หัวข้อ: ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ” เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 24 พฤศจิกายน 2563 20:15:30 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55713643423385__001_696x517_1_Copy_.jpg)
ครูบาศรีวิชัยคณะลูกศิษย์และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธา มาร่วมกันสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัย “นั่งหนัก” ในการสร้างถนนขึ้น “ดอยสุเทพ” ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่ - วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ถนนขึ้นดอยสุเทพในปัจจุบันส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 (ต่อเชื่อมจากเขตเทศบาลคนครเชียงใหม่ กับเทศบาลตำบลสุเทพ) โดยช่วงตั้งแต่แจ่งหัวริน (ลิน) ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่เรียกว่า “ถนนห้วยแก้ว” ช่วงตั้งแต่อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยถึงดอยสุเทพเรียกว่า “ถนนศรีวิชัย” หรือถนนทางขึ้นดอยสุเทพ หากกว่าจะมาเป็นถนนเส้นนี้ต้องใช้ทั้งคน, เวลา และเงินจำนวนมาก ความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเพทเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2460 พลโท หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลฑลพายัพ เคยให้นายช่างกองทางดำเนิการสำรวจและจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สรุปว่าต้องใช้งบประมาณ 200,000 บาท และเวลาในการก่อสร้างร่วม 3 ปี เช่นนี้โครงการดังกล่าวจึงหยุดชะงักไปแต่ต้นทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือแต่อย่างใด การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากคณะสงฆ์เชียงใหม่และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ นิมนต์ ครูบาเถิ้ม (พระอธิการโสภา โสภโณ) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ เวลานั้นการขึ้นดอยสุเทพเต็มไปด้วยความลำบาก น้ำดื่มน้ำใช้ก็ไม่สะดวก ความเป็นอยู่ของพระที่วัดยากเข็ญ เพราะไม่มีชุมชนศรัทธาคอยอุปัฏฐาก ครูบาเถิ้มจึงคิดจะสร้างถนนขึ้นมาบนดอย ครูบาเถิ้มนำเรื่องนี้มาปรึกษากับพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ด้วยเป็นงานยาก งานใหญ่ ภายหลังหลวงศรีประกาศ นำเรื่องดังกล่าวมาปรึกษาครูบาศรีวิชัย แต่ไม่ใช้การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ หากเป็นการนำไฟฟ้าไปติดบน เมื่อท่านนั่งสมาธิอธิษฐานจิตแล้วจึงแนะนำให้สร้างถนนก่อนดีกว่า แล้วไฟฟ้าจะเป็นเรื่องง่าย หากหลวงศรีประกาศก็ยังไม่มั่นใจ เพราะทางขึ้นดอยสุเทพทั้งสูงทั้งไกล ต้องใช้คนและเงินจำนวนมหาศาล แต่ครูบาศรีวิชัยก็ยืนยันให้สร้างถนน เมื่อหลวงศรีประกาศนำเรื่องมาแจ้งกับครูบาเถิ้ม และพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ทั้งสองท่านก็เห็นตรงกันว่า ถ้าครูบาศรีวิชัยบอกว่าสามารถทำเสร็จ เป็นอันเชื่อถือได้ จึงตกลงทำหนังสือยื่นเรื่องการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ไปถึงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ส่งนายช่างมาทำการสำรวจ เมื่อรัฐบาลรับเรื่องแล้ว พระพิศาลสุขุมวิม(ประสพ สุขุม) อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ก็ส่งคณะสำรวจลงพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนที่การสร้างถนน หลวงศรีประกาศ และครูบาเถิ้มได้นำแผนที่ดังกล่าวไปให้ครูบาศรีวิชัยดู ครูบาศรีวิชัยกำหนดวันเพื่อทำพิธีบุกเบิกทางเป็นอุดมฤกษ์ไว้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 เวลา 10.00 น. (วันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่เหนือ (เดือน 12 ภาคกลาง) ปีจอ) เมื่อกำหนดวันได้ เถ้าแก่โหงว แซ่เตียว-คหบดีชาวเชียงใหม่ และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นเจ้าภาพพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจำนวน 100,000 ใบ ในวันพิธี ครูบาเถิ้มเป็นผู้ประกอบพิธีเชิญเทวดาอารักษ์ทั้ง 4 ทิศ จากนั้นพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เป็นผู้ลงจอบแรก[1] ตามด้วย เจ้านายฝ่ายเหนือ, หลวงศรีประกาศ ฯลฯ พระสงฆ์สวดชยันโต ครูบาศรีวิชัย ประกาศต่อสาธาณะว่า “การนี้เป็นการใหญ่ จะสำเร็จได้จะต้องมีเทพบุตรและเทพธิดามาช่วย” แล้วก็ชี้ไปที่ชายหญิงที่มาร่วมงาน การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นครูบาเถิ้มกับครูบาศรีวิชัยแบ่งการควบคุมงานกัน โดยครูบาเถิ่มมีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมเส้นทางหลักจากวัดพระธาตุดอยสุเทพลงมา ส่วนครูบาศริชัยควบคุมการทำงานจากด้านล่างขึ้นไปยังพระธาตุดอยสุเทพ และทำหน้าที่ “นั่งหนัก” เป็นประธานระดมทุนทรัพย์และรับไทยทานที่บริเวณหน้าวัดศรีโสภา (ขณะนั้นเป็นวัดร้าง) คำว่า “นั่งหนัก” นั้นศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ ปราชญ์ล้านนา เคยอธิบายไว้ว่า ในอดีตก่อนหน้ายุคครูบาศรีวิชัยนั้น ชาวล้านนานไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อน เป็นการบัญญัติขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เรียกพฤติกรรมการนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาและให้ศีลให้พร (ปันพร) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา แก่ผู้มาร่วมบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างเป็นการเฉพาะ ในสัปดาห์แรกของการก่อสร้างถนนมีผู้คนมาช่วยไม่มากนัก หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็เริ่มมีผู้ทราบข่าวทยอยมาจากทั่วทุกทิศ มาขอเป็นอาสา หรือร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำทาง ขอแบ่งบุญคนละครึ่งวาบ้าง วาหนึ่งบ้าง จำนวนผู้คนที่มาช่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 5,000/วัน ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสามเณร, พ่อค้า, ประชาชน,ชาวเขาต่างๆ, เจ้านาย และข้าราชการ รวมผู้คนทั้งสิ้นที่มาร่วมงานก่อสร้างถนนครั้งนี้ 118,304 คน ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 5 เดือน 22 วัน ก็แล้วเสร็จ กำหนดทำพิธีฉลองเปิดทางทดลองวิ่งในวันที่ 30 เมษายน 2478 เมื่อแรกสร้างเสร็จให้ชื่อว่า “ถนนดอยสุเทพ” ต่อมาเมื่อครูบาศรีวิชัยมรณภาพจึงเปลี่ยนเป็น “ถนนศรีวิชัย” [1] การลงจอบแรกในการสร้างถนนครั้งนี้ บ้างว่าเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่าวันเวลานั้น พระยาพหลฯ ติดราชการอยู่ที่วังปารุสกวัน และพระยาพหลฯ ก็บอกกับครอบครัวว่าเป็นกิจกรรมภายในจังหวัดเชียงใหม่ตัวท่านไม่ได้รับเชิญ |