยังรอเราอยู่นี่ ไม่ใช่มันไม่มี โรคเอดส์มันก็ไม่ได้หายไปนะ งั้นมันมีโรคอะไรต่างๆ ที่จะเข้ามารังควาญร่างกายของเราได้เสมอ แล้วก็ถึงแม้จะไม่มีเรื่องราวเหล่านี้ มันก็มีโรคในตัวของมันเอง เดี๋ยวร่างกายมันก็มีโรคของมันรออยู่ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคปอด โรคอวัยวะต่างๆ ของร่างกายนี้มันเป็นที่เพาะเชื้อทั้งนั้นแหละ เพาะเชื้อโรคทั้งนั้นที่สร้างเชื้อโรคทั้งนั้น ดังนั้นให้พิจารณาเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บของร่างกายว่ามันเป็นธรรมดา ล่วงพ้นหนีมันไม่ได้ หนีมันไม่พ้น เกิดมาแล้วต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ แล้วถ้าเจ็บแล้วถ้ารักษามันไม่ได้ มันก็ต้องตายไปเป็นธรรมดา ร่างกายถ้ามันไม่ตายด้วยโรคมันก็ต้องตายด้วยหมดแรงตายไป พอหมดลมมันก็ตาย ไม่มีแรงหายใจมันก็ตายเหมือนกัน  ดังนั้น เกิดมาแล้วหนีไม่พ้นเรื่องของความเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องของความตาย ทุกคน จะต้องเจอกันช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าใจเป็นปกติใจสงบแล้วถึงจะสอนเรื่องนี้ได้ เพราะถ้าใจยังเครียดยังกลัวอยู่อย่างนี้สอนไม่ได้ ถ้ายังเครียดยังกลัวอยู่ก็ใช้พุทโธดับความเครียดความกลัวไปก่อน พยายามระลึกถึงพุทโธอยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงโควิด คิดถึงการเจ็บไข้ได้ป่วย คิดถึงความตาย เพราะคิดแล้วมันยิ่งกลัวยิ่งเครียดใหญ่ เดี๋ยวเป็นบ้าเอา งั้นในเบื้องต้นนี้ต้องทำใจให้กลับมาเป็นปกติก่อน ให้มันสงบเป็นปกติไม่เครียดก่อน ด้วยการใช้สติคือพุทโธยับยั้งความคิดปรุงแต่งต่างๆ ให้ได้ พอใจหยุดคิดแล้วใจก็จะหายเครียด ใจก็จะเป็นปกติได้ ต่อไปถึงจะสามารถใช้ปัญญามาสอนใจให้มาปล่อยวางร่างกายให้ได้ พอเห็นว่าร่างกายนี้ยังไงต้องเจ็บต้องตายอย่างแน่นอน ไม่มีทางอื่น ถ้าไม่อยากจะเครียดไม่อยากจะทุกข์กับมันก็ปล่อยมันไป เท่านั้นเอง พอปล่อยได้แล้วใจก็หายทุกข์ หายเครียดกับความเจ็บความตาย



วางอุเบกขากับทุกอย่างใช่ไหมคะ
ถาม: เรื่องการวางอุเบกขา เราต้องวางอุเบกขากับทุกอย่างเลยใช่ไหมคะ
พระอาจารย์: หมายถึงการมีปฏิกิริยากับผู้อื่น กับสิ่งต่างๆ คือ เราต้องเฉยๆ  ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงกับสิ่งใด เห็นอะไรก็อย่าไปชอบ เห็นอะไรก็อย่าไปเกลียด เห็นอะไรก็อย่าไปกลัว เห็นอะไรก็อย่าไปหลงคิดว่าเป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นของเรา ทีนี้มันทำยากถ้าไม่มีสมาธิ ถ้าทำสมาธิจิตมันจะเป็นกลางขึ้นมาก่อน มันจะเป็นอุเบกขา มันจะไม่รักชังกลัวหลง แต่มันจะอยู่ไม่ได้นาน พอสมาธิหมดก็ฌานก็ผ่านไป แต่ก็ดีกว่าคนที่ไม่มีเลย คนที่ไม่มีเลยนี้ บอกไม่รักไม่ชังไม่หลงนี่จะยาก เห็นอะไรก็อดรักไม่ได้ อดชังไม่ได้ อดชอบอดเกลียดไม่ได้
ถาม: ต้องฝึกให้เป็นประจำใช่ไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: เออ ต้องพยายามนั่งสมาธิ แล้วมันจะเป็นโดยธรรมชาติของจิต พอจิตสงบแล้วจิตก็จะเป็นอุเบกขา แต่ถ้าตอนนี้ยังไม่มีสมาธิ ก็ใช้สติคอยดึงมันให้อยู่ในอุเบกขาก็ได้ เช่น เวลาไหนจะไปรักใครเขาปั๊บก็พุทโธๆ ไปก่อน เฮ้ย อย่าไปรักเขา เวลาไปเกลียดใคร ก็พุทโธๆ  อย่าไปเกลียดเขา เพราะเวลาถ้าจิตไม่รักชังกลัวหลงแล้วมันสบาย ไม่วุ่นวาย



อย่าไปติดลาภยศสรรเสริญสุข
ถาม: อยู่กับโลกอย่าหลงโลก อย่าติดโลก หากไม่ยึดติดในสิ่งใด ใจจะสบาย สักแต่ว่าพิจารณาแล้ววาง ปล่อยตามสภาพเดิม ตามหลักธรรมชาติ แบบนี้ถูกหรือเปล่าครับ
พระอาจารย์: ก็โลกที่พูดถึงก็โลกธรรมนี่ มีอยู่ ๔ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่าไปติดลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะไม่ทุกข์ เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มันไม่เที่ยง มีเจริญแล้วเดี๋ยวมันก็เสื่อม เวลาเสื่อมก็จะทำให้เราทุกข์ เสื่อมลาภก็ทุกข์ เสื่อมยศก็ทุกข์ จากสรรเสริญมาเป็นนินทาก็ทุกข์ จากสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย มากลายเป็นทุกข์มันก็ทุกข์ งั้นอย่าไปยึดไปติดกับโลกธรรม คือลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะมันจะกลายจากสุขมากลายเป็นทุกข์ได้ทุกเวลา



พยายามตั้งสติอยู่เรื่อยๆ 
ถาม: พระอาจารย์มีคำแนะนำในการปลีกวิเวกไหมคะ
พระอาจารย์: ก็พยายามตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ให้อยู่กับปัจจุบัน อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เราเตรียมพร้อมแล้วก็ไม่ต้องไปคิดถึง กลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน ปฏิบัติของเราที่ไหนก็ได้ อย่ามัวไปจ้องว่าต้องไปปฏิบัติที่นู่น แล้วเลยลืมปฏิบัติที่นี่เลย ที่นี่ก็ปฏิบัติได้ ที่บ้าน ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ อย่างน้อยก็ปฏิบัติสติไปก่อน บางทีกิเลสมันก็หลอกให้เรามองไปที่ข้างหน้า ว่าจะไปปฏิบัติ เลยตอนนี้ไม่ปฏิบัติ ตอนนี้ก็ต้องปฏิบัติ ก็เตรียมตัวไป ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เวลาเปลี่ยนสนาม มันก็อาจจะได้ปฏิบัติเข้มข้นขึ้นก็ได้ แต่เราก็ไม่รู้ ก็อย่าไปคาดหวังอะไรมากไป อย่าไปวาดภาพเดี๋ยวมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราวาด แล้วมันจะผิดหวัง



เข้าสู่เส้นทางปฏิบัติธรรมต้องเริ่มจากจุดไหน 
ถาม: หากจะเริ่มเข้าสู่เส้นทางปฏิบัติธรรม ต้องเริ่มจากจุดไหนครับ เพราะเท่าที่เห็นมีหลายวิธีมากครับ ตอนนี้เหมือนเด็กหัดเดิน ขอความเมตตาจากพระอาจารย์ชี้แนะด้วยครับ
พระอาจารย์: ก็อย่างที่เทศน์ให้ฟังวันนี้ เบื้องต้นก็เอาเงินที่ไปเที่ยวมาทำบุญทำทานได้หรือเปล่า สองรักษาศีล ๕ ได้หรือเปล่า พอได้ ๒ ขั้นนี้แล้วก็ไปขั้นที่ ๓ ไปรักษาศีล ๘ ไปอยู่วัดได้หรือเปล่า ไปอดข้าวเย็น ไปนั่งสมาธิ ไปฟังเทศน์ฟังธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิได้หรือเปล่า อันนี้เป็นขั้นต่างๆ ที่เราจะต้องผ่าน



ไม่ผิดถ้าเราทำตามหน้าที่ 
ถาม: กราบนมัสการหลวงพ่อนะคะ โยมเป็นหัวหน้างาน มีลูกน้องมากมาย มีลูกน้องอยู่คนหนึ่งที่ไม่ทำงาน แล้วก็ทำความเสียหายกับบริษัทแล้ว เจ้านายหรือผู้ใหญ่ก็บอกให้โยมไล่เขาออก เขาทำความเสียหายกับบริษัทจริงๆ ไม่ถึงขนาดโกงแต่ว่าไม่ทำงานแล้วก็สร้างความร้าวฉาน แล้วก็หลายอย่าง มันถึงเวลาที่จะเอาเขาออกแต่โยมไม่กล้าเพราะว่าโยมเป็นพุทธ ถ้าเขาเดือดร้อนพ่อแม่พี่น้องลูกเขาจะอยู่ยังไง แต่ในความที่เป็นผู้จัดการก็ต้องเอาเขาออก ตอนนี้มันถึงเวลาที่ลูกต้องตัดสินใจ แต่ก็ยังไม่กล้าที่จะไล่เขาออก มันรู้สึกผิดน่ะค่ะ
พระอาจารย์: คือมันไม่ผิดหรอกถ้าเราทำตามหน้าที่แล้วเขาผิด มันก็ต้องทำไป แม้กับพระนี่พระพุทธเจ้าก็ให้เอาออกนะ ไปทำผิดศีลข้อไปร่วมหลับนอนกับสีกา ก็ให้ออกจากการเป็นพระได้ งั้นถ้าทำผิดแล้วอยู่ต่อไปก็จะทำลายระบบทำลายสังคม ก็อยู่ไม่ได้ แต่เราไม่ต้องพูดแบบหยาบคายไล่เขา พูดคุยกันดีๆ พูดด้วยเหตุด้วยผลว่า เหตุที่ต้องให้คุณออกก็เพราะว่ามีปัญหาอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นตามมา แล้วผู้ที่เขามีอำนาจเหนือเราเขาสั่งลงมา เราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากว่าเราขออนุญาตผู้ใหญ่ว่าขอให้โอกาสเขาอีกสักครั้งได้ไหม แล้วบอกเขาว่าคุณต้องปรับปรุงตัวเองนะ ถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหา เขาคงจะไม่ว่าอะไร ก็พูดได้เท่านี้ แต่เราไม่ผิดหรอก ก็ทำตามเนื้อผ้าไม่ได้ทำด้วยอารมณ์หรือทำด้วยความโกรธเกลียดชังแต่อย่างใด ไม่ได้ทำด้วยการกลั่นแกล้งอะไรทำนองนี้



วางใจอย่างไรไม่ให้ทุกข์จากความรัก
ถาม: จะวางใจอย่างไรไม่ให้ทุกข์จากความรัก ความเป็นห่วงกังวลทุกอย่างที่มีต่อลูกคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องไม่รัก ต้องมองลูกว่าไม่ใช่ลูกเรา ถ้าเป็นลูกคนอื่น ไม่กังวลเลยใช่ไหม แต่ถ้าเป็นลูกเรานี่ โอ้ย..หวงห่วงเหลือเกิน เพราะความจริงมันก็ไม่ใช่เป็นของเรา เป็นของดินน้ำลมไฟ ร่างกายของพวกเรานี้มาจากดินน้ำลมไฟ แล้ววันหนึ่งดินน้ำลมไฟก็จะมาเอาคืนไป เวลาที่คนตายนั่นแหละ เป็นเวลาที่ดินน้ำลมไฟมาขอ ขอดินน้ำลมไฟที่มีอยู่ในร่างกายของเราคืนไป น้ำก็ไหลออกจากร่างกายไป ไฟก็ออกจากร่างกายไป ลมก็ออกจากร่างกายไป ที่เหลือก็กลายเป็นดิน เขาก็เอาไปทิ้งไปเผาไปฝังไป นี่คือความจริงของร่างกายของทุกคน งั้นร่างกายของพวกเราทุกคนนี้ไม่ได้เป็นพ่อเรา ไม่ได้เป็นแม่เรา ไม่ได้เป็นตัวเรา ไม่ได้เป็นลูกเรา เป็นดินน้ำลมไฟ ตัวเราคือจิตใจที่มาเกาะติดกับร่างกาย ที่ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ถ้ามองอย่างนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะได้ไม่ห่วงร่างกายของคนนั้น ของคนนี้ เพราะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นตัวเขา เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งเขาก็ต้องคืนร่างกายนี้ให้กับเจ้าของไป เป็นเหมือนของที่เรายืมมา เรายืมของเขามาเราก็ต้องคืนเขา ถ้าเรารู้เราก็ไม่เดือดร้อน เราก็เตรียมตัวเตรียมใจ พอเจ้าของเขาบอก “พี่ ขอคืนนะ ของยืมไปหลายวันแล้ว” ยืมรถไปแล้วทำเป็นลืม บางที ต้องมาเตือน พอเขามาเตือน เขาขอคืน ก็ให้เขาไปสิ ไม่ใช่ของเรา ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา เป็นของดินน้ำลมไฟ ร่างกายของทุกคนเป็นของดินน้ำลมไฟ ทั้งนั้น ดังนั้นวันหนึ่งเขาจะมาขอคืนไป ก็ให้เขาเอาคืนไป เราไม่ได้เสียอะไร ตัวเราไม่ได้ไป ตัวเราไม่ได้เสียอะไร ตัวเรายังอยู่ครบ ๑๐๐ ตัวเราคือใจผู้รู้ผู้คิด ยังคิดได้ ยังทำอะไรได้อยู่เหมือนกับตอนที่มีร่างกาย เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง เราคิดว่าเราจะตายไปกับร่างกาย เราก็เลยรักและหวงห่วงกัน นี่ต้องศึกษาต้องปฏิบัติถึงจะเห็นความจริงอันนี้



วิธีตัดกามราคะ
ถาม: ผู้ที่ตัดกามราคะได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ที่ได้รูปฌานหรืออรูปฌานใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: ส่วนใหญ่มักจะเป็นอย่างนั้นแหละ เพราะว่าถ้ายังไม่มีความสุขจากรูปฌานหรืออรูปฌานนี้ มันก็จะตัดความสุขทางกามารมณ์ไม่ได้ มันต้องมีอะไรมาทดแทนกัน เปลี่ยนกัน เหมือนต้องเปลี่ยนรถใหม่ก่อนถึงจะทิ้งรถเก่าได้ ถ้ายังไม่มีรถใหม่ มีรถเก่าก็ต้องอาศัยรถเก่าไปเรื่อยๆ ก่อน เช่นเดียวกัน การหาความสุขก็มี ๒ รูปแบบ แบบกามสุขกับความสุขจากความสงบ ถ้ายังไม่มีความสุขจากความสงบ ก็จะสละความสุขทางกามารมณ์ไม่ได้ ต้องสร้างความสุขทางความสงบให้ได้ก่อน เมื่อมีความสุขจากความสงบแล้ว ก็สามารถที่จะเลิกหาความสุขทางกามารมณ์ได้ แต่ต้องใช้ปัญญาถึงจะเลิกได้อย่างแท้จริง ต้องพิจารณาว่า ความสุขนี้มันเป็นความสุขปลอม สิ่งที่เราคิดว่าให้ความสุขกับเรานั้น เรามองเห็นเพียงแต่ด้านเดียว เห็นด้านความสวยงาม เราไม่เห็นอีกด้านหนึ่งของร่างกายที่ไม่สวยงาม งั้นเวลาที่เรานึกถึงเวลาที่ร่างกายต้องเปลี่ยนจากความสวยงามมาเป็นไม่สวยงามเมื่อไหร่ เราก็จะไม่มีความอยากจะเสพร่างกายนั้นอีกต่อไป ดังนั้นถ้าเราอยากจะเลิกเสพกามารมณ์ ก็ต้องพยายามมองให้เห็นร่างกายที่เขาทำให้ดูว่าสวยว่างามนี้ว่ามันไม่สวยงาม มันมีส่วนที่ไม่สวยงาม เช่น ส่วนที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง อย่างนี้ ให้พิจารณาเข้าไปดูอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ภายใต้ผิวหนัง ดูกระดูก ดูหัวใจ ดูตับ ดูไต อะไร เป็นต้น อย่างนี้ ถ้าเห็นแล้วก็จะทำให้กามารมณ์ดับไปได้อย่างถาวร



เจตสิกคืออะไร 
ถาม: อ่านหนังสือเจอคำว่า “เจตสิก” ค่ะ ก็เลยสงสัยว่า เจตสิกกับจิตนี่ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แล้วในส่วนนี้เราจะทำยังไง หรือว่า เจตสิกมันเป็นยังไง เราจะจัดการกับมันยังไงเพื่อให้การปฏิบัติของเราดีขึ้นไปเรื่อยๆ คะ
พระอาจารย์: คือเจตสิกนี้ ความหมายเท่าที่เราเข้าใจก็คือ สิ่งที่ปรากฏขึ้นในจิตเป็นเจตสิก เช่น อารมณ์ต่างๆ นี้ก็เป็นเจตสิก มันก็เป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนจิตนี้เป็นตัวรู้ ถ้าเปรียบเทียบ จิตก็เป็นเหมือนจอทีวีนั่น แล้วส่วนที่ปรากฏในจอนี้ก็เรียกเป็นเจตสิก ภาพต่างๆ ภาพ เสียงที่โผล่ขึ้นมาในจอนี่ เป็นเจตสิก เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ตัวจอมันเหมือนเดิม ตัวจอก็เป็นตัวรับรูปเสียงกลิ่นรส ตัวที่ตั้งให้พวกเจตสิกมันโผล่ขึ้นมาได้ ฉะนั้นเราปฏิบัติก็เพื่อให้เข้าใจว่าเจตสิกเป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปยึดไปติดมัน ไม่ต้องไปอยากกับมัน เข้าใจไห



ความหมายของพระพุทธรูป 
ถาม: การที่เราตักบาตรถวายหลวงพ่อโสธร เราต้องกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไหม เพราะในความคิดดิฉันท่านเป็นพระสูงกว่าเรา เราควรตักบาตรให้เฉยๆ ใช่ไหม หรือตักบาตรกรวดน้ำด้วย ถ้ากรวดน้ำใช้บทสวดปกติ ใช่ไหม
พระอาจารย์: คือถ้าเป็นพระพุทธรูป พวกนี้ไม่ต้องไปตักบาตรไม่ต้องไปกรวดน้ำ ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น พระพุทธรูปมีไว้กราบไหว้บูชา คือให้เราปฏิบัติบูชาตามคำสั่งคำสอนของพระพุทธรูปองค์นั้น พระรูปนั้น ถ้าศึกษาคำสั่งคำสอนของท่านแล้วก็พยายามปฏิบัติตาม นั่นคือความหมายของการมีพระพุทธรูปหรือมีรูปเหมือน เพื่อให้เราได้รำลึกถึงคำสอนของท่าน เพื่อที่เราจะได้บูชาท่านด้วยการปฏิบัติตามคำสอน เพราะท่านไม่ต้องการอะไรจากเรา เราแหละจะได้ประโยชน์จากการที่เราบูชาท่าน ด้วยการปฏิบัติ เราจะได้มีความสุขมากขึ้น มีความเจริญมากขึ้นไปตามลำดับ



สีลัพพตปรามาส
ถาม: อยากฟังเรื่องสังโยชน์ข้อที่ ๓ ครับ อ่านเองแล้วยังงงอยู่บ้างครับ
พระอาจารย์: สีลัพพตปรามาส ก็ท่านแปลว่าการลูบคลำศีล คือการยังไม่เห็นว่าศีลนี้เป็นของที่สำคัญ ของที่จำเป็น ถ้าบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วจะรู้ว่า ถ้าทำบาปแล้วจิตใจจะต้องลงต่ำ จิตใจจะต้องไปเกิดในอบาย ฉะนั้นพระโสดาบันก็จะรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ไม่ลูบคลำในศีล ไม่สงสัยว่าศีลนี้มีประโยชน์อย่างไร เพราะรู้ว่าศีลนี้เป็นเครื่องป้องกันจิตใจไม่ให้ลงต่ำ ไม่ให้ไปเกิดในอบาย ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้



มโนกรรม ๓ และ สัมมาทิฏฐิ
ถาม: ขอเมตตาพระคุณเจ้า อธิบายมโนกรรม ๓ ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ทั้ง ๓ ข้อ และข้อสุดท้าย “สัมมาทิฏฐิ” เจ้าค่ะ
พระอาจารย์: “มโนกรรม ๓” ก็คือไม่โลภไม่โกรธไม่หลงนั่นเองที่เป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศลก็คือโลภโกรธหลง ถ้าไม่โลภไม่โกรธไม่หลงก็เรียกว่าเป็นกุศลเพราะว่าจะทำให้จิตสงบทำให้จิตมีความสุข ถ้าเป็นความโลภความโกรธความหลง ก็จะทำให้จิตร้อนจิตเป็นทุกข์ขึ้นมา งั้นเราต้องมาสร้างมโนกรรม ๓ ที่เป็นกุศลคือตัดความโลภตัดความโกรธตัดความหลง   “สัมมาทิฏฐิ” คือความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตอนนี้เราเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เช่น เห็นร่างกายของเรานี้ว่าเป็นตัวเรา อันนี้ก็เป็นความเห็นผิดเพราะเราไม่ได้เป็นร่างกาย เราเป็นจิตใจ ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวร่างกายก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป เห็นร่างกายว่าทำให้เรามีความสุขแต่ความจริงมันทำให้เรามีความทุกข์มากกว่า ตอนนี้มันอาจจะทำให้เรามีความสุข พาเราไปหาความสุขได้ ต่อไปเวลามันแก่มันเจ็บมันจะตายนี้มันจะพาเราไปหาความสุขไม่ได้ ตอนนั้นมันก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เห็นว่าร่างกายเที่ยงคิดว่าจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด ความเห็นที่ถูกต้องเห็นว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องเห็นตลอดเวลาถึงจะเรียกว่ามี “สัมมาทิฏฐิ” ถ้าเห็นเฉพาะตอนที่ได้ยินได้ฟังตอนนี้แล้วเดี๋ยวก็ลืมก็ยังถือว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิอยู่ จึงต้องพยายามสร้างสัมมาทิฏฐิอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราคิดอยู่บ่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ความเจ็บความตายไปไม่ได้ ถ้าเราคิดได้ตลอดเวลาจนไม่หลงไม่ลืม เราก็จะมีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็สอนว่าให้พิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่เชื่อไปดูคนตายซิ เวลาเขาเผาแล้วเหลืออะไร เหลือแต่ดินใช่ไหม เหลือแต่ขี้เถ้าเห็นไหม ขี้เถ้าก็ดินนี่เอง นี่แหละคือร่างกายที่เราเรียกว่าเป็นเรา..ของเรา ไม่ใช่เรา..เราเป็นดวงวิญญาณไปแล้ว ตอนที่ร่างกายตายไปนี้ เราเป็นดวงวิญญาณล่องลอยอยู่ในโลกทิพย์ ถ้าบุญพาไปก็ไปเป็นเทวดา ถ้าบาปพาไปก็ไปเป็นเปรต เป็นอสูรกาย ไปนรก หรือไปเกิดเป็นเดรัจฉานตามลำดับ นี่คือเรื่องของการมีสัมมาทิฏฐิ เพื่อที่เราจะได้สร้างบุญสร้างกุศล ตายไปจะได้ไปสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือไปถึงชั้นนิพพานเลยก็ได้ ด้วยสัมมาทิฏฐินี่เอง



สมาธิเป็นที่ชาร์จอุเบกขา
ถาม: การฝึกปฏิบัติเพื่อให้จิตวางเฉยต่อสิ่งไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ นั้น ควรจะฝึกฝนและพัฒนาสอนจิตอย่างไร
ให้วางเฉยและรับมือได้กับความไม่แน่นอนครับ
พระอาจารย์: ก็ต้องใช้การฝึกสมาธินี้เอง ต้องใช้สติควบคุมจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิจิตก็จะวางเฉยได้ จิตจะเข้าไปอยู่ตรงจุดที่วางเฉยที่เรียกว่า “อุเบกขา” แล้วก็ต้องพยายามให้มันอยู่ในจุดนั้นนานๆ เพราะถ้ามันอยู่จุดนั้นนานๆ เวลาออกจากสมาธิมา มันก็ยังจะอยู่ที่จุดนั้นอยู่ แต่ถ้าเราอยู่เดี๋ยวเดียว เข้าไปเดี๋ยวเดียวพอออกมามันก็จะอยู่เดี๋ยวเดียว แล้วมันก็จะเริ่มไม่เป็นกลาง มันก็จะเริ่มมีปฏิกิริยามีความอยากต่างๆ ปรากฏขึ้นมา ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้จิตเราเป็นอุเบกขามากๆ ตอนที่เราออกจากสมาธิมาแล้ว เราก็ต้องเข้าไปอยู่ในอุเบกขาให้นานๆ ให้บ่อยๆ ก็เปรียบเทียบเหมือนกับการชาร์จแบตเตอรี่ของมือถือนี่แหละ เราชาร์จกี่ชั่วโมงกี่นาทีเราก็เอามาใช้ได้กี่ชั่วโมงกี่นาทีเท่านั้นแหละ เราชาร์จแป๊บเดียว ก็เอามาใช้ได้แป๊บเดียว ถ้าเราชาร์จได้บ่อยชาร์จได้นาน เวลาเอามาใช้ก็ใช้ได้นาน  ฉนั้นสมาธินี่เป็นที่ชาร์จอุเบกขา ชาร์จความเป็นกลางของใจ ทำให้ใจปล่อยวางได้ แต่ถ้าไปชาร์จเดี๋ยวเดียว ออกมาก็ปล่อยวางได้แป๊บเดียว เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆ โอ๊ย รู้สึกโล่งอกโล่งใจ เบาอกเบาใจ เดี๋ยวสักพักไปได้ยินเสียงใครด่าขึ้นมาก็พรวดพราดขึ้นมาแล้ว หรือเห็นอะไรอยากได้ก็วุ่นขึ้นมาแล้ว แสดงว่าอุเบกขาหมดแล้ว ถ้าได้ยินเสียงใครเขาด่ายังเฉยอยู่ก็แสดงว่าอุเบกขายังมีอยู่ เห็นอะไรน่าดูน่าชมเคยอยากได้ ตอนนี้เห็นแล้วเฉยๆ ก็แสดงว่าอุเบกขายังมีอยู่ ถ้าพอไม่มีแล้วก็ควรกลับเข้าไปชาร์จแบตใหม่ เข้าไปในสมาธิใหม่ ผู้ปฏิบัตินี้ใหม่ๆ จึงต้องไปอยู่ในป่าคนเดียวนี่ นี่วัดป่าวัดหลวงตานี่ใครไปบวชอยู่ที่นั่นต้องไปอยู่ ๕ ปี ให้ไปชาร์จอุเบกขาอยู่วัดนั้น ไม่ให้ออกไปข้างนอก แม้แต่กิจนิมนต์ก็ไม่ให้ไป เพราะเวลาออกไปข้างนอกไปรับกิจนิมนต์ เดี๋ยวตาก็ไปเห็นรูปหูก็ได้ยินเสียง ถ้าจิตมันไม่มีอุเบกขาก็เกิดความอยากขึ้นมา พอเกิดความอยากขึ้นมาก็เกิดความวุ่นวาย ความไม่สบายใจขึ้นมา เดี๋ยวก็ทนอยู่ไม่ได้ ลาสึกไป แต่ถ้าชาร์จแบตนานๆ อยู่ในป่าสัก ๕ ปี ไม่ต้องออกมาเจอใครนี่มันจะมีอุเบกขามาก ออกมาแล้วมันจะเฉย แล้วเราก็สามารถพัฒนาต่อจากขั้นอุเบกขาด้วยการใช้ปัญญา จากขั้นสมาธิให้ใช้ปัญญาเพื่อรักษาอุเบกขาให้อยู่อย่างถาวรต่อไปได้



ปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์
ถาม: การที่จะพิจารณาได้ต้องหลังจากการทำสมาธิถึงอัปปนาสมาธิ แล้วค่อยถอนออกมาพิจารณาเสมอไปหรือไม่เจ้าคะ เราสามารถพิจารณาทำให้เข้าใจจนจิตสงบ แบบปัญญาอบรมสมาธิได้ไหมคะ เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถทำสมาธิจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิเลยเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ก็อยู่ที่ความสามารถของเราทางปัญญาว่า เรามีความสามารถคิดเพื่อให้จิตสงบได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถคิดไปในทางไตรลักษณ์ได้ จิตก็จะสงบได้ งั้นมันอยู่ที่เรา แต่ส่วนใหญ่การจะใช้ปัญญานี้ ท่านต้องใช้ตอนเวลาที่จิตมีความทุกข์ เพราะปัญญานี้เป็นเครื่องดับทุกข์ เช่น จิตกำลังทุกข์กับความสูญเสียของคนที่เรารักไป ไม่มีกระจิตกระใจจะนั่งสมาธิอย่างนี้ เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า คนที่เสียนี้เขาก็เป็นอนิจจัง..ไม่เที่ยง อนัตตา..เราไปสั่งไปห้ามเขาไม่ให้ตายไม่ได้ เมื่อเขาตายก็ต้องยอมรับความจริง ปล่อยให้เขาตายไป อย่าไปอยากให้เขาไม่ตาย หรืออย่าไปอยากให้เขากลับคืนมา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ พอเราพิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้ว ความเศร้าโศกเสียใจกับคนนั้นก็หายไป เราก็จะได้กลับมานั่งสมาธิได้ อันนี้ใช้แบบนี้ ใช้ปัญญาเพื่อดึงใจให้กลับเข้ามานั่งสมาธิให้ได้ ไม่เช่นนั้นใจก็จะไปคิดถึงคนนั้น ห่วงคนนั้น คิดถึงคนนั้น เสียอกเสียใจกับคนนั้นที่เขาจากไป คิดถึงอดีตที่แสนหวานอะไรไปต่างๆ นานา ก็จะไม่มีกระจิตกระใจที่จะมานั่งสมาธิ ก็ต้องสอนใจว่า เขาไปแล้ว เขาไม่เที่ยง ห้ามเขาไม่ได้ ให้เขากลับมาไม่ได้แล้ว ไปนั่งคิดก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร พอใจเห็นด้วยปัญญาก็หยุดคิด หยุดคิดถึงเขาได้ ก็กลับมานั่งสมาธิได้


ธรรมะหน้ากุฏิ & สนทนาธรรมบนเขา
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 พฤษภาคม 2564 16:16:28
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/84086974379089_164143043_3815151138522809_855.jpg)

หนังสือที่นักปฏิบัติต้องอ่าน
ถาม: เขาไปนั่งสมาธิที่หน้าผากันนี่ เขาไปนั่งกลางวันหรือกลางคืนครับ
พระอาจารย์: ได้ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เป้าหมายก็คือเพื่อไม่ให้ง่วง ธรรมดาคนบางคนขี้ง่วง นั่งก็จะสัปหงก เขาเลยให้ไปนั่งที่หน้าผา ถ้าสัปหงกหัวมันจะได้ทิ่มลงไป ไปเพื่อให้ฝึกสติขึ้นมา บางคนก็ไปนั่งสมาธิแถวที่มีทางเสือผ่าน เห็นรอยเท้าเสือตรงไหนก็ไปนั่ง พอคิดถึงเสือมันจะมานี่มันหายง่วง อันนี้เป็นอุบายวิธีแก้ความง่วง แต่ไม่รู้นะว่ามีคนตกเหวตายรึเปล่า ไม่มีใครมาเล่าให้ฟัง ถ้าตายก็คงไม่มาเล่าให้ฟัง แต่คงไม่มีหรอก ที่มาเล่านี้ก็มาจากหนังสือของหลวงตาที่ท่านเขียน “ปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน” ลองไปอ่านหนังสือเล่มนี้ดู ไป search หา “ปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน” ถ้าพวกเราปฏิบัติต้องอ่านเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้ดี เพราะหลวงตาท่านไปสัมภาษณ์ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ว่าท่านปฏิบัติกันอย่างไร แล้วท่านก็เอามาถ่ายทอด ทำเป็นหนังสือออกมา แต่ท่านจะไม่กล่าวถึงชื่อของอาจารย์เหล่านั้น เพราะบางท่าน ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่อยากให้คนไปรบกวน แต่องค์ที่ท่านเสียไปแล้ว บางทีท่านก็จะเอ่ยชื่อ หนังสือของหลวงตาที่น่าอ่าน ๒ เล่ม ก็คือประวัติพระอาจารย์มั่น แล้วก็ปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน สายพระอาจารย์มั่น ๒ เล่มนี้จะเป็นคู่มือของผู้ปฏิบัติ ประวัตินี้จะเน้นไปทางด้านผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติให้เกิดศรัทธา เกิดความเชื่อเรื่องธรรมต่างๆ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติแล้วนี้ อ่านหนังสือปฏิปทานี้จะเป็นคู่มือ จะมีอุบายวิธีแปลกๆ หลายวิธี วิธีฝึกสมาธิ วิธีอดอาหาร วิธีต่อสู้กับเวทนา วิธีต่อสู้กับความปวด ท่านเขียนไว้ละเอียดมาก วันนี้มีโอกาส นึกถึงได้ก็เลยแนะนำ



บุญเก่าก็เหมือนอาหารเก่า
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ การอุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับ นอกจากบุญที่ทำปัจจุบันแล้วอุทิศให้ ยังสามารถอุทิศถึงบุญที่เคยทำมาแล้ว แล้วนำมาอุทิศอีกให้ได้หรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: บุญที่อุทิศไปแล้วมันกลายเป็นบุญเก่าไปแล้ว ถ้าเป็นอาหารก็เป็นอาหารเก่าไปแล้ว กลัวเขาจะไม่รับละสิ เขาอยากจะรับอาหารใหม่ เวลาใครเขาให้อาหารเรา เราก็อยากจะกินอาหารใหม่ อาหารเก่านี่เขาไม่อยากจะกิน งั้นถ้าอยากอุทิศบุญก็อย่าขี้เหนียวเลย ก็ไปทำบุญสิ ทำบุญใหม่ แล้วก็อุทิศไปดีกว่า



อวิชชาเป็นตัวความหลง
ถาม: หลวงตามบัวเคยพูดคำหนึ่งว่า อวิชชานี้ช่างผ่องใสอย่างยิ่ง อันนี้ไม่เข้าใจครับว่า ในมุมปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร
พระอาจารย์: ในมุมก็คือการปฏิบัติ พอถึงขั้นสูงสุดแล้วมันจะไปเจอตัวอวิชชา แต่ก่อนหน้านั้นมันจะส่งลูกน้องมาให้เราสู้กับมัน เอาความโลภความโกรธให้มาสู้กับมัน แต่พอไปเจอที่ตัวอวิชชานี่ มันเป็นตัวความหลง ความหลงนี้มันทำให้เรา ทำให้จิตสว่างไสว ตอนนั้นจิตมันละเอียด แล้วก็ตัวหยาบๆ กิเลสต่างๆ มันหายไปหมด ถูกกำจัด เหลือแต่ตัวอวิชชา ตัวที่ละเอียด ตัวนี้มันจะสว่างไสว ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะไปติดอวิชชา ไปติดกิเลส รับใช้อวิชชา ไปรักษาปกป้อง ไม่ได้ไปฆ่ามัน
ถาม: คือถ้าผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติไปขั้นสูงๆ แล้วก็ ถ้าจะพลาดก็คือพลาดตรงนี้เลย ใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: มันก็คือถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยสอน มันก็จะหลง ไปรักไปชอบ แทนที่จะไปทำลายมัน เห็นว่ามันไม่เที่ยง ถึงแม้มันจะสว่างไสว แต่มันก็มีเวลาที่มันจะเฉาลงได้ พอเวลามันจะเฉาลง เราก็อยากให้มันสว่าง เราก็ใช้สติใช้ปัญญาคอยปลุกมันให้ขึ้นมาสว่าง ที่มันสว่างไสวก็เพราะอำนาจของสติปัญญาที่เราใช้ ในการปราบกิเลสต่างๆ พอเจอตัวสุดท้ายนี้มันกลับ แทนที่จะไปทำลายมัน ก็กลับไปรักไปปกป้องมัน ไปรักษามัน อย่างหลวงตาท่านก็เคยพูดว่า อวิชชานี้ ตอนต้นก็คิดว่าเป็นเหมือนเสือ พอไปเจอตัวจริง ท่านบอกมันเป็นเหมือนนางบังเงา รู้จักนางบังเงาไหมพวกโสเภณีไง โสเภณีที่เขายืนอยู่ข้างหลังบังเงาไว้ มันสวยมันน่ารัก มันไม่น่ากลัวเหมือนเสือ ตัวความโกรธความโลภ แทนที่จะไปกลัว กลับไปรักไปชอบมัน ไปเป็นเพื่อนกับมัน แทนที่จะทำลายมัน สู้มัน กลับไปรับใช้มัน ไปปกป้องรักษาให้มันสว่างอยู่เรื่อยๆ



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 มิถุนายน 2564 13:51:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/31788926530215_186510190_4021861151185139_387.jpg)

ดูที่สติเป็นหลัก
ถาม: การอดอาหาร อดก็ได้ไม่อดก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ใช่ไหมคะพระอาจารย์ หรือว่าให้เราฝึกไว้
พระอาจารย์: คือดูผลของการปฏิบัติ  ไม่ใช่ดูที่กำลังของร่างกาย ดูที่ความสงบ ดูที่สติเป็นหลัก อันไหนมันดีกว่ากัน สติอย่างไหนจะดีกว่ากัน อดอาหารหรือไม่อดอาหารนี้ สติอย่างไหนจะดีกว่ากัน จิตสงบ อย่างไหนสงบมากน้อยกว่ากัน ไม่ต้องไปดูที่ร่างกาย ร่างกายไม่ได้เป็นตัวที่เราต้องการวัดผล ดูบ้างก็ได้ ไม่ต้องดูก็รู้ ก็กินก็ต้องไม่ดีกว่าไม่กิน ร่างกาย แต่จิตมันเราต้องการจะรู้ มันสงบ อย่างไหนมันสงบกว่ากัน สติอย่างไหนดีกว่ากัน ปัญญาอย่างไหนดีกว่ากัน การทำงานของสติ สมาธิ ปัญญา เวลาอดกับไม่อดนี้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน
 


เวลาใกล้ตายนึกถึงพระพุทธเจ้าจะไม่ตกนรกจริงไหม
ถาม: พูดถึงเวลาใกล้ตายค่ะ มีคนบอกว่าถ้า ๑๕ นาทีก่อนที่เราจะตายนี่ ให้นึกถึงพระพุทธเจ้า แล้วจะไม่ตกนรก หนูก็เลยสงสัยว่าคนเรานี่ เวลาทำบุญมาเป็นร้อยครั้งพันครั้ง แต่ไม่ได้ปลาบปลื้มในบุญนั้น จำบุญไม่ได้ทั้งหมด แต่ทำบาปสองสามครั้ง แต่จำบาปได้ติดตาติดใจ อันนี้เราจะตกนรกหรือว่าขึ้นสวรรค์เจ้าคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่หรอก มันอยู่ที่ปริมาณบุญกับบาปที่เราสะสมไว้ในใจเรา มันจะเป็นตัวที่จะมาตัดสินว่าเราจะไปทางอบาย หรือไปทางสวรรค์ ถ้าบุญที่เราสะสมไว้มันมีมากกว่าบาป มันก็จะไปสวรรค์ ถ้าบาปมันมีมากกว่าบุญ มันก็จะไปอบาย งั้นไม่ต้องกังวล ไม่ต้องมารอช่วง ๑๕ นาทีสุดท้ายหรืออะไรนี่แหละ มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดีสิ ทำบาปมาทั้งชาติ แล้วก็มานั่งพุทโธ ๑๕ นาที มันเหมือนบัญชีเงินฝาก กับบัญชีเงินกู้อย่างนี้ เวลาเราทำบุญก็เหมือนเราเอาเงินเข้าธนาคารฝาก เวลาเราไม่มีเงินใช้เราก็ไปกู้ธนาคารมาใช้ แล้วเวลาเขามาคิดบัญชี เราก็ดูว่าบัญชีเงินฝากกับเงินกู้ อันไหนมีมากกว่ากัน ถ้าเงินฝากมากกว่า เราก็ไม่เจ๊ง เราก็ยังกำไรอยู่ ถ้าเงินกู้มากกว่าเงินฝาก ก็แสดงว่าเราเจ๊งแล้ว ล้มละลายแล้ว ก็แบบเดียวกันนั่นแหละ
 


การบวชที่แท้จริงบวชที่ใจไม่ได้บวชที่ร่างกาย
ถาม: กราบนมัสการเจ้าค่ะ ขอสอบถามว่า อริยบุคคลตั้งแต่อนาคามีขึ้นไปนั้น ต้องบวชอยู่ในเพศบรรพชิต เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ
พระอาจารย์: คือความจริงเป็นพระอริยะนี้ก็ถือว่าเป็นนักบวชแล้ว คือการบวชที่แท้จริงนี้บวชที่ใจไม่ได้บวชที่ร่างกาย งั้นคนมักจะเข้าใจผิดว่าจะต้องบวชทางร่างกาย พวกที่บวชทางร่างกายแต่ไม่ได้เป็นพระอริยะก็ไม่ได้เป็นพระอริยะ งั้นการบวชทางร่างกายไม่มีผลต่อทางจิตใจ แม้กระทั่งเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องบวชภายใน ๗ วัน ตามที่คิดกัน มีคนไปกุข่าวว่าใครเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ได้บวชภายใน ๗ วัน จะต้องตาย ความจริงไม่ตาย มันคนละเรื่องกันนะ พระอรหันต์กับเรื่องของความตายมันไม่เกี่ยวกัน ความตายพอถึงเวลามันก็ตาย เวลามันหมดลมหายใจ มันก็ตาย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น มันก็ตาย มันไม่เกี่ยวกัน พอดีมันมีเรื่องที่มันทำให้ไปคิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่น พ่อของพระพุทธเจ้าก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนตาย ก็เลยคิดว่านี่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้บวช เป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องตาย ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วัน ก็ต้องตาย แต่ความจริงท่านตายเพราะโรคภัยไข้เจ็บ ท่านประชวรหนัก พระพุทธเจ้าไปโปรด ไปแสดงธรรมให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เลยไปคิดว่าเป็นฆราวาส แล้วพอเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่ได้บวชภายใน ๗ วันนี้จะต้องตาย อันนี้เป็นการเข้าใจผิด รับประกันได้ว่าไม่ตาย มีแต่กิเลสที่จะตาย เท่านั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วกิเลสตายแน่ๆ แต่ร่างกายนี้มันอยู่ที่บุญกรรม อยู่ที่เหตุการณ์ต่างๆ ถ้าถึงเวลามันจะตาย เป็นอรหันต์หรือไม่เป็นอรหันต์มันก็ตายเหมือนกัน
 


เห็นกายในกายคืออะไร
ถาม: คำว่า เห็นกายในกายคืออย่างไรครับ ต้องทำอย่างไรครับ ถึงจะเห็นกายในกาย กายที่เห็นในกายคือกายอะไรครับ
พระอาจารย์: ก็ร่างกายของเรานี่แหละ คือกายในกาย ที่เห็นว่ามันมีอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก มันไม่ได้เป็นแท่งทึบเหมือนอย่างที่เราคิดกัน ร่างกายเราภายใต้ผิวหนัง ภายใต้เนื้อก็ยังมีโครงกระดูก มีตับ มีไต มีปอด มีหัวใจ มีอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าเห็นกายในกาย แล้วก็ไม่ใช่กายของเราอย่างเดียว กายของคนอื่นก็เหมือนกัน ทั้งเขาทั้งเรา ร่างกายเหมือนกัน แล้วก็เห็นว่ามันแก่ มันจะต้องแก่ มันจะต้องเจ็บ มันจะต้องตาย กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟไป นี่เรียกว่าเห็นกายในกาย
 


ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง
ถาม: ด้วยสถานการณ์โควิด โยมต้องอยู่บ้าน และขณะเดียวกัน ลูกสาวต้องออกไปทำงานข้างนอก ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมทุกวัน ทำไมถึงยังมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง เพราะห่วงลูก แต่บางทีก็วางได้ สลับกันไปมา เราควรสอนจิตอย่างไรเพื่อให้ปล่อยวาง และพ้นทุกข์ได้เจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง อนิจจัง ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ก็สอนให้เราหมั่นคิดอยู่เรื่อยๆ ว่า เกิดมาแล้วย่อมมีความแก่ความเจ็บความตายเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปไม่ได้ ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ให้พิจารณาอยู่เนืองๆ แล้วใจก็จะปล่อยวาง จะไม่ทุกข์ไม่กังวลกับเหตุการณ์ต่างๆ
 


นิยามของคนดี
ถาม: คนดีมันคือสิ่งที่คนสมมุติขึ้นมาในสังคมนั้นถือว่าเป็นคนดี ถ้าไม่ใช่คนดีคือคนไม่ดี หรือว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงขอรับ
พระอาจารย์: อ๋อ คำว่าคนดีนี้เขามีนิยาม เขามีความหมายของคำว่าดี คนดีก็คือคนที่มีความสุขมีความเจริญในตัวเอง เช่น มีความสุขในใจ มีความสุขในกาย มันก็เป็นของดีเพราะทุกคนต้องการความสุข งั้นคนที่มีความสุขความเจริญก็เรียกว่าเป็นคนดีในระดับหนึ่ง และดีมากกว่านั้นก็คือคนที่ทำคุณทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้สุขได้เจริญตามเขา เราก็ยกย่องเขาว่าเป็นคนดี ในทางตรงกันข้าม คนที่ไปทำให้ผู้อื่นเขาเสียหายเดือดร้อน เราก็นิยามว่าเป็นคนไม่ดี  เพราะว่าไม่มีใครอยากจะเสียหายเดือดร้อน ไม่มีใครอยากทุกข์ งั้นมันก็ดีหรือไม่ดีนี้ ก็ตั้งอยู่ที่คำว่า “สุข” หรือ “ไม่สุข” นั่นเอง การกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมาเราก็เรียกว่าดี การกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์เราก็เรียกว่าไม่ดี ไม่ได้เป็นสิ่งที่สมมุติ เป็นเรื่องความจริง
 


สัปปายะ ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณา
ถาม: ถ้าอากาศร้อนมันก็สงบค่อนข้างยากค่ะ พระอาจารย์ อากาศดีมันสงบง่ายค่ะ
พระอาจารย์: ใช่ อากาศก็มีส่วน ที่เรียกว่า “สัปปายะ” ผู้ปฏิบัติบางทีต้องเลือกสถานที่ที่เหมาะกับตน บางคนชอบอากาศร้อนก็ไปอยู่ที่อากาศร้อน บางคนชอบอากาศหนาวก็ไปอยู่ที่อากาศหนาว การภาวนามันก็จะมีผล ทำให้สนับสนุนหรือต่อต้านการปฏิบัติของเราได้ มีอยู่สี่ห้าอย่าง เขาเรียกสัปปายะ อาหารสัปปายะก็เหมือนกัน ก็ต้องกินอาหารที่ถูกกับเรา ถ้าไปกินอาหารที่ไม่ถูกกับเราก็กินไม่อิ่มไม่พอ มันก็อาจจะกลายเป็นนิวรณ์ขึ้นมาได้ กลายเป็นอุปสรรค บุคคลสัปปายะก็ ถ้าไปอยู่กับกลุ่มของคนที่เขาไม่ปฏิบัติ เขาก็ชวนเราไปดูหนังฟังเพลง อย่างนี้ เราก็ต้องเลือกกลุ่ม คนที่ชวนเราไปปฏิบัติ คนสัปปายะ สถานที่เอง สัปปายะก็ที่สงบหรือไม่สงบ วิเวกหรือไม่วิเวก ที่บ้านกับที่วัด สถานที่ปฏิบัติธรรม ต่างกัน สัปปายะต่างกัน อากาศสัปปายะ มีสี่ห้าอย่าง เรียกว่าสัปปายะ ผู้ปฏิบัติก็ต้องพิจารณา เพราะว่ามันมีส่วน มีผลกระทบต่อการปฏิบัติของเรา
 


การทำลายกิเลสน้อยใหญ่
ถาม: การทำลายกิเลสน้อยใหญ่ ต้องตั้งใจกำจัดทีละตัวหรือว่าเจริญศีล สมาธิ ปัญญาไปเรื่อยๆ เจ้าคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องทำทั้ง ๒ ส่วน เครื่องมือเราก็ต้องเพิ่มให้มันมีกำลังมากขึ้น กิเลสตัวไหนที่เราฆ่ามันได้ก็ต้องฆ่ามันไปเวลามันโผล่ขึ้นมา เราไม่ต้องไปไล่ฆ่ามันหรอก รอให้มันเข้ามาหาเรา รอให้มันโผล่ขึ้นมา เดี๋ยวอยากไปเที่ยวก็ฆ่ามัน เดี๋ยวอยากจะดูหนังก็ฆ่ามัน ถ้าฆ่าไม่ได้ก็แสดงว่าเครื่องมือเรามีกำลังไม่พอ เราก็ต้องมาเพิ่มกำลังของเครื่องมือ เพิ่มศีล เพิ่มสมาธิ เพิ่มปัญญาให้มากขึ้น ต้องทำทั้ง ๒ ส่วน สร้างเครื่องมือแล้วก็ทำลายกิเลสข้าศึกศัตรู ทำไปพร้อมๆ กัน ควบคู่กันไป
 


เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม
ถาม: หากเรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วเราเดินทางไปในที่ต่างๆ กับคนอื่น เขากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ แล้วเราไม่ได้ไหว้ จะมีผลกับชีวิตเราหรือไม่คะ
พระอาจารย์: อ๋อ เราก็จะกลายเป็นแกะดำไปเท่านั้น เราก็อย่าไปกับเขา เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ก็ทำเป็นกิริยาไปเท่านั้นเอง ไม่ให้เสียมรรยาท แต่ยังไงเราก็เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นครูเป็นอาจารย์ของเราไป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ท่านก็ไม่ห้ามเราไปกราบไหว้คนนั้นคนนี้ ท่านก็สอนให้เรากราบบูชา “ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง” การบูชาบุคคลที่สมควรกับการบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่ง เช่น บูชาบิดามารดา ปู่ย่าตายาย บูชาครูบาอาจารย์ต่างๆ ทางโลกก็กราบครูบาอาจารย์ได้ ครูสอนชั้นประถมก็กราบท่านได้ สอนชั้นมัธยมก็กราบท่านได้ เพราะท่านเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา เป็นผู้มีพระคุณกับเรา พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้าม กลับส่งเสริมให้ทำ งั้นเวลาเราไปที่ไหนเขากราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็กราบกับเขาไป ก็เท่านั้นเอง เราไม่เชื่อ เราก็อย่าไปลบหลู่ การไม่ทำอาจจะเป็นเหมือนกับเป็นการลบหลู่ งั้นก็อย่าไปดีกว่า ไปแล้วก็จะทำให้คนอื่นเขาเสียความรู้สึก แล้วก็อาจไม่อยากที่จะชวนเราไปไหนอีกต่อไป ชวนคนนี้ไปทีไรมันชอบไปทำวงแตกเรื่อย
 
 

ใช้หลักธรรมอะไรรับมือกับภัยพิบัติ
ถาม ภัยพิบัติแต่ละตัวที่เกิดขึ้น เช่น โรคระบาด น้ำท่วมใหญ่ สึนามิ เราจะใช้หลักธรรมอันเดียวกันในการรับมือใช่หรือไม่ครับ
พระอาจารย์ ใช่ ทุกอย่างอนิจจัง ผลที่เกิดกับร่างกายก็คือต้องแก่ต้องเจ็บหรือต้องตายไป ไม่มีภัยก็แก่เจ็บตายเหมือนกันอยู่ดี ถ้าเราเห็นไตรลักษณ์แล้ว เราก็จะปลงจะวางได้ แล้วภัยต่างๆ ก็จะไม่มาสร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา
 


เราเครียดเพราะเราอยากจะไปบังคับเขา
ถาม: เราทำงานอยู่ในที่ทำงานที่มีผู้ที่ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ใส่ใจ ซึ่งงานของทุกคนย่อมมีส่วนที่เกี่ยวโยงถึงกัน เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกันเพราะในเมื่อบอกเขาก็ไม่ยอมทำ ถ้าเราทำเองเขาก็ยิ่งคิดว่าไม่เป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเราทำมากจิตใจของเราก็ขุ่นมัว เพราะเรารู้สึกว่าเราเหนื่อย แต่คนประเภทนี้กลับนั่งว่างนั่งคุยอยู่สบายๆ เพราะผมกำลังฝึกปฏิบัติธรรม เข้าใจว่าเวลาทำงานก็ควรต้องฝึกด้วยครับ ทำให้รู้สึกวางจิตได้ยาก กราบขอคำแนะนำพระอาจารย์ครับ
พระอาจารย์: ก็เราทำหน้าที่ของเราไปก็แล้วกัน เราอย่าบกพร่องในหน้าที่ของเรา ส่วนคนอื่นเขาจะบกพร่องไม่บกพร่องก็เรื่องของเขา เราห้ามเขาไม่ได้ บังคับเขาไม่ได้สั่งเขาไม่ได้ ที่เราเครียดก็เพราะเราอยากจะไปบังคับเขาไปสั่งเขา ไปให้เขาทำหน้าที่ของเขา เขาไม่ทำก็เรื่องของเขา เราไม่ได้เป็นผู้จัดการ เราไม่ได้เป็นหัวหน้า ถ้าเราเป็นหัวหน้าเราก็ไล่เขาออกไป ก็เท่านั้น แต่ถ้าเราไม่มีหน้าที่ที่จะไปจัดการกับเขา เราก็ไม่ต้องไปสนใจกับเขา เราก็ทำส่วนของเราไป ก็เท่านั้นเอง คิดว่าเราต้องรู้จักปล่อยวาง อย่าไปเอาเรื่องคนอื่นมาแบก เราไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ ไปสั่งเขาไม่ได้ เราควบคุมบังคับตัวเราดีกว่าให้เราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แล้วก็คิดว่าถ้าเราต้องทำมากหน่อยก็คิดว่าเป็นการทำบุญไปก็แล้วกัน เราจะได้มีความสุข เออ วันนี้เรากำไรเราได้ทำเกินหน้าที่ของเรา มากกว่าที่เราต้องทำ แต่เราคิดว่าเป็นการทำบุญ เราก็จะได้เกิดความสุขใจขึ้นมา
 

ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 มิถุนายน 2564 15:28:14
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17301840210954_202507744_4091377264233527_519.jpg)

ต้องกลับไปปฏิบัติใหม่
ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า เมื่อก่อนเคยปฏิบัติภาวนามาตลอด ๓, ๔ เดือน จนการนั่งสมาธิเข้าฌานได้แบบแวบเดียว พอมีที่ทำให้ห่างจากการปฏิบัติ จนตอนนี้ ความโกรธมากขึ้น ใครทำอะไรไม่ดีนิดๆ หน่อยๆ ก็โกรธ ควรทำอย่างไรดีครับพระอาจารย์
พระอาจารย์: ก็ต้องกลับไปไปปฏิบัติใหม่ ถ้าปฏิบัติก็จะมีสติ มันก็จะลดความอยากได้ ลดความโกรธได้ พอไม่มีสติความอยากมันก็เพิ่มมากขึ้น ยิ่งอยากมากก็ยิ่งโกรธมาก



ทำบุญกับพระอรหันต์จะได้บุญมากกว่าจริงไหม
ถาม: จริงไหมครับที่ทำบุญกับพระสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล พระอรหันต์จะได้บุญมากครับ
พระอาจารย์: คือบุญที่เกิดจากการเสียสละของเรานี้ ไม่ว่าจะทำกับใครก็ได้บุญเท่ากัน เช่น เรามีเงิน ๑๐๐ บาท เราไปทำบุญกับพระอรหันต์ และมีเงิน ๑๐๐ บาท แล้วไปซื้ออาหารให้สุนัขกิน บุญที่เกิดจากการทำบุญของเรานี้ได้เท่ากัน แต่สิ่งที่จะได้จากหมา จากพระอรหันต์นี้ต่างกัน ถ้าไปเลี้ยงหมา หมามันก็กระดิกหางให้เรา แต่ถ้าไปทำบุญกับพระอรหันต์ ท่านก็สอนธรรมะให้กับเรา ธรรมะนี่ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เรามีดวงตาเห็นธรรมได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ นี่อานิสงส์จากการทำบุญกับพระอรหันต์จะได้เพิ่ม ได้ธรรมะเพิ่ม ถ้าทำกับคนที่ไม่มีธรรมะ ก็จะไม่ได้ธรรมะ เท่านั้นเอง แต่ได้การเสียสละเงิน ๑๐๐ บาทของเราไป ได้บุญส่วนนั้นไป แต่บุญที่เราจะได้รับจากผู้ที่เราไปทำบุญด้วยนี่ อยู่ที่ว่าเขามีอะไรให้เราหรือเปล่า ถ้าไปทำบุญกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ท่านมีธรรมะ ท่านอาจจะพูดคำ ๒ คำ เราก็อาจจะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาเลยก็ได้



กิเลสต่างกันอย่างไร
ถาม: กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดนี่ต่างกันอย่างไรคะ จะละกิเลสพวกนี้ต้องทำอย่างไรบ้างเจ้าคะ
พระอาจารย์: มันก็เหมือนกันแหละ หยาบ กลาง ละเอียด ก็ต้องละมันเวลามันโลภก็ต้องหยุดมัน เวลาโกรธก็ต้องหยุดมัน เวลาหลงก็ต้องหยุดมัน หลงคิดว่าเราใหญ่เราโต เราเป็นศาสตราจารย์ เป็นอะไรขึ้นมา ไอ้นี่ก็เป็นความหลงสมมุติ ก็ต้องให้รู้ทัน แล้วก็ปล่อยวาง ก็มันหยาบกลาง ละเอียด ก็ไม่ต้องไปสนใจหรอก ถ้ามันโผล่ขึ้นมา ถ้ารู้ว่าพอวิตกกังวลนี้ ก็แสดงว่ากิเลสโผล่ขึ้นมาแล้ว พอกลัวนี่กิเลสก็โผล่ขึ้นมาแล้ว พออึดอัดใจนี้กิเลสก็โผล่ขึ้นมาแล้ว พอไม่สบายใจ นี่กิเลสก็โผล่ขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ว่าเราจะรู้หรือเปล่า มันตัวไหนที่โผล่ขึ้นมา ที่ทำให้เราไม่สบายใจ ทำให้เราอึดอัดใจ นี่มันมีเหตุ มันเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ต้องค้นให้เจอว่า ไอ้ตัวนี้ตัวไหนที่ทำให้เราไม่สบายใจ เราก็หยุดมันเสีย



รู้ธรรมแต่ไม่เห็นธรรม
ถาม: ทำไมเรารู้ธรรมแต่ไม่เห็นธรรม ทำไมเรารู้ทุกข์แต่ไม่เห็นทุกข์คะ
พระอาจารย์: เพราะธรรมที่เรารู้นี้เป็นชื่อของมัน ไม่ได้ตัวของมัน เหมือนไปร้านอาหารไปเปิดดูเมนูนี่ เมนูมันไม่ใช่ตัวอาหาร เป็นชื่อของอาหาร ถ้าไม่สั่งให้เขาทำอาหารมา เราก็ไม่ได้กินอาหาร งั้นการได้ยินได้ฟังธรรมนี้ เป็นเพียงได้ยินชื่อของธรรมเท่านั้นเอง ยังไม่ได้เจอตัวธรรม จะเจอตัวธรรมต้องปฏิบัติ ต้องปฏิบัติสติ สมาธิ ปัญญา แล้วตัวธรรมก็จะปรากฏขึ้นมาให้เราเห็น



อะไรเป็นหลักทางโลก
ถาม: ผมไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นหลักทางโลกเลยครับหลวงพ่อ
พระอาจารย์: ทางโลกก็เรื่องของความทุกข์สิ ก็รู้เท่านี้ อย่าพึ่งทางโลก เราก็ใช้หลักของศาสนานี่เป็นวิธีอยู่กับทางโลก ให้มีศีลมีสัตย์ มีพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้มักน้อยสันโดษ ทางโลกอย่าไปโลภมาก อย่าไปอยากรวย อย่าอยากเป็นใหญ่เป็นโต อะไร ทำหน้าที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปก็พอ เศรษฐกิจพอเพียง



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 10 กรกฎาคม 2564 15:57:49

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/45363013694683_169944641_3859738104064112_468.jpg)

ทราบได้อย่างไรว่าศึกษาพระธรรมถึงขั้นไหน
ถาม: เราอยู่ในฆราวาสแล้วนั้น ตัวเราจะสามารถทราบได้อย่างไรว่าตัวเรานั้นศึกษาพระธรรมไปถึงขั้นไหนแล้ว เช่น ขั้นพระโสดาบันแล้วหรือยัง
พระอาจารย์: อ๋อ ก็อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติได้หรือยัง การศึกษานี้เป็นการดูแผนที่ ดูแผนที่แล้วก็ต้องออกเดินทาง พอเดินทางไปถึงที่แล้วก็เปิดดูแผนที่ว่าตรงกับที่เราดูในแผนที่หรือเปล่า ถ้าตรงกันก็ถือว่าเราถึงที่นั้นแล้ว ถ้ายังไม่ตรงกันก็ถือว่ายังไม่ถึงที่ งั้นเบื้องต้นเราก็ต้องดูว่าเราทำทานได้หรือยัง หรือยังจะเอาเงินไปเที่ยวไปกินไปดื่มไปช้อปปิ้งอยู่ ถ้าอย่างนี้ก็ถือว่าเรายังทำทานไม่ได้ ไอ้ทำทานแบบวันเกิดทีปีใหม่ทีนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำทานอย่างแท้จริง ทำทานอย่างแท้จริงต้องเอาเงิน แย่งเงินของที่กิเลสจะมาใช้นี่ถึงจะเรียกว่าทำทาน อย่าปล่อยให้กิเลสเอาเงินไปใช้ แล้วเอาเงินที่เคยให้กิเลสนี้มาทำทานให้หมด
“กิเลส” ก็คือความอยากเที่ยวอยากดูอยากฟังอะไรต่างๆเหล่านี้ พออยากจะดูหนังก็เอาเงินที่อยากจะไปดูหนังนี้ไปทำบุญทำทาน คือตัดมันให้หมดความอยากต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย รูปเสียงกลิ่นรสนี่ ถึงจะเรียกว่าทำทานได้ รักษาศีลก็นี่ เรารักษาศีลได้ตลอดหรือเฉพาะวันพระ พอพรุ่งนี้ไม่ใช่วันพระก็กลับมาโกหกใหม่ กลับมาขโมยของใหม่ อันนี้ก็ถือว่ายังรักษาไม่ได้ ต้องรักษาได้ตลอดเวลาถึงจะเรียกว่าเราได้ถึงขั้นนั้นแล้ว ขั้นทานเราได้หรือยัง ขั้นศีลเราได้หรือยัง ขั้นสมาธินั่งแล้วใจเราสงบมีสติพุทโธตลอดได้หรือยัง มันจะรู้เองถ้าเราปฏิบัติแล้วเราถึงจะรู้ว่าเราได้ถึงขั้นไหนแล้ว



ปัญหาในการภาวนา
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ ศิษย์ขอโอกาสถามปัญหาในการภาวนาดังนี้ครับ เวลาเรานั่งสมาธิกำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ สักพักลมหายใจเบาลง นานๆ หายใจสักครั้งแต่ลมยังไม่ขาด ผมใช้วิธีกำหนดความนิ่งไม่ให้ตาหรือส่วนใดของร่างกายเคลื่อนไหว แต่ลมก็หายไปแป๊บเดียว แล้วก็กลับมาใหม่ ผมควรทำอย่างไรต่อไปดีครับ ถ้าผมกำหนดความนิ่งของตากับร่างกายแล้วเฝ้าดูลมหายใจไปเรื่อยๆ จะถูกต้องหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ให้ดูอย่างเดียว ดูลมได้ก็ดูลมไป พอไม่มีลมก็ดูว่าคิดหรือไม่คิด ถ้าคิดก็หยุดคิด เท่านั้นเอง
ถาม: แล้วลมหายใจจะขาดหรือไม่ กราบนมัสการด้วยความเคารพ
พระอาจารย์: อ๋อ มันไม่ขาดหรอก มันไม่ตายจากการนั่งสมาธิหรอก ไม่ตายจากการดูลม ลมมันก็ห่างไปหน่อยแล้วมันก็เบาลงไปแต่มันไม่ตายหรอก ไม่ต้องกลัว เวลานั่งสมาธินี่ดูลมไป ลมก็จะเบาลงๆ เพราะร่างกายเพราะจิตไม่ได้คิดปรุงแต่ง จิตเบาจิตสงบลง ร่างกายก็เลยทำงานน้อยลงๆ เหมือนรถยนต์นี่เวลาวิ่งกับเวลาไม่ได้วิ่งนี่ เครื่องยนต์มันจะทำงานช้าเร็วต่างกัน ร่างกายก็เหมือนกัน เวลาใจไม่คิดไม่ปรุงแต่ง ใจเข้าสู่ความสงบ การทำงานของร่างกาย การหายใจของลมก็จะเบาลงๆ ไป แต่มันไม่หยุดหายใจหรอก เพียงแต่ว่ามันนานๆ อาจจะหายใจสักครั้งหนึ่งก็ได้ เราไม่ต้องไปสนใจ ถ้าไม่มีลมให้ดูเราก็ดูความคิดว่าเราคิดอะไรรึเปล่า ถ้าคิดว่าเราจะตายหรือเปล่า ลมไม่มี ก็หยุดคิดเสียอย่าไปคิดให้รู้เฉยๆ ให้รู้อยู่กับความว่างว่าตอนนี้ไม่มีอะไรให้เราคิด ไม่มีอะไรให้เราดู ก็ให้รู้เฉยๆ ไป เดี๋ยวถ้ารู้เฉยๆ เดี๋ยวจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ มันก็จะวุ้ปลงไป แล้วก็นิ่งสบาย ไม่ต้องกังวลนะให้ดูไป ไม่มีลมดูก็ดูความว่างดูความคิดไป ถ้าคิดก็หยุดมันด้วยสติ แล้วก็ให้อยู่กับความว่างไปเดี๋ยวมันก็จะรวมเข้าสู่ความสงบต่อไป



อุทิศบุญหรืออุทิศความฟุ้งซ่าน
ถาม: ลูกสวดมนต์ไหว้พระตอนเช้าแทบทุกวัน หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้ว อุทิศส่วนบุญกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่เจ้าทาง บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำแบบนี้ได้ผลไหมเจ้าคะ แล้วที่ลูกอุทิศบุญกุศลให้บุคคลต่างๆ หลังจากสวดมนต์เสร็จ บุญส่งถึงพวกเขาไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์: บุญที่เกิดจากการปฏิบัตินี่ มันเป็นบุญที่ยากที่จะเกิดไง เพราะเป็นเหมือนกับการปลูกต้นไม้ ปลูกต้นไม้วันนี้มันไม่ได้ทำให้เกิดออกดอกออกผลทันที ปลูกต้นทุเรียนนี้กว่าจะได้ลูกทุเรียนนี้ตั้งหลายปีด้วยกัน งั้นถ้าจะอุทิศบุญให้มันรวดเร็วทันใจแล้วนี่ อุทิศด้วยการทำทาน ใส่บาตรอย่างนี้ ถวายสังฆทาน ทำบุญ พอทำปุ๊บนี่ได้เห็นผลปั๊บ ผลมันเกิดขึ้นทันที อุทิศได้ทันที แต่บุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิ จากการสวดมนต์นี้ยังเป็นการปลูกต้นไม้อยู่ มันยังไม่ออกดอกออกผล มันยังไม่ได้เป็น ยังไม่ได้รับระดับผลของมัน เป็นเพียงการก่อ เป็นการสร้าง เป็นการปลูกฝัง เขาไม่นิยมกันถ้า ถ้าอยากจะอุทิศบุญ อุทิศกุศลนี้ต้องทำด้วยการทำทาน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำทาน อุทิศไป แต่ก็ไม่ห้าม ไหว้พระสวดมนต์เสร็จ นั่งสมาธิ อยากจะอุทิศก็อุทิศไป แต่ไม่รู้ที่อุทิศเป็นอะไรก็ไม่รู้ อุทิศบุญหรืออุทิศความฟุ้งซ่านไปก็ไม่รู้ เพราะสวดมนต์ไปอาจจะคิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้ วุ่นวายกับเรื่องนั้น วุ่นวายกับเรื่องนี้ มันก็จะอุทิศเรื่องนั้นไปให้กับเขา



นิมนต์พระนำคนตายกลับบ้าน
ถาม: คนที่ตายที่โรงพยาบาล แล้วนิมนต์พระนำกลับวัดหรือบ้านคนตาย เขาจะกลับได้จริงไหมครับ
พระอาจารย์: อ๋อ เขาไปตามวาระของเขาแล้ว เขาไปเป็นเทวดาไปเป็นเปรตแล้ว หรือไปเป็นอะไรแล้ว งั้นที่ทำนี้เพียงแต่ไปเอาร่างกาย เท่านั้นเอง เพื่อความสบายใจของคนเป็น ของคนที่ยังมีอยู่ เพราะตามความเชื่อว่าต้องมีพระมาดึงกลับไป แต่พระดึงไม่ได้หรอก มันเรื่องของกรรม กฎแห่งกรรม ไม่มีใครเหนือกรรม พอร่างกายนี้ตายปั๊บนี่ จิตนี้ถูกกรรมเป็นผู้จัดการ เท่านั้นเอง เรามีกรรมเป็นของๆตน เป็นผู้รับผลของกรรม จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น งั้นกรรมก็จะจัดสรรทันทีให้เราเป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน ไปเป็นเทวดา หรือไปเป็นพระอริยะ แล้วแต่กรรมที่เราสร้าง



สี่เท้ายังรู้พลาด..นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
ถาม: แฟนผมทำผิดศีลข้อ ๓ เขาสำนึกได้แล้วก็มาพูดความจริงกับผมครับ และตั้งสัจจะว่าจะรักษาศีลข้อนี้ตลอดชีวิต และรอวันให้ผมให้อภัย ผมเพิ่งรับรู้จากปากของเขา เขามีความทุกข์มาก ไม่รู้จะบอกให้เขาคลายทุกข์ได้อย่างไรครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ก็บอกเขาว่าเราให้อภัยเขาแล้ว เราไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ยอมรับว่าคนเราผิดพลาดได้ สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วสองเท้าอย่างเราทำไมจะทำความผิดไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าผิดแล้วมีความสำนึกผิดนี่ก็ถือว่าดี มีโอกาสที่จะแก้ไขได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังให้มากว่า นี่แหละคือผลของการกระทำผิดเป็นอย่างไร ทำผิดแล้วก็ทำให้ทุกข์มาก ถ้าไม่อยากทุกข์ต่อไปก็อย่าทำอีก



วิบากกรรมจะกลับมาสนองตัวเขาเอง
ถาม: คนที่แชร์หรือล้อเลียนพระพุทธศาสนา และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเหล่านี้จะบาปไหมครับ ผมเห็นแล้วเกิดความไม่พอใจสักเท่าไหร่
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่บาปหรอก เขาเป็นพวกบัวใต้น้ำ บัวที่อยู่โคลนตม พวกนี้จะไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ เพราะว่าไม่มีศรัทธาในผู้รู้อย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะอยู่กับความหลง อยู่กับความมึนเมาต่างๆ ก็เลยจะทำอะไรตามความรู้สึกนึกคิดของตน อยากจะล้อเลียนใคร อยากจะดูถูกดูแคลนใครก็ทำไป แล้วเดี๋ยววิบากกรรมเขากลับมาสนองตัวเขาเอง ทำอะไรอย่างใด ก็จะต้องถูกเขากลับมาทำอย่างนั้นต่อไป



จิตสุดท้ายมันไม่มี..เป็นลมหายใจสุดท้ายมากกว่า
ถาม: ตอนจิตสุดท้าย  ควรจะทำจิตไว้อย่างไรคะ
พระอาจารย์: จิตสุดท้ายมันไม่มีหรอก จิตมันไม่มีสุดท้ายหรอก เป็นลมหายใจสุดท้ายมากกว่า ก็ปฏิบัติเหมือนกับที่เราปฏิบัติ พยายามควบคุมจิต อย่าไปให้ตื่นเต้นตกใจ เท่านั้นเอง ร่างกายมันจะเป็นอะไรก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรา เราเป็นจิต เราก็รักษาให้มันเป็นปกติเหมือนกับที่คุยกันตอนนี้แหละ เท่านั้นเอง ไม่ต้องไปตื่นเต้นตกใจกลัว ถ้ามันตื่นเต้นก็ต้องใช้สติ พุทโธ หรือใช้ปัญญาสอนมัน บอกว่า มันไม่เป็นอะไร เหมือนคนดูหนัง ดูหนังไปตื่นเต้นกับหนังทำไม เท่านี้เอง ไม่มีอะไร ทีนี้ความหลงมันไปคิดว่าเราเป็นร่างกาย พอร่างกายจะตาย เราก็คิดว่าจะตายไปกับร่างกาย ก็หวาดกลัว ไม่อยากตาย ยิ่งไม่อยากตายยิ่งทุกข์ยิ่งเครียดใหญ่ ความทุกข์เกิดจากความไม่อยากตายนี้ งั้นมาฝึกทำใจให้เฉยๆ ไม่อยากตาย ไม่อยากอยู่ ได้ทั้ง ๒ อย่าง เพราะไม่ใช่เรา ร่างกายมันจะอยู่ก็ปล่อยมันอยู่ไป จะตายก็ปล่อยมันตายไป เราไปควบคุมบังคับมันไม่ได้ มันเป็นอนัตตา เราคือจิตผู้รู้ ก็รู้ตามความเป็นจริง แล้วก็ปล่อยวาง เท่านั้น



ทำไมพระพุทธเจ้าอยากหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารคะ
ถาม: ทำไมพระพุทธเจ้าถึงอยากหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเจ้าคะ
พระอาจารย์: เพราะพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าการเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นทุกข์นั่นเอง ไม่มีใครอยากจะทุกข์ มันก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นเพราะว่ามองไม่เห็นทุกข์ ยังคิดว่ายังเป็นความสุขอยู่ ยังคิดว่าเกิดมาแล้ว จะได้มีความสุขจากการสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส จะได้มีความสุขกับลาภยศสรรเสริญ สุขชนิดต่างๆ แต่ลืมมองไปว่า นอกจากความสุขในโลกนี้แล้ว มันก็มีความทุกข์ที่เป็นเงาตามตัวตามมาด้วย คือความทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากกัน หรือการพบกับสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเจอคนที่เราไม่ชอบ เจอสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่น เจอคำด่า คำอะไรต่างๆ
มันก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น หรือพลัดพรากจากของที่เรารักก็ทุกข์ พอเรารักอะไร พอเขาจากเราไปก็ทุกข์ ทำให้ร้องห่มร้องไห้ คนที่ไม่มีปัญญาจะมองไม่เห็นทุกข์อันนี้ เห็นแต่สุขอย่างเดียว อย่างพระพุทธเจ้านี่ ทรงเห็นทั้ง ๒ ด้าน สุขก็เห็น แล้วก็เห็นทุกข์ที่เป็นเหมือนเงาตามตัวความสุขมาด้วย จึงทำให้พระพุทธเจ้าไม่อยากจะกลับมาเกิดอีกต่อไป



พุทโธมีความหมายอย่างไร
ถาม: คำว่าพุทโธมีความหมายอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรในการบริกรรมครับ
พระอาจารย์: คำว่า “พุทโธ” ก็คือไม่ให้คิดไง ให้ท่องพุทโธเพื่อจะได้ไม่คิด เท่านั้นเอง ให้รู้แค่นี้ก็พอ การปฏิบัติไม่ต้องรู้มากไปกว่านั้น ความคิดของเรานี่มันเป็นภัยกับเรานะ เป็นหอกทิ่มแทงใจเราอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ก็เพราะความคิดของเรานี่เอง ไม่ใช่คนอื่นทำให้เราเศร้าโศกเสียใจ เราเป็นคนไปคิด มันเลยทำให้เราเศร้าโศกเสียใจ พอเราไม่ไปคิด ความเศร้าโศกเสียใจก็หายไป
ดังนั้น คำว่าพุทโธคือไม่ให้คิด ให้รู้เฉยๆ ผู้รู้ พุทโธคือผู้รู้ ให้รู้ เรามี ๒ ส่วน เรามีผู้รู้กับผู้คิด เรามักจะเอาผู้คิดออกมานำหน้า ผู้รู้อยู่ข้างหลัง ผู้คิดมันก็เลยมาทิ่มแทงหัวใจเราอยู่เรื่อยๆ พอเราหยุดผู้คิดได้ก็เหลือแต่ผู้รู้ ผู้รู้ก็รู้เฉยๆ ใครด่าก็รู้เฉยๆ ใครชมก็รู้เฉยๆ ไม่ต้องคิด เท่านั้นเอง แล้วอารมณ์ต่างๆ ก็จะหายไป ใจก็จะว่างจะเย็นจะสบาย งั้นขอให้รู้ว่าท่องพุทโธเพื่อไม่ให้คิด ไม่ต้องไปรู้ความหมายของพุทโธ พุทโธก็แปลว่าผู้รู้ไง ผู้รู้คือพุทโธ พระพุทธเจ้าก็คือผู้รู้ด้วยตนเอง รู้ธรรม รู้แสงสว่างแห่งธรรมด้วยตนเอง ก็เรียกว่า อรหันตสัมมาสัมพุทโธ เท่านั้นเอง คำว่าพุทโธแปลว่าผู้รู้ ใจเรานี้มี ๒ ส่วน มีผู้รู้กับผู้คิด แต่ผู้รู้นี้ถูกผู้คิดนำหน้าอยู่ตลอดเวลา ก็เลยมีแต่เรื่องวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา พอเราหยุดผู้คิดได้ปั๊บ ผู้รู้ก็จะนำหน้า ผู้รู้ก็จะรู้เฉยๆ ใครจะด่าก็รู้ ใครจะชมก็รู้ แต่ไม่ไปคิดว่าเขาด่าเขาชมเรา ก็คิดว่าเป็นเสียงไป เป็นแค่เสียง เท่านั้นเอง เสียงด่าก็เสียง เสียงชมก็เสียง แต่พอไปแปลความหมายปั๊บนี้ มันก็เลยกลายเป็นเรื่องด่าเรื่องชมขึ้นมา นี่เวลาเราฟังเสียงนกนี่ เรารู้ว่ามันด่าเราหรือชมเราหรือเปล่า รู้ว่าเป็นเสียงนกใช่ไหม แล้วเป็นยังไง สบายไหม ฟังเสียงนกแล้วสบาย ถึงแม้มันจะด่าเรา เราก็สบาย ใช่ไหม เพราะเราไม่ไปคิดว่ามันด่าเรา ใช่ไหม เข้าใจไหม เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่าเขาด่าเรา คิดว่าเป็นเหมือนเสียงนกร้อง เสียงด่าเสียงชมก็เหมือนเสียงนกร้อง เราไม่รู้ว่าเขาด่าหรือเขาชม ถ้ารู้ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไป ทำได้หรือเปล่า ปัญหาคือเราทำใจให้ไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้ เท่านั้นเอง ต้องรักชังกลัวหลงขึ้นมาทันที งั้นต้องมาฝึกใจใหม่ ให้รู้เฉยๆ ให้สักแต่ว่ารู้ อย่าให้ความคิดมาหลอกเราว่าเป็นนู่นเป็นนี่ มันเป็นเพียงความคิดเท่านั้น ความจริงมันเป็นแค่เสียง แต่เราไปว่าเสียงดีเสียงไม่ดี เสียงไพเราะเสียงหยาบ เสียงอะไร เป็นสมมุติไปหมด พวกนี้เป็นสมมุติ ความจริงมันเป็นแค่เสียง เหมือนเสียงลมพัดนี่ มันก็เสียง เสียงนกร้องก็เสียง ทำไมเสียงลมพัด เสียงนกร้องไม่ทำให้เราปวดร้าวในจิตใจ พอเสียงด่าคำเดียวเท่านั้น “อีหอกนี่” ปวดร้าวไปทั้งวันทั้งคืน นะ นี่คือปัญหาของความคิด ถึงต้องใช้พุทโธพุทโธ จะได้หยุดความคิดซะที ให้รู้เฉยๆ นะ โอเค



เข้ากระแสนิพพานมีลักษณะอย่างไร

ถาม: การเข้ากระแสนิพพานมีลักษณะอย่างไรคะ
พระอาจารย์: อ๋อ ใจมันรู้เองล่ะ นี่เล่าไม่ได้ สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น พอมีดวงตาเห็นธรรมมันก็รู้เอง พอสิ่งใดมีการเกิดขึ้น ก็มีการดับไป เช่น ผัวทิ้งเราปั๊บ อ้อ สิ่งใดเกิดขึ้น ก็มีการดับไป ไม่เดือดร้อน นี่ถึงจะเข้ากระแสนิพพานแล้ว ถ้ายังร้องห่มร้องไห้ยังโกรธเกลียดเคียดแค้นอยู่ก็ยังไม่เข้ากระแสนิพพาน



พระพุทธเจ้าสอนวิธีการดับทุกข์อย่างไร
ถาม: ผมยังไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติครับ ว่าปฏิบัติอย่างไรนะครับ ผมเลยมีคำถามที่จะมาถามพระอาจารย์ว่า พระพุทธเจ้าสอนวิธีการดับทุกข์อย่างไรครับ
พระอาจารย์: ดับด้วยสติกับปัญญาไง ตอนที่เราไหว้พระสวดมนต์นี่เรากำลังฝึกสติ คือคอยควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ เวลาเราสวดมนต์เราก็ต้องมีสติอยู่กับการสวดมนต์ ไปคิดถึงแฟน ไปคิดถึงเพื่อนไม่ได้ คิดถึงที่เที่ยวที่เล่นไม่ได้ ถ้าไม่คิดถึงมัน มันก็ไม่มีความอยากจะไปเที่ยว อยากจะไปเล่น
ถาม: แล้วเราจะมีวิธีการหลุดพ้นอย่างไร ครับ
พระอาจารย์: ก็นี่แหละ ก็ขั้นต้นให้มีสติเพื่อจะได้นั่งสมาธิ นั่งสมาธิพอจิตสงบ เราจะได้พบกับความสุขแบบที่ดี แบบที่ไม่ต้องใช้ร่างกาย ไม่ต้องใช้ตาหูจมูกลิ้นกาย เราก็จะได้ตัดการไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ พอเราไม่ต้องใช้ร่างกาย เราก็ไม่ต้องกลับมาเกิด ไม่ต้องมีร่างกายอีกต่อไป
ถาม: ถ้าคนที่ยึดมั่นถือมั่นนี่ ในหลักคำสอนของศาสนานี้ จะไม่ถือว่าติดกับคำสอนหรือครับ
พระอาจารย์: ติดไม่เป็นไรไง ถ้าไม่ติดมันก็ไปไม่ได้ คำสอนมันเป็นของมีประโยชน์ เหมือนยา คนไข้ก็ต้องติดยา ต้องกินยา ไม่กินยามันก็ไม่หาย นี่จะไปนิพพานก็ต้องติดคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่พอไปถึงนิพพานแล้ว ก็ทิ้งได้ ไม่ต้องติด คนหายไข้แล้วก็ไม่ต้องกินยา
ถาม: อ๋อ หมายความว่าหลักคำสอนคือ หนทางแห่งการหลุดพ้นใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: ใช่ ใช่ เหมือนแผนที่ไง ถ้าไม่มีแผนที่ ก็เดินทางไม่ถูกว่าจะไปทิศไหน ใช่ไหม แต่พอคุณถึงจุดหมายปลายทางแล้ว คุณก็เก็บแผนที่ไว้ ไม่ต้องกางแผนที่ดู ตอนนี้ยังต้องยึดหลักธรรมคำสอนอยู่ เพราะว่าเรายังไม่พ้นทุกข์ ทุกข์ยังไม่ดับยังไม่หมด แต่พอหายทุกข์แล้ว ทีนี้ก็เอาธรรมะคำสอนเก็บไว้ในลิ้นชักได้ ไม่ต้องนำเอามาใช้
ถาม: เป็นคำถามที่คาใจ ขอบคุณมากครับพระอาจารย์
พระอาจารย์: ตอนนี้ต้องยึดติดให้ได้นะ อย่าทิ้ง เพราะเรายังรักษาไม่ได้ เรายังดับความทุกข์ไม่ได้ เราต้องอาศัยธรรมะคำสอน โอเคนะ]


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 กรกฎาคม 2564 19:28:44
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13223379560642_227071446_372741867567309_5006.jpg)

พิจารณาขันธ์ ๕
คำถาม: พิจารณาขันธ์ ๕ จะต้องถอยจิตที่สงบให้อยู่ในสมาธิระดับใดครับ
พระอาจารย์: อ๋อ ระดับปกติ คือระดับที่จิตสามารถคิดปรุงแต่งได้เหมือนตอนนี้ เพียงแต่ว่าถ้าจิตที่ไม่มีสมาธินี้ จะเป็นจิตที่ไม่อยู่นิ่งกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่สามารถบังคับให้มันคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องไปทำจิตให้มีสมาธิก่อน พอจิตมีสมาธิแล้วจิตจะนิ่ง ถ้าเราสั่งให้จิตคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันก็จะคิดได้นานได้ต่อเนื่อง นี่คำที่เรามักจะพูดกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันเป็นคำที่เราใช้ผิดก็คือ สมาธิ ถ้าบอกว่าวันนี้ไม่มีสมาธิในการทำงานเลย แสดงว่าจิตเราไม่ยอมอยู่กับงาน ชอบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จึงไม่มีสมาธิอยู่กับการทำงาน งั้นเราต้องฝึกสมาธิให้จิตนิ่ง ให้สงบให้ได้ก่อน พอเราได้สมาธิแล้ว เราก็จะเอาสมาธินี้มาใช้กับการทำงานต่อไปได้ แต่ไม่ได้ใช้ในขณะที่อยู่ในสมาธิ ต้องออกจากสมาธิ แต่สมาธิที่เราได้มันจะทำให้จิตเรานิ่ง จิตของเราจะไม่วอกแวก จะไม่วิ่งไปวิ่งมากับเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะอยู่กับเรื่องที่เราบังคับให้มันทำเพียงอย่างเดียว



การทำบุญแบบไหนได้บุญสูงสุด
คำถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ การทำบุญแบบไหนได้บุญสูงสุดครับ
พระอาจารย์: บุญมันมี ๓ ระดับ มีทาน ศีล แล้วก็การปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าการภาวนา ก็อยู่ที่ความสามารถของเราว่า เราจะทำบุญระดับไหนได้ เพราะในแต่ละระดับนี้มันก็มีความยากง่ายต่างกัน ระดับง่ายที่สุดก็คือการทำบุญทำทาน ผลที่ได้ก็น้อยที่สุด ลำดับที่ ๒ ก็ยากกว่าการทำบุญทำทาน คือการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ถ้าทำได้ก็จะได้บุญมากกว่าการทำบุญทำทาน และลำดับที่ ๓ ก็ยิ่งยากกว่าการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ก็คือการปฏิบัติธรรม งั้นถึงแม้ว่ามันจะได้บุญมาก คือขั้นสูง แต่ถ้าเราทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปทำเลย เพราะจะไม่ได้บุญเลย เพราะกว่าจะได้บุญนี้มันอาจจะใช้เวลาหลายปีด้วยกัน ถ้าเราต้องการความสุขใจอยู่ ทำในระดับที่เราทำได้ไปก่อน แล้วค่อยพยายามฝึกในระดับที่สูงกว่า ไปก่อนจะดีกว่า คือทำบุญทำทานไป แล้วก็หัดรักษาศีล ๕ ให้ได้ก่อน รักษาศีล ๕ ได้แล้ว ค่อยรักษาศีล ๘ พอรักษาศีล ๘ ได้ ก็สามารถที่จะไปฝึกสมาธิได้ ฝึกสติได้ ปฏิบัติธรรมได้ นี่คือบุญ ๓ ขั้นที่มีความมากน้อยต่างกัน ขั้นแรกก็จะน้อยกว่าขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๒ ก็จะน้อยกว่าขั้นที่ ๓ แต่เราจะไปที่ขั้นที่ ๓ เลยไม่ได้ เหมือนกับความรู้ที่เราเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยนี้เป็นความรู้ที่สูงกว่าความรู้ระดับมัธยม ระดับมัธยมก็สูงกว่าความรู้ระดับประถม แต่เราก็ต้องไต่เต้าจากระดับประถม ไปสู่มัธยม ไปสู่ระดับปริญญาตามลำดับต่อไป



จิตเห็นไตรลักษณ์เห็นอย่างไร
คำถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ ที่ว่าจิตเห็นไตรลักษณ์นั้น เราเห็นอย่างไรครับ
พระอาจารย์: ก็เหมือนกับเราเห็นโลกนี้แบนหรือโลกนี้กลมไง เราเห็นอย่างไร สมัยก่อนไม่มีดาวเทียม ไม่มีจรวดขึ้นไปถ่ายภาพโลกให้เราดู เขาก็ต้องใช้ตรรกะสอนจิตว่าโลกนี้ไม่แบน เช่น เขาสังเกตดูว่าเวลาเรือเข้ามา สมัยก่อนเป็นเรือใบ มันจะมีใบ มีเสาธง เวลาเรือเข้ามา ถ้าเราอยู่ที่ฝั่ง เวลาเห็นเรือเข้ามานี้ เราไม่เห็นทั้งลำพร้อมกัน เราจะเห็นส่วนที่สูงก่อน คือเสาธงก่อน เห็นธงก่อน แล้วค่อยเห็นใบ แล้วค่อยมาเห็นตัวตามลำดับ นี่แสดงว่าเรือนี้วิ่งมาบนผิวที่มันโค้งเว้า เหมือนคนที่ขี่ม้าข้ามเขามานี้ เราจะเห็นอะไรก่อนเวลาเขาข้ามเขามา เราก็จะเห็นคนขี่ก่อน ถ้าเขาถือธง เราก็จะเห็นธงก่อน เห็นส่วนที่สูงก่อน เพราะพื้นผิวที่เขาเดินมาหรือขี่ม้ามานี่ มันโค้งเว้า เขาก็เลยสรุปได้ว่าโลกนี้มันไม่แบน พื้นผิวมันไม่เรียบ พื้นผิวนี่มันโค้งเว้า เพียงแต่ว้ามันใหญ่มาก เลยมันก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันเรียบ ในสายตาของเรา แต่ตามตรรกะแล้ว เราจะรู้ว่ามันโค้งเว้า ก็สรุป ถ้ามันโค้งเว้า มันก็ต้องเป็นเหมือนผลไม้ เหมือนส้ม เหมือนอะไร มันก็ต้องเป็นของกลม ไม่ใช่เป็นของแบน
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน การจะเห็นไตรลักษณ์ ก็ต้องดูสิ ไตรลักษณ์มันมี ๓ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือไม่เที่ยง เช่น บอกว่าให้ดูร่างกายว่าไม่เที่ยง ดูยังไงว่าไม่เที่ยง อ้าว ก็มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่วันเกิดมาจนถึงวันนี้ มันเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว ตอนที่เราเกิดนี้ ถ้าเราถ่ายรูปไว้ แล้วตอนนี้เราถ่ายรูปของเราวันนี้ แล้วไปเปรียบเทียบดู รูปของเราวันนี้กับรูปของเราที่เราเกิดนี้ เหมือนกันไหม ไม่เหมือนแล้ว อันนี้ก็แสดงว่ามันไม่เที่ยง ถ้าไม่เที่ยงมากกว่านี้ คือมันจะดับด้วย ไปดูเวลาคนตายกันนี่ ร่างกายเขาหายไปไหนล่ะ ร่างกายเขาเอาไปเผาก็กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป นี่คือการดูศึกษาความไม่เที่ยงของร่างกาย
ศึกษากับทุกสิ่งทุกอย่างได้ว่าไม่เที่ยง เช่น ฟองน้ำนี่เที่ยงไหม ฟองน้ำ เวลาเอาไปคนน้ำมันก็เกิดฟองขึ้นมา แล้วเดี๋ยวสักพัก ฟองเหล่านั้นมันก็แตกหายไป ไอ้นี่ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน คำว่าไม่เที่ยงก็คือไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องศึกษาด้วยตรรกะ ด้วยการสังเกตดูสิ่งต่างๆ แล้วเราก็จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี้มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่คงเส้นคงวา เพียงแต่บางอย่างมันเปลี่ยนช้าเปลี่ยนเร็ว เท่านั้นเอง แต่ไม่ช้าก็เร็วมันก็ต้องพังไป หมดสภาพไป นี่เรียกว่าการเห็นว่ามันไม่เที่ยง ต้องศึกษาต้องพิจารณา ถึงจะเห็นไม่เที่ยง
อนัตตา ก็คือไม่ใช่ของเรา มันไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด วันใดวันหนึ่งมันก็ต้องแยกจากเราไป อันนี้ก็เรียกว่าอนัตตา ไม่ใช่ของเรา แล้วทุกข์เกิดจากอะไร เกิดจากที่เราไปอยากให้มันเที่ยง ใช่ไหม เราอยากจะให้ของที่เรามีอยู่นี้อยู่กับเรา พอมันไม่อยู่กับเรา มันแสดงความไม่เที่ยงขึ้นมา เราก็เสียใจ ทุกข์ใจขึ้นมา เพราะเราอยากให้เขาอยู่กับเราต่อไป นี่คือการศึกษาไตรลักษณ์ของในสิ่งต่างๆ ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้ความคิดเปรียบเทียบ แล้วถึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้



จิตนิพพานที่โลกทิพย์ไม่ได้นิพพานที่ร่างกาย
ถาม: กราบนมัสการเจ้าค่ะ พอดีอยากสอบถามว่า อย่างเรานี่มนุษย์ในปัจจุบันนี้ ว่ามีโอกาสที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นนิพพานไหมเจ้าคะ ถ้าโดยปกติแล้ว แล้วจิตของพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้วอยู่ที่ไหนคะ
พระอาจารย์: ตอนนี้มีมหาวิทยาลัย ไหมล่ะ มีจุฬาฯ มีธรรมศาสตร์ไหม คนที่เข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์เขาเรียนจบได้หรือเปล่าล่ะ สมัยนี้ก็มีมหาวิทยาลัยทางสงฆ์นี้ มีพระพุทธศาสนา ก็มีปริญญาเอกคือนิพพานรอเราอยู่ ก็อยู่ที่เราจะไปเรียนหรือไม่เรียน ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ เท่านั้นเอง ไม่ได้อยู่ที่ว่า ก็นักเรียนเขาไปทำงานอย่างอื่นหรือเปล่าเวลาเขาไปเรียนหนังสือ เขาก็ไปเรียนเต็ม ถ้าไปเรียนนอกเวลามันก็จะช้า ใช่ไหม เช่น เรียนเสาร์อาทิตย์นี้ แทนที่จะเรียนจบ ๔ ปี มันก็จะอาจจะไป ๖ ปี ๘ ปี แต่ถ้าเรียนแบบเต็มที่ไปทุกวันอย่างนี้ มันก็จะจบเร็ว อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าอยากจะจบเร็วตามหลักสูตร ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ก็ต้องไปบวช แต่ถ้าอยากจะเอา ๗ ชาติ ๗๐ ชาติก็ไม่ต้องบวช ปฏิบัติไปตามเวลาที่เราอยากปฏิบัติ เวลาไหนไม่อยากปฏิบัติก็ไม่ปฏิบัติ อย่างนี้มันก็จะช้า มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นใคร เป็นหญิงเป็นชาย มันอยู่ที่ว่าปฏิบัติมากหรือปฏิบัติน้อย ปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติไม่ถูกเท่านั้นแหละ
งั้นทุกคนมีสิทธิที่จะไปนิพพานได้ แล้วนิพพานก็ไม่ใช่สถานที่ นิพพานก็คือจิตใจของพวกเรานี้ จิตใจของพวกเราก็อยู่อีกโลกหนึ่งเรียกว่า “โลกทิพย์” ไม่ได้อยู่ในโลกของร่างกาย จิตใจส่งกระแสมาติดต่อกับร่างกายเรียกว่า “วิญญาณ” วิญญาณนี้มารับภาพ รูปเสียงกลิ่นรส ส่งไปให้จิตใจที่อยู่อีกที่หนึ่ง เหมือนกับที่เราติดต่อกันผ่านทางมือถือ คนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ คนหนึ่งอยู่ที่นี่ก็สามารถติดต่อกันได้ก็เพราะว่ามีเครื่องรับส่ง จิตก็มีเครื่องรับส่ง มีเครื่องรับรูปเสียงกลิ่นรส แล้วก็มีเครื่องส่งคือความคิด สั่งการมาที่ร่างกายได้ แต่จิตกับร่างกายอยู่กันคนละโลกกัน ร่างกายอยู่โลกธาตุ จิตอยู่โลกทิพย์ แล้วเวลาจิตถึงนิพพานจิตก็นิพพานที่โลกทิพย์ ไม่ได้นิพพานที่ร่างกาย เข้าใจไหม ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย เราอยู่ที่โลกทิพย์กัน แต่เราส่งกระแสความคิดส่งกระแสการรับรู้มาที่ร่างกาย เราจึงรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทางร่างกายได้ พอไม่มีร่างกายเราก็ไม่สามารถรับรู้เรื่องของโลกนี้ได้อีกต่อไป แต่เราก็ไม่ได้หายไปไหน เราก็ไปรับรู้เรื่องอื่นแทน จนกว่าเราจะได้ร่างกายอันใหม่มาเกิดใหม่ เราก็จะมารับรู้เรื่องของโลกนี้ใหม่ต่อไป เข้าใจหรือยัง



จิตเดิมจิตแท้คืออะไร
ถาม: ขอโอกาสครับ มีคนถามผมเรื่องจิตเดิมจิตแท้คืออะไร ผมบอกเขาว่าจิตเดิมแท้คือกิเลส ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิดครับพระอาจารย์ ขอคำแนะนำพระอาจารย์ด้วยครับ กราบนมัสการครับ
พระอาจารย์: จิตเดิมก็คือจิตที่ไม่มีการปรุงแต่ง จิตที่มีการปรุงแต่งมันก็ปรุงแต่งไปเป็นอะไรต่างๆ นานา แต่พอหยุดคิดการปรุงแต่งก็เหลือสักแต่ว่ารู้ จิตเดิมก็คือจิตที่อยู่ในสมาธินี่เรียกว่าจิตเดิม เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ อุเบกขาเป็นจิตเดิม แต่พอออกจากสมาธิมามันก็มาปรุงแต่ง ปรุงว่าฉันเป็นนาย ก นาง ข มีธุรกิจมีเงินพันล้านหมื่นล้าน อันนี้ก็กลายเป็นจิตปรุงแต่งไป จิตปรุงแต่งก็เป็นจิตปลอมนี่ เราปรุงแต่งหลอกตัวเอง วันนี้เราเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เป็นอีกอย่าง เดี๋ยววันนี้เป็นโสด เดี๋ยวพรุ่งนี้มีแฟนก็เป็นคู่ขึ้นมาอีก จิตเราก็เปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แต่จิตเดิมนี้มันไม่เปลี่ยนนะถ้าทำใจให้สงบหยุดความคิดปรุงแต่ง มันก็จะเหลือแต่อุเบกขาเหลือแต่สักแต่ว่ารู้ นั่นแหละคือจิตเดิม



จะไปนิพพานก็ต้องไปศึกษากับคนรู้ทางไปนิพพาน
ถาม: น้องเขาเคยตั้งจิตอธิษฐาน จะขอไปพระนิพพานในชาตินี้นะฮะ ก็ไม่ทราบว่ามีส่วนที่จะทำให้เขาประสบกับเหตุอย่างนี้หรือเปล่า
พระอาจารย์: อ๋อ ไม่หรอก การไปนิพพานดีเพียงแต่ว่าจะไปเป็นหรือไม่เป็นเท่านั้นเอง คนเราอยากจะไปกรุงเทพฯ แต่ไปไม่เป็นก็ไปไม่ถึงกรุงเทพฯก็ได้ มันอยู่ที่ไปแบบไหน เมาแล้วขับรถไปเดี๋ยวก็รถคว่ำกลางทางได้ ไปไม่ถึงกรุงเทพฯ จะไปต้องขับรถต้องไม่ดื่มสุรา ต้องไม่มึนเมา ต้องรู้จักกฎจราจร รู้จักทิศทางของถนนที่เราจะไป
มันต้องศึกษาหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่า อยากจะไปแล้วมันจะทำให้เราไปได้ที่ไหน พอรู้ว่าเราจะไปกรุงเทพฯ เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะไปยังไง จะขับรถไปเอง จะขึ้นรถเมล์ จะเรียกอูเบอร์อะไรก็แล้วแต่ ใช่ไหม ก็ต้องมีการวางแผนแล้วเตรียมตัว
การจะไปนิพพานก็ต้องไปศึกษา แล้วเขาให้ทำอย่างไร นิพพานก็ต้องไปบวชไปรักษาศีล ไปเจริญสมาธิไปเจริญปัญญามันถึงจะไปได้ ถ้าไปบวชมันก็มีครูบาอาจารย์คอยควบคุม คอยสั่งสอน คอยบอกวิธี เดี๋ยวมันก็ไปถึงนิพพานได้
การไปนิพพานมันดี มันไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้เขาเป็นบ้า เข้าใจไหม งั้นถ้าคนจะไปนิพพานก็เป็นบ้ากันไปหมดซิ งั้นก็ไปนิพพานกันไม่ได้เลย ใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็อยากจะไปนิพพาน พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ต่างๆท่านก็อยากจะไปนิพพานกัน ท่านถึงไปบวชกัน
งั้นไม่เกี่ยว การคิดว่าไปนิพพานแหละดี แต่คิดอย่างเดียวแล้วทำไม่ตรงกับวิธีที่จะพาไปนิพพานต่างหาก ที่ทำให้มันไม่ดี แต่จะไปนิพพานก็ต้องไปศึกษากับคนที่รู้ทางไปนิพพาน ไม่ใช่ศึกษาเอง ศึกษาเองก็หลงทางซิตอนนี้



สวดมนต์แบบไม่มีผลก็ไม่ได้บุญ
ถาม: คนที่สวดมนต์ทั้งวันทั้งคืน แต่ยังละความโกรธและความรำคาญจากทางโลกไม่ได้ การสวดมนต์ทุกวันนั้น ยังจะได้บุญหรือไม่ครับ
พระอาจารย์: ก็ถ้าสวดแบบไม่มีผลก็ไม่ได้บุญ สวดแบบนกแก้วหรือสวดแบบใจลอย ปากก็สวดไป ใจก็คิดถึงคนนั้นคนนี้ เกลียดคนนั้น โกรธคนนั้นโกรธคนนี้อยู่ในใจ ถ้าสวดไปอย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต้องสวดแล้วทำใจให้ว่างให้เย็นให้สบาย อันนั้นแหละถึงจะได้บุญ งั้นการจะสวดต้องมีสติสวด ไม่ใช่สวดแบบไม่มีสติ สวดไปแล้วใจก็ลอยไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ สวดอย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร



สติทางโลกกับสติทางธรรมต่างกันอย่างไร
ถาม: สติทางโลกกับสติทางธรรม ต่างกันอย่างไรคะ
พระอาจารย์: สติทางธรรมเราต้องการหยุดความคิด ไม่ให้คิดอะไร ให้รู้เฉยๆ แต่ทางโลกนี้เรามักจะทำงานทำอะไร มีสติกับงานการ แล้วก็มีสติเกี่ยวกับความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานการ เช่น เราทำบัญชีเราก็ต้องมีสติอยู่กับการทำบัญชี เดี๋ยวบวกเลขผิดถูก ก็ต้องมีสติอยู่กับความคิดของการทำบัญชี เราจะดูบัญชีเฉยๆ แล้วไม่คิดไม่ได้ ถ้าไม่คิดมันก็ทำงานไม่ได้ นั่นคือสติทางโลก สติทางโลกมันให้มีสติอยู่กับความคิดที่จำเป็นจะต้องคิด ไม่ให้ใจลอย บางทีคิดบัญชีแล้ว ไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ เดี๋ยวก็ทำผิดทำถูกได้ ก็เลยต้องมีสติให้อยู่กับการทำบัญชีเพียงอย่างเดียว แต่มันก็ยังต้องใช้ความคิด
ทางธรรมนี้เราต้องการให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยที่ไม่ให้คิดอะไร ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธพุทโธ มันก็จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ต่างกันตรงนั้น ต้องการหยุดความคิด สติทางธรรมนี้ต้องการหยุดความคิด เพราะความคิดนี้ ส่วนใหญ่มันเป็นโทษกับจิตใจ มันมักจะคิดไปในทางกิเลส ไปคิดแล้วทำให้จิตใจเครียด ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย วิตกกังวล โกรธ อะไรต่างๆเหล่านี้ มันเกิดจากความคิดทั้งนั้น เราต้องมาฝึกหัดหยุดคิดมัน แล้วก็ให้มันคิดไปในทางที่ทำให้ใจไม่เครียดไม่ทุกข์ ก็คือคิดไปในทางไตรลักษณ์ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ใช่ของเรา คิดอย่างนี้แล้วมันก็จะปล่อยวาง แล้วมันก็จะไม่เครียดกับอะไร



การปรุงแต่ง
ถาม: เมื่อเราเห็นหรือเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ความเข้าใจนี้มันเป็นการปรุงแต่งหรือไม่คะ
พระอาจารย์: มันก็ต้องปรุงแต่ง ปัญญาก็คือเรื่องของการปรุงแต่ง ปรุงแต่งตามเหตุตามผล ตามความเป็นจริง ไม่ได้ปรุงแต่งไปตามจินตนาการ หนังก็มีหนัง ๒ แบบ หรือหนังสือก็มีหนังสือ ๒ แบบ หนังสือแบบนิยายกับหนังสือตามความเป็นจริง ปัญญาเป็นเรื่องของความคิดปรุงแต่งไปตามความเป็นจริง ส่วนจินตนาการนี้เป็นความคิดปรุงแต่งไปตามจินตนาการ ไม่มีสาระความเป็นจริงเป็นที่รับรอง มันก็เป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น ปัญญาก็ต้องอาศัยความคิดปรุงแต่ง คิดในอริยสัจ ๔ นี้ก็เป็นความคิดปรุงแต่ง แต่เป็นความคิดปรุงแต่งที่มีความเป็นจริงรองรับอยู่ แต่ความคิดปรุงแต่งว่าฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินนี้มันไม่มีความเป็นจริงรองรับอยู่ ฉันเป็นนายแบบนางแบบมันไม่มีความเป็นจริง มันก็เป็นความคิดปรุงแต่งเหมือนกัน เขาเรียก fiction กับ non-fiction ภาษาอังกฤษ ‘fiction’ ก็คือไม่ใช่เรื่องแท้จริง ไม่ใช่เรื่องจริง เรื่องจินตนาการ ส่วน ‘non-fiction’ นี้แปลว่าของจริง ตามความเป็นจริง



กุศลมีเป็นระดับ
ถาม: หนูอยากถามว่าการทำบุญแบบไหนจะให้กุศลและอานิสงส์สูงสุดคะ
พระอาจารย์: ก็กุศลมันมีเป็นระดับไง ทำบุญทำทานก็ได้ระดับหนึ่ง ระดับศีลก็ได้อีกระดับหนึ่ง ระดับสมาธิก็ได้อีกระดับหนึ่ง ระดับปัญญาก็อีกระดับหนึ่ง ถ้าเป็นเหมือนธนบัตรมันก็มีหลายราคา ธนบัตร ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ๑๐๐๐ บาท ธรรมในระดับต่างๆ ก็จะมีบุญมีกุศลไม่เท่ากัน ระดับสูงสุดก็คือปัญญา เหมือนธนบัตรใบละ ๑๐๐๐ สมาธิก็เหมือนธนบัตรใบละ ๕๐๐ ศีลก็เหมือนธนบัตรใบละ ๑๐๐ การทำบุญทำทานก็เหมือนธนบัตรใบละ ๒๐ บาท แต่มันก็ต้องอยู่ที่ความสามารถ ไม่ใช่ว่าเราเห็นว่าปัญญาเป็นระดับได้บุญมากแล้วเราจะไปทำทางปัญญา ถ้าเรายังไม่มีความสามารถเราก็ทำไม่ได้ เพราะเราต้องไต่เต้าจากระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูง คือเราต้องทำทานให้ได้ก่อน แล้วก็ไปรักษาศีลให้ได้ รักษาศีลได้แล้วถึงนั่งสมาธิให้ได้ ถึงจะไปใช้ปัญญาได้ต่อไป
ดังนั้น ก็ถ้าเราอยากจะได้ธรรมระดับสูงก็พยายามทำจากระดับต่ำไล่ขึ้นไป ทำบุญให้มากก่อน มีเงินมีทอง แทนที่จะไปซื้อกระเป๋าซื้อรองเท้าซื้อเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็น ก็เอาไปทำบุญทำทาน อย่างนี้จะทำให้เราได้ความสุขในระดับทาน แล้วจะทำให้เรามีกำลังที่จะไปรักษาศีลต่อได้ รักษาศีล ๕ ได้ เพราะเราจะไม่ใช้เงินมาก เมื่อก่อนเราใช้เงินมากเพราะเราต้องซื้อกระเป๋าซื้อรองเท้าอยู่เรื่อยๆ เราก็ต้องหาเงินมาก หาเงินมากบางทีอยากจะได้ง่ายๆ เร็วๆ มากๆ ก็จะต้องทำบาป แต่ถ้าเราไม่ต้องใช้เงินมากเราก็ไม่ต้องหามาก เราก็ไม่จำเป็นจะต้องทำบาป เราก็จะรักษาศีล ๕ ได้พอรักษาศีล ๕ ได้ ต่อไปเราก็จะไปรักษาศีล ๘ ไปหัดนั่งสมาธิได้ ต้องทำไล่ขึ้นไปตามลำดับ ถ้าเราทำได้แล้วก็ทำไปเลย สมมุติเรานั่งสมาธิได้ เราก็นั่งสมาธิ ถ้าเลือกระหว่างไปทำบุญทอดกฐินกับไปปฏิบัติธรรม ๓ วันนี้ ก็ไปปฏิบัติธรรมดีกว่า ได้บุญมากกว่าไปทอดกฐินอย่างนี้ เลือกได้ ถ้าเราไปทำได้ ถ้าเรายังทำไม่ได้ก็ไปทอดกฐินก่อน เข้าใจไหม



ผลของกรรมทำให้คนแตกต่างกัน
การแข่งวาสนาบารมีนี้แข่งไม่ได้ สังเกตไหม ทำไมบางคนเขาถึงเด่นกว่าเรา ดีกว่าเรา เก่งกว่าเรา ท้ังๆ ท่ีเราก็อยากจะดี อยากจะเด่นอยากจะเก่งเหมือนเขา หรืออยากจะเก่งกว่าเขา ดีกว่าเขา เด่นกว่าเขา แต่เราก็ทำไม่ได้ ก็เพราะเป็นผลของบุญบารมีที่เราได้สะสมกันในอดีตชาตินั่นเอง มันจึงพาให้เรา มาเป็นคนท่ีมีความสูงต่ำไม่เหมือนกัน มีความฉลาดความโง่ไม่เหมือนกัน มีความดีความชั่วไม่เหมือนกัน มีความรวยความจนไม่เหมือนกัน มีความสวยงามไม่เหมือนกัน อันนี้แหละคือเรื่องของหลักกรรมท่ีเราได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราหมั่นสวดมนต์บทน้ีอยู่เรื่อยๆ คือ กัมมัสสะโกมหิ เรามีกรรมเป็นของๆ ตน กัมมะทายาโท มีกรรมเป็นผู้ให้ผล กัมมะโยนิ เรามีกรรมเป็นแดนเกิด กัมมะพันธุ เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะปะฏิสะระโณ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ยัง กัมมัง กะริสสามิ เราจะทำกรรมอันใดไว้ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ดีหรือชั่ว บุญหรือบาป ตัสสะทายาโท ภะวิสสามิ เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมน้ันสืบไป
นี่แหละทำไมเราจึงมีความแตกต่างกัน เพราะผลบุญผลบาปที่เรากระทำนี้มันทำให้เราแตกต่างกัน ถึงแม้จะเกิดมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน เป็นพี่น้องกันก็ตาม แต่ก็ไม่เหมือนกัน มีความดีความชั่วไม่เหมือนกัน มีความฉลาดความโง่ไม่เหมือนกัน มีความสวยงามไม่เหมือนกัน อันนี้แหละเหตุท่ีทำให้เรามีความแตกต่างกัน เพราะความแตกต่างน้ีไม่ได้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่ให้แต่ร่างกายของเรา แต่บุญกรรมคือบุญหรือบาปนี้เป็นผู้มาปรุงแต่งร่างกายเราให้สวยให้งามหรือไม่ ให้มีอาการ ๓๒ ครบหรือไม่ ให้มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ หรือมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ทำไมพี่น้องมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน ทำไมถึงไม่เหมือนกัน เหมือนกันก็แต่เฉพาะรูปร่างหน้าตา อันนี้มาจากแม่ แต่ความสวยงามนี้ยังต่างกันได้ ความสวยความงาม ความไม่สวยไม่งามน้ี เป็นผลของบุญของบาปท่ีติดมากับดวงวิญญาณ ที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างร่างกาย ในขณะที่อยู่ในท้องแม่ ทำให้ร่างกายของพี่น้องนี้ถึงแม้มาจากพ่อแม่คนเดียวกัน หน้าตาคล้ายๆ กัน แต่ความสวยงามไม่เท่ากัน ผิวพรรณผ่องใสไม่เท่ากัน อันน้ีแหละเรื่องของกรรม มันไม่ได้มาจากพ่อแม่ พ่อแม่ให้ร่างกายเรา แต่บุญกรรมน้ีให้เราเป็นคนสวยคนงามหรือไม่สวยไม่งาม ให้เราฉลาดหรือโง่ ให้เราดี หรือชั่ว ให้เรารวยหรือจน พี่น้องจากพ่อแม่เดียวกัน บางคนก็รวย บางคนก็จน เห็นไหม ทำไมไม่รวยเหมือนกันหรือจนเหมือนกัน
ถ้าเป็นเหมือนผลไม้นี้ต้องเป็นผลไม้เหมือนกัน หวานก็หวานเหมือนกัน เปรี้ยวก็เปรี้ยวเหมือนกัน แต่เราน้ีมีจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เหมือนผลไม้ ต้นไม้นี้เขาไม่มีดวงวิญญาณไปเกาะ ไม่มีดวงวิญญาณไปปรุงแต่งให้ต้นไม้ออกผลไม้ชนิดต่างๆ มาไม่เหมือนกัน ผลไม้ต้นน้ีมีท้ังเปรี้ยวมีทั้งหวานมีทั้งขมน้ี ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าหวานก็หวานท้ังต้น ถ้าเปรี้ยวก็เปรี้ยวทั้งต้น อันนี้แหละเป็นเรื่องของกรรม เรื่องของดวงวิญญาณ เรื่องของจิตใจ



ถ้ากำลังจะตายเอาจิตไปไว้อย่างไรดี
ถาม: หลวงพ่อครับ สมมุติว่าเราอยู่ในเส้นทางการปฏิบัติครับหลวงพ่อ ยังไม่ถึงไหน แต่ว่าก็รักษาศีล แล้วก็ทำสมาธิอยู่เป็นประจำ ส่วนของปัญญาก็ยังเป็นปัญญาของโลกอยู่ ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา สมมุติเกิดจับพลัดจับผลูเกิดกำลังจะตายไปกระทันหันเลยครับหลวงพ่อ ในทาง practical เลย เราเอาจิตเราอย่างไรครับหลวงพ่อ เอาจิตไปไว้อย่างไรดีครับ
พระอาจารย์: ก็อยู่กับความสงบ พุทโธก็ได้ ให้เราพิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ถึงเวลามันก็จะต้องจบลง สิ้นสุดลง ปล่อยวาง อย่าไปอยาก อย่าไปดิ้นรน ตั้งสติก่อนดับ สักแต่ว่ารู้ไป ดูมันไปจนกว่าจะหายไป จนลมสุดท้ายหายไป เฮือกสุดท้ายเท่านั้นเอง แล้วก็จบ
ถาม: คือทำเหมือนเวลาเรานั่งสมาธิแล้วลมมันหาย ใช่ไหมครับหลวงพ่อ
พระอาจารย์: เออ เหมือนกัน ก็ดูไป
ถาม: โอเคครับ เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกสมาธิแล้วลมมันหายนี่ เราก็จะกลัวน้อยลงไหมครับ หลวงพ่อ
พระอาจารย์: ก็อยู่ที่เราแหละ มันอยู่ที่เราว่ากลัวหรือไม่กลัว
ถาม: คือเราก็เคยเจอสภาวะลมหายมาแล้ว ใช่ไหมครับ
พระอาจารย์: ใช่ ตอนนั้นเรารู้ว่าเราไม่ตาย แต่ตอนนี้เรารู้ว่าเราตาย เรารับกับมันได้หรือเปล่า ทำใจได้หรือเปล่า ก็คิดว่าเป็นแค่เปลี่ยนร่างกายไป ไปเปลี่ยนร่างกายใหม่ โดนวางยาสลบเพื่อให้ได้ร่างกายใหม่ ถ้ายังไม่ถึงนิพพานก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่



ถูกแล้วนี่คือการการปฏิบัติสมาธิ
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ หนูนั่งสมาธิ พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในช่วงต้นเห็นไตรลักษณ์ เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขารปรุงแต่ง แต่นั่งไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าจิตเริ่มนิ่ง ขยายกว้างใหญ่ มีสภาวะปลอดโปร่ง เป็นสุข ตั้งมั่นอยู่เป็นเวลานาน ความจริงเป็นสภาวะที่รู้สึกดี แต่หนูไม่เห็นว่าจะเป็นทางที่ถูกหรือไม่ พอปฏิบัติเสร็จ เกิดความสงสัย เนื่องจากไม่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นในสภาวะนี้อีก กราบเรียนพระอาจารย์เมตตาช่วยชี้ทางเจ้าค่ะ
พระอาจารย์: ถูกแล้วละ นี่คือการปฏิบัติสมาธิ เพื่อทำจิตให้ว่าง ปราศจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจิตจะได้เป็นอุเบกขา ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง อันนี้เป็นครึ่งทางของการปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นฐานของวิปัสสนา ปัญญา ต่อไป พอจิตว่างปราศจากอารมณ์แล้ว ทีนี้จิตก็จะเป็นกลาง พิจารณาทุกอย่างก็จะเห็นด้วยเหตุด้วยผลตามความเป็นจริง พอออกจากสมาธิมา ก็สอนให้พิจารณาคือไตรลักษณ์ ดูร่างกายของเราร่างกายของคนทั้งหลายว่าเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตาย ไม่เที่ยง ไม่สวยงาม มีอาการ ๓๒ ตายไปก็เป็นซากศพ กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวไม่มีตน อันนี้ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนกระทั่งไม่หลงไม่ลืม ต่อไปจะเห็นร่างกายของเรา ของคนอื่นเขา มันก็เป็นแค่ดินน้ำลมไฟ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ไม่มีนาย ก นาย ข อยู่ในร่างกาย ไม่มีนายกไม่มีอธิบดี ไม่มีอะไรอยู่ในร่างกาย ของพวกนี้มันอยู่ในจิต เราสมมุติกันขึ้นมา ตั้งมันขึ้นมา เราก็ไปหลงยึดไปติดกับมัน เท่านั้นเอง แต่ร่างกายของทุกคนนี้มันไม่เที่ยง เกิดแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย สอนใจอยู่เรื่อยๆ อย่าให้ลืม เพื่อจะได้ไม่ทุกข์เวลาที่ร่างกายแก่หรือเจ็บหรือตาย อันนี้เป็นขั้นต่อไปหลังจากที่เราออกจากสมาธิมาแล้ว ก็มาสอนใจให้เห็นด้วยปัญญา เพื่อใจจะได้มีดวงตาเห็นธรรม



หวังที่เหตุ..อย่าไปหวังที่ผล
ถาม: คิดว่าถ้าไปอยู่ที่วัดจะได้ทำทั้งวันค่ะ พระอาจารย์
พระอาจารย์: เออ ก็อย่าไปหวังมาก เดี๋ยวมันไม่ได้ผล แล้วมั้นจะผิดหวังได้
ถาม: ค่ะ ไม่เสียใจง่ายๆ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ค่ะพระอาจารย์
พระอาจารย์: อย่าไปหวังผล หวังเหตุก็แล้วกัน หวังว่าได้ทำเยอะๆ ส่วนผลจะเป็นยังไงก็ ขึ้นอยู่ที่เหตุเราทำว่ามันถูกหรือไม่ถูก สุปฏิปันโนหรือไม่ อุชุ ญายะ สามีจิหรือไม่ อยู่กับเหตุเป็นหลักนะ ถามตัวเราเอง ตอนนี้เราสุปฏิปันโนหรือเปล่า อุชุ ญายะ สามีจิปฏิปันโนหรือเปล่า ถ้ามี ๔ อันนี้ก็เป็นสาวกสังโฆได้ นี่บทสังฆคุณนี่ก็เป็นบทที่สอนเรา สอนเราให้เรารู้ว่าว่าการเป็นสังฆะนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นด้วยการปฏิบัติ ด้วยที่เหตุไม่ใช่ด้วยที่ผล ผลมันตามเหตุ ถ้าไปจ้องที่ผล โอ๊ย คราวนี้ไปขอให้สงบ ขอให้สงบ เมื่อไม่มีสติ ขอยังไงก็ไม่มีวันสงบ



การด่าทอกันในโลกออนไลน์
คำถาม: เวลาที่เราด่าทอกัน หรือมี hate speech ใส่กันในโลกออนไลน์ เป็นการสร้างภพภูมิของอบายหรือไม่คะ
พระอาจารย์: ก็เป็นการสะสมความโกรธเกลียดอยู่ภายในใจ ซึ่งอาจจะระเบิดขึ้นมาเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ ด้วยการกระทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตบตีกัน ฆ่าฟันกันขึ้นมา อย่างนั้นมันก็จะส่งให้จิตไปสู่อบายทันที



ถ้าติดโควิดเตรียมตัวตายอย่างไรถึงจะมีความสุข
คำถาม: ถ้าเราติดโควิดจริง จะเตรียมตัวตายยังไงถึงจะมีความสุขคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องหยุดคิด ทำใจให้สงบแล้วก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ร่างกายของเรานี้ เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะโดนโรคชนิดไหนก็ตาม มันก็จะต้องตายวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าไม่ตายเพราะโควิด มันก็ตายด้วยโรคอย่างอื่น ด้วยโรคชรา และอีกอย่างหนึ่ง คือร่างกายนี้ความจริงมันไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเหมือนคนรับใช้เรา เราผู้ใช้ร่างกายคือผู้รู้ผู้คิดนี้ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย งั้นเราก็พียงแต่ปล่อยวางร่างกาย ให้มันเป็นไปตามสภาพของมัน ถ้ามันจะอยู่ไม่ได้ มันจะตายก็ปล่อยมันตายไป ปัญหาของเราก็คือเราก็ไปหลง คิดว่ามันเป็นเรา แล้วเราก็เลยอยากไม่ให้มันตาย ความอยากนี้แหละที่ทำให้ใจเราเครียด ทำให้ใจเราเศร้า งั้นเราต้องหยุดความอยาก หยุดความทรมานนี้ด้วยการฝึกจิต ด้วยการเจริญสติ หยุดความคิดทำจิตให้นิ่งให้สงบ ถ้าเราหยุดจิตได้ ทำให้จิตสงบนิ่งได้ หยุดความอยากไม่ตายได้ เวลาร่างกายตาย เป็นอะไร ก็จะไม่เดือดร้อน



ถ้าติดโควิดเตรียมตัวตายอย่างไรถึงจะมีความสุข
คำถาม: ถ้าเราติดโควิดจริง จะเตรียมตัวตายยังไงถึงจะมีความสุขคะ
พระอาจารย์: ก็ต้องหยุดคิด ทำใจให้สงบแล้วก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า ร่างกายของเรานี้ เมื่อเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะโดนโรคชนิดไหนก็ตาม มันก็จะต้องตายวันใดวันหนึ่งอย่างแน่นอน ถ้าไม่ตายเพราะโควิด มันก็ตายด้วยโรคอย่างอื่น ด้วยโรคชรา และอีกอย่างหนึ่ง คือร่างกายนี้ความจริงมันไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเหมือนคนรับใช้เรา เราผู้ใช้ร่างกายคือผู้รู้ผู้คิดนี้ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย งั้นเราก็พียงแต่ปล่อยวางร่างกาย ให้มันเป็นไปตามสภาพของมัน ถ้ามันจะอยู่ไม่ได้ มันจะตายก็ปล่อยมันตายไป ปัญหาของเราก็คือเราก็ไปหลง คิดว่ามันเป็นเรา แล้วเราก็เลยอยากไม่ให้มันตาย ความอยากนี้แหละที่ทำให้ใจเราเครียด ทำให้ใจเราเศร้า งั้นเราต้องหยุดความอยาก หยุดความทรมานนี้ด้วยการฝึกจิต ด้วยการเจริญสติ หยุดความคิดทำจิตให้นิ่งให้สงบ ถ้าเราหยุดจิตได้ ทำให้จิตสงบนิ่งได้ หยุดความอยากไม่ตายได้ เวลาร่างกายตาย เป็นอะไร ก็จะไม่เดือดร้อน


ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 19 กันยายน 2564 10:47:51
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87996153574850_241459891_407070280801134_6338.jpg)

ร่างกายนี้ต้องตายไม่มีทางต่อลองได้
คำถาม: ปัญหาตอนนี้อยู่ที่หัดปล่อยวางร่างกายกับความพลัดพรากเจ้าค่ะ เราจะมีแนวทางอย่างไรในการที่จะพิจารณาปล่อยวางร่างกาย แล้วก็พิจารณาความพลัดพราก แล้วปล่อยวางได้จริง จากความรู้ของเราจริง ไม่ใช่สัญญาเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: เบื้องต้นก็หมั่นสอนใจอยู่เรื่อยๆ ว่าร่างกายนี้มันต้องตาย มันต้องจากเราไปวันใดวันหนึ่ง ไม่มีทางที่จะต่อรองได้ อันนี้คือความจริง แต่เราไม่ได้เป็นร่างกาย เราเป็นจิตผู้มาครอบครองร่างกาย ต้องแยกจิตด้วยอุเบกขาให้ได้ ถ้ามีอุเบกขาแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรก็ปล่อยมันเป็นไป ถ้าป้องกันมันได้ ปกป้องมันได้ก็ปกป้องมันไป ถ้ามันเหลือวิสัยที่จะทำอะไรกับมันได้ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามสภาพของมัน ถ้าเราคิดว่าเรามีกำลังพอ เราก็อาจจะต้องเอาร่างกายไปอยู่ที่ที่คิดว่าอาจจะมีภัยกับร่างกาย ไปอยู่ในป่า หรือในที่ที่มีสัตว์ มีเสือ มีอะไร ที่อาจจะมาทำร้ายร่างกายเราได้ แล้วดูสิว่าใจเราเฉยได้รึเปล่า ปล่อยได้หรือเปล่า ถ้าใจกลัวตาย ก็แสดงว่ายังไม่ปล่อย



ธรรมทานเหนือกว่าอภัยทาน
คำถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ครับ ธรรมทานกับอภัยทาน อันไหนเป็นทานสูงสุด พออธิบายได้ไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ทานที่สูงสุดก็ต้องเป็นธรรมทาน การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง เพราะธรรมะนี้จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อภัยทานนี้ก็จะทำให้เราหลุดพ้นได้เฉพาะเรื่อง เช่น เราโกรธแค้นโกรธเคืองใคร เราให้อภัยเขา เราก็จะหายทุกข์จากการโกรธแค้นโกรธเคืองเขาได้ แต่เราก็ยังมีเรื่องอื่นที่เราจะต้องทุกข์ต่อไป แต่ถ้าได้ธรรมะนี่ ธรรมะจะทำให้เราปล่อยวางทุกอย่างได้ ให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทุกระดับได้ ด้วยธรรมะ งั้นธรรมทานนี้ย่อมเหนือกว่าอภัยทาน



ปฏิบัติธรรมแล้วเครียด
ถาม: เวลาผมปฏิบัติธรรม ผมมักจะเครียดครับพระอาจารย์

พระอาจารย์: เครียดเพราะว่าจิตมันเกร็ง กิเลสมันไม่เคยถูกควบคุมบังคับ มันก็เลยเครียดขึ้นมา ก็ต้องใช้การสวดมนต์ไปก่อนก็ได้ ถ้ามันนั่งไม่ได้ก็สวดมนต์ไป เพื่อคลายความเครียดก่อน สวดไปสักระยะหนึ่งแล้วใจรู้สึกเบา แล้วค่อยมานั่งสมาธิต่อ ตอนสวดมนต์ก็นั่งในท่าสมาธิไปได้เลย ถ้าทำได้ นั่งขัดสมาธิ หลับตา แล้วก็สวดไปภายในใจ ไม่ต้องออกเสียงก็ได้ พอรู้สึกว่าเราไม่ค่อยเครียดแล้ว เราก็ดูลมหายใจต่อไป ใหม่ๆ จิตมันไม่เคยอยู่เฉยๆ พอให้มันอยู่เฉยๆ มันจะรู้สึกเครียดขึ้นมา ก็เลยต้องให้มันทำงาน ให้มันสวดมนต์ไปก่อน มันไม่เคยถูกบังคับ มันก็เลยต่อต้าน ก็ต้องให้มันมีอะไรทำ ให้มันสวดอิติปิโสไปหลายๆ จบก่อนก็ได้ ต่อไปก็จะรู้สึกว่ามันผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะเรานั่งอยู่เฉยๆ ดูลมหายใจต่อ



จิตนิ่ง จิตสงบ
ถาม  : ที่ท่านอาจารย์พูดถึงจิตนิ่งกับจิตสงบนะค่ะ มันแตกต่างกันอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะไม่คิดปรุงแต่ง จะไม่กระเพื่อม

ถาม : แล้วนิ่งละคะ

พระอาจารย์ : เวลานิ่งจิตจะคิดปรุงแต่ง แต่ไม่กระเพื่อม

ถาม : นิ่งก็จะทำง่ายกว่าสงบ

พระอาจารย์ : เวลานิ่งกิเลสยังไม่ได้ทำงาน เวลากิเลสทำงานจะเห็นชัดเลย เพราะจิตจะกระเพื่อม จะรู้เลยว่าตัวปัญหาอยู่ที่ความกระเพื่อม เพราะมันทำลายความสุข แต่ถ้าไม่มีสมาธิไม่นิ่งจะไม่เห็น เพราะจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ถ้านิ่งด้วยสงบด้วยก็จะเป็นเอกัคตารมณ์ ไม่ปรุงแต่ง พอออกจากสมาธิก็ยังนิ่ง ยังไม่กระเพื่อม พอคิดไปทางกิเลสก็จะกระเพื่อม ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะไม่กระเพื่อม.



วิธีอธิษฐานทางศาสนา
คำถาม: การตั้งคำอธิษฐานในพระพุทธศาสนา ควรน้อมนำเช่นไร และการถอนคำอธิษฐาน ต้องทำเช่นไรขอรับ เพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสงสารขอรับ

พระอาจารย์: การตั้งอธิษฐานทางศาสนานี้ ไม่ได้เป็นการขอ ขอนิพพาน ขอไปสวรรค์ ขอนู่นขอนี่ อันนี้ไม่ใช่เป็นการตั้งจิตอธิษฐาน การตั้งจิตอธิษฐานนี้ตั้งอยู่ที่การกระทำว่าต่อไปนี้จะปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไปตลอดชีวิต อย่างนี้เรียกว่าเป็นการอธิษฐาน อธิษฐานที่การกระทำ ไม่ใช่อธิษฐานที่ผลที่เกิดจากการกระทำ เท่านั้นแหละ งั้นไม่ต้องถอนหรอกถ้าเราอธิษฐานแล้ว ก็ทำไปให้มันสุด ให้มันได้ผลขึ้นมา เพราะว่าการปฏิบัติมันก็ต้องใช้เวลา เราก็ต้องมีความหนักแน่นต่อความตั้งใจ เหมือนพระพุทธเจ้าตอนนั่งอยู่ใต้โคนต้นโพธิ์ก่อนตรัสรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงอธิษฐานว่าต่อไปนี้จะนั่งอยู่ตรงนี้ ภาวนาไปจนกว่าจะตรัสรู้ ถ้ายังไม่ตรัสรู้ ถึงแม้ว่าเลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไปก็จะไม่ลุกไปจากที่นี่ นี่แหละคือวิธีอธิษฐานทางศาสนา ไม่ได้ขอ พระพุทธเจ้าไม่ได้นั่งขอ นั่งตรงนี้แล้วขอให้นิพพานมาหาเรา มันไม่มาหรอก เราต้องไปหามัน ด้วยการกระทำ ด้วยการปฏิบัติ



ใช่ความว่างหรือเปล่า
คำถาม: ผมนั่งสมาธิไปแล้วจิตมันก็ลงไป ลงไปที่ความว่างครับพระอาจารย์ ไอ้ตรงที่มันว่างครับ คือมันไม่มีอะไรเลยใช่ไหมครับพระอาจารย์ มันว่างเปล่า ไม่มีขอบไม่มีเขต ไม่มีแดน ไม่มีอะไร ตรงนั้นใช่ความว่างหรือเปล่าครับพระอาจารย์

พระอาจารย์: ถ้ามันว่างมันก็ว่าง มาถามเราได้ยังไง มันก็ต้องรู้เองว่ามันว่างหรือไม่ว่าง ว่างก็แสดงว่าไม่มีอะไรใช่ไหม ถ้ามีอะไรมันก็ไม่ว่าง

คำถาม: ครับ เพื่อให้แน่ใจครับว่าจะเหมือนกันไหม ลักษณะเช่นเดียวกันไหมอย่างนี้ล่ะครับพระอาจารย์

พระอาจารย์: จิตว่างก็จิตสงบ จิตปราศจากการปรุงแต่ง อีกอย่างก็ มีความสุขไหม มี ก็อย่างนี้ มีความสบาย (ไหม) มี มีอุเบกขาไหม มี อย่างนี้แต่ไม่มีภาพเสียงกลิ่นรสอะไรต่างๆ มันสบายเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ เวลาจิตสงบ จิตว่าง มันเบา มันว่าง มันเย็น มันสบาย ไม่มีอะไร ไม่รับรู้อะไรก็ว่าง ถ้ายังมีเสียงมีแสงมีอะไรก็ยังไม่ว่าง

คำถาม: แต่ว่าเสียงนี่มันยังได้ยิน แต่ก็ไม่ได้ไปอะไรกับมันครับ

พระอาจารย์: ไม่เป็นไร ถ้าได้ยินแต่ใจไม่ไปวุ่นวายอะไรกับมันก็ใช้ได้ ข้อสำคัญคือใจเรานิ่งเฉย ไม่รำคาญกับรูปเสียงกลิ่นรสที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย



เป้าหมายของการนั่งสมาธิ
คำถาม: นั่งสมาธิอย่างไรให้จิตมาถึงจุดที่สามารถคิดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือต้องนั่งกัมมัฏฐาน ที่เป็นวิปัสสนาภาวนาเจ้าคะ

พระอาจารย์: คือการนั่งสมาธินี้ไม่ได้นั่งเพื่อให้ถึงจุดที่จะคิดถึงเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป้าหมายของการนั่งสมาธินี้ต้องการหยุดความคิดให้จิตรวมเป็นฌานขึ้นมา เป็นอุเบกขา แล้วก็เป็นจิตที่มีความสุขมีความอิ่มในตัวของมัน หลังจากที่เราได้จิตตัวนี้แล้ว เวลาออกจากสมาธิเราถึงมาคิดในขณะที่เราทำอะไรต่างๆได้ เดินจงกรมเราก็คิดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ เช่น คิดถึงร่างกายเราว่าร่างกายเราอนิจจังไม่เที่ยง ไม่มีใครรู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ตายได้ทุกเวลาอันนี้ก็เรียกว่าอนิจจังไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับเป็นธรรมดาคือธรรมชาติของร่างกาย   อนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเราไม่สามารถควบคุมบังคับเขาไม่ให้ตายได้ เขาเป็นภาวะทางธรรมชาติ ที่มีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาเกิดแล้วทำให้เขาดับไป เราผู้เป็นจิตมาครอบครองร่างกายนี้ เพียงแต่อาศัยใช้เขาไปจนกว่าเขาจะหมดสภาพเท่านั้นเอง แต่เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงความเป็นอนิจจังของเขาได้ จะทำให้เขาเป็นนิจจัง ให้เขาไม่เปลี่ยนแปลง ให้เขาอยู่ไปตลอดไม่ได้ นี่คือการพิจารณาอนิจจัง อนัตตา เพื่อที่จะได้ดับความทุกข์ คือความทุกข์ที่เกิดจากความอยากให้ร่างกายนี้เป็นนิจจัง คือให้ร่างกายนี้เป็นของเรา ให้อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา เมื่อเรารู้ตามสภาพความเป็นจริงว่าเป็นไปไม่ได้ เราจะได้หยุดความอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ให้ร่างกายตาย เมื่อเราไม่มีความอยากเหล่านี้อยู่ในใจ ความทุกข์ในใจก็จะไม่มีเกิดขึ้นมา ตอนนี้ใจของเราทุกข์กันเพราะเราอยากควบคุมบังคับร่างกายให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้ไม่ตายกัน แต่ความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถที่จะทำได้ เราก็เลยมาสร้างความทุกข์ให้กับใจเราโดยใช่เหตุ    ตายเหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน แต่จะทุกข์หรือไม่ทุกข์นั้นต่างหาก คนที่มีปัญญาจะไม่ทุกข์ เพราะจะรู้ว่าไปบังคับร่างกายไม่ได้ แต่คนไม่มีปัญญานี้ต้องพยายามสู้ศึกอย่างสุดๆเลย อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย จึงเกิดความเครียดกัน ทุกวันทุกเวลา เวลาคิดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาคิดถึงความตาย โดยเฉพาะช่วงนี้มีโรคระบาดที่มันทำให้เห็นจริงเห็นจังกับเรื่องความเจ็บความตาย เลยเกิดความเครียดกัน เพราะไม่เห็นความจริงว่าไปห้ามมันไม่ได้ ห้ามร่างกาย ถ้ามันจะเจ็บไข้ด้วยโรคนี้ก็ห้ามมันไม่ได้ ถ้ามันจะตายเพราะโรคนี้ก็ห้ามมันไม่ได้ แต่ใจยังไม่ยอมรับความจริงอันนี้ใจเลยทุกข์ นี่คือการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องนั่งกัมมัฏฐาน ไม่ต้อง สามารถพิจารณาได้ขณะนี้ฟังไปก็พิจารณาไปก็ได้ ถ้าเข้าใจอาจจะมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาทันทีก็ได้ เห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่อยากทุกข์กับร่างกายก็ปล่อยมันเป็นไปตามความเป็นจริง อย่าไปอยากให้มันเป็น นิจจัง สุขัง อัตตา เท่านั้นเอง



จิตที่เป็นอุเบกขาเท่านั้นที่จะปล่อยวางได้
คำถาม: การทำกายคตาสติ เพื่อตัดการผูกพันได้ด้วยใช่ไหมคะพระอาจารย์

พระอาจารย์: คือโดยหลักก็เป็นการเจริญปัญญา ให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ถ้าเป็นสตินี้มักจะไม่คิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ ถ้าเราต้องการเจริญสติ ให้เราพยายามระงับความคิดปรุงแต่ง ถ้าเราจะใช้ร่างกาย เราก็ดูการเคลื่อนไหวของร่างกายกำลังทำอะไร อันนี้เป็นการเจริญสติ ต้องแยกแยะว่าเรากำลังต้องการเจริญอะไร สตินี้ก็มีความสำคัญ เพราะการที่เราจะปล่อยวางได้เราต้องมีอุเบกขา มีอุเบกขาได้ก็ต้องมีสติเข้าอัปปนาสมาธิให้ได้ ถ้าไปฝึกวิปัสสนาตอนที่ยังไม่มีอุเบกขายังไม่มีสมาธิ ฝึกวิปัสสนาจะไม่ทำให้เกิดสติที่จะทำให้จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิได้ ก็ต้องรู้จักแยกแยะว่าเรากำลังทำเพื่อผลอันใด ส่วนใหญ่ก็มักอยากจะไปทางปัญญา ปัญญาที่ขาดอุเบกขามันก็ปล่อยวางไม่ได้ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบเจริญสติแบบไม่คิด ถ้าคิดก็ให้คิดคำเดียว พุทโธพุทโธพุทโธ หรือไม่เช่นนั้นก็ให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายว่ากำลังมีการเคลื่อนไหวมีการกระทำอะไรอยู่ ถ้านั่งเฉยๆ ก็ดูลมหายใจเข้าออก อันนี้ก็จะเป็นการเจริญสติเพื่อให้จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ให้ได้อุเบกขา เพราะจิตที่เป็นอุเบกขาเท่านั้นที่จะปล่อยวางได้ เวลาพิจารณาปัญญาให้เห็นร่างกายนี้ว่าไม่สวยงาม ก็จะปล่อยวางกามราคะได้ แต่ถ้าไม่มีอุเบกขา ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าเป็นอสุภะก็ยังอยากอยู่ อสุภะมันอยู่ข้างในมันไม่ได้อยู่ข้างนอก ข้างนอกมันน่าดูใช่ไหม งั้นเวลาปฏิบัตินี้ก็ต้องรู้ว่าเรากำลังทำเพื่ออะไร ทำเพื่อสติหรือทำเพื่อปัญญา ปัญญานี้ทำให้น้อยก่อน เพื่อให้ได้ทำสติให้มากจนกว่าเราจะได้อัปปนาสมาธิ แล้วทีนี้ก็ไปปัญญาทั้ง ๑๐๐ เลยก็ได้ เวลาออกจากสมาธิมาก็เจริญปัญญา พิจารณา การพิจารณาก็พิจารณาเพื่อให้เห็น เพื่อไม่ให้หลงไม่ให้ลืม ให้จดจำไว้ในใจ เวลาไปเจอข้อสอบจะได้เอาออกมาใช้ได้ ถ้าไม่พิจารณาไม่จดไม่จำไว้ เวลาไปเจอข้อสอบก็นึกไม่ถึง นึกไม่ออก ก็สอบตก เหมือนเวลาไปสอบแล้วมีข้อสอบแต่เราจำไม่ได้ คำตอบนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องทำการบ้านก่อนถึงจะไปสอบได้



อุทิศบาปให้ผู้อื่นได้ไหม
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ  ผมได้พบกับคำถามที่ว่า หากเราสามารถอุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่นได้แล้ว เช่นนั้น เราจะสามารถอุทิศบาปที่เราทำให้ผู้อื่นได้หรือไม่ครับ กราบเรียนถามพระอาจารย์ด้วยความเคารพครับ

พระอาจารย์: อ๋อ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าอุทิศได้ อุทิศได้แต่บุญ และบุญก็ต้องเกิดจากการทำทานท่านไม่ได้บอกให้อุทิศบุญจากการรักษาศีล บุญที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ท่านไม่ได้สอน ท่านสอนเพียงแต่บุญที่เกิดจากการทำทาน ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ไม่ได้สอนเรื่องว่าการเอาบาปไปอุทิศให้ผู้อื่นได้หรือไม่



ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 มกราคม 2565 10:50:21

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17454906925558_271812077_485681319606696_5823.jpg)

พ่อแม่แช่งลูกจะเป็นจริงไหมคะ
คำถาม: ถ้าพ่อแม่แช่งลูกจะเป็นจริงไหมคะ แต่เราไม่ได้ทำผิดอย่างที่พ่อแม่คิดค่ะ

พระอาจารย์: อ๋อ คำสาปแช่งมันไม่เป็นจริงหรอก การจะเป็นจริงเกิดจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ของแต่ละคน ทำบาปไม่ต้องให้ใครเขาสาปแช่ง มันก็เหมือนถูกสาป ทำบุญไม่ต้องให้ใครเขาให้พรมันก็ได้พรของมันอยู่ในตัว มันอยู่ที่การกระทำของเรา พระพุทธเจ้าทรงบอก เรามีกรรมเป็นของของเรา จะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่อยู่ที่คำสาปแช่ง เราเป็นคนอยู่ดีๆ ก็บอกเป็นควายอย่างนี้ เราเป็นควายขึ้นมาหรือเปล่า มันไม่เป็นควายหรอก


ฆ่าปลาเพื่อการศึกษาจะบรรเทาบาปได้อย่างไร
คำถาม: นมัสการและกราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ ด้วยหน้าที่การงานทำให้บางครั้งต้องทำบาป ฆ่าปลาเพื่อการศึกษา จะมีวิธีบรรเทาเบาบางบาปได้อย่างไรบ้างคะ

พระอาจารย์: ก็ทำบุญไง ทำบุญเยอะๆ ทำบุญให้มันมากกว่าบาป แต่ไม่ได้ไปลบล้างบาปที่ทำไว้ เพียงแต่ว่าถ้าบุญมันมากกว่าบาป บุญมันจะส่ง มันจะส่งผลให้กับจิตก่อน มันเป็นเหมือนกับไปบล็อกบาปไว้ไม่ให้แสดงผล แต่มันยังมีอยู่ในใจ จนกว่าช่วงไหนที่บุญมันน้อยกว่าบาป ช่วงนั้นบาปก็จะเริ่มแสดงผล

ต้องยอมแพ้มัน
คำถาม : ท่านพระอาจารย์เคยบอกว่า การเจ็บปวดเวลานั่งนี่อย่าไปคิดต่อสู้กับมัน

พระอาจารย์ :  ต้องเข้าใจมัน การต่อสู้นี่หมายความว่าเราอยากจะให้มันหาย เราต้องยอมแพ้มัน อย่าไปสู้มัน คือยอมให้มันปรากฏอยู่ มันจะอยู่ก็ให้มันอยู่ไป เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งไล่ยิ่งอยู่นาน ถ้าเราไม่สนใจมัน บางทีมันก็หายไปเอง เช่นเวลาเรานั่งเล่นไพ่นั่งดูหนังทั้งคืน เราไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ไม่มายุ่งกับเรา.


กิเลส
คำถาม : วันนี้ท่านพระอาจารย์เทศน์ว่า คนเรามันเบื่อง่าย ทานอาหารอร่อยๆซ้ำกัน ๒-๓ ครั้งก็เบื่อแล้ว เป็นเพราะอะไร สัตว์บางชนิดทานอาหารอย่างเดียวตลอดชีวิตได้ แต่เราเป็นเพราะกิเลสหรืออย่างไร ที่ทำให้ต้องเป็นอย่างนี้

พระอาจารย์ : เป็นกิเลส จิตจะแกว่งไปแกว่งมาอยู่เรื่อย จากความอยากมีอยากเป็น ก็จะแกว่งไปหาความเบื่อหน่าย ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น พอมีอะไรจำเจก็จะเบื่อ อยากจะได้ใหม่ เป็นเหรียญด้านเดียวกันแล้วแต่จะมอง อยากได้ของใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เบื่อของเก่าๆ ซื้อเสื้อผ้ามาใส่ได้ไม่กี่วัน พอไปเห็นชุดใหม่ก็อยากจะได้อีก

คำถาม : ส่วนใหญ่เป็นกันอย่างนั้นใช่ไหมค่ะ

พระอาจารย์ :  กิเลสตัณหาเป็นอย่างนี้ ถ้ายังมีโลภโกรธหลง มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาอยู่ ก็จะเป็นอย่างนี้ สิ่งต่างๆที่เราได้มาก็ไม่ได้ให้ความพอ ไม่มีคำว่าพอสำหรับของที่เราได้มา.


จะพ้นทุกข์ไม่ได้เกิดจากการขอ
คำถาม : การอธิษฐานขอให้พ้นทุกข์พ้นภัยในวัฏสงสาร จะพ้นได้ง่ายกว่าอธิษฐานอย่างอื่นหรือเปล่าคะในชาติต่อๆ ไป

พระอาจารย์: อ๋อ มันไม่พ้นหรอกเพราะมันจะพ้นทุกข์ไม่ได้เกิดจากการขอ การพ้นทุกข์ต้องเกิดจากการปฏิบัติทำให้ต้นเหตุของความทุกข์หายไป ทุกข์มันก็หายไป การอธิษฐานนี้ไม่ได้แปลว่าขอ แต่เรามักจะมาใช้แทนคำว่าขอกัน คำอธิษฐานของศาสนานี้เป็นการตั้งเป้า แสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการจะทำอะไร เราต้องการพ้นทุกข์ เราก็ต้องปฏิบัติธรรม ต้องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เราก็ต้องตั้งเป้าไปที่การชำระจิตใจ อธิษฐานว่าต่อไปนี้จะซักฟอกจิตใจทุกวันๆ ถ้าเราซักฟอกทุกวันเดี๋ยวจิตใจก็สะอาดขึ้นมา ความทุกข์ก็หายหมดไป ขอไม่ได้ อธิษฐานนี่ ถ้าอธิษฐานเพื่อขอ อย่าไปอธิษฐานให้เสียเวลา ถ้าอธิษฐานเพื่อปฏิบัตินี่ อธิษฐานได้ เช่น จะขอปฏิบัติชำระใจทุกวัน นั่งสมาธิทุกวัน ฆ่ากิเลสทุกวัน อย่างน้อยก็ขอฆ่าวันละตัวสองตัวก็ยังดี ฆ่ามันไปเรื่อยๆ อยากดื่มอยากกินอะไรที่ไม่จำเป็น เอ้า ตัดมันไปวันนี้ ไม่ดื่มมัน ไม่กินมัน


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 กุมภาพันธ์ 2565 11:46:15

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/92096747126844_273201678_496516905189804_4323.jpg)

ทำอย่างไรถึงจะหายโกรธ
คำถาม: ทำอย่างไรถึงจะหายจากอารมณ์โกรธบ่อยๆ เจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็หมั่นพุทโธพุทโธไว้ สองก็อย่าไปหวังอะไรจากใคร ความโกรธจากความผิดหวังต้องการอะไรแล้วไม่ได้ดังใจก็โกรธ แต่ถ้าเราไม่ต้องการอะไร สันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด เขาจะให้อะไรเราก็เอา เขาไม่ให้ก็ดี เขาจะดีกับเราก็ดี เขาจะไม่ดีกับเราก็ดี ถ้าอย่างนี้เราก็จะไม่โกรธ แต่ถ้าเรามั่นหมายว่าเขาจะต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ให้เรา พอเขาไม่ทำให้เรา เราก็โกรธเท่านั้นเอง ใจเรายังมีความอยาก ความอยากมาก ความยึดมั่นถือมั่นมาก งั้นต้องพยายามเปลี่ยนทัศนะคติของเรา ให้ยินดีตามมีตามเกิด อย่าไปอยากอย่าไปหวังอะไรจากใคร อยากจะได้อะไรก็หาเองทำเอง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี อย่างนี้มันก็จะไม่โกรธใคร ถ้ายังทำใจไม่ได้ตอนที่โกรธก็หยุดมันด้วยพุทโธพุทโธไป เพราะมันไม่ใช่เป็นของง่ายที่จะเลิกความโกรธได้ทันทีทันใด อย่างน้อยก็ให้มีอะไรคอยมาดับความโกรธ มีสติมาคอยหยุดมัน พอโกรธแล้วก็พุทโธพุทโธพุทโธ ท่องไปในใจ อย่าไปคิดถึงคนหรือเรื่องที่ทำให้เราโกรธ แล้วเดี๋ยวสักพักหนึ่งความโกรธก็จะหายไป


จิต สมอง ร่างกาย
ถาม: ที่คิดเรื่องทุกข์สุข เพราะจิตสั่งให้สมองคิดใช่ไหมครับ บ่อยครั้งที่เราไม่อยากคิดถึงเรื่องที่เป็นทุกข์ แต่สมองมันคิดเองหรือเปล่าครับ หรือเพราะจิตสั่ง

พระอาจารย์: อ๋อ สมองคิดไม่ได้ สมองไม่ใช่เป็นตัวคิด ตัวคิดคือจิต สมองเป็นตัวที่ประสานการเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย เป็นตัวที่ส่งสัญญาณต่างๆ ไปที่แขนที่ขาอีกทีหนึ่ง แต่ต้องรอรับคำสั่งจากจิตก่อน จิตสั่งบอกให้ยกแขนขึ้น พอสั่งยกแขนขึ้น สมองก็สั่งไปทางเส้นประสาทให้ยกแขนขึ้น ถ้าเกิดเส้นประสาทมันเสีย ก็ยกไม่ได้ ถ้าสมองมีไขมันอุดตัน เส้นเลือดไม่สามารถส่งสัญญาณไปที่แขนได้ แขนก็ยกไม่ได้ ถึงแม้จะมีจิตเป็นผู้สั่งก็ตาม

จิตเป็นผู้สั่ง แล้วสมองเป็นผู้มาสั่งร่างกายอีกทีหนึ่ง จิตเป็นคนสั่ง สมองเป็นผู้รับคำสั่ง แล้วก็มาสั่งให้ร่างกายส่วนต่างๆ ทำงานตามคำสั่ง สั่งให้เดิน สั่งให้ลุก สั่งให้นั่ง สั่งให้หันหน้าไปทางซ้ายทางขวานี้ ต้องมีสมอง ถ้าถอดสมองออกไปแล้ว ต่อให้จิตสั่งยังไงก็ไม่สามารถที่จะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ เช่น พวกที่มีสมองเสื่อมนี่ มีปัญหาทางสมองนี่ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหว ทำอะไรต่างๆ ได้

สมองนี่ก็เหมือนกับรถยนต์สมัยใหม่นี่ รถยนต์สมัยใหม่นี้มีตู้คอมฯ เครื่องคอมฯ อยู่ในรถ ใช่ไหม  คนขับก็สั่งรถให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ผู้รับคำสั่งก็คือตู้คอมฯ นี่ ตู้คอมฯ มันก็จะสั่งไปที่เครื่อง สั่งให้เปิดแอร์ สั่งให้ปิดแอร์ เปิดไฟปิดไฟ สมัยนี้ใช้ตู้คอมฯ เครื่องคอมฯ เป็นตัวควบคุมรถยนต์อีกทอดหนึ่ง แต่มันก็ต้องเอาคำสั่งจากคนขับ คนขับเป็นจิต ส่วนสมองนี่ก็คือคอมฯ ที่อยู่ในเครื่องอยู่ในรถ ถ้าคอมฯ เสีย คนสั่งยังไงมันก็ไม่ทำตามคำสั่ง ต้องเข้าอู่อย่างเดียว อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราสั่งให้สมอง สั่งให้ยกแขนยกขา มันไม่ขึ้น ก็ต้องไปหาหมอแล้ว หมอ..ทำไมแขนผมชายกไม่ขึ้นเลย หมอก็ต้องมาเช็คสมอง เช็คประสาทดูแล้ว ส่วนไหนที่มันขาดไป


ซ้อมไว้จะได้รู้จักวิธีรับ
คำถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ ว่าเราจะมีวิธีกระตุกสติ ดึงสติให้ได้ทันทีเวลาโดนดุด่าว่าร้ายอย่างไรคะ ตั้งสติไม่ค่อยทันเลยค่ะพระอาจารย์ กราบขอบพระคุณค่ะ

ท่านพระอาจารย์ : อ๋อ เราต้องฝึกซ้อมไว้ก่อน เราซ้อมด่าตัวเราเองไว้ก่อน เอาคำด่าที่เราไม่ชอบมาด่าบ่อยๆ เช่นเราไม่ชอบคำว่าดอกทองนี่ ก็เอามาท่อง..อีดอกทอง อีดอกทอง ท่องให้มันชินหูไปเลย ต่อไปเวลาใครเขาด่าเราอีดอกทอง เราก็..โอ๊ยชินอยู่แล้ว เราด่าของเราอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว เราต้องซ้อมก่อนเหมือนนักมวยต้องซ้อมเวลาที่เขาจะแย็บเรา เขาจะชกใต้ท้องเราหรือชกอย่างไร เราก็ต้องซ้อมไว้ เราถึงมีคู่ซ้อมไว้ชกเราก่อน เพื่อเราจะได้รู้จักวิธีรับ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ชอบคำดุคำไหน ก็เอามาท่องอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งมันชินหูชินใจไปแล้ว แล้วเราก็จะเฉยได้ โอ๊ยได้ยินมามากพอแล้วคำนี้ ด่ายังไงฉันก็ไม่สนใจแล้ว


เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมได้หรือไม่
ถาม: อยากถามว่ามนุษย์เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมได้หรือไม่คะ ควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง

พระอาจารย์: อ๋อ ได้ ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม แต่มันจะถึงจุดหนึ่ง..มันจะต้องแยกทางกัน คือทางโลกกับทางธรรมตอนต้นมันไปพร้อมๆ กันได้ ขั้นระดับทำบุญทำทานรักษาศีลนี้ไปควบคู่กับการทำมาหากินทางโลกได้ อยากจะหาความสุขทางโลกยังหาได้อยู่ ทำทานกับการรักษาศีลไม่ไปขัดขวางการหาความสุขความเจริญทางโลก แต่ถ้าจะเข้าสู่ขั้นที่ ๓ ขั้นภาวนานี้มันจะแยกทางกันแล้ว ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง อยากจะเจริญทางโลกก็ไปทางภาวนาไม่ได้ เพราะทางภาวนานี้ต้องไปบวชกันหรือต้องไปอยู่แบบนักบวช ต้องลาออกจากงานหรือเลิกทำธุรกิจ เลิกเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้ ไปอยู่แบบนักบวชหรือบวชแล้วถึงจะได้มีเวลาเจริญทางธรรมได้อย่างเต็มที่ ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะไม่สามารถทำสำเร็จ ถ้าจะเอาสองทางมันจะกลับไปกลับมา ทางโลกก็ไม่เจริญทางธรรมก็ไม่เจริญ เพราะมันวิ่งหน้าถอยหลัง เดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนี้ ไปไม่ถึงไหน


จิตที่สงบจะไม่มีอคติ
คำถาม: เพราะเหตุใดครับเมื่อจิตที่สงบดีแล้ว แล้วนำมาพิจารณาในธรรม เช่น เรื่องอสุภะเรื่องไตรลักษณ์จะรู้สึกได้เลยว่าจิตในขณะนั้นมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น และเช่นนี้หรือไม่ครับที่เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโกครับ

พระอาจารย์: เพราะว่าจิตขณะที่สงบไม่มีอคติไง ไม่มีความรักชังกลัวหลง งั้นถึงกล้าพิจารณาซากศพได้ กล้าพิจารณาดูของที่สกปรกได้ ดูของที่ไม่สวยไม่งามได้ ก็ไม่กลัวของเหล่านี้ แล้วก็ไม่รักไม่ชัง สามารถพิจารณาได้ ถ้าไม่มีสมาธินี่จิตมันจะถูกอคติครอบงำ พอไปเห็นสิ่งที่กลัวก็ไม่กล้ามอง ถ้าไปเห็นสิ่งที่เกลียดก็ไม่อยากจะมอง เห็นสิ่งที่รักก็มองไม่เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ก็จะคิดว่ามันเป็นสุข ก็เลยไม่สามารถเห็นความจริงได้
เหมือนกับแว่นตาเรานี่เห็นไหม ถ้าแว่นตาเรามีสีอะไรเคลือบอยู่ มีสีชมพูมีสีฟ้าเคลือบอยู่ เวลาเราเห็นสีที่เห็นผ่านแว่นตา มันก็จะไม่ได้เป็นสีที่แท้จริงของสีที่เราเห็น ถ้ามีสีชมพูมันก็จะเปลี่ยนไปมีสีออกชมพูไปหมด อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีอคติ ถ้ารักอะไรก็จะรักไปอย่างเดียว จะไม่เห็นว่ามันไม่น่ารักตรงไหน งั้นต้องทำให้ใจสงบ แล้วเหมือนกับเอาสีที่มาเคลือบมาแปะที่แว่นตาออกไป พอเอากระดาษสีที่มาแปะที่แว่นตาออกไปให้มันเป็นสีขาว ก็จะเห็นสีต่างๆ ตามความเป็นจริง
จิตที่สงบก็จะไม่มีอคติ จิตก็จะเห็นสิ่งต่างๆ เป็นไปตามความเป็นจริง เห็นสิ่งที่ไม่สวยว่าไม่สวย เห็นสิ่งที่สวยว่าสวย มันมีทั้งสวยไม่สวยในร่างกายของเรา แต่เราจะเลือกมองส่วนที่สวย ส่วนที่ไม่สวยเราไม่มอง เราเลยไม่สามารถพิจารณาอสุภะได้ หรือพิจารณาความตายของร่างกายได้


สวดมนต์ไม่ได้อยู่ที่ว่าพนมมือหรือไม่พนมมือ
คำถาม: ถ้าเราสวดมนต์แบบไม่พนมมือ จะมีอานุภาพเท่ากับการสวดมนต์แบบพนมมือหรือเปล่าเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ แล้วแต่กาลเทศะ ไม่พนมมือ ถ้าเราสวดคนเดียวในใจอยู่ในห้องส้วมก็สวดได้ จะมีอานุภาพไม่มีอานุภาพ อยู่ที่สวดแล้วคิดอะไรหรือเปล่า ถ้าคิดก็มีอานุภาพน้อยกว่าไม่คิด ถ้าสวดอย่างเดียวไม่คิดอะไร มันก็จะทำให้จิตมีพลังมากมีอานุภาพมาก ถ้าสวดไปด้วยคิดไปด้วยแข่งกัน ก็จะไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าพนมมือหรือไม่พนมมือ การพนมมือนี้ก็อยู่ที่กาลเทศะ ถ้าเราไปสวดในโบสถ์กับคนอื่น เขาพนมมือเราก็ต้องพนมมือไปกับเขา แต่ถ้าเรานั่งอยู่คนเดียวเราจะสวดในใจ นั่งขัดสมาธิสวดไปโดยไม่พนมมือก็ได้ นั่งอยู่ในท่าสมาธิไป ใช้การสวดมนต์แทนพุทโธไป


คุณยายอายุ ๙๒ ปี ชอบฟังธรรมอยู่ที่บ้าน
คำถาม: คุณยายของผมอายุ ๙๒ ปี ชอบฟังธรรมอยู่ที่บ้านเป็นประจำ ตอนนี้กำลังเจ็บจากอาการยอกเอว เคลื่อนไหวลำบาก มีธรรมะอะไรดีๆ ที่ให้ยายผมนำไปปฏิบัติได้บ้างครับ ขณะนี้ท่านก็ฟังพระอาจารย์ทางยูทูปครับ”

พระอาจารย์: ก็บอกว่าความเจ็บมันก็เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา อนิจจังก็คือมันมาแล้วเดี๋ยวมันก็ไปมันไม่แน่นอน มันจะอยู่ก็อยู่ มันจะไปก็ไป อนัตตา เราไปสั่งมันไม่ได้ ถ้ามันไม่ไป มันจะอยู่ก็ต้องอยู่กับมันไป อย่าไปอยากให้มันหาย แล้วมันจะไม่ทรมานใจ พยายามอยู่เฉยๆ ไม่ต้องขยับมันก็จะไม่เจ็บ พุทโธ พุทโธ ไป นั่งสมาธิไป ถ้าเวลาขยับมันเจ็บก็ยอมรับว่ามันเจ็บ อย่าไปอยากให้มันหายถ้ามันยังไม่หาย ถ้ามันไม่หายก็ให้มันอยู่ไป ถ้ามันจะหายก็ให้มันหายไปเอง ไม่ต้องไปทำอะไร ทำใจเฉยๆ ทำใจให้เป็นอุเบกขาเอาไว้ สักแต่ว่ารู้ไป


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2565 10:27:56

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/70271279000573_272969632_500965768078251_7924.jpg)

การทำทานเป็นเหมือนเอาเงินไปฝากธนาคาร
ถาม: เพื่อนถือศีล สวดมนต์ไหว้พระ แต่ไม่ใส่บาตร เขาบอกว่าการใส่บาตรได้บุญน้อยกว่าสิ่งที่เขาทำ จริงๆ แล้วคือแบบไหนเจ้าคะ

พระอาจารย์: เขาก็จะไม่ได้ผลบุญจากการทำทาน เขาไปไหนเขาก็อาจจะอดอยากขาดแคลน คนทำบุญไปไหนก็จะมีแต่ทรัพย์ มีอะไรรอเขาอยู่ ก็เหมือนเอาเงินไปฝากธนาคาร การใส่บาตรเป็นการทำทาน การทำทานนี่เป็นเหมือนเอาทรัพย์ เอาเงินไปฝากธนาคาร พอต้องการจะใช้ทรัพย์ก็ไปเบิกได้ คนที่ทำบุญทำทาน ชาติหน้ากลับมาเกิดก็จะไม่อดอยากขาดแคลน คนที่ไม่ได้ทำบุญ ก็กลับมาก็จะอดอยากขาดแคลน

การอ่านหนังสือธรรมะจะบรรลุธรรมได้ไหม
คำถาม: การอ่านหนังสือธรรมะมากๆ จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและบรรลุธรรมนั้น โดยไม่ต้องเดินจงกรมและนั่งสมาธิได้ไหมคะ

พระอาจารย์: ได้ ถ้ามีสมาธิแล้วก็ไม่ต้อง คนที่เขามีสมาธิแล้ว เขาฟังธรรมปั๊บเขาก็บรรลุได้เลย แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ธรรมที่ฟังไม่มีกำลัง เพราะธรรมนี้เป็นเหมือนมีดไง มีดที่เราจะเอาไปใช้ฟันอะไรต่างๆ แต่คนที่จะไปฟันไม่มีแรงอย่างนี้ ต่อให้ได้มีดคมขนาดไหนคนผอมแห้งแรงน้อยก็ไม่สามารถที่จะเอามีดนั้นไปทำประโยชน์ได้ ต้องทำให้คนนั้นหายจากผอมแห้งแรงน้อยก่อน ให้เป็นคนที่มีกำลังวังชาแบบนักกล้ามอย่างนี้ นักมวยอย่างนี้ พอเขามีกำลังแล้ว พอเขาได้มีด เขาก็สามารถเอามีดนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จิตใจของคนที่ไม่มีสมาธิเป็นเหมือนคนติดยาเสพติด คนผอมแห้งแรงน้อย ติดรูปเสียงกลิ่นรส เป็นพวกติดยาเสพติด ถ้ามาฝึกสมาธิได้ก็เหมือนคนที่มาเลิกยาเสพติด แล้วก็มารับประทานอาหารมาออกกำลังกาย วิ่งมาราธอนได้ พอมีกำลังระดับวิ่งมาราธอนได้ ทีนี้ก็พอได้อาวุธคือมีดมา ก็สามารถเอาไปใช้ทำประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

จิตและกายแยกออกได้อย่างไร
คำถาม: ขอความเมตตาพระอาจารย์ช่วยอธิบายเรื่องของจิตและกายด้วยค่ะว่าเราจะสามารถแยกออกได้อย่างไร ว่าจิตและกายนั้นเป็นคนละตัวกันและต่างกันอย่างไร เราควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ถูกวิธีและมีประโยชน์จริงๆ เจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวไง กายเป็นเหมือนรถยนต์นี้ จิตเป็นเหมือนคนขับรถก็เท่านั้นแหละ ถ้ารถไม่มีคนขับ รถก็ไปไหนไม่ได้ ก็จอดอยู่กับที่ คนขับก็คือจิต ร่างกายก็คือรถ จิตเป็นผู้ขับร่างกายๆ เป็นผู้สั่งให้ร่างกายไปไหนมาไหน สั่งให้ถามนี่ก็จิตเป็นคนสั่ง แล้วร่างกายก็พิมพ์ข้อความส่งข้อความเข้ามา นี่คือจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว จิตเป็นผู้รู้ผู้สั่งผู้คิดนี่ ร่างกายเป็นผู้รับคำสั่งทำตามคำสั่งของจิตอีกทีหนึ่ง จิตกับร่างกายมาเกาะติดกันมาแต่งงานกัน ตอนที่พ่อแม่สร้างร่างกายขึ้นมา แล้วก็จะเป็นคู่ผัวเมียหรือเป็นนายกับบ่าวไปจนถึงวันที่ร่างกายตายไป พอร่างกายตายไป จิตที่ไม่ได้ตายไปกับร่างกายก็ไปหาร่างกายอันใหม่ต่อไป

ปัญญา คือ เหตุผล
คำถาม: ปัญญาในทางธรรม เราสามารถเอาปัญญาที่เรานั่งสมาธิได้ส่วนหนึ่ง มาใช้ในการทำงานได้ไหมคะ

พระอาจารย์: ได้ ปัญญาคือเหตุผลไง ไม่ว่าจะทางโลก ทางธรรม ก็ต้องมีเหตุมีผล เช่น ทำยังไงถึงให้ได้รายได้มากขึ้น ก็ต้องไปทำที่เหตุใช่ไหม ต้องทำอย่างนี้เพิ่ม เช่น ขยายสาขา มีสาขาหนึ่งมันได้แค่นี้มันเต็มที่แล้ว อยากจะได้รายได้เพิ่มมากกว่านี้ ก็ต้องไปเปิดอีกสาขาหนึ่ง อันนี้ก็เป็นการคิดแบบเหตุผลไม่ใช่คิดว่า โอ๊ย อยากจะได้เพิ่มเดี๋ยวไปจุดธูปเทียน ๓ ดอก ไปขอพระ ให้พระประพรมน้ำมนต์ให้หน่อยเดี๋ยวจะได้รายได้เพิ่ม มันก็ไม่ใช่เหตุผล ฝรั่งไม่เห็นจุดธูปเทียนเลย คนที่อเมริกาไม่เห็นเขาจุดธูปเทียนกัน เป็นมหาเศรษฐีอันดับ ๑ ของโลก เขาใช้เหตุผลทั้งนั้น ตอนนี้คนต้องการอะไร Tesla คนต้องการรถไฟฟ้า กูผลิตรถไฟฟ้าให้เยอะ เลยกลายเป็นเศรษฐีอันดับ ๑ ของโลกไปแล้ว

คำถาม: ก็ต้องใช้ปัญญา

พระอาจารย์: ใช้เหตุผลไง ปัญญาก็คือเหตุผล ทำอย่างนี้แล้วจะได้อย่างนี้ ทางธรรมก็คือ ทำอย่างนี้แล้วก็จะทุกข์ ทำอย่างนี้แล้วก็จะสุข ทางธรรมดูที่สุขที่ทุกข์ ไม่ได้ดูที่เงินที่ทอง ทำยังไงไม่ให้ทุกข์ ทำยังไงแล้วถึงจะสุข ก็มี ๓ อย่าง ๑.ไม่ทำบาป ๒.ทำแต่บุญ ๓.หยุดกิเลส หยุดความอยาก นี่คือทางธรรม ปัญญาทางธรรมก็เป็นแบบนี้ ต่างกับทางโลก คือเป้าหมายทางธรรมนี่เอาที่ความสุขเป็นหลัก การดับความทุกข์เป็นเป้าหมาย ทางโลกก็ดูที่เงินทอง รายได้ ใช่ไหม

ไม่อยากกลับมาเกิดเป็นคน
คำถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ คือปัจจุบันได้ฝึกสมาธินาน แล้วก็มีการพยายามปลง แล้วคราวนี้พอฝึกไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าไม่อยากเกิดมาเป็นคน เพราะรู้สึกว่าไม่ว่าจะเกิดมาดีแค่ไหนมันก็ต้องทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าสวยแค่ไหนก็ต้องทุกข์อยู่ดี คราวนี้อยากจะคิดต่อว่าแล้วต่อจากนี้ไปเราจะต้องคิดว่าต้องไม่เกิด หรือคิดว่าต้องเกิดมาเป็นอะไรแบบไหนคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ต้องเลิกใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข แล้วไปหาความสุขจากการนั่งสมาธิแทน เหมือนกับแม่ชีนี่ไม่ใช้ร่างกายไปหาความสุขไปนั่งสมาธิแทน ต่อไปเราก็ไม่ต้องกลับมามีร่างกาย ไม่ต้องกลับมาเกิดเหมือนกับเราเลิกใช้มือถือ ถ้าเราเลิกใช้มือถือแล้วทีนี้เราก็ไม่ต้องไปซื้อมือถือใหม่อยู่เรื่อยๆ ถ้ายังใช้มือถืออยู่ เดี๋ยวรุ่นนี้ผ่านไปหมดไป อ้าวรุ่นใหม่ออกมาก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเรายังใช้ร่างกายหาความสุขอยู่ แล้วร่างกายนี้ตายไป เราก็ต้องกลับไปหาร่างกายใหม่มาเป็นเครื่องมือหาความสุขอีก แต่พอเราไปฝึกนั่งสมาธิได้ เราก็ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ถ้าอยากจะไม่กลับมาเกิดมามีร่างกาย ก็ต้องไปหยุดความอยากใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ไปหาความสุขแบบนักบวช


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 14:29:14
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27657836468683_274460999_510007417174086_4488.jpg)

อย่าไปยุ่งกับชีวิตของเขา
คำถาม: ลูกมีเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังจะทำงานเสริมช่วงกลางคืน เป็นเด็กเสริฟในร้านอาหารที่มีการขายเหล้าเบียร์ด้วย ลูกแนะนำให้เขาไปหางานอื่นทำ เพราะเกรงว่าเพื่อนทำงานนี้แล้วจะไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขได้ การแนะนำแบบนี้ลูกมีความเห็นที่ถูกต้องไหมเจ้าคะหรือควรแนะนำเขาอย่างไรดี

พระอาจารย์: ก็แล้วแต่ว่าเขาขอคำแนะนำจากเราหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ขอก็อย่าไปแนะนำดีกว่า ถ้าเขาไม่มั่นใจเขาสงสัยก็ถามเรา เราก็บอกเขาไปจะดีกว่า เพราะอยู่ดีๆ เราอย่าไปสอดอย่าไปยุ่งกับชีวิตของเขามากเกินไปเลย เดี๋ยวดีไม่ดีอาจจะทะเลาะกันก็ได้ งั้นถ้าเขาไม่ได้มีความต้องการขอคำปรึกษาจากเรา เราก็เฉยๆ ไป หรือถ้าพูดก็พูดในเชิงแบบไม่อยากให้สะเทือนใจเขา พูดในทางเป็นกลางๆ ว่าไปฟังเทศน์วันนี้มา พระท่านสอนว่าสุรายาเมานี้มันไม่ดี อย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน อย่าไปอยู่ใกล้มัน ก็พูดไปแบบนั้นได้ แต่ถ้าจะไปสอนไปบอกเขาโดยตรงนี้ เขาอาจจะไม่พอใจก็ได้ งั้นก็ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะฟังหรือไม่


การรำบูชาพระเป็นบุญหรือเป็นบาป
คำถาม: การรำบูชาพระเป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นการกระทำที่ควรปฏิบัติหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: อ๋อ มันก็เรียกว่าเป็นอามิสบูชา เป็นการบูชาแบบผิวเผิน ไม่ได้เนื้อได้หนัง ได้แต่เปลือก ได้แต่ความเคารพว่าเราเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ลบหลู่ แต่เรายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งคำสอนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ยังไม่ได้ผลที่จะได้จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นต้น เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งคำสอนของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราถึงจะได้รับสิ่งที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มอบให้กับเรา ถ้าเราเพียงแต่รำแต่ไหว้แต่กราบ เราจะยังไม่ได้ผลที่ท่านต้องการให้เราได้รับกัน


ควรวางอุเบกขาในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรอย่างไร
คำถาม: สิ่งที่เราได้เห็นรับรู้และสัมผัส ควรปล่อยวางอุเบกขาในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ควรวางตัวและปฏิบัติอย่างไรครับ

พระอาจารย์: ก็เฉยๆ กับทุกสิ่งทุกอย่างไป เห็นอะไรจะถูกใจไม่ถูกใจเราก็ห้ามเขาไม่ได้ เช่นเสียง เสียงคนชมเสียงคนด่าเราก็ไปห้ามเขาไม่ได้ ถ้าเราไปยินดียินร้ายเราก็จะแกว่งไปแกว่งมาเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าเราทำใจเฉยมันก็ไม่แกว่งมันก็สบาย เวลาใจแกว่งนี่มันทำให้ใจเราไม่สบาย งั้นพยายามรักษาความนิ่งของใจด้วยการปล่อยวาง แต่ไม่ได้ปล่อยภาระหน้าที่ เขาพูดเขาสั่งให้ทำอะไร ถ้าเป็นหน้าที่ของเรา เราก็ต้องทำ ถึงแม้เราจะไม่ชอบทำแต่เมื่อเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำเราก็ต้องทำ แต่เราไม่ไปมีอารมณ์กับคำสั่งของเขา เขาจะสั่งให้เราทำอะไรจะชอบไม่ชอบถ้าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่เราต้องทำเราก็ทำไป แต่เราจะไม่มีอารมณ์ ทำแล้วเขาจะชมหรือไม่ชมก็ไม่มีอารมณ์ เขาจะตำหนิก็ไม่มีอารมณ์ เขาจะชมก็ไม่มีอารมณ์ ฟังด้วยเหตุด้วยผลไป ถ้าตำหนิไม่ถูกตรงไหนก็เอาไปแก้ไขทำใหม่ ก็ว่าไปตามเรื่องตามราว นี่คือความเป็นอุเบกขา คือ ไม่มีอารมณ์แต่ไม่ได้ไม่มีการรับรู้ มีการรับรู้และมีการรับผิดชอบต่อหน้าที่ภาระการงานต่างๆ ที่เรายังต้องทำอยู่


ฆราวาสที่จะได้บุญควรทำอย่างไร
คำถาม: ได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์บางท่าน ท่านบอกว่าการเป็นฆราวาสที่จะได้บุญจะต้องประกอบไปด้วย ทาน ศีล ภาวนา ทานนี่คือการทำบุญอย่างต่ำ ศีลคือการทำบุญอย่างกลาง แล้วก็ภาวนาคือการทำบุญอย่างสูง ทีนี้ผมก็เลยคิดเสมอว่า เกิดมายังไม่เคยปฏิบัติธรรมสักครั้งเลย และได้ฟังธรรมเทศนาจากพระอาจารย์บอกว่า บุญไม่ได้อยู่ที่วัด บุญทำที่ไหนก็ได้ ผมนั่งสมาธิประจำ เลยสงสัยว่าจะได้บุญเท่ากับที่ไปปฏิบัติที่วัดยังไงในเมื่อทานก็ทำอยู่เป็นบางครั้ง ทำอยู่เรื่อยๆ แต่ว่าศีล การที่เป็นฆราวาสอยู่บ้าน บางครั้งการถือศีล ๕ เรายังถือไม่ได้เลย แล้วเราจะได้บุญยังไงครับ

พระอาจารย์: คือ การทำอะไรมันก็ได้มากได้น้อยไง ทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย ทำทานน้อยก็ได้บุญน้อย ทำทานมากก็ได้บุญมาก สำหรับระดับกลาง รักษาศีลได้มากก็ได้บุญมากกว่ารักษาศีลได้น้อย ทุกระดับมันก็มีมากน้อยของมันไป งั้นไม่ต้องไปกังวล ให้เราทำเท่าที่เราจะทำได้ไปก่อน วันไหนก็ทำบุญได้ ทำทานได้ รักษาศีลได้ ภาวนาได้ ขอให้มันมีเวลาว่างเท่านั้นแหละ ข้อสำคัญมีเวลาทำหรือไม่


ทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องดับที่ใจ
คำถาม: เคยฟังพระพูดว่าทุกข์อยู่ที่ไหนให้ดับที่นั่นหมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ แล้วทำอย่างไรล่ะเจ้าคะ

พระอาจารย์: เอ้า เวลาไฟลุกจะไปดับไฟที่ไหนล่ะ ไฟลุกที่บ้านแล้วไปดับไฟที่รถมันจะได้หรือเปล่า ไปลุกที่บ้านก็ต้องดับไฟที่บ้าน ทุกข์มันเกิดที่ใจก็ต้องไปดับที่ใจ แต่เราโง่กัน เวลาเกิดความทุกข์ใจเราก็ไปดับที่คนนั้น เพราะเราไปคิดว่าเขาทำให้เราทุกข์ เช่น คนเขาด่าเราอย่างนี้เราก็เลยไปจัดการกับเขาเพื่อเราจะได้หายทุกข์ มันไม่หายหรอก ทุกข์มันเกิดที่ใจเราต้องดับทุกข์ที่ใจ สาเหตุที่ทำให้ใจทุกข์ก็เพราะไม่อยากให้เขาด่าเรา เรามาหยุดสาเหตุนี้ อย่าไปอยากให้เขาไม่ด่าเรา ปล่อยให้เขาด่าเรา พอเราหยุดความอยากไม่ให้เขาด่าเราได้ต่อไปเขาด่าเรากี่ครั้งเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่มีความอยากไม่ให้เขาด่าเรา เรากลับจะดีใจ โอ้ วันนี้เขาด่าเราแสดงว่าเขาคิดถึงเรานะ เขารักเรา เขาชอบเรานะ งั้นอย่าไปแก้ ความทุกข์ใจต้องแก้ที่ใจ แก้ที่สาเหตุของใจ ดับความอยากของใจแล้วความทุกข์ใจก็จะหายไป อย่าไปแก้ที่คนที่เขาด่าเรา ไม่จบ พอเขาด่าเรา เราก็ด่าเขากลับ เขาก็เลยตีเราซิ เขาตีเรา เราก็ฆ่าเขาซิ มันก็ไปกันใหญ่ 


ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องไปดูศพ
คำถาม: ลูกแยกห้องนอนกับสามีมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เราทั้งสองตั้งใจปฏิบัติธรรมกันมาโดยตลอด โดยส่วนตัวเองได้พิจารณาอสุภะและพิจารณามรณานุสสติมาโดยตลอด ความกำหนัดจึงพอลดลงได้บ้าง แต่พ่อบ้านยังไม่สามารถพิจารณาอสุภะได้ เขาถึงอยากจะให้ลูกพาไปดูซากศพคนตาย เพื่อจะได้น้อมนำมาพิจารณา จะได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์: ถ้าคิดว่าทำให้จิตมันระลึกถึงอสุภะได้ก็ไป เป้าหมายก็คือให้เราสามารถระลึกถึงส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกายได้ ถ้ายังไม่เห็นเราต้องไปดู เช่น ไปดูการชันสูตรศพที่โรงพยาบาลก็ไปได้ แต่อยู่ที่ว่าใจเราเข้มแข็งพอหรือเปล่า เพราะได้ยินว่าบางคนไปแล้วจะเป็นลม ไปดูแล้วบางคนจะอาเจียน บางคนจะเป็นลม แสดงว่าจิตยังไม่สงบพอ ก็อาจจะต้องฝึกสมาธิให้จิตมีความสงบ มีความเข้มแข็งก่อน ปราศจากอารมณ์ ไม่มีปฏิกิริยาความชังความกลัว แต่ถ้าไปดูได้ก็ไปเลย ดูไปเพื่อให้เอาภาพนั้นมาฝังในใจเรา ให้เราระลึกถึงมันอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ จนกระทั่งสามารถระลึกได้ทุกเวลา เวลาเกิดกามารมณ์ ก็นึกถึงภาพศพเลย นึกขึ้นมา

พระพุทธเจ้าสอนพระรูปหนึ่ง ท่านก็มีปัญหาเรื่องกามารมณ์ พอดีมีนางโสเภณีสวยงามมาก มีชื่อเสียงมากได้เสียชีวิตไป ท่านก็เลยบอกให้พระรูปนี้ไปเยี่ยมศพ ไปดูศพของโสเภณีคนนี้ พอไปเห็นเท่านั้น ท่านก็บรรลุธรรมได้เลย มันก็อยู่ที่ว่ามีสมาธิหรือไม่มี ถ้ามีสมาธิปั๊บ เห็นธรรม เห็นปัญญา เห็นด้วยปัญญา ก็จะสามารถที่จะระงับกามตัณหาได้ ราคะตัณหาได้ งั้นถ้าไปได้ก็ไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องไป บางคนถ้าสามารถเจริญ ระลึกถึงอสุภะได้โดยที่ไม่ต้องไปก็ไม่ต้องไป สามารถควบคุมกามารมณ์ได้ เช่นภรรยาก็ไม่ต้องไปก็ได้ เพราะสามารถที่จะคุมกามารมณ์ของเขาได้ แต่ถ้าจะไปเป็นเพื่อนก็ได้ไม่เป็นปัญหาอะไร เพียงแต่พูดว่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องไปดู เดี๋ยวโรงพยาบาลต้อนรับไม่ไหวนะ มีแต่ผู้ปฏิบัติธรรมอยากจะไปดูซากศพกัน ใช่ไหม ก็แล้วแต่กำลังของจิตแต่ละคน ไม่เหมือนกัน


จิตใจท้อแท้หดหู่
คำถาม: ตอนนี้จิตใจท้อแท้และหดหู่มากค่ะ พยายามนั่งสมาธิ แต่พอสติหลุดมันก็กลับไปหดหู่เหมือนเดิม จะต้องทำอย่างไรให้เรามีกำลังใจ

พระอาจารย์: อ๋อ ต้องพยายามดึงใจกลับมาด้วยสติ ถ้าไม่มีกำลังดึงมาก็อาศัยฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ที่เราศรัทธา การฟังธรรมก็จะช่วยให้เรามีกำลังจิตกำลังใจได้ ฟังไปเรื่อยๆ แล้วอาการหดหู่อาการท้อแท้เบื่อหน่ายก็จะหายไปได้ เวลาฟังธรรมจะทำให้เราเกิดมีกำลังเพราะได้ยินได้ฟังธรรมแล้วมันเกิดเป็นเหมือนกับต้นไม้ที่ได้น้ำ เวลาที่เราท้อแท้ไม่มีกำลังจิตกำลังใจก็ฟังธรรม แต่ต้องเป็นธรรมของพระปฏิบัตินะ ถ้าเป็นธรรมแบบที่เป็นตำรานี้อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการฟังธรรมจากพระปฏิบัติ หรือถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม ก็ต้องสร้างสติขึ้นมาเองด้วยการบริกรรมพุทโธพุทโธ หรือสวดมนต์ไปนานๆ อย่าขี้เกียจ ขยันสวดมนต์ไว้ ขยันพุทโธไว้ เดี๋ยวสักพักหนึ่ง กำลังใจก็จะกลับฟื้นคืนขึ้นมา


ไม่มีใครตายมีแต่ความตาย
คำถาม : กราบนมัสการเรียนถามหลวงพ่อพระอาจารย์เจ้าค่ะ คำกล่าวที่ว่า ไม่มีใครตาย มีแต่ความตาย เป็นอย่างไรคะ กราบสาธุค่ะ

พระอาจารย์ : คือร่างกายมันไม่มีตัวตน เวลาร่างกายตายมันก็เป็นความตายของร่างกาย ไม่มีใครตาย จิตผู้มาครอบครองร่างกาย ก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย จิตเป็นผู้รู้ผู้คิด ก็เพียงแต่แยกออกจากกัน เหมือนกับเราสูญเสียตุ๊กตาไปตัวหนึ่งหรือว่าสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปตัวหนึ่ง เช่น สุนัข เวลาร่างกายของสุนัขตายไป เราก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกายของสุนัข เมื่อเราไม่มีสุนัขตัวนี้แล้ว ถ้าเรายังชอบเลี้ยงสุนัขอยู่ เราก็ไปหาสุนัขใหม่มาเล่นต่อไปก็เท่านั้นเอง ร่างกายก็เป็นเหมือนสุนัขตัวหนึ่ง


ถาม : วันนี้ท่านอาจารย์เทศน์ถูกใจมากเลยค่ะ ที่เทศน์ว่าทำไปเถิดไม่ต้องไปดูคนอื่นเขา

พระอาจารย์ :  อยู่คนละชั้นกัน ถ้าอยู่ชั้นอนุบาลก็อย่าไปมองชั้นประถมชั้นมัธยม จะทำให้ท้อแท้ เพราะทำเหมือนเขาไม่ได้ เรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ เรื่องของผลที่ได้ทำมามากน้อยต่างกัน เรื่องของบุญบารมี อย่างที่มีคำพูดว่า แข่งเรือแข่งพายพอแข่งกันได้ แต่แข่งวาสนาบารมีนี้ แข่งกันไม่ได้ ต้องสะสมกันมา ถ้ามีน้อยก็ต้องตักให้มากๆ

อยู่ที่ความเพียรเป็นหลัก ที่จะพยายามตักตวงสร้างบุญบารมี พวกเรามีเวลาเท่ากัน มีอาการ ๓๒ เท่ากัน ที่ไม่เท่ากันก็คือความเพียร จึงต้องสร้างความเพียรให้มาก เพียรมากก็จะไปได้เร็วไปได้ไกล เหมือนกับเติมน้ำมันรถ ถ้าเติมน้อยก็จะไปไม่ได้ไกล เติมมากก็จะไปได้ไกล น้ำมันรถก็คือความเพียร วิริยะบารมี เพียรตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ ถึงจะเรียกว่าเพียรอย่างเต็มที่ เพียรเจริญมรรค เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ถ้าเพียรอย่างนี้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ภายใน ๗ ปี รับรองต้องได้อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน นี่ก็ผ่านมาแล้ว ๗ ปี ถ้ายังไม่ได้ก็แสดงว่าเพียรยังไม่มากพอ ถ้าอยากจะโทษใคร ก็ให้โทษความเพียร ความเพียรไม่มากพอ ต่อให้มีความปรารถนาแรงกล้าขนาดไหนก็ตาม มีศรัทธามีฉันทะมากเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่มีความเพียรก็จะไม่ได้อะไร


ไม่ต้องคิด
ถาม :  พระอาจารย์คะ ถ้าเรานั่งสมาธิสักพักหนึ่ง จิตเรานิ่งแล้วนี่ เราพิจารณาดูได้ไหมคะ

พระอาจารย์ :  ในขณะที่นิ่งจิตไม่คิดปรุงอะไรก็ไม่ต้องคิด ให้นิ่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เป็นการพักจิต เป็นการให้อาหารกับจิต เป็นการให้พลังกับจิต รอจนจิตออกจากความนิ่ง เริ่มคิดปรุง แล้วค่อยเอาสังขารความคิดปรุงนี้มาพิจารณา ไม่เช่นนั้นแล้วจิตจะไม่มีกำลัง เวลาไปพิจารณาอะไร จะไม่มีกำลังทำตามที่ได้พิจารณา คำว่าเวลาจิตสงบแล้วให้ออกพิจารณานี้ ท่านหมายถึงให้ออกจากความสงบก่อน แล้วค่อยไปเจริญปัญญา แต่ในขณะที่มันสงบนิ่ง ก็เหมือนกับคนนอนหลับ ก็อย่าไปปลุก ปล่อยให้หลับให้พอ เพราะถ้าไม่พอ เราไปปลุกขึ้นมาทำงาน เขาจะหงุดหงิด จะไม่มีกำลัง  แต่ถ้าเขาหลับเต็มที่แล้วตื่นขึ้นมาเอง  ทีนี้บอกให้เขาไปทำอะไรเขาก็จะไปทำได้  เพราะมีกำลังวังชา  ได้พักอย่างเต็มที่แล้ว  การทำจิตให้สงบก็เป็นการพักจิตให้มีกำลัง  ที่จะไปทำงานขั้นปัญญาต่อไป  แต่ในขณะที่พักอยู่ในความสงบนั้น อย่าเพิ่งออกไปทำอะไรทั้งสิ้น ให้นิ่งอยู่เฉยๆ อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยให้เขานิ่งไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะออกมา.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 มีนาคม 2565 10:38:57
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41788592603471_275555459_521052079402953_5604.jpg)

เดินปัญญา
คำถาม: เดินปัญญา คือ เมื่อเจอสุขให้วางเฉย เมื่อเจอทุกข์ให้วางเฉย ดึงใจกลับมาภาวนา มามีสติเหมือนเดิม ถูกไหมครับ

พระอาจารย์: ก็คือให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์อย่าไปอยาก เห็นอะไรแม้แต่ความสุขก็เป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หายไป ถ้าอยากให้มัน อยากได้มัน อยากให้อยู่กับเรา เวลามันหมดไปก็จะทำให้เราทุกข์ คือ ไม่ให้ยินดียินร้ายกับสุขกับทุกข์ ทุกข์มาแล้วเดี๋ยวก็หายไป ถ้าทุกข์มาแล้วอยากให้มันหายไปก็ทุกข์อีก ดังนั้นทุกข์มาก็ให้อยู่กับทุกข์ไป สุขมาก็ให้อยู่กับสุขไป แต่อย่าไปยึดอย่าไปติด สุขก็ไม่ติด ทุกข์ก็ไม่ขับไล่ไสส่ง


คำถาม
คำถาม: เราสามารถเจริญทางโลกและทางธรรมไปพร้อมกันได้ไหม มีวิธีปฏิบัติอย่างไร กราบสาธุครับ

พระอาจารย์:  ช่วงเริ่มต้นก็ปฏิบัติทั้งทางธรรมทางโลกพร้อมกันไป คือเราก็ทำงานไปหาเงินหาทองไป แล้วมีเวลาเราก็ทำบุญทำทานไปรักษาศีลไปนั่งสมาธิไป แต่ปฏิบัติไม่ได้มาก ถ้าเราต้องการที่จะไปทางธรรมได้มากขึ้น เราก็ต้องแยกตัวไป เพราะทั้งสองทางนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ แต่ตอนที่เราเริ่มปฏิบัติใหม่ๆเรายังไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้มาก เราก็จะมีเวลาให้กับทางโลกได้ พอต่อไปถ้าเราปฏิบัติธรรมได้มากขึ้นๆ เราก็อยากปฏิบัติมากขึ้นๆ เราก็ต้องเอาเวลาที่ให้กับทางโลกมาให้กับทางธรรมต่อไป ก็ต้องแยกทางกันไป


จิตที่เป็นมหาสติ
คำถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์เรื่องจิตที่เป็นมหาสติ ที่เป็นปัญญา แตกต่างจากจิตที่เป็นกิเลสอย่างไร และมีวิธีสังเกตดูจิตที่เป็นสัมมาสติอย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็สติ จิตที่มีสติที่เป็นมหาสติ ก็คือ ควบคุมความคิดได้ หยุดความคิดได้ หยุดอารมณ์ต่างๆได้ พอโกรธก็หยุดได้ พอโลภก็หยุดได้ เรียกว่ามีกำลังที่สามารถคุมจิตได้เรียกว่ามหาสติ พวกที่ไม่มีมหาสติ บางทีก็คุมได้ บางทีก็คุมไม่ได้ บางทีโกรธ บางทีก็หยุดได้ บางทีก็หยุดไม่ได้ นี่ต่างกันเหมือนรถแหละ รถเบรกดีกับรถเบรกไม่ดี ใช่ไหม รถเบรกดีเหยียบปุ๊บก็หยุดปั๊บ รถเบรกไม่ดีเหยียบปุ๊บต้องไปชนนั่นก่อน ถึงจะหยุด


อารมณ์เดียว
ถาม : อารมณ์เดียวหมายถึงอย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อารมณ์เดียว หมายถึง ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนั้น ให้รู้ว่าเขามาแล้วไป เขาเกิดแล้วดับ คือ ..ให้รู้เฉยๆ เขาเป็นอย่างไร ก็รู้เขาอย่างนั้นไป เขาด่าเรา ก็รู้ว่าเขาด่าเรา เขาชมเรา ก็ให้รู้ว่าเขาชมเรา “ แต่เราอย่าไปมีปฏิกิริยา กับคำชมคำด่าของเขา ให้รู้เฉยๆ “


วิธีวางเฉยกับโลกธรรม
ถาม: อยากทราบวิธีการวางเฉยกับโลกธรรมเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: ก็ต้องฝึกสมาธินี่แหละถึงจะวางเฉยได้แบบจริงๆ ไม่อย่างนั้นก็เป็นแบบเฉยเมย หรือเฉยแบบอึดอัดภายในใจ แต่ถ้าได้เฉยแบบสมาธิที่เรียกว่าอุเบกขา มันจะเบา มันจะสบายใจ มันจะไม่วุ่นวายกับเรื่องอะไรต่างๆที่มารับรู้ จะไม่มีความรักความชัง ความกลัวความหลง อันนี้เกิดจากการทำใจให้สงบด้วยการฝึกสติพุทโธๆไปเรื่อยๆ


พระอรหันต์ตกใจไหม
ถาม: พระอรหันต์ถ้าท่านโดนหมาเห่าท่านจะตกใจไหมคะ

พระอาจารย์: หลวงตาท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เวลาเดินไปแล้วเห็นกิ่งไม้ตกอยู่ แต่คิดว่าเป็นงูแล้วเราจะไปเหยียบ ท่านบอกท่านจะกระโจนเลย มันเป็นสัญชาตญาณ แต่ใจจะไม่มีความรู้สึกหวาดกลัว หรือตกอกตกใจอะไร ใจเฉย แต่ปฏิกิริยาต่อสิ่งที่พบเห็นมันไวมาก มันเป็นสัญชาตญาณ หรืออีกในกรณีหนึ่ง เดินไปแล้วลื่นจะหกล้ม ถ้ามือไขว่คว้าหยิบอะไรได้ก็จะไขว่คว้าทันทีไม่ปล่อย แต่จะไม่ได้ตื่นเต้นตกใจอะไร


ต้องมีเหตุการณ์ที่ท้าทาย
คำถาม:  ที่ท่านอาจารย์บอกว่าในเรื่องความเจ็บและความตาย ต้องนำมาพิจารณา เรารับรู้ในลักษณะสัญญา แต่ถ้าจะให้โอปนยิโก น้อมนำเข้ามาในตัว ก็ยังมีความสงสัยอยู่ว่าเราจะดำเนินในขั้นต่อไปอย่างไรครับ

พระอาจารย์: ต้องมีเหตุการณ์ที่ท้าทายความเป็นความตาย เช่นไม่สบายไปหาหมอ หมอบอกว่าคุณเป็นโรคมะเร็งนะ ขั้นสุดท้ายแล้ว อันนั้นแหละคุณจะต้องมาดูใจของคุณแล้วว่า เฉยหรือไม่เฉย กลัวหรือไม่กลัว หลงหรือไม่หลง ยังคิดว่าร่างกายยังเป็นเราอยู่หรือเปล่า ถ้าเราเห็นว่าร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็น ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้ามันเป็น ดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวมันก็ต้องกลับคืนสู่ ดินน้ำลมไฟ


นิพพานคืออะไร
คำถาม: กราบถามว่านิพพานไม่ใช่สถานที่ ไม่มีตัวไม่ใช่ตน พระท่านสอนว่าทำใจให้สะอาดจากกิเลสแล้วเข้านิพพาน แสดงว่าใจนั้นแหละคือนิพพาน นิพพานคือใจใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: เออ นิพพานคือใจที่สะอาดที่ปราศจากกิเลสตัณหา ไม่ใช่ใจที่ยังมีกิเลสตัณหาอยู่เป็นนิพพานไม่ได้ เหมือนเสื้อผ้าที่สะอาดกับเสื้อผ้าที่สกปรก เสื้อผ้าที่สะอาดเราไม่เรียกว่าเสื้อผ้าสกปรก เราเรียกว่าเสื้อผ้าสะอาด การที่จะทำให้เสื้อผ้าสะอาดก็ต้องเข้าเครื่องซักฟอกพอซักเสร็จมันก็สะอาด ใจเราก็เหมือนกัน ตอนนี้มันสกปรกด้วยกิเลสตัณหา เราก็ต้องซักฟอกด้วยการปฏิบัติธรรม พอเราปฏิบัติธรรมไปเดี๋ยวใจเราก็จะสะอาดปราศจากกิเลสตัณหา เขาเรียกว่านิพพาน


สติคุมใจ
ถาม : ลูกเกิดเวทนา เป็นโรคไขข้อ  นั่งได้ระยะหนึ่งจิตจะบอกให้หยุดนั่ง เป็นเพราะสติไม่แก่กล้า หรืออินทรีย์ ๕ ยังไม่พร้อม

พระอาจารย์ : สติก็เป็นหนึ่งในอินทรีย์ ๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เวลานั่งถ้ามีสติอยู่กับคำบริกรรม จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่  ความเจ็บที่เกิดจากร่างกายจะไม่รุนแรง เท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ  ถ้าใจไม่มีโอกาสปรุงแต่ง ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด สติจะคุมใจให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็จะนั่งได้นาน จะสงบ จะไม่ค่อยเจ็บ


จิตกับอารมณ์ต่างกันไหม
คำถาม: จิตกับอารมณ์ต่างกันไหมครับ

พระอาจารย์: จิตก็เป็นเหมือนท้องฟ้า อารมณ์ก็เหมือนเมฆหมอก อารมณ์อยู่ในจิต อารมณ์ก็เกิดดับเกิดดับ ไปมาไปมา แต่จิตไม่ดับ จิตเหมือนท้องฟ้า จิตมีอยู่ตลอดเวลา จิตรู้อยู่ตลอดเวลา เป็นผู้รู้ ส่วนอารมณ์หรือความคิดต่างๆ นี้ไปๆ มาๆ เกิดดับเกิดดับเหมือนเมฆหมอกบนท้องฟ้า ท้องฟ้าคือใจหรือจิต ส่วนเมฆหมอกนี้คืออารมณ์ต่างๆ


กามคุณ ๕ หมายถึงอะไร
คำถาม: กามคุณ ๕ หมายถึงอะไรครับ พระอาจารย์ขอเมตตาอธิบายพอเข้าใจเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติครับ

พระอาจารย์: กามคุณ ๕ ก็คือรูปที่เราเห็นด้วยตา เสียงที่เราได้ยินด้วยหู กลิ่นที่เราสัมผัสด้วยจมูก รสที่เราสัมผัสด้วยลิ้น และความหนาวเย็นหรือความแข็งกับความอ่อนที่มากระทบกับร่างกาย เรียกว่าโผฏฐัพพะ นี่เรียกว่ากามคุณ ๕ “กาม” แปลว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกาย ถึงจะสามารถเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะได้



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 มีนาคม 2565 10:50:29
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87219808209273_277327806_529620171879477_7154.jpg)

ต้องจุดประกาย
ถาม : พอดีมีโอกาสหยุดงาน ๔-๕ วัน เลยไปปฏิบัติธรรม  ๒  วันแรกฟังเทศน์สลับกับการนั่งสมาธิ รู้สึกว่าจิตใจสงบดี พอวันที่ ๓ เริ่มรู้สึกเบื่อขึ้นเรื่อยๆ พอวันที่ ๔ เริ่มรู้สึกว่าหดหู่เศร้าหมอง รู้สึกเหมือนเสียดายกิเลส เลยไม่แน่ใจว่าทำอะไรผิด

พระอาจารย์ :  เป็นธรรมชาติของใจ เวลาทำอะไรใหม่ๆ จะกระตือรือร้นศรัทธาแรง พอทำไปเรื่อยๆจะอ่อนลงไป ถ้าไม่ได้เห็นผลแบบมหัศจรรย์ใจ ก็จะค่อยๆท้อมากขึ้น เบื่อมากขึ้น กิเลสมีแรงมากขึ้น

ถาม : จะรู้สึกเศร้าใจ

พระอาจารย์ :  กิเลสเริ่มออกมาอาละวาดมากขึ้น กิเลสคือตัวเศร้าหมอง พอมาอยู่วัดไม่ได้ลิ้มรสกามสุข ก็จะสร้างความเศร้าใจขึ้นมา  ในช่วง ๒ วันแรก เราทุ่มเทต่อการภาวนา มีความกระตือรือร้น เพราะศรัทธาแรง พอทำไปๆเกิดความจำเจขึ้นมา แล้วก็ไม่ได้เห็นผลทันตา จึงไม่มีอะไรมากระตุ้นกำลังใจให้มีมากขึ้น ควรย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ว่าเกิดประกายแห่งศรัทธาขึ้นมาได้อย่างไร กลับไปคิดแบบนั้นใหม่ เพื่อจุดประกายให้เกิดขึ้น ว่าโอกาสที่จะมาปฏิบัติธรรมมีน้อย ปฏิบัติ ๒ วันแรกดีอยู่ วันที่ ๓ เริ่มไม่ค่อยดี ก็เป็นเหมือนการเดินทางไกลหรือวิ่งทางไกล ใหม่ๆกำลังวังชาดี ไม่เหนื่อย พอวิ่งไปนานเข้าๆก็เหนื่อย ต้องปลุกพลังขึ้นมาใหม่  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเผลอไป สติไม่ได้อยู่กับการภาวนา เปิดช่องให้กิเลสเข้ามารบกวนจิตใจ ถ้าคุมสติไว้อยู่เรื่อยๆ ให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับการภาวนา กิเลสก็จะเข้ามายาก จะบำเพ็ญต่อไปได้


คำถาม
คำถาม: ในการเจริญปัญญาควรสังเกตอย่างไรว่า สมาธิและปัญญาสมดุลกันดีครับ

พระอาจารย์: อ๋อ เราต้องมีสมาธิก่อน มันไม่ได้เป็นเรื่องของความสมดุล เราต้องฝึกสมาธิ ควบคุมความคิด ควบคุมความอยากให้ได้ก่อน ทำใจให้สงบให้อยู่เฉยๆ อย่างมีความสุข แล้วพอเกิดความอยาก เราก็เอาปัญญามาสอนใจให้เลิกอยาก ถ้าเรามีปัญญาเราจะเห็นว่า การทำตามความอยากนี้จะเพิ่มความทุกข์ ไม่ใช่เป็นการดับความทุกข์ ถ้าต้องการดับความทุกข์ ก็ต้องหยุดความอยาก อันนี้มันไม่ได้เป็นเรื่องของความสมดุล


ปฏิบัติธรรมอย่างไรให้คนในครอบครัวได้บุญด้วย
คำถาม: การปฏิบัติธรรมการปฏิบัติสมาธิ จะมีอานิสงส์ให้คนในครอบครัวมีความสุขหรือได้บุญร่วมกับเราด้วยหรือไม่ครับ จะปฏิบัติธรรมอย่างไรให้คนในครอบครัวมีความสุขหรือได้บุญกับเราด้วยครับ

พระอาจารย์: อ๋อ เขาได้ผลกระทบ ผลพลอยได้ คือถ้าเราปฏิบัติธรรมเราก็จะเป็นคนดี ใจเย็น คนไม่โลภ ไม่โกรธ คนที่อยู่รอบข้างเราเขาก็ปลอดภัยจากความโกรธของเรา ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เราก็มักจะโลภจะโกรธง่าย พอคนอยู่ใกล้ทำอะไรผิดหน่อยเราก็จะด่าจะว่าเขา แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมเราก็จะควบคุมอารมณ์ได้ เราก็จะไม่ระบายอารมณ์ออกไปข้างนอก คนที่อยู่ใกล้เราก็ปลอดภัยสบายใจ เช่นคนปฏิบัติธรรมก็จะไม่ดื่มสุรา เห็นไหม คนไม่ปฏิบัติธรรมไม่ถือศีลเขาดื่มสุรา พอเขาดื่มสุราเดี๋ยวเขาเมาเขาก็อาละวาด ด่าคนนั้นว่าคนนี้ ทุบข้าวทุบของ แต่พอเขาไม่ดื่มสุราได้เขาก็เป็นคนมีสติ คอยควบคุมอารมณ์เขาได้ เขาก็ไม่ไประบายใส่คนอื่น อันนี้เป็นผลพลอยได้จากการปฏิบัติธรรมของเรา แต่ผลที่เราได้จากการปฏิบัติธรรมนี้ เราให้คนอื่นไม่ได้ เช่นความสงบความสุขที่เราได้ในใจของเรานี้ เอาให้คนอื่นไม่ได้ คนอื่นอยากจะได้ผลจากการปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติเอาเอง


อุทิศบุญให้กับผู้ที่ต้องมารับบุญ
ถาม : การทำบุญครบรอบวันละสังขารของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เวลากรวดน้ำถวายบุญกุศลให้ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้คนเดียว จะอุทิศให้บุคคลอื่นได้ไหมคะ เช่นพ่อแม่ เจ้ากรรมนายเวรของเราค่ะ

พระอาจารย์ : ได้ ครูบาอาจารย์ไม่ต้องไปอุทิศให้ท่านหรอก ท่านเป็นเศรษฐีบุญแล้ว เพียงแต่เราเอาเหตุของความตายของท่านมาเป็นเหตุให้เราได้ทำบุญ แล้วเราก็อุทิศให้กับผู้ที่ต้องมารับบุญ ครูบาอาจารย์ท่านไม่มารับบุญของเราหรอก ท่านมีบุญมากกว่า บุญที่เราส่งไปให้ท่าน ท่านเป็นเศรษฐี เศรษฐีบุญ เหมือนกับเศรษฐีนี่ถ้าเอาเงินที่ให้ขอทานไปให้เศรษฐีเขาจะเอาไหม บอกไม่ต้องหรอกเก็บไว้เถอะนะ เรามีเหลือกินเหลือใช้แล้ว แต่เขาทราบเขาก็จะบอกขอบใจ อนุโมทนาที่ยังอุตส่าห์คิดถึงเราอยู่ แต่ไม่ต้องกังวลกับเราหรอก เรามีบุญเหลือเฟือแล้ว อุทิศไปให้กับพวกที่เขาไม่มีดีกว่า ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะถ้าเขาไม่มาบอกเรา เราก็ไม่รู้หรอกแต่เราก็ทำเผื่อไปอย่างนั้นเอง เผื่อพ่อแม่เขาไม่มีบุญ เขารอบุญอยู่นี้เราก็ให้เขาไป แต่ส่วนใหญ่ถ้าเขามาขอบุญนี้เขาจะต้องมาส่งสัญญาณบอกเรา เช่นมาเข้าฝันว่าโอ้ยตอนนี้ลูก พ่อแม่ลำบากเหลือเกิน ช่วยพ่อแม่หน่อยเถิด อดอยากขาดแคลน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย นี่ตอนเช้าก็ไปใส่บาตรซะ แสดงว่าท่านมาขอบุญ แต่ถ้าไม่มาขอเราก็ทำไป ให้สรรพสัตว์ไป ใครก็ได้ ถ้าบางทีไม่มีพี่ไม่มีน้อง หรือไม่มีคนที่เราชอบทำบุญอุทิศให้ เราก็อุทิศแทนให้เขาไปก็ได้ หรือไม่อุทิศก็ได้ แล้วแต่เรา


ไม่ต้องทำอะไร
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป

พระอาจารย์ :  เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ :  ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ :  ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


ถ้าเรารู้ว่าใจเราไม่ดีจะปฏิบัติอย่างไร
คำถาม: กราบเรียนถามค่ะ ถ้าเรารู้ว่าใจเราไม่ดีจะปฏิบัติอย่างไรคะ

พระอาจารย์: ก็หยุดมันได้ไง เปลี่ยนมันได้ ทำให้มันเป็นใจดี ใจดีไม่ดีก็เริ่มต้นที่ความคิดดีไม่ดีนี่เอง ถ้าคิดไม่ดีมันก็จะทำให้ใจเราไม่ดี ฉะนั้นเวลาที่เราคิดไม่ดีเราก็หยุดมัน เช่นคิดจะไปทำร้ายใครคิดจะไปด่าใคร เราก็หยุดมัน ถ้าเราสั่งให้มันหยุด มันดื้อมันไม่ยอมหยุดเราก็ต้องใช้พุทโธ ใช้สติมาช่วย ท่องพุทโธๆ เวลาโกรธใครเวลาอยากจะไปทำร้ายใครไปด่าใครไปกลั่นแกล้งใคร เราก็พุทโธๆ ๆ จนกว่ามันจะหยุดคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ถ้ามันยังไม่หยุดก็พุทโธไปเรื่อยๆ รับรองได้ว่าถ้าเราไม่หยุดพุทโธเดี๋ยวมันต้องหยุดเอง พอมันหยุดแล้วมันก็หายไป เราก็ลืมไป เรื่องที่เราจะไปด่าใครไปว่าใคร ไปทุบตีใครก็จะหายไป เราก็จะไม่เป็นคนไม่ดีไป ใจของเราก็จะกลายเป็นใจที่ดีไปเพราะเราไม่ได้ไปทำร้ายใคร ต้องใช้สติหยุดความคิดที่ไม่ดี

เพราะฉะนั้นก่อนที่ความคิดไม่ดีจะเกิดขึ้น เราต้องมาหัดฝึกสติก่อนฝึกพุทโธก่อน ถ้าเราไม่ฝึกท่องพุทโธไว้ พอถึงเวลาจะท่องมันท่องไม่ออก เวลามันโกรธใครมันจะคิดแต่เรื่องโกรธเขาอย่างเดียว จะให้มันคิดพุทโธมันไม่ยอมมา แต่ถ้าเราคอยฝึกพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ พอมันจะไปคิดทางโกรธปั๊บ เราก็ดึงกลับมาคิดอยู่กับพุทโธ พุทโธได้ ดังนั้นอย่าไปรอทำตอนที่โกรธมันไม่ทันการ เหมือนนักมวยแหละ ก่อนจะขึ้นเวทีนี้ต้องซ้อมชกก่อน ไม่ซ้อมชกเดี๋ยวจะไปซ้อมบนเวทีก็ถูกเขาน็อคเท่านั้นแหละ อย่างนักเรียนอย่ามาดูหนังสือตอนวันก่อนจะสอบ ถ้าดูก่อนวันสอบหรือดูวันที่สอบนี่มันไม่ทันแล้ว ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อน ต้องทำการบ้านต้องดูหนังสือบ่อยๆ ถ้าเป็นนักมวยก็ต้องหมั่นซ้อมอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็ต้องหมั่นภาวนาพุทโธๆ ไปเรื่อยๆให้มันชำนาญให้มันชิน พอถึงเวลาจะใช้มันก็ใช้มันได้


คำถาม
คำถาม: ถ้าเรานั่งสมาธินานๆ จำเป็นไหมคะว่าต้องเห็นผี

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่จำเป็นหรอก นั่งสมาธิที่ถูกต้องแล้วจะไม่เห็นอะไร การที่เห็นนี้ก็เห็นแบบ ๒ อย่าง เห็นจริงกับเห็นไม่จริง พวกที่เห็นจริงก็มีแต่มีน้อยมาก พวกนี้จะต้องเข้าไปในสมาธิก่อน ถึงจะเห็นผีจริงได้ ส่วนพวกที่เห็นผีปลอมนี่ก็พวกที่คิดไปเอง นั่งแล้วจิตไม่สงบ เพราะได้ยินเสียงอะไรขยับตรงนี้หน่อย ก็คิดว่าผีมาแล้ว อันนี้ก็เป็นผีปลอม


มองมุมกลับ
คำถาม: เรียนถามพระอาจารย์ การที่จะมองอะไรไม่เที่ยงตลอดเวลา ต้องมีสติหรือปัญญาครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าไม่มีสติมันก็จะมาคิดทางปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่มีสติมันก็จะคิดไปทางกิเลส กิเลสก็จะมองให้เห็นว่าเที่ยง เห็นว่านิจจัง สุขัง อัตตา เพราะว่าไอ้นี่มันเป็นสันดานของจิตของเราอยู่แล้ว โดยปกติมันจะเห็นทุกอย่างว่าเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา ทีนี้เราต้องการจะมาเปลี่ยนมุมมองใหม่ ก็ต้องใช้การบังคับให้มันคิด การจะบังคับให้มันคิด ต้องมีสติถึงจะบังคับได้ ดังนั้นเราต้องมีทั้งสองอย่าง ต้องมีสติก่อน มีสติที่จะดึงใจให้หยุดคิดไปในทางนิจจัง สุขัง อัตตา แล้วก็บังคับให้มันคิดว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จิตเราตอนนี้มันถนัดไปในทางความหลง มันชอบมองทุกอย่างว่าเป็นสุข เที่ยง เป็นของเราใช่ไหม ได้อะไรมาแล้ว ก็คิดว่าจะอยู่กับเราไปตลอด จะให้ความสุขกับเราไปตลอด เป็นของเราไปตลอด แล้ววันดีคืนดีเขาจากเราไป เราก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เพราะเขาไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด ไม่ได้ให้ความสุขกับเราไปตลอด เพราะเขาเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เขาให้ความทุกข์กับเราเวลาที่เขาจากเราไป เขาเป็นอนัตตา เขาไม่ได้เป็นของเราแล้ว เวลาเขาจากเราไป นี่คือวิธีมองมุมกลับ จะมองมุมกลับได้ต้องมีสติ บังคับจิตให้มองในมุมกลับ ถ้าไม่มีสติมันก็จะมองในมุมเดิม


คนธรรมดาสามารถถึงนิพพานได้ไหม
คำถาม: ที่บ้าน พ่อเขาชอบฟังธรรมะแล้วเขาก็ชอบพูดถึงนิพพานนะครับ จะถามว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้บวชตลอดไปสามารถไปถึงนิพพานได้ไหมครับ

พระอาจารย์: ได้ ถ้าเขาทำตัวแบบนักบวช ถึงแม้เขาไม่ได้บวช แต่เขาทำตัวแบบนักบวช คืออาจจะแยกบ้านอยู่กับเมียกับลูก ให้ลูกเมียอยู่บ้านหนึ่ง เขาก็ไปอยู่อีกบ้านหนึ่งอย่างนี้ แล้วเขาไม่ต้องไปทำมาหากิน เขามีเงินพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเขาได้ อันนี้ก็เป็นเหมือนกับเป็นนักบวช เพียงแต่ว่ายังไม่ได้บวชทางร่างกายเท่านั้นเอง แต่ทางจิตใจทางเวล่ำเวลานี่เหมือนนักบวช มีเวลาปฏิบัติได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับอย่างนี้ แต่ถ้าต้องไปทำงานต้องไปเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้ มันก็จะช้า


ดูจิตในการทำความดี
คำถาม: ลูกภาวนาโดยวิธีการดูจิตในการทำความดีแต่ไม่สงบ แต่จิตอ่อนโอนต่อคนรอบข้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ถูกไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์: ไม่ถูกหรอก อย่าไปดู ให้หยุดมันให้ใช้พุทโธหยุดมัน ให้ดูลมหายใจหยุดมัน อย่าไปดูอะไรทั้งนั้น ดูแล้วใจเรามีอารมณ์ตามมา เดี๋ยวรักบ้างเดี๋ยวชังบ้าง เดี๋ยวกลัวบ้างเดี๋ยวหลงบ้าง ต้องหยุด หยุดความรักชังกลัวหลง แล้วใจจะนิ่งใจจะสงบใจจะแข็งแกร่ง จะไม่หวั่นไหวกับอะไรต่างๆทั้งหลายที่ไปสัมผัสรับรู้ งั้นต้องใช้ฝึกสติให้มาก ให้ใจหยุดคิดหยุดอยาก แล้วใจจะไม่มีความรักชังกลัวหลง


ทำอย่างไรเราจะชนะใจคนได้
ถาม: ทำอย่างไรคะ เราจะชนะใจคนได้

พระอาจารย์: อ๋อ ชนะไม่ได้หรอก ใจคนนี่มันมีหลากหลายด้วยกัน คือ ต่อให้เราดีขนาดไหน ถ้าเขาไม่ชอบเรา มันก็ชนะเขาไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าอย่าไปชนะผู้อื่น ให้ชนะตน ชนะตนแล้วสบาย ชนะผู้อื่นแล้วอาจจะเดือดร้อน เพราะอาจจะไม่ได้ดังใจ เพราะชนะเขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นให้ชนะตัวเรา แล้วใจเราจะสงบ ชนะอะไร ก็ชนะความโลภความโกรธความหลงไง ชนะความอยากต่างๆ นี่ถ้าชนะตัวนี้แล้วใจเรามันจะสงบเย็นสบาย แต่ถ้าอยากจะชนะคนอื่นแล้วไม่ชนะนี่เราจะเสียใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังที่จะชนะใจคนอื่น แต่ก็มีธรรมที่ทำให้คนอื่นเขายอมรับเราก็ได้ อย่างพระพุทธเจ้านี่ท่านก็ชนะใจพวกเรา เพราะว่าท่านทำสิ่งที่ทำให้เราเกิดศรัทธา เกิดความเคารพในตัวท่านขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากชนะใจผู้อื่นก็ต้องเอาชนะใจผู้อื่นด้วยการทำความดีไป ทำตัวเราให้เป็นคนดีมีเมตตา มีความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นี่ตอนนี้ปีใหม่ ลองเอาเงินมาแจกดูสิ เดี๋ยวก็ชนะใจคนเยอะแยะไปหมด หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องวิ่ง วิ่งจากใต้ไปเหนือ นี่ก็คือวิธีชนะใจคน ต้องทำความดีใช่ไหม ถึงจะชนะใจคนได้ ถ้าไปทำอะไรที่เป็นเรื่องเห็นแก่ตัวหรือทำบาปนี่ ไม่มีใครเขาจะมายุ่งกับเราหรอก


วิปัสสนาคือปัญญา
คำถาม: ขอพระอาจารย์ช่วยสอนวิปัสสนาหน่อยเจ้าค่ะ

พระอาจารย์: วิปัสสนาก็คือปัญญา ปัญญาก็คือการรู้ความจริงของสิ่งต่างๆที่เรามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น คือไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญ มีการเสื่อม มีการมา มีการไป มีการเกิดมีการดับ เป็นทุกข์ถ้าเราไปยึดไปติดมันเวลาที่มันจากเราไป เป็นอนัตตาเราห้ามมันไม่ได้ ให้มองอย่างนี้ เรียกว่าวิปัสสนา มีปัญญาเพื่อปล่อยวาง ถ้าเราปล่อยวางได้เราก็จะไม่ทุกข์เวลาสิ่งต่างๆที่เรารักเราชอบจากเราไป เพราะเรารู้ว่าไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีการพลัดพรากจากกัน ไม่จากกันตอนเป็นก็ต้องจากกันตอนตาย ถ้าอยากจะไม่ทุกข์ก็อย่าไปยึดติดกับมัน พร้อมที่จะให้มันไป ถ้ามันอยู่ก็ปล่อยให้มันอยู่ไป แต่ถ้ามันจะไปหรือเราจะไปก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง แล้วเราจะไม่ทุกข์ไม่มีความกังวล เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา แต่จะทำได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง บางทีรู้แต่ก็ปล่อยไม่ได้ รู้ยังไงก็ยังรักยังหวงอยู่ อันนี้ก็ต้องใช้สมาธิเป็นตัวดึงออก เพราะว่าใจไม่มีกำลังที่จะปล่อย จึงต้องอาศัยสมาธิมาช่วยแยกออกจากกัน ท่องพุทโธๆ นั่งทำใจให้สงบ พอใจสงบใจก็ปล่อยได้ทันที


อุเบกขา
ถาม:  เวลาฟังธรรมท่านพระอาจารย์แล้ว อย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ เกิดความซาบซึ้งใจ อยากร้องไห้ ท่านพระอาจารย์เคยบอกว่า ไม่ควรร้องไห้ ให้พยายามทำใจให้สงบ

พระอาจารย์ :  เราปฏิบัติเพื่อควบคุมใจของเรา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็ยังเป็นสมมุติอยู่ ไม่เที่ยง ถ้าควบคุมได้ ก็จะมีความสุขอีกแบบหนึ่งที่ดีกว่า ความสุขที่เกิดจากอุเบกขา ถ้ายังควบคุมไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียหายอะไร ถ้ามีปีติมีความซาบซึ้ง นั่งฟังแล้วขนลุกหรือน้ำตาไหลนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าต้องการควบคุมจิตใจ ต้องทำจิตให้มีแต่ความว่าง ให้เป็นอุเบกขา.


เดินปัญญา
คำถาม: เดินปัญญา คือ เมื่อเจอสุขให้วางเฉย เมื่อเจอทุกข์ให้วางเฉย ดึงใจกลับมาภาวนา มามีสติเหมือนเดิม ถูกไหมครับ

พระอาจารย์: ก็คือให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์อย่าไปอยาก เห็นอะไรแม้แต่ความสุขก็เป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หายไป ถ้าอยากให้มัน อยากได้มัน อยากให้อยู่กับเรา เวลามันหมดไปก็จะทำให้เราทุกข์ คือ ไม่ให้ยินดียินร้ายกับสุขกับทุกข์ ทุกข์มาแล้วเดี๋ยวก็หายไป ถ้าทุกข์มาแล้วอยากให้มันหายไปก็ทุกข์อีก ดังนั้นทุกข์มาก็ให้อยู่กับทุกข์ไป สุขมาก็ให้อยู่กับสุขไป แต่อย่าไปยึดอย่าไปติด สุขก็ไม่ติด ทุกข์ก็ไม่ขับไล่ไสส่ง


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 พฤษภาคม 2565 12:11:08
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17669058839479_281694619_565396814968479_3660.jpg)

ถึงความว่างแต่ที่จริงแล้วมันยังไม่ว่าง
ถาม:  หนูไม่เข้าใจตรงที่บอกว่า พอไปถึงความว่างแต่ที่จริงแล้วมันยังไม่ว่าง แปลว่าอะไรคะ

พระอาจารย์: คือมันบยังเป็นกิเลสที่ละเอียดอยู่ ซึ่งปัญญาของเรามันยังไม่ทัน ปัญญาของเรามันทันส่วนหยาบคือร่างกาย แต่กิเลสส่วนที่มันอยู่ในใจมันละเอียดกว่า แต่คิดว่ามันเป็นความว่าง แต่ความจริงมันไม่ว่าง ถ้าปฏิบัติต่อไปมันก็จะเริ่มเห็น ไม่ต้องกังวลหรอก ตอนนี้ปล่อยร่างกายให้มันได้ก่อน ปล่อยร่างกาย ละกามารมณ์ให้ได้ก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยเข้าไปในใจ ตอนต้นเข้าไปใหม่ๆ ไม่เคยเห็นใจที่มันสงบ ก็เลยคิดว่าไม่มีกิเลส เดี๋ยวสังเกตดูสักพักก็จะเห็นกิเลสละเอียด ค่อยแสดงตัวออกมา มานะก็จะออกมา อะไรต่างๆ ก็ยังมีอยู่


สังโยชน์ ๕ ข้อปฏิฆะ พยาบาท
ถาม:  มีคำถามเรื่องสังโยชน์ข้อที่ ๕ ค่ะ พยาบาทน่าจะเป็นข้อที่ง่าย ทำไมถึงเอามาไว้เป็นข้อที่ ๕ มันมีความละเอียดมากน้อยแค่ไหนคะ

พระอาจารย์: มันไม่ใช่พยาบาท ปฏิฆะ ความหงุดหงิดใจ เวลาเกิดกามารมณ์ขึ้นมา ไม่ได้เสพกามก็หงุดหงิด มันมาจากการที่เราเกิดมีกามารมณ์ขึ้นมา กามราคะขึ้นมา อยากจะเสพกาม ยังไม่ได้เสพ พอได้เสพ อาการหงุดหงิดก็หายไป แต่หายไปแบบชั่วคราว เดี๋ยวพอความอยากจะเสพกามเกิดขึ้นมาอีก ความหงุดหงิดก็ตามมาอีก อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เวลาเกิดกามขึ้นมา ต้องเสพกาม ถึงจะบรรเทาความหงุดหงิดใจ

ถาม:  ไม่ได้เสพกามในทุกๆ เรื่องของกามหรือคะ

พระอาจารย์:  อันนี้เรื่องกามราคะ ไม่ได้ร่วมหลับนอนกับแฟน อะไรอย่างนี้

ถาม:  แล้วเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสละคะ

พระอาจารย์: มันมารวมตรงนี้หมด เวลาเสพกาม มันรวมรูปเสียงกลิ่นรสของแฟนเข้ามาหมด

ถาม: พิจารณาร่างกายเห็นเป็นเซลล์ ได้ไหมคะ

พระอาจารย์: นั่นเห็นเป็นอนัตตา ถ้าเป็นเซลล์ก็เป็นธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่ามันมีหลายแง่มุมต้องพิจารณา ในแง่มุมของธาตุ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีตัวตน มีแต่เซลล์ มีแต่อะตอม มีแต่โมเลกุล ถ้าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราก็จะมองอย่างนี้ได้

ถาม:  หนูมองเห็นเป็นอะตอม เป็นโมเลกุล แล้วท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเลย

พระอาจารย์:  ก็มีไนโตรเจน ออกซิเจน คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ก็มารวมกัน มันก็เป็นธาตุไม่ใช่เหรอ เรามันว่าธาตุไม่ใช่เหรอ อันนี้ก็ได้ เพื่อจะดูว่าไม่มีตัวตน เพราะเราไม่ได้อยู่ในร่างกายของเรา

ถาม:  เหมือนมองร่างกายเรา ท้ายสุดก็คือความว่าง

พระอาจารย์: ไม่ว่าง มันมีอยู่ มันว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน แต่มันมีออกซิเจน มันมีธาตุต่างๆ สักวันมันก็ต้องแยกออกจากกันไป

ถาม: งั้นเราก็มองทุกคนที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้

พระอาจารย์: ไม่ได้หรอก กามารมณ์มันไม่ได้ดับด้วยอย่างนี้ กามารมณ์ต้องมองส่วนที่ขยะแขยง

ถาม:  เห็นอสุภะ ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์: เออ ต้องดูอสุภะ ดูว่ากลิ่นมันเหม็น เห็นลำไส้กับตับไตอะไรอย่างนี้ มันถึงจะดับกามารมณ์ได้ ไอ้ที่พิจารณาเมื่อกี้มันดับการยึดถือว่าร่างกายเป็นตัวตน คนละเรื่องกัน แต่ก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน ต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่ามันเป็นทุกข์เวลาหงุดหงิดใจ ไปเกิดมีกามารมณ์ขึ้นมา มันก็หงุดหงิดใจ ถ้าไปชอบร่างกายของใครเข้า มันก็หงุดหงิดใจ ทำให้เราหงุดหงิดใจขึ้นมา

ถาม:  แล้วถ้าเรามองเห็นปุ๊บก็เห็นหนัง เห็นฟัน แล้วก็เห็นความแก่ของเขาละคะ พระอาจารย์

พระอาจารย์:  ก็เห็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เห็นแล้ว มันทำให้กามารมณ์มันดับไปได้ก็แล้วกัน เห็นโครงกระดูกอย่างนี้ เห็นโครงกระดูกไหม ตัวเรานี่มีโครงกระดูกไหม มองเข้าไปให้เห็นโครงกระดูก มันมีอยู่ เพียงแต่เราไม่คิดถึงมันเอง ใช่ไหม มีหรือเปล่า ในร่างกายเรามีโครงกระดูกอยู่หรือเปล่า แต่ไม่เคยคิดถึงมันใช่ไหม ไม่เคยคิด ไม่เคยเห็นเลยใช่ไหม ต้องหัดมองมันมั่ง ถ้าเราเกิดกามารมณ์ ก็ต้องมองคนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึก ส่วนถ้ามองตัวเรา ก็ต้องมองเพื่อดับความหลงว่าเราสวยเรางาม ถ้าชอบคิดว่าเราสวยเรางาม ก็ให้มองทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังของเราเอง จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินไปทำศัลยกรรมตกแต่งอะไร ให้เสียเวลา ไม่ต้องย้อมผมให้มันเสียเวลา ก็เพียงแต่ดูแลให้มันสะอาดและเรียบร้อยก็พอแล้ว ให้มันเป็นธรรมชาติ พูดง่ายๆ ดูแลแบบธรรมชาติ


ไตรลักษณ์คืออะไร
ถาม: ไตรลักษณ์คืออะไรครับ

พระอาจารย์: คำว่า ไต..ก็แปลว่า ๓ ลักษณ์..ก็คือลักษณะ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Three characteristics of existence” คือคุณลักษณะของสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง มีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เกิดมาแล้วก็เปลี่ยน เจริญเติบโตไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวก็แก่ แล้วก็จะต้องตาย ไม่เที่ยง ไม่ใช่เกิดมาเป็นทารกแล้ว เป็นทารกไปเหมือนตุ๊กตา ตุ๊กตามันไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่มันก็ตาย ในที่สุดมันก็พังไป ก็เสียได้ ทุกอย่าง สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ มีคุณลักษณะ ๓ ประการ คือ ๑. เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิด มีการดับ เป็น “อนัตตา” ไม่มีตัวตน ต้นไม้มีตัวตนไหม ไม่มีใช่ไหม ก้อนหินมีตัวตนไหม ร่างกายเราก็เหมือนกัน ร่างกายเราก็ไม่มีตัวตน ตัวเราไม่ได้อยู่ในร่างกาย ตัวตนอยู่ที่จิตที่ไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา เป็นตัวตน จิตผู้รู้ผู้คิดก็ไม่มีตัวตน แต่ความหลงหลอกให้จิตคิดว่าเป็นตัวตนขึ้นมา

ข้อที่ ๓ “ทุกขัง” ทุกข์แปลว่าอะไร ถ้าไปติดไปยึดในของที่ไม่เที่ยง จะให้มันเที่ยงก็จะทุกข์ อยากไม่แก่ทุกข์ไหม เวลามันจะแก่ อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาป่วยขึ้นมา อยากแล้วทุกข์หรือไม่ทุกข์ ถ้าเฉยๆ ได้ มันจะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป เราไม่ต้องไปอยาก แล้วใจเราก็จะไม่ทุกข์ นี่คือคำว่า “ไตรลักษณ์” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังเป็นของไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลง เกิดดับ ถ้าไปยึดไปอยากให้มันไม่เกิดไม่ดับ เกิดแล้วไม่ให้มันดับ ก็จะทุกข์เวลามันดับไป ได้อะไรมาแล้วก็อยากให้มันอยู่กับเรานานๆ ใช่ไหม พอมันจากเราไปเราก็เสียใจ ใช่ไหม ทุกข์ใช่ไหม แล้วเราห้ามมันได้หรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ใช่ไหม มันเป็นธรรมชาติเหมือนต้นไม้ มองให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นอย่างนี้


ผู้ปฏิบัติธรรมอธิษฐานจิตสิ่งใดมักจะประสบผลสำเร็จ?
ถาม: จริงหรือไม่เจ้าคะ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมภาวนารักษาศีล มักจะอธิษฐานจิตสิ่งใดก็ตาม มักจะประสบผลสำเร็จตามนั้น

ตอบ: ไม่จริงหรอก การปฏิบัติธรรมนี้เป็นเหตุที่จะพาให้เราได้ผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ถ้าเราไปอธิษฐานในสิ่งที่นอกจากเหตุ เราก็ไม่ได้ เช่นปฏิบัติธรรมแล้วอธิษฐานว่า ขอให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ไหม ไม่ได้หรอก อธิษฐานปฏิบัติก็เพื่อให้จิตเราสงบ เพื่อให้เราดับความทุกข์ต่างหาก อันนี้เราได้ แต่ถ้าไปขออย่างอื่น เป็นนายกไม่ได้หรอก ไปปฏิบัติธรรมแล้วไปขอเป็นนายกดูสิ ขอให้ลงเลือกผู้ว่าแล้วจะได้รับเลือก ไม่ได้หรอก อันนี้มันคนละเรื่องกัน



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 10 มิถุนายน 2565 13:25:43
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93779313481516_287263469_582678509906976_1165.jpg)

หนีมาเกิดคืออะไร
ถาม : หนีมาเกิดคืออะไรคะมีจริงไหมคะ

ตอบ : คำว่าหนีมันไม่มีหรอก มันมาเกิดเพราะความอยาก ความอยากพาให้จิตมาเกิดกัน ความอยาก ความโลภ ความอยากหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย มันก็เลยทำให้จิตเรามาเกิดกัน ที่หนีอาจจะเป็นการฆ่าตัวตายก็ได้ เวลาฆ่าตัวตายก็หนี เพราะว่าร่างกายนี้มันไม่ตอบสนองความสุข ชีวิตนี้มันไม่ตอบสนองความสุข เลยหนีชีวิตนี้ด้วยการฆ่าตัวตาย หนีแล้วมันก็ต้องไปเกิดใหม่อยู่ดี แล้วพอได้ร่างกายใหม่เดี๋ยวมันไปเจอความทุกข์แบบเดิมอีก มันก็หนีอีก มันก็ฆ่าตัวตายอีก วิธีนี้ไม่ใช่เป็นวิธีแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาก็คือต้องตัดความอยากให้ได้ พอตัดความอยากแล้วมันก็จะไม่ไปเกิดใหม่ แล้วเวลาความทุกข์ที่เกิดจากความอยากมันก็จะหายไป ไม่จำเป็นจะต้องฆ่าตัวตาย คนที่ไม่มีความอยากนี้ไม่มีความทุกข์ จะไม่มีการคิดฆ่าตัวตาย แล้วก็จะไม่มีการกลับมาเกิดใหม่อีกต่อไป


คนเจ้าโทสะ
ถาม: ตอนนี้โยมสวดมนต์เช้าและก่อนนอนทุกวัน ระหว่างวันเปิดธรรมะฟัง บางวันนั่งสมาธิ แต่จิตก็ยังไม่ค่อยสงบ ด้วยความที่เป็นคนเจ้าโทสะ โยมควรใช้กรรมฐานแบบไหนคะ

ตอบ: เวลาเกิดโทสะก็ต้องใช้ความเมตตาเข้ามาระงับ เช่นเวลาเราโกรธใครเราก็ต้องให้อภัยเขา นี่คือความเมตตา ผู้ที่มีความเมตตาย่อมไม่ถือโทษโกรธเคืองใคร อันนี้ก็ใช้เวลาที่เกิดโทสะ แต่ถ้าเวลาไม่มีโทสะ ก็ใช้สติแบบทั่วไป ใช้พุทโธก็ได้ หรือใช้การเฝ้าดูการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของร่างกายเราก็ได้ ใช้แต่เฉพาะเวลาเกิดโทสะขึ้นมา หรือถ้าอยากให้ไม่มีโทสะเกิดขึ้นก็ต้องใช้ปัญญา ปัญญาจะสอนให้เรารู้ว่าความโกรธของเรานี้เกิด จากความอยากของเรา อยากให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ พอเขาไม่ทำเราก็โกรธขึ้นมา ถ้าเราไม่อยากโกรธ เราก็ต้องอย่าไปอยากให้เขาทำอะไรให้กับเรา เราอย่าไปหวังอะไรจากใคร ให้ยินดีตามมีตามเกิด แล้วเราก็จะไม่มีความโกรธใคร ที่เราโกรธเพราะเราหวัง เราอยากให้เขาทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ พอเขาไม่ทำ เราก็โกรธเขา คือถ้าไม่อยากจะโกรธเลยก็อย่าไปหวังอะไรจากใคร


สังโยชน์ ๓ การลูบคลำกฎแห่งกรรม และ การลูบคลำศีลธรรม
คำถาม : อ่านเฟสบุ๊คของท่านพระอาจารย์ ที่ท่านได้เล่าสังโยชน์ ๓ ครับ แล้วก็กล่าวถึงการลูบคลำกฎแห่งกรรม และการลูบคลำศีลธรรม ตรงนี้โยมไม่เข้าใจ ขอความเมตตาพระอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยครับ

พระอาจารย์ : คือยังลังเลสงสัยอยู่ในกฎแห่งกรรมว่ามีจริงหรือไม่ ทำบาปแล้วต้องไปรับผลบาปไหม เห็นคนทำบาปเยอะแยะ คนทำชั่วได้ดีมีถมไป นี่คือ..สีลัพพต เขาไปมองที่ผลที่จะเกิดกับร่างกาย ทำบาปแล้วก็ยังหนีได้ พาร่างกายหนีไปต่างประเทศอย่างนี้ กฎหมายก็ตามจับไม่ได้ จับไปลงโทษไม่ได้ แต่ใจนี่มันมีสุขหรือเปล่า ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ที่ต้องออกจากบ้านเรือนของตน อันนั้นแหละเป็นผู้รับผลของบาป ก็คือใจ คือความทุกข์ใจต่างๆ แม้แต่เพียงคิดจะทำบาป ก็ไม่สบายใจ ถ้าเป็นคนที่มีความดีอยู่ ที่ไม่ชอบทำบาป แต่คิดว่าต้องทำบาปนี้ เผลอไปทำบาป ก็ไม่สบายใจ ญาติโยมบางคนขับรถไปชนสุนัข ทั้งที่ไม่มีเจตนา สุนัขมันเข้ามาชนรถเอง มันเป็นอุบัติเหตุ ยังไม่สบายใจเลย ซึ่งความจริงมันไม่เป็นบาป เพราะไม่มีเจตนา ไม่มีความตั้งใจ แต่ผู้ที่ทำบาปจนชิน มีความตั้งใจนี่ จิตใจมันชาไปกับการทำบาปแล้ว มันทำบาปเมื่อไหร่ก็รู้สึกเฉยๆ มันชะล่าใจ นึกว่าทำแล้วก็ไม่มีผลตามมา เขาไม่รู้หรอกว่าจิตใจของเขาเสื่อมลงไปๆ จากความเป็นมนุษย์ก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วเมื่อตายไปจิตนี้ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์ก่อนก็ไม่ได้ ต้องไปใช้บาปใช้กรรมก่อน

ถ้าปฏิบัติธรรม ละสังโยชน์ มันจะเห็นพร้อมๆ กันไป ทั้ง ๓ ข้อนี้ เวลาเราละเราละที่สักกายทิฏฐิ เมื่อละสักกายทิฏฐิแล้วเราจะเห็นผลที่เกิดขึ้นในใจของเรา เวลาเรายึดเราติดขันธ์ ๕ นี้ เราจะทุกข์ ถ้าเราปล่อยวางขันธ์ ๕ ได้แล้ว เราจะไม่ทุกข์ เพราะเราจะเห็นว่าการกระทำต่างๆ ของเราที่ไปปกป้องขันธ์ ๕ นี้ ด้วยการกระทำบาป ทำให้เราทุกข์ เมื่อเกิดกิเลส ขันธ์ ๕ ยังไงมันก็ต้องตาย มันก็ต้องเสื่อม มันก็ต้องหยุดไป มันจะเห็นกฎแห่งกรรม คือทำดีได้ดี ทำดีแล้วมีความสุข ทำบาปแล้วจะมีความทุกข์ แล้วก็จะเห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นของจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเชื่อว่าคนสอนต้องมี ทีนี้คำสอนมันจะมาจากใคร ถ้าไม่ได้มาจากคนที่สอน ก็คือพระพุทธเจ้า ก็ไม่ต้องไปยินดีอะไร ไม่ต้องไปพิสูจน์ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ไปอินเดียก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ามีจริงหรือไม่ ก็เห็นแต่ซากสะลักหักพังของสถานที่ที่ท่านประสูติ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าท่านประสูติตรงนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจะหายสงสัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง ก็ต้องละสักกายทิฏฐิให้ได้ งั้นขอให้มาแก้ที่ตรงนี้ ที่สังโยชน์ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา

เบื้องต้นต้องมีสมาธิก่อน เราถึงจะสามารถปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเวทนาได้ ปล่อยให้ร่างกายตาย ปล่อยให้ร่างกายเจ็บก็คือเวทนา ปล่อยได้แล้วก็จะเห็นว่าความแตกต่างระหว่างปล่อยกับไม่ปล่อยเป็นอย่างไร เวลาไม่ปล่อยนี้เครียด ทุกข์ วิตกกังวล เวลาปล่อยแล้ว โอ๊ย โล่งใจ สบาย จะเป็นอะไรก็ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าห้ามมันไม่ได้ ไปห้ามกฎธรรมชาติได้อย่างไร ไปห้ามสิ่งที่เป็นธรรมชาติได้อย่างไร ร่างกายมันเป็นธรรมชาติ มันมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ


การไปสุคติขึ้นอยู่กับบุญกับบาปที่เราได้สะสมไว้
ถาม : ถ้าหากเราต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แล้วเราจะมีวิธีวางใจอย่างไรและมีวิธีการปฏิบัติกับท่านอย่างไร ณ ตอนสุดท้ายของชีวิต และมีวิธีการทำให้ท่านไปสุคติอย่างไรเจ้าคะ

ตอบ : เวลานั้นมันสายไปแล้วที่จะส่งให้ท่านไปสุคติ การจะไปสุคตินี้มันขึ้นอยู่กับบุญกับบาปที่เราได้สะสมไว้ ว่าอย่างไหนมีกำลังมากกว่ากัน ไม่ใช่จะมารอทำช่วงสุดท้ายของชีวิตนี้มันไม่ทันการ ต้องรีบทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ตั้งแต่ที่เรายังมีกำลังวังชา พยายามทำบุญให้มากๆ ให้มันมากกว่าบาป แล้วเวลาตายไปบุญก็จะพาให้ไปสู่สุคติโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร

ส่วนเรื่องของการสูญเสียบุคคลที่รัก ก็อย่างที่บอกนี้ เราต้องมาหัดเจริญปัญญากัน หมั่นพิจารณาว่าเรามีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ว่าร่างกายของพวกเราทุกคนจะต้องมีความตาย ไม่ช้าก็เร็ว เกิดขึ้นมา ทั้งของเขาและทั้งของเรา ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าเราไม่เคยคิดเราก็จะลืม แล้วเราจะคิดว่าเราจะอยู่ไปด้วยกัน แล้วจะต่อต้านการสูญเสีย เวลาสูญเสียจะเสียอกเสียใจ เพราะไม่ยอมรับความจริง ก็ยังอยากให้บุคคลที่เสียไปนี้กลับมา หรืออยู่ต่อไปนั้นเอง ทั้งๆ ที่ความจริงเขาไม่กลับมาแล้ว เขาไปแล้ว แต่ใจเรายังสูญเสียอยู่ ยังรู้สึกเสียใจอยู่ เพราะเราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจสอนใจไว้ให้ซ้อมรับกับบทนี้รับกับบทที่เวลาเราจากกัน

ถ้าเราฝึกซ้อม เวลาจากกันก็จากกันเฉยๆ ไปสิ ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ถึงเวลาไปก็ไปเลย ถึงเวลาอยู่ก็อยู่ อยู่ก็อยู่ด้วยความเมตตา เวลาจากกันก็จากกันด้วยความเมตตา ก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย แต่นี้เราไม่ฝึกซ้อมกัน พอถึงเวลาเราทำข้อสอบไม่ได้ ก็ทำอย่างไรได้ล่ะ เวลาคนจะตาย คนจะไปนี่เราห้ามเขาได้หรือเปล่า แล้วเรามาเสียอกเสียใจ เรามาวุ่นวายใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จะเปลี่ยนแปลงความจริงได้หรือเปล่า แล้วมันทุกข์ตัวเราเอง ทุบอกตัวเราเอง เวลาเราเสียอะไรไปเราก็เสียใจ เวลาเราเสียใจก็เหมือนกัน เราเอาอะไรมาทุบศีรษะเราเอง ทุบไปทำไม มันได้ประโยชน์อะไร ก็ทำให้เราเจ็บตัวไปเปล่าๆ ใช่ไหม

แต่ถ้าเรามีปัญญาสอนใจว่ามันเป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่จะต้องมีการเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว เราก็เตรียมตัวเตรียมใจ สอนอยู่เรื่อยๆ พอถึงเวลาเขาไป เราก็จะได้เฉยๆ ถ้าไม่เฉยแสดงว่าเราไม่มีอุเบกขาพอ ก็ต้องมาฝึกสติ มานั่งสมาธิ มาสร้างอุเบกขา พร้อมกับการมาเจริญปัญญาถึงจะทำข้อสอบได้ มีความรู้อย่างเดียวบางทีก็ยังทำใจไม่ได้ ถ้าไม่มีอุเบกขา ดังนั้นต้องมีสองอย่างถึงจะทำใจให้รู้สึกเฉยๆ ได้ ไม่วุ่นวาย ไม่เสียใจ ไม่เดือดร้อน


เร่งสร้างบารมีทำไมยิ่งเจอความทุกข์
ถาม : เวลาที่เราเร่งสร้างความดีบารมี แต่ทำไมยิ่งเจอความทุกข์ ความติดขัดครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ มันเป็นธรรมดา เวลาทำความดีนี้ มันจะมีมารมาขวางกั้นอยู่เรื่อย เวลาทำความชั่วนี้ มีแต่มีมารมาเชียร์ มารมันไม่ขวาง เวลาไปกินเหล้านี่ โอ๊ย มันไปได้อย่างง่ายดาย ไฟเขียวตลอด พอจะหยุดกินเหล้านี้ คนนั้นคนนี้มาแหย่อยู่เรื่อย เฮ้ย ไปกินเหล้าไหม ไปงานเลี้ยงไหม ดังนั้นเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปคิดอะไรให้มันวุ่นวายใจ ให้รู้ว่าการทำความดีมันยาก เพราะอุปสรรคมันเยอะ การทำความชั่วมันง่ายเพราะอุปสรรคมันไม่ค่อยมี


จะทำอย่างไรให้เลิกนิสัยรักสวยรักงาม
ถาม : จะทำอย่างไรให้เลิกนิสัยรักสวยรักงาม เลิกซื้อเสื้อผ้าที่สวยถูกใจได้อย่างเด็ดขาดคะ

พระอาจารย์ : คือเราก็ต้องมองว่าร่างกายของเรานี้มันเป็นกองขยะดีๆนี้เอง คือเป็นหนัง เป็นถุงพลาสติกแล้วก็ห่อของสกปรกอยู่ข้างในถุงนั้น ร่างกายของเรานี้เป็นถุงหนัง มีหนังล้อมรอบ แล้วก็เป็นเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง เหมือนกระเป๋าหนัง แล้วสิ่งที่อยู่ในกระเป๋าหนังนี่ก็มีอวัยวะต่างๆ มีกะโหลกศีรษะ มีกระดูก มีโครงกระดูก มีตับ มีไต มีลำไส้ มีหัวใจ มีปอด แล้วก็มีน้ำชนิดต่างๆ น้ำเลือด น้ำเหลือง อะไรต่างๆ มันเต็มไปด้วยของขยะทั้งนั้น เขาเรียกปฏิกูลของไม่สวยไม่งาม ก็ลองท่องคาถาที่พระพุทธเจ้าสอนให้ท่องกันสิ อาการ ๓๒ อะยังโข เมกาโย กายของเรานี้แล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ที่มีหนังหุ้มห่อเป็นที่สุดรอบ มีอาการต่างๆ มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง แล้วก็มีเนื้อ ใต้หนังก็มีเนื้อ มีเอ็นรัดกระดูก มีโครงกระดูก มีปอด มีไต มีตับ มีหัวใจ มีลำไส้ มีสมอง ศีรษะ มีอาหารใหม่ อาหารเก่าอยู่ในลำไส้ แล้วก็มีน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำสเลด น้ำดี น้ำอะไรต่างๆ ถ้าอยากจะเลิกละความนิสัยสวยงามนี้ น่าจะลองท่องคาถานี้ดูนะ เอาเป็นภาษาไทย แต่เขาจะมาทั้งสองภาษา มาคู่กันและให้ท่องคู่กัน ถ้าไปตามวัดปฏิบัติ เขาจะให้ท่องคู่กัน เกสาคือผม โลมาคือขน นะขาคือเล็บ แล้วก็นึกถึงภาพเหล่านั้น ถ้ายังมองไม่เห็นก็ไปเปิดหนังสือ Anatomy ดู เป็นนักศึกษาแพทย์กัน แล้วต่อไปเราก็จะไม่รู้สึกว่าร่างกายของเรา หรือของใครสวยงาม เราจะได้ไม่ต้องไปแข่งความสวยงามกับคนอื่น เขาอยากจะแข่งสวยงามก็ปล่อยเขาแข่งไป เขาก็เพียงแต่ตกแต่งไอ้กระเป๋าหนังใบนี้ให้มันดูสวยข้างนอก เท่านั้นเอง แต่ถ้าไปเปิดกระเป๋าหนังเข้าไปข้างใน ลองไปถามหมอสิ เวลาคนไข้ไปให้ผ่าตัดนี่เป็นอย่างไรบ้าง เหมือนกันหมด แต่เราขาดปัญญาในเรื่องของสรีระร่างกายของเรา เรามองเห็นเพียงแต่ภายนอก เห็นแต่ตัวกระเป๋าเท่านั้นเอง แต่เราไม่เห็นของที่เก็บอยู่ในกระเป๋า แต่สมมุติว่าถ้าคุณมีกระเป๋าสวยๆ ราคาแพงๆ แต่พอเปิดเข้าไปข้างในมีแต่ขยะนี่เป็นอย่างไร เก็บแต่ขยะ มันก็เป็นลักษณะอย่างนั้น ร่างกายของเรา เราปรุงแต่งมันด้วยวิธีการต่างๆ ให้มันดูสวยดูงาม แต่เราไม่สามารถขนของสกปรกที่มีอยู่ในร่างกายนี้ทิ้งไปหมด ให้เป็นร่างกายกลวงๆ นี้เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม ของที่เป็นปฏิกูลทั้งหลายก็ยังต้องมีอยู่ในร่างกาย เพราะขาดของปฏิกูลเหล่านี้ ร่างกายก็อยู่ไม่ได้ นี่ล่ะ ถ้าเราดูบ่อยๆ แล้วต่อไปเราอาจจะเฉย เราจะได้ไม่หลงไปกับความสวยความงามของร่างกาย เราก็จะอยู่แบบสมถะเรียบง่าย เสื้อผ้าก็ไว้สำหรับหุ้มห่อร่างกายเท่านั้นเอง ปกปิดอวัยวะ หรือป้องกันภัยจากความหนาว ความร้อน หรือแมลงสัตว์กัดต่อย ของมีคมทั้งหลายที่อาจจะเข้าไปถูก แล้วอาจจะทำให้เกิดแผลขึ้นมาได้ ก็เลยต้องมีเครื่องนุ่งห่ม มีรองเท้าอะไร แต่ใส่เพื่อปกป้องเพื่อสุขภาพ ไม่ได้ใส่เพื่อเสริมสวยความงามของร่างกายที่สกปรกอันนี้ ปฏิกูล


แรงบุญแรงบาป
ถาม : คำว่าสัมภเวสีนี้หมายถึงอะไร

พระอาจารย์ : พวกเปรต

ถาม : อย่างนี้ความเข้าใจที่ว่าสัมภเวสี ยังไม่ได้ขึ้นหรือลงก็ไม่ถูก

พระอาจารย์ : ไม่ถูก สัมภเวสีเป็นภพหนึ่งแล้ว เป็นเปรต เป็นจิตที่อยู่ในสภาพนั้น สมมุติว่าจิตเป็นเหมือนลูกแก้ว ภพต่างๆเป็นสีต่างๆ พอจิตเป็นสีแดงก็เป็นนรก พอเป็นสีเขียวก็เป็นสวรรค์ จิตจะแดงหรือเขียว อยู่ที่สังขารความคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปทางความทุกข์ ก็จะแดงขึ้นมา ปรุงแต่งไปในทางธรรมะ ปล่อยวาง ให้ทาน รักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เขียวขึ้นมา เป็นสุคติขึ้นมา อยู่ที่จิต นรกสวรรค์หรือภพภูมิต่างๆนี้ไม่เป็นสถานที่ ยกเว้นภพของมนุษย์กับเดรัจฉาน ที่ต้องมีกายหยาบ จึงเกี่ยวข้องกับสถานที่ เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับ ร่างกายก็อยู่เฉยๆ แต่ใจไม่เฉย ถ้าฝันดีก็เป็นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็เป็นอบาย เป็นนรกเป็นเปรตเป็นเดรัจฉาน พอตื่นขึ้นมาก็กลับมาเป็นมนุษย์ ตอนที่หลับไปนี้เราควบคุมความคิดปรุงแต่งไม่ได้ เป็นไปตามบุญตามกรรม พอตื่นขึ้นมาก็มีสติพอควบคุม อยู่ในสภาพของมนุษย์ได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้เหมือนกัน เวลาที่มีเรื่องราวที่หนักหนาสาหัส ก็ทำให้จิตทรุดลงไป ร้อนเป็นนรกได้ ถ้าได้ทำบุญปฏิบัติธรรม ก็ทำใจให้มีความสุข เป็นสวรรค์ขึ้นมา ความคิดปรุงแต่งเหล่านี้จะสะสมอยู่ในใจ จนเป็นนิสัยไป พอถึงเวลาที่ใจออกจากร่าง ตอนนั้นจะถูกอำนาจของบุญกรรมพาไป ตัวไหนมันมีกำลังมากกว่า ตัวนั้นก็จะบังคับให้จิตเป็นไป ถ้าบุญมีแรงมากกว่าก็จะพาไปสุคติ ถ้าบาปกรรมมีแรงมากกว่า ก็จะพาให้ไปทุคติ ไปอบาย จะผลัดกันทำหน้าที่ จนกว่าจะสามารถทำจิตให้เป็นนิพพาน


การมีสติในชีวิตประจำวันกับจิตว่างต่างกันอย่างไร
ถาม : การมีสติในชีวิตประจำวันกับจิตว่าง ต่างกันอย่างไรครับ ถ้าจิตว่างคือจิตโปร่งว่างแบบไม่รู้สึกตัว พอรู้สึกตัว รู้สึกจิตไม่ว่างทันทีคือจิตครุ่นคิดนั่นนี่โน้นไปเรื่อย น้อมกราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ครับ

พระอาจารย์ : คำว่าจิตว่าง จริงๆคือจิตที่สงบนิ่งนั่นเอง ปราศจากความคิดปรุงแต่ง คือจิตที่อยู่ในฌาน อยู่ในสมาธิ อันนี้เป็นจิตว่าง ถ้าเรายังคิดนั่นคิดนี่อยู่เราไม่เรียกว่าเป็นจิตว่าง จะจิตว่างจริงๆนี้ต้องไม่มีความคิดปรุงแต่ง เหลือแต่สักแต่ว่ารู้เพียงอย่างเดียว แล้วในสักแต่ว่ารู้นั้นก็มีความสงบ มีความสุข มีอุเบกขา ถึงเรียกว่าจิตว่าง ทีนี้จิตว่างนี้ก็มีสองระดับ จิตว่างแบบชั่วคราว เราก็เรียกว่าสมาธิ จิตว่างแบบถาวรเราก็เรียกว่านิพพาน นิพพานนี้ก็คือจิตที่ได้ชำระความโลภ โกรธ หลง กำจัดหมดสิ้นไปจากใจ จึงไม่มีอะไรมาทำให้จิตไม่ว่าง เหตุที่ทำให้จิตไม่ว่างก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงที่คอยไปกระตุ้นความคิด ให้คิดถึงเรื่องนู้น คิดอยากได้นั้น คิดอยากได้นี้ขึ้นมา จิตมันก็จะไม่ว่างเพราะมันต้องคอยคิดหานู่นหานี่มาตอบสนองความต้องการของกิเลส แต่ถ้าไม่มีกิเลสแล้วก็ไม่มีอะไรไปผลักดันให้จิตไปคิดอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ถึงแม้จิตจะมีความคิดก็เป็นความคิดที่ไม่สร้างอารมณ์ขึ้นมา คือความคิดนี้ยังมีอยู่ แต่เป็นความคิดที่ปราศจากความโลภ โกรธ หลงเป็นผู้ผลักดัน ไม่คิดไปในทางโลภ โกรธ หลง คิดไปในทางธรรม คิดไปในทางไตรลักษณ์ หรือคิดไปในทางกลางๆ คือคิดว่าไอ้นี่เป็นไอ้นั่น ไอ้นั่นเป็นไอ้นี่ก็คิดไป แต่จะไม่มีความรัก ความชังตามมาจากการที่ไปคิดว่าไอ้นั่นเป็นไอ้นี่ ไอ้นี่เป็นไอ้นั่น ดังนั้นจิตว่างมันก็มีสองแบบ เวลาสงบกิเลสมันก็หยุดทำงานชั่วคราว มันก็เป็นเหมือนนิพพานชั่วคราว แต่มันยังไม่ตาย พอออกจากสมาธิมา กิเลสก็ออกมาทำงานต่อ แต่สำหรับนิพพานนี่กำจัดกิเลสหมดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสมาธิหรืออยู่นอกสมาธิ จิตก็ว่างตลอดเวลา แต่คิดได้ แต่ความคิดก็เป็นเพียงกิริยา ไม่มาสร้างอารมณ์ ไม่มาสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจให้กับจิตอีกต่อไป


พิจารณาเรื่องความตายแล้วรู้สึกหดหู่
ถาม : พระอาจารย์ให้พิจารณาเรื่องความตาย มันรู้สึกหดหู่ ใจหาย ที่เราจะต้องจากคนที่เรารัก เวลาหดหู่ควรจะทำอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : ก็แสดงว่าจิตเราไม่มีสมาธิพอ ก็ตอนนี้ยังไม่ต้องพิจารณาทางปัญญา พิจารณาแล้วมันเกิดโทษไม่เป็นประโยชน์ ตอนนี้ต้องมาฝึกทำใจให้สงบให้มีอุเบกขาก่อน เพราะถ้าใจมีอุเบกขาแล้วมันจะเฉยๆกับสิ่งที่เราคิด มันเป็นเพียงความคิดเท่านั้นเอง ขนาดความคิดเรายังหดหู่เลย ยังไม่ได้เจอของจริงเลย แล้วเวลาไปเจอของจริงมันจะเป็นยังไง แสดงว่าใจเรานี่ไม่มีความหนักแน่นเลย ไม่มีอุเบกขาเลย มีความรักชังกลัวหลงมาก พอเพียงแต่คิดเท่านั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาแล้ว งั้นต้องมาฝึกทำสมาธิก่อน ทำใจให้สงบก่อน ถึงบอกทุกครั้งว่าการเจริญปัญญานี้มันทำไม่ได้ถ้าไม่มีไม่มีสมาธิ คนสมัยนี้ อ๋อ..คิดว่าฉลาด เก่ง เรียนหนังสือจบปริญญา ใช้ปัญญาได้เลย มันใช้ไม่ได้หรอก มันได้แต่คิดแต่เรื่องที่มันคิดได้ เรื่องที่มันไม่กล้าคิดมันไม่กล้าคิดหรอก เรื่องความตายมันไม่ค่อยคิดกันหรอก เรื่องอสุภะมันไม่คิดกันหรอก จะคิดแต่เรื่องของสวยๆ งามๆ หน่ะคิดได้ งั้นมันไม่ใช่หรอกนะ ถ้าจะเป็นปัญญานี้มันจะต้องคิดเรื่องที่เราไม่ชอบคิดกัน เช่นความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน อสุภะอาการ ๓๒ ความสกปรกของอาหาร เวลามันถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย อันนี้คือสิ่งที่เราไม่ยอมคิดกันหรอก นี่แหละคือปัญญา ถ้าไม่มีความคิดเหล่านี้อยู่ในใจไม่สามารถดับกิเลสได้หรอก มันจะหลงชอบไปหมด เห็นอาหารก็อยากจะกินขึ้นมา เพราะมันไม่มองเวลาที่มันออกมาจากร่างกายว่าเป็นอย่างไร งั้นต้องพยามทำสมาธิให้มากๆ วิธีจะทำสมาธิได้ก็ต้องตั้งใจตั้งสติก่อน ลืมตาขึ้นมาก็ พุธโธๆ ไปเลย แล้วต่อไปมันก็จะมีอุเบกขาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ


มีความวิตกกังวลเรื่องความสะอาด
ถาม : ทำอย่างไรจะปล่อยวางความกลัวเจ็บไข้ได้ป่วย ที่ทำให้ไม่กล้าเดินทางไปไหนไกลๆ เพราะส่วนหนึ่งของความเจ็บป่วยมีสาเหตุจากความวิตกกังวลเรื่องความสะอาดมากไป อนามัยจัดครับ

พระอาจารย์ : ก็ต้องหมั่นระลึกอยู่เรื่อยๆว่าเมื่อเราเกิดมาแล้วเราต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นไปไม่ได้ ต่อให้เราระมัดระวังขนาดไหนก็ตาม เดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย หนีไม่พ้น ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วเราก็อาจจะว่าเมื่อถึงคราวที่มันจะเป็น ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนมันก็เป็นได้ทั้งนั้น แต่ให้เรามีความระมัดระวังก็แล้วกัน ถ้าเราไปที่อื่น ที่ไหนที่มันไม่สะอาด เราก็ทำความสะอาดก่อนสิ เข้าไปห้องน้ำเห็นมันสกปรก เราก็ทำความสะอาดเสียก่อนแล้วค่อยใช้มันก็ได้


30/6


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 กันยายน 2565 12:52:26
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/75422422463695_307309781_650705799770913_7339.jpg)


ไม่ต้องทำอะไร 
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป

พระอาจารย์ :  เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ :  ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ :  ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ..”ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่”.. ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


เพื่อนชอบโม้ 
คำถาม: ถ้ามีเพื่อนชอบโม้ อวดใส่เรา ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมามันไม่ใช่หรอก เขาจะทำตัวฉลาดกว่า แต่ผมก็ไม่ได้ถือเรื่องนี้ว่าสำคัญอะไร แล้วก็ปล่อยผ่านครับ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ เราต้องเลิกคบกับเขาไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ถ้าเรามีความจำเป็นที่จะต้องคบกันก็คบกันไป แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ต้องไปหาเขา ติดต่อกับเขา แต่ไม่ให้รังเกียจเวลาที่เราต้องเจอกับเขา เราก็ทักทายกันไปตามมารยาท คือไม่รังเกียจแต่ก็ไม่คลุกคลีกับเขา ไม่สนิทชิดชอบกัน เราต้อนรับเขาไปตามมารยาท แต่ถ้าเขาพูดอะไรเลอะเทอะเราก็ขอตัวไปก็แล้วกัน แยกตัวไปทำธุระของเรา


แรงบุญแรงบาป
ถาม : คำว่า สัมภเวสี นี้หมายถึงอะไร

พระอาจารย์ : พวกเปรต

ถาม : อย่างนี้ความเข้าใจที่ว่าสัมภเวสี ยังไม่ได้ขึ้นหรือลงก็ไม่ถูก

พระอาจารย์ : ไม่ถูก สัมภเวสีเป็นภพหนึ่งแล้ว  เป็นเปรต เป็นจิตที่อยู่ในสภาพนั้น สมมุติว่าจิตเป็นเหมือนลูกแก้ว ภพต่างๆเป็นสีต่างๆ  พอจิตเป็นสีแดงก็เป็นนรก พอเป็นสีเขียวก็เป็นสวรรค์  จิตจะแดงหรือเขียวอยู่ที่สังขารความคิดปรุงแต่ง ปรุงแต่งไปทางความทุกข์ ก็จะแดงขึ้นมา ปรุงแต่งไปในทางธรรมะ ปล่อยวาง ให้ทาน  รักษาศีล ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เขียวขึ้นมา เป็นสุคติขึ้นมา ..อยู่ที่จิต  นรกสวรรค์หรือภพภูมิต่างๆ นี้ไม่เป็นสถานที่ ยกเว้นภพของมนุษย์ กับเดรัจฉาน ที่ต้องมีกายหยาบ จึงเกี่ยวข้องกับสถานที่ เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับ ร่างกายก็อยู่เฉยๆ แต่ใจไม่เฉย ถ้าฝันดีก็เป็นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็เป็นอบาย เป็นนรกเป็นเปรตเป็นเดรัจฉาน พอตื่นขึ้นมาก็กลับมาเป็นมนุษย์ ตอนที่หลับไปนี้..เราควบคุมความคิดปรุงแต่งไม่ได้ เป็นไปตามบุญตามกรรม พอตื่นขึ้นมาก็มีสติพอควบคุม อยู่ในสภาพของมนุษย์ได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้เหมือนกัน เวลาที่มีเรื่องราวที่หนักหนาสาหัสก็ทำให้จิตทรุดลงไป ร้อนเป็นนรกได้ ถ้าได้ทำบุญปฏิบัติธรรม ก็ทำใจให้มีความสุข เป็นสวรรค์ขึ้นมา  ความคิดปรุงแต่งเหล่านี้จะสะสมอยู่ในใจ จนเป็นนิสัยไป พอถึงเวลาที่ใจออกจากร่าง ตอนนั้นจะถูกอำนาจของบุญกรรมพาไป ตัวไหนมันมีกำลังมากกว่า ตัวนั้นก็จะบังคับให้จิตเป็นไป ถ้าบุญมีแรงมากกว่าก็จะพาไปสุคติ ถ้าบาปกรรมมีแรงมากกว่า ก็จะพาให้ไปทุคติ ไปอบาย จะผลัดกันทำหน้าที่ จนกว่าจะสามารถทำจิตให้เป็นนิพพาน


แนวทางการฝึกแยกกายออกจากจิต
ถาม: การฝึกแยกกายออกจากจิต มีแนวทางอย่างไรเจ้าคะ ก่อนเราจะตายจะฝึกทนความเจ็บปวดได้มากน้อยเพียงไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็มี ๒ วิธี วิธีแรกก็คือฝึกแยกจิตกับกายด้วยการเข้าสมาธิ เวลาจิตเข้าสมาธิจิตมันก็จะแยกออกจากกาย เวลาเข้าสมาธิร่างกายจะปวดตรงไหนจะเจ็บตรงไหน จิตไม่รับรู้ หรือรับรู้ก็ไม่เดือดร้อน นี่เรียกว่าวิธีแยกจิตออกจากกายด้วยสมาธิก่อน พอแยกด้วยสมาธิเวลามันกลับมารวมกัน เวลาออกจากสมาธิแล้ว จิตกับกายกลับมารวมกัน ก็คอยสอนใจด้วยปัญญาว่าเราไม่ได้เป็นร่างกาย เราอย่าไปวุ่นวายกับร่างกาย มันจะเป็นอะไรก็ช่างมัน ถ้าช่วยมันได้ก็ช่วยมันไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ช่างหัวมัน นี่คือแยก ๒ วิธี ต้องแยกด้วยสมาธิก่อน แล้วถึงจะมาแยกด้วยปัญญาได้ ถ้าไปแยกด้วยปัญญาแล้วมันจะแยกไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ ถ้ายังไม่ได้แยกด้วยสมาธิมันยังติดกันอยู่ เราต้องแยกออกจากกันด้วยสมาธิก่อน แล้วเราเห็นประโยชน์ของการที่แยกใจออกจากร่างกายว่ามันทำให้ใจเบาใจสบาย พอเราออกจากสมาธิมา พอมารวมกัน พอจิตจะไปยึดไปติดกับร่างกาย ก็บอกว่ามันไม่ใช่ตัวเราอย่าไปยึด ยึดแล้วจะทุกข์ พอไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์ นี่คือวิธีแยกกายกับแยกจิตออกจากกัน ต้องแยกด้วยสมาธิ แล้วก็แยกด้วยปัญญา


ทุกข์เกิดที่ใจก็ต้องดับที่ใจ
คำถาม :  เคยฟังพระพูดว่าทุกข์อยู่ที่ไหนให้ดับที่นั่น หมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ แล้วทำอย่างไรล่ะเจ้าคะ

พระอาจารย์ :  อ้าว

เวลาไฟลุกจะไปดับไฟที่ไหนล่ะ ไฟลุกที่บ้านแล้วไปดับไฟที่รถมันจะได้หรือเปล่า ไฟลุกที่บ้านก็ต้องดับไฟที่บ้าน “ทุกข์มันเกิดที่ใจ ก็ต้องไปดับที่ใจ” แต่เราโง่กัน เวลาเกิดความทุกข์ใจเราก็ไปดับที่คนนั้น เพราะเราไปคิดว่าเขาทำให้เราทุกข์ เช่น คนเขาด่าเราอย่างนี้ เราก็เลยไปจัดการกับเขาเพื่อเราจะได้หายทุกข์ มันไม่หายหรอก ทุกข์มันเกิดที่ใจเรา ต้องดับทุกข์ที่ใจ สาเหตุที่ทำให้ใจทุกข์ก็เพราะ “ไม่อยากให้เขาด่าเรา” เรามาหยุดสาเหตุนี้ อย่าไปอยากให้เขาไม่ด่าเรา ปล่อยให้เขาด่าเรา พอเราหยุดความอยากไม่ให้เขาด่าเราได้ ต่อไปเขาด่าเรากี่ครั้ง เราก็ไม่ทุกข์ เพราะเรา “ไม่มีความอยาก” ไม่ให้เขาด่าเรา เรากลับจะดีใจ โอ้..วันนี้เขาด่าเราแสดงว่าเขาคิดถึงเรานะ เขารักเรา เขาชอบเรานะ ฉะนั้นอย่าไปแก้ ความทุกข์ใจต้องแก้ที่ใจ แก้ที่สาเหตุของใจ ดับความอยากของใจแล้ว “ความทุกข์ใจก็จะหายไป”  อย่าไปแก้ที่คนที่เขาด่าเรา ไม่จบ พอเขาด่าเรา เราก็ด่าเขากลับ เขาก็เลยตีเราซิ เขาตีเรา เราก็ฆ่าเขาซิ มันก็ไปกันใหญ่


ทำบ้านให้เป็นเหมือนวัด
คำถาม: การทำบ้านเป็นวัดต้องทำอย่างไรครับ

พระอาจารย์: ก็เหมือนกับที่วัดเขาไม่มีทีวี เราก็ต้องปิดทีวี เอาทีวีเข้าตู้ ของต่างๆ ที่เราหาความสุขเพื่อทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ ทางวัดเขาจะไม่ให้มี เราก็ต้องเอาไปเก็บไว้ คือเราต้องทำห้องใดห้องหนึ่งให้เป็นห้องว่างๆ ไม่มีอะไรเลย แล้วเราถือว่าห้องนั้นเป็นวัดได้ มีแต่ที่นั่งที่นอน ที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้นเอง ก็ทำเหมือนเวลาเราไปอยู่วัด เขามีห้องพักให้เราอยู่ มีอะไรในห้องพักในวัด ไม่มี ก็มีแต่ที่นอนเท่านั้นเอง มีหมอนกับเสื่อให้เรานอน แล้วก็ห้องน้ำให้เราใช้ อันนี้แหละคือการทำบ้านให้เป็นเหมือนวัด ก็คือต้องทำให้ไม่มีอะไรเลย ถ้ามีเราก็แยกเป็นส่วนไป จัดห้องไว้ห้องหนึ่ง ให้เป็นวัดไป ห้องนี้จะเป็นห้องที่เราปฏิบัติธรรม เราจะขังตัวเองอยู่ในห้องนี้ เราจะไม่มีตู้เย็น ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีโทรทัศฯ ไม่มีอะไรให้เรารับรู้กับเรื่องราวต่างๆ ทางจมูกลิ้นกาย นี่คือการทำบ้านให้เป็นวัด แล้วนอกจากนั้น พอมันเป็นวัดแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติธรรม ถึงจะเป็นวัดด้วย ไม่ใช่ห้องมันเป็นวัดแล้วก็เข้าไปนอนหลับอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่รักษาศีล ไม่นั่งสมาธิ มันก็ยังไม่เป็นวัด การจะเป็นวัด มันต้องเป็นวัดทั้งสถานที่และจิตใจควบคู่กันไป


14/9


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 ตุลาคม 2565 19:51:15

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/58286591081155_310751831_673772867464206_1438.jpg)

กลับมาบวชได้ถ้าไม่ได้สึกไปเพราะทำปาราชิก
คำถาม: เรียนถามพระอาจารย์ครับ ถ้าเราเคยบวชเรียนแล้วครั้งหนึ่ง แล้วสึกออกไปทำงาน อนาคตเราสามารถกลับมาบวชอีกได้ไหมขอรับ

พระอาจารย์: ถ้าไม่ได้สึกไปเพราะทำปาราชิก ๔ ข้อ ก็สามารถที่จะกลับมาบวชได้ ปาราชิก ๔ ข้อ ก็คือ ฆ่ามนุษย์ แล้วก็เสพกาม ร่วมหลับนอนกับญาติโยมตอนที่ยังเป็นพระอยู่ แล้วก็ลักทรัพย์ แล้วก็ข้อสุดท้าย อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวตน อวดว่าเป็นพระโสดาแล้ว ได้ฌานแล้ว อะไรโดยที่ไม่มี อย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ถูกจับสึกไป เขาไม่ให้มาบวชอีก


บุญไม่ลบล้างบาป
คำถาม: จะผิดศีลไหมคะ ถ้าทำงานในสิ่งที่ได้รายได้ด้วย แต่ในส่วนหนึ่งก็เพื่อจะทำเป็นการกุศลด้วยแบบนี้ค่ะ อย่างนี้ผิดหรือเปล่าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ การทำงานก็เรื่องหนึ่ง การทำกุศลก็อีกเรื่องหนึ่ง การทำงานของเราบางทีอาจจะผิดศีลก็ได้ ถ้าเราทำอาชีพค้าสัตว์ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วเอาเงินนี้ไปทำบุญทำกุศลนี่ มันก็ได้บุญ ยิ่งทำบุญก็ได้บุญ แต่บาปที่เราทำเพื่อให้ได้เงินมามันก็ได้บาปด้วย มันไม่ลบล้างกัน


ธาตุรู้
ถาม: ทราบว่าธาตุทั้ง ๖ มีความเป็นอมตะ หากสร้างบุญกุศล ทาน กับธาตุทั้ง ๖ แล้ว อานิสงส์จะมากและยาวนาน ความเข้าใจถูกต้องไหมครับ

พระอาจารย์: คือการทำบุญเราไม่ได้ไปทำกับธาตุทั้ง ๖ หรอก เราทำกับธาตุรู้ธาตุเดียว ธาตุรู้นี้เป็นผู้ที่รับผลบุญผลบาปที่เราทำ และผู้ที่จะทำก็คือถ้ารู้นี่เอง งั้นธาตุอื่นนี้เขาก็เป็นเพียงแต่องค์ประกอบของโลก เช่นดินน้ำลมไฟ มันก็ทำให้มีต้นไม้ใบหญ้า มีสัตว์ มีมนุษย์ มีร่างกายของมนุษย์ มีร่างกายของสัตว์เดรัจฉาน แต่ผู้ที่สร้างบุญสร้างกรรมผู้ที่รับผลบุญผลกรรมก็คือธาตุรู้คือใจนี่เท่านั้นเอง


ภาวะตกจากที่สูงในขณะทำสมาธิ
คำถาม: ภาวะตกจากที่สูงในขณะทำสมาธิคืออะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร

พระอาจารย์: อ๋อ เป็นขณะที่จิตจะเข้าสู่ความสงบแก้ไขไม่ได้ เพราะเราต้องการให้มันเข้าสู่ความสงบ เวลาจะเข้าสู่ความสงบมันก็มักแสดงอาการเหมือนตกจากที่สูงลงมา ก็ให้รู้เท่านั้นเอง แต่ที่สูงที่ปลอดภัย จะมีเบาะหนาๆ รองรับอยู่ข้างล่าง ไม่เจ็บตัว พอร่วงลงมาแล้วจะอิ่มใจสุขใจ เบาใจสบายใจ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวถ้าได้ภาวะอย่างนี้ถือว่าจิตได้เข้าสู่ความสงบแล้ว แล้วพอมันสงบแล้วก็อย่าไปทำอะไร พยายามประคองให้มันอยู่ในความสงบไปนานๆ ยังไม่ต้องไปพิจารณาทางปัญญา เรากำลังหัดยืนหัดเดินอยู่ อย่าเพิ่งไปวิ่ง เรากำลังคลาน เพิ่งรู้จักยืน อย่าเพิ่งไปเดิน พยายามยืนให้มันได้แบบไม่ล้มก่อน พยายามฝึกสมาธิไปบ่อยๆ มากๆก่อน ให้มีความชำนาญ ให้อยู่ได้นานๆ ให้เข้าได้ทุกเวลา เข้าได้อย่างง่ายดายรวดเร็วก่อน แล้วค่อยไปทางปัญญา ทางปัญญาก็ต้องรอตอนที่ออกจากสมาธิ ตอนที่อยู่ในสมาธิไม่ให้ทำอะไร ให้จิตพักผ่อน พอจิตถอนออกจากความสงบเริ่มคิดปรุงแต่งแล้ว ทีนี้เราจึงค่อยเอามาพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะ พิจารณาอาการ ๓๒ พิจารณาการเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาความเสื่อมของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


วิธีปฏิบัติธรรมที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี
ถาม: วิธีปฏิบัติธรรมอย่างไรที่คนทั่วไปในสังคมทำได้ง่ายที่สุด และได้ผลดีที่สุดครับ

พระอาจารย์: ก็ท่องพุทโธไปทั้งวันสิ เวลาเราไม่รู้จะทำอะไรก็พุทโธๆๆ ไป อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย เป็นวิธีง่ายๆ แต่ทำยาก เพราะใจเราชอบคิดไม่ชอบพุทโธ งั้นเราต้องคอยเตือนใจว่า ต่อไปนี้เราต้องมาเปลี่ยนวิถีการดำเนินของใจเรา อย่าปล่อยให้คิด ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิด ถ้ามันคิดก็ให้มันคิดพุทโธๆๆ ไป


เวลาใกล้ตาย ถ้าไม่มีสติจะควบคุมจิตไม่ได้
ถาม: ตอนนี้คุณยายของผมเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย นอนติดเตียง หมดทางรักษา เป็นวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ยังมีสติพยักหน้ารู้ตัวบ้าง ซึ่งในตอนนี้ ผมได้ให้ท่านเจริญสมาธิ โดยการกำหนดพุทโธพุทโธ และเปิดบทสวดมนต์โพชฌงค์ให้ฟัง แต่บางครั้งท่านจะหลุดลอย มีความฉุนเฉียว ไม่ได้ดังใจ และเพ้อละเมอถึงสิ่งแปลกๆ ถามคำถามแปลกๆ ผมกลัวท่านไปไม่สงบ ไม่สบาย จุดนี้ในฐานะลูกหลาน ต้องปฏิบัติอย่างไรครับ ขอบคุณครับ

พระอาจารย์: ก็ต้องวางใจเป็นอุเบกขา เพราะมันอยู่เหนือวิสัยที่เราจะทำให้ท่านได้ มันเป็นเรื่องของผลของการดำเนินชีวิตของท่านมา มันก็จะแสดงผลในช่วงที่ใกล้จะตาย ถ้ามีสติใจมันก็จะสงบ ถ้าฝึกสติมาดีใจมันก็จะสงบ ถ้าฝึกสติมาไม่ดี มันก็จะเพ้อเจ้อเพ้อ บางทีหลงได้ งั้นพวกเราที่ยังอยู่นี้ ควรจะเอาตัวอย่างของคนที่จะตายนี่ มาสอนเราว่าอย่าประมาท รีบฝึกจิตฝึกใจให้มีสติ ให้จิตมันสงบ ให้ควบคุมจิตได้ เพราะเวลาใกล้ตายนี้ ถ้าไม่มีสตินี้ มันจะควบคุมจิตไม่ได้


ทำไมจิตของคนส่วนมากจึงไหลลงที่ต่ำ
คำถาม: ทำไมจิตของคนส่วนมากจึงไหลลงที่ต่ำ ซึ่งในความเป็นจริงจิตใจของคนมันต้องเจริญเติบโตตามอายุ ไม่ใช่หรือครับ จะทำอย่างไรให้จิตคนทั่วไปสูงขึ้นตามอายุ หรือประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่ให้ไหลลงสู่ที่ต่ำครับ

พระอาจารย์: คือจิตไหลลงหรือขึ้นสูงนี้ มันอยู่ที่กิเลสหรือธรรม ถ้าใจมีกิเลสก็จะไหลลงต่ำ ถ้าใจมีธรรมมันก็จะไหลขึ้นสูง แต่คนส่วนใหญ่ที่มาเกิดในโลกนี้เป็นคนที่มีกิเลสมากกว่ามีธรรม คนที่มีธรรมนี้มีน้อย มีบ้าง อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ท่านมีธรรมมา ท่านเลยดึงใจของท่านให้ขึ้นสูงได้ แต่คนส่วนใหญ่นี้จะดึงให้ลงต่ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ใจเราขึ้นสูง เราก็ต้องหมั่นศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม สร้างธรรมให้เกิดขึ้นมาภายในใจ พอมีธรรมมากขึ้นใจก็จะขึ้นสูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติธรรม ปล่อยให้อำนาจของกิเลสครอบงำจิตใจ กิเลสก็จะคอยดึงให้ใจลงต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นขอให้เราเข้าใจหลักนี้ ถ้าเราอยากให้ใจเราขึ้นสูง เราต้องมีธรรม ถ้าเราไม่ต้องการให้ใจลงต่ำ เราต้องคอยปรามกิเลสตัณหา


ธรรมดาคนเราอยู่ด้วยกันบางทีก็มีขัดกันได้
ถาม: การที่เราเจออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของคนอื่น นั่นคือกรรมของเราที่เคยทำไว้ในอดีต หรือเป็นกรรมใหม่ของบุคคลนั้นที่กำลังทำครับ

พระอาจารย์: อ๋อ มันเป็นได้หลายอย่าง มันก็เป็นเรื่องธรรมดา คนเราอยู่ด้วยกันในโลกนี้ มันก็บางทีก็มีขัดกันได้ แย่งกันแข่งขันกันมันก็ต้องมีการขัดขวางกันไปขัดขวางกันมา เป็นธรรมชาติของกิเลส ทุกคนอยากได้สิ่งเดียวกัน มันก็แย่งกันแข่งกันขวางกันไปขวางกันมา มันเป็นเรื่องของกิเลสที่เรามีมาตั้งแต่อดีต ถ้าเราไม่มีกิเลส เราก็ไม่ต้องมาแย่งกับใคร เราก็หาของเรา ถ้าตรงนี้เขาแย่งกัน เราก็ไปหาที่อื่น ถ้าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่มีกิเลส เราก็ไม่ต้องมีอะไรเราก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงดีกับใคร แต่ถ้าเรายังมีกิเลส ยังมีความอยากอยู่ เราก็ต้องไปแก่งแย่งชิงดีกับคนนั้นคนนี้ เพราะฉะนั้น พยายามลดละกิเลส ลดละความอยากไป แล้วต่อไปเราจะไม่มีปัญหากับใคร


ฝึกจิตอย่างไรจะพ้นจากเวทนาจากการนั่งสมาธิ
ถาม: ต้องฝึกจิตอย่างไร ถึงจะพ้นจากเวทนาจากการนั่งสมาธิขอรับ

พระอาจารย์: ก็มันมี ๒ ระดับ ระดับสติ ก็เวลาเกิดความเจ็บทางร่างกาย ก็อย่าไปสนใจ ใช้สติ ให้บริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ไป อย่าส่งให้จิตไปคิดถึงความเจ็บ ถ้าไม่คิดถึงมันแล้ว ความเจ็บก็จะไม่สร้างความทรมานให้กับใจ ที่ใจทรมานเพราะใจอยากให้ความเจ็บหาย แต่พอใจมาบริกรรมพุทโธพุทโธ ก็จะไม่สามารถสร้างความอยาก ให้ความเจ็บหายได้ พอไม่สร้างความอยาก ใจก็จะไม่ทรมาน อันนี้ก็เป็นวิธีแรก แต่เป็นวิธีชั่วคราว เพราะถ้าใจกลับไปคิดถึงความเจ็บเมื่อไหร่ ก็จะเกิดความอยากให้หายเจ็บขึ้นมา ก็จะเกิดความทรมานใจ แล้วจะทนอยู่กับความเจ็บไม่ได้

วิธีที่ ๒ ที่จะแก้ ก็ต้องรอให้เราผ่านวิธีที่ ๑ ก่อน เพราะถ้าไม่ผ่านวิธีที่ ๑ เราจะไม่มีกำลังพอ ที่เราจะมาแยกเวทนา ความเจ็บ ออกจากใจ ออกจากร่างกาย ถ้าเรามีกำลังที่จะดึงใจออกจากเวทนาแล้ว ขั้นต่อไปเราก็มาสอนใจว่า เวทนานี้มันอยู่ที่ร่างกาย มันไม่ได้อยู่ที่ใจ ใจเป็นเพียงผู้ที่มารับรู้เวทนา ความเจ็บของร่างกาย ใจนี้ไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย ที่ใจเจ็บ เพราะใจอยากให้ความเจ็บหายไป แต่ใจก็ไม่สามารถที่ไปสั่งให้ความเจ็บนั้นหายไปได้ เพราะธรรมชาติของความเจ็บ มันเป็นอนัตตา มันไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของใคร มันจะเกิดจะดับ มันมีเหตุมีปัจจัยของมัน

เพราะฉะนั้น จะให้มันดับเองนี้ ดับตามคำสั่งเราไม่ได้ พอไปอยาก ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา แต่พอเรารู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้ เราก็เฉยๆ ไป ให้รับรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ใจเราก็จะไม่ทุกข์ไม่ทรมาน เราก็จะอยู่กับความเจ็บได้อย่างสบาย อันนี้เป็นขั้นวิปัสสนา ขั้นปัญญา ให้เรียนรู้ธรรมชาติของความเจ็บ ให้เรียนรู้ว่าความทุกข์ของเราเกิดจากอะไรเวลาที่ร่างกายเจ็บ ความทุกข์ของเราเกิดจากความอยาก อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าเรารู้ ไม่อยากไปทุกข์ เราก็อย่าไปอยาก ปล่อยให้มันเจ็บไป ปล่อยให้มันเกิดเองดับเอง เพราะทุกอย่างเป็นอย่างนี้

ของบางอย่างทำไมเราไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ไปอยาก เช่น ฝนตก เราไม่ทุกข์เพราะเราไม่ได้ไปอยากให้มันหยุด แต่ถ้าเราไปอยากให้ฝนหยุดนี่ เราจะทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะบางทีเราอยากจะทำธุระอะไรแล้วทำไม่ได้ ก็อยากให้ฝนหยุด พอฝนไม่หยุด ใจเราก็ทุกข์ขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์ เราก็ต้องปล่อยให้ฝนมันตกไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหยุดเอง ฉันใด ความเจ็บของร่างกายก็เหมือนฝน เราก็ไปสั่งมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้ แต่เราสามารถห้ามใจเรา ไม่ให้ไปทุกข์กับมันได้ ด้วยการอย่าไปอยากให้มันหาย มันจะอยู่ก็ปล่อยมันอยู่ไป มันจะหาย เดี๋ยวมันก็หายเอง


กราบไหว้ศาลเจ้าที่ผิดหลักของพุทธศาสนาไหมครับ
ถาม: ในทางศาสนาพุทธไม่ให้กราบไหว้บนบานกับศาลเจ้าที่หรือศาลที่สถิตของวิญญาณ แต่เราแค่ยกมือไหว้ทำความเคารพตามมารยาท หรือตามธรรมเนียม แบบนี้จะผิดหลักของพุทธศาสนาไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ การให้ความเคารพนี่ไม่ผิดหลักหรอก ศาสนาก็สอนให้เรารู้จักที่สูงที่ต่ำ ใครที่เขาสูงกว่าเรา เราก็ต้องเคารพเขา “ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมัง คลมุตตมัง” บูชาแสดงความเคารพต่อผู้ที่เขาสูงกว่าเรา เช่น บิดามารดา ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ หรือผู้ที่มีพระคุณกับเรา เราก็ต้องให้ความเคารพกับเขา อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เป็นเรื่องที่ดีเป็นมงคล งั้นถ้าเราเชื่อว่า มีเจ้าที่เจ้าทางเขาคุ้มครองเรา รักษาเรา เราก็ยกมือไหว้เขาไปก็ได้ ตามความเชื่อของเรา ส่วนจะมีจริงหรือไม่มีจริง ก็ต้องพิสูจน์เอาเองอีกที


ไม่ต้องกังวลถึงผลในอนาคต
คำถาม: เราจะเพิ่มศรัทธาในการรักษาศีล ทำความเพียร ปฏิบัติได้อย่างไรครับ เพราะอย่างที่พระอาจารย์เทศน์ เราไม่รู้ว่าอบายภูมิหรือสวรรค์มีจริงหรือไม่จริง แล้วผลของการปฏิบัติเราก็ไม่รู้อีก สังคมเพื่อนปัจจุบันก็มีแต่ชวนไปทางเพลิดเพลิน รบกวนพระอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ

พระอาจารย์: อ๋อ เราไม่ต้องกังวลถึงผลในอนาคตหรอกเพราะผลในปัจจุบัน
เราก็มี ทำบุญเราก็มีความสุขใจสบายใจ รักษาศีลได้เราก็สบายใจ ดังนั้นดูที่ตรงนี้ก็แล้วกันเปรียบเทียบระหว่างดื่มสุรากับไม่ดื่มสุราดูว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ดื่มสุราเสียหลายอย่าง เสียเงินเสียทอง เสียสติ เสียสุขภาพ ไม่ดื่มสุราก็ไม่เสียเงินเสียทอง ไม่เสียสุขภาพ ไม่เสียสติ ใจสบาย ดื่มแล้วเมา ตื่นขึ้นมาก็ปวดหัว อันนี้เราสามารถเห็นผลได้ในปัจจุบัน ส่วนผลในอนาคตนี้เราต้องภาวนาเราถึงจะเห็นได้ นั่งสมาธิ ถ้าเรานั่งสมาธิไม่ได้ก็เอาผลปัจจุบันไปก่อนแล้วก็เชื่อคนที่เขาเห็น เช่น พระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายที่เห็น ที่ท่านมาสอนให้พวกเราทำกันว่าชาติหน้ามีจริง อันนี้ก็ต้องอาศัยความเชื่อไปก่อน เพราะเรายังเป็นคนตาบอดอยู่ แต่ถ้าอยากจะเป็นคนตาดีก็ต้องฝึกนั่งสมาธิบ่อยๆ จิตสงบแล้วก็จะเห็นตัวจิต จะเห็นตัวที่ไปเกิดเองว่ามีจริง





หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 18:40:15
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57439212459656_315645860_699938241514335_3338.jpg)

หมอดูทักให้เปลี่ยน
ถาม  :  มีหมอดูมาทักให้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเบอร์โทร อ้างว่าจะเกิดเหตุร้าย  เจ็บป่วย ผ่าตัด จนถึงล้มละลาย เราไม่เชื่อ เราควรวางจิต และ ตอบโต้เขาอย่างไรดีค่ะ

พระอาจารย์  :  ก็เปลี่ยนอะไรแล้วมันเปลี่ยนความแก่ ความเจ็บ ความตาย ได้หรือเปล่าล่ะ ถ้าเปลี่ยนได้ขอเปลี่ยนคนแรกเลยวันนี้(หัวเราะ) ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย บอกมาเลยอยู่ที่ไหน จะไปขอเปลี่ยนด้วยคนนึง เฮ้อ.. เชื่อกัน งมงายเหลือเกิน ความจริงไม่ยอมมองกัน ชื่ออะไรก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย รวยขนาดไหนก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จนขนาดไหนก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เหมือนกันหมดทุกคน เปลี่ยนไม่ได้ความจริงนี้ จะเปลี่ยนได้ก็ คือการไม่เกิดเท่านั้นเอง
การไม่เกิดก็ต้องหยุดความอยากสามตัว หยุดความอยาก กามตัณหา อยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส อยากเที่ยว อยากดู อยากกิน อยากดื่ม อยากมีแฟนก็ต้องตัดไปให้ได้ อยากร่ำอยากรวย ก็ต้องตัดไปให้ได้ อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บก็ต้องตัดไปให้ได้ ถ้าตัดความอยากเหล่านี้ไปได้แล้วก็ จะไม่มีวันที่จะต้องกลับมาแก่ มาเจ็บ มาตาย อีกต่อไป.


ผู้ที่จะปฎิบัติธรรมต้องอดทนต่อความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น
ถาม: ทำไมยิ่งทำบุญ ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเข้าหาธรรมะมากเท่าไหร่ เหมือนว่ายิ่งเห็นทุกข์มาก ยิ่งมีสิ่งเข้ามารุมเรามาก บางครั้งทำให้รู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย หนูต้องทำอย่างไรต่อไปดีเจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็ปฏิบัติยังไม่ถึงที่ ยังไม่ได้ผลมันก็เลยทุกข์ พอเริ่มได้ผลแล้วความทุกข์มันก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ไหม่ๆ ต้องทุกข์หน่อย ถึงต้องอดทน ผู้ที่จะปฎิบัติธรรมนี้ต้องอดทน ทนต่อความทุกข์ที่มันจะคอยเกิดขึ้นมา เพราะว่าเวลาปฎิบัติธรรมมันไปเที่ยวไม่ได้ไง ไปกินไปดื่มไม่ได้ เวลาไม่ปฏิบัตินี้มันไม่ทุกข์เพราะมันมีของดับทุกข์อยู่เรื่อยๆ เหมือนอยากจะดูก็ได้ดู อยากจะฟังก็ได้ฟัง อยากจะกินอยากจะดื่มก็ได้กินได้ดื่ม ทุกข์ก็เลยไม่เกิด เพราะว่ามีวิธีดับ แต่เป็นการดับแบบชั่วคราวและเป็นแบบที่จะทำให้ทุกข์เกิดมากขึ้นต่อไป แต่เวลาที่เราปฏิบัติเราฝืนความทุกข์ ฝืนความอยาก มันก็ต้องเกิดความทุกข์ขึ้นมาธรรมดา แต่ถ้าเราปฏิบัติจนถึงขีดที่เราหยุดความอยากได้ ตอนนั้นเราก็จะโล่งอก โล่งใจขึ้นมา เวลาใจสงบจากสติจากสมาธิชั่วคราวนี้ รู้สึกเหมือนกับยกภูเขาออกจากอกไปเลย แล้วต่อไปมันอยากจะปฏิบัติแล้วทีนี้ มันรู้แล้วว่าถึงแม้จะทุกข์ขนาดไหน เวลาที่ดับความทุกข์ได้นี่ เเหม มันรู้สึกคุ้มค่าเหนื่อย เป็นวิธีดับทุกข์ที่ทำให้ทุกข์ต่างๆ นี้มันไม่กลับมาเกิดอีก กลับมาเกิดก็น้อยลงหรือเบาลง ไม่เหมือนกับวิธีที่เราไปใช้ดับด้วยการไปเที่ยวไปกินไปดื่ม เวลามันหมดแล้วนี้มันยิ่งทุกข์ขึ้นมาใหญ่ อยากจะเที่ยวมากขึ้น อยากจะกินอยากจะดื่มมากขึ้น แล้วถ้าไม่ได้เที่ยวไม่ได้กินไม่ได้ดื่มขึ้นมา บางทีก็จะทุกข์มาก


ปฏิบัติแล้วสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
คำถาม: ปฏิบัติไปแล้ว สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไรครับ

พระอาจารย์: ก็มองคนที่เรามีอารมณ์ด้วยว่าเป็นอนัตตาไง เขาเป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เหมือนฝนตกแดดออกนี่ ก็ไปควบคุมบังคับฝนไม่ได้ใช่ไหม

คำถาม: คือเราวางจิตให้เหมือนกับฝนตกแดดออก ไม่โกรธ ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: ใช่ มองว่าเป็นเหมือนปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นอนัตตา

คำถาม: ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราก็จะตัดกิเลสได้ ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: ใช่ เราก็ตัดไปเหมือนดินฟ้าอากาศไป เราก็จะไม่พยายามเปลี่ยนเขา แก้เขา ก็ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาไป เราเพียงแต่รับรู้ความเป็นจริง สักแต่ว่ารู้ไป

คำถาม: เราสามารถนำสิ่งที่ปฏิบัติมาใช้ได้ทันท่วงทีไหมครับ

พระอาจารย์: เราก็ต้องคอยใช้สติ คอยเฝ้าดูใจเราว่ากำลังมีปฏิกิริยากับอะไรหรือเปล่า ถ้ามีก็แสดงว่าเราไม่มีสติที่จะควบคุมจิตได้ เราต้องเฉยในทุกกรณี เราฝึกให้จิตเป็นอุเบกขา ให้เฉยตลอดเวลา งั้นถ้าเวลาเราไปเจอเหตุการณ์ เราเฉยด้วยสติไม่ได้ เราก็ต้องใช้ปัญญา มองว่ามันเป็นธรรมชาติ มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างนี้มันเป็นธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เหมือนพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ฝนตกแดดออก ลมพัด อะไรอย่างนี้ มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ใครเขาจะทำอะไร จะดีจะชั่ว จะกระโดดโลดเต้น เป็นบ้า มันก็เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ถ้าเรามองว่าเป็นธรรมชาติ เราก็จะเฉยๆ ไป ไม่ไปวุ่นวายไปกับใคร เรื่องของเขา ต้องพยายามพิจารณาอนัตตาให้เข้าใจ ว่าอนัตตาเป็นอย่างไร

คำถาม: คือวันหนึ่งเราจะมองว่า เขาเป็นเหมือนฝนตกแดดออก ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: เออ ลองไปหัดดู หัดมองคน มองเขาเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามีหน้าที่อะไรทำได้ก็ทำไป เหมือนฝนตกหลังคารั่ว ถ้าเราอุดได้ก็ทำไป ถ้าอุดไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้มันรั่วไป แต่ไม่ต้องไปโกรธ ไม่ต้องไปอะไร เพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ


ต้องกราบขอบพระคุณพระพุทธเจ้า
ถาม  :  สามีของลูกศิษย์คนหนึ่งหัวใจวายตายที่เชียงใหม่ เป็นทุกข์มาก เขาให้มากราบเรียนว่า ตั้งแต่เขาเริ่มเข้าวัดมาฟังท่านอาจารย์ ๒ ปี ทำให้เขาเข้มแข็งมาก เขาเข้มแข็งจริงๆค่ะ

พระอาจารย์  :  ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะไม่ร้องห่มร้องไห้

ถาม  :  เขาบอกวันที่รดน้ำศพ เขาเข้าไปกราบสามี แล้วก็นึกถึงท่านอาจารย์ เพราะได้เห็นร่างกายซึ่งบวมมาก ได้เห็นอสุภะในวันนั้น ก็กราบขอบพระคุณมากค่ะ

พระอาจารย์  :  ต้องกราบขอบพระคุณพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าพวกเราก็จะไม่รู้

ถาม  :  เขาให้กราบเรียนด้วยค่ะ ว่าท่านอาจารย์ส่งข้อสอบยากที่สุดเลย ไม่ให้เขาสอบซ้อมเลย ให้สอบใหญ่เลย 

พระอาจารย์  :  จะได้ทำข้อสอบเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่ยอมทำกัน พอทำจริงๆก็จะทำได้ ทุกคนต้องเจอข้อสอบนี้ ช้าหรือเร็ว ไม่ต้องกลัว พวกเราทำได้ เพราะมีธรรมะ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้ามีธรรมะ จะมีข้อสอบกี่ข้อก็สอบผ่านหมด ปลงไปเรื่อยๆ ปลงไปทุกวันๆ คนนั้นก็ตายคนนี้ก็ตาย คนนั้นก็ไปคนนี้ก็ไป ให้คิดอย่างนี้ ถ้าปลงตัวเราได้แล้ว ปลงคนอื่นได้อย่างสบายเลย ปลงตัวเราให้ได้ก่อน ถามตัวเราว่าวันนี้เราพร้อมที่จะตายหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วก็จะสบาย.


ไม่อุทิศก็ไม่ได้รับ
ถาม: การทำบังสุกุล จริงๆจึงไม่จำเป็นใช่ไหม

พระอาจารย์: บังสุกุลในสมัยพุทธกาล เป็นการไปเก็บผ้าที่ทิ้งไว้ในป่า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการถวายผ้าจีวรให้กับพระ พระต้องหาผ้ามาเย็บเป็นจีวร ไปหาผ้าที่ทิ้งในป่าช้า เรียกว่าบังสุกุล ก็เลยเอาธรรมเนียมนี้มาใช้กับคนตาย เวลาคนตายก็นิมนต์พระมาบังสุกุล ถวายผ้าจีวรให้กับท่าน

ถาม: ซึ่งจริงๆไม่ได้ช่วยคนตายเลย

พระอาจารย์: เป็นเรื่องของพระ ให้พระมีผ้าจีวรไว้นุ่งห่ม ผู้ให้ก็ได้บุญ เป็นวัตถุทาน แต่คนตายไม่ได้อะไรเลย นอกจากบุญที่เราอุทิศให้เท่านั้นเอง ถ้าเป็นเปรตก็รับไป ถ้าไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทพ บุญอุทิศไม่มีความหมาย เพราะเป็นเหมือนค่ารถ ที่จะพาให้ไปเกิดใหม่

ถาม: การอุทิศบุญนี้ไม่จำเป็นต้องทำพิธีอะไร อยู่ที่การตั้งจิตของเราส่งไปให้เขาเท่านั้น ใช่ไหม

พระอาจารย์: พอทำบุญให้ทานแล้ว ก็อุทิศไปในจิต อุทิศบุญส่วนนี้ให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ถ้ากำลังรอรับส่วนบุญส่วนนี้อยู่ ก็ขอให้มารับไปได้เลย ถ้าไม่อุทิศถึงแม้จะรอรับอยู่ก็รับไม่ได้


พรหมวิหาร ๔
ถาม: เกล้ากระผมอยากให้พระอาจารย์อธิบายพรหมวิหาร ๔ ครับ คือความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่ถูกต้องขอรับ

พระอาจารย์: คือพรหมวิหาร ๔ นี้ก็เป็นธรรมที่เราใช้ในเวลาที่เราอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ละเหตุการณ์นี้มันอาจจะต้องใช้ธรรมเหล่านี้ต่างกันไป ไม่ได้ใช้พร้อมกัน แล้วแต่เหตุการณ์ เหมือนขับรถยนต์นี่ เขามีเกียร์หลายเกียร์ ใช่ไหม มีเกียร์เดินหน้า มีเกียร์ถอยหลัง มีเกียร์ต่ำเกียร์สูง เพราะว่ารถนี้อาจจะไปอยู่ในสถานการณ์ ที่จำเป็นต้องใช้เกียร์ต่างๆ เหล่านี้ พรหมวิหาร ๔ ก็เป็นเหมือนเกียร์ของจิตใจ

ความเมตตาก็คือให้เราเวลาพบปะกัน ให้มีความเป็นมิตรไมตรีกัน แสดงไมตรีจิตด้วยการทักทาย ด้วยการถามสารทุกข์สุขดิบหรือด้วยการแบ่งปัน เรามีอะไรที่เราอยากจะให้คนอื่นเขามีความสุข เราก็เอามาแบ่งปันกับเขา วันเกิดเราอาจจะซื้อของแจกให้เพื่อนฝูง อะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่า “เมตตา”

เวลาเราไปเจอเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ คนตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วม หรืออะไรก็ตามที่เขาไม่สามารถช่วยตัวเขาเองได้ เราก็ให้ความกรุณา “กรุณา” คือความสงสาร สงสารในความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่น ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ยาก นี่เรียกว่าสงสาร เรียกว่ากรุณา

ข้อที่ ๓ “มุทิตา” คือให้เราแสดงความยินดีในความสุขความเจริญก้าวหน้าของผู้อื่น เช่น เพื่อนฝูงได้ตำแหน่ง ถึงแม้จะเป็นตำแหน่งที่เราอยากได้ แต่เขาได้ก่อนเรา เราก็อย่าไปโกรธเขา อย่าไปอิจฉาริษยาเขา เพราะมันไม่ดี มันทำให้ใจเราแคบ ทำให้ใจเราทุกข์ ทำให้ใจเราไม่สบาย แล้วอาจจะทำให้เราไปคิดร้ายต่อเขาได้ แต่ถ้าเราร่วมแสดงความยินดีในความสุขความเจริญของเขา เราก็จะไม่ไปคิดร้าย เราก็จะไม่ไปทำให้จิตใจเราเศร้าหมอง

งั้นเราต้องแสดงความยินดีต่อความสุขความเจริญของผู้อื่น ไม่ว่าใครก็ตาม แม้กระทั่งศัตรูเรา เช่น เวลาเล่นกีฬานี้ ทีมที่เราสู้นี่ก็ถือว่าเป็นศัตรูของเราใช่ไหม คู่ต่อสู้ของเรา เมื่อเล่นจบแล้วเขาชนะ ก็ต้องไปแสดงความยินดี บอก “นี่เป็นเพียงกีฬา ชีวิตนี่ก็เป็นเหมือนกีฬา แข่งขันกันไปเท่านั้นเอง” ใครชนะก็แสดงความยินดีดีกว่า เพราะเราก็จะมีความสุขไปกับเขา ใช่ไหม ทำไมเราแสดงความยินดีกับคนที่เรารักได้ ลูกเราพอเรียนจบได้รางวัลที่ ๑ ทำไมเรายินดีได้ แต่ถ้าเป็นลูกของคนอื่น ทำไมเรายินดีไม่ได้ เพราะเรายังไปเลือกที่รักมักที่ชังอยู่ แล้วใครทุกข์ล่ะ คนที่ไม่ยินดีใช่ไหม คนที่ยินดีสุขไหม งั้นสุขเราควรจะยินดีมากกว่าไม่ยินดี

ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ได้รางวัล ได้ชัยชนะ ทีมชาติแพ้เขา เราก็ต้องยินดีกับเขา แล้วเราก็จะมีความสุขกับเขาไป เป็นกีฬาเท่านั้นเอง เป็นวิธีฝึกจิตเข้าใจไม๊ การเล่นกีฬานี้ เดิมทีเขามีเป้าหมายอยู่ที่การฝึกจิต ให้รู้จักแพ้รู้จักชนะ แต่สมัยนี้มันลืมกันไปหมดแล้ว มันจะเอาแต่ชนะอย่างเดียว แล้วมันก็เลยต้องคิดวิธีชนะหลายแบบด้วยการโกงกัน เห็นไหม โดปยากันอะไรกัน บ้ากันไปหมดเลย

นี่หลงผิดแล้ว ไม่รู้ว่าการกีฬานี้เป็นการฝึกจิต ให้เรารู้จักแสดงมุทิตา นี่กลับไปไม่ยอมแพ้กัน จะเอาแต่ชนะกันอย่างเดียว ก็เลยต้องเล่นผิดกฎกติกากัน ใช่ไหม แล้วพอเขามารู้ทีหลังเป็นยังไง ก็ถูกปลดหมดอยู่ดี งั้นเราต้องอย่าไปเอาแพ้เอาชนะกันแบบไม่มีเหตุไม่มีผล เอาแพ้ชนะตามกฎกติกา เล่นตามความสามารถของเรา แพ้ชนะไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเราชนะกิเลสเราหรือเปล่า เวลาเราแพ้เราแพ้อย่างมีความสุขหรือเปล่า ยินดีกับชัยชนะของผู้อื่นหรือเปล่า ไอ้นี่ต่างหากคือเรื่องของมุทิตาจิต

ข้อที่ ๔ คือ “อุเบกขา” อุเบกขาก็เป็นเหมือนรถเข้าเกียร์ว่าง เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ก็ต้องจอดอยู่เฉยๆ ถ้าเราไปอยู่ในเหตุการณ์ที่เราทำอะไรไม่ได้ จะช่วยเขาก็ไม่มีปัญญาเพราะไม่มีกำลังจะช่วยหรือสุดวิสัย เช่น เขาเป็นโรคภัยไข้เจ็บแล้วรักษาไม่หายอย่างนี้ แต่อยากให้เขาหาย ก็จะทำให้เราทุกข์ เราก็ต้องยอมรับความจริง เราก็ต้องทำใจเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ ปล่อยวาง คิดว่าเป็นเรื่องของกรรมของสัตว์ไป “ใครทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

“ใครเกิดมาแล้ว เดี๋ยวก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปไม่ได้” ให้คิดอย่างนี้ แล้วใจเราจะได้ไม่ทุกข์กับเหตุการณ์ ที่เราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือพรหมวิหาร ๔ ต้องใช้ให้ถูก เวลาที่ควรเมตตาไปอุเบกขาก็ไม่ได้ เวลาไปงานวันเกิด ไม่เอาข้าวเอาของไปให้เขาเลย ไปแสดงอุเบกขาก็ไม่ได้ ไปกินอย่างเดียว ถึงเวลาต้องเมตตาก็ต้องเมตตา ถึงเวลาอุเบกขาก็ต้องอุเบกขา ให้มันถูกเวลา เหมือนขับรถแหละ เข้าเกียร์ผิดเดี๋ยวก็ชนกันแหลก ถึงเวลาต้องเดินหน้ากลับไปเข้าเกียร์ถอยหลัง รถที่ตามมาข้างหลังก็ชนท้ายเรา


นี่แน่ะนายช่างเจ้าจะปลูกเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป
ถาม: กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ขอความหมายของคำที่บอกว่า “นี่แน่ะนายช่าง เจ้าจะปลูกเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป” หมายถึงอะไรครับ

พระอาจารย์: หมายถึงตัณหาไง กิเลสอวิชชา ที่มาหลอกให้เรามาสร้างภพสร้างชาติไง เรือนที่เราสร้างกันอยู่ทุกวันนี้ก็คือภพชาติต่างๆ ทำตามกิเลส ทำตามตัณหา ตัณหาก็ทำมาจากความหลง อวิชชา อวิชชาไม่รู้ว่า บ้านแท้จริงอยู่ที่ตรงไหน บ้านที่แท้จริงอยู่ที่นิพพาน เลยคิดว่าบ้านแท้จริงอยู่ในไตรภพ อยู่ในการมาเกิดแก่เจ็บตาย มันก็เลยหลอกให้เรามาสร้างภพสร้างชาติ กลับมาเกิดมาแก่อยู่เรื่อยๆ พอพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบบ้านที่แท้จริงก็รู้ว่า “ต่อไป มึงหลอกกูไม่ได้แล้ว กูเดี๋ยวนี้รู้บ้านที่แท้จริงของกูอยู่ที่ไหนแล้ว” คืออยู่ที่นิพพาน บ้านที่ไม่มีวันพัง บ้านเดี๋ยวนี้ สร้างไปเท่าไหร่ เดี๋ยวก็ต้องพัง เข้าใจไหม มาเป็นมนุษย์เดี๋ยวก็ต้องตาย ไปเป็นเทวดาเดี๋ยวก็ต้องตกสวรรค์ลงมา ไปเป็นเปรตเป็นอะไรก็ต้องกลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ อันนี้เพราะว่ายังมีอวิชชากิเลสตัณหาอยู่ พอพระพุทธเจ้าศึกษาปฏิบัติ ทำลายอวิชชาได้ ค้นพบบ้านแท้จริงว่าคือนิพพาน ต่อไปกิเลสตัณหาจะมาหลอกให้มาสร้างบ้าน มาเกิดเป็นมนุษย์ก็หลอกไม่ได้แล้ว พระพุทธเจ้าพบบ้านที่แท้จริงแล้ว คือ พระนิพพาน


รู้จักชื่อแต่ไม่รู้จักตัวก็ไม่มีประโยชน์
คำถาม:  คนที่ไปปฏิบัติที่ป่าช้าเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นพระโสดาบัน จึงละวางร่างกายได้ ไม่กลัวตาย เพราะเวลาอยู่บ้านภาวนาได้สบายๆ ไม่มีทุกข์ ไม่เจ็บป่วยเลย เข้าใจว่าตัวเองเป็นโสดาบันแล้ว และต้องการสร้างสภาวะเพื่อจะได้เกิดความกลัว จะได้บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้าในการภาวนา ไม่อย่างนั้นจะสติแตก แบบนี้ถูกต้องไหมคะ

พระอาจารย์: ก็การไปอยู่ป่าช้าก็เพื่อที่จะไปกระตุ้นความกลัวที่มีอยู่ในใจของเราให้มันเกิดขึ้น แล้วเราจะได้หาธรรมะคือสติหรือปัญญามาดับมัน แต่ไม่มีใครไปนั่งคิดว่าจะไปเป็นโสดาบัน คนปฏิบัติไม่ค่อยสนใจกับเรื่องโสดาบัน เรื่องอะไร สนใจแต่ทุกข์ที่มีอยู่ในใจเท่านั้น ทุกข์ที่เกิดจากความกลัว กลัวตาย ทุกข์ที่เกิดจากความกลัวเจ็บนี้ นี่เป็นการที่จะไปแก้ แต่จะเป็นหรือไม่เป็น มันเป็นเพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง เข้าใจมั้ย รู้จักชื่อแต่ไม่รู้จักตัว ก็ไม่มีประโยชน์ งั้นเป้าหมายของการปฏิบัติก็คือไปละความกลัว สาเหตุที่เกิดจากการไปยึดไปติดกับขันธ์ ๕ ไปยึดไปติดกับรูป เวทนา สัญญา สังขาร ว่าเป็นตัวเราของเรา ต้องปล่อยวาง มันไม่ใช่ตัวเราของเรา มันเกิดดับไปตามธรรมชาติของมัน


นามควรพิจารณาอย่างไร
ถาม: เมื่อเห็นรูปเป็นธาตุแล้ว นามควรเห็นและพิจารณาอย่างไรครับ

พระอาจารย์: นามก็เป็นเพียงแต่สมมุติที่เราไปผูกไว้กับธาตุนั้น เราไปว่าธาตุนี้เป็นผู้หญิง ธาตุนี้เป็นผู้ชาย ธาตุนี้เป็นเด็ก ธาตุนี้เป็นผู้ใหญ่ ธาตุนี้เป็นฝรั่ง ธาตุนี้เป็นคนไทย มันก็เป็นเพียงแต่เอาป้ายไปปะไว้ที่ธาตุเท่านั้นเอง มันก็ยังเป็นธาตุอยู่เหมือนเดิม มันก็ยังเป็นดินน้ำลมไฟอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นต้องมาแก้ที่นามอีกทีว่า อย่าไปหลงกับสมมุติต่างๆ ที่นามเราไปปะเอาไว้ที่ธาตุ มองทีไรให้เห็นเปลี่ยนจากเป็นหญิงเป็นชายให้เป็นธาตุไปให้หมด เห็นใครก็เป็นธาตุไปให้หมด ดินน้ำลมไฟไปหมด  อนิจจังไปหมด


อุเบกขา
ถาม: เวลาปฏิบัติแล้ววูบลงไป สติยังอยู่ ไม่ได้บริกรรม อยู่นิ่งๆเฉยๆ เป็นสุขแบบไม่ใช่ปีติ ตรงนั้นเป็นอุเบกขา เป็นเอกัคคตารมณ์ หรือเป็นอะไร

พระอาจารย์: เป็นอุเบกขา ไม่มีอารมณ์รักชัง เป็นเอกัคคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงแต่ง รู้เฉยๆ นิ่งสงบ เหมือนลิฟต์ดิ่งวูบลงมา จิตเวลาจะเข้าสู่ความสงบ ก็เหมือนลิฟต์ดิ่งลงมาแล้วก็หยุด จะรู้เฉยๆ เบาอกเบาใจ สบายอกสบายใจ บางทีมีปีติ น้ำตาไหลขนลุกซ่า แต่เป็นเดี๋ยวเดียว แล้วก็จะนิ่งสงบ เป็นอุเบกขา จนกว่าจะถอนออกมา เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง ถ้าสงบแล้วไม่นิ่ง ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่ไม่ถูกต้อง เช่นไปเห็นกายทิพย์ อย่างคุณแม่แก้วนี่ เป็นสมาธิที่ไม่นิ่ง พอจิตสงบแล้วจะออกไปรู้เรื่องของวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นสมาธิที่ไม่ดี เพราะไม่สนับสนุนปัญญา ไม่ได้ทำให้ความอยากอ่อนกำลังลง เพราะความอยากยังทำงานอยู่ อยากจะรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอออกจากสมาธิแบบนี้แล้ว จะไม่มีกำลังเจริญวิปัสสนา พิจารณาทางปัญญา ต้องตัดกำลังของความอยากด้วยสัมมาสมาธิ ต้องวางยาสลบให้กับความอยาก จะได้ไม่มีกำลังเวลาออกมาจากสมาธิเหมือนนักมวย ต้องโดนนับ ๘ สักครั้ง ๒ ครั้ง จะได้ชนะอย่างง่ายดาย ถ้ายังไม่นับ ๘ จะมีกำลังต่อสู้มาก การทำสมาธิ ก็เพื่อให้ความอยากคือตัณหาถูกนับ ๘ ต้องให้จิตนิ่งๆ เวลาออกมาจากสมาธิถึงจะพิจารณาได้ ถ้าจะเจริญมรรคอย่าไปตามรู้สิ่งต่างๆ ต้องดึงกลับมาที่ตัวรู้ อย่าไปสนใจ เดี๋ยวก็จะหายไปเอง


ใช้ธรรมะข้อใดในการอยู่ร่วมสังคม
คำถาม: การอยู่ร่วมในสังคม สังเกตหลายอย่าง คนเราไม่ค่อยมีความสัตย์ความจริง เหมือนปากพูดดีแต่ใจคิดไม่ตรงไปตรงมา ควรใช้ธรรมะข้อใดในการอยู่ร่วมกับอะไรพวกนี้ครับ

พระอาจารย์: ก็คนเราก็เหมือนผลไม้ ผลไม้ดีก็มี ผลไม้เน่าก็มี เราก็เลือกเอาแต่ผลไม้ดี เวลาเราไปเก็บผลไม้ ผลไม้เน่าเราก็ไม่เก็บ คนก็เหมือนกัน คนดีก็มี คนไม่ดีก็มี คนไม่ดีเราก็ไม่ค่อยไปยุ่งกับเขาแล้วนี่ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า อย่าคบคนพาล คบบัณฑิต คบคนดี อย่าไปคบคนไม่ดี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 มกราคม 2566 14:26:11
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/14159387929571_324590528_856308562316945_1163.jpg)


ถ้าใจไม่สงบมันจะอยู่คนเดียวไม่ได้
ถาม : การถือพรหมจรรย์มีหลักปฏิบัติเช่นไรบ้าง และได้อานิสงส์เช่นไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : ก็เป็นโสดไง พรหมจรรย์ก็คือเป็นโสด ไม่มีแฟนไม่ร่วมหลับนอนกับใคร อานิสงส์ก็คือจะได้ไม่ต้องทุกข์กับแฟนไง มีแฟนก็ต้องทุกข์กับแฟน หวงแฟน ห่วงแฟน เวลาแฟนไปคุยกับใครหน่อยก็อิจฉาตาร้อนขึ้นมา วิตกกังวลขึ้นมา คิดไปต่างๆ นาๆ ความสุขที่ได้จากการมีแฟนกับความทุกข์มันก็เลยไม่คุ้มค่ากัน ทุกข์มากกว่าสุข แล้วถ้าแฟนไป จากไป ก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ นี่คืออานิสงค์ ถ้าอยู่คนเดียวก็จะไม่มีเรื่องทุกข์กับแฟน แต่จะอยู่คนเดียวได้ก็ต้องรู้จักทำใจให้สงบ ถ้าใจไม่สงบมันก็จะอยู่คนเดียวไม่ได้ มันรู้สึกเหงา จะรู้สึกว้าเหว่ ก็อยากจะมีแฟน แต่ถ้าเราทำใจให้สงบได้ ความอยากมีแฟนหายไป ความเหงาความว้าเหว่ต่างๆ ก็จะหายไป มีความสุขในใจ มันจะได้ไม่ต้องไปหาความสุขจากแฟนไง


บุญและบาปไม่ใช่สิ่งสมมุติ
ถาม: บุญและบาปเป็นสิ่งที่สมมุติด้วยหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: บุญและบาปไม่ได้เป็นสมมุติ เป็นของจริง เป็นของที่เกิดจากการกระทำของเรา พอเราทำความดีเรียกว่าเราทำบุญ ทำแล้วเราก็เกิดความสุขใจขึ้นมา งั้นนี่ไม่ใช่เป็นสมมุติ นี่เป็นความจริง บุญบาปนี้เป็นความจริง นรกสวรรค์เป็นความจริง นิพพานนี่เป็นความจริง เป็นของจริงไม่ใช่ของแต่งกันขึ้นมาเหมือนนิยาย ไม่ใช่นิยาย เป็นของจริง งั้นให้เราเชื่อได้ เชื่อบุญเชื่อบาป เชื่อนรกเชื่อสวรรค์ เชื่อนิพพานได้ ถ้าอยากจะไปสวรรค์ก็ทำความดี ถ้าอยากจะไปนรกก็ทำบาป ถ้าอยากจะไปนิพพานก็ชำระใจให้สะอาด กำจัดกิเลสให้หมด นี่คือของจริงทั้งนั้น ทางที่เราจะเลือกไปได้ ๓ ทางด้วยกัน ไปนรก ไปสวรรค์ หรือไปนิพพาน เกิดจากการกระทำของเรา ทำบาปก็ไปนรก ทำบุญก็ไปสวรรค์ กำจัดกิเลสได้ก็ไปนิพพาน นี่คือเรื่องจริง ไม่ใช่สมมุติ


คำถาม
คำถาม: ความไม่อยากก็เป็นความอยากแบบหนึ่งใช่ไหมคะ แล้วจะฝึกอย่างไรให้รู้ทันคะพระอาจารย์

พระอาจารย์: ความไม่อยาก คือถ้าไม่อยากด้วยปัญญา เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ มันก็ไม่ใช่เป็นกิเลสนะ แต่ความไม่อยากเพราะไม่ชอบนี่เป็นกิเลส ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย ความจริงไม่ควรพูดว่าไม่อยาก มันต้องพูดอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย มันยังเป็นความอยากอยู่ เพียงแต่อยากในวิภว วิภวที่ไม่ต้องการ อยากไม่แก่ อยากไม่ให้เขาด่าเราอย่างนี้ มันก็เป็นความอยาก แต่ถ้าเราไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร อยากอยู่เฉยๆ อย่างนี้เป็นธรรมะ อยากจะอยู่กับความว่างอย่างนี้ อันนี้เป็นธรรมะ


พวกเราเป็นเหมือนฟองน้ำ
ถาม: เสียน้า แล้วรู้สึกว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นของเราเลย มันปลงขึ้นเยอะเลยค่ะ

พระอาจารย์: เพราะเรานี่ก็เป็นเหมือนฟองน้ำ มันก็แตกหมด เดี๋ยวก็แตกหมด มันทำให้เราปลง ให้เราพิจารณา มรณานุสสติเป็นธรรมที่ดี ถ้าใช้ได้ ทำให้เราปลงได้เยอะ ตัดได้เยอะ

ถาม: ค่ะ เพราะเห็นคนตายต่อหน้า คนที่เรารู้จักและเรารักก็ มันรู้เลยว่าเราก็ต้องตาย ในวันหนึ่งข้างหน้าเราก็ต้องเป็นแบบนั้น

พระอาจารย์: ไม่ใช่เราด้วย คนทุกคนที่เรารู้จัก ก็ตายหมดทุกคน ไม่รู้จักก็ต้องตายเหมือนกัน พวกเราเป็นเหมือนฟองน้ำเล็กๆ คนละฟอง เห็นหยดน้ำที่ตกมา น้ำฝนตกลงมาในกองน้ำ แล้วมันก็เป็นฟองน้ำ แล้วมันก็แตกหายไป

ถาม: มันทำให้รู้เลยว่า ไม่เกิดดีที่สุด

พระอาจารย์: ดีแล้ว ต้องตัดกิเลส ต้องรู้ด้วยว่าการไม่เกิดก็คือต้องตัดความอยากให้หมดไป


น้ำมนต์มันก็เป็นแค่น้ำ
คำถาม: การรดน้ำมนต์มีในพุทธศาสนาไหมคะ

พระอาจารย์: เท่าที่ศึกษามามันไม่มีนะ นอกจากอาจจะมีกรณีพิเศษ เท่าที่เคยได้ยิน พระพุทธเจ้าเคยทำน้ำมนต์ให้กับเวลาที่มีภัยพิบัติอะไรครั้งหนึ่งอย่างนี้ เท่านั้นเอง อาจจะทำเพื่อให้กำลังใจชาวบ้านเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้ว น้ำมนต์มันก็เป็นแค่น้ำเท่านั้นเอง มันไม่สามารถมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มีพระรูปหนึ่งท่านบอกว่าถ้าน้ำมนต์วิเศษ เราก็เอาพระไปนั่งสวดที่ประปาเลยไม่ดีหรอ ก็ส่งท่อไปทุกบ้านเลย ทุกบ้านจะได้มีน้ำมนต์อาบ น้ำมนต์ดื่ม จะได้มงคล จะได้ร่ำรวยกันทุกคน เป็นไปไม่ได้หรอก น้ำก็เป็นแค่น้ำเท่านั้นเอง


จิตกับวิญญาณต่างกันอย่างไร
ถาม: จิตกับวิญญาณต่างกันอย่างไรคะ

พระอาจารย์: คำว่าจิตกับวิญญาณ วิญญาณนี่มีสองชนิดด้วยกัน วิญญาณตัวหนึ่งที่เรียกว่าดวงวิญญาณนี้ก็คือจิตนั่นเอง เวลาจิตมีร่างกายเราก็เรียกว่าจิต เวลาออกจากร่างกาย ไม่มีร่างกายเราก็เรียกว่าดวงวิญญาณ ส่วนมีวิญญาณอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในขันธ์ ๕ วิญญาณตัวนี้ทำหน้าที่ไปรับรูปเสียงกลิ่นรสจากตาหูจมูกลิ้นกายมาส่งให้ใจ เป็นเหมือน messenger เป็นผู้รับเหมือนกับบุรุษไปรษณีย์ ไปรับรูปเสียงกลิ่นรสจากตาแล้วก็มาส่งมาให้จิตผู้รู้ผู้คิดอีกทีหนึ่ง อันนี้เรียกว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ ดังนั้น วิญญาณมีสองชนิดด้วยกัน วิญญาณที่เป็นตัวจิต เวลาไม่มีร่างกายเราก็เรียกว่าวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ ก็วิญญาณไปเกิดไปได้ร่างกายอันใหม่ เราก็เรียกว่าเป็นปฏิสนธิวิญญาณ ในขณะที่ไม่มีร่างกาย วิญญาณนั้นก็จะเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นเปรต เป็นอสูรกาย ตามบุญตามบาปที่ทำไป


จะรู้ได้อย่างไรว่าเราปฏิบัติถูกทาง
ถาม: เราจะรู้ได้อย่างไรครับว่าเราปฏิบัติถูกต้อง หรือมาถูกทางแล้วครับ

พระอาจารย์: ก็ใจเราจะสงบมากขึ้น กิเลสจะน้อยลง ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะเบาลง ความอยากต่างๆ จะเบาลง ความนิ่ง ความสงบของใจจะมีมากขึ้น ใจจะเย็นมากขึ้น อย่างนี้


จิตหลอกจิต..กับจิตคิดปรุงแต่ง
ถาม: จิตหลอกจิต กับ จิตคิดปรุงแต่ง เหมือนกันไหมคะ แตกต่างกันอย่างไรคะ

พระอาจารย์: อ๋อ จิตคิดปรุงแต่งนี้คิดได้ ๒ แบบ คิดหลอกเราก็ได้ คิดสอนเราให้เห็นความจริงก็ได้ อยู่ที่ว่าเราคิดแบบไหน ส่วนใหญ่ถ้าเราไม่ได้มาเรียนธรรมะ ไม่ได้มาฟังธรรม จิตเราก็จะคิดแบบหลอก หลอกให้เราไปรักคนนั้นรักคนนี้ หลอกให้เราได้ อยากให้เราอยากรวย อยากอะไร แต่พอเรามาฟังธรรมะ แล้วพระพุทธเจ้าบอกของพวกนี้มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ร่ำรวยก็ทุกข์ เพราะเดี๋ยวเงินหมดก็จน พอจนก็ทุกข์ มีแฟนก็สุข พอแฟนทิ้งไปก็ทุกข์ เพราะฉะนั้นความคิดแบบนี้ถ้าไม่มีธรรมะ มันก็จะหลอกเราว่าเป็นของดี รวยแล้วจะดี มีแฟนแล้วจะมีความสุข อันนี้ก็เป็นความคิดที่หลอกเรา เรียกว่าอวิชชา แต่พอเรามาเรียนธรรมะ มาฟังธรรมเราก็จะได้ยินเรื่องปัญญา เรื่องของความจริง ความจริงก็บอกว่า พระพุทธเจ้าบอกไม่มีอะไรดีหรอกในโลกนี้ อย่างเมื่อกี้เทศน์ให้ฟัง มีอย่างเดียวที่ดีก็คือความสงบเท่านั้นแหละ นอกนั้นอย่าไปมีมัน มีแล้วเดี๋ยวจะต้องทุกข์ ไม่ช้าก็เร็ว


ฝึกนั่งสมาธิแล้วรู้สึกกระวนกระวาย
ถาม: ฝึกนั่งสมาธิได้สักพัก นั่งได้ไม่นาน ๓ ถึง ๕ นาที รู้สึกว่าเป็นเวลาที่ยาวนานมาก รู้สึกเหมือนถูกบังคับ กระวนกระวาย ไม่อยากนั่ง ทั้งๆ ที่มีความคิดที่จะฝึกปฏิบัติ ควรทำอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์: คือโดยธรรมชาติของกิเลสที่มีอยู่ในจิตนี้ มันไม่ชอบอยู่นิ่งๆ มันชอบมีอะไรเสพ เช่น ดูรูป ฟังเสียง ถ้าให้นั่งดูหนังนี่ ๒ ชั่วโมงรู้สึกผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่พอให้นั่งอยู่กับดูพุทโธ ดูลมนี่ มันจะรู้สึกอึดอัดขึ้นมา เพราะมันไม่มีรสมีชาติ งั้นเราก็ต้องฝืนมัน บังคับมัน การที่จะฝืนหรือบังคับมันได้ ต้องมีสติ งั้นต้องพยายามฝึกสติก่อนที่เราจะมานั่ง หัดท่องพุทโธพุทโธไปทั้งวันก่อน แล้วพอเวลามานั่งเราก็จะสามารถท่องพุทโธพุทโธไปได้ แล้วจะรู้สึกว่าเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วจะไม่รู้สึกอึดอัด


ต้องมีข้อสอบทดสอบดู
คำถาม: รู้สึกเฉยกับสิ่งรอบๆ ตัวครับ
พระอาจารย์: เป็นอุเบกขาไง ใจมันเฉย มันมีอุเบกขา จืดชืดเฉยๆ แต่ก็ไม่ทุกข์กับมัน ไม่ทุกข์กับอะไร แต่ก็ไม่ยินดีกับอะไร ไม่ยินดียินร้ายกับมัน เฉยๆ แต่ก็ต้องดูว่ามันเฉยได้ขนาดไหน เดี๋ยวไปเจอเขาด่าเราขึ้นมา เราจะเฉยได้ไหม ตอนที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับอะไรมันก็อาจจะเฉยได้ เดี๋ยวเกิดใครมาขโมยของเราไปนี่ จะเฉยได้หรือเปล่า มีใครมาแย่งอะไรของเราไปต่อหน้าต่อตาอย่างนี้ เราเฉยได้หรือเปล่า หรือพูดไม่ดีกับเรา เราเฉยได้หรือเปล่า ต้องมีข้อสอบทดสอบดู เวลาอยู่คนเดียวมันก็อาจจะเฉยได้ แต่พอเวลาไปสัมผัสรับรู้กับอะไรต่างๆ นี่ เวลาเราเผลอปั๊บ กิเลสมันก็ออกมาเต้นทันทีเลย งั้นอยู่ที่สติปัญญาเราจะทันมันหรือเปล่า หรือจับมันให้เข้ากรงได้หรือเปล่า แต่ตอนปฏิบัติก็ต้องอยู่ที่ที่อยู่คนเดียว ไม่มีใครมารบกวนใจเรา ต่อไปเราจะต้องไปทดสอบว่าเวลามีคนมารบกวนใจเรา แล้วเรายังเฉยได้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นก็แสดงว่าเราทำการบ้านได้ แต่เวลาไปทำข้อสอบเราสอบตก ที่ทำการบ้านเพื่อที่เราจะไปทำข้อสอบอีกที เวลาเราปฏิบัติคนเดียวนี่ เรากำลังทำการบ้าน แต่เวลาเราไปเจอเหตุการณ์ต่างๆ นี่ ตอนนั้นแหละเป็นเหมือนเวลาไปเข้าห้องสอบ ให้ทำข้อสอบ ยังเฉยต่อไปได้หรือเปล่า


ทำเพื่อตัวเรา
ถาม: การที่เราปฏิบัตินี้ โยมคิดว่าเพื่อตัวเองเป็นหลักใช่ไหมคะ ใครทำคนนั้นได้ ที่ได้แน่คือการที่เรามีความปิติมีความสุข

พระอาจารย์ : ก็ส่วนใหญ่การกระทำของเรา 99% ก็ทำเพื่อตัวเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทางไหนทางร่างกายหรือทางใจก็เหมือนกัน ทำเพื่อความสุข เพียงแต่ว่ามันมีความสุขปลอมและความสุขแท้เท่านั้นเอง ความสุขทางร่างกายก็เป็นความสุขปลอม ความสุขความสุขทางใจก็เป็นความสุขแท้ แต่ความสุขทางใจนี้มันต้องไปอยู่คนเดียว แต่ความสุขทางร่างกายนี้มันหาความสุขร่วมกับคนอื่น มันก็เลยทำให้คิดว่าไม่เป็นการเห็นแก่ตัวเวลาหาความสุขทางร่างกาย เพราะเราหาความสุขร่วมกัน แต่เวลาหาความสุขทางใจนี้เราต้องไปหาคนเดียว ก็เลยทำให้เกิดความคิดว่าเป็นการเห็นแก่ตัวไป ความจริงมันก็เป็นการเห็นแก่ตัวทั้งสองแบบ หาความสุขทางร่างกายก็เพื่อความสุขของตัวเอง แต่ต้องมีคนอื่นร่วมด้วยถึงจะมีความสุขได้ก็เลยคิดว่าไม่เป็นการเห็นแก่ตัว แต่การหาความสุขทางใจนี้ต้องหาความสุขตามลำพังก็เลยเกิดความรู้สึกว่าเห็นแก่ตัวขึ้นมาเท่านั้นเอง ความจริงมันก็เห็นแก่ตัวทั้งสองแบบนั่นแหละ


ไม่สร้างกรรมต่อ
ถาม: ที่พระอาจารย์เคยเทศน์ว่า มีใครมาทำร้ายให้หลีกหนีห่าง ไม่ตอบโต้เพราะจะไปสร้างกรรมต่อ แต่ถ้ายังตามมาทำร้ายอีกไม่หยุด จนได้รับผลเสียหาย อย่างนี้ผู้ถูกกระทำอาจเจ็บทั้งกายและใจ แล้วอย่างนี้จะแก้ไขอย่างไรครับ

พระอาจารย์: อ๋อ เจ็บทางกาย แต่เจ็บทางใจนี้แก้ได้ ถ้ายอมให้เขาทำมันก็จะไม่เจ็บทางใจ ถ้าเราคิดว่าเป็นการใช้หนี้ เป็นกรรมเก่าที่เราไปทำเอาไว้ แล้วกรรมมันตอบสนองมา ก็ยอมรับกรรมไป มันก็จะเจ็บทางกาย แต่ทางใจจะไม่เจ็บเพราะมันดีใจว่า “เออ กรรมจะได้หมดซะที” กลับโล่งอกเสียอีก พอยอมรับโทษแล้วมันโล่งอก ใครลองทำอะไรผิดแล้วพอยอมรับผิดดูสิ ใจเบาขึ้นมาเลย “เอาวะ ยอมติดคุกก็ยอมวะ ยอมโดนด่าก็ยอมวะ” พอยอมปั๊บนี่มันก็เย็นเลย “ยอม หยุด เย็น” นะ

งั้นเรื่องของใจนี้ เราต้องยอมรับกรรมของเรา ผลกรรมของเรา “จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” ถ้าพยายามหนีมันก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ อย่างพระโมคคัลลานะนี่ ท่านเป็นถึงพระอรหันต์ มีคุณวิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ท่านบอกว่าถึงแม้จะใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยให้หนีกรรม มันก็หนีไม่พ้น หนีได้วันนี้ พรุ่งนี้มันก็ตามเราใหม่ ท่านก็เลยยอมตาย ท่านก็เลยถูกเขาฆ่าตายเลย ตามประวัติ แต่ใจท่านไม่หวั่นไหวแล้วเพราะใจท่านหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว แต่ร่างกายนี้มันยังต้องใช้กรรมของมันอยู่ ถ้ามันยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้กรรม มีเทวทัตมาพยายามฆ่าถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ตอบโต้ หลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก หลบไม่ได้หลีกไม่ได้ ก็เผชิญกับมันไป


วิธีปฏิบัติเมื่อสัมผัสกับเวทนา
ถาม: การที่ผัสสะก่อให้เกิดเวทนา เราต้องปิดผัสสะ ๖ ทั้งหมดไหมครับ การหลับตาดูลมตลอดเวลา ไม่เดินจงกรม ถือเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ครับ

พระอาจารย์: การที่เราจะไม่สัมผัสกับเวทนานี้ก็มีสองเวลาเท่านั้น เวลาตายไง เวลาตายแล้วไม่สัมผัสกับเวทนา สองเวลาหลับ เวลาหลับก็จะไม่สัมผัสกับเวทนา แต่เวลาตื่นนี้ต้องสัมผัสกับเวทนาทางร่างกาย แต่ต้องรู้ว่าเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ อันนี้เราสามารถที่จะไม่เดือดร้อนกับการสัมผัสได้ถ้าเรามีสติมีปัญญา เพราะว่าเวทนาเองนั้นไม่ได้เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่กิเลสในใจเราที่ไปชอบหรือไม่ชอบเวทนา พอเกิดชอบไม่ชอบก็เกิดตัณหาความอยาก พอเกิดตัณหาความอยากก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราก็จะระงับกิเลสตัณหาได้ เราก็จะสัมผัสกับเวทนาแบบไม่รู้สึกเดือดร้อนได้ นี่คือเรื่องของเวทนา เราห้ามมันไม่ได้ ถ้าตราบใดเรามีขันธ์ ๕ มันจะต้องเจอเวทนา ส่วนของเรื่องการปฏิบัติ นั่งสมาธิหลับตา อันนี้ก็เพื่อทำใจให้สงบ เพื่อจะได้มีกำลังที่จะเผชิญกับเวทนาต่างๆ ได้ ถ้าใจสงบใจจะเป็นอุเบกขา ใจจะไม่วุ่นวายไปกับความเจ็บของทางร่างกาย



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 30 มีนาคม 2566 17:11:16
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61717021672262_336916773_654393096402061_8750.jpg)


ทำได้ ๒ วิธี
ถาม : ปัญญาอบรมสมาธิกับสมาธิอบรมปัญญานี้ ทำสลับกันได้หรือเปล่า

พระอาจารย์ : การทำสมาธินี้ทำได้ ๒ วิธี วิธีหนึ่งก็คือการกล่อมใจด้วยการบริกรรม ด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ไม่ให้ใจลอยไปสู่อารมณ์อื่น ให้อยู่กับเรื่องนี้เรื่องเดียว เช่นให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ ก็เป็นพุทธานุสติ ทำให้จิตเข้าสู่สมาธิรวมลงเป็นหนึ่งได้ เป็นเอกัคคตารมณ์ อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ปัญญาข่มใจสอนใจ ถ้าไม่ถูกกับการบริกรรมหรือดูลมหายใจ แต่ถูกกับการพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ก็พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายไป จนจิตรวมลงเป็นหนึ่ง.


ต้องเตรียมตัวคิดไว้ก่อน
ถาม : การพิจารณาในสิ่งต่างๆที่มากระทบจิตใจ เมื่อสงบลงแล้วใจอยู่ว่างๆ นิ่งๆ ไม่พิจารณาอะไร อยู่กับพุทโธ จนกว่าจะมีเรื่องใหม่เข้ามา จึงพิจารณาใหม่ ลูกทำแบบนี้ถูกต้องไหมคะ หรือต้องทำอะไรต่อไปคะ

พระอาจารย์ : ก็ถูกต้องในระดับชีวิตของเรา แต่มันจะไม่เจริญก้าวหน้าไปกว่านี้ เพราะเรายังมีปัญหาที่ยังไม่เกิด ที่เราอาจจะต้องเตรียมตัวคิดไว้ก่อน เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคมะเร็งอย่างนี้ หมอบอกรักษาไม่ได้ เรายังจะทำใจได้หรือเปล่า หรือว่าเราจะต้องตาย เราจะต้องเดินข้ามถนนโดนรถชนตายไปอย่างนี้ เราเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้หรือยัง หรือว่าเราสูญเสียคนที่เรารักไป เสียสามีเสียภรรยาเสียลูก หรือเสียข้าวของเงินทองไป เสียบ้านช่องไฟไหม้บ้าน เสียสิ่งต่างๆ ไปนี้ เรารับได้หรือยัง ถ้ายังรับไม่ได้ ก็จงรีบพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน เผื่อเวลามันเกิดขึ้นมาเราจะได้ไม่เดือดร้อน ไม่สะเทือนใจ.


สร้างสติ
ถาม : คนที่มีจิตเหม่อ มีมิจฉาทิฐิ จะทำอย่างไรให้ควบคุมใจได้

พระอาจารย์ : ขั้นแรกก็ต้องสร้างสติขึ้นมา ท่องพุทโธๆไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อย่าไปคิดอะไร ท่องพุทโธๆไปอย่างเดียว ไม่ต้องไปสนใจเรื่องของคนอื่น ให้สนใจการท่องพุทโธ คนอื่นจะดีจะชั่วก็เรื่องของเขา ขอให้มีสติก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องของคนอื่น จะปล่อยวางได้ ถ้าไม่มีสติ พอเห็นอะไร ใจก็จะเป็นบ้าไปกับสิ่งที่เห็นทันที จะพยศขึ้นมาทันที สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุด สำคัญกว่าสมาธิ สำคัญกว่าปัญญา สำคัญกว่าการหลุดพ้นวิมุตติ เพราะวิมุตติหลุดพ้น ปัญญา หรือสมาธินี้ ถ้าไม่มีสติจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ สติเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้ง ๓ นี้.


ควรรับใช้ ตามใจแม่  
ถาม : คุณแม่ของเพื่อนตอนนี้ป่วยอยู่ หมอแนะนำให้บริหารร่างกาย เพื่อนก็พยายามจะให้แม่ทำ แต่แม่ไม่ยอมทำ เพื่อนจะบังคับแม่ตลอด ก็เลยกลุ้มใจ ฝากกราบเรียนถามว่า ควรจะทำตัวอย่างไร

พระอาจารย์ : ควรทำตามใจแม่ อย่าทำตามใจเรา

ถาม : แต่เพื่อนอยากให้คุณแม่หาย

พระอาจารย์ : อย่าไปอยาก ทำตามเหตุตามผล บอกให้แม่ทำแล้ว ถ้าไม่ทำก็จบเป็นเรื่องของแม่ ไม่ใช่เรื่องของเรา

ถาม : จะเป็นกรรมกับแม่ไหมคะ

พระอาจารย์ : ถ้าบังคับแม่ มีเรื่องกับแม่ ก็เป็นเวรเป็นกรรมกัน ควรจะรับใช้แม่ตามใจแม่ บอกแม่แล้ว ถ้าไม่ทำก็เรื่องของแม่ ถ้าเคี่ยวเข็ญแม่จะเป็นเวรเป็นกรรม ถึงแม้จะอยากให้ท่านหาย แต่ความอยากเป็นกิเลส เรามีหน้าที่เลี้ยงดูท่านรับใช้ท่าน ต้องเอาใจท่าน เอาตัวท่านเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาความอยากของเราเป็นใหญ่ ต้องเอาความสบายใจของท่านเป็นใหญ่.


ปัจจุบันสติ
ถาม : สติที่ถูกต้องคือสติที่อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นใช่ไหมครับ ต้องมีการรู้เห็นกับเรื่องปัจจุบันหรือเปล่า

พระอาจารย์ : ใช่ โดยหลักแล้วก็ให้อยู่กับปัจจุบัน ยกเว้นเวลาเจริญปัญญา ก็ต้องดูทั้งสามตอน ดูทั้งอดีต ดูทั้งปัจจุบัน และดูทั้งอนาคต เพื่อจะได้เห็นภาพรวมที่แท้จริง เช่นกำหนดดูเกิดแก่เจ็บตาย ก็กำหนดถอยไปดูจุดเริ่มต้น ตอนที่ธาตุของคุณพ่อคุณแม่มาผสมกัน แล้วก็เจริญเติบโตในครรภ์ จนคลอดออกมาเป็นเด็กทารก แล้วก็เจริญเติบโตต่อมาจนถึงที่เป็นอยู่ในวันนี้ แล้วก็เลยต่อไปถึงวันข้างหน้า ว่าจะต้องแก่ จะต้องตาย จะต้องไปอยู่ในโลงศพ จะต้องถูกเผาเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ถ้าอย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญปัญญา ปัญญาจะต้องดูให้ครบเลย ทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต แต่จะอยู่ในปัจจุบัน คือจะคิดอยู่ในปัจจุบัน กับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อจะได้รู้ทัน การพิจารณาร่างกายก็เพื่อจะให้เห็นว่าเป็นธาตุ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาจากธาตุ แล้วก็จะกลับไปสู่ธาตุ เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่หลงว่าเป็นเราเป็นตัวเรา เช่นเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายมาพิจารณาดู ตัดเอาผมออกมาวางไว้ แล้วดูว่าเป็นอะไร ก็เป็นแค่วัตถุ เป็นธาตุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง เผามัน มันก็กลายเป็นขี้เถ้าไป อาการทุกส่วนก็เป็นเหมือนกันหมด ไม่มีตัวมีตนอยู่ในอาการต่างๆเลย นี่คือการพิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุไม่มีตัวไม่มีตน  ถ้าอย่างนี้ต้องพิจารณาทุกส่วน ทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต แต่เวลาเจริญสติโดยทั่วไปหมายถึงให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปคิดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ ยกเว้นถ้ามีธุระจำเป็นจะต้องคิด ก็คิดได้ คิดให้เป็นกิจจะลักษณะ เสร็จแล้วก็จบ คิดว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง จะไปเจอใคร จะทำอะไร รู้แล้วก็จบ พอถึงเวลาก็ทำไป แต่ไม่ต้องมากังวลไม่อยากจะเจอคนนั้นเจอคนนี้เลย คนนั้นพูดแล้วก็รำคาญใจ คิดอย่างนี้เสียเวลา ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดอะไร ก็ให้ว่างไว้ เป็นการทำสมาธิไปในตัว



ธรรมจาก ผู้รู้ไม่จริง
พระอาจารย์ : การที่เราจะได้ธรรมะที่วิเศษนี้ เราต้องได้ฟังจากคนที่ เป็นผู้ที่ได้ใช้ธรรมะนี้มารักษาใจให้หายจากความทุกข์ต่างๆ แล้ว ถึงจะเป็นคนที่จะบอกวิธีใช้ธรรมะให้มากำจัดความทุกข์ของเราได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แล้วถ้าเรานำเอาไปปฏิบัติ เราก็จะสามารถ กำจัดความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ให้หมดสิ้นไปได้เลย ถ้าเราไปได้ยินได้ฟังคำสอนของผู้ที่ยังไม่ได้กำจัดความทุกข์ต่างๆ ให้หมดไปจากใจ เราจะไม่ได้ยินคำสั่งคำสอนที่ถูกต้อง ที่จะเอามากำจัดความทุกข์ภายในใจของพวกเราได้ เพราะผู้ที่สอนเอง ยังไม่สามารถกำจัดความทุกข์ภายในใจของตนได้ จะไม่สามารถสอนผู้อื่นให้กำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้ นี่ก็คือการได้ยินได้ฟังธรรมจาก “ผู้รู้จริงเห็นจริง".


ปัญหาอยู่ที่ใจ
ถาม : เป็นผู้หญิงเวลาจะไปปฏิบัติ จะมีอุปสรรค

พระอาจารย์ : ทำไมผู้หญิงอื่นปฏิบัติกันได้ เขาก็ไม่ต่างกับเรา ขอให้ปฏิบัติไปเถิด แล้วจะมีกำลังใจ มีความกล้าหาญ เจริญสติให้มาก ถ้ามีสติแล้ว ควบคุมใจได้แล้ว จะไม่กลัวอะไร เพราะปัญหาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ถ้าใจไม่กลัวแล้วจะไม่มีอุปสรรค ไปอยู่ที่ไหนก็ได้.


กลัวผี สัมภเวสีที่เมรุ
ถาม : วันแรกที่ไปอยู่ที่เมรุ จะปวดศีรษะ พอแผ่เมตตา อาการปวดศีรษะก็หายไป มีส่วนหรือไม่คะ

พระอาจารย์ : มีส่วน เพราะจิตมีอุปาทาน ปรุงแต่ง เกิดความกลัว ทำให้ปวดศีรษะปวดท้อง  พอแผ่เมตตา ความกลัวก็หายไป

ถาม : ไม่ได้เกี่ยวกับวิญญาณที่อยู่บริเวณนั้นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่เกี่ยว เป็นอุปาทาน

ถาม : เป็นไปได้หรือไม่คะ มีสัมภเวสีอยู่ตามบริเวณเมรุ

พระอาจารย์ : ไม่มีหรอก

ถาม : การภาวนาที่เมรุถือว่าเป็นที่สัปปายะหรือไม่คะ

พระอาจารย์ : ถ้าต้องการปราบความกลัวผี กลัวตาย ก็ต้องไปหาสถานที่ที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้าต้องการแก้ความง่วงนอน ก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว จะได้ไม่ง่วง ถ้าอยู่ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ความกลัวหายไป ความง่วงกลับมา ก็ต้องเปลี่ยนที่ใหม่ ต้องหาสถานที่ที่ทำให้ไม่ง่วง เพื่อจะได้นั่งสมาธิแล้วไม่หลับ.


กิเลสใต้น้ำ
ถาม: กระผมรักษาศีล ๘ มาเดือนจะครึ่งแล้วครับ ตั้งใจจะรักษาตลอดไป แต่ตอนเช้าความเป็นชายจะตื่นมาด้วย เป็นหนึ่งอาทิตย์แล้วครับ กระผมตกใจกลัว ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ ไม่ถึงนาทีก็หายไป แบบนี้เกิดจากอะไรครับ และเป็นภัยต่อพรหมจรรย์ไหมครับ ควรปฏิบัติต่ออย่างไร

พระอาจารย์: คือมันยังมีกิเลสใต้น้ำอยู่ คือยังมีความอยาก อยากเสพกามอยู่ มันก็จะส่งผลไปที่มีการเกิดขึ้นที่ร่างกาย แต่ถ้าเรามีสติแล้วเราก็ไม่ไปส่งเสริมมัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เช่นถ้าเราไม่ต้องการให้มันขยายตัว ก็ใช้คำบริกรรมพุทโธๆๆ ไปก็ได้ หรือถ้าเราชำนาญทางปัญญา เราก็นึกถึงอสุภะไป นึกถึงอวัยวะที่ไม่สวยงามต่างๆ ของร่างกาย เช่นกระดูก เนื้อ ปอด ไต ตับ ลำไส้ อะไรต่างๆไปก็ได้ มันก็จะช่วยบรรเทา ไม่ขยายความไป แต่เรา…มันยังเป็นตัวบ่งบอกว่าเรายังไม่ได้กำจัดตัวนี้ คือตัวกามราคะ มันยังมีอยู่ในใจเรา และมันมักจะมาโผล่ตอนที่เราไม่ค่อยมีสติ เช่นตอนตื่นใหม่ๆ ตอนนั้นเรายังไม่ค่อยมีสติมาก มันก็จะโผล่ขึ้นมาได้ ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกการเจริญอสุภะอยู่เรื่อยๆ ดูความไม่สวยงามของร่างกายบ้าง ดูส่วนที่ไม่สวยงาม เนี่ย มองเห็นใครก็ลองผ่า ผ่าหน้าอกหน้าท้องออกมาดูว่าข้างใต้ท้องใต้หน้าอกนี้มันมีอะไรบ้าง จะได้เห็น อ๋อ มันมีแต่ของที่ไม่น่าดูเลย มีปอด มีตับ มีไต มีลำไส้อะไรต่างๆ ดูบ่อยๆ ดูให้มันเป็นนิสัยขึ้นมา แล้วกามารมณ์มักจะไม่ค่อยเกิดเท่าไหร่


เอาทีละอย่าง
ถาม : เวลาดูร่างกายว่าไม่เที่ยง แล้วต้องดูจิตด้วยหรือเปล่าคะ ว่าจิตเรานี้เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง

พระอาจารย์ : เอาทีละอย่าง เอาร่างกายก่อน เอาให้หมดเป็นเรื่องๆไป จิตมันละเอียดยิ่งกว่าร่างกาย ถ้ายังเอาร่างกายไม่ได้ ก็จะเอาจิตไม่ได้ มันคนละขั้นกัน ต้องเอาขั้นร่างกายก่อน ละสักกายทิฐิละกามราคะก่อน แล้วค่อยไปละจิต

ถาม : ถ้าพิจารณาถึงแล้ว จะเบื่อร่างกายใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : จะไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บ ไม่มีกามารมณ์

ถาม : แล้วมีอารมณ์เบื่อไหมคะ

พระอาจารย์ : เบื่อเพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ไม่ได้เบื่อแบบหดหู่ใจ เบื่อที่จะแบกมันอีกแล้ว อยากจะปล่อยวางมัน

ถาม : ถ้าเกิดปัญญาแบบนั้น จิตจะเบิกบานไหมคะ

พระอาจารย์ : จะเบิกบาน สงบเย็นสบาย ไม่หวั่นไหว ไม่วิตกกังวลกับเรื่องของร่างกาย จะเจ็บจะตายอย่างไรไม่เป็นปัญหา

ถาม : จะเกิดกับเราตลอดไป คือจะไม่เห็นผิดอีกแล้ว

พระอาจารย์ : ถูกต้อง ถ้าปล่อยได้แล้ว ก็จะปล่อยเลย จะไม่กลับมาอีก แต่ต้องเจริญสติเจริญสมาธิก่อน ทำจิตให้รวมให้ได้ก่อน.  


การตัดสังโยชน์ ๑๐
ถาม: วิธีเอาชนะสังโยชน์ ๑๐ แบบฆราวาสมีไหมครับ คือวิธีใด

พระอาจารย์: ก็วิธีเดียวกับทุกคนนะ สังโยชน์ ๑๐ มันเป็นโจทย์ของจิต มันเป็นกิเลสที่ผูกมัดจิตใจให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องใช้ธรรมของพระพุทธเจ้าอันเดียวกัน ก็คือศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นฆราวาสเป็นนักบวช เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ ก็ใช้ศีล สมาธิ ปัญญาอันเดียวกัน เหมือนยานะ ยาที่รักษาโรคนี่ ใช้ยาชนิดเดียวกันใช่ไหม ไม่ว่าจะกับผู้หญิงผู้ชาย เด็กผู้ใหญ่ กับพระหรือกับโยม ถ้าเป็นโรคเดียวกันก็ใช้ยาชนิดเดียวกัน

สังโยชน์นี่ก็เป็นเหมือนกับโรคของจิตโรคของใจ ที่ทำให้จิตต้องทุกข์ต้องทรมานเพราะสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นี้ ก็ต้องใช้ยาคือธรรมโอสถเหมือนกัน ใช้ศีล สมาธิ ปัญญาเหมือนกัน ศีลก็ต้องศีล ๘ ขึ้นไปถึงจะมีกำลัง เหมือนรถที่จะขึ้นเขานะ ถ้ารถกำลังน้อยมันก็ขึ้นไม่ได้ ต้องมีรถที่มีกำลังมาก รถที่วิ่งบนพื้นราบนี่จะขึ้นเขาไม่ไหว เราถึงมักจะซื้อรถเอชยูวีกัน ใช่ไหมเดี๋ยวนี้ มันลุยมันมีพลังมากกว่า ถ้าซื้อรถแบบธรรมดา มันก็วิ่งแบบถนนราบเรียบได้ แต่พอจะขึ้นเขาลงเขานี่มันไม่มีกำลัง

การที่จะตัดสังโยชน์ ๑๐ นี้ มันต้องศีล ๘ ขึ้นไป ศีล ๕ มันไม่มีกำลัง ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี้มันมีกำลังที่จะสนับสนุนให้เราภาวนา ให้มีสมาธิให้มีปัญญา พอมีศีลมีสมาธิมีปัญญา สังโยชน์ก็ขาดหมดเลย สังโยชน์เป็นเหมือนเชือก ศีล สมาธิปัญญาเป็นเหมือนมีด พอมีมีด ลับให้มันคมนี้ ฟันปั๊บมันก็ขาด ฟันปั๊บสักกายทิฏฐิก็ขาด สีลัพพตก็ขาด วิจิกิจฉาก็ขาด ปฏิฆะก็ขาด กามราคะก็ขาด รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุททัจจะ อวิชชานี่ ถ้าเจอมีดของศีล สมาธิ ปัญญานี้ มันขาดหมดเลยนะ ถ้าอยากจะตัดสังโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระ ก็ต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 พฤษภาคม 2566 14:32:00

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18216932937502_346472207_635338471776967_3904.jpg)

หนีทุกข์ หรือ ดับทุกข์
ถาม: เวลาจิตกระเพื่อมจะเกิดทุกข์ทันที เราเห็นมันเลย จะทิ้งมัน กลับไปสู่ความสงบดีกว่า อย่างนี้เป็นการหนีทุกข์

พระอาจารย์: ไม่หนีหรอก เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัด การปฏิบัติก็เพื่อการดับทุกข์ เวลาเกิดทุกข์ก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ในพระสูตรก็บอกว่าเกิดจากความอยาก ก็ต้องรู้ว่ากำลังอยากอะไร ถ้าละความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไป เวลาเกิดทุกข์ก็ต้องใช้สติปัญญา ใช้เป็นมรรคดับความทุกข์ เหมือนดับไฟไหม้บ้าน เป็นการหนีไฟหรือเปล่า ไม่ได้หนีหรอก เป็นการกำจัดสิ่งที่เป็นภัย ความทุกข์เป็นภัยที่เราต้องดับ แต่การดับทุกข์ที่ไม่ถูกก็มีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้หลีกเลี่ยงวิธีดับทุกข์ที่สุดโต่ง ๒ ประการ คือ
 ๑. ดับด้วยกามสุข ไม่สบายใจก็ออกไปเที่ยว พอกลับมาบ้านก็ทุกข์เหมือนเดิม
 ๒. ดับด้วยการทรมานร่างกาย อย่างพระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหาร ๔๙ วัน อดไปแล้วความทุกข์ใจก็ยังมีอยู่ ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก ถ้าอยากจะดับความทุกข์ใจ.. “ก็ต้องละความอยาก”.


ทำไมต้องกลัว
ถาม: บ้านพี่สาวมีคนตาย ก็กลัวเหมือนกัน ตั้งใจจะเข้าไปดู พอเข้าไปจริงๆ เริ่มหวั่นนิดๆ

พระอาจารย์: ตอนที่ไม่ตายไม่รู้สึกอะไร พอตายก็กลัวขึ้นมาทันที เวลาเป็นกับเวลาตายต่างกันตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่หายใจกับไม่หายใจเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปกลัวคนที่ไม่หายใจแล้ว.


แอร์ ธรรมชาติ
ถาม: ท่านอาจารย์คะ หน้าร้อนมีปัญหาเรื่องเหงื่อออกมากเพราะอากาศมันร้อนใช่ไหมคะ พอเปิดแอร์ก็เย็นเกินไป  จะให้ทำอย่างไรดีคะ ท่านอาจารย์อยู่วัดไม่ต้องมีแอร์ ไม่ต้องมีอะไรก็ภาวนาได้

พระอาจารย์: ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ถ้าร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป ให้เหงื่อแตกพลั่กให้เสื้อเปียกหมดทั้งตัวเลย ม่เป็นไร เราไปรังเกียจมัน ก็เลยเป็นอุปสรรค ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ถาม: รู้สึกว่ามันร้อน

พระอาจารย์: ไม่ต้องไปสนใจ มันก็เหมือนกับเวลานั่งไปแล้วเกิดทุกขเวทนา

ถาม: ลุกขึ้นไปเปิดแอร์ พอเปิดแอร์ก็เย็น

พระอาจารย์: ไม่ต้องไปเปิด พยายามให้เป็นธรรมชาติที่สุด ยกเว้นว่าถ้าเปิดแอร์แล้วช่วยป้องกันเสียงไม่ให้เข้ามารบกวน เปิดแล้วจะหนาวก็ช่างมัน ทนสู้กับมันไป ก็ปรับได้นี่ ปรับให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้ใช่ไหม ถ้านั่งภาวนาไปนานๆแล้ว อากาศจะเย็นอย่างไร ร่างกายจะเริ่มร้อน จะรู้สึกอุ่นขึ้นมาเอง  ถ้ามีแอร์ก็ถือว่ามีบุญ แต่ก็มีปัญหาได้เพราะจะติดแอร์  ไปนั่งที่อื่นไม่ได้ ควรให้เป็นธรรมชาติ ให้เรียบง่ายที่สุด อย่าไปอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นเครื่องประกอบในการภาวนา นอกจากสถานที่ๆสงบสงัดวิเวก ที่เป็นธรรมชาติ.


หมดแล้วก็จบ
ถาม: ท่านอาจารย์ครับ สมมุติว่าบางคนถ้ามุ่งชำระจิตจนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย แล้วก็อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา แต่ว่าก่อนหน้านี้เคยทำกรรมเอาไว้มากมาย อย่างเช่นองคุลิมาล ซึ่งก่อนที่จะเจอพระพุทธเจ้าได้ฆ่าคนถึง๙๙๙ คน ท่านไม่ต้องใช้เวรใช้กรรมหรือครับ

พระอาจารย์: ก็ใช้ในภพชาติสุดท้าย ชาวบ้านที่รู้จักท่าน เวลาท่านไปบิณฑบาตเขาก็เอาหินขว้างใส่

ถาม: คือยังไงก็ต้องใช้เวรใช้กรรมก่อน ถึงจะสามารถบรรลุได้ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: ไม่ใช่ หมายถึงว่าถ้าบรรลุแล้ว ก็ชดใช้เวรกรรมในชาติสุดท้ายนี้เท่านั้น ถ้ายังมีร่างกายนี้อยู่ เช่นพระพุทธเจ้าก็มีพระเทวทัตตามล้างผลาญ พยายามฆ่าพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง นี่ก็เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมาในอดีต แต่ทำได้ที่ร่างกายเท่านั้นเอง เพราะจิตของพระพุทธเจ้าหลุดพ้นแล้ว จิตไม่ได้ยึดติดกับร่างกาย ร่างกายจะเป็นอะไรจิตก็ไม่ทุกข์

ถาม: แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายก็จะต้องใช้กรรม จนกระทั่งหมดกรรมใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: ใช่  พระโมคคัลลาน์ก็ถูกเขาฆ่าตาย ท่านมีฤทธิ์ ท่านสามารถใช้ฤทธิ์ช่วยท่านได้ แต่ท่านก็ไม่ทำ เพราะหนีได้วันนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ตามมาอีก เพราะเวรกรรมหนีไม่ได้ หนีไม่พ้น สู้ปล่อยให้มันหมดไปดีกว่า หมดแล้วก็จบ แต่ใจของท่านไม่เดือดร้อนนี่ แล้วเรื่องอะไรท่านต้องหนีด้วย เพราะท่านพร้อมที่จะรับอยู่แล้ว เหมือนกับคนที่ยิงคนอื่นตายแล้ว ก็นั่งรอให้ตำรวจมาจับไปเข้าคุก ไม่อยากจะหนีไปไหนแล้ว ยอมรับกรรม อย่างน้อยก็สบายใจที่ปลงได้  ติดคุกก็ติด แต่ได้ทำตามที่ต้องการจะทำแล้ว


บุญอุทิศเป็นบุญที่น้อยมาก
ถาม: เขาอยากจะทราบว่า บุญที่ทำนั้นเขาอุทิศส่วนกุศลให้แก่พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วนี่ บุญที่ทำกับครูบาอาจารย์ กับที่ทำกับทั่วไปนี่อย่างไหนจะมากกว่ากัน

พระอาจารย์: ก็อยู่ที่ใจของเรา เวลาเราทำกับครูบาอาจารย์เรามีความมั่นใจ เรามีความสุขใจมากมันก็มาก เวลาเราทำกับคนที่เราไม่มั่นใจ ก็มีความสุขใจน้อย บุญก็น้อย สิ่งที่เราอุทิศไปก็คือความสุขใจ

ถาม: เขาอยากทราบว่าพ่อแม่จะได้จากทางไหนมากกว่ากัน

พระอาจารย์: คนที่เราจะส่งไปให้ บางทีเขาก็ไม่มีความจำเป็น ก็จะไม่รอรับบุญส่วนนี้ เพราะบุญอุทิศเป็นบุญที่น้อยมาก เคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านพูดว่าเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง อาจจะน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์เสียอีก สมมุติเราทำบุญร้อยบาท อาจจะอุทิศไปได้ไม่ถึงบาท เป็นเหมือนเศษอาหาร เศษเงินเศษทองที่เราให้ขอทาน จึงอย่าไปหวังกับบุญอุทิศ ขณะที่มีชีวิตอยู่ ต้องรีบทำบุญให้มากๆ

ถาม: ของใครของมัน ทำกันเอาเองใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: ใช่ แม้แต่เวลาที่เราทำบุญให้กับคนตายในงานศพนี้ คนที่เสียเงินเสียทองที่ไปร่วมทำบุญ จะเป็นคนได้บุญ คนตายไปแล้วได้ก็น้อยมาก แต่ถ้าเขาทำบุญมาตลอดเวลา เขาก็ไม่ต้องอาศัยบุญอุทิศ ถ้าไปเกิดเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ ก็ไม่ต้องอาศัยบุญอุทิศ เพราะมีบุญมากแล้ว มีสัตว์ชนิดเดียวที่พึ่งบุญอุทิศ ก็คือพวกเปรต อยู่ในนรกก็รับไม่ได้ เป็นอสุรกายก็รับไม่ได้ เป็นเดรัจฉานก็หากินเองได้


อย่าไปคาดเดา
ถาม: ท่านอาจารย์คะ เมื่อสักพักท่านอาจารย์เทศน์เรื่อง ขณะที่จิตจะออกจากร่าง

พระอาจารย์: อย่าไปคาด ขอให้ปฏิบัติไป ให้อยู่กับปัจจุบัน มีสติมีปัญญาแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น อย่าไปคาด ถ้ายังไม่รู้อย่าไปคาด  ปฏิบัติไปดีกว่า เพราะของอย่างนี้คาดไม่ได้ เพราะเวลาถึงจุดวิกฤติแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันจะเป็นอัตโนมัติ  เหมือนกับนักมวยที่ซ้อมดีขนาดไหนก็ตาม พอขึ้นเวทีแล้ว อาจารย์  โค้ช หรือเพื่อน ก็ช่วยกันไม่ได้แล้วละ ได้แต่เชียร์ พอโดนแย็บก็งงเหมือนไก่ตาแตก  ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว  พยายามฝึกไว้ให้ดี  ฝึกไว้ให้คล่อง พยายามมีสติอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา  พยายามมีปัญญาเตือนสติเสมอว่า เรื่องความตายนี้เป็นเรื่องธรรมดา  เท่านั้นแหละมันจะรักษาจิตให้นิ่งให้สงบได้ ถ้าแว่บออกจากจุดนี้ไป จะวุ่นวายขึ้นมาทันที พอวุ่นวายแล้วก็จะทุกข์ขึ้นมา จะเสียหลัก เหมือนกับถูกแย็บจนงงเป็นไก่ตาแตก  จึงต้องฝึกสติอยู่เสมอ แล้วเจริญมรณานุสสติอยู่เรื่อยๆ อยู่กับตัวตลอดเวลา


เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้อื่น
ถาม:  ท่านอาจารย์คะ เรียนถามเรื่องศีล ๕ กับสัมมาอาชีวะ  ถ้าทำร้านอาหารแล้วต้องไปจ่ายตลาดเอง บางทีจะต้องซื้อปลาสดๆมาค่ะ

พระอาจารย์: ไม่ควรทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้อื่น ถ้าซื้อก็ซื้อของที่ตายแล้วจะดีที่สุด ถึงแม้จะให้คนอื่นไปซื้อ มันก็เป็นเงินของเรา ในทางโลกก็ยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ดี สั่งให้เขาทำก็ดี ทำด้วยตนเองก็ดี ก็เป็นความผิดเหมือนกัน เพราะมีเจตนาร่วมที่จะทำความผิดนั้น ถ้าเราศึกษาธรรมะแล้วเห็นว่าอาชีพที่เราทำอยู่นี้ ไม่เป็นสัมมาอาชีวะ เราก็ต้องเลิกเสีย ต้องเปลี่ยนอาชีพนี้แล้ว หาอาชีพใหม่ทำ อย่าไปเสียดายกับเงินทองเล็กๆน้อยๆ มันไม่มีคุณค่าเท่ากับธรรมะ ไม่มีคุณค่าเท่ากับบุญ เพราะเราหาเงินมาก็เพื่อเอาไปแลกกับบุญอยู่ดี  แล้วในเมื่อเราสามารถได้บุญมา โดยไม่ต้องเสียเงิน ทำไมเราไม่ทำ  เปลี่ยนอาชีพเสียก็หมดเรื่อง ถ้าขายเหล้ารู้ว่าไม่ดี ก็ไม่ต้องขาย ขายแต่ข้าวอย่างเดียว  เนื้อสัตว์ก็ไปซื้อของที่ตายแล้ว.


ไม่ทำทาน
ถาม: เพื่อนถือศีล สวดมนต์ไหว้พระ แต่ไม่ใส่บาตร เขาบอกว่าการใส่บาตรได้บุญน้อยกว่าสิ่งที่เขาทำ จริงๆ แล้วคือแบบไหนเจ้าคะ

พระอาจารย์: เขาก็จะไม่ได้ผลบุญจากการทำทาน เขาไปไหนเขาก็อาจจะอดอยากขาดแคลน คนทำบุญไปไหนก็จะมีแต่ทรัพย์ มีอะไรรอเขาอยู่ ก็เหมือนเอาเงินไปฝากธนาคาร การใส่บาตรเป็นการทำทาน การทำทานนี่เป็นเหมือนเอาทรัพย์ เอาเงินไปฝากธนาคาร พอต้องการจะใช้ทรัพย์ก็ไปเบิกได้ คนที่ทำบุญทำทาน ชาติหน้ากลับมาเกิดก็จะไม่อดอยากขาดแคลน คนที่ไม่ได้ทำบุญ ก็กลับมาก็จะอดอยากขาดแคลน


ผ่านแล้ว
ถาม: ถ้าผ่านความกลัวไปแล้ว จะต้องพิจารณาอีกหรือไม่

พระอาจารย์: ไม่ต้องพิจารณาแล้ว เช่นเดียวกับกลัวความเจ็บ ถ้าพิจารณาจนปล่อยความเจ็บได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีก.


ต้องมีสติควบคุมจิต
ถาม: จิตยิ่งนิ่ง สติยิ่งมีกำลังใช่หรือไม่

พระอาจารย์: ใช่ สติจึงสำคัญมาก เป็นกุญแจดอกแรก จะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ ต้องมีกุญแจ ๓ ดอก ไว้เปิด ๓ ประตู ประตูแรกคือสติ พอเปิดประตูสติได้แล้ว ก็จะเจอประตูสมาธิ พอเปิดประตูสมาธิได้แล้ว ก็จะเจอประตูปัญญา พอเปิดประตูปัญญาได้แล้ว ก็จะได้มรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สติสำคัญมาก ทรงเปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหมด

ปัญญาถึงแม้จะสำคัญมาก ก็สู้สติไม่ได้ เพราะปัญญาจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ สมาธิจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสติ สติจึงต้องมาก่อน เวลาภาวนาทำจิตให้สงบ ต้องมีสติควบคุมจิต ไม่ให้ลอยไปลอยมา ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน พอได้สติแล้ว เวลานั่งสมาธิจะสงบได้อย่างง่ายดาย นั่งเพียงห้านาทีก็สงบแล้ว พอออกจากสมาธิ ก็จะสามารถพิจารณาปัญญาได้ เพราะจะไม่มีกิเลสมารบกวน มาต่อต้านการพิจารณา.


ความโกรธ
ถาม: เวลาใครพูดอะไรไม่ถูกใจ ทำอย่างไรจึงจะระงับความโกรธได้

พระอาจารย์: ต้องมีสติรู้ทันว่ากำลังโกรธ รู้ว่าความโกรธเป็นโทษกับเรา มากกว่าคนที่ทำให้เราโกรธ  คนที่ทำให้เราโกรธเป็นเหมือนกับคนจุดไฟ แต่ไฟอยู่ในใจเรา อย่าไปสนใจคนที่จุดไฟ ต้องรีบหาน้ำมาดับไฟ วิธีที่เร็วที่สุดก็คือปัญญา รู้ว่านี่ไฟกำลังไหม้บ้านเรา กำลังไหม้ตัวเรา ก็หยุดโกรธเสีย นี่คือปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ก็ต้องใช้อุบายอย่างอื่นเช่น เมตตา ให้อภัย   คิดว่าเรื่องก็ผ่านไปแล้ว  จะไปฟื้นฝอยหาตะเข็บก็ไม่ได้แก้ความรุ่มร้อน ความโกรธที่มีอยู่ภายในใจ ก็คิดเสียว่าใช้หนี้เก่าไปก็แล้วกัน แล้วแต่จะใช้อุบายคิด
วิธีที่ฉลาดที่เร็วที่สุดก็ต้องมองว่า ไฟกำลังไหม้บ้าน จะไปตีโพยตีพายทำไม รีบหาน้ำมาดับไฟดีกว่า ขณะนี้เรากำลังโกรธ รีบระงับความโกรธนี้เถิด ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรก็บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงคนที่ทำให้เราโกรธ เดี๋ยวความโกรธก็หายไปเอง.



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 ตุลาคม 2566 15:18:33

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56104798118273_392738469_898416318333192_8983.jpg)

แก้ปัญหาถูกจุดแล้ว
ถาม : ไม่ทราบรายละเอียดปลีกย่อยในศีล ๘ มีข้อห้ามอะไรบ้าง ทำให้ไม่กล้าถือทั้งหมด เลยถือศีล ๕ แต่ทำแบบศีล ๘

พระอาจารย์ : สาระของศีล ๘ ก็คือให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากการรับประทาน จากการหลับนอน

ถาม : เดี๋ยวนี้ลูกจะมี ๒ คาถา  คือ ๑. ความอยาก เพราะต้นตอก็คือเราอยาก ๒. ที่ใช้บ่อยในที่ทำงานก็คือ ไม่ต้องไปดูข้างนอก คือดูที่ตัวเรา กลับมาดูที่ตัวเรา บางเวลาคุยเรื่องงาน เราเริ่มหงุดหงิดแล้ว เริ่มจะเอ๊ะทำไมเขาเป็นแบบนี้ ทำไมทำกันอย่างนี้ ก็จะเริ่มกลับเข้ามา คือไม่ส่งออกนอกแล้ว

พระอาจารย์ : ปล่อยให้เขาลุยไป ให้เขาเถียงกันไป เรานั่งเฉยๆ

ถาม : บางทีถ้าเราเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เขา เราจะย้อนกลับมาดูตัวเองก่อน

พระอาจารย์ : อย่างนั้นถูกแล้ว

ถาม : เวลาเราโกรธ ก็ถามว่าโกรธเพราะอะไร ก็ช่วยได้มากค่ะ

พระอาจารย์ : แก้ปัญหาถูกจุดแล้ว ไฟกำลังไหม้ใจ อย่าไปดับที่อื่น ดับที่ใจ ความโกรธอยู่ที่ใจ ความหงุดหงิดอยู่ที่ใจ เพียงแต่อาศัยสิ่งภายนอกเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดขึ้น แต่ตัวที่เป็นปัญหาอยู่ที่ใจเรา เริ่มรู้แล้วว่าต้องมองข้างใน ต้องปล่อยข้างนอก หลวงปู่ดุลย์สอนเสมอว่า เข้าข้างในเป็นมรรค ออกข้างนอกเป็นสมุทัย ออกข้างนอกเป็นทุกข์ เข้าข้างในสุขสงบเย็นสบาย

ถาม : ถ้าหลงออกไปข้างนอก ก็จะหลงไม่นาน แล้วก็จะกลับมา จะรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้หลงไปแล้วนะ

พระอาจารย์ : ใช้ได้ แสดงว่าได้เข้าสู่มรรคแล้ว เจริญอย่างนี้ไปเรื่อยๆ. 


ต้องออกจากสมาธิก่อน
ถาม : ตอนที่หยิบข้อธรรมะขึ้นมาพิจารณา ให้เป็นวิปัสสนานี่ ต้องใช้สมาธิแบบไหน

พระอาจารย์ : ต้องออกมาจากสมาธิก่อน มาอยู่ในจิตปกติก่อน

ถาม : ไม่ใช่อยู่ในอุปจาร  ออกมาเป็นปกติเลย

พระอาจารย์ : ออกมาเป็นปกติ มารับรู้ภายนอกก่อน แล้วค่อยพิจารณา ต้องพิจารณาตลอดเวลาเลย ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ แทนที่จะปล่อยให้จิตเป็นเครื่องมือของกิเลส ต้องดึงเอามาเป็นเครื่องมือของธรรมะ พอออกจากสมาธิปั๊บ ถ้าไม่เคยพิจารณา จะกลับไปคิดตามกิเลสทันที กิเลสให้คิดว่า นั่งมานานแล้ว เมื่อยแล้ว หาอะไรมาดื่มสักหน่อย หรือนอนสักหน่อย หรือเปิดวิทยุฟังสักหน่อย นี่ไปทางกิเลสแล้ว อย่าปล่อยให้มันทำอย่างนั้น ต้องดึงมาพิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายเป็นต้น.


นำเอาไปปฏิบัติ
ถาม : ทางสายตรงคือมรรคที่มีองค์ ๘ นี้ ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ : ใช่

ถาม : จะทำอย่างไรที่จะให้การปฏิบัติคืบหน้า เหมือนกับปรุงแกงนะครับ จะปรุงแกงให้มันกลมกล่อม

พระอาจารย์ : ต้องเริ่มต้นที่สติ ให้มีสติก่อน ถ้าดื่มเหล้าเมาแล้วจะไม่สามารถทำอะไรได้ ทานศีลภาวนานี้จะทำไม่ได้เลย ควรละเว้นจากการดื่มของมึนเมาทั้งหลายก่อน ไม่เสพสุรายาเมาและของมึนเมาทั้งหลายโดยเด็ดขาด พอมีสติแล้วขั้นต่อไปก็ต้องศึกษาดูว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะ พอทราบแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ

ถาม : รักษาศีล ๕ ใช้ได้ไหมครับ

พระอาจารย์ : ในเบื้องต้นควรรักษาศีล ๕ ไปก่อน ถ้าจะขยับสูงขึ้นไปอีกก็ต้องรักษาศีล ๘ ต้องตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เช่นไม่รับประทานอาหารเกินความจำเป็น รับประทานมื้อเดียว ไม่รับประทานหลังเที่ยงวันไปแล้วเป็นต้น เป็นการตัดกามฉันทะ ไม่ดูหนังฟังเพลง ไม่ร้องรำทำเพลง ไม่ใส่เสื้อผ้าสีสวยสดงดงาม แต่งหน้าทาปากอะไรต่างๆเหล่านี้ ที่เป็นความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ถาม : ถ้ายังต้องทำงานอยู่ จะทำอย่างไร

พระอาจารย์ : ทำให้น้อยลงไป เก็บเงินให้มาก ใช้เงินให้น้อย พอมีเงินพอก็ลาออกจากงาน เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่.


ไม่มองไปตรงจุดจบ
ถาม : พี่สะใภ้เจ็บหนักมาก หลานที่ดูแลอยู่ หลังจากที่แม่เจ็บหนักและคิดว่าอยู่ได้อีกไม่นาน ได้อ่านหนังสือท่านอาจารย์เป็นเครื่องจรรโลงใจตลอดมา เขาขอธรรมะมาว่า ถ้าวันไหนแม่รู้สึกดีขึ้นนิดหนึ่ง ใจเขาจะฟูมาก ถ้าวันไหนแม่ไม่ฟื้นตัวเลย ไม่พูดเลย ไม่ลืมตา ก็จะเป็นทุกข์มาก ตรงนี้ยังทำใจไม่ได้ ถึงแม้จะได้พิจารณาตามท่านอาจารย์ว่าเป็นไตรลักษณ์ แต่ยังเป็นทุกข์มากเหลือเกิน

พระอาจารย์ : ใจยังตัดไม่ขาด ตัดได้เป็นช่วงๆ เวลามีสติมีปัญญาก็จะปล่อยวางได้ พออาการดีขึ้น สติหายไปเลย ดีใจจนลืมไปแล้วว่า ดีขึ้นเพื่อที่จะเลวลงไปอีก ไม่มีอะไรดีไปตลอด ดีแล้วเดี๋ยวก็ต้องไม่ดี เพราะต้องไปสู่จุดจบอยู่ดี ไม่มองไปตรงจุดจบ มองอยู่ตรงจุดที่ขึ้นๆลงๆ เวลาขึ้นก็ดีใจ เวลาลงก็เสียใจ ไม่รู้ว่าในที่สุดก็จะต้องลงไปที่ศูนย์ มันกำลังดิ่งลงไป ขณะที่ดิ่งลงก็ยังมีขึ้นมาบ้างลงไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องลงไปที่จุดนั้นทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม  มีสุขภาพดีขนาดไหนขณะนี้ก็ตาม อาจจะไปถึงก่อนคนที่กำลังนอนใกล้ตายอยู่ก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องให้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ เป็นปัญญา พวกเราส่วนใหญ่ชอบพิจารณาความเจริญกัน ทำอะไรก็อยากให้มันเจริญ ไม่เคยคิดเลยว่า อะไรที่เจริญก็ต้องเสื่อม ธรรมที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา


ได้แต่ท่า แต่ไม่ได้ผล
ถาม : รู้จักคนที่เที่ยวบ่อยมากเลย เที่ยวต่างประเทศปีละหลายๆครั้ง แต่เขาก็ปฏิบัติจริงอย่างนี้ขัดกันไหมคะ

พระอาจารย์ : ยังปฏิบัติไม่ได้ผล เป็นกิริยามากกว่า ไม่ได้เนื้อไม่ได้หนัง ได้แต่ท่าของการปฏิบัติ แต่ไม่ได้ผลิตจริงๆ ถ้าได้ผลจริงๆแล้วจะเบื่อทางโลกเลย ท่านถึงแสดงไว้ว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรมแล้ว จะไม่เอารสอย่างอื่นแล้ว เหมือนก้อนหินกับเพชร พอได้เพชรแล้วจะเอาก้อนหินไหม ไปเที่ยวนี้เหนื่อยจะตาย สู้นั่งสมาธิจนจิตรวมลงไม่ได้ ไม่เหนื่อย ไม่ต้องไปทำพาสปอร์ตทำวีซ่า ไม่ต้องไปตีตั๋ว ไปรอที่สนามบินขึ้นเครื่อง ไปได้ไม่กี่วันก็คิดถึงบ้านแล้ว อยู่ที่ไหนจะสบายเท่าอยู่ที่บ้าน แต่กิเลสจะหลอกเรา วาดภาพว่าสนุกสวยงาม ต้องไปให้ได้ พอไปแล้วก็อยากจะกลับบ้าน  ถ้ามีของดีอยู่ในใจแล้วจะไม่อยากไปไหน อยู่ตรงไหนก็มีความสุข ที่ยังต้องไปกันอยู่ เพราะยังไม่มีความสุขภายใน มีแต่ไฟแห่งราคะโมหะโทสะ ที่เผาใจให้ร้อน ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข ต้องหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาดับ.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 พฤศจิกายน 2566 13:10:38
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/19328127263320_395621110_907870054054485_1996.jpg)



อย่าไปสนใจ
ถาม : ถ้าภาวนาพุทโธแล้วมีเสียงอื่นแทรกขึ้นมา

พระอาจารย์ : อย่าไปสนใจ ให้อยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างเดียว อะไรจะแทรกเข้ามาไม่ต้องไปสนใจ เหมือนฟังวิทยุแล้วมีคลื่นอื่นแทรกเข้า เราก็ต้องปรับคลื่นให้อยู่กับสถานีที่เรากำลังฟัง เวลาภาวนาก็ให้อยู่กับกรรมฐานที่เราใช้อยู่ จะมีอะไรแทรกเข้ามาก็อย่าไปสนใจ เวลามีคนมาเคาะประตูหรือโทรศัพท์ดัง หรือคันตรงนั้นคันตรงนี้ เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ ก็อย่าไปสนใจ ให้เกาะติดอยู่กับกรรมฐานที่เราใช้เป็นเครื่องผูกใจ ไม่นานเสียงก็จะหายไป ใจไม่ให้ความสำคัญ ปล่อยวางได้ ก็จะไม่รบกวนการภาวนาของเรา.


ต้องพิสูจน์ว่าเห็นจริงหรือไม่
ถาม : ได้ฟังเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่าทุกข์ มีทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นในจิต ควรจะพิจารณาต่อใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : พิจารณาให้เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก เกิดจากสมุทัย ถ้าละความอยากได้ ทุกข์ก็จะดับ จะดับความทุกข์ได้ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ ต้องใช้ไตรลักษณ์พิจารณาละความอยาก พอตัดความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไป

ถาม : มันหายเป็นช่วงๆ มันเกิดดับๆ เป็นช่วงๆ

พระอาจารย์ : เพราะยังตัดไม่ขาด

ถาม : บางช่วงเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

พระอาจารย์ : ต้องไปพิสูจน์ดูว่าเห็นจริงหรือไม่ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย เราทุกข์หรือเปล่า การพิจารณานี้เป็นเหมือนกับการวิเคราะห์ ยังไม่ได้เจอของจริง ต้องไปเจอของจริงดู ก็จะรู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่ พิจารณาร่างกายให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เพื่อจะได้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นร่างกายของคนอื่น ร่างกายคนอื่นเวลาหมอบอกว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคมะเร็ง จะตายใน ๖ เดือน เราก็ไม่ได้ไปทุกข์วุ่นวายใจด้วย ถ้าหมอบอกว่าร่างกายของเราจะตายภายใน ๖ เดือน เราจะทุกข์วุ่นวายใจหรือไม่ ถ้าไม่ก็แสดงว่าเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้ายังทุกข์วุ่นวายใจอยู่ ก็ยังไม่ผ่าน ตอนนี้เป็นเพียงการทำการบ้าน ต้องไปเข้าห้องสอบ.


จิตกับสมองเป็นคนละส่วนกัน
ถาม : ลูกไม่เข้าใจจนเห็นตอนที่หลวงตาแก่ เวลาเทศน์ไม่ลืมเลย เรื่องอื่นท่านถามซ้ำถามซ้ำอยู่ตลอด

พระอาจารย์ : ชื่ออะไร เรื่องอะไร พรุ่งนี้จะไปทำอะไร เมื่อวานนี้ทำอะไรไปแล้วก็ลืมได้ บางทีมีนัดกับใครไว้ก็ลืมได้ พอไม่ไปคิดถึงก็ลืม เหมือนพวกเรานี้พอไม่คิดถึงธรรมะเดี๋ยวก็ลืม เพราะธรรมะที่ฟังนี้ยังเป็นความจำอยู่ ยังเป็นสัญญาอยู่ ยังไม่เป็นความจริง พอปรากฏขึ้นในจิตแล้ว จะไม่ลืม

ถาม : อันนี้ก็พิสูจน์ได้ว่า จิตกับสมองเป็นคนละส่วนกัน

พระอาจารย์ : คนละส่วนกัน สมองเป็นวัตถุ ทำหน้าที่ในส่วนของร่างกาย เป็นเหมือนส่วนประกอบของรถยนต์ แต่คนขับกับรถยนต์เป็นคนละส่วนกัน คนขับสั่งให้รถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ให้วิ่งเร็ววิ่งช้า จิตก็เป็นตัวสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ร่างกายมีสมองเป็นตัวประสานกับการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่างๆ.


ปัญญา อบรมสมาธิ
ถาม : ตามหลักของทางวัดป่า จะสอนให้ทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น แต่ของเขาเป็นแบบปัญญาอบรมสมาธิ ให้คิดแต่ในทางดีตลอด ลูกก็บอกว่าจะทำให้ฟุ้งซ่าน ไม่ได้สมาธิ ทำอะไรก็ตามให้คิดดีตลอดเวลา อย่างนี้ลูกว่าไม่ใช่ปัญญาอบรมสมาธิ

พระอาจารย์ : ถ้าคิดในทางไตรลักษณ์ก็ใช้ได้ แต่จะเป็นสมาธิหรือไม่นั้น อยู่ที่สติจะควบคุมให้คิดไตรลักษณ์ไปตลอดเวลาหรือไม่ คิดจนถึงแก่นมันหรือไม่ เช่นฟุ้งซ่านสามีจะจากไป ไปมีแฟนใหม่ แล้วคิดว่าในที่สุดก็ต้องจากกัน ขณะนี้ใครกำลังทุกข์อยู่ เรากำลังทุกข์ใช่ไหม ทุกข์เพราะอะไร เพราะหวงยึดติดว่าเป็นของเราใช่ไหม ความจริงเขาเป็นของเราหรือไม่ ถ้าพิจารณาจนเห็นชัดแล้วว่า ไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องปล่อยเขาไป พอยอมรับความจริง แล้วก็จะไม่ทุกข์ ระหว่างความทุกข์..กับ..เขา จะเอาอะไรดี ถ้าเอาเขาก็ต้องทุกข์ ถ้ายังอยากให้เขาอยู่ก็ต้องทุกข์ เพราะเขาจะไม่อยู่ เขาจะต้องไปแน่ๆ ถ้าปล่อยเขาไปเราก็ไม่ทุกข์ ยอมรับความจริงว่าเขาไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสมบัติชั่วคราว ก็จะหายทุกข์ อย่างนี้ถึงเรียกว่าปัญญา อบรมสมาธิ


ทำจิตของเราให้อยู่เหนือสงสาร
ถาม: เห็นคนนั้นป่วยก็สงสาร ก็ทำให้จิตตก จิตไม่สงบเหมือนมีทุกข์ เราควรจะช่วยดำเนินการอย่างไรคะ แม้แต่ตัวเราเอง

พระอาจารย์: เราต้องดำเนินการไปกับตัวเราก่อน ทำจิตของเราให้อยู่เหนือสงสารให้ได้ก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ยังแย่อยู่ เราต้องเห็นว่าเราสงสารอยู่แต่เราไม่รู้สึกหดหู่ ไม่รู้สึกเศร้าหมอง สงสาร แต่ก็สงสารด้วยปัญญา สงสารว่านี่แหละคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่เป็นอย่างนี้ มีความเปลี่ยนแปลง มีขึ้นมีลง มีเจริญมีเสื่อม เวลาเสื่อมก็น่าสมเพธน่าสงสารกัน ถ้าทำอะไรได้ก็ทำ ช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยไปตามกำลัง แต่จะไปแบกคนทั้งโลกไม่ได้หรอก ตอนนี้เราไปช่วยเขา เอาเงินมากี่หมื่นล้าน มาแจกชาวบ้านเท่าไหร่ก็ไม่พอ ทำไปตามกำลังของเรา แต่อย่าไปเศร้าหมอง อย่าไปหดหู่ ต้องเห็นด้วยปัญญาว่า นี่คือโลกของสมมุติ โลกของสงสาร สังสารวัฏนี่ คำว่า “สงสาร” ก็มาจากคำว่า “สังสารวัฏ” โลกของการเวียนว่ายตายเกิด โลกของการเกิดแก่เจ็บตาย โลกของโลกธรรม ๘ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา พิจารณาอย่างนี้แล้วใจก็ไม่หดหู่ ใจไม่รู้สึกท้อถอย หรือเศร้าโศกเสียใจ แล้วก็ไม่ดูดาย ช่วยได้ก็ช่วย ก็ดูตามกำลังของเรา ทั้งของเราและของผู้รับ ว่าเขารับได้เท่าไหร่ คือเราอยากจะให้เขามากๆ แต่ก็ช่วยเขาไม่ได้มาก เช่น เขาไม่สบายอย่างนี้ อยากจะช่วยให้เขาหาย รักษายังไงมันก็ไม่หาย ก็ต้องปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเห็นด้วยปัญญา แล้วก็จะไม่วุ่นวาย ไม่รู้สึกกระทบกระเทือนใจเวลาเห็นสิ่งต่างๆ นอกตัวเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เสื่อม สิ่งที่ทุกข์ยากลำบากต่างๆ แล้วย้อนกลับมาดูที่ตัวเราด้วยว่า ต่อไปเราก็เป็นเหมือนเขานะ ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน แต่เราสามารถอยู่เหนือความทุกข์เหล่านี้ได้ ถ้าเรามีธรรมะของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมถึงขั้นวิปัสสนาได้ เราก็จะปล่อยวางเรื่องของร่างกายของเราได้ มันจะเป็นอะไรก็รู้ว่ามันจะต้องเป็น และรู้ว่ามันจะต้องสิ้นสุดลงในวันใดวันหนึ่ง ไม่ไปต่อรอง ไม่ไปอะไรทั้งนั้น ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมันเป็นธรรมชาติที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้


โลภบุญคืออะไร
ถาม: กราบพระอาจารย์ หนูได้ยินคำว่าโลภบุญ พระอาจารย์ช่วยพิจารณาอธิบายคำว่าโลภบุญให้ด้วยเจ้าค่ะ กราบสาธุพระอาจารย์

พระอาจารย์: โลภบุญก็คืออยากได้บุญเยอะๆ โลภบุญนี้ไม่เป็นกิเลส เป็นธรรม เพราะบุญนี้เป็นประโยชน์แก่จิตใจ บุญมีแต่คุณแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษต่อจิตใจ เป็นเหมือนยารักษาจิตใจให้หายจากความทุกข์ต่างๆ ฉะนั้นการโลภบุญนี้ถือว่าเป็นมรรคเป็นธรรม บุญก็มีหลายระดับ บุญระดับทาน บุญระดับศีล บุญระดับภาวนา อย่าไปโลภแต่บุญระดับเดียว เช่นอย่าไปโลภกับระดับทำบุญอย่างเดียว ไม่รักษาศีล ไม่ภาวนา ต้องโลภให้มันครบเหมือนกับอาหารที่เรากินนี้ต้องกินครบ ๔ หมู่ ถึงจะดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงได้ ฉันใดบุญก็มี ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เราโลภกับบุญเหล่านี้ แล้วต่อไปจิตของเราก็จะแข็งแรง จิตของเราก็จะมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์


ขอแนวคิดเพื่อเป็นกำลังใจให้มีความเพียร
ถาม : กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ โยมสวดมนต์ นั่งสมาธิมาได้ต่อเนื่องระยะหนึ่ง แต่วันหนึ่งความรู้สึกกระตือรือร้นนั้นหายไป ทำได้ไม่ต่อเนื่อง อยากจะขอคำแนะนำหรือแนวคิดเพื่อเป็นกำลังใจให้มีความเพียร ให้ปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องค่ะ

พระอาจารย์ : อยากจะมีกำลังใจก็มาฟังเทศน์ฟังธรรมของพระปฏิบัติใหม่ ฟังอยู่เรื่อยๆ แล้วมันจะเป็นเหมือนการชาร์จแบต ชาร์จกำลังใจให้กับเรา เพราะเวลาฟังธรรมนี้มันเหมือนกับท่านเอาตู้พระนิพพานออกมาโชว์สมบัติ เหมือนกับเศรษฐีที่เขามีเพชรมีพลอยมีสมบัติล้ำค่าเก็บไว้ในตู้ พอเขาเอาออกมาโชว์ เราเห็นปั๊บเราก็อยากได้ขึ้นมา พออยากได้ฉันทะก็มาทันที ฉันทะ วิริยะก็จะตามมา ครูบาอาจารย์ท่านถึงพยายามบังคับอบรมพระอยู่เรื่อยๆ สมัยที่อยู่กับหลวงตามหาบัว ยุคแรกๆ นี้ท่านว่างท่านไม่ค่อยมีญาติโยม ท่านจะเรียกพระมาอบรมทุก ๔, ๕ วันครั้งหนึ่ง ๔, ๕ วัน ก็เรียกมาฟังธรรม ช่วงที่ไม่ได้ฟังธรรมนี้เป็นเหมือนใบไม้เหมือนดอกไม้ที่มันขาดน้ำ พอมาฟังธรรมนี้เหมือนกับได้น้ำ พอกลับไปนี้ โอ้โฮ กลับไปเดินจงกรมได้เป็นชั่วโมง นั่งสมาธิได้เป็นชั่วโมง แต่ก่อนฟังธรรมนี่ โอ้โหย มันไม่มีกำลังใจ เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา ธรรมที่มากระตุ้นให้ใจเกิดฉันทะ วิริยะคือธรรมอันวิเศษของพระพุทธเจ้ามันหายไป แต่พอมาฟังธรรม มาฟังผลของการปฏิบัติของท่าน มาฟังวิธีการปฏิบัติของท่าน มันก็ทำให้เราเกิดมีกำลังใจอยากที่จะทำต่อ งั้นพยายามฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 16:38:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24611031843556_398607051_915867666588057_6322.jpg)


ผ่านเวทนา ๓ ตัว
ถาม : ถ้าพิจารณาเวทนาจนข้ามเวทนาไปได้แล้ว ต้องดูอะไรต่อไป

พระอาจารย์ : สบายแล้วก็อยู่เฉยๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจ็บปวดใหม่ ก็แก้มันใหม่ ทำไปจนกว่าจะไม่กลัวความเจ็บอีกต่อไป

ถาม : แต่ตอนนั้นมันจะสุข

พระอาจารย์ : ถ้าสุขก็อยู่เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ไป นั่งต่อไป อย่างที่หลวงตาท่านเล่าว่าต้องผ่านเวทนา ๓ ตัวด้วยกัน นั่งตลอดคืนตั้งแต่เย็นจนถึงเช้ามืด ประมาณ ๘ ชั่วโมง ท่านบอกจะผ่านเวทนา ๓ ขั้น ขั้นหนู ขั้นเป็ดไก่ แล้วก็ขั้นช้าง พอผ่านขั้นแรกไปก็จะสงบสักระยะหนึ่ง แล้วก็เริ่มเจ็บปวดขึ้นมาใหม่ จะรุนแรงกว่าขั้นแรก ก็ต้องพยายามผ่านไปให้ได้ ผ่านขั้นนี้ได้แล้วก็ไปขั้นที่ ๓ ขั้นสุดท้าย ถ้าผ่านขั้นนี้ได้แล้ว จะไม่กลัวความเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ที่เกิดจากความตาย.


ชกไปเรื่อยๆจนกว่าจะชนะ
ถาม : ความสงบที่เกิดจากการนั่งสมาธิในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน

พระอาจารย์ : เหมือนกับยิงปืน บางทีก็เข้าตรงกลางเป้าก็ได้ ๑๐ คะแนน บางทีไม่เข้าตรงกลางเป้า ได้ ๕ คะแนนบ้าง ได้ ๓ คะแนนบ้าง ได้ ๑ คะแนนบ้าง ภาวนาแต่ละครั้ง บางทีก็สงบน้อย บางทีก็สงบมาก ขึ้นอยู่กับสติว่ามีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงไร ถ้าต่อเนื่องมากก็จะสงบมาก เหมือนกับเดินเข้าไปในถ้ำ ถ้าเข้าไปลึกมากก็จะห่างไกลจากเสียงภายนอกมาก เข้าไปสุดถ้ำเลยก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอกเลย ถ้าอยู่แถวปากถ้ำก็จะได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้อยู่ ถ้าสติยังไม่แน่นอนยังไม่ชำนาญ ความสงบก็จะเป็นแบบนี้

ถาม : บางวันถ้าภาวนาดี ลมหายใจก็จะสั้นลง แล้วก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆจนหายเงียบไปเลย แต่บางวันก็จะมีทุกขเวทนา ก็จะพิจารณาด้วยอุบายของท่านอาจารย์ ทุกขเวทนาก็หายไปเป็นพักๆ แล้วก็กลับมาดูลมหายใจใหม่ ทำเป็นรอบๆไป สุดท้ายก็แพ้มันทุกที แต่ว่าระยะเวลาที่นั่งจะได้นานขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะตั้งเป้าที่จะเอาชนะมันให้ได้ หรือทำไปให้ดีที่สุด

พระอาจารย์ : ทำให้ดีที่สุดจนได้ชัยชนะ ถ้าไม่ยกนี้ก็ต้องยกต่อไป เหมือนนักมวยที่ชกไปเรื่อยๆจนกว่าจะชนะ ถ้ายังไม่ชนะก็จะไม่หยุดชก เราก็ต้องภาวนาไปเรื่อยๆ เจริญสติไปเรื่อยๆ พิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะชนะ.


ไม่ได้
ถาม : กามราคะ กามตัณหา กามกิเลสเหมือนกันไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : เหมือนกัน เป็นสรรพนาม ใช้แทนกันได้ วัตถุของความอยากจะต่างกัน ติดเหล้าติดบุหรี่ก็เป็นกามตัณหาแบบหนึ่ง กามคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ วัตถุของกามจะต่างกัน อยากเหล้า อยากบุหรี่ อยากผู้หญิง อยากผู้ชาย เป็นกามตัณหาทั้งนั้น

ถาม : แล้วการติดกาแฟติดน้ำผลไม้

พระอาจารย์ : เป็นกามตัณหาเหมือนกัน แต่มีความหนักเบาต่างกัน ติดกาแฟไม่หนักเท่ากับติดเหล้า ติดเหล้าติดบุหรี่ไม่หนักเท่ากับติดยาเสพติด แต่ก็ติดเหมือนกัน นักปฏิบัติต้องไม่ติดอะไรเลย

ถาม : ถ้าขอคาเฟอีนสักนิดหนึ่ง จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

พระอาจารย์ : ไม่ได้ ถ้าจะง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้อดอาหารแทน หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถ้าดื่มคาเฟอีนก็จะติดคาเฟอีน วันไหนไม่ได้ดื่มก็จะปฏิบัติไม่ได้ ไม่ควรอาศัยสิ่งภายนอกมาแก้ปัญหา ต้องใช้ธรรมะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็อดอาหารถ้าถูกจริต ถ้าไม่ถูกจริตก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ หรือไปนั่งที่ปากเหว ถ้าสัปหงกหลับไป หัวจะได้ทิ่มลงเหวไปเลย อย่างนี้จะไม่ง่วงแน่นอน ต้องแก้อย่างนี้

ถาม : ถ้าติดบุคคลติดสัตว์เลี้ยง เช่นคนที่รักหมารักแมวรักสัตว์

พระอาจารย์ : รักสัตว์รักคนรักตุ๊กตาก็เหมือนกัน แม้แต่รักที่นั่ง เวลานั่งสมาธิต้องมีเบาะมีที่พิง ในสติปัฏฐานสูตรไม่ได้บอกให้นั่งบนเบาะทำอานาปานสติ แต่บอกให้นั่งตามโคนไม้ ตามเรือนร้าง.


ปฏิบัติให้มากที่สุด
ถาม : เตรียมลาออกไปปฏิบัติธรรม แรกเริ่มนี้จะปฏิบัติอยู่ที่บ้าน ต้องกำหนดเป็นเวลาหรือไม่คะ

พระอาจารย์ : พยายามปฏิบัติให้มากที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้ ควรเจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ หรือพุทโธๆไปก็ได้ ตั้งแต่ตื่นเลย ก่อนจะลุกจากที่นอนก็พุทโธๆไป พอลุกขึ้นก็พุทโธๆไป ให้พุทโธๆพาไป.


ความหลง
ถาม : วิธีแก้วิปัสสนูนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบอกอุบายไว้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่ได้ศึกษารายละเอียด เพียงแต่อาศัยการวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับความหลง แต่ละกรณีไม่เหมือนกัน คือทำอย่างไรให้คนที่หลงมีสติขึ้นมา ให้รู้ว่าตนเองหลง นั่นคือเป้าหมาย กำลังไปผิดทาง อยู่ที่คนหลงว่าอยู่ในฐานะที่จะรับรู้ได้หรือไม่ อย่างคนที่อยู่ในสถานบำบัด คนเสียสตินี่ ไม่อยู่ในสภาพที่จะรับรู้วิธีแก้ปัญหาได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่องก็ทำไม่ได้  คนปกติอย่างเรายังทำกันไม่ได้เลย เราก็หลงเหมือนกัน เพียงแต่ยังอยู่ในระดับที่พอประคับประคองตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม ก็เลยไม่เป็นปัญหา แต่เราก็หลง คนหลงไปช่วยคนหลงจะได้อะไร.


ไม่เข้าใจอุเบกขา
ถาม : เนื่องจากมีผู้อ่านหนังสือท่านอาจารย์แล้ว เขาไม่เข้าใจอุเบกขาของท่านอาจารย์ เพราะหน้าที่ก็ยังต้องทำอยู่ ไม่ใช่ให้วางลงไปทั้งหมด ความเมตตาก็ยังมีอยู่ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้ คือคนอ่านเขาบอกว่า ท่านอาจารย์ไม่ให้ทำอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่

พระอาจารย์ : ให้ปล่อยวางทางใจ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาความเหมาะสม ว่าทำอะไรได้ก็ทำไป ช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยเหลือไป สงเคราะห์ใครได้ก็สงเคราะห์ไป แต่กิเลสมันชอบคิดแบบสุดโต่ง พอบอกให้ปล่อยวางก็คิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อย่าไปกินข้าวสิ ทำไมเลือกทำละ ถ้าเรื่องกินก็ยังกินอยู่ ยังหายใจอยู่ เวลาฟังควรใช้ปัญญาวิเคราะห์ไปด้วย นี่ฟังแบบเอาสีข้างฟัง ไม่ได้เอาหูฟัง เข้าใจไหม เอากิเลสฟัง ไม่ได้เอาปัญญาฟัง ฟังก็ต้องวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลสิ

ที่พูดนี้กำลังพูดถึงเรื่องอะไร พูดถึงเรื่องใจ เรื่องปัญหาของใจ ที่ไปวุ่นวาย ไปทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้ปล่อยวางเรื่องนั้น แต่เรื่องที่ไม่ทุกข์ เรื่องที่มีหน้าที่ต้องทำก็ทำไปสิ ยังต้องทำมาหากิน ยังต้องหายใจ ยังต้องอาบน้ำต้องกินข้าว ก็ทำไป ไม่ได้บอกไม่ให้ทำทุกอย่างเลย ไม่ให้ทำในเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็คืออย่าไปอยาก อย่าไปอยากมี อยากเป็น อยากได้ อะไรต่างหาก นี่คือความหมายของอุเบกขา ที่เทศน์มาตลอดนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้ใจอยู่ระหว่างความอยากกับความไม่อยาก อยากก็ไม่ใช่ ไม่อยากก็ไม่เชิง เฉยๆ


มันละเอียด ถ้าไม่สังเกตดูใจ จะไม่รู้ว่าทุกข์
ถาม : เวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย กับความทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเวลาภาวนานี่ มันปะปนกัน แยกกันไม่ค่อยออก ส่วนใหญ่จะเห็นส่วนของร่างกาย แต่ไม่ชัดเจนเรื่องจิตใจ

พระอาจารย์ : เพราะปัญญาเรายังไม่ทัน ยังไม่สามารถแยกแยะความทุกข์ของ ๒ ส่วนออกจากกันได้ เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที พอเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายปั๊บ ก็เกิดสมุทัยความอยาก ความกลัวความเจ็บปวดขึ้นมาทันที เพียงแต่หมอบอกจะฉีดยาเท่านั้นยังไม่ทันฉีดเลย ความกลัวเข็มฉีดยาก็มาก่อนแล้ว  แต่มันละเอียด ถ้าเราไม่คอยดูที่ใจด้วยปัญญา ไม่สังเกตดูใจเรา จะไม่รู้ว่าเราทุกข์แล้ว ไม่รู้ว่าเกิดสมุทัยแล้ว เกิดความกลัวขึ้นมาแล้ว เพราะส่วนใหญ่เราจะไม่ดูใจเรา จะดูสิ่งภายนอกเสียมากกว่า ดูอะไรแล้วดีใจเสียใจนี้เราไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกว่าเราดีใจแล้วเสียใจแล้ว เรากลัวแล้ว เรารีบไปทำทันทีเลย พอกลัวตัวแตนก็รีบไปหาวิธีกำจัดมันทันทีเลย พอเห็นปั๊บก็ไปเลย มันไปอย่างรวดเร็ว  ความจริงความทุกข์ทางใจมันเกิดขึ้นแล้ว ความกลัวนี้ก็เป็นความทุกข์ กลัวจะถูกมันต่อย แต่ถ้าเราภาวนามีสติดูใจอยู่เรื่อยๆ เราจะเห็นใจ เห็นอะไรต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ตามลำดับของกำลังของสติ ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องของปัญญาเรื่องของสมุทัยแล้ว พอเกิดอาการอยากขึ้นมาจะเห็นทันที จะรู้ว่าเกิดความอยากแล้ว จิตกระเพื่อมแล้ว ไม่เป็นปกติแล้ว.


ภวังค์
ถาม : จิตตกภวังค์กับจิตเป็นสมาธิ ต่างกันตรงที่มีผู้รู้หรือไม่มี

พระอาจารย์ : อันเดียวกัน สมาธิกับภวังค์

ถาม : บางทีนั่งแล้วมันเผลอๆ

พระอาจารย์ : นั่นมันภวังค์หลับ คนละภวังค์กัน ภวังค์หลับจะไม่รู้สึกตัวเคลิ้มๆ

ถาม : ภวังค์ของสมาธิต้องมีผู้รู้

พระอาจารย์ : มีสติ เหมือนกับเราคุยกันตอนนี้ เวลาจิตตกภวังค์ จิตจะวูบเข้าไปข้างใน มีสติสัมปชัญญะครบร้อย

ถาม : ถ้าเคลิ้มๆแล้ววูบไป เป็นภวังค์หลับ

พระอาจารย์ : นั่นนั่งหลับแล้ว


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 ธันวาคม 2566 14:38:56
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28516725740498_83801126_2689991061038828_4170.jpg)


ประสานส่วนเหมือน สงวนส่วนต่าง
ถาม : ดิฉันรักกับสามีปกติ แต่เมื่อทะเลาะกัน เราเหมือนไม่เข้าใจเหตุผลของกันและกัน ต้องใช้เวลาถกเถียงนานมาก บางครั้งดิฉันยอมปล่อยผ่าน เพราะไม่อยากมีปัญหา แต่กลัวอนาคตเราจะระเบิดออกมา เมื่อเก็บสะสมปัญหาในอนาคตมามากๆ เข้า จะแก้ไขอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : คือเราต้องยอมรับว่าคนเรานี้มีความเห็นที่ต่างกัน จะให้เห็นเหมือนกันทุกอย่างนี้ยาก งั้นเมื่อเราอยู่กับคนที่เขามีความเห็นต่างกันบ้าง เราก็พยายามประสานส่วนที่เหมือนกัน ส่วนที่เราเห็นเหมือนกัน ส่วนต่างก็สงวนไว้ อย่าเอามาพูดกันอย่าเอามาแสดงกัน ถ้าเรารู้ว่าเขากับเรามีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องนี้ก็อย่าไปพูดถึงมัน พูดแต่เรื่องที่เรามีความเห็นตรงกัน เพราะเป็นเรื่องธรรมดา เราจะเห็นเหมือนกันทุกอย่างไม่ได้หรอก บางทีเขาชอบสีแดง เราชอบสีเขียวอย่างนี้ เราจะไปให้เขามาชอบสีเขียวเหมือนเรา มันก็ไม่ได้ งั้นก็ปล่อยให้ต่างคนต่างชอบในสิ่งที่ตนเองชอบไปก็แล้วกัน ส่วนไหนที่ชอบเหมือนกันก็เอามาทำร่วมกัน ถ้าชอบไปดูหนังก็ชวนกันไปดูหนังได้ ถ้าคนหนึ่งชอบไปเต้นรำ อีกคนหนึ่งชอบไปดูหนังก็ไปไม่ได้ ก็อย่าไปฝืนกัน อย่าไปบังคับ


เรียนรู้จากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ
ถาม: กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ถ้าผมหยิบเอาเรื่องในอดีตมาพิจารณา ตรึกในธรรม จะถือว่าเป็นการอยู่กับปัจจุบันได้ไหมครับ เพื่อเกื้อกูลสมาธิอบรมปัญญา

พระอาจารย์: ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องในอดีตมันเป็นเรื่องอะไร พิจารณาให้มันเห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ได้ ถ้ามันเป็นอดีตแล้วถ้าเป็นไตรลักษณ์ก็ไม่รู้จะยกมันขึ้นมาทำไม มันผ่านไปแล้ว นอกจากว่าเอามาสอนเป็นบทเรียนว่าได้ทำอะไรผิดพลาดไป แล้วก็พยามที่จะไม่ทำมันอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่เราจะพิจารณาสิ่งที่เป็นปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่า คือทุกสิ่งทุกอย่างในอนาคตมันจะต้องมีการดับไป เป็นธรรมดา ต้องพยามพิจารณาล่วงหน้าไว้ก่อน พอเวลามันดับเราจะได้ไม่ทุกข์ แต่อดีตมันผ่านไปแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อเราแล้ว เราไม่ต้องไปเอาอดีตมาคิดให้เสียเวลา ยกเว้นว่าเป็นการมาเรียนรู้จากอดีต เพื่อมาเป็นบทเรียนสอนใจ


ไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่
ถาม : เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มั่นคงในพระรัตนตรัยนี้ ควรปฏิบัติตัวต่อเทวดาอย่างไร ที่บ้านมีศาลพระภูมิ เราไหว้ท่านได้หรือเปล่าคะ

พระอาจารย์ : ถ้าไหว้แบบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไหว้ได้ แต่ไม่ไหว้แบบเป็นสรณะเป็นที่พึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นเทพที่รู้ธรรมะ จะนับถือเป็นอาจารย์ก็ได้ ถ้าเป็นอริยเทพเป็นพระโสดาบัน อย่างพระพุทธมารดา เราก็นับถือเป็นพระอริยสงฆ์ได้  จะเป็นเทพเป็นพรหมหรือเป็นมนุษย์ ก็มีจิตใจที่มีความโลภโกรธหลงหรือมีธรรมะ ถ้ามีธรรมะก็บูชาได้ ถ้ามีอริยธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน
ถ้าไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ที่มีบุญมากกว่าเราจึงได้เป็นเทพ เราไม่มีบุญเท่าเขาจึงเป็นมนุษย์ ก็นับถือเขาในฐานะที่มีบุญมากกว่าเรา เช่นเรานับถือคนที่มีศีลมากกว่าเรา
เช่นพระภิกษุที่เรานับถือเพราะมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ไม่ได้นับถือท่านเพราะเป็นอริยสงฆ์ ถ้าจะไหว้พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ต้องไหว้ที่คุณธรรม


นั่งสมาธิแล้วเจ็บปวด
ถาม : เวลาที่นั่งแล้วเจ็บปวด ก็พยายามพิจารณา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ใจยังไม่ยอมรับ ใจยังดิ้น ดิ้นที่จะออก

พระอาจารย์ : เพราะสมุทัยกำลังทำงานอยู่ ยังอยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากให้ความเจ็บหายไป

ถาม : พอไม่หายไป ก็เลยกลับมาดูที่ร่างกาย ทำใจเบาๆสบายๆ หลังจากนั้นรู้สึกว่าขาที่ชาอยู่ค่อยๆ หายไป

พระอาจารย์ : พอเราปล่อยวางความอยาก ที่จะให้ความเจ็บหายไป ปล่อยวางความอยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมดเลย ความเจ็บของร่างกายจะไม่รุนแรง ที่รุนแรงที่ทนไม่ได้นี้ คือความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป พอระงับความอยากได้แล้ว ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหา


ไม่นอน
ถาม : ขอถามเรื่องการอดนอนครับ มีอุบายอะไรที่จะสู้กับความง่วง

พระอาจารย์ : ให้ถือ ๓ อิริยาบถ ยืนเดินนั่ง ไม่นอน ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะได้หลับไม่นาน เวลาง่วงมากๆก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากจะลุกขึ้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ  ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ขึ้นอยู่กับจริต บางคนชอบ ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส   พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว


เราฝึกได้
ถาม : กรรมที่เรามีอยู่นี่ ถ้ารู้ว่ามันไม่ดี เราพยายามฝึกฝนใหม่ อุปนิสัยใหม่จะติดไปไหมคะ

พระอาจารย์ : ติดไปด้วย เราฝึกได้เสมอ ถ้ารู้ว่าดื่มเหล้าไม่ดี ก็เลิกเสีย เมื่อก่อนเราไม่รู้ เพราะยังไม่ได้พบพระศาสนา อยู่ในสังคมที่ดื่มเหล้ากัน อย่างฝรั่งต้องดื่มไวน์กับอาหาร แต่ถ้าได้ศึกษาก็จะรู้ว่าไม่ดี ก็อย่าไปดื่ม  แต่ตอนที่เปลี่ยนนิสัยนี่มันจะทรมาน เคยทำอะไรแล้วไม่ได้ทำจะรู้สึกทุกข์ใจ อย่างกินก๋วยเตี๋ยวแล้วไม่ได้ใส่เครื่องปรุงก็กินไม่ลง มันไม่อร่อย


จิตเดิมจิตแท้คืออะไร
ถาม : ขอโอกาสครับ มีคนถามผมเรื่องจิตเดิมจิตแท้คืออะไร ผมบอกเขาว่าจิตเดิมแท้คือกิเลส ผมไม่รู้ว่าถูกหรือผิดครับพระอาจารย์ ขอคำแนะนำพระอาจารย์ด้วยครับ กราบนมัสการครับ

พระอาจารย์ : จิตเดิมก็คือจิตที่ไม่มีการปรุงแต่ง จิตที่มีการปรุงแต่งมันก็ปรุงแต่งไปเป็นอะไรต่างๆ นานา แต่พอหยุดคิดการปรุงแต่งก็เหลือสักแต่ว่ารู้ จิตเดิมก็คือจิตที่อยู่ในสมาธินี่เรียกว่าจิตเดิม เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ อุเบกขาเป็นจิตเดิม แต่พอออกจากสมาธิมามันก็มาปรุงแต่ง ปรุงว่าฉันเป็นนาย ก นาง ข มีธุรกิจมีเงินพันล้านหมื่นล้าน อันนี้ก็กลายเป็นจิตปรุงแต่งไป จิตปรุงแต่งก็เป็นจิตปลอมนี่ เราปรุงแต่งหลอกตัวเอง วันนี้เราเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เป็นอีกอย่าง เดี๋ยววันนี้เป็นโสด เดี๋ยวพรุ่งนี้มีแฟนก็เป็นคู่ขึ้นมาอีก จิตเราก็เปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งไปเรื่อยๆ แต่จิตเดิมนี้มันไม่เปลี่ยนนะถ้าทำใจให้สงบหยุดความคิดปรุงแต่ง มันก็จะเหลือแต่อุเบกขาเหลือแต่สักแต่ว่ารู้ นั่นแหละคือจิตเดิม


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 มกราคม 2567 16:01:58
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/1/1b/Por_suchat.jpg)

ความหมายของสีลัพพตปรามาส
ถาม : สีลัพพตปรามาส ความหมายคืออะไรเจ้าคะ เพราะอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ

พระอาจารย์ : หลวงตาท่านบอกว่าเป็นการลูบคลำศีล คือ ไม่มั่นใจว่าศีลนี้เป็นเหตุของการดับทุกข์ได้หรือเปล่า ถ้าเป็นพระโสดาบันนี้ ท่านรู้ว่าการทำบาปนี้เป็นเหตุที่ทำให้เราทุกข์กัน ถ้าเรารักษาศีลได้เราก็จะไม่ทุกข์ ดังนั้น พระโสดาบันนี่จะรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เวลาท่านทุกข์ท่านก็ไม่ไปแก้ทุกข์ด้วยการทำพิธีกรรมต่างๆ ไปหาหมอดู ไปทำอะไร วิธีเหล่านี้ไม่ได้เป็นการแก้ทุกข์ ทุกข์มันเกิดจากการที่เราไปทำบาป  ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์เราก็อย่าไปทำบาป แล้วเราจะไม่มีความทุกข์ใจ หรือว่าถ้าเราทุกข์เพราะความอยาก เราก็ต้องหยุดความอยาก พระโสดาบันจะรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นจาก ๒ อย่าง ๑. เกิดจากความอยาก ๒. เกิดจากการทำบาป ดังนั้น เวลาทุกข์นี่ เช่น ทุกข์เพราะว่าไม่สบายแล้วทุกข์ ก็ไปหาหมอดูว่าจะหายไม่หาย แล้วจะทำวิธีทำให้หายได้ไหม อันนี้เป็นวิธีงมงาย มันจะไม่ได้ทำให้หายทุกข์

วิธีจะทำให้หายทุกข์ก็คือ ต้องดูว่าร่างกายนี้มันต้องตายหรือเปล่า มันต้องเจ็บหรือเปล่า มันต้องแก่หรือเปล่า แล้วมีอะไรไปเปลี่ยนมันได้หรือเปล่า ไปห้ามมันได้หรือเปล่า ถ้าห้ามไม่ได้ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร บางวิธีสมัยโบราณเขาสะเดาะเคราะห์ด้วยการบูชายันต์นี่ ด้วยการฆ่าแพะฆ่าแกะฆ่าเป็ดฆ่าไก่ นี่เขาเรียกว่าสีลัพพต พวกที่ไปสะเดาะเคราะห์เพื่อกำจัดความไม่สบายใจของตนด้วยการไปทำพิธีกรรมต่างๆ นี่เรียกว่าสีลัพพตปรามาส

วิธีที่จะทำให้ใจเราหายทุกข์ก็คือ ต้องหยุดความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ต้องรู้ว่าความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายนี้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ แล้วการไปทำบาปก็ไม่เป็นวิธีดับทุกข์ แต่เป็นการกระทำให้เกิดทุกข์มากขึ้นไป นี่คือสีลัพพตปรามาส คนที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร ก็จะไปแก้ด้วยวิธีต่างๆ ไปหาหมอดู ไปดูฮวงจุ้ย ไปทำบูชาราหู ไปลอดใต้ถุนโบสถ์ ไปถ้าสมัยก่อนก็มีการบูชายันต์ ต้องฆ่าเป็ดฆ่าไก่ฆ่าวัวฆ่าควายบูชาเจ้าที่เจ้ากรรมนายเวรอะไรต่างๆ ก็ว่าไป


ให้เอาบุญวิ่งหนีบาป
ถาม  :  ถ้าในอดีตเราได้ทำบาปฆ่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นบาปเราจะทำอย่างไรคะในอดีตที่ทำผิดพลาดไป

พระอาจารย์  :  อ๋อ ในอดีตก็ต้องใช้มันไปละซิ ถ้าทำบาปโดยไม่รู้ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน งั้นมันห้ามไม่ได้ของเก่าที่ทำไปแล้วก็ต้องรับผลไป แต่เราสามารถรอให้มันลงอาญาได้ เลื่อนเวลาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากๆ ไว้ ถ้าเราทำบุญไว้มากกว่าบาป เวลาที่เราตายไป บาปมันยังแสดงผลไม่ได้เพราะบุญมันมีกำลังมากกว่า บุญก็จะดึงใจไปสวรรค์ก่อน พอบุญกับบาปมีกำลังเท่ากันเราก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เราก็มาทำบุญใหม่ พยายามให้มันมากกว่าบาปไว้เรื่อยๆ แล้วเวลาตายมันก็ยังไม่ไปอบาย แต่มันไม่หาย

แต่เวลาใดที่บุญน้อยกว่าบาปแล้วเวลาที่เราตายไป ตอนนั้นแหละบาปมันก็จะดึงเราไปอบาย เราไปลบล้างมันไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะรอลงอาญาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากกว่าบาปไว้อยู่เรื่อยๆ คือให้เอาบุญวิ่งหนีบาป ถ้าบุญวิ่งเร็วกว่าบาป บาปก็ตามไม่ทัน ถ้าบุญวิ่งช้ากว่าบาป บาปแซงหน้าเมื่อไหร่ บาปมันก็จะพาเราไปอบายเมื่อนั้น.


แผ่เมตตา
ถาม : มีงูเห่าตัวเล็กๆ เข้าบ้าน แล้วคุณพ่อฆ่าแต่ตัวเราเองไม่อยากให้พ่อฆ่า แต่ท่านไม่รับฟัง เราจะบาปด้วยไหมเจ้าคะ และสามารถแผ่เมตตาจะช่วยได้ไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อ๋อ เราไม่บาปหรอกถ้าเราไม่ได้เป็นคนทำและเป็นคนช่วยเขาทำ เขาทำของเขาเอง ส่วนการแผ่เมตตาก็ต้องไปช่วยเขาซิ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา คืออย่าไปทำร้ายเขา ถ้าเราแผ่เมตตาด้วยความคิดว่า เออ ขอให้เธอไปสุคติ นี่ไม่ได้แผ่แล้วละ เพราะมันตายแล้ว

งั้นถ้าเราจะแผ่เมตตาต้องแผ่ตอนที่มันยังไม่ตาย พอใครจะไปทำร้ายเขาก็ไปห้ามเขาไปหยุดเขา อันนี้เพื่อให้มันรอดพ้นจากภัยได้ ถึงจะเรียกว่าแผ่เมตตา แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ แล้วเราสวดบทแผ่เมตตามันไม่ได้แผ่หรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไร เราไม่ได้ช่วยเขา.



เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้เลย
ถาม : ท่านอาจารย์คะ สมมุติว่าเรารู้ว่าทางนี้เป็นทางที่ดีและเราเข้าใจ แต่ว่าคนใกล้ตัวเราเขาไม่ยอมรับ และเขาก็ไม่มาทางนี้กับเราเลย เรามีวิธีช่วยเขาอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : ก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปช่วยเขา พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ช่วยใคร  ตอนออกจากวัง ก็ออกมาเพียงพระองค์เดียว

ถาม : เราก็รู้เห็นแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้

พระอาจารย์ : ทำไม่ได้หรอก เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้เลย จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร เรายังว่ายน้ำไม่เป็นเลย เราจะช่วยคนอื่นให้ว่ายได้อย่างไร เราต้องหัดว่ายให้เป็นก่อน ว่ายเป็นแล้วค่อยสอนผู้อื่น พอว่ายเป็นแล้ว ผู้อื่นก็จะเกิดศรัทธาในตัวเรา  อย่างพระพุทธเจ้าพอตรัสรู้แล้วพระราชบิดาก็มีศรัทธา ใครๆก็มีศรัทธา นิมนต์มาสอนในวังเลย ไม่นานก็ได้บรรลุกัน.


นั่งสมาธิแล้วเห็นเป็นสีขาวนวล
ถาม : กราบนมัสการค่ะหลวงพ่อ หนูอยากถามว่าการนั่งสมาธิทำจิตว่าง จะเห็นเป็นสีขาวนวลๆ หมายถึงอะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : หมายถึงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องนั่งต่อไป อย่าไปสนใจกับสีขาวนวลๆ ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธต่อไป ถ้าดูลมก็ต้องดูลมต่อไป มันต้องเข้าไปจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ต้องว่างจริงๆ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ แล้วก็มีความสุขอย่างมาก เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ใจ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเราได้ผลจากการนั่งสมาธิ

ถ้านั่งไปแล้วยังรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับตอนที่ไม่ได้นั่งก็ยังถือว่ายังไม่ได้สมาธิ ถึงแม้จะรู้สึกว่างจะเบาบ้างแต่มันยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องนั่งต่อไปต้องดูลมต่อไป หรือต้องพุทโธต่อไปอย่าหยุด. 

ไม่มีสติ
ถาม : เวลานั่งสมาธิแล้วมักจะเห็นอะไรแปลกๆ แวบขึ้นมา นั่นคือเจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อ๋อ ไม่มีสติ พอเผลอสติปั๊บเดี๋ยวก็มีอะไรผุดขึ้นมา ก็แสดงว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า “เฮ้ย เผลอสติแล้วนะ” กลับมาหาพุทโธต่อ กลับมาดูลมต่อ อย่านั่งเฉยๆ อย่าขี้เกียจ พอขี้เกียจแล้วเดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมา 



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 มกราคม 2567 12:37:16

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/28981581247515_417399136_951534246354732_4674.jpg)


ชอบฝันชอบคิด
ถาม : เมื่อ ๒ – ๓ วันขับรถไปทำงาน มีคนบ้าหกคะเมนตีลังกามาตามถนน แต่แปลกพอมาเจอศาลพระภูมิเขาก็นั่งไหว้ได้ ตรงนั้นเป็นสัญญาความจำหรือเป็นอนุสติ

พระอาจารย์ : ถ้าเห็นอะไรจำได้ก็เป็นสัญญา พอมาเจอศาลพระภูมิก็จำได้ว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องแสดงความเคารพ เขามีสติอยู่ในระดับที่จะรับรู้สัญญานั้น ถ้าเขาไปเห็นในสิ่งที่เขาไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เขาก็ปล่อยไปตามความสบายใจ อยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป อยากจะกระโดดโลดเต้น อยากจะร้องห่มร้องไห้ ก็ทำไป สตินี้มีอยู่ด้วยกันทุกคน จะมีมากหรือมีน้อยเท่านั้นเอง  คนที่เสียสตินี่มีสติน้อยมาก ใจลอยไปตามความคิดปรุงต่างๆ ไม่ได้อยู่กับเหตุการณ์รอบด้าน ไม่มีสัญญาความจำที่จะแยกแยะว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นใครเป็นอะไร ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร สติเป็นตัวดึงใจไว้ ให้รู้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ถ้าไม่รู้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็แสดงว่าไม่มีสติ ใจเหม่อลอย เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ แต่ไปคิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เช่นคนที่เสียอกเสียใจสูญเสียคนรักไป มักจะเหม่อลอยเพราะจะคิดถึงอดีต คิดถึงความทรงจำในอดีตต่างๆ อยู่ตรงไหนก็ต้องคิดถึง ก็เหม่อลอยไป เพราะเป็นความสุขของเขา เขายึดติดอยู่กับความสุขนั้น แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว จึงต้องไปหาความสุขในอดีต ใจก็เลยเหม่อลอยไป คิดถึงในเรื่องอดีตที่ผ่านมา

        พอคิดแล้วก็จะเกิดความทุกข์ เพราะเป็นแค่ความฝัน อยากจะให้เป็นในปัจจุบัน มันก็ไม่เป็น ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกครั้งที่อยู่กับปัจจุบันก็จะรับไม่ได้ ก็พยายามหนีปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ ไปเปิดดูรูปเก่าๆ เสื้อผ้าเก่าๆ แสดงว่าไม่มีสติแล้ว ถ้ามีสติต้องตัดแล้ว อดีตผ่านไปแล้ว ตายไปแล้ว จบแล้ว เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้เกิดในอดีต ไม่ได้เกิดในอนาคต เกิดในปัจจุบัน จึงต้องตั้งจิตให้อยู่ในปัจจุบัน แล้วใจจะไม่วุ่นวาย จะไม่ทุกข์ จะไม่สับสน ถ้าไม่มีสติก็จะมีอุปาทานยึดติดกับอดีตกับอนาคต ถ้าปัจจุบันไม่ดี ก็จะฝันถึงอนาคตฝันถึงอดีต  ถ้าอยู่ในปัจจุบันก็จะปล่อยวางกิเลสได้ จะไม่พึ่งพาสิ่งต่างๆ แต่เราไม่อยู่ในปัจจุบันกัน ชอบฝันชอบคิดถึงความสุขที่จะได้รับหรือที่เคยมีอยู่ เราเลยมองข้ามความสุขที่แท้จริง ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ไป ก็เลยไม่เคยเจอของจริงเสียที เราอยู่ในโลกของความฝันอยู่ตลอดเวลา เพราะใจเราไม่นิ่ง เราจึงต้องดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ไม่มีอะไร ก็สักแต่ว่ารู้ตามความจริงเท่านั้นเอง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าใจเรานิ่ง เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างขยับอยู่ตลอดเวลา


ต้องถือศีล ๘ จะได้ปิดทีวีได้
ถาม : ขอเอาแค่ศีล ๕ ให้ครบถ้วนก่อน ค่อยเป็นค่อยไป

พระอาจารย์ : ทำไมมักน้อยเหลือเกิน ทีเงินทองไม่มักน้อยเลย

ถาม : น้องไปภาวนามา ๔ วัน ยังไม่ผ่าน ติดเวทนาค่ะ

พระอาจารย์ : ไม่เป็นไร พยายามไปเรื่อยๆ เป็นนิสัยของเรา พอเจอความเจ็บจะหนีทันที เราต้องฝืนบังคับมัน ทำไปเรื่อยๆ จะได้ทีละนิดทีละหน่อย ขยับไปเรื่อยๆ อีกหน่อยก็นั่งได้นาน จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็จะรู้สึกเฉยๆ ขอให้ทำไปเถิด อย่าท้อแท้ ใหม่ๆก็เป็นเหมือนมวยอ่อนหัด ขึ้นเวทีชกได้หมัด ๒ หมัดก็โดนนับ ๘ ต้องเอาประสบการณ์มาเป็นครูสอนเรา แล้วก็ทำต่อไป ทำได้ เพราะทุกคนเวลาเริ่มต้น ก็เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น ล้มลุกคลุกคลานกันไปก่อน.


ต้องปฏิบัติ
ถาม : แต่ละขั้นจะมีขบวนการของมันใช่ไหม

พระอาจารย์ : ในแต่ละขั้นจะมีปัญหาที่ต้องแก้ มีโจทย์ เหมือนเวลาเรียนหนังสือ เวลาสอบแต่ละชั้นจะมีข้อสอบที่ต่างกันไป ปี ๑ มีข้อสอบอย่างหนึ่ง ปี ๒ มีข้อสอบอย่างหนึ่ง ปี ๓  ปี ๔ ก็มีข้อสอบที่ต่างกันไป พอสอบปี ๑ ได้แล้วก็ไม่ต้องกลับไปสอบใหม่ เพราะเป็นข้อสอบเดิม ต้องไปสอบปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ตามลำดับต่อไป วัตถุของความอยากจะเป็นข้อสอบ ตอนต้นจะติดอยู่ภายนอกก่อน ติดอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส ต้องตัดให้ได้ก่อน แล้วก็มาตัดที่ร่างกาย ตัดที่ขันธ์ ๕ ตัดรูปขันธ์แล้ว ก็ตัดนามขันธ์ แล้วก็ตัดความสุขที่ละเอียดที่มีอยู่ในจิต ข้อสอบเป็นขั้นๆ ต้องภาวนาต้องปฏิบัติแล้วถึงจะเห็นจริง ที่ฟังอยู่นี้เป็นเพียงสัญญา ฟังแล้วเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ถามใหม่ ถ้าปฏิบัติจนเห็นแล้วจะไม่ถาม.


คนตายต้องกินบุญ อาหารใจ
ถาม : ตามประเพณีข้าวประดับดินที่ทางภาคอีสานคือเอาอาหารหลายๆอย่าง วางไว้ให้ญาติพี่น้องตอนกลางคืน คนตายจะได้รับหรือไม่เจ้าคะ

พระอาจารย์ : อ๋อ ไม่ได้รับหรอก คนตายกินอาหารไม่ได้ ใช่ไหม คนตายต้องกินบุญ อาหารใจ อาหารของดวงวิญญาณก็คือบุญ บุญจะเกิดก็ต่อเมื่อเราเอาของเราไปทำบุญทำทาน เอาไปให้ผู้อื่นที่เขาเดือดร้อนขาดแคลน ไม่ต้องเป็นพระก็ได้ ทำกับใครก็ได้ ทำแล้วเราจะเกิดบุญขึ้นมาในใจเรา คือความอิ่มใจสุขใจที่เราสามารถแบ่งให้กับจิตใจหรือดวงวิญญาณที่หิวโหยได้ พอดวงวิญญาณที่หิวโหยได้รับบุญคืออิ่มใจ เขาก็จะเกิดความอิ่มใจขึ้นมา เป็นเหมือนอาหารของใจ


ให้เอาบุญวิ่งหนีบาป
ถาม : ถ้าในอดีตเราได้ทำบาปฆ่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นบาปเราจะทำอย่างไรคะในอดีตที่ทำผิดพลาดไป

พระอาจารย์ : อ๋อ ในอดีตก็ต้องใช้มันไปละซิ ถ้าทำบาปโดยไม่รู้ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน งั้นมันห้ามไม่ได้ของเก่าที่ทำไปแล้วก็ต้องรับผลไป แต่เราสามารถรอให้มันลงอาญาได้ เลื่อนเวลาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากๆ ไว้ ถ้าเราทำบุญไว้มากกว่าบาป เวลาที่เราตายไป บาปมันยังแสดงผลไม่ได้เพราะบุญมันมีกำลังมากกว่า บุญก็จะดึงใจไปสวรรค์ก่อน พอบุญกับบาปมีกำลังเท่ากันเราก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เราก็มาทำบุญใหม่ พยายามให้มันมากกว่าบาปไว้เรื่อยๆ แล้วเวลาตายมันก็ยังไม่ไปอบาย แต่มันไม่หาย แต่เวลาใดที่บุญน้อยกว่าบาปแล้วเวลาที่เราตายไป ตอนนั้นแหละบาปมันก็จะดึงเราไปอบาย เราไปลบล้างมันไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะรอลงอาญาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากกว่าบาปไว้อยู่เรื่อยๆ คือให้เอาบุญวิ่งหนีบาป ถ้าบุญวิ่งเร็วกว่าบาป บาปก็ตามไม่ทัน ถ้าบุญวิ่งช้ากว่าบาป บาปแซงหน้าเมื่อไหร่ บาปมันก็จะพาเราไปอบายเมื่อนั้น


วิธีที่ได้ผลเร็ว
ถาม : ถ้าบริกรรมพุทโธแล้วง่วงซึม ควรจะทำอย่างไร

พระอาจารย์ : ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้านั่งก็ควรลุกขึ้นมาเดินแทน ถ้าเดินไปข้างหน้ายังง่วงอยู่ก็ให้เดินถอยหลัง ในสมัยพุทธกาลเวลาง่วงพระจะเดินถอยหลัง เดินลงไปในน้ำ ถ้ายังไม่หาย ก็เอาหญ้าจุ่มน้ำมาโพกไว้บนศีรษะ การอดอาหารก็ช่วยแก้ความง่วงได้ นั่งอยู่บนปากเหว นั่งตามที่ที่มีเสือผ่าน มีงูเลื้อยผ่านไปผ่านมา นั่งในป่าช้าก็แก้ได้เหมือนกัน วิธีแก้ความง่วงมีหลายวิธีด้วยกัน ถ้ามีความกล้าหาญก็จะใช้วิธีที่ได้ผลเร็ว ถ้าไม่กล้าหาญก็จะใช้วิธีที่ได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลย จะปฏิบัติแบบสบายๆไม่ต้องลำบากไม่ต้องทุกข์นี่ไม่มีทาง

เหมือนคนสมัยนี้คิดกันว่าปฏิบัติแบบสบายๆ ไม่ต้องทรมานตนให้เสียเวลาก็บรรลุได้ บรรลุแบบกิเลสหัวเราะอยู่ในใจ บรรลุด้วยสัญญา ว่าเราถึงขั้นนั้นแล้ว ถึงขั้นนี้แล้ว แต่ยังไม่เคยเข้าห้องสอบดูเลย เหมือนนักมวยแค่ชกกับกระสอบทราย ก็ว่าเป็นแชมป์แล้ว ได้เหรียญทองแล้ว แต่ยังไม่เคยขึ้นเวทีเลย ปฏิบัติแบบสบายๆจะเป็นอย่างนั้น เป็นสัญญา ไม่ได้เป็นแบบความจริง.


ทุกข์เกิดจากความอยาก
ถาม : ได้ฟังเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่าทุกข์ มีทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นในจิต ควรจะพิจารณาต่อใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : พิจารณาให้เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก เกิดจากสมุทัย ถ้าละความอยากได้ ทุกข์ก็จะดับ จะดับความทุกข์ได้ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ ต้องใช้ไตรลักษณ์พิจารณาละความอยาก พอตัดความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไป

ถาม : มันหายเป็นช่วงๆ มันเกิดดับๆ เป็นช่วงๆ

พระอาจารย์ : เพราะยังตัดไม่ขาด

ถาม : บางช่วงเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

พระอาจารย์ : ต้องไปพิสูจน์ดูว่าเห็นจริงหรือไม่ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย เราทุกข์หรือเปล่า การพิจารณานี้เป็นเหมือนกับการวิเคราะห์ ยังไม่ได้เจอของจริง ต้องไปเจอของจริงดู ก็จะรู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่ พิจารณาร่างกายให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เพื่อจะได้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นร่างกายของคนอื่น ร่างกายคนอื่นเวลาหมอบอกว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคมะเร็ง จะตายใน ๖ เดือน เราก็ไม่ได้ไปทุกข์วุ่นวายใจด้วย ถ้าหมอบอกว่าร่างกายของเราจะตายภายใน ๖ เดือน เราจะทุกข์วุ่นวายใจหรือไม่ ถ้าไม่ก็แสดงว่าเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้ายังทุกข์วุ่นวายใจอยู่ ก็ยังไม่ผ่าน ตอนนี้เป็นเพียงการทำการบ้าน ต้องไปเข้าห้องสอบ.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 14:12:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/15758121634522_417406999_971495524358604_4775.jpg)


พิจารณา
ถาม : กลางคืนหลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็นั่งภาวนาพุทโธๆ พอตื่นขึ้นมาตอนตีสองตีสาม จะพิจารณาได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พิจารณาทั้งตัวเราเองและคนอื่น ไม่ใช่ร่างกายของเราเท่านั้น คนที่เรารักที่เรารู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน คนที่เราไม่รักเราไม่รู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ควรเจริญสติและพิจารณาทางปัญญาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เจริญสติ ก็ควรพิจารณาทางปัญญา เห็นอะไรก็คิดว่าไม่เที่ยง อย่าไปอยากได้ ถ้าอยากได้ก็จะทุกข์ ก็จะตัดกิเลสได้.


ควรทำอย่างไร
ถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์ ปฏิบัติต่อเนื่องมา ๑๐ ปี ไม่มีความคืบหน้า ลองมาหลายวิธีจนงงไปหมด วิธีไหนก็ไม่ได้ผล ควรทำอย่างไรต่อไปครับ

พระอาจารย์ : ก็ต้องใช้สติแหละ วิธีไหนก็ต้องเป็นวิธีสติทั้งนั้น วิธีสติก็มี ๔๐ วิธี ลองไปลองให้หมดดูซิ แต่ส่วนใหญ่สำหรับผู้เริ่มต้นนี้ ท่านก็สอนแค่ ๑๐ วิธี อนุสสติ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อานาปานสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ นี่เป็นวิธีเจริญสติ เราก็เลือกเอา จะเอาอันไหน พุทโธก็ได้ ธ้มโมก็ได้ สังโฆก็ได้ หรือจะสวดอิติปิโสก็ได้ แล้วแต่ว่าเราถนัดเราชอบอย่างไหน ปัญหาอาจจะไม่ใช่วิธีมั้ง ปัญหาอาจจะอยู่ที่ว่าเราทำแบบนกกระจอกกินน้ำหรือเปล่า ทำแบบทำปุ๊บ ซักวินาทีสองวินาทีหยุดทำแล้ว แล้วก็มาบอกว่าปฏิบัติ ๑๐ ปีไม่ได้ผล
ปฏิบัติอย่างนี้ ๑,๐๐๐ ปี ก็ไม่ได้ผล ถ้าปฏิบัติแบบนกกระจอกกินน้ำ มันต้องปฏิบัติแบบเป็นเวลายาวๆ มากๆ เดินจงกรมที ๒-๓ ชั่วโมงอย่างนี้ พุทโธ นั่งนานๆ อะไรอย่างนี้ หรือเวลาไม่ได้นั่งไม่ได้เดินก็ต้องมีสติอยู่กับการกระทำของเราเรียกว่า “กายคตาสติ” หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีพุทโธคอยกำกับใจ อาบน้ำก็พุทโธ ล้างหน้าก็พุทโธ แปรงฟันก็พุทโธ ถ้าทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีผลขึ้นมา มาเตะเราได้ เพราะใช้มาแล้วมันได้ผล ขอให้มันทำแบบจริงๆ จังๆ อย่าทำแบบลูบหน้าปะจมูก ทำแบบพอหอมปากหอมคอ ทำสักแป๊บหนึ่ง ไม่ได้ผล เลิกแล้ว เปลี่ยนวิธีอีกแล้ว วิธีนี้ก็ไม่ถูก วิธีนั้นก็ไม่ถูก มันไม่ใช่ที่วิธีหรอกที่ไม่ถูก มันอยู่ที่การกระทำของเรามันไม่ถูก ทำน้อยไป ทำไม่มากพอ มันก็เลยไม่เกิดผลขึ้นมา.


การทำตาชั่งให้อยู่ตรงศูนย์
ถาม : การทำสมาธิสลับกับการพิจารณา ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาธิที่จิตรวมเป็นหนึ่งก่อนใช่หรือไม่ คือพิจารณาสลับไปสลับมาได้เลย ถึงแม้จิตยังไม่รวมก็ตาม

พระอาจารย์ : ถ้าไม่รวมจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร การรวมของจิตนี้ เป็นเหมือนการทำตาชั่งให้อยู่ตรงศูนย์ ตรงอุเบกขา เวลาพิจารณาจะเที่ยงตรงเหมือนกับตาชั่ง ถ้าเอียงไปทางบวกหรือทางลบ เวลาเอาของไปชั่งน้ำหนัก จะไม่ได้น้ำหนักที่แท้จริง ถ้าของหนัก ๑๐ กิโลฯ แต่ตาชั่งเอียงไปทางบวก ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะหนัก ๑๑ กิโลฯ จะไม่ได้ ๑๐ กิโลฯ ถ้าลบ ๑ กิโลฯ เวลาชั่งจะได้ ๙ กิโลฯ ใจก็เหมือนกัน ถ้าไม่รวมเป็นอุเบกขา จะมีอคติทั้ง ๔ คือรักชังกลัวหลงอยู่ เวลาพิจารณาจะถูกอคติทั้ง ๔ นี้หลอกล่อ ทำให้ไม่สามารถตัดได้.


ผลพลอยได้
ถาม : ถ้ารักษาใจ ปล่อยวางร่างกาย อายุจะยืนขึ้นหรือไม่

พระอาจารย์ : ผลพลอยได้มักจะเป็นอย่างนั้น คนที่รักษาใจได้ดีอายุจะยืน หลวงตาตอนนี้ก็ ๙๖ ปีแล้ว เพราะใจของท่านไม่ไปกระทบกระเทือนกับการทำงานของร่างกาย


ต้องมีสติ
ถาม : การฝึกสตินี้ ควรฝึกให้ทำอะไรช้าๆหรือเปล่าคะ

พระอาจารย์ : ทำภารกิจตามปกติ เดินไปไหนมาไหนก็เดินตามปกติ สติไวกว่าร่างกายหลาย ๑๐๐ เท่า ให้มีสติรู้อยู่กับร่างกาย ให้รู้ว่ากำลังอยู่กับร่างกายหรือเปล่า หรือกำลังคิดเรื่องอื่นแล้ว ถ้าคิดเรื่องอื่นก็ดึงกลับมาที่ร่างกาย ดึงกลับมาเรื่อยๆ ส่วนการทำงานของร่างกายก็ทำอย่างปกติ ไม่ต้องช้า ไม่เหมือนกับที่สอนกัน ให้ยกหนอ ก้าวหนอ วางหนอ ไม่จำเป็นต้องทำช้าขนาดนั้น

ถาม : เวลาทำงานมีความรู้สึกว่า ทางโลกกับทางธรรมจะสวนกัน ทางธรรมให้ปล่อยวาง จะเสร็จหรือไม่เสร็จไม่เป็นไร แต่ทางโลกให้มีความรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จ

พระอาจารย์ : ทำด้วยสติ จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ผิดพลาด ที่ผิดพลาดเพราะไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ มัวไปกังวลกับเป้าหมาย ก็เลยไม่ได้อยู่กับงาน ทำแบบผิดๆถูกๆ ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ขัดกันหรอกทางธรรมกับทางโลก ต้องมีสติทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม ถึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าไม่มีสติก็จะผิดพลาด จะพลั้งเผลอ ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าทำถูกหรือไม่ ทางธรรมกับทางโลกถ้าเกี่ยวกับสตินี้ ไม่ขัดกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติมีความจำเป็นในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกหรือการงานทางธรรม ต้องมีสติเสมอ ถึงจะทำได้อย่างไม่ผิดพลาด ถ้าไม่มีสติก็ทำไม่ได้ เวลาเมาเหล้าแล้วเย็บผ้าได้ไหม เย็บไม่ได้หรอก ต้องมีสติ.


คุมกิเลส สู้กิเลส
ถาม : เวลานั่งสมาธิจะติดฟังเทศน์ค่ะ นั่งเองจะไม่สงบ จะฟุ้งซ่านค่ะ

พระอาจารย์ : นั่งสมาธิแล้วฟังเทศน์ไปก็ทำได้ เป็นเหมือนการทำการบ้าน สร้างพลังจิตขึ้นมาก่อน สร้างสมาธิขึ้นมาก่อน พอมีสมาธิแล้วค่อยนั่งต่อสู้กับกิเลสตัณหา ตอนนั่งฟังเทศน์เป็นการทำการบ้าน ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ พอได้สมาธิแล้ว ก็เข้าห้องสอบสู้กับความอยากที่จะไปตรงนั้นมาตรงนี้ วันนี้ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่เฉยๆ อยู่จุดเดียว ดูว่าจะอยู่ได้ไหม ถ้าอยู่ได้ก็แสดงว่ากิเลสตัณหาไม่ค่อยแรงไม่ค่อยมาก พอควบคุมกิเลสได้ ถ้านั่งไม่ได้ก็แสดงว่ายังสู้กิเลสไม่ได้ เพียงแต่คิดก็กลัวกิเลสแล้วใช่ไหม

ถาม : เวลานั่งเฉยๆนี่ ถ้าจิตจะคิดโน่นคิดนี่ก็ปล่อยให้คิด

พระอาจารย์ : ถ้าปล่อยให้คิดก็ยิ่งฟุ้งซ่านใหญ่เลย

ถาม : ต้องไม่คิด

พระอาจารย์ : ถ้าไม่คิดก็จะสบายเหมือนเปิดแอร์ ถ้าร้อนเราก็เปิดแอร์ เราก็พุทโธๆไป เหมือนกับเปิดแอร์ จะช่วยสกัดความคิดที่อยากจะลุกไปไหนมาไหน ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องใช้ความอดทน จะยากมาก ถ้าพุทโธได้จะง่าย ความจริงไม่ได้พุทโธไปทั้ง ๖ ชั่วโมงหรอก พุทโธไปสักระยะหนึ่ง พอรู้สึกสบายก็หยุดได้ พอกลับมาคิดใหม่ อยากจะลุกขึ้น ก็พุทโธใหม่ ก่อนจะเข้าห้องสอบควรจะมีสติสมาธิและปัญญาบ้าง ถ้าไม่มีก็จะไม่อยากเข้าห้องสอบ.


อย่าให้เลยเถิด
ถาม : ช่วงนี้ปฏิบัติไม่ดี หมกมุ่นกับเรื่องงานมากไป ไม่อยู่กับพุทโธ ชอบอยู่กับอนาคต พรุ่งนี้จะทำอะไร ไม่อยู่ในปัจจุบัน

ตอบ : ถ้าจำเป็นต้องคิดก็คิดไป แต่ควรมีขอบเขต มีเวลา ไม่ควรปล่อยให้คิดเลยเถิด ถ้าหมดความจำเป็นแล้ว ก็ควรกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน มาสร้างความสงบใจให้ได้ ถ้าไม่กลับมาสร้างความสงบ ทำให้จิตรวมลงได้ ก็จะวนอยู่ในอ่างอย่างนี้ จะไปไม่ถึงไหน พอร่างกายแก่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะปฏิบัติไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องหมกมุ่นกับการงาน ก็ให้เป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่าให้เลยเถิด พอเสร็จแล้ว ก็ต้องดึงจิตกลับมาภาวนาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่คืบหน้า จะไม่สำเร็จลุล่วงเพราะเถลไถล ไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติเท่ากับงานอื่น ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำไปก่อน แต่ไม่มีอะไรที่จำเป็นตลอดเวลา ถ้าต้องทำงานเพื่อเก็บเงินเก็บทองไว้ใช้กับการปฏิบัติ ก็ต้องทำไปก่อน พอบรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ควรจะหยุดหรือทำให้น้อยลงไป มาทำงานทางจิตให้มากขึ้น.


อยู่ที่สติตัวเดียว
ถาม : ฟังดูง้ายง่าย แต่ทำย๊ากยาก

พระอาจารย์ : อยู่ที่สติตัวเดียว สติอยู่กับงานที่ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ไปคิดเรื่องอื่น.


ไม่มีภาชนะรองรับธรรม
ถาม : อยากจะเอาลูกมากราบท่าน แต่ไม่รู้จะเอามายังไง

พระอาจารย์ : ปล่อยเขาไปเถิด เป็นวิบากของเขา ไม่มีภาชนะที่จะรองรับธรรมะ ชอบกันคนละอย่าง ได้มาเจอกัน มาอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน แต่ความรู้สึกนึกคิดต่างกัน เหมือนฟ้ากับดิน ช่วยไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น เข้าใจว่าแม่ของพระสารีบุตรหรือแม่ของพระโมคคัลลาน์ ก็ไม่ได้มีศรัทธา   ช่วยไม่ได้ เป็นเรื่องของการสะสมบุญบารมี สะสมมามากน้อยเพียงไรก็จะส่งผลให้เป็นไปดังที่เห็นกัน ตัดใจดีกว่า จะได้ไม่ทุกข์ใจ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย ดูแลกันไป ถ้าจะดิ้นรนเข้ากองไฟก็ห้ามเขาไม่ได้ ไม่ได้เฝ้าตลอด ๒๔ ชั่วโมง ถ้าใจเขารักอะไรก็ต้องไปหาสิ่งนั้น.


ทำไมจิตที่บรรลุธรรมแล้วไม่กลับมาเป็นปุถุชน
คำถาม : ทำไมจิตที่บรรลุธรรมแล้วไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้ครับ การปิดอบายภูมิหมายถึงอย่างไรครับ และสามารถทดสอบได้ไหมครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ ไม่ใช่ไม่สามารถหรอก ไม่อยากมากกว่า เหมือนคนที่ออกจากกองไฟแล้วไม่อยากจะกลับเข้าไปในกองไฟใหม่ เหมือนคนที่เข้าไปอยู่ห้องแอร์แล้ว ไม่อยากจะออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว เพราะคนที่บรรลุธรรมนี้จะเข้าสู่สภาพที่สุขที่เย็น จิตที่มีความสุขมีความเย็น จะไม่อยากกลับไปสู่สภาพของจิตที่ร้อนที่วุ่นวาย


วุ่นวายกับเรื่องภายนอก
ถาม : ช่วงนี้ภาวนาไม่ดี

พระอาจารย์ : เพราะไปวุ่นวายกับเรื่องภายนอก ต้องพิจารณาว่ามันเป็นธรรมดา อย่าไปกังวลกับมันมากเกินไป เราแก้มันไม่ได้ แก้ส่วนของเราดีกว่า ทำใจเราไม่ให้กระเพื่อม พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขึ้นก็พอใจ ลงก็พอใจ อย่าเอาแต่ขึ้นอย่างเดียว พอลงก็จะไม่พอใจ.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 เมษายน 2567 14:15:19
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/85159742666615_418834742_991123599062463_9201.jpg)


ปัญญาไม่เต็มร้อย
ถาม : เวลาฝึกก็คิดว่าไม่เสียใจ พอเวลาเจอของจริง ลึกๆแล้วยังเสียใจอยู่

พระอาจารย์ : ดีกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ถึงกับร้องไห้

ถาม : ยังพอทำใจได้แต่ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

พระอาจารย์ :  เพราะปัญญาไม่เต็มร้อย

ถาม : เวลาทำบุญมากๆบ่อยๆนี่ เวลาของหายแล้วจะไม่ค่อยเสียดาย

พระอาจารย์ :  ถ้าจะไม่ให้เสียดายเลย ก็ต้องปล่อยร่างกายให้ได้ ถ้าปล่อยได้แล้ว เวลาของหายไปจะรู้สึกเฉยๆ เพราะพวกเรารักร่างกายมากที่สุด ถ้าปล่อยร่างกายได้แล้วของอย่างอื่นจะไม่เป็นปัญหาเลย อย่างพระภิกษุนี่ก็ปล่อยข้าวของหมดแล้ว ร่างกายก็ไปปล่อยไว้ในป่า ยอมตาย กลัวสิ่งใดก็ออกไปหาสิ่งนั้น กลัวความมืดก็ออกไปหาความมืด กลัวงูก็เดินเข้าในป่า ยอมให้งูกัด ตอนนั้นจิตจะรู้สึกกลัวมาก  ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะคิดว่าอย่างมากก็แค่ตาย อย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี   พอยอมรับความจริงนี้ ก็จะหายกลัว จิตจะดิ่งลงสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกาย จะไม่เสียดายร่างกาย ข้าวของยิ่งไม่เสียดาย เวทนาก็ต้องปล่อยให้เจ็บไป ปล่อยให้หายไปเอง ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร เพราะใจวางเฉยได้ นี่คือการปล่อยรูปขันธ์นามขันธ์ แล้วก็เข้าไปปล่อยในจิต ที่ยังมีกิเลสหลบซ่อนอยู่ ต้องปล่อยเป็นขั้นๆ  ปล่อยกาย ปล่อยเวทนา ปล่อยจิต ตามลำดับ.


สติคุมใจ
ถาม  : ลูกเกิดเวทนา เป็นโรคไขข้อ  นั่งได้ระยะหนึ่งจิตจะบอกให้หยุดนั่ง เป็นเพราะสติไม่แก่กล้า หรืออินทรีย์ ๕ ยังไม่พร้อม

พระอาจารย์  :  สติก็เป็นหนึ่งในอินทรีย์ ๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เวลานั่งถ้ามีสติอยู่กับคำบริกรรม  จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่  ความเจ็บที่เกิดจากร่างกายจะไม่รุนแรง เท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ  ถ้าใจไม่มีโอกาสปรุงแต่ง ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด สติจะคุมใจให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็จะนั่งได้นาน จะสงบ จะไม่ค่อยเจ็บ.


เห็นอยู่ตลอดเวลา
ถาม : ถ้าเห็นโครงกระดูก จิตผู้รู้จะบอกว่ามันเป็นธาตุดิน จะต้องทำอย่างไรต่อเจ้าคะ

พระอาจารย์ : พิจารณาต่อไปจนกว่าจะเห็นอยู่ตลอดเวลา ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ไม่ได้เป็นตัวเราของเรา  แล้วก็ปล่อยวางความยึดติดในร่างกายได้ ถ้าอยากจะรู้ว่าเราปล่อยวางจริงหรือไม่ ก็ต้องเอาร่างกายนี้ไปอยู่ในป่าช้า ในป่าเปลี่ยว ไปพิสูจน์ดูว่ายังมีความยึดติดในร่างกายหรือไม่ การเห็นโครงกระดูกนี้เป็นปริยัติ จะรู้จริงหรือไม่ อยู่ตอนที่มันจะตาย ถ้าเฉยก็แสดงว่าไม่ยึดติด ถ้าไม่เฉยยังกลัว ยังทุกข์ ก็ยังไม่รู้จริง ต้องไปทดสอบดู อย่างหลวงปู่ท่านหนึ่งเดินธุดงค์ตอนกลางคืน พอไปเจอเสือเข้า จิตก็รวมลงเข้าสู่สมาธิ ปล่อยวางร่างกาย เราจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้ามีปัญญาเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป ใจเป็นอุเบกขา แยกออกจากร่างกาย ต่อไปจะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าเวลามีภัยใจมีที่หลบมีที่พึ่ง มีอุเบกขาธรรมเป็นที่พึ่งของใจ ถ้าเห็นโครงกระดูก เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟนี้ยังไม่พอ ต้องไปเจอภัยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย แล้วดูใจว่าตื่นเต้นหรือสงบ ถ้ามีปัญญาก็จะคุมใจให้สงบ ให้ปล่อยวางร่างกายได้ ถ้าวิ่งหนีภัยแสดงว่ายังยึดติดอยู่กับร่างกาย.


ต้องทิ้งทุกอย่าง
ถาม : เวลานั่งสมาธิก็นึกถึงรูปภาพของคนตาย แต่ไม่สามารถเห็นว่าตัวเราก็จะเป็นแบบนี้เจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : เพราะมองไม่นานพอ แล้วก็มีงานอย่างอื่นให้ไปมอง ก็เลยมองไม่เห็น ต้องออกบวช ออกจากรูปเสียงกลิ่นรส ออกจากเรื่องของคนเป็น ไปอยู่ที่วิเวก จะได้คิดเรื่องตายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีเรื่องอื่นมากลบ ถ้าอยากจะบรรลุเร็วๆ ก็ต้องทิ้งทุกอย่างไป ไม่เช่นนั้นจะไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเวลาพิจารณาความตายอย่างต่อเนื่อง.


มีธรรมะเป็นเพื่อน
ถาม : ท่านอาจารย์ใช้อะไรควบคุมจิตใจไม่ให้อยากไปเที่ยว

พระอาจารย์ : ใช้การภาวนา ใช้สติเฝ้าดูร่างกายตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เฝ้าดูร่างกายว่ากำลังทำอะไร กำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง ถ้านั่งเฉยๆก็ดูลมหายใจเข้าออก จนจิตรวมเข้าสู่ความสงบ เบื้องต้นต้องเจริญสติก่อนเพื่อให้ได้สมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ออกทางปัญญา พิจารณาร่างกาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอสุภะ พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พิจารณาทุกขเวทนา พิจารณาทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยาก อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าหยุดความอยากให้ความเจ็บหายไปก็จะไม่ทุกข์ใจ ใจก็จะเฉยกับความเจ็บของร่างกาย อยู่กับมันได้ มันเจ็บเราก็ดูมันเจ็บไป แต่ใจไม่ได้เจ็บกับร่างกาย เพราะรักษาใจด้วยปัญญา ไม่ให้เกิดความอยาก ไม่ให้เกิดสมุทัย คือวิภวตัณหา ความอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป

ถาม : ท่านอาจารย์มีเพื่อนเยอะไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่มี ตัดหมด มีธรรมะเท่านั้นที่เป็นเพื่อน

ถาม : ไม่คบเพื่อนเลย

พระอาจารย์ : คบไปทำไม คบแล้วได้อะไร ได้แต่ชวนไปเที่ยว ชวนไปกิน ชวนไปดื่ม


ดับกามารมณ์
ถาม : วันก่อนฟังเทศน์หลวงปู่สิม แล้วทำงานไปด้วย เห็นร่างกายกลายเป็นกระดูกไปหมด เห็นทั้งวันเลย จะต้องรักษาอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : เอามาใช้เจริญปัญญา มองใครก็มองให้เห็นกระดูก โดยเฉพาะเวลาเกิดกามารมณ์ อยากจะร่วมหลับนอนกับใคร ก็มองให้เห็นกระดูกของเขา ก็จะดับกามารมณ์ได้ ปัญญามีไว้เพื่อดับกามารมณ์ ดับความกลัวความตาย ถ้ากลัวความตาย ก็ให้พิจารณาว่าต่อไปร่างกายก็จะกลายเป็นเศษกระดูกไป จะหายกลัว ตอนที่เห็นกระดูกยังไม่เป็นประโยชน์ เป็นเหมือนได้เครื่องมือได้อาวุธมา ต้องเอาไปใช้ฆ่าศัตรู ศัตรูก็คือกิเลส เช่นความกลัวตาย กามารมณ์ ต้องเอาภาพที่เห็นมาเป็นอาวุธ มาทำลายกิเลส พยายามรักษาอาวุธนี้ไว้ ด้วยการพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องใช้เมื่อไหร่ เวลาไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว ก็จะได้ปลงได้ เพราะในที่สุดร่างกายก็ต้องกลายเป็นเศษกระดูกไป ถ้าไปพบเห็นคนที่เราชอบเรารัก ก็ให้คิดว่าเป็นแค่โครงกระดูก ก็จะดับกามารมณ์ได้.


คำถาม
ถาม : จริงๆ แล้วควรเจริญทั้งสมาธิทั้งปัญญาควบคู่กันไปใช่ไหมค่ะ

พระอาจารย์ : ทำสลับกันไป ถ้าสมาธิยังไม่เต็มที่ ปัญญาจะทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ สมาธิจะเต็มที่ได้จิตต้องรวมลง เหลือเพียงแต่สักแต่ว่ารู้ ปล่อยวางร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ถึงแม้จะมาสัมผัสแต่จิตจะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย จะอยู่นิ่งๆตามลำพัง ถึงจะมีพลังเบรกกิเลส เพราะการทำสมาธิเป็นการหยุดจิต  เมื่อจิตหยุดกิเลสก็ทำงานไม่ได้ แต่เราไม่เคยหยุดจิตมาก่อน จึงไม่รู้จะหยุดอย่างไร เหมือนขับรถแต่ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน รู้แต่คันเร่ง พอถึงเวลาจะเบรกก็เบรกไม่ได้ ที่เรามานั่งสมาธิกัน ก็เพื่อหาคันเบรกของจิต ให้รู้จักวิธีหยุดจิต พอรู้แล้วเวลาเกิดกิเลสขึ้นมาก็จะหยุดกิเลสได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน พอเกิดกิเลสขึ้นมาก็หยุดไม่ได้ พอพิจารณาความตาย แทนที่จะสงบกลับฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะไปกระตุ้นความกลัวให้มีมากขึ้น แทนที่จะทำให้ปลงกลับไม่ปลง เพราะไม่มีสมาธิ จึงปลงไม่ได้.


ตาย
ถาม :  พระอาจารย์ค่ะ เผอิญมีน้องคนหนึ่ง เขาฝันว่าตัวเองตาย เขาคิดเป็นจริงเป็นจังแล้วไม่สบายใจ ยังรับความตายไม่ได้ ควรทำอย่างไร ทุกอย่างยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อย การงานก็ยังไม่เรียบร้อย เลยเป็นห่วงกังวล แต่เขาก็ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มากๆ ขอให้พระอาจารย์อธิบายให้เขาฟังนิดหนึ่งค่ะ เขาไม่สบายใจค่ะ

พระอาจารย์  : ถ้ารับความตายไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปพิจารณา พยายามเจริญสมาธิให้มาก ให้จิตสงบก่อน แล้วค่อยพิจารณา การปฏิบัติของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ให้จิตมีกำลังที่จะรับกับการพิจารณา ถ้าจิตรวมลงแล้วจะรับได้ จะรู้ว่าจิตไม่ใช่ร่างกาย แต่ถ้ายังไม่รวมลง ก็จะคิดว่าตัวเองจะตาย เพราะคิดว่าร่างกายเป็นตน ก็เลยกลัว

ถาม : เขาบอกว่าเขาใช้วิธีวิปัสสนา

พระอาจารย์ : ถ้าเจริญวิปัสสนาโดยไม่เจริญสมาธิเลยก็จะเป็นอย่างนี้ จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสมาธิเป็นฐานของวิปัสสนา นอกจากใช้วิปัสสนาเพื่อทำจิตให้สงบให้เป็นสมาธิ ที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วจึงค่อยพิจารณากาย พิจารณาอสุภะ ถึงจะก้าวไปได้ .


รักษาศีล ๘
ถาม : ท่านพระอาจารย์คะ ปัญหาว่าถือศีล ๘ อยู่ แต่พอดีไม่สบายต้องทานอาหารเย็น เพราะว่าหมอให้ทานยาหลังอาหาร ลูกก็ว่าถ้ายกเว้นตอนนี้แล้วจะไปอยู่เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น นี่จะเป็นการผิดไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : มันก็ไม่ได้รักษาศีล ๘ ครบบริบูรณ์ แทนที่จะได้รางวัลที่ ๑ ก็เอารางวัลที่ ๒ ไปก่อน  ถ้ารักษาศีล ๘ ก็ได้เหรียญทอง ถ้ารักษาศีล ๕ ก็ได้เหรียญเงิน เหมือนการแข่งขันกีฬา

ถาม : ต้องกินยาเย็นนี่คะ

พระอาจารย์ : เพราะว่าเราต้องการรักษาร่างกายเรามากกว่ารักษาศีล ๘.





หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 เมษายน 2567 16:41:16
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/80995633660091_436602683_1002988804542609_635.jpg)


ตัวโกรธ
ถาม : วันหนึ่งลูกนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ได้ข่าวว่าคนที่รู้จักเสียชีวิต ก็เลยคิดไปว่า ถ้าเราโกรธเขาอยู่ พอเขาตายไป เรายังโกรธเขาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่โกรธ แสดงว่าเราโกรธกายเขาใช่หรือไม่ กายเขาตายไป เราถึงได้หยุดโกรธ แต่ถ้าเราโกรธใจเขา เราน่าจะโกรธข้ามชาติไป ชาติหน้าโกรธอีก โกรธไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดโกรธก็ไม่น่าจะโกรธใจ ก็เลยวนมาคิดว่า หรือว่าเราโกรธการกระทำ ถ้าเราโกรธการกระทำนั้นแปลว่าอะไร แปลว่าการกระทำนั้นมันน่าโกรธ ถ้าใจเราเป็นตัวโกรธ มันก็ไม่ใช่การกระทำ มันเป็นที่ใจ ก็หยุดคิดไปดื้อๆ ทั้งๆที่กำลังคิดเพลินดี ยังอยากคิดต่อ แต่ก็ไม่คิดต่อ หยุดไปเฉยๆ

พระอาจารย์ : เกือบจะได้คำตอบแล้ว เข้าไปถึงจุดแล้ว คือใจที่ไม่ชอบการกระทำของเขา พอเขาทำเราก็โกรธ ถ้าเราไม่มีความไม่ชอบ เขาจะทำอะไรเราก็จะไม่โกรธ ตรงประเด็นกับวันนี้ที่เทศน์ว่า อย่าไปแก้ที่เขา ต้องแก้ที่ใจเรา แก้ความโกรธที่เกิดจากความอยาก พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ อยากให้เขาดี พอเขาไม่ดีก็โกรธ เกือบจะได้คำตอบแล้ว แต่หยุดเสียก่อน.


ไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป
ถาม : มีญาติโยมคนหนึ่งต้องแอบซื้อของมาทำบุญ เพราะญาติไม่ให้มา

พระอาจารย์ : เพราะมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่ธรรม จะแอบทำก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นคิดไม่ดี แต่อย่าแอบเอาของของคนอื่นมาทำบุญ เพราะจะขาดทุนมากกว่ากำไร ถ้าไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป จะได้บุญมากกว่า  บุญที่ได้จากการให้ทานเป็นเหมือนแบงก์ ๒๐ แบงก์ ๕๐ บุญที่ได้จากการรักษาศีลเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐ บุญที่ได้จากการนั่งสมาธิเป็นเหมือนแบงก์ ๕๐๐ บุญที่ได้จากการเจริญปัญญาเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐๐   ถ้าทำบุญให้ทานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินหรือมีคนขัดขวาง ไม่ต้องทำก็ได้ รักษาศีลนั่งสมาธิเจริญปัญญาจะได้บุญมากกว่า.


ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป
 
พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ : ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ : ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


บริกรรมพุทโธไปดีกว่า
ถาม : เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่านใช่ไหมคะ บางคนแนะนำให้พิจารณาความคิด ก็เลยสงสัยว่าแบบไหนจะถูก

พระอาจารย์ : ให้พิจารณา ถ้าไม่สามารถบริกรรมได้ ให้ใช้ปัญญาข่มใจแทน เช่นกำลังฟุ้งซ่านกับการเรียน วิตกกังวลว่าปีนี้จะผ่านหรือไม่ จิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ ก็ต้องวิเคราะห์ด้วยปัญญาดูว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่เหตุ เหตุก็คือ การเรียนการศึกษา ถ้าขยันศึกษาเต็มที่แล้ว จะผ่านไม่ผ่านก็แล้วแต่ ถ้ายังศึกษาไม่เต็มที่ ก็ควรศึกษาให้เต็มที่
ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาศึกษา ก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน บริกรรมพุทโธไปดีกว่า ใจก็จะปล่อยวาง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน กลับมาบริกรรมพุทโธได้ อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ เป้าหมายของการนั่งสมาธิ ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้านั่งเฝ้าดูความคิดจะไม่มีวันหยุด  อย่างที่โยมพูดว่าปล่อยให้คิดให้พอ แล้วจะพอ ไม่มีวันพอหรอก จะทนนั่งไม่ได้ นั่งไปสักพักจะเจ็บ จะอึดอัด อยากจะลุกไปทำอย่างอื่น ถ้าไม่ได้คิดจะนั่งได้นาน ยิ่งสงบเท่าไหร่ยิ่งไม่อยากจะลุกไปไหน เพราะความสงบเป็นความสุขที่เลิศที่สุด เป็นความสุขที่แท้จริง ทดแทนความสุขต่างๆได้ เช่นอยากจะดื่มเป๊ปซี่ พอจิตสงบก็ไม่อยากจะดื่ม ไม่หิวกระหาย ถ้าไม่อยู่กับพุทโธ คิดแต่เป๊ปซี่เป๊ปซี่ ก็จะลุกขึ้นไปดื่มเป๊ปซี่จนได้.


เอาทีละอย่าง
ถาม : เวลาดูร่างกายว่าไม่เที่ยง แล้วต้องดูจิตด้วยหรือเปล่าคะ ว่าจิตเรานี้เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง

พระอาจารย์ : เอาทีละอย่าง เอาร่างกายก่อน เอาให้หมดเป็นเรื่องๆไป จิตมันละเอียดยิ่งกว่าร่างกาย ถ้ายังเอาร่างกายไม่ได้ ก็จะเอาจิตไม่ได้ มันคนละขั้นกัน ต้องเอาขั้นร่างกายก่อน ละสักกายทิฐิละกามราคะก่อน แล้วค่อยไปละจิต.


ความกลัว
ถาม : บ้านพี่สาวมีคนตาย ก็กลัวเหมือนกัน ตั้งใจจะเข้าไปดู พอเข้าไปจริงๆเริ่มหวั่นนิดๆ

พระอาจารย์ : ตอนที่ไม่ตายไม่รู้สึกอะไร พอตายก็กลัวขึ้นมาทันที เวลาเป็นกับเวลาตายต่างกันตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่หายใจกับไม่หายใจเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปกลัวคนที่ไม่หายใจแล้ว

ถาม : พอไปเจอของจริง ก็รู้สึกกลัว วันแรกๆรู้สึกไม่ดี พอวันต่อๆไปก็พยายามฝืนตัวเอง เพราะต้องอยู่ตรงนั้น ก็ค่อยๆดีขึ้นมาทีละนิด แต่ก็ยังไม่หายกลัว

พระอาจารย์ : ต้องใช้สมาธิช่วย บริกรรมพุทโธๆไป เวลาเกิดความกลัวก็ให้พุทโธๆไป ถ้าไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขากับเราก็เหมือนกัน เราก็เป็นผี เขาก็เป็นผี ทำไมไม่กลัวร่างกายของเรา ทำไมไปกลัวร่างกายของเขา ร่างกายของเขาก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีผมขนเล็บฟันฯลฯเหมือนกัน  เหมือนอย่างที่หลวงตาเขียนไว้ในหนังสือปฏิปทาฯ เรื่องกลัวเสือ เสือมันมีอะไรที่เราไม่มี ก็พิจารณาไป มันมีขนเราก็มีขน มันมีเขี้ยวเราก็มีฟัน พิจารณาไปพิจารณามา ก็มีอย่างเดียวที่เราไม่มี ก็คือหาง อ้อเรากลัวหางมันเหรอ ต้องพิจารณาซากศพว่า เขามีอะไรที่เราไม่มีบ้าง เราไปกลัวผมเขาเหรอ แล้วเราไม่กลัวผมเราเหรอ ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะดับความกลัวได้ เพราะความกลัวเป็นอารมณ์ เป็นความหลง ไม่มีเหตุไม่มีผล ก่อนที่จะพิจารณาด้วยปัญญาได้ ต้องมีสมาธิก่อน ถ้ายังไม่มีสมาธิเวลากลัว ก็ต้องใช้การบริกรรมไปก่อน ให้จิตสงบ ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งซ่าน จะเป็นบ้าได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผลได้ คิดเปรียบเทียบตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว.


การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น
ถาม : ถ้ารู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้จะเกิดวิปัสสนาญาณไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่เกิด เป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น คือสติสมาธิปัญญา เจริญสติแล้วก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอออกมาจากความสงบ ก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ พิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย  ร่างกายไม่สวยงามเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูลสกปรก อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา.


ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด
ถาม : กลางคืนหลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็นั่งภาวนาพุทโธๆ พอตื่นขึ้นมาตอนตีสองตีสาม จะพิจารณาได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พิจารณาทั้งตัวเราเองและคนอื่น ไม่ใช่ร่างกายของเราเท่านั้น คนที่เรารักที่เรารู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน คนที่เราไม่รักเราไม่รู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ควรเจริญสติและพิจารณาทางปัญญาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เจริญสติ ก็ควรพิจารณาทางปัญญา เห็นอะไรก็คิดว่าไม่เที่ยง อย่าไปอยากได้ ถ้าอยากได้ก็จะทุกข์ ก็จะตัดกิเลสได้.


แต่ทำไม่ได้
ถาม : ถ้าเอาปัญญามาคิดว่าเป็นดินน้ำลมไฟ

พระอาจารย์ : เป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้ายอมรับก็เป็นปัญญา ก็จะปล่อยวางได้ ก็จะไม่มีทุกข์ใจ เพราะไม่มีตัณหา ความอยากที่จะให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

ถาม : จะดับทุกข์อย่างถาวรไหมคะ

พระอาจารย์ : จะดับอย่างถาวร ทุกครั้งที่เจอความเจ็บจะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ

ถาม : ความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดี

พระอาจารย์ : เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยาก ถ้ายินดีก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ยินดีก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ ต้องตัดความยินดีและไม่ยินดี เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ถ้าเฉยๆ จะอยู่จะไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เฉยๆ อะไรก็ได้ เจ็บก็ได้ ไม่เจ็บก็ได้ ใจต้องเฉยๆ แต่ใจถูกกิเลสซุ่มสอนให้รัก ให้ชัง ให้กลัว ให้หลงอยู่ตลอดเวลา ใจมีอคติ ๔ อยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ปัญญาดับอคติ ๔ ให้รู้ว่าสิ่งที่ไปรักไปชัง ไปกลัว ไปหลง ไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใจเลย ใจไปหลงเอง  ถ้าคิดว่าจะเป็นคุณกับใจก็รัก ถ้าคิดว่าจะเป็นภัยก็ชังก็กลัว ความจริงไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถให้คุณให้โทษกับใจเลย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ใจเพียงรับรู้สิ่งต่างๆผ่านทางร่างกาย ร่างกายเป็นเครื่องมือรับข้อมูลต่างๆไปให้ใจ ใจไม่ได้อยู่ในมิตินี้ อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้โลกจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ใจจะไม่ถูกทำลายไปด้วย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้

ใจไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดจะดับ ใจไม่ได้ไม่เสียด้วย แต่ใจไม่รู้ความจริงนี้ เพราะใจไปหลงยึดติดกับร่างกาย ไปคิดว่าใจกับร่างกายเป็นอันเดียวกัน ได้เสียไปกับร่างกาย เวลาร่างกายเจ็บ ใจก็จะเจ็บตามไปด้วย เวลาร่างกายสุข ใจก็จะสุขตามไปด้วย ต้องแยกใจออกจากร่างกายให้ได้ ให้ร่างกายเป็นเหมือนกับเครื่องบินที่ใช้วิทยุบังคับ ผู้ที่บังคับเครื่องบินไม่ได้อยู่ในเครื่องบิน เครื่องบินตกก็ไม่ได้ทำให้ผู้บังคับเครื่องบินเดือดร้อนแต่อย่างใด ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นตัวหนึ่ง ที่ใจเป็นผู้บังคับ ด้วยการใช้กระแสจิต บังคับให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ใจไม่ได้ไม่เสียไปกับร่างกาย แต่ใจไปหลงคิดว่าได้เสียตามร่างกาย เวลาขึ้นเงินเดือนก็ดีใจ เวลาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็ดีใจ เวลาถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ


อยู่ที่ความสามารถของสติ
ถาม : เวลาร่างกายตายไป จิตยังไม่เห็นหรือคะว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

พระอาจารย์ : จิตไม่เห็น เพราะไม่มีสติปัญญา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจิตจะหลง จิตไม่นิ่ง

ถาม : แล้วหลังจากที่ตายไปแล้ว

พระอาจารย์ : เหมือนคนที่สลบไสล ตายไปแล้วก็เหมือนนอนหลับฝันไป ถ้าฝันดีก็ขึ้นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็ตกนรก จะมาตื่นก็ตอนที่มาเกิดใหม่ มาได้ร่างกายใหม่

ถาม : ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปตลอด จะทันไหมคะ

พระอาจารย์ : ขึ้นอยู่กับความสามารถของสติ ถ้าทำได้ก็จะเป็นฌาน เป็นสมาธิ ก็จะไปเกิดบนพรหมโลก อย่างพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ท่านชำนาญในการเข้าฌาน เวลาร่างกายท่านตายไป ท่านก็เข้าฌานไป ปล่อยวางร่างกายไปเข้าไปอยู่ในสมาธิ พอร่างกายตายไปจิตก็ไปสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าฝึกบ่อยๆก็จะทำได้ ถ้าฝึกไม่บ่อย พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ก็จะตกใจ ตื่น ลืมไปหมด ควรจะทำจิตให้สงบ กลับไม่ทำ กลับไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ยอมให้ร่างกายตาย ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา จึงต้องซ้อมไว้ก่อน การปฏิบัติก็เป็นการซ้อมไว้ก่อน ก่อนที่จะเข้าห้องสอบ พวกเราทุกคนต้องเข้าห้องสอบ คือความเจ็บและความตาย ถึงต้องนั่งให้เจ็บ จะได้ทำใจให้ปล่อยวางความเจ็บ อย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ให้อยู่กับความเจ็บให้ได้ รับรู้ความเจ็บให้ได้ ความเจ็บทำลายใจไม่ได้หรอก เราไปกลัวความเจ็บเอง

เหมือนดูหนังผี ผีอยู่ในจอ ออกมานอกจอไม่ได้ ทำร้ายคนดูไม่ได้ แต่คนดูต้องปิดตาไม่กล้าดู เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงหนัง ร่างกายเป็นเหมือนตัวละครในจอหนัง ส่วนใจเป็นคนดู แต่ใจไปติดอยู่กับตัวละคร พอตัวละครเป็นอะไรไปก็เป็นไปด้วย ไม่มีปัญญาแยกใจออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นตัวละคร ใจเป็นคนดูละคร ไม่ดูเฉยๆ ไปแสดงด้วย ไปดีใจ ไปเสียใจ ไม่ดูเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ถึงต้องทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงอุเบกขาก่อน พอเข้าถึงสักแต่ว่ารู้ ถึงอุเบกขาได้แล้ว เวลาออกจากสมาธิก็ใช้ปัญญาประคับประคองใจ ไม่ให้ออกจากอุเบกขาได้ เพราะเวลาออกมาเห็นอะไรก็จะชอบจะชัง จะหลุดจากอุเบกขา ก็ต้องใช้ปัญญาให้กลับเข้าไปในอุเบกขา ให้เฉยๆ ชอบก็เฉย ชังก็เฉย ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะอยาก จะว้าวุ่นขุ่นมัว

ต้องมีสมาธิก่อน เพื่อเราจะได้พบจุดยืนของจิต คือสักแต่ว่ารู้ หรืออุเบกขา ไม่รักไม่ชัง ไม่ยินดียินร้าย รู้เฉยๆ พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสจะลากจิตให้ออกจากจุดนี้ ให้ไปรักไปชัง ไปกลัวไปหลง ต้องใช้ปัญญาสกัด ด้วยการพิจารณาว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง อย่าไปอยากเลย บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ได้มาแล้วก็ต้องเสียไปอยู่ดี ถ้าอยากแล้วไม่ได้ ก็จะเสียใจ ไม่นิ่ง ไม่สงบ ต้องใช้ปัญญาหลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว การเจริญปัญญาก็เจริญได้ ๒ ลักษณะ ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงก็ซ้อมไปก่อน ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเราทำงาน พบคนพูดดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็ต้องรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปซ้อมก่อน ไปอยู่วัดสักพัก ไปพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน ซ้อมไว้ก่อน พิจารณาว่าห้ามเขาไม่ได้ เป็นเหมือนฝนตกแดดออก แต่ห้ามใจเราได้ ห้ามไม่ให้ไปยินดียินร้าย รักษาอุเบกขาไว้ เป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดของใจ.


ไม่เกิน ๗ ชาติ
ถาม : ถ้าบรรลุโสดาบันแล้ว ต้องกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า

พระอาจารย์ : ต้องกลับมาเกิดอีก แต่ไม่เกิน ๗ ชาติ ในพระคัมภีร์แสดงไว้อย่างนี้ ถ้าขยับขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี ก็จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียว ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านตัดกามตัณหาได้หมดแล้ว ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐานจนเบื่อหน่าย ในรูปร่างหน้าตาของคน ไม่เห็นว่าสวยงาม เหมือนตอนที่ยังไม่ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พอพิจารณาเห็นอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ที่ถูกขับออกมาทางทวารต่างๆ ก็เกิดความขยะแขยง แทนที่จะกำหนัดยินดี กลับขยะแขยง ไม่อยากจะเข้าใกล้ ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นซากศพ ก็จะไม่อยากร่วมหลับนอนด้วยเลย ความกำหนัดยินดีคือราคะตัณหา ได้หมดไปจากใจของพระอนาคามี ท่านก็เลยไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านมีความสุขที่เหนือกว่า คือความสุขสงบของใจที่เรียกว่า ฌาน ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหม

นี่คือเรื่องของภพชาติที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นผลจากการได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าปฏิบัติเพียงทานศีลและสมาธิ จะไม่ได้อริยมรรคอริยผล ตายไปก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเดิม เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ องค์ที่ได้ฌาน หลังจากที่ท่านตายไปแล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม แต่เป็นสวรรค์ชั้นพรหมที่ต้องเสื่อม เพราะขึ้นไปด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ได้ขึ้นไปด้วยกำลังของปัญญา เช่นของพระอนาคามี พระอนาคามีได้ชั้นพรหมด้วยการชำระกิเลส ที่ทำใจไม่ให้สงบ พอชำระกามราคะออกไปจากใจได้ ใจก็สงบเป็นธรรมชาติ เป็นฌานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธเพ่งกสิณให้จิตสงบ ฌานแบบนี้ไม่มีวันเสื่อม

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าน่าเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้สอนพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูป วิธีทำฌานไม่ให้เสื่อม ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะท่านตายไปก่อน ถ้าท่านยังไม่ตาย และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เรื่องอริยมรรคอริยผลให้ฟังรับรองได้ว่าจะสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะที่ฟังเลย เช่นพระปัญจวัคคีย์ผู้ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้า พอทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็มีพระรูปหนึ่งบรรลุโสดาบันทันที หลังจากนั้นทรงแสดงพระธรรมอีกครั้งสองครั้ง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งหมด ๕ รูปเลย เป็นอำนาจของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทำได้ ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะปัญญาระดับนี้ต้องเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำได้ ที่จะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นพระอริยสัจ ๔

พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าปล่อยให้พระอริยสัจ ๔ อย่าปล่อยให้อนิจจังทุกขังอนัตตา ห่างไกลไปจากใจ ต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง จะได้เสร็จงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ๗ วัน หรือ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ เจริญสติอย่างเต็มที่ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอริยสัจ ๔ อย่างเต็มที่ ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก ถ้าฉลาดมาก ๗ วันก็สามารถบรรลุได้ ไม่ทรงปฏิเสธว่าคนนั้นคนนี้บรรลุไม่ได้ มีแต่พวกเราที่ไปปฏิเสธกันเอง ว่าบรรลุไม่ได้ ไปพูดกันเองต่างหากว่าเราเป็นไปไม่ได้เอง ทำไมไปปฏิเสธตัวเราเอง ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเลย ทรงตรัสว่ามีสิทธิมีความสามารถเท่ากันหมด.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 เมษายน 2567 11:51:36
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90658791652984_437111969_1006618084179681_287.jpg)


ต้องปรากฎตอนที่มีปัญหา
ถาม : บางทีเราไม่ตั้งใจพิจารณา ก็ขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ : ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นมาก็ขึ้นมา

ถาม : เหมือนอย่างเวลาถูบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไร ก็ปรากฏขึ้นมาเองว่า นี่ไม่ใช่บ้าน เป็นอิฐเป็นหิน ไม่ใช่ของเรา เดิมเป็นของแม่ พอแม่ตายไป ก็สมมุติว่าเป็นของเรา ปรากฏขึ้นเองเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : ถ้าปรากฏขึ้นมาตอนที่ไม่มีปัญหา ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ต้องปรากฏตอนที่มีปัญหา ถึงจะได้ประโยชน์ เช่นตอนที่ธนาคารจะมายึดบ้าน


นั่งสมาธิแล้ว ใจสงบไหม
ถาม : นั่งสมาธิกับน้องสาว น้องสาวจะใช้พุทโธๆ แต่หนูชอบใช้ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : ช่ แต่ต้องดูที่ผล ว่านั่งแล้วใจสงบไหม

ถาม : สงบค่ะ

พระอาจารย์ : ต้องสงบเย็นสบาย ไม่คิดปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ การใช้ลมหายใจนี้เป็นการดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ธรรมดาใจชอบคิดเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ทำให้มีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าควบคุมความคิดได้ ด้วยการบังคับใจให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ความคิดต่างๆก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว ใจก็จะมีความสุข ความสบายใจ ความอิ่มใจ นี่คือผลที่เราต้องการ ต้องนั่งให้ได้นานๆ ครึ่งชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงถึงจะดี ถ้านั่งเพียง ๕ นาที  ๑๐ นาที ยังไม่ได้ผลมาก ต้องนั่งบ่อยๆนั่งนานๆ ต่อไปเวลาไม่สบายใจก็นั่งสมาธิ ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็จะหายจากความไม่สบายใจ ถ้ากลับไปคิดเรื่องนั้นอีก ก็จะไม่สบายใจอีก  ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องคิดว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยากของเราเอง อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่สบายใจ เพราะไม่ได้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ต้องสอนใจว่า อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นไปตามความอยากของเราไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป เช่นเขาอาจจะไม่ชอบเรา โกรธเกลียดเรา ก็อย่าไปอยากให้เขารักเรา ปล่อยเขาไป วันนี้เขาโกรธเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะรักเราก็ได้ วันนี้เขารักเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเบื่อเราก็ได้ ให้คิดอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่ไปทุกข์กับเขา ต้องคิดว่าเขาไม่แน่นอน เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ วันนี้เขาดีพรุ่งนี้เขาร้ายก็ได้ วันนี้เขาร้ายพรุ่งนี้เขาดีก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็จะหายจากความไม่สบายใจได้ คืออย่าไปอยากให้เขาเป็นไปตามความอยากของเรา ต้องยอมรับความจริง เขาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วเราจะหายจากความไม่สบายใจ


ปฏิบัติง่ายๆ
ถาม : ขอคติธรรม เพื่อนำไปปฏิบัติง่ายๆ

พระอาจารย์ : นั่งสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ ทุกเช้าเย็น


ง่วง
ถาม : เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมเจริญสติ แล้วถูกความง่วงครอบงำ ควรจะทำอย่างไร

พระอาจารย์ : ต้องกินอาหารให้น้อยลง กินมื้อเดียว ต้องยอมหิวหน่อย ความจริงไม่ได้หิวที่ร่างกายหรอก แต่หิวที่ใจ ร่างกายกินอาหารเกินความต้องการอยู่แล้ว มีอาหารสะสมอยู่มาก ก็อย่างที่บอก ต้องถือศีล ๘ ให้ได้ อย่างน้อยก็ไม่กินหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว การภาวนาต้องยอมอด ถึงจะได้ผล ถ้าอยากจะมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส การภาวนาจะมีอุปสรรคมาก ถ้าไม่ง่วงเหงาหาวนอนก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ชอบอดอาหารก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว ไปนั่งในป่าช้าจะไม่ง่วง.


แล้วแต่ใจว่า หยาบหรือละเอียด
ถาม : ก่อนที่จะนั่งสมาธินี้ ควรสวดมนต์ไหว้พระก่อน หรือว่านั่งเลย อย่างไหนจะดีกว่ากันครับ

พระอาจารย์ : อยู่ที่จิตของเรา ว่าหยาบหรือละเอียด ถ้าจิตหยาบคิดมาก นั่งไม่ได้ ก็ต้องสวดมนต์ไปก่อน เพื่อทำให้จิตละเอียดลงไป ให้ความคิดปรุงแต่งหมุนช้าลง พอคิดน้อยลงไปแล้ว ก็ดูลมได้

ถาม : หมายความว่าไม่จำเป็นต้องสวดมนต์มากมายหลายบท
พระอาจารย์ : ก็อย่างที่บอก แล้วแต่ใจของเราว่า หยาบหรือละเอียด อย่างสมัยที่เราเริ่มนั่งแรกๆนี้ ต้องท่องมหาสติปัฏฐานสูตรไปประมาณ ๔๐ นาทีก่อน ถึงจะดูลมได้ แต่ตอนหลังนี้ไม่ต้องท่องแล้ว เพียงแต่กำหนดสติให้ดูลมปั๊บ มันก็สงบได้ การท่องนี้เพื่อพัฒนาสติ ให้มีกำลังหยุดความคิดปรุงแต่ง พอสติมีกำลังมากๆ ก็เหมือนเบรกที่มีกำลังมาก แตะนิดเดียวก็หยุดกึ๊กเลย ถ้าเบรกไม่ดีนี้ เหยียบจนติดพื้นก็ยังไม่หยุด ถ้ารถวิ่งเร็วมาก ก็จะไม่หยุดง่าย  ถ้าภาวนาบ่อยๆ หยุดความคิดปรุงแต่งบ่อยๆ จะเหมือนรถที่วิ่งช้าลงไปเรื่อยๆ เวลาภาวนาให้สงบนี้จะสงบเร็วมาก เพียงกำหนดแป๊บเดียว ไม่ต้องภาวนาพุทโธ เพียงตั้งสติปั๊บ ความคิดปรุงแต่งก็หยุดแล้ว การควบคุมจิตนี้เหมือนกับการขับรถ ตอนเริ่มทำใหม่ๆนี้ เหมือนกับรถที่ไม่มีเบรกและวิ่งเร็ว เหมือนรถวิ่งลงเขา พอสร้างเบรกให้มีกำลังมากขึ้นๆ เจริญสติมากขึ้นๆ ก็จะทำให้วิ่งช้าลง การภาวนาจะง่ายขึ้นๆ สงบเร็วขึ้น สงบได้นานขึ้น ต้องดูตอนจะนั่งว่า ใจของเราเป็นอย่างไร ไม่ฟุ้งซ่านมากก็นั่งง่าย ฟุ้งซ่านมากก็นั่งยาก เพราะชีวิตของฆราวาสยังต้องวุ่นวายกับการงาน ถ้ามีอารมณ์ตกค้างจะนั่งไม่ได้ ดูลมไม่ได้ พุทโธไม่ได้ อย่างนี้ก็สวดมนต์ไปก่อน ถ้าสวดไม่ได้ ก็ฟังเทศน์ไปก่อน ถ้าไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม แล้วก็ซ้ายขวาซ้ายขวาไป เดินให้หมดแรงก่อน ถึงค่อยมานั่ง.


สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้
ถาม : เวลามีสิ่งมากระทบ อ่านข่าวแล้วเกิดอารมณ์ไม่พอใจ แล้วเกิดสติรู้ทัน ก็พิจารณาว่าทำไม เพราะอะไร จนอารมณ์ความรู้สึกเบาบางลงไป แล้วก็กลับมาบริกรรมต่อ

พระอาจารย์ : ถ้าใจสงบแล้ว จะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ถ้าใจทุกข์กับสิ่งที่ได้ยิน ก็ต้องใช้สมาธิหรือใช้ปัญญาแก้ ถ้าใช้สมาธิก็ให้บริกรรมไป ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่ได้ยินมา จนกว่าจิตจะสงบแล้วลืมเรื่องนั้นไป ถ้าจะใช้ปัญญาก็พิจารณาว่าเป็นธรรมดาของโลก มีเจริญมีเสื่อม มีสุขมีทุกข์ แต่ใจเรามีอคติ ชอบฟังแต่เรื่องสุขเรื่องเจริญ พอได้ยินเรื่องทุกข์เรื่องเสื่อมก็จะหดหู่ใจ ต้องสอนใจว่า ต้องฟังได้ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องสุขก็ได้ เรื่องเจริญก็ได้ เรื่องทุกข์ก็ได้ เรื่องเสื่อมก็ได้ เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ให้สักแต่ว่ารู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปมีปฏิกิริยา ถ้ามีปฏิกิริยาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา  เรื่องจะร้ายแรงขนาดไหนก็ต้องยอมรับ จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ถ้าแก้ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันไป แม้แต่ความตายก็ต้องอยู่กับมันไป ยอมรับมันไป ต้องทำใจเป็นเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ สมมุติว่าถ้าต้องหยุดหายใจขณะนี้ ถ้าใจรู้แล้วเฉยได้ ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ บรรลุได้ ถ้าหายใจไม่ออกแล้วตกใจกลัว แสดงว่าสอบตก จะสอบผ่านก็ต้องเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนที่จะตายก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทำใจให้เฉยเหมือนตอนนี้ จะเฉยได้ก็ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญา ที่เราต้องเจริญให้มาก พอมีมากแล้วจะรักษาใจให้นิ่งเฉยได้ ถ้าไม่มีก็จะถูกกิเลสดึงไป จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ต้องปฏิบัติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่พวกเราไม่ปฏิบัติกัน ไม่ตั้งสติกัน ปล่อยให้ใจไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ พอไปเจออารมณ์ไม่ดีก็หยุดไม่ได้ จึงต้องหัดหยุดให้ได้ ต้องสร้างอุเบกขาให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญสติและสมาธิ พอมีอุเบกขาแล้วก็เจริญปัญญา เตรียมรับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ต้องพร้อมอยู่ทุกเวลา ถ้าพร้อมแล้วจะไม่ตื่นตระหนก ไม่ทุกข์ทรมานใจ จะตั้งอยู่ในความสงบ เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้


ทุกข์ในจิต ทุกข์ในขันธ์
ถาม : อุเบกขากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาเหมือนกันไหมครับ

พระอาจารย์ : เป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคนละเรื่องกัน เวทนาเป็นเรื่องของขันธ์ อุเบกขาเป็นความสงบนิ่งของใจ ขันธ์เป็นอาการของใจ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เขาเรียกว่าอาการหรือแขนขาของใจ เวทนาก็มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ตามการสัมผัสรับรู้กับอายตนะภายนอก ถ้าเห็นภาพที่ไม่ชอบก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่ชอบก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่เป็นกลางก็จะเกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เป็นเรื่องของขันธ์ ในขณะที่เกิดเวทนานี้ ก็จะมีทุกข์หรือไม่ทุกข์ในใจได้ด้วย ถ้าเกิดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ทุกข์ในจิตกับทุกข์ในขันธ์เป็นคนละอย่างกัน อุเบกขาในจิตกับในอุเบกขาในขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เวทนาขันธ์นี้เราควบคุมบังคับไม่ได้ แต่เราควบคุมบังคับอุเบกขาในจิตได้ ควบคุมด้วยสติปัญญา.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 พฤษภาคม 2567 13:37:05
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26468901212016_438162974_1015940236580799_266.jpg)


นิมิต ไม่ได้เป็นมรรคผล
ถาม : เวลาที่เกิดนิมิตแล้วต้องบังคับใจ ไม่ให้ตามรู้จะค่อนข้างยาก คือมีความรู้สึกอยากเห็นอยากตามไปดู ขออุบายด้วยเจ้าค่ะ
   
พระอาจารย์ : ภาวนาต่อไป

ถาม : อย่าไปมองมันหรือคะ

พระอาจารย์ : อย่าหยุดภาวนา พุทโธต่อไป ดูลมต่อไป เหมือนเวลานั่งภาวนาแล้วมีเสียงโทรศัพท์ดัง มีเสียงคนนั้นเสียงคนนี้ ก็อย่าไปสนใจ ภาวนาไปเรื่อยๆ เวลามีแสงมีภาพให้เห็น ก็อย่าไปสนใจ

ถาม : นิมิตนี้เป็นธรรมใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เป็นสภาวธรรม ไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา สภาวธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา ก็คือความว่างเปล่า อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เพราะจะทำให้กิเลสตัณหาอ่อนกำลังลง เพื่อปัญญาจะได้ฆ่ากิเลสตัณหาได้ ต้องใช้สมาธิทุบศีรษะให้กิเลสตัณหามึนก่อน พอออกจากสมาธิมา กิเลสตัณหาจะยังงัวเงียอยู่ ก็จะใช้ปัญญาฆ่ากิเลสตัณหาได้ แต่ถ้าเห็นนั่นเห็นนี่ กิเลสตัณหาจะไม่ได้ถูกตัดกำลัง ยังสามารถทำงานได้ พอเห็นแล้วชอบก็อยากจะให้เห็นนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไป ไม่เป็นประโยชน์ต่อการตัดกำลังของกิเลสตัณหา ถ้าจิตนิ่งสงบและว่างกิเลสตัณหาจะทำงานไม่ได้ กิเลสตัณหาจะถูกตัดกำลังลงไป ถ้าออกจากสมาธิที่ว่างที่สงบที่เป็นอุเบกขานี้ จิตจะมีกำลังมาก กิเลสจะมีกำลังน้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าออกจากสมาธิที่มีเรื่องราวต่างๆให้รู้ให้เห็น จิตจะมีกำลังน้อย กิเลสจะมีกำลังมาก ก็จะไม่สามารถใช้ปัญญาตัดกิเลสได้   ปัญญาเป็นผู้ชี้บอกว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส สมาธิเป็นผู้หยุดกิเลสด้วยอุเบกขา เวลาเห็นเงินแล้วก็โลภอยากได้ ปัญญาก็จะบอกว่าอย่าไปโลภ เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ถ้ามีสมาธิก็หยุดโลภได้ ถ้าใจไม่มีสมาธิที่ว่างที่สงบ พอปัญญาบอกว่าอย่าไปโลภ จะหยุดไม่ได้ การภาวนาเพื่อฆ่ากิเลสนี้ ต้องมีสมาธิที่ว่างที่สงบ ที่ไม่มีนิมิตต่างๆ มีแต่อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งนานกำลังของใจก็จะมีมากขึ้น กำลังของกิเลสก็จะน้อยลงไป ความสงบเป็นผู้ตัดกำลังของกิเลส ถ้าใจยังไม่สงบกิเลสก็จะทำงาน.


กินเหล้าเมาจะภาวนา
ถาม : ทราบมาว่าทานเป็นบาทของศีล ศีลเป็นบาทของการภาวนา ถ้าไม่ได้ทำทานเป็นประจำ ไม่ได้รักษาศีล การเจริญภาวนาจะดีได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่ได้

ถาม : บางคนบอกว่าภาวนาดีมาก แต่ว่าทานก็ไม่ทำ เหล้าก็ยังดื่มอยู่ ศีลก็ไม่รักษา ก็ยังข้องใจอยู่เสมอว่า การภาวนาจะดีได้อย่างไร

พระอาจารย์ : เป็นไปไม่ได้ คนกินเหล้าเมาจะภาวนาได้อย่างไร

ถาม : เขาบอกว่าเขาภาวนาได้ดีมาก แต่ไม่ทำบุญตักบาตร ไม่รักษาศีล

พระอาจารย์ : การทำทานไม่ได้อยู่ที่การทำบุญตักบาตรอย่างเดียว ทำได้หลายรูปแบบ ถ้าใจกว้างเสียสละ ไม่ยึดติดกับเงินทอง ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นทาน ถ้าไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นก็มีศีลแล้ว ไม่ต้องมาวัดขอศีลจากพระ ศีลอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัด อยู่ที่การกระทำ ถ้าไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปด ไม่เสพสุรายาเมา ก็มีศีลแล้ว จะเข้าวัดหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา.


บาป ไม่บาป
ถาม : ถ้าร่างกายเรามีโรคที่จะต้องรักษา แต่เราคิดว่าเราไม่อยากได้ร่างกายแล้ว เป็นอะไรก็ช่าง จะไม่รักษา อย่างนี้ถือว่าบาปไหมคะ

พระอาจารย์ : ไม่บาป ถ้าไม่ทำให้ร่างกายตาย ปล่อยให้ร่างกายตายไปเอง ถ้าทำให้ร่างกายตาย เช่นกินยาพิษ อย่างนี้ก็บาป เพราะเป็นการทำลายร่างกาย มีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาทำลายร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย ก็จะไม่บาป

ถาม : สมมุติว่าหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน แล้วก็ดูแลร่างกายไม่ดี บางทีก็กินยาบ้างไม่กินบ้าง อย่างนี้ถือว่าบาปไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : ไม่บาป ไม่กินก็ไม่บาป แต่อย่าไปทำให้ร่างกายตาย

ถาม : เช่นฆ่าตัวตาย

พระอาจารย์ : อย่างนั้นบาป.


[bกลัวผี[/b]
ถาม : พรุ่งนี้จะไปวัด ถ้ามีเสียงกึ๊กๆ จะทำอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : สวดมนต์ไป หรือพุทโธๆไป

ถาม : บนเขานี้มีพระกลัวกันหลายองค์ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : อยู่ได้คืนเดียวก็มี อยู่ไม่ได้ทั้งคืนก็มี ทุ่มสองทุ่มก็ขอกลับ ควบคุมใจไม่ได้ ความกลัวอยู่ในใจเรา ใจผลิตขึ้นมาเอง ภายนอกไม่มีอะไร ความกลัวไม่ได้อยู่ข้างนอก อยู่ข้างใน สิ่งข้างนอกอาจจะน่ากลัว เพราะไม่เข้าใจความจริง ถ้าเข้าใจก็จะไม่มีอะไรน่ากลัว นี่คืออานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม จะทำให้ไม่กลัวกับสิ่งต่างๆ ไม่กลัวความเจ็บ ไม่กลัวความแก่ ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวคำดุด่าว่ากล่าวติเตียน ใครจะด่าใครจะว่าก็ปล่อยเขาว่าไป เพราะไม่มีความอยากให้เขาชม หรืออยากไม่ให้เขาด่า ใจเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา เป็นอุเบกขา เฉย ปล่อยวาง ได้ทั้งนั้น เหมือนฝนตกแดดออก พระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ทุกอย่างเป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เราห้ามเขาไม่ได้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สั่งเขาไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เราเป็นผู้รู้ก็รู้ไป เป็นผู้ดูละครดูภาพยนตร์ก็ดูไป ไปเปลี่ยนบทภาพยนตร์ไม่ได้
 
ผู้กำกับภาพยนตร์ก็คือกรรม และเหตุปัจจัยต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นมา เราเป็นผู้มาสัมผัสรับรู้ก็รู้ไป เหมือนคนดูภาพยนตร์ ผู้กำกับจะกำกับภาพยนตร์ให้ออกมาในรูปแบบไหน ก็ต้องดูไป จะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องดูไป ถ้าไม่ชอบก็อย่าไปดู อย่ามาเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ต้องดู ไม่ต้องรับรู้อะไรทั้งนั้น แต่พวกเราชอบดูกันเหลือเกิน ก็เลยต้องกลับมาเกิดกัน พอดูเรื่องที่ไม่ชอบก็วุ่นวายใจทุกข์ใจขึ้นมา.


ทำไมมักน้อยจัง
ถาม : มีเพื่อนนั่งสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง เสร็จปั๊บเปิดทีวีดู

พระอาจารย์ : ยังไม่มีปัญญา นั่งเพื่อทำจิตให้สงบเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าดูทีวีไปทำไม เหมือนคนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ ยังไม่มีปัญญา ตอนต้นดื่มเพราะสังคม เห็นคนอื่นดื่มก็ดื่มตาม พอดื่มแล้วก็ติดเป็นนิสัย มันก็เลยเลิกยาก ก็เหมือนกับดูทีวี พอดูแล้วก็ติดเป็นนิสัย ว่างๆไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดทีวีดู ไม่มีเหตุผลว่าดูไปทำไม แต่อยู่เฉยๆไม่มีอะไรดูไม่ได้ ต้องมีอะไรดู ทีนี้เรารู้แล้วว่ามันเป็นเหมือนยาเสพติด มันเป็นโทษที่ละเอียด ในทางโลกไม่ถือว่าเป็นโทษ แต่ในทางธรรมถือว่าเป็นโทษ เพราะไม่ทำให้จิตใจก้าวหน้า ไม่หลุดพ้นจากการติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องถือศีล ๘ จะได้ปิดทีวีได้

ถาม : ขอเอาแค่ศีล ๕ ให้ครบถ้วนก่อน ค่อยเป็นค่อยไป

พระอาจารย์ : ทำไมมักน้อยเหลือเกิน ทีเงินทองไม่มักน้อยเลย.


กามราคะ กามตัณหา
ถาม : กามราคะ กามตัณหา กามกิเลสเหมือนกันไหมเจ้าคะ

พระอาจารย์ : เหมือนกัน เป็นสรรพนาม ใช้แทนกันได้ วัตถุของความอยากจะต่างกัน ติดเหล้าติดบุหรี่ก็เป็นกามตัณหาแบบหนึ่ง กามคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ วัตถุของกามจะต่างกัน อยากเหล้า อยากบุหรี่ อยากผู้หญิง อยากผู้ชาย เป็นกามตัณหาทั้งนั้น

ถาม : แล้วการติดกาแฟ ติดน้ำผลไม้

พระอาจารย์ : เป็นกามตัณหาเหมือนกัน แต่มีความหนักเบาต่างกัน ติดกาแฟไม่หนักเท่ากับติดเหล้า ติดเหล้าติดบุหรี่ไม่หนักเท่ากับติดยาเสพติด แต่ก็ติดเหมือนกัน นักปฏิบัติต้องไม่ติดอะไรเลย

ถาม : ถ้าขอคาเฟอีนสักนิดหนึ่ง จะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน

พระอาจารย์ : ไม่ได้ ถ้าจะง่วงเหงาหาวนอน ก็ให้อดอาหารแทน หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ถ้าดื่มคาเฟอีนก็จะติดคาเฟอีน วันไหนไม่ได้ดื่มก็จะปฏิบัติไม่ได้  ไม่ควรอาศัยสิ่งภายนอกมาแก้ปัญหา ต้องใช้ธรรมะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็อดอาหารถ้าถูกจริต ถ้าไม่ถูกจริตก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ หรือไปนั่งที่ปากเหว ถ้าสัปหงกหลับไป หัวจะได้ทิ่มลงเหวไปเลย อย่างนี้จะไม่ง่วงแน่นอน ต้องแก้อย่างนี้.


ความกลัวตาย
ถาม : คนไปอยู่วัดใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะกลัวงูกัน เพราะมืด ในป่าก็มีงูเยอะ ในกุฏิก็มี ใหม่ๆก็กลัว นานๆเข้าก็ต่างคนต่างอยู่

พระอาจารย์ : ถ้าไม่กลัวก็ปิดไฟเดิน ให้เกิดความกลัวขึ้นมาจริงๆ ให้ปลง ให้ยอมตาย พอปลงได้แล้วจะหายกลัว

ถาม : แก้ปัญหาโดยการหาไฟฉายสว่างๆ

พระอาจารย์ : ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุก็คือความกลัวตาย ไม่ยอมตาย ไม่ยอมรับความตาย

ถาม : จะถือว่าประมาทไหมครับ ถ้าเดินในที่มืดๆ ไม่ฉายไฟ

พระอาจารย์ : ถ้าเป็นการเข้าห้องสอบก็ไม่ประมาท ต้องคิดว่าจะตายจริงๆ ถึงจะกลัวจริงๆ จะได้ยอมตายจริงๆ


พบกับเวทนาขั้นสูงสุด
ถาม : เวลาครูบาอาจารย์นั่งตลอดรุ่งนี่ ท่านนั่งตลอดเลยหรือคะ

พระอาจารย์ : ท่านนั่งขัดสมาธิ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถเลย ท่านต้องการพบกับเวทนาขั้นสูงสุด ถ้าผ่านขั้นนั้นไปแล้ว เวลาจะตายจะไม่เดือดร้อน เพราะจะเจ็บขนาดไหนใจก็จะเป็นอุเบกขา ปล่อยวางได้ ไม่สะทกสะท้านกับความเจ็บ ต้องมีธรรมะแก่กล้าแล้ว มีสติสมาธิปัญญา ถึงจะพร้อมเข้าห้องสอบต่อสู้กับทุกขเวทนา.



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 พฤษภาคม 2567 12:55:48
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/65869436992539_441963716_1028099522031537_670.jpg)


ตัวตนไม่มี
ถาม : ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นเห็นธรรม คำว่าไม่มีตัวตนอยู่ในที่ไหนๆ จริงไหมครับ

พระอาจารย์ : คือตัวตนเป็นสมมุติที่เราสร้างสรรค์กันขึ้นมาเอง ด้วยความคิดของเรา ด้วยความจำของเรา เราคิดเราจำว่าเราเป็นตัวตน จนกระทั่งมันฝังเป็นความรู้สึกไป แต่ความจริงเราเป็นตัวรู้ผู้รู้เท่านั้นเอง ผู้รู้ผู้คิดเท่านั้น เป็นธรรมชาติที่รู้ที่คิด ตัวตนไม่มี


ตปะธรรม
ถาม : ความหมายของ ตปะธรรม คืออะไรคะ

พระอาจารย์ : ตปะ แปลว่าเครื่องแผดเผากิเลส ก็คือขันติ ความอดทน “ขันติ ตโปติสิกขา” พระพุทธเจ้าบอกว่าขันตินี้เป็นธรรมอันเลิศ เป็นเครื่องมือแผกเผากิเลส ผู้ที่จะต่อสู้กับกิเลส เช่น เวลาเจอทุกขเวทนาแล้วกิเลสมันบอก หนีดีกว่าๆ เราก็ต้องใช้ขันติอดทน ตปะธรรม อันนี้สำหรับนักปฏิบัติสำคัญมาก ถ้าไม่มีขันติ ไม่มีความอดทนแล้วสู้ไม่ได้ พอเจ็บหน่อยปวดหน่อย เลยไม่เอาแล้ว ถอยดีกว่า ถ้าขามันสั่นก็ให้มันสั่นไปเถอะ เดี๋ยวผ่านไปได้แล้วมันจะสบาย


เอาของแท้ของจริง ยศทางธรรมเอาไปได้
ถาม : อยู่ในสายวิชาการครับ ก็ต้องมีผลงานเยอะๆ ซึ่งบางทีก็เป็นการสร้างอัตตาตัวตนขึ้นมา ไม่ได้ทำบาป แต่ว่ามันก็มีทุกข์ มันก็เป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งใช่ไหมครับ อยากให้พระอาจารย์สอนวิธีการวาง และการปล่อยวางตัวนี้ครับ

พระอาจารย์ : มันเป็นโลกธรรม ต้องพิจารณาว่าโลกธรรมมันก็เจริญได้ มันก็เสื่อมได้ หรือว่าถ้าเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ก็มีคนที่เขาสูงกว่าเรา คนที่เท่าเราและคนที่เขาต่ำกว่าเรา แต่มันก็เป็นของชั่วคราว เดี๋ยวเวลาเกษียณอายุมันก็หมดความหมายไป เคยเป็นอะไรก็หมดไป งั้นมันเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะขวนขวาย หรือสิ่งที่เราควรขวนขวาย น่าจะขวนขวายเรื่องทางธรรมะดีกว่า ขวนขวายการเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี อนาคามีดีกว่า ดีกว่าไปขวนขวายเป็นรองศาสตราจารย์ เป็นศาสตราจารย์อะไรอย่างนี้ มันไม่ได้ทำให้จิตใจเรามีความสุข มีความสงบหรอก

ถาม : แต่ก็ยังต้องทำอยู่ ใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ : คือถ้าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำก็ทำ ถ้าไม่เป็นหน้าที่ หลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ต้องไปทำดีกว่า ถ้าเราคิดว่าทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็พอ ไม่ได้เพื่อให้เราสูงขึ้นด้วยตำแหน่งด้วยอะไรต่างๆ ทำเพื่อมีรายได้ เพื่อที่เราจะได้มาเลี้ยงตัวเรา เลี้ยงครอบครัวเราเท่านั้นก็พอ หาเวลามาปฏิบัติธรรม เพราะว่าพวกยศพวกนี้เอาไปไม่ได้ แต่ยศทางธรรมเอาไปได้นะ โสดาบัน พอเป็นโสดาแล้วเป็นโสดาไปตลอด ไปเกิดที่ไหนก็เป็นโสดาต่อ เอาของแท้ของจริง ทรัพย์ภายในเป็นทรัพย์ที่แท้จริง อริยทรัพย์นี่ อริยทรัพย์ก็คือนี่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ นิพพานนี่ เป็นทรัพย์ที่แท้จริง เป็นอริยทรัพย์ที่จะติดไปกับใจ แต่ทรัพย์ภายนอกนี้เป็นแค่พอตายไปก็จบ เอาไปไม่ได้ งั้นถ้าเราไม่จำเป็นต้องทำก็อย่าไปทำ แต่ถ้าเราถูกบังคับ อยู่ในสังคม แล้วเขายัดเยียดให้เราต้องทำ ถ้าเรายังต้องอยู่กับเขาอยู่ก็ทำไป แต่อย่าทำด้วยความอยาก


สังโยชน์ ๕ ข้อปฏิฆะ พยาบาท
ถาม : มีคำถามเรื่องสังโยชน์ข้อที่ ๕ ค่ะ พยาบาทน่าจะเป็นข้อที่ง่าย ทำไมถึงเอามาไว้เป็นข้อที่ ๕ มันมีความละเอียดมากน้อยแค่ไหนคะ

พระอาจารย์ : มันไม่ใช่พยาบาท ปฏิฆะ ความหงุดหงิดใจ เวลาเกิดกามารมณ์ขึ้นมา ไม่ได้เสพกามก็หงุดหงิด มันมาจากการที่เราเกิดมีกามารมณ์ขึ้นมา กามราคะขึ้นมา อยากจะเสพกาม ยังไม่ได้เสพ พอได้เสพ อาการหงุดหงิดก็หายไป แต่หายไปแบบชั่วคราว เดี๋ยวพอความอยากจะเสพกามเกิดขึ้นมาอีก ความหงุดหงิดก็ตามมาอีก อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เวลาเกิดกามขึ้นมา ต้องเสพกาม ถึงจะบรรเทาความหงุดหงิดใจ

ถาม : ไม่ได้เสพกามในทุกๆ เรื่องของกามหรือคะ

พระอาจารย์ : อันนี้เรื่องกามราคะ ไม่ได้ร่วมหลับนอนกับแฟน อะไรอย่างนี้

ถาม : แล้วเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสละคะ

พระอาจารย์ : มันมารวมตรงนี้หมด เวลาเสพกาม มันรวมรูปเสียงกลิ่นรสของแฟนเข้ามาหมด

ถาม : พิจารณาร่างกายเห็นเป็นเซลล์ ได้ไหมคะ

พระอาจารย์ : นั่นเห็นเป็นอนัตตา ถ้าเป็นเซลล์ก็เป็นธาตุ เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ พระพุทธเจ้าทรงบอกว่ามันมีหลายแง่มุมต้องพิจารณา ในแง่มุมของธาตุ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้ไม่มีตัวตน มีแต่เซลล์ มีแต่อะตอม มีแต่โมเลกุล ถ้าเราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราก็จะมองอย่างนี้ได้

ถาม : หนูมองเห็นเป็นอะตอม เป็นโมเลกุล แล้วท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเลย

พระอาจารย์ : ก็มีไนโตรเจน ออกซิเจน คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ก็มารวมกัน มันก็เป็นธาตุไม่ใช่เหรอ เรามันว่าธาตุไม่ใช่เหรอ อันนี้ก็ได้ เพื่อจะดูว่าไม่มีตัวตน เพราะเราไม่ได้อยู่ในร่างกายของเรา
 
ถาม : เหมือนมองร่างกายเรา ท้ายสุดก็คือความว่าง

พระอาจารย์ : ไม่ว่าง มันมีอยู่ มันว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน แต่มันมีออกซิเจน มันมีธาตุต่างๆ สักวันมันก็ต้องแยกออกจากกันไป

ถาม : งั้นเราก็มองทุกคนที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้

พระอาจารย์ : ไม่ได้หรอก กามารมณ์มันไม่ได้ดับด้วยอย่างนี้ กามารมณ์ต้องมองส่วนที่ขยะแขยง

ถาม : เห็นอสุภะ ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : เออ ต้องดูอสุภะ ดูว่ากลิ่นมันเหม็น เห็นลำไส้กับตับไตอะไรอย่างนี้ มันถึงจะดับกามารมณ์ได้ ไอ้ที่พิจารณาเมื่อกี้มันดับการยึดถือว่าร่างกายเป็นตัวตน คนละเรื่องกัน แต่ก็ต้องพิจารณาเหมือนกัน ต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่ามันเป็นทุกข์เวลาหงุดหงิดใจ ไปเกิดมีกามารมณ์ขึ้นมา มันก็หงุดหงิดใจ ถ้าไปชอบร่างกายของใครเข้า มันก็หงุดหงิดใจ ทำให้เราหงุดหงิดใจขึ้นมา

ถาม : แล้วถ้าเรามองเห็นปุ๊บก็เห็นหนัง เห็นฟัน แล้วก็เห็นความแก่ของเขาละคะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ : ก็เห็นแบบไหนก็ได้ ขอให้เห็นแล้ว มันทำให้กามารมณ์มันดับไปได้ก็แล้วกัน เห็นโครงกระดูกอย่างนี้ เห็นโครงกระดูกไหม ตัวเรานี่มีโครงกระดูกไหม มองเข้าไปให้เห็นโครงกระดูก มันมีอยู่ เพียงแต่เราไม่คิดถึงมันเอง ใช่ไหม มีหรือเปล่า ในร่างกายเรามีโครงกระดูกอยู่หรือเปล่า แต่ไม่เคยคิดถึงมันใช่ไหม ไม่เคยคิด ไม่เคยเห็นเลยใช่ไหม ต้องหัดมองมันมั่ง ถ้าเราเกิดกามารมณ์ ก็ต้องมองคนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึก ส่วนถ้ามองตัวเรา ก็ต้องมองเพื่อดับความหลงว่าเราสวยเรางาม ถ้าชอบคิดว่าเราสวยเรางาม ก็ให้มองทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังของเราเอง จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินไปทำศัลยกรรมตกแต่งอะไร ให้เสียเวลา ไม่ต้องย้อมผมให้มันเสียเวลา ก็เพียงแต่ดูแลให้มันสะอาดและเรียบร้อยก็พอแล้ว ให้มันเป็นธรรมชาติ พูดง่ายๆ ดูแลแบบธรรมชาติ


ต้องเป็นมนุษย์ถึงจะบรรลุธรรมได้
ถาม : ต้องเป็นมนุษย์อย่างเดียวใช่ไหมครับ ถึงจะบรรลุธรรมได้

พระอาจารย์ : ก็เป็นเทวดาก็ได้ แต่ต้องมีคนสอน คนที่ติดต่อกับเทวดาได้ คือจิตที่เป็นเทวดาก็คือจิตระดับเทวดา พวกที่ทำบุญ รักษาศีล ๕ นี่ เวลาตายไปก็จะเป็นเทวดา แล้วพวกนี้ก็ถ้ามีพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าที่ติดต่อกับกายทิพย์ได้ ก็จะเรียนจากพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ได้ แต่ถ้าเป็นมนุษย์มันจะง่ายกว่า เพราะพระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ พระอรหันต์ก็เป็นมนุษย์ ดังนั้นก็มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังธรรมง่ายกว่าพวกเทวดา
ธรรมะหน้ากุฏิ


วิธีดับโกรธ ก็คือการให้อภัย
ถาม : ถ้าคิดอะไรไม่ดี พอเราเบรกแล้ว ตำหนิต่อ ก็เลยรู้สึกเครียดมาก

พระอาจารย์ : นั่นไม่ได้เป็นการเบรก เป็นการเหยียบคันเร่งโดยที่คิดว่าเป็นการเบรก ต้องเบรกด้วยเหตุผล เวลาคิดเรื่องไม่ดีก็ควรคิดว่า คิดแล้วทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร เช่นเวลาโกรธ ใครทุกข์ละ คนที่ถูกโกรธหรือคนที่กำลังโกรธ คนที่กำลังโกรธจะร้อนเป็นไฟ แต่คนที่ถูกโกรธไม่รู้เรื่องเลย นอนหลับสบาย โมโหสามีนอนไม่หลับทั้งคืน แต่สามีนอนหลับสบาย ต้องให้อภัยสามี จะได้นอนหลับ วิธีดับความโกรธก็คือการให้อภัย ไม่จองเวร ถ้ายังให้อภัยไม่ได้ ก็อย่าไปคิดเรื่องที่ทำให้โกรธ ให้คิดพุทโธๆไปเรื่อยๆจนหลับไป พอตื่นขึ้นมาก็จะลืม

ถาม : ถ้าเราวางมัน ก็ต้องทำให้เราเบา ไม่ใช่วางแล้วหนัก

พระอาจารย์ : ใช่  ถ้าวางแล้วหนัก ก็ไม่ได้วาง


แย่งความคิดมาใช้ทางธรรม
ถาม : ภาวนาอยู่ที่บ้าน ให้มีสติพิจารณา แต่ความคิดมันแวบไปเรื่อย มันแวบถี่ๆ ต้องอยู่กับพุทโธ แต่ก็ยังหลุดอยู่เรื่อย

พระอาจารย์ : บริกรรมพุทโธหรือพิจารณาเกิดแก่เจ็บตายไป ท่องไปก่อนก็ได้ ท่องว่าเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา อย่าให้จิตคิดเรื่องอื่น กิเลสกับธรรมจะแย่งความคิดกัน แล้วแต่ว่าใครจะเอามาคิด ถ้ากิเลสเอามาคิดก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเอาธรรมะมาคิด ก็จะทำให้จิตสงบ ถ้าท่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดแก่เจ็บตายไว้ ความคิดอยากในกาม อยากมีอยากเป็น ห่วงนั่นห่วงนี่ ก็จะไม่มีโอกาสได้คิด

ถาม : บางทีความคิดไหลมาอย่างไม่ปะติดปะต่อกัน

พระอาจารย์ : ถ้าเราไม่แย่งความคิดมาใช้ทางธรรม มันก็ไปคิดเรื่องอื่นทันที


เป็นปัญญาเฉพาะกิจ
ถาม : ปกติเวลานั่งสมาธิจะกำหนดลมหายใจ ถ้านิ่งดีก็จะสงบไปเลย แต่บางวันจิตฟุ้งมาก ก็จะดึงเอาศพคุณแม่มาดูบ้าง เอาศพคนอื่นมาดู แล้วก็พิจารณาไปเรื่อยๆ ใจก็จะสลดลง แล้วก็เข้าสู่สมาธิ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คือในคนๆเดียวกัน สามารถเลือกใช้ได้ใช่หรือไม่

พระอาจารย์ : ใช่ เลือกได้ วิธีไหนก็ได้ใน ๒ วิธีนี้ ปัญญาอบรมสมาธิ ก็คือการพิจารณาอริยสัจข้อแรกคือทุกขสัจ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอสุภะ หรือพิจารณาเวทนาความเจ็บปวดในขณะที่นั่งก็ได้ พิจารณาจนปล่อยวางเวทนาได้ จิตก็รวมลงสู่ความสงบได้ ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เวทนาที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้อยากให้มันหาย หรือกลัวมัน ปล่อยมันไปตามเรื่อง
 
ถาม : บางทีกำหนดลมหายใจแล้วเอาไม่อยู่ ก็เลยดึงศพคุณแม่มาดู

พระอาจารย์ : เป็นการทำสมาธิ พอได้สมาธิแล้วก็ต้องเจริญปัญญา เพื่อละอุปาทานความยึดติดในขันธ์ ๕ เช่นยึดติดในร่างกาย ตอนที่ทำปัญญาอบรมสมาธินี้ เป็นปัญญาเฉพาะกิจ ทำเพื่อให้จิตสงบ แต่มีผลพลอยได้ตามมาด้วย คือได้ปัญญาละอุปาทานในขันธ์ ถ้าพิจารณาร่างกายและเวทนา ยิงทีเดียวได้นกถึง ๒ ตัว ได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา ปล่อยวางเวทนาได้ แต่ยังมีกิเลสที่ละเอียดกว่า ที่ต้องใช้ปัญญาเข้าไปขุดคุ้ย หลวงตาท่านเทศน์ว่า ตอนต้นกิเลสจะออกมาเพ่นพ่าน พวกนี้จับง่าย พอพวกที่ออกมาเพ่นพ่านหมดไปแล้ว เหลือพวกที่ซ่อนอยู่ ต้องขุดคุ้ย เหมือนไก่ขุดคุ้ยหาตัวไส้เดือนตัวหนอนที่ซ่อนอยู่ในดิน ต้องวิเคราะห์ดูความรู้สึกในใจ ถ้าเศร้าหมองแสดงว่าเป็นปัญหา ต้องแก้ด้วยปัญญา.


ไม่เห็นยากตรงไหนเลย
ถาม : ฝึกทำสมาธิ มีวิธีไหนที่ทำให้มันอยู่ นั่งแล้วจะลอยไปเรื่อย

พระอาจารย์ :  มีแต่เราไม่ทำกัน ไปอยู่วัดสิ อยู่คนเดียว ตัดทุกอย่าง ทนเอาปี สองปีก็ต้องได้อะไรแน่ๆ เราเองทนอยู่ปีหนึ่ง อยู่คนเดียว ลาออกจากงาน แล้วอยู่คนเดียวเพื่อเจริญสติสมาธิปัญญา ไม่เห็นยากตรงไหนเลย แค่นี้ทำไมจึงตัดไม่ได้กัน เพียงปีเดียวกับการเจริญสติ ให้เวลากับอย่างอื่นเป็นสิบๆปีได้ แต่ให้กับสิ่งที่มีสาระมีคุณมีประโยชน์กับใจไม่ได้ ถ้าให้ไม่ได้ก็จะไม่ได้มรรคผล

ถาม : เอาแบบเริ่มต้น ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น

พระอาจารย์ : พุทโธๆไปเรื่อยๆ อย่าคุยกับตัวเอง ให้รู้อยู่กับงานที่กำลังทำ อย่าไปคิดเรื่องอื่น แปรงฟันก็ให้อยู่กับแปรงฟัน พุทโธๆไปแปรงฟันไป กินข้าวไปพุทโธๆไป เท่านั้นพอ อย่าไปคุยกับคนอื่น


พ่อแม่เป็นเหมือนพระอรหันต์ของลูก
ถาม : พ่อป่วยไม่สบายมาเกือบ ๔ ปีแล้ว พี่ๆสามคนเขารวมหัวกันเกี่ยงให้เป็นหน้าที่ของผมคนเดียว เคยขอให้เปลี่ยนบ้างก็ไม่ได้ ให้ช่วยค่าใช้จ่ายบ้างก็ไม่ได้ พูดขออะไรก็ไม่ร่วมมือเลย จนรู้สึกรังเกียจแทบไม่อยากนับเป็นพี่น้อง บางครั้งเครียดมาก มีครอบครัวพี่อีกคนที่พึ่งพาได้ ไม่รู้จะทำอย่างไรครับ

พระอาจารย์ : เราควรจะคิดใหม่ เราควรจะคิดว่าการได้เลี้ยงดูตอบแทนคุณพ่อแม่นี้เป็นบุญอย่างมาก เพราะพ่อแม่ของเรานี้เป็นเหมือนพระอรหันต์ของลูกๆ การได้ตอบแทนบุญคุณกับพ่อแม่นี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก ได้บุญมาก ถ้าคนอื่นเขาไม่อยากจะได้บุญ เรามาเหมาหมดเลย ต้องคิดแบบนี้ แล้วเราจะมีความสุขจากการที่เราเลี้ยงดูพ่อแม่  เราไม่นึกถึงบุญคุณของพ่อแม่กัน เราเลยมาเกี่ยงกัน ทำไมเราไม่นึกถึงตอนที่เราเป็นเด็ก ตอนที่เราช่วยตัวเราเองไม่ได้ พ่อแม่ต้องทุกข์ยากลำบากกับเราขนาดไหน ช่วงคลอดออกมาใหม่ๆ นี้ เดี๋ยวก็ร้อง ดึกๆ ดื่นๆ ก็ร้อง พ่อแม่นอนหลับก็ต้องตื่นขึ้นมาดูว่า “มันเป็นอะไรนะ ปวดท้อง หิว หรืออะไร ต้องมาคอยบำบัดความทุกข์ให้อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่คิดถึงบุญคุณของพ่อแม่ เราก็เลยเกี่ยงกัน   แต่ถ้าเราคิดถึงบุญคุณของพ่อแม่แล้ว เราอยากจะตอบแทนบุญคุณคนเดียว อยากจะเหมาเอาคนเดียว คนอื่นไม่เอาไม่เป็นไร เพราะว่าบุญคุณของพ่อแม่นี้ยิ่งใหญ่มหาศาล เพราะไม่มีพ่อแม่จะมีเราได้อย่างไร เราเกิดมาเป็นคนได้นี้ ถ้าไม่มีพ่อแม่จะมาเกิดเป็นคนได้อย่างไร พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าบุญคุณของพ่อแม่นี้ ต่อให้เลี้ยงดูท่านดีขนาดไหนก็ตาม แบกท่านไว้บนบ่าบนไหล่ ให้ท่านอุจจาระปัสสาวะใส่เราไปจนถึงวันตาย บุญคุณของท่านก็ใช้ไม่หมด อันนี้แหละคือความยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ของเราที่พวกเราไม่มีใครสอนกัน ไม่มีใครให้คิดกัน คิดแต่จะเอาประโยชน์จากพ่อแม่อย่างเดียว พ่อแม่มีสมบัติเท่าไหร่เดี๋ยวแย่งกันแล้ว ใช่ไหม นี่พ่อแม่ตายมาตีกันแล้ว มาตีมาแย่งสมบัติกัน แต่เวลาพ่อแม่ต้องการความช่วยเหลือของเรา ไม่มีใครมาแย่งช่วยเหลือกันเลย เพราะความโลภความหลงของเรา ความเห็นแก่ตัวของเรา อยากจะได้ประโยชน์ ไม่อยากจะรับภาระ


พร้อมที่จะเผชิญ
ถาม : เรื่องการเจ็บป่วย ไม่ทราบว่าวาระสุดท้ายของเรา จะทุกข์ทรมานขนาดไหน ถ้าจิตใจไม่มีความพร้อมแล้ว จะลำบากมาก

พระอาจารย์ : ถ้าไม่มีธรรมโอสถ ไม่มียารักษาใจ พอร่างกายเป็นอะไร ใจก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายยังพอมียารักษา แต่ใจไม่มี ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้สร้างธรรมโอสถ ถ้ามีก็สบาย ไม่เดือดร้อน

ถาม : ตอนนี้ก็เลยกลัวว่า จะไม่พร้อมที่จะเผชิญกับภาวะนั้น

พระอาจารย์ : ทำไมปล่อยให้ไม่พร้อมละ

ถาม : ก็พยายามทำอยู่ แต่ก็อาจจะไม่กล้าหาญ อย่างที่พระอาจารย์พูด ความกลัวหลายอย่างมันยังมีอยู่ในใจ

พระอาจารย์ : มันเหมือนวงจรอุบาทว์นะ จะออกจากความทุกข์ได้ ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ พอกลัวความทุกข์ก็เลยออกไม่ได้ ก็ยังวนเวียนอยู่กับกองทุกข์นี้อยู่ ควรมองว่า เหมือนกับมีเสี้ยนมีหนามตำเท้าเรา เวลาเดินแต่ละครั้งมันก็เจ็บ ถ้าเราถอนผ่ามันออกมา อาจจะเจ็บหน่อย แต่เจ็บไม่นาน พอแผลหายแล้วก็สบาย เป็นความทุกข์ระยะสั้น ไม่ได้ทุกข์ไปตลอด เหมือนทุกข์ที่เราติดอยู่ ที่นานเป็นกัปเป็นกัลป์   แต่ความทุกข์ที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์นี้ แค่ ๗ วัน ๗ คืนเท่านั้น ในยุคที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เกิน ๗ ปี ทนไม่ได้หรือแค่ ๗ ปีเท่านั้น หรือว่าจะยอมทุกข์ไปเป็นกัปเป็นกัลป์ ยอมปล่อยให้เสี้ยนหนามติดอยู่ในเท้า ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะมีกำลังใจ  ความสุขของพวกเราเป็นแบบสุขๆดิบๆ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ สุขน้อยกว่าทุกข์ พอสุขแล้วก็จะมีความทุกข์ตามมาเสมอ ส่วนทางปฏิบัติจะทุกข์ก่อนแล้วค่อยสุขทีหลัง ดีกว่าสุขก่อนแล้วทุกข์ทีหลัง.


ภาชนะที่รองรับธรรม
ถาม : ในสภาวะที่เราฟังธรรมอยู่นี้ คือสภาวะที่จิตเราสงบเป็นสมาธิลงไป มันน่าจะรับอะไรได้มากกว่าภาวะธรรมดาๆ ถูกไหมครับ

พระอาจารย์ : ขึ้นอยู่กับภาชนะที่รองรับ ใหญ่หรือเล็ก ถ้าเล็กก็รับได้น้อย ถ้าภาชนะอยู่ในระดับทาน ก็จะรับได้ในระดับทาน ถ้าอยู่ในระดับสมาธิ ก็จะรับได้ในระดับสมาธิ ถ้าอยู่ในระดับทาน มีอะไรก็เอาไปแจกจ่ายหมดเลย อยู่แบบพระไปเลย แสดงว่ามีภาชนะรองรับคำสอนในระดับทานได้อย่างเต็มที่ บางคนฟังแล้วในระดับทานยังทำไม่ได้เลย ทำได้เพียงเล็กๆน้อยๆ พอหอมปากหอมคอ ยังหวงเก็บไว้ซื้อของส่วนตัวมาใช้ มาเที่ยวมากินมาเล่น นี่แสดงว่าขนาดระดับทานยังทำไม่ได้เลย ถ้าทำได้จริงๆจะให้หมดเลย จะเก็บไว้เท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
ถ้าในระดับศีล จะรักษาศีลได้โดยไม่มีข้ออ้างเลย ไม่มีข้อแม้อะไรทั้งสิ้น จะรักษาได้มากน้อยกี่ข้อกี่วัน ก็อยู่ที่ภาชนะของศีลที่ได้สร้างขึ้นมา ในระดับสมาธิระดับปัญญาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีภาชนะในระดับปัญญา พอแสดงธรรมปั๊บก็จะบรรลุได้ทันที อย่างพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ท่านมีแล้วทั้งทานทั้งศีลทั้งสมาธิ ทานท่านก็สละเรือนออกบวชแล้ว ศีลก็รักษาอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็ได้ในระดับฌาน ที่ไม่ได้ก็คือปัญญา มีอยู่บ้างแต่ไม่พอสอนใจให้หลุดพ้นได้ ขาดเพียงอันเดียวคืออนัตตา ท่านเห็นอนิจจัง รู้ว่าเกิดแล้วต้องแก่เจ็บตาย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดแก่เจ็บ ตายนี้เป็นอะไรกันแน่ ยังหลงคิดว่าเป็นตัวท่านอยู่ พอพระพุทธเจ้าทรงบอกว่า สิ่งที่เกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่ใช่ท่าน เป็นตุ๊กตา ได้มาจากพ่อจากแม่ แล้วหลงคิดว่าตุ๊กตาตัวนี้เป็นท่าน มันไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ตัวท่าน พอทรงตรัสอย่างนี้ท่านก็เข้าใจ ก็ปล่อยวางได้.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 มิถุนายน 2567 16:06:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81759422106875_448813355_1044051447103011_231.jpg)


ต้องพิจารณาธรรมะอยู่เรื่อยๆ
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ ตอนที่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องคนเจ็บป่วยตอนที่จะตายนี่ เวทนาทางกายมาก มันก็ทำให้เวทนาทางจิตเกิดตามไปด้วย คนทั้งหลายไม่มีความพร้อมที่จะรับกับสิ่งนั้น จะทำอย่างไรให้ความพร้อมมันมี

พระอาจารย์ : ต้องปฏิบัติธรรม ต้องพิจารณาธรรมะอยู่เรื่อยๆ เรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่าเป็นธรรมดา ก็จะลดความทุกข์ทางด้านจิตใจไปได้เยอะ ความทุกข์ทางกายมันแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เวลาที่เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วเกิดความทุกข์นี่ จะมีทุกข์ ๒ อย่างเกิดขึ้นมา ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ทุกข์กายแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกข์ใจ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาปฏิบัติทำจิตให้สงบนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า ตอนที่จิตยังไม่สงบ จะมีความกังวล ความวุ่นวายใจเกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่พอจิตสงบลงไปปั๊บนี่จะเห็นเลยว่า ความเจ็บปวดของร่างกายมีนิดเดียวเอง ที่เจ็บปวดส่วนใหญ่อยู่ในใจ เช่นเวลาอดอาหาร ถ้าจิตไม่สงบนี่ มันฟุ้งซ่าน มันทรมาน คิดแต่เรื่องอาหาร แต่พอทำจิตให้สงบปั๊บ ความทุกข์ที่เกิดจากความฟุ้งซ่าน ความคิดปรุงนี่มันหายไป เหลือแต่ความรู้สึกหวิวๆท้องเท่านั้นเอง

ความทุกข์ทางกายนี่มันน้อยมาก เมื่อเทียบกับความทุกข์ทางใจ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงไม่หวั่นไหวกับความเป็นความตาย เพราะผ่านมาหมดแล้ว เวทนาขนาดไหนก็ผ่านมาหมดแล้ว ผ่านมาได้ เพียงทำจิตให้นิ่ง แล้วปล่อยให้เวทนาแสดงไปเต็มที่ จนกว่าจะหายไปเอง อย่างหลวงตาท่านเล่าว่าท่านนั่งสมาธิทั้งคืน ทุกขเวทนาก็มาถึง ๓ หรือ ๔ ระลอกด้วยกัน ระลอกแรกนี่เป็นเหมือนหนู ระลอกที่ ๒ เหมือนแมว ระลอกที่ ๓ หรือ ๔ เป็นเหมือนช้าง เหมือนกับถูกช้างเหยียบไปทั้งตัว ร่างกายทุกส่วน อวัยวะทุกส่วนมันปวดร้าวไปหมด แต่ถ้าใจไม่หวั่นไหวกับมัน พิจารณาแยกแยะกายให้ออกจากเวทนาออกจากจิตได้ ความทุกข์ใจก็จะไม่มี มีแต่ความทุกข์กาย ที่ใจรับได้อย่างสบาย.


พิจารณาความเสื่อม
ถาม : ถ้าจิตไม่รวม เราก็จะพิจารณาไม่ได้

พระอาจารย์ : ได้ แต่เป็นเหมือนมีดที่ไม่คม คนตัดก็ไม่มีแรง ตัดได้ทีละนิดทีละหน่อย แต่จะไม่ขาด ต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องซ้อมไปก่อน ซ้อมนั่งสมาธิซ้อมใช้ปัญญา ควรบำเพ็ญสมาธิและปัญญาสลับกันไป ช่วงนี้นั่งสมาธิ ช่วงหน้าก็พิจารณา ถึงแม้ยังตัดไม่ได้ พิจารณาเพื่อให้เกิดความชำนาญ พอจิตรวมแล้วปัญญาจะไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องทำสลับกันไป

ถาม : นั่งสมาธิทุกวัน แต่เวลาออกจากสมาธิแล้วยังหงุดหงิดขี้โมโห เวลากระทบเรื่องงาน

พระอาจารย์ : เพราะไม่เจริญปัญญา สมาธิอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญา ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะตัดได้  ในมรรค ๘ มีทั้งสัมมาสมาธิ มีทั้งสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป คือปัญญานั่นเอง

ถาม : ไม่รู้ว่าจะพิจารณาตรงไหน

พระอาจารย์ : พิจารณาความเสื่อม ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยง พิจารณาร่างกายก่อน ร่างกายของคนรอบข้าง พิจารณางานที่ทำอยู่ว่าถาวรหรือไม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ บริษัทเปิดได้ก็ปิดได้


ต้องสลับกันทำ อย่าทำอย่างเดียว
ถาม : ตอนที่หยิบข้อธรรมะขึ้นมาพิจารณา ให้เป็นวิปัสสนานี่ ต้องใช้สมาธิแบบไหน

พระอาจารย์ : ต้องออกมาจากสมาธิก่อน มาอยู่ในจิตปกติก่อน

ถาม : ไม่ใช่อยู่ในอุปจาร  ออกมาเป็นปกติเลย

พระอาจารย์ : ออกมาเป็นปกติ มารับรู้ภายนอกก่อน แล้วค่อยพิจารณา ต้องพิจารณาตลอดเวลาเลย ในขณะที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ แทนที่จะปล่อยให้จิตเป็นเครื่องมือของกิเลส ต้องดึงเอามาเป็นเครื่องมือของธรรมะ พอออกจากสมาธิปั๊บ ถ้าไม่เคยพิจารณา จะกลับไปคิดตามกิเลสทันที กิเลสให้คิดว่า นั่งมานานแล้ว เมื่อยแล้ว หาอะไรมาดื่มสักหน่อย หรือนอนสักหน่อย หรือเปิดวิทยุฟังสักหน่อย นี่ไปทางกิเลสแล้ว อย่าปล่อยให้มันทำอย่างนั้น ต้องดึงมาพิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายเป็นต้น

ถาม : ถอยออกมาแล้วก็พิจารณา พิจารณาแล้วก็กลับไปเข้าสมาธิใหม่ ทำอย่างนี้ตลอดเวลาใช่หรือไม่

พระอาจารย์ : ต้องสลับกันทำ อย่าทำอย่างเดียว ทำอย่างเดียวเหมือนกับเดินขาเดียว ปัญญากับสมาธิเป็นเหมือนเท้าทั้ง ๒ ข้างของเรา เวลาก้าวเท้าซ้าย ก็ใช้เท้าขวายัน เวลาก้าวเท้าขวา ก็ใช้เท้าซ้ายยัน สลับกันไป ถ้าพิจารณาอย่างเดียวจิตจะล้าจะเพลีย จะหมดความสงบ จะไม่เป็นเหตุเป็นผล จะฟุ้งซ่านขึ้นมา เป็นอุทธัจจะขึ้นมา ตอนนั้นต้องกลับไปทำสมาธิให้สงบตัวลง พักจิตให้ได้กำลัง เหมือนกับคนตัดไม้ เวลาตัดใหม่ๆ มีดก็คมคนตัดก็มีแรง พอตัดไปสักระยะหนึ่ง มีดก็จะทื่อ คนตัดก็จะเมื่อยล้าหมดแรง ก็ต้องหยุดพัก กินข้าว พักผ่อนหลับนอน ลับมีดให้คม แล้วค่อยออกไปตัดไม้ต่อ การพิจารณาปัญญาเพื่อตัดกิเลส ก็เป็นเหมือนกับการตัดไม้ ตอนพิจารณาใหม่ๆก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะจิตมีความสงบ มองอะไรก็มองไปตามความจริง แต่พอความสงบหายไป ความหลงก็จะเข้ามาแทนที่ อารมณ์ก็จะเข้ามาแทนที่ พอจะให้ตัดก็จะเสียดาย ตัดไม่ลง


คำตอบอยู่ในไตรลักษณ์
ถาม : เวลาภาวนาจะมีคำถามคำตอบเกิดขึ้นตลอดเวลา บางคำตอบมันก็กระจ่าง เพราะมันกระจ่างที่ใจเลย แต่ในบางคำตอบมันไม่กระจ่าง แล้วมันจะติดออกมาให้พิจารณาในภายหลังอยู่เสมอ
 
พระอาจารย์ : เป็นการพัฒนาจิตใจ ความคิดความสงสัยต่างๆ พอมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาคำตอบ ถ้าปัญญายังไม่ทันก็ยังหาคำตอบมาไม่ได้ แต่พอพิจารณาไปสักระยะหนึ่งก็ได้คำตอบ คำตอบอยู่ในไตรลักษณ์ ถ้าใช้ไตรลักษณ์แล้วจะพบคำตอบ 


ให้อยู่ในวงของขันธ์ ๕
ถาม : จิตไม่เป็นสมาธิเลยคะ พอนั่งไปสักพักหนึ่งคำถามคำตอบต่างๆจะขึ้นมาทันที

พระอาจารย์ : จิตจะไปในทางปัญญาอบรมสมาธิ ก็ให้อยู่ในวงของขันธ์ ๕ ในวงของไตรลักษณ์ ถ้าไปในวงของลาภยศสรรเสริญสุข ก็แสดงว่าหลงทางแล้ว

ถาม : บางทีไปค้นหาคำตอบในหนังสือ

พระอาจารย์ : ค้นในใจเรานี่แหละ บางทีหนังสือก็ให้คำตอบกับเราได้ บางทีไปอ่านหนังสือของครูบาอาจารย์ก็ได้คำตอบ บางทีมีโอกาสได้พบกับครูบาอาจารย์ แล้วแย้มออกไปให้ท่านทราบ ท่านก็จะช่วยเราได้ 

ถาม : บางทีมันอัดอั้นตันใจ มันคิดซ้ำๆซากๆไปตลอด

พระอาจารย์ : การปฏิบัติโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์กับมีก็ต่างกันตรงนี้ เวลามีปัญหาครูบาอาจารย์ช่วยเราได้ ท่านปฏิบัติผ่านมาแล้ว ท่านรู้แล้ว พอเราติดตรงนี้ปั๊บท่านก็จะบอกเราได้ ถ้าไม่มีก็ต้องพึ่งตนเองไปก่อน เปิดหนังสือดูก็ได้ ขอให้เป็นหนังสือที่เป็นธรรมะจริงๆก็แล้วกัน ถ้าไปเจอหนังสือธรรมะที่ไม่จริง ก็จะทำให้เราเขว.


ต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่
ถาม : เรื่องเกี่ยวกับว่าทุกอย่างเป็นธาตุ ๔ นี้ ก็พอดีเมื่อวันศุกร์ไปงานศพ แล้วก็ไปดูโลงศพ จากการที่ได้ฟังเรื่องนี้มาก่อน ก็พิจารณาตาม เสร็จแล้วเหมือนกับว่าจิตมันไหลไปเอง ความคิดเราไหลไปเอง ว่าเป็นธาตุดินเป็นธาตุน้ำฯลฯ ต้องทำอย่างไรดีคะ

พระอาจารย์ : ก็ควรเจริญต่อไป ให้ปรากฏอยู่กับเราอยู่เรื่อยๆ

ถาม : แต่ตอนนั้นไม่ได้บังคับให้พิจารณานะ

พระอาจารย์ : ตอนนั้นมันไปโดยอำนาจของบุญบารมีที่ได้บำเพ็ญมา เป็นปัญญาเก่าที่เคยพิจารณามาก่อน เหมือนถ่านไฟเก่าที่ได้ไฟใหม่ ไฟเก่ามอดไปแต่ไม่ดับ พอได้สะเก็ดไฟก็ลุกขึ้นมาใหม่ พอเราถอนออกมามันก็หยุด พอมันไหม้หมดมันก็หยุด เราก็ต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่ ตอนนี้มีกำลังพิจารณาได้ในระดับหนึ่ง ถ้าพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกเวลานาที เวลากำหนดดูทีไรก็จะกลายเป็นธาตุไปทันที กลายเป็นซากศพไปทันที.


มักจะถูกกิเลสแย่งไป
ถาม : บางครั้งคิดว่าจะทำงานให้มีเงินเยอะๆ จะได้ทำบุญเยอะๆ

พระอาจารย์ : คิดอย่างนั้นก็ดี แต่ส่วนใหญ่พอมีแล้วมักจะลืมกัน มักจะถูกกิเลสแย่งไปก่อน ตอนแรกก็คิดจะทำบุญเยอะๆ แต่พอมีเงินแล้ว ไอ้นั่นก็สวย ไอ้นี่ก็ดี ที่นั่นก็น่าไปเที่ยว ขอแบ่งเงินไปหน่อย ความจริงแล้วไม่ควรทำงานเพื่อเอาเงินมาทำบุญ ทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อให้มีเวลาไปปฏิบัติธรรมจะดีกว่า เพราะบุญที่ได้จากการให้ มันน้อยกว่าบุญที่ได้จากการปฏิบัติธรรม เกิดจากการรักษาศีล ที่ให้ทำบุญให้ทาน เพราะมีเหลือกินเหลือใช้ เป็นวาสนาที่ทำมาหากินเก่ง ทำได้มากเกินความจำเป็น ก็ให้เอาไปทำบุญเสีย แต่อย่าไปตั้งเป้าทำเพื่อเอาเงินมาทำบุญ ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เป็นการหลอกตัวเอง จะได้ทำงาน จะได้ไม่ต้องไปรักษาศีล จะได้ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีเวลา.


ฟังให้เกิดปัญญาหรือให้เกิดสมาธิ
ถาม : เวลาที่ท่านอาจารย์พูดธรรมะเราก็คิดตามไป พอท่านอาจารย์พูดต่อไป เราฟังไม่ทัน มัวแต่คิดในเรื่องที่ท่านอาจารย์สอน อย่างนี้ไม่สมควรทำใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ :  สมควรนะ เวลาฟังนี่ฟังได้ ๒ ลักษณะ ฟังให้เกิดปัญญาหรือให้เกิดสมาธิ การฟังแล้วพิจารณาตามนี้ เป็นการฟังเพื่อให้เกิดปัญญา พอท่านพูดอะไรเราก็พิจารณาตาม ตามเหตุตามผล ถ้าเข้าใจก็เป็นปัญญา นำเอาไปปฏิบัติได้ อย่างที่ถามเรื่องการทำงานที่ไม่ให้เครียดจะให้ทำอย่างไร เราก็บอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าพิจารณาตามแล้วเข้าใจ ก็จะนำไปปฏิบัติได้ ก็เป็นปัญญา ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องผ่านไปก่อน ปัญญาเรายังตามไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร เพราะการฟังแต่ละครั้งอาจจะตามไม่ได้หมดทุกเรื่อง เพราะสติปัญญาของเราพิจารณาตามไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ไว้คราวหน้าค่อยตามใหม่ เพราะการแสดงธรรมจะเริ่มต้นจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ พอมาถึงขั้นที่เรารออยู่ก็จะฟังต่อ ขั้นที่ได้ผ่านมาแล้วก็ทบทวนดูว่า ความคิดของเรากับความคิดของท่านมันตรงกันหรือไม่ เหตุผลของท่านกับเหตุผลของเรามันตรงกันหรือไม่ เป็นการตอกย้ำความเข้าใจ ฟังอย่างนี้เป็นการฟังเพื่อปัญญา ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจเลย เพราะพิจารณาตามไม่ทัน มีปัญญาน้อยมาก ก็ให้ฟังแต่เสียงไปเรื่อยๆ จดจ่ออยู่กับเสียงไป เสียงนั้นก็จะเป็นเหมือนพุทโธๆให้เราเกาะ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นก็จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้ ก็จะเป็นสมาธิ นี่คือการฟังโดยไม่พิจารณาตาม อาจจะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะจะเกิดความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา ฟังแล้วไม่รู้เรื่องไม่รู้จะฟังไปทำไม ก็อย่าไปคิดอย่างนี้ พอถึงจุดที่ไม่เข้าใจก็ฟังแต่เสียงไป อย่าไปคิดอะไร ก็จะเป็นสมาธิ

เวลาฟังจึงไม่จำเป็นต้องพุทโธๆไปหรือดูลมหายใจไป ใช้พุทโธๆหรือลมหายใจในขณะที่เราภาวนาอยู่คนเดียว แต่ขณะที่ฟังต้องถือเสียงที่มากระทบกับหูเป็นองค์ภาวนา เกาะอยู่กับเสียงนั้นเฉยๆ ไม่คิดพิจารณาตามก็ได้ ผลก็จะได้ต่างกัน ถ้าพิจารณาตามก็จะเกิดปัญญา ก็จะบรรลุได้ จะบรรลุได้ต้องพิจารณาตาม แต่ถ้าฟังแล้วเกาะกับเสียงนั้นไป ไม่ไปคิดเรื่องอื่นมันก็จะสงบเป็นสมาธิ สมาธิดับกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสเกิดจากความหลง ความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิด ต้องฟังให้เกิดปัญญา เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดความเห็นที่ถูกต้อง มาระงับดับความหลงได้.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 กรกฎาคม 2567 11:48:07
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68609099421236_449446627_1051782456329910_398.jpg)



เชื่อแบบคนไข้เชื่อหมอ
ถาม : ท่านอาจารย์คะ เรื่องศรัทธานี่ บางครั้งก็มีคำถามอยู่เหมือนกัน

พระอาจารย์ : อย่าไปถามสิ เชื่ออย่างเดียว คนตาบอดอย่าไปสงสัยคนตาดี ในเบื้องต้นก็ต้องหาคนที่เราเชื่อถือได้จริงๆ  ถ้าไม่ได้ก็ต้องใช้ปัญญาประกอบไปก่อน  พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงสอนให้เชื่อแบบหูหนวกตาบอด  ต้องมีเหตุมีผล  อย่างในกาลามสูตรก็ทรงสอนว่าไม่ให้เชื่อเพราะเขาเป็นอาจารย์ของเราฯลฯ แต่ให้เชื่อเพื่อเอาไป พิสูจน์ดูว่าดีจริงหรือไม่ เชื่อแบบคนไข้เชื่อหมอ หมอให้ยามาก็รับประทานดู  ถ้าไม่รับประทาน  จะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่หมอให้มารับประทานนี้  รักษาโรคได้หรือไม่  ถ้าไม่รับประทานยาก็จะไม่รู้  แต่ถ้ารับประทาน จะรู้ว่ารักษาได้หรือไม่  ถ้ารับประทานหมดแล้วโรคยังเหมือนเดิม ก็แสดงว่ายาไม่ถูกกับโรค  ต่อไปหมอจะให้ยานี้มารับประทานอีกก็ไม่เอา  แต่ถ้ารับประทานแล้วอาการดีขึ้นตามลำดับ พอยาหมดก็ต้องกลับไปหาหมอ ขอยามาเพิ่ม

ฉันใดก็ฉันนั้น  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทำทานก็ทำไปสิ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่าทำเพื่อหวังผลตอบแทน อย่าทำเพื่อเอาหน้าเอาตา ลองทำแบบปิดทองหลังพระดูสิ อย่าไปปิดทองหน้าพระ  ทำไปเพื่อความสุขใจ  ไม่ต้องให้ใครรู้ว่าเราทำ  แล้วจะเกิดความสุขขึ้นมาในใจ  แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า  ทำแล้วเกิดประโยชน์หรือไม่ ถ้าสร้างอะไรที่ไม่จำเป็นจะสร้างทำไม  ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปสร้าง  คนที่อดข้าวจะตายกลับไม่สงสาร ไม่ดูแล ถึงแม้เขาจะเป็นคนไม่ดี  แต่ก็ควรคำนึงถึงมนุษยธรรม  แม้แต่ตำรวจเวลาจับผู้ต้องหามา  ถ้าถูกยิงบาดเจ็บก็ยังต้องเอาตัวไปรักษาก่อน  ในเมื่อคนเดือดร้อนยังมีอยู่อีกมาก อดข้าวอดปลา อดอยากขาดแคลน ทำไมไม่ช่วยเขาบ้าง ถ้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน จะมีความอิ่มเอิบใจ  เพราะได้ช่วยให้เขามีความสุข เมื่อเขามีกำลังวังชาแล้ว  จะไปประพฤติสำมะเลเทเมา  ก็ปล่อยเขาไปตามเรื่อง ถ้าซมซานกลับมาอีกไม่มีที่ไป ไม่มีข้าวกิน ก็ช่วยกันไป เหมือนกับเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่ง ไม่ให้มันตาย.


ขี้เกียจภาวนามากกว่า
ถาม : บ่อยครั้งไปหาครูบาอาจารย์ๆก็สอนว่า เข้าวัดมานานแล้ว ทำทานมามากแล้ว ภาวนาให้มากๆจะดีกว่า ท่านว่าอย่างนั้น บางทีเราก็อดไม่ได้ เพราะนิสัยทำทานมันมีมานาน

พระอาจารย์ : ไม่ใช่นิสัยทำทานหรอก ขี้เกียจภาวนามากกว่า ทานมีไว้เพื่อให้เรากำจัดสิ่งที่เรามีเกินความจำเป็น เป็นการเบรกความโลภด้วย ไม่อย่างนั้นก็อยากจะหาเงินมาเยอะๆ ไม่เคยถามเลยว่าหามาทำไม ถ้าหามาเพื่อเอาไปทำทาน หามาทำไม ก็วนอยู่อย่างนี้ หามาแล้วก็เอาไปทำทาน ก็ไม่ได้ไปไหนสักที  เหตุที่เราต้องหาเงินเพราะต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเรา  ถ้าโชคดีหรือมีความสามารถหาได้มากกว่าที่ต้องการ  ก็เอาไปทำบุญทำทานเสีย แทนที่จะเอาไปใช้ซื้อของฟุ่มเฟือย แทนที่จะใช้สบู่ก้อนละร้อย ใช้ก้อนละสิบบาทก็ได้  แต่ถ้าหามาได้เยอะ  ใช้ก้อนละร้อยก็ได้  เพราะมีเงินพอ  แต่ไม่ได้ทำทาน ก็จะติดกับการใช้ของฟุ่มเฟือย เงินก็จะไม่พอใช้  ไม่ได้ก้าวขึ้นสู่ขั้นศีล เพราะการหาเงินนี้ถ้าไม่ระวัง อาจจะทำผิดศีลได้ ในหลายกรณี เช่นเป็นลูกจ้างที่ไม่ทำงานตามเวลาที่ให้ทำ ก็เหมือนกับลักทรัพย์แล้ว เอาเวลาทำงานไปอู้เสีย ไปทำอะไรอย่างอื่น นั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์ อย่างนี้ก็เท่ากับการลักทรัพย์แล้ว  คือเงินเดือนที่จ่ายให้เป็นค่าแรง แต่ไม่ได้ทำงาน ทำให้ศีลบกพร่องด่างพร้อย ถ้าเป็นคนระมัดระวังศีล ก็จะทำงานตามหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง เงินทองที่หามาจึงได้มาด้วยความลำบากยากเย็น  เพราะต้องทำเต็มที่ เวลาจะใช้เงิน จึงใช้ด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าหาเงินมาด้วยวิธีที่ไม่ถูกแต่ง่าย ก็จะใช้เงินง่าย การทำมาหากินควรทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่วนเกินก็เอาไปทำบุญทำทาน แล้วก็พยายามหาเวลาไปภาวนา เมื่อเริ่มเห็นผลแล้ว จะเบื่อกับการทำงานทางโลก จะสะสมเงินทองไว้เพื่อสนับสนุนในการภาวนา จะได้มีเวลาบำเพ็ญภาวนาได้อย่างเต็มที่


ความมั่นใจ
ถาม : ความระแวงสงสัยก็บั่นทอนศรัทธา บั่นทอนกำลังใจได้เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเราให้ความสำคัญมั่นหมายกับเรื่องนั้นมากเกินไปหรือเปล่าครับ ต้องวางๆเสียบ้าง

พระอาจารย์ : ก็ทำในสิ่งที่เรามีความมั่นใจก็แล้วกัน นี่พูดในกรณีทำทานนะ เราก็ทำในสิ่งที่เรามีความมั่นใจ  อันไหนที่เราไม่มั่นใจก็ไม่ต้องทำ ทำเพื่อจะได้ขยับขึ้นสู่ธรรมที่สูงขึ้น คือศีลสมาธิปัญญา ที่ไม่มีอะไรจะต้องสงสัย การรักษาศีล เราก็รู้ว่าดี การภาวนาเราก็รู้ว่าดีเรื่องให้ทานนี้อย่าไปกังวลมากจนเกินไป  ทำที่เรามีความมั่นใจ  ทำให้หมดไปเลย  มีอยู่เท่าไรทำให้หมดไปเลย ให้หมดเนื้อหมดตัวไปเลย จะได้หมดเรื่องไป เก็บไว้เท่าที่จำเป็น เท่าที่จะต้องใช้ ส่วนที่ไม่จำเป็นก็ให้ไปเลย กับคนที่เราไม่สงสัย  เรามีความมั่นใจ


ให้จิตรู้อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน
ถาม : ท่านอาจารย์อย่างนี้ได้ไหมครับ  เรานั่งสมาธินี่เราเอาลมอย่างเดียว ไม่เอาพุทโธ 

พระอาจารย์ : ได้

ถาม : ถ้าเราเดินเราเคลื่อนไหว   เราเอาพุทโธ

พระอาจารย์ : ได้

ถาม : หรือเดินจงกรมเอาเท้าอย่างเดียว

พระอาจารย์ : ได้

ถาม : เอาแค่ ๓ อย่างนี้

พระอาจารย์ : ก็ลองดูก็แล้วกัน ในแต่ละอิริยาบถว่าอันไหนได้ประโยชน์  เป้าหมายก็คือไม่ต้องการให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆเป็นหลัก ให้จิตรู้อยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   แต่บางทีความคิดของเรามันละเอียด เราไม่รู้ว่ากำลังคิดอยู่ เรามองไม่เห็น แต่ก็ไม่เป็นไร ให้รู้อยู่กับสิ่งที่เราเห็น ส่วนใหญ่ก็คือร่างกาย  ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวไปมา อย่าเดินไปแล้วก็คิดถึงงานที่ทำมาเมื่อวานนี้ หรืองานที่จะต้องไปทำในวันพรุ่งนี้อย่างนี้เป็นต้น ให้รู้ว่าเราอยู่กับซ้ายขวาหรือเปล่าเท่านั้นเอง มันอยู่อย่างนั้นหรือเปล่า แต่ถ้าซ้ายขวาๆแล้วมันก็ยังคิด ก็ใช้บริกรรมพุทโธเข้าไปเสริมก็ได้ เพราะพุทโธจะสกัดได้ รู้สึกว่าหลวงตาท่านจะเน้นเรื่องพุทโธนี้มาก เพราะท่านเคยใช้พุทโธทำจิตของท่านให้สงบ ในช่วงที่จิตของท่านเคยเสื่อมไป ตอนที่ท่านไปทำกลดอยู่เดือนสองเดือน  แล้วจิตมันไม่สงบ  พยายามนั่งอย่างไรก็ไม่สงบ ตอนหลังท่านก็จับได้ว่าต้องมีพุทโธ ท่านก็เลยพุทโธในอิริยาบถ ๔  ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธ  ไม่ให้ไปคิดอะไร เพราะตอนนั้นท่านก็อยู่คนเดียว  ไม่มีภารกิจที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับใครที่ไหน ก็คิดแต่พุทโธๆๆอย่างเดียว ไปกับภารกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดินบิณฑบาตไปใจก็พุทโธไป ไม่ใช่บิณฑบาตไปแล้วก็คิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้  เวลาปัดกวาดก็พุทโธอยู่กับการปัดกวาดเวลาฉันก็พุทโธไป จิตก็จะถูกตะล่อมเข้ามา พอมานั่งสมาธิก็พุทโธๆๆต่อ เดี๋ยวมันก็สงบลง แต่ถ้ากำหนดสติแล้วดูตามมันก็จะตามมันไปเรื่อยๆ มีบางที่สอนให้มีสติดูความคิด ดูตามความคิด มันก็คิดไปเรื่อยๆ แล้วก็ตามไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับวิ่งจับลิง มันก็ไม่หยุดสักที  จะหยุดต้องสกัดมันไม่ให้มีที่วิ่ง คือเอาพุทโธมาขวางข้างหน้า ขวางข้างหลัง ขวางข้างๆ  ข้างซ้ายข้างขวา มันไปไหนไม่ได้มันก็หยุด


ควรจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักของเรา
ถาม : ท่านคะ สมมุติว่าปกติดูลมแล้วบางวันมีความรู้สึกว่ามันทำไม่ได้  เปลี่ยนมาภาวนาพุทโธได้ไหมคะ
 
พระอาจารย์ : ได้ เพียงแต่อย่าไปเปลี่ยนบ่อยๆ ลองวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วพยายามใช้วิธีนั้นให้มันชำนาญดีกว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะไม่ได้อะไรสักอย่าง ควรจะมีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลักของเรา แต่เมื่อภาวนาไปแล้วพอก้าวสูงขึ้นไปแล้วก็จะเปลี่ยนไปเอง ต่อไปไม่ต้องอาศัยลมก็ได้ เพียงแต่มีสติกำหนดให้จิตนิ่งก็นิ่งได้  เวลาอยู่ในขั้นปัญญาก็ต้องพิจารณา พอต้องการจะพัก  ก็ต้องย้อนกลับมาทำจิตให้สงบ  เราก็กลับมาที่กรรมฐานเดิมที่เราเคยใช้อยู่ กลับมาหาพุทโธ กลับมาหาลมก็ได้ แต่ควรจะฝึกด้วยกรรมฐานใดกรรมฐานหนึ่ง ที่คิดว่าเหมาะกับเรา แล้วพยายามทำไปเรื่อยๆกับกรรมฐานนั้น  ดีกว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวจะหาเหตุไม่เจอ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ปัญหาอยู่ที่ตัวเรามากกว่า  เราไม่มีสตินั่นเอง.


เขาถึงเรียกโลกธาตุไง
ถาม : ถ้าเราพิจารณาเกี่ยวกับธาตุ ๔ ในกายเรานี่ ถ้าเรามองไปข้างนอกเราก็พิจารณาอย่างอื่นเป็นธาตุ ๔ ได้เหมือนกันใช่ไหม

พระอาจารย์ : ต้องพิจารณาทั้งเขาทั้งเรา ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน กายคตาสติ สอนให้พิจารณากายนอก พิจารณากายใน และพิจารณาทั้งกายนอกและกายใน พิจารณาลงไปที่ธาตุ ๔ ทั้งหมด 
โลกนี้เขาถึงเรียกโลกธาตุไง เราอยู่ในโลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุหมด ศาลาหลังนี้ก็ธาตุทั้งนั้น แต่ศาลาต่างกับเราตรงที่ศาลาไม่มีจิตไม่มีวิญญาณ แต่ก็มีบางคนที่คิดว่าศาลานี้มีวิญญาณครอบครองอยู่


รู้ว่ามันก็แค่นั้นแหละ
ถาม : ที่ท่านอาจารย์บอกว่า  ละโลภโกรธหลงได้นี่ กับไม่ยินดียินร้ายเหมือนกันไหมคะ

พระอาจารย์ : ก็เป็นกลางๆ จะว่าไม่ยินดีก็ได้ ไม่ยินร้ายก็ได้ มันเฉยๆ รู้ว่ามันก็แค่นั้นแหละ เหมือนกับสิ่งที่เราไม่แยแสไม่ให้ความสำคัญแล้ว เมื่อก่อนนี้เราหลงว่าเป็นแบงก์ ๑๐๐ แต่พอมีคนมาบอกว่าเป็นแบงก์เก๊   เราก็จะไม่ยินดีไม่ยินร้ายใช่ไหม รู้สึกอย่างนั้น เมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นของจริง แต่ตอนนี้เรารู้ว่ามันเป็นของเก๊แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกแบบนั้นแหละ  ปัญญาก็สอนให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นของเก๊ทั้งนั้นไม่ใช่ของจริง ไม่มีความหมายอะไร.


กิเลสมันแรง
ถาม : ผมอ่านหนังสือกำลังใจของท่านอาจารย์ ว่ามีโยมมาใส่บาตร ๒ คนแล้วทะเลาะกัน

พระอาจารย์ : อยู่คนละฟากถนนกัน พอเจอหน้ากันแล้วอดไม่ได้ ขนาดกำลังใส่บาตรยังด่ากันเลย

ถาม : ขนาดอยู่ต่อหน้าพระ

พระอาจารย์ : กิเลสมันแรง เวลาเจอคู่กรณีแล้วมันกระโดดผึงเลย เรานั่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าเจออะไรแรงๆเข้า มันก็ไปเหมือนกัน แต่ถ้าเคยฝึกมาแล้ว จะสามารถคุมใจได้

ถาม : คุมได้แต่รู้สึกว่ามันกรุ่นอยู่ข้างใน

พระอาจารย์ : เราก็คุมได้ในระดับที่เราได้ฝึกมาแล้ว แต่ในระดับที่ยังไม่ได้ฝึกก็จะคุมไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไปเผชิญกับมัน

ถาม : สองคนที่ทะเลาะกันคงไม่รู้ตัวนะเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : ไม่รู้สึกตัวหรอก รู้แบบคนเมารู้ ควบคุมไม่ได้ ไม่สนใจแล้วเรื่องกาลเทศะ เรื่องหิริโอตตัปปะ โยนทิ้งไปหมดแล้ว


ไปยุ่งกับมันก็จะเสียเวลา
ถาม  : ท่านอาจารย์คะ พอเวลาภาวนาไปใจบางครั้งมันมีฤทธิ์เกิดขึ้น ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามีฤทธิ์อย่างนี้เกิดขึ้น ใจเราชอบที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปดูมันให้รู้ ใจหนึ่งกล้า แต่ใจหนึ่งก็ไม่กล้า ใจหนึ่งจะกลับเข้ามาสู่ภายใน เพื่อพิจารณาถอดถอนอะไรบางอย่าง ที่มันอยู่ในใจเรา ใจหนึ่งก็ยังไม่อยากจะทำตรงนั้นค่ะ เราควรจะแก้อย่างไรตรงนี้ จะไปดูให้มันรู้ไปเลย หรือว่ากลับเข้ามาภายใน เพื่อถอดถอนอะไรที่มันอยู่ภายในใจ

พระอาจารย์ : ถ้ายังไม่มีความชำนาญในการทำจิตให้สงบ ก็ควรมุ่งทำให้ชำนาญก่อน เวลามีอะไรปรากฏขึ้นมาก็อย่าไปสนใจ หันกลับมาหาพุทโธๆ หันกลับมาหาลมหายใจ สิ่งที่ปรากฎก็จะหายไปเอง ถ้าตามมันไปก็แสดงว่าเราขาดสติแล้ว ไม่ได้อยู่กับพุทโธๆ ไม่ได้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกจิต จิตก็จะตามไป หรือตามไปเพราะอยากจะรู้ อยากจะลอง หรือชอบเรื่องเหล่านี้ ในอดีตเคยชอบมาก่อน ของพวกนี้ไม่ใช่อยู่ๆจะปรากฏขึ้นมา ต้องเคยปรากฏขึ้นมาแล้ว เคยมีความผูกพันกันอยู่ ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเอาอะไร ถ้าไปยุ่งกับมันก็จะเสียเวลา

เหมือนกับนั่งรถมาที่นี่แต่ไปแวะแถวบางแสน แถวพัทยา ก็มาไม่ถึงสักที ถ้าถึงก็อาจจะสายเกินไปก็ได้ ไม่มีใครอยู่ที่นี่แล้ว มาไม่ทัน กิจกรรมต่างๆเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว เราไปสนุกเพลิดเพลินแถวพัทยา แถวบางแสน การภาวนาก็เป็นแบบนั้น เวลาที่ไปข้องเกี่ยวกับนิมิตต่างๆก็จะเป็นแบบนั้น นิมิตไม่ได้เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญาเพื่อการหลุดพ้น สิ่งที่จะทำให้มีปัญญาเพื่อทำให้จิตหลุดพ้น ก็คือความสงบ ความนิ่งของจิต เป็นอุเบกขา เป็นเอกกัคคตารมณ์  เป็นผลของสมถภาวนา คุณแม่แก้วถูกหลวงตาขนาบก็เพราะเรื่องนี้ คุณแม่แก้วชอบดูนิมิตต่างๆ แต่หลวงตาห้ามไม่ให้ไปยุ่ง จนหลวงตาต้องขู่ว่าถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กัน ต้องแยกทางกัน ต้องขู่ขนาดนั้นถึงจะยอม.


ชอบกินแต่อาหารกิเลส
ถาม : ท่านอาจารย์คะบางทีคิดได้ว่าควรจะนั่งสมาธิดีกว่าไปทำอย่างอื่น แต่พอไปนั่งสักพักหนึ่งมันเหงา

พระอาจารย์ : เพราะยังไม่เห็นผล ต้องฝืน ถึงจะเหงาก็ต้องฝืนทำไป เหมือนกับกินข้าว เราไม่อยากกินข้าวแต่ถ้าไม่กินเดี๋ยวก็หิวใช่ไหม ก็ยังฝืนกินได้ใช่ไหม เพราะกลัวความหิวมากกว่า
แต่เราไม่ค่อยกลัวความทุกข์กัน ไม่ค่อยกลัวความฟุ้งซ่านกัน ไม่กลัวความวุ่นวายใจกัน เราจึงไม่ค่อยให้อาหารใจ ไม่กินอาหารใจกัน ชอบกินแต่อาหารกิเลส กิเลสมันถึงอ้วนท้วม เรื่องความโลภ ความโกรธนี่ไม่ต้องสอนกัน แม้แต่เด็กเพิ่งคลอดออกมา ก็มีความโลภ ความโกรธความหลงติดมาแล้ว ไม่พอใจอะไรก็ร้อง.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 สิงหาคม 2567 16:10:58
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/90265000652935_456586949_1085996339575188_373.jpg)


เห็นโทษของการไม่เจริญสติ
โยม : น้ำท่วมนี่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ตื่นตี ๓ ทุกวัน นอนไม่หลับ ทำอะไรดี นั่งสมาธิดีกว่า นั่งไปได้ ๑๐ นาที ไม่ไหว มันหงุดหงิด ก็หยุด เว้นไปครึ่งชั่วโมง พอจะไม่นั่งก็รู้สึกผิด ไม่รู้จะทำอะไรก็ต้องนั่ง แต่ก็นั่งไม่ได้อีก

พระอาจารย์  : ไม่เคยเจริญสติ ไม่มีเชือกดึงจิตให้อยู่เฉยๆ จิตก็เลยวิ่งไปวิ่งมา ทำให้ฟุ้งซ่าน นั่งสมาธิไม่ได้

โยม : แต่ก็พยายามนั่ง ๑๐ นาที เว้นไปครึ่งชั่วโมง ก็นั่งอีก ๑๐ นาที

พระอาจารย์ : ตอนนี้เห็นโทษของการไม่เจริญสติหรือยัง ควรจะเห็น ถ้าเห็นก็ถือว่าไม่ขาดทุน ได้บทเรียน ได้รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็คือการเจริญสตินี่เอง ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาถ้าท่องพุทโธๆได้ก็ท่องไปเลย ล้างหน้าล้างตาก็พุทโธๆ แปรงฟันก็พุทโธๆ อาบน้ำก็พุทโธๆ แต่งเนื้อแต่งตัวก็พุทโธๆ กินข้าวก็พุทโธๆ เดินทางไปทำงานก็พุทโธๆ เวลาทำงานถ้าไม่ต้องคิดเรื่องงานก็พุทโธๆไป พักกลางวันก็พุทโธๆ เดินทางกลับบ้านก็พุทโธๆ ทำกับข้าวกินข้าวก็พุทโธๆ อาบน้ำพุทโธๆ ก่อนจะนอนก็นั่งพุทโธๆไป จิตก็จะสงบภายใน ๕ นาที ๑๐ นาที จิตก็จะรวมลงได้

ทำอย่างนี้ไป ไม่ยากหรอก ทำได้แล้วก็จะสุขสบาย ต้องควบคุมความคิด อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดเพ้อเจ้อ คิดฟุ้งซ่าน ถ้าจำเป็นต้องคิดเรื่องงานเรื่องการก็คิดได้ คิดเสร็จแล้วก็หยุดคิด กลับมาพุทโธๆต่อ พุทโธไปจนกว่าจะไม่คิด ถ้าไม่คิดแล้วก็หยุดพุทโธ ให้สักแต่ว่ารู้ ทำอะไรก็สักแต่ว่ารู้ แสดงว่าคิดเหนื่อยแล้ว ไม่มีแรงคิด ก็เลยไม่คิด ถ้าไม่คิดก็ไม่ต้องพุทโธ ดูเฉยๆว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน ถ้าจะไปคิดเรื่องอื่นก็ต้องพุทโธๆใหม่.


อิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง
ถาม : จะรู้เมื่อไหร่คะว่าเราพร้อม
 
พระอาจารย์ : เหมือนกินข้าว อิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง ถ้าพร้อมก็จะแยกกันอยู่คนละห้อง นอนคนละห้อง จะรู้เอง เวลาเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์ในการอยู่ร่วมกัน ตอนนี้ยังไม่เห็นทุกข์ เห็นแต่สุขอย่างเดียว เวลาทุกข์ก็ลืมเร็ว ทะเลาะกันเดี๋ยวเดียว ไม่นานก็ลืม ถ้าจำได้ก็จะไม่อยากอยู่ด้วยกัน กิเลสชอบให้ลืมความทุกข์ ให้กลับไปรักเขาเหมือนเดิม เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้ ยังต้องมีเขาให้ความสุขกับเรา ก็เลยยอมทนกับความทุกข์ ถ้ามีความสุขที่เกิดจากความสงบ ก็จะไม่เอาแล้ว เบื่อแล้ว เบื่อที่จะต้องทุกข์เพื่อแลกกับความสุข เพราะมีความสุขที่ดีกว่าเหนือกว่า ก็จะอยู่คนเดียวได้ ต้องทำจิตให้รวมให้ได้ เป็นอุเบกขาให้ได้ แล้วจะอยู่คนเดียวได้ จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเวลาอยู่ด้วยกันหลายคนจะวุ่นวาย ไม่สงบ เวลาอยู่คนเดียวจะสงบสบาย  ต้องปฏิบัติให้ได้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานว่านี่คืองานของเรา นี่คือที่พึ่งของเรา ที่พึ่งอื่นไม่มี นัตถิ เม สรณัง อัญญัง  ที่พึ่งของเราก็คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ด้วยการศึกษาและการปฏิบัติ ต้องทุ่มเทเวลาให้เต็มที่ อย่าทำแบบมือสมัครเล่น ต้องทำแบบมืออาชีพถึงจะได้ผล กิเลสตัณหาทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง ยกเว้นเวลาหลับ แต่ธรรมะของพวกเรา ทำเฉพาะเวลาที่เราว่างจากภาระกิจการงาน จึงไม่พอ สู้กิเลสตัณหาไม่ได้ กระแสธรรมของพวกเราอ่อนมาก สู้กระแสกิเลสตัณหาไม่ได้ เพราะไม่ผลิตกระแสธรรมให้มีกำลังมากกว่า เพราะไม่ทุ่มเทเวลาต่อการผลิตกระแสธรรม กลับไปผลิตกระแสกิเลสตัณหา ด้วยการทำตามกิเลสตัณหา การปฏิบัติจึงไม่คืบหน้า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ ถ้าทุ่มเทแล้วผลจะต้องเกิดอย่างแน่นอน   ทำไมจึงอยู่คนเดียวไม่ได้ ออกจากงานไม่ได้ ปฏิบัติธรรมทั้งวันไม่ได้ มีอะไรมาห้ามหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือเปล่า มีใครเอาปืนมาห้ามเราหรือเปล่า ห้ามอยู่คนเดียว ห้ามปฏิบัติธรรม ห้ามออกจากงาน ไม่มีใครเขาเอาปืนมาบังคับเราเลย ทั้งๆที่เป็นทางที่ดี ที่เลิศ ที่ประเสริฐ กลับไปชอบทางที่มีแต่ความวุ่นวายใจทุกข์ทรมานใจ เวลาไปเที่ยวถึงแม้จะต้องเสี่ยงภัยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่างๆก็ไปได้ทุกเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ไปแล้วได้อะไร ก็ได้ความสุขความสนุกประเดี๋ยวประด๋าว กลับมาบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่เหมือนเดิม ต้องวิเคราะห์ดู วิเคราะห์เรื่องของเรา อย่าไปวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของคนอื่น เสียเวลาไปเปล่าๆ  ตอนที่เราอ่านหนังสือธรรมะใหม่ๆ ก็อ่านเรื่องนั่งสมาธิอยู่หลายเดือน แล้วอยู่ๆวันหนึ่งก็คิดขึ้นมาว่า เมื่อไหร่จะนั่งสักที ก็นั่งตรงนั้นเลย วางหนังสือแล้วก็นั่งเลย ต้องวิเคราะห์ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดว่า วันเวลาผ่านไปผ่านไป กำลังทำอะไรอยู่ เราก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ชีวิตก็สั้นลงไปเรื่อยๆ กำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำตามกระแสกิเลสตัณหา หรือกำลังทำตามกระแสของธรรม ต้องถามอย่างนี้ พอคิดว่าตอนนี้ยังไม่ได้เจริญสติเลย ไม่ได้นั่งสมาธิเลย ก็จะได้นั่งเลย พวกเราถูกกิเลสหลอกอยู่เรื่อย ให้หลงลืมงานที่จะต้องทำ หลอกให้ไปทำงานที่ไม่ควรทำ กิเลสเป่าหูเป่าจิตเป่าใจพวกเรา จนไม่รู้สึกตัวว่ากำลังทำแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์กับจิตใจ ถ้าไม่กระตุ้นจิตสำนึก ไม่กระตุ้นปัญญาให้สอดส่องดูว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็จะไม่รู้ว่า กำลังเผลอหรือไม่เผลอ กำลังมีสติหรือไม่มีสติ สตินี้สำคัญมาก ต้องทำให้มีสติอย่างต่อเนื่องให้ได้ แล้วสมาธิก็จะเป็นผลตามมา พอมีสมาธิแล้วเวลาออกทางปัญญา ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย.


ไม่ต้องทำอะไร
ถาม : เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป

พระอาจารย์ : เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

ถาม : ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

พระอาจารย์ : ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

ถาม : ไม่ดึงออกมา

พระอาจารย์ : ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก.


ใครมีอะไรอยากจะเล่าให้ฟังบ้าง ไปปฏิบัติมาพรรษาหนึ่ง ได้สติได้สมาธิได้ปัญญาหรือเปล่า
โยม : รู้ตัวว่าสอบไม่ผ่าน แต่ก็ตั้งใจจะอยู่วัดมากกว่าอยู่บ้านค่ะ

พระอาจารย์ : ยังสู้กำลังของกิเลสไม่ได้

โยม : ค่ะ จะสนใจภายนอกมากกว่า พอดีไปที่นั่นค่อนข้างจะมีปัญหานิดหน่อย แต่ก็มีบางอย่างที่พอใจตนเอง ทำให้รู้ว่าวันข้างหน้า จะเลือกเส้นทางใดที่ดีที่สุด ก็คือต้องอยู่ในทางธรรม ต้องไปปฏิบัติเท่านั้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ : ต้องพยายามดึงใจให้เข้าข้างใน อย่าออกไปยุ่งกับเรื่องข้างนอก ถ้าไม่เกี่ยวกับเรา ใครจะดีจะชั่วก็เรื่องของเขา ถ้าออกไปยุ่งแล้วจะเป็นเรื่องขึ้นมา ทำให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัวท้อแท้เบื่อหน่าย ต้องบริกรรมพุทโธ ทำอะไรก็พุทโธๆไป ไม่ต้องไปสนใจคนอื่น ทำหน้าที่ของเราไป คนอื่นจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา เราพุทโธไป อย่าไปรับรู้เรื่องของคนอื่น ให้รู้อยู่กับเรื่องของเราก็พอ ให้อยู่กับการกระทำของเรา เฝ้าดูการกระทำของเรา เฝ้าดูใจของเราว่า ออกไปรับรู้ ไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นหรือเปล่า ถ้าออกไปก็ดึงกลับมา ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป พยายามปลีกวิเวก อย่าคลุกคลีกัน นั่งคุยกันสนทนากัน ส่วนใหญ่จะคุยเรื่องคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องดึงใจให้เข้าข้างใน 

วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของเราดีกว่า ว่าทำไมยังไม่สงบเสียที ทำไมยังโลภยังโกรธยังหลงอยู่ ทำไมไม่มีสติ ทำไมไม่มีสมาธิ ทำไมไม่มีปัญญา เพราะไม่ปลีกวิเวก ไม่เจริญสตินั่นเอง มัวแต่ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีสติไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา ถ้าเจริญพุทธานุสติอยู่เรื่อยๆ ควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ คิดอยู่แต่พุทโธๆ ใจจะไม่ออกไปรับรู้เรื่องของคนอื่น เวลานั่งสมาธิจะสงบ พอออกจากสมาธิก็จะเจริญปัญญาได้ พิจารณาไตรลักษณ์ได้ พิจารณาอนิจจังได้ พิจารณาอนัตตาได้ พิจารณาทุกขังอริยสัจ ๔ ได้ ว่าทุกข์เกิดจากความอยากของเราเอง ไม่ได้เกิดจากใครหรอก จะดับทุกข์ได้ก็ต้องละความอยาก เช่นอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องหยุดวิพากษ์วิจารณ์ แล้วความวุ่นวายใจกับคนอื่นก็จะหมดไปเอง คนในโลกมีเป็นพันล้าน จะไปวิพากษ์วิจารณ์ไหวหรือ ปล่อยเขาไปเถิด เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ความดีความชั่วของเขาไม่ได้ทำให้เราดีหรือชั่วตามไปด้วย ความดีของเราอยู่ที่การเจริญสติ อยู่ที่การปลีกวิเวก อยู่ที่การไม่คลุกคลี ไม่วิพากษ์วิจารณ์

ถ้าจะสนทนาก็ให้สนทนาธรรม สนทนาเรื่องมักน้อยสันโดษ เรื่องการปลีกวิเวก เรื่องความเพียร เรื่องของการไม่คลุกคลีกัน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา เรื่องของวิมุตติ เรื่องของวิมุตติญาณทัศนะ ให้สนทนาเรื่องเหล่านี้ พระแท้ๆเวลาสนทนากัน จะสนทนาเรื่องเหล่านี้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ จะสนทนาแต่เรื่องธรรมะ ที่ไหนสงบ ความมักน้อยสันโดษเป็นอย่างไร ความเพียรเป็นอย่างไร ศีลบริสุทธิ์ไหม สมาธิสงบไหม ปัญญามีความแยบคายไหม จะสนทนาเรื่องเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ ผู้รู้น้อยกว่าก็จะได้รับความรู้จากผู้ที่มีความรู้มากกว่า ถ่ายทอดกัน แลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่กัน จะมีปัญญาความรู้ความฉลาดมากขึ้น จะทำให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าคุยเรื่องโลกวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ ใจจะตกต่ำ จะว้าวุ่นขุ่นมัว ท้อแท้เบื่อหน่าย อิจฉาริษยา โกรธเกลียดขึ้นมา

ถ้าจะสนทนากันก็ให้สนทนาเรื่องธรรมะ เพราะจะเสริมให้จิตใจสูงขึ้น ให้เจริญก้าวหน้า ถ้าวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้จะทำให้จิตใจตกต่ำ จะคิดร้าย จะคิดไม่ดี จะไม่สบายอกไม่สบายใจ แทนที่จะก้าวหน้ากลับจะถดถอย เดินถอยหลัง ไม่ได้เดินไปข้างหน้า เดินไปตามกระแสของกิเลสตัณหา พระปฏิบัติจึงไม่จับกลุ่มสนทนากัน เวลาจับกลุ่มก็จะมีคนพูดอยู่คนเดียว คือครูบาอาจารย์ ท่านก็จะพูดแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียว เสร็จจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เหมือนกับได้ชาร์จแบตเตอรี่ มีกำลังจิตมีกำลังใจ กลับไปนั่งสมาธิไปเดินจงกรมได้หลายชั่วโมง เวลาไม่ได้ฟังธรรมจะขี้เกียจ ไม่อยากเดินจงกรมนั่งสมาธิ พอได้ยินได้ฟังธรรม ก็ได้รับการกระตุ้น ทำให้มีพลังธรรม ทำให้สามารถเดินจงกรมนั่งสมาธิได้หลายชั่วโมง ครูบาอาจารย์ถึงต้องเรียกประชุมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้กำลังจิตกำลังใจ ให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติ

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง คลมุตตมัง เพราะฟังแล้วจะเกิดพลังธรรมขึ้นมา เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรม เกิดความฉลาด ได้ข้อคิด ได้รู้จักวิธีที่จะปฏิบัติต่อไป ถ้าติดอยู่ตรงไหนก็จะแก้ปัญหาได้ เพราะผู้แสดงได้ผ่านมาแล้ว จะรู้วิธีแก้ปัญหาต่างๆในแต่ละจุด ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องติด พอได้ฟังจากผู้ที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้ว ก็จะแก้ปัญหาของตนได้ การมีครูบาอาจารย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การปฏิบัติคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ต่างกับการปฏิบัติตามลำพัง ไม่มีครูบาอาจารย์ จะต้องคลำทางไป จะต้องลองผิดลองถูก เวลาเจอปัญหาจะต้องเสียเวลาแก้ กว่าจะแก้ได้ก็ต้องลองผิดลองถูก เหมือนกับการเดินมาถึงสี่แยก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือตรงไป ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูก ก็ต้องลองผิดลองถูกไป ถ้าผิดก็ต้องเสียเวลา ถ้าถูกก็โชคดีไป พอถึงทางแยกใหม่ ก็ต้องลองผิดลองถูกอีก.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 07 ตุลาคม 2567 14:28:59
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96446458374460_462218346_1117181353123353_638.jpg)


เริ่มที่กายก่อน
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ  ผู้ปฏิบัติใหม่ๆอย่างพวกเรานี่ อารมณ์อยู่ที่กายอย่างเดียวก่อนเลยใช่ไหมครับ

พระอาจารย์ : ส่วนใหญ่ต้องเริ่มที่กายก่อน เพราะกายเป็นส่วนที่หยาบ เห็นได้ด้วยตา ส่วนอื่นเห็นได้ค่อนข้างยาก สติปัญญายังไม่ค่อยทัน แต่ถ้าได้พัฒนาไปเรื่อยๆ เมื่อสามารถเข้าใจรูปได้อย่างดีแล้ว ก็จะเข้าไปสู่เวทนาเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาแต่รูปล้วนๆ เวลาเวทนาแสดงอาการขึ้นมาแรงๆ เราก็จะเห็นเหมือนกัน วันไหนที่เราเจ็บปวดมากๆ เวทนาก็จะชัดขึ้นมา อย่างเวลาเดินไปเตะหินเข้า ทุกขเวทนาความเจ็บปวดก็จะเกิดขึ้นมา ตอนนั้นเราก็ควรรับรู้ว่าเป็นเวทนา ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน มันเกิดขึ้นได้เดี๋ยวมันก็ดับได้ เราเตะหินปั๊บ เดี๋ยวสักครู่ความเจ็บมันก็จะค่อยๆลดลงไปๆ แล้วก็หายไป คือพยายามรักษาใจให้เป็นผู้รู้อย่างเดียว อย่าเป็นผู้ต่อต้าน เป็นผู้ยินดียินร้ายกับเวทนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่ใจ  ใจต้องเป็นผู้รู้เฉยๆ ทำตัวให้เป็นเหมือนกับกระจกเงา เวลาที่คนสวยมองกระจกเงานี้ กระจกก็ไม่ได้ดีใจ คนไม่สวยมอง ก็ไม่รังเกียจ เพียงทำหน้าที่สะท้อนเงาของภาพเท่านั้นเอง

ฉันใดจิตของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้มันนิ่งเหมือนกับกระจกเงา เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปหลงว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราเป็นของเรา ที่แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปยินดียินร้าย เพราะจะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา จะเกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยากจะได้ หรือเกิดความอยากจะหนีจากสิ่งนั้นไป  ก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ จิตก็จะไม่นิ่ง นี่คือการเจริญสติปัญญาเพื่อปล่อยวาง.


เจ็บแต่ไม่ทรมาน
ถาม : ตอนที่เราไม่สบาย เราไปหาหมอตรวจ แล้วช่วงที่เรายังไม่รู้ว่าเราจะเป็นอะไรนี่ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทรมานมาก  เราจะเป็นอะไรไหมหนอ คิดไปไกล

พระอาจารย์ : เพราะเราขาดปัญญา ถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่คิดไปไกล คนเรายังไงก็ต้องตายอยู่ดี  ถ้ามีปัญญาจะไม่กลัว เพราะยังไงก็ต้องตายอยู่ดี ความกลัวคือวิภวตัณหา เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เราตายไปแล้วคนที่อยู่ข้างหลังเขาก็อยู่ของเขาได้ ไม่ต้องกลัวหรอก  อีกไม่นานเขาก็ตายตามเราไป

ถาม : ตอนที่เราจะตาย กลัวมันจะทรมานซิคะ

พระอาจารย์ : ถ้าเรานั่งสมาธิเป็นแล้ว ทำใจได้แล้ว ก็จะไม่ทรมาน เจ็บแต่ไม่ทรมาน เพราะใจนิ่ง ที่ทรมานเพราะใจพยายามหนีความเจ็บ ถ้าไม่หนีก็จะไม่ทรมาน

ถาม : กลัวเจ็บปวด

พระอาจารย์ : ความกลัวเป็นวิภวตัณหา เป็นความไม่อยากเจ็บ แต่ถ้าเราฝึกนั่งสมาธิแล้ว เวลามีความเจ็บ ก็ทำเป็นเฉยๆ

ถาม : ถ้าถึงจุดหนึ่งแล้วเราจะไม่รู้สึกเลยใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ : รู้แต่จะไม่มีปฏิกิริยา จะเป็นอุเบกขา รู้สึก แต่เฉยๆ ไม่เดือดร้อน เรารับได้ เพราะความเจ็บทางกายมันน้อยมาก ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ทางจิตใจ.


จิตที่เป็นมหาสติ
ถาม : กราบเรียนถามพระอาจารย์เรื่องจิตที่เป็นมหาสติ ที่เป็นปัญญา แตกต่างจากจิตที่เป็นกิเลสอย่างไร และมีวิธีสังเกตดูจิตที่เป็นสัมมาสติอย่างไรเจ้าคะ

พระอาจารย์ : ก็สติ จิตที่มีสติที่เป็นมหาสติ ก็คือ ควบคุมความคิดได้ หยุดความคิดได้ หยุดอารมณ์ต่างๆได้ พอโกรธก็หยุดได้ พอโลภก็หยุดได้ เรียกว่ามีกำลังที่สามารถคุมจิตได้เรียกว่ามหาสติ พวกที่ไม่มีมหาสติ บางทีก็คุมได้ บางทีก็คุมไม่ได้ บางทีโกรธ บางทีก็หยุดได้ บางทีก็หยุดไม่ได้ นี่ต่างกันเหมือนรถแหละ รถเบรกดีกับรถเบรกไม่ดี ใช่ไหม รถเบรกดีเหยียบปุ๊บก็หยุดปั๊บ รถเบรกไม่ดีเหยียบปุ๊บต้องไปชนนั่นก่อน ถึงจะหยุด


อย่าไปสนใจ
ถาม : เวลาที่เกิดนิมิตแล้วต้องบังคับใจ ไม่ให้ตามรู้จะค่อนข้างยาก คือมีความรู้สึกอยากเห็นอยากตามไปดู ขออุบายด้วยเจ้าค่ะ   

พระอาจารย์ : ภาวนาต่อไป

ถาม : อย่าไปมองมันหรือคะ

พระอาจารย์ : อย่าหยุดภาวนา พุทโธต่อไป ดูลมต่อไป เหมือนเวลานั่งภาวนาแล้วมีเสียงโทรศัพท์ดัง มีเสียงคนนั้นเสียงคนนี้ ก็อย่าไปสนใจ ภาวนาไปเรื่อยๆ เวลามีแสงมีภาพให้เห็น ก็อย่าไปสนใจ


ง่าย
ถาม : อยากฝึกให้หยุดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ครับ แต่ยังทำไม่ได้ กราบขออุบายหลวงพ่อด้วยครับ

พระอาจารย์ : ง่าย ถ้าอยากจะซื้อชุดใหม่ก็ ซื้อมาแล้วก็เอาไปให้คนอื่น อย่าเอามาใช้เอง อยากจะซื้อกี่ชุดก็ซื้อได้ แต่อย่าเอามาใช้เอง แล้วต่อไปรับรองได้ว่าจะไม่อยากซื้ออีก ง่ายจะตายไป ชุดนี้สวยเหรอซื้อให้ใครดีนะ ชุดนี้สวยเหรอ ซื้อให้ใครดี เอ้า ซื้อไปเลย วันเกิดของใครวันนี้ เอาไปให้เขาไป หรือวันนี้อยากจะเซอร์ไพรซ์ (surprise) ขอทานก็ซื้อไป แล้วเอาไปให้ขอทานที่นั่งอยู่หน้าร้านนั่นแหละ “เอ๊ย เอาไปโว้ย มึงเห็นคนอื่นเขาใส่มึงลองเอามาใส่บ้างดูซิ” ซื้อแล้วเอาไปทำบุญ อย่างนี้ก็จะได้บุญ แล้วต่อไปจะไม่อยากจะซื้ออีก รับประกัน.


จะไปรู้คนอื่นเขาต้องรู้ตัวเราก่อน
ถาม : คนที่เป็นพระโสดาบันท่านยังมีความอยากมีแฟนมีลูกภรรยาหรือสามี แล้วยังมีกามคุณอยู่ใช่ไหมครับ แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าคนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ เราก็ต้องเป็นเอง ก่อนจะไปรู้คนอื่นเขาต้องรู้ตัวเราก่อน ถ้าตัวเรายังไม่รู้ว่าเราเป็น เราจะไปรู้คนอื่นเป็นได้อย่างไร เหมือนคนที่จบปริญญาตรี จะไปรู้ว่าคนอื่นจบปริญญาตรีหรือไม่ตัวเองก็ต้องจบปริญญาตรีก่อน ถ้าตัวเองไม่จบปริญญาตรีเราจะไปสัมภาษณ์เขาได้ไหม จะไปสอบเขาได้ไหม คุณรู้วิชานี้หรือเปล่า คุณรู้วิชานั้นหรือเปล่า อันนี้ก็เหมือนกัน คุณต้องเป็นโสดาบันก่อน คุณต้องมีดวงตาเห็นธรรมก่อน เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวคุณ แล้วคุณก็ปล่อยวางร่างกายได้ไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย ทีนี้อยากจะรู้คนอื่นเป็นหรือเปล่าก็ลองไปถามเขาดูว่า “เฮ้ย ร่างกายนี้เป็นของมึงหรือเปล่าวะ” ถ้ามันบอก “เป็นของกู” ก็แสดงว่ามันยังไม่ได้เป็นโสดาบัน



หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 ตุลาคม 2567 12:39:00
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/32064957709775_463952530_1128449381996550_603.jpg)


สู้กับมันดู
ถาม : เวลาทำสมาธิจนรู้สึกว่านิ่ง ก็จะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย หรือธาตุ ๔ พอพิจารณาแล้วจะรู้สึกสลดสังเวช แล้วก็ร้องไห้เกือบทุกครั้ง แบบนี้จิตเศร้าหมองหรือเปล่า

พระอาจารย์ : ไม่เศร้าหมอง เป็นธรรมสังเวช ผลที่ต้องการคือการปล่อยวางร่างกาย เวลารู้สึกสลดสังเวชแล้ว ต้องปล่อยวางร่างกาย พิจารณาเพื่อให้จิตปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติดกับร่างกาย 

ถาม : ต้องทำอย่างไรต่อไป

พระอาจารย์ : พิจารณาไปเรื่อยๆ พอพร้อมแล้วก็ไปหาที่พิสูจน์ดู ว่ายังยึดติดอยู่หรือเปล่า ปล่อยได้หรือเปล่า ตอนนี้เป็นเพียงทำการบ้านเป็นการซ้อมอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง ถ้าคิดว่าพร้อมแล้ว เหมือนนักมวยที่ซ้อมมาอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะขึ้นไปชิงเข็มขัดแล้ว ก็ขึ้นไปบนเวทีไปหาคู่ต่อสู้ คู่ต่อสู้ก็คือความกลัวตาย ไปหาสถานที่ๆจะทำให้เกิดความกลัวตายขึ้นมา สู้กับมันดู ดูว่ามันจะดับหรือเราจะดับ

ถาม : ถ้าเราดับก็คือเราสติแตก

พระอาจารย์ : อาจจะไม่สติแตก แต่อาจจะใจสั่นขวัญหาย แสดงว่ายังดับเขาไม่ได้ ถ้าดับได้แล้ว จะเฉยจะยิ้มจะมีความสุข


มี ๒ พวก
ถาม : ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แต่ยากไร้  เป็นเพราะเหตุใด

พระอาจารย์ : ชาติก่อนไม่ทำทาน ถ้าทำบาปด้วย ก็ต้องไปใช้กรรมในอบาย พอหมดกรรมก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ยากไร้ มีรูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม มีอาการไม่ครบ ๓๒ เพราะเป็นเชื้อของบาปกรรมที่ยังหลงติดมา ส่วนพวกที่ทำบุญให้ทานรักษาศีลตายไปแล้วไปเป็นเทพ พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีฐานะการเงินการทองที่ดี ใจบุญสุนทาน

จะมี ๒ พวก พวกที่วนอยู่รอบบน กับพวกที่วนอยู่รอบล่าง พวกวนอยู่รอบล่างชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผิดศีลไม่ชอบทำบุญ ตายไปก็จะไปเกิดในอบาย พอใช้กรรมหมดแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย พวกที่ชอบทำบุญให้ทานรักษาศีล ตายไปก็ไปสวรรค์ พอกลับมาจากสวรรค์ก็เกิดเป็นมนุษย์ที่สูงส่ง มีฐานะการเงินการทองดี มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม เราเลือกจะวนในรอบบนก็ได้รอบล่างก็ได้

ถ้าชอบรอบล่างก็ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกินเหล้าเมายาเที่ยวกลางคืน เกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ ก็จะวนอยู่ในรอบล่าง แต่บางทีก็สลับกันได้ เวลากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ดิบได้ดี แต่ไม่เชื่อบุญเชื่อกรรม ก็ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขไปทำผิดศีล ก็จะไปวนรอบล่าง ส่วนพวกที่วนอยู่รอบล่างพอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา เชื่อว่ากรรมมีจริงบาปมีจริงบุญมีจริง ก็เลิกเกี่ยวข้องกับอบายมุขเลิกทำผิดศีลผิดธรรม ทำบุญให้ทานรักษาศีลก็จะวนอยู่รอบสูง

ถ้ามีจิตใจแน่วแน่ต่อบุญกุศลก็จะวนอยู่แต่รอบบนจนถึงพระนิพพาน อย่างพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็จะวนอยู่รอบบน ท่านเชื่อบุญเชื่อกรรม จะวนไปสู่มรรคผลนิพพาน พวกที่เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ถ้าพบคนสอนให้ทำบาปก็จะทำบาป ถ้าพบคนสอนให้ทำบุญก็จะทำบุญ จะกลับไปกลับมา ขึ้นๆลงๆ.


ยินดี จำใจ
ถาม : เรียนแพทย์ต้องมีการผ่าศพผ่าสัตว์ ได้คุยกับหมอคนหนึ่งเขาทำไม่ได้ เขาก็เลยยอมตก

พระอาจารย์ : ถ้ามีศีลธรรมมากก็จะทำไม่ลง หรือมันอาจจะเป็นความรังเกียจหรือความขยะแขยง ถ้าผ่ากบตายนี่เป็นการฆ่าหรือเปล่า ก็เป็นการฆ่าแน่นอน

ถาม : แต่ไม่มีเจตนา ถูกบังคับให้ทำ

พระอาจารย์ : บังคับหรือไม่บังคับ ก็ยังบาปอยู่ดี

ถาม : แต่ผลบาปไม่เท่ากันใช่ไหม

พระอาจารย์ : ทำด้วยความยินดี กับทำด้วยความจำใจ ผลไม่เท่ากัน  พวกเราไม่ชอบทำการบ้านกัน เข้าห้องเรียน แต่ไม่ชอบทำการบ้าน ก็ยังดีที่ยังเข้าห้องเรียนกัน พวกที่หนีเรียนก็แย่กว่าพวกที่เข้าห้องเรียน แต่พวกที่เข้าห้องเรียนอย่างเดียวก็แย่กว่าพวกที่ทำการบ้านด้วย พวกที่ทำการบ้านด้วยก็แย่กว่าพวกที่ไปสอบด้วย เข้าห้องเรียนแล้วต้องทำการบ้าน ทำการบ้านแล้วต้องไปสอบ  ไปอยู่วัดที่เปลี่ยวที่ทุรกันดารที่ลำบาก ไปเก็บตัวสัก ๓ เดือนหรือปีหนึ่งเลย ไปเข้าห้องสอบ ถ้ายังไม่ผ่าน ก็อย่าออกมาจากห้องสอบ การทำการบ้านก็คือวันนี้ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็กลับไปทำที่บ้านต่อ ตอนเช้าฟังเทศน์ฟังธรรม ก่อนไปทำงาน ฟังทุกวัน เป็นการทำการบ้าน คราวที่แล้วให้แผ่นอสุภะไปดู ก็ควรเปิดดูเรื่อยๆ.


เป็นกิริยามากกว่า ไม่ได้เนื้อไม่ได้หนัง
ถาม : รู้จักคนที่เที่ยวบ่อยมากเลย เที่ยวต่างประเทศปีละหลายๆครั้ง แต่เขาก็ปฏิบัติจริงอย่างนี้ขัดกันไหมคะ

พระอาจารย์ : ยังปฏิบัติไม่ได้ผล เป็นกิริยามากกว่า ไม่ได้เนื้อไม่ได้หนัง ได้แต่ท่าของการปฏิบัติ แต่ไม่ได้ผลจริงๆ ถ้าได้ผลจริงๆแล้วจะเบื่อทางโลกเลย ท่านถึงแสดงไว้ว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรมแล้ว จะไม่เอารสอย่างอื่นแล้ว เหมือนก้อนหินกับเพชร พอได้เพชรแล้วจะเอาก้อนหินไหม ไปเที่ยวนี้เหนื่อยจะตาย สู้นั่งสมาธิจนจิตรวมลงไม่ได้ ไม่เหนื่อย ไม่ต้องไปทำพาสปอร์ตทำวีซ่า ไม่ต้องไปตีตั๋ว ไปรอที่สนามบินขึ้นเครื่อง ไปได้ไม่กี่วันก็คิดถึงบ้านแล้ว อยู่ที่ไหนจะสบายเท่าอยู่ที่บ้าน แต่กิเลสจะหลอกเรา วาดภาพว่าสนุกสวยงาม ต้องไปให้ได้ พอไปแล้วก็อยากจะกลับบ้าน

ถ้ามีของดีอยู่ในใจแล้วจะไม่อยากไปไหน อยู่ตรงไหนก็มีความสุข ที่ยังต้องไปกันอยู่ เพราะยังไม่มีความสุขภายใน มีแต่ไฟแห่งราคะโมหะโทสะ ที่เผาใจให้ร้อน ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข ต้องหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาดับ เหมือนเอาน้ำมันไปราดในกองไฟ เวลาราดลงไปใหม่ๆ น้ำมันยังเย็นอยู่ก็เป็นเหมือนน้ำ ไฟก็ทำท่าจะดับลง แต่พอน้ำมันร้อนขึ้นมา ไฟจะยิ่งลุกแรงขึ้นใหญ่ ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ความสุขที่เลิศที่วิเศษ ที่พระพุทธเจ้าสอนให้มีกัน  ก็ต้องตัดความสุขภายนอก แล้วสร้างความสุขภายในให้ได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสติ ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าเจริญสติอย่างต่อเนื่องแล้ว ในสติปัฏฐานสูตรก็แสดงไว้แล้วว่า ภายใน ๗ วันจะบรรลุได้แน่ๆ ถ้ามีสติตั้งแต่ตื่นมาจนหลับ จิตไม่ไปไหนเลย อยู่ในปัจจุบันเสมอ เวลานั่งดูลมหายใจ จิตก็จะไม่ไปที่อื่น จะอยู่กับลมหายใจ ก็จะรวมลงจะเจอความสุข พอรวมได้ครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะทำได้เรื่อยๆ เพราะจับเคล็ดได้แล้ว รู้วิธีแล้ว รับรองได้ว่าตอนนั้นจะไม่อยากจะอยู่กับใคร มีอะไรก็ไม่อยากจะเก็บเอาไว้ อยากจะมีเวลาเพื่อปฏิบัติอย่างเดียว อยากจะมีที่ๆสงบไม่วุ่นวาย ไม่ยุ่งกับใคร จะนั่งสมาธิสลับกับการเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน พอเดินเมื่อยก็กลับมานั่งใหม่ จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จากสมาธิก็จะเจริญปัญญา อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาจิตเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนปล่อยวางได้หมด ภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ปล่อย ขันธ์ ๕ ก็ปล่อย จิตก็ปล่อย พอปล่อยหมดแล้ว ก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์อย่างเดียว 

อยู่ตรงไหนเวลาไหนก็จะอิ่มจะสุขจะพอตลอดเวลา จิตรวมอยู่ตลอดเวลา จิตที่รวมจากการนั่งสมาธิจะรวมได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็ถอนออกมา เหมือนเอาน้ำแช่ในตู้เย็น ๕ นาที แล้วก็เอาออกมา พอออกมาไม่นานก็ร้อน ถ้าเป็นจิตบริสุทธิ์ก็เหมือนกับน้ำที่อยู่ในตู้เย็นตลอดเวลา จะสุขไปตลอดอนันตกาล ไม่มีวันสิ้นสุด จะมีร่างกายหรือไม่มีจะไม่กระทบกับความเย็นของจิตที่บริสุทธิ์ จะเย็นไปตลอด จิตจะไม่ออกจากตู้เย็น จะอยู่ในตู้เย็นก็คือพระนิพพานไปตลอด ถึงแม้จะอยู่กับขันธ์ ความร้อนของขันธ์จะไม่มากระทบกระเทือนกับความเย็นของจิตที่บริสุทธิ์ จะดูแลกันไป เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็รู้ว่าปวด แต่ใจไม่ปวดตามร่างกาย อยู่กันไปจนกว่าแยกจากกัน จะไม่ไปหาร่างกายใหม่มาแบกมาเจ็บอีก ถึงเมืองพอแล้ว พอทุกอย่าง ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้ว จะเติมน้ำเข้าไปอีกก็ไม่ได้ทำให้น้ำในแก้วมีมากขึ้น จิตที่บริสุทธิ์ก็เป็นอย่างนั้น มีความสุขเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ไม่พร่องไม่หมด ไม่ต้องเติม ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว

นี่เป็นรางวัลที่พวกเราจะได้รับกัน ทุกคนมีสิทธิ์ ไม่ต้องจับฉลาก ต้องสุปฏิปันโน ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นี่คือเงื่อนไข ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ ตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่สิ้นไปจากโลก พระอรหันต์ก็คือจิตที่บริสุทธิ์นี้เอง อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติดีก็คือไม่หนีเรียน ถึงเวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ ไม่อ้างโน้นอ้างนี่ อย่างนี้เรียกว่าไม่ปฏิบัติดี ถ้าเรียนหนังสือก็ต้องได้เต็ม ๑๐๐ ถึงเรียกว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงก็ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อตัดกิเลส ถ้าปฏิบัติเพื่อให้ร่ำให้รวย ทำบุญทำทานเพื่ออยากจะได้รวย ได้ไปเกิดเป็นเทพเป็นพรหม อย่างนี้ไม่ใช่ปฏิบัติตรง ไม่ตรงต่อมรรคผลนิพพาน ญายะก็ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออย่างอื่น ปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์เท่านั้น สามีจิก็ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ผิดจากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็มีอยู่ ๔ ประการนี้ วิธีที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๔ ประการนี้ได้ ก็ต้องไปอยู่กับครูบาอาจารย์ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะท่านผ่านมาแล้ว ท่านรู้ทุกอย่าง รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกที่ผิด วิธีที่ผิดขัดกับหลักธรรม ท่านจะช่วยคัดทิ้งให้หมดเลย อยู่กับท่านแล้วไม่ต้องสงสัยหรือกังวลว่าถูกหรือไม่ถูก การปฏิบัติของท่านถูกต้องทุกประการเลย ถ้าปฏิบัติเองนี้จะหลงได้ จะเพี้ยนหรือผิดไปได้ ครูบาอาจารย์มีความสำคัญตรงนี้ ทำให้ปฏิบัติตรง ไม่เสียเวลา ถ้าปฏิบัติเอง ก็จะปฏิบัติถูกบ้างผิดบ้าง เสียเวลา อาจจะหลงทางไปเลยก็ได้ ชาตินี้อาจจะเป็นชาติเดียวที่จะได้พบกับโอกาสอย่างนี้ ตายไปแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอย่างนี้อีกหรือเปล่า จะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือเปล่า โอกาสอย่างนี้ยากยิ่งกว่าถูกลอตตารี่รางวัลที่ ๑ จึงควรถือโอกาสที่มีอยู่นี้เลิศที่สุดแล้ว วิเศษที่สุดแล้ว ถ้าปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติเลย ก็ถือว่าเสียชาติเกิด พิจารณาดู.


มรรคมีองค์ ๘
ถาม : มรรคมีองค์แปดคืออะไรคะ อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจดีค่ะ

พระอาจารย์ : อ๋อ มรรคก็คือทางที่จะพาเราไปฆ่ากิเลสไง เครื่องมือฆ่ากิเลสเรียกว่ามรรค อันแรกเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เห็นอย่างไรว่าถูกต้อง เห็นว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา เป็นไตรลักษณ์ ที่เราทุกข์เพราะเราอยาก ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราก็จะได้รู้ว่า ถ้าไม่อยากจะทุกข์ ก็อย่าไปอยาก นี่คือความเห็น พอมีความเห็นว่าความอยากเป็นตัวปัญหา

ข้อที่สองคือสัมมาสังกัปโปแปลว่าความคิดที่ถูกต้อง ก็คิดว่าต่อไปนี้จะคิดไม่อยากแล้ว ไม่อยากอะไรทั้งนั้น ไม่อยากแก่  แก่ก็ปล่อยมันแก่ไป จะไม่คิดว่าอยากให้มันไม่แก่ อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย จะไม่คิดแบบนี้แล้ว จะปล่อย พอคิดแล้วมันทุกข์ เข้าใจไม๊ จะไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากร่ำอยากรวย อยากมีแฟน อยากอะไรทั้งนั้น เพราะอยากแล้วมันทุกข์ เวลาไม่ได้แล้วมันทุกข์ไม๊ อยากมีแฟนแล้วไม่ได้แฟนนี่ทุกข์ไม๊ อยากรวยแล้วไม่รวยนี่ทุกข์ไม๊

แน่ะดูคนที่ซื้อหวยดูซิ ตอนที่ยังไม่ออกนี้ โอ้โหมีความหวังเต็มที่เลย พอออกแล้วไม่ถูกนี่ หน้าพังเลย ใช่ไม๊ หน้าคว่ำหน้างอเลย นั่นแหละไปอยาก พออยากแล้วไม่ได้ดังใจอยากก็ทุกข์ งั้นต่อไปนี้จะไม่คิด จะไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากไปเที่ยวไหน ไม่อยากอะไรทั้งนั้น นี่คือความคิดที่ถูกต้อง สัมมาสังกัปโป

ข้อที่สามการกระทำที่ถูกต้อง ก็รู้ว่าการไปทำตามความอยากด้วยการไปทำบาปก็ไม่ดี ถ้าไม่อยากแล้วมันก็ไม่ต้องทำบาป ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องลักทรัพย์ ไม่ต้องประพฤติผิดประเวณี ที่เรายังไปฆ่าไปลักทรัพย์อยู่ เพราะเรายังอยากได้เงิน ถ้าอยากได้เงินหาเงินไม่ได้ ก็ต้องไปขโมยเงินเขา

แต่ถ้าเราบอกว่าต่อไปนี้เราจะไม่อยากได้อะไร แล้วถ้าเราอยากจะได้อะไรที่จำเป็นก็จะหามาโดยที่ไม่ทำบาป เพราะการทำบาปจะทำให้เราทุกข์ แล้วเราก็จะไม่พูดโกหก นี่ก็เป็นสัมมากัมมันโต สัมมาวาจา การกระทำที่ถูกต้อง การพูดที่ถูกต้อง แล้วเราก็ต้องมีอาชีพที่ถูกต้อง อาชีพที่ถูกต้องคืออาชีพที่ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ไปทำให้ผู้อื่นเขาเสียหายเดือดร้อน เช่น ไม่ไปเป็นอาชีพฆ่าเป็ดฆ่าไก่ ฆ่าวัวฆ่าควาย จับปูจับปลามาฆ่าขายอย่างงี้ ไม่ทำอาชีพเหล่านี้เพราะมันจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วเราจะทุกข์
แล้วก็ให้เรามีความขยันหมั่นเพียร ขยันที่จะหยุดความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจให้หมดไป ด้วยการเจริญสติ พุทโธพุทโธไปเรื่อยๆ สติก็เป็นสัมมาสติ เป็นมรรคองค์ที่เจ็ด ถ้าเรามีสัมมาสติ เวลานั่งสมาธิจิตเราก็จะสงบ ก็จะได้สัมมาสมาธิ ได้ความสุข ถ้าเราได้ความสุขจากสมาธิ เราก็จะหยุดความอยาก เลิกความอยากต่างๆได้หมด นี่ก็คือมรรคที่มีองค์แปด ถ้ามีมรรคแล้ว เราก็จะสามารถหยุดความอยากได้ หยุดการเวียนว่ายตายเกิดที่เกิดจากความอยากต่างๆได้.


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 พฤศจิกายน 2567 16:45:22
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/19515296527080_465472074_1137696917738463_250.jpg)


หนังจริง หนังตัวอย่าง
ถาม  : เวลาฟังเทศน์ ฟังเทปครูบาอาจารย์ บางครั้งจิตจะอ่อนตัว เหมือนกับว่าจะรู้จะเข้าใจในสภาวะที่อธิบายไม่ได้ บางทีอ่านหนังสือที่พูดถึงความสงบ พูดถึงการหยุดความคิด แล้วก็อยู่กับปัจจุบัน รู้สึกจิตจะเบาเย็น เหมือนไม่มีตัวตน เป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ เป็นอะไรที่บอกไม่ถูก สภาวะแบบนี้เกิดจากความคิดปรุงแต่งหรือเกิดจากกิเลส

พระอาจารย์ : เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรม ทำให้จิตสงบผ่องใส แต่ไม่ถาวร ปรากฏขึ้นแล้วก็ผ่านไป เป็นหนังตัวอย่าง ยังไม่ใช่หนังจริง ถ้าจะให้เป็นหนังจริง ก็ต้องน้อมเอาสิ่งที่ท่านสอนมาปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ เอาคำสอนเข้ามาอยู่ในใจเรื่อยๆ แต่เราไม่ค่อยมีกำลังที่จะระลึกถึงคำสอนได้เรื่อยๆ ผลจึงไม่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ถ้าจับประเด็นได้ก็จะอยู่กับใจ เป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าจับประเด็นไม่ได้ ก็จะไม่สามารถรักษาให้อยู่กับใจได้ ก็เป็นสัญญาไป คือขณะที่ฟังไม่ได้คิดเรื่องอื่น จิตก็สงบตาม พอผ่านไปก็ลืม พอลืมก็กลับไปสู่สภาพเดิม ถ้าฟังแล้วเข้าใจจับประเด็นได้ ก็จะไม่ลืม เป็นปัญญา


พิจารณาอสุภะ
ถาม : เวลาพิจารณาความตายนี้ พิจารณาทั้งตัวเราและคนอื่น

พระอาจารย์ : ทุกคนเลย กายในก็คือตัวเรา กายนอกก็คือกายของผู้อื่น พอพิจารณาแล้วจะได้เห็นว่าเหมือนกัน ถ้าพิจารณาเราคนเดียว ก็จะคิดว่าเราอาภัพเหลือเกิน ทำไมเราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าพิจารณาแต่คนอื่นก็จะคิดว่าเราจะอยู่ไปตลอด จึงต้องพิจารณาทั้งเขาและเรา

ถาม : พิจารณาอสุภะก็เหมือนกัน

พระอาจารย์ : เหมือนกัน ไม่มีใครแตกต่างกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกันไม่ว่าหญิงไม่ว่าชาย ถ้าผู้ชายก็ต้องพิจารณาผู้หญิง ผู้หญิงก็ต้องพิจารณาผู้ชาย เพื่อจะได้คลายความกำหนัดยินดี ถ้าเป็นผู้หญิงชอบผู้หญิงก็ต้องพิจารณาผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชายชอบผู้ชายก็ต้องพิจารณาผู้ชาย

ถาม : พิจารณาอสุภะของคนที่หน้าตาดีๆ แบบดารา
พระอาจารย์ : คนที่เราหลงใหล คนนั้นแหละที่เราต้องพิจารณา ว่าเป็นซากศพ เวลายังหายใจอยู่ก็อยู่ด้วยกันได้ พอไม่หายใจก็ไม่กล้าเข้าใกล้แล้ว ทั้งๆที่ร่างกายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ยังมีอาการ ๓๒ เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้หายใจเท่านั้นเอง

ถาม : กลัวผีคะ

พระอาจารย์ : เวลาไม่ตาย ไม่ได้เป็นผี


การฟังธรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
ถา ม: ทำไมเวลามีใครมาพูดกับเราว่าคนฟังธรรมอะไรเห็นยังโกรธอยู่ เวลาฟังแบบนี้รู้สึกโกรธทวีคูณขึ้นสุดๆ เลยเจ้าค่ะ อยากทราบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วควรแก้อย่างไรดีเจ้าคะ

พระอาจารย์: ก็เพราะว่าเราคิดว่าเราฟังธรรมแล้วเราเก่งไง ความจริงการฟังธรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เราก็ยังเป็นปุถุชนยังเป็นคนมีกิเลสหนาเหมือนเดิมใช่ไหม งั้นเวลาใครเขาว่าคนฟังธรรมแล้วมีความโกรธ ก็ใช่ละสิ ก็กูยังมีกิเลสอยู่นี่ จะไปโกรธเขาทำไม บางคนคิดว่าพอเริ่มปฏิบัติธรรมนี่จะเป็นพระอริยะกันขึ้นไปแล้ว งั้นมันถึงโกรธเวลาใครมาพูด โอ๊ย! ปฏิบัติธรรมมาแล้วทำไมยังโกรธอยู่ ก็ยังไม่เป็นอริยะยังไม่บรรลุมันก็ต้องโกรธเป็นธรรมดาสิ งั้นอย่าไปโกรธเขา อย่าไปคิดว่าเราเก่ง ถ้าเรายังโกรธอยู่ยังไม่เก่ง ใช่ไหม


ใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวแล้วมั้ง
ถาม : ท่านอาจารย์เคยถูกงูกัดไหมค่ะ

พระอาจารย์ : เคย แต่เป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะอยู่ในที่มืด ไม่ได้ฉายไฟ เป็นตอนเช้ามืด เดินลงเขาจะไปบิณฑบาต พอออกจากแนวป่า เดินอยู่บนถนนโล่งๆแล้ว ไม่คิดว่าจะมีงู ก็เลยไม่ได้ฉายไฟ อาศัยแสงดาวแสงเดือน พอเห็นลางๆ เดินมาตั้งสิบกว่าปี ก็ไม่เคยเจออะไร พอวันนั้นเดินไปเจอ ก็ไม่ทราบว่าโดนงูกัด คิดว่าไปเตะหนามเข้า ก็เลยฉายไฟดู ก็เห็นงูกะปะตัวเล็กๆไม่ยาว รอยที่มันกัดก็เหมือนถูกเข็มเล็กๆแทง มีเลือดออกมาเป็นจุดเล็กๆ ตอนนั้นอยู่ใกล้ๆกับบ้านพักของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในเบื้องต้นก็บีบเลือดออกมาก่อน แล้วก็เดินไปที่บ้านพักปลุกคนให้ช่วยพาไปโรงพยาบาล เพราะเริ่มเจ็บแล้ว เริ่มเดินไม่ค่อยได้ เขาก็เอามะนาวมาโปะที่แผลไว้ก่อน ช่วยดูดพิษได้ แล้วรีบพาไปโรงพยาบาล พอไปถึงโรงพยาบาล เราก็คิดว่าหมอจะรีบเอายามาฉีด แต่กลับไม่ได้ฉีด ปล่อยให้นอนอยู่เฉยๆ เอาสายน้ำเกลือมาใส่ เลยถามว่าไม่ทำอะไรหรือ พยาบาลบอกว่าเพียงแต่ตรวจเลือดดูก็พอ เพราะพิษงูนี้มันไม่ตายทันที ที่ยังไม่ให้ยาทันทีเพราะกลัวจะแพ้ยา พิษของงูชนิดนี้ไม่ได้ไปทำลายประสาท ไม่ได้ทำให้หัวใจหยุดเต้น แต่จะทำลายเลือด คือจะทำให้เลือดไม่แข็งตัว เลือดจะไหลไม่หยุดถ้ามีเลือดไหลออกมา เขาบอกว่าหมอสั่งให้เช็คดูก่อนว่าเลือดยังแข็งตัวอยู่หรือเปล่า ถ้าโดนงูพิษกัดตอนเช้ามืด พิษจะไม่แรง เพราะมันออกหากินทั้งคืนแล้วคงได้ไปกัดสัตว์อื่นบ้างแล้ว อาจจะมีพิษเหลืออยู่น้อย พอที่ร่างกายจะกำจัดมันได้เอง แต่เขาไม่ได้อธิบายในตอนนั้น เราก็กระสับกระส่ายอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมไม่ทำอะไร ใจหนึ่งก็ปลงว่าถึงคราวแล้วมั้ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด


การตายของแต่ละคน
ถาม : เรื่องการตายของแต่ละคน ทำไมบางคนผิดศีลข้อ ๓ เหมือนกัน อีกคนหัวใจวายกระทันหันโดยไม่มีการสั่งเสีย แต่อีกคนก็เจ็บป่วย ชีวิตไม่มีความสุข คนที่ตายง่ายมีบุญมากกว่าหรือเปล่าคะ

พระอาจารย์ : ไม่หรอก ความตายนี้มันแล้วแต่เหตุที่มันทำให้เกิดการตายขึ้นมา แต่ที่มันเหมือนกันก็คือสิ่งที่ทำให้เรามาตายกันก็คือการเกิด ถ้าเราไม่มาเกิดเราก็จะไม่มีการตายกัน ส่วนการตายจะตายช้าตายเร็วตายยากตายง่ายนี่มันก็อาจจะมีหลายเหตุหลายปัจจัย บุญกรรมอาจจะมีส่วน เหตุการณ์ต่างๆ ที่มันสุดวิสัยก็มีส่วน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลกับวิธีตาย แต่ให้รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเหมือนกันหมดทุกคน ถ้าไม่อยากจะตายก็อย่ามาเกิด ถ้าไม่อยากจะเกิดต้องฆ่ากิเลสให้หมด ฆ่ากิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจของเราให้หมด แล้วเราก็จะไม่กลับมาเกิด ไม่เกิดแล้วเราก็จะไม่ตาย จะตายช้าตายเร็วตายยากตายง่ายก็ไม่มีอีกต่อไป


ตามอัธยาศัย
ถาม : ที่บนเขานี้มีพระอยู่กี่องค์คะ

พระอาจารย์ : ตอนนี้มีอยู่ ๓ รูป ไปต่างจังหวัดกันพอออกพรรษา ธรรมดาก็มีไม่มาก มีประมาณสัก ๖ รูป เพราะส่วนใหญ่อาตมาไม่ได้สอนไม่ได้กำชับดูแลเคี่ยวเข็ญ เพราะไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนั้น เพราะเราก็อยู่ในฐานะผู้อาศัย ไม่ใช่วัดของเรา เป็นของสมเด็จฯ ผู้มาอยู่ก็ไม่ได้มาศึกษากับเรา ใครสนใจอยากจะศึกษาถามเรา เราก็สอน ถ้าไม่สนใจเราก็ไม่สอน ปล่อยให้อยู่ตามอัธยาศัย บางท่านก็อยากไปอยู่กับสำนักครูบาอาจารย์ มีหมู่คณะมีกฎมีระเบียบที่ตายตัว ที่นี่ค่อนข้างจะเหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ตัวใครตัวมัน ใครขยันอยากจะปฏิบัติก็ปฏิบัติไป ไม่อยากจะปฏิบัติก็ไม่บังคับกัน

ถาม : เข้าง่ายออกยาก

พระอาจารย์ : ที่นี่เข้าก็ง่ายออกก็ง่าย

ถาม : องค์ที่ขึ้นมาอยู่ข้างบนนี่ก็

พระอาจารย์ : ก็มาด้วยความสมัครใจ

ถาม : ท่านอาจารย์ก็ได้แนะนำบ้าง

พระอาจารย์ : ถ้าถามก็แนะนำไป แต่ส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้องทำอะไร ได้ยินได้ฟังได้อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์กันอยู่ประจำอยู่แล้ว ขาดการปฏิบัติเท่านั้นเอง ที่ผ่านกันไปไม่ค่อยได้ก็คือทุกขเวทนา พอเจอทุกขเวทนาก็จอด ถ้าผ่านไปได้แล้ว ก็จะไปได้เรื่อยๆ.


ทำไมพระจึงทำอาหารกินเองไม่ได้
ถาม : ทำไมพระพุทธเจ้าจึงให้ออกบิณฑบาตขออาหารเจ้าคะ ทำไมจึงทำอาหารเองไม่ได้ กราบสาธุค่ะ

พระอาจารย์ : เพราะจะได้กำจัดกิเลสตัวที่อยากกินนู่นกินนี่นั่นเอง ถ้าปล่อยให้พระทำกินอาหารได้เดี๋ยววันนึงไม่ต้องมาศึกษาธรรมมาปฎิบัติธรรม มานั่งคิดปรุงแต่งว่ามื้อต่อไปจะกินอะไรดี ต้องให้มักน้อยสันโดด ให้ยินดีตามมีตามเกิด แล้วก็จะได้ไม่เสียเวลามาก เพราะเสียอย่างมากก็แค่ชั่วโมงนึงไปบิณฑบาต กลับมาฉันอีกชั่วโมงนึงก็เสร็จแล้ว แล้วไม่ต้องมีโรงครัวไม่ต้องมีหม้อมีอะไรวุ่นวายไปหมด เพราะว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้พระทำสิ่งเดียว คือให้มาปฎิบัติธรรมเท่านั้นเอง ส่วนเรื่องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี้ก็เป็นอุบายให้ญาติโยมได้ทำบุญด้วย คนที่ไม่มีโอกาสไม่มีเหตุให้ทำ พอมีพระมาก็เลยต้องทำ ก็ได้โอกาสได้ทำบุญ ส่วนพระก็ได้อาหารและยังได้ความเพียรด้วย กำจัดความขี้เกียจ เพราะว่าต้องออกไปบิณฑบาตเดิน


ดูเกิดดับ
ถาม : เวลาดูการเกิดดับของร่างกาย เราก็มาดูที่ใจเราว่าเรารู้สึกอย่างไร ถูกหรือเปล่าคะ 

พระอาจารย์ : ต้องถามตัวเองว่า เรารับกับการดับของมันได้หรือไม่ เช่นร่างกายนี้ต้องดับ เรารับมันได้หรือเปล่า ดูเกิดดับต้องดูอย่างนี้ ดูเพื่อให้ใจรับความจริง เช่นเวลาได้อะไรมาพร้อมที่จะเสียมันไปหรือไม่ ได้สามีหรือภรรยามา พร้อมที่จะเสียเขาไปหรือไม่


ถ้าพร้อมจะเข้าห้องสอบก็ต้องไม่หนี
ถาม : เผอิญอยู่ในเหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอส จอดที่สถานีศาลาแดงสีลม ถูกยิงด้วยลูกระเบิด

พระอาจารย์ : ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปก็แล้วกัน หรือเป็นการทดสอบจิตใจก็ได้ สติปัญญาตอนนั้นเป็นอย่างไร

ถาม : ตอนหมอบก็พุทโธ ก็คิดว่าเอ๊ะจะตายแล้วเหรอ

พระอาจารย์ : ไม่ปลงว่าตายเป็นตาย เพียงแต่พุทโธ ยังอยู่แค่ขั้นสมาธิเท่านั้น

ถาม : พอพ้นออกมาได้ เสียงยังสั่นอยู่เลย

พระอาจารย์ : เจอของจริงก็จะเป็นอย่างนี้ ตอนที่เราฟังธรรม ตอนที่เราพิจารณาธรรม เป็นการทำการบ้าน เวลาไปเจอของจริง ถึงจะรู้ว่าใจเป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านต้องเป็นเหมือนน้ำนิ่ง ไม่กระเพื่อมเลย

ถาม : พระอาจารย์บอกว่าได้แค่สมาธิ ควรจะปฏิบัติอย่างไรคะ

พระอาจารย์ : ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ก็จะปลงไปเลยว่า จะพังก็พังไป จะตายก็ตายไป

ถาม : โดยปกติถ้าเจอวิกฤตแบบนี้ จะพุทโธตลอด

พระอาจารย์ : ถ้าพุทโธก็เป็นเพียงสมาธิ ข่มใจไม่ให้คิดกลัว ไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจะคิดว่าร่างกายไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา ตายเป็นตาย ต้องตายแน่ๆสักวันหนึ่ง ถึงเวลาแล้วหรือ จะไปก็ไป ถ้าไม่เตรียมไว้ก่อนจะไม่คิดอย่างนี้

ถาม : ถ้าคิดว่าตายเป็นตาย แต่วิ่งหนีสุดชีวิต

พระอาจารย์ : ความคิดกับความจริงมันค้านกัน

ถาม : ถ้าจะว่ารู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางละเจ้าคะ

พระอาจารย์ : อยู่ที่ใจเป็นหลัก ถ้าใจไม่เดือดร้อน การหลบเพื่อเป็นการรักษาชีวิตไว้ แต่ไม่ได้รักษาเพราะกลัว หรืออยากจะอยู่ต่อไป ก็ใช้ได้ ถ้าหลบเพราะกลัว ก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้

ถาม : ถ้าหลบเพื่อรักษาชีวิตไว้ภาวนา

พระอาจารย์ : แสดงว่ายังไม่ปลง การภาวนาก็เพื่อให้ก้าวมาถึงจุดนี้ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วจะหนีทำไม จะเข้าห้องสอบอยู่แล้ว ถ้าหนีก็แสดงว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าห้องสอบ จึงต้องอ้างรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ขอผลัดไว้ก่อน ขอเลื่อนไปก่อน ขอเข้าห้องสอบวันหลัง ถ้าพร้อมจะเข้าห้องสอบก็ต้องไม่หนี


หัวข้อ: Re: ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 14:30:25
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/87278680586152_468177116_1152278276280327_660.jpg)


ต้องการพิสูจน์
ถาม : พยายามทำให้เวลา ๒๔  ชั่วโมง เป็นสิ่งที่นอกธรรมะน้อยที่สุด

พระอาจารย์ : อยู่แบบพระ ถึงแม้ต้องทำมาหากิน ก็ไม่ห่างไกลจากธรรมะ เวลาพระบิณฑบาต ท่านก็สอนให้มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหว กับการบิณฑบาต หรือจะบริกรรมพุทโธไปก็ได้ เป็นฆราวาสก็ทำ  ได้แต่ก็ยากหน่อย เพราะต้องคุยกัน พอคุยสติก็หลุดไปเลย ไหลไปกับเรื่องราวต่างๆ ถ้าเคยฝึกมาแล้วก็สามารถปฏิบัติได้ ถึงแม้จะคุยก็คุยด้วยสติ รู้ว่ากำลังคุยเรื่องอะไร เช่นคุยเรื่องงานเรื่องการ วันนี้จะทำอะไร  พอคุยเสร็จก็กลับมาที่ธรรมะต่อ ทำงานก็ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำ อย่างนี้ถือว่าอยู่ใกล้ธรรมะ  

ถ้าทำอย่างนี้จริงๆ ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ไม่รู้จะทำไปทำไม เอาเงินไปทำไม  เที่ยวก็ไม่เที่ยว ถ้าต้องการธรรมะ ก็ไม่ต้องใช้เงินแล้ว ที่ยังต้องการเงิน เพราะต้องเอาไปเลี้ยงกิเลส ซื้อของที่กิเลสชอบ ไปดูไปฟังสุขภาพ ยังสมบูรณ์อยู่ ก็จะเฉยๆ ไม่รู้ว่ายึดติดหรือไม่ พอเวลาใกล้จะตายถึงรู้ว่ายึดติดหรือไม่ยึดติด  ถ้ายึดติดก็จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับ พอปล่อยวางได้ ตัดได้ จะตายก็ตาย ก็จะเบาสบาย  

การปฏิบัติจึงต้องอาศัยเหตุการณ์และสถานที่ ที่จะกระตุ้นให้เลือกระหว่างการปล่อยวางกับการยึดติด ถ้าไม่แน่ใจว่าปล่อยวางได้จริง หรือไม่ ก็ต้องไปอยู่ตามป่าตามเขา  ที่พระปฏิบัติต้องไปอยู่ตามป่าตามเขา เพราะต้องการพิสูจน์ว่าปล่อยร่างกายได้จริงหรือไม่  ต้องไปอยู่ใกล้เสือ พอเสือร้องขึ้นมาใจยังเฉยอยู่หรือไม่ ถ้าใจสั่นแสดงว่ายังไม่ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วต้องเฉย.


การปฏิบัติเป็นขั้น
ถาม : การทำบุญตลอดเวลา แต่ไม่ทำสมาธิภาวนา ไม่ช่วยให้จิตพัฒนาขึ้น

พระอาจารย์ : จิตมีหลายขั้น ขั้นอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา ถ้าเรียนอยู่แต่ขั้นอนุบาลก็ได้แค่ขั้นอนุบาล จบอนุบาลก็ต้องก้าวเข้าสู่ขั้นประถม ทำบุญให้ทานแล้วต้องรักษาศีล รักษาศีลแล้วต้องภาวนา ไปอยู่วัดถือศีล ๘ เนกขัมมะ แล้วนั่งสมาธิเดินจงกรม ตอนต้นก็อยู่ในกุฏิก่อน ต่อไปออกไปนั่งในป่า ไปเดินในป่าตอนค่ำคืน ตอนต้นก็ไปหลายๆคน ต่อไปก็ไปคนเดียวเป็นขั้นๆไป ทำแบบผลีผลามไม่ได้ เดี๋ยวเตลิดเปิดเปิง

สองวันก่อนมีคนขออยู่ภาวนา มาตอนบ่ายสามโมง พอสามทุ่มก็หนีแล้ว โทรศัพท์เรียกรถมารับ ตอนเช้ามาเล่าให้ฟังว่า ตอนต้นภาวนาจิตก็สงบดี พอนั่งต่อไปจิตเริ่มหลอน ไม่มีสติควบคุม ทนอยู่ไม่ได้ กลัวไปหมด นั่งหลับตาจุดเทียนไว้ก็กลัวไฟจะไหม้ ก็เลยวุ่นวาย ไม่เคยอยู่ป่ามาก่อน อยู่แต่ในเมือง ตอนเช้ามาสารภาพว่า ผมเข้าใจแล้วที่ท่านอาจารย์พูดว่า การปฏิบัติเป็นขั้นเป็นอย่างไร ผมต้องกลับไปขั้นอนุบาลใหม่ ให้ทานรักษาศีลก่อน.


ป็นตัวเดียวกัน
ถาม : จิตดวงที่ไม่ตายกับจิตในสติปัฏฐาน ๔

พระอาจารย์ : เป็นจิตเดียวกัน จิตไม่ตาย แต่อาการของจิต มันเกิดดับๆ คำว่าจิตในสติปัฏฐาน หมายถึงจิตที่เปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ จากสงบเป็นฟุ้งซ่าน จากโลภเป็นโกรธเป็นหลง เปลี่ยนอาการไปเรื่อยๆ แต่ตัวจิตเป็นตัวเดียวกัน เหมือนกับเราเปลี่ยนเสื้อผ้าไปเรื่อยๆ วันนี้ใส่ชุดนี้ พรุ่งนี้ใส่อีกชุด ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าก็คนเดิม จิตก็ตัวนี้ มาปฏิสนธิ มาเกิด เป็นตัวที่รับรู้ มีอารมณ์ต่างๆ เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ท่านให้ดูอารมณ์เหล่านี้ว่าไม่เที่ยง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา บางทีเราก็ควบคุมบังคับมันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวาง เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าพยายามไปแก้กลับทำให้เป็นมากยิ่งขึ้น วิธีที่จะแก้คือทำใจให้เป็นอุเบกขา รับรู้ พอหมดแรงมันก็สงบตัวลงไปเอง.


ความทุกข์อันละเอียด
ถาม : ในการพิจารณานี่ไม่จำเป็นต้องหลับตาหรือนั่งตลอด

พระอาจารย์ : ไม่จำเป็น ดูในใจ ดูการทำงานของกิเลส ที่สร้างความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เช่นคิดว่าเราดีกว่าเขา สูงกว่าเขา ต่ำกว่าเขา ด้อยกว่าเขา พอด้อยกว่าก็น้อยเนื้อต่ำใจ เวลาสูงกว่าก็หยิ่งผยอง ภูมิอกภูมิใจ หลงระเริง ซึ่งเป็นกิเลสทั้งนั้น

ต้องพิจารณาให้เห็นชัดแล้วตัดมันไป ส่วนอวิชชาก็คือการไม่เห็นความทุกข์อันละเอียด ที่มีซ่อนอยู่ในใจ เพราะใจในขณะนั้นมีความสุขมาก จนคิดว่าไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย แต่ความสุขนั้นยังเปลี่ยนได้ ยังหายไปได้ มีความทุกข์ขึ้นมาแทนได้ แต่เป็นแบบที่ละเอียดมาก ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็น ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจและปล่อยวางได้


นิมิต
ถาม : เผอิญมีโยมที่มาปฏิบัติเขามีปัญหาอยู่หน่อย คือในการปฏิบัติของเขาขณะนี้ก้าวหน้าขึ้น แต่ว่าเกิดนิมิตขึ้นมากมาย แล้วเขารู้สึกพอใจในนิมิตมาก เพราะเป็นนิมิตในทางดีด้วยค่ะ

พระอาจารย์ : นิมิตก็เหมือนกับดูหนังดูละคร ดูแล้วมันก็ติด ไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นวิปัสสนา ไม่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ปล่อยวาง เวลาจิตไปเผชิญกับความทุกข์ จะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เพราะไม่มีปัญญา

ถาม : เขาสงสัยว่านิมิตที่เกิดขึ้นเมื่อจิตรวมลงแล้ว เป็นสิ่งที่เขาเคยผ่านมาใช่หรือเปล่า เช่นเห็นพระพุทธเจ้าบ้าง หรืออะไรอย่างนี้ค่ะตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับเขา

พระอาจารย์ : มันดีแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่การตัดภพตัดชาติ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้อนาคตของเราดีขึ้น คุณแม่แก้วก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คุณแม่แก้วนับถือหลวงตาเป็นอาจารย์ ท่านพยายามสอนคุณแม่แก้วให้ละนิมิต เพราะคุณแม่แก้วจะชอบไปรับรู้เรื่องต่างๆ

ถาม : จะบอกให้เขาละนิมิตโดยวิธีใดคะ ไม่สนใจมัน

พระอาจารย์ : พิจารณาด้วยปัญญาว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการพัฒนาจิตใจไปสู่อริยภูมิ สู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องปล่อยไปก่อน ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไป มันอยู่กับเรา เมื่อได้บรรลุถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะมาปรากฏให้เห็นเหมือนเดิม ตอนนั้นจะมีความรู้ความสามารถที่จะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง สามารถเอาไปใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ได้ แต่ตอนนี้ถ้าไปยุ่งเกี่ยวแล้ว จะไม่ทำงานที่ต้องทำ คือทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ เหมือนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แทนที่จะเรียนหนังสือ กลับไปทำกิจกรรม การเรียนก็เลยไม่ดี ไม่ได้ขึ้นชั้น เรียนไม่จบ นิมิตพวกนี้ก็เป็นเหมือนกิจกรรม ไม่ใช่วิชาหลัก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ไปสนใจ รู้ไปก็เท่านั้น ไม่ได้ทำให้กิเลส คือความโลภความโกรธความหลง เบาบางหรือหมดไปได้ หลวงตาจึงต้องใช้ไม้เด็ดกับคุณแม่แก้ว บอกว่าถ้าไม่เลิกก็ไม่ต้องเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กัน คุณแม่แก้วก็เลยเลิกยุ่งกับนิมิต ไปทำงานด้านวิปัสสนาทันที พิจารณากาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาอวิชชาจนหลุดพ้น ทีนี้จะมีนิมิตมากน้อยก็ไม่เป็นปัญหา คนที่ยังไม่หลุดพ้นก็เหมือนกับคนที่ติดอยู่ในคุก ไปดีใจกับการดูโทรทัศน์ทำไม รอไปดูข้างนอกไม่ดีกว่าหรือ เพราะจะไปทำอย่างอื่นก็ทำได้ อยู่ในคุกก็ได้แต่ดูโทรทัศน์ จะไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ก็ไปไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอา.


ความทุกข์มันอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย
ถาม : บางคนอาจจะเข้าใจว่า ปล่อยวางเป็นการไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจเกียร์ว่างค่ะ บางคนก็ยอมรับการเกิดเป็นธรรมดา ยังไงก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้สนใจที่จะปฏิบัติ เขาบอกว่าทุกข์ก็ทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายยอมรับ

พระอาจารย์ : ใช่ ชีวิตเขาก็จะวนเวียนอย่างนี้ไป โดยไม่รู้ตัว ฆ่าตัวตายกันก็มากทุกวันนี้ เมื่อมีปัญหา รับกับสภาพไม่ได้ ก็ยุติปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่ได้ไปแก้ปัญหา เพราะตัวที่ถูกฆ่าเป็นเพียงหุ่นเท่านั้นเอง ถ้าจะฆ่าต้องฆ่าตัวเชิด คือตัณหาความอยากทั้งหลาย ที่ต้องฆ่ากลับไม่ฆ่า ไปฆ่าร่างกาย ก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าตอนแสวงหาการตรัสรู้ ก็จะฆ่าร่างกายด้วยการไม่กินข้าว อดข้าวถึง ๔๙ วัน แต่ตัวเชิดยังมีกำลังเต็มที่อยู่ในจิตในใจ

จึงทรงเห็นว่าความทุกข์มันอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ตัวที่ทำให้ต้องดิ้นรนกวัดแกว่งแสวงหาต่างหากที่ต้องฆ่า แล้วก็ฆ่ามันได้ ระงับมันได้หยุดมันได้ แต่ต้องเห็นด้วยปัญญา ว่าสิ่งที่อยากได้นั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ให้โทษมากกว่าให้คุณ ให้ความทุกข์มากกว่าให้ความสุข เป็นสุขตอนต้นแต่ทุกข์ตอนปลาย เวลาได้เป็นนายกฯก็ดีอกดีใจ พอตกเก้าอี้ไปก็เป็นทุกข์  ศาสนาสอนให้ทุกข์ตอนต้นแต่สุขตอนปลาย ทุกข์ด้วยการต่อสู้กับความอยาก คนที่เลิกบุหรี่ได้นี่สบายกว่าคนที่ติดบุหรี่ คนที่เลิกเหล้าได้สบายกว่าคนที่ติดเหล้า แต่เวลาเลิกนี่มันทรมานจิตใจ แต่ก็ไม่นาน ไม่กี่วัน ถ้าฝืนได้อดได้ทนได้ ถ้าทำจิตให้สงบได้ก็จะไม่ยาก พอห่างไปสักระยะหนึ่ง ความอยากก็จะเบาลงไปๆ แล้วก็หมดไป ถ้าจะโผล่กลับมาอีก ถ้ามีปัญญาเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะไม่กล้า.


ให้นำเอาไปปฏิบัติกัน
ถาม : มีคำแนะนำให้คนที่ฟังท่านอาจารย์ ๔ ปีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหน

พระอาจารย์ : แยกเป็นบัว ๔ เหล่า ในห้องเรียนก็เหมือนกัน มีเด็กเรียนเก่งกับเด็กเรียนไม่เก่งผสมกันไป เด็กที่ไม่เก่งชอบอยู่ท้ายห้อง เด็กเรียนเก่งมักชอบอยู่หน้าห้อง เพราะไม่กลัวอาจารย์ถาม จะตอบได้เสมอ จะเกเรไม่ได้ ถ้านั่งอยู่ข้างท้ายห้องนี้เล่นกันได้ แต่เด็กที่อยู่หน้าห้องนี้จะต้องมีสมาธิฟังครูอย่างเดียว จึงเรียนเก่งกัน เด็กที่เรียนเก่งจะชอบนั่งอยู่ข้างหน้าห้อง เพราะชอบฟังคำสอนของครูของอาจารย์ เขาตั้งใจเรียน แต่เด็กที่ไม่ชอบฟัง จะหลบไปนั่งอยู่ข้างหลังห้องกัน จะได้เล่นกันได้ มีพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้าว่า ตถาคตเป็นผู้สอนให้ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติ ได้ไปถึงมรรคผลนิพพาน แต่ทำไมสาวกของท่าน บางคนก็ไปถึง บางคนก็ไปไม่ถึง

พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบไปว่า เราเป็นคนสอน เราไม่ได้เป็นคนปฏิบัติ เขาต้องปฏิบัติด้วยตัวเขาเอง จะไปถึงไม่ถึงอยู่ที่การปฏิบัติของเขา ไม่ได้อยู่ที่คนสอน คนสอนก็ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่แล้ว อยู่ที่คนฟังจะนำเอาไปขยายผลต่อได้หรือไม่ อยู่ที่ความสามารถของเขา ที่เรียกว่าบุญบารมี ถ้าได้สะสมปัญญาบารมีมามาก พอฟังปั๊บก็จะเข้าใจทันที อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านมีปัญญาบารมีมากกว่ารูปอื่น รู้เร็วกว่า พอฟังแล้วบรรลุก่อนเลย อีก ๔ รูปยังไม่เข้าใจ เรื่องของลูกศิษย์ลูกหาจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของอาจารย์ อาจารย์อาจจะวิตกกังวลบ้าง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องให้เวลามากหน่อย เพราะเป็นเด็กปัญญาอ่อน คนบางคนพอบอกคำเดียวก็เข้าใจ บางคนต้องขยายความ บางคนต้องวาดภาพให้เห็น คนเรามีปัญญาระดับต่างกัน จึงควรพยายามสร้างปัญญาไว้เรื่อยๆ ปัญญาเกิดได้ด้วยการได้ยินได้ฟัง เกิดได้ด้วยการนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปใคร่ควรพิจารณา จนสามารถพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก แต่ต้องทำจิตให้สงบก่อนถึงจะทำได้ ขอให้นำเอาไปปฏิบัติกัน.


ต้องมีสติ
ถาม : เวลาทำงานมีความรู้สึกว่า ทางโลกกับทางธรรมจะสวนกัน ทางธรรมให้ปล่อยวาง จะเสร็จหรือไม่เสร็จไม่เป็นไร แต่ทางโลกให้มีความรับผิดชอบ ต้องทำให้เสร็จ

พระอาจารย์ : ทำด้วยสติ จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่ผิดพลาด ที่ผิดพลาดเพราะไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ มัวไปกังวลกับเป้าหมาย ก็เลยไม่ได้อยู่กับงาน ทำแบบผิดๆ ถูกๆ ยิ่งรีบก็ยิ่งผิด ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ขัดกันหรอกทางธรรมกับทางโลก ต้องมีสติทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม ถึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าไม่มีสติก็จะผิดพลาด จะพลั้งเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าทำถูกหรือไม่ ทางธรรมกับทางโลกถ้าเกี่ยวกับสตินี้ไม่ขัดกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติมีความจำเป็นในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกหรือการงานทางธรรม ต้องมีสติเสมอ ถึงจะทำได้อย่างไม่ผิดพลาด ถ้าไม่มีสติก็ทำไม่ได้ เวลาเมาเหล้าแล้วเย็บผ้าได้ไหม เย็บไม่ได้หรอก ต้องมีสติ


จะรู้ได้อย่างไรว่าเราละตัวตนได้ขาดแล้ว
ถาม : จะรู้ได้อย่างไรครับว่าเราละตัวตนได้ขาดแล้ว

พระอาจารย์ : ก็เวลาใครด่าเรายังโกรธหรือเปล่า เวลาใครเขาดูถูกเหยียดหยามเรายังโกรธหรือเปล่า เวลาเขาเอาของที่เรารักไป ยังโกรธอยู่หรือเปล่า ถ้ายังโกรธก็แสดงว่ายังมีตัวตน ของยังเป็นของเราอยู่ ใช่ไหม ถ้าไม่ได้เป็นของเรา ใครเอาไปเราเดือดร้อนไหม ถ้าใครเอาเมียคนอื่นไป สามีคนอื่นไปเราเดือดร้อนไหม ไม่เดือดร้อน ตอนนั้นเราไม่มีตัวตน ใช่ไหมเพราะเราไม่ได้ถือว่าเป็นของเรา ดังนั้นถ้าตราบใดเรายังถือว่าเป็นของเราอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีตัวเราเป็นผู้ถือ ถ้าเราเป็นแต่เพียงผู้รู้เท่านั้นแหละ ถึงจะไม่มีตัวตน ให้รู้เฉย ๆ ไง พระพุทธเจ้าบอกให้รู้เฉย ๆ ใครจะด่าก็รู้เฉย ๆ ใครจะชมก็รู้เฉย ๆ ใครจะตบตีเราก็รู้เฉย ๆ ใครจะทำอะไรก็ให้รู้เฉย ๆ ไป นั่นแหละถึงจะเรียกว่าไม่มีตัวตน


สีลัพพตปรามาส
ถาม : อยากฟังเรื่องสังโยชน์ข้อที่ ๓ ครับ อ่านเองแล้วยังงงอยู่บ้างครับ

พระอาจารย์ : สีลัพพตปรามาส ก็ท่านแปลว่าการลูบคลำศีล คือการยังไม่เห็นว่าศีลนี้เป็นของที่สำคัญ ของที่จำเป็น ถ้าบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วจะรู้ว่า ถ้าทำบาปแล้วจิตใจจะต้องลงต่ำ จิตใจจะต้องไปเกิดในอบาย ฉะนั้นพระโสดาบันก็จะรักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต ไม่ลูบคลำในศีล ไม่สงสัยว่าศีลนี้มีประโยชน์อย่างไร เพราะรู้ว่าศีลนี้เป็นเครื่องป้องกันจิตใจไม่ให้ลงต่ำ ไม่ให้ไปเกิดในอบาย ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้


เจ็บไข้ได้ป่วย
ถาม : โยมที่ไม่สบายให้กราบเรียนท่านว่าเขาพยายามปฏิบัติ ถ้าไม่ป่วยครั้งนี้ก็จะไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา

พระอาจารย์ : เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโอกาสที่จะได้เห็นอริยสัจ พระราชบิดาของพระพุทธเจ้าก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนสวรรคต ไม่มีทางดิ้นแล้วก็เลยต้องสู้อย่างเดียว ถ้ามีโค้ชคอยบอกคอยสอน อย่างพระพุทธเจ้าคอยสอนคอยแนะให้คิด พอคิดตามก็บรรลุได้เลย

ถาม : เวลาป่วยเป็นแบบทดสอบที่สำคัญยิ่ง เพราะสติมักจะเผลอทุกครั้งที่เกิดทุกขเวทนา

พระอาจารย์ : เป็นเวลาที่ต้องเข้าห้องสอบ ไปเที่ยวไม่ได้แล้ว ต้องรีบดูหนังสือแล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีเวลาก็ผัดไปก่อน ทำนั้นทำนี่ไปก่อน แต่นี่ใกล้แล้ว พรุ่งนี้จะสอบแล้ว คืนนี้ต้องดูหนังสือทั้งคืนเลย นี่ก็เหมือนกันพอเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ก็รู้ว่าไปไหนไม่ได้แล้ว.