[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 14:42:21



หัวข้อ: นางสีดา สตรีผู้จงรัก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 14:42:21
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88719657394621_11780006_1449291355397761_2598.jpg)
นางสีดา ในอารมณ์โศกเศร้า เมื่อครั้งโดนพระรามขับไล่  เพราะโกรธจัดที่เห็นนางสีดามีความอาลัยในภาพวาดของทศกัณฐ์
อันเป็นแผนของนางอดูลปิศาจที่ทูลยุยงให้นางสีดาเขียนรูปทศกัณฐ์ให้ดูแล้วเข้าสิง ทำให้ลบไม่ออก พระรามกลับมาจากป่า
พบเข้าก็ทรงกริ้วสั่งให้พระลักษณ์พานางสีดาไปฆ่าเสีย แต่ฆ่าไม่ตายจึงปล่อยให้นางไป
จิตรกรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม Wat Phra Kaew
วิจิตร จิตรกรรมไทย (ที่มาภาพประกอบ)

สีดา สตรีผู้จงรัก

นางสีดา นางเอกจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ที่นิยมนำเสนอในรูปแบบการแสดงโขน เป็นบุคคลสำคัญที่นำไปสู่การทำศึกสงครามระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ นางสีดาถือได้ว่าเป็นนางในวรรณคดีที่มีความงามที่สุด อีกทั้งยังมีความเป็นเลิศในด้านความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความอดทน ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว รักในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเป็นอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างความดีงามของสตรีในยุคสมัยนั้น ที่ผู้หญิงจะต้องมีความภักดีและซื่อสัตย์ต่อสามีมีความกตัญญูต่อบิดามารดา และให้กำเนิดบุตรชายเพื่อสืบสกุลซึ่งบทบาทของนางสีดาในรามเกียรติ์ถือได้ว่าปฏิบัติได้ครบถ้วนตามแนวคิดของสตรีในอุดมคติ โดยเฉพาะในด้านของความจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อสามี

เรื่องราวของนางสีดาในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นั้น อาจจะไม่ได้มีบทบาทในการดำเนินเรื่องมากนัก เพราะเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามและทศกัณฐ์ แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นลักษณะนิสัยการปฏิบัติตน รวมไปถึงคุณสมบัติของสตรีดังที่กล่าวมาแล้วได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะคุณสมบัติในด้านความรัก ความซื่อสัตย์ และความจงรักภักดีที่มีต่อสามีซึ่งมีเรื่องราวดังนี้

นางสีดา คือ พระลักษมีที่อวตารตามพระนารายณ์มาเป็นคู่ชีวิตของพระรามตามบัญชาพระอิศวร ได้ลงมาเกิดเป็นธิดาของทศกัณฐ์เจ้ากรุงลงกา และนางมณโฑ แต่ด้วยคำทำนายว่าจะเป็นกาลกิณีแห่งกรุงลงกา ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำใส่ผอบลอยน้ำไป พระฤๅษีชนก ซึ่งเดิมเป็นเจ้ากรุงมิถิลานามว่าท้าวชนกจักรวรรดิพบเข้าจึงได้เก็บไปเลี้ยง แต่เพราะมีทารกอยู่ในอาศรม พระฤๅษีเลยไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญภาวนาตามที่ตั้งใจไว้ จึงได้นำไปฝังไว้โดยฝากให้เหล่าเทพารักษ์ช่วยกันดูแล เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี พระฤๅษีก็รู้สึกเบื่อหน่ายในเพศพรหมจรรย์ จึงได้ลาเพศฤๅษีกลับไปครองเมือง และขุดนำทารกที่ฝังไว้ ซึ่งบัดนี้เจริญชันษาได้ ๑๖ ปีกลับไปด้วย ตั้งชื่อว่า สีดา แปลว่า รอยไถ แล้วจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางสีดาโดยประกาศเชิญให้เหล่ากษัตริย์ยกมหาธนูโมลีซึ่งพระราม โอรสท้าวทศรถแห่งอยุธยา หรือพระนารายณ์อวตารเป็นผู้ยกได้จึงได้นางสีดาไปครอง

หลังจากที่นางสีดาได้อภิเษกสมรสกับพระราม และติดตามสามีกลับมายังเมืองอยุธยาก็มีเหตุให้พระรามจำเป็นจะต้องออกบรรพชาถือเพศเป็นดาบส และไปอาศัยอยู่ในป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี โดยมีพระลักษมณ์ พระอนุชาของพระรามตามเสด็จด้วย นางสีดาก็มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความรักและความจงรักภักดีที่มีต่อพระรามผู้เป็นสวามี จึงได้เปลื้องเครื่องทรงออกบวชทรงเพศเป็นดาบสินีหมายจะตามเสด็จผู้เป็นสามีไปรับใช้ในป่า แม้พระรามจะทัดทานอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงได้ตามเสด็จพระรามและพระลักษมณ์มาอาศัยอยู่ในป่าซึ่งการออกบวชของนางสีดาในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักและความเด็ดเดี่ยวที่มีต่อสามี ที่จะขอติดตามไปปรนนิบัติรับใช้ในป่า ถึงแม้นางรู้ว่าอาจจะต้องพบเจอกับความลำบากและภยันตรายต่างๆ ดังคำประพันธ์ดังนี้


                 ด้วยจะแสนตรมใจเพราะไกลบาท  พระสามีธิราชรังสรรค์
                 ถึงจะยากลำบากในไพรวัน   จะสู้ดั้นโดยเสด็จพระทรงฤทธิ์
                 ขุกไข้จะได้ปรนนิบัติ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
                 แม้นตายไม่เสียดายชีวิต      ให้ทศทิศประจักษ์ว่าภักดี
                     (บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

การออกเดินทางไปในป่ากับพระรามและพระลักษมณ์ เป็นเหตุให้ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปยังกรุงลงกา สงครามระหว่างพระรามและทศกัณฐ์จึงได้อุบัติขึ้นเพื่อแย่งชิงนางสีดากลับคืน

นางสีดาถูกลักพาตัวมาอยู่ในกรุงลงกา ทศกัณฐ์พยายามที่จะเกี้ยวพาราสีนางสีดาอ้อนวอนให้ยินยอมเป็นมเหสีของตน แต่ก็ไม่สำเร็จ ทศกัณฐ์จึงพาลกริ้วเหล่านางกำนัลที่คอยอยู่ดูแลนางสีดา ว่าไม่ช่วยเกลี้ยกล่อมให้นางสีดาปลงใจด้วย นางกำนัลทั้งหลายจึงได้พากันไปต่อว่านางสีดา ความรู้สึกทั้งโกรธแค้นทศกัณฐ์และเจ็บใจวาจาของนางกำนัล จึงหนีไปผูกคอที่ใต้ต้นโศก แต่หนุมานทหารเอกของพระราม สามารถช่วยเหลือไว้ได้ทัน และทูลนางสีดาว่าพระรามกำลังติดตามมาช่วยเหลือ นางสีดาจึงเฝ้ารอด้วยความซื่อสัตย์ อดทน แม้หนุมานจะเชิญให้กลับไปพร้อมกับตนนางสีดาก็ปฏิเสธ ด้วยกลัวจะเป็นที่ครหา และจะเสื่อมเสียพระเกียรติได้ ตลอดเวลาที่อยู่กรุงลงกา นางสีดาก็ยังคงครองตนให้บริสุทธิ์จนกระทั่งสิ้นศึกลงกา

หลังจากปราบเหล่าอสูรจนสิ้นแล้ว พระรามก็มีความอาวรณ์คิดถึงนางสีดาเป็นอย่างมาก จึงให้พิเภกไปเชิญนางสีดามาเข้าเฝ้า เมื่อนางสีดาทราบข่าวจากพิเภกว่าพระรามสังหารทศกัณฐ์แล้ว ก็มีความยินดีเป็นอย่างมาก ความทุกข์ใจก็หายไปจนสิ้น แต่ก็ยังมีความกังวลว่าพระรามจะกังขาในความบริสุทธิ์ ด้วยอาศัยอยู่ในเมืองลงกากว่า ๑๔ ปี ก่อนที่จะไปเข้าเฝ้าพระราม จึงมีบทอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซึ่งเรื่องราวในตอนนี้ปรากฏอยู่ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เท่านั้น ความว่า


                 กูจะไปประณตบทบงสุ์      องค์พระหริวงศ์ทรงจักร
                 แต่ตกมาอยู่ในเมืองยักษ์    ลำบากยากนักมาช้านาน
                 มีแต่เดือดร้อนรำคาญใจ  มิได้ชำระสระสนาน
                 ระคนเหื่อเจือไคลทรมาน  ดั่งหญิงสาธารณ์อัปรีย์
                 ไม่ควรจะใกล้เบื้องบาท  พระภัสดาธิราชเรืองศรี
                 จำจะชำระอินทรีย์  ให้สิ้นราคีในกายา  
                   (บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

การที่นางสีดาปฏิบัติตัวเช่นนี้ อาจเกิดจากแนวคิดที่ว่า หากมีร่างกายที่สะอาดงดงามตลอดเวลา ทศกัณฐ์ก็จะยิ่งมีความต้องการในตัวนางสีดามากขึ้น นางสีดาจึงเจตนาประพฤติตนให้มัวหมอง เพื่อรักษาเกียรติและความบริสุทธิ์ไว้ให้ได้ความกลัวจะเป็นที่ครหายังไม่หมดสิ้นนางสีดาจึงได้ขอพิสูจน์เพลิง หรือการลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เพื่อให้ประจักษ์โดยทั่วกันว่ามิได้มีราคีมัวหมอง

พระรามเห็นความซื่อสัตย์สุจริตของนางสีดา จึงมีบัญชาให้จัดตั้งพิธีลุยไฟตามความประสงค์ โดยมีพระอินทร์และเหล่าเทวดานางฟ้าลงมาร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ และด้วยเดชะความซื่อสัตย์เมื่อนางสีดาขึ้นลุยกองไฟ ก็มีดอกบัวมารองบาท ทำให้ไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด พระอินทร์ เทวดานางฟ้า เหล่าวานรและอสูรที่อยู่ในพิธี ต่างก็ประจักษ์ในความซื่อสัตย์และความจงรักภักดีของนางสีดา และได้ร่วมยินดีที่นางสีดาพ้นจากข้อครหาและรักษาเกียรติไว้ได้

จากเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความซื่อสัตย์ที่นางสีดามีต่อพระราม อาจกล่าวได้ว่านางสีดา ถือเป็นตัวละครที่มีความเป็นเลิศทั้งรูปลักษณ์ ความงดงาม และการประพฤติตน โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก อันเป็นที่น่ายกย่องของสตรี
...กลุ่มเผยแพร่กรมศิลปากร - ที่มา