หัวข้อ: วัดเสวียนคง วัดแขวนอยู่กลางผาสูง อายุกว่าพันปี สิ่งมหัศจรรย์แห่งสถาปัตยกรรมจีน เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 28 มกราคม 2565 15:28:34 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/76475918748312_Xiankong_T_696x421_Copy_.jpg)
วัดเสวียนคง ในมณฑลซานซี มีอายุมากว่า 1,500 ปี (ภาพจากระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร) วัดเสวียนคง วัดแขวนอยู่กลางผาสูง อายุกว่าพันปี สิ่งมหัศจรรย์แห่งสถาปัตยกรรมจีน เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2565 วัดเสวียนคง หนึ่งในอารามจีนที่โด่งดังที่สุด วัดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.491 ยุคราชวงศ์เป่ยเว่ย (ค.ศ.386-534) ตัวอาคารแขวนตัวอยู่กลางหน้าผาสูงชันทางทิศตะวันตกของเขาเหิงซาน ในมณฑลซานซี มีอายุมากว่า 1,500 ปี ได้ชื่อว่าเป็น สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกสถาปัตยกรรมจีน ผู้ได้เห็นเห็นวัดเสวียนคงด้วยตาตนเอง หรือจากภาพถ่าย ต่างยอมรับในความสามารถของช่างผู้ก่อสร้าง ด้วยอาคารไม้ 3 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนเสาเล็ก ขณะที่ด้านหน้าเป็นเหวลึก ด้านหลังอาคารเป็นหน้าผาหิน ชวนให้หวาดเสียวยิ่งว่า เสาเล็กๆ เหล่านั้น ไม่น่าจะรับน้ำหนักอาคารได้ แต่นั่นคือ “ภาพลวง” เสาไม้เล็กๆ ไม่ได้เป็นโครงสร้างเดิมของวัดเสวียนคง มันเพิ่งเพิ่มเติมเข้าในยุคหลังๆ เมื่อวัดกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีผู้คนจำนวนมากมาเยี่ยมเยือน เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่คานไม้รับน้ำหนักไม่ได้จริงๆ ค้านไม้จะงอลง เสาเหล่านี้จะช่วยยันพื้นเอาไว้ชั่วคราว ความจริงน้ำหนักของอารามวัดเสวียนคงไม่พึ่งพิง “เสาเล็ก” ที่อยู่ใต้อาคาร ถึงไม่มีเสาเหล่านั้นวัดเสวียนคงก็สามารถตั้งตระหง่านอยู่ได้ เพราะส่วนที่รับน้ำหนักที่แท้จริงคือ “ไม้หมุด” ที่ตอกฝังลึกเข้าไปในหน้าผาหิน มีบางส่วนยืนออกมาเป็นคาน ไม้หมุดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ทั้งหมด 27 อัน ฝังในหน้าผาหน้าหินและใช้มันเป็นฐานรากของอารามโดยปริยาย เคล็ดลับ คือ การขุดหน้าผาให้ลึกเข้าไปเป็นห้อง ประกอบกับการยื่นคานไม้บางส่วนออกมา ทำให้น้ำหนักอาคารไม่ตกไปอยู่ที่คานไม้อย่างเดียว แต่ทิ้งน้ำหนักส่วนใหญ่ลงไปบนชั้นหินผาด้วย น้ำหนักที่คานไม้รับจริงๆ คือส่วนของทางเดินซึ่งเบากว่า ส่วนการตอกหมุดไม้เข้าไปในหน้าผาไม่พอดีกับช่องที่เจาะได้อย่างไร (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/71854367024368__856x1024_Copy_.jpg) ภาพแสดงการตอกลิ่มไม้ (ภาพจากระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร) ช่างโบราณ สร้างช่องหินรูปทรงสี่เหลี่ยมที่จะปากช่องจะเล็กและปลายใหญ่บานออกเล็กน้อย เพื่อจะตอกลิ่มไม้สามเหลี่ยมเล็กๆ ไว้ที่ปลายท่อนไม้ด้านในก่อน แล้วจึงตอกหมุดไม้พร้อมลิ่มที่ก้นนี้เข้าไป เมื่อลิ้มสามเหลี่ยมยันที่ปลายช่อง ก็จะแทรกตัวเข้ากลางท่อนไม้ ทำให้หมุดไม้ก็จะขยายออกเต็มช่องหินที่เตรียมไว้ ส่วนด้านนอกหากหมุดไม้ไม่พอดีก็จะตอกลิ่มอัดเพิ่มได้ ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ นอกจากความรู้เชิงช่างแล้ว การเลือกไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนต่อความชื้น ก่อนจะนำไปใช้งานต้องทาผิวไม้ด้วยน้ำมันรักษาเนื้อไม้ 3-4 ชั้น ให้น้ำมันแทรกซึมลงไปในเนื้อไม้ เพื่อให้ไม้นั้นทนแมลง และการสึกหรอตามธรรมชาติ หากสำรวจความรู้เชิงช่างดังกล่าวข้างต้น พบว่า สมัยราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อน ค.ศ.) มีบันทึกกล่าวถึงการใช้ความรู้นี้สร้างเส้นทางเดินทัพเลียบหน้าผาในเสฉวน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยหุบเขา เพื่อเข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามแบบคาดไม่ถึง (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/41036181565787__921x1024_Copy_.jpg) ทางเดินเลียบหน้าผาในมณฑลเสฉวน (ภาพจากระหว่างบรรทัด สถาปัตย์แดนมังกร) ในเมืองไทยก็ความรู้เชิงช่างที่ใกล้เคียงกัน ที่เรียกว่า “ทอย” หรือ “ลูกทอย” ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายความพอสรุปได้ว่า ทอย คือลิ่มไม้, เหล็กแหลมที่ตอกเข้าไปในต้นไม้เป็นระยะเพื่อเหยียบ หรือปีนขึ้นไปต้นสูงใหญ่ ที่ไม่มีกิ่งก้านให้ยึดเหนี่ยว ส่วนการตอกทอยนั้นมีจุดประสงค์เพื่อขึ้นต้นไม้ไปตีรังผึ้ง หรือขึ้นเพื่อไปซุ้มยิงสัตว์ป่า การพบเจอร่องรอยของทอยในพื้นที่นั้นอาจแสดงถึงในอดีตเคยมีภัยคุกคาม มีการใช้ประโยชน์จากบริเวณนี้ |