[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2567 18:17:14



หัวข้อ: วัดนอกปากทะเล (ชม วิหารเรือสำเภา) ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 พฤษภาคม 2567 18:17:14

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94188026214639_1_Copy_.jpg)
เรือเภตรานิพพานัง วิหารเรือสำเภาขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านหันหน้าสู่ทะเล ศรัทธาน่าเลื่อมใส อดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปสักการะ
วิหารนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ แล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๕๖๑ (ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๒๑ ล้านบาท)



วัดนอกปากทะเล
ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

วัดนอกปากทะเล ตั้งอยู่ที่ถนนเส้นบ้านแหลม – หาดเจ้าสำราญ ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ตำบลปากทะเล มีวัดอยู่สองวัด เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชนมาแต่โบราณ ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้าน แต่ขยายความด้วยคำว่านอกและในให้ต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ที่ตั้งวัด  กล่าวคือ วัดปากทะเลนอกนั้น หมายถึงอยู่ด้านนอกติดกับทะเล  ส่วนวัดในปากทะเล หมายถึงอยู่ลึกในแผ่นดินเข้ามา  แต่ปัจจุบันวัดนอกกลับเข้ามาอยู่ข้างในลึกกว่าวัดในเข้ามาอีกเกือบกิโลเมตร  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา บริเวณที่ตั้งของวัดนอกปากทะเลถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจนเข้ามาถึงตัววัด พระสงฆ์และชาวบ้านจึงร่วมใจกันย้ายวัดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน นับแต่นั้นมา วัดนอกปากทะเลจึงอยู่ด้านใน  วัดในปากทะเลจึงอยู่ด้านนอกใกล้ทะเลมากกว่า

วัดนอกปากทะเล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ในตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  ประวัติ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ปรากกฎวัดนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับเมืองเพชรบุรี ในจดหมายเหตุราชกิจรายวัน  มีข้อความว่า "…เวลาบ่ายเสด็จออกจากเมืองเพ็ชรบุรี มาประทับแรมตำบลบ้านแหลมประพาสวัดนอก"  ซึ่งน่าจะหมายถึง วัดนอกปากทะเลนี้เอง  ส่วนข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙  

วัดนอกปากทะเลมีสิ่งสำคัญในวัดได้แก่

- อุโบสถ ไม้สักขนาดความยาวสามห้อง ฝาเข้าไม้แบบปะกน ยกพื้นสูงให้พ้นน้ำ  โบสถ์ไม้นี้เป็นที่นิยมสำหรับวัดในแถบชายทะเลเพราะหาวัสดุง่าย ทนทานกว่าก่อด้วยปูนขาว ซึ่งถูกไอทะเลกัดกร่อนได้  ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางสมาธิ นามว่า หลวงพ่อเทพนฤมิตร และพระสาวก  

- ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาชั้นเดียวมุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ สีขาวสลับแดง ในส่วนสีแดง มุงเรียงเป็นตัวอักษรระบุปีสร้าง คือ ร.ศ.117 (พ.ศ.2443)  เครื่องลำยองไม้ประดับกระจก เดิมมีการตกแต่งหน้าบันด้วยแต่ชำรุดเกือบหมด ยังพอเห็นร่องรอยทางด้านทิศตะวันตกเป็นรูปราหูอมจันทร์ ฝาเป็นแบบฝาปะกน เจาะหน้าต่างสลับกับช่องแสงที่ใช้ไม้ระแนงตีเว้นร่อง

- หอระฆังเป็นอาคารไม้ทรงสูง สภาพชำรุดมากเหลือเฉพาะส่วนหลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์และเสาไม้จำนวน ๔ ต้น

- วิหารเภตรานิพพานัง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม และพระอุปคุต  มีลักษณะเป็นรูปเรือสำเภา ความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สูง ๓๘ เมตร  ตัววิหารเป็นที่รวบรวมศิลปะผสมผสานไทยและจีน หน้าต่างเป็นงานแกะสลักไม้ตะเคียน ภายในมีภาพเขียนลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ประดับอยู่ทั่วผนังวิหาร รอบวิหารรายล้อมด้วยประติมากรรมปูนปั้นจากวรรณกรรมเรื่องสังข์ทอง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/23988268938329_7_Copy_.jpg)
อุโบสถวัดนอกปากทะเล ถ่ายภาพเสียไกล ในที่ร่มเงา เนื่องจากหลบแสงแดดแรงกล้ามาก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/94188026214639_1_Copy_.jpg)
เรือเภตรานิพพานัง : แนวคิดการสร้างสื่อถึงความหมายประดุจว่าเป็นพาหนะในการนำพาพุทธศาสนิกชนข้ามวัฏสงสารไปสู่นิพพานด้วยการปฏิบัติธรรม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/62015728983614_2_Copy_.jpg)
พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม และพระอุปคุต  ในวิหารเรือเภตรานิพพานัง เห็นได้ในระยะไกล
(ถ่ายภาพจากด้านนอกพระวิหาร - รู้สึกตัวว่าการแต่งกายไม่สุภาพที่จะก้าวล่วงเข้าไปในพระวิหาร เนื่องจากใส่กางเกงกระโปรงสั้นแค่เข่า


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/93632260999745_3_Copy_.jpg)
ด้านหน้าวิหารเรือเภตรานิพพานัง

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/17378226667642_4_Copy_.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46410451498296_9_Copy_.jpg)
ประติมากรรมงานปูนปั้นในวรรณคดีเรื่อง "สังข์ทอง" มีอยู่มากโดยรอบๆ พระวิหาร

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74668669783406_6_Copy_.jpg)
ประติมากรรมรูปเด็กออกมาจากหอยสังข์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/74088468650976_5_Copy_.jpg)
มีการสันนิษฐานว่า เรื่อง “สังข์ทอง” เป็นวรรณคดีที่มีเค้าโครงมาจากเรื่อง “สุวรรณสังขชาดก” มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
และใช้ในการแสดงละคร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบท
ละครนอกเรื่องสังข์ทอง มีตัวเอกในเรื่องคือ “พระสังข์”   เรื่องสังข์ทองแพร่หลายไปท้องที่ต่างๆ บางแห่งปรากฏเป็นภาพ
จิตรกรรมฝาผนัง เช่นที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายเรื่องสังข์ทองไว้ว่า
“...นิทานเรื่องสังข์ทองนี้มีในคัมภีร์ปัญญาสชาดก เรียกว่าสุวัณณสังขชาดก ถึงเชื่อถือกันว่าเป็นเรื่องจริง  พวกชาวเมืองเหนือ
อ้างว่าเมืองทุ่งยั้ง (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์) เป็นเมืองท้าวสามนต์   ยังมีลานศิลาแลงแห่ง ๑  ว่าเป็น
สนามคลีของพระสังข์ อยู่ไม่ห่างวัดพระมหาธาตุนัก ที่ในวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ ฝาผนังก็เขียนเรื่องสังข์ทอง เป็นฝีมือช่าง
ครั้งกรุงเก่ายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็อ้างว่า เมืองตะกั่วป่า (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า
จ.พังงา เป็นเมืองท้าวสามนต์อีกแห่ง ๑ เรียกภูเขาลูก ๑ ว่าเขาขมังม้า อธิบายว่าเมืองพระสังข์ตีคลีชนะ ได้ขี่ม้าเหาะข้ามภูเขา
นั้นไปดังนี้…”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/54977162844604_8_Copy_.jpg)
เสนาสนะ วัดนอกปากทะเล จ.เพชรบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/73016788520746_10_Copy_.jpg)
ด้านหลังรูปปั้้นปลาหมึก หน้าวิหารเรือสำเภา เป็นแหล่งทำนาเกลือของชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี และเลยไปลิบๆ จะเห็นทะเลอันกว้างไกล


 
ที่มาข้อมูล
     - เว็บไซต์ กรมศิลปากร
     - เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     - เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล