หัวข้อ: พระไตรปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ เรื่อง ลิงตัวเมีย เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 พฤศจิกายน 2563 15:27:24 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/22630314777294_customLogo.png) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ เรื่อง ลิงตัวเมีย [๒๑] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเอาเหยื่อล่อลิงตัวเมียในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี แล้วเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนั้นเสมอ ครั้นเวลาเช้า ภิกษุนั้นครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในพระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเที่ยวจาริกตามเสนาสนะ เดินผ่านเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น ลิงตัวเมียนั้นแลเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ยกสะเอวบ้าง โก่งหางบ้าง แอ่นตะโพกบ้าง ทำนิมิตบ้าง เบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น จึงภิกษุเหล่านั้นสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าของถิ่นเสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้แน่ ไม่ต้องสงสัย แล้วแฝงอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่ง. เมื่อภิกษุเจ้าของถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครเวสาลี ถือบิณฑบาตกลับมาแล้ว ลิงตัวเมียนั้นได้เข้าไปหา ครั้นภิกษุเจ้าของถิ่นฉันบิณฑบาตนั้นส่วนหนึ่งแล้ว ได้ให้แก่มันส่วนหนึ่ง เมื่อมันกินอาหารส่วนนั้นแล้วได้แอ่นตะโพกให้ จึงภิกษุนั้นเสพเมถุนธรรมในมัน. ทันใด ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า อาวุโส พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร คุณจึงได้เสพเมถุนธรรมในลิงตัวเมียนี้เล่า? จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว ภิกษุนั้นสารภาพแล้วค้านว่า แต่พระบัญญัตินั้นเฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่เกี่ยวถึงสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย. อาวุโส พระบัญญัตินั้น ย่อมเป็นเหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ? การกระทำของคุณนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ คุณไม่บวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ เมื่อธรรมชื่อนั้น อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เพื่อคลายความกำหนัด คุณยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เมื่อทรงแสดงเพื่อความพราก คุณยังจักคิดเพื่อความประกอบ เมื่อทรงแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น คุณยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น. อาวุโส ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ? อาวุโส การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม พระผู้มีพระภาคตรัสบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ? อาวุโส การกระทำของคุณนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของคุณนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว. ภิกษุเหล่านั้น ติเตียนภิกษุนั้นโดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ ๑ [๒๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นมูลเค้านั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่าเธอเสพเมถุนธรรม ในลิงตัวเมีย จริงหรือ? จริง พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุนั้นทูลสารภาพ? พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวไว้ดีอย่างนี้แล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์ได้ตลอดชีวิตเล่า. ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อคลายความกำหนัด ไม่ใช่เพื่อมีความกำหนัด เพื่อความพราก ไม่ใช่เพื่อความประกอบ เพื่อความไม่ถือมั่น ไม่ใช่เพื่อมีความถือมั่นมิใช่หรือ? เมื่อธรรมชื่อนั้น อันเราแสดงแล้วเพื่อคลายความกำหนัด เธอยังจักคิดเพื่อมีความกำหนัด เราแสดงเพื่อความพราก เธอยังจักคิดเพื่อความประกอบ เราแสดงเพื่อความไม่ถือมั่น เธอยังจักคิดเพื่อมีความถือมั่น. ดูกรโมฆบุรุษ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยอเนกปริยาย เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งราคะ เพื่อเป็นที่สร่างแห่งความเมา เพื่อเป็นที่ดับสูญแห่งความระหาย เพื่อเป็นที่หลุดถอนแห่งอาลัย เพื่อเป็นที่เข้าไปตัดแห่งวัฏฏะ เพื่อเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่สำรอกแห่งตัณหา เพื่อเป็นที่ดับแห่งตัณหา เพื่อออกไปจากตัณหาชื่อวานะ มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ การละกาม การกำหนดรู้ความหมายในกาม การกำจัดความระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกอันเกี่ยวด้วยกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกาม เราบอกไว้แล้วโดยอเนกปริยาย มิใช่หรือ? ดูกรโมฆบุรุษ องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากอสรพิษที่มีพิษร้าย ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมีย ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในปากงูเห่ายังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่สอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมีย ไม่ดีเลย องค์กำเนิดอันเธอสอดเข้าในหลุมถ่านที่ไฟติดลุกโชน ยังดีกว่า อันองค์กำเนิดที่เธอสอดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมียไม่ดีเลย. ข้อที่เราว่าดีนั้น เพราะเหตุไร? เพราะบุคคลผู้สอดองค์กำเนิดเข้าในปากอสรพิษเป็นต้นนั้น พึงถึงความตาย หรือความทุกข์เพียงแค่ตาย ซึ่งมีการกระทำนั้นเป็นเหตุ และเพราะการกระทำนั้นเป็นปัจจัย เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนบุคคลผู้ทำการสอดองค์กำเนิดเข้าในองค์กำเนิดของลิงตัวเมียนั้น เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ซึ่งมีการกระทำนี้เป็นเหตุ. ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อการกระทำนั้นมีโทษอยู่ เธอยังชื่อว่าได้ต้องอสัทธรรม อันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นมรรยาทของคนชั้นต่ำ อันชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด มีในที่ลับ เป็นของคนคู่ อันคนคู่พึงร่วมกันเป็นไป การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว... ๑-ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:- พระอนุบัญญัติ ๑ ๑. อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการ ฉะนี้. เรื่องลิงตัวเมีย จบ. กราบขอบพระคุณ ที่มาเนื้อหา : วัดโพรงจระเข้ จ.ตรัง |