หัวข้อ: มะระขี้นกอินเดีย เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 20 มิถุนายน 2567 13:07:23 (http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98773640311426__1377x1536_Copy_.jpg) มะระขี้นกอินเดีย ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2567 คอลัมน์ - โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2567 เมื่อช่วงสงกรานต์ได้มีโอกาสไปร่วมงานสงกรานต์กับชาวไทในอัสสัม ซึ่งงานสงกรานต์ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย หรือ Thailand เท่านั้น หากสืบค้นวัฒนธรรมในกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท เช่นในสิบสองปันนาก็มีงานสงกรานต์ และในที่อื่นๆ รวมถึงในอัสสัมของอินเดีย ซึ่งก็มีกลุ่มไทอาหมอาศัยอยู่ที่นั่น จึงไม่แปลกใจที่มีงานสงกรานต์เช่นกัน มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งเคยบอกว่า คำว่า “อัสสัม” “อาหม” และ “สยาม” มีความเกี่ยวเนื่องกันน่าจะมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชื่อมโยงกัน ดังเช่น อ.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ บอกว่าภาษาอาหมถือเป็นภาษาไทยุคเก่า ภาษาอาหมและภาษาในจารึกสมัยสุโขทัยคล้ายคลึงกันมาก และมากกว่าภาษาถิ่นไทในปัจจุบัน ปัจจุบันการเดินทางไปอัสสัมค่อนข้างสะดวกสบายมาก เครื่องบินบินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงกูวาฮาติเมืองหลวงของอัสสัม แต่การเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ในรัฐนี้ค่อนข้างลำบาก เหมือนย้อนเวลาเดินทางไปต่างจังหวัดของประเทศไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน บรรยากาศในอัสสัมจะแตกต่างจากอินเดียทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในหมู่บ้านของไทพาเก ไทน้ำไส (น้ำทราย) อาหารที่ได้กินเกือบทุกมื้อมีมะระขี้นกอยู่เสมอ มะระขี้นก ที่เราคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica charantia L. จะเห็นว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับมะระจีนที่มีผลขนาดใหญ่ เนื่องจากว่ามะระขี้นกเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนในแอฟริกาและเอเชีย ต่อมาได้มีการนำมาเพาะปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ให้มีผลขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นมะระจีนและมะระอินเดีย (ที่มีผลใหญ่เช่นกัน) และที่มีจำหน่ายในตลาดทั่วไป ประเทศไทยก็นับเป็นถิ่นกำเนิดหนึ่งของมะระขี้นกเช่นกัน ดูได้จากการมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) น่าสนใจตรงที่ชื่อท้องถิ่นเหล่านี้ได้นำไปตั้งเป็นชื่อสถานที่ เช่น หมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอหลายแห่งแล้ว มะระขี้นกใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนและใช้เป็นทั้งอาหารและยา เช่น เถามีรสขม เย็นจัด ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดฝีอักเสบ ปวดฟัน ใบใช้แก้โรคกระเพาะ บิด แผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ ดอกมีรสขม เย็นจัด ใช้แก้บิด รากมีรสขม เย็นจัด ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดถ่ายเป็นเลือด แผลฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน ผลมีรสขม เย็นจัด ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำทำให้ตาสว่าง แก้บิด ตาบวมแดง แผลบวมเป็นหนอง ฝีอักเสบ เมล็ดมีรสขม ชุ่ม ไม่มีพิษ เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ในปัจจุบันที่มีการพูดถึงมากคือการกินผลมะระขี้นกช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้เป็นเบาหวาน เนื่องจากในมะระขี้นกมีสารหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านเบาหวาน เช่น เสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามะระขี้นกช่วยชะลอความผิดปกติของไต การเกิดต้อกระจก การเสื่อมของเส้นประสาท ที่เป็นผลมาจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ เมื่อเดินเที่ยวในตลาดสดของเมืองกูวาฮาติเมืองหลวงของรัฐอัสสัม พบมะระขี้นกที่แปลกแตกต่าง ถ้าดูขนาดก็เท่าๆ มะระขี้นกพันธุ์พื้นเมืองไทย แต่แทนที่ผิวจะเป็นปุ่มปมแบบไม่สม่ำเสมอ กลับมีลักษณะเหมือนขนหรือหนามอ่อนๆ เมื่อได้กลับมาเมืองไทยสืบค้นแล้วจัดจำแนกก็พบว่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica dioica Roxb. ex Willd. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ เรียกว่า spiny gourd, spine gourd หรือ bristly balsam pear ในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว พบว่ามะระขี้นกอินเดียนี้มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา หิมาลายาตะวันออกและตะวันตก เมียนมา มะระขี้นกอินเดียเป็นที่นิยมบริโภคในอินเดียเป็นอย่างมาก สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด การแพทย์อายุรเวทใช้มะระขี้นกอินเดียเป็นยารักษาและใช้เป็นอาหารป้องกันโรคต่างๆ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาระบาย บำรุงตับ ต้านความดันโลหิตสูง ต้านอักเสบ รักษาอาการหืด หอบ ใช้เป็นยาลดไข้ ยารักษาโรคเรื้อน ยารักษาเบาหวานและรักษาอาการซึมเศร้า ต้านพิษจากสัตว์ เช่น งู ส่วนของใบใช้ขับพยาธิ บำรุงสมรรถนะทางเพศ รักษาริดสีดวง บำรุงตับ ต้านหลอดลมอักเสบและต้านอาการแพ้ต่างๆ ลองสืบต้นข้อมูลงานวิจัยเชิงลึก พบการศึกษามะระอินเดียมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น สารสกัดจากราก ผลและใบด้วยแอลกอฮอล์มีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดจากผลที่สกัดด้วยเฮกเซนหรือปิโตเลียมอีเทอร์มีฤทธิ์ในการรักษาริดสีดวง สารสกัดจากผลที่สกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์ในการระงับปวดและป้องกันการทำงานผิดปกติของระบบประสาท สารสกัดจากผลที่สกัดด้วยเอทานอลและน้ำมีฤทธิ์ต้านการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดจากเมล็ดและผลด้วยแอลกอฮอล์มีศักยภาพในการรักษาความผิดปกติของไต สารสกัดจากเมล็ดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต่อต้านโรคภูมิแพ้ สารสกัดจากรากที่สกัดด้วยเมทานอลมีศักยภาพในการต้านมะเร็ง สารสกัดจากผลไม่ว่าจะสกัดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์มีศักยภาพในการต้านเบาหวาน สารสกัดจาก ใบ ราก ผล ด้วยน้ำและแอลกอฮอล์มีศักยภาพในการปกป้องการทำงานของตับและช่วยในการกำจัดพิษต่างๆ ในตับ ในปี ค.ศ.2014 มีการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ทางยาของมะระขี้นกและมะระขี้นกอินเดีย พบว่ามะระขี้นกอินเดียมีฤทธิ์สูงกว่ามาก แต่น่าแปลกใจที่มะระขี้นกอินเดียนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมียนมาด้วย อินเดียก็ไม่ได้ไกลจากไทยมาก มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอๆ แต่ทำไมยังไม่เห็นการนำมะระขี้นกอินเดียเข้ามาปลูกในประเทศไทย (หรือใครรู้เห็นว่ามีแล้วก็ส่งข่าวแจ้งด้วย) อินเดียให้ความสำคัญและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและใช้สมุนไพรอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้อย่างแพร่หลายช่วยดูแลสุขภาพและสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับพรีเมียม ไทยเราก็พอมี แต่ให้ดียิ่งขึ้นน่าเรียนรู้จากอินเดียบ้างนะ • ... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_770821 (https://www.matichonweekly.com/column/article_770821) |