[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 14 มีนาคม 2564 16:27:50



หัวข้อ: ปลีกวิเวก มักน้อยสันโดษ : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 มีนาคม 2564 16:27:50

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/89288149442937_160146933_3786867238017866_164.jpg)
ปลีกวิเวก มักน้อยสันโดษ

ถ้าเป็นผู้แสวงหารสแห่งธรรมแล้วนี้จะไม่วุ่นวายกับเรื่องการใช้สอยปัจจัย ๔ จะมักน้อยจริงๆ เสื้อผ้าก็เอาแค่ ๓ ผืนก็พอ ที่อยู่อาศัยก็ขอให้มีที่มุงที่บังกันแดดกันฝนได้ก็พอ มีกระต๊อบหรือมีหลังคาไว้แล้วก็มีที่ให้เรานั่งให้เรานอนได้ก็พอ แล้วก็มีทางเดินจงกรม เท่านี้ก็พอสำหรับที่อยู่ของผู้ปฏิบัติ ขอให้ที่อยู่นั้นมันเงียบสงบไม่ต้องเห็นใครไม่ต้องเจอใคร ไม่ต้องได้ยินเสียงของใคร อยู่กับเสียงลมพัดเสียงสัตว์ร้อง เสียงนกเสียงกาอะไรต่างๆ เสียงเหล่านี้ไม่มารบกวนใจ ไม่เหมือนเสียงคนพอได้ยินเสียงคนนี้ใจมันเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที เห็นรูปของคนนี่เกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ทำให้ใจไม่สงบ ใจที่สงบก็จะกระเพื่อมขึ้นมา ต้องเป็นที่ห่างไกลจากคนจากเรื่องราวต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ สถานที่ของผู้ที่ปฏิบัติ ที่อยู่อาศัยของผู้ปฏิบัติ ส่วนยารักษาโรคก็รักษาไปตามมีตามเกิด สมัยพุทธกาลท่านก็อาศัยยาสมุนไพรดองน้ำมูตร ดองน้ำปัสสาวะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดื่มมัน เจ็บท้องปวดศีรษะอะไรก็ดื่มยาพวกนี้ไป มันก็อยู่ได้ สมัยก่อนเขาก็ไม่มีโรงพยาบาลเหมือนพวกเรามีกันสมัยนี้ เขาก็อยู่กันได้ตายกันได้เหมือนกับเรา เรามีโรงพยาบาลมีหมอมียาเราก็อยู่กันได้ตายกันได้เหมือนกัน อายุก็เท่าๆ กัน สมัยพุทธกาลก็ ๘๐, ๙๐ ก็มี พระพุทธเจ้าก็ ๘๐ ร้อยหนึ่งก็มี สาวกบางรูปอายุยืนยาวนานถึง ๑๐๐ ก็มี สมัยนี้มีหยุกมียามีหมอมีโรงพยาบาลก็ตายเหมือนกัน งั้นอย่าไปกังวลกับเรื่องหมอกับยาอะไรเลย

สมัยนี้กลับไปเครียดไปเครียดกับการรักษากัน ต้องคอยตรวจเลือดกันทุกเดือน บางคนตรวจกันทุกเช้าดูน้ำตาลขึ้นกี่ขีด ดูตอนกินสิ อย่าไปดูตอนที่มันกินเสร็จแล้วก็ไป ถ้าไม่กินของหวานมันจะขึ้นได้ยังไง ใช่ไหม ก็รู้อยู่ว่าอะไรมันทำให้น้ำตาลมันขึ้น ก็อย่าไปกินมันเท่านั้นเอง ก็ไม่เห็นจะต้องคอยไปตรวจน้ำตาลว่ามันขึ้นเท่าไหร่ แต่ความอยากมันห้ามใจไม่อยู่ พอเจออาหารจานโปรดแล้ว แหมเบรกมันไม่ไหว เขาเรียกว่ายัดไม่ได้กิน ถ้ากินด้วยความอยากนี่เรียกว่ายัดนะ แต่ถ้ากินด้วยเหตุด้วยผลเรียกว่ากิน ถ้ากินด้วยความมักน้อยสันโดษนี้เรียกว่ากิน กินพอประมาณ วิธีที่จะกินพอประมาณคืออย่ากินให้มันอิ่ม กินให้มันไม่หิว ตอนต้นนี้หิว ถ้ากินมื้อเดียวนี่จะรู้สึก ถึงเวลาที่จะกินนี่มันหิว พอกินไปสักระยะหนึ่งความหิวมันหายไปแต่ความอิ่มยังไม่มา ตอนนั้นแหละควรจะหยุดแล้วอย่ากินต่อไป อย่ากินจนกระทั่งมันอิ่ม มันจะกินมากไป กินพอให้มันไม่หิวแล้วก็ดื่มน้ำตามเข้าไป ดื่มน้ำสักแก้วสองแก้วทีนี้อิ่มแล้ว ถ้าอิ่มน้ำนี่มันอิ่มไม่นาน อิ่มเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวมันก็หาย แล้วมันก็จะทำให้ไม่ง่วงนอน มันก็จะทำให้มีกำลังที่จะไปปฏิบัติ ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิต่อได้ นี่คือความมักน้อยในเรื่องของปัจจัย ๔ หรือความสันโดษคือยินดีตามมีตามเกิด ถ้าไม่ได้ตามความมักน้อย ก็ได้น้อยกว่าก็ให้ยินดีไปตามมีตามเกิด บางวันอาจจะกินได้แค่ครึ่งหนึ่ง เป็นพระนี่บิณฑบาตไม่แน่ บางวันก็ได้อาหารมากบางวันก็ได้อาหารน้อย  บางวันก็ยินดีตามมีตามเกิดไปอย่าไปวุ่นวายกับมันมากจนเกินไป ร่างกายมันไม่ตายจากการขาดอาหารมื้อเดียวหรอก เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็มีมากก็กินเผื่อมันก็ได้ กินทดแทนก็ได้ ชดเชย ตราบใดที่ทำให้ร่างกายมันอยู่ได้ก็ใช้ได้แล้ว แล้วมันจะได้ไม่มาเป็นเรื่องที่ให้เราต้องคอยมากังวลมาวุ่นวายกับการหาปัจจัย ๔ อยู่แบบเรียบง่ายอยู่แบบตามมีตามเกิดนี้สบาย จะได้มีเวลามาทำใจให้สงบให้สบายมากยิ่งขึ้น ถ้าใจไปวุ่นวายกับการหาปัจจัย ๔ นี่มันจะไม่มีกระจิตกะใจมานั่งสมาธิทำใจให้สงบมัวแต่วิตกกังวลกับปัจจัย ๔ ว่าจะพอหรือไม่จะดีหรือไม่ งั้นต้องใช้ความมักน้อยแล้วจะแก้ปัญหาอุปสรรคที่ขวางกั้นการบำเพ็ญได้ ต้องพยายามมีความมักน้อยหรือมีความสันโดษอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าได้น้อยกว่าก็ต้องสันโดษยินดีไปตามที่ได้มา ควรจะได้ ๒ จานแต่ได้จานเดียวก็กินมันแค่จานเดียวไป คิดว่าวันนี้กินน้อยหน่อยไม่ตายก็แล้วกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยกินใหม่

นี่คือเรื่องของความมักน้อยสันโดษที่จะทำให้จิตใจไม่ต้องมาวุ่นวายกับการเลี้ยงดูร่างกายมากจนเกินไป เพราะร่างกายนี้ถึงแม้จะเลี้ยงดูมันดีขนาดไหนมันก็จบลงที่เดียวแหละนะ มันก็จบลงที่ความแก่ความเจ็บความตายเหมือนกัน เลี้ยงดูแบบพระเจ้าแผ่นดินเลี้ยงดูแบบขอทานมันก็ไปจบที่เดียวกัน มันก็ไปแก่ไปเจ็บไปตายเหมือนกัน แต่เลี้ยงดูแบบพระเจ้าแผ่นดินนี่มันวุ่นวายไหม ต้องมีคนมาบริการ มีเครื่องใช้ไม้สอยอะไรเยอะแยะไปหมดกว่าจะกินสักมื้อหนึ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่โต ถ้ากินแบบขอทานนี่แหมมันง่ายเหลือเกิน มีอะไรใส่เข้าไปในกะลามันก็กินกันแล้ว แล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน มันก็ทำให้ร่างกายหายหิวเหมือนกัน แก้ปัญหาได้เหมือนกัน แต่แก้แบบวุ่นวายหรือแก้แบบไม่วุ่นวาย ไม่ยุ่งยากเท่านั้นเอง ถ้ากินแบบเศรษฐีกินแบบผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจก็จะกินแบบยุ่งยาก ต้องเลือกที่กินต้องเลือกโต๊ะนั่ง เลือกคนเสริฟอะไรต่างๆ เต็มไปหมด เลือกอาหารอีก กว่าจะได้กินก็ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวอีก กว่าจะได้กินทีเหนื่อย สู้กินแบบขอทานดีกว่าง่ายดี

นี่พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พระอยู่แบบขอทาน แต่เพียงแต่เป็นขอทานที่มีศีล ขอทานที่มีมารยาท ไม่กินแบบมูมมาม เวลากินนี่ห้ามกินแบบส่งเสียงดังจุ๊บจั๊บกรุ๊บกรั๊บอะไรนี่ บังคับให้กินแบบสำรวม ให้กินแบบสวยงาม พระนี่ถึงแม้จะกินแบบขอทานแต่กินแบบสวยงาม กินในบาตรไม่ต้องใช้ช้อน ใช้มือนี่กินแบบขอทาน แต่กินด้วยความเรียบร้อย ไม่กินด้วยความมูมมาม ไม่ส่งเสียงดังกรุ๊บกรั๊บจิ๊บเจิ๊บอะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่คือลักษณะของการกินแบบเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก

บิณฑบาตกลับมาจัดอาหารใส่บาตร ปุ๊บปั๊บฉันกันครึ่งชั่วโมงชั่วโมงก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เก็บกวาดล้างบาตร ล้างบาตรเสร็จก็หมดเรื่องกินไปแล้ววันนั้น ไปเดินจงกรมไปบำเพ็ญความเพียรต่อไปได้ ถ้ามัวแต่ยุ่งกับเรื่องการกินนี่ ยิ่งมีจานมากถ้วยมากช้อนมากเดี๋ยวก็ต้องมานั่งล้างกันอีก ถ้าไม่นั่งล้างก็ต้องไปจ้างคนมาล้างให้ จ้างคนมาล้างก็ต้องมีเงินจ่ายเขาอีก ก็ต้องไปหาเงินมาจ่ายเขาอีก มันก็ต้องหนีไม่พ้นเรื่องการทำนู่นทำนี่ ไม่ล้างจานเองก็ต้องไปหาเงินมาจ้างคนให้เขามาล้างให้เราอยู่ดี แต่ถ้ากินแบบง่ายๆ ฉันในบาตรกินมื้อเดียวนี้ เวลาล้างจานก็มีบาตรใบเดียว ช้อนก็ไม่มีช้อนก็ใช้มือ นี่แหละความเรียบง่ายของการบริโภคปัจจัย ๔ ของพระพุทธเจ้าที่ทรงได้ปฏิบัติ แล้วก็ทรงเอามาสอนพระภิกษุที่มาบวชให้อยู่แบบเรียบง่ายจะได้ไม่มาสร้างปัญหาไม่มาสร้างอุปสรรคที่จะมากีดขวางการบำเพ็ญนั่นเอง กินมากก็จะทำให้ง่วง กินแบบยุ่งยากก็ต้องเสียเวลา กินแบบง่ายๆ มันไม่เสียเวลา กินปุ๊บล้างเสร็จก็หมดปัญหาไปไม่ต้องไปจ้างคนมาล้างบาตร ไม่ต้องจ้างคนมาตั้งโต๊ะมาจัดโต๊ะอะไรให้ ทำเองทุกอย่าง นี่กินแบบขอทานกินแบบนี้ ไม่ต้องไปจ้างใคร ถ้ากินแบบคนรวยนี่ต้องมีคนรับใช้ มีคนมาจัดโต๊ะมีคนมาเสริฟมีคนมาล้างถ้วยล้างชาม ก็ต้องมีเงินจ่ายเขา มีเงินเลี้ยงดูเขาก็ต้องไปหาเงินมาเลี้ยงดูเขาอีก เลี้ยงดูตนเองแล้วยังไม่พอแล้วยังต้องไปเลี้ยงดูคนอื่นอีก หาเหามาใส่หัวโดยไม่รู้สึกตัวเพราะความอยากจะหรูหราอยากจะโก้เก๋อยากจะสุขอยากจะสบาย สบายตอนกินแต่ตอนมาจ่ายมันไม่สบาย มันก็ต้องไปดิ้นรนหาเงินหาทองมาจ่ายเขา

นี่คือตัวอย่างของความมักน้อยสันโดษถ้าเราอยากจะสัมผัสกับรสแห่งธรรม พยายามทำงานเกี่ยวกับเรื่องร่างกายให้มันน้อยที่สุดเพราะว่าเราจะได้เอาเวลามาสร้างรสแห่งธรรมกันนั่นเอง ถ้าเรามัวแต่เอาเวลาไปเลี้ยงดูร่างกายเวลาที่จะเอามาสร้างรสแห่งธรรมก็จะมีเหลือน้อยแล้วก็จะได้นิดเดียว แทนที่จะได้เป็นตุ่มก็ได้แค่ขันสองขันเท่านั้นเอง ถ้าเรายังไปกังวลยังไปวุ่นวายไปยุ่งยากกับการกินอยู่ทางร่างกายกันอยู่ พระพุทธเจ้าเลยต้องสอนให้เรามักน้อยสันโดษในเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ แล้วก็ทรงสอนให้เราหาที่อยู่ที่สงบที่ห่างไกลจากแสงสีเสียงต่างๆ เพราะแสงสีเสียงนี้มีอิทธิพลต่อจิตใจของเรา จะสร้างกามฉันทะให้เกิดเวลาได้ยินเสียงเพลงนี้อยากจะร้องรำทำเพลงขึ้นมา เวลาได้ยินเสียงภาพยนตร์ก็อยากจะดู งั้นต้องพยายามไปอยู่ที่ไกลๆ ที่ไม่มีมหรสพบันเทิงต่างๆ มายั่วยวนกวนใจ ต้องไปอยู่ตามป่าตามเขาที่มีแต่เสียงนกเสียงลมพัดไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อจิตใจ รูปก็ไม่เป็นพิษ รูปก็มีแต่รูปต้นไม้รูปของสัตว์เล็กสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ ไม่เป็นอันตรายไม่มารบกวนใจเหมือนกับรูปของคนแต่งตัวสวยๆ งามๆ เห็นแล้วจะทำให้เกิดกามารมณ์ขึ้นมา เกิดกามฉันทะขึ้นมา พอเกิดกามารมณ์แล้วไม่มีกำลังใจที่จะไปพุทโธ ไม่มีกำลังใจที่จะไปนั่งสมาธิแล้ว ใจมันจะฝันมันจะนึกถึงภาพเหล่านั้น แล้วก็มาปรุงแต่งอยู่ในใจนั่นแหละ นี่ทำไมถึงต้องไปปลีกวิเวกเพื่อที่จะได้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย สำรวมอินทรีย์ เพราะถ้าไม่สำรวมถ้าปล่อยให้รูปเสียงกลิ่นรสเข้ามา มันจะมาสร้างนิวรณ์คือกามฉันทะขึ้นมา สร้างความฟุ้งซ่านขึ้นมาในใจนั่นเอง แล้วจะทำให้ภาวนาไม่ได้ พุทโธไม่ได้เพราะใจถูกกามฉันทะครอบงำเสียแล้ว แต่ถ้าอยู่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ กามฉันทะก็จะไม่เกิด ใจก็จะไม่มีอารมณ์มาครอบงำ ใจก็จะสามารถเจริญสติได้อย่างง่ายดาย พุทโธไปควบคุมความคิดปรุงแต่งเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมาคอยควบคุมรูปเสียงกลิ่นรสที่เข้ามาด้วย นี่เรามีข้าศึกศัตรูเข้ามาถึง ๖ ทางด้วยกัน เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วเข้ามาทางใจผ่านทางความนึกคิดอีกอันหนึ่ง ถ้าเราปิดทั้ง ๕ ทางก็เหลือแค่ทางเดียว ถ้าเราปิดตาหูจมูกลิ้นกายด้วยการไปปลีกวิเวก ด้วยการไปอยู่ที่ไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็เข้ามาในใจไม่ได้ ก็เหลืออยู่ตัวเดียวที่ยังมาทำให้ใจไม่สงบก็คือความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็เรากำจัดข้าศึกศัตรูไป ๕ ตัวแล้ว เหลือตัวเดียวสู้ ๑ ต่อ ๑ มันง่ายกว่า ๑ ต่อ ๖ ถ้ามันมาทั้ง ๖ นี่ แหมไม่รู้จะสู้มันยังไง เดี๋ยวก็มาทางเสียง เดี๋ยวก็มาทางรูปเดี๋ยวก็มาทางกลิ่น แต่นี่มาทางเดียวมาทางความคิดเราก็ใช้สติสู้กับมัน ใช้กัมมัฏฐานเจริญพุทโธสู้กับมันได้ นี่คือประโยชน์ของการไปปลีกวิเวก


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน