หัวข้อ: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: 時々๛कभी कभी๛ ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:09:13 (http://image.ohozaa.com/i/5d0/dpCtP.jpg) มีภาพยนต์ฝรั่งอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ปู่ได้ดูแล้วชอบมาก เป็นจินตนาการถึงโลกในอนาคต เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร มนุษย์ได้ทำลายแหล่งพลังงานของเครื่องจักร ซึ่งมาจากแสงอาทิตย์ โดยทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมไปทั่วโลกจนมืดมิด เป็นเหตุให้โลกเย็นลง มนุษย์ต้องหนีลึกลงไปใกล้แกนโลก เพื่อให้เกิดความอบอุ่น เครื่องจักรแก้ปัญหานี้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากตัวมนุษย์ ได้นำทารกไปเลี้ยงในหลอดแก้ว และสร้างโลกเสมือนด้วยโปรแกรมต่าง ๆจากคอมพิวเตอร์ ทำให้มนุษย์เติบโตและอยู่ในฝันเหมือนกับอยู่บนโลกจริง ๆ ความฝันของมนุษย์ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่เครื่องจักร การต่อสู้ยังดำเนินต่อไป และในขณะเดียวกันมนุษย์ได้แอบเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อปลุกคนที่อยู่ในหลอดแก้วให้มาร่วมต่อสู้ด้วย จนในที่สุดพวกเขาได้พบผู้นำทางอยู่ในนั้นด้วย และด้วยความอัจฉริยะ ทำให้เขาเข้าใจโลกเสมือนจริงและเกิดการหยั่งรู้ความจริงที่ซ่อนอยู่ เข้าใจกฎต่างๆทำให้มีพลังเหนือมนุษย์ สามารถต่อสู้กับจารชนชุดดำ ที่ถูกสร้างโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้อย่างสูสีใกล้เคียงกัน จารชนชุดดำพวกนี้มีหน้าที่สืบความลับและทำลายล้างมนุษย์ ซึ่งต่อมาได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนครอบครองโลกในฝัน และเริ่มเป็นอันตรายต่อตัวเครื่องจักรเอง ในขณะนั้นเครื่องจักรได้เจาะอุโมงค์ใต้ดินเข้าโจมตีมนุษย์ รังใต้ดินกำลังถูกทำลาย แต่ก่อนที่จะสายเกินไป ได้มีการเจรจาตกลงสงบศึกระหว่างผู้นำทางและเครื่องจักร ทำให้เกิดความร่วมมือกัน เข้าทำลายจารชนจนหมดสิ้นและทำให้เกิดสันติภาพขึ้นอีกครั้ง ส่วนผู้นำทางพระเอกของเราต้องจบชีวิตลงในการต่อสู้ครั้งนั้น หลังจากที่ได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว หลายคนพูดว่าเนื้อเรื่องคล้ายๆ กับแนวความคิดในพุทธศาสนา ที่บอกว่าทุกอย่างล้วนสมมุติขึ้นมาทั้งสิ้น และถูกควบคุมโดยกฎของธรรมชาติ การเข้าถึงสัจธรรมทำให้เกิดการรู้แจ้ง หลุดพ้นจากพันธนาการ เราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ในภาพยนตร์ มีอยู่ฉากหนึ่งที่ปู่ชอบมาก เป็นฉากของภัตตาคารหรูหรา บนโต๊ะมีอาหารชั้นเลิศ มีชายสองคนนั่งรับประทานอาหาร ชายคนหนึ่งเป็นจารชนชุดดำ และอีกคนเป็นมนุษย์ที่แปรพักตร์ ชายคนนั้นใช้มีดตัดชิ้นเนื้อสเต็กป้อนเข้าปาก ค่อยๆเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากนั้นได้ดื่มไวน์ตาม ได้พูดกับจารชนชุดดำว่า ถึงแม้ว่าฉันจะรู้ว่าเนื้อที่นุ่มหวานชิ้นนี้และไวน์รสเลิศแก้วนี้เป็นเพียงของปลอมไม่มีจริง เป็นเพียงการประมวลผลให้สมองของฉันบอกว่ามันอร่อย แต่ฉันก็พอใจ ฉันยินดีที่จะทำทุกอย่าง เพียงเพื่อกลับเข้าไปนอนในหลอดแก้วและนอนฝันอย่างนั้นตลอดไป แกต้องสัญญาว่าจะทำให้ฉันกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง และเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด มีความสุขที่สุด ถ้าแกตกลงตามที่ฉันขอ ฉันจะนำพวกนั้นมาประเคนให้แก จารชนรับปาก และยิ้มอย่างพึงพอใจ เนื้อความของฉากนี้ ได้สะท้อนความเป็นจริงหลายอย่างออกมาดังต่อไปนี้ ข้อแรก เขายินดีกับความสุขเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นความสุขปลอมๆ ข้อนี้คนทั่วไปเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ข้อที่สอง คนๆ นั้นเป็นคนเห็นแก่ตัว สามารถทรยศหักหลังทุกคน เพียงเพื่อตัวเอง ข้อที่สาม ในด้านชีววิทยา ที่พูดถึงระบบประสาทสัมผัส หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: 時々๛कभी कभी๛ ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:10:46 (http://image.ohozaa.com/i/5d0/dpCtP.jpg) สิ่งหนึ่งที่ปู่ได้พบจากการมองเห็นร่างกายมนุษย์ ความรู้สึกร้อนเย็น หรือกระทั่งความเจ็บปวดนั้นไม่มีจริง เป็นเพียงการประมวลผลจากร่างกายไปยังสมอง และประเมินผลรวมเข้ากับข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้เรารับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ เช่นการรับรส เมื่อเรากินสเต็กชิ้นหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกอร่อยถูกปาก ก็หมายความว่าข้อมูลของเราบอกว่า นี้แหละคือรสชาติที่เราชอบ แต่ถ้าให้ฝรั่งกิน เขาอาจบอกเราว่าไม่ได้เรื่องเลย ตรงนี้คือความจำได้หมายรู้ที่แตกต่างกัน หรือบางคนที่ชอบกินอาหารญี่ปุ่น พอได้ไปกินของต้นตำรับก็อาจบอกว่าอร่อยสู้ที่เมืองไทยไม่ได้ เพราะรสชาตินั้นได้ถูกปรับปรุงให้ถูกลิ้นของคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนความเจ็บปวดก็เช่นกัน เป็นเพียงการส่งสัญญาณการอักเสบ จากบริเวณนั้นไปยังสมองส่วนกลางเพื่อประมวลผล ถ้าอักเสบมากมันจะสั่งให้เรารู้สึกเจ็บปวดมาก กรณีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การปวดฟัน เหงือกและฟันไม่ได้ปวด เป็นเพียงอาการอักเสบ ถ้ามีเพียงเล็กน้อย เราจะรู้สึกเพียงปวดหนึบ ๆ นิดหน่อย อาจมีสาเหตุมาจากมีเศษอาหารติดตรงซอกฟัน เขี่ยทิ้งก็หาย แต่ถ้าจำเป็นต้องถึงขั้นถอนฟัน หมอก็จะฉีดยาชา เพื่อระงับความปวด เป็นการตัดการส่งข้อมูลไปยังสมอง เราจะไม่เจ็บเวลาหมอถอนฟัน จนกว่ายาชานั้นหมดฤทธิ์ การปวดจึงเป็นระบบเตือนภัยอย่างหนึ่งของร่างกาย มนุษย์ชอบตัดสัญญาณนี้ทิ้งโดยการกินยาระงับปวด นอกจากนี้ความเจ็บปวดยังขึ้นกับจิตใจของเรา ถ้ามีความวิตกกังวลมากเกินไป ความเจ็บปวดจะมีมากขึ้นและนานกว่าปกติ มีเรื่องสมมุติอีกหลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรา เช่น เรื่องเงิน ที่เราใช้แลกเปลี่ยนซื้อขาย สมมุติว่าเรามีเงินและเก็บไว้มาก วันหนึ่งเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง เขายกเลิกธนบัตรชนิดที่เรามีและประกาศใช้ธนบัตรแบบใหม่ เงินของเราจะกลายเป็นเศษกระดาษทันที หรือทองคำที่ถือาว่าเป็นสินแร่ที่มีค่าหายาก แต่หากมาวันหนึ่งเกิดค้นพบทองจำนวนมหาศาล กลายเป็นของหาง่าย ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้ ค่าของทองอาจตกลงจนถูกกว่าเหล็กธรรมดาก็ได้ หรือแม้แต่เพชร สมมุติว่าอยู่มาวันหนึ่งเกิดเจอแหล่งเพชรขนาดมหึมา เพชรอาจมีค่าเหมือนก้อนกรวดก้อนหนึ่งก็ได้ เรื่องนี้บางคนบอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็เป็นอย่างนั้นมาแล้ว ยาบางชนิดเช่นยาปฏิชีวนะในสมัยก่อนแพงมาก ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ซื้อที่ไหนก็ได้ แม้แต่เครื่องใช้ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงก็ไม่ต่างกัน ตอนออกสู่ตลาดใหม่ๆราคาแพงมาก คนเบี้ยน้อยได้แต่เมียง ๆ มอง ๆ เดี๋ยวนี้กลับซื้อขายกันถูกมาก บางครั้งกลายเป็นของแถมไปก็มี หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: 時々๛कभी कभी๛ ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:12:06 (http://image.ohozaa.com/i/5d0/dpCtP.jpg) ที่ปู่พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่เราควรรู้ ความทุกข์หลายอย่างมาจากการที่เราไม่รู้สมมุติ ไปยึดมันมากเกินไปจนเป็นทุกข์ เดินหน้าต่อไปไม่ได้ บางคนทุกข์จากความรัก การถูกทอดทิ้ง ถ้าเราคิดอีกมุมหนึ่งว่าคน ๆ นั้นอาจไม่เหมาะกับเรา เลิกคบหากันอาจเป็นเรื่องดี จะได้ไม่มานั่งปวดหัว ทรมานกับสิ่งที่จะตามมาอีกมากมาย อาจเป็นโชคดีของเราก็ได้ เราจะได้ตั้งต้นชีวิตใหม่ต่อไป หรือบางคนเสียใจที่ไม่ได้สิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เราเห็นว่าดี อาจไม่ดีสมกับที่เราหวังไว้ก็ได้ คิดอย่างนี้สบายใจกว่าเยอะเลย ในบางเรื่องเราต้องอดทนรอคอย อย่าใจร้อน เหมือนผลไม้ที่ยังไม่สุก การได้มาก่อนอาจไม่อร่อยเหมือนที่มันสุกเต็มที่ ความพร้อมความพอดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งการใช้อารมณ์หรือเหตุผล มากเกินไป น้อยเกินไป ไม่พอดี ทำให้การมองสิ่งต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป การตัดสินใจอาจผิดพลาดได้ ในทางพุทธศาสนา เราสอนกันว่าทุกอย่างล้วนสมมุติขึ้น นี้ฉัน นี้เธอ นั้นเป็นของเรา ที่เราเรียกว่าสมมติ เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆไม่คงที่ บังคับไม่ได้ เช่น เรามีรถยนต์อยู่คันหนึ่ง เราคิดว่าเป็นของเรา อยู่มาวันหนึ่งเราขายไป เปลี่ยนคันใหม่ รถคันนั้นเปลี่ยนสมมุติเป็นของคนอื่นไปแล้ว หรือรถบางคันไปพบกับอุบัติเหตุพังเสียหายยับเยิน สุดท้ายรถคันหรูที่แสนรักไปอยู่ร้านรับซื้อของเก่า จากนั้นอาจถูกนำไปหลอมใหม่ นำมาทำเป็นกระทะ หม้อ เครื่องใช้สอยที่เราใช้อยู่ก็ได้ แม้แต่ร่างกายของเรา เราบังคับมันไม่ได้ ห้ามมันป่วย ห้ามปวดเมื่อยก็ยังทำไม่ได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ร่างกายต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเรื่องแบบนี้ เราจะไม่ทุกข์มากนัก แม้แต่สมบัติพัสถาน เป็นสมบัติผลัดกันชม ไม่แน่นอน การยึดว่าเป็นของเรา เมื่อต้องเสียไปหรือหายไป ทำให้ใจหายรู้สึกเสียดาย จนใจเป็นทุกข์ หรือในเรื่องหน้าที่การงานก็เช่นกัน บางคนเคยอยู่ในตำแหน่งใหญ่โต เป็นหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ หรือผู้จัดการใหญ่ของบริษัทต่างๆในช่วงที่ยังมีอำนาจ วาสนา มีคนไปมาหาสู่เป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ วันเกิด มีคนนำของขวัญของมีค่ามาให้มากมาย มีคนมายกยอเอาใจ รู้สึกดีใจ ชอบใจ แต่พอหากเกษียณอายุงาน หรือออกจากตำแหน่งนั้นๆ ไปแล้ว เราก็จะไม่มีใครมาหาอีก รู้สึกเสียใจ พอใกล้ถึงวันปีใหม่ หรือวันเกิด ต้องเดินทางออกไปต่างประเทศ เพราะทนรับความโดดเดี่ยวอย่างนั้นไม่ได้ อย่างนี้ทุกข์เพราะไม่รู้สมมุติ แม้แต่เรื่องในครอบครัว ทุกคนล้วนมีกรรมเป็นของตัวเอง เราไม่อาจแทรกแซงได้ บางครั้งเราอาจผิดหวัง ไม่ได้ดั่งใจ เกิดความคับแค้น เสียใจ แต่ถ้าได้ทำหน้าที่ตามสมมุติ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถือว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว ในชีวิตของเราการเข้าถึงสัจธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการู้สมมุติ และรวมถึงการรู้จักการปล่อยวาง เข้าใจความจริงแท้ของโลก ชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งข้างหน้าเราก้าวพ้นความทุกข์ได้อย่างแท้จริงที่เรียกว่านิพพาน http://www.fungdham.com/download/song/allhits/24.wma หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:31:44 อ่านท่อนแรกก็รู้แล้วว่ามันต้องเป็น The Matrix หนังในดวงใจผมแน่ ๆ
(http://www.bloggang.com/data/aston27/picture/1160303325.jpg) ;D ;D ;D ;D ;D หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่คนวิจารณ์เยอะมาก บ้างก็ว่าปรัชญาลึกซึ้ง บ้างก็ว่าแค่ปรัชญาพื้น ๆ ของปี 1 บ้างก็ว่าสองพี่น้องที่คิดขึ้นมา ได้เอาแนวของพุทธมหายานมาใส่รวมไว้ด้วย บ้างก็ว่าหนังเอามารวมกันเยอะเกินไป ผมเลยรวบรวมข้อมูลมาจากหลาย ๆ ที่ นี่เป็นเพียงหนึ่งในการพยายามตีความหนังฮอลลีวู๊ด ที่ได้รับเรื่องบันดาลใจมาจากการ์ตูนญี่ปุ่น นิยายไซไฟ และจินตนาการอันยุ่งเหยิง น่าสนใจแค่ไหน โปรดอ่านและตรึกตรอง ภาพยนต์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งปีและเป็นที่วิพากย์กันในวงกว้างทั้งในสังคมคนดูหนังทุกระดับ และสังคมไซเบอร์ ในยุค ’80 นั้นโลกมีภาพยนต์ซีรี่ส์อย่าง Star Wars ของลูคัสเป็นหนังไซไฟที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมากในช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นยุคสมัยอันร่งเรืองแห่งการแสวงหาเสรีของคนหนุ่มสาว The Matrix อาจจะเป็นสัญลักษณ์ภาพ(icon)แห่งยุคสมัยปัจจุบันในอันที่จะทำให้เราได้ลองคิดหรือสังเกตความเป็นไปในโลกที่ข้อมูลเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต หรือ อาจเป็นเราเองที่ถูกกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าข้อมูลข่าวสาร หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:32:51 ฉาก Neo vs. The Architect
ฉากอันเป็นที่มาของชื่อภาคต่อ…Reloaded และเป็นฉากที่เข้าใจได้ยากที่สุดฉากหนึ่งในเรื่องถ้าคุณดูฉากนี้ครั้งแรกแล้วแทบไม่เข้าใจอะไรเลยก็ไม่ต้องตกใจครับ นั่นแสดงว่าคุณเป็นคนปกติเหมือนคนอีกเป็นล้านทั่วโลก เพราะบทของ Architect (บาง webboard ตั้งชื่อว่าผู้พัน KFC)นั้นพูดเร็วมากจนไม่มีเวลาคิดตาม แถมการอ่านบทบรรยายไทยยิ่งพาให้ผู้ชมเข้ารกเข้าพงไปใหญ่ (บทบรรยายไทยที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่องมีปัญหามากครับ ขอโวย ลองไปหาอ่านตามกระทู้ต่างๆดูนะครับว่าผู้คนเขาสรรเสริญคนทำ subtitle กันซะอ่วมเลยครับ) หากใครฟังเพียงรอบเดียวแล้วเข้าใจได้ทันที แสดงว่าถ้าไม่เป็นญาติกับคนเขียนบทก็ต้องโกหกแน่นอนครับ เพราะแม้แต่ Neo เองก็ยังออกอาการงงแถมไม่ค่อยเชื่อด้วยซ้ำไป (สังเกตอารมณ์ Neo ในจอภาพ) ทีนี้เรามาลองปะติดปะต่อเรื่องราวกันดูครับ เริ่มจากวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกันก่อน (1)ข้อเท็จจริงแรกคือ Architect ได้อธิบายตัวตนของ Neo ว่าเป็นผลลัพท์ของข้อบกพร่องที่ได้จากค่าสมการแปรผันอันเกิดจากการสร้างระบบ Matrix โดยผู้สร้างเองก็มิอาจหลีกเลี่ยงผลลัพท์ดังกล่าวได้ จึงทิ้งไว้เป็นค่าติดตัวแปรที่ถูกคำนวณทิศทางไว้ล่วงหน้า (2)ข้อเท็จจริง 2 Architect ได้บอกในสิ่งที่ทั้ง Neo และไม่มีมนุษย์ผู้ใดเคยรู้ว่า Matrix ปัจจุบันดำเนินมาถึงเวอร์ชัน 6 นั่นหมายความว่าข้อบกพร่องลักษณะเดียวกับ Neo เคยเกิดมาแล้ว 5 ครั้ง และมี The One ที่ได้เข้ามาในห้องนี้ก่อน Neo ถึง 5 คนมาแล้ว (3)ข้อเท็จจริง 3 Architect อวดอ้างถึงความสมบูรณ์แบบของ Matrix เวอร์ชันแรกสุด ซึ่งกลับกลายเป็นความล้มเหลวสัมบูรณ์ จนภายหลังต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยลดทอนความเป็นเหตุเป็นผลลงและทบทวนผลที่เกิดจากจิตใจมากขึ้น เหมือนดังมนุษย์ที่บางครั้งสิ่งที่เราคิดหรือตัดสินใจทำลงไปโดยที่ปราศจากเหตุผลเป็นพื้นฐาน Matrix จึงถูกแก้ไขใหม่ โดยออกแบบโปรแกรมเพื่อค้นหาคำตอบและศึกษาสภาพจิตใจมนุษย์อันเป็นที่มาของเทพพยากรณ์ (Oracle) (4)ข้อเท็จจริง 4 Oracle ซึ่งเปรียบได้กับมนุษย์ผู้มีตรรกญาณชั้นเทพได้ค้นพบข้อเท็จจริงว่า 99.9% ของปัจเจกชนยอมรับอาณัติโดยยอมอยู่ภายใต้ระบบ ตราบใดที่พวกเขายังมีโอกาสได้รับทางเลือก (Choices) ในหลากหลายแนวทาง แม้จะเป็นทางที่ปราศจากหลักการและความเป็นไปได้อย่างที่สุด ข้อเท็จจริงดังกล่าวขัดแย้งกับพื้นฐานที่อยู่บนหลักการและเหตุผลของระบบ Matrix อย่างรุนแรงจนอาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบ และยังมีกลุ่มจำนวน 0.1% ทีไม่ยอมรับระบบโดยสิ้นเชิงซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กน้อยมากแต่ก็ไม่ต่างจากปลายหอกหลาวที่เป็นภัยมหันต์ อันเป็นการพาดพิงถึงการมีอยู่ของ Zion เนื้อหาข้างต้นเป็นครึ่งช่วงแรกของการสนทนา ทีนี้เราจะมาลองวิเคราะห์กันดูว่าหนังพยายามจะบอกหรือเราสามารถคิดอะไรกันไปได้บ้าง (5) ข้อคิดเห็น 1 ประเด็นที่น่าสนใจมากคือกระบวนการออกแบบ Matrix ที่กล่าวว่าความสมบูรณ์แบบอย่างที่สุดกลับกลายเป็นความล้มเหลวของทั้งระบบ หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีแนวความคิดที่พยายามอธิบายสังคมมนุษย์โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ตามกฎของอุณหภูมิพลศาสตร์ (Entropy) ที่กล่าวว่าหากความหนาแน่นของระบบโดยรวม(ประชากร+กิจกรรม)เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีวัดความยุ่งเหยิงของระบบ(ปัญหาสังคม)หรือค่าเอนโทรปี ก็จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และการจัดระเบียบส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบให้มีค่าเอนโทรปีต่ำลงนั้น จะต้องชดใช้ด้วยค่าเอนโทรปีโดยรวมของระบบที่มากขึ้นกว่าปกติเสมอ สังคมที่ถูกตีกรอบให้อยู่ในระบบมากเกินไปจักต้องมีนักปฏิวัติเกิดขึ้นเสมอ (Revolutionist) เป็นคำอธิบายว่าทำไมโลกจึงมีรัฐบุรุษเช่น เช กุวารา, ดร. ซุนยัดเซ็น, อองซาน ซูจี หรือผู้นำการรัฐประหารในประเทศที่มีอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จ เหตุการณ์โลกปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่สามารถอธิบายอย่างง่ายได้ด้วยกฎดังกล่าว ลองดูนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในความพยายามที่เรียกสวยหรูว่า จัดระเบียบสังคมโลกโดยพยายามลดค่าเอนโทรปี(การปราบปรามแหล่งผู้ก่อการร้าย)ในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกเช่น อิรัก อัฟกานิสถาน คาบสมุทรเกาหลี ส่งผลให้ต้องชดใช้ด้วยการก่อการร้าย (Terrorism) ที่ระบาดอย่างหนักไปทั่วระบบสังคมโลก ไล่ไปตั้งแต่ บาหลี ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย ภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และการเตรียมพร้อมรับมือการก่อการร้ายถึงระดับ 3 ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่กล่าวมาอาจจะลองเขียนเป็นความสัมพันธ์ง่ายๆดังนี้ ระบบโดยรวม-------------------The Matrix-----------------Global Social ค่า Entropy --------------------Zion-------------------------Terrorism Entropy สูงสุด-----------------The One--------------------Revolutionist หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:33:06 (6) ข้อคิดเห็น 2 Oracle พบว่าบุคคลส่วนใหญ่ยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองโดยมีทางเลือก (Choices) เป็นเงื่อนไข จุดนี้เป็นการบอกเล่ากลายๆ ถึง Matrix เวอร์ชันแรกสุดซึ่ง Architect เล่าว่ามีความสมบูรณ์ของระบบสูงสุด ถ้าจะมองความหมายในเชิงรัฐศาสตร์ คำว่าสมบูรณ์แบบนั้นหมายถึงความมีเสถียรภาพที่เท่าเทียมกันทั้งระบบอันเป็นแนวคิดอุดมคติของลัทธิฟาสซิสต์ โดยอุดมการณ์ของสังคมนิยมคนทุกคนต้องทำงานเหมือนเป็นลูกจ้างของรัฐ ทุกอย่างรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ เพื่อต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ในยุคเริ่มแรกของการปกครองประเทศด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ตัวอย่างที่เห็นชัดคืออดีตสหภาพโซเวียตเดิมหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความเข้มแข็งทั้งทางทหารและเทคโนโลยีในระดับที่ทัดเทียมหรือก้าวล้ำกว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งยึดระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการอวกาศและแสนยานุภาพทางทหาร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาวะที่ยากจนข้นแค้นกันทั่วไป เพราะทุกคนทำงานเพียงได้เงินเดือนเท่านั้นทำมากทำน้อยทุกคนได้เงินเดือนเท่ากันหมด ใครคิดอะไรออกมาได้รัฐก็เอาไปหมด และทรัพยากรทั้งหลายแหล่ก็ถูกนำไปใช้ค้ำจุนระบบให้มีเสถียรภาพสูงสุดหรือมีเอนโทรปีของระบบโดยรวมต่ำมาก ขณะที่ประชาชนยังจนเหมือนเดิมเพราะไม่มีโอกาสหรือทางเลือกอื่น (Choices) จนเมื่อถึงจุดที่เกิดค่าเอนโทรปีในระบบย่อย(ความยากจน, การประท้วงนัดหยุดงาน, การเรียกร้องสิทธิจากรัฐ ฯลฯ) ลุกลามไปทั่วจนเป็นผลให้ระบบของ Matrix เวอร์ชันแรกล่มสลาย หลังยุคสงครามเย็นโลกเต็มไปด้วยกระแสประชาธิปไตยโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือก (Choices) แม้ทางเลือกจะถูกกำหนดไว้แล้วโดยพรรคการเมืองที่มีอำนาจ
Matrix ได้ออกแบบระบบใหม่โดยมีทางเลือก (Choices) และหลักการเดียวกันแต่ก็ยังคงเหลือตัวแปรไม่เข้าพวกอีก 0.1% คือ Zion โลกประชาธิปไตยตะวันตกเรียกกลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้แนวคิดสากลและเป็นศัตรูกับระบบทุนนิยมว่า ลัทธิก่อการร้าย (Terrorism) ทีนี้เราลองมองการกระทำของ Neo และพรรคพวกจากมุมมองของผู้อาศัยใน Matrix บ้าง ซึ่งมีสารพัดได้แก่การสร้างความปั่นป่วนในระบบคอมพิวเตอร์, การพยายามล้วงข้อมูลเบื้องลึกจากบุคคลระดับสูง(Oracle), การลักพาตัว Keymaker, การก่อวินาศกรรมโรงไฟฟ้า, การบุกรุกสถานที่, ขัดขืนและหลบหนีการจับกุมอันเป็นผลให้พลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตและกระทำการอื่นๆอันเป็นอันตรายต่อระบบ ทั้งหมดนี้มันเป็นการกระทำเยี่ยงผู้ก่อการร้ายชัดๆ คำถามมีอยู่ว่าถ้าเราซึ่งเป็นผู้ชมเชื่อและเห็นด้วยในสิ่งที่ Neo ทำลงไปโดยใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เราจะมีสิทธิอะไรที่จะประณามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าเป็นความเลวร้าย บางท่านอาจแย้งว่าความรุนแรงในหนังไม่ได้ทำให้ใครตายจริงๆ แต่อย่าลืมว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัยล้วนเต็มไปด้วยสงครามและความรุนแรง ถ้าเราได้เลือกที่จะยอมรับสงครามใน Matrix ก็จงยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของสงครามและความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจริงเพราะเป็นสิ่งที่เราได้เลือกกันมาทุกยุคทุกสมัย นี่เป็นเพียงบทวิเคราะห์การสนทนาครึ่งช่วงแรกเท่านั้นนะครับ ผมเองหลังจากเขียนจบและอ่านทบทวนก็แปลกใจมากทีเดียวที่ช่วงเวลาไม่ถึง 2 นาทีนั้นพี่น้องวาชอว์สกี้จะสามารถวิพากษ์สังคมยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมได้อย่างลึกซึ้ง นอกเหนือจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับกลศาสตร์, คอมพิวเตอร์ และศาสนาให้ได้ตีความกันอีก ขอให้พยายามอ่านกันในท่อนต่อไปนะครับ (7) ข้อเท็จจริง 5 Architect ชี้ชะตากรรมสุดท้ายของ Zion ที่จะต้องถูกทำลายลงเป็นครั้งที่ 6 โดย Neo เป็นตัวแปรหลักที่จะต้องกลับไปที่ source เพื่อบรรจุ code ก่อนที่จะคัดเลือกมนุษย์ 23 คนจาก Matrix อันประกอบด้วยหญิง 16 ชาย 7 เพื่อสร้าง Zion ขึ้นมาใหม่ หากส่วนหนึ่งส่วนใดของกระบวนการดังกล่าวล้มเหลว นั่นหมายถึง การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:33:40 (8) ข้อเท็จจริง 6 ทางเลือก (Choices) ของ Neo มีเพียง 2 ทางคือ
(6.1) ประตูขวาที่จะพา Neo กลับไปสู่ source ตามขั้นตอนที่ The One ทั้ง 5 ในอดีตเคยปฏิบัติมาแล้ว (6.2) ประตูซ้ายพา Neo กลับเข้าสู่ Matrix เพื่อช่วย Trinity พร้อมกับการดับสูญของมนุษยชาติ Neo ได้เลือกทางไหนก็คงทราบกันอยู่แล้ว เหตุการณ์ช่วงนี้มีการตีความและถกเถียงกันดุเดือดมากโดยเฉพาะใน webboard ต่างประเทศลองมาอ่านความคิดเห็นหลักๆที่ผมเรียบเรียงไว้กันดูนะครับ (9) ข้อคิดเห็น 3 เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่าตัวตนแท้จริงของ Zion คืออะไรกันแน่ ความเป็นไปได้อาจเรียบเรียงแยกย่อยได้ดังนี้ (3.1) Zion เป็นโลกจริงที่เกิดจากการสร้างโดยเจตนา (Purpose)ของ Machine หาใช่เป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ หากมองระบบ Matrix ตามกฎของ Entropy, Zion คือค่า Entropy หรือปริมาณ 0.1% ที่ Matrix และ Oracle ตีค่าเป็นปัญหาที่จำต้องยอมรับให้เกิดขึ้น วิธีแก้ปัญหา: ดังนั้น Matrix จึงต้องสร้าง Zion เพื่อเป็นแหล่งถ่ายเทปัญหาดังกล่าว หรือเป็นการถ่ายเทความร้อนออกจากระบบ และขอกล่าวเพิ่มเติมว่าสังคมใน Zion ก็อยู่ภายใต้กฎของ Entropy ด้วยเช่นกัน จนเมื่อค่า Entropy ภายใน Zion สูงขึ้นถึงค่าสูงสุดจนทำให้เกิด The One (Revolutionist) อันเป็นจุดที่ผมเชื่อว่าแท้จริงแล้ว Neo หรือ The One เป็นโปรแกรมที่ Matrix คำนวณไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นดัชนีปัญหาของระบบหรือเป็นตัวกำหนดเวลาเพื่อทำการ Reset หรือ Reload ระบบทั้งหมดขึ้นมาใหม่ และเหตุผลที่ต้องทำลายผู้คนใน Zion ก็เพื่อให้ค่า Entropy ของระบบกลับไปสู่ระดับต่ำสุด แล้วจึง Restart ระบบขึ้นมาใหม่โดยถ่ายเทพลเมืองใน Matrix 23 คน กลับออกมาสร้าง Zion ขึ้นมาใหม่เวียนว่ายเป็นวัฏสงสาร (Loop) ดังนั้นทุกอย่างที่ Neo กระทำหรือได้เลือกที่จะทำ จึงอยู่ภายใต้การคำนวณล่วงหน้าโดย Matrix, ทั้ง Oracle เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ค้ำจุนแนวทางของระบบเท่านั้น เหตุผลในการช่วยเหลือให้ข้อมูลแก่ Neo ก็เป็นเรื่องที่ถูกคำนวณไว้แล้วเพื่อให้ Neo ไปถึงช่วงเวลาที่จะต้องเลือกระหว่างประตูสองบาน ข้อโต้แย้งแนวคิดข้างต้นที่ผมคาดว่าจะมีได้แก่ : ในกรณี 0.1% ที่เป็นปัญหา ทำไม Matrix ไม่แก้ปัญหาด้วยการกำจัดหรือฆ่ากลุ่มดังกล่าวทิ้งเสียโดยไม่ต้องสร้าง Zion ให้เป็นปัญหา คำอธิบายมีอยู่ว่า เพราะนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาตามพุทธปรัชญา เราอาจกำจัดผู้ก่อการร้ายได้แต่ศรัทธาหรืออุดมการณ์นั้นไม่เคยตาย สสารหรือพลังงานย่อมไม่มีวันสูญสลายเพียงแต่เปลี่ยนรูปไปตามกาล การฆ่าหรือความตายจึงมิได้เป็นหนทางของการดับทุกข์ กลับจะยิ่งทำให้ Entropy โดยรวมของระบบสูงขึ้นไปอีก Zion จึงเป็นกรรมของ Matrix โดยแท้ หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:34:17 (3.2) Zion เป็น Matrix ที่ซ้อน Matrix อีกชั้นหนึ่ง (The 2nd Matrix, Matrix within Matrix, Metamatrix)
เป็นแนวคิดที่ร่ำลือกันไปใหญ่โตมากทาง webboard โดยข้อคิดเห็นนั้นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือมีทั้งผู้สนับสนุนและไม่เห็นด้วยโต้เถียงกันเป็นที่เผ็ดร้อนมาก ลองมาดูกันว่าผู้สนับสนุนมีแนวคิดอย่างไร (3.2.1a) พวกที่เห็นด้วยนั้นอ้างฉากที่ Neo สามารถหยุดปลาหมึก (Sentinels) ได้ด้วยมือเปล่าทั้งที่อยู่ภายนอก Matrix (unplugged) ซึ่งเป็นฉากที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนและทิ้งปมไว้ได้เหนือชั้นมากของหนังภาคนี้ ผู้สนับสนุนให้ความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ Neo จะควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในสภาพมนุษย์ธรรมดาได้ จะทำได้ก็เมื่ออยู่ใน Matrix เท่านั้น ดังนั้นหากคิดในเชิงตรรกะจะมีวิธีอธิบายของเหตุดังกล่าวคือ โลกภายนอกและ Zion คือ Matrix แห่งที่สอง หรือซ้อนกันอยู่ แนวความคิดประเภทที่ว่าระบบซ้อนระบบ เป็นเรื่องธรรมดามากในนิยายวิทยาศาสตร์ ถ้าใครเคยอ่านนิยายชุด สถาบันสถาปนา (The Foundation) ของ Isaac Asimov ก็จะเห็นว่าแนวคิดบางอย่างของหนังกับนิยายชุดนี้คล้ายกันมาก เช่นเรื่องของโปรแกรมที่ถูกออกแบบไว้ล่วงหน้าซึ่งไม่ต่างแนวคิดวิชาอนาคตศาสตร์(Futurism), The Architect บิดาแห่ง Matrix แทบจะถอดแบบมาจาก ฮาริ เซ็ลด้อน บิดาแห่งสถาบันสถาปนาก็ไม่ปาน ดังนั้น Matrix ที่ 2 จึงเทียบเคียงได้กับสถาบันสถาปนาแห่งที่ 2, ความสำคัญของระบบแห่งที่ 2 ถ้าอธิบายโดยใช้สถาบันสถาปนาเป็นกรณีตัวอย่างจะพออธิบายได้ดังนี้ ระบบแห่งที่ 2 เปรียบได้กับระบบที่ทำหน้าที่อุดรอยรั่วของระบบที่ 1 และคอยควบคุมให้ทุกอย่างเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ ในวิชาอนาคตศาสตร์มีทฤษฎีที่อ้างว่าสามารถพยากรณ์หรือกำหนดอนาคตของสังคมโดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ขึ้นอยู่กับลำดับเหตุการณ์ความเป็นเหตุและผล (Cause & Effect) ประเทศไทยเราก็สนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยนะครับ ด้วยการก่อตั้ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อ พ.ศ. 2527 ทีนี้หาก Matrix ควรได้รับการออกแบบบนพื้นฐานของวิชาอนาคตศาสตร์ ซึ่งก็คือวิชาสถิติประยุกต์เข้ากับแนวทางเศรษฐศาสตร์ระดับมหัพภาคและประเมินความเป็นไปได้ต่างๆด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ นั่นแหละครับจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่ Matrix จะสามารถทำนายการกระทำต่างๆ ของกลุ่มผู้คนใน Matrix หรือ Zion ได้ ฟังดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีข้อผิดพลาดอะไรใช่ไหมครับ แต่การพยากรณ์ดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะสังคมระดับมหัพภาคเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับปัจเจกชนที่เกิดขึ้นมาอย่างผิดประหลาด เช่นพวกมนุษย์กลายพันธุ์, อดอฟ ฮิตเลอร์ หรือบรรดาอัจฉริยะในรอบ 100 ปี บุคคลเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อทิศทางของระบบให้ผิดเพี้ยนไปได้โดยที่ระบบที่ 1 ไม่สามารถจัดการได้เนื่องจากคุ้นเคยแต่การแก้ปัญหาที่ถูกพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วเท่านั้น ระบบแห่งที่ 2 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาอันผิดธรรมดานี้และปรับให้ทั้งระบบกลับเข้าสู่แนวทางเดิม ต่อไปลองมาคิดกันดูว่าปัจเจกชนนั้นน่าจะเป็นใคร Neo หรือเปล่า? เนื่องจากมีพลังเหนือคนทั่วไป ไม่ใช่แน่ครับ Neo นั้นถูกพยากรณ์ถึงการมีอยู่จริงไว้แต่แรกแล้วโดยการยืนยันของ Architect และตามค่าของ Entropy (ย้อนไปอ่านข้อคิดเห็น 1) ในหนังนั้นมีอยู่ปัจเจกเดียวที่ผิดไป ใช่แล้วครับ Agent Smith ผู้กลายเป็นโปรแกรมอิสระและมีความสามารถในการทำซ้ำตนเอง *จุดนี้น่ากลัวมากครับเพราะหาก Smith ทำซ้ำตนเองต่อมนุษย์ทุกคนใน Matrix ระบบทั้งหมดจะพังทันที เนื่องจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์จะไม่มีอีกต่อไปเหลือเพียงภารกิจเดียว (Purpose) คือกำจัด Neo แต่นี่เป็นเรื่องนอกประเด็นจาก Zion แล้วหากมีเวลาผมคงวกกลับมาวิเคราะห์ Agent Smith อีกภายหลัง (3.2.1b) พวกที่ไม่เห็นด้วยว่าจะมี Matrix ซ้อน Matrix ก็ให้เหตุผลกันไปสารพัดครับ มีทั้งเหตุผลข้างๆคูๆประเภทหากเป็นเรื่องจริงก็ต้องตำหนิผู้กำกับว่าเป็นมุขซ้ำซาก ประเภทเดียวกับใน Return of the Jedi ที่ดาร์ท เวเดอร์ ออกมาประกาศประโยคคลาสสิกกับ ลุค สกายวอล์คเกอร์ ว่า “ฉันเป็นพ่อแกนะ” เล่นเอาคนดูหงายหลังกันทั่วโลก แต่ในปัจจุบันมุขแบบนี้มักจะไม่ผ่านการยอมรับจากนักดูหนังอีกต่อไปแล้ว จัดเป็นมุขประเภทเดียวกับ “ร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา” และยังมีการแก้ต่างให้ Neo ในฉากหยุดปลาหมึก ประมาณว่า Neo นั้นบรรลุจนถึงขั้นควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในชีวิตจริงได้แล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถควบคุมพลังได้ดีพอจึงสลบเหมือดเข้าขั้นโคม่า เพราะหากเป็น Matrix ที่ 2 จริง Neo ก็ควรจะใช้พลังได้โดยไม่เกิดผลกระทบกับตนเอง ประเด็นเรื่องการหยุดปลาหมึกนั้นก็สามารถแยกย่อยออกเป็นการตีความทั้งในเชิงกลศาสตร์และปรัชญาได้ โดยแนวคิดที่ล้ำสมัยพอจะอธิบายได้เห็นจะเป็นกลศาสตร์แบบควอนตัม (Quantum Mechanic) ตั้งอยู่บนรากฐานความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก ส่วนแนวคิดด้านปรัชญาก็อาจเปรียบได้กับการสำเร็จมรรคผลในระดับหนึ่ง จากภาวะกายหยาบเป็นกายทิพย์ โดยเป็นพื้นฐานแห่งจิต บรรดา Jedi ทั้งหลายก็อยู่ในข่ายนี้ด้วย หากมีโอกาสผมจะขยายความแต่ละแนวคิดเพื่อการหยุดปลาหมึกอีกภายหลัง หากถามความเห็นของผมเรื่องประเด็น Matrix ซ้อน Matrix หรือ Zion เป็นโลกจริงหรือไม่ ก็ขอบอกว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสองทางตามที่ได้เขียนไว้ข้างต้น โดยที่ผมซึ่งเป็นผู้ชมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกที่จะสรุปข้อใดข้อหนึ่งในเวลานี้ สำหรับผมแล้วหนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ในการสร้างทางเลือก (Choices) ของจินตนาการที่หลากหลายสมดัง Tag line ที่ว่า “Free your mind.” หัวข้อ: Re: ทุกอย่างที่เห็นหรือรู้สึกบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นเรื่อง{สมมุติ}ทั้งสิ้น เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 สิงหาคม 2554 21:36:52 อีกอัน
ฟังความเห็นคนจบ major ปรัชญาและศาสนา minor คอมฯ หน่อยไม๊ครับ สิ่งที่เหมือนกันทั้งสามภาค ก็คือปรัชญาดีๆ นี่ละครับ ไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าใจยากเลยครับ ไม่จำเป็นต้องจบปรัชญาก็เข้าใจปรัชญาได้ เพียงแต่จิตใจตั้งใจแสวงหาความรู้ แต่เหตุผลที่คนเขาต้องเรียนปรัชญาเพื่อให้พูดภาษาเดียวกันเข้าใจได้หนะครับ สิ่งที่เหมือนกันทั้งสามภาค ก็คือการทำให้เกิดคำถามไม่ได้ทำให้เกิดคำตอบเหมือนกับภาพยนต์ที่ทำเป็นสูตรสำเร็จหลายๆ เรื่อง ไม่น่าเบื่อบ้างเหรอครับ ถ้าหากภาพยนต์ทุกๆ เรื่องจบลงด้วยการที่ผู้ร้ายจับนางเอก แล้วพระเอกเข้าไปช่วยจนบาดเจ็บ แล้วเอาชนะผู้ร้ายได้ ภาคแรกสะท้อนให้เห็นคือ ก็คือ Neo ที่มีจิตใจที่ตั้งมั้นจะแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองสงสัยและไม่ได้เข้าใจ แม้จะต้องพบกับความเจ็บปวดบนความเป็นจริงของชีวิตก็ตาม นั่นเป็นคุณลักษณะเด่นของผู้ที่เป็นนักปรัชญา ถึงแม้จะท่องตำราต่างๆ มากมาย แต่ถ้าปราศจากจิตใจที่จะแสวงหาแล้วก็หาใช่นักปรัชญาไม่ ภาคแรกเค้าอาจจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่เค้าเคยเชื่อมาตลอด ภาคสองอาจจะทำให้เหมือนกับภาคแรกๆ คือว่าไม่รู้ว่าโลกที่เขาอุตส่าห์หลุดออกมาแล้ว อาจจะยังไม่พ้นความเป็น Matrix ภาคสามสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเค้า โชคชตาหาใช่ส่งที่ลิขิตให้เขาเดิน แต่เขายอมเดินไปในสิ่งที่ตนเองมุ่งหวัง ภาพยนต์เรื่องนี่จึงเต็มไปด้วยคำถาม การสอนให้คนตั้งคำถาม แสวงหาคำตอบ มันก็คือปรัชญาดีๆ นี่เอง ทุกๆ สิ่งที่คุณเห็นอาจจะไม่ได้จริงเสมอไป |