[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 01 กรกฎาคม 2567 19:06:02



หัวข้อ: กรุงเขมา สมุนไพรอินเตอร์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 01 กรกฎาคม 2567 19:06:02
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81673745562632_herbs_2286_Copy_.jpg)

กรุงเขมา สมุนไพรอินเตอร์

ที่มา - มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มิถุนายน 2567
คอลัมน์    - โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2567


กรุงเขมาเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการใช้เป็นยาสมุนไพรอย่างแพร่หลายในหลายประเทศมาอย่างยาวนาน

ในประเทศไทยเป็นที่รู้จักปรุงเป็นยาและพบเห็นได้ทั่วประเทศ จึงมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น กรุงเขมา (นครศรีธรรมราช) ขงเขมาก พระพาย (ภาคกลาง) สีฟัน (เพชรบุรี) เครือหมาน้อย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เปล้าเลือด (แม่ฮ่องสอน) อะกามินเยาะ (มลายู-นราธิวาส) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cissampelos pareira L.

แต่เดิมมานั้นมีความเข้าใจว่า กรุงเขมาและเครือหมาน้อย คือ พืชชนิดเดียวกัน แต่ในปัจจุบันเมื่อทำการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่า เครือหมาน้อยที่คนภาคอีสานคุ้นเคยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับกรุงเขมา

ดังนั้น ในทางวิชาการได้จัดให้เครือหมาน้อยอยู่ในสกุล Cyclea ซึ่งจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป

สำหรับกรุงเขมาเป็นพืชในสกุล Cissampelos มีการยอมรับการจำแนกในระดับชนิดหรือสปีชีส์แล้ว 22 ชนิด ในจำนวนนี้พบในประเทศไทยเพียง 2 ชนิด คือ กรุงเขมา (Cissampelos pareira L.) และ ก้นปิดขน (Cissampelos hispida Forman) ซึ่งชนิดนี้มีเฉพาะในประเทศไทย

กรุงเขมามีลักษณะสำคัญทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้เถา เถา กิ่ง ใบ และช่อดอกมีขนอ่อนนุ่มหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปกลม รูปหัวใจ หรือรูปไต ก้นปิด ปลายแหลม หรือเป็นติ่งหนาม โคนมน ตัด หรือเว้าเล็กน้อย ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลืองหรือเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกที่ง่ามใบ กลีบดอก 4 กลีบ โคนติดกันเป็นรูปถ้วย

ผลค่อนข้างกลม สีแดง มีขน มีเมล็ดเดียว เล็ก แข็ง รูปโค้ง หรือเป็นรูปเกือกม้า ผิวขรุขระ

ในปี ค.ศ.2021 หรือ พ.ศ.2564 ได้มีทีมวิจัยจากอินเดีย ทำการทบทวนเอกสารที่ศึกษาเกี่ยวกับกรุงเขมาแล้วนำมาตีพิมพ์ในวารสารเภสัชศาสตร์ชาติพันธุ์ (Journal of Ethnopharmacology)

ในรายงานฉบับนี้กล่าวว่า กรุงเขมาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในเขตร้อนเกือบทุกทวีป ชนพื้นเมืองทุกท้องที่มีการนำไปใช้เป็นยาประจำถิ่นค่อนข้างหลากหลาย เช่น อินเดีย มีพืชในสกุลนี้ (Cissampelos) เพียงชนิดเดียว ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นมีการใช้กรุงเขมาในทุกระบบการแพทย์ของอินเดีย

โดยส่วนใหญ่ใช้รากเป็นยา เช่น การรักษามาลาเรีย ใช้รากสดมาบดแล้วให้กิน หรือนำรากมาต้มดื่ม วันละ 1 ครั้ง หรือใช้รากสดประมาณ 5 กรัม นำมาแช่ในน้ำนม โดยไม่ต้องต้ม ดื่มเพื่อลดไข้มาลาเรีย

นอกจากนี้ อาจใช้รากร่วมกับใบชงเป็นชาดื่มรักษามาลาเลีย ใช้ราก ลดไข้ แก้ไอ แก้ปวด แก้อาการปวดท้อง ความผิดปกติของหัวใจ รักษาอาการหอบ หืด แก้ท้องร่วง แก้ความผิดปกติในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการเกิดนิ่วและขับปัสสาวะ

รากยังนำมาใช้รักษานิวมอเนียหรือปอดบวมและอาการเจ็บหน้าอก รากและทั้งต้นนำมาต้มกินเรียกน้ำย่อย ขับพยาธิและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รากกรุงเขมายังมีการนำมาใช้ต้มดื่มแก้พิษงูกัด รากนำมาทุบให้แหลกแล้วนำไปพอกบริเวณที่ถูกงูกัด หรือนำรากแห้งไปบดให้เป็นผง ชงกับน้ำดื่มแก้งูกัด

ในบางพื้นที่ใช้รากตำร่วมกับพริกไทยหรือพริกหางพอกแผลที่งูกัดด้วย รากสดนำมาตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็นหิด รากยังเป็นยาฟอกเลือดและเรียกน้ำนมสำหรับสตรี ยังใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน ป้องการแท้งบุตร รากยังเป็นยาคุมกำเนิดโดยมีฤทธิ์ไปลดจำนวนอสุจิ (ให้ผู้ชายกิน) และถ้านำส่วนลำต้นของกรุงเขมาเหนือดินตำผสมกับเมล็ดพริกไทย กินวันละครั้ง กิน 3 วันติดต่อกัน สามารถคุมกำเนิดในผู้หญิงได้ บางครั้งก็ใช้ใบ 3 ใบ กินวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน เพื่อคุมกำเนิดในแต่ละเดือนได้

นอกจากนี้ น้ำคั้นจากใบ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้ลดไข้มาลาเรีย ใบนำมาบดต้มกับข้าว กินเป็นยาบำรุง รักษาอาการผิดปกติของหัวใจ ใบยังใช้กินแก้เจ็บท้องในระหว่างตั้งครรภ์ ใบเมื่อนำผสมกับเปลือกกระถินอินเดีย (Vachellia nilotica (L.) P.J.H.Hurter & Mabb.) และกรดซาลิซิลิก (silicic acid) ให้กินพร้อมกับเนย แก้อาการตกขาว และทุกส่วนของลำต้น ใช้เป็นยาลดไข้ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเสริมสมรรถนะทางเพศ

เนปาลก็มีการใช้กรุงเขมาเป็นยาเช่นกัน เช่น การรักษาโรคเด็กร้อง 3 เดือน (Chronic disease) จะใช้รากประมาณ 10 กรัม แช่ลงในน้ำอุ่น นำน้ำให้เด็กกิน วันละ 2 เวลา ใช้รักษาอาการปวดหัว

โดยนำรากประมาณ 50 กรัม ไปบดให้แหลกแล้วนำไปต้มกับน้ำ 1 ถ้วย ให้เหลือครึ่งถ้วย ดื่มวันละ 2 เวลา ใช้ทั้งต้นคั้นเอาน้ำมาดื่มแก้อาการตกเลือด รากแห้งนำมาบดให้เป็นผง ละลายน้ำดื่มรักษาแผลในกระเพาะอาหาร น้ำคั้นจากรากใช้รักษาอาการปวดท้องและหอบหืดคล้ายกับอินเดีย และยังใช้รากและใบแก้ไอ รักษาแผล ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

สำหรับในประเทศไทย นิยมใช้รากเป็นยาเช่นกัน โดยนำรากแห้งมาบดให้เป็นผง ปั้นให้เป็นลูกกลอน กินเรียกน้ำนม ใช้เป็นยาถ่ายและรักษาอาการบิดมีตัว ใช้รากเข้าในยาธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้ไข้ และขับเสมหะ ใบใช้แก้หิด

ในศรีลังกาและปากีสถานก็มีการนำรากกรุงเขมามาใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ คล้ายกัน

ในแอฟริกา ในแทนซาเนีย ก็ใช้ใบกรุงเขมาร่วมกับรากของหญ้าขัดมอน (Sida rhombifolia L.) นำมาต้มดื่ม ป้องกันการแท้งบุตร

ในแทนซาเนีย เอธิโอเปีย ซาอีร์ แซมเบีย มาลาวี มอริเชียสและมาดากัสการ์ ต่างก็มีภูมิปัญญาในการใช้รากกรุงเขมาแก้ไข้มาลาเรีย อาการท้องเสียและแก้พิษงูเช่นกัน ในอเมริกากลางก็มีตำรับพื้นบ้านใช้รากกรุงเขมาเป็นยารักษา งูกัด แก้ไอ ท้องเสีย เช่นกัน

ไม่น่าเชื่อว่าความรู้สมุนไพรกรุงเขมาจะมีความเป็นอินเตอร์ ใช้กันค่อนข้างแพร่หลายในหลายทวีป แต่เมื่อมองใกล้ตัวในไทย เรายังนำมาใช้ประโยชน์ไม่มากนัก ยิ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเลย แต่ยังไม่สายที่จะช่วยกันส่งเสริมการเรียนรู้และการนำมาใช้อย่างจริงจัง •.


.. อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_772322