หัวข้อ: "ไก่ไห้" สมุนไพร ในจารึกวัดโพธิ์ เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 10 พฤษภาคม 2567 19:13:17 (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/04/herbs-2281-696x418.jpg) ไก่ไห้ ในจารึกวัดโพธิ์ ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 พฤษภาคม 2567 คอลัมน์ - โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ไก่ไห้ เป็นสมุนไพรที่มีอยู่ในจารึกวัดโพธิ์ เป็นสมุนไพรที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย จึงมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น งัวเลีย (ขอนแก่น) หนามงัวเลีย (มหาสารคาม) วัวเลีย (อุบลราชธานี) งวงช้าง (อุดรธานี) หนามนมวัว โกโรโกโส หนามเกาะไก่ (นครราชสีมา) ค้อนก้อง (ภาคอีสาน) ทะลุ่มอิด ตะลุ่มอิด (นครสวรรค์) ก่อทิง ก่อทิ้ง (ชัยภูมิ) ไก่ให้ ไก่ไห้ (พิษณุโลก) กระโปรงแจง กะโปงแจง (สุโขทัย) กะอิด (ราชบุรี) ตะครอง (นครศรีธรรมราช) กระจิก (ภาคกลาง) เป็นต้น มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Caper bush มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capparis flavicans Kurz ไก่ไห้ ชื่อนี้น่าจะได้มาจากลักษณะของสมุนไพรที่มีหนามมาก แม้แต่ไก่ที่เข้าใกล้ยังต้องร้องไห้ แต่ในภาคอีสานแม้จะมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลากหลายชื่อ แต่ที่เรียกชื่อกันมาก คือ งัวเลียหรือหนามงัวเลีย แสดงว่าวัวได้แต่เลียไม่กล้ากิน ในทางพฤกษศาสตร์ ไก่ไห้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลือง มีหนามตรงหรือโค้งเล็กน้อย ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรี แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหนาแน่น และจะร่วงไปเหลือเพียงเล็กน้อยเมื่อใบแก่ ดอกเป็นสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียว กลางกลีบเป็นสีส้มแกมเหลืองหรือแกมน้ำตาล ดอกออกตามง่ามใบ กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับ ผลรูปรีหรือค่อนข้างกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ผิวไม่เรียบเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีขนสีเทาๆ เมล็ดมีเนื้อสีเหลืองหุ้ม ในศิลาจารึกวัดโพธิ์ ไก่ไห้อยู่ในตำรับยาเทพรังสฤทธิ์ (จารึกแผ่นที่ 206) ใช้แก้พิษสันนิบาตให้ตก ตำรับประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ได้แก่ จันทน์ทั้งสอง (จันทน์แดง Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen หรือ Pterocarpus santalinus L.f. และจันทน์ขาว Tarenna hoaensis Pit. หรือ Santalum album L.) แก่นสน (Pinus kesiya Royle ex Gordon) หนาดคำ (Duhaldea cappa (Buch.-Ham. ex D.Don) Pruski & Anderb.) มหาสดำ (Alsophila latebrosa Wall. ex Hook.) ไก่ไห้ (Capparis flavicans Kurz) แตงเถื่อน (Scopellaria marginata (Blume) W.J.de Wilde & Duyfjes) สามร้อยราก (Asparagus racemosus Willd.) ว่านกีบแรด (Angiopteris evecta (G.Forst.) Hoffm.) ผลกระดอม (Trichosanthes costata Blume) ผลประคำดีควาย (Sapindus rarak DC.) งาช้าง หนังแรด เอาเสมอภาค บดให้เป็นผง ทำเป็นแท่งเก็บไว้ เมื่อจะใช้ให้เอามาละลายน้ำกระสายยาอันควรแก่โรค ถ้าจะกระทุ้งพิษไข้ให้ผุดขึ้น ให้เอาพิษนาศน์ ระย่อม ไคร้เครือ ต้มตามวิธีให้กินแก้พิษไข้ผุด ในความรู้และการใช้ของหมอพื้นบ้านอีสานนั้น ใช้ไก่ไห้หรือที่เรียกกันในภาษาอีสานว่างัวเลีย เข้าตำรายาต่างๆ หลายตำรับ เช่น คนที่เป็น ทรางขี้โพ้ (ตัวผอม พุงป่อง) ให้เอาฮากผักเสี้ยน (Cleome gynandra L.) ฮากหนามงัวเลีย (Capparis flavicans Kurz) เปลือกเชือก (Terminalia elliptica Willd.) แก่นชาด (Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.) ฝนกิน แช่น้ำกินหรืออาบ ในกรณีที่กำลังอยู่ไฟแล้วกินของผิดสำแดง เรียกว่า อยู่กรรมกินผิด ให้เอาแก่นข่าลิ้น (Walsura trichostemon Miq.) แก่นหนามงัวเลีย (Capparis flavicans Kurz) ทั้ง 2 นี้ ต้มกิน ถ้าเป็น ฝีหัวเอี่ยนตัวแม่ (ลักษณะของฝีที่เหมือนหัวปลาไหลตัวเมีย) ให้เอา ยอดตาไก้ (Salacia chinensis L.) 7 ยอด ยอดงัวเลีย (Capparis flavicans Kurz) 7 ยอด เขียดโม้ (Fejervarya limnocharis (Boie. 1835)) 3 ตัว ฟัก (สับ)ให้แหลก ผสมกันแปะบาดแผล หรือถ้าเป็นฝีปะอาก (เป็นฝีขนาดเล็ก มีหัวสีดำ เมื่อแตะจะทำให้เจ็บปวดมากและจะมีอาการอักเสบทำให้ลามออกไปได้ : จากการสัมภาษณ์พ่อหมอบุญจันทร์ ภูนาเพชร อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี) การรักษาให้เอาฮากส้มผ่อหลวง (Dalbergia stipulacea Roxb.) ฮากมี้ (Artocarpus heterophyllus Lam.) ฮากลมปม (Azanza lampas (Cav.) Alef.) ฮากหนามงัวเลีย (Capparis flavicans Kurz) ฮากหนามงัวซัง (Capparis sepiaria L.) ฝนทา ถ้าเป็นไข้ปวดหัว ให้เอา ฮากหนามงัวเลีย (Capparis flavicans Kurz) ฮากตองแพง (Dillenia pentagyna Roxb.) ฮากมูกน้อย (Holarrhena curtisii King & Gamble) ฮากมูกใหญ่ (Holarrhena pubescens Wall. ex G.Don) ฮากเอ็นอ้าน้อย (Osbeckia chinensis L.) ฮากเอ็นอ้าใหญ่ (Melastoma saigonense (Kuntze) Merr.) ฮากหนามหันแดง (Moullava digyna (Rottler) Gagnon & G.P.Lewis) ฮากหนามหันขาว (Senegalia pennata (L.) Maslin) ฝนกิน ไก่ไห้ นอกจากจะใช้เป็นยาตำรับแล้วยังใช้เป็นยาเดี่ยวด้วย ที่ปรากฏให้เห็นมากมีการนำเอาใบไปต้มกินเป็นยาขับน้ำนม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีการใช้ทั้งในพม่าและลาวด้วย โดยมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากส่วนเหนือดินทั้งหมดของต้นไก่ไห้มีผลต่อการช่วยการหลั่งน้ำนมได้ ยังมีงานวิจัยบางรายการที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากไก่ไห้มีศักยภาพในการเป็นสารต้านมะเร็ง และเป็นงานท้าทายของนักวิจัยไทย หากช่วยกันศึกษาเทียบเคียงกับความรู้ดั้งเดิมเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า เหตุใดยาไทยหลายตำรับจึงมีส่วนผสมของต้นไก่ไห้ที่ใช้ในการรักษาพิษหรือฝีหนองต่างๆ ได้ นอกจากนี้ เนื้อไม้ตากให้แห้ง นำมาป่นเป็นผงทำเป็นควันใช้สูดแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้อีกด้วย ไก่ไห้ ในคัมภีร์โบราณและประสบการณ์ของหมอพื้นบ้านน่าสืบสานต่อยอดอย่างยิ่ง • |