หัวข้อ: ถ้าร่างกายเป็นอะไรไป ก็ขอให้คิดถึงเทศน์กัณฑ์นี้ โดย พอจ.สุชาติ อภิชาโต เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 18:17:34 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54753945602310_417450603_967987841376039_2113.jpg) ถ้าร่างกายเป็นอะไรไป ก็ขอให้คิดถึงเทศน์กัณฑ์นี้ พระธรรมคำสอน พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อ.บางละมุง จ.ขลบุรี ความเจริญหรือเสื่อม อยู่ที่กรรมคือการกระทำ ดีหรือชั่ว ดีก็เจริญ เหตุที่ทำดีแล้วยังไม่เจริญ เพราะกำลังรับผลของบาปกรรมเก่าที่ทำมาในอดีต ที่มาส่งผลในตอนนี้ ส่วนกรรมดีที่ทำในวันนี้ยังไม่ออกดอกออกผล ก็เลยคิดว่าทำดีไม่ได้ดี เห็นคนทำชั่วแล้วได้ดีก็เลยสับสน ถ้าเป็นพระโสดาบันจะไม่สงสัยหลักกรรม ทำดีได้ดี เพียงแต่ว่าผลจะปรากฏเมื่อไหร่เท่านั้นเอง ทำดีทำชั่ววันนี้ผลยังไม่ปรากฏ ผลที่ปรากฏในวันนี้เป็นผลของกรรมในอดีต ก็เลยคิดว่าทำชั่วแล้วได้ดี ทำดีแล้วได้ชั่ว ก็เลยคิดว่าทำดีไปทำไมให้เหนื่อยเปล่าๆ นี่เป็นเพราะยังไม่เข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างแท้จริง แต่พระโสดาบันเข้าใจแล้ว จะไม่ไปสะเดาะเคราะห์ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ถ้าตอนนี้ตกระกำลำบากก็รับมันไป เดี๋ยวก็หมดไปเอง แต่จะรักษาความดีไว้ต่อไป เวลาตกทุกข์ได้ยากขาดเงินขาดทอง ก็จะไม่ไปฉ้อโกง ไม่ไปลักขโมย ไม่ไปทำผิดศีล เพื่อจะได้เงินทองมา อดอยากขาดแคลนไม่มีอาหารรับประทาน ก็จะไม่ไปยิงนกตกปลามาเป็นอาหาร เก็บผักกินไป มีอะไรกินได้ก็กินไป กินไม่ได้ก็อดไป นี่คือเรื่องสีลัพพตปรามาส ยังยึดติดอยู่กับพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ที่จะแก้ความตกต่ำได้ แก้ไม่ได้ มีแต่จะทำบาปมากขึ้น เช่นเอาแกะเอาแพะมาฆ่า ส่วนความสุขละเอียดที่อยู่ในจิต เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในขณะที่จิตสงบ เป็นความสุขของรูปฌานหรืออรูปฌาน แต่ก็เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน เพราะสมาธิยังเสื่อมได้ ถ้าติดความสุขที่ละเอียดนี้ ก็จะอยากให้สุขไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเกิดความทุกข์ที่ละเอียดขึ้นมาในจิต ก็ต้องเข้าใจว่ามันเปลี่ยนได้ อย่าไปยึดไปติด ถ้าสุขก็ให้รู้ว่าสุข ไม่สุขก็ให้รู้ว่าไม่สุข อย่าไปรักษาความสุขที่ละเอียดนี้ เพราะยิ่งพยายามรักษาก็จะยิ่งทุกข์ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ พอปล่อยแล้วก็จะหายไปเอง เหลือความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ถูกความสุขที่ละเอียดปิดบัง พอปล่อยความสุขนี้ไป ก็จะเหลือแต่ความสุขที่เป็นปรมังสุึขัง เป็นความสุขที่แท้จริง ที่ไม่มีวันเสื่อม ความสุขของจิตนี้ไม่ขึ้นกับกาลและสถานที่ สามารถสร้างความสุขนี้ได้ทุกแห่งทุกหน ถ้าจิตมีกำลังพอที่จะแหวกว่ายฟันฝ่านิวรณ์ต่างๆ ที่ขวางกั้นความสงบของจิต เช่นกามฉันทะ ความอยากในกามรส ถ้าอยากไปเที่ยวจะนั่งสมาธิไม่ได้ อยากจะดูหนังฟังเพลง อยากจะกินนั่นกินนี่ อย่าไปคิดถึงเรื่องนั่งสมาธิให้เสียเวลา ทำไม่ได้ ต้องตัดกามฉันทะก่อน ถ้าจิตมีพลังมากแล้ว พอผลักเบาๆเท่านั้น นิวรณ์ต่างๆก็จะล้มระเนระนาดไปหมดเลย แต่ถ้าจิตยังไม่มีกำลัง ผลักอย่างไรก็ไม่ล้ม มีแต่จะผลักกลับหรือลากเราไป ผู้ที่ต้องการพบกับความสุขภายในจิตจะต้องข้ามนิวรณ์ทั้ง ๕ ไปให้ได้ ถ้าเป็นวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในความสามารถของตนว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ต้องเปรียบเทียบตัวเรากับพระพุทธเจ้าและพระสาวก ท่านก็เป็นคนธรรมดามีอาการ ๓๒ เหมือนเรา ท่านทำได้เราก็ต้องทำได้ ท่านมีใจเราก็มีใจ ท่านมีกายเราก็มีกาย ต้องหาอุบายคิดขึ้นมา เราสบายกว่าท่านเสียอีก เพราะท่านไม่มีใครสอน พระพุทธเจ้าต้องหาทางเอง เรามีคนคอยบอกคอยสอนคอยลากคอยจูง เราเพียงทำตามเท่านั้นเอง ความลังเลสงสัยก็จะหายไป ถ้าเป็นกามฉันทะ ก็ต้องสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปดูอย่าไปฟังในสิ่งที่อยากดูอยากฟัง เหมือนกับคนที่จะอดเหล้าอดบุหรี่ อย่าไปอยู่ใกล้เหล้าใกล้บุหรี่ อยากจะอดบุหรี่ก็ไปอยู่ในป่า ไปอยู่วัดที่ไม่มีบุหรี่ เวลาอยากสูบก็ข่มใจเอาไว้ ไม่ได้สูบบุหรี่ไม่ตายหรอก ไม่หายใจต่างหากที่ทำให้ตาย คนอื่นเขาอยู่ได้ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ ไปอยู่กับกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีบุหรี่ให้สูบเดี๋ยวก็เลิกได้ ต้องไปปลีกวิเวก อยู่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ที่ยั่วยวนกวนใจ ที่ต้องไปอยู่ที่วัดกัน เพราะอยู่บ้านปฏิบัติไม่ได้ เพราะใจไม่มีกำลังพอที่จะฝืนความยั่วยวน ของรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แต่ถ้ามีกำลังพอไม่ต้องไปวัดก็ได้ ไม่กินไม่ฟังไม่ดูเสียอย่าง ก็หมดปัญหาไปเอง ถ้าเป็นถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ก็อย่ากินมาก กินพอประมาณ ถ้ายังง่วงอยู่ก็ไปอยู่ที่น่ากลัวๆ อยู่ในป่าช้า อยู่ในป่าเปลี่ยว ถ้าเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ก็ต้องใช้ปัญญาระงับ พิจารณาความตาย ความพลัดพรากจากกันว่าเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอด ไม่เสียวันนี้ก็ต้องเสียวันหน้า ถ้าไม่สามารถรักษามันได้ มันก็ต้องจากเราไป อะไรที่จะอยู่กับเรามันก็จะอยู่ อะไรที่จะไม่อยู่มันก็จะไม่อยู่ คิดอย่างนี้ความฟุ้งซ่านก็จะหายไป ถ้าอยากได้นั่นได้นี่ก็ทำให้ดีที่สุด ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ยอมรับความจริง ความฟุ้งซ่านก็จะหายไป ถ้าเป็นพยาบาท ไม่พอใจ เวลาเห็นคนทำนั่นทำนี่ เช่นจะนั่งสมาธิคนอื่นเปิดโทรทัศน์เปิดวิทยุเสียงลั่น ก็อย่าไปโกรธ อย่าไปถือสา เป็นปกติของเขา ไปบังคับไปห้ามเขาไม่ได้ ให้คิดอย่างนี้ พยายามทำตัวเป็นแจ๋วไว้ ถ้าเป็นแจ๋วแล้วอยู่ที่ไหนก็จะไม่มีปัญหา ถ้าทำตัวใหญ่ พอใครทำอะไรไม่ถูกใจก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ ต้องยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ฝนจะตกแดดจะออกก็อย่าไปโกรธ ใครจะเปิดวิทยุ ใครจะส่งเสียงดัง ก็อย่าไปโกรธ ถ้านั่งตรงนี้ไม่ได้ก็ไปนั่งที่อื่นก็ได้ ถ้าผ่านนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ได้ จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ ต้องมีสติคอยดึงจิตไว้ด้วย ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ นิวรณ์เกิดจากการไม่มีสติ ทำให้คิดเรื่องกามฉันทะ ทำให้คิดลังเลสงสัยในความสามารถของตน ให้โกรธคนนั้นโกรธคนนี้ เกิดจากการขาดสติเป็นหลัก ถ้ามีสติดีๆแล้วก็จะดึงอยู่ บริกรรมพุทโธๆๆอย่างเดียวทุกอย่างก็จบ ถ้าเกาะอยู่กับกรรมฐานได้ อยู่ที่ไหนก็ภาวนาได้ อยู่ในโรงหนังในโรงละครในผับก็ภาวนาได้ นี่คือเรื่องของการเข้าสู่ความสงบของใจ เข้าสู่ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ ความสุขทางตัณหามีเงื่อนไขมาก ไหนจะต้องมีร่างกายที่สมบรูณ์ สิ่งต่างๆที่ต้องการก็ต้องได้ดังใจ ถ้าตาบอดก็จะดูอะไรไม่ได้ อยากจะดูหนังก็ดูไม่ได้ ส่วนความสุขใจนี้ ตาบอดก็ยังมีได้ หูหนวกก็ยังมีได้ ไม่มีร่างกายก็ยังมีได้ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระพุทธเจ้าเวลาปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีร่างกาย แต่จิตของท่านก็ยังเป็นปรมังสุขังอยู่ จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย จิตไม่ต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ จิตมีความสุขอยู่ในตัว ด้วยการแหวกว่ายนิวรณ์ ๕ ด้วยการดับตัณหาดับกิเลสต่างๆ ถ้าร่างกายเป็นอะไรไปก็ขอให้คิดถึงเทศน์กัณฑ์นี้ อย่าไปกระเสือกกระสนหากามสุข รีบภาวนา รีบทำจิตให้สงบ ไม่ต้องออกไปข้างนอก ใครจะไปไหนมาไหนก็เรื่องของเขา ถ้าฉลาดจะรู้ว่าอยู่บ้านดีกว่าออกไป ออกไปแล้วเหนื่อย ต้องอาบน้ำอาบท่าแต่งเนื้อแต่งตัว ต้องเดินทางไป ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำจิตให้สงบ ไม่ต้องอาบน้ำอาบท่า ไม่มีเงิน ไม่มีรถ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทำได้ ถ้าหาความสุขทางโลก ก็ต้องมีหลายปัจจัยด้วยกัน เงินทองต้องพร้อม ร่างกายต้องพร้อม รถต้องพร้อม สิ่งที่ต้องการก็ต้องพร้อม ต้องมีหนังดีๆให้ดู มีละครเด็ดๆให้ดู ถึงจะมีความสุข มีอาหารรสอร่อยให้รับประทาน แสนจะเหนื่อยยาก สู้ต่อสู้กับกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจดีกว่า พอชนะมันแล้วมันก็จะแพ้เราไปตลอด อย่าไปยึดติดกับร่างกาย อย่าไปอาศัยร่างกายหาความสุข อย่าไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้หาความสุขจากการทำจิตให้สงบ ด้วยการขัดเกลากิเลสให้หมดไปจากใจ จะได้ความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่ทรงตรัสไว้ว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง สุขที่เหนือกว่าความสงบของจิตนี้ไม่มี. |