หัวข้อ: พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 มิถุนายน 2565 20:28:02 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/91570645446578_1_Copy_.png) มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้ว อีกสามเดือนจะนิพพาน ภาพประกอบ : ภาพวาดฝีมือครูเหม เวชกร พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน คราเมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงพระชนม์มายุสังขาร พระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ประทับภายใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่ง ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์! เพราะอบรมอิทธิบาทสี่มาอย่างดีแล้ว ทำจนแจ่มแจ้งแล้วอย่างเรานี้ ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่านั้นก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้” พระโลกนาถตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉยมิได้ทูลอะไรเลย ความวิตกกังวลและความเศร้าของท่านมีมากเกินไป จึงปิดบังดวงปัญญาเสียหมดสิ้น ความจงรักภักดีอย่างเหลือล้นที่ท่านมีต่อพระศาสดานั้น บางทีก็ทำให้ท่านลืมเฉลียวใจถึงความประสงค์ของผู้ที่ท่านจงรักภักดีนั้น ปล่อยโอกาสทองให้ล่วงไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “อานนท์! เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน” พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ณ บัดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงรำพึงถึงอดีตกาลนานไกลซึ่งล่วงมาแล้วถึงสี่สิบห้าปี สมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ท้อพระทัยในการที่จะประกาศสัจธรรม เพราะเกรงว่าจะทรงเหนื่อยเปล่า แต่อาศัยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงพระทัยย่ำธรรมเภรีและครานั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าบริษัททั้งสี่ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง ยังไม่สามารถย่ำยีปรูปวาท คือ คำกล่าวจ้วงจาบล่วงเกินจากพาหิรลัทธิที่จะพึงมีต่อพระพุทธธรรมคำสอนของพระองค์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอ ตราบใด พระองค์ก็จะยังไม่นิพพานตราบนั้น ก็แลบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพรหมจรรย์ศาสโนวาทของพระองค์แล้ว เป็นการสมควรที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน ทรงดำริดังนี้แล้วจึงทรงปลงอายุสังขาร คือตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าพระองค์จะปรินิพพานในวันวิสาขะปูรณมี คือ วันเพ็ญเดือนหก อันว่าบุคคลผู้มีกำลังกลิ้งศาลามหึมาแท่งทึบจากหน้าผาลงสู่สระ ย่อมก่อความกระเพื่อมสั่นสะเทือนแก่น้ำในสระน้ำฉันใด การปลงพระชนมายุสังขารอธิษฐานพระทัยว่าจะปรินิพพานของพระอนาวรณญาณก็ฉันนั้น ก่อความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนเหมือนหนังสัตว์ที่เขาขึงไว้แล้วตีด้วยไม้ท่อนใหญ่ก็ปานกัน รุกขสาขาหวั่นไหวแกว่งด้วยแรงวายุโบกสะบัดใบอยู่พอสมควร แล้วนิ่งสงบมีอาการประหนึ่งว่าเศร้าโศกสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้ เหมือนกุมารีน้อยคร่ำครวญปริเวทนา ถึงมารดาผู้จะจากไปจนสลบแน่นิ่ง ณ เบื้องบนท้องฟ้าสีครามกลายเป็นสีแดงเข้มดุจเสื่อลำแพนไล้ด้วยเลือดสด ปักษาชาติร้องระงมสนั่นไพรเหมือนจะประกาศว่าพระผู้ทรงมหากรุณากำลังจะจากไปในไม่ช้านี้ พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้จึงเข้าเฝ้าพระจอมมุนี ทูลถามว่า”พระองค์ผู้เจริญ! โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมีไม่เคยเป็น ได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ?” พระทศพลเจ้าตรัสว่า “อานนท์เอ๋ย! อย่างนี้แหละ คราใดที่พระตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และนิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น” พระอานนท์ทราบว่า บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงพระชนม์มายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและความว้าเหว่ประดังขึ้นมาจนอัสสุชลธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีพระเชฏฐภาดา ท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิด อย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย” กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก เพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย โปรดติดตามตอนต่อไป หัวข้อ: Re: พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 30 มิถุนายน 2565 18:49:33 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/99859531223773_1_Copy_.png)
“อานนท์เอ๋ย!” พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล ลีลาแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและพระพักตร์ “เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่าสิบหกครั้งแล้วว่า คนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่า ในคราวก่อนๆ นั้น ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไป เราจะห้ามเสียสองครั้ง พอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้วเรามิอาจกลับใจได้อีก” พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสต่อไปว่า “อานนท์! เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะยอดเหมือนนกแร้ง อันมีนามว่า “คิชฌกูฏ” ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามขื่อ “สุกรขาตา” ที่ถ้ำนี้เอง สาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือ สารีบุตร ได้ถอนตัณหานุสัยโดยสิ้นเชิง เพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลายชายของเธอผู้มีนามว่า “ทีฆนขะ” เพราะไว้เล็บยาว เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้ว ทีฆนขะปริพาชกเที่ยวตามหาลุงของตนมาพบลุงของเขาคือสารีบุตรถวายงานพัดเราอยู่ จึงพูดเปรยๆ เป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า พระโคดม! ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด ซึ่งรวมความว่า เขาไม่พอใจเราด้วย เพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราได้ตอบเขาไปว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอก็ควรไม่พอใจ ความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย” อานท์! เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป จนจิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง” อานนท์เอ๋ย! ณ ภูเขาคิชกูฎดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเรานี้ถ้าจะอยู่ต่อไปอีกหนึ่งกัปป์หรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่” “อานนท์! ต่อมาที่โคตมนิโคธร ที่เหวสำหรับทิ้งโจร ที่ถ้ำสัตตบรรณ ใกล้เวภารบรรพต ที่กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลย จึงกล่าวขานกันว่าอิสิคิลิบรรพต ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณฑิกา ใกล้ป่าสีตวันที่ตโปทาาม ที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่มัททกุจฉิมิคทายวัน ทั้งสิบแห่งนี้มีรัฐเขตแขวงราชคฤห์” “ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง แล้วจาริกสู่เวสาลีนครอันรุ่งเรืองยิ่ง เราก็ให้นัยแก่เธออีกถึงหกแห่ง คือที่ อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย คือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่ ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก” “อานท์เอ๋ย! บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่งนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคตค อานนท์! เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว บัดนี้เป็นกาลสมควร ที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกสามเดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่วคอยแต่เวลาจะจมลงสู่ท้องธารเท่านั้น” “อานนท์! เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงพอใจเป็นธรรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอ๋ย! ชีวิตนี้มีความพลัดพรากจากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป เคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ” และแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณฑุคาม และโภคนครตามลำดับ |