หัวข้อ: "วานรสิบแปดมงกุฎ" ทำไม? จากบทบาททหาร "ฝ่ายธรรมะ" นำไปสู่ "อธรรม" เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 พฤศจิกายน 2566 16:00:31 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/68291260095106_46483026_2187688781504785_1468.jpg) ขอขอบคุณ เพจ · ร้านศิลปะและหัตถกรรม (ที่มาภาพประกอบ) วานรสิบแปดมงกุฎ ผู้ที่เคยอ่านหรือดูโขนเรื่อง "รามเกียรติ์” จะทราบดีว่า คำว่า "๑๘ มงกุฎ” เป็นคำเรียกกลุ่มวานรที่มิใช่แค่พลลิงสามัญธรรมดา แต่จัดอยู่ในระดับลิงแถวหน้าเลยทีเดียว เพียงแต่ปัจจุบันน่าเสียดายว่า คำๆ นี้กลับหมายถึง พวกมิจฉาชีพที่ทำมาหากิน โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายหลอกลวงผู้อื่น ซึ่งมูลเหตุเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไป แต่ขอเล่าถึงความเป็นมาของ "วานรสิบแปดมงกุฎ” กันเสียก่อน "๑๘ มงกุฎ” หรือ "เสนาวานร ๑๘ ตน” เป็นหนึ่งในกลุ่มทหารเอกของพระราม ที่มีเครื่องสวมหัวเรียกว่า มงกุฎ มีข้อสันนิษฐานว่า มงกุฏ นั้นคือ พวงมาลาดอกไม้สดที่สวมหัวแต่เดิม ภายหลังเปลี่ยนดอกไม้สดเป็นทองประดับเพชรพลอยเพื่อความสวยงามและคงทนไม่เหี่ยวแห้ง ดังนั้น วานรสิบแปดมงกุฎจึงสวมมาลาทอง มิใช่ยอดแหลมสูง (จากเอกสารดร.เสาวณิต วิงวอน) วานรเหล่านี้มาจากเมืองขีดขินของสุครีพ และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู แต่ละตนล้วนแล้วแต่เป็นเทวดาอาสาแบ่งภาคมาช่วยพระรามหรือพระนารายณ์อวตารที่ลงมาปราบยักษ์คือทศกัณฐ์ทั้งสิ้น ดังบทละครรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงตอนนี้ว่า " เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่ ต่างทูลอาสาพระภูวไนย จะขอไปเป็นพลพระอวตาร มาล้างเหล่าอสูรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน” เทวดาเหล่านี้มีทั้งที่เป็นโอรสของมเหสักขเทวราช (เทวดาผู้เป็นใหญ่) เทวดานพเคราะห์ (เทวดาที่โคจรในราศี) โลกบาล (เทวดาผู้ดูแลทิศต่างๆ) และเทวดาประจำธรรมชาติ ดังนั้น สีกายของสิบแปดมงกุฎจึงเป็นไปตามสีกายเดิมของเทวดาที่แบ่งภาคมา โดยแต่ละตนมีชื่อเรียกและภูมิหลัง ดังต่อไปนี้ ๑ .เกยูร คือ ท้าววิรุฬหก ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศใต้ ได้แบ่งภาคมาเป็นเกยูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงแก่ มักปรากฏชื่อในกองทัพตอนรบกับเหล่าอสูร ๒. มายูร คือ ท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาค เป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก แบ่งภาคมาเป็นมายูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงอ่อน ได้รับการกล่าวถึงในกระบวนทัพเช่นเดียวกับเกยูร ๓. โกมุทหรือโคมุท คือ พระหิมพานต์ ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก รบชนะพวกยักษ์เสมอ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีดอกบัวโรย (บ้างก็ว่าหุบปาก) อยู่ในกองทัพที่รบกับอสูรเช่นกัน และเมื่อเสร็จศึกลงกาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขินคู่กับไชยามพวาน ๔. ไชยามพวาน คือ พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน ๕. ไวยบุตร คือ พระพิรุณ เทพแห่งฝน แบ่งภาคเป็นวานรเมืองขีดขินมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีเมฆคครึ้มฝน หรือสีมอครามแก่ ๖. สุรกานต์ คือ พระมหาชัยแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน คุมกำลัง ๓๐ สมุทรมาช่วยรบ เมื่อเสร็จศึกได้ครองเมืองโรมคัลซึ่งเป็นเมืองของยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเหลืองจำปา ๗. นิลเอก คือ พระพินายแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีทองแดงแก่ (บางแห่งก็ว่าหุบปาก) มีบทบาทในการรบไม่น้อย เช่น ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต ๘. นิลขัน คือ พระพิเนกหรือพระพิฆเนศแบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ช่วยพระรามรบกับพวกยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีหงดินแก่ หรือสีอิฐแก่ (หง คือ สีแดงเจือขาว) ๙. กุมิตัน คือ พระเกตุ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ มาแบ่งภาคมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด บ้างก็ว่าอยู่เมืองชมพู ปรากฏในคราวกระบวนทัพครั้งพระมงกุฎพระลบรบกับท้าวคนธรรพ์นุราช หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ (บางทีก็ว่าปากอ้า) สีทอง หรือ สีเหลืองรง (รง คือ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มียางสีเหลือง) ๑๐. นิลราช คือ พระสมุทร แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู นอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤาษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า(บ้างก็ว่าปากหุบ) สีน้ำไหลหรือสีฟ้าอ่อนเจือเขียว ๑๑. สัตพลี คือ พระจันทร์ หนึ่งในเทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน นอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ สีขาวผ่อง ๑๒. วิสันตราวี คือ พระอังคาร เทพแห่งสงคราม หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในตอนพระพระพรตพระสัตรุดทำศึกกับท้าวทศพิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแดงลิ้นจี่ ๑๓. สุรเสน คือ พระพุธ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแสด หรือสีเขียว ๑๔. นิลปานัน คือ พระราหู เทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพูมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีสำริด ๑๕. มาลุนทเกสร คือ พระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในคราวพระรามรบกับมังกรกัณฐ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีเมฆ หรือสีม่วงครามอ่อน ๑๖. นิลปาสัน คือ พระศุกร์ เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในการรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเลื่อมเหลือง หรือสีหมากสุก ๑๗. นิลพานร หรือ วิมล คือ พระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ที่แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในการรบตอนหกรถรบหกวานร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบสีดำหมึก ๑๘. เกสรทมาลา คือ พระไพศรพณ์ (อ่านว่า พะ-ไพ-สบ) แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน (บางแห่งว่าไม่ปรากฏเป็นฝ่ายใด) ปรากฏในตอนรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรอ้าปากสีเหลืองอ่อน หรือเลื่อมเหลือง เหล่าวานรสิบแปดมงกุฎได้รับพรจากพระอิศวรว่า แม้ต้องอาวุธตายแล้ว หากพระพายพัดมาก็จะกลับฟื้นเช่นเดียวกับหนุมาน ในตอนที่สหัสเดชะ เจ้าเมืองปางตาลยกทัพมาช่วยทศกัณฐ์รบ ในขณะที่ไพร่พลลิงอื่นๆล้วนหนีหายไปสิ้น เพราะสหัสเดชะได้รับพรมาจากพระพรหมว่า ศัตรูใดแค่เห็นหน้า ก็จะเกิดความกลัว หนีหายไปหมด แต่วานรสิบแปดมงกุฎกลับไม่ได้หนี ดังคำกลอนที่ว่า เหลือแต่สุครีพหนุมาน องคตชมพูพานทหารใหญ่ ทั้งสิบแปดมงกฎวุฒิไกร พิเภกผู้ไวปัญญา จึงเห็นได้ว่า นอกจากพญาลิงระดับบิ๊กๆ แล้ว วานรทั้งสิบแปดตน ล้วนไม่ธรรมดา มีอำนาจพิเศษเหนือกว่าไพร่พลลิงทั่วไป จึงไม่หวาดเกรงบารมีของท้าวสหัสเดชะ จะว่าไปแล้ว ท่านเหล่านี้ก็มาจากเทวดาระดับพี่เบิ้มทั้งนั้น ก็ต้องเหนือกว่าลิงที่มาจากเทวดาธรรมดาอยู่แล้ว และจากข้างต้น เมื่อพูดถึง "สิบแปดมงกุฎ” ที่หมายถึง เสนาวานรทั้งสิบแปดตน ผู้มาจากเทวดาแปลงนั้น เราจะเห็นว่าแต่ละตนล้วนมีกำเนิดสูง มีคุณสมบัติเก่งกล้าสามารถ เป็นทหารระดับหัวกะทิ อีกทั้งยังจัดอยู่ใน "ฝ่ายธรรมะ” หรือพวกดี แต่ทุกวันนี้ทำไมคำว่า "๑๘ มงกุฎ” จึงได้กลายมาเป็นคำที่มีความหมายลบ กลายเป็น "ฝ่ายอธรรม” หรือพวกร้ายไปได้ นั้น ในหนังสือ "สำนวนไทย" ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้เขียนไว้ว่า สิบแปดมงกุฎ นำมาใช้เป็นสำนวนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีนักเลงการพนันใหญ่ลือชื่อพวกหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นนักเลงชั้นยอด สักตามตัวเป็นรูปมงกุฎ จึงเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ตามเรื่องราวใน "รามเกียรติ์” จากนั้น ถ้าใครเป็นนักเลงการพนันก็เลยเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ซึ่งในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เรียกนักเลงการพนันเท่านั้น คำนี้ยังหมายรวมถึงพวกนักต้มตุ๋น หลอกลวง ยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนอีกด้วย ดังนั้น หากจะพูดถึง "๑๘ มงกุฎ” เฉยๆ คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสื่อมวลชนมักจะหมายถึง พวกมิจฉาชีพตามความหมายที่เปลี่ยนไป แต่ถ้าจะหมายถึง เหล่าเสนาวานรทหารเอกของพระรามแล้ว คงต้องใช้คำว่า "วานร ๑๘ มงกุฎ” แทน ทั้งนี้ เพื่อแยกฝ่ายดีและฝ่ายชั่วให้ชัดเจนออกไป ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม |