หัวข้อ: อู่ (เปลนอนเด็ก) เอกลักษณ์ความเป็นอยู่ของไทยโบราณ เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 มีนาคม 2563 15:59:49 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/63690626248717_1583740746358_320x200_.jpg) อู่ เปลนอนเด็ก หาชมได้ยากมาก และอาจสูญหายไปตามกาลเวลา (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/29503857882486_1583740739138_320x200_.jpg) เหนืออู่ มักนิยมแขวนปลาตะเพียนสานจากใบลานแห้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะเชื่อกันว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์ แห่งความสมบูรณ์ เป็นสัตว์น้ำที่รักสงบ ปราดเปรียวว่องไว และอีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อตาของเด็ก อู่ (เปลนอนเด็ก) เอกลักษณ์ของความเป็นไทย อู่ (เปลนอนเด็ก) คือ เปลนอน สำหรับเด็ก ที่ไกวไปมาได้ ใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กอ่อน คนไทย มีความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติเกี่ยวกับการเกิด หลังจากคลอดทารกแล้ว การเลี้ยงดูทารกจะมีความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องใช้เครื่องเรือนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กอย่างหนึ่งคือ “อู่” หรือเปลนอน เมื่อเด็กเกิดได้ ๑ เดือนไปแล้ว เด็กควรจะได้นอนอู่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความรู้สึกทางจิตใจ หรืออาจมีเหตุผลหรือไม่มีในเรื่องดังกล่าว อู่ หรือ เปลนอน ทำด้วยไม้ เช่น ไม้สัก หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ หรือสานด้วยไม้ไผ่ โดยผู้เป็นพ่อจะเป็นผู้จัดหา ถ้าทำเองไม่เป็นจะต้องไปจ้างวานผู้อื่นทำให้ เปลนอนอาจทำเป็นคอกมีขนาดกว้างและสูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร โดยทำกรอบและซี่ด้วยไม้เนื้อแข็ง ด้านล่างอาจใช้ฟากสับหรือไม้แผ่นปูเป็นพื้นแล้วปูเสื่อทับ ก่อนที่จะมีฟูกหรือผ้าปึงคือเบาะทับอีกทีหนึ่ง นอกจากอู่ที่ทำเป็นคอกไม้แล้ว ยังมีอู่ที่ใช้ไม้ไผ่สานอีกด้วย ซึ่งอู่ที่สานด้วยไม้ไผ่นี้ มีกฎเกณฑ์ว่าต้องให้ได้โฉลก จะใช้ไม้ไผ่บงแก่มาจักเป็นตอกที่มีความแข็งพอสมควร แล้วสานจากด้านล่างขึ้นไปหักขอบและใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกมาทำเป็นกรอบเพื่อให้อู่นั้นแข็งแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในการสานอู่ให้มีตาอยู่โดยรอบทางด้านข้างนั้น มีเคล็ดอยู่ว่าผู้สานจะนับตาอู่ให้ได้โฉลก ผู้สานต้องนับตาของอู่ให้ดี ให้เริ่มนับตั้งแต่ตาที่อยู่ตรงกลางของก้นอู่นับขึ้นไปทางปาก พร้อมกับกล่าวคำโฉลกว่า ตาหลับ ตามืน อย่าให้ตรงกับ “ตามืน” คือตาลืม เพราะจะทำให้เด็กไม่ค่อยหลับหรือหลับไม่สนิท ต้องสานไปให้ได้โฉลก “ตาหลับ” เด็กที่นอนถึงจะหลับดี สายอู่นั้นจะใช้เชือกผูกวัวควายมาผูกไม่ได้ เพราะจะทำให้เด็กคนนั้นเป็นคนที่กินอะไรไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักอิ่ม และทำให้เด็กดื้ออีกด้วย ทั้งนี้คงดูตามลักษณะการกินหญ้าของวัวควายที่กินทั้งวันไม่มีหยุด และหตุผลที่ห้ามเอาเชือกวัวเชือกควายมาทำสายอู่ คงเป็นเพราะว่าเชือกวัวเก่าที่ถูกน้ำถูกแดดมาก่อน เมื่อนำมาเป็นสายอู่จะทำให้ขาดได้ง่าย เป็นอันตรายแก่เด็ก อู่นี้ หากใช้บนบ้านก็อาจใช้แขวนไว้กับขื่อ แต่หากแขวนไว้เลี้ยงเด็กอยู่ใต้ถุนบ้านก็อาจแขวนกับแวง หรือรอด โดยใช้เชือกสองเส้นรับน้ำหนักของหัวและท้ายอู่ หากที่แขวนอู่อยู่สูงจากตัวอู่มากแล้ว ก็จะสามารถไกวอู่ให้ได้ระยะทางมาก ซึ่งหมายความว่าเด็กที่นอนในอู่จะมีโอกาสรับลมได้มาก ทั้งนี้จะมีเชือกสำหรับดึงอู่ให้ไกวไปกลับตามต้องการ อู่ดังกล่าวนี้นิยมเรียกว่า อู่รังหมี ดังปรากฏว่ามีปริศนาอยู่บทหนึ่งซึ่งมีคำเฉลยว่าอู่ มีคำปริศนาว่า”อุ้มลุ้มเท่ารังหมี จะหนีจะหนีชักไว้” ครั้งแรกที่จะนำเด็กนอนอู่ จะมีเคล็ดคือ ให้ผู้ที่อุ้มเด็ก ต้องกลั้นลมหายใจ หลับตา แล้วจึงค่อยเอาเด็กลงนอน เด็กจะนอนหลับดี ไม่สะดุ้งตกใจ ถ้าเด็กยังไม่หลับ แม่ก็จะกล่อมเด็กให้หลับ หากเด็กเสียชีวิตในขณะที่ยังเป็นทารกแล้ว เหนือหลุมฝังศพของทารกนั้น จะมีอู่ที่เจ้าตัวเคยใช้วางคว่ำครอบอยู่บนหลักที่ปักไว้ทั้งสี่มุมของหลุมศพนั้น เพลงกล่อมเด็กมีหลายเนื้อหลายทำนอง แล้วแต่ละท้องถิ่นจะร้องกล่อมกัน
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57758623030450_v1.png) อู่ชั่วคราวที่ทำได้โดยใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าปูที่นอน ผูกโยงสองหัวท้ายเข้ากับเสาเรือน เพื่อให้เด็กได้นอนอย่างอู่ |