หัวข้อ: “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ร.6 ทรงขอแยกทาง-บั้นปลายพระชนม์สุดสลด เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 28 สิงหาคม 2564 17:03:55 .
(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/09/ภาพปก-ลักษมีลาวัณ-696x364.jpg) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระนางเธอลักษมีลาวัณ (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์) “พระนางเธอลักษมีลาวัณ” ร.6 ทรงขอแยกทาง-บั้นปลายพระชนม์สุดสลด ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2545 ผู้เขียน - ฉัตรชัย ว่องกสิกรณ์ เผยแพร่ - วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2564 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงครองพระองค์เป็นโสดมานาน ก็ทรงมีพระราชดําริที่จะอภิเษกสมรสเพื่อให้มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ แต่เมื่อทรงคบหาใกล้ชิดกับสตรีผู้สูงศักดิ์นางใดแล้วก็ยังไม่ทรงพอพระราชหฤทัย บางครั้งทรงหมั้นหมายประกาศให้ประชาชนรับรู้แล้วก็ทรงถอนหมั้นเสียโดยทรงให้เหตุผลว่า “ไม่สบพระอัธยาศัยบางประการ” ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัย ในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และหม่อมหลวงตาด ประสูติเมื่อปีกุน วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2442 และถือว่าเป็นพระนัดดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเชื้อสายขัตติยราชโดยตรงทั้งสายพระบิดา และพระมารดา โดยเฉพาะท่านย่าคือ เจ้าจอมมารดาเขียนนั้นเป็นศิลปินด้านนาฏศิลป์ที่มีชื่อท่านหนึ่ง สาเหตุที่ทรงเกิดความสนพระทัยในหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล เพราะพระบิดาในหม่อมเจ้าหญิงเป็นเจ้าของละครคณะ “ปรีดาลัย” ซึ่งมีชื่อเสียงด้านละครร้องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหม่อมเจ้าหญิงเองก็เป็นตัวละครของพระบิดา จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสชักชวนให้ไปแสดงละครในวังร่วมกับพระองค์ นับว่าเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด ละครสังคีตบทพระราชนิพนธ์ เช่น เรื่องกุศโลบาย วิวาหพระสมุทร ซึ่งต้องพระอุปนิสัยในรัชกาลที่ 6 อย่างยิ่ง เพราะโปรดการละครเหมือนกัน นอกจากนั้นหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังทรงศึกษาวิชาอักษรศาสตร์จากวรรณคดีไทย และงานนิพนธ์ ของพระบิดาอย่างแตกฉาน จนสามารถพระนิพนธ์โคลงกลอนได้เฉียบขาดเจริญรอยตามพระบิดาตรงกับพระอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดงานกวีนิพนธ์เช่นเดียวกัน นับว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกันที่สุดตรงกับคํากล่าวที่ว่า “คุยกันรู้เรื่อง” ไม่เพียงเท่านั้น หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลยังมีรูปโฉมงดงามสมกับที่รับบทนางเอกละครในราชสํานักเป็นที่ ต้องตาต้องใจของผู้ชมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมทั้งลายพระราชหัตถเลขาว่า “ให้แม่ติ๋วพร้อมด้วยดวงจิต และขอฝากชีวิตและความสุขไว้ด้วย” หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลได้พระนิพนธ์บทกลอนทูลสนองตอบดังนี้ อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้ หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด ขอถวายไม่คิดขัดจํานง อะไรเป็นความสราญวานรับสั่ง จะถวายได้ดังพระประสงค์ ขอเพียงแต่ทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย การถวายบทกลอนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นนี้ทําให้ทรงเพิ่มความรักต่อหม่อมเจ้าหญิงเป็น อย่างยิ่ง เพราะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสตรีเจ้าบทเจ้ากลอนซึ่งหามิได้ง่ายนัก พระราชทานนามใหม่ และสถาปนาอิสริยยศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามหม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมลให้ใหม่เป็น หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ต่อมาได้สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ และครั้งสุดท้าย สถาปนาอิสริยยศเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ประทับยืนคู่คล้องพระกรในฐานะมเหสีพร้อมทั้งทรงจารึกใต้ภาพว่า “ให้แม่ติ๋วยอดชีวิตของโตด้วยความรักยิ่งกว่าสิ่งใดในโลก เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่ได้ชื่นใจมากที่สุดครั้งแรกในชีวิต ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2463” สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศว่าขอมีชายาแต่เพียงผู้เดียวตามแบบอย่างวิถีชีวิตของชาวตะวันตก บทกลอนพระราชทานประทับใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนที่แสดงถึงความรักอันสุดซึ้งเป็นจํานวนมาก พระราชทานแด่มเหสีดังเช่น นั่งคํานึงถึงน้องผู้ต้องจิต แม่มิ่งมิตรยอดรักลักษมี ความรักรุกทุกทิวาและราตรี บได้มีสร่างรักสักเวลา ในกลางวันสุริยันแจ่มกระจ่าง เห็นหน้าน้องฟ่องกลางหว่างเวหา ยามราตรีพี่พินิจพิศนภา ก็เห็นหน้าโฉมตรูอยู่แทนจันทร์ อันตัวหล่อนกล่าวกลอนฝากชีวาตม์ ฉันรับฝากใจสวาทไว้แม่นมั่น ขอถนอมดวงจิตสนิทกัน ด้วยชีวันยอมสละแลกหทัย ถึงตัวไปใจอยู่เป็นคู่ชม ร่วมภิรมย์รักชิดพิสมัย ถึงร่างกายวายวับดับชีพไป ขอฝากใจจอดจู่อยู่แทนเอย สิ้นสุดวันหวานอันแสนสั้น ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงครองรักกับพระนางเธอลักษมีลาวัณครบรอบปี แล้ว แต่พระนางเธอฯ ก็หาได้ทรงครรภ์ให้กําเนิดรัชทายาทไม่ ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศต่างเฝ้ารอชม พระโอรสองค์น้อยอย่างใจจดใจจ่อ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสขอแยกทางดําเนินชีวิตกับพระนาง เธอฯ โดยจะทรงอภิเษกสมรสกับสตรีคนใหม่เพื่อทรงหวังให้กําเนิดรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานตําหนัก เครื่องเพชร เงินบํานาญ เพื่อให้พระนางเธอฯ ดํารงพระชนมชีพอย่างมิต้องเดือดร้อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสตรีท่านต่อมาและจัดงานอภิเษกสมรสตามแบบอย่างของชาวตะวันตกอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 3 ครั้ง เพราะสตรีที่ทรงอภิเษกสมรสด้วยหาได้มีประสูติ กาลองค์รัชทายาทไม่ นับตั้งแต่พระสุจริตสุดา สนมเอก มิได้ทรงครรภ์เลย ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายานั้นทรงครรภ์แต่ก็ตกเสีย คงมีเพียงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มเหสีองค์สุดท้ายทรงครรภ์ใกล้มีประสูติกาลแต่ก็เป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกําลังประชวรหนัก และพระมเหสีได้มีประสูติกาลเป็นพระราชธิดาคือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว นับเป็นการสิ้นสุดรัชทายาทเชื้อสายในพระองค์แต่เพียงนั้น หนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลําพังต่อมา โดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์นวนิยายไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องยั่วรัก ชีวิตหวาม เสื่อมเสียงสาป รักที่ถูกรังแก โชคเชื่อมชีวิต เรือนใจที่ไร้ค่า ภัยรักของฉันจลา โดยใช้นามปากกาว่า “ปัทมะ” ส่วนบทละครที่นิพนธ์ไว้เช่นเรื่อง เบอร์หก หาเหตุหึง ปรีดาลัย ออนพาเหรด ใช้นามปากกาว่า “วรรณพิมล” พระนางเธอฯ ทรงตระหนักแน่แท้แล้วว่าหนังสือคือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ ดังคําโคลงที่ทรงนิพนธ์ว่า เขียนกลอนพออ่านได้ ดับเข็ญ อันปากกาย่อมเป็น เพื่อนแท้ แทนฉายส่ายสอดเห็น กระจ่าง สุขทุกข์ปลุกปลอบแก้ กล่าวค้านเตือนกัน ตั้งคณะละคร สืบสานศิลปะการแสดง ด้วยพระทัยรักในศิลปะการแสดงมาก่อนเก่า จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยสืบสานจากพระบิดา โดยจัดเป็นละครร้องมีทํานองทั้งเพลงไทยและเพลงสากล มีระบําเบิกโรงก่อนแสดงละครเรื่อง วงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่บรรเลง เป็นเพลงแบบโอเปร่าตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงที่ ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนคร โรงมหรสพนาครเขษม นอกจากนั้นยังจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทรงยุบเลิกคณะละครเพราะพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา (https://variety.teenee.com/world/img8/246492.jpg) พระนางเธอลักษมีลาวัณ (พระนามเดิม หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) |