หัวข้อ: สุขแท้ด้วยปัญญาในทัศนะของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 สิงหาคม 2554 06:57:48 (http://bookrich51.tarad.com/img-lib/spd_2010122300448_b.jpg) หนึ่งวันของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สุขแท้ด้วยปัญญาในทัศนะของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล วิทยากร โสวัตร : สัมภาษณ์และเรียบเรียง “นี่ผมอยู่บ้านคนเดียวมาหลายวันแล้ว - -“ เสียงทักมาจากปลายสายนั้นเปี่ยมพลัง ก่อนที่ผมจะอธิบายถึงเหตุที่โทรมารบกวนแต่เช้าเจ้าของเสียงนั้นก็พูดต่อเนื่องอย่างเป็นกันเอง “มันเป็นการท้าทายทางธรรมเหมือนกันที่ต้องอยู่คนเดียว ดูแลตัวเอง หมา ต้นไม้ และบ้าน... และพออยู่คนเดียวจริงๆ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เราไม่ได้คิดหรือรู้สึกว่าอยู่คนเดียว รู้สึกสงบมาก ล้างจาน ชาม ก็เจริญสติ ก้าวเดินก็เจริญสติ จึงได้ตระหนักชัดว่าการทำอะไรทุกอย่าง ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ทั้งนั้น เป็นการปลีกวิเวก...” ครับ คู่สนทนาของผมในเช้าวันนั้นคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้ที่ผมนับถือเป็นครูทางจิตวิญญาณมาแต่อายุ 17 ปีที่อ่านหนังสือเล่มแรก ของเขา และเมื่อสองปีก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกันเพื่อเรียบเรียงมาลงในปาจารยสาร ฉบับออกพรรษา 2549 ซึ่งการพูดคุยครั้งนั้นบอกความ เป็นไปของเขาได้อย่างดีต่อการเงียบหายไปในหลายปีของเขา ผมอยากจะชวนท่านย้อนกลับไปดูการพูดคุยครั้งนั้น เพื่อจะได้เห็นว่าบทสนทนาข้างต้นมีต้นสายปลายเหตุมาอย่างไร “ตอนนี้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนเร็วมาก จากสังคมโบราณกระโดดมาเป็นสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ จากทุนนิยมท้องถิ่นกลายเป็นทุนโลกาภิวัตน์ ในเวลาไม่กี่ปีสภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณคนมหาศาล เพราะทุนนิยมเป็นระบบที่มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร้ขอบเขต ส่วนสังคมโบราณกลับเน้นเรื่องขอบเขตของประโยชน์ส่วนตัว มีทั้งขอบเขตทางศีลธรรมและขอบเขตทางวัฒนธรรมที่สอนกันมาคนโบราณ มีความรักเพื่อนพี่น้องอีกทั้งยังกลัวบาปกลัวกรรม ถ้าใครบังเอิญมั่งมีขึ้นมาก็ถูกสอนให้รู้จักแบ่งปัน ถูกสอนให้ดูแลชุมชน อะไรทำนองนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นอุปสรรคของการหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งระบบทุนนิยมจะเร่งยกเลิกศีลธรรม ยกเลิกคุณธรรมทั้งปวงที่สอนกันมาแต่โบราณ เพื่อไม่ให้มันเป็นอุปสรรคต่อการบริโภค การเอากำไรสูงสุด หรือพูดง่ายๆ คือไม่ให้มันเป็นสิ่ง กั้นขวางการขยายตัวของระบบทุน แน่นอนเขาไม่ได้โง่ แบบที่อยู่ดีๆ ก็มาบอกให้ยกเลิกคุณธรรมดั้งเดิม แต่มันจะออกมาในรูปปรัชญาใหม่ หลักการใหม่ ทฤษฎีใหม่ทางสังคมเช่น ลัทธิปัจเจกชนนิยม ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือแม้แต่บางด้านของแนวคิดโพสต์โมเดิร์น แนวคิดเหล่านี้ อธิบายความยืดหยุ่นทางศีลธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งในที่สุดก็หลุดไปเลย ในสภาพเช่นนี้ การเป็นลูกผู้ชายที่ซื่อสัตย์ จริงใจ รักษาสัจวาจา รักเพื่อนพ้องรวมทั้งไม่ก้มให้กับสิ่งที่ผิดมันกลายเป็นความล้าหลังในทัศนะของกระแสหลัก อย่างที่ผมเคยเขียนเรื่อง“ผู้ชายที่กำลังจะสูญพันธุ์” ความจริงไม่ใช่ตามไม่ทันเขาแต่มันขัดแย้งกันโดยตรง บุคลิกภาพอย่างผมนี่มันเข้ากันไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อ เรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้างเหมือน ที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง “คนกับเสือ” ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน มันเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้อนรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้” “เมื่อ 10 ปีที่แล้วผมเขียนงานประเภทนี้เอาไว้เยอะ เพราะในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างทศวรรษ 2530 กว่าๆ ถึง 2540 ผมรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวมาก คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ช่วงนั้นผมจะออกทะเลทั้งปีทั้งชาติ เข้าป่าออกทะเลเป็นประจำ เมื่ออยู่กับพวกเขา ไม่ได้เราก็ต้องปลีกวิเวก งานเขียนชิ้นที่ผมใส่คำถามไว้มากที่สุด อาจจะอยู่ในหนังสือชื่อ “เพลงเอกภพ” ประมาณปี 2535 – 36 และ “คนกับเสือ” ในปี 2539 ซึ่งทั้งหมดเป็นงานเชิงความคิด เป็นคำถามต่อสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมแบบสุดขั้ว และเป็นคำถามต่อ ความหมายของชีวิตตัวเองในโลกแบบนี้ด้วย” “ในช่วงพ้น 2540 มาเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะฟองสบู่แตก จากนั้นสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย เราถูกไอเอ็มเอฟกดดันให้เปิด ประเทศเสรีทั่วด้าน ขณะเดียวกันก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ทั้งการเมืองภาคประชาชน และกลุ่มทุนใหญ่เข้ามากุมอำนาจ พูดกันสั้นๆ คือ มันเป็นจังหวะที่สังคมไทย อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้บ้าง ถ้ารู้จักเรียนรู้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ” “อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวช่วงนี้กลับเป็นช่วงที่ผมรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง ยกเว้นระยะสั้นๆ ที่มิตรสหายกดดันผม ให้ไปนำกลุ่ม ปxป(ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน)แล้ว ผมแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านเมืองเลย การเผชิญความทุกข์ อันเนื่องมาจากการคิดต่างจาก กระแสหลัก การยืนต้านสังคมในมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มันพาผมมาถึงจุดที่หมดแรง กระทั่งนำไปสู่ชีวิต ส่วนตัวที่ล้มเหลว หลัง 2540 ไม่นาน ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครอง มาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย 50 กว่าแล้ว ผมต้องถามตัวเองว่ายืนต้านกระแสหลัก ในสังคมแบบที่ผ่านมาแล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไปหรือควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ มันมีหนทางไหน บ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย พูดกันสั้นๆ คือ ในช่วงนี้ผมได้ลงลึกไปใน การสำรวจวิจารณ์ตัวเองเอาเป็นเอาตาย และในที่สุดก็ค้นพบว่ามันอาจจะมีอะไรไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง คือ “ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมา ผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไปซึ่งทางธรรมะเขาเรียกว่าทวินิยม (Dualism) คือเห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาวมีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากมันก็เหนื่อยมาก ตัวผมเอง ทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อง” “ประการที่สอง ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือเป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็น อัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมที่จะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ กระทั่งคนใกล้ตัวคนใกล้ชิดเขาก็ปฏิเสธ สภาพแบบนี้ เพราะฉะนั้น เหตุแห่งทุกข์ จึงอยู่ในอัตตาของเราเองด้วยไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม” “การวิจารณ์ตัวเองในลักษณะนี้ ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่นั้นยังไม่มีผล เปลี่ยนแปลงผมเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้น ระยะนั้นประสบการณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใด ๆ พูดให้ชัด ขึ้น ก็คือ ความที่เจ็บปวดกับชีวิตมาก ผมจึงพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตาหรือสภาวะว่างตัวตนโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผมขอใช้คำว่าพลัดหลง เพราะไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามาอวดอ้างอะไร ตอนนั้นพอทนเจ็บไม่ไหวผมเลยพานเลิกคิดว่าผมเป็นใคร เมื่อไม่เป็นใครก็เลิกมีความต้องการ ใดๆไปด้วย ผมเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใคร เพราะความมีตัวตนมันผูกติดอยู่กับข้อมูลต่างๆ ที่เป็นบาดแผลของชีวิต อันที่จริงผมไม่เพียงหยุดคิด เรื่องอดีตเท่านั้น แม้แต่อนาคตก็ไม่คิดถึง เนื่องจากทุกอย่างที่เคยคิดว่าเป็นชีวิตของเรามันพังพินาศไปหมดแล้ว นอกจากนี้ผมก็ไม่ได้ แชร์ความคิดเรื่องอนาคตกับคนทั่วไปอีกต่างหาก บวกรวมแล้วผมเลยกลายเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันขณะ ไปโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่ทีละนาที อยู่ทีละห้วงขณะโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ การเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใครก็ดีกับการเลิกอยู่กับอดีตกับอนาคต แล้วอยู่กับปัจจุบันก็ดี ผมมารู้ ทีหลังว่ามันคือการทำสมาธินั่นเอง” “ในตอนแรกผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเองโดยไม่มีทฤษฎีใดชี้นำ แต่ทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะ อยู่ไม่รอดก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใคร ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก ” ข้อแรก ไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเรา อย่างไร ข้อสอง ไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรเป็นอย่างไร เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก แต่พอทำไปมากขึ้นปรากฏว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง ทางจิตขึ้นมาโดยไม่คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่ง ผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล รู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผมเป็น ความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด “จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆ ตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจก นก หนู กระรอก ที่อยู่ในบริเวณที่พักอาศัย ผมพูดกับพวกเขาเหมือนกับคนด้วยกัน ทำร้ายพวกเขาแบบเดิมๆไม่ได้ กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไปในโถส้วมก็คอยช่วยมดขึ้นชาม อาหารที่ผมให้หมานี่ ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป จนกว่าพวกเขาจะไปหมดแล้วค่อยเอาไปล้าง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมาก เพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ อย่าให้ผมพรรณนาเลยว่าทำอะไร มาบ้าง ผมเป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเองมีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร” “แล้วที่สำคัญก็คือ ในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรที่น่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติหรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น เป็นครั้งแรกที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย “สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมค้นพบว่า ชีวิตที่ทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้งเรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรัง ไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดยเฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตา มุ่งหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิดแล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ ตลอดเวลา ผมดีใจที่หลุดมาจากตรงนั้นได้” กลับมาที่บทสนทนาในเช้าวันนั้น... หลังจากปล่อยให้ความเงียบในการครุ่นคิดแทรกตัวเข้ามาเป็นระยะสั้นๆ และก่อนที่จะวางสาย ครูทางจิตวิญญาณของผมพูดคำธรรมดาๆออกมาว่า “มีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆอย่างเต็มที่กับมัน ไม่พะวงหน้าพะวงหลังอยู่กับเหตุการณ์หรือ ปัจจุบันต่อหน้า... วันหนึ่งๆ ผมเป็นอย่างนี้” http://www.budnet.org/happiness/goodandfamous/16.html (http://www.budnet.org/happiness/goodandfamous/16.html) หัวข้อ: Re: สุขแท้ด้วยปัญญาในทัศนะของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 26 สิงหาคม 2554 07:11:12 พื้นที่ชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 1/3 (http://www.youtube.com/watch?v=UNUn4wQdS8g#) พื้นที่ชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2/3 (http://www.youtube.com/watch?v=Mr--S2C6yRw#) พื้นที่ชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 3/3 (http://www.youtube.com/watch?v=dxiqT48OkAw#) |