หัวข้อ: พระสาธุศีลสังวร (สีลรัตน) : เจ้าคุณลังกา เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2564 16:57:04 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48847163385815_177988137_1028150650925972_711.jpg) พระสาธุศีลสังวร (สีลรัตน) พระสาธุศีลสังวร (สีลรัตน) เกิดในตระกูลคฤหบดีผู้มั่งคั่งที่ตำบลมาตเล เมืองกัณฐิ (แกนดี้) ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ท่านมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บรรพชาเป็นสามเณรมาตั้งแต่ยังเยาว์ ที่ปาหกมหาวิหาร ตำบลมาตเล ตอนเวลาบวชเป็นสามเณรได้ศึกษาอักขรสมัย และพระปริยัติธรรม ที่วิทโยทยมหาวิทยาลัย (Vidyodaya Maha Pirivena) ในประเทศศรีลังกา จนเรียนจบพระไตรปิฎก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้อุปสมบทในคณะสงฆ์ฝ่ายอุบาลีวงศ์ ณ วัดวิทโยทย กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๑ มีพระสิริมังคละเป็นพระอุปัชฌายะ พระรตนปาละเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปิยทัสสีเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ภายหลังได้ไปศึกษาพระอภิธรรมปิฎกกับท่านศรีวชิรญาณ มหานายกเถระ สมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายอุบาลีวงศ์ (Siri Vajiranana Mahanayakathera) แห่งวัดวชิราราม (Vajiraram) ต่อมาได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในประเทศพม่าอีกหลายปี ท่านเป็นผู้ที่มีวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าจนสามารถศึกษาจนแตกฉานในอักขรสมัยอันเป็นทั้งในภาษาสิงหล อันเป็นส่วนพื้นเมืองแล้ว ยังเชี่ยวชาญในภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ ภาษาพม่า และภาษาไทย ด้วยความแตกฉานทางพระพุทธศาสนา ทำให้ท่านเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมณทูตเข้ามาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ หรือเมืองปิปราห์วา พร้อมด้วยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ราวปี พ.ศ.๒๔๔๒ จนเป็นที่คุ้นเคยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ตั้งแต่นั้นมา ด้วยความเป็นผู้พอใจในการจาริกไปในประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย ไทย กัมพูชา ปีนัง สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และอเมริกา ทำให้ท่านได้เห็นภูมิประเทศ ตลอดจนบ้านเมืองของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นได้เดินทางมาหลายครั้ง ในระยะแรกมักมาคราวละ ๒ – ๓ เดือน ต่อมาก็เริ่มมาอยู่คราวละ ๒ – ๓ ปี ตั้งแต่ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ท่านได้เดินทางเข้ามาร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วอยู่ในเมืองไทยเรื่อยมา โดยในพรรษานั้นพำนักอยู่ที่วัดมหาพฤฒาราม จนเมื่อออกพรรษาแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้มาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร นี้ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อมาอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหารนี้ ก็เป็นที่คุ้นเคยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาบาลีเป็นอย่างดี เช่น ได้เคยช่วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ แปลคำประกาศเทวดา และจารึกศิลาที่มีผู้นำมาถวายสมเด็จพระมหาสมณะ นับเป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงทูลขอให้ได้รับพระราชทานพัดเปรียญ ๔ ประโยค ต่อมาในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระสาธุศีลสังวร” ทั้งยังได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๓ และพัดรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๗ ชั้น ๓ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๑ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ที่บำรุงรักษาเสนาสนะตลอดจนพุทธาวาสเป็นอย่างดี ทั้งด้วยปัจจัยส่วนตนและชักนำอุบาสกอุบาสิการ่วมบูรณะพระอาราม โดยเฉพาะในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ ได้มีการบูรณะกุฏิสองชั้น ด้านหน้าพระวิหารพระศาสดาทางทิศตะวันออก โดยทุนของนางลออ หลิมเซ่งท่าย อันเป็นที่อยู่ของพระสาธุศีลสังวร (ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้รื้อลงเพื่อสร้างเป็นศาลาวชิรญาณ ๑๕๐ ปี) มาจนตลอดชีวิต พระสาธุศีลสังวร ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๒ สิริอายุได้ ๗๓ ปี พรรษา ๕๓ ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ หอสหจร วัดบวรนิเวศวิหาร และพระราชทานเพลิง ณ ปะรำวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๒ กราบขอบคุณที่มา : เพจเล่าเรื่อง วัดบวรฯ (ที่มาเรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา ๓ กัณฑ์ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร) |