หัวข้อ: เรื่อง สามัญญลักษณะ :พุทธทาสภิกขุ เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 ตุลาคม 2554 10:24:18 (http://t2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS4Qi5sEmDjBOFDlHCU6zfdfyKsRSW2P9IeVpnfDA49naNeNIxVzQ) เรื่อง สามัญญลักษณะ พุทธทาสภิกขุ เรื่องที่ควรทราบอีกเรื่องหนึ่ง ในฐานะที่เป็นทฤษฎีทั่วๆ ไป เกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ ก็คือ เรื่องสามัญญลักษณะ ได้แก่ ลักษณะแห่ง ความไม่เที่ยง ๑ ความเป็นทุกข์ ๑ ความเป็นอนัตตา ๑ ของสังขารทั่วๆ ไป นอกจากจะเรียก สามัญญลักษณะ แล้ว ยังเรียกว่า ไตรลักษณ์ หรือ ธรรมนิยาม หรือ ธรรมฐีติ ได้อีก (http://www.buddhadasa.com/images/budback.jpg) ที่ว่า เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับ เรื่องความทุกข์ นั้น หมายถึง การที่ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์ ทั้งในความหมายที่ว่าทนทรมาน ความหมายที่ว่า พิจารณาดูแล้ว น่าอิดหนาระอาใจ และความหมายที่ว่า ว่างอย่างน่าเกลียด ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่จะเบื่อหน่ายในความทุกข์ได้ ก็ต้องอาศัย การพิจารณาในลักษณะ เหล่านี้ ที่ผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ก็คือ ผู้ที่กำลังพิจารณาอยู่ในลักษณะเหล่านี้ ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อมีความ เห็นแจ้งแทงตลอด ในลักษณะเหล่านี้แล้ว ย่อมเกิดญาณ ซึ่งเป็นเครื่องทำลายอวิชชา และดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงถือว่า หลักธรรมเรื่อง สามัญญลักษณะ นี้ เป็นทฤษฎี ทั่วๆ ไป เกี่ยวกับความทุกข์ ที่เรียกว่า สามัญญลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่สามัญ คือ ทั่วไป แก่สังขารทั้งปวง ไม่ว่า สังขารที่ มีวิญญาณครอง หรือ ไม่มีวิญญาณครอง ย่อมประกอบอยู่ด้วย ลักษณะทั้ง ๓ นี้ ในฐานะเป็น กฏของธรรมชาติ สังขารทั้งหลาย จะมีลักษณะอื่น ต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ต้องมีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ลักษณะที่กล่าวนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้นามว่า สามัญญลักษณะ คำว่า สังขาร แปลว่า ปรุง (สัง = พร้อม + ขร = กระทำ) ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ถูกสิ่งอื่นปรุง และพร้อมกันนั้นมันก็ปรุงสิ่งอื่นต่อไปอีก ตัวอย่างเช่น อาหาร ที่เรารับประทาน ย่อมถูกปรุง จากธาตุต่างๆ ขึ้นด้วย อำนาจต่างๆ แล้วตัว มันเอง ก็ปรุง สิ่งอื่นต่อไป เช่น ปรุง ร่างกาย ของมนุษย์ และสัตว์ เป็นต้น ฉะนั้น ควรกำหนดให้ได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า สังขาร คือสิ่งที่ ถูกสิ่งอื่นปรุง แล้ว ก็ปรุง สิ่งอื่นต่อๆไป พร้อมกัน ไปในตัว ใน ขณะเดียวกัน, เปรียบเหมือนอิฐ ที่ซ้อนกันอยู่ หลายๆ แผ่น อิฐแผ่นหนึ่ง ย่อมถูกหนุนอยู่ โดยอิฐอีกแผ่นหนึ่ง พร้อมกันนั้น ก็ถูกทับอยู่โดย อิฐอีกแผ่นหนึ่ง เรียกว่า เป็นไปในขณะเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น โดยเหตุที่สังขาร เป็นสิ่งที่เพียงแต่ ถูกปรุงขึ้น ด้วยของ หลายสิ่ง มันจึงต้อง เปลี่ยนแปลง ไปตาม สิ่งที่ปรุงแต่งมันขึ้นมา จึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มันต้องชำรุด ทรุดโทรม ไปตามการ ทรุดโทรม ของสิ่งที่ปรุงแต่งมัน และมีลักษณะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะถูกสิ่งอื่น ปรุงแต่งอยู่เรื่อย ดังที่กล่าวแล้ว สังขารทั้งหลาย จึงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า อนิจจาลักษณะ มีลักษณะแห่งการทนทรมาน ซึ่งเรียกว่า ทุกขลักษณะ และ มีลักษณะแห่งความไม่เป็นตัวของตัว หรือ เป็นตัวของใครอื่น เรียกว่า อนัตตลักษณะ ซึ่งเรียก รวมๆ กันว่า ลักษณะที่ทั่วไป แก่สังขารทั้งปวง ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรลักษณ์ นั้น ใช้เรียกกัน ในภาษาไทย เพื่อความ สะดวก แปลว่า ลักษณะ ๓ อย่าง ซึ่งหมายถึง ลักษณะที่ กล่าวแล้วข้างต้น แต่ควรจะสังเกตว่า คำว่า ๓ อย่างในที่นี้ เป็นคำ บัญญัติเฉพาะ ซึ่งท่าน หมายถึง ลักษณะแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้น ควรจะจับใจความ สำคัญ ให้ได้ว่า เพราะ ลักษณะทั้ง ๓ นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงยอม ให้เอา จำนวนเลข ๓ นี้ ไปเป็นชื่อของ ลักษณะทั้ง ๓ นี้ โดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่า สาม จึงมิได้อยู่ที่เพียงแต่เป็นจำนวนนับ แต่มันไปอยู่ที่ ความสำคัญของ ลักษณะทั้ง ๓ นี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ ควร สนใจอย่างยิ่ง โดยแท้จริง ทำนองเดียวกับคำว่า แก้วสามดวง แต่เราหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฉันใดก็ฉันนั้น ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม แปลว่า บทนิยายของธรรม ซึ่งในที่นี้ได้แก่ ธรรมชาติ คำว่า นิยาม แปลว่า เครื่องกำหนด, ลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นลักษณะเครื่อง กำหนดให้ทราบได้ว่า เป็น กฏของธรรมชาติ ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งทั้งปวง, เรา ควรจะกล่าวว่า สิ่งใดเป็นไปใน กฏทั้ง ๓ นี้ สิ่งนั้นควรเรียกว่า เป็นไปตาม กฏของธรรมชาติ แต่เราไม่อาจ หรือ มีโอกาส ที่จะกล่าวข้อความประโยคนี้ เพราะว่า ไม่มีสิ่งใด ที่ไม่เป็นไปตามกฏนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวลักษณะ ทั้ง ๓ นี้ ว่า เป็น บทนิยามแห่งธรรม หัวข้อ: Re: เรื่อง สามัญญลักษณะ :พุทธทาสภิกขุ เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 ตุลาคม 2554 10:47:30 ที่เรียกว่า ธรรมฐีติ ซึ่งแปลว่า การตั้งอยู่แห่งธรรมนั้น หมายความว่า การ ตั้งอยู่ หรือมีอยู่ หรือ ปรากฏอยู่ แห่งธรรมชาติทั้งปวงนั้น ไม่มีอะไรอื่น นอกจาก ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อธิบายว่า ถ้าธรรม หรือ ธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตั้งอยู่ ตัวความตั้งอยู่ที่แท้จริงนั้น ก็คือ ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง กล่าวอย่างหนึ่ง ก็ว่า ถ้ามองเห็น ตัวธรรม หรือ ตัว ธรรมชาติที่แท้ อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ ก็คือ การมองเห็น ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง คำว่า อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยง ได้แก่ ความไม่หยุดอยู่ ในลักษณะเดียว แต่เปลี่ยนแปลงเรื่อย มีทางที่จะ กำหนดได้ ตั้งแต่ อย่างกว้าง หรือ อย่าง หยาบที่สุด ลงมาจนกระทั่ง ถึงอย่างแคบ หรือ อย่างละเอียด ที่สุด ที่ว่า อย่างกว้างที่สุด ตัวอย่างเช่น การกำหนด ด้วยการเอา ยุคเป็นประมาณ เช่น ยุคหนึ่ง ดวงอาทิตย์นี้ไม่มี โลกนี้ไม่มี พระจันทร์นี้ไม่มี ครั้นมาถึงยุคหนึ่ง ก็เกิดมี แม้ในยุค ที่เกิดมีขึ้นมาแล้ว ก็ยังแบ่งเป็นยุคๆ ย่อยลงไป ซึ่งเป็น เครื่องกำหนด ความเปลี่ยนแปลง ของโลกเรา จึงกล่าวได้ อย่าง หยาบๆ ขั้นหนึ่งก่อนว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ครั้นมาถึง ยุคที่มีสิ่งที่มีชีวิต ก็ยิ่งเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปใน สิ่งที่มีชีวิต นั้น รวดเร็ว และ รุนแรง ยิ่งกว่าที่เป็นไปในสิ่งที่ไม่มีชีวิต เสียอีก ปัญหาที่ต้องสะสาง จึงมา มีความสำคัญอยู่ที่สิ่งที่มีชีวิต ท่านจึงสอน ให้พิจารณาถึง ความไม่เที่ยง ของสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งเป็นตัวเจ้าของปัญหา หรือ ตัวเจ้าทุกข์ โดยเฉพาะ เป็นส่วนสำคัญ, ความไม่เที่ยง ของคนเราคนหนึ่งๆ ท่านแนะนำ ให้พิจารณาอย่างหยาบๆ เป็นวัยๆ ไป คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย หมายถึง การเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ และ เป็นคนแก่ชรา ซึ่งมีลักษณะ แห่งการเกิดขึ้น และปรากฏอยู่ชั่วคราว แล้วก็ตายไปในที่สุด ในที่บางแห่ง ท่านสอน ให้พิจารณา แคบเข้ามา โดยสมมุตว่า คนหนึ่งมีอายุ ๑๐๐ ปี แบ่งออกเป็น ๑๐ ระยะ ระยะเวลา ๑๐ ปี เรียกว่า ทสกะหนึ่งๆ เช่น ระยะแรก เรียก มัณททสกะ ตั้งแต่อายุ ๑-๑๐ ปี ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง ในเมื่อนำมา เปรียบเทียบกับ ทสกะที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่า ได้มีการแก่ชรา ไปตั้งแต่แรก เกิดมาทีเดียว เพราะมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง ไปสู่การแตกดับ อย่างเดียว เท่านั้น ถ้าให้แคบเข้ามากกว่านี้อีก เราก็อาจพิจารณาดู ด้วยตนเอง โดย กำหนด ระยะแห่งการพิจารณา ให้สั้นเข้าเป็น ปีหนึ่ง เดือนหนึ่ง หรือ วันหนึ่ง เป็นต้น แล้วเปรียบเทียบกันดู ก็จะเห็นลักษณะ แห่งการเปลี่ยน แปลง ที่เรียกว่า อนิจจลักษณะนั้น ได้ละเอียดยิ่งขึ้นตามส่วน ที่ละเอียด ยิ่งขี้นไปกว่านี้อีก ท่านแนะให้พิจารณา ในระยะสั้นกว่านั้น คือ ชั่วระยะ เวลาที่คนเรามีความคิดเรื่องหนึ่ง เกิดขึ้นในใจ แล้วความคิดนั้นก็ดับไป จะเป็นเวลาสั้นยาวเพียงใดก็ตาม ก็กล่าวได้ว่า ไม่เหมือนกันสักระยะเดียว ในระยะที่ความคิดแรกเกิดขึ้น บุคคลนั้นก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง ในระยะที่ ความคิดกำลังดำเนินอยู่ บุคคลนั้น ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ครั้นความคิด นั้นดับไปแล้ว บุคคลนั้น ก็มีลักษณะ อีกอย่างหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ความเปลี่ยน แปลง ทั้งทางรูปธรรม และนามธรรม ของคน หรือ สัตว์นั้น มีอยู่ติดต่อกัน ไม่ขาดสาย และ ถี่มากเกินกว่า ที่เคยนึก เคยคิดกัน ความคิดเรื่องหนึ่งๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ บางกรณี กินเวลาเพียง ๑ วินาที ก็ได้ เพราะฉะนั้น ในเวลา เพียง ๑ วินาที ความเป็น อนิจจัง ก็มีได้ ตั้งหลายระยะ ที่ละเอียด ยิ่งไปกว่านี้อีก ท่านสอน ให้พิจารณาถึง ขณะจิต ที่เกิดดับ อยู่อย่างถี่ยิบ จนเหลือที่ จะประมาณได้ ลักษณะแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทยอยกัน อยู่ในลักษณะ ที่คำนวณไม่ได้ว่า กี่หมื่น กี่พันครั้ง ใน ๑ วินาที ในครั้งหนึ่งๆ มี อนิจจลักษณะ ๓ ระยะ คือ ระยะแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ฉะนั้นจึงเป็นอันว่า ในส่วนของจิตนั้น ย่อมประกอบอยู่ด้วย อนิจจลักษณะ คำนวณไม่ไหว ในวินาทีหนึ่งๆ แม้ในเรื่อง ทางฝ่ายวัตถุล้วนๆ วิชาการ แห่ง ยุคปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า ความหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ของปรมาณูหนึ่งๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นสสารต่างๆนั้น มีรอบแห่งความหมุนเวียน ในระยะวินาทีหนึ่งๆ อย่างนับไม่ไหว เหมือนกัน เป็นอันกล่าวได้ว่า ทางฝ่ายรูปธรรมก็ดี ทางฝ่ายนามธรรมก็ดี มี(http://อนิจจลักษณะ) หรือความเป็นอนิจจัง ครอบงำ อยู่อย่างรุนแรง ควรจะเป็นที่ตั้ง แห่งความสลดสังเวช และความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด โดยแท้ หัวข้อ: Re: เรื่อง สามัญญลักษณะ :พุทธทาสภิกขุ เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 ตุลาคม 2554 10:51:15 คำว่า ทุกขัง แปลว่า ทนยาก หรือดูแล้วน่าระอาใจ หรือว่าง อย่างน่าเกลียด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ลักษณะแห่ง ความเป็นทุกข์ นี้ แฝงอยู่ใน ลักษณะ แห่ง ความไม่เที่ยง โดยใกล้ชิด ในบางกรณี ท่านไม่กล่าวถึง ลักษณะนี้ เพราะ นับรวมเข้า ด้วยกันเสียก็มี แต่ความหมายนั้น มีอยู่ต่างกัน อนิจจัง หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ทุกขัง หมายถึง ลักษณะแห่ง ความทนทรมาน หรือทำความทุกข์ ให้เกิดขึ้น แก่ผู้ที่เข้าไปยึดถือ หลักใหญ่ๆ มีอยู่ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ ข้อนี้หมายความว่า เพราะ ความเปลี่ยนแปลง นั่นเอง ทำให้เกิด ลักษณะอาการ ที่เรียกว่าเป็นความทุกข์ ขึ้นมา ถ้าไม่มี การเปลี่ยนแปลง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นต้น ก็มีไม่ได้ หรือพิจารณา ดูแล้วก็จะไม่น่าระอาใจ หรือ ไม่ดูเป็น ของไร้จากตัวตน โดยสิ้นเชิง เกี่ยวกับ ทุกขลักษณะนี้ ควรพิจารณา ให้เห็นลักษณะอาการแห่ง ความเป็นทุกข์ อย่างหนึ่ง ให้เห็นข้อที่ความทุกข์ เนื่องมาจาก ความเป็นอนิจจัง ดังที่กล่าว มาแล้ว อย่างหนึ่ง ความเห็นอย่างแรก ทำให้เกิดการเบื่อหน่าย ต่อสิ่งที่เป็นทุกข์ ความเห็นอย่างหลัง ทำให้เกิดโอกาส และ พบวิธี แห่งการปล่อยวาง คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควร ถือว่า เป็นตัวตน เป็นเพียงธรรมชาติล้วนๆ ที่หมุนไปตามอำนาจแห่งเหตุ และปัจจัย อยู่เป็น เนืองนิจ ลักษณะแห่ง ความเป็นอนัตตา นี้ ท่านแสดงไว้ต่างๆ กัน แต่รวม ใจความแล้ว ก็มุ่งหมาย ให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่เรียกว่า ตัวตน นั้น ไม่มี จริง เป็นเพียง ความไม่รู้ และสำคัญผิด ยึดถือ ว่าตัว ว่าตนขึ้น ด้วยอำนาจ สัญชาตญาณ คือ ความรู้สึก ที่เกิดได้เอง ตามธรรมชาติ ของสิ่งที่มีชีวิต ชนิดหนึ่ง เท่านั้น ท่านสอนให้พิจารณา ว่า คนๆ หนึ่ง ประกอบอยู่ด้วย ส่วน ๕ ส่วน คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละส่วนๆ ก็ไม่ใช่ ตัวตน ของมันเอง เป็นเพียงสังขาร ที่เปลี่ยนแปลง ไปตามเหตุ ตามปัจจัย ดังที่กล่าวแล้วในตอน อันว่าด้วย สังขาร เมื่อแต่ละส่วน ไม่ใช่ตน แล้ว ทั้งหมดนั้น จะเป็นตน ไปได้อย่างไร แม้ว่า จะมีลักษณะอาการแปลก ประหลาด หรือ วิจิตร ประณีต ยิ่งไปกว่าเดิมมาก ที่ว่า แต่ละส่วนๆ ไม่ใช่ตัวตนนั้น ท่านสอนให้พิจารณาว่า แต่ละส่วนๆ ย่อมเป็นไปเพื่อ อาพาธ คือ การบุบสลาย ชำรุด ทรุดโทรม ถ้าแต่ละส่วน เป็นตัวตน แท้จริงแล้ว มันจะไม่ควร ชำรุด ทรุดโทรม หรือ เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุที่มีการชำรุดทรุดโทรม หรือ เปลี่ยนแปลงเป็นเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุที่มีการ ชำรุดทรุดโทรม ไม่อยู่ในอำนาจ ในตัวของ มันเอง จึงถือว่า มันไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่ตัวกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหนึ่ง นี่เรียกว่า พิจารณา โดยถือเอาการชำรุด ทรุดโทรม หรือที่เรียกว่า อาพาธ เป็นหลัก อีกอย่างหนึ่ง ให้เริ่มพิจาณาโดยเอาความเปลี่ยนแปลง เป็นหลัก เช่น ตั้งปัญหาว่า ส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งๆ ที่กล่าวนั้น เป็นของไม่เที่ยง ถ้าไม่เที่ยงจะเป็นสุขหรือทุกข์ ถ้าเป็นทุกข์ เพราะความไม่เที่ยง แปรปรวน เป็นธรรมดา จะถือว่า มันเป็นเรา หรือ เป็นของเราได้อย่างไรกัน เพราะ มันมีลักษณะเหมือนของที่ฝันเห็น ครั้นตื่นขึ้นมาก็หายไป หรือเหมือนกับของที่ยืมเขามา ไม่เท่าไรก็ต้องส่งคืน หรือเหมือนกับสิ่งที่พบเข้ากลางทาง เสร็จแล้ว ก็ต้องเดินเลยไป ทิ้งมันไว้ที่ตรงนั้น ดังนี้ เป็นต้น รวมความแล้ว ก็คือ มีลักษณะ แห่งการที่ใครๆไม่อาจจะเข้าไป เป็นเจ้าของได้ และเป็น เจ้าของตัวมันเอง ก็ไม่ได้ จึงได้เรียกว่า "อนัตตา" ดังนี้ หัวข้อ: Re: เรื่อง สามัญญลักษณะ :พุทธทาสภิกขุ เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 19 ตุลาคม 2554 11:03:08 บาลีแห่งบทที่แสดงอนัตตานี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านไม่ใช้ คำว่า สังขาร ทั้งหลาย เหมือนใน ๒ ข้อแรก แต่ท่านใช้คำว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา นี้ย่อมแสดงว่า ขอบเขต แห่งสิ่งที่เป็น อนัตตา นี้ กว้าง กว่า ขอบเขตแห่ง สิ่งที่ไม่เที่ยง และ เป็นทุกข์ สิ่งที่ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ได้แก่ สังขารทั้งปวง ส่วนสิ่งที่เป็นอนัตตานี้ หมายถึง ทุกสิ่ง ทั้งที่เป็นสังขาร และไม่ใช่สังขาร สิ่งที่ไม่ใช่สังขาร คือ สิ่งที่ตรงข้ามจากสังขาร โดยประการทั้งปวง ได้แก่ วิสังขาร ซึ่งโดยเฉพาะ ได้แก่ สภาวะ ที่เรียกว่า นิพพาน คือ สภาวะพิเศษ อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ปรุงแต่ง อยู่นอกอำนาจ หรือ นอกขอบเขต ของการปรุง แต่ถึงอย่างนั้น สภาวะนั้น ก็เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ของมันเอง หรือ ของใคร คงให้เรียกแต่ว่า วิสังขาร หรือ นิพพาน หรือ สิ่งที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ดังนี้เป็นต้น ไปตามเรื่องของมัน อย่าได้เข้าใจว่า เมื่อสังขาร เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้าม คือ วิสังขาร ก็จะเป็น ตัวตน ดังนี้เลย ทั้งนี้เพราะเหตุใด ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า ความรู้สึกว่า เป็นตัว ตนนั้น เป็นเพียงของลมๆ แล้งๆ ที่เกิดขึ้นเพราะอวิชชา และอุปาทานทั้งนั้น ลักษณะทั้ง ๓ นี้ ท่านเรียกว่า ธรรมฐีติ เป็นของที่ตั้งอยู่เองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสไว้ในธรรมนิยามสูตร เป็นใจความว่า ตถาคต จะ เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม สังขารทั้งปวง ก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา อยู่เช่นนั้นเสมอไป นี้เป็นเครื่องแสดงว่า กฏอันเกี่ยวกับ สัจธรรม นั้น ไม่เนื่องด้วย พระพุทธเจ้า โดยตรง แต่เป็น เรื่องของธรรมชาติ โดยเฉพาะ พระพุทธเจ้า เป็นแต่เพียง ผู้ทราบกฏ อันนี้ และ ทราบหนทางที่ถูกต้อง ที่ พึงจะปฏิบัติ ต่อสิ่งเหล่านั้น ในลักษณะ ที่จะไม่ทำให้ เกิดความทุกข์ขึ้น สามัญญลักษณะทั้ง ๓ นี้ ก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ พระองค์ ทรงมองเห็นถึง ที่สุด จนนำมาใช้ เป็นประโยชน์ เพื่อกำจัดความทุกข์ และก็ต้องใช้ได้ตลอด ไป คือว่า พระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น ก็ตาม เช่นเดียวกัน ผู้ปฏิบัติ จะต้องสนใจ ในความจริงข้อนี้ ให้มาก อีกอย่างหนึ่ง ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์ ขุททกนิกายว่า เมื่อมีปัญญาเห็นว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา แล้ว ก็จะเกิด ความเบื่อหน่าย ในสิ่งที่เป็นทุกข์ คือสิ่งที่ไม่เที่ยง แต่ตนสำคัญผิดว่า เที่ยง คือสิ่งที่แท้จริงเป็นทุกข์ แต่ตนสำคัญผิดว่า เป็นสุข และสิ่งซึ่ง เป็นอนัตตา แต่ตนสำคัญผิดว่า เป็นอัตตา เมื่อมีปัญญา ถึงขนาดนี้ ตัว ปัญญานั่นเอง เป็นทางแห่ง ความหมดจด จากทุกข์ กล่าวคือ นิพพาน ทั้งหมดนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า เรื่องอันเกี่ยวกับ ไตรลักษณ์ หรือ สามัญญลักษณะ นี้ เป็นใจความสำคัญ เพราะ เป็นเรื่องแสดงให้เห็น ความทุกข์ แล้วนำมาซึ่ง ทางแห่งความดับทุกข์ และเป็นเรื่องซึ่ง ทรง ย้ำมากที่สุด ทรงสั่งสอนมาก ที่สุด กว่าเรื่องทั้งหลาย ควรที่จะ ได้รับการสนใจ เป็นพิเศษ จบตอนที่ ๑ หมวดธรรมะประเภททฤษฎีฝ่ายทุกข์ คัดจาก หนังสือ ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี หรือ ธรรมวิภาค นวกภูมิ คำบรรยายธรรมะ ของ พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ (http://free-zg.t-com.hr/Pija/Jesen/pija_fall6.gif) Credit by :http://www.buddhadasa.com/rightstudydham/triluk.html อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ |