[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 22 พฤศจิกายน 2563 12:08:08



หัวข้อ: ความแตกต่างระหว่างจีนกวางตุ้ง-ไหหลำ-แต้จิ๋ว-แคะ-ฮกเกี้ยน
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 22 พฤศจิกายน 2563 12:08:08
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/83527591493394_qing_ming_shang_he_tu_696x321_.jpg)
ภาพเขียนวิถีชีวิตชาวจีนในเทศกาล เช็งเม้ง

ความแตกต่างระหว่างจีนกวางตุ้ง-ไหหลำ-แต้จิ๋ว-แคะ-ฮกเกี้ยน

ในความเป็นคนไทย ก็ยังมีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็น คนเหนือ คนใต้ คนอีสาน ฯลฯ ในกลุ่มคนอีสานก็ยังแยกย่อยว่าเป็นอีสานใต้ อีสานเหนือ เป็นผู้ไท ฯลฯ ที่มีอัตลักษณ์พิเศษของตนเอง นี่เป็นเรื่องปกติของคนทุกเชื้อชาติ คนจีนก็เช่นกัน สำหรับคนเชื้อสายจีนในเมืองไทย ก็แยกย่อยเป็นจีน 5 กลุ่มภาษา อันประกอบด้วย แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง และแคะ หรือฮากกา หากดูจากรูปลักษณะภายนอกก็ดูคล้ายๆ กัน 

แต่ถ้าพิจารณาจากนิสัยใจคอ การให้คุณค่าที่ต่าง ฯลฯ ก็จะเห็นความต่าง

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เขียนเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดในหนังสือ “แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยผู้ยิ่งใหญ่” (สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554) โดยเปรียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างจีนแต้จิ๋วกับจีนอีก 4 กลุ่มภาษา จากค่านิยมและวิธีคิดของแต่ละกลุ่ม ซึ่งบทคความนี้คัดย่อมาเพียงบางส่วนของหนังสือดังกล่าว เฉพาะในตอนที่ชื่อ “วัฒนธรรมทางจิตใจและนิสัยจีนแต้จิ๋ว” ดังนี้

จีน 5 กลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ต่างกันชัดเจนทั้งด้านภาษา อาชีพ นิสัยใจคอ ตลอดจนวัฒนธรรมด้านอื่น จะขอเปรียบเทียบให้เห็น โดยเน้นด้านนิสัยใจคอเป็นสําคัญ

จีนกวางตุ้งมีลักษณะนิสัยที่สรุปเป็นอักษรจีน 4 ตัว ว่า “乐天务实” หมายถึง “เบิกบาน ปฏิบัตินิยม” คนกวางตุ้งเป็นนักปฏิบัตินิยมเช่นเดียวกับแต้จิ๋ว มุ่งเรื่องผลประโยชน์ หรือคุณโทษที่จะเกิดกับตนมาก แต่ต่างกันอย่างตรงข้ามที่มีความเบิกบานง่ายๆ ไม่ติดกรอบ ปรับตัวตามสถานการถเก่ง มีไหวพริบดี

ส่วนจีนแต้จิ๋ว เจ้าระเบียบ ประณีต จนกล่าวได้ว่า “ติดกรอบไม่ใช่กวางตุ้ง มักง่ายไม่ใช่แต้จิ๋ว” เพราะนิสัยปฏิบัตินิยมทําให้กวางตุ้งกับแต้จิ๋ว มีจุดอ่อนร่วมกันคือ ออกจะขาดหลักการ มองไกลไม่เก่ง แต่จีนกวางตุ้งไม่ติดกรอบเลยปรับตัวเร็วกว่าจีนแต้จิ๋ว จึงรับสิ่งแปลกใหม่โดยเฉพาะจากตะวันตกมาก เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ของกวางตุ้งซึ่งแพร่หลายมากที่สุดนั้น เปลือกหุ้มไส้ได้รับอิทธิพลจากผมเค้กของฝรั่งชัด จีนกวางตุ้งเก่งงานฝีมืองานช่างที่ต้องใช้เทคโนโลยีฝรั่งมากกว่าจีนอื่น เช่น ช่างก่อสร้าง ช่างซ่อมนาฬิกา ฯลฯ จีนกวางตุ้งโพ้นทะเลจึงมักเป็นช่างฝีมือกันมาก

ส่วนจีนแคะนั้น แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับจีนแต้จิ๋วมากที่สุด แต่นิสัยต่างกันมาก หนังสือชุด “นิสัยจีนมณฑลกวางตุ้ง (广东人精神从书)” สรุปนิสัยจีนแคะด้วยอักษรจีน 4 ตัว ว่า “厚德载物”หมายถึง “รองรับสรรพสิ่งด้วยคุณธรรม” คนแคะเน้นเรื่องหลักการและคุณธรรมมาก ทําให้มีนิสัยที่เห็นเด่นชัดคือ ขยัน ประหยัด มัธยัสถ์ กล้าหาญ เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ใฝ่ศึกษาทั้งบุ๋นและบู๊ วัฒนธรรมเรียบง่าย หนักแน่น สมถะ ตรงข้ามกับแต้จิ๋วซึ่งประณีต ละเอียดอ่อน

แต้จิ๋วชอบค้าขาย แต่จีนแคะชอบทําราชการโดยยึดการทํานาเป็นรากฐาน วัฒนธรรมผู้หญิงต่างกันมาก ผู้หญิงแต้จิ๋วเน้นหน้าที่แม่ศรีเรือนทํางานบ้านเป็นหลัก ผู้หญิงแคะต้องทํานาควบคู่ไปกับงานบ้าน ให้เวลาแก่ผู้ชายเรียนหนังสือ ข้อเด่นที่เกินพอดีก็กลายเป็นข้อด้อยของจีนแคะ

หนังสือ “พลังจีนแคะ (客家人的力量)” ของไต้หวันกล่าวว่า ความประหยัดที่เหนือกว่าจีนแต้จิ๋วกลายเป็นความขี้ตืด ความสมถะประกอบกับความขี้ติด กลายเป็นนิสัย “ไม่เอาใคร” กลัวเสียชื่อเรื่องคุณธรรมและหลักการมาก เมื่อจะโกงก็ต้องทําหลักการให้เป็นหลักโกง กลายเป็นโกงตามหลักการ หรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ค้าขายกับจีนแคะในจีนต้องระวังเรื่องสัญญามาก ถ้าพลาดถูกฟันเละ เพราะถือว่าได้ทําตามข้อตกลงในสัญญา แต่จีนแต้จิ๋ว “หยวน” หรืออนุโลมลดหย่อนกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

จีนกวางตุ้งง่ายๆ ไม่ค่อยตุกติก แต่โดยรวมแล้ว คนแคะมีนิสัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ตรงไปตรงมา ไม่มากพิธีหยุมหยิมเหมือนจีนแต้จิ๋ว คนแคะ “เห่อแขก (好客)” เหมือนจีนแต้จิ๋ว และจีนอื่นแทบทุกจีน ถ้าแขกคนไหนเข้าบ้านแล้วให้อิสระกระทั่งถึงห้องนอน ซึ่งคนแต้จิ๋วถือว่า “เสียมารยาท” มาก

นิสัยส่งผลถึงอาชีพ จีนแคะชอบอาชีพราชการ ชํานาญทั้งบุ๋นและบู๊ จึงมีจีนแคะเป็นนักการเมือง นักการทหารและนักปฏิวัติมาก เช่น หงซิ่วฉวน หัวหน้าขบถไท่ผิง ซุนยัตเซ็น จูเต่อ และเยเจี้ยนอิง แม้เติ้งเสี่ยวผิงก็มีเชื้อสายจีนแคะ จีนแคะในเมืองไทยส่วนมากทําไร่ ค้าขาย และสนใจส่งลูกหลานเรียนหนังสือเพื่อทําราชการ

จีนแคะคุ้นเคยกับจีนแต้จิ๋วและจีนกวางตุ้งมาก หนังสือ “การค้นคว้าใหม่เรืองจีนแคะ (客家新探)” ซึ่งคนเขียนเป็นจีนแคะ มณฑลกวางตุ้ง วิจารณ์นิสัยจีนแคะ กวางตุ้ง และแต้จิ๋วไว้ว่า จีนแคะให้ความสําคัญแก่ศีลธรรม (重义) จีนกวางตุ้งมุ่งเรื่องผลประโยชน์ (重利) จีนแต้จิ๋วนั้นให้ความสําคัญแก่ศีลธรรมและผลประโยชน์เท่าๆ กัน (义利井重) แต่ทัศนะทั่วๆ ไปเห็นว่าคนแต้จิ๋วให้ความสําคัญแก่ “น้ำใจ (重情)” มาก มีกรณีตัวอย่างว่า ถ้าเห็นจีนพวกเดียวกับตนตีกับคนอื่น จีนแต้จิ๋วจะช่วยพวกตนไว้ก่อน ไม่สนใจว่าใครผิดใครถูก จีนแคะจะเข้าไปห้าม ถามเรื่องราวและเหตุผล แต่จีนกวางตุ้งจะดูก่อนว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรหรือไม่ เพราะนึกถึงความเป็นจริงมากกว่าน้ำใจหรืออุดมการณ์ใดๆ

ส่วนคนไหหลํามีนิสัยต่างจากจีนอื่นอย่างโดดเด่น เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ที่มาก คนน้อย แต่ห่างไกลความเจริญ เป็นแดน “ปลายฟ้าขอบมหาสมุทร (天涯海角)” ของจีน มีชนเผ่าหลีซึ่งมีภาษาร่วมตระกูลกับภาษาไทเป็นเพื่อนร่วมถิ่น ตั้งแต่ราชวงศ์ซึ่งเป็นต้นมาจึงรับอารยธรรมจีนเต็มที่ คนไหหลําคือ จีนฮกเกียนและแต้จิ๋วที่อพยพต่อเข้าเกาะไหหลํา ภาษาจึงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่นิสัยต่างกันมากเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างกัน

หนังสือ “แผนที่นิสัยคนจีน (中国人个性品格 地图)” กล่าวว่า คนไหหลําฉลาด ขี้เล่น เอาเรื่องเล่นมาเป็นงานได้ ยิ่งเล่นยิ่งได้งาน นิสัยโดยสรุปสุภาพ แช่มช้ากว่าจีนอื่น ตรงไปตรงมา ไม่ทะเยอทะยาน (สมถะ) รักเสรีสนุกสนาน แต่ใจกล้า เชื่อมั่นในตัวเอง ข้อเสียคือวิสัยทัศน์สั้นแคบ ชอบฉวยโอกาสเอาประโยชน์เฉพาะหน้า

รศ.แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ให้ข้อมูลซึ่งได้มาจากผู้ใหญ่ใน สมาคมไหหลําแห่งประเทศไทยว่า คนไหหลํารักหน้าตา ชอบโก้ ตรงกับที่ผู้เขียนเคยเห็นมาแต่เด็กว่า คนไหหลําเมื่อออกสังคมจะแต่งตัวดี วางตัวภูมิฐาน ไม่แสดงความขี้ตืดให้คนเห็น “เห่อแขก (好客)” ใจกว้างแต่ก็ไม่ยอมเสียเปรียบใคร

คนไหหลําให้ความสําคัญแก่การค้าขายและเรียนหนังสือพอๆ กัน มีคนไหหลําฝากชื่อไว้ในประวัติศาสตร์จีนหลายคน โด่งดังที่สุดได้แก่ ไหญุ่ย (พ.ศ.2057-2130) ผู้ได้ฉายาว่าเปาบุ้นจิ้นหน้าขาว ชิวจวิ้น (พ.ศ.1964-2038) นักวิชาการคนสําคัญ สิงโย่ว (พ.ศ.1959-2021) นักการเมืองตงฉิน สามคนนี้ได้รับยกย่องว่าเป็น “สามยอดคน ไหหลํา” ที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันได้แก่ ซ่งชิงหลิง ภริยาของ ซุนยัตเซ็น จีนไหหลําในเมืองไทยชอบทําธุรกิจค้าไม้ โรงเลื่อย โรงแรม ข้าวมันไก่ไหหลํามีชื่อเสียงมากในไทย

ส่วนจีนฮกเกี้ยน เป็นจีนที่คล้ายจีนแต้จิ๋วมากที่สุดทั้งภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะฮกเกี้ยนเป็นบรรพชนของจีนแต้จิ๋ว (朝汕人福建祖) คนจีนมณฑลฮกเกี้ยนแบ่งเป็นหลายกลุ่ม ตามถิ่นและภาษาพูด ฮกเกี้ยนตะวันตกเป็นจีนแคะ นอกนั้นเป็นภาษาหมิ่น () หรือภาษาฮกเกี้ยน ซึ่งแยกเป็น หมิ่นเหนือมีเมืองเจี้ยนโอวเป็นศูนย์กลาง หมิ่นตะวันออกมีเมืองฝูโจวเป็นศูนย์กลาง หมิ่นกลางมีเมืองหย่งอันเป็นศูนย์กลาง หมิ่นหนัน ได้แก่ เมือง ฉวนโจว (จั่วจิว) จางโจว (เจียงจิว) เซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) และยังมีถิ่นผู่เซียนอยู่ระหว่างฝูโจวกับฉวนโจว แต่ภาษาหมิ่นที่พูดต่างจากถิ่นอื่น ต้องแยกเป็นถิ่นหนึ่งต่างหาก

จีนฮกเกี้ยนตามความเข้าใจของคนไทยคือพวกหมิ่นหนัน พวกฝูโจวคนไทยเรียกจีนฮกจิ๋ว ฝูโจว (ฮกจิ๋ว) เป็นเมืองหลวงของมณฑลฮกเกี้ยน รับความเจริญจากจงหยวนก่อนถิ่นอื่นจึงเป็นศูนย์กลางศิลปวิทยา แต่ด้านเศรษฐกิจด้อยกว่าฉวนโจว

จีนแต้จิ๋วและไหหลำส่วนมากมาจากหมิ่นหนันและผู่เซียน จากบันทึกประจําตระกูลของจีนแต้จิ๋วส่วนมากมาจากฉวนโจว จางโจวของหมิ่นหนันและผู่เถียนในถิ่นผู่เซียน ภาษาแต้จิ๋วและไหหลำก็เป็นสาขาหนึ่งของภาษาหมิ่นหนัน

นิสัยคนฮกเกี้ยนแต่ละถิ่นมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน พวกหมิ่นเหนือยอมยากจนเพื่อรักษาคุณธรรม หมิ่นตะวันออกขยันต้องการความมั่นคง พวกผู่เซียนประหยัดอดทน พวกหมิ่นหนันโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ

เนื่องจากจีนแต้จิ๋วส่วนมากมาจากผู่เถียน ฉวนโจว และจางโจว จึงควรศึกษารายละเอียดในนิสัยคน 3 เมือง เพื่อเปรียบ

หนังสือ “อภิปรายเรื่องวัฒธรรมมมณฑลฮกเกี้ยน (闽文化述论)” กล่าวว่า ถิ่นจางโจวอุดมสมบูรณ์ คนจางโจวจึงค่อนข้างสมถะอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยกล้าบุกเบิก “รอบคอบแต่ไม่แหลมคม (精而不明)” อยู่ในวัฒนธรรมเกษตรมากกว่าพานิชย์ ส่วนฉวนโจวเป็นศูนย์กลางเส้นทางสายไหมทางทะเล คนจึงมีวัฒนธรรมค้าขายกระตือรือร้น กล้าเสี่ยง กล้าสู้ ถือหลัก “ฟ้าลิขิตสาม ความพยายามเจ็ด (三分天注定,七分靠打拼)” ใฝ่ความก้าวหน้าทางการค้า ถือคติว่า “ไม่คิดเป็นเถ้าแก่ไม่ใช่ชายชาตรี (不想做老板 不是男子汉)” ด้านการศึกษาก็แข็งขัน สอบเข้ารับราชการได้มากมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง มีจอหงวนมากกว่าแต้จิ๋ว (ซึ่งมีคนเดียวแต่ความจริงสอบได้ 2 คน) จึงเห็นได้ว่านิสัยใฝ่ศึกษา ชอบค้าขาย กล้าสู้ เพื่อความก้าวหน้าของคนฉวนโจวคล้ายคนแต้จิ๋วมาก

คนจังหวัดผู่เซียนคืออําเภอผู่เถียนและเซียนอิ๋ว ค้าขายเก่ง มีอยู่ทั่วประเทศจีนแต่ออกโพ้นทะเลน้อย ปกติคนผู่เซียนไม่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น แต่ถ้าขัดแย้งกับคนต่างถิ่นแล้วจะช่วยพวกเดียวกันไว้ก่อนเหมือนจีนแต้จิ๋ว

ผู่เถียนและฉวนโจวได้รับยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมขงจื้อและเม่งจื้อที่อยู่ชายทะเลเช่นเดียวกับแต้จิ๋ว

เนื่องจากคนแต้จิ๋วส่วนมากมาจากฉวนโจวและผู่เถียน บางส่วนมาจากจางโจว นิสัยคนแต้จิ๋วจึงมีลักษณะคน 3 เมืองนี้รวมกัน แต่ที่เด่นมากคือนิสัยชาวฉวนโจวที่ขยันกล้าฟันฝ่า ชอบค้าขายยึดหลัก “ฟ้าลิขิตสาม ความพยายามเจ็ด (三分天注定,七分靠打拼)” เหมือนกัน

ถ้าเปรียบเทียบคนแต้จิ๋วกับคนหมิ่นหนัน (คือจีนฮกเกี้ยน ส่วนใหญ่ในอุษาคเนย์และไต้หวัน) แล้ว เรื่องการศึกษาคนหมิ่น หนันเด่นกว่า แต่ด้านศิลปะด้อยกว่าคนแต้จิ๋วอย่างเห็นได้ชัด หมิ่นหนันจิ๋วมีงิ้วกว่า 7 ชนิด แต่ไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 งิ้วที่ยิ่ง ใหญ่ของจีนเหมือนงิ้วแต้จิ๋ว ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) นั้น เฉินเจียเกิงเศรษฐีฮกเกี้ยนในมาเลเซียสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2462 ปัจจุบันเป็น 1 ใน 20 มหาวิทยาลัยชั้นนํา (Top Twenty) ของจีน ขณะที่มหาวิทยาลัยซัวเถาเพิ่งเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2534 มาตรฐานการศึกษาต่ำมาก เป็นมหาวิทยาลัยชั้นปลายแถว

ส่วนด้านการค้าต่างก็มีข้อเด่น แต่จีนแต้จิ๋วมีชื่อเสียงและชื่อเสียมากกว่า

หนังสือ “แผนที่นิสัยคนจีน (中国人个性品格地图)” กล่าวว่า “ฮกเกี้ยนเป็นมณฑลที่คนสอบจอหงวนได้มาก” มีคนเด่นในประวัติศาสตร์มาก เช่น จูซี ปรมาจารย์ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo Confucianism) หลี่จื่อ (พ.ศ.2070-2145) นักปรัชญาและนักวรรณคดีเอก เจิ้งเฉิงกง (พ.ศ.2167-2205) ผู้ตีชิงไต้หวันคืนจากฮอลันดา หลินเจ้อสี้ว์ (พ.ศ.2328-2393) วีรบุรุษผู้สั่งเผาฝิ่นของอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีคนอื่นๆ อีกมาก ต้องยอมรับว่าคนฮกเกี้ยนโดดเด่นด้านการศึกษาวิชาการ และความกล้าหาญเป็นวีรบุรุษมากอีกด้วย

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงนิสัยโดยรวมของคนฮกเกี้ยนทั้งหมด โดยเอาคนฝูโจวและฉวนโจวเป็นตัวแทนสําคัญว่า ลักษณะนิสัยที่เห็นได้เด่นชัดของคนฮกเกี้ยนคือเป็นนักปฏิบัตินิยม ไม่ชอบอ้างอิงทฤษฎีหรือดีแต่พูด คนฮกเกี้ยนจึงค่อนข้างพูดน้อย ไม่ค่อยแสดงตัว (Introvert) เมื่อคบหาใหม่ๆ รู้สึก “จืดชืด” แต่จริงใจ คบนานไปจะทําให้ซาบซึ้ง สํานวนจีนที่ว่า “การคบหาของวิญญูชน จืดดังน้ำ (君子之交淡如水)”

แต่ก็มีความแตกต่างระหว่างเมือง คนฝูโจวและผู่เถียนออกจะจืดชืด ฉวนโจวโอบอ้อมอารีมีไมตรี ร้อนแรง (热情 ) กว่า แต่ที่เหมือนกันอีกก็คือคนฮกเกี้ยนนั้น อ่อนนอกแข็งใน ในความหยุ่นมีความแกร่งแฝงอยู่ แม้บุคลิกภายนอกจะสุภาพไม่โอ้อวดแสดงออก แต่ภายในเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง มีหลักการหรือจุดยืนของตนเอง ด้วยจิตใจที่ใสราวกระจกคือชัดเจน แน่วแน่ในเหตุผล เป็นคน “งามใน” แต่บุคลิกภายนอกสมถะจนบางครั้งดูซอมซ่อ

ค่านิยมที่เด่นชัดของคนฮกเกี้ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหมิ่นหนันคือความมานะบากบั่น ถึงกับมีเพลงพื้น บ้านร้องติดปากทั้งเด็กผู้ใหญ่ ชื่อเพลง “พยายามต่อสู้จึงจะชนะ (爱拼才会嬴 )” บุคลิกจีนฮกเกี้ยนทั้งหมดจึงสรุปลงเป็นอักษรจีน 2 ตัว คือ “坚韧” ตรงกับคําว่า “แกร่งหยุ่น” ของไทยคือเข้มแข็ง อดทนเหมือนวัสดุที่แกร่งแต่มีความหยุ่นอยู่ในตัวไม่บินหักง่าย เข้มแข็งมั่นคง สมถะ แม้จะประสบความสําเร็จร่ำรวย คนฮกเกี้ยนก็ไม่ค่อยโอ้อวดทําตัวฟูฟ่า ข้อนี้ออกจะต่างกับจีนแต้จิ๋วและไหหลํา ฮกเกี้ยนทุกถิ่นมีลักษณะร่วมกันคือไม่ยอมเสียเปรียบคนอื่น จนกลายเป็นความเห็นแก่ได้ในบางคนที่มีนิสัยนี้มากเกินไป

พิจารณาโดยองค์รวม คนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลํา มีลักษณะร่วมกันอยู่มาก เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “ฮกล่อ (福佬)” เหมือนกัน ทั้งยังมีลักษณะร่วมกับจีนกวางตุ้งที่นิสัย “ปฏิบัตินิยม (Pragmatic)” แต่ฮกเกี้ยนต่างจากแต้จิ๋ว ไหหลํา และกวางตุ้ง ซึ่งไม่ค่อยสนใจหลักการและเหตุผลจนวิสัยทัศน์สั้นแคบตรงที่มีเหตุผลและหลักการที่แน่วแน่อยู่ด้วย แต่โดยรวมแล้วจีนทั้ง 4 กลุ่มนี้ มีความเป็นนักปฏิบัตินิยมร่วมกัน ต่างจากจีนแคะซึ่งยึดอุดมการณ์มากกว่า นิสัยก็แกร่งกล้าคล้ายชาวจงหยวน ผิดแผกจากจีนใต้กลุ่มอื่นอย่างชัดเจน

ในลักษณะร่วมที่มีความแตกต่างของจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลํา และกวางตุ้ง ซึ่งต่างจากจีนแคะชัดเจนนั้น เราพอสรุปได้ว่า จีน 5 กลุ่มนี้ มีลักษณะนิสัยเด่นที่ต่างกัน คือ

จีนแต้จิ๋วรักน้ำใจไมตรี (重情) จีนฮกเกียนรักเหตุผล (重理) จีนไหหลํารักหน้าตา (重脸) จีนกวางตุ้งรักผลประโยชน์ (重利) จีนแคะรักศีลธรรม (重义)


ศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่-วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563