[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 22 เมษายน 2564 19:05:02



หัวข้อ: ทำจิตให้สงบก่อน : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จ.ชลบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 เมษายน 2564 19:05:02
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/27865871373149_173410851_3884411781596744_735.jpg)

ทำจิตให้สงบก่อน

หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตาตอนที่หลวงตาไปอยู่กับท่านใหม่ๆ ว่าท่านเป็นถึงมหา มีความรู้ด้านปริยัติมาก แต่ความรู้ทางปริยัติในตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับจิตใจ ขอให้ยกตั้งไว้บนหิ้งก่อน อย่าไปสนใจกับความรู้ที่ได้เรียนมา เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสได้ สิ่งที่ต้องทำในเบื้องต้นนี้ก็คือทำจิตให้สงบก่อน พอจิตสงบแล้วความรู้ที่ได้เรียนมาจะปราบกิเลสได้ แต่ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ ที่จะหยุดกิเลส เพราะสมาธิก็คือการหยุดจิต เวลาทำจิตให้นิ่งกิเลสก็นิ่งตามไปด้วย ถ้าไม่มีกำลังที่จะหยุดจิต เวลากิเลสแสดงอาการออกมา ก็จะหยุดมันไม่ได้ ถ้าหยุดจิตได้ก็จะหยุดกิเลสได้ แต่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส ตอนนั้นต้องอาศัยปริยัติธรรมที่ได้เรียนมาช่วยแยกแยะให้ ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส หลวงตาจึงพยายามเจริญสมาธิทำจิตให้สงบก่อน ท่านจะใช้พุทโธบริกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ก็จะบริกรรมพุทโธๆ ไป ไม่ปล่อยให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย ถ้าปล่อยให้คิดแล้วจะมีเรื่องให้คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วจิตจะไม่สงบ จะมีอารมณ์ต่างๆตามมา แต่ถ้าคิดอยู่กับพุทโธๆ อย่างเดียว จิตจะค่อยๆ สงบลงไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะรวมลงได้ จิตก็จะนิ่งสงบเย็นสบาย จากนั้นก็จะรู้วิธีที่จะหยุดกิเลส อาศัยกำลังของสมาธิเป็นตัวหยุด อาศัยปัญญาเป็นตัวตัด

สมาธิหยุดกิเลสได้แต่ฆ่ากิเลสให้ตายไม่ได้ เพราะกิเลสเกิดจากความหลง ความเข้าใจผิด มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ จะฆ่ากิเลสให้ตายต้องใช้สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ความหลงคือเห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน นี่คือความหลง เช่นปุถุชนอย่างพวกเรานี้ จะเห็นว่าร่างกายนี้เที่ยง จะอยู่กับเราไปตลอด อยู่กับเราไปนานๆ ให้ความสุขกับเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้ก็จะเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดตัณหาความอยาก อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ มีใครบ้างที่ปฏิเสธว่าไม่มีความอยากนี้ ทุกคนอยากจะให้ร่างกายอยู่ไปนานๆทั้งนั้น ให้สาวให้หนุ่มไปนานๆ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ทั้งๆที่รู้ว่าร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่เป็นความรู้ทางด้านปริยัติ เป็นความรู้ทางด้านสัญญา เป็นความจำ แต่ลึกๆใจยังไม่ยอมรับ ยังอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายอยู่ เพราะมีความหลงคอยปลุกความอยากนี้อยู่ เพราะเราใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาความสุขต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ใช้ตาไว้ดูรูป ใช้หูไว้ฟังเสียง ถ้าเกิดหูหนวกตาบอดขึ้นมา ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานใจมาก เพราะจะไม่สามารถมองเห็นรูปต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆได้ เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ เพราะไม่รู้ว่ามีความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ คือความสุขภายในใจ จึงทำให้เรามีความทุกข์มีปัญหาต่างๆมากมาย เพราะไม่เห็นตามความจริง ต้องใช้ปัญญามาแก้มาตัดกิเลสอย่างถาวร

ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่สวยงามเลย มีอาการ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนัง มีเนื้อมีเอ็นมีกระดูกเป็นต้น พิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนปรากฏเป็นความรู้อย่างต่อเนื่อง เวลาเห็นร่างกายทีไรก็จะเห็นทุกสัดทุกส่วน ไม่เห็นแต่เฉพาะผิวหนัง ไม่เห็นแต่เฉพาะผมขนเล็บฟัน แต่จะเห็นทุกอาการที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ได้เป็นหนุ่มเป็นสาวไปตลอด ต้องแก่ หนังเหี่ยวย่น ผมขาว ต้องกลายเป็นซากศพไป นี่คือปัญญา นี่คือความจริง ปัญญาก็คือความจริงนั่นเอง วิปัสสนาคือรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริง รู้ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง รู้ว่าร่างกายเป็นทุกข์ รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ได้สวยงาม สวยก็สวยชั่วคราว เหมือนกับดอกไม้สดที่ตัดมาบูชาพระ เวลาปักไว้ในแจกันใหม่ๆก็ดูสวยงามดี พอทิ้งไว้สักอาทิตย์หนึ่งก็กลายเป็นของไม่สวยงามไปแล้ว เช่นดอกบัวนี่ จากสีเขียวก็กลายเป็นสีน้ำตาลสีดำไป ร่างกายของคนเราก็เป็นอย่างนั้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนดอกไม้สด แต่พอตายไปก็เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง ลองไปดูคนตายดู ถ้าไม่ได้ฉีดยาปล่อยให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติก็จะไม่น่าดู นี่คือสิ่งที่เราต้องสอนใจ เพื่อจะได้ไปทำลายภาพลวงภาพหลอนที่ใจมีอยู่กับร่างกาย ที่มักจะมองร่างกายว่าสวยงามน่าดู แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปตลอด เมื่อถึงเวลาก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อุปาทานที่ยึดว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา จะอยู่กับเราไปตลอด ก็จะถูกทำลายไป

พอเห็นว่าร่างกายไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ก็จะปล่อยวางอุปาทาน จะไม่ยึดติด ไม่พึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือในการหาความสุขต่อไป ทั้งร่างกายของเราเอง และร่างกายของผู้อื่น เช่นคู่ครองของเรา พอปล่อยวางได้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะไม่เป็นปัญหา จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ของคู่ครองของเราก็ดี ของคนที่เราเคารพรักก็ดี ก็เป็นเหมือนกันหมด เห็นตามสภาพตามความเป็นจริงแล้ว จิตก็จะไม่ยึดติดกับร่างกายทั้งหมด เห็นว่าเป็นเหมือนกันหมด เกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เวลาร่างกายเปลี่ยนไปหรือเป็นอะไรไป ก็จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ เพราะปัญญาได้กำจัดกิเลสต่างๆหมดไปจากใจแล้ว ไม่มีกิเลสมาทิ่มแทงใจ ไม่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์แต่อย่างใด รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนฝนตกแดดออก เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก เวลาพระอาทิตย์ขึ้นเราก็ไม่ได้ดีใจ พระอาทิตย์ตกเราก็ไม่ได้เสียใจ คนเกิดเราก็ไม่ดีใจ คนตายเราก็ไม่เสียใจ ถือเป็นเรื่องธรรมดาของดินน้ำลมไฟ นี่คือปัญญาที่เราใช้ในการทำลายกิเลสคือความหลง พอไม่มีความหลงแล้ว ก็จะไม่มีความโลภความอยาก เพราะรู้ว่าอยากกับสิ่งที่จะทำให้เจ็บช้ำใจ จะอยากไปทำไม ได้มาแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องจากไป ขณะที่ยังไม่จากไปก็สร้างความกังวลให้กับเรา ต้องห่วงต้องกังวล เวลาเรารักอะไร เราก็อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ ไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเห็นเป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ เราก็จะไม่ไปหาสิ่งเหล่านั้น เพราะเห็นว่ามีความสุขอีกอย่างที่ดีกว่าอยู่ภายในใจ คือความสุขที่เกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่ดีที่เลิศที่สุด ที่เกิดจากการกำจัดกิเลสโลภโกรธหลง จนหมดไปจากจิตจากใจ


กำลังใจ ๔๐, กัณฑ์ที่ ๓๘๒       
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี