หัวข้อ: หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาลย์ ชลิโต) เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 มกราคม 2564 18:36:38 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/97049659242232_144344927_977673692640335_5281.jpg) พระสังวรวรประสาธน์ หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาลย์ ชลิโต) พระสังวรวรประสาธน์ เป็นสมณศักดิ์พระราชาคณะ ฝ่ายเปรียญ ที่เป็นพระราชวงศ์ ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งในครั้งนั้นทรงตั้งพระราชาคณะราชวงศ์ ที่ชื่อสื่อความหมายถึงเครื่องประดับ ๔ ชื่อด้วยกัน ประกอบด้วย ๑) พระสีลวราลังการ (ฝ่ายสมถะ) ๒) พระญาณวราภรณ์ (ฝ่ายเปรียญ) ๓) พระสังวรวรประสาธน์ (ฝ่ายสมถะ) ๔) พระพุทธุปบาทปีลันธน์ (ฝ่ายเปรียญ) สมณศักดิ์ทั้ง ๔ นี้พระราชทานแก่เจ้านายตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป เมื่อเป็นพระราชาคณะ ซึ่งเมื่อพระราชาคณะหม่อมเจ้าแล้วในการพระราชพิธีนั้น จักนั่งหน้าสมเด็จพระราชาคณะ โดยเฉพาะหม่อมเจ้าพระราชาคณะฝ่ายสมถะนี้ มีหน้าที่พิเศษในบางพระราชพิธี เช่นเป็นประธานสงฆ์ในพระราชพิธีพืชมงคล เป็นต้น หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาลย์ ชลิโต) พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าชัชวาลย์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร กับหม่อมราชวงศ์เลื่อน นรินทรางกูร หลังจากผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วไปทำทัฬหีกรรมที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอริยมุนี (เดช ฐานจาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อทรงผนวชแล้วประทับอยู่ ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๗ จึงทรงตั้งหม่อมเจ้าพระชัชวาลย์ ขึ้นเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะฝ่ายสมถะที่ หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ พร้อมพระราชทานพัดงาใบอย่างพัดด้ามจิ้ว ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ทำขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอําไพ ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดอรุณราชวราราม แต่ทรงลาสิกขาเสียก่อน รัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานพัดนี้แก่หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (เล็ก) วัดอมรินทราราม เป็นองค์ที่ ๒ ก่อนที่จะพระราชทานแก่หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ (ชัชวาลย์ ชลิโต) เป็นองค์ที่ ๓ จนในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์จึงทรงย้ายมาประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ปีกุน พ.ศ.๒๔๔๒ พระชนมายุได้ ๓๕ ปี ที่มา : เล่าเรื่องวัดบวรฯ |