[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 20 มกราคม 2564 16:10:43



หัวข้อ: ภาวนาภิรัตธรรม - ศีล สมาธิ ปัญญา
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 มกราคม 2564 16:10:43

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTSyNsxn_CG7XJioR-jhzhkd_P-nXQhzqizvQ&usqp=CAU)

ศีล สมาธิ ปัญญา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี
   

           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน ก่อนที่จะได้บรรยายธรรม กระผมก็ขออนุโมทนาสาธุการกับท่านเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ คือท่านพระอาจารย์รุ่งโรจน์ ยโสธโร พระอาจารย์สำเริง ตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขออภัยในการที่ได้มาช้าเพราะไปอุบล กลับมาก็เวลาที่เดินทางก็น้อยต้องวิ่งรถถึง ๑๒๐ – ๑๓๐ ก็ถือว่าเสี่ยงต่ออันตรายชีวิต เพราะฉะนั้นจึงขออภัยด้วย

            แล้วก็เจ้าอาวาสก็ดี คณะญาติโยมก็ดี ชาวบ้านน้ำเที่ยงที่พวกเราทั้งหลายได้จัดงานปริวาสกรรม ก็ถือว่าเป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าปริวาสกรรมนั้นทางพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ทางคณะสงฆ์ท่านได้จัดงานเข้าปริวาสกรรม คือ ประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ เพื่อสงเคราะห์คณะครูบาอาจารย์เป็นประการที่ ๑

            หรือว่าคณะพระสงฆ์สามเณรที่บวชเข้ามาแล้วบางคนก็มีโอกาสได้บวชเข้ามาแค่ ๕ วัน ๗ วัน หรือว่า ๙ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ไม่มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม พระเดชพระคุณหลวงพ่อกับคณะสงฆ์ทั้งหลายก็เห็นมติอันดี ก็ได้จัดงานเข้าปริวาสกรรมขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้บวชระยะเวลาอันสั้นนี้ได้มาเสพ มาประพฤติปฏิบัติ มาศึกษาพระพุทธศาสนาโดยย่อ เพราะพระพุทธศาสนาของเรานั้นเมื่อกล่าวโดยย่อนั้นก็คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้ากล่าวโดยย่อจริงๆ แล้วก็คือ การประพฤติปฏิบัติกำหนดรู้กาย วาจา ใจ

            การที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติกำหนดรู้กาย วาจา ใจนี้ ชื่อว่าเราศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วก็การเข้าประพฤติปริวาสกรรม ก็ถือว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติโยม โดยเฉพาะญาติโยมคนเฒ่าคนแก่ที่เกิดขึ้นมาแล้วอายุล่วงเลยผ่านมาถึง ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี แต่ว่าไม่มีโอกาสจะประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่ายังสาละวนสาละเวียน ยังยากอยู่กับการทำมาหากิน ยังไม่สามารถที่จะดึงจิตออกไปจากการแข่งดีแข่งเด่นอยากได้อยากดี ในทางโลก ไม่สามารถที่จะยกจิตของตนให้พ้นไปจากความปรารถนาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ที่ชาวโลกทั้งหลายต้องการ อันนี้เป็นปกติวิสัยของคนทั่วไป เพราะฉะนั้นบางคนเกิดมา ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม บางท่านบางคนหนักไปกว่านั้น อายุ ๘๐ ปียังไม่เคยปฏิบัติธรรม อายุ ๙๐ ปียังไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม

            ถ้าเราพิจารณาดูซึ้งๆ ก็น่าสลดสังเวชใจ ไม่รู้ว่าสาระของชีวิตนั้นคืออะไร ไม่รู้ความมุ่งหมายชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายนั้นน่าคิด เพราะฉะนั้นการจัดการปริวาสกรรมนั้นถือว่าเป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์แก่คณะญาติโยมสาธุชน ผู้ที่ต้องการจะศึกษาพระพุทธศาสนา หรือบุคคลผู้กำลังหาที่พึ่ง บางคนก็หาที่พึ่งคิดว่าทรัพย์สินเป็นที่พึ่งไขว่คว้าหาเอา แต่ที่ไหนได้ทรัพย์สินนั้นไม่ได้เป็นที่พึ่ง เป็นเพียงแต่สิ่งบรรเทาให้ชีวิตของเรานั้นสบายขึ้น เราอยากได้อะไรเราก็ไปซื้อมา เรียกว่าบรรเทาความอยาก เราหิวข้าวก็บรรเทาความหิว หรือว่าเราร้อนเราหนาวเราก็ไปหาซื้อพัดลม ซื้อแอร์ ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นต้น มาใช้ก็บรรเทาความทุกข์ลงไป แต่ความอยากเหล่านั้นยังมีอยู่ในจิตในใจของเรา เรียกว่าเพียงแต่บรรเทาเอาไว้เฉยๆ กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดทั้งหลายทั้งปวงยังมีอยู่

            การเข้าประพฤติปริวาสกรรมนั้นถือว่าเป็นการอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ญาติโยม สาธุชน อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายนั้นให้ได้เข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพราะว่าพุทธศาสนาของเรานั้น มีทั้งปริยัติ มีทั้งปฏิบัติ มีทั้งปฏิเวธ ถ้าเราแบ่งพระศาสนาออก พระศาสนาใหญ่ๆ นั้นท่านก็กล่าวไว้ ๕ ประการ คือ

            ๑. ศาสนสถาน

            ๒. ศาสนวัตถุ

            ๓. ศาสนบุคคล

            ๔. ศาสนพิธี

            ๕. ศาสนธรรม

            ประการที่ ๑ ศาสนสถาน อย่างเช่น วัดวาอารามที่เป็นขอบเขตที่เราได้กำหนดว่าเป็นเขตของสงฆ์ ว่าเป็นศาสนสถาน หรือว่าธรณีสงฆ์ ที่สมมุติกันว่าเป็นของสงฆ์แล้ว พวกนี้ก็ถือว่าเป็นศาสนสถาน เล็กบ้าง กว้างบ้าง อยู่ที่เหมาะบ้าง ไม่เหมาะบ้างอันนี้ก็ถือว่าเป็นศาสนสถาน

            ประการที่ ๒ คือ ศาสนวัตถุ อย่างเช่น โบสถ์ ศาลา กุฏิ วิหาร เจดีย์ พระธาตุต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นศาสนวัตถุ จะเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ศักดิ์สิทธิ์บ้าง หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์อะไรทำนองนี้ก็ถือว่าเป็นศาสนสถาน

            ประการที่ ๓ คือ ศาสนบุคคล ศาสนบุคคลก็คือ ญาติโยม สาธุชน พระภิกษุสงฆ์สามเณรที่เป็นพุทธบริษัทคือ ผู้ที่นับถือ พระพุทธศาสนา พุทธบริษัทแปลว่าบุคคลผู้นับถือพระพุทธศาสนา แปลว่าบุคคลผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นพุทธบริษัท อันนี้หมายถึงว่าบุคคลผู้นับถือพุทธศาสนาซึ่งในโลกของเรานี้ก็มีไม่มาก ถ้าเราวัดกันว่าศาสนาที่มีมากที่สุดก็คือ ศาสนาคริสต์ รองลงมาก็คือ ศาสนาอิสลาม รองลงมาสุดท้ายจึงเป็นว่าพุทธศาสนาของเรา ศาสนบุคคลผู้นับถือพุทธศาสนานั้นก็มีน้อย

            ประการที่ ๔ ก็คือ ศาสนพิธี ศาสนพิธีมาจากคำบาลีว่า วิธิ ภาษาไทยว่า วิธี ถ้าแปลก็แปลว่า ระเบียบแบบแผน หรือว่าตัวอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง วิธีทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นระเบียบก็ดี แบบแผนก็ดี พิธีนี้เราต้องรักษาไว้อย่างเช่น พิธีการบวช พิธีการทำบุญอุทิศให้แก่คนตาย พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีสู่ขวัญ หรือว่าพิธีการทำบุญในงานกุศล หรือ อกุศลต่างๆ ก็ต้องมีพิธี หรือว่าพิธีที่พวกเราทั้งหลายเข้าปริวาสกรรมนี้ก็ถือว่าวุฏฐานวิธี พิธีออกจากอาบัติ อันนี้เรียกว่าวุฏฐานวิธี ก็คือการอยู่ปริวาสกรรม อันนี้เรียกว่าเป็นแบบแผน การที่พวกเราทั้งหลายมาบวช มาเข้าปริวาสนี้ก็ถือว่าเรารักษาประเพณีหรือวิธีนั้นไว้

            ประการที่ ๕ คือ ศาสนธรรม ศาสนธรรมก็คือ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันนี้ถือว่าเป็นศาสนธรรม เรารักษาศาสนธรรม คือ รักษาศีล ๕ รักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็เท่ากับเรารักษาศาสนธรรม เราไม่ประพฤติชั่ว เราประพฤติดี นี้ก็ถือว่าเรารักษาศาสนธรรม เราเจริญสมถะกรรมฐาน เจริญสมาธินี้ก็ถือว่าเรารักษาศาสนธรรม เราเจริญวิปัสสนากรรมฐานยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่าเรารักษาศาสนธรรม

            การจัดปริวาสกรรมซึ่งพระอาจารย์รุ่งโรจน์ ยโสธโร พระอาจารย์สำเริง พร้อมด้วยคณะสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงได้จัดขึ้นนี้ถือว่าเป็นการสงเคราะห์อุบาสก อุบาสิกา ตลอดถึงสามเณรให้ได้รู้ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ประการที่ ๒ การเข้าปริวาสกรรมนั้นถือว่าเป็นการประกาศพระศาสนาของเราให้กว้างไกล ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะว่าพระศาสนาของเรานั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นศาสนาที่งามในเบื้องต้น เรียกว่า อาทิกัลยาณัง งามในเบื้องต้นด้วยศีล มัชเฌกัลยาณัง งามในท่ามกลางด้วยสมาธิ ปริโยสานกัลยาณัง งามในที่สุดด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นการมาจัดงานปริวาสกรรมจึงถือว่าเรามาประกาศความงามของพระศาสนา งามด้วยศีลคืออย่างไร งามด้วยศีลคือ ศีลนั้นถือว่าเป็นความงามของพระศาสนา บุคคลจะเกิดอยู่ในชาติใด ตระกูลใด ภาษาใด เป็นคนต่ำต้อยด้อยวาสนา หรือว่าเป็นคนมียศถาบรรดาศักดิ์ หรือว่าเป็นคนที่มีนิสัยดีก็ตาม เมื่อมาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วก็ละความกระด้าง ถือตัว ละความเห็นผิด แล้วก็มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตั้งมั่นอยู่ในศีล

            เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่บวชมาจากตระกูลต่างๆ ในครั้งพุทธกาล จะเป็นตระกูลพราหมณ์ ตระกูลพ่อค้า ตระกูลกษัตริย์ หรือว่าเป็นตระกูลของ สูท จัณฑาล อะไรต่างๆ ก็ตาม เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้วก็งามด้วยกันทั้งนั้นคืองามด้วยศีลในเบื้องต้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงอุปมาอุปมัยเหมือนกับการเอาดอกไม้หลายๆ สีนานาพันธุ์ จะเป็นสีเหลือง สีแดง สีม่วง สีขาว ที่กระจัดกระจายนั้นเอามาร้อยรวมกัน ก็เป็นพวงมาลาที่สดสวยงดงาม เป็นที่ชื่นตาชื่นใจสำหรับบุคคลผู้ที่แลดูอันนี้ฉันท์ใด บุคคลผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาจะเป็นคนระดับใดก็ตาม จะเป็นคนชาติไหน ภาษาไหน ตระกูลไหน วรรณะใดก็ตามเมื่อมาบวชแล้วก็ต้องงามกันไปด้วยศีลทั้งนั้น ท่านกล่าวว่า

                                        คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า

                                        คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน

                                        คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน

                                        คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต

            เรียกว่าคนจะงามนั้น งามน้ำใจ งามศีล งามธรรม เพราะว่าศีลนั้นทำให้คนงามได้ เพราะศีลนั้นท่านกล่าวว่าศีลาภรณ์ คือ ศีลนั้นเป็นเครื่องประดับอย่างยิ่ง ถ้าบุคคลใดประดับด้วยศีลแล้วบุคคลนั้นเป็นเด็ก ๗ ปี ๘ ปี บุคคลนั้นก็งามเหมือนกับเด็ก บุคคลนั้นเป็นหนุ่มเป็นสาวอายุ ๑๗ ปี ๑๘ ปี ถ้ามีศีลแล้วก็งาม เพราะว่า สตรีไร้ศีลก็สิ้นสวย บุรุษด้วย ไร้ศีลก็สิ้นศรี พระสงฆ์สามเณร ศีลไม่มี ก็ใช้การไม่ได้ อันนี้เป็นคำที่ท่านกล่าวไว้

            ศีลนั้นเป็นสิ่งที่ ทำให้คนงาม เหมือนกับนางวิสาขาที่ประกอบไปด้วยศีล ถึงอายุจะ ๗๐ ปี ๘๐ ปีก็ยังงาม ถึงจะมีอายุ ๑๒๐ ปีก็มีความงามไม่แพ้ลูกๆ หลานๆ ที่เกิดมาในภายหลัง อันนี้เพราะอะไร เพราะว่านางมีศีล เพราะฉะนั้นถือว่าศีลนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนงาม

            คนเฒ่าคนแก่ มีเนื้อหนังหย่อนยาน มีผมขาว มีร่างกายค่อม มีมือมีเท้าไม่แข็ง เดินไปไหนมาไหนก็ลำบาก แต่ว่าคนเฒ่าคนแก่ผู้ใดมีศีล ผู้เฒ่าคนแก่คนนั้นก็งาม เหมือนกับบุคคลผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม พอเรามองดูหน้ามองดูตาก็คล้ายๆ กับว่าหน้าตาที่มีความทุกข์ มีความกังวล ดูนัยน์ตาก็มีความกังวล ดูอาการก็ลุกลี้ลุกลนเหมือนคนมีทุกข์ แต่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม คนแก่คนใดที่ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วนี่ มองดูแล้วก็เย็นตา มองดูแล้วก็เย็นใจ มองดูแล้วก็มีความสบายจิตสบายใจ นัยน์ตาก็มีที่พึ่ง มีแววตาใส โดยเฉพาะบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เจริญสมถะกรรมฐานได้ฌาน ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานเป็นต้น แววตาใส หรือว่าบุคคลผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณ ผ่านวิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ไปก็จะมีแววตาใสไม่ขุ่นมัว ไม่ว้าเหว่ ไม่เวิ้งว้าง ไม่หม่นหมอง อันนี้เป็นลักษณะของคนเฒ่าคนแก่ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นจึงทำให้บุคคลผู้มีศีลนั้นงาม เป็นผู้มีความงาม

            บุคคลผู้ที่มีศีลนั้น ท่านกล่าวว่าศีลนั้นเป็นสิ่งที่เยี่ยม เรียกว่า สีลังโลเก อนุตรัง ศีลเป็นเยี่ยมในโลก สิ่งอื่นที่จะเป็นเยี่ยมมากกว่าศีลนั้นไม่มี ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น บุคคลผู้ประเสริฐที่สุดคือใคร ประเสริฐกว่ามนุษย์ก็เทวดา คือเทวดาชั้นจาตุม ดาวดึงส์ ดุสิตาไล่ไปจนถึงนิมมานรดี ประเสริฐกว่าเทวดาก็พรหม ประเสริฐกว่าพรหมก็ต้องเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์ นี้เรียกว่าประเสริฐขึ้นไปตามลำดับๆ ประเสริฐกว่าพระอรหันต์ก็คือพระพุทธเจ้า บุคคลเหล่านี้มีขึ้นมาได้เพราะอะไร ถ้าเราพิจารณาดูจริงๆ ก็มีขึ้นมาได้เพราะศีล

            บุคคลจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ต้องมีศีล ถ้าไม่มีศีล ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ จะเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ต้องมีศีล ๕ มีกุศลกรรมบถ ๑๐ บริบูรณ์ ชาติก่อนภพก่อนโน้นเราเคยได้รักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เราจึงจะได้มาเกิดเป็นคน แต่ถ้าเรารักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์บ้างเป็นครั้งคราว บางครั้งก็ไปผิดลูกผิดเมียเขา บางครั้งก็ไปผิดลูกผิดผัวเขา บางครั้งก็ไปกินเหล้าเมายา บางครั้งก็ไปลักเล็กขโมยน้อยอะไรเป็นต้นทำนองนี้ ก็เรียกว่าศีล ๕ บริสุทธิ์เป็นครั้งคราว ทำผิดศีล ๕ เป็นครั้งคราว เมื่อเกิดขึ้นมาก็มีร่างกาย พิกลพิการ หูหนวก ตาบอด ง่อยเปลี้ย เสียขาเป็นต้น มีจริตวิสัยต่างๆ ที่ผิดแปลกไปจากคนไม่ปกติ เรียกว่าเป็นคนไม่ปกติขึ้นมาอันนี้เรียกว่าเศษกรรมมันให้ผลตามมา เพราะฉะนั้นบุคคลผู้จะเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะศีล

            หรือว่าบุคคลจะไปเกิดเป็นเทวดานั้นก็มีศีล เพราะบุคคลไปเกิดเป็นเทวดานั้นต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ เทวดานั้นมีศีลยิ่งกว่าศีลของมนุษย์ แล้วก็บุคคลผู้ที่จะไปเกิดเป็นพรหมโลกก็ต้องมีศีล ถ้าไม่มีศีลแล้วเจริญฌานอย่างไรก็ไม่สามารถยังฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นมาได้ เหมือนกับคณะครูบาอาจารย์รูปใดที่ต้องอาบัติ เรียกว่าสังฆาทิเสสเป็นต้น จะเดินอย่างไร นั่งภาวนาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะยังสมาธิ ปฐมฌานให้เกิดขึ้นมาในดวงจิตดวงใจได้ จิตใจจะว้าวุ่น จิตใจจะสับสน จิตใจจะวิตกกังวลเรื่อยไป

            แต่ถ้าบุคคลใดมาเข้าปริวาสกรรมประพฤติวุฏฐานวิธี เผื่อเหนือตกใต้ เมื่อเราเข้าปริวาสกรรมยังไม่ขึ้นมานัต เริ่มสวดตติยัมปิเท่านั้นแหละ ความเป็นพระปริวาสของเราก็ปรากฏมีขึ้นมา เราก็สามารถเดินจงกรมนั่งภาวนาและสามารถบรรลุสมาธิสมาบัติ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้ถือว่าเป็นโชคอันดี เพราะฉะนั้นการที่จะไปเกิดเป็นพรหม ก็ต้องมีศีลจึงสามารถไปเกิดบนพรหมโลกได้ หรือว่าบุคคลจะสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน พระสกิทามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์ อย่างเช่นพระโสดาบันท่านกล่าวว่ามีศีลบริสุทธิ์ ไม่ด่างไม่พร้อยไม่เป็นไท เรียกว่ามีศีลคือ จิตใจของท่านบริสุทธิ์ อาจจะพลั้งพลาดไปบางครั้งบางคราว เรียกว่าเจตนาบริสุทธิ์

            เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนานั้นเป็นตัวกรรม

            พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือว่าพระอรหันต์ อะไรทำนองนี้ก็มีศีลบริสุทธิ์ เหมือนกับพระจักขุบาล ซึ่งท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ใหม่ๆ แล้วท่านมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจักขุบาลนั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยดวงตาที่แตก คือดวงตาของท่านแตก ดับพึบลงไป ตาท่านแตก แล้วก็กิเลสมันก็แตกสลายไปด้วยพร้อมกับตาของท่าน เรียกว่ากิเลสมันดับลงไปพร้อมตาของท่าน ความเป็นพระอรหันต์ก็ปรากฏขึ้นมาในขณะที่ตาแตก เรียกว่าอุบัติขึ้นมาพร้อมกัน ตาก็แตกพร้อมกัน กิเลสก็ดับพร้อมกัน ความเป็นพระอรหันต์ก็ปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน

            เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็มาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในความเพียรก็เดินจงกรมนั่งภาวนาพิจารณาธรรมเสร็จ ปีติตามวิสัยของคนผู้ถึงธรรม เรียกว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมเป็นที่อาศัย มีธรรมเป็นที่เกาะเกี่ยว มีธรรมเป็นที่เหนี่ยวรั้ง ท่านเป็นพระอรหันต์ท่านก็เดินจงกรมนั่งภาวนาตามวิสัยของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ในขณะนั้นแมลงค่อมทองมันออกมา ท่านก็เดินกลับไปกลับมาแต่เหยียบแมลงค่อมทอง คือแมลงเม่า ในฤดูฝน ภิกษุทั้งหลายก็มาติ หลวงตาตาบอด ทำไมตาดีก็ไม่เดิน ตาบอดแล้วมาทำความเพียรเดินไม่ดูเหยียบแมลงเม่า แมลงค่อมทองตายเกลื่อนกลาดอยู่ ก็ไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ในขณะที่ท่านเหยียบนั้นแหละ ท่านเห็นไหม เมื่อท่านไม่เห็น ท่านไม่รู้ ท่านก็ไม่บาป เพราะว่าดวงจิตที่เดินจงกรมนั้นเป็นดวงจิตที่ประกอบไปด้วยมหากุศล ประกอบไปด้วยศีล ประกอบไปด้วยสมาธิ ประกอบไปด้วยวิปัสสนาญาณ ประกอบไปด้วยผลสมาบัติเป็นต้น เป็นจิตเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นบาปนั้นจึงไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่รู้คือ ไม่มีเจตนา พระองค์จึงตรัสว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตนาเป็นตัวกรรม

            เพราะฉะนั้น ถือว่าศีลนั้น ทำให้คนดีกว่าคน ทำให้คนเลิศกว่าคน ทำให้คนประเสริฐกว่าคน ทำให้คนวิเศษกว่าคน หรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยศีล ถ้าพระองค์ไม่มีศีล ไม่สมาทานศีล ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล พระองค์ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ได้สำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ พระองค์ทรงตั้งสัจจะอธิษฐาน ตัดพระโมลี คือตัดผมของพระองค์ที่แม่น้ำ เนรัญชรา ซึ่งมีนายฉันนะ ม้ากัณฐกะ มีท้าวมหาพรหมที่มารอรับเอาพระโมลีของท่าน แล้วก็มีท้าวมหาพรหมที่มาถวายบาตรไตรจีวรแก่ท่าน ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงตั้งสัจอธิษฐาน ตั้งอยู่ในศีล มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย จึงทำให้พระองค์ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

            ศีลนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ทำให้คนนั้นประเสริฐกว่าคนจริงๆ และศีลนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่งาม ทำไมเป็นสิ่งที่งาม เพราะศีลนั้นเป็นของที่มีกลิ่นหอม บุคคลใดประกอบด้วยศีลบุคคลนั้นงาม คือ ศีลนั้นเป็นสิ่งที่มีกลิ่นหอม ดึงดูดคนให้มาดูมาชมมาเข้าใกล้ เหมือนกับครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงอาพาธ พระองค์ก็ทรงนอน แล้วพระองค์ก็ทรงท้องเสีย เรียกว่า ทรงพระบังคนหนัก ถ่ายออกเป็นเลือด ถ่ายออกอยู่เป็นประจำ ถ่ายไม่หยุด เป็นโรคบังคนหนัก ท้าวสักกะ หรือว่าพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รู้ ก็คิดว่าเราอยากได้บุญกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เข้ามาถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงถ่ายพระบังคนหนัก ท้าวสักกะนั้นก็เอาภาชนะทองไปรอง เมื่อรองเอาพระบังคนหนักแล้วก็เอาเทินศีรษะของตนเอง คือหมอบไป คลานไป เอาภาชนะทองนั้นรองเอาพระบังคนหนัก ได้พระบังคนหนักแล้วก็คลานออกมา แล้วก็เอาเทินศีรษะของตนเองแล้วก็เดินออกนอกประตู

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนท้าวสักกะ พระองค์เป็นพระอินทร์เป็นราชาของเทวดา ทำไมไม่รังเกียจพระบังคนหนัก ทำไมต้องลงมา เพราะว่ากลิ่นของกายมนุษย์นี้เหม็นเหลือเกิน แต่ว่าท้าวสักกะ หรือว่าพระอินทร์ก็ตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลของพระองค์นั้นหอมไปไกล ไปถึงเทวโลก พรหมโลก เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงมาด้วยความหอมของศีลของพระองค์ เพราะฉะนั้นบุคคลใดมีศีลเรียกว่าหอมไปถึงเทวโลก พรหมโลก เ

            หมือนกับครั้งหนึ่งที่พระอานนท์ครุ่นคิดปัญหา แต่ว่าคิดไม่ออกว่ากลิ่นของดอกไม้ จะเป็นกลิ่นของดอกมะลิก็ดี กลิ่นของดอกราตรีก็ดี กลิ่นดอกซ้อนก็ดี ก็หอมไปตามลม แต่ไม่หอมทวนลมได้ จะเป็นพวกเปลือกไม้ก็ดี พวกกระพี้ก็ดี พวกแก่นก็ดี พวกรากก็ดี จะเป็นไม้จันท์ก็ดี ไม้กระลัมพักก็ดี เรียกว่าเป็นไม้ที่มีตระกูลหอมๆ ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็หอมไปเฉพาะตามลม อะไรหนอที่สามารถหอมทวนลมได้ ก็แก้ปัญหา คิดปัญหาไม่ออกก็เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อะไรหนอแลที่หอมได้ทั้งทวนลมและตามลม

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า สีลคันโธ กลิ่นของศีลหอมทั้งตามลมและทวนลม เพราะฉะนั้นกลิ่นของศีลนั้นหอม สามารถหอมได้ทั้งตามลมและทวนลม ลงทั้งเบื้องต่ำและขึ้นไปเบื้องบนได้ เพราะฉะนั้นศีลนั้นจึงถือว่าทำให้คนงาม ถ้าบุคคลใดมีกายหอม มีวาจาหอม มีใจหอม บุคคลนั้นก็ถือว่าเป็นคนงาม เพราะว่ามี กาย วาจา ใจงาม เพราะฉะนั้นศีลนั้นถือว่างามในเบื้องต้น บุคคลใดมีศีลเป็นพระก็ดี เป็นเณรก็ดี ดูมีความงาม ถ้าบุคคลใดมีศีล ตายไปแล้วก็จะไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตายไปแล้วอย่างน้อยก็มาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปร่างสัณฐานสดสวยงดงาม ไม่ขี้โรค ไม่เป็นคนกำพร้าอนาถา เป็นคนน่าดูน่าชม เกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นต้น นี้เป็นอานิสงส์ของบุคคลผู้รักษาศีลดี

            งามในท่ามกลางคือ มัชเฌกัลยาณัง งามในท่ามกลางของพระศาสนานั้นท่านกล่าวว่า งามด้วยอำนาจของสมาธิ บุคคลใดมีสมาธิบุคคลนั้นก็ถือว่างาม บางคนเคยสูบบุหรี่ เคยกินเหล้าเมายา เคยด่าพ่อเถียงแม่ เคยมีนิสัยเกเรอันธพาล ชอบชกชอบต่อยชอบตีรันฟันแทง ชอบลักเล็กขโมยน้อย ชอบมึนเมาเป็นต้น เมื่อมาประพฤติปฏิบัติเมื่อจิตใจเป็นสมาธิ สิ่งเหล่านี้ สิ่งเลวร้าย สิ่งไม่งามเหล่านี้มันจะหมดไป คือบุคคลใดที่สูบบุหรี่ก็ดี หรือว่าบุคคลใดที่ชอบกินเหล้า มีนิสัยหยาบคาย เมื่อมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อจิตใจหยั่งลงสู่อำนาจของสมาธิ สมาธินั้นก็จะชำระความหยาบกระด้างในจิตใจของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นมีความสงบเสงี่ยม

            เราเห็นเณรก็ดี เห็นพระก็ดี พูดจาโหวกเหวกโวยวาย เห็นโยมพูดจาโหวกเหวกโวยวาย แต่เมื่อนั่งไปจิตใจเป็นสมาธิ ลุกจากอำนาจสมาธิ ตาก็ไม่อยากลืมมือก็ไม่อยากเคลื่อน เพราะอะไร เพราะจิตใจมันแน่วแน่เป็นสมาธิ ลุกขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากเหลียวซ้ายแลขวา เวลาเดินก็เดินเบาๆ เวลาพูดก็พูดเบาๆ เวลาจะทำอะไรก็ทำเบาๆ เรียกว่ามันเรียบร้อยไปหมด ทำให้บุคคลผู้ได้สมาธินั้นมีความงาม จะพูดก็งาม จะยืนก็งาม จะเดินก็งาม เพราะฉะนั้นสมาธินั้นจึงถือว่าเป็น มัชเฌกัลยาณัง เป็นความงามในท่ามกลางของพระพุทธศาสนา

            ญาติโยม คนเฒ่าคนแก่ที่มาจากที่ไกล มาจากกาฬสินธุ์ มาจากบ้านหลุบ มาจากที่ไกลๆ มาประพฤติปฏิบัติธรรม แก่แล้วก็ยังงามถ้ามีสมาธิ แม้เทวดาก็สรรเสริญ แม้พรหมก็นับถือ ลูกหลานญาติโยมสาธุชนทั้งหลายก็เคารพมีหน้ามีตาขึ้นมา มีสมาธินั้นมีคุณค่ากว่ามีเงินเป็นล้าน เป็นหลายๆ ล้าน มีสมาธินั้นมีค่ามากกว่ามีบ้านหลังโต มีรถหลายคัน มีรถคันโก้อะไรทำนองนี้ ไม่มีค่าเท่ากับสมาธิ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถนำพาไปเกิดในพรหมโลกได้ ไม่สามารถที่จะนำความสุขให้เกิดขึ้นแก่จิตแก่ใจได้ เพราะฉะนั้นบุคคลมาประพฤติปฏิบัติธรรมได้สมาธินั้นก็เกิดความงามขึ้นมา ไม่มีใครบอกไม่มีใครสอน สมาธินั้นเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นสมาธินั้นจึงเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยย่อ เป้าหมายของพระพุทธศาสนาก็คือ ทำคนให้เป็นคนดี ทำคนให้เป็นคนสงบ ทำคนให้เป็นคนเลิศ คนวิเศษ แล้วก็คนบริสุทธิ์ในที่สุด

            สมาธินี้แหละจะทำให้เราดีเราเด่นเราเลิศเราประเสริฐ แล้วในที่สุดเราก็จะบริสุทธิ์ ด้วยอำนาจพลังของสมาธิ เพราะว่าถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่นี้ ถ้าเราไม่มีสมาธิแล้วเราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร เราจะมีกำลังจิตกำลังใจในการเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไร ศรัทธาของบุคคลผู้ที่ไม่มีสมาธิก็เป็นปกติศรัทธา

            ถ้าบุคคลใดมีสมาธิด้วยมีศรัทธาบุคคลนั้นก็จะมีพลัง เรียกว่าสมาธิศรัทธา ศรัทธาที่สัมปยุตด้วยกำลังของสมาธิ บุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมไม่มีสมาธิ บุคคลนั้นปฏิบัติธรรมก็มะหยอมมะแหยม ประพฤติปฏิบัติธรรมก็มะล่องมะแล่ง เรียกว่าประพฤติปฏิบัติธรรมแบบเอานิ้วจิ้มดู ชิมดู ว่ามันเผ็ด มันอร่อย มันเปรี้ยว มันเค็ม เอามือจิ้มดูไม่เข้าท่าแล้วก็ลาศีลกลับบ้านไปเลยอะไรทำนองนี้ มีอาหารไม่สมบูรณ์ก็กลับไป เจออากาศร้อนหน่อยเจออากาศหนาวหน่อยก็ไม่สู้ ถอย

            อันนี้เรียกว่าคนมีศรัทธาเป็นปกติ เหมือนกับศรัทธาหัวเต่า หัวผลุบเข้าผลุบออก แต่ว่าบุคคลใดเป็นประเภท สมาธิศรัทธา คือ ศรัทธาสัมปยุตประกอบไปด้วยสมาธิ บุคคลนั้นจะมีพลังกล้า เวลาหนาวเหน็บ ถ้ามีกำลังของสมาธิก็นั่งตัวตรงมีจิตใจสงบเสงี่ยม นั่งพิจารณาอาการพองอาการยุบ เพราะว่าบุคคลผู้มีจิตใจเป็นสมาธินั้นความหนาวย่อมไม่ระคายผิว ความหนาวนั้นย่อมไม่ระคายจิตใจ ไม่ทำให้จิตใจว้าวุ่นและสับสนได้ เพราะว่าเมื่อจิตใจตั้งมั่นแล้ว จิตใจอยู่กับอารมณ์เดียวแล้ว จิตใจไม่ได้ปรุงแต่งในเรื่องความหนาวแล้ว ความหนาวนั้นไม่สามารถที่จะทำให้จิตใจของเรานั้นว้าวุ่นได้

            บุคคลใดเคยเข้าสมาธิจะรู้ว่าเวลาเราเข้าสมาธิ จะหนาวจะร้อนแสนร้อน คนจะคุยกันท่ามกลางของคนมากมายขนาดไหน ถ้าเรามีจิตใจเป็นสมาธิ นิ่ง สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถที่จะมาทำให้เราร้อนทำเราหนาวหรือทำเราวุ่นวายได้ จิตใจของเราก็อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ มีสมาธินั้นเป็นเรือนแก้ว มีสมาธินั้นเป็นกำแพงแก้วคอยคุ้มกันปกป้องรักษา ไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากร้ำกรายรบกวนจิตใจของเราได้

            เพราะฉะนั้นสมาธิศรัทธา คือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยสมาธินั้น จะหนาว จะร้อน จะเหน็ด จะเหนื่อย จะลำบาก จะผจญมารอะไรต่างๆ ก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ถ้าบุคคลใดมีสมาธิด้วยเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมบางครั้งก็อดนอน ๓ วัน ๗ วัน ๙ วัน ก็ปฏิบัติได้สบาย ทานอาหารก็ทานน้อยๆ พูดก็พูดน้อยๆ ปฏิบัติมากๆ อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีสมาธิศรัทธา ไม่ชอบพูดไม่ชอบคุยไม่ชอบยกตนข่มท่าน ไม่ชอบข่มคนโน้นไม่ชอบข่มคนนี้ อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีสมาธิประกอบด้วยศรัทธา ศรัทธาของบุคคลนั้นก็ตั้งมั่นมากกว่าของบุคคลที่มีศรัทธาธรรมดา

            ประการที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า สมาธิวิริยะ คือ ความเพียรสัมปยุตประกอบไปด้วยสมาธิ ถ้าบุคคลใดมีความเพียรธรรมดา เดินจงกรมแล้วสมาธิไม่เกิด เดินจงกรมแล้ววิปัสสนาญาณไม่เกิด มีแต่วิตกกังวลมีแต่ความฟุ้งซ่าน มีแต่ความรำคาญ มีแต่ความเหน็ดเหนื่อย มีแต่ความท้อแท้ ในลักษณะอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะว่าจิตใจไม่รวมเป็นหนึ่ง จิตใจมีซัดส่าย จิตใจไม่ตั้งมั่น เดี๋ยวก็พะวงถึงลูก พะวงถึงบ้านเรือน ถึงสามี ถึงภรรยา ว่าเขาอยู่บ้านเขาจะไปยังไงหนอ ใครจะดูแลวัวควาย ใครจะดูแลการงานต่างๆ อันนี้ในลักษณะของบุคคลที่มีความเพียรที่ไม่ตั้งมั่นจิตใจก็ซัดส่าย

            แต่ถ้าบุคคลใดมีศรัทธา มีสมาธิ มีวิริยะคือ มีความเพียรประกอบไปด้วยสมาธิ บุคคลนั้นจะมีความมุ่งมั่น เวลาเดินจงกรม ต้นยก กลางยก สุดยก ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ เห็นชัดเจน จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา มีความเพียรกำหนดรู้อาการคู้ อาการเหยียด อาการก้ม อาการเงย จะนุ่งสบง ห่มจีวร หรือว่าจะนุ่งเสื้อ นุ่งกางเกง อะไรต่างๆ ทำนองนี้ มีสติมีความเพียร กำหนดอยู่เป็นประจำ อันนี้ในลักษณะอย่างนี้นี่การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ได้ผลขึ้นมา

            บุคคลผู้มีสมาธิ วิริยะ คือมีความเพียรประกอบด้วยสมาธินั้นจะผจญกับผีสางก็ดี ผจญกับสัตว์ร้ายก็ดี เราจะไปเดินจงกรมในป่ารกก็ดี เราก็ไม่กลัว เราจะไปเดินในป่าช้าก็ไม่กลัว มีเสียง มีรูป มีกลิ่นเหม็น มีเสียงพิลึกสะพรึงกลัวเราก็ไม่กลัว บางครั้งเราเดินจงกรมไปมีกลิ่นเหม็นเดินตามหลังเรา อย่างนี้เราก็ไม่กลัวเพราะว่ามีสมาธิตั้งมั่น เราเดินจงกรมไปมีเสียงน่าพิลึกสะพรึงกลัว เสียงเปรต เสียงภูติผีปิศาจ ก็ไม่ทำให้เราพิลึกสะพรึงกลัวขึ้นมาเพราะว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ

            บางครั้งเราเจอบุคคลกลั่นแกล้ง อย่างโน้นอย่างนี้ เจอภูมิเจ้าที่กลั่นแกล้ง เจอภูตผีปิศาจอะไรทำนองนี้ก็ทำให้จิตใจของเราตั้งมั่นไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว ไม่กรรมฐานแตก ไม่ลุกวิ่งหนี อันนี้ก็เป็นกำลังของสมาธิ หรือว่าสมาธิสติ คือ สติประกอบไปด้วยสมาธิ คือสติของเราตัวสติจริงๆ ก็คือสมาธิ แต่เป็นสมาธิชั่วขณะอาจเป็นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ขุททกสมาธิ สมาธิชั่วครู่ ชั่วคราว สมาธิน้อยๆ สมาธิหน่อยๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นสมาธิ


หัวข้อ: Re: ภาวนาภิรัตธรรม - ศีล สมาธิ ปัญญา
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 มกราคม 2564 16:12:21

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTSyNsxn_CG7XJioR-jhzhkd_P-nXQhzqizvQ&usqp=CAU)

ศีล สมาธิ ปัญญา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี
   

           แต่ถ้าบุคคลใดมีสมาธิสติก็จะทำให้สติของบุคคลนั้นต่อเนื่องกันไปไม่เผลอ คือมันจะมีสติต่อเนื่องกันไป อย่างเราคู้ เราก็รู้ว่าเราคู้ การเหยียดเราก็รู้ว่าการเหยียด อาการพองอาการยุบ เราเห็นตั้งแต่ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ตั้งแต่ท้องของเรามันพองขึ้นมาเท่ากับเส้นขน ๒ เส้นขน ๓ เส้นขน ไล่ขึ้นมาๆ จนมันสุดพองเต็มที่ แล้วมันค่อยยุบลง ๑ เส้นขน ยุบลง ๒ เส้นขน ๓ เส้นขนไล่ลงมา อันนี้ถ้าเราประกอบไปด้วยสมาธิสติ คือสติประกอบไปด้วยสมาธิที่มีกำลังกล้า ก็จะทำให้อารมณ์เหล่านี้มันชัดเจน

            ถ้าอารมณ์เหล่านี้มันชัดเจน บุคคลผู้มีบารมีบำเพ็ญสมาธิมาก็จะเข้าสมาธิเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน โดยไม่ช้าไม่นานไม่เกิน ๓ นาที ๕ นาทีก็สามารถเข้าสู่อารมณ์ของสมาบัติได้ แต่ถ้าบุคคลใดกำหนดมีสมาธิสติ คือสติสัมปยุตไปด้วยสมาธิอย่างนี้ ถ้าบุคคลใดมีบุญวาสนาบารมีทางวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณมันก็จะเกิดขึ้นมาโดยไม่ช้าไม่นาน ไม่ช้าไม่นาน นามรูปริจเฉทญาณก็เกิดขึ้นมา  ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณที่ ๒ ก็เกิดขึ้นมา สัมมสนญาณ ญาณที่ ๓ ก็เกิดขึ้นมา อุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๔ ก็เกิดขึ้นมา

            ไม่ช้าไม่นานก็ต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าบุคคลใดเห็นต้นพอง กลางพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ อย่างที่กระผมว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีแค่เอื้อม มีแค่รัดนิ้วมือ ท่านกล่าวว่าถ้าบุคคลใดเห็นความเกิดดับของรูปของนาม

                      โย จ วสฺสสตํ ชีเว          อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
                      เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย        ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.

            “บุคคลใดเห็นความเกิดดับของรูปของนามมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่เห็นรูปเห็นนาม มีชีวิตเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี”

            เพราะฉะนั้นการเห็นรูปเห็นนามที่กระผมได้กล่าวไว้นั้น จึงเป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพานได้ไว เพราะฉะนั้นการที่บุคคลใดมีสมาธิ มีสติสมาธินั้นจึงถือว่าเป็นฐานแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง แล้วก็บุคคลผู้ที่มีสมาธิปัญญา คือมีปัญญาประกอบไปด้วยสมาธิ บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้ที่มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาตั้งมั่น มีปัญญาดุจเสาเขื่อนที่ไม่หวั่นไหว เสาเขื่อนที่ปักลง ถึงน้ำเขื่อนมันจะมาแรงล้นมากขนาดไหนก็ไม่หวั่นไหว เรียกว่าสามารถพยุง สามารถปักหลักตั้งมั่นไม่พังไม่สลายไป ปัญญาของบุคคลผู้ที่ประกอบไปด้วยสมาธิเหมือนกัน บุคคลนั้นย่อมเชื่อมั่นในตัวเอง ย่อมเชื่อมั่นในพระสัทธรรมคำสั่งสอน ย่อมเชื่อมั่นในวิถีทางที่ตนเองประพฤติปฏิบัติ ว่าสามารถได้สมาธิสมาบัติ สามารถได้วิปัสสนาญาณ สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพาน รู้แจ้งในพระธรรมคำสั่งสอนจริง

            อันนี้ถ้าบุคคลใดมีสมาธิ เรียกว่าปัญญาประกอบไปด้วยสมาธิเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเวลาญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้องอาศัยสมาธิ เพราะฉะนั้นคนเฒ่าคนแก่ พระสงฆ์สามเณรที่ไม่เคยเดินจงกรม ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่เคยเข้าปริวาสกรรมสายวัดพิชโสภาราม บางคนก็บ่น บางคนก็ท้อแท้ บางคนก็น้อยใจ บางคนก็บ่นว่าจะพายายจะพาตา พาพ่อพาแม่นี้เดินจงกรมนานขนาดไหน ทรมานไปขนาดไหน บางคนคิดว่าการเดินจงกรมนั้นทรมานมาก เหมือนกับตกนรก ไม่รู้ว่าพามาอย่างไร ไม่รู้ว่าหลงเชื่อมาอย่างไร บางคนบางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น อันนั้นมันเป็นอำนาจของมานะทิฏฐิ

            แต่เดิมโน้นที่มันสะสมมาทำให้คนนั้นพูดอย่างนั้น มันเป็นบาปกรรมเก่า มิจฉาทิฏฐิ ติดตามมาแต่ภพก่อนชาติก่อน มาบังคับจิตใจของบุคคลนั้นให้กล่าวอย่างนั้น ถ้าเราคิดว่าการเดินจงกรมมันยากมันไม่ได้ยากอะไร การเดินจงกรมประเสริฐ มนุษย์ก็สรรเสริญ เทวดาก็เคารพ พรหมก็นับถือ เพราะเรามีศีล เวลาเดินจงกรมก็เป็นบุญไปหมด เดินก้าวหนึ่งก็เป็นบุญ เดินสองก้าวก็เป็นบุญ เดินทุกก้าวจะคู้จะเหยียดจะก้มจะเงยเป็นบุญไปหมด เราไปทำไร่ไถนาลำบากมากยิ่งตากแดดยิ่งตากฝน ไปทำงาน  แบกหลังหนุน อาบเหงื่อต่างน้ำ ปากกัดตีนถีบ อะไรต่างๆ ลำบากมากมายแต่เราไม่ได้บ่น

            เพราะอะไร

            เพราะว่าเราทำตามอำนาจของกิเลส ทำตามอำนาจของตัณหา จากที่เราอยากมีอยากได้อยากเด่นอยากดี แต่อันนี้เราทำตามอำนาจของธรรมก็เลยเป็นปัจจัยให้กิเลสมันเร่าร้อนกระวนกระวายไม่อยากอยู่ อยากจะหนีกลับบ้านคิดถึงหน้าลูก หน้าบ้าน คิดถึงหน้าการงานต่างๆ ทั้งๆ ที่เราเพิ่งมาวันเดียว สองวัน อันนี้ก็ถือว่าเป็นอำนาจของกิเลส ที่มันบีบบังคับจิตใจ ถ้าบุคคลไหนอดทนไม่ได้ อดทนไม่ไหวบุคคลนั้นก็ต้องแพ้กิเลสไป เรียกว่า ปราชโย บุคคลนั้นผู้มีความแพ้

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องมีสมาธินั้นเป็นเครื่องหนุนปัญญาของเรา บุคคลผู้มีสมาธิบุคคลนั้นจะมีปัญญาเฉียบแหลมกว่าบุคคลธรรมดา เหมือนกับน้ำที่มันขุ่น เราจะมองลงไปใต้น้ำนี่ มองอย่างไรๆ มันก็ยังขุ่นอยู่ดี ยังเห็นใต้น้ำนั้นไม่ชัดเจน แต่น้ำนั้นมันใสๆ เรามองเห็นมันก็มองเห็นชัดเจน จะเห็นกุ้ง เห็นปลา เห็นหอย เห็นปู เห็นก้อนกรวดก้อนหินต่างๆ เราก็เห็นชัดเจน เพราะอะไร เพราะว่าน้ำมันใสจิตใจของคนที่ใสอยู่นี้แหละ เวลาคิดปัญหาอะไรก็คิดทันที คิดออกทันที เข้าใจทันที เพราะอะไร เพราะอำนาจของสมาธิ ถ้าเรามีสมาธิอยู่ดีๆ คนนั้นมาพูด มาด่า มาว่า ก็เข้าใจปัญหาทันที คนนี้มาด่า มาว่าเรา เพราะความเข้าใจผิดหนอก็อภัยให้ทันที อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะอำนาจของสมาธิ เรียกว่าเราพิจารณาเรื่องอรรถ เรื่องธรรมต่างๆ เราก็จะสามารถพิจารณาได้ไว อันนี้ด้วยอำนาจของสมาธิ เพราะฉะนั้นสมาธิปัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

            ความสุดท้ายคือ ปริโยสานกัลยาณัง งามในที่สุด คืออะไร งามในที่สุดนั้นท่านกล่าวว่า คือปัญญา ปัญญานั้นถือว่างามในที่สุด เพราะว่าปัญญานั้นครอบงำสิ่งทั้งหลายทั้งปวง คนจะทำดี คนจะทำชั่ว คนจะให้ทาน คนจะรักษาศีล คนจะไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาก็ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องคิด เครื่องค้น เครื่องนำทาง ปัญญานั้นท่านกล่าวเหมือนกับแสงสว่างนั้นเป็นเครื่องนำทาง

            ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

            ถ้าบุคคลใดมีปัญญา บุคคลนั้นก็จะหาทางออกเหมือนกับไฟไหม้บ้าน ไฟมันลุกมาทั้ง ๔ ด้าน บุคคลผู้ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จะออกอย่างไร แต่บุคคลผู้มีปัญญาก็ต้องคิดขึ้นมาทันทีว่า ตรงนี้เป็นหน้าต่างเราต้องโดดออกไปตรงนี้ ตรงนี้เป็นประตู ตรงนี้เป็นประตูหลังบ้านอะไรทำนองนี้ ก็ต้องมีปัญญาคิดขึ้นมาแล้วก็พาตัวให้พ้นไปจากไฟไหม้ บุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาก็เหมือนกัน ถูกไฟราคะ ถูกไฟโทสะ ถูกไฟโมหะ ถูกไฟคือกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ถูกไฟคือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส เผาให้ไหม้อยู่กับโลก ไม่ยอมหนีออกไปจากโลก

            เพราะอะไร

            เพราะว่าความรัก ความหลงผิด ความไม่มีปัญญา จึงไม่พิจารณาเห็นสิ่งเหล่านี้มันเป็นไฟ ความโลภ ความโกรธ ความหลง รูป เสียง กลิ่น รส ความรวย ความมียศถาบันดาศักดิ์ สิ่งเหล่านี้ถ้าเรากล่าวง่ายๆ ก็คือ ไฟที่เผาสัตว์ทั้งหลายให้ไหม้แล้วไหม้อีก ตายแล้วตายอีก เกิดแล้วเกิดอีก ไม่เบื่อหน่ายในวัฏฏสงสาร เพราะอะไร เพราะหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ทำไมจึงหลง เพราะไม่มีปัญญาคนไม่มีปัญญานั้นจึงหลง คนไม่หลงก็คือคนมีปัญญา

            เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จึงต้องอาศัยปัญญา ปัญญานั้นเป็นเครื่องนำทาง ปัญญานั้นเป็นแสงสว่างในโลก ฉะนั้นบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะมีความรู้เป็นนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เป็น ม.๕ ม.๖ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก จบด็อกเตอร์ อันนี้ถือว่าเป็นปัญญาทางโลก ปัญญาธรรมดา บุคคลเหล่านี้มีปัญญาอย่างนี้มากมายขนาดไหน บุคคลนั้นก็ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่เห็นทุกข์ในการเวียนว่ายตายเกิด ไม่เห็นทุกข์ในการแก่ การเจ็บ การตาย ไม่เห็นทุกข์ในการแย่งชิง ไม่เห็นทุกข์ในการแสวงหาอาหาร ไม่เห็นทุกข์ในการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกันที่ท่านกล่าวไว้นั้นแหละ แย่งคู่กัน พิศวาส แย่งอำนาจกันครอง อย่างนี้

            คนไม่มีปัญญาจะไม่เห็นตนเองแย่งคู่พิศวาสได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี มี ๒ มี ๓ มีเมีย ๔ เมีย ๕ ยิ่งดี มีอำนาจเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดียิ่งดี อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้หลงอยู่ในอำนาจ อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะขาดปัญญา เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม บุคคลจะมีความรู้มากขนาดนี้ก็ไม่สามารถที่จะเบื่อหน่าย ไม่สามารถที่จะคลายความกำหนัด ไม่สามารถที่จะเกิดความอยากหนี อยากออก อยากหลุด อยากพ้น จากสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นโลกของเรานั้นจึงเป็นสถานที่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเสมือนกับร่างกายของเรา เป็นที่เกิดแก่เจ็บตาย ของหมู่หนอน หมู่พยาธิต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมาในร่างกายของเรา แล้วก็ขี้ แล้วก็เยี่ยว แล้วก็กิน แล้วก็นอนอยู่ที่ร่างกายของเรา ในที่สุดมันก็ตายอยู่ในร่างกายของเรานี้แหละ ไม่ได้ไปไหน

            บุคคลผู้หลงอยู่กับโลกก็เหมือนกัน เกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ไปไหน เพราะยินดีอยู่กับโลกเหล่านี้ ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะฉะนั้นการมาประพฤติปฏิบัติธรรมที่เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ จึงถือว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญญา การเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ไม่ต้องคิดถึงอดีต ไม่ต้องปรุงถึงอนาคต ไม่ต้องปรุงถึงเรื่องบุญ ไม่ต้องปรุงถึงเรื่องบาป ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไรมาก รู้แต่ว่า ต้นยก กลางยก สุดยก ต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เพียงเท่านี้ก็เกิดปัญญาแห่งความหลุดพ้นได้

            เมื่อเรามีสติพิจารณาอยู่อย่างนี้แหละ ไม่ช้าไม่นานก็จะเห็นความเกิดดับของรูปของนาม เมื่อเราเห็นความเกิดดับของรูปของนาม ปัญญามันจะเกิดขึ้นมา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณที่ ๑ เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณที่ ๒ เกิดขึ้นมา วิปัสสนาญาณที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เกิดขึ้นมา ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ความเห็นทุกข์เห็นโทษในร่างกายสังขาร ความเห็นทุกข์เห็นโทษในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในการที่เราเกิดขึ้นมา ต้องเวียนว่ายตายเกิด ต้องกินอยู่เป็นประจำ ต้องแสวงหาอยู่เป็นประจำ ต้องอาบน้ำชำระร่างกายอยู่เป็นประจำ ต้องเข้าห้องน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบาอยู่เป็นประจำ เป็นทุกข์ เจ็บตรงโน้นปวดตรงนี้ เป็นทุกข์อยู่ร่ำไปอันนี้มันจะเกิดปัญญาเบื่อขึ้นมา

            ไม่ใช่เป็นแต่เรา พระก็เป็น เณรก็เป็น แม่ใหญ่ก็เป็น พ่อใหญ่ก็เป็น คนรวยก็เป็น คนจนก็เป็น เจ้าฟ้ามหากษัตริย์อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็เป็นเหมือนกัน พระองค์ก็ทรงพระประชวรเข้ารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช อันนี้ก็ถือว่าในพื้นมนุษย์พิภพของเรานี้ ไม่สามารถที่จะพ้นไปจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะญาติโยม สาธุชนผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ถือว่าเรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะประกาศพระศาสนา ที่งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

            เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ ญาติโยม ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วยกันจนไปถึงวันสุดท้ายนั้นแหละจึงค่อยแยกจากกัน เรียกว่าเราสะสมเงินสะสมทองก็สะสมมามากแล้ว เราสะสมความดีไว้ในชีวิตของเรา สัก ๕ วัน ๗ วัน สัก ๙ วัน ทำไมเราจะทำไม่ได้ เงินทองเป็นของนอกกายตายไปเอาไปไม่ได้ แต่บุญกุศลที่เราสั่งสมนี้แหละจะติดตามเราไปเหมือนเงาตามตัว เหมือนพ่อเหมือนแม่คอยปกปักรักษาเรา เราจะไปเกิดในแห่งหนตำบลใดภพใด บุญกุศลนั้นก็เหมือนกับพ่อกับแม่คอยปกปักรักษาคอยคุ้มครองปกป้องพ้องภัย ให้เรามีความสุขความสบายอยู่เป็นประจำ

          วันนี้อาตมภาพก็ได้กล่าวธรรมะมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ ก็ขอให้คณะผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดถึงญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม ทุกรูปทุกท่าน ทุกคนจงประสบแต่สิ่งที่เป็นมิ่งมงคลสมบูรณ์พูนผล ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ขอให้ท่านทั้งหลายนั้นจงมี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เงินไหลนอง ทองไหลมา แคล้วคลาดปลอดภัย จากอุปสรรค อันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีโอกาสได้ประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมสามารถที่จะนำตนของตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันไม่ช้าไม่นานนี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.