[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ใต้เงาไม้ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 พฤษภาคม 2567 19:53:49



หัวข้อ: สุสันธีชาดก (เรื่องกากาที่มีที่มาจากนิบาติชาดก)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 พฤษภาคม 2567 19:53:49
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33482404963837_888_Copy_.jpg)

สุสันธีชาดก

วาติ คนฺโธ ติมิรานนฺติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต อุกฺกณฺฌฐิฺภิกขุํ อารพฺภ กเถสิ ฯ

เมื่อสมเด็จพระอังคีรสทศพลญาณ เสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้มีความกระสันรูปหนึ่ง จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีกำหนดด้วยบทพระคาถาว่า วาติ คนฺโธ ติมิรานํ ดังนี้ ฯ

ความพิสดารว่า สมเด็จพระมหามุนีตรัสถามภิกษุนั้นว่า ภิกษุ ได้ยินว่า ท่านมีความกระสันอยากสึกหรือ ภิกษุนั้นทูลรับสมจริงตามพุทธดำรัส จึงตรัสถามว่า ท่านได้เห็นสิ่งอะไร จึงได้มีความกระสัน  ภิกษุนั้นทูลว่าได้เห็นมาตุคามที่ประดับเครื่องอาภรณ์ พระองค์จึงตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่ามาตุคามนี้อันใครๆ ไม่อาจที่จะรักษาน้ำจิต ถึงโบราณกบัณฑิตแม้รักษาไว้ในพิภพสุบรรณ ก็ไม่สามารถที่จะรักษาน้ำจิตมาตุคามนั้นไว้ได้ ครั้นตรัสฉะนี้แล้วก็ทรงดุษณีภาพ ภิกษุนั้นจึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงเรื่องที่ตนมิได้เห็นปรากฏ สมเด็จพระบรมสุคตจึงได้ทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้

อตีเต พาราณสิยํ ตมฺพราชา นาม รชฺชํ กาเรสิ ฯ  ในอดีตชาติครั้งพระเจ้าตัมพราชได้ผ่านสมบัติในกรุงพาราณสี พระอัครมเหสีทรงนามว่านางสุสันธีมีพระรูปงามอุดมฯ ครั้งนั้นพระบรมโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดสุบรรณ ฯ

เกาะนาคในกาลนั้นได้มีนามปรากฏว่าเกาะเสรุม ส่วนพระบรมโพธิสัตว์อยู่ ณ พิภพสุบรรณที่เกาะนี้ ครั้งหนึ่งพระยาครุฑแปลงอินทรีย์เป็นมานพ ออกจากพิภพสุบรรณไปสู่กรุงพาราณสี เล่นสกากับพระเจ้าตัมพราชบรมกษัตริย์ฯ  นางปริจาริกาได้เห็นรูปสมบัติของมาณพนั้นพากันนำความไปทูลนางสุสันธี ฯ  ครั้นพระมเหสีได้สดับคำนางปริจาริกา มีความปรารถนาจะใคร่เห็นมาณพนั้น วันหนึ่งนางแต่งพระองค์เสร็จเสด็จมาสู่ที่เล่นสกา  ปลอมพระองค์ทอดทัศนาอยู่ในหมู่นางปริจาริกาที่ยืนดู ฯ  ส่วนมาณพผู้นั้นก็แลดูนาง ฯ  ฝ่ายคนทั้งสองต่างมีจิตรักใคร่ซึ่งกันและกัน ฯ  พระยาสุบรรณก็นฤมิตให้เป็นลมพายุพัดมาในพระนคร มนุษย์ทั้งหลายพากันออกจากพระราชนิเวศน์ เหตุความกลัวพระราชมณเฑียรจะหักพัง  พระยาครุฑกระทำพระราชวังให้มืดด้วยอานุภาพฤทธิ์ของตน แล้วพาพระเทวีหนีไปโดยอากาศได้เข้าไปสู่พิภพของตนในเกาะนาค ฯ  ชนเป็นอันมากจะรู้เหตุที่นางสุสันธีไปหามีไม่  พระยาครุฑได้ร่วมอภิรมย์กับนางสุสันธีแล้วไปเล่นสกากับพระเจ้าตัมพราชอีก ฯ  ฝ่ายคนขับรำของพระราชามีอยู่ผู้หนึ่งมีนามปรากฏว่านาคอัคคะ  พระราชาจึงรับสั่งให้หาคนขับรำนั้นมา รับสั่งให้ไปเที่ยวแสวงหานางให้สิ้นทั้งทางบกแลทางน้ำ ให้รู้เห็นว่านางไปอยู่ที่ไหน ฯ  คนขับรำไปเที่ยวแสวงหา ตั้งแรกแต่บ้านใกล้ประตูเมืองจนบรรลุถึงท่าภารุกัจฉาฯ

ครั้งนั้นพ่อค้าชาวภารุกัจฉาเตรียมสินค้าบรรทุกเรือจะไปสู่สุวรรณภูมิ คนขับรำเข้าไปหาพ่อค้าเหล่านั้นขอโดยสาร รับจะกระทำการขับร้องให้หักค่าจ้างเรือ ฯ  พ่อค้ายอมอนุญาตให้ไป ฯ  ครั้นออกเรือแล้ว พ่อค้าเหล่านั้นจึงให้หาคนขับรำมาขับให้พวกตนฟัง ฯ  คนขับกล่าวว่า ถ้าข้าพเจ้าจะพึงทำการขับให้ท่านฟังไซร้ ก็แต่ว่าเมื่อข้าพเจ้าขับอยู่ ปลาทั้งหลายจะขึ้นมาทำเรือให้โยกโคลง เมื่อเป็นเช่นนี้เรือของท่านจักแตกทำลาย  ฯ  พ่อค้าทั้งหลายกล่าวว่า ท่านทำการขับรำอยู่ในทางที่มนุษย์เคยไปมา หามีปลาที่จะทำให้เรือโยกโคลงได้ไม่ ท่านจงขับไปเถิด ฯ  คนขับกล่าวว่าถ้าเช่นนั้นท่านอย่าได้โกรธข้าพเจ้า ครั้นกล่าวฉะนี้แล้วแก้พิณออกดีดแลร้องขับให้เสียงรับกับสายพิณที่ดีดนั้น ฯ  ฝูงปลาจึงพากันมาประชุมเพราะได้ยินเสียงนั้นทำเรือให้หวั่นไหวโยกโคลง ฯ  ครั้งนั้นปลามังกรตัวหนึ่งจึงโดดเข้าไปในเรือนั้น ดิ้นจนเรือแตกทำลายลง ฯ  ส่วนนายอัคคะลงนอนเหนือแผ่นกระดานลอยตามลมไป บรรลุถึงถิ่นไม้ไทรซึ่งเป็นพิภพสุบรรณอันอยู่ในนาคทวีป ฯ

กาลเมื่อพระยาครุฑไปเล่นสกาในกรุงพาราณสี ฝ่ายนางสุสันธีลงจากวิมานไปเที่ยวเดินเล่นที่ริมฝั่งน้ำ ครั้นเห็นนายอัคคะก็จำได้จึงถามว่า ท่านมาอย่างไร ฯ  นายอัคคะได้แจ้งเหตุที่ตนมาให้นางฟังทุกประการฯ  นางกล่าวปลอบนายอัคคะให้มีใจ จึงประคองให้ขึ้นบนวิมานแล้วให้สยนาการเหนือที่นอน ฯ  กาลเมื่อนายอัคคะมีความสามารถหายเหน็ดเหนื่อยลง นางจึงให้บริโภคโภชนาหารแล้วเชิญให้อาบน้ำหอม นุ่งห่มผ้าประดับประดาตนด้วยดอกไม้แลของหอมแต่ล้วนเป็นของทิพย์ทุกประการ แลได้เชิญให้นอนเหนือแท่นทิพย์อีก ฯ  นางปฏิบัตินายอัคคะอยู่อย่างนี้ ปกปิดแต่เวลาที่พระยาครุพมา ในเวลาเมื่อพระยาครุฑไปเล่นสกานางก็ได้ร่วมอภิรมย์กับนายอัคคะนั้น จำเดิมแต่วันนั้นมาล่วงไปได้กึ่งเดือนหรือเดือนหนึ่ง พ่อค้าชาวเมืองพาราณสีมาถึงต้นนิโครธในเกาะนั้นเพื่อจะหาฟืนแลน้ำ ฯ  นายอัคคะจึงได้โดยสารเรือนั้นไปถึงเมืองพาราณสีได้เข้าเฝ้าพระเจ้าตัมพราช ครั้นเวลาบรมกษัตริย์ทรงสกากับพระยาครุฑ นายอัคคะจึงถือพิณมา เมื่อจะขับรำถวายพระราชาจึงได้กล่าวคาถาที่แรกว่า


              วาติ คนฺโธ ติมารานํ     กุสมุทฺโทว โฆสวา
              ทูเร อิโต หิ สุสนฺธี               ตมฺพ กามา ตุทนฺติมํ ฯ

              กลิ่นดอกติมิระ ทั้งหลายฟุ้งตระหลบไป น้ำในมหาสมุทรกึกก้อง
               คะนองใหญ่เทียว  นางสุสันธีอยู่ในที่ไกลจากพระนครนี้แท้
               ข้าแต่พระเจ้าตัมพราช กามทั้งหลายเจาะแทงหฤทัยข้าพระบาทอยู่



ครั้นพระยาครุฑได้ฟังคาถานั้นจึงได้กล่าวคาถาที่สองว่า

              กถํ สมุทฺทมตริ         กถํ อทฺทกฺขิ เสรุมํ
              กถํ ตสฺสา จ ตุยฺหญฺจ       อหุ อคฺค สมาคโม ฯ

              ท่านข้ามสมุทรไปอย่างไร ทำไฉนท่านจึงได้เห็นเกาะเสรุม
               แน่ะ นายอัคคะ ความสมาคมของนางแลตัวท่านได้มีแล้วอย่างไร ฯ



ในลำดับนั้น นายอัคคะจึงได้ภาษิตคาถาทั้งสามว่า

              ภรุกจฺฉา ปยาตานํ     พาณิชานํ ธเนสินํ
              มงฺกเรหิ ภินฺนา นาวา     ผลเกน มหณฺณวํ
              สา มํ สญฺเหน มุทุนา     นิจฺจํ จนฺทนคนฺธินี
              องฺเคน อุทฺธริ ภทฺทา     มาตา ปุตฺตํว โอรสํ ฯ
              สา มํ อนฺเนน ปาเนน     วตฺเถน สยเนน จ
              อตฺตนาปิ จ มทกฺขี     เอวํ ตมฺพ วิชานาหิ ฯ

              เมื่อพ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์ไปแล้วจากท่าชื่อภารุกัจฉา เรือของพ่อค้าเหล่านั้น
               อันฝูงปลามังกรให้แตกแล้ว ฯ  นางสุสันธีผู้มีกลิ่นกายหอมดังแก่นจันทน์เป็นนิจ
               มีลักษณะงามวิจิตรควรดูควรชมนั้น ครั้นเห็นเราผู้ข้ามถึงฝั่งได้เพราะแผ่นกระดาน
               ได้ยกเราด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ประหนึ่งมารดาประคองอุ้มบุตรผู้เกิดในอกฉะนั้น
               กล่าวปลอบเราด้วยถ้อยคำอันไพเราะอ่อนหวาน นางได้บำเรอเราด้วยข้าวน้ำ
               ผ้านุ่งห่มแลที่นอน ใช่แต่เท่านั้น ถึงตัวนางก็ได้ยังเราให้อภิรมย์ยินดีมีนัยเนตร
               เป็นที่ยั่วยวนใจ ข้าแต่พระเจ้าตัมพราชบรมกษัตริย์ ขอพระองค์จงทรงทราบชัด
               อย่างนี้เถิด ฯ


ครั้นนายอัคคะกล่าวขับขึ้นฉะนี้ พระยาครุฑมีความระแวงใจว่า เราอยู่ถึงในพิภพสุบรรณยังมิอาจที่จะรักษานางนั้นไว้ได้ เราจะประโยชน์อะไรด้วยคนทุศีลเห็นปานนี้ ครั้นดำริแล้วจึงนำนางสุสันธีมาถวายคืนแก่บรมกษัตริย์แล้วกลับพิภพสุบรรณ ฯ  จำเดิมแต่กาลนั้นพระยาครุฑก็มิได้มาเล่นสกาอีกต่อไป ฯ

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา  สมเด็จพระมหามุนีบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงจบลงแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจทั้งสี่ ครั้นจบเทศนาลงภิกษุผู้มีความกระสันก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล  สมเด็จพระทศพลจึงทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้นได้มาเป็นอานนท์  พระยาครุฑได้มาเป็นเราตถาคต มีพุทธพจน์ให้จบลงแต่เพียงนี้ ฯ


-------------------------------------------------------
อรรถกถาว่าต้นไม้นี้ล้อมรอบต้นนิโครธซึ่งที่เป็นวิมานครุฑ
ยุ อหมฺปลวี เราลอยไปแล้ว (กวป.)


* สุสันธีชาดก มีเนื้อหาสอดคล้องกับเรื่อง "กากี" มีที่มาจากนิบาตชาดก ๓ เรื่อง คือ กุณาลชาดก กากาติชาดก และสุสันธีชาดก  เรื่องดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา 
   มุ่งแสดงโทษแห่งความปรวนแปรไม่แน่นอนของมาตุคามอันเป็นอุปสรรคต่อการครองเพศพรหมจรรย์  ในชาดกทั้ง ๓ เรื่อง ไม่ปรากฏชื่อ "กากี" เป็นตัวเอกของเรื่อง และชื่อของบุคคลอื่นๆ ก็มีความลักลั่น
   แตกต่างไปจากเรื่องกากี ได้แก่

   กากาติชาดก นางกากาติ - พระเจ้าพาราณสี - พญาสุบรรณ - นฏะกุเวร (คนขับพิณลำนำ)
   สุสันธีชาดก  นางสุสันธี - พระเจ้าตัมพราช - พระยาครุฑ - นายอัคคะ (คนขับพิณลำนำ)
   กุณาลชาดก  นางกากวันตี - พระยาครุฑเวนไตย - นาฏกุเวร (คนขับพิณลำนำ)

   ชื่อ กากี ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่น่าจะมีอายุเก่าที่สุดคือ สมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา



คัดจาก : กากีคำกลอนและลิลิตกากี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๓