หัวข้อ: เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มกราคม 2564 13:29:39 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27777032678325_140926355_973634299710941_5146.jpg) ภาพ : พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร (หลังเดิม) เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) เณรโต เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๑ "เจ้าคุณอริยกวีองค์นี้ ท่านเกิดปีมะเส็งศกเท่าไรจำไม่ได้ [ผู้เขียน – พ.ศ.๒๓๖๔] โยมผู้ชายของท่านชื่อเนียม โยมผู้หญิงชื่อสมบุญ ตั้งบ้านอยู่คลองส้มป่อย เมื่อท่านยังเป็นเด็ก ได้ไปอยู่กับพี่ชายของท่านซึ่งบวชอยู่ ณ วัดสระเกศ ครั้นพี่ชายสึกแล้ว ท่านจึงไปอยู่กับท่านอาจารย์อะไรจำชื่อไม่ได้ เป็นผู้รู้มูลดี ที่วัดมหาธาตุ ได้เรียนมูลในสำนักท่านผู้นี้ (ท่านเล่าว่า พอท่านจับเล่าสูตรก็เผอิญสูตรตกน้ำ จะเป็นนิมิตรบอกความลำบากแก่ท่านหรืออย่างไร เมื่อเรียนหนังสือกว่าจะรู้ก็ลำบาก เมื่อเข้าแปลสนามกว่าจะได้ก็ลำบาก) ภายหลังท่านมาอยู่กับเจ้าคุณอริยมุนี (ทับ) [พุทฺธสิริ – ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต] ที่วัดราชาธิวาส ได้บรรพชาเป็นสามเณร แลเรียนพระคัมภีร์ปริยัติธรรมในสำนักเจ้าคุณอริยมุนี ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังเสด็จประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาส ได้ทรงใช้สอยท่านคล้ายกับมหาดเล็ก ตรัสเรียกว่า เณรใหญ่ (เพราะร่างกายท่านสูงใหญ่) จึงได้คุ้นเคยในพระองค์ นับเข้าเป็นศิษย์ข้าหลวงเดิมองค์หนึ่ง ซึ่งท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ชะรอยจะรับบรรพชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หรืออย่างไร ข้อนี้ไม่แจ้งชัด ..." (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/59031484772761_140703411_974153429659028_5748.jpg) สัทธิวิหาริกในรัชกาลที่ ๔ เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๒ ...ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จลงมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศแล้ว ภายหลังท่าน [พระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต)] สึกจากสามเณรไปอยู่บ้าน เมื่อกาลใกล้จะอุปสมบท ท่านได้มาเยี่ยมเจ้าคุณอริยมุนี [ทับ พุทฺธสิริ – ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต] ครั้งหนึ่งเป็นคราวไล่พระปริยัติธรรม เจ้าคุณท่านบอกว่า “เอ็งไม่พอที่จะสึกเสียเลย ถ้าเอ็งยังอยู่ก็จะได้เข้าแปลหนังสือกับเขาคราวนี้ บวชเสียอีกเถอะวะ” ท่านก็ไม่ยอมบวช เพราะจวนจะอุปสมบทอยู่แล้ว ครั้นถึงกาลกำหนดจะอุปสมบทเข้า ท่านจึงมาหาเจ้าคุณอริยมุนีอีก เรียกว่าจะขออุปสมบท เจ้าคุณท่านจึงพาลงไปเฝ้า ทูลขออุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ ครั้นได้อุปสมบทแล้วขึ้นไปอยู่กับอาจารย์ที่วัดราชาธิวาสตามเดิม ... (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/56465353692571_141764246_974215396319498_3304.jpg) ภาพ : วัดราชบูรณะ ก่อนโดนระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้าแปลพระปริยัติธรรม เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๓ ...เมื่อถึงคราวไล่หนังสืออีก ท่าน [พระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต)] ได้ ๕ พรรษา ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุ หรือวัดราชบูรณะ (ไม่แน่) ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ภายหลังได้เข้าแปลที่วัดราชบูรณะได้อีกประโยคหนึ่ง เป็น ๔ ประโยค แล้วเข้าแปลที่วัดพระเชตุพนได้อีกประโยคหนึ่ง เป็นเปรียญ ๕ ประโยคในรัชกาลที่ ๓ ๆ เมื่อครั้งสอบไล่ที่วัดราชบูรณะนั้น พระสังกิจ์จ (หลิน) [ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระสังกิจคุณมุนี วัดบรมนิวาส] เข้าแปลได้ ๔ ประโยค พระสุมิต์ต (เหมือน) [ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี] ก็เข้าแปลแต่ว่าตกไม่ได้ เมื่อครั้งสอบไล่ที่วัดพระเชตุพนนั้น พระมหาสังกิจ์จเข้าแปลได้อีก ๓ เป็น ๗ ประโยค พระสุมิต์ตเข้าแปลได้ ๖ ประโยค พระวารณ (ต่าย) [ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร] เข้าแปลเป็นเพื่อนพระเหมือน ซึ่งเรียกว่า ทับผี คือไม่ใช่ผู้ที่จะต้องการ แต่เฉพาะถูกประโยคที่ชำนาญ ผู้ไล่กักไว้ไม่อยู่ จึงพลอยได้ ๓ ประโยค สามเณรเขียว [ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดราชาธิวาส] อายุ ๑๗ เข้าแปลได้ ๓ ประโยค… อธิบายเพิ่มเติม : คำว่า “ทับผี” หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจจะเข้าสอบพระปริยัติธรรม แต่มีเมื่อสอบจับสลากได้ประโยคที่ชำนาญอยู่แล้ว จึงสอบผ่าน ด้วยการสอบพระปรยัติธรรมในสมัยก่อนนั้น มิได้มีการจัดสอบทุกปี บางรัชสมัยมีการสอบเพียง ๓ ครั้งเท่านั้น การสอบแต่ละครั้งจะเป็นการจับสลากหัวข้อแล้วสอบปากเปล่า และหากพระภิกษุรูปใดมีความชำนาญก็สามารถสอบได้หลายประโยคในคราวเดียว (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/37290486900342_141283189_974319356309102_4794.jpg) ภาพ : พระเต้าศิลาจารึกอักษร ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔. หม้อน้ำมนต์ตก เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๔ ...ครั้นรัชกาลที่ ๕ พระอมราภิรักขิต [เกิด อมโร] วัดบรมนิวาสถึงมรณภาพ [พ.ศ.๒๔๑๒] ไม่มีเจ้าอาวาส จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ย้ายพระอริยมุนี [เหมือน สุมิตฺโต] ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส แล้วทรงตั้งพระมหาสังกิจ์จ (หลิน) ๗ ประโยคให้เป็นพระสังกิจ์จคุณมุนี ที่สมภารรองแทน อยู่ได้ประมาณ ๗-๘ เดือนก็ถึงมรณภาพ จึงทรงตั้งให้พระปลัดทิง [อิสิทตฺโต] เป็นพระอริยกวี เมื่อท่านได้รับตำแหน่งพระราชาคณะแล้ว สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เห็นจะทรงพระโสมนัส ด้วยทรงพระกรุณาโปรดว่าเป็นคนเก่า ได้ทรงคุ้นเคยมานาน จึงได้เสด็จมาเยี่ยม แลให้มหาดเล็กเชิญหม้อน้ำมนต์ศิลาสำหรับพระเถระมาประทานด้วย เมื่อเสด็จมานั้น เรือพระที่นั่งติดน้ำ เสด็จขึ้นที่หน้าวัดมงกุฎกษัตริย์ ทรงพระดำเนินมา เผอิญมหาดเล็กที่เชิญหม้อน้ำมนต์มานั้น จะสะเพร่าหรือพลาดพลั้งอย่างไรไม่ทราบ ทำหม้อน้ำมนต์พลัดตก น้ำมนต์หก หม้อหูหัก ท่านจะทรงถือว่าเป็นนิมิตฤๅอย่างไร จึงมาทรงแสดงอาการเสียพระทัย รับสั่งอิดออดว่า “ฉันดีใจที่ได้เห็นราชาคณะขึ้น จะได้เป็นเถระองค์หนึ่งในวงศ์นี้ จึงเอาหม้อน้ำมนต์สำหรับพระเถระมาให้ จำเพาะมาถูกน้ำแห้งเรือมาไม่ถึงต้องขึ้นเดินมาแต่วัดมงกุฎกษัตริย์ เจ้ามหาดเล็กก็ทำหม้อน้ำมนต์พลัดตกหูหักเสียด้วย รับไว้ใช้ไปอย่างนั้นเถอะนะ” แล้วรับสั่งปรารภอะไรต่ออะไรไปมาก แล้วจึงเสด็จกลับ (ข้อซึ่งว่า สมเด็จกรมพระยาฯ [ปวเรศวริยาลงกรณ์] เสด็จมานี้ เกล้ากระหม่อมไม่ได้เห็น เพราะอยู่ต่างคณะ เป็นแต่ทราบแต่ผู้บอกเล่า แต่ว่าได้เห็นหม้อน้ำมนต์หูหักจริง) แต่นั้นมาโรคของท่านที่เป็นมาแต่ก่อนก็เจริญขึ้นๆ ได้เข้ารับราชการพิธีรับเทียนเข้าพรรษา ได้เปลี่ยนตาลปัตรแฉกใหม่ครั้งเดียวเท่านั้น วันเมื่อกลับจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นให้มีอาการหนาวแลร้อนคล้ายกับเป็นไข้ ด้วยพิษโรคที่เสียภายในนั้นให้เป็นไป แต่ท่านใจแข็งยังทนไปลงอุโบสถแลประชุมเข้าพรรษา นำให้พระเณรอัจ์จโยได้ ภายหลังไข้ก็ทรุดลงทุกที ไม่มีอาการฟื้น ถึงแก่ลุกนั่งไม่ได้ อุบาสิกาทรัพย์เป็นผู้รักษา ชลอมาจนถึงเดือน ๑ หรือเดือน ๒ หรือเดือน ๓ ดิถีวาระขึ้นแรมจำไม่ได้ เพราะเกล้ากระหม่อมยังเป็นเณร ความคิดยังน้อยไม่รอบคอบ จึงมิได้จดไว้… ที่มา : เพจ เล่าเรื่อง วัดบวรฯ หัวข้อ: Re: เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มกราคม 2564 20:28:03 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23315969523456_143122412_975797452827959_3533.jpg) ภาพ : พระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) มรณภาพ เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๕ วันเมื่อกลับจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นให้มีอาการหนาวแลร้อนคล้ายกับเป็นไข้ ด้วยพิษโรคที่เสียภายในนั้นให้เป็นไป แต่ท่านใจแข็งยังทนไปลงอุโบสถแลประชุมเข้าพรรษา นำให้พระเณรอัจ์จโยได้ ภายหลังไข้ก็ทรุดลงทุกที ไม่มีอาการฟื้น ถึงแก่ลุกนั่งไม่ได้ อุบาสิกาทรัพย์เป็นผู้รักษา ชลอมาจนถึงเดือน ๑ หรือเดือน ๒ หรือเดือน ๓ ดิถีวาระขึ้นแรมจำไม่ได้ เพราะเกล้ากระหม่อมยังเป็นเณร ความคิดยังน้อยไม่รอบคอบ จึงมิได้จดไว้ ภายหลังเมื่อพระอริยกวีกลับจากการพระราชทานพุ่มเทียน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อกลับถึงวัดโสมนัสวิหารแล้ว มีอาการหนาวร้อนคล้ายกับเป็นไข้ แต่ท่านก็ยังใจแข็งลงพระอุโบสถร่วมประชุมอธิษฐานจำพรรษา ครั้นแล้วอาการก็ทรุดหนักมาโดยลำดับ โดยมีอุบาสิกาทรัพย์เป็นผู้รักษา มาจนถึงช่วงเดือนอ้ายถึงเดือน ๓ ของปีเดียวกันนั้น ท่านก็ถึงมรณภาพ ดังความในเอกสาร ซึ่งสันนิษฐานว่ามีที่มาจากความทรงจำของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต) ที่ว่า “...จำได้แต่ว่าท่าน [พระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต)] ถึงมรณภาพเวลา ๒ ทุ่ม เพราะว่ามันเมื่อท่านจะถึงมรณภาพนั้น ท่านมีสติสัมปัชญญะอดกลั้นทุกขเวทนา ไม่อาดูรกระสับกระส่าย แลกำหนดเวลาได้ด้วย ท่านได้สั่งให้เตรียมดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไว้ สำหรับที่จะลาเจ้าคุณฯ[อริยมุนี เหมือน สุมิตฺโต] แลพระราชา พอย่ำค่ำแล้ว ท่านก็ถามอยู่เนืองๆ ว่า เกือบถึง ๒ ทุ่มหรือยัง ครั้นผู้พยาบาลบอกว่า จวนจะ ๒ ทุ่มแล้ว ท่านจึงเรียกเครื่องสักการะมา ให้ช่วยประคองไว้เหนืออก ยกมือขึ้นนมัสการลาเจ้าคุณฯ แลอุทิศถวายแด่พระราชา ให้เป็นการทูลลาด้วย ในขณะนั้น พระวินัยธร (ด้วง) ผู้เป็นน้อง จะไปเรียนเจ้าคุณฯ ให้ทราบ ท่านห้ามเสียว่าอย่าไปเลย จะลำบากแก่ท่าน พระวินัยธรพยักหน้าให้พระองค์อื่นไปกราบเรียน ส่วนท่านก็ตั้งสติประนมมืออยู่สักครู่หนึ่งก็สิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะ เจ้าคุณก็มาไม่ทัน ด้วยเหตุนี้ เกล้ากระหม่อมจึงจำได้ว่า ท่านถึงมรณภาพเวลา ๒ ทุ่ม นับแต่เป็นพระราชาคณะมา อยู่ได้ประมาณเพียง ๖, ๗, ๘ เดือนเท่านั้น ไม่เกินกว่า ๘ เดือนขึ้นไป นับอายุแต่ปีเกิดมาจนถึงปีมะแม [พ.ศ.๒๔๑๔] เป็นปีถึงมรณภาพ ได้ ๕๐ เศษ…” (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41591971077852_142573628_975249586216079_3964.jpg) ภาพ : ภาพถ่ายเก่าพระเถรานุเถระวัดโสมนัสวิหาร พ.ศ.๒๔๓๓ ตู้หนังสือวัดโสมนัสล้มแล้ว เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๖ ...ท่านผู้นี้ [พระอริยกวี ทิง อิสิทตฺโต] เป็นศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ในสมเด็จพระวันรัต [ทับ พุทฺธสิริ] ได้เรียนมูลแตกฉาน ชำนาญในมคธภาษา ปรากฏว่าเป็นผู้รู้มูลดีแลฉลาดในวิธีแปลหนังสือดีกว่าศิษย์ทั้งปวงในยุคนั้น แลชำนาญในฉันทพฤติ์ด้วย (วิชานี้ท่านได้แต่พี่ชายใหญ่ของท่าน เพราะว่าพี่ชายของท่านเป็นจินตกวี ชำนาญในจินดามณี แลวุตโตทัย แลตำราแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนทุกอย่าง ท่านได้รับมรดกไว้) แลเป็นผู้ฉลาดในการสอนศิษย์ ได้คิดแต่บทมาลามูลเนติปกรณ์ขึ้นไว้ เพื่อสอนศิษย์ให้รู้มคธภาษาง่ายด้วย บรรดาศิษย์สมเด็จต่อมา ผู้ใดที่จะไม่ได้เรียนหนังสือในสำนักของท่านไม่ใคร่จะมี จนถึงเจ้าคุณสังกิจ์จคุณมุนี [หลิน สงฺกิจฺโจ วัดบรมนิวาส] เป็นชั้นใหญ่ ก็ได้ความรู้แต่ท่าน เมื่อเวลาท่านถึงมรณภาพแล้วนั้น เจ้าคุณฯ ท่านได้นั่งประกาศคุณว่า “ตู้หนังสือวัดโสมนัสล้มแล้ว ข้าเจ้าเหมือนกับคนมีแขนอันขาดเหลือแต่ตัว เพราะเขาเป็นคนมีความรู้มากหาตัวเปรียบเขายาก แลเป็นผู้เพาะศิษย์ดีด้วย ในวัดนี้ที่เป็นมหาบาเรียน ล้วนเป็นศิษย์ของเขาท้องนั้น ข้าเจ้าเป็นคนชุบมือเปิบ เขาฝึกกันไว้แล้ว ข้าก็ตะครุบเอาเท่านั้น” แลพรรณนาคุณอื่นๆ แสดงความอาลัยมาก จนเกล้ากระหม่อมกลั้นน้ำตาไม่ได้ อุบาสิกาทรัพย์ก็ร้องไห้โฮในเวลานั้น เมื่อเวลาท่านกลับกุฎี ก็เดินบ่นไปว่า “ตู้หนังสือแตกเสียแล้วๆ” ดังนี้ การเรียนวิชาแปลภาษาชั้นต้น จะเอามาลบล้างการไหว้พระสวดมนต์ท่องบ่นภาวนาเสียไม่ได้ เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๗ ...อนึ่งท่านผู้นี้ [พระอริยกวี ทิง อิสิทตฺโต] ไม่เป็นแต่ผู้รู้เปล่า เป็นผู้ปฏิบัติจริงด้วย รักษาอินทรีย์สงบแบบเดียวกันกับเจ้าคุณจันทโคจรคุณ ไม่เห็นท่านมีนิสัยนักเลงเลย มีแต่ฝึกศิษย์ให้สวดมนต์ไหว้พระ แลเรียนพระปริยัติธรรมเป็นนิตย์ สอนศิษย์ว่าการเรียนหนังสือนั้น เป็นการเรียนวิชาแปลภาษาชั้นต้น จะเอามาลบล้างการไหว้พระสวดมนต์ท่องบ่นภาวนาเสียไม่ได้ การไหว้พระสวดมนต์เจริญภาวนานี้เป็นกิจธุระของตนเป็นบุญกุศลแท้ อย่าให้ขาดเสียได้ สอนอยู่เช่นนี้เนืองๆ ส่วนท่านก็หมั่นไหว้พระเจริญภาวนาไม่ขาดเหมือนกัน ท่านชอบนั่งในกุฏิองค์เดียวมืดๆ ไม่จุดไฟเป็นปรกติ จุดแต่เวลาไหว้พระแลมีกิจธุระจะต้องใช้ไฟเท่านั้น [/size] ที่มา : เพจ เล่าเรื่อง วัดบวรฯ หัวข้อ: Re: เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 28 มกราคม 2564 19:04:28 .
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTeQ7fI3Mop1KSpT0YGI6rx1jtm2sHKexZ8cxUprNL0IvtvQQKa5UvwGEEx2J2ahxPxjHIuTBoifALpzcsV9VJm2Lv_J9pLvAlOsA&usqp=CAU&ec=45768321) “คนรู้ทำเป็นคนโง่ จะให้เป็นสมเด็จเจ้ากะเข้าบ้างก็ไม่อยากเป็น ชอบแต่เป็นขรัวอยู่นั่นแหละ” เล่าเรื่องพระอริยกวี (ทิง อิสิทตฺโต) พระมหาเถระนับแต่เมื่อครั้งตั้งวงศ์ธรรมยุตอีกรูปหนึ่ง ตอนที่ ๘ “...อนึ่งท่าน [พระอริยกวี ทิง อิสิทตฺโต] มีอัธยาศัยถ่อมตน ไม่พอใจอวดความรู้แก่ใครๆ ตั้งอยู่ในมักน้อยสันโดษ ดำเนินตามอริยวังสปฏิปทาอยู่เสมอ ไม่เห็นปรากฏว่า มีอิจฉาจารอาการดิ้นรนขวนขวานเพื่อลาภแลยศ แลไม่ปรากฏว่า ท่านกล่าวเสียดสีกระทบผู้ใดให้ได้ความเดือดร้อนรำคาญใจเลย จนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทอดพระเนตรเห็นท่านเข้าแล้ว ก็มักตรัสประปรายอยู่เนืองๆ ว่า “คนรู้ทำเป็นคนโง่ จะให้เป็นสมเด็จเจ้ากะเข้าบ้างก็ไม่อยากเป็น ชอบแต่เป็นขรัวอยู่นั่นแหละ” ท่านก็นิ่งเฉย ไม่แสดงอาการให้แปลกผิดปรกติ แลยังได้ยกเรื่องนี้มาเล่าให้ศิษย์ฟัง แล้วสั่งสอนชี้โทษแห่งความมักใหญ่ใฝ่สูงแลพรรณนาคุณแห่งความมักน้อยสันโดษ แลอปัจจายนนิวาตวุตติ แลชี้ตัวอย่างให้เห็นโดยนัยต่างๆ หมั่นตักเตือนให้ศิษย์มีสติรู้ระลึกถึงชาติแลเพศของตนเนืองๆ แลคอยปราบปรามไม่ให้กำเริบเพราะความรู้แลความสรรเสริญ ให้ดำเนินตามทสธรรมสูตร์ แลกำชับว่าพระสูตรนี้ดีนัก สมควรแก่เราผู้บรรพชิตจะปฏิบัติตาม อุตส่าห์เล่าทรงจำไว้ จะได้กันความจองหอง แลความคะนอง ความประพฤติชั่ว แลกันความเมามัวอาลัยในสิ่งที่ตนรักใคร่ แลเป็นเครื่องเตือนใจให้คิดหาประโยชน์ตน ไม่ให้เป็นคนเก้อ-เดือดร้อนภายหลังได้ ท่านประพฤติอย่างนี้เป็นปรกติ จึงเห็นว่าท่านตั้งอยู่ในอริยวังสปฏิบัติเต็มที่...” |