[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 ธันวาคม 2566 15:28:32



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์ (ถม) : ภาพเก่าเล่าเรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 ธันวาคม 2566 15:28:32

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91704344087176_15230677_776116822528409_75908.jpg)

พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย)
วัดมงกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร

พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เกิด พ.ศ.๒๔๐๐  นามเดิมว่า ถม  นามฉายาว่า วราสโย  เกิดเมื่อ ณ วันพุธ แรมค่ำ ๑  เดือนอ้าย  ปีระกา  จุลศักราช ๑๒๒๓  พ.ศ.๒๔๐๔ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เปนบุตรหลวงสิทธินายเวร ( ขำ สิทธิขมังกุร)  นายเวรมหาดเล็ก ข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  บ้านเดิมอยู่ที่ปากคลองคราม ในคลองบางกอกน้อย  จังหวัดธนบุรี ในรัชกาลที่ ๕ ถวายตัวเปนศิษย์ศึกษาในสำนักสมเด็จพระมหาสมณะแต่ยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  แล้วอุปสมบทที่วัดมงกุฎกษัตริย์ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๔๒๙

พระธรรมปาโมกข์ (ถม)  เป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน) แต่ภายหลังเกิดขัดพระทัยกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เรื่องตัดต้นไม้ ที่ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๔ ทรงปลูกภายในวัดมกุฏกษัตริย์ (หรือวัดพระนามบัญญัติ)  จึงขอพระราชทานทูลลาสิกขาบท  โปรดให้ออกจากตำแหน่งพระราชาคณะ เมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๔๖๒  แล้วย้ายไปอยู่วัดมัชฌันติการาม บางเขนในเดือนนั้น ครองตนเป็นอุบาสก ไม่มีครอบครัว สมาทานนิตยศีล บำเพ็ญทานการกุศลจนตลอดชีวิต เช่น อุทิศเงินสร้างกุฏิวราสัย ที่คณะนอก ๑ หลัง  ถวายที่ดินแก่วัดมกุฏกษัตริยารามและแก่วัดบวรนิเวศวิหาร  บริจาคเงินแก่มหามกุฏราชวิทยาลัย และถวายพระแก้วมรกตองค์น้อยเป็นสมบัติของวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นต้น

พระธรรมปาโมกข์ เป็นราชทินนามสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นธรรม ที่คิดตั้งขึ้นใหม่เฉพาะพระเถระในคณะธรรมยุต เริ่มแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๘ เป็นต้นมา ปัจจุบันมีพระเถระได้รับสมณศักดิ์ที่พระธรรมปาโมกข์ รวมทั้งสิ้น ๑๖ รูป รูปที่ ๑ ได้แก่ พระพรหมมุนี (แฟง) นามฉายาว่า กิตฺติสาโร วัดมกุฎกษัตริยาราม  โดย พระธรรมปาโมกข์ (ถม  วราสโย) วัดมงกุฎกษัตริยาราม เป็นพระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๓



(http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph___166.jpg)
                พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๑
                    (แฟง  กิตฺติสาโร)


หัวข้อ: Re: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร ป.ธ.๘) : ภาพเก่าเล่าเรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 ธันวาคม 2566 16:37:11
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81028841767046_130244449_1998097126997033_437.jpg)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร ป.ธ.๘)
อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
บุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย


สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤศจิกายน  (แรม ๔ ค่ำเดือน ๑๒) พ.ศ.๒๔๔๖ ณ บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเอื้อ ตามลำดับ เมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ของท่าน

เมื่ออายุ ๑๔ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี อาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ท่านเป็นบุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ (หรือแบบพองหนอ-ยุบหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ.๒๔๙๕

ขณะที่ดำรงสมณะศักดิ์ที่พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ได้ส่งพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก  ญาณสิทฺธิ) ขณะเป็นพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙ ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานสายของมหาสีสยาดอ ที่สำนักศาสนยิสสา ประเทศพม่าเป็นเวลา ๑ ปี แล้วนำกลับมาสอน พร้อมทั้งพระพม่า ๒ รูป คือ พระภัททันตะ อาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และพระอินทวังสเถระ กัมมัฏฐานาจริยะ โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่น ทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

การต้องอธิกรณ์
ใน พ.ศ.๒๕๐๓ เมื่อครั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมนั้น ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรคกับลูกศิษย์ และมีข่าวว่าพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) อยู่กับสีกาสองต่อสองในที่ลับหูลับตาหลายครั้ง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) จึงมีพระบัญชาให้ทั้งสองรูปพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส แต่ทั้งสองรูปปฏิเสธ โดยตั้งใจจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน คณะสังฆมนตรีของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) จึงมีมติว่าทั้งสองรูปฝ่าฝืนพระบัญชา ไม่ควรอยู่ในสมณศักดิ์ต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ถอดทั้งสองรูปออกจากสมณศักดิ์ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๓

ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๕ พระมหาอาจได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระเถระทั้งสองรูปคืนสู่สมณศักดิ์เดิมตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ คดีดังกล่าวนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

มรณภาพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อาพาธ และได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๑.๑๕ น. ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริชนมายุได้ ๘๖ ปี ๑ เดือน พรรษา ๖๖


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/11487118651469__Copy_.jpg)


หัวข้อ: Re: พระภิกษุไทยกลุ่มแรกที่ได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา : ภาพเก่าเล่าเรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 18 ธันวาคม 2566 19:36:10
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51099105386270_266631649_2305615262911883_543.jpg)

พระพิมลธรรม (ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถร) ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ ๑๒
ภายในพระมหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน  ถือเป็นพระภิกษุจากไทยกลุ่มแรกที่ได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปา
โดยพระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู ขณะนั้นท่านยังไม่ได้รับศีลบวช และกำลังศึกษาเทววิทยาอยู่ที่วิทยาลัยโปรปากันดา ฟีเด
ได้รับการฝากฝังจากนายไพโรจน์ ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำอิตาลี ให้ช่วยพาคณะพระภิกษุไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา
รวมถึงติดต่อเข้าพบกับพระคาร์ดินัลผู้เป็นสมณมนตรีประจำกระทรวงสำคัญๆ ของสันตะสำนัก


ขอขอบคุณที่มาเรื่อง/ภาพ : เพจพุทธศาสนา ไทย ลาว กัมพูชา
750


หัวข้อ: Re: สมเด็จ ๔ ครั้ง : ภาพเก่าเล่าเรื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 ธันวาคม 2566 16:09:34
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99875934918721_405133680_331555289489524_8743.jpg)
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทโว)
วัดสุทัศนเทพวราราม (สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ ๑๒)


สมเด็จ ๔ ครั้ง


สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ ๑๒

พระนามเดิมว่า แพ พงษ์ปาละ ประสูติที่คลองสาน ฝั่งธนบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙ พระชนกชื่อนุตร พงษ์ปาละ พระชนนีอ้น พงษ์ปาละ

เมื่อพระชันษาได้ ๗ ปี ได้ไปศึกษาอักษรสมัยกับสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ขณะยังเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร เมื่อสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ย้ายไปครองวัดราชบุรณราชวรวิหาร พระองค์ได้ย้ายตามไปด้วย ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ โดยมีสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อสมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) ย้ายไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ก็ให้รับพระองค์ไปอยู่ด้วย ขณะอยู่วัดพระเชุตพนฯ พระองค์ได้ศึกษากับสมเด็จพระวันรัตน์เป็นหลัก นอกจากนี้ก็ศึกษากับเสมียนตราสุขบ้าง พระโหราธิบดี (ชุ่ม) บ้าง อาจารย์โพบ้าง ได้อุปสมบทโดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ เข้าสอบพระปริยัติธรรมได้ ๕ ประโยค สมเด็จพระวันรัต (แดง) ตั้งให้เป็นฐานานุกรมที่ พระครูใบฎีกา พระครูมงคลวิลาส และพระครูวินัยธร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ เลื่อนเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี พระธรรมโกษาจารย์ พระพรหมมุนี ตามลำดับ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ถึง ๔ ครั้ง ดังนี้

       ๑. เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่อรัญวาสี ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖
       ๒. เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่คณะใต้ ที่ สมเด็จพระวันรัต เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒
       ๓. ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ แต่ยังคงใช้ราชทินนามที่ สมเด็จพระวันรัต
       ๔. ได้รับการเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒

สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๖  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ สิริพระชันษา ๘๘ ปี


เผยแพร่เป็นวิทยาทานโดย
     - พิกุลบรรณศาลา
     - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

750