หัวข้อ: พระเทพสุทธิโมลี (เสงี่ยม จิณฺณาจาโร ป.ธ.๖) วัดบวรนิเวศวิหาร เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 กันยายน 2564 19:55:15 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/26936479575104_240425501_1210191112829900_477.jpg) พระเทพสุทธิโมลี (เสงี่ยม จิณฺณาจาโร ป.ธ.๖) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร พระเทพสุทธิโมลี มีนามเดิมว่า เสงี่ยม นามสกุล สารทะประพันธ์ เป็นบุตรของนายสารท และนางกี๋ สารทะประพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๙ ที่บ้านตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ ได้เข้าเรียนอักขรสมัยในสำนักของพระอาจารย์เณร ปีต่อมาจึงได้เข้าศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งอยู่ในความอุปการะของพระครูครุนาถสมาจาร (แสง) เจ้าอาวาสวัดจันทนาราม และสอบไล่ได้ชั้นมัธยม (คือชั้นประถม ๔) เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดจันทนาราม โดยมีพระครูครุนาถสมาจาร (แสง) เป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อบรรพชาแล้วจึงได้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ ต่อมาโรงเรียนที่วัดจันทนารามได้เลิกไป พระครูครุนาถสมาจาร (แสง) จึงได้ส่งเข้ามาถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนักของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมกับพระอีก ๒ รูป ครั้งนั้นได้พำนักอยู่ที่คณะแดง (ปัจจุบันคือ คณะแดงบวร) และได้อยู่ศึกษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยในปี พ.ศ.๒๔๕๖ สอบได้องค์สามเณรรู้ธรรม ประกอบด้วยรายวิชา ธรรมวิภาค และเรียงความแก้กระทู้ธรรม ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ จึงสอบได้ในรายวิชาพุทธประวัติ ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ สอบได้ในรายวิชาวินัยบัญญัติ จึงเป็นอันสอบได้ในระดับนักธรรมชั้นตรี ในปีเดียวกันนั้นยังสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค จนในปี พ.ศ.๒๔๕๙ จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ในครั้งนั้นได้รับพระราชทานให้อยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นพระอุปัชฌายะ ได้รับสมณฉายาว่า “จิณฺณาจาโร” เมื่อเป็นพระนวกะแล้วก็ยังเข้าสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ และสอบได้เปรียญ ๖ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ ในครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสโปรดให้รวมวัดรังษีสุทธาวาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ แล้วสร้างเป็นคณะรังษีแล้วเสร็จ จึงโปรดให้พระเทพสุทธิโมลีย้ายมาพำนักอยู่ที่คณะรังษี ดังปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จมาหาที่กุฏิเมื่อครั้งท่านยังเป็นพระมหาเปรียญ ดังปรากฏความในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ความตอนหนึ่งว่า “...เพราะเหตุใดเมื่อสร้างปราสาทเปนตึกแล้วจึงไม่สร้างพระราชมณเฑียรที่ประทับเปนตึก วิสัชนาข้อนี้หม่อมฉันมาประจักษ์ใจเมื่อไม่ช้านัก วันหนี่งหม่อมฉันมีกิจไปหาพระอมรโมลีเมื่อยังเปนเปรียญอยู่วัดบวรนิเวศนฯ เธอย้ายไปอยู่กุฎิฝากระดานที่คณะรังษี หม่อมฉันถามขึ้นว่ากุฎิฝากระดานกับกุฎิตึกที่คณะแดงวัดบวรนิเวศนฯ รู้สึกผิดกันอย่างไรบ้าง เธอบอกว่าอยู่กุฏิฝากระดานสบายกว่าอยู่กุฏิตึก เพราะกุฏิตึกชักร้อนอึดอัดและมักชื้นด้วย แต่กุฏิฝากระดานมีทางลมเดินได้สดวกสบายดี หม่อมฉันก็นึกในขณะนั้นว่าคนโบราณคงรู้สึกว่าอยู่เรือนไม้สบายกว่า จึงไม่สร้างพระราชมณเฑียรเปนตึก...” ในระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ก็ได้ช่วยเหลือกิจการงานวัดต่างๆ นับแต่ยังศึกษาอยู่ก็ได้เป็นเลขานุการในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมายังได้ช่วยงานของวัดเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนของวัด จนในภายหลังได้เป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนของวัด เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และเป็นกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร โดยในปี พ.ศ.๒๔๗๑ จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรโมลี พ.ศ.๒๔๘๒ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ โปรดให้ไปครองวัดจันทนาราม จังหวัดจันทบุรี และเป็นเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี-ระยอง-ตราด (ธรรมยุต) พ.ศ.๒๔๙๕ จึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม พ.ศ.๒๕๐๐ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุทธิโมลี สืบมาจนมรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๒ สิริอายุได้ ๗๓ ปี ขอขอบคุณที่มา : เล่าเรื่องวัดบวรฯ (เรื่องโดย ศรันย์ ม.) |