หัวข้อ: ครูบาศรีวิชัย “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ตนบุญผู้มีบารมีสูง เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 11 มิถุนายน 2567 19:31:30 (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2024/05/kru-ba-696x364.jpg) ครูบาศรีวิชัย “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ครูบาศรีวิชัย “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” ตนบุญผู้มีบารมีสูง ผู้เขียน - โชติกา นุ่นชู เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2567 หากพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ในดินแดนล้านนา ที่ถูกกล่าวขานและได้รับศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดรูปหนึ่ง เห็นจะเป็น ครูบาศรีวิชัย หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกษุ พระมหาเถระซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2477 จนได้รับการขนานนามว่า “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” หมายถึง นักบุญแห่งล้านนา เป็นผู้ที่สร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ครูบาศรีวิชัยเดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” บ้างเรียกท่านว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องด้วยเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดปกติ มีฝนตก ฟ้าร้อง ฝนฟ้าคะนอง หรือแผ่นดินไหว ขณะที่ท่านกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ชื่อว่า “อ้ายฟ้าฮ้อง” หรือ “อินเฟือน” ครูบาศรีวิชัยเกิดปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ.1240 พลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือ ตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควายกับนางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ นายไหว นางอ้วน นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย) นายแว่น และนายทา ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยยังเป็นฆราวาส ท่านเป็นผู้มีความเมตตาสูง คือชอบแอบนำปลาที่พ่อแม่หามาได้ไปปล่อย ในวัยเด็กท่านมีอุปนิสัยแตกต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันที่ชอบเล่นสนุกสนานตามประสา ท่านชอบเล่นปั้นพระ ปั้นพระธาตุ-เจดีย์ และฝักใฝ่ทางธรรมตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าสู่เพศบรรพชิต ท่านเป็นพระที่มักน้อย สันโดษ ไม่แสวงหายศถาบรรดาศักดิ์ เป็นพระที่เน้นวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในป่าที่สงัด ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่ฉันอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2018/01/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A23.jpg) ครูบาศรีวิชัยกับศิษย์ ที่วัดสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับรัฐสยามและองค์กรสงฆ์ส่วนกลาง อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในชีวประวัติของครูบาศรีวิชัย อย่างไรก็ตาม ผู้คนในปัจจุบันแทบจะไม่รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งของครูบาศรีวิชัย เป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ และความขัดแย้งนั้นก็จบลงด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราชในยุคนั้น หรือมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องความไม่พอใจส่วนตัวของพระสงฆ์ในท้องถิ่นกับครูบาศรีวิชัย และได้หยิบยืมอำนาจที่ได้รับจากรัฐเพื่อใช้จัดการกับครูบาศรีวิชัย หรือกระทั่งลดทอนความสำคัญลงให้กลายเป็นเพียงเรื่อง “มารผจญ” เพื่อทดสอบบารมีของครูบาศรีวิชัย จนเป็นที่มาของวลีสำคัญที่ว่า “มารบ่มี ป๋ารมีบ่เกิด” ในการต่อสู้ของครูบาศรีวิชัยกับรัฐส่วนกลางเป็นการรักษาธรรมเนียมพุทธศาสนาแบบจารีตล้านนาอย่างเคร่งครัด จนทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นสัญลักษณ์ของพุทธจารีตล้านนาและเป็นผู้อนุรักษ์ความเป็นล้านนา งานก่อสร้างและการบูรณะพุทธสถานถือเป็นภาพลักษณ์หลักของครูบาศรีวิชัย กล่าวคือ ท่านได้เดินทางไปบูรณะก่อสร้างสถานที่แต่ละแห่งให้มีความยิ่งใหญ่ และมีความสำคัญ เช่น การสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 5 เดือนเศษ ซึ่งมีผู้คนทั่วภาคเหนือเดินทางมาช่วยสร้าง โดยไม่ใช้งบประมาณจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังสัมพันธ์กับเรื่องการแสดงบารมี ความศักดิ์สิทธิ์ และอภินิหารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างหรือบูรณะสถานที่ต่าง ๆ (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2018/01/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9A%E0%B8%B2.jpg) ภาพครูบาศรีวิชัย คณะลูกศิษย์ และประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาที่แผ้วถางป่าดง นอกจากนี้ ครูบาศรีวิชัยยังเป็นนักพัฒนาผู้มุ่งเน้นเรื่องการก่อสร้างบูรณะ อย่างการผายเบี้ยเสี่ยงทายเพื่อกำหนดวันและเวลาในการก่อสร้าง อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวของบารมี ความศักดิ์สิทธ์ และอภินิหารได้เสริมให้ภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยกลายเป็นผู้วิเศษหรือเป็น “ตนบุญ” จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าครูบาศรีวิชัยเป็นตนบุญผู้มีบารมีสูง ไม่ว่าจะผูกโยงกับอภินิหารต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก็ยังคงเป็นตนบุญผู้มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติทางศาสนา และที่สำคัญที่สุดคือเป็นตนบุญผู้ให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยเฉพาะการก่อสร้างบูรณะพุทธสถานสำคัญต่างๆ จำนวนมากในภาคเหนือ ... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_33963 |