[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 13 มกราคม 2567 15:24:49



หัวข้อ: นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง โดย พอจ.สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 มกราคม 2567 15:24:49
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54868367852436_414484221_940458630795627_2824.jpg)

นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหาก็มีอยู่ง่ายๆคือ เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ไม่ลุกจากเก้าอี้จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้ จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้ มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้ ต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้ ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ ห้ามเถลไถลไปที่อื่น เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้ ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ดูว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่ น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรากับของกิเลสตัณหา ใครจะมีมากกว่ากัน

นี่เป็นวิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้ นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่ เวลาเกิดความอยากลุก ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔ ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข เพราะใจไม่สงบ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ที่จะดับความอยาก ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา กำหนดสถานที่ กำหนดเงื่อนไข ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่คลุกคลีกัน ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง ควบคุมการบริโภคอาหาร รับประทานพอประมาณ รับประทานมื้อเดียวก็พอ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้ แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา จะนั่งเฉยๆได้ จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข ที่ดีกว่าความสุข ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์ เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก จะสุขตอนที่ได้เสพ แต่สุขเดี๋ยวเดียว เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย.